fbpx

เปิดเลนส์ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ สะท้อนเศรษฐกิจไทย 2020 ‘เด็ด’ หรือ ‘ ดับ’

เรื่อง : โชติ เวสสวานิชกูล ภาพ พิชญุตม์ คชารักษ์

แม้ล่วงเข้าเดือนที่ 2ของปี แต่ชุดคำถามที่ไหลเวียน และหวังจะได้คำตอบทั้ง จริงและ ปลอบใจยังคงวนอยู่กับเรื่องทิศทางของประเทศไทย เศรษฐกิจไทยและปากท้องของคนในสังคมที่ยังคลุมเครือ ไม่รู้ว่าปี 2020นี้ ฟ้าจะเปิดหรือแอบสลัวต่อ

   …. แน่นอน, ในจังหวะที่ประเทศไทย ณ บัดนี้ ยังก้าวเดินแบบตะกุกตะกัก

…. การเมืองที่เต็มไปด้วย พรรคพวกที่ใครอยู่นอกกลุ่มต้องถูก ขัดขา

  …. เศรษฐกิจที่สะท้อนถึงความไม่มั่นใจของคนในประเทศในหลายๆ ด้าน

  …. สังคมไทยพบปัญหาตั้งแต่ระดับล่างยันบน ตกงานเพิ่มขึ้นเกษตรกรขายของ
      ไม่ได้กำไร คนไทยไม่กล้าใช้จ่าย

…. ก็ได้แต่หวังว่าจะมี ‘ซูเปอร์ฮีโร่ โชว์สกิลเทพๆ มาจัดการ แต่ใครคือคนคนนั้น?

“บางครั้ง ทุกสิ่งต้องเริ่มจากตัวเอง และแม้เป็นเพียงคนธรรมดา แต่ก็สามารถเปลี่ยนสังคม เศรษฐกิจ และประเทศได้”

นี่คือหนึ่งในคำพูดที่น่าสนใจจากปาก ‘คนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา’ อย่าง ‘ปริญญ์ พานิชภักดิ์’ หัวหน้าทีมอเวนเจอร์เศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจทันสมัย (New Economy) แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ลูกไม้ใกล้ต้นของ ‘ดร.ซุป-ศุภชัย พานิชภักดิ์’ อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจหลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการ ตลอดจนอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO)

ปริญญ์เป็นคนหนุ่มคนรุ่นใหม่ ดีกรีนักวิเคราะห์ที่ธนาคารเมอร์ริล ลินช์ ลอนดอน, วาณิชธนากร ที่ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร, รองประธานที่ดอยช์แบงก์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) ที่เครดิต ลียองเนส์ ประเทศไทย (CLSA) รวมถึงเคยนั่งเป็นคณะกรรมการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และพ่วงท้ายด้วยเจ้าของธุรกิจร้านเป็ดย่างโฟร์ซีซั่นส์

โปรไฟล์ระดับนี้ ในวัยเพียง 42 ปี เขาถือเป็นพลังแห่งคลื่นลูกใหม่ที่พรรคประชาธิปัตย์หวังให้เข้ามาช่วยกำหนดเข็มทิศใหม่ของพรรค ขณะที่ตัวเขาเองก็พร้อมทิ้งตำแหน่งทางธุรกิจเพื่อเข้ามายืนอยู่ในจุดที่สามารถนำไอเดียที่มีมาช่วยพลิกโฉมประเทศไทยในเชิงสร้างสรรค์แบบที่ไม่ต้องสวมหมวกระดับสูงสุดของการบริหารประเทศก็ลุยได้

การก้าวเข้ามาสู่ถนนการเมืองที่ว่ากันว่าทำคนเก่งๆ เสียคนมาเยอะ…กังวลบ้างไหม

ผมเห็นภาพการเมืองไทยมาพอสมควรนะครับ และการที่ผมได้เป็นนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ รวมถึงผู้บริหารวาณิชธนกิจต่างๆ ก็ทำให้เรามองเห็นภาพความเป็นจริงของปัญหาและสิ่งที่ประเทศไทยต้องเจอ

โดยผมเตรียมใจไว้พร้อมในบทบาทของ ‘ประชาชน’ ที่อยากช่วยสร้างสรรค์และแก้ปัญหาของประเทศ แม้คุณพ่อ (ศุภชัย พานิชภักดิ์) จะไม่ได้ผลักดันว่าต้องรีบเข้ามาทำงานการเมืองที่อาจจะมีความท้าทายหลายด้าน แต่ท่านก็ให้อิสระผมได้คิดเอง

คุณจะทำอะไรที่สอดคล้องกับคำว่า ‘คนธรรมดาก็แก้ปัญหาประเทศไทย’ ได้

อย่างแรก ผมอยากให้เราปลดล็อกและมีความคิดว่า ‘ไม่ต้องเป็นนักการเมืองก็ทำเพื่อสังคมไทยได้’ ทีมของผมแทบไม่มีนักการเมืองเลย แต่ถ้าคิดจะลงไปช่วยอะไร ต้องรู้ปัญหาจริง รู้แล้วต้องทำด้วย ช่วยวางแผนและมอบวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีความชัดเจน เช่น กรณีมังคุดที่ถูกล้งจีนกดราคา ปล่อยไว้จะเป็นปัญหาต่อราคาสินค้าเกษตร ผมก็เข้าไปเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆ พร้อมกับประสานใน
ภาพใหญ่กับหน่วยงานรัฐในการช่วยแก้ปัญหาราคาตกต่ำ และผลคือตอนนี้ราคามังคุดไทยกลับมาอยู่ในสภาพที่เกษตรกรยิ้มได้ นี่คือตัวอย่างว่าคนธรรมดาทุกคนสามารถทำได้

ในฐานะที่มีโปรไฟล์ด้านธุรกิจและเศรษฐกิจ แถมยังรับบทบาทหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเลือดใหม่ของ ปชป. คงมีหลายคนอยากรู้มุมมองเศรษฐกิจปีนี้จากคุณ หลายคนกังวลว่าปี 2020 จะเป็นปีแห่งการเผาซ้ำ และเตรียมเก็บเถ้ากระดูกลงกรุ

