fbpx

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

INVESTIGATING INVESTIGATIVE JOURNALISM

คนรุ่นเราคงไม่คุ้นเคยกับการนั่งอ่านหนังสือพิมพ์บนโต๊ะอาหารยามเช้ากันอีกต่อไปแล้ว ทุกวันนี้ เรานั่งจิบกาแฟยามเช้าแกล้มด้วยรายการคุยข่าวสัพเพเหระทางโทรทัศน์ คลอไปกับข้อมูลข่าวสารมากมายมหาศาล บนหน้าจอสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ในฝ่ามือ ทั้งที่เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์เคยมีพลังอำนาจล้นเหลือ มันมีเสน่ห์ตรงที่ความมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ มันเคยเป็นที่พำนักของข่าวเจาะ ข่าวซีฟ ข่าวสืบสวนสอบสวน และความคิดเห็นอันหลากหลาย เราเคยได้เติมอาหารสมองในยามเช้าด้วยข่าวและข้อเขียนชั้นดีจากที่นี่อิทธิพลของหนังสือพิมพ์ในการกำหนดประเด็นทางสังคมกำลังเสื่อมคลายลง พร้อมๆ กับพลังในการทำข่าวแบบเจาะลึกถึงกึ๋นของนักข่าวก็ลดน้อยถอยลงไปเช่นกัน ในขณะที่สื่ออื่นๆ แทรกเข้ามาในชีวิตประจำวันเรามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสื่อใหม่ที่ส่งสารผ่านช่องทาอิเล็กทรอนิกส์ล้วนๆ อย่างอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียแล้วข่าวและข้อเขียนชั้นดี จะไปอยู่ที่ไหนล่ะ?ในเช้าวันนี้ ทีมงาน GM ทิ้งหน้าจอทีวีอันคุ้นเคย และเก็บดีไวซ์ทุกชนิดใส่กระเป๋าไว้ เพื่อจะได้มีสมาธิในการจิบกาแฟ แกล้มบทสนทนากับ ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ เพื่อหาคำตอบนี้เขาคือนักข่าวชั้นครู อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนและประชาชาติธุรกิจ หลังจากที่ถูกให้ออกจากตำแหน่งมาเมื่อสองปีก่อน ในปัจจุบันเขาเป็นผู้อำนวยการสถาบันอิศราผลงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของตัวเขาและทีมงาน ที่สะท้านสะเทือนสังคมไทย ยกตัวอย่างเช่น การเปิดโปงทุจริต ส.ป.ก. 4-01 ในปี 2537 ข่าวการทุจริตธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ เปิดโปงการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินเท็จของนักการเมือง และเปิดโปงการซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ได้กระทำผิด และเป็นที่มาของประโยค ‘บกพร่องโดยสุจริต’

ถึงแม้ห้องทำงานของสำนักข่าวอิศราจะคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นหมึกและกระดาษ กองหนังสือและเอกสารทับถม มีเครื่องพิมพ์ดีดเก่าๆ วางกองอยู่ที่มุมห้อง แต่ในวันนี้ พวกเขาทำงานและเผยแพร่งานกันอย่างไฮเทคและรวดเร็วกว่านั้นเยอะเว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศรา และช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เท่าที่จะหาได้ ถูกนำมาใช้เสนอข่าวแนวสืบสวนสอบสวนตามแบบฉบับดั้งเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลง ข่าวการทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการ ยังคงถูกนำเสนอออกมาอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับมันไม่มีวันหมดสิ้น

เทคโนโลยีของสื่อจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่จิตวิญญาณของสื่อมวลชนนั้นไม่เคยเปลี่ยน

GM: โดยแท้จริงแล้ว นักข่าวกับนักการเมือง เมื่อมาเผชิญหน้ากันในการแถลงข่าว เราต้องต่อสู้หักล้างกันแค่ไหน

ประสงค์ : ผมคิดว่าในทุกวันนี้ นักข่าวเรายังไม่เข้าถึง หัวใจของเรื่องราว เข้าไม่ถึงสิ่งที่เราอยากรู้ และเข้าไม่ถึงสิ่งที่ชาวบ้านควรจะได้รู้ เช่น เรื่องข้าวตอนนี้ เรื่องพวกนี้ต้องไปถามรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง แต่เท่าที่เห็น พอเปลี่ยนรัฐมนตรีครั้งล่าสุด นักข่าวก็ไม่เคยไล่ถามเรื่องนี้อีก ไม่เหมือนตอนรัฐมนตรีคนก่อน ที่นักข่าวต้อนถาม บุญทรง เตริยาภิรมย์ อย่างหนัก เทียบกับสมัยก่อนนะ ถ้าเป็นผม ผมอยากรู้อะไรก็จะไล่ถามไป จนบางทีแหล่งข่าวต้องเดินหนีผมน้องนักข่าวบางคนบอกผมว่ากลัวเสียแหล่งข่าว ผมก็ต้องสอนเขาไป ว่าแหล่งข่าวไม่ได้มีที่เดียว คนนี้คนเดียว แหล่งข่าวทางอื่นก็มีเยอะแยะ พวกนักการเมืองพวกนี้ก็เหมือนคนธรรมดาอย่างเราๆ นี่แหละ เราก็แค่ทำเหมือนคราวก่อน ตอนที่เรื่องยังร้อนๆ อยู่ เรื่องจำนำข้าว ผมก็เห็นไล่บี้บุญทรงอยู่นั่นแหละ ถูกแล้วที่ไล่บี้แบบนั้น แต่ต้องไม่ใช่แค่วันเดียว พอเปลี่ยนจากบุญทรง ตอนนี้เป็น นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล พวกเราก็ต้องทำแบบเดียวกันนั้น เพราะอยากรู้ว่ามีการทุจริตซื้อข้าวหรือเปล่า ควรไล่บี้กันตั้งแต่ตอนนี้เลย ไม่ใช่มาไล่บี้ตอนมีปัญหาไปแล้ว ผมว่านักข่าวประจำกระทรวงก็มีปัญหา นักข่าวสายไอทีก็มีปัญหา มีใครเคยถูก กสทช. เลี้ยงดูปูเสื่อไหม หรือนักข่าวสายรถยนต์ มีปัญหาว่าบริษัทรถยนต์งบเยอะ พาไปเที่ยวโน่นไปเที่ยวนี่

นักข่าวเราก็มีที่สนิทกับนักการเมืองมากๆ (เน้นเสียง) จนถูกตั้งฉายาว่า 18 อรหันต์ก็มี มันก็ไม่ได้เสียหายถ้าคุณรู้จักและสนิทสนมกับเขา แต่ถ้าเป็นเรื่องงานก็ต้องเป็นเรื่องงาน แยกแยะให้ได้ พอมาถึงสมัยนี้ นักข่าวกล้าถามกันน้อยลง เพราะไม่เคยถูกฝึก อีกเหตุผลหนึ่ง ก็เพราะสภาพการณ์ของธุรกิจสื่อเปลี่ยน เห็นไหมว่าสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทำข่าวแบบ Investigative มีเหลือน้อยมาก มันเกี่ยวกับธุรกิจของเขาใช่ไหม ไม่มีใครสนใจอ่านข่าวฮาร์ดนิวส์ ข่าวซับซ้อนมากคนไม่สนใจ ทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่ลึกมาก โฆษณาจะหนีไปไหม ทำให้บริษัทเราไม่มีรายได้หรือเปล่า

18 อรหันต์

ช่วงปี พ.ศ. 2551 นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช กล่าวถึงสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่ง ร่วมมือกับนักการเมืองฝ่ายค้าน เพื่อทำข่าวใส่ร้ายป้ายสีรัฐบาล โดยขนานนามสื่อกลุ่มนี้ว่า 18 อรหันต์

GM: พอคุณออกจากมติชน มาทำสำนักข่าวอิศราแบบออนไลน์ จึงไม่เจอปัญหาพวกนี้แล้วใช่ไหม

ประสงค์ : ยังมี (หัวเราะ) แต่ก็เป็นปัญหาคนละแบบไปเลย แน่นอนว่าปัญหาเรื่องตังค์ เราก็ต้องเจอเหมือนกันหมดนั่นแหละ ถ้าเราจะจ้างนักข่าวมือดีให้เขามาทำงานแบบเอ็นจีโอ กัดก้อนเกลือกิน กินแต่อุดมการณ์อย่างนั้นหรือ นักข่าวมือดีก็ต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียเขาเหมือนกันนะ อัตราค่าจ้างของสำนักข่าวอิศราก็ต้องไม่ต่ำไปกว่าสำนักข่าวเชิงพาณิชย์ เพียงแต่วิธีคิดในการทำข่าวของเรานั้นแตกต่างไป ต้องคิดว่าคุณทำข่าวในเชิงไหนอยู่ อย่างเช่น คุณอยู่สื่อกระแสหลัก แล้วมีปัญหาโดนถอนโฆษณา ก็กระทบฐานทุนฐานธุรกิจ พอคุณมาทำออนไลน์ก็ต้องเปลี่ยนระบบคิดใหม่

สังคมไทยในยุคนี้กำลังสนใจในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นกันใช่ไหม ภาคธุรกิจ พวกบรรษัทใหญ่ๆ ก็ต้องเดินตามกระแสนี้ โดยเขาก็ต้องแสดงออกว่าต่อต้านคอร์รัปชั่น มีการรวมตัวของนักธุรกิจระดับสูง ว่าจะเอาจริงเอาจังกันในเรื่องนี้ ซึ่งถ้าคุณต่อต้านคอร์รัปชั่นกันจริง วิธีง่ายๆ เลยนะ คือคุณต้องการมีสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ ทำงานในเชิง Investigative เชิงตรวจสอบ ในตอนนี้ลองนับดูว่าเรามีบรรษัทยักษ์ใหญ่กี่บริษัทล่ะ ธนาคารอีกเท่าไร ผมคิดว่าถ้ามีแค่ 20 บริษัทอันดับแรกๆ ของเมืองไทย คุณให้บริษัทละ 3 แสนบาทต่อหนึ่งสำนักข่าวดีๆ ที่คุณคิดว่าเขาทำงานด้านนี้จริงๆ ก็อย่าง ไทยพับลิก้า สำนักข่าวอิศรา ทีไอเจซี ให้แห่งละ 3 แสนต่อปี แต่ละแห่งจะได้เงิน 6 ล้านบาท มันก็เยอะมากแล้วนะ ถ้าเอาไปเทียบกับที่บริษัทคุณเอาไปจ่ายให้รายการคุยข่าวตอนเช้า ให้เขาพูดในรายการทีเดียวก็เป็นแสนแล้ว แพงขนาดนั้นคุณยังจ่ายได้ หรือถ้าจะพูดถึงเรื่องซีเอสอาร์ คุณอยากให้สังคมโปร่งใสใช่ไหม ถ้าเห็นว่าสำนักข่าวอย่างเรามีคุณภาพพอ ทำงานเป็นที่พอใจในเชิง Investigative คุณก็เอาเงินมาให้เราบ้าง เพื่อให้เราอยู่ได้ นักข่าวก็พออยู่ได้ และก็เป็นซีเอสอาร์ของคุณได้เช่นกัน

