fbpx

ปรียนาถ สุนทรวาทะ บี.กริม เพาเวอร์ X พลังของผู้นำหญิงในโลกธุรกิจพลังงาน

เรื่อง ณัฐพล ศรีเมือง ภาพ :  อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์ 

ปรียนาถสุนทรวาทะคือ President and CEO ของบริษัทบี.กริมเพาเวอร์จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจพลังงานของประเทศไทย บี.กริมเป็นบริษัทที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า141ปีทำธุรกิจหลากหลายประเภทก่อนจะมาทำธุรกิจพลังงานเมื่อราว20กว่าปีที่ผ่านมาและปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้นำด้านพลังงานที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้บุกเบิกและผู้นำความสำเร็จมาสู่บี.กริมเพาเวอร์ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ก็คือซีอีโอหญิงเก่งคนนี้นี่เองซึ่งเธอได้ร่วมงานผ่านร้อนผ่านหนาวกับบี.กริมมาเกือบ 30 ปี จากจุดเริ่มต้นในยุควิกฤติเศรษฐกิจ‘ต้มยำกุ้ง’มาจนถึงยุค Disruptive Change ธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลเช่นนี้ปรับตัวขับเคลื่อนให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนมาได้อย่างไร เราจะมาฟังคำบอกเล่าจากแม่ทัพของบี.กริมเพาเวอร์ผู้มีทั้งความแข็งแกร่งและอ่อนหวานพร้อมบทเรียนจากประสบการณ์การทำงานอันยาวนานของเธอ

บี.กริม มีประวัติความเป็นมาคร่าวๆ อย่างไร และทำธุรกิจอะไรบ้าง

บริษัท บี.กริม เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยมิสเตอร์แบร์นฮาร์ด กริม ได้เข้ามาถวายยาในสมัยนั้น เราก็ทำธุรกิจมาต่อเนื่องยาวนาน ปัจจุบันมีอายุ 141 ปีแล้ว ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับ Infrastructure พวกโครงการใหญ่ๆ แล้วก็พวกเทคโนโลยี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 แล้วก็วิกฤติต้มยำกุ้ง ตอนนั้นดิฉันเข้ามาทำงานแล้ว ปัจจุบันธุรกิจหลักของบี.กริม กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นธุรกิจพลังงาน ซึ่งเราเริ่มเมื่อประมาณ 24-25 ปีที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาตลอด จนตอนนี้เรามีโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่เปิดให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 46 โครงการ กำลังการผลิตรวมประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายถึง 5,000 เมกะวัตต์ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า มีการเติบโตและขยายต่อเนื่อง ซึ่งเราก็ภูมิใจที่เราเป็นหนึ่งในธุรกิจพลังงานที่เป็นเอกชน ที่ถือว่าได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จุดเริ่มต้นของคุณกับบี.กริมจนกระทั่งก้าวขึ้นมาเป็น CEO

ดิฉันอยู่ บี.กริม มา 29 ปีค่ะ พอจบจากจุฬาฯ ด้านบัญชีไฟแนนซ์ เสร็จก็มาทำงานที่ไทยสมุทร จากเดิมเป็นเสมียนเล็กๆ เติบโตมาเรื่อยๆ จนได้เป็นผู้บริหาร Administration Center ของกลุ่มบริษัท หลังจากนั้นก็ย้ายมาทำบริษัทดีทแฮล์ม เพราะอยากมีประสบการณ์แบบอินเตอร์เนชั่นแนล

ในตอนนั้นดีทแฮล์มก็มีธุรกิจเยอะ มีบริษัทในกลุ่มที่เขาจะดูแลเรื่อง Administration ให้พวกบริษัทอินเตอร์ต่างๆ เราก็จะอยู่ตรง Administration Center ชื่อดีทแฮล์ม แมเนจเมนท์ เซอร์วิส