ผมไม่คิดว่าเป็นแบบนั้น ถ้ามองในแง่ของเศรษฐกิจ ความถดถอยหรือติดลบคงไม่เกิดขึ้นในปีนี้ เพราะเราต้องมองภาพเศรษฐกิจให้เคลียร์ในเชิงของเศรษฐศาสตร์ เช่น คำว่าเผาจริงมันต้องเกิดภาวะถดถอยเหมือนปี 2008-2009 ที่มีการติดลบสองไตรมาสติดกัน นั่นคือการเผาจริง หรืออย่างเช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง อันนั้นคือเผาจริง

แต่ปัญหาบ้านเราตอนนี้มันคืออะไร คือการรวยกระจุก จนกระจาย ซึ่งมาจากอะไรล่ะ? ผมมองว่ามันมาจากการที่เรายังปรับตัวไม่ทันโลกใหม่ หรือที่เราเรียกว่าโลกดิจิทัลที่เข้ามาดิสรัปชั่นหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งเราที่ว่าก็คือทั้งธุรกิจเก่าและแรงงานสายดั้งเดิม บางคนทำ บางคนไม่ทำ แล้วตามหลักธรรมชาติก็คือเม็ดเงินมันไหลไปอยู่ที่กลุ่มคนที่มีการเข้าใจและปรับตัว คุณลองดูโลกออนไลน์สิ ทำไมเน็ตไอดอลทำเงินได้มหาศาล ทำไมเด็กที่เรียนไม่จบ บางคนเป็นเศรษฐีหุ้นได้ ทำไมวินมอเตอร์ไซค์กลายเป็นเศรษฐีหุ้นร้อยล้านเอาดื้อๆ ทำไมมีคนสร้างกำไรมหาศาลจากการลงทุนใน Bitcoin

กำลังจะบอกว่ามันเป็นเรื่องของการปรับตัวล้วนๆ

ผมว่าประเด็นนี้ หลักๆ เลยคือ หนึ่ง, การเปิดใจรับ สอง, คือการลองผิดลองถูก สาม, คือการขวนขวายเรียนรู้ อย่างพี่วินมอเตอร์ไซค์ท่านหนึ่งที่เคยไปฟังผมกับอาจารย์นิเวศน์ เหมวชิรวรากร พูดเรื่องหุ้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว และเขาได้รับแรงบันดาลใจจากวันนั้น เขาก็กลับไปต่อยอดความคิดด้วยการลงมือทำ เขากลับไปลงทุนอย่างเข้าใจ ตอนนี้รวยกว่าพวกผมแล้วมั้ง (ฮ่าๆ) ผมว่าการทำงานหนัก ขวนขวาย แล้วกล้าที่จะลงไปลองผิดลองถูกบ้าง มันจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ในโลกเศรษฐกิจยุคนี้ ผมไม่ได้เถียงนะว่าปลาใหญ่ยังกินปลาเล็กอยู่ แต่คุณจะเริ่มเห็นแล้วว่า ปลาเล็กเริ่มปาดหน้า ปลาใหญ่ชัดขึ้น โอกาสและรายได้กำลังไปอยู่กับคนที่กล้าทำสิ่งใหม่ๆ

แสดงว่าเศรษฐกิจไม่ได้แย่ แต่มันแย่ที่หลายภาคส่วนของไทยยังย่ำอยู่กับที่

ถ้าตอบคำถามแบบตรงๆ ผมมองว่าเศรษฐกิจตอนนี้โต แต่โตแบบช้าหน่อย แต่ไม่ใช่การเผาจริง หรือไม่จริง เพราะโดยปกติแล้วเวลาเศรษฐกิจมันจะส่งสัญญาณพินาศออกมาเมื่อไร เราต้องไปดูที่ทุนสำรองระหว่างประเทศ ดุลบัญชีเงินสะพัด ดุลบัญชีการค้า ที่จะต้องลดลงทั้งหมด และรวมถึงค่าเงินที่ต้องอ่อนลงไปตามลำดับ แต่ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยมันตรงกันข้าม แต่ภาพที่แย่ มันมาจากความอ่อนแอของกำลังซื้อในประเทศที่เป็นฐานราก เพราะราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ แล้วคนในประเทศก็มีภาระหนี้สินครัวเรือนกันเป็นวงกว้าง ฉะนั้นถ้าจะแก้มันต้องมาแก้ที่นวัตกรรมในเชิงของผลิตผล ต้องแก้ในเชิงทักษะของตลาดแรงงาน ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและพวกเราที่ได้มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ ต่างเร่งหาทางออกกันอยู่

เข้าใจเรื่องของการปรับตัว ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่โตตามเทคโนโลยีใหม่ อาจจะพอรับไหวแต่คนเก่าๆ แก่ๆ หรือธุรกิจดั้งเดิมจะหาจุดพลิกวิธีคิดใหม่ให้อยู่รอดได้อย่างไร เพราะชุดความคิดเดิม ทักษะเดิม และความสำเร็จแบบเดิมๆ มันฝังลึก จนแงะไม่ออก

รอดได้ด้วยการ ‘Unlearn’ เท่านั้นครับ แปลว่าอะไร คือคุณเรียนรู้อะไรมาตอนเด็กๆ หรือสิ่งที่ติดตัวคุณมาในวันก่อนๆ ทำอาชีพแบบเก่าก่อน และเริ่มรู้สึกว่ามันยากลำบาก เริ่มหางานในทางนี้ยาก เริ่มอยู่ยากในองค์กรที่มีการปรับตัวยาก นั่นแหละคือคำตอบว่ามันไม่ใช่แล้วผมไม่ได้บอกให้ทิ้งความภูมิใจตรงนั้น สิ่งที่มีเก็บไว้ในความทรงจำได้ แต่คุณต้องทิ้งมันไปบ้างในโลกแห่งความเป็นจริง ต้องเอาส่วนที่ไม่สำคัญออกไปบ้าง ยอมเปิดใจกับสิ่งใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีใหม่ๆ ปัญญาประดิษฐ์ เครื่องจักร ทักษะด้านซอฟต์แวร์ขั้นกลางถึงสูง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราต้อง Unlearn และ Relearn เพื่อจุดไฟกองใหม่ขึ้นมา