GM: ทำไมนักข่าวต้องทำงานข่าวแบบ Investigative นั่นมันเป็นงานของตำรวจ หรือของหน่วยงานอิสระตรวจสอบเรื่องต่างๆ ที่มีอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ

ประสงค์ : มันคนละเรื่องเลย กระบวนการในการแสวงหาข้อเท็จจริงในข่าว มันจะเป็นข่าวอะไรก็ได้ทั้งนั้น เป็นข่าวการทุจริตคอร์รัปชั่นก็ได้ เป็นข่าวอาชญากรรมชาวบ้านก็ได้ หรือแม้แต่เป็นข่าวบันเทิงก็ยังได้ มันได้ทั้งหมด ไม่เกี่ยวว่าต้องเป็นข่าวทุจริตคอร์รัปชั่นเท่านั้น

ยกตัวอย่างเรื่องข่าวอาชญากรรม คุณบอกว่าก็ปล่อยให้ตำรวจทำไปใช่ไหม ทุกวันนี้ข่าวอาชญากรรมพวกนี้ ก็เป็นข่าวจากตำรวจอยู่แล้ว นักข่าวไม่ได้ทำงานสืบสวนสอบสวนเองเลย นักข่าวไปเอาสำนวนของตำรวจมาเล่า หรือตำรวจเป็นคนไปสืบสวนมา แล้วเอาไปบอกนักข่าว 90-100% เป็นอย่างนั้น ข่าวอาชญากรรมที่เป็นเชิงสืบสวนสอบสวนจริงๆ นักข่าวต้องไปหาข้อมูลเอง แล้วตำรวจก็เอาข้อมูลจากข่าวของเรานี่แหละ ไปใช้เป็นฐานในการสืบสวนสอบสวนต่อ หรืออย่างกรณีที่ตำรวจใช้อำนาจโดยมิชอบ ไปจับแพะมา นักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ก็ต้องไปหาพยาน หาหลักฐาน มายืนยันว่านี่คุณจับแพะนะ แล้วก็เอาออกมาแฉ จนมีการพลิกฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ได้ อย่างนี้จึงเรียกว่าข่าวเชิงสืบสวน

ข่าวทุจริตคอร์รัปชั่นก็เช่นเดียวกัน อย่างข่าวที่อิศราตามอยู่ตอนนี้ คือเรื่องการขอเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืน 4,600 ล้าน อิศราเราก็ได้เอกสารมาชุดหนึ่ง แต่เอกสารแค่นั้นยังไม่พอ เราไปลงพื้นที่จริง เพื่อดูว่ามีการโกงกันจริงหรือเปล่า เราไปตรวจที่ตั้งบริษัท ก็พบว่ามีการปิดบริษัทหนี ตามแกะรอยจากข้อมูลเอกสารที่จดทะเบียนที่กรมธุรกิจการค้า พบว่าไปโยงกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ระดับซี 8 คนหนึ่ง โยงไปถึงว่ากลุ่มนั้นกลุ่มนี้เป็นใคร ทั้งที่ในสำนวนของตำรวจยังไม่มีข้อมูลลึกขนาดนี้เลยด้วยซ้ำ และข้อมูลเหล่านี้แหละ ที่กรมสรรพากรได้เอาจากเราไปใช้ อีกหน่อยจะมีข่าวไล่ซี 8 ออกไปเหมือนกัน นี่คือการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน

ถามว่าแล้วข่าวบันเทิงล่ะ คุณ Investigate ได้ไหม มันก็เหมือนกัน เช่น คุณสงสัยว่าการโหวตให้คะแนน ในรายการประกวดร้องเพลงทางทีวีทั้งหลายในตอนนี้ มันจริงแค่ไหน มันล็อกได้หรือเปล่า นักข่าวบันเทิงอาจจะไม่สนใจประเด็นนี้ นักข่าวบันเทิงสนใจแค่ใครจะได้แชมป์เท่านั้นเอง ถ้าเป็นนักข่าว Investigative เราก็ต้องไปดูว่ากระบวนการโหวตเป็นอย่างไร ล็อกได้ไหม มีการคัดคนเข้ามาในห้องส่งแบบไหน อย่างไร ข่าวทุกประเภทนำเสนอในเชิงสืบสวนสอบสวนได้หมด

GM: แล้วการทำข่าวแบบซ่อนกล้องของพวกนักข่าวทีวีล่ะ

ประสงค์ : ผมว่านั่นมันจิ๊บจ๊อยมาก อาจได้ผลในแง่สีสัน แต่ในแง่ผลกระทบมีน้อย เมื่อเทียบกับข่าวหนังสือพิมพ์อย่างที่พวกเราเคยทำ นักข่าวทีวีอาจต้องสั่งสมประสบการณ์มากกว่านี้ ผมหวังว่าเมื่อเรามีทีวีดิจิตอล เราจะมีช่องข่าวที่ดี แต่ กสทช. ก็เพิ่งทำให้เหลือแค่ 25% ใช่ไหม? ถ้าทำข่าวอย่างจริงจัง โอกาสของช่องคุณอาจจะมี แต่ตอนนี้ให้เปิด 36 ช่อง คุณจะหาบุคลากรที่ไหนมาใส่ คนทำข่าวแบบนี้มีน้อยลงหรือเปล่า ผมตอบไม่ได้หรอก ขึ้นกับแนวคิดหรือวิธีการทำงาน ดูอย่างนิตยสารสารคดีก็มีการไปลงพื้นที่ แสวงหาข้อมูลเชิงสืบสวนสอบสวน ในอนาคต เทรนด์ของข่าวแบบนี้อาจเป็นที่นิยมขึ้นมาก็ได้ ไม่ใช่ขายได้เชิงพาณิชย์ แต่ขายได้ในเชิงว่ามีคนอ่านจริง มีคนติดตามจริง อย่างเมืองนอกเขาก็มีรายการข่าวแบบ 60 Minutes ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง คนไทยเราจะตามดูข่าวแบบนี้มากแคไหน มันอาจเป็นคนกลุ่มเล็กๆ หรือเป็นนิชมาร์เก็ต แต่ผมเชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อสังคม

GM: ทำไมหนังสือพิมพ์รายวันจึงเป็นแหล่งหลักของข่าว Investigative

ประสงค์ : ก็เพราะสภาพการณ์เป็นตัวกำหนด สื่อหลักๆ เมื่อก่อนเรามีอยู่ 3 แบบ คือ วิทยุ ทีวี และหนังสือพิมพ์ใช่ไหม วิทยุกับทีวีเป็นของรัฐเกือบ 100% แล้ว อาจมีทีวีดาวเทียมอยู่บ้าง แต่ศักยภาพอาจไม่พอ ก็เหลือแต่พวกเราที่ทำหนังสือพิมพ์นี่แหละ ที่เป็นของเอกชน จึงถูกครอบงำน้อยที่สุด สมัยก่อนต้นทุนการทำหนังสือพิมพ์ไม่สูงมากเหมือนทุกวันนี้ เราไม่ต้องแข่งขันในตลาดสูง จึงมีโอกาสได้ทำข่าว Investigative กันมาก ในแต่ละปี มูลนิธิอิศรา อมันตกุล ก็จัดประกวดข่าว เราเคยมีข่าวคุณภาพเยอะแยะ ถามว่าปัจจุบันลดน้อยลงไหม ผมมองว่าจำนวนอาจไม่น้อยลง แต่คุณภาพด้อยลง นี่เป็นความเห็นของผมที่ทำการตัดสินมา 3-4 ปี เพราะคุณภาพของนักข่าวหรือเปล่า การสนับสนุนของโรงพิมพ์มีส่วนไหม ทีวีพยายามทำข่าวแนวนี้เยอะไหม ก็พอมี อย่างที่เห็นในไทยพีบีเอส แต่ยังไม่ถึง เขาต้องใช้เวลาบ่มเพาะความเชี่ยวชาญอีกสักหน่อย ส่วนพวกช่องอื่นๆ ที่เป็นทีวีเชิงพาณิชย์ ก็ไม่สนับสนุนเรื่องนี้เท่าที่ควร เราจึงไม่เคยเห็นข่าวสืบสวนสอบสวนที่สร้างผลกระทบใหญ่ๆ จากฟรีทีวี เทียบกับข่าวคดีซุกหุ้น คดีบีบีซี คดี สปก. 4-01 ที่ทำโดยหนังสือพิมพ์ ข่าวพวกนี้กระทบเชิงอำนาจสูง

GM: หลายๆ ข่าวของสำนักข่าวอิศรา ก็ดูเหมือนว่าไป Follow the Money ติดตามทิศทางทางการเงินไปเรื่อยๆ

ประสงค์ : ใช่, มันก็ไม่ใช่งานหนักหนา หรืออันตรายอะไรมาก เราก็ไม่ต้องไปไล่ล่าอาชญากรอะไรแบบนั้น การทำงานข่าวแบบติดตามทิศทางทางการเงิน เป็นความเชี่ยวชาญที่ติดมากับบรรณาธิการข่าวของเรา คือ คุณเสนาะ สุขเจริญ เขาเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญในการดูเรื่องเอกสารทางธุรกิจ เขาก็เลือกดูอยู่ไม่กี่อย่าง คือ เอกสารการโอนถ่ายหุ้นของนักการเมือง-นักธุรกิจ และเอกสารบัญชีทรัพย์สินของนักการเมือง ซึ่งจะเกี่ยวพันกับการโอนถ่ายหุ้นต่างๆ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ด้วยใครถือหุ้น ใครโยงกับใคร เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารสาธารณะ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ กฎหมายกำหนดให้ต้องเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเปิดเผยมานานแล้ว แต่มันกระจัดกระจาย ไม่เป็นกลุ่มเป็นก้อน คุณอยากรู้รายละเอียดของบริษัทไหนล่ะ ก็เอาชื่อไปเช็กทะเบียนการค้า เอาเลขที่ไปดู สิ่งสำคัญที่ต้องค้นหา คือกรรมการบริษัทนั้น โยงไปถึงกรรมการอีกบริษัทหนึ่ง มันก็เผยให้เห็นเครือข่ายการทำงานของเขา งาน Investigative แบบนี้ไม่ค่อยมีคนทำ คุณเสนาะก็เลยทำบ่อยๆ อย่างเรื่องขอคืนภาษี 4,600 ล้าน บริษัทนี้เพื่อไปขอคืนภาษี มีคนนี้เป็นคนก่อตั้ง แล้วก็โยงต่อๆ กันไป

