fbpx

นิ้วกลม สราวุท เฮ้งสวัสดิ์

BE COMING WELL ROUNDED ความกลมกลืนของอุดมคติและชีวิต

เราได้เห็น นิ้วกลม-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ในบทบาทของพิธีกรโทรทัศน์หลายรายการ ขณะที่ในบทบาทของการเป็นนักเขียน เขาก็ยังคงดำรงสถานะเป็นนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ และจำนวนคนที่ต่อแถวขอลายเซ็นในงานสัปดาห์หนังสือก็ยังยาวเหยียดเหมือนเดิมปี 2013 ที่กำลังจะผ่านไป น่าจะเป็นปีที่นิ้วกลมก้าวขึ้นถึงจุดสุดยอดของชีวิต เขามีรายการแฟนพันธุ์แท้ตอนของตัวเอง และล่าสุดถึงกับจัดทอล์กโชว์ของตัวเองอีกด้วย ในช่วงหนึ่งของการสนทนา นิ้วกลมพูดถึงแนวคิดของปรัชญาหลังสมัยใหม่ ที่มองว่าชีวิตเราไม่ใช่ Being หรือการสถิตดำรงอยู่อย่างเดิมตลอดไป แต่แท้จริงแล้ว คนเราอยู่ในภาวะของการ Becoming หมายถึงทุกคนกำลังเปลี่ยนไปสู่อะไรบางอย่างตลอดเวลาเขาเองยอมรับว่าทุกมิติของชีวิต ก็อยู่ในภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปสู่อะไรบางอย่างตลอดเวลาเช่นกัน

จุดยืนทางการเมือง ความคิดเห็นที่โพสต์ผ่านสเตตัสเฟซบุ๊ค อุดมคติส่วนตัว ความรักกับชิงชิง-แฟนสาว ความสัมพันธ์ในครอบครัวกับพ่อและแม่ เรื่อยมาจนถึงความสำเร็จ

ชื่อเสียง และคำวิพากษ์วิจารณ์แรงๆ หรือเรียกง่ายๆ ว่าด่านั่นแหละ ฯลฯ คำถามที่จะตามมาคือ ณ จุดสุดยอดนี้ เขากำลัง Becoming ไปเป็นอะไร เขากำลังคิดอะไรอยู่ และจุดสุดยอดถัดไปจากนี้คือที่ไหน “ขีดจำกัดของคนเรานั้นอาจไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา แต่อยู่ตรงที่เรายอมเสียอะไรในชีวิตไปบ้าง” เขาพูดให้เราได้ฉุกคิด เขาได้เรียนรู้ขีดจำกัด และหาวิธีใช้ชีวิตอย่างสมดุล กลมกลืน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะบอกว่า วันหนึ่งเขาก็จะไม่ฮิต และคงอีกไม่นาน จุดสุดยอดถัดไปอาจจะไม่เหมือนเดิม แต่เมื่อถึงวันนั้น เขาอาจจะมีความสุขกว่านี้ด้วยซ้ำจะพาคุณเดินตามรอยคิดของนิ้วกลม ไปดูว่าเขาได้ทิ้งรอยเท้าไว้กับเรื่องอะไร เขามาได้ไกลแค่ไหน และเขากำลังกลายไปเป็นอะไร

GM: คุณเป็นนักเขียนที่ดังขนาดมีทอล์กโชว์เป็นของตัวเองแล้ว คุณคิดอย่างไร และคุณไปพูดเรื่องอะไรบ้าง

นิ้วกลม : พูดถึงลักษณะของคน 4 แบบในชีวิตของเรา แบบที่หนึ่งก็คือ คนที่จะบ้าไปด้วยกัน เพราะว่าตอนหนุ่มๆ คนเราก็จะมีความฝันอยากทำนั่นทำนี่ แต่ว่าถ้าไม่มีคนกลุ่มหนึ่งหรือคนสักคนหนึ่งมาบอกว่า เออ! มึงทำไปเถอะ สิ่งที่มึงคิดน่ะมันทำได้ เราอาจจะไม่ได้ทำอะไรเลยก็ได้ ก็จะมีเพื่อนของผมที่เคยทำหนังสือทำมือด้วยกัน แต่งเพลงกันมาใหม่ แล้วให้มันขึ้นไปเล่นคนแบบที่สองก็คือคนคอยติ คือชีวิตเรามันต้องมีคนคอยด่าเราเพื่อให้เราอยู่ในร่องในรอย ในทอล์กโชว์ก็เป็นพี่จุ้ยขึ้นมาพูดถึงเรื่องประโยชน์ของคำด่า คำติส่วนคนที่สาม ในชีวิตเรามันต้องมีคนที่ทำให้เราเสียใจอย่างรุนแรงสักครั้งหนึ่ง ก็คือคนที่ผมเคยจีบแล้วคนสุดท้ายที่พูดถึง ก็คือคนที่มาทำให้เราเชื่ออีกครั้งว่ายังมีความรักอยู่ หรือคนที่คอยมาเป็นกำลังใจในชีวิต ในโชว์ก็คือ ชิงชิง เรียกว่าเป็นคนที่คอยเติมน้ำมัน ชิงก็ใส่ชุดเด็กปั๊มถือหัวจ่ายขึ้นไป (หัวเราะ) แล้วก็ไปวาดรูปเล่นผมได้ข้อสรุปจากโชว์นี้ว่า เวลาเราเห็นคนคนหนึ่ง เราก็เห็นแค่เขา แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นแค่ผลลัพธ์จากคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ไม่ว่าร้ายหรือดี คนที่เคยทำให้เขาเฟลมากๆ ก็ทำให้เขาเป็นคนแบบนี้แหละ หรือคนที่ทำให้เขาสำเร็จ ก็ทำให้

เขาเป็นคนแบบนี้ คนที่คอยด่าก็ทำให้เขาเป็นคนแบบนี้ เพราะฉะนั้น จริงๆ ตัวเราอาจจะไม่เป็นอะไรเลยก็ได้ แต่เป็นแค่ผลผลิตของคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แล้วก็โยงไปต่อว่า ตัวเราเองก็เป็นคนที่ไปกระทบชีวิตคนอื่นเหมือนกัน และถ้าเราก็เป็นคนคนหนึ่งที่เป็นคนที่คุณควรมีสำหรับคนอื่น เราจะทำตัวอย่างไร ผมคิดเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว คือเราคืออะไรวะ เกิดมาทำไม สุดท้ายพอมาถึงวันนี้ ก็ตอบได้ประมาณนี้นะครับ ว่าก็คงเกิดมาเพื่อเป็นอะไรสักอย่างของคนอื่น นี่คือเหตุผลที่เราต้องอยู่ต่อไป ไม่งั้นก็ตายไปได้แล้ว ไม่มีเราอยู่บนโลกนี้ก็ได้ แต่ที่เราต้องมี ก็เพราะว่าถ้าเราไม่อยู่ บางพาร์ทของชีวิตบางคนเขาหายไป เช่น พาร์ทลูกของแม่หายไป เราอยู่ก็เพื่อที่จะรับรู้ความหมายอันนี้ของคนอื่นที่มีกับเราเหมือนกัน คนนี้เป็นพี่เรา คนนี้เป็นแฟนเรา เป็นพ่อเรา เป็นเพื่อนเรา มันก็อยู่กันไปด้วยความหมายแบบนี้

GM: ดูเหมือนว่าช่วงหลังๆ คุณจะว่างเว้นจากการเขียนคอลัมน์ให้กับนิตยสาร

นิ้วกลม : ใช่ครับ หยุดเขียนมานานเกือบปีแล้ว คิดว่าปีหน้าจะเริ่มมีเวลาและได้กลับไปเขียนคอลัมน์ ตอนนี้พี่ๆ ที่มติชนก็เพิ่งถามมาว่าเมื่อไหร่จะเขียน เหตุผลที่หยุดไปคือตอนนั้นเขียนเยอะมาก จนรู้สึกว่ามันไม่สนุกแล้ว บางชิ้นก็ออกมาแย่ ปีนี้ตั้งแต่ต้นปี ก็เลยตั้งใจว่าจะทำงานให้น้อย แต่ก็ไม่สำเร็จ (หัวเราะ) ยังต้องทำงานเยอะอยู่ แต่ปีนี้เริ่มรู้สึกว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรเยอะ การได้ทำทีวีทำให้ได้เรียนรู้อะไรเยอะ พอได้นู่นได้นี่มา ก็อยากกลับมาเขียนหนังสืออีกครั้ง หยุดพักไปปีหนึ่งก็อยากรู้ว่ากลับมาเขียนอีกจะเป็นอย่างไร เหมือนกับเป็นช่วงเวลาของการจัดสมดุลในชีวิต ก็จัดได้ดีขึ้น ตอนแรกอาจโลภๆ หน่อย คือโลภทั้งปริมาณ คุณภาพ และเงิน เพราะเมื่อก่อนเคยทำงานประจำ ก็จะคิดถึงเรื่องเงินด้วย คิดเรื่องโอกาสด้วย อันนั้นน่าทำ อันนี้ก็น่าทำ สรุปคืออยากทำไปหมดทุกอย่าง เวลามีคนชวนไปเขียน ก็อยากเขียน เลยเขียนเยอะมากๆ แต่ผมว่าชีวิตมันก็ต้องเดินมาถึงจุดนี้แหละ เหมือนนักยกน้ำหนัก ที่ต้องยกให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นไป จนกว่าจะยกมากกว่านี้ไม่ไหวแล้ว พอมาถึงจุดนี้ก็จะรู้ตัวเอง ว่า อ๋อๆ เราทำได้เท่านี้แหละ หลังจากผ่านจุดนี้มาแล้ว เราก็ค่อยย้อนมาหาสมดุลที่แท้จริงในตัวเอง ว่าทำงานประมาณนี้จะมีความสุขกว่า

GM: แสดงว่าคนเรามีขีดจำกัดของตัวเองอยู่เหรอครับ

นิ้วกลม : มีสิครับ

GM: เคยได้ยินคอนเซ็ปต์เรื่อง Four-minute mile ที่เมื่อก่อนเคยเชื่อกันว่าคนเราไม่สามารถวิ่ง 1 ไมล์ โดยใช้เวลาน้อยกว่า 4 นาที แต่ในเวลาต่อมา พอมีนักวิ่งคนแรกทำเวลาน้อยกว่า 4 นาทีได้แล้ว หลังจากนั้น นักวิ่งคนอื่นๆ ก็สามารถทำลายสถิตินี้ลงมาเรื่อยๆ เขาจึงสรุปว่าคนเราแท้จริงแล้วไม่มีขีดจำกัดใดๆ

นิ้วกลม : อืมม์…น่าสนใจครับ (คิดนาน) …คือช่วงนี้ผมกำลังคิดเรื่องอะไรพวกนี้อยู่พอดี เรื่องการใช้พลัง การไปให้ถึงความสำเร็จ หรืออะไรก็ตาม ผมคิดว่าขีดจำกัดของคนเรา อาจจะอยู่ตรงที่คุณยอมเสียอะไรไปบ้าง ผมเพิ่งไปดูหนัง สตีฟ จ็อบส์ มา แล้วก็ได้ข้อสรุปส่วนตัวว่า การที่ สตีฟ จ็อบส์ จะได้มาเป็น สตีฟ จ็อบส์ อย่างที่เราเห็นกันอยู่ เขาต้องยอมเสียอะไรในชีวิตไปเยอะเหมือนกันนะ คนที่จะมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายหนึ่งอย่างตรงแหนว โดยให้น้ำหนักกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้างต้องหายไป อย่างวันพรุ่งนี้ แม่ผมจะต้องไปถอนฟัน โดยที่เขามีโรคประจำตัวอยู่ ต้องกินยาที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัว ดังนั้น ก่อนจะไปถอนฟันในวันพรุ่งนี้ เขาก็ต้องเตรียมตัวอย่างมาก ซึ่งสำหรับคนแก่ มันอันตรายมากถ้าเลือดไหลไม่หยุด ช่วงนี้เขาต้องไปฉีดยาติดต่อกัน 5 วัน เช้า-เย็น พอผมต้องทำงานเยอะๆ ไม่ได้อยู่บ้านกับพวกเขา ป๊าก็ต้องขับรถพาแม่ไปฉีดยา พอเห็นอะไรแบบนี้แล้วผมก็เริ่มคิดขึ้นมาว่าความสมดุลในชีวิตของเราอยู่ตรงไหน