เป็นผู้บริหารที่นั่นอยู่ตรงนั้นประมาณ 5 ปี ก็มาทำงานที่บี.กริม ในตอนนั้นมีความรู้สึกว่า เรามีประสบการณ์ทั้งทางด้านที่ดูแลบริหารจัดการองค์กร แล้วก็ได้อยู่กับ Local Firm ที่เป็น Family แล้วก็แบบอินเตอร์เนชั่นแนล บี.กริม ก็คล้ายๆ ไฮบริด เพราะว่าเจ้าของเป็นฝรั่ง คือมิสเตอร์ฮาราลด์ ลิงค์ เขาเป็นคนเยอรมัน เป็นผู้ดียุโรป เริ่มแรกก็รู้สึกถูกชะตาอยากทำงานให้ เพราะว่าท่านดูมีเมตตา ตอนนั้นบี.กริมยังไม่ได้ทำธุรกิจพลังงาน ส่วนใหญ่อิมพอร์ตของมาขาย แล้วก็มีธุรกิจอื่นๆ อีก ที่สำคัญก็เช่นที่ทำแอร์แคเรียร์ บริษัททำความสะอาดก็มี พอเจอวิกฤติต้มยำกุ้ง ธุรกิจที่เป็นอิมพอร์ตเตอร์มีปัญหา เรามีธุรกิจขายยาด้วยนะชื่อ Health Care แล้วก็ทำก่อสร้างด้วย ในช่วงนั้นธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก็กระทบหนัก ลูกค้าไม่จ่ายเงิน แย่กันหมด แล้วก็ธุรกิจอิมพอร์ตเตอร์อีก กลายเป็นว่าของมากลางทางราคาแพงขึ้นไปอีกเท่าตัว คือเมื่อก่อนดอลลาร์จาก 25 บาทขึ้นเป็น 50 บาท ซึ่งในตอนนั้นเราในฐานะคุมไฟแนนซ์เป็น CFO ก็เหนื่อยเลย

ในช่วงก่อนหน้าเกิดวิกฤติเล็กน้อยเราเริ่มทำธุรกิจพลังงานด้วย เพราะว่ามีโอกาสเข้ามา เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งเปิดให้เอกชนเข้ามาทำธุรกิจพลังงานได้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยรีบไปสมัครขอใบอนุญาต ขอ License ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเศรษฐกิจเริ่มมีอาการไม่ค่อยดีแล้ว แล้วพอเกิดวิกฤติขึ้นมาก็หนักเลย เหนื่อยมาก ต้องค่อยๆ พยายามปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในแต่ละบริษัท บริษัทไหนที่ไปไม่ไหวก็ต้องปล่อยไป หาคนมาซื้อ สำหรับธุรกิจพลังงาน เราก็ต้องพยายามหาพันธมิตรที่แข็งแกร่งเข้ามาร่วมทุน ก็เลยเป็นหน้าที่หลักของดิฉันในช่วงนั้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น พอผ่านพ้นช่วงวิกฤติมาได้ ก็ได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นมาเป็น CEO ดูแลกลุ่มธุรกิจพลังงานจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันธุรกิจอื่นๆก็ยังมีอยู่

ยังมีอยู่หมดค่ะ ดิฉันก็ยังเป็นกรรมการอยู่หลายบริษัท เพียงแต่ว่าทำทั้งหมดไม่ไหว เพราะงานเยอะมาก คือตอนนี้เน้น บี.กริม เพาเวอร์ อย่างเดียว พนักงานก็มีเป็นพันแล้วค่ะ และเราก็มีแผนว่าจะต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ถึง 5,000 เมกะวัตต์เร็วๆ นี้ โดยถ้าดูจากโอกาสที่เข้ามาดูโครงการที่มีความเป็นไปได้ในการลงทุนแล้วคิดว่าน่าจะเกิน 5,000 เมกะวัตต์ไปอีกเยอะแยะเลย ก็คงขยายไปเรื่อยๆ

ตอนเริ่มทำธุรกิจพลังงานเริ่มต้นอย่างไรหาองค์ความรู้ต่างๆจากไหน

เริ่มจากศูนย์บนกระดาษเลยตอนแรกๆ ก็ไม่รู้เรื่องเท่าไร เพราะว่าเราก็มาแบบไฟแนนซ์จ๋าเลย แต่ด้วยธุรกิจโรงไฟฟ้ามันไม่ใช่ว่ามีความรู้ด้านวิศวกรรมอย่างเดียวแล้วจะสร้างได้ หรือมีความรู้ด้านไฟแนนซ์อย่างเดียวจะสร้างได้ ที่แน่ๆ ถ้าไม่มี

โปรเจกต์ไฟแนนซ์ ถ้าแบงก์ไม่ยอมให้กู้ โครงการก็ไม่เกิด ก็กลายเป็นเหมือนผู้กำหนด ถึงเวลานี้พวกคุณต้องได้ License นี้ ถึงเวลานี้ต้องเริ่มจ้างผู้รับเหมาได้แล้ว แบงก์จะให้ตามระยะเวลาของการก่อสร้าง แล้วพอสร้างเสร็จก็จบ เราก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ พอต่อมาก็ได้ไปคุมเป็น COO โอเปอเรชั่นด้วย ก็ค่อยๆ รู้ไป มาถึงตอนนี้เราคิดว่าเราพูดคุยกับพวกวิศวกรสนุกกว่าคุยกับพวกนักบัญชีอีก ด้านบัญชีลืมหมดแล้ว (หัวเราะ) 