พวกเราชอบใช้วิธีนี้ในการแกะรอยบางอย่าง ซึ่งได้ผลดีในระดับหนึ่ง แกะรอยการถือหุ้นของนักการเมือง อย่างกรณีนักการเมือง ก่อนดำรงตำแหน่งก็โอนหุ้น 100 กว่าล้านให้ลูก ปกติถ้าเป็นต่างประเทศ คุณโอนหุ้น 100 กว่าล้าน ต้องเสียภาษี แต่เมืองไทยโอนให้ลูกก็เฉย! วิธีคิดภาษีของเรา อ้างว่าโอนให้ลูกไม่ต้องเสียภาษี ผมว่าเป็นวิธีคิดที่ผิด ถ้าโอนให้ลูกหมื่นล้านไม่ต้องเสียภาษีเหรอ มันถูกเหรอ สรรพากรก็ไม่ปรับวิธีในเรื่องนี้ ทำให้นักการเมืองใช้ช่องทางนี้ในการโอนถ่ายทรัพย์สินให้กับคนต่างๆ ที่เป็นญาติ เป็นลูก ความจริงแล้วในกฎหมายไม่ได้เขียนชัดขนาดนั้น แต่ไปเอาแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาตีความ ต้องสู้กับศาลฎีกา การที่คุณโอนทรัพย์สินให้ลูก 2 หมื่นล้าน โดยไม่เสียภาษีมันถูกหรือเปล่า หลักของภาษีคือถ้าคุณมีเงินได้ คุณต้องเสียภาษี ไม่ใช่ว่าเป็นพ่อลูกกันแล้วไม่ต้องเสียภาษี ถ้าอุปการะโดยธรรมจรรยา มันก็มีแนวทางบอกไว้อยู่ว่าต้องยากไร้ด้วย ต้องเหมาะควรกับฐานะที่เป็นจริง ไม่ใช่โอนให้เป็นล้านแบบนี้

เสนาะ สุขเจริญ

‘ข่าว-เจาะ’ และ ‘ข่าวสืบสวน’ ผลงานเขียนของ เสนาะ สุขเจริญ โดยสำนักพิมพ์ Openbooks

GM: ไม่ว่าคุณจะ Investigate ได้ข้อมูลมามากแค่ไหน แต่สุดท้าย ถ้ากระแสในสังคมไม่สนใจเรื่องคุณธรรมเลย ข่าวคุณก็ทำอะไรไม่ได้เลย

ประสงค์ : ก็จริงครับ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ที่จะให้นักข่าวมาช่วยปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นได้โดยลำพัง การทำงานนี้ได้ต้องอาศัยกลไกของทั้งสังคม กลไกของกฎหมาย ทุกอย่างต้องทำงานควบคู่กันไปด้วย ถ้าประชาชนเห็นว่าไอ้นี่มันโกงสุดๆ แล้ว แต่กฎหมายทำอะไรไม่ได้ ประชาชนก็ต้องลุกฮือแล้ว ถ้าเป็นการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนก็ต้องให้คุณพ่ายแพ้ ใช้อำนาจโกงการเลือกตั้งอย่างไรก็ต้องพ่ายแพ้

อย่างสมัยตอนพวกเราทำข่าวซุกหุ้น หลักฐานชัดเจนหมดทุกอย่าง แต่ประชาชนไม่สนใจ เพราะตอนนั้นมีปัจจัยทางสังคมอื่นๆ จะเอาประชาธิปัตย์มาเหรอ โห! มันน่าเบื่อมาก ตอนนั้นทักษิณคือความหวังที่จะนำพาประเทศก้าวหน้าไป ประชาชนก็แลนด์สไลด์ให้เขา เขามีนโยบายที่ถูกใจ ประชาชนจึงไม่สนใจหรอกว่าสิ่งที่เขาเคยทำเป็นอย่างไร ต้องอย่าลืมว่าเรื่องเอกสารธุรกิจ เรื่องหุ้น เรื่องอะไรพวกนี้ คนไทยรู้เรื่องกันไม่กี่คน เราจึงเฉยๆ กับการโกงในเอกสาร ถือว่าไม่ร้ายแรง เทียบกับวิธีคิดของตะวันตก ของฝรั่งเขา ในการซุกหุ้น โกงหุ้น ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่เมืองไทยเรา ขนาดมีคนอินไซเดอร์หุ้น 60 กว่าล้าน ยังกลับไปเป็นรัฐมนตรีได้ เพราะสังคมเราไม่สนใจ

สื่อทำข่าวแบบนี้ต่อไปก็อาจจะโดนยำได้ ทำไมคุณไปเกาะติดเขาไม่เลิกเสียที เคยมีคนมาถามเรา ทำไมคุณไม่ไปทำข่าวเรื่องนั้นเรื่องนี้ ผมก็ตอบไป คุณต้องอย่าลืมว่าคนเรามีความสามารถจำกัด ไม่ใช่เทวดาที่จะทำข่าว Investigative แล้วสำเร็จทุกเรื่อง มีหลายเรื่องที่มีคนร้องเรียนมา เป็นพันๆ เรื่อง แต่เราทำไม่ได้เลย มีแค่เพียงบางเรื่องเท่านั้นที่ทำเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาได้ คนมองว่าเก่ง จริงๆ มันไม่ใช่เลย มันเป็นเรื่องของจังหวะ โอกาส เป็นสิ่งที่เราเชี่ยวชาญด้วย อาจมีคนส่งเรื่องเข้ามาเป็นเงื่อนงำเล็กๆ แต่เผอิญตรงกับความเชี่ยวชาญของเรา มีจุดที่เราจะไปหาหลักฐานแล้วเผอิญเจอ มันก็จะเกิดเป็นข่าวได้

GM: นอกจากติดตามเส้นทางทางการเงิน ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ทำข่าวได้ชัดเจนอีกไหม

ประสงค์ : ก็มีเยอะแยะ การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน โดยสรุป ผมคิดว่ามันมี 3 แนวทาง

1. การแกะรอยเอกสาร ก็อย่างที่ยกตัวอย่างที่คุณเสนาะทำอยู่

2. การลงภาคสนาม ไปดูพื้นที่ ไปดูว่าบริษัทนั้นเป็นอย่างไร คนนั้นเป็นอย่างไร ไปดูของจริงให้เห็นกับตา และ

3. ใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งข้อนี้มันจะใกล้ๆ กับการแกะรอยเอกสาร คือเราค้นจากกูเกิลนี่แหละ สมัยนี้สะดวกสบายมาก อยากรู้ว่านายกฯ คนนี้ประวัติเป็นอย่างไร ค้นในกูเกิลแค่คลิกเดียว ข้อมูลพรืดออกมาหมดเลย สมัยนี้นะ คุณเคยไปทำอะไรไม่ดีไว้ ก็เสร็จเลย

ผมว่า 3 วิธีนี้ขึ้นอยู่กับคุณจะเลือกใช้วิธีไหน บางคนไม่ถนัดลงพื้นที่ ผมเองก็แบบนี้เหมือนกัน คือชอบไปค้นเอกสาร วิธีนี้ก็มีข้อจำกัด คือถ้าเป็นเอกสารสาธารณะค้นได้ง่าย เพียงแต่อาจต้องเสียตังค์บ้าง แต่ถ้าเป็นเอกสารข้อมูลลับจะทำอย่างไร ข้อนี้ผมว่า

ในอนาคตจะน้อยลง ยกเว้นข้อมูลส่วนบุคคลของคุณ ของผม ข้อมูลทางบัญชี แต่เรื่องข้อมูลการถือครองที่ดิน ตอนนี้ก็เถียงกันอยู่ว่าควรเป็นข้อมูลสาธารณะหรือไม่ คุณไม่มีทางรู้เลยนะ เพราะตอนนี้ถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ผมเองคิดว่ามันไม่น่าจะใช่ เพราะที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ข้อมูลนี้จึงควรเป็นเรื่องสาธารณะไม่ใช่ว่าคนหนึ่งอยากจะถือแสนไร่ก็ได้ ตามใจ

ข้อมูลอีกอย่างที่น่าสนใจคือพวกข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง ทุกวันนี้รัฐจัดซื้อจัดจ้างเสร็จ ต้องเปิดข้อมูลให้ ปปช. เพราะเรามีกฎหมายบอกว่าต้องเอามารวมแล้วนะ เปิดเผยในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าทำเป็นระบบดีๆ คนไปค้นข้อมูลได้ง่ายๆ ข้อมูลทางเอกสารหลักฐานพวกนี้เป็นวัตถุพยาน คนที่ทำผิดดิ้นไม่หลุด ผมจึงชอบวิธีแกะรอยเอกสาร เพราะเป็นหลักฐานที่ดีที่สุด

GM: คุณไม่เห็นพูดถึงการไปสัมภาษณ์ตัวแหล่งข่าวเลย

ประสงค์ : อ๋อ…คุณอยากไปสัมภาษณ์ด้วยก็ได้ คือเอาข้อมูลที่เราได้มา ไปสัมภาษณ์ถามเขา ถ้าเขายอมรับก็จบ แต่ถ้าเขาไม่ยอมรับ เราก็เอาคำพูดนั้นมาบันทึกไว้ เพื่อรอดูกันต่อไป ว่าสิ่งที่คุณเคยให้สัมภาษณ์นั้นโกหกหรือเปล่า อย่างสมมุติคุณบอกว่าไม่เคยซุกหุ้น มาตรวจสอบผมทำไม ผมยังไม่ทันได้เป็นรัฐมนตรีเลย บริษัทจดทะเบียนแล้วผมหาคนไม่ครบ เลยเอาชื่อคนรับใช้มาร่วม ผมผิดตรงไหน ซึ่งจริงๆ ในเวลาต่อมา เราก็รู้ว่ามันไม่ใช่ เพราะว่าคนใช้ถือหุ้นเป็นหมื่นล้าน สิ่งที่คุณเคยพูด มันจะยันกันเอง การไปสัมภาษณ์คือการเปิดโอกาสให้เขาได้ชี้แจง หรือว่าเป็นการยิ่งมัดตัวเอง ยิ่งในสมัยนี้ คุณจะมาโกหก บอกว่าผมไม่เคยพูดแบบนี้ แต่อีกเดี๋ยวเดียว ผมไปค้นในยูทูบ ก็เจอคลิปที่คุณเคยไปออกทีวีช่องนั้นช่องนี้ไว้ คุณเคยพูดแบบนี้ไว้แล้ว เดี๋ยวนี้เราจับโกหกกันได้ง่ายมากๆ ด้วยการค้นในยูทูบ

GM: ตอนนี้ใครมีข้อมูลลับๆ ไม่ต้องมาบอกนักข่าวแล้ว ไปทำเว็บไซต์วิกิลีกส์ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง การทำแบบนี้กระทบกับการทำข่าวมากแค่ไหน