เมื่อประมาณปีที่แล้ว ป๊า-แม่ผมป่วยพร้อมๆ กัน เขาต้องสลับกันเข้าโรงพยาบาล ในวันนั้น ผมเลยรู้แล้วว่าขีดจำกัดของคนเราไม่ได้อยู่ที่ความสามารถของตัวเรา หรือความทุ่มเทของตัวเราเท่านั้น แต่ขีดจำกัดของคนเรา ขึ้นอยู่กับคนรอบข้างเราด้วย ความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง พ่อแม่ พี่น้อง คนรัก รวมถึงเพื่อนร่วมงาน อย่างตอนสมัยที่ผมทำงานโฆษณา ไม่ใช่ว่าคุณทำงานเจ๋งๆ ออกมาแล้วได้คานส์อวอร์ด นั่นคือความสำเร็จ ช่วงแรกๆ ของการทำงานเราอาจคิดแบบนั้น แต่พอโตขึ้น กลับรู้สึกว่าความสุขของการทำงาน ความรู้สึกของคนรอบข้าง ก็สำคัญไม่แพ้กัน เราอาจจะไม่ต้องประสบความสำเร็จสุดๆ ก็ได้มั้ง เราหน่วงความสำเร็จลงหน่อย สมมุติจะเขียนหนังสือ ก็ไม่ต้องเสร็จในเดือนนี้ก็ได้ แต่การจัดสมดุลให้มีเวลาให้คนรอบข้าง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน นี่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นขีดจำกัดที่เมกเซนส์มากกว่าสำหรับผม ไม่รู้ว่าเราจะทะลุขีดจำกัดนี้ไปเพื่ออะไร เราอาจไม่ต้องเป็นผู้เปลี่ยนโลกก็ได้ ตอนดูหนัง สตีฟ จ็อบส์ รู้สึกว่าถ้าเขาไม่เป็นคนแบบนั้น เราอาจไม่มีสมาร์ทโฟนมาเปลี่ยนโลกแบบในทุกวันนี้ก็ได้ แต่คำถามคือเราเองต้องเป็นคนแบบนั้นเหมือนกับเขาไหม แน่นอนว่าโลกต้องมีคนอย่าง สตีฟ จ็อบส์ แต่เราเองจะเลือกเป็นคนนั้นหรือเปล่า ถ้าถามผม ผมคงไม่เลือกหรอก ผมเชื่อว่าคนยิ่งใหญ่อย่างพระพุทธเจ้า ก็ต้องยอมสูญเสียความสัมพันธ์กับคนรอบตัว คนที่มุ่งมั่นกับอะไรบางอย่าง เพื่ออะไรที่ยิ่งใหญ่มากๆ ขนาดนั้น ซึ่งไม่ผิด โลกต้องมีคนแบบนั้นอยู่แล้ว คนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงโลก แต่ผมอาจไม่ใช่คนแบบนั้น ผมให้ความสำคัญกับคนรอบข้างมากกว่า

GM: ความสัมพันธ์กับเพื่อน ให้ความสุขกับเราได้มากกว่าความสำเร็จหรือ

นิ้วกลม : ถึงวัยหนึ่งเราไม่รู้ว่าจะสำเร็จไปทำไม หลายครั้งที่ทำงานหนักๆ แล้วมีเวลานั่งคุยกับเพื่อนเก่า มาแชร์กันว่ามีปัญหาอะไร ยังไง บางคนเครียดมาก บางคนมีลูกแล้วชีวิตเปลี่ยนไป ความสัมพันธ์กับเพื่อนมันดีตรงที่มันช่วยดึงเรากลับมาเป็นมนุษย์ เวลาเราอยู่กับคนที่ผูกพัน คนรัก เราจะกล้าแสดงความอ่อนแอ ความด้อย ความแย่ ความทุเรศ ความลามก ความเลว ออกมาได้อย่างสบายใจ โมเมนต์นั้นมันดี ทำให้เรารู้สึกสบายตัว ต่างจากเวลามุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ ที่ผมคิดว่ามันเป็นการหนีไปจากความเป็นมนุษย์ ต้องอาศัยความเหนือกว่า เยอะกว่า ความสมบูรณ์แบบ เราก็อยากเป็นแบบนั้นนะ แต่วัดกันแล้วโมเมนต์ไหนที่เราสบายใจกว่า ตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วได้นั่งอยู่กับแม่ แม่ก็คุยกับเรา บ่นให้ฟังว่าฟันโยกแล้ว ต้องไปฉีดยา โมเมนต์นั้นอบอุ่นใจ เทียบกับเมื่อเราสำเร็จอะไรสักอย่าง ความรู้สึกนั้นอายุสั้นกว่า อยู่ไม่นาน อย่างตอนมีหนังสือเพิ่งพิมพ์เสร็จออกมาก็ดีใจ พอเดินไปเห็นในร้านหนังสือว่ามันขึ้นอันดับ 1 ก็ดีใจ แต่ก็ดีใจแค่แวบหนึ่ง สารเคมีในตัวที่หลั่งมาแล้วตื่นเต้น มันต่างจากตอนอยู่กับคนที่เราผูกพัน ซึ่งมันจะเป็นแนวนิ่งๆ อบอุ่น

GM: ทำไมเราไม่บอกให้แม่รอไปก่อน รอให้พ้นช่วงงานสัปดาห์หนังสือไปก่อน แล้วเราค่อยพาไปหาหมอ

นิ้วกลม : (หัวเราะ) มันไม่ใช่แค่เรื่องแม่ไปทำฟัน มันรวมถึงเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งจริงๆ แล้ว ในมุมของแม่ แม่ก็พูดตลอดเวลาว่าเอ๋ไม่ต้องพาไปหรอก แม่ไปเองก็ได้ แม่ไปบอกให้ป๊าตื่นเช้าหน่อย ขับรถไปกันตั้งแต่ตอนเช้ามืดก็ได้ แต่ในมุมของผม ผมคิดเอาเอง ว่าเฮ้ย! กูควรจะอยู่ด้วยนะ กูควรเป็นคนที่ขับรถพาเขาไป

GM: ถ้าจะให้สรุปความหมายของคำว่าความสมดุลของชีวิตล่ะ

นิ้วกลม : มันก็คือภาวะที่อยู่สบาย ผมเคยคุยกับเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นภัณฑารักษ์ คุยว่าสิ่งที่สวยงามที่สุดในโลกคืออะไร เขาตอบว่าคือความสมดุล ทั้งชีวิตของเราทุกคน ในทุกช่วงเวลา แท้ที่จริงแล้ว พวกเรากำลังพยายามหาสมดุลอยู่ แรกๆ ชีวิตจะล่อเราด้วยความตื่นเต้น ความดึงดูด เย้ายวน จึงง่ายมากที่ชีวิตจะพาให้เราวิ่งไปสุดทาง ไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง สิ่งใหม่ๆ ความตื่นเต้นทั้งหลาย หลอกล่อเราให้หลงไปสุดทางนั้น จนหลายครั้งเราอาจจะหลงคิดว่าได้ไปถึงจุดที่มีความสุขมากๆ ซึ่งพอถึงจุดนั้นมันก็เริ่มทุกข์ขึ้นมาทุกที สมมุติเราอยากเขียนหนังสือให้ดี อยากมีชื่อเสียง อยากให้คนรู้จัก เราก็เขียนหนังสือไปอย่างมีความสุข จนถึงวันหนึ่งหนังสือเราขายดี เรามีความสุขมากที่สุด แต่ปรากฏว่าเราเริ่มหวงมัน อยากให้หนังสือขายดีอย่างนี้ไปตลอด อยากให้ทุกคนชอบเรา อยากยื้อสิ่งนี้ไว้ให้อยู่ตลอด เสร็จแล้วก็อยากไปเขียนคอลัมน์ให้ที่โน่นที่นี่ พอได้เขียนเยอะไป ก็กลายเป็นความทุกข์อีก หรือตอนที่ได้มาทำรายการทีวี ที่ผมชอบมากๆ เช่น ได้ทำรายการพื้นที่ชีวิต ได้เดินทาง หาประสบการณ์ใหม่ๆ แต่พอถึงจุดที่ทำสองรายการ เริ่มเยอะไปก็เริ่มไม่สนุก

GM: ในรายการพื้นที่ชีวิต มีหลายตอนที่นำเสนอเกี่ยวกับการค้นหาความหมายของชีวิต ความเชื่อทางศาสนา เป็นคนเลือกเองไหมว่าจะทำประเด็นเหล่านี้

นิ้วกลม : ผสมๆ กัน ผมเสนอหัวข้อไปบ้าง บางทีพี่โปรดิวเซอร์ก็จัดมาให้ อย่างตอนอินเดียนแดงนี่ผมอยากทำเอง อยากรู้ว่าอินเดียนแดงคิดอย่างไร ก็เสนอพี่เขาไป หรือเรื่องเซน ผมก็เสนอไปนานแล้วว่าอยากทำ สำหรับผม คำว่าธรรมะ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราพูดถึงในระดับไหน ผมมองว่าหนังสือธรรมะเป็นเทคโนโลยี เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง เวลาอ่านหนังสือพวกนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือรู้สึกสงบ จริงๆ ก็ไม่ว่าหนังสืออะไรก็ตาม เพราะการอ่านมันเป็นช่วงที่เราอยู่เงียบๆ กับเนื้อหาก้อนหนึ่ง ถ้าเป็นหนังสือธรรมะ เราก็จะยิ่งสงบเข้าไปอีก เพราะเนื้อหาขัดเกลาให้เรารู้สึกว่าอย่าไปอยากมี อยากได้ จงละทิ้งมัน มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของมัน ทำให้โมเมนต์ช่วงที่อ่านรู้สึกดี

แต่ถ้าพูดถึงตัวหลักธรรมะจริงๆ เลย ผมคิดว่ามันคือการปฏิบัติ การฝึก ให้เข้าถึงความจริง สิ่งที่เป็นจริงของโลกใบนี้ ความจริงขั้นสูงสุด ที่เราอาจต้องไม่เป็นมนุษย์ปุถุชนแล้วมั้ง ถึงจะเข้าถึงมันได้ ความจริงก็มีหลายระดับ ความจริงสูงสุด ที่เราพบว่าจริงๆ แล้วเราเป็นปรากฏการณ์ เป็นอนุภาคเล็กๆ ที่ประกอบกันขึ้นมา แตกสลายแล้วก่อร่างเป็นสิ่งใหม่ แต่ในทุกวันนี้ เราเป็นมนุษย์ปุถุชนใช่ไหม พอมีคนมาตีเรา เราก็ไม่ได้คิดในระดับสูงขนาดนั้น มึงมาตีอนุภาคกู (หัวเราะ) อะไรแบบนี้ก็ทำไม่ได้หรอก บางทีการคิดถึงคอนเซ็ปต์ระดับสูงๆ แบบนั้น มันก็ช่วยสะกดจิตเราได้ระดับหนึ่ง ทำให้ทุกข์น้อยลง ยึดมั่นถือมั่นน้อยลง แต่เป็นระดับของความคิดเท่านั้น การจะเข้าใจสิ่งนี้ได้ ผมว่าต้องไปปฏิบัติ

GM: มีตอนหนึ่งที่คุณไปฝึกปฏิบัติในวัดเซน ประเทศญี่ปุ่น คุณบอกว่าถ้าเราเริ่มต้นคิด มันก็จะไม่ใช่ความจริงแล้ว