คืออย่างนี้ค่ะ พอเริ่มเป็นผู้บริหาร ความรู้พวกสกิลลึกๆ พวกนี้มันไม่จำเป็นต้องไปรู้ลึกขนาดนั้น เราต้องรู้ที่จะรู้ใจคน เข้าใจ ทำอย่างไรถึงจะให้เขาอยากทำงานให้เรา เพราะฉะนั้นสกิลนี้สำคัญที่สุด แล้วดิฉันก็ภาคภูมิใจ เพราะว่าลูกน้องทำงานแล้วสนุก เปอร์เซ็นต์การลาออกมีน้อย พนักงานทำงานอย่างมีความสุข มีความรู้สึกว่าตื่นขึ้นมาแล้วอยากมาทำงาน ถ้าเป็นแบบนี้ทำธุรกิจอะไรก็ประสบความสำเร็จหมด

แล้วมีวิธีขับเคลื่อนอย่างไรบี.กริมเพาเวอร์จึงเติบโตขึ้นมาได้ขนาดนี้

พอทำแล้วทำได้ดี ลูกค้าเยอะ เราพิสูจน์ว่าเราทำได้จริง หลังจากนั้นเราก็ขอ License เพิ่มได้เรื่อยๆ ตอนหลังๆ เราก็ใช้วิธีเทกโอเวอร์คนที่เขาอาจจะเปลี่ยนจากธุรกิจพลังงานไปทำอย่างอื่น คือโรงไฟฟ้าไม่ได้ทำได้ง่ายๆ มีความซับซ้อนมาก ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า แต่พอไปทำแล้วจะรู้ว่ามันไม่หมูเลย เพราะว่าการสร้างโรงไฟฟ้าหนึ่งโรงต้องขอใบอนุญาตประมาณ 50 ใบ แล้วก็ต้องมีความรู้จริงทางด้านเทคโนโลยี เงินลงทุนก็สูง เพราะฉะนั้นจะต้องมีสายป่านที่ยาวพอสมควร ต้องพูดนิดหนึ่งว่าในช่วงนั้นถ้านึกภาพออก ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจะเจอปัญหาเยอะ มีบริษัทล้มละลายมากมาย แต่เราอยู่รอดมาได้ก็เพราะว่ามีคนที่ยังเชื่อเรา ยังเชื่อในความเป็นบี.กริม ดิฉันก็ทำจนสำเร็จสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในบริษัทต่างๆ ได้ พอเราผ่านพ้นวิกฤตินี้ได้เราก็เข้มแข็งขึ้น แกร่งขึ้น แล้วก็ได้รับการยอมรับแบบไม่ต้องพิสูจน์อะไรอีก ดิฉันจึงเป็น CEO ของบริษัทนี้ได้

ตอนนี้เรามีโรงไฟฟ้าแบบชนิดที่เรียกว่า SPP (Small Power Producer) แต่ความจริงแล้วไม่เล็กนะคะ เพราะว่าขนาดประมาณ 140 เมกะวัตต์ต่อโรง การลงทุนก็ประมาณ 5,000 – 6,000 ล้านบาทต่อโรง แต่เป็นคอนเซปต์ที่ดีมาก เพราะว่าโรงไฟฟ้าแบบนี้ต้องอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม แล้วก็ขายไฟฟ้าส่วนหนึ่งให้ EGAT อีกส่วนหนึ่งขายให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ทำให้ลูกค้าชอบเพราะว่ามีโรงไฟฟ้าอยู่ใกล้ๆ เขา ซึ่งไฟฟ้าก็จะมีเสถียรภาพสูง และมีไอน้ำที่ Generate มาจากเครื่อง ทำให้ไอน้ำมีประสิทธิภาพสูงมากเช่นกัน ลูกค้าก็เลยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ซึ่งตอนนี้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไปเลย และเราก็ยังขยายโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำอีกหลายแห่ง จนปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าแบบ SPP ที่เปิดให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด 17 โครงการ กำลังการผลิตรวมกว่า 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จมาโดยตลอด ต่อเนื่องและมั่นคง เพราะได้รับสัมปทาน 25 ปี