ประสงค์ : ผมว่าเคสวิกิลีกส์ ไม่ใช่วิธีมาตรฐานของการทำงานของนักข่าวโดยทั่วไป เวลาคุณมีข้อมูลขนาดมหาศาลขนาดนั้น แล้วคุณส่งมันออกมาแบบวิกิลีกส์ ทำให้คุณไม่สามารถดำรงสถานะของสื่อมวลชน ถามว่าคุณเป็นนักวิชาชีพสื่อได้หรือเปล่า ผมว่าเปล่านะ คุณเป็นผู้ส่งสารแบบหนึ่ง เป็นสารที่ยังไม่ได้เรียบเรียง คุณแค่พูดออกไป โดยไม่ได้ถูกฝึกมาในเรื่องการพูด คุณยังไม่ได้เรียบเรียงข้อมูลให้เป็นระบบ ข้อมูลมหาศาลแบบนี้เมื่อปล่อยออกมา ใครมีปัญญาอ่านแค่ไหนก็อ่านไป แบบนี้มันไม่ใช่งานสื่อ แล้วคำถามคือ งานสื่อคืออะไร คุณก็ต้องรอให้นักข่าวมาช่วยเรียบเรียงอีกขั้นตอนหนึ่ง อย่างกรณีของ

เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ก็มีปัญหาแบบเดียวกัน

สิ่งที่ผู้มีข้อมูลเหล่านี้เขาจะทำได้ ในเมื่อมีคลิป หรือข้อมูลลับในมือ เขาไม่กล้าติดต่อกับนักข่าวโดยตรง ไม่ไว้วางใจนักข่าว เพราะกลัวอะไรก็แล้วแต่ คุณต้องกล้ามาก เหมือนกรณี Deep Throat สมัยก่อน ที่เราเห็นในหนัง เขาต้องไปหลบๆ ซ่อนๆ ในลานจอดรถ แล้วเอาข้อมูลไปให้นักข่าว แต่สมัยนี้ถ้าคุณกลัวแบบนั้น คุณมีข้อมูล คุณเอาไปโพสต์ใส่โซเชียลมีเดียที่ไหนก็ได้ ถ้าสื่อสนใจก็ตามไปทำข่าวกันเอง ต่างจากสมัยก่อนที่ต้องส่งไปรษณีย์ซึ่งเสี่ยงมากที่จะรู้ว่าเป็นใคร

• DEEP THROAT

นามแฝงของ มาร์ค เฟลท์ อดีตรักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการเอฟบีไอ เป็นแหล่งข่าวลับที่แฉคดีวอเตอร์เกต

• WIKILEAKS

ก่อตั้งโดย จูเลียน อาสซานจ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549

• เอ็ดเวิร์ด โจเซฟ สโนว์เดน

อดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองอเมริกัน ออกมาเปิดเผยการมีอยู่จริง ของโครงการการสอดส่องดูแลมวลชนลับสุดยอดของรัฐบาลสหรัฐฯ และอังกฤษ

GM: อย่างคลิปเสียงสนทนาที่รั่ว

ประสงค์ : คนที่ปล่อยอันแรก มีคนบอกว่าอยู่ในยูทูบ แต่ไม่แน่ใจนะ ผมไม่ค่อยตามเรื่องนี้มากนัก หรือกรณีคลิปขู่ฆ่าทักษิณ ถ้าถามค่ายผู้จัดการ ผู้จัดการก็โดนฝ่ายความมั่นคงกล่าวหาว่าร่วมมือกันสร้างขึ้นมา ผู้จัดการบอกว่าผมไม่เกี่ยว มันอยู่ในยูทูบอยู่แล้ว แต่ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าผู้จัดการเสนอเป็นที่แรก เช่นเดียวกันเรื่องคลิปเสียง เราไม่รู้ว่ามันเริ่มมาจากยูทูบหรือเปล่า แล้วถึงเอามาเล่น มันมีวิธีส่งต่อมากมาย ซึ่งถ้าคุณบอกว่าไปเอาจากยูทูบ แล้วคุณจะไม่มีความผิดเลยหรือ? ไม่ใช่ๆ ถ้าเนื้อหาผิด คุณก็มีความผิด เพราะไม่อย่างนั้นทุกคนจะกล่าวหาใคร ก็จะอ้างว่ามาจากยูทูบหมดสิ เวลาที่คุณโพสต์มันเหลื่อมกัน เอาเข้ายูทูบก่อนแล้วเอากลับมา ซึ่งหาคนโพสต์ที่ไหนก็ได้

GM: ถ้า Deep Throat มาเกิดในยุคนี้ เขาคงทำแบบเดียวกับวิกิลีกส์ และสโนว์เดนใช่ไหม

ประสงค์ : (หัวเราะ) ผมว่าในความเป็นจริง มันคงไม่ต้องหลบซ่อนขนาดในหนังหรอก แค่นัดเจอที่ใดที่หนึ่งก็โอเค แต่ก็ไม่รู้สิ โพสต์ใส่ยูทูบคงง่ายสุดมั้ง ปลอดภัยสุด ไม่จำเป็นต้องไปหลบอยู่ใต้ถุนตึก ลานจอดรถ วิธีให้ข่าวลับกับสื่อมันง่ายขึ้น

GM: อาจไปประเทศลาว แล้วเข้าไปโพสต์ในร้านอินเตอร์เน็ตที่ไหนสักแห่ง

ประสงค์ : คุณอาจจะไปต่างประเทศ ไปสร้างแอคเคานต์อีเมลใหม่ขึ้นมา แล้วก็ส่งมันออกไป มีวิธีการมากมาย แต่ผมไม่รู้ในรายละเอียดทางเทคนิค ว่าถ้าคุณไปปล่อยปุ๊บ เขาจะตามจับคุณอย่างไร และมันปลอดภัยจริงไหม เดี๋ยวนี้ดูในหนังสมัยใหม่หลายเรื่อง ก็พูดถึง

วิธีการเหล่านี้ และมันก็เริ่มน่ากลัวแล้วนะ คือเขารู้หมดว่าคุณอยู่ที่ไหน อย่างเรื่องเจสัน บอนด์ ภาคสุดท้าย เขาตามคุณได้ตลอด

GM: ในชีวิตการทำงานจริงๆ มีคนในแอบมาให้ข้อมูลกับคุณบ่อยไหม

ประสงค์ : ก็มีบ้าง อย่างข้าราชการที่ถูกสอบวินัย เขารู้สึกว่าตัวเองไม่ผิดเลย แต่ก็เป็นไปตามกระบวนการ แอบเอาข้อมูลให้ก็มี แต่เรื่องคดีซุกหุ้นไม่มีนะ มันเริ่มต้นจากการที่มีคนมีความรู้ความเชี่ยวชาญมาอธิบายให้เราฟัง

GM: ไมเคิล มัวร์ บอกว่าในทุกๆ องค์กรจะมีใครคนหนึ่ง ที่ทนเห็นความอยุติธรรมไม่ได้ และจะออกมาเป็น Whistleblower

ประสงค์ : มันก็ไม่ทุกองค์กรหรอก ถ้าเป็นคุณล่ะ คุณจะกล้าหรือเปล่า? อย่าลืมว่าสังคมฝรั่งกับสังคมไทยไม่เหมือนกันนะ สังคมไทยเรามีความเป็นพรรคพวกสูงกว่า เราจึงต้องพยายามเรียกร้องให้มีกฎหมายในการปกป้องพยาน ทั้งในทางวินัยและทางคดีอาญาข้าราชการคนไหนช่วยให้ข้อมูล ปปช. สามารถขอย้ายไปทำงานพื้นที่ปลอดภัยได้ สำหรับข้าราชการที่ถูกกลั่นแกล้ง แต่ในส่วนของคดีอาญามีเรื่องปกป้องพยาน คุ้มครองพยาน แสดงว่าสังคมไทยยังเชื่อว่ามีคนจำนวนมาก อยากจะเปิดโปงแต่ก็ไม่กล้า ต้องมีการคุ้มครองพยาน จะมีมาตรการอะไรก็ตาม แต่ถ้าเรายังไม่มั่นใจว่าจะคุ้มครองเขาได้ เรื่องแบบนี้ก็ยากอยู่ยิ่งในสังคมที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอยู่สูง ทำให้ทุกคนไม่อยากยุ่งเกี่ยว นี่เป็นอีกปัญหาหนึ่ง พอพูดเรื่องสีเสื้อ คุณก็ไม่ยอมฟังอีกสีหนึ่ง นี่มันกลั่นแกล้งกันหรือเปล่า เอาข่าวมาปล่อยหรือเปล่า ไม่สนใจข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร หรือไม่ก็จะมาเถียงว่าคุณมาตรวจฝั่งนี้ แล้วฝั่งโน้นล่ะ เลือกปฏิบัตินี่หว่า นี่ก็เป็นปัญหาที่เราเจออยู่เรื่อยๆ ทำให้ข้อมูลที่รั่วๆ ออกมาพวกนี้ ไม่ถูกนำไปพิจารณาด้วยสติปัญญา ด้วยข้อเท็จจริง ถ้าคุณเห็นว่า

นักการเมืองฝ่ายนี้ผิด ก็เปิดโปงไป ส่วนหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบก็ทำไปสิ รับข้อมูล 2 ฝ่ายทำไป การเปิดโปงการคอร์รัปชั่นของสื่อมวลชนในยุคนี้ก็เลยถูกปฏิเสธ บางเรื่องถูกทำให้บิดเบือนโดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องกฎหมาย บางเรื่องก็มั่วซั่ว

ไปเลย อย่างเรื่องคืนภาษี 4.6 พันล้าน ผมรู้สึกว่าดีเอสไอก็ทำแบบแกนๆ ไป ทำให้ความน่าเชื่อถือของเรื่องลดน้อยถอยลง ทำให้สับสน ตกลงเรื่องจริงหรือเรื่องหลอก ต้องดูหลายๆ คดีที่ดีเอสไอทำว่าจะหลุดหรือเปล่า หน่วยงานที่ถูกการเมืองครอบงำทำให้เกิดความสับสนติดตามข่าวการทุจริตขอคืนภาษี จากผลงานของสำนักข่าวอิศรา ได้ที่

http://www.isranews.org/investigative/invest-slide.html

: หลายคนคงมองว่าคุณเป็นเสื้อเหลือง จึงตั้งคำถามว่าทำไมทำแต่ข่าวฝ่ายนี้ ไม่ทำข่าวฝ่ายนั้น

ประสงค์ : มีคนเคยมาถามว่าทำไมผมไม่ไปเล่น สนธิ ลิ้มทองกุล บ้างล่ะ? คนที่มาถามกันแบบนี้ แสดงว่าไม่เคยรู้เลยว่าผมทำข่าวสนธิมาตั้งแต่เมื่อ