นิ้วกลม : ใช่, หนังสือธรรมะเอาไว้อ่านเพื่อเตือนใจ สร้างช่วงเวลาแห่งความสงบขึ้น ช่วงที่ฟุ้งซ่านมากๆ โลภมากๆ ทุกข์มากๆ ก็ทำให้เราฉุกคิดเพื่อกลับมาอยู่ในจุดที่โอเค แต่เราก็มักจะกลับไปทุกข์อีก เพราะผมว่าธรรมะเป็นเรื่องการปฏิบัติมากกว่า หลังจากได้ไปปฏิบัติธรรมที่ศูนย์ธรรมสีมันตะ ลำพูน ของท่านโกเอ็นก้า ผมมองชีวิตเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง มองว่าทั้งชีวิตคือการปฏิบัติธรรม ชีวิตคือการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของสิ่งที่เราชอบกับไม่ชอบ มันมีช่วงที่รู้สึกปิ๊งมากๆ คือตอนที่นั่งสมาธิไปแล้วปวดมาก เมื่อยมาก เขาก็สอนให้กำหนดจิต เคลื่อนจิตไป พอจิตเคลื่อนมาถึงจุดที่เคยปวด เคลื่อนกลับมาอีกทีหายปวดแล้ว เราแค่นั่งนิ่งๆ เท่านั้นเอง สิ่งนี้ฝังอยู่ในใจเลยว่า เวลาเราทุกข์ แค่อยู่นิ่งๆ ก็จะหายไป ความทุกข์จางจากความรู้สึกเรา เหมือนอาการปวดเข่า เราแค่มองมัน เห็นมัน แต่ไม่ได้คิดต่อจากอาการปวดนั้น เขาสอนให้เคลื่อนจิตไปทีละจุด พอถึงจุดหนึ่งจิตจะเคลื่อนเร็วมาก ไปทั่วร่างเลย เหมือนมีใครเอาน้ำราด ในหนังสือบอกว่านี่คือความรู้ตัวทั่วพร้อม จิตกับกายอยู่ด้วยกัน ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าความรู้สึกนี้คืออะไร แต่น่าจะเป็นภาวะที่ปราศจากความคิด

ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นในวันที่ 6 มีโมเมนต์หนึ่งที่ผมลืมตาขึ้นมา เป็นครั้งแรกที่ลืมตาขึ้นมา มองเห็นภูเขา แล้วไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่ได้คิดอะไรเลย มันว่างเปล่ามาก แต่ความรู้สึกแบบนี้มันเกิดขึ้นไม่กี่วินาทีนะ แป๊บเดียวก็หายไป ผมก็ไปอ่านในหนังสือ เขาบอกว่าวันๆ เราใช้ความคิดเยอะ ความคิดคือการออกไปนอกตัว กายกับใจเป็นคนละเรื่อง ช่วงเวลาปฏิบัติธรรมคือเราได้เอาใจกลับมาที่ตัว เป็นช่วงเวลาที่เราไม่คิด คนเราต้องมีช่วงเวลาที่ไม่คิดบ้างนะ ไม่จำเป็นต้องไปปฏิบัติธรรมก็ได้ อย่างผมชอบไปเตะบอล นั่นก็เป็นเวลาที่ไม่คิด อะไรที่เราทำบ่อยๆ จนชำนาญ เราจะทำไปโดยไม่คิด เป็นสัญชาตญาณ เช่น ลูกมาเร็วๆ แล้วโกลพุ่งรับ มันไม่ได้คิดนะ คนเล่นกีตาร์เก่งๆ ตอนโซโล่ก็คงจะไม่คิดแล้ว

GM: ความสนใจตรงนี้มีความเป็นมาอย่างไร

นิ้วกลม : เริ่มสนใจเพราะอกหัก (หัวเราะ) นี่เรื่องจริง คือตอนนั้นเสียใจมาก ผมมีความเชื่อมาตลอดว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ถ้าคนเราเอาจริงกับอะไร เราจะประสบความสำเร็จแน่ๆ อย่างเช่นตอนสอบเข้าโรงเรียนบดินทรเดชาฯ ตอนสอบเอนทรานซ์ ผมไม่หลับไม่นอน ต่อให้โง่ๆ ก็จะขยันเต็มที่เพื่อสอบให้ได้ เสร็จแล้วเราก็สอบได้จริงๆ ตอนจุฬาฯ ก็เหมือนกัน มันก็พิสูจน์ความเชื่อนี้มาตลอด ว่าเราพยายามมาก ก็จะสำเร็จได้นี่หว่า แต่พอมาถึงเรื่องจีบผู้หญิงปุ๊บ มันกลับไม่เป็นแบบนั้น ผมรักผู้หญิงคนหนึ่งมานานมาก รู้จักกันเป็นสิบปี แต่จีบไม่สำเร็จ เหมือนความเชื่อก้อนนั้นที่เราเคยยึดไว้ตลอดถูกทุบทำลายไป นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ อุดมคติอย่างหนึ่งที่เชื่อมาตลอด พอมันผิดปั๊บ ก็เหมือนโลกใบนั้นแตก ผมก็เคว้งทันทีเลย แล้วทีนี้ชีวิตนี้เราจะเชื่ออะไรได้อีกวะ ไม่รู้จะทำอะไรเลยอ่านหนังสือธรรมะ รู้สึกว่ามันช่วยเยียวยา เหมือนอย่างที่คนพูดกัน ว่าเวลาที่ทุกข์ที่สุด จึงจะเห็นความจริงชัดที่สุด เลยพอจะเห็นความจริงมากขึ้นบ้าง เห็นกฎแห่งการเปลี่ยนแปลง อนิจจัง เห็นที่มาของความทุกข์มากขึ้น ว่าเราไปยึดว่าเขาจะต้องเป็นของเรา จากนั้นก็อ่านหนังสือธรรมะเยอะขึ้น อ่านของหลายคน ท่านพุทธทาส หลวงพี่ไพศาล วิสาโล ติช นัท ฮันห์ เชอเกียม ตรุงปะ การอ่านหนังสือธรรมะดึงเรากลับมาอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ไม่วนอยู่กับอดีต ถามตัวเองว่าจะอยากได้นั่นนี่ไปทำไม ช่วงเวลานั้นใจสงบ

GM: เทียบกับคนหนุ่มสาวสมัยก่อน เขามาถึงจุดเปลี่ยนผ่านทางความคิด ด้วยความผิดหวังกับอุดมการณ์ทางการเมืองอันยิ่งใหญ่ แต่คุณถึงจุดเปลี่ยนทางความคิด เพราะอกหักจากผู้หญิงคนเดียวแค่นี้หรือ

นิ้วกลม : (หัวเราะ) เรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ผมว่ามันไม่ต่างกันเลย ก็คือเราเชื่อว่าเราเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ ควบคุมสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวได้เสมอ อาการอกหักที่ว่า นั่นก็เกิดจากการที่เราควบคุมมันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือระบอบการปกครอง ถ้าเปรียบเทียบยุคสมัยของสังคม คุณภาพคนหนุ่มสาวโดยรวมๆ เราแตกต่างกันไหม มันก็คงฉายให้เห็นเหมือนกันว่า สังคมเปลี่ยนไปมาก ทำไมคนรุ่นผมถึงอกหัก ผิดหวังมากๆ กับชีวิตด้วยเรื่องแค่นี้ จะเป็นจะตายกับมัน แต่ถ้ามองในระดับบุคคล ผมไม่ได้มองว่าการอกหักจากผู้หญิงและการอกหักจากอุดมการณ์ทางการเมือง ควรจะเอามาเทียบกันนะ เราไม่สามารถบอกได้หรอกว่าใครเสียใจมากกว่าใคร

GM: เรื่องเล็กๆ แบบนี้ กลายเป็น Coming of Age ของคนหนุ่มสาวยุคนี้ใช่ไหม

นิ้วกลม : ทุกคนมีอยู่แล้ว เพียงแค่เมื่อไหร่ วันไหนเท่านั้นเอง อาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขอายุ แต่อาจจะอยู่ที่ว่า คุณเคยมีความรักหรือเปล่า เคยรักอะไรอย่างหมดหัวใจ ทุ่มไปทั้งตัว ไม่เหลืออะไรเลย ไม่ได้คิดเลยว่าเป็นไปไม่ได้ วิ่งไปสุดทางโดยไม่ได้เตรียมแผน 2 ไว้เลย นั่นคือความรักแบบสมัยก่อนของผม คนที่โตแล้วอาจมีความรอบคอบกับเรื่องนี้มากขึ้น ประสบการณ์จะสอนว่าไม่ต้องสุดโต่งขนาดนั้นก็ได้

GM: ต่อไปนี้ คุณจะไม่รักอะไรแบบสุดหัวใจแบบนั้นอีกแล้วใช่ไหม

นิ้วกลม : มันซื่อมาก โง่มาก ไม่ได้เตรียมตัว แน่นอนว่าคนเราเมื่อเคยล้มแล้ว ก็ต้องเดินระวังมากขึ้น ถ้าเราไม่ได้ทุ่มสุดตัวให้เรื่องแบบนั้นอีกแล้ว อุดมการณ์ทางการเมืองก็เช่นเดียวกัน ประสบการณ์สมัยเด็กๆ สอนผมหลายเรื่อง ทำให้รู้แล้ว ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนใครได้ ขนาดเปลี่ยนใจผู้หญิงคนเดียว ผมเปลี่ยนไม่ได้ จะไปเปลี่ยนอะไรทั้งสังคม ทุกวันนี้ผมรู้แล้วว่าถ้าอยากได้อะไร ถ้าเชื่อว่าอะไรมีคุณค่า เราก็แค่พยายามทำสิ่งนั้นของเราไป แต่ไม่คาดหวังแล้วว่าโลกจะต้องเปลี่ยนมาเป็นแบบที่เราต้องการ พอเป็นแบบนี้แล้ว เราจะรู้จักให้เกียรติคนอื่นมากขึ้น เมื่อก่อนเราจะมองว่าคนอื่นโง่ เพราะเขาไม่คิดเหมือนเรา ตอนไปจีบผู้หญิง แล้วเขาไม่ชอบเรา เราก็ผิดหวังเพราะคิดว่าผู้หญิงคนนี้โง่หรือเปล่า เราดีขนาดนี้ทำไมไม่รักเราวะ มึงจะหาใครที่รักมึงเท่ากูไม่มีอีกแล้ว (หัวเราะ) อะไรประมาณนี้ แต่ที่จริงคนที่โง่คือตัวเราเองที่ไปคิดแบบนั้น เราคิดว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของเราประเสริฐแล้ว จะมองว่าคนที่คิดไม่เหมือนเรา มึงบ้าหรือเปล่าวะ มันต้องเป็นแบบนี้สิวะ มันถึงจะดีที่สุด มึงไม่เชื่ออย่างกู มึงนี่โง่มาก ซึ่งคิดแบบนี้ก็อาจจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเกินไป

GM: ทุกวันนี้ ผู้หญิงคนนั้นเป็นอย่างไร

นิ้วกลม : เขาก็มีครอบครัวที่ดี มีความสุข มีชีวิตของเขา เขาก็ฉลาด เขาเลือกถูกแล้ว (หัวเราะ) ตอนอ่านหนังสือแนวโพสต์โมเดิร์น เขาอธิบายว่าพวกโมเดิร์น-นิสม์ จะมองโลกแบบ Being คือคนนี้เป็นแบบนี้ เป็นสิ่งนี้ ในขณะที่ปรัชญาแนวใหม่ๆ จะมองโลกแบบ Becoming คือมองว่าคนนี้กำลังเปลี่ยนไปสู่อะไร ชีวิตของเรา โลกของเรา ล้วนอยู่ในภาวะ Becoming คือภาวะที่กำลังกลายเป็นอะไรอย่างหนึ่ง ทุกคนเป็นแบบนั้น คนที่เหลืองอยู่ อาจ Becoming เป็นอย่างอื่นก็ได้ คนที่แดงอยู่ อาจ Becoming เป็นอย่างอื่นก็ได้ คนคนหนึ่งเป็นแค่สภาวะหนึ่งเท่านั้นเอง เวลาที่เราไม่ชอบใครหรืออยากจะไปเปลี่ยนใคร เราก็ชอบมองว่าเขาเป็นแบบนั้นแบบนี้ และจะเป็นไปตลอดกาล เราจึงต้องไปเปลี่ยนเขา ทั้งที่จริงแล้ว เราก็แค่ทำได้ในส่วนของเรา ส่วนของคนอื่นก็ปล่อยให้เขาค่อยๆ เรียนรู้ไป ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ทุกคนมีโอกาสเติบโต กระทั่งคนฉลาดๆ เองก็อาจจะได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน

GM: การเมืองอาจจะไม่ใช่ผู้หญิงธรรมดา แต่ต้องนำไปเปรียบกับหญิงงามเมือง เพราะมันเป็นเรื่องของคนหลายคน มารุมอยู่กับผู้หญิงคนนี้คนเดียว

นิ้วกลม : (หัวเราะ) ผมไม่ค่อยแน่ใจในสิ่งที่ผมคิด การเมืองอาจจะไม่สามารถเปรียบได้กับผู้หญิง เพราะไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจตัวเอง ไม่ได้เลือกตัวมันเอง แต่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ต่อรองกัน ผมคิดว่าเราจำเป็นจะต้องเปิดหูรับฟังอยู่ตลอดเวลาว่ามีความคิดอื่นหรือเปล่า มีข้อมูลอื่นหรือเปล่า มีแง่มุมอื่นหรือเปล่า น่าจะสนุกตรงนั้น เราอาจไม่ถูกเสมอไปก็ได้ ทำให้เวลาที่จะยืนหยัดเพื่ออะไรสักอย่าง ผมก็ไม่กล้ายืนหยัดแบบไม่มีวันเปลี่ยนตลอดกาล อย่างเรื่องเขื่อน พอเรารู้ข้อมูลทั้งหมดว่ามันไม่น่าสร้างจริงๆ ว่ะ เราอาจมีเหตุผลเฉพาะตัวของเรา อาจไม่ได้รักเสือ รักนก อะไรมากมาย แน่นอนว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมก็น่าห่วงใย แต่หลักๆ เลยคือเราเสียดายเงินภาษี จะเอาไปสร้างเขื่อนที่ไม่น่าจะเวิร์กเพื่ออะไร ไม่อยากให้เอาเงินภาษีเราไปถลุงเล่น ถามว่าจะต้านไหม ก็ต้านไปก่อน เพราะตอนนี้เรารู้มาแค่นี้ แต่ถ้ามีข้อมูลอื่นเข้ามาอีก ก็ยังรอฟังข้อมูลอยู่เสมอ อย่างที่บอก ว่าเรา Becoming อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าถ้าคุณอยู่ฝั่งนี้ อีกวันจะไปอยู่อีกฝั่งไม่ได้ ผมว่าเราไม่ควรอยู่ฝั่งไหนด้วยซ้ำ เพราะทั้งหมดนี้เป็นช่วงเรียนรู้ รอรับฟังข้อมูลชุดใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ บริบทรอบตัวและความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยก็มีผลต่อความคิดของเราด้วย

GM: เราจะ Becoming อยู่ตลอดไปได้อย่างไร ในเมื่อเขียนหนังสือเสร็จออกมาวางขาย ทำรายการเสร็จออกมาแพร่ภาพ ความคิดเห็นของเราได้ถูกสถิตหยุดนิ่งไปแล้ว และจะถูกคนอื่นๆ นำไปใช้ต่อๆ กันไปแล้ว

นิ้วกลม : ผมคิดว่านั่นเป็นแค่เพียงรอยเท้าของเราเท่านั้น ในฐานะสื่อ เราต้องสื่อสารสิ่งที่เราคิดและเชื่อออกไป สิ่งที่ดีที่สุดในตอนนั้น ขณะเดียวกัน เราก็ให้โอกาสกับข้อมูลอื่นๆ ความดีที่เราเชื่ออยู่ตอนนี้ มันอาจจะเปลี่ยนแปลงก็ได้ ผมคิดกับคนอื่นๆ แบบเดียวกันนี้ ดังนั้น บรรดาหนังสือ บทความ หรือเนื้อหาอะไรของคนอื่นที่สถิตไว้ในสื่อต่างๆ เป็นแค่รอยเท้าหนึ่งของพวกเขาเท่านั้นเอง วันนี้เขาเดินไปทางนี้ แต่วันหนึ่งเขาอาจจะเลี้ยวกลับมาก็ได้ หรืออาจแยกไปสู่หนทางอื่น ผมไม่ได้มองว่ารอยเท้านี้เป็นการเหยียบและยืนอยู่กับที่ เพราะมันไม่ใช่จุดยืน เป็นแค่รอยเท้าหนึ่งในการเดินผ่านมา เมื่อก่อนตอนเด็กๆ ผมเคยชื่นชมคนที่ยืนหยัดไม่เคยเปลี่ยนเลย แต่วันนี้ ผมตื่นเต้นกับการเฝ้ารอดูการเติบโตและเปลี่ยนแปลงของผู้คน รู้สึกว่ามีสีสันดี แถมเรายังได้เรียนรู้ผ่านการเติบโตของเขาด้วย

GM: คิดอย่างไรกับสังคมไทยทุกวันนี้ ที่มักตัดสินคนจากภาพหยุดนิ่ง

นิ้วกลม : คิดว่าน่าเสียดาย และนี่เป็นต้นตอหนึ่งของความขัดแย้งในสังคม น่าสนใจที่เราอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยคำสอนทางพุทธศาสนา หนังสือธรรมะก็ขายดี คนก็ปฏิบัติธรรม ไหว้พระ 9 วัด แต่แก่นของศาสนาพุทธเรื่องอนัตตา-ความไม่มีตัวตน อนิจจัง-ความเปลี่ยนแปลง เรากลับไม่ได้คิด ไม่ได้เชื่อเรื่องนี้ เรายังมองคนแบบหยุดนิ่งมาก ผมว่ามันมีเนื้อหา 2 ส่วนหลักๆ ในพุทธศาสนาที่เรานำมาสอนกันบ่อยๆ คือการเป็นคนดี การอยู่ในศีลในธรรม สังคมไทยเราอาจยึดคำสอนในส่วนนี้มากกว่า เรามักอยากให้เขาดีในแบบที่เราคิดว่าดี ทำให้เราไปชี้นิ้วใส่คนอื่นตลอดเวลา ทำไมคุณไม่ทำแบบนี้แบบนั้น เราไม่ได้ใช้คำสอนอีกส่วนหนึ่ง ในเรื่องที่ว่าเขามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลง เห็นความเป็นอนิจจังของเขา ถ้าคุณเห็นแบบนี้ เชื่อว่าเราอยู่ในช่วงของการต่อสู้กันทางความคิด เขามีสิทธิ์เปลี่ยน สำหรับคนที่เชื่อว่าความคิดตัวเองน่าจะดีกว่า ก็ต้องรู้ตัวเองด้วย ว่าแม้แต่เราเอง

ก็มีสิทธิ์เปลี่ยนเช่นกัน

GM: นั่นก็แปลว่าคนเราไม่จำเป็นต้องมีจุดยืนอะไรเลยหรือ

นิ้วกลม : ถ้าตอบอย่างสุดโต่งเลย ก็ใช่ เราคงยืนอยู่ได้แป๊บเดียว แล้วก็มองหาโอกาสที่จะก้าวต่อไปด้วย มันคงไม่มีใครก้าวเดินตลอดเวลา เรามีที่หยุดยืนพักอยู่เป็นระยะๆ มีจุดยืนได้ แต่ไม่จำเป็นต้องไปเกาะกุมจุดยืนนั้น แล้วยึดมั่นว่านี่คือสิ่งที่ฉันจะใช้ชีวิตอยู่เพื่อมัน เราใช้ชีวิตอยู่กับความเปลี่ยนแปลงมากกว่า

GM: คนที่ติดตามอ่านหนังสือของคุณมา คนที่ไปยืนต่อคิวขอลายเซ็นคุณนานเป็นชั่วโมง พวกเขาคาดหวังจุดยืนอะไรจากคุณบ้างหรือเปล่า

นิ้วกลม : อาจจะคาด เหมือนกับเวลาผมชื่นชอบผลงานของใครสักคน ผมก็คาดหวังเหมือนกันนะ แต่จุดยืนผมชัดนะ ช่วงหลังๆ จุดยืนผมคือไม่ต้องรีบมีจุดยืน (หัวเราะ) อาจสร้างความรำคาญใจให้คนบางกลุ่มก็ได้ โดยเฉพาะในสังคมที่ต้องการให้ทุกคนลุกขึ้นมา แล้วบอกว่าคุณเชื่อในอะไรกันแน่ คุณอยู่ฝ่ายไหนกันแน่ อย่างในรายการพื้นที่ชีวิต ตอนคอร์รัปชั่น พอออกอากาศไป มีคนดูเข้ามาแสดงความคิดเห็นกัน บางคนบอกว่า เออๆ โล่งใจไปเห็นนิ้วกลมออกมาพูดเรื่องนี้สักที จะได้เห็นชัดสักทีว่าอยู่ฝั่งไหน ซึ่งรูปโปรไฟล์เขาใส่หน้ากากขาว แล้วเพื่อนเขาก็มาเมนต์ สงสัยมานานแล้วว่าอยู่ฝั่งไหน ซึ่งผมเองไม่คิดว่าปัญหาคอร์รัปชั่นมันคือฝั่งไหน เพราะถ้าคอร์รัปชั่น ฝั่งไหนก็ผิดทั้งนั้น

GM: พวกสุดโต่งทางการเมือง คงอยากได้นักเขียนเซเลบอย่างคุณ มาสนับสนุนความคิดของฝั่งเขา

นิ้วกลม : เคยได้ยินคนถาม ตกลงมึงอะไรกันแน่ !!?? ผมต้องยอมรับว่าผมโง่มาก ก่อนหน้านี้ผมสนใจสังคมน้อยจริงๆ ผมเพิ่งมาเริ่มสนใจเรื่องการเมือง การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่ง่ายเลย สิ่งต่างๆ ที่ได้อ่านมาในช่วงหลังๆ ก็ช็อกผมอยู่ตลอดเวลา ผมจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเดือนหน้าหรือปีหน้า จะไม่มีอะไรมาช็อกผมอีก

GM: แล้วคนอ่านหนังสือของคุณล่ะ เขาเปลี่ยนแปลงไปจากคุณไหม

นิ้วกลม : ในงานสัปดาห์หนังสือแต่ละครั้งที่ผ่านมา ก็มีทั้งพบหน้าคนเดิมๆ และมีคนที่หายหน้าไป คนเดิมที่หายไปก็ได้พบความเคลื่อนไหวของเขาทางเฟซบุ๊ค มีบางคนเปลี่ยนไปมากเลย เคยเจอบางคนตั้งแต่เป็นนักศึกษา ตอนนี้เรียนจบแล้ว ก็ไม่เจอเขาแล้ว เชื่อว่าน่าจะมีจำนวนหนึ่งที่ไม่อ่านหนังสือของผมแล้ว สังเกตจากสเตตัส บางคนก็สนใจเนื้อหาที่หนักมากขึ้น สเตตัสบางคนรุนแรง มุ่งตรงไปที่การเมืองเยอะๆ อาจมีกัดจิกใครที่ไม่ได้คิดเหมือนเขา ส่วนคนที่เจอบ่อยๆ ก็ยังเจออยู่ ดีใจที่ได้รับฟีดแบ็คจากคนที่ติดตามอ่านผลงานของเรามานาน เขาโตไปด้วยกันกับเรา ถ้าสามารถเขียนงานให้คนที่อยู่ในรุ่นๆ เดียวกับเรายังอ่านอยู่ได้ ก็น่าดีใจ กลุ่มคนอ่านของผมมีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งคนไม่ค่อยรู้กัน คือกลุ่มผู้หญิง 40-55 งานเขียนผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก อาจอยู่ในช่วงที่ค่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงก็ได้ ผมเปลี่ยนมากๆ ช่วง 2 ปีนี้เอง ในแง่ของการสนใจเรื่องนอกตัวมากขึ้น