แล้วพอสัมปทานใกล้หมด รัฐบาลก็ยอมให้ต่อสัญญา เพราะมีความจำเป็นที่ต้องรักษาฐานลูกค้าอุตสาหกรรมไว้ แต่ทั้งนี้ดิฉันก็ต้องทำเรื่องร้องขอให้รัฐบาลพิจารณา ซึ่งลูกค้าก็ยินดีช่วยมากเลย สถานทูตญี่ปุ่นด้วย เพราะว่าถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าแบบเราเขาก็ต้องย้ายไป ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นธุรกิจยาง ไฟฟ้าดับนิดหนึ่งเขาจะเสียทั้ง Mold เสียทั้งหมดเลย เขาจะแย่เลย เพราะฉะนั้นไฟฟ้าจะต้องนิ่งและมั่นคงตลอดเวลา และต้องมีไอน้ำด้วย

ปัจจุบันเราขยายธุรกิจพลังงานไปยังต่างประเทศแล้วก็ไปทางด้านพลังงานทดแทนมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้สัดส่วนจะเป็น 30 กับ 70 เปอร์เซ็นต์ (70% เป็นในประเทศ 30% เป็นต่างประเทศ) ที่ขยายมากจะเป็นที่ประเทศเวียดนาม เราสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่เวียดนามเราก็เป็นที่รู้จักดี สำหรับสัดส่วนพลังงานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติกับพลังงานทดแทนก็ประมาณ 70 กับ 30 เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน

บทบาทการเป็น CEO หญิงในธุรกิจพลังงาน ต้องเจอกับอะไรบ้าง

จริงๆ ธุรกิจพลังงานอาจจะดูเหมือนเป็นธุรกิจของผู้ชาย คือจะมีลูกน้องเป็นวิศวกรเป็นผู้ชายเยอะเลยประมาณ 70% แต่ดิฉันก็ไม่ได้พบว่ามีความยากลำบากอะไรในการได้รับการยอมรับ อาจจะเป็นเพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้าง ตั้งแต่นานมาแล้ว ไม่ว่าจะผู้หญิงผู้ชายก็มีโอกาสที่จะเติบโตในทุกสายอาชีพเหมือนกันหมด รวมถึงเปิดกว้างเรื่องศาสนา เรื่องเชื้อชาติ จะเห็นว่าเราเป็นชาติที่ต้อนรับต่างประเทศ ดิฉันได้รับคำถามแบบนี้เสมอ ก็จะตกใจว่าเราเป็นผู้หญิงทำธุรกิจแบบนี้จะทำได้หรือ อันนี้ก็เป็นบทพิสูจน์ว่าจริงๆ เราทำได้ และทำได้ดีด้วย

ถือว่าหนักหนาสาหัสไหมสำหรับชีวิตการเป็น CEO

ก็เหนื่อยอยู่ค่ะ ก่อนอื่นคือเราต้องคุมทัพให้อยู่ หมายความว่าต้องให้ทุกคนร่วมมือกันทำงานเป็นทีมที่ดี ทำให้มีผลงานออกมาดี เราได้ขึ้นชื่อว่าเป็น Real Developer คือเป็นตัวจริงทางด้านพลังงาน เพราะว่าเราไม่ได้ซื้อ License มาแล้วขายต่อ ไม่ได้เป็นแบบนั้น เราก่อสร้างจริงและอยู่กับโรงไฟฟ้าจนหมดอายุสัญญา เรามีลูกน้องที่เก่งมากๆ ทั้งทางด้านกฎหมาย ทางด้านการขาย ด้านเอ็นจิเนียร์ ด้านการคุมโอเปอเรชั่น ทุกอย่างเลย เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ทั้งหมดทำงานด้วยกันเป็นทีม อย่างมีความสุขแล้วก็ประสบความสำเร็จด้วย จึงต้องใช้หลายอย่าง ใช้จิตวิทยา ใช้ความเป็นผู้หญิงแกร่ง อะไรพวกนี้ 

ในช่วงแรกๆ ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ต้องเจรจาอยู่เยอะมาก อันนั้นความเป็นผู้หญิงก็ช่วย
เหมือนกัน เพราะว่าเราอาจจะมีความเซนซิทีฟและสามารถพูดแรงได้โดยที่เขาไม่โกรธ ถ้าเป็นผู้ชายก็คงชกกันไปแล้ว พอเป็นผู้หญิงก็มีความอ่อนหวานของความเป็นผู้หญิงที่ช่วยให้สามารถจบดีลได้โดยที่เป็นประโยชน์มากที่สุด เพราะฉะนั้นถามว่าชีวิต CEO เป็นอย่างไรก็เหนื่อยแหละ แต่ว่าก็สนุกดี ความสุขของเรา