10 กว่าปีก่อน คดีสนธิทำเอกสารกู้เงินธนาคาร

กรุงไทย ผมทำข่าวเรื่องนี้เป็นคนแรก มาวันนี้กลับมีคนถามว่าทำไมไม่ทำข่าวสนธิ ก็พวกก่อกวนไง

แต่ผมไม่ตอบโต้นะ ไม่จำเป็นต้องไปโต้ตอบ ตอนผมทำข่าว สงสัยคุณยังเป็นวุ้นอยู่เลย นี่แค่คิดในใจนะ

อ่านข่าว ‘เปิดเบื้องหลังคดี ‘สนธิ ลิ้มฯ’

ศาลจำคุก 20 ปี รับรองเอกสารเท็จกู้กรุงไทยกว่า 1 พันล้าน’ ได้ที่

http://www.prasong.com/การเมือง/20-1/

: จะทำอย่างไรให้นักข่าวดูน่าเชื่อถือ

มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประสงค์ : ผมว่าตัวนักข่าวเอง จริงๆ แล้วไม่ได้มีแนวคิดว่าจะเอนเอียงอะไรแบบนั้นหรอก มันเป็นเรื่องขององค์กรมากกว่า อย่างบลูสกายชัดเจนมาก

เอเอสทีวีชัดเจนมาก วอยซ์ทีวีก็ถูกมองแบบนั้นแล้ว พฤติกรรมขององค์กรก็อาจใช่ด้วยส่วนหนึ่ง ตรงนี้

มีปัญหา แต่นักข่าวทั่วไปไม่มีปัญหาหรอก ผมกลับมองว่าปัญหาของนักข่าวขณะนี้ คือคุณไม่ควรเป็นแค่บุรุษไปรษณีย์หรือนักข่าวปิงปอง ควรต้องมีคำถามที่แหลมคมต่อเรื่องนั้นๆ

: นักการเมืองจะอยู่อย่างไร ถ้าเจอนักข่าว

แบบคุณทุกวัน

ประสงค์ : (หัวเราะ) ไม่หรอก เขาก็ต้องปรับตัวเอง ถ้าบริสุทธิ์โปร่งใสจริง ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวนักข่าว เพราะถ้าเจอคำถามอะไรก็ตาม คุณก็ตอบได้อยู่แล้ว คุณต้องปรับตัว ให้เป็นนักการเมืองที่ทำการบ้าน นักการเมืองหลายคน ถ้าไม่โกง ไม่คอร์รัปชั่น นโยบายดี เราจะมีอะไรให้ถามทุกวัน จริงไหม นักข่าวเราควรจะดุเดือดในเนื้อหา แต่ท่าทีไม่ต้องก็ได้ วิธีถามต้องไม่ดุเดือดหรือก้าวร้าว เราแรงที่เนื้อหา ท่าทีปกติ เป็นไปโดยสุภาพ ท่านคะ บริษัท 3-4 บริษัทที่

นักวิชาการกล่าวหาว่ารับซื้อข้าว แอบซื้อข้าวกันในราคาถูก มีชื่ออะไรบ้าง ถ้าวันนั้นยังไม่ตอบ บอกว่ายังไม่ได้รับรายงาน งั้นก็รอวันรุ่งขึ้นค่อยมาถามใหม่ ท่านคะ ตอบได้หรือยังคะว่าบริษัทชื่ออะไร ถามอย่างนี้ไปทุกวันๆ (หัวเราะ) ถามไปแล้วเขาไม่ตอบ ก็ไม่เป็นไร ถามเรื่อยๆ ใครจะทนกว่าใคร วัดกันเลย ผมเจอหน้าจะถามทุกวันเลย ทนได้ทนไป เกลียดหน้ากันก็ไม่สนใจ ผมเคยตามถามปลัดกระทรวงคนหนึ่ง เรื่องทุจริตเครื่องราชฯ ท่านครับ ผลสอบออกหรือยังครับ ถามซ้ำเรื่อยๆ แบบนี้อยู่ไม่กี่วัน วันต่อมา แกเจอหน้าผม แกเผ่นเลย ผมก็วิ่งตามไปถาม คนถามคนตอบ ใครจะเครียดกว่ากัน ผมมีสิทธิถาม ผมเชื่อว่าเป็นคำถามที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ ก็ทำหน้าที่กันไป

GM: บางครั้งก็เป็นเรื่องลำบากใจ สำหรับคนที่ต้องเจอะเจอหน้ากันทุกวัน ระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าว

ประสงค์ : ต้องมีระยะห่างพอสมควร เรื่องนี้ผมเข้าใจดี นักข่าวพออยู่ในกระทรวง อยู่ในสายนั้นๆ ก็มักสนิทกับแหล่งข่าวมาก ทำให้ไม่กล้าถาม แต่พอมาอยู่ในจุดนี้ คุณก็ต้องเล่นกันเป็น หมายความว่าให้เพื่อนนักข่าวคนหนึ่งรับหน้า แล้วเพื่อนนักข่าวอีกคนหนึ่งไปทำ ถ้าคุณทำเองไม่สะดวกใจ เพราะสังคมไทยมีหลายชั้น ระยะห่างก็ต้องมีบ้าง เพื่อไม่ให้รู้สึกเป็นการทวงบุญคุณ เป็นพวกกัน หรือหาก

หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ให้อีกคนไปทำ

GM: นักการเมืองบางคนก้าวร้าวมากๆ ตวาดนักข่าว นักการเมืองพวกนี้เราจัดการได้อย่างไร

ประสงค์ : ก็ใช้วิธีแอนตี้ได้เลย แบบที่นักข่าวบันเทิงเขาทำกัน นักข่าวไม่ต้องกลัวตกข่าวหรอกครับ เมื่อคุณถูกคุกคาม คุณแบนเขาไปเลย แต่นักข่าวสมัยนี้กลัวตกข่าว มัวแต่กลัวว่าหัวหน้าที่ออฟฟิศจะตำหนิ ผมกลับคิดว่า ใครคนไหนที่ใช้อำนาจคุกคามมากๆ นักข่าวควรรวมตัวกันเพื่อปฏิเสธการทำข่าวนายคนนี้ สมัยก่อนทำอย่างนี้ แต่สมัยนี้แข่งขันกัน กลัวตกข่าว กลัวหัวหน้าด่า ผมเองทำงานภาคสนามน้อยไปหน่อย โอกาสที่จะได้ไปสัมภาษณ์คนน้อยมาก ผมอยู่กับข้อมูล สมัยหนุ่มๆ ทำงานอยู่ประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้เจอแหล่งข่าวเป็นครั้งคราว แต่ไม่ได้อยู่สายไหนนานๆ มาคิดๆ ดู ถึงตอนนี้ ถ้าเจอนักการเมืองดุ เขาคงไม่กล้ากับผมแล้วมั้ง ผมมันแก่แล้ว

GM: คุณมองโลกในแง่ร้ายตลอดหรือเปล่า ต้องคอยมองทุกคนว่ามีอะไรผิดพลาด ไม่ชอบมา พากล

ประสงค์ : ไม่จำเป็น ผมตั้งคำถามบน 5 W 1 H ก็คำถามพื้นๆ ของนักข่าวนี่แหละ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และทำไม ซึ่งคำถามสุดท้ายที่ว่าทำไม ต้องถามให้มากๆ ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรนะ ไม่เฉพาะนักข่าว คุณสามารถเอากระบวนการนี้ไปใช้ในทุกเรื่อง เชิงวัฒนธรรมก็ได้ อย่างกรณีตอนดอกส้มสีทอง คนวิจารณ์มากๆ ผมบอกว่าถ้าเราคิดดูดีๆ วัฒนธรรมดอกส้มสีทองไม่ได้เพิ่งเกิดนะ สังคมไทยประณามผู้หญิงมาตั้งแต่สมัยกากี วันทอง ในเชิงวัฒนธรรมสะท้อนอะไรหรือเปล่า คุณก็เอาวิธีนี้ไปถามอาจารย์ด้านวรรณคดี คำถามเหล่านี้เป็นรากฐาน เป็นวิธีคิดพื้นฐาน บทสัมภาษณ์นักข่าวบันเทิง ไม่ควรหยุดอยู่แค่ว่า ในละครเรื่องนี้คุณรับบทเป็นอะไร หรือแค่ถามว่า ท้องก่อนแต่งหรือเปล่าคะ ควักใบตรวจมาให้ดูหน่อย แบบนี้ก็ไม่ได้นะ เพราะคำถามว่าท้องหรือไม่ท้อง นี่มันเป็นประโยชน์ต่อสังคมไหม คนเราจะท้องไม่ท้องก็เรื่องของเขา ถึงเขาจะท้องก่อนแต่ง แล้วมันหนักหัวอะไรคุณ ถ้ามาถามผมแบบนี้ ผมจะตอบไป ฉันท้องหรือไม่ท้อง มันหนักหัวกบาลคุณเหรอ ก็มันเรื่องส่วนตัวของเขา

GM: แบบนี้ก็โดนนักข่าวสายบันเทิงแบนเลย ไม่ไปทำข่าวคุณอีกเลย คุณจะดับทันที

ประสงค์ : ก็ไม่สน (หัวเราะ) นักข่าวต้องมีมารยาท ทีให้ถามเรื่องที่มีประโยชน์ต่อประเทศ คุณกลับไม่ถาม ดันมาถามแรงในเรื่องที่มันไม่เป็นเรื่องแบบนี้

GM: นอกจากข่าวอาชญากรรม ข่าวคอร์รัปชั่นแล้ว ถ้าเป็นข่าวเกี่ยวกับแนวความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง เช่น เราจะทำข่าวกฎหมายนิรโทษกรรม แบบ Investigative Journalism อย่างไร

ประสงค์ : ง่ายๆ คุณทำให้รอบด้านเท่านั้นเอง ส่วนใหญ่ต้องค้นคว้าในต่างประเทศ ข่าวพวกนี้มีการค้นคว้าทางวิชาการเยอะ ในต่างประเทศเขามีวิธีนิรโทษกรรมแบบไหน มีการค้นคว้า มีการวิจัยหมดแล้ว สื่อเอามาทำให้เห็น ให้มันง่ายขึ้นแค่นั้นเอง ยุคสมัยมันเปลี่ยน วิธีคิดเปลี่ยน สมัยก่อนคุณทะเลาะกับทหาร พอปฏิวัติก็จบ นิรโทษกรรมตัวเอง แต่ตอนนี้ไม่ใช่ มันมี 2 ฝ่าย เสื้อเหลืองเสื้อแดง การนิรโทษ-กรรมแบบเดิมมันไม่ได้เกิดบทเรียนอะไร ใครทำผิดฆ่าคนตาย นิรโทษกรรมยกพวง ไม่ได้ให้บทเรียนอะไรเลย ไม่มีการค้นหาความจริง ถ้านิรโทษกรรมต้องแยกแยะความผิดให้ชัดเจน เพื่อจะได้มีกระบวนการค้นหาความจริง ก่อนนำไปสู่การนิรโทษกรรม วิธีคิดนี้ต้องถูกเปลี่ยน นักข่าวต้องไปเอากระบวนการที่มีคนศึกษาวิจัยอยู่แล้วมาแยกแยะประเด็นให้ชัดเจน ว่ามีแนวคิดแบบไหน นำมาเปรียบเทียบ สุดๆ ก็คือมีเบื้องหลังจริงหรือเปล่า