GM: การเลิกอ่านหนังสือนิ้วกลม ถือเป็น Coming of Age ของคนอ่านได้หรือเปล่า

นิ้วกลม : ก็ไม่แน่ บางเล่มอาจจะใช่ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณอ่านเล่มไหนของนิ้วกลม ผมไม่มองว่างานผมเป็นพวกโลกสวยหรือมองแต่ในแง่ดีนะ แต่ผมว่าบางเล่มมันอาจจะแคบไปนิด มันหมกมุ่นกับตัวเองไปหน่อย เป็นวิธีคิดที่คิดกับตัวเองได้ แต่คิดกับสังคมไม่ได้ เราไม่สามารถมองโลกที่กำลังมีปัญหามากมายว่า เฮ้ย! มันมีด้านที่ดีนะโว้ย ในสังคมเราทุกวันนี้ เราจำเป็นต้องมองให้เห็นด้านที่แย่ๆ ด้วย และบางทีมันก็เป็นปัญหาใหญ่โตระดับโครงสร้าง ที่ไม่ได้แก้ด้วยวิธีสะกิดให้หันไปดูดอกไม้ หนังสือผมอยู่ในกลุ่มคนอ่านที่เป็นคนเมือง หรือชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ผมเป็นผลผลิตของสิ่งนั้นด้วยเช่นกัน จึงไม่ได้มองเห็นปัญหาสังคมที่อยู่นอกสังคมของผม คนในชนบท คนยากจน ชาวบ้านที่ประสบปัญหา ผมเชื่อมาตลอดว่าถ้าไม่รู้อย่าเขียน อะไรที่พอจะรู้ จะคิดได้บ้าง ค่อยเริ่มเขียน ก็ไม่ได้ผิดบาปอะไรมั้งนะ เพราะเป็นช่วงวัยหนึ่งที่ผมต้องทำความเข้าใจกับตัวเอง ทบทวนตัวเอง หาวิธีคิดเพื่อจัดการกับความสับสนของตัวเองให้ได้ ถ้าวัยหนึ่งคุณตอบปัญหาเหล่านั้นได้แล้ว คุณคงเปลี่ยนไปสนใจเรื่องนอกตัวมากขึ้น สนใจสังคมมากขึ้น

GM: มีคำตำหนิชนชั้นกลางว่าดัดจริต ในเมื่อคุณเป็นหนึ่งในผลผลิตของชนชั้นกลาง งานเขียนของคุณนี่ดัดจริตด้วยหรือเปล่า

นิ้วกลม : ดัดจริต ถ้าแปลง่ายๆ คงแปลว่าไม่จริง อะไรก็ตามที่พยายามดัดไปจากความจริง ให้หรูหราเกินจริง ดีเกินจริง สวยเกินจริง มันตอบได้ 2 แบบ คือ 1. ผมยังมองไม่เห็นงานของใครที่ดัดจริต กับ 2. ผมยังมองไม่เห็นว่างานของใครไม่ดัดจริต ทุกคนมีจริตของตัวเอง นักเขียนเหมือนคนเล่นละคร เวลาขึ้นไปบนเวทีกระดาษ เราไม่ได้พูดตามปกติหรอก เราคิดแล้วเราก็แสดงบทบาทบางอย่าง ด้วยลีลาที่เราคิดมาแล้ว ดีไซน์มาแล้ว เรียกว่าจริตจะก้านในการเขียน ส่วนถ้าพูดถึงวิธีคิดที่ดัดจริต วิธีที่ทำตัวเหมือนไม่เห็นความจริงของโลกใบนี้ ผมไม่เคยรู้สึกเลยนะว่าใครดัดจริต ก็อาจมีส่วนน้อยที่พยายามประดิษฐ์วิธีคิด แต่ถ้าคนที่เขียนจากมุมที่เขามอง ผมว่านั่นก็เป็นวิธีคิดของเขา อาจมีคนมองงานเขียนบางชิ้นว่าดัดจริต เช่น คุณยังเขียนเรื่องการมองสิ่งเล็กๆ มองดอกไม้ริมทางได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มีคนตายไป 90 กว่าคน คุณไม่เห็นเหรอ? ทำไมคุณไม่เขียน ไม่รู้ว่ามุมมองแบบนี้ใช่ไหมที่เขาเรียกว่าดัดจริต ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจ แต่บางเรื่องมันก็มีข้อเท็จจริงที่ซับซ้อน และเราคิดว่าเรายังไม่รู้มันถ่องแท้ จึงเขียนไม่ได้

GM: คิดว่าตัวเองเป็น ‘สลิ่ม’ ไหม

นิ้วกลม : ไม่รู้ว่าสลิ่มหมายถึงอะไรที่ชัดๆ น่าจะหมายถึงคนที่ไม่สนใจการเมือง

สักเท่าไหร่ ไม่อ่านอะไรมากมาย มีความเชื่อในกรอบเดิมๆ ที่ปลูกฝังกันมา ผมว่าผมก็เคยเป็น แต่ตอนนี้ผมพยายามหา อ่าน ถาม อยากรู้มันมากขึ้น นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่อยากเห็น คือเราค่อยๆ ช่วยกันสลายคำจำกัดความเหล่านี้ พอเรามองว่าเขาเป็นสลิ่ม ก็ขีดเส้นแบ่งไปแล้วว่า คนพวกนี้จะสลิ่มไปเรื่อยๆ แหละ ทั้งที่จริงในอนาคตถ้าไม่เห็นด้วยกับอะไรบางอย่าง ก็ไปร่วมกันได้ ทุกคนเป็น Becoming อยู่ กำลังเรียนรู้ เปลี่ยนแปลง สลิ่มก็ไม่ใช่สลิ่มเสมอไป ผมมีสังคมในฝันของผม ผมอยากเห็นคนใจกว้าง คนที่ยอมรับว่าสังคมหรือโลกใบนี้ มนุษย์เราหลากหลายมาก มีความอดทนอดกลั้นในสิ่งที่ต่างไปจากตัวเรา แต่ไม่ใช่เพิกเฉย ต้องฟังด้วย อยากรู้ด้วยว่าเขาคิดอะไร อยากฟังคนที่เห็นต่าง อยู่ร่วมกันได้ แบบที่เถียงกันไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบด่ากัน ไม่ต้องเกลียดกัน ขัดแย้งได้ แต่ไม่ลงไม้ลงมือ ไม่รีบบอกว่าใครโง่ อีกคนหนึ่งอาจเปลี่ยนเรา หรือเราอาจเปลี่ยนเขาก็ได้ในสักวัน ผมเชื่อในความไม่เหมือน ความหลากหลาย ความแตกต่าง

อย่างในพื้นที่ชีวิต ผมพูดบ่อยมาก ว่าโลกเราได้พิสูจน์มาหลายรอบแล้วว่า การที่เราขีดเส้นแบ่งฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ สุดท้ายก็ฆ่ากันตาย เราต้องเรียนรู้ความผิดพลาดทั้งหมดทั้งมวลจากประวัติศาสตร์ ถ้าถามว่าอยากส่งผ่านความคิดอะไร ไปให้คนที่มาต่อแถวขอลายเซ็นผม อยากส่งผ่านความคิดนี้ มีวรรณกรรมเยอรมันเรื่องหนึ่งชื่อว่า ‘ชายหนุ่มผู้ถอนตัวจากโลก’ ของ ยาค็อบ ไฮน์ เป็นนวนิยายสั้นๆ ที่ตั้งคำถามกับการดำรงอยู่ของคนเรา รวมถึงการตั้งคำถามกับการทำงาน การยึดโยงความหมายของตัวเองไว้กับการงานที่เราทำ คือเราอยู่ในโลกที่ต้องยึดอะไรสักอย่างไว้ ไม่งั้นเราจะไม่มีตัวตนดำรงอยู่ แต่จริงๆ แล้วเรามีอยู่ได้เพราะเชื่อมโยงกับคนอื่นต่างหากล่ะ ความหมายของตัวเรา อยู่กับคนข้างๆ เรา มันไม่ใช่ว่าเพราะกูเขียนหนังสือเล่มนี้ กูถึงเป็นกู แต่ความจริงคือ กูมีหนังสือเล่มนี้ ก็เพราะมีบรรณาธิการ มีคนจัดอาร์ต มีคนอ่านปรู๊ฟ หนังสือจึงออกมาได้ หลายครั้งที่ไปยึดสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราเป็น เราอาจลืมความหมายที่ประกอบสร้างขึ้นจากคนอื่น ทุกวันนี้เราดำรงอยู่ได้ด้วยการยึดถืออุดมการณ์นี้ ฉันจึงเป็นสิ่งนี้ มองแบบนี้ก็เห็นแต่ความต่าง แต่ถ้ามองว่าเราสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไรก็จะเห็นความเชื่อมโยง

GM: ก็เราไม่สามารถเชื่อมโยงใครได้อีกแล้ว เพราะเราได้ Unfriend ทุกคนไปหมดแล้ว

นิ้วกลม : (หัวเราะ) เราอาจไม่ต้องนิยามตัวเองว่าเป็นเหลือง เป็นแดง เราเป็นเราได้ ก็เพราะเราเกี่ยวโยงกับเพื่อนคนนี้ไง เพื่อนเราอาจจะแดงมาก หรือเหลืองมากก็ได้ แต่เราเชื่อมโยงกับเขาในด้านอื่นๆ อีกนะ ก็มึงเตะบอลกับกูไง ก็มึงเคยช่วยกูดราฟต์โปรเจ็กต์ไง ความหมายของเพื่อนเรามีมิติอื่น ที่ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เขาหรือเราพยายามยึดไว้กับตัวเอง ถ้าดูผ่านสเตตัสอาจเป็นแค่อุดมการณ์ทางการเมือง ดูเหมือนว่าในช่วงหลายปีมานี้ อุดมการณ์ได้พาเราออกมาไกลมาก ความฝันของแต่ละคนมันสุดโต่งมาก พอฝันมาเจอฝัน มันก็เลยยากที่จะเชื่อมโยงกัน ทั้งที่จริงแล้ว เราดำรงอยู่ได้ด้วยความเชื่อมโยงกับคนอื่น อย่างผมจะสร้างบ้าน ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากช่าง จะใช้น้ำประปา ก็ต้องอาศัยช่างประปา พอคิดได้แบบนี้ ถ้าทุกคนวางความฝันลง แล้วคุยกัน คบหากันด้วยความสำคัญของแต่ละคนในชีวิตจริงก็คงไม่ต้องอันเฟรนด์กัน ชีวิตจริงต้องมีพาร์ทนี้ด้วย

GM: ช่วงหลังเห็นคุณไม่ค่อยโพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊คเรื่องการเมืองแล้ว

นิ้วกลม : โพสต์บ้างครับ เพราะรู้สึกว่าก็อยากจะบอกอะไรเหมือนกัน พี่ๆ เพื่อนๆ ก็เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่รายละเอียดมันเยอะ เวลาคุยอย่างนี้สเตตัสไม่ใช่อะไรที่เหมาะเท่าไหร่นะผมว่า มันต้องอธิบายเยอะ คนที่ออกไปม็อบเขาอินมาก เขาก็จะรู้สึกว่าคนที่ไม่ออกไปนี่มันอะไรวะ