ฟังดูยากมากทั้งการ Unlearn แล้วก็การ Relearn ในสถานการณ์ที่การเปลี่ยนแปลงบีบรัดเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว

ผมทราบดีครับ เอาตัวอย่างง่ายๆ อย่างคุณพ่อผม สมาร์ทโฟนยังใช้ไม่เป็นเลย เพราะท่านไม่เคยใช้พูดคุยติดต่อกับใครให้เลขาฯ จัดการทั้งหมด และถ้าอยากพูดคุยกับใครก็นัดเจอกันตรงๆ มากกว่า แต่ตอนนี้ท่านก็ต้องเริ่มมาหัดเล่น เรียนรู้และใช้งานมันอย่างจริงจัง นี่คือการปรับตัวครั้งใหญ่เลยนะ หรือแม้แต่ท่าน ดร.โอฬาร ไชยประวัติ อดีตกรรมการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ท่านก็เป็นคนรุ่นเดียวกับคุณพ่อผม ซึ่งท่านเองก็คงตกใจกับโลกของการเงินสมัยใหม่ ที่อยู่ดีๆ ก็มีเงินสกุลดิจิทัลเข้ามาอย่าง Bitcoin แต่แทนที่ท่านจะมองผ่าน ท่านกลับเข้าไปเรียนรู้และลงทุนด้วย ยังมีอีกหลายคนที่ผมได้พบเจอถึงการปรับตัว ทิ้งภูมิหลัง ความรู้เก่าบางอย่าง และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งคนเหล่านี้คือคนยุคเก่าแบบที่คนติดปาก แต่เขาจะก้าวไปเป็นคนยุคใหม่ได้ โดยไม่จำกัดอายุ เพราะมันอยู่ที่ทัศนคติของคนว่าพร้อมจะเปลี่ยนหรือเปิดรับกับสิ่งใหม่แค่ไหน

การปรับตัวจะทำให้คนที่คิดว่ากำลังจะแย่ ได้รับเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่สร้างโอกาสที่ดียิ่งขึ้น

คิดในมุมบวก ลองมองว่าเป็นโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นดีกว่าครับ การที่โลกมันเปลี่ยนไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีหรืออะไรก็ตาม ทำให้เกิดการกระจายตัวของพื้นฐานรายได้ ภาพของความรวยกระจุกจนกระจาย มันจะค่อยๆ คลี่คลาย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เรามีอินเทอร์เน็ตใช้กันแพร่หลาย มันเป็นการย่อให้โลกแคบลง ช่วยมอบโอกาสใหม่แก่คนอีกหลายๆ คน ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ได้สร้างรายได้จากความกล้าและคิดอย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากโลกอินเทอร์เน็ตมันมีพลังของการแชร์ที่สูงส่ง คนเดินดินพลิกชีวิตเป็นคนดังในข้ามคืน คนตัวเล็กๆ เป็นสตาร์ทอัพ เป็นเน็ตไอดอลก็สามารถมีชื่อเสียงทำรายได้ให้ตัวเอง ถ้าการที่คุณเปิดใจยอมรับและตักมัน คือตอนนี้คำว่าโอกาสมันเปิดด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ

“วันนี้ภาพความรุนแรงในตะวันออกกลางค่อนข้างชัด​ หากยังหาข้อยุติไม่ได้จะมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนและภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง”

พูดเหมือนเงินอยู่ในอากาศ มันหาง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ

จริงๆ มันก็ไม่ได้หากันง่ายขนาดนั้นหรอกครับ บางคนอาจจะฟลุก โชคดี เช่น ไปลงทุนเหรียญดิจิทัลแล้วมูลค่ามันขึ้นแรงหลายสิบเท่าจากที่ลงทุนไปตอนแรกแบบไม่มีอะไรเลย เรื่องฟลุก เรื่องโชคดีมันก็เรื่องหนึ่ง แต่ว่าจะรักษาและเก็บสิ่งนั้นไว้ให้มันยั่งยืนต่อเนื่องได้ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเทคนิคที่คุยได้มากกว่า 3 ชั่วโมง ไว้มีโอกาสจะแชร์ให้ฟัง (หัวเราะ)

เอาอย่างนี้ ถ้าจะต้องหาเงินในปี 2020 โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในระดับ Mid to Bottom คุณปริญญ์ อยากแนะนำอย่างไร

นอกจากเรื่องความขยันแล้ว ผมคิดว่าการขวนขวายให้เงินมันทำงานให้กับเรานั้นจำเป็น อย่างเราเป็นพนักงานประจำ ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน เราต้องให้เงินทำงานให้เรา ฉะนั้นถามตัวเองก่อนว่าเราพร้อมที่จะศึกษาเรื่องการออม และการลงทุนไหม ถ้าคุณพร้อมก็มีข้อมูลให้เยอะมากเลย สัมมนาของตลาดหลักทรัพย์มีจัดเยอะมากที่เกี่ยวกับการออม การเงิน การลงทุน ไปที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของตลาดหลักทรัพย์มาเลย จะเห็นรายละเอียดมากมายในนั้น ซึ่งความรู้ทางการเงินเหล่านี้ไม่ได้ถูกปิดกั้น มีจัดกันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดตลอด ทั้งจากภาครัฐ และหน่วยงานเอกชน ขอแค่อย่าปิดกั้น และไปหยิบชุดความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการออมการลงทุนว่าเป็นเรื่องของการหลอกลวง เลือกดูหน่วยงานและบริษัทที่มีมาตรฐาน นั่นคือโอกาสของการหาเงินที่ผมอยากบอกว่ามันมีผลลัพธ์ที่ดีรออยู่จริง

การที่คุณกรณ์ จาติกวณิช ซึ่งถือเป็นผู้ใหญ่ของพรรคที่ดูแลด้านเศรษฐกิจประกาศลาออก จะมีผลอย่างไรกับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

คุณกรณ์เป็นผู้ใหญ่ในพรรคที่ผมเคารพ เราเคยทํางานกันตอนที่ท่านเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายของพรรค และพอผมเข้ามาเป็นรองหัวหน้าพรรค ก็ได้พาทีมเศรษฐกิจไปพบท่านเพื่อขอคำปรึกษา ตอนนี้พรรคก็มี​ ดร.พิสิฐ​ ลี้อาธรรม​ เป็นประธานคณะกรรมการนโยบาย และเราก็ทํางานอย่างใกล้ชิดกันเพื่อที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้เห็นผลเป็นรูปธรรมได้ต่อไป