GM: ช่วงเกือบ 30 ปีที่ทำงานในแวดวงสื่อ มีเหตุการณ์ไหนที่คุณคิดว่ายากลำบาก

ประสงค์ : ยังไม่ถึง 30! (เน้นเสียง) แค่ 20 กว่าๆ คือไม่ถึงขนาดยากลำบาก แต่ช่วงหลังๆ ผมเริ่มรู้สึกว่าสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในช่วงขาลง รายได้ต้องรอฝ่ายโฆษณา ต้นทุนค่อนข้างสูง การไปทำข่าวแล้วไปกระทบกับผลประโยชน์ของบริษัท ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก สมัยที่ทำใหม่ๆ ยังพอถูไถไปได้ สมัยทำซุกหุ้น จำได้ว่าเครือชินคอร์ปฯ ตัดโฆษณา 30 ล้าน ตอนนั้นเรายังอยู่ได้ แต่พอมายุคนี้ ถ้าเขาตัดไป 5-6 ล้าน เราสั่นเป็นเจ้าเข้าแล้ว นั่นก็เป็นฐานโฆษณา อีกเรื่องก็คือความปลอดภัยของนักข่าว เคยเจอบ้างที่นักการเมืองคนนั้นคนนี้มีลูกน้องเป็นมาเฟียในเครื่องแบบเยอะ แต่ก็ไม่ถึงกับยากลำบากในการทำงาน

GM: จริงๆ แล้วมันเป็นหน้าที่ของนักข่าวด้วยหรือเปล่า ที่ต้องช่วยดูแลผลประโยชน์ค่าโฆษณาให้บริษัท

ประสงค์ : ก็ต้องสมดุล เรื่องแบบนี้มันต้องมีจังหวะเวลา การรอจังหวะกับการละเว้น เป็นคนละเรื่องกันนะ โฆษณามี 2 ส่วน โฆษณาที่มาจากธุรกิจและโฆษณาที่มาจากนักการเมือง หน่วยงานของรัฐที่โดนนักการเมืองมารวบไว้ในมือ นักการเมืองก็ย่อมหวังสิ่งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนจากคุณ ถ้าคุณยอมเป็นเด็กดี เขาจะให้โฆษณากับหนังสือพิมพ์ของคุณ แม้กระทั่งเครือผู้จัดการเองก็ใช่ ช่วงทักษิณเข้ามาใหม่ๆ โฆษณาลงผู้จัดการเยอะแยะเลย นักการเมืองต้องการผลตอบแทน เราก็ต้องทำงานของเราไป ทำให้เขารู้ว่าข่าวก็ต้องเป็นข่าว ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ คุณก็มาชี้แจงกับเราสิ ไม่ใช่ไปปฏิเสธเขา ถึงเขาจะมาพูดโกหกอย่างไร ก็ต้องปล่อยให้เขาชี้แจง รูปแบบการนำเสนอสามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ไม่ได้ซ่อนเร้นความจริง เช่น อาจจะยืดเวลาในการลงข่าวเรื่องนี้ออกไปอีกสักนิดหนึ่ง ชะลอไปหน่อย รอดูให้แน่ๆ หรือตอนนี้เขาเจรจากันอยู่ ถ้าคุณซัดเข้าไปก็วงแตก รอให้เจรจาเสร็จก่อน ค่อยนำเสนอข่าวก็ได้ แต่ต้องไม่ละเว้นการนำเสนอ ในฐานะนักข่าว คุณต้องมีวุฒิภาวะพอ

การมาทำงานเป็นสำนักข่าวเล็กๆ จะลดทอนปัญหาตรงนี้ อย่างที่ผมพูดไว้ตั้งแต่ตอนแรก ก็บริษัทละ 3 แสน ถ้าเขามีปัญหาก็เลิก สังคมไทยเราต้องให้ความสำคัญกับสื่อลักษณะนี้บ้าง ถ้าคุณชอบทำบุญกับวัด แต่ไม่มีใครทำบุญกับสิ่งซึ่งจับต้องเป็นบุญไม่ได้ แต่สิ่งนี้จะทำให้สังคมดี โปร่งใส ซึ่งมันยิ่งใหญ่กว่าบุญแค่ส่วนเดียว ผมเชื่อว่าบุญที่ยิ่งใหญ่คือการให้ความรู้กับคน ท่านพุทธทาสบอก สิ่งที่ดีคือการให้ความรู้ ให้สติปัญญา ทานเป็นบุญขั้นที่ต่ำสุด

GM: การเกิดขึ้นของสื่อใหม่ จะทำให้การพึ่งพิงโฆษณา การพึ่งพิงทุนค่อยๆ น้อยลงไปไหม

ประสงค์ : ทุกวันนี้สื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์มีอิทธิพลสูง ฟรีทีวีมีอิทธิพลสูงอยู่ เพราะเข้าถึงง่าย อยู่บ้านตื่นเช้า มาก็กดรีโมตเปิดทีวีได้เลย ต่างจากหนังสือพิมพ์ที่ต้องเดินไปซื้อปากซอย ไม่นับหนังสือพิมพ์แจกฟรี แบบพวก M2F ที่มีคนเอามาแจกตรงสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเข้าถึงผู้อ่านได้ดี ถามว่าสื่อสิ่งพิมพ์มีอิทธิพลกับการบริหารจัดการประเทศไหม ผมว่าก็ยังมีอยู่นะ แต่มันไม่เท่ากับเมื่อก่อนแล้ว อย่างสมัยก่อน ไทยรัฐพาดหัวตัวใหญ่ว่าอะไร คนทั้งประเทศจะเคลื่อนไหวไปตามนั้น แต่ตอนนี้ คำพาดหัวหนังสือพิมพ์จะมีอิทธิพลน้อยลง ข่าวใดจะมีกระแสขึ้นมามากๆ ก็ต่อเมื่อทุกสื่อโหมเล่นไปพร้อมๆ กันหมด ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะวิถีชีวิตคนเปลี่ยน ลองคิดดูนะ สิ่งเดียวกันนี้ก็จะเกิดกับทีวีเหมือนกัน ถ้าสภาพภูมิศาสตร์สื่อเปลี่ยน มีช่องโทรทัศน์เพิ่ม 36 หรือ 46 ช่อง อิทธิพลของฟรีทีวี 6 ช่อง ในแง่เม็ดเงินโฆษณาเท่าเดิม นาทีละ 2 แสนหรือ 3 แสนจะยังคงอยู่หรือเปล่า แต่ต้องไม่ใช่จัดสรรทีวีกันไปแบบเจ้าหนึ่งล่อไป 4 ช่องอะไรแบบนั้นนะ

อีกอย่างหนึ่งคือ คนรุ่นผู้ใหญ่จะหมดอิทธิพลลงไปเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่ก็อาจไม่เสพสื่อสิ่งพิมพ์ อิทธิพลของโซเชียลมีเดียจะมากขึ้น ทุกวันนี้หลายข่าวดังขึ้นมาได้เพราะโซเชียลมีเดีย พอข่าวมันดัง สื่อกระแสหลักค่อยเอามาเล่น แล้วในสภาพความเป็นจริงถ้าโดนแล้วไปเลยนะ มันควบคุมไม่ได้ เว็บสำนักข่าวอิศรายอดคนดูไม่สูง เราเคยมีข่าวเด็ก ม.6 ประกาศขายแฟนเพจเฟซบุ๊ค ข่าวนั้นมีคนเข้าไปดูเป็นแสน อีกข่าวหนึ่ง คือข่าวใบสั่งแบบใหม่จากราชกิจจานุเบกษา ตอนแรกเหมือนว่าจะไม่มีคนดู พอมีคนเอาไปแชร์ในโซเชียลมีเดียไม่ทันไร ก็มีคนเข้ามาดูเป็นหมื่น ซึ่งข่าวออนไลน์แบบเราจะคงอยู่ตลอด ต่างจากข่าวที่เป็นกระดาษ อ่านแล้วก็ทิ้งไป อย่างช่องแกรมมี่ ซีรีส์ฮอร์โมนส์ เขาไม่สนใจฟรีทีวี เพราะฟรีทีวีมีข้อจำกัดในการสร้าง ข้อจำกัดในการใช้คำ การเขียนบทแรงๆ แต่พอเป็นนิชมาร์เก็ต สามารถเขียนบทให้แรงๆ ได้ โอ้โห! มีโฆษณาตั้ง 13 ชิ้น คนตามไปดูในยูทูบอีกเป็นล้าน บางคลิปในยูทูบคนดูเป็น 10-20 ล้าน

ผมเองก็ไม่ได้ไฮเทคอะไรมาก ผมเริ่มมาสนใจตั้งแต่ปี 2551-2552 ตอนทำมติชนออนไลน์ ผมคิดว่าถ้าต่อไปอินเตอร์เน็ตบ้านเราดี ตอนนี้มันยังห่วยอยู่นะ ยังกระตุกอยู่เวลาเปิดในสมาร์ทโฟน สื่อใหม่จะยิ่งมีคุณค่าทางการตลาดมากขึ้น โซเชียลมีเดียจะทำให้นักโฆษณาใช้เงินน้อยลงเหรอ ผมคิดว่าไม่ใช่ แต่รูปแบบการใช้เงินต่างหาก ที่จะแตกต่างออกไป จะกระจายตัวมากขึ้น คุณสามารถเป็นเศรษฐีในวันเดียวก็ได้ สร้างแฟนเพจ สร้างเว็บไซต์ให้คนเข้าไปดูมหาศาลได้

GM: เทียบข่าว ม.6 ขายแฟนเพจ กับข่าวทุจริตขอคืนภาษี 4.6 พันล้าน มีคนอ่านต่างกันมากไหม

ประสงค์ : ช่วงแรกๆ ที่ลงข่าวทุจริตขอคืนภาษี คนอ่านก็เยอะเหมือนกันนะ ก็ตกประมาณหลักหมื่น แต่คุณจะนับยอดคนอ่านจากเฉพาะที่เว็บไซต์อิศราไม่ได้ เพราะข่าวอิศราถูกเอาไปใช้ต่อที่อื่น เอาไปแปะที่อื่นอีกหลายที่ อย่างเว็บไซต์ข่าวของคมชัดลึก หรือของผู้จัดการเขาก๊อบปี้เนื้อหาเราไปแปะเลย ยอดคนอ่านที่เว็บไซต์ผู้จัดการ ต้องสูงกว่าที่เว็บไซต์อิศราดั้งเดิมเสียอีก เขาเล่นแปะทั้งข่าวเลย พอคุณอ่านจากเว็บพวกนั้นแล้ว คุณจะกดลิงค์ตามมาอ่านซ้ำที่เว็บอิศราหรือเปล่าล่ะ