GM: คุณเคยไปเดินประท้วงอะไรในชีวิตบ้างมั้ย

นิ้วกลม : ผมเคยไปตอนม็อบพันธมิตร ไปเกือบทุกอาทิตย์เลยนะ ไปไล่ทักษิณนั่นแหละ ออกไปๆ โคตรมัน (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นก็รู้เรื่องการเมืองน้อยนะครับ แต่ก็ตามอ่าน แล้วตอนที่เขาเริ่มขอนายกฯ พระราชทาน ตอนนั้นก็เริ่มไม่ได้ออกไป แล้วมันก็มีรัฐประหารก่อน หลังจากรัฐประหารก็ไม่ได้ออกไปประท้วงอะไรอีกเลย

GM: ชีวิตนี้คิดว่าจะมีเหตุการณ์อะไรหรือว่าถึงขั้นไหนที่คุณจะออกไปประท้วง

นิ้วกลม : จริงๆ ม็อบนกหวีดก็ยังอยากออกไปนะครับ เพราะผมว่าครั้งนี้มันชัดมาก คือสิ่งที่รัฐบาลทำมันเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะยอมรับได้ แล้วก็ผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เขาทำเหมือนประเทศนี้ไม่มีประชาชนอยู่ คือทำเอาแต่ใจอย่างเห็นได้ชัด รู้สึกว่าก็อยากออกไป แต่ผมว่าการตัดสินใจว่าออกไปไม่ออกไป แต่ละคนก็คงคิดหลายอย่าง อย่างผมก็อยากออกไปเป่าว่าไม่พอใจรัฐบาล แต่ถ้าเกิดเขาถอน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแล้ว ผมไม่ได้มองถึงขั้นว่าออกไปต้องไปล้มระบอบทักษิณ คือคิดว่ามันก็ยังคงต้องเป็นไปตามกติกา บางทีเราต้องเรียนรู้ที่จะรอด้วยเหมือนกัน และก็ต้องเชื่อมั่นในการเรียนรู้ของประชาชน ว่าถ้าเขารู้ว่ารัฐบาลนี้ไม่ดี พรรคนี้ไม่ดี เสียงเขาอาจจะค่อยๆ น้อยลงก็ได้ แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน มันมักจะนำมาซึ่งการสูญเสีย ซึ่งตรงนี้บางคนเขาบอกว่ามันก็คุ้ม อันนี้ก็แล้วแต่ว่าใครจะคิด แต่ผมคิดว่า เราช้าหน่อย แต่ไม่สูญเสีย มันน่าจะดีกว่า และอย่างน้อย

เราก็มีหลักการให้ยึดถือ

GM: เราสามารถไปโดยที่เราไม่โพสต์สเตตัสหรือโพสต์รูปก็ได้ แอบๆ ไป

นิ้วกลม : คือผมว่าเราไปแสดงออกได้ แต่ว่าการที่เราถูกรวมไปเป็นมวลหมู่มวลหนึ่ง เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไรต่อ แล้ววันที่เราไป กลายเป็นว่าเราเห็นด้วยไปแล้ว แต่ว่าวันต่อไปสิ่งที่เขาจะกระทำเราอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่คนจะจดจำเราไปแล้วว่าเราเห็นด้วย เพราะฉะนั้น ผมว่าสำหรับคนที่อยู่ในสื่อมันก็ต้องคิดดีๆ ก่อน ว่าเราจะเชื่อมั่นในคนที่นำได้มากน้อยแค่ไหน คือเราก็มีโอกาสที่จะแสดงพลังอย่างอื่น ผมคิดอย่างนั้น เพราะว่าสมมุติถ้าเราเขียนหนังสือได้ เราก็เขียนหนังสือเพื่อแสดงความคิดเห็นก็ได้ ว่าเราไม่เห็นด้วยในประเด็นไหน เพราะผมคิดว่าการแสดงพลังแต่ละครั้งมันมีรายละเอียด ทุกคนถ้าลองมานั่งคุยกันจริงๆ เพื่อนแต่ละคนที่ออกไปก็ด้วยเหตุผลที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมว่าวิธีเขียนออกมา มันทำให้อย่างน้อยก็ได้ไล่เรียงความคิดของเราว่าเราคิดเห็นยังไง อย่างน้อยมันก็เป็นของเรา ไม่ใช่ว่าเราไปเป็นจุดหนึ่งแล้วจะต้องเห็นด้วยกับการกระทำครั้งต่อๆ ไปของเขา

ผมคิดว่าบ้านเมืองในยุคนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราคงต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง คือมันเห็นอยู่จริงๆ ว่ามีปัญหา เพียงแค่ผมคิดว่า สำหรับตัวผมเองผมไม่รู้คำตอบ คือคนที่แสดงออกอย่างชัดเจน ผมคิดว่าอย่างน้อยเขาก็มีคำตอบในใจที่ชัด ซึ่งเขาคิดว่าถูก แต่ปีหน้าเขาอาจจะคิดว่าวันนั้นฉันคิดผิดก็เป็นไปได้ แต่ผมว่า ณ วันนี้เขามีคำตอบแล้ว ว่าฉันคิดว่าวิถีทางนี้แหละ ส่วนคนที่ยังสับสน ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ยังเรียนรู้ศึกษาอยู่ และยังฟังความจากรอบด้าน ผมว่าก็ควรจะมีพื้นที่ให้กับคนแบบนี้ด้วย เพราะว่าเอาจริงๆ ความไม่แน่ใจมันอาจจะเป็นโอกาสก็ได้ ในการที่จะทำให้เราหาคำตอบที่ดีขึ้น เพราะการฟันธงไปแล้ว หรือแน่ใจในคำตอบใดคำตอบหนึ่งไปแล้ว บางทีเราก็ไปผูกกับคำตอบที่เราคิดว่ามันถูกต้องจนกระทั่งเราลืมฟัง หรือกระทั่งเราลืมคิดไปว่า ไอ้สิ่งที่เราคิดว่าถูก จริงๆ มันอาจจะมีบางการกระทำที่ผิดก็ได้ ทีนี้พอเป็นอย่างนั้น มันก็ทำให้ทางออกยิ่งแคบลงไปอีก เพราะว่ามันสุดโต่งไปคนละทาง คือเลยกลายเป็นว่าทั้งสองฝั่งบอกว่าทุกคนจะต้องทำอะไรสักอย่าง แสดงอะไรสักอย่าง ฉะนั้นก็จะไม่มีพื้นที่ให้กับการแลกเปลี่ยนเลย ผมคิดว่บ้านเมืองก็ยังต้องการพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยน

GM: มีคำพูดหนึ่งในหนังสือเรื่องก็องดิดที่บอกว่า “ที่ท่านพูดนั้นดีแท้ แต่เราจะทำสวนของเราต่อไป” จริงๆ แล้วเราใช้ชีวิตแบบก็องดิดได้มั้ย

นิ้วกลม : ผมว่าได้นะครับ จริงๆ ชีวิตมันมีหลายทางเลือก ผมว่าเอาจริงๆ ก็มีคนจำนวนเยอะแหละที่เป็นแบบก็องดิด คือติดตามข่าวสาร แต่ว่าเขาก็ไม่จำเป็นต้องไปแสดงออกทางการเมืองอะไร หลายคนบอกว่า ไม่ว่าใครจะขึ้นมา เช้าวันรุ่งขึ้นเขาก็ต้องออกไปขายผักขายผลไม้เหมือนเดิม ต้องออกไปทำงานออฟฟิศเหมือนเดิม ถามว่าเป็นได้มั้ย ก็คงเป็นได้ แต่ผมจะเป็นแบบนั้นมั้ย ถ้าตอนนี้ก็อาจจะไม่อยากเป็นก็องดิดเสียทีเดียว อาจจะเพราะว่าเราเขียนหนังสือด้วยมั้ง เราทำหน้าที่สื่อ แต่ก็ไม่ใช่การแบก คือไม่ได้หมายความว่าเป็นหน้าที่ที่คุณจะต้องแสดงออก แต่ผมคิดว่าเราเป็นหนึ่งความคิด และเราก็แลกเปลี่ยนกันได้

ผมเพิ่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องอนาคิสต์ จริงๆ มันก็มีวิธีเลือกที่เราจะอยู่แบบปฏิเสธรัฐเลยก็ได้ อย่างบางที่ที่ไปมาตอนทำรายการพื้นที่ชีวิต เช่นชาวอามิช ผมว่าก็คืออนาคิสต์แบบหนึ่ง เขาตัดตัวเองออกมาจากรัฐ มีชีวิตความเป็นอยู่แบบยุคปี 1700 ไม่มีไฟฟ้าใช้ ยังใช้รถม้าอยู่ แล้วก็เคร่งในศาสนามาก ชาวอามิชน่าสนใจตรงที่ว่าคุณค่าของชีวิตเขาไม่ได้เกิดจากการที่คุณจะต้องเป็นใครสักคน หรือคุณต้องโดดเด่นออกมา แต่การเป็นคนที่ดีของอามิชคือ คุณต้องเป็นคนที่กลมกลืนกับคนอื่น การให้ความสำคัญกับสังคมมากกว่าปัจเจก คือรูปแบบชีวิตมันคงเป็นไปได้ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกแบบไหน

GM: เห็นคุณโพสต์ภาพบ้านที่กำลังสร้างอยู่ในเฟซบุ๊ค บ้านหลังนี้กำลังจะเป็นเรือนหอ

นิ้วกลม : เป็นบ้านที่จะอยู่กับแฟน สร้างมาปีกว่าแล้ว เพื่อนเป็นคนออกแบบ เขาเขียนแปลนให้คร่าวๆ เป็นรูปร่างหน้าตาที่เท่มากตอนแรกนะ คือเป็นกล่องสี่เหลี่ยม 3 กล่องมาซ้อนกัน กล่องแรกเป็น Becoming เลยนะ (หัวเราะ) คือก่ออิฐ ไม่ฉาบปูน กล่องที่ 2 อยู่ตรงกลาง ฉาบปูนแต่ไม่ทาสี ส่วนกล่องสุดท้ายอยู่ด้านบนสุด ฉาบเสร็จแล้วก็ทาสีขาว คือถ้ามาดูบ้าน จะเห็นสเต็ปของการก่อสร้างเลย คิดเยอะมาก แต่พอชิงชิงมาดูแบบครั้งแรก ก็บอกไม่อบอุ่น ล้มแผนเลย (หัวเราะ) เพื่อนก็ไปคิดมาใหม่ ตอนนั้นไปแพร่มา ชิงชิงชอบบ้านแบบขนมปังขิง อยากให้ดูอ่อนหวาน อ่อนโยน สุดท้ายเราก็เอามาบาลานซ์กัน คือเอาแบบมีหลังคา ไม่ต้องเป็นแบบกล่องๆ ก็ได้ กลายมาเป็นแบบที่ชอบใกล้เคียงกัน ไปจบที่บ้านแบบญี่ปุ่นๆ เหลือกล่องไว้กล่องเดียว ข้างบนก็มุงหลังคาแทน

GM: การที่ผู้ชายคนหนึ่งตัดสินใจแต่งงาน มันมีความรู้สึกอะไรในใจบ้าง

นิ้วกลม : มี 2 อย่าง อย่างแรกคือโคตรอยากแต่งเลย ตอนนี้ในแต่ละวัน ผมใช้เวลากับชิงมาก ยิ่งชิงมาช่วยทำงานกับสำนักพิมพ์ เลยคุยกันเยอะ บ่อย

ยิ่งทำงานมาก ยิ่งได้เจอชิงบ่อย เวลาเหนื่อยมากผมชอบไปหาชิง อยู่กับชิงแล้ว

ผ่อนคลาย เวลากอดกันมันหายเหนื่อย รู้สึกดีมาก ผมติดชิงมากๆ รู้สึกว่าเริ่มติดชิงตั้งแต่ตอนที่ไปลอนดอนด้วยกัน อยากแต่งงานเร็วๆ อยากอยู่ด้วยกันมาก อีกอย่างหนึ่งคือ กูขี้เกียจไปส่งมึงที่บ้านแล้ว (หัวเราะ) เวลาไปไหนดึกๆ ดื่นๆ ก็ต้องขับรถไปส่งบ้านชิง เหนื่อยมาก ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือ รู้สึกว่าเราอาจไม่เป็นอิสระเท่าเดิม เราต้องรับผิดชอบกับคนคนนี้แล้ว ต้องประพฤติตัวให้ดี ไม่ทำให้เขาเสียใจ