ก็คือว่าเมื่อเห็นทุกคนทำงานด้วยกันอย่างมีความสุขแล้วทำอะไรสำเร็จด้วยกัน ทุกคนภาคภูมิใจที่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จทันตามกำหนด แล้วก็มี Efficiency สูง ต่ำกว่างบประมาณ ซึ่งเราก็ทำสำเร็จเกือบทุกโครงการ ทุกคนดีใจกันใหญ่ มีความสุข ดิฉันว่าอันนั้นก็เป็นความสุขมากที่สุดแล้วของคนเป็น CEO

สไตล์การทำงานของคุณเป็นแบบไหน

ดิฉันชอบการทำงานเป็นทีม จะเปิดโอกาสและให้เกียรติคนอื่นโดยที่ทุกคนมีข้อดีข้อเสียต่างกัน หน้าที่เราก็แค่ดึงข้อดีของแต่ละคนเข้ามารวมกัน แล้วพยายามทำให้เขามีความรู้สึกร่วม มีความรู้สึกว่าเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของงานนั้น เขาได้รับความสำคัญ เขาทำงานด้วยใจ คือคนที่เขาทำงานแล้วมีความสุขถึงจะอยู่ด้วยกันได้นาน เพราะฉะนั้น บี.กริม เพาเวอร์ประสบความสำเร็จมาได้ เพราะเรามีทีมที่ดี ทีมที่รู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของบริษัท เป็นเจ้าของงานนั้นจริงๆ แล้วพอทำอะไรสำเร็จร่วมกันก็มีความสุขร่วมกัน

ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึง Disruptive Change ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็เข้ามาทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจมากมาย ธุรกิจพลังงานก็มีมากเลย บี.กริม เพาเวอร์เอง เราก็ตระหนักเรื่องนี้มาตลอด จะเห็นว่าสำหรับธุรกิจพลังงาน ต่อไปธุรกิจพลังงานสะอาดจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่า Renewable Energy เราเองก็พยายามปรับตัวด้วย โดยเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว เราพยายามขยายมาทางธุรกิจพลังงานทดแทน มีทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งแสงแดดที่เราคุยไว้ในตอนต้นที่ประเทศเวียดนาม คือ เรามีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมดถึง 677 เมกะวัตต์ แล้วก็เข้าไปเจ้าแรกๆ อีกเช่นกัน ทำให้ที่ประเทศเวียดนาม บี.กริม เพาเวอร์ได้รับการยอมรับมาก

ในโลกธุรกิจพลังงาน ต่อไปพลังงานทดแทนมีบทบาทมากขึ้นแน่นอน รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น Energy Storage แล้วก็ Smart Grid พวก Data Analysis ก็จะมีความสำคัญ พวก IT Technology ต่างๆ เข้ามามีบทบาทเยอะมาก ซึ่ง บี.กริม เพาเวอร์ เราก็เตรียมพร้อมปรับตัวตลอดเวลา โดยที่เราก็มีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เราเป็นพันธมิตรกับ KEPCO ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของเกาหลี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำแบตเตอรี่ 

 แล้วก็เป็นพันธมิตรกับจีนซึ่งเขาก็จะเก่งมากเลยในเรื่องเกี่ยวกับทำสายส่ง ด้วยความที่เรามีวัฒนธรรมที่เรียกว่า Doing Business with Compassion หมายความว่าเราจะต้องทำงานแบบไม่เห็นแก่ตัว เราต้องมีเพื่อนมีพันธมิตร ด้วยวิธีแบบนี้ทำให้เราสามารถเติบโตแล้วก็สามารถปรับตัวให้กับ Disruptive Change ได้ ซึ่งเรามั่นใจว่าเราทำได้อย่างดี