GM: ทำไมหน้าข่าวของสำนักข่าวอิศราไม่ให้ใส่คอมเมนต์

ประสงค์ : เรื่องนี้เราเคยคิดไว้นานแล้ว แต่คิดว่าเรายังไม่พร้อม เพราะไม่มีคนมาดูแล การไม่มีคนมาดูแลนี่คือมันจะเละเลยนะ เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร มีทั้งคนเกลียดคนชังมหาศาล ดูแลไม่ทันจะเกิดปัญหา ตัวอย่างตอนผมทำมติชนออนไลน์ ผมรู้เลยว่าพวกที่มาเมนต์ด่ากันไปมา จริงๆ มันมีไม่กี่คนหรอก เอาคอมเมนต์จากข่าวนั้น มาแปะซ้ำตรงข่าวนี้ วนไปวนมาไม่กี่คน ผมว่ามันไม่ได้ช่วยให้มีคนอ่านเรามากขึ้นเท่าไร

GM: แล้วทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คของคุณล่ะ มันประสบความสำเร็จแค่ไหน

ประสงค์ : ก็พอสมควร แต่ทวิตเตอร์ของผมไม่ได้มีคนตามเยอะๆ เหมือนคุณกิตติ สิงหาปัด ที่เขามีคนตาม 5 แสนแล้ว ไม่เยอะเหมือนดราม่าแอดดิกท์ ตอนที่ดราม่าแอดดิกท์เอาข่าวของเราไปแปะ ยอดคนอ่านยังพุ่งเลย นั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมข่าวเด็ก ม.6 ขายแฟนเพจ ถึงได้มีคนเข้ามาดูกันเยอะขนาดนั้น หรือทวิตเตอร์ของคุณอภิสิทธิ์มีคนตามล้านกว่า นี่มันก็สะท้อให้เห็นอย่างหนึ่งเลยว่าคุณไม่ต้องซื้อเวลาในทีวีเพื่อหาเสียงแล้ว ในอนาคตนะ เพราะคนรุ่นใหม่เสพโซเชียลมีเดียกันหมด ต้นทุนการหาเสียงกำลังจะลดลง โดยเฉพาะสื่อทีวี ต่อไปคุณอาจต้องตระเวนแบบถึงลูกถึงคนมากขึ้น และก็ใช้ร่วมกับโซเชียลมีเดีย อย่าลืมว่าข้อความหนึ่งของโอบามาที่ใช้หาเสียงตอนเลือกตั้งสมัย 2 เขาถูกรีทวีตถึง 8 แสนครั้ง

ทวิตเตอร์ @Prasong_Lert

เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/prasong.lertratanawisute

GM: ข่าวจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ถ้าคนอ่านหันไปอ่านในโซเชียลมีเดียเยอะๆ

ประสงค์ : ผมพูดเสมอว่าตรงนี้เป็นโอกาส เนื่องจากข้อมูลในโซเชียลมีเดียมันกระจัดกระจาย เราไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรปลอม อันไหนจริง อันไหนเท็จ โอกาสใหม่ของนักข่าวจึงเกิดขึ้น ต้องเป็นนักข่าวมืออาชีพ คือการสามารถเอาข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่นั้น มารวบรวมให้เป็นระบบ แล้วกลั่นกรอง ก่อนจะนำเสนอเป็นข่าวของเรา ถ้าเราทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เราเชื่อว่าข่าวที่ปรากฏในเว็บไซต์เรา ในแฟนเพจเรา มันจะเชื่อถือได้ นี่เป็นโอกาส ที่มีหลายคนชอบบอกว่านักข่าวจะหมดอาชีพ เพราะต่อไปนี้ใครก็เป็นสื่อได้ ผมว่า ‘สื่อ’ ในความหมายที่เป็นนักวิชาชีพ มันไม่ใช่ใครก็สามารถเป็นได้หรอกนะ ‘สื่อ’ ที่พูดๆ กันนั่นคงหมายถึงแค่การส่งสารเท่านั้น เพราะว่าด้วยโซเชียลมีเดีย ทำให้ใครๆ ก็สามารถส่งสารได้ แต่ไม่ใช่ว่าใครก็เป็นสื่อได้ การส่งสารของคุณ ถ้าทำอย่างขาดความระมัดระวัง โอกาสในการถูกกฎหมายเล่นงานจะมีสูงมากขึ้น ถ้าคุณใช้สื่อนี้อย่างไร้ขอบเขตจะมีปัญหา โดยเฉพาะในสังคมเราตอนนี้ มีแนวโน้มนำกฎหมายมาเล่นงานกันในเรื่องนี้มากขึ้น โดยเอกชนด้วยกันก็ดี หรือโดยรัฐที่ใช้อำนาจก็ดี ถ้าคุณสื่อข้อความโดยขาดความระมัดระวัง โดยไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็จะผิดกฎหมายได้ง่ายๆ แต่พฤติกรรมคนมันเปลี่ยนอยู่แล้ว อย่างที่บอกไว้ สั้น ง่าย กระชับ สังคมต้องช่วยกันสอนตั้งแต่เด็ก สังเกตได้ว่าการสอนในโรงเรียนประถม มัธยม จะสอนเฉพาะเรื่องเทคนิค ไม่ได้สอนเรื่องความเหมาะสม เราต้องสอนให้เด็กรุ่นใหม่ รู้จักความเหมาะสม มีวิธีให้เขาถกเถียงกันด้วย ไม่ใช่บอกว่าถูกหรือผิดเท่านั้น ผมไม่เชื่อว่ากฎหมายจะไปตามไล่จับในสิ่งที่เกิดเป็นวิถีชีวิตขึ้นมาได้ อีกหน่อยสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นวิถีชีวิตของคุณ เด็กโตมากับเฟซบุ๊ค ก็จะโพสต์ด่ากันทุกวัน ถ้าไปนั่งไล่จับคนที่ทำแบบเดียวกัน แบบนี้เราคงจะติดคุกกันทั้งประเทศแน่

GM: ขนาดสื่อเก่า คนไทยยังไม่ค่อยมีความรู้เท่าทันเลย ตอนนี้เรามีสื่อใหม่เกิดขึ้นมาอีกมากมาย

ประสงค์ : เป็นสิ่งที่สังคมจำเป็นต้องเรียนรู้ เราต้องสอนให้คนรู้เท่าทัน ไม่เช่นนั้น พอไปนั่งหลังแป้น ก็จะกลายเป็นปีศาจกันไปหมดหรือเปล่า พอนั่งหลังแป้นแล้วรู้สึกว่ามีพลังอำนาจบางอย่าง เพราะคนรู้สึกว่าไม่มีใครเห็นตัว จึงกล้าพิมพ์สิ่งต่างๆ อารมณ์เหมือนเวลาเราเขียนจดหมายไปจีบแฟน เพราะเราไม่กล้าพูดต่อหน้านั่นแหละ

GM: นักข่าวก็เป็นแบบนั้นเหมือนกันใช่ไหม พวกคุณนั่งอยู่หลังเครื่องพิมพ์ดีด รู้สึกมีพลังอำนาจ

ประสงค์ : ไม่ใช่ แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะนักข่าวรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ว่าสิ่งที่เขาปล่อยออกไปจะเกิดผลกระทบเสมอ จะมากหรือน้อยก็ตาม เขาจึงต้องระวังตัว แต่เดี๋ยวนี้นักข่าวก็ขาดความระมัดระวังกันมาก อย่างเรื่องการละเมิดสิทธิผู้อื่น โดยเฉพาะสิทธิเด็กนี่โดนประจำเลย ผมเอาข่าวชิ้นหนึ่งไปเปิดให้นักศึกษาปริญญาโท แล้วถามเขาว่าในข่าวนี้มีอะไรผิดปกติหรือเปล่า ไม่มีใครตอบได้เลยว่าผิดตรงไหน ข่าวชิ้นนั้นคือข่าวที่ตำรวจไปจับคดีค้ายา แล้วมีผู้ต้องหาคนหนึ่งเป็นผู้หญิง มีลูกอายุ 2 เดือน ตัวแม่ต้องไปติดคุกด้วย เด็กคนนี้จึงต้องมอบให้ตำรวจไปดูแล ต่อมาโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พงศพัศก็อุ้มเด็กคนนี้ไปมอบให้ยาย พร้อมเงิน 7 หมื่นบาท พงศพัศก็บอกกับนักข่าว ถ้าคุณคิดจะค้ายาเสพติดต้องระวังตัวให้ดีนะ เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาแบบนี้ กลายเป็นปัญหาสังคม ผมฉายให้ นิสิตดูแล้วถามว่าข่าวนี้เป็นไง บางคนบอกว่าพงศพัศ เอาหน้า ผมถามต่อคุณเห็นอะไรผิดปกติในข่าวไหม ทุกคนงง ไม่มีใครตอบได้ ผมบอกว่าแสดงว่าคุณไม่ได้เข้าไปดูเฟซบุ๊คผม ผมก็เปิดให้เขาดู อ๋อ! ละเมิดสิทธิเด็ก ตอนพานักข่าวไปทำข่าวมอบเงิน เห็นหน้ายายเต็มๆ ตอนเซ็นรับเงิน คลิปนี้มาจากยูทูบตลอดไป ถ้าเด็กโตขึ้นแล้วไปค้นเจอในยูทูบ เฮ้ย! แม่ค้ายา ตำรวจพามาให้ยายเลี้ยง แน่นอนว่าเขาโตมาก็ต้องรู้ความจริงข้อนี้ แต่มันไม่ใช่ว่าให้เขารู้จากโซเชียลมีเดีย นิสิตปริญญาโทนั่งอยู่ 20 คนไม่รู้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ผมบอกว่าถ้าพวกคุณไม่รู้ สังคมไทยก็ไม่รู้

GM: สมัยก่อน ข่าวพวกนี้มีแต่ในหนังสือพิมพ์ แต่พอยุคนี้ มันอยู่ในอินเตอร์เน็ต จึงค้นง่ายขึ้นใช่ไหม