GM: มีอะไรที่อาจจะทำให้เขาเสียใจเหรอ? สำหรับนักเขียนหล่อๆ และโด่งดังอย่างคุณ

นิ้วกลม : (หัวเราะ) คุณอ่านระหว่างบรรทัดของผมได้ขาดมากๆ เลย อันที่จริงการเป็นนักเขียนไม่เกี่ยวสักเท่าไหร่ ก็เหมือนกับคนอื่นๆ แหละครับ ผมเคยเจอผู้หญิงในชีวิต บางคนผมก็รู้สึกดีด้วย อาจคุยกัน แต่ผมรู้ว่าต้องมีขอบเขต ผมกลัวที่จะเสียชิงไปมากกว่า เพราะยังไม่เคยเจอคนที่ใช่ขนาดนี้ ชิงเคยพูดมาครั้งหนึ่ง ซึ่งผมเห็นด้วยมากๆ ว่า ต่อให้เขาไปเจอผู้ชายคนอื่นที่เขาอาจจะชอบมากกว่าผม แต่เขาต้องใช้เวลาอีกไม่รู้กี่พันวัน ถึงจะผูกพันได้เท่าผม เพราะเราคบกันมาหลายปีแล้ว เรื่องพวกนี้อาศัยเวลา เหมือนการเล่นฟุตบอลกับเพื่อนสนิท เราจะรู้จังหวะกันตลอด ชอบชิงตรงที่เวลาผมรู้สึกแย่ รู้สึกว่าตัวเองโง่ รู้สึกป่วยๆ ชิงเป็นคนที่ทำให้รู้สึกว่า เอ๋! มึงโอเค แต่ในทางตรงกันข้าม เวลาที่ผมรู้สึกว่าตัวเองเก่ง ตัวเองแน่ ชิงจะกดผมลงทันทีเลย เขาจะแตะเบรกผมบ่อยมาก

GM: จริงๆ แล้วคนเราเป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียวไหม

นิ้วกลม : ผมว่าไม่ใช่ โดยหลักชีววิทยา สัตว์ตัวผู้สามารถผลิตสเปิร์มอยู่ตลอดเวลา จึงพร้อมที่จะผสมพันธุ์มากกว่า อันที่จริงผู้หญิงเองโดยธรรมชาติก็อาจไม่ได้มีคอนเซ็ปต์เรื่องความซื่อสัตย์ในคู่ครอง ส่วนแนวความคิดเรื่องผัวเดียวเมียเดียว มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้สังคมปกติสุขมากขึ้น ผมว่าประวัติศาสตร์มนุษยชาติเราคงผ่านกระบวนการแย่งผัวแย่งเมียกันมาเยอะแล้ว แล้วเราก็เรียนรู้แล้ว การอยู่กันแบบนี้ดีที่สุดแล้ว อย่างตอนไปทำรายการพื้นที่ชีวิตที่ประเทศเอธิโอเปีย ผมไปดูชีวิตชนเผ่าแต่ละชนเผ่า ก็มีเรื่องผัวเมียต่างกันไป ทุกชนเผ่าก็อยู่กันแบบผัวเดียวเมียเดียว แต่มีวัฒนธรรมประหลาดๆ แตกต่างไปบ้าง เช่นถ้าเมียไปมีชู้ แล้วกลับมาบอกผัวก่อนที่คนอื่นจะจับได้ ผัวต้องให้อภัย นี่อาจเป็นวิธีรับมือกับความต้องการทางเพศของมนุษย์ เพราะความต้องการของมนุษย์มันไม่ได้อยู่ที่คนเดียวหรอก ถ้าเรามีเสรีมากกว่านี้ คงอยากทำอะไรอีกเยอะ ที่ยอมทำอย่างที่เป็นอยู่ เพราะอยากให้สังคมสงบ

GM: อุดมคติอันสูงส่งของสถาบันครอบครัว ดึงให้เราห่างไกลจากความเป็นจริงของเราเองหรือเปล่า

นิ้วกลม : ชีวิตไม่จำเป็นต้องมีเสรีภาพสูงสุด เป็นอิสระที่สุด หรือเป็นตามความจริงแท้ที่สุด นี่ก็ย้อนกลับมาเป็นเรื่องของสมดุลอีกแล้ว เราไม่ได้เป็นผัวเดียวเมียเดียว เพราะต้องดำเนินชีวิตเพื่ออุดมคติ แต่เราดำเนินชีวิตแบบนี้ เพราะเห็นว่าชีวิตควรจะเป็นแบบนี้ ชีวิตที่จะอยู่รอด คือชีวิตที่ไม่ได้เป็นตัวเองเต็มที่ คุณไม่มีทางเป็นตัวของตัวเองได้เต็ม 100% ถ้าเป็นอย่างนั้นอาจเสรีมาก อิสระมากจนคุณไม่มีพันธะกับใครเลย ไม่มีใครคบคุณอีกแล้ว คุณก็อาจเลือกไม่คบใครอีกแล้วเช่นกัน ถ้าคุณจะสานความสัมพันธ์กับใคร ก็ต้องลดตัวเองลง มีหลายคนในชีวิตเลยละที่เราจะยอมลดตัวเองลง เพื่อจะได้อยู่กับเขา เพราะเขาได้ให้อะไรบางอย่างที่เราไม่มี เราไม่สมบูรณ์จึงต้องการจากอีกคนหนึ่ง

GM: เมื่อบ้านหลังนี้สร้างเสร็จแล้ว เราอาจจะขอมาถ่ายลงนิตยสารอีกครั้งนะครับ

นิ้วกลม : (หัวเราะ) ชิงชอบด่าผมว่า สร้างบ้านให้คนอื่นดู ลึกๆ ผมใช่นะ พวกอะไรประหลาดๆ เช่น ข้างในบ้านแต่อยากจะโรยหินทั้งหมด สนองตัณหาตัวเองหรือเปล่า ก็ใช่นะ กะว่าถ้าเพื่อนมาเห็น เฮ้ย!! มึงโรยหินตรงนั้นเหรอ เจ๋งว่ะ มันเป็นความฟิน ชิงบอกว่าถ้าสร้างบ้านแบบที่ผมคิดทั้งหมด มึงอยู่ไม่ได้หรอก กูจะคอยดูว่ามึงจะอยู่ได้ไหม มันเป็นบ้านเอาไว้อวดไอเดีย ตอนแรกระบุไว้ในบรีฟเลย ว่าห้องนอนต้องแยกกัน มีห้องนอนรวม และห้องนอนเล็ก เผื่อใครทะเลาะกันก็ไปนอนห้องนี้ ผมเชื่อว่าคนเราอยากใช้เวลาส่วนตัว อยู่กับตัวเอง แต่พอสร้างจริงก็สร้างห้องนอนห้องเดียว แต่เผื่อพื้นที่ไว้ ในห้องทำงานข้างล่างก็เตรียมที่เอาไว้นอนได้เลย

GM: ถ้าชีวิตนี้นิ้วกลมไม่มีชิงชิงจะเป็นอย่างไร

นิ้วกลม : นึกไม่ออกเลย อาจไม่ได้เขียนหนังสือแบบทุกวันนี้ด้วยซ้ำ เพราะเรื่องผู้หญิงได้เป็นบาดแผลใหญ่ในชีวิตของผม มันเสียเซลฟ์มากเลย เหมือนในเพลงที่ร้องๆ กันเลยนะ เราไม่มีค่า ความรู้สึกนั้นฟื้นฟูยาก พยายามสร้างตัวตนสุดๆ เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเรามีค่า โดยการทำงาน ผมบ้างานมาก อาจเป็นทางนี้แหละ พอมีชิงรู้สึกว่ามีความกระเหี้ยนกระหือรือกับการพิสูจน์ตัวเองน้อยลง อย่างน้อยมีคนคนหนึ่งแล้วที่มองเราโอเค คบกันมาตั้งแต่ปี 2002 เพื่อนสนิทผมเคยบอกว่า ตอนยังไม่มีชิง ผมเหมือนตัวการ์ตูนใน The Missing Piece คือไอ้ตัวที่กลิ้งๆ ไป คอยหาส่วนที่หายไป พอมีชิงแล้วเหมือนไม่ได้กลิ้งต่อไปแล้ว ผมชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น

GM: พวกคุณต้องพึ่งพากันแบบตัวการ์ตูนนั้นเหรอ จริงๆ แล้วความรักต้องให้อิสรภาพแก่คุณไม่ใช่เหรอ

นิ้วกลม : เราต้องอิสระจากกันไหม หรือต้องเติมเต็มกันไหม ผมว่าไม่ใช่ทั้ง 2 อย่าง และก็ใช่ทั้ง 2 อย่าง อย่างผมไปทำงานต่างประเทศ 2-3 อาทิตย์ ชิงก็ไม่เคยบ่น ห่างกันเพื่อให้รู้ว่าอีกคนหนึ่งสำคัญ เป็นอิสระจากกันแล้วก็กลับมาเติมเต็มให้กัน คบกันมา 10 ปี ยังคงมีความเป็นแฟนอยู่เยอะมากเลย มีเพื่อนแซวว่าพวกมึงเพิ่งจีบกันเหรอ เพราะยังเล่นกันอยู่เหมือนตอนจีบกัน เรื่องที่หงุดหงิดใส่กันบ่อย คือเรื่องที่ชิงไม่ค่อยทำอะไร ส่วนผมทำเยอะเกินไป ชิงจะมีช่วงเบื่อ ไม่อยากทำอะไรเลย การที่ผมขยัน จะยิ่งเพิ่มความทุกข์ให้ชิง