ไม่รู้ว่าคุณปริญญ์อยู่สายไหน แล้วจะลาออกไปตั้งพรรคใหม่ด้วยหรือเปล่า

ผมไม่ลาออกแน่นอนครับ เพิ่งเข้ามาทํางานการเมืองได้ยังไม่ครบปีดี เรามาโฟกัสงานด้านเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาปากท้องให้พี่น้องประชาชน ผมเพิ่งเปิดตัวโครงการ ‘Democrat เรียนจบ พบงาน’ เพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงงานดีๆ​ เพิ่มให้คนไทยทั้งประเทศ แอดไลน์ไอดี @DemTum ไปลองใช้ดูได้ครับ ช่วยงานทุกสาย!

กับสถานการณ์สงคราม สหรัฐฯ อิหร่าน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเมืองไทยอย่างไรบ้าง

ผมคงตอบอะไรเชิงลึกมากไม่ได้​ เพราะมันจะเหมือนเป็นแค่คำตอบเชิงกูรู ซึ่งผลมันถูกหรือผิดแค่ไหน​ ไม่มีใครบอกได้ แต่ถ้าให้ลองวิเคราะห์ตามมุมมองส่วนตัว​ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องผลกระทบในเชิงของจิตวิทยาอย่างชัดเจน บรรยากาศการลงทุนและเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทย​จะเกิดความไม่มั่นใจ​ในระยะของช่วงพิพาท เพราะแน่นอนว่านี่มันเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร​ มันคือนิยามของคำว่าสงคราม​ ที่ภาพจะรุนแรงขึ้นหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามสถานการณ์แบบรายวัน แต่​ณ วันนี้ ภาพความรุนแรงในตะวันออกกลางค่อนข้างชัด หากยังหาข้อยุติไม่ได้โดยเร็ว​ ก็จะมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนและภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในวงกว้างอย่างแน่นอน

มีผู้อ่านฝากถามถึงมนุษย์เงินเดือนกับกองทุน LTF ที่จะไม่ได้ไปต่อ พวกเขาควรจะหาการลงทุนประเภทใดต่อไปดี

มนุษย์เงินเดือนยังไงก็ต้องลงทุน เพราะการลงทุนคือการกระจายความเสี่ยงของชีวิต อย่างคุณมีเงิน 100 บาท ค่าใช้จ่ายอาจจะเยอะ แต่ถ้าไม่กัดฟันลงทุนเสี้ยวหนึ่ง ไม่มีวินัย มันจะแย่ในวันข้างหน้า ผมเข้าใจว่าเหนื่อยนะ แม้ RMF LTF จะหมดไป แต่ก็ต้องลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ไว้ เช่น อายุต่ำกว่า 50 ต้องลงทุนในหุ้นระยะยาวไว้ เชื่อเถอะว่ามันต้องมีปันผลเข้ามาบ้าง ระหว่างทำงานหรือนอนหลับ และพออายุ 60 ปี ผลตรงนี้มันก็จะเลี้ยงดูเราได้

ส่วนจะซื้ออย่างไรนั้น ผมแนะนำว่าให้ซื้อเฉลี่ยแบบรายเดือนในหุ้นที่เรามีความมั่นใจ เช่น ใน 100 บาท ซื้อเฉลี่ย 1% หรือ 10% อย่าไปเก็งกำไรแบบระยะสั้น เพราะนั่นมันเป็นเรื่องที่ยากมาก อย่ามองหุ้นเป็นของเล่น แต่ให้มองหุ้นเป็นการลงทุน คุณจะได้มากกว่าเสีย ต้องศึกษาและให้เวลากับมัน เพราะมันก็คือธุรกิจหนึ่ง ที่คุณจะเข้าไปเป็นเจ้าของนั่นแหละครับ

ลูกไม้ใกล้ต้น

ชื่อ ‘ปริญญ์’ นี่เป็นชื่อจริงและชื่อเล่นในตัวเลยใช่ไหม

(อมยิ้ม) ชื่อปริญญ์มันสั้นอยู่แล้ว ก็เลยไม่มีชื่อเล่นเรียกครับ แต่ถ้าจะนับชื่อเล่นในวัยเด็ก ชื่อคุณพ่อ (ศุภชัย) คงเป็นชื่อเล่นผมมั้งครับ เพราะใครก็ชอบเรียกกัน (ล้อชื่อพ่อกันนั่นแหละ)

คุณกับคุณพ่อสนิทกันไหม

สำหรับผมถ้ามีโล่มอบให้ท่านได้…ผมอยากยกให้ท่านเป็นพ่อแห่งชาติเลยนะ อย่างสมัยที่ผมเรียนอยู่เซนต์คาเบรียล คุณพ่อจะเป็นคนที่มาส่งและรับผมบ่อยมาก ท่านสามารถเจียดเวลาสำคัญกับชีวิตในวัยเด็กให้ผมไม่รู้สึกถึงการขาดความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก มารับกลับก็แวะซื้อข้าวโพดปิ้งหน้าโรงเรียนให้ ซื้อหมูปิ้ง ซื้อการ์ตูนให้บ้าง ไปเดินหาเสียงก็ยังพาเราไปด้วยตั้งแต่ผมอายุ 9 ขวบ มันคือ

ความผูกพันที่ผมซึมซับมาตั้งแต่เด็ก เลยทำให้ผมสนิทและไม่รู้สึกว่าพ่อคือฮีโร่ของการทำงาน แต่เป็นฮีโร่ของผู้ชายคนหนึ่งที่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัวสูงมาก รู้ไหมว่าสมัยที่คุณพ่ออยู่แบงก์ชาติ ท่านยังเคยมาเล่นเป็นนายประตูให้ผมเตะบอลอัดใส่บ่อยๆ (หัวเราะ) ไปวิ่งด้วยกัน ไปเดินเล่นกัน ฯลฯ เราคุยด้วยกันได้ทุกเรื่อง