ถ้าพูดถึงพลังงานสะอาดอย่างแสงแดดอย่างลมอะไรพวกนี้ดีหมด เพียงแต่ไม่มีเสถียรภาพ อย่างแสงแดดกลางวันมี กลางคืนไม่มี เราก็ต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ก็ต้องมีเทคโนโลยีประเภท Energy Storage System หรือก็คือแบตเตอรี่นั่นแหละ แต่ไม่ใช่แค่ตัวแบตเตอรี่แล้วจบ ต้องมีระบบมารองรับ อย่างสายส่ง ที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะส่งไฟฟ้าไปได้ไกลๆ โดยที่ไม่มีการสูญหายระหว่างทาง หรือที่เรียก Lost ในสายส่ง อะไรแบบนี้ คือจะต้องมีเทคโนโลยีมาช่วยเสริมที่เป็นข้อด้อยของพลังงานทดแทน หรือที่เราเคยได้ยินคำว่า Smart Grid และ Hybrid ซึ่ง Hybrid หมายความว่าแทนที่จะมีแต่แสงแดด ก็อาจจะมีก๊าซธรรมชาติอยู่ด้วย หรือมีไฮโดรอยู่ด้วย อย่างที่บี.กริมทำ ที่เพิ่งชนะการประมูลของ EGAT เป็น Solar Floating ในเขื่อนสิรินธร เป็นต้น

Floating ก็คือเป็นโซลาร์ที่ลอยน้ำบนเขื่อน ซึ่งจะบริหารจัดการให้เป็นไฮบริดได้ โดยในช่วงกลางวันที่ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์หรือพลังงานแสงอาทิตย์ เขาก็จะหยุดที่จะระบายน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก เป็นต้น แล้วสลับกันจะมีการผลิตไฟฟ้าจาก Hydro หรือจากพลังงานน้ำในตอนกลางคืนแทน วิธีแบบนี้จะทำให้ได้พลังงานสะอาดที่มีเสถียรภาพ

ตอนนี้ความสุขและเป้าหมายในชีวิตของคุณคืออะไร

ความสุขก็คืออยากจะ Balance ชีวิต พักบ้างแล้วก็อยากให้ทุกคนที่อยู่รอบๆ ตัวเรามีความสุข เพราะว่าตอนนี้คิดว่าตัวเองทำงานหนักเกิน แล้วก็อยากจะให้บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืนโดยที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับตัวบุคคลโดยเฉพาะไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับดิฉัน ก็ต้องส่งไม้ต่อให้รุ่นต่อไปได้ คือกว่าจะสร้างบริษัทมาได้ขนาดนี้ เป็นอะไรที่เหนื่อยมาก แต่ก็ภูมิใจมากเช่นกัน ถือเป็น Life Achievement เราก็อยากเห็นเขาโตไปเรื่อยๆ จนเราตายแหละ ลูกยังบอกเลยว่าแม่มีลูก 3 คน ลูกที่แม่รักมากที่สุดก็คือ บี.กริม ลูกพูดแบบน้อยใจ คืออาจจะเป็นความจำเป็นมากกว่าที่แรกๆ เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับบริษัท ก็ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก แต่เดี๋ยวนี้เราก็พยายามมากที่จะชดเชยเวลาให้ลูก แต่เขาก็ยุ่งเราก็ยุ่ง ก็ยังหวังว่าตรงนี้จะจัดการได้ดีขึ้น

ชีวิตที่ผ่านมาเป็นคนทำงานหนักมาตลอด

มาก มากเกินไป อันนี้เป็นบทเรียนที่คนรุ่นใหม่อาจจะศึกษาจากดิฉันนะ คือถึงวันนี้อาจจะนับได้เหมือนกันว่า ถือว่าเราเป็นผู้หญิงที่ทำงานประสบความสำเร็จ ใครๆ ก็ว่าอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วในชีวิตมันมีช่วงที่ต้องเลือกเยอะ ในตอนที่มีโอกาสจะเลือก เราควรจะเลือกตัวเราเองและคนที่เรารักไว้ก่อน แต่ด้วยวิกฤติที่เกิดขึ้นในอดีตทำให้เราต้องเลือกบริษัทไว้ก่อน เพราะถ้าเราไม่ทำตรงนี้ คนอีกไม่รู้กี่ร้อยครอบครัวที่จะไม่มีงานทำ ถึงขั้นอดตายหรือมีปัญหาหนักมาก ในตอนนั้นถ้าพูดเข้าข้างตัวเองก็เหมือนเป็นความจำเป็น แต่ถ้ามีสิทธิเลือกได้อย่าเลือกอย่างดิฉัน ต้องเลือกเอาความสุขของคนใกล้ตัวไว้ก่อน ถ้าเป็นแม่ต้องเป็นแม่ที่เพอร์เฟกต์ก่อน สำคัญกว่าค่ะ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