GM: พวกคุณอยู่ในวงการนักเขียนเหมือนกัน ลึกๆ แล้ว พวกคุณแข่งกันเองด้วยหรือเปล่า

นิ้วกลม : ผมว่าเป็นเรื่องปกติ ใครอยู่ใกล้กัน ก็จะแข่งกันทั้งนั้น คนรักก็แข่งกัน แข่งเพื่อแสดงให้อีกคนเห็นว่าเราดีพอสำหรับเขา สำหรับผม ชิงไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลยก็ได้ แต่ผมคิดว่าชิงจะต้องถามหาความหมายของตัวเองตลอดเวลา ฉันอยู่เพื่ออะไร งานการของฉันคืออะไรกันแน่ ฉันชอบอะไรกันแน่ ฉันหามานานแล้วนะทำไมถึงไม่เจอ ตอนเด็กๆ เราทุกคนคงเป็นเหมือนกัน ว่าเราต้องหาว่าชอบอะไร อยากเป็นอะไร ผมว่าเราต้องมันหาไปเรื่อยๆ แต่เราไม่ต้องเจอก็ได้ งานที่ผมชอบ ถึงจะยากผมก็จะทำ และผมทำมาตลอดด้วย แต่เรื่องแบบนี้ ผมจะไปตอบแทนคนอื่นไม่ได้หรอก จะไปบอกเขาว่าก็เพราะเขาไม่ชอบ มันเลยยาก จะไปบอกเขา ว่ามึงก็ทำไปเรื่อยๆ แล้วมึงก็จะชอบเอง แบบนี้ก็ไม่ใช่นะ เพราะสุดท้ายแล้ว เขาทำไปอีก 10 ปีอาจไม่ชอบก็ได้ การคิดว่าเราต้องค้นหาเพื่อจะเจอ ทำให้การเดินทางค้นหานี้ไม่สนุก ชีวิตเราเป็นการทดลองไปเรื่อยๆ หาไปเรื่อยๆ เพราะเราอยู่ในภาวะที่กลายไปเป็นอีกสิ่งหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ตอนทำพื้นที่ชีวิตเทปหนึ่ง ผมไปนั่งคุยกับฝรั่งคนหนึ่งที่เนเธอร์แลนด์ เขาเป็นไกด์จักรยาน ถามเขาว่าทำงานอะไรอยู่บ้าง คำตอบคือ เขาบอกว่าตอนนี้กำลังฝึกนวดอยู่ เพราะเขาเคยมาที่เชียงรายแล้วประทับใจการนวดไทย เขาเลยไปเรียนนวด อยากเป็นหมอนวด ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นเชฟ เขาอายุเท่าๆ ผมนะ ผมถามว่าตกลงคุณเป็นอะไรกันแน่ พ่อแม่ไม่เป็นห่วงเหรอ อายุตั้ง 33-34 แล้ว เขาบอกว่าไม่มีอะไรให้ห่วง ถ้าป่วยก็รักษาฟรี อีกหน่อยมีลูก ลูกก็เรียนฟรี ระบบสวัสดิการสังคมเขาดี แต่ในสังคมไทยเราต้องดูแลตัวเอง ก็จะกดดัน ทำให้เรากังวลกับการค้นหางานที่รักด้วยส่วนหนึ่ง ทำให้เด็กไทยต้องหาว่าเราเป็นอะไร แล้วก็ต้องรีบปักหลัก ชำนาญในสาขาวิชาชีพนั้นให้ได้ เพราะความชำนาญเท่ากับเงินด้วย ทำให้การเดินทาง การค้นหาของพวกเราไม่สนุกเท่าที่ควรจะเป็น อย่างผมเอง ผมเจอแล้วนะ ผมเคยคิดว่าชอบโฆษณามาก มากแบบถวายชีวิตเลย วันหนึ่งกลับเริ่มรู้สึกเฉยๆ มากกับงานโฆษณา ทุกวันนี้ไม่รู้สึกอะไรกับมันแล้ว วันนี้ก็จะบอกว่าชอบงานเขียนหนังสือ ชอบมาก แต่ก็ไม่แน่นะ วันหนึ่งเมื่อไม่มีคนอ่านแล้ว ผมอาจไม่ชอบงานนี้อีกต่อไปก็ได้

GM: จะมีวันที่หนังสือนิ้วกลมเลิกฮิตไหม

นิ้วกลม : มันต้องมีอยู่แล้ว และอาจจะอีกไม่นาน (นิ่งคิด) …พี่ต้อ-บินหลา เคยบอกผมว่า เอ๋ๆ วันหนึ่งหนังสือเอ๋จะไม่ฮิตเหมือนเดิม แต่วันนั้นเอ๋อาจจะมีความสุขกว่าวันนี้ก็ได้ เพราะเอ๋อาจไม่ต้องการความฮิตแล้ว ผมว่าคนเราต้องปรับตัวปรับใจไปตามอายุและสถานการณ์ พอเราแก่ขึ้น เรียนรู้อะไรมากขึ้น เราจะ Depend กับคนอื่นน้อยลง เราจะกลับมาสนใจตัวเอง ตอนเด็กๆ อาจคิดว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองเก่งในสายตาคนอื่น ประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับคนอื่น พอมาถึงวัยหนึ่ง เราอาจจะกลับไปถามตัวเองว่า คุณค่าลึกๆ ที่ไม่ใช่มาจากสายตาจากคนรอบข้างที่มองมา นั่นคืออะไรกันแน่ ความชื่นชมจากคนรอบข้างอาจไม่ทำให้เรารู้สึกมั่นคงกับตัวเองแล้วก็ได้ เพราะเราเห็นคุณค่าของตัวเรา โดยไม่มีใครมา

บอกแล้วผมเพิ่งอ่านหนังสือ บนเส้นทางแห่งการฝึกตน ที่ตั้ม-วิจักขณ์ พานิช แปล เขาพูดถึงการเข้าเงียบของพวกพระป่า ที่เดินธุดงค์เข้าป่า ช่วงเวลาของการอยู่ตัวคนเดียวสำคัญมากกับคนเรา เวลาอยู่ตัวคนเดียวมันจริงที่สุด การเข้าไปในป่ากลายเป็นความเจ็บปวดอย่างมาก เพราะคุณค่าต่างๆ ที่เคยยึดถือว่าดี งาม เจ๋ง เท่ แม่งไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะไม่มีคนอื่นนอกจากเรา ในตอนนั้นก็จะเกิดคำถามใหม่ว่า แล้วตกลงถ้าไม่ใช่สิ่งเหล่านั้นแล้ว มันคืออะไรวะ?? ช่วงที่ขึ้นอยู่กับตัวเองได้ คือช่วงค้นหา ต้องให้เวลากับมัน แต่ทันทีที่เรารู้สึกว่ามั่นคงกับตัวเองแล้ว เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราย้อนกลับมาปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นแบบบริสุทธิ์ ไม่ต้องคาดหวังให้คนอื่นมองเราว่า เอ๋ เธอเก่งจังเลย เราไม่คาดหวังความคิดจากคนอื่นแล้ว เท่าที่สัมผัสผู้อาวุโสหลายคน ผมคิดว่าเขาก็เป็นแบบนี้กันแล้ว คนที่มั่นคงในตัวเอง ไม่ใช่คนที่ตัดตัวเองออกจากสังคม อย่างอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ บอกว่าคนแก่ๆ จะชอบปลูกต้นไม้ แต่ไม่ได้ปลูกเพื่อรอเก็บผล แต่ปลูกเพื่อให้ร่มเงาแก่คนอื่น คุยเรื่องพวกนี้แล้ว จะบอกว่าในช่วงสองสามวันนี้ ผมมีความรู้สึกอยากบวชขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โลกวุ่นวายมาก ผมชอบพูดกับเพื่อนว่า ถ้ากูบวชนี่มีสิทธิ์ไม่สึกเลยว่ะ

GM: แล้วนิ้วกลมในสายตาของพ่อแม่ล่ะ พวกเขามองคุณอย่างไร

นิ้วกลม : เขาดีใจ ภูมิใจกับการเป็นนิ้วกลมของลูกเขา แม่ให้คุณค่ากับความเป็นนิ้วกลมมาก

GM: ทุกวันนี้นิ้วกลมอ่านอะไร เสพอะไรบ้าง ต่างจากสมัยก่อนอย่างไร

นิ้วกลม : ผมอ่านงานวิชาการเยอะขึ้น เก็ตบ้าง ไม่เก็ตบ้าง ก็แล้วแต่ อย่างของ สนพ. เท็กซ์ เรื่องเกี่ยวกับ มีแชล ฟูโก หนังสือที่อาจารย์ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร เขียน ทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยมก็อ่าน อ่านแล้วก็รู้สึกชอบ เหมือนทลายกรอบคิดเรา ตอนนั้นที่ทำอาชีพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ก็ชอบอะไรพวกนี้ เพราะพาเราออกไปคิดอย่างอื่น ตั้งคำถามกับความโมเดิร์นที่มีอยู่ กับความโมเดิร์นที่เราเคยชิน แต่ช่วงหลังสนใจอ่านประวัติศาสตร์การเมืองมากขึ้น เพิ่งซื้อหนังสือของ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ หรือของอาจารย์ท่านอื่นๆ ก็ตามอ่านมานานแล้ว อย่าง อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร ชอบอ่านเฟซบุ๊คของ อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร ก็อาจสนใจเรื่องปัญหาสังคมที่ไม่เกี่ยวกับเรามากขึ้น ล่าสุดเพิ่งไปซื้อหนังสือของ อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง มา

GM: สภาพการเมือง ทำให้ตลาดหนังสือบ้านเราโดยรวมเปลี่ยนไปใช่ไหม สังเกตว่าช่วงหลังๆ มีคนซื้อหนังสือวิชาการพวกนี้มากขึ้น

นิ้วกลม : ผมคิดว่ามีส่วน

GM: แบบนี้หนังสือของ KOOB ยอดขายลดลงไหม

นิ้วกลม : ก็วัดยาก อย่างเล่ม สาระภาพ ไม่ลดลง เท่ากับเล่มอื่นๆ ความฝันที่มั่นสุดท้าย ดูเหมือนว่าจะขายได้น้อยกว่าเล่มก่อนๆ หน้านั้นนิดหน่อย ผมมองว่าตลาดหนังสือแนวท่องเที่ยวและบันทึกการเดินทางน่าจะน้อยลงมาก เคยคุยกับพี่นวล สนพ.วงกลม เขาบอกว่าแทบไม่มีใครซื้อหนังสือบันทึกการเดินทางแล้ว เพราะไปดูข้อมูลท่องเที่ยวได้จากเว็บบอร์ดพันทิปดอตคอม หรือเดี๋ยวนี้เพื่อนๆ เราเอง ก็อัพผ่านเฟซบุ๊ค คนรุ่นก่อนยังอยากอ่านหนังสือบันทึกการเดินทาง เพราะเขาอยากรู้ว่านักเขียนคนนี้ไปเที่ยวที่นี่ แล้วคิดอะไรบ้าง แต่ผมว่าคนรุ่นนี้อยากคิดเอง อยากรู้แค่ว่าไปพักโรงแรมอะไร ร้านไหนอร่อย แค่นั้นก็พอ ไม่อยากรู้แล้วว่าใครคิดอะไรกับสถานที่นั้น คนเดินทางเยอะขึ้นด้วย ทุกคนไปได้ คิดเองได้ เทียบกับตลาดหนังสือวิชาการ คนอ่านเยอะขึ้น แต่ก็อาจจะเป็นเฉพาะคนในวงเพื่อนๆ ของเรา ผมไม่แน่ใจว่าจะขายได้เยอะจริง ถ้ายังไม่ใช่ว่าขึ้นอันดับหนึ่งร้านซีเอ็ดฯ แต่ที่เห็นชัดๆ ผมว่าคนไม่แฮปปี้กับชีวิตเยอะขึ้น โดยเฉพาะเรื่องชีวิตพนักงานออฟฟิศ เราถึงเห็นหนังสือเกี่ยวกับการทำงาน งานไม่ประจำ

GM: คิดว่าชื่อเสียงของนิ้วกลม แข็งแกร่งจนถึงขั้นที่เป็นแบรนด์แล้วหรือยัง และคุณจะนำแบรนด์นี้ไปทำอะไรต่อได้อีกไหม

นิ้วกลม : คนที่มีอิทธิพลกับชีวิตผมมากคนหนึ่ง คืออาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ ถ้าไม่ได้เจออาจารย์ปกป้อง ชีวิตทุกวันนี้อาจเป็นอีกทางหนึ่งก็ได้ ป่านนี้อาจจะรวยกว่านี้ (หัวเราะ) คือผมคงทำตัวป๊อปๆ ไปเลยเต็มที่ แต่ทุกวันนี้ อาจารย์ปกป้องคือคนที่ดึงผมให้กลับมาอยู่ในเนื้อหาสาระมากเลย ชีวิตดูมีสาระมาก อาจารย์เป็นคนที่ทำให้ผมได้ซึมซับประเด็นทางสังคม เลยกลายไปเป็นอีกแบบ ผมยังเคยคิดอยู่นะ ว่าถ้ายังเป็นคนโฆษณาอยู่ และก็เขียนหนังสือด้วย ผมคงทำอะไรขายเยอะแยะ อาจมีตุ๊กตารูปนิ้วขาย (หัวเราะ) แต่ถ้ามีโอกาสทำอะไรดีๆ ได้ในอนาคต ก็อยากใช้ทักษะที่เคยโฆษณาการขายสินค้าให้คนอื่น เอามาสื่อสารเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์กับสังคมน่าจะดี แต่คนเขียนงานอย่างเราๆ ไม่ได้ตั้งต้นว่าจะเขียนยังไงถึงจะขาย ที่เราทำ คือเขียนในแบบที่เราเชื่อ ในแบบที่เราชอบให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมาคิดว่าจะขายอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า เราก็อยากให้คนอ่านคนซื้อเยอะๆ ไม่มีนักเขียนคนไหนอยากไส้แห้งหรอก

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