มีไลฟ์สไตล์อะไรที่เหมือนคุณพ่อบ้าง

ผมเป็นคนที่มีนิสัยเข้ากับคนง่าย สบายๆ คือไม่ถือตัว ส่วนหนึ่งคงซึมซับมาจากคุณพ่อ เพราะท่านก็มีนิสัยเป็นกันเอง อย่างเรื่องการใช้ชีวิตก็เช่นกัน ผมไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ใช่ว่ามีเงินหลักหลายล้านแล้วจะมานั่งซื้อ Super Car ขับ เป็นคนที่มีความระมัดระวัง แต่ก็พร้อมยินดีที่จะเอื้อเฟื้อโอบอ้อมอารีผู้อื่น ซึ่งเรื่องนี้ก็จะได้มาจากคุณพ่อด้วย เพราะท่านจะสอนเสมอ เวลาทำอะไรต้องคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อคนอื่น ที่สำคัญคือคุณพ่อผมท่านเป็นคนใจเย็นมาก ซึ่งผมอยากเป็นเหมือนท่าน แต่ตอนนี้ก็ใจเย็นไม่ได้เท่าท่านเลย อาจจะด้วยวัยวุฒิด้วย คุณพ่อท่านจะเป็นคนที่ค่อยๆ คิด คิดได้รอบด้านแล้วมองรอบด้านได้มากกว่า

สิ่งไหนที่ไม่อยากเป็นเหมือนคุณพ่อเลย

อย่าเรียกว่าไม่อยากเหมือนเลย ใช้คำว่าบางเรื่องเราอาจจะมีความคิดต่างกันตามช่วงเวลาและวัยดีกว่า อย่างเรื่อง Bitcoin หรือ Blockchain ผมก็อาจจะมีการถกเถียงเห็นต่างกับคุณพ่อ คุณพ่ออาจจะมองว่า Bitcoin หรือ Blockchain ที่พูดกันมากในตอนนี้ รวมถึงเรื่อง ICO เนี่ย ท่านมองว่า เฮ้ย! มันเป็นเรื่องที่อยู่ในอากาศ ดูลอยๆ ยังจับต้องไม่ได้ ไม่ใช่เศรษฐกิจที่แท้จริง ตรงนี้ก็จะมีการถกเถียงประเด็นกันบ้าง เพราะในมุมของเราก็จะบอกว่าเรื่องสกุลเงินดิจิทัลนั้นมันเป็นสิ่งที่มีมูลค่าจริง Bitcoin เป็นเรื่องของเหรียญที่ใช้เก็งกำไร เป็นเหรียญที่คนไปเล่นเพื่อที่จะหาเงิน เพราะยุคเราอีก 40 ปีข้างหน้า…หวังว่าจะอยู่ถึงนะ (หัวเราะสนุก) มันจะเป็นยุคดิจิทัลวอลเล็ตเต็มตัว มันจะมีอีวอลเล็ต (e-Wallet) แพร่หลาย เป็นต้น

อย่างกรณีของ Blockchain จริงๆ ท่านก็ชอบระบบนี้นะ เพราะมองว่าตัวระบบสามารถสร้างความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูล โดยเฉพาะในส่วนของการเอาไปใช้ในการต่อยอดหรือการปล่อยสินเชื่อในอนาคต การแลกเปลี่ยนเงินได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงถูกลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่ท่านกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเงินใหม่ๆ มันก็ยังอยู่ในภาพของความกังวล ถึงปัญหาฟองสบู่ที่อาจจะกลับมา โดยเฉพาะในเชิงของการลงทุน ถ้าหากมีคนไปเก็งกำไรเกินควรในสินทรัพย์ดิจิทัล จนกระทั่งมีการหลอกลวงกัน มีแชร์ลูกโซ่ ซึ่งท่านมองในมุมของนายธนาคารกลางเก่าที่เห็นอะไรมามาก แต่ยังไม่เห็นภาพอนาคตของระบบการเงินใหม่ ยังไม่เชื่อว่า Bitcoin เป็นอะไรที่มันจับต้องได้จริง ท่านยังเชื่อในระบบการเงินที่เป็นเศรษฐศาสตร์ยุคเก่า แต่ท่านก็รับฟัง

ด้วยความที่มีคุณพ่อตั้งต้น แล้วท่านก็เป็นคนดัง และประสบความสำเร็จสูงสุด แล้วการที่เราเป็นผู้ชายด้วย การที่จะไปแตะความสำเร็จแบบคุณพ่อ คุณมีความกดดันไหม

ไม่เลยครับ เพราะตอนเด็กๆ ผมเกิดมาตอนที่คุณพ่อยังไม่ดัง แล้วนามสกุลเราก็ไม่ใช่สกุลใหญ่โต คุณปู่ของผมท่านก็ไม่ได้ดัง แล้วตอนผมเกิดช่วงปี 2520 แบงก์ชาติก็ยังไม่ได้อิมแพ็คมากเท่าทุกวันนี้ ฉะนั้นตอนในช่วงที่เราเติบโต เราจึงอยู่กับความสมถะ อย่างไปประชุมที่พัทยาจะเปิดตู้เย็นหาอะไรกิน คุณแม่ก็บอกว่าลงไปซื้อเอาข้างล่างก็ได้ เพราะกลัวมันแพง แล้วก็จะเป็นแบบนี้ตลอด ไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนกับครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเที่ยวในประเทศ เราไม่มีไปทริปต่างประเทศ เพราะฐานะของเราเบสิกมากๆ

ฉะนั้นความที่เราเติบโตมาในจังหวะที่ไม่มีแรงกดดันถึงแม้จะมีช่วงที่คุณพ่อย้ายจากแบงก์ชาติมาดูกระทรวงการคลัง และไปดำรงตำแหน่งสำคัญในระดับโลก เราไม่เคยรู้สึกกดดันอะไรในการเป็นลูกของท่าน แต่กลับรู้สึกมีความสุขมากกว่า เพราะพ่อเราเป็นคนที่ไม่ได้บังคับให้ต้องเป็นอย่างนั้นหรืออย่างนี้ แต่พอเริ่มเรียนจบและเริ่มจะเข้าทำงาน ก็มีแอบรู้สึกนิดหนึ่งว่างานที่เราทำนั้นมันสายเดียวกับที่ท่านทำ จึงมีแรงกดดันนิดหน่อยว่าเราต้องระวังตัวในหน้าที่ของเรา พูดง่ายๆ คือ ท่านไม่ได้มีความคาดหวังอะไรในตัวลูกว่าจะต้องไปทำงานอะไร แม้แต่งานการเมืองก็ด้วย

ใจกว้างมาก

ใช่ครับ ที่จริงคุณพ่อคุณแม่ไม่เคยอยากให้ผมเข้ามาทำงานการเมืองเลย แต่ท่านก็ให้เสรีภาพเรามาก เพียงแต่ท่านจะบอกว่าอะไรที่ควรทำ-ไม่ควรทำ คือท่านสอน ท่านพูดคุยกับเรา ดุก็มีแน่ถ้าเกิดทำผิดซ้ำๆ แต่มันก็เป็นความบาลานซ์ที่ไม่ง่ายนะ แต่ผมว่าความบาลานซ์ตรงนี้มันสามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ มันก็เลยกลายมาเป็นต้นแบบทางความคิดแก่ผมให้สัมผัสได้โดยอัตโนมัติว่าเมื่อมีลูก เราก็จะเลี้ยงเขาแบบที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูเรามา ให้ความรัก กอดเขาให้มาก และให้เขาเลือกในสิ่งที่เขาอยากเป็น แค่เป็นคนดีของสังคมก็พออะไรทำนองนี้

เปลือย…ปริญญ์

จริงๆ แล้วตัวตนของ ปริญญ์ เป็นคนอย่างไร

ภาพของผมที่ยังจำได้ คือ ไม่ใช่เด็กเรียบร้อย ไม่ใช่เด็กหน้าห้อง แต่ก็ไม่ได้ก๋ากั่นขนาดแอบหนีไปเสพยาเสพติด หรือไปยกพวกตะลุมบอนกับใคร เรียกว่า เป็นคนกลางๆ ทำในเรื่องที่ควรทำ เรียนและทำกิจกรรมได้พร้อมๆ กัน ค่อนข้างเป็นพวกสนุกกับการใช้ชีวิตมากกว่า

ขอถามไปถึงเรื่องราวในรั้วของเซนต์คาเบรียล ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ดูเหมือนคุณเคยพูดว่าคนที่นี่มีความผูกพันกันมากถึงมากที่สุด

ในยุคนั้นเด็กเซนต์คาเบรียลส่วนใหญ่ไม่ใช่รวยมากแบบเวอร์ๆ นะ และรุ่นผมก็ไม่ใช่คนใหญ่คนโต หรือลูกทหารอะไรมากมายสักเท่าไร ส่วนใหญ่จะเป็นลูกพ่อค้า หรือนักธุรกิจ พูดง่ายๆ คือ คนในยุคผมจะมีความใกล้เคียงกัน บนส่วนผสมของเด็กที่ฐานะไม่ได้แตกต่างกันมาก อย่างผมต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ม.2 เพราะไปอังกฤษ ตอนนั้นผมก็อยู่กับเพื่อนตั้งแต่ ป.1-ม.2 เรียกว่ายาวนานพอควร มันทำให้เรารักกันมาก ทุกวันนี้ก็ยังเจอกันกับกลุ่มเพื่อนเซนต์คาเบรียล เรามีการรวมตัวไปทำกิจกรรมหรือไปเยี่ยมเยียนคุณครูกันเสมอๆ

รักใคร่กลมกลืนกันถึงขั้น ‘ให้ยืมนาฬิกา’ กันได้ง่ายๆ เลยหรือ

หูยย…คำถามล่อแหลมมาก แต่อันนี้ผมพูดแบบมุมมองของผมนะ อย่างเพื่อนรุ่นเดียวกันบางคนรวยมาก มีรถ McLaren หรือ Ferrari ก็ให้เพื่อนยืมกันได้ทั้งๆ ที่อาจจะมีหลายคนชอบพูดว่า ผู้ชายมักไม่ค่อยให้ยืมของพวกนี้ เช่น รถยนต์ นาฬิกา ปืน แต่ด้วยความที่เป็นเพื่อนกัน ซึ่งผมว่าจริงๆ มันก็ไม่ใช่แค่เซนต์คาเบรียลหรอก แต่ถ้าเรารู้สึกผูกพันกันและไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้ส่วนเสียมาเอี่ยว เอาอย่างง่ายๆ เวลาไปจัดงานเลี้ยงรุ่นร้านเพื่อนคนโน้นที คนนี้ที และเวลาจัดงานเลี้ยงรุ่น ไอ้คนที่รวยที่สุดในรุ่นเขาก็จะออกตัวเป็นเจ้าภาพให้แบบไม่คิดอะไร แต่รุ่นผมอาจจะไม่ถึงขั้นมาให้ยืมนาฬิกากัน หรือให้สิ่งของอะไรกันเป็นเรื่องเป็นราวหรอกครับ แต่อย่างเรื่องรถที่บอกไป มีให้ยืมหรือผลัดกันขับบ้าง อันนี้มี สรุปคือมันเป็นเรื่องของมิตรภาพ และความผูกพันของคนในแต่ละยุคกัน

มีกิจกรรมสมัยเรียนที่ยังชอบทำอยู่เป็นประจำบ้างไหม

ผมเป็นคนที่ชอบเล่นกีฬา หลักๆ เลยคือเตะฟุตบอล ตีแบด ฯลฯ

ไม่อยากถาม แต่ก็คงต้องถามหน่อย ถึงทีมฟุตบอลในดวงใจ ที่ชื่อว่า ‘ลิเวอร์พูล’

(ยืดอกตอบด้วยความภาคภูมิ จนคนถามแอบมองบนเบาๆ) สำหรับลิเวอร์พูล ผมว่านี่น่าจะเป็นปีที่รอคอย เอาเป็นว่าพลพรรคเครื่องจักรสีแดงแบบผม และอีกหลายๆ คนเจ็บกันมาเกือบ 30 ปีแล้ว (หัวเราะ) เหมือนประชาธิปัตย์ที่ไม่ได้ชนะเลือกตั้งมา 28 ปีแล้วนะ ครั้งสุดท้ายที่ชนะคือคุณชวน หลีกภัย เพราะคุณอภิสิทธิ์และคุณบัญญัติ ไม่เคยชนะ คุณชวนนี่แหละคือคนสุดท้ายที่ชนะเลือกตั้ง

มาโยงการเมืองแบบนี้ ขอขยี้ต่อเลยว่าถ้าให้เปรียบเทียบระหว่างลิเวอร์พูลกับประชาธิปัตย์ตอนนี้ สถานการณ์มันเป็นอย่างไร

หวังว่าจะคล้ายๆ กันนะ (ฮ่าๆ) เพราะว่าทั้งลิเวอร์พูลและประชาธิปัตย์ไม่ชนะและเป็นที่หนึ่งมานานมากแล้ว เพราะลิเวอร์พูลเองก็ไม่ได้เป็นที่หนึ่งของลีคอังกฤษมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้บอกว่าประชาธิปัตย์จะอยู่ในสถานการณ์เหมือนกับลิเวอร์พูลในวันนี้เป๊ะๆ

แต่เหมือนจะมีส่วนผสมบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่ามันเริ่มคล้ายกันอยู่ นั่นคือการที่คนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อพรรคมากขึ้น

ผมว่าจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นกับลิเวอร์พูลในตอนนี้…ไม่รู้ว่าจะชัวร์ไหมนะ (คิดนิดหนึ่ง) นั่นคือการที่ตัวผู้นำหรือผู้จัดการทีมอย่าง เจอร์เก้น คล็อปป์ ที่สร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับลิเวอร์พูล ทั้งระบบการเล่น สปิริตของทีม การดึงนักเตะที่ใช่มากกว่าที่คนชอบ การเลือกทีมผู้ช่วยที่เข้าใจโลกฟุตบอลจริงๆ ซึ่งผมมองว่ามันมีความเหมือนหลายๆ อย่างกับ ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ (หัวหน้าพรรค) ที่กล้าทำในสิ่งใหม่ๆ ซึ่งคำว่าใหม่ของพรรคในตอนนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม แต่เราก็พยายามปลดล็อกสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ เป็นการเริ่มลงมือมาทำอย่างจริงจัง

หนึ่งในการเปลี่ยนที่ค่อยๆ ชัดขึ้นของประชาธิปัตย์เลือดใหม่ เหมือนจะอยู่ที่การให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ที่เห็นชัดก็คือคุณได้ขึ้นมาคุมในเรื่องของทีมเศรษฐกิจของพรรค

ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีนะ แต่ส่วนตัวแล้วผมมองว่ารุ่นใหม่ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่อายุ บางทีคนที่อายุมากกว่าเราอาจจะเป็นคนรุ่นใหม่ก็ได้ ขอแค่เขาเป็นคนตามโลก ตามเทรนด์ กล้าคิดนอกกรอบ หรือเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา และกล้ารับคำติชม แค่นี้ก็คือคนรุ่นใหม่ในมุมของผมแล้ว

อะไรคือปัญหาที่คุณอยากแก้มากที่สุดของประเทศไทย

คงไม่พ้นเรื่องตลาดแรงงานที่ต้องเพิ่มทักษะให้คนในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน ซึ่งตอนนี้เราให้เวลาเยอะมากกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัยอีกหลายๆ แห่งที่ดูแววแล้วจบออกไปจะไม่มีงานทำ ซึ่งมันเป็นเรื่องยากนะ เพราะเด็กนักศึกษาที่อายุระหว่าง 18 ปีขึ้นไปจนถึงคนที่เริ่มจะจบในช่วงอายุ 20 ปีต้นๆ จะเป็นกลุ่มที่ต้องเจอปัญหานี้อีกเพียบ

การที่เราเลือกโฟกัสคนรุ่นใหม่ เพราะอยากได้คะแนนเสียงจากคนเจเนอเรชั่นนี้หรือเปล่า

คะแนนเสียงมันไม่เกิดหรอก ถ้าเราทำแล้วมันไม่เกิด และการที่เราจะมาคิดทำเรื่องเหล่านี้
มันคิดแค่เล่นๆ หรือหวังฐานคะแนนเสียงไม่ได้ เราอยู่ในสถานะของคนที่มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาชนที่พูดได้ ตะโกนได้ และคิดในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นไปตามทางของมัน ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้คือเรื่องของประเทศ ซึ่งมันไม่ง่าย และถ้าเราไม่ได้อินกับมัน หรือสนุกไปกับการแก้ปัญหาเหล่านี้ ทำแป๊บเดียวเดี๋ยวก็เลิก แต่ผมมองเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำในระยะยาว เช่น เราต้องตีโจทย์เลยว่า ในอีก 40 ปีข้างหน้า ถ้าเราอายุ 80 กว่าแล้วนั่งมองย้อนไป เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างทรัพยากรมนุษย์คนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือที่ดี ได้ช่วยพัฒนาประเทศ มันจะดีแค่ไหน

ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยชัดขึ้น โจทย์จึงมาตกที่ว่า คนรุ่นใหม่จะต้องแบกรับประเทศในเฟสต่อไป ฉะนั้นการทำให้พวกเขาแข็งแรง และมีความมั่นคงในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่เรามองเป็นภาพเดียวกันในแผนของทีมเศรษฐกิจของประชาธิปัตย์ ซึ่งเราก็จะเน้นกับเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบมานี่แหละ สร้างกิจกรรม สร้างวงเสวนา เปิดเวิร์กช็อป แมตชิ่งตลาดงานให้กับเด็กจบใหม่ และอื่นๆ ให้มากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราผลักดันกันได้เอง ไม่ต้องรอใคร เราทำได้ในฐานะประชาชนคนธรรมดา อย่าง ‘โปรเจกต์เรียนจบพบงาน’ ถามว่าตอนนี้มันเดินหน้าไประดับหนึ่ง แต่จะได้ผลลัพธ์ตามชื่อเป๊ะๆ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระบวนการการฝึกงาน เพิ่มทักษะ เพิ่มการเรียนรู้นอกห้องเรียน จากตัวเด็กๆ ด้วยเช่นกัน

… บทบาทของประชาชนคนธรรมดา ในเวทีการเมืองไทย

เริ่มเข้ามาทำงานในภาคการเมืองได้กี่เดือนแล้ว

ราว 7 เดือนแล้วครับ ผมเข้ามาแตะงานภาคการเมืองตั้งแต่ 15 พฤษภาคม 2562 ช่วงที่มามีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่และได้คุณจุรินทร์เข้ามาดำรงตำแหน่ง ตามด้วยการเลือกรองหัวหน้าพรรค เลือกกรรมการบริหารพรรค เลือกนายทะเบียน ฯลฯ

ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ที่ได้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ นอกจากเรื่องการเพิ่มทักษะแรงงาน คุณสร้างความเคลื่อนไหวอะไรที่น่าสนใจจากมือของคนธรรมดาๆ บ้าง

อย่างที่บอก ตอนนี้ปัญหาในประเทศเรามีหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ เราเหลื่อมล้ำกันแทบทุกด้าน ทั้งเรื่องการศึกษา ที่คนจบไปจะต้องตกงาน คนที่อยู่ในภาคแรงงานเดิมจะตกอับ นั่นก็เพราะเราไม่มีการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ให้คนเข้ามาอยู่ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงได้จริง มหาวิทยาลัยยังตั้งเป้าให้เด็กเน้นผลการเรียน แต่ตลาดงานต้องการทักษะที่ใช้ได้จริง ผมจึงนำเสนอเรื่องผ่านกระทรวงศึกษาธิการและเริ่มมีความเป็นจริงขึ้น คือความอิสระของเด็กจบใหม่ที่ต้องได้ฝึกงานในตลาดงานแห่งอนาคต ไม่ใช่ฝึกตามสิ่งที่เรียนมา ซึ่งบางเรื่องจะใช้ไม่ได้จริงในสนาม

หรือในกรณีของรายได้ท้องถิ่น เรามีแหล่งท่องเที่ยวระดับชุมชนที่สามารถทำให้ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปากได้ เช่น คุณรู้ไหมว่าอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีอากาศบริสุทธิ์มากที่สุดในไทย มีภูเขาสวยงาม ธรรมชาติงดงาม แต่คนยังไม่รู้ และคนในพื้นที่ก็ไม่ได้แบรนดิ้งตัวเองในเรื่องนี้เลย เราจึงร่วมมือกับธุรกิจเอนเตอร์ไพรส์ที่ชื่อว่า ‘Local Alike’ มาช่วยพัฒนาแพ็กเกจให้เกิด Local Experience เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสถานที่นั้นๆ ต่อไป

ในกรณีของการจราจร ปัญหารถติดมันแก้ไม่ได้ แต่เราปรับพฤติกรรมได้ ผมได้ชงเรื่องเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ในการเดินทางร่วมกันกับรถคันเดียวภายใต้ปลายทางเดียวกัน ซึ่งถ้าทำได้ เราจะช่วยแก้ปัญหาจราจรไทยได้ชัดมาก

จริงๆ ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น การสานต่อแนวคิดของท่านกรณ์ จาติกวณิช กับเรื่องของ GOVTECH โดยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์กับการเก็บข้อมูลคนไข้ ซึ่งผมมองว่าอนาคตเจ้าของข้อมูลควรเป็นตัวเราเอง เช่น เกิดอุบัติเหตุที่ไหนแล้วต้องไปโรงพยาบาลใด ไม่จำเป็นต้องรอข้อมูลจากโรงพยาบาลต้นทางของเรา ซึ่งมันล่าช้า แต่สามารถดึงข้อมูลจากตัวเราเอง ด้วยระบบไบโอเมตริกซ์ เป็นต้น

ผมกำลังบอกว่านี่แหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากภาคประชาชน และคนอื่นๆ ในประเทศก็ทำได้ ขอให้ทุกแนวคิดมันมีหนทางสู่การแก้ปัญหาของประเทศได้จริงและกล้าเปิดใจคุยกับทุกฝ่าย

คุณเชื่อจริงๆ หรือว่าสังคมไทยจะทำงานแบบประสานมือกันได้แบบไร้รอยต่อ

ยุคนี้เราทำงานคนเดียวไม่ได้หรอกครับ เราต้องสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วนในประเทศ เพื่อบรรลุสิ่งที่เรียกว่า ‘บิ๊กโกลด์’ เดียวกัน ซึ่งสิ่งที่ผมเล่าๆ มานี่ มันเกิดขึ้นได้เพราะผมทำงานร่วมกับทุกพรรค เรามองการแก้ปัญหาโดยระดมความคิดจากบนลงล่าง และล่างขึ้นบน ทำงานร่วมกับ ส.ส. ในพื้นที่ แม้จะคนละพรรค รวมถึงคณะรัฐมนตรีที่ต่างพรรคกันได้ ขอแค่เราเดินเข้าไปนำเสนอการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ มีแผนการจัดการที่ชัดเจน และอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ประเทศก็พอ

นำไปสู่บิ๊กโกลด์ แล้วบิ๊กตู่โอเคไหม

ผมว่าท่านมองประโยชน์ส่วนรวมของประเทศนะ และมันไม่เกี่ยวว่าจะต้องมาจากใคร เห็นได้จากสิ่งที่ผมพูดมา ทุกๆ เรื่องถูกนำเข้าไปสะท้อนในวาระของคณะรัฐมนตรีหมด ไม่ใช่ว่าผมเก่งหรือประชาธิปัตย์เป็นพรรคใหญ่ แต่เป็นเพราะเราทำงานบนพื้นฐานของความสร้างสรรค์ พูดคุยกับทุกฝ่าย ประเทศไทยตอนนี้ต้องการความเป็นหนึ่งเดียว ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย

สังคมดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องร่วมกันสร้าง ถ้าเราไปยืนอยู่ในจุดที่รัฐบาลยืนอยู่ เราอาจจะทำอะไรไม่ได้เลยก็เป็นได้ การบ่น ต่อว่า หรือเสียดทาน ไม่มีอะไรดีขึ้น คนไทยทุกคนต้องลุกขึ้นมาสะท้อน และเชื่อมมือกันแก้ในสิ่งที่เป็นปัญหา และสร้างสรรค์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์จะดีกว่า — ปริญญ์ทิ้งท้าย

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