ประสงค์ : มันไม่ใช่แค่นั้น คือมันผิดกฎหมายด้วย ปัญหาสื่อละเมิดสิทธิเด็กมีเยอะมาก เคสปันปันของไทยรัฐก็ยังขายได้ เคสแอนนี่ที่สรยุทธเอามาออกอากาศ เอาดาราสาวอุ้มลูก 4 เดือนมาออกอากาศ ข่าวแบบนี้ก็ยังขายได้ สื่อยุคนี้ต้องถูกสอนว่าการจะปล่อยภาพออกไป มันมีผลกระทบนะ จะมากจะน้อยก็อีกประเด็นหนึ่ง ต้องคิดเสมอว่าภาพที่จะปล่อยออกอากาศไป ทั้งภาพเด็กผู้หญิง คนด้อยโอกาส ต้องระมัดระวังสูง เพราะเขาไม่มีอะไรจะมาต่อสู้กับคุณ เวลาเขาถูกละเมิด

GM: นักข่าวอาจจะรู้สึกว่าข่าวแบบนี้ดี มันช่วยปลอบประโลมใจคนทั้งชาติ มีคนมาช่วยเหลือเด็กที่แม่ติดคุก

ประสงค์ : ปัญหาหลักคือสถาบันสื่อหรือองค์กรสื่อ ลงทุนกับการพัฒนาบุคลากร ศักยภาพของผู้ประกอบวิชาชีพนักข่าวน้อยมาก มีน้อยมากที่จะให้การฝึกอบรม เป็นปัญหาที่สมาคมนักข่าวต้องเข้าไปช่วย เราจึงจัดอบรมบ่อยๆ เช่น อบรมพิราบเขียว สำหรับนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปี 2548-2549 นี่คือเหตุผลที่มีสถาบันอิศราขึ้นมา ทำหน้าที่อบรมอย่างเป็นระบบมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราบอกเขาไปว่าให้ส่งคนมาอบรมกับเราหน่อย คำตอบที่ได้คือ 1. ไม่มีคน 2. นักข่าวรู้สึกว่าเป็นภาระที่ตัวเองต้องมาอบรม เราต้องโทรฯตาม โทรฯจิกกว่าจะได้คนครบ จะโทษนักข่าวอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าคุณมาอบรมปุ๊บ คุณต้องกลับมาใช้เวรเพื่อนอีก อะไรแบบนี้ นักข่าวเลยไม่อยากมา แต่บางคนมาอบรมแล้วติดใจก็มี เช่น หลักสูตรผู้บริหารสื่อสารมวลชนระดับสูง ระดับกลาง ระดับต้น ที่สนุกสนาน ให้ความรู้มาก ความรู้พวกนี้มันติดตัวคุณไป ไม่ได้สูญเปล่า ถึงแม้ต่อไปคุณออกจากวงการสื่อไปแล้ว ความรู้พวกนี้จะติดตัวคุณไปตลอด คุณได้เพื่อนใหม่ๆ ในหลากหลายสาย บางคนอยู่สายเอ็นจีโอ บางคนเป็นตัวแทนธุรกิจก็มี ข่าวไหนที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็สามารถส่งต่อ อย่างเครือซีพีกับมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ดูเหมือนอยู่คนละฝั่งเลยใช่ไหม แต่ในระดับคนทำงานด้วยกัน เขาเป็นเพื่อนกัน เขามีจุดยืนจุดร่วมอยู่ สื่อมวลชนยิ่งได้ประโยชน์เพราะได้แหล่งข่าวเยอะมากจากการเข้าอบรม

GM: เคยเห็นข้อมูลชิ้นหนึ่งแชร์บนโซเชียลมีเดีย แสดงระดับเงินเดือนของผู้จบปริญญาตรี ใหม่ พบว่าเงินเดือนนักข่าวอยู่ท้ายๆ

ประสงค์ : ใช่ๆ พวกหนังสือพิมพ์ขนาดเล็กๆ เงินเดือนต่ำมาก อาจจะไม่ถึงหมื่นห้าด้วยซ้ำ

GM: ทำไมคนทำงานที่เป็นฐานันดรที่ 4

ของประเทศ จึงมีรายได้น้อยแบบนี้ล่ะ

ประสงค์ : ผมไม่ได้ชอบใช้คำว่าฐานันดรที่ 4 เลยนะ อย่ามาเรียกกันอย่างนั้นเลย ผมไม่เห็นด้วยกับคำว่าฐานันดรที่ 4 เลย ทำไมถึงต้องยกย่องกันขนาดนั้น ทุกวันนี้ฐานันดรที่ 4 เงินเดือนยังไม่พอยาไส้ สังคมไม่ได้ยกย่องคุณอย่างแท้จริง มีหลายอาชีพสำคัญอีกมากมายที่สังคมไทยไม่ได้ยกย่อง เช่น คนขับรถเมล์ คุณกุมชะตาชีวิตคนไว้มากมาย แต่ทำไมเงินเดือนน้อย คนขับ 10 ล้อรถแก๊ส กูต้องทำเวลา เพราะเงินเดือนกูน้อย แต่เราทุกคนต้องเอาชะตาไปผูกกับคนขับรถแก๊ส ไม่รู้สิ มันก็แค่ในสมัยก่อน สื่อมวลชนมีความสำคัญตรงที่ว่าเรามช่องทาง ถ้าคุณเป็นประชาชนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐก็ตาม คุณไม่สามารถออกไปทางไหนได้ การเขียนด้วยมือแล้วกระจายออกไป มันก็แค่นั้นเอง สื่อมวลชนเป็นแนวคิดเสรี เป็นเวทีของคุณ ยกตัวอย่างแนวคิดในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนมารวมตัวกัน

ถ้าเรื่องราวนี้ถูกส่งผ่านสื่อออกไป มันอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ก็จะกลายเป็นประเด็นร่วมของสังคมขึ้นมา แต่ถ้าไม่มีสื่อมวลชนเลย ทุกคนก็ต่างคนต่างอยู่ ม่รู้จักกัน ไม่รู้ปัญหาของกันและกัน นี่คือความสำคัญ สื่อมวลชนเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นให้อีกฝ่ายรู้ ให้สังคมรู้ ถ้าข่าวนั้นเป็นประโยชน์ สังคมก็จะเอาไปใช้ต่อ อย่าลืมว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ตอนคุณเกิดมา สิ่งแรกที่ทำคือร้องไห้ใช่ไหม ตอนนั้นคุณร้อง เพราะยังพูดไม่ได้ แต่คุณต้องการสื่อสารว่าหิว พอโตขึ้นมาคุณก็พูดๆ แต่จะทำอย่างไรให้คำพูดของคุณกระจายออกไป สื่อมวลชนจึงมีความสำคัญ ถ้าปิดกั้นสื่อมวลชน ก็เหมือนมาบอก เฮ้ย! มึงห้ามพูดว่ามึงหิวนะ แบบนี้มันทำไม่ได้ ผมถึงบอกว่าการพูด มันออกใบอนุญาตไม่ได้ ถึงแม้ว่าการพูดนั้นจะถูกหรือไม่ถูก มันมาห้ามกันไม่ได้ ดังนั้น การที่เราปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่ง

มากำหนดว่าใครพูดได้หรือไม่ได้ แบบนี้คือเผด็จการ

ฐานันดรที่ 4

ในรัฐสภาอังกฤษประกอบด้วยฐานันดรศักดิ์ทั้งสาม คือ ขุนนาง พระราชาคณะ และผู้แทนราษฎร ในปี ค.ศ. 1787 การประชุมรัฐสภาอังกฤษครั้งหนึ่ง เอ็ดมันด์ เบิร์ก ลุกขึ้นอภิปรายถึงกลุ่มนักข่าวที่เข้าร่วมฟังการประชุมในวงนอก โดยเรียกว่าเป็น ฐานันดรที่ 4 ตั้งแต่นั้นมากลุ่มผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์จึงถูกเรียกเช่นนี้

GM: นักข่าวสักคนหนึ่ง ทำไมต้องทำข่าว Investigative ด้วย ทำไมไม่ไปงานแถลงข่าวพีอาร์ งานแบบนั้นสบายกว่า

ประสงค์ : ถ้าคนในโลกคิดอย่างคุณกันหมดก็จบสิ สังคมก็หมดความหวัง มันก็ต้องมีทั้งคนที่ทำงานเบา และคนที่ยอมทำงานหนักกว่า ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ใช่งานหนักอะไรหรอกครับ แต่เป็นการทำงานตามที่ตัวเองใฝ่ฝันมากกว่า คุณฝันว่าจะทำงานที่ดี มีคุณค่าต่อสังคมแค่ไหนล่ะ คนเราได้รับการบ่มเพาะมาไม่เหมือนกัน เติบโตมาไม่เหมือนกัน เป็นความชอบส่วนตัว พวกน้องๆ ที่มาทำงานกับผม อย่างน้อย 2-3 คน เล่าว่าสมัยเรียนได้รับการปลูกฝังจากอาจารย์ ผมเองรู้สึกสนุก คนที่ทำงานหนังสือพิมพ์ต้องเป็นคนอย่างนี้ โดยดั้งเดิมยุคศรีบูรพา ยุคอิศรา อมันตกุล คนที่เลือกเรียนสาขาหนังสือพิมพ์เท่าที่ผมรู้จัก ส่วนหนึ่งต้องมีพื้นฐานแบบนี้เหมือนกัน คือรักความเป็นธรรม และตื่นเต้นกับงานที่ทำ แต่ก็ต้องยอมรับ ว่าคนแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป บางคนชอบงานนั่งโต๊ะ ทำงานราชการสบายๆ เงินเดือนไมมากไม่ว่า ขอให้สวัสดิการดีใช่ไหม อย่างสมัยก่อนคนที่เรียนนอกด้วยทุนหลวง ทุนมหิดล เมื่อเรียนจบและกลับมาเมืองไทย ถ้าทุกคนคิดแต่จะทำงานสบายๆ ได้เงินเยอะๆ แบบนี้ก็แย่นะ ต้องมีใครสักคนที่รักความเป็นธรรม มีอุดมการณ์ในการทำงาน

เวลาผมไปปัจฉิมนิเทศให้นักศึกษานิเทศศาสตร์ ส่วนใหญ่ผมก็เจอนักศึกษาที่มาบ่นๆ โห! ไม่อยากทำงานสื่อเลย มีแต่เรื่องหนักๆ ปวดหัว อยากทำงานในวงการบันเทิงมากกว่า แล้วผมทำอย่างไรรู้ไหม ผมเอาคลิปเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา’ ที่ทำโดยกลุ่ม V-Reform ไปเปิดให้พวกเขาดู ความยาวแค่ 5 นาที แต่สามารถย่อปัญหาของสังคมไทยมาให้ดูได้ พวกเขาก็สนใจ และเริ่มเปลี่ยนความคิด เริ่มมองเห็นว่างานสื่อมวลชนที่ดีต้องทำอย่างไร ถ้าเกิดเมืองไทยไม่มีคนแบบนี้ สังคมไทยจะอยู่ได้อย่างไร

ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา

คลิปวิดีโอดัดแปลงจากหนังสือ ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา โดย สฤณี อาชวานันทกุล สร้างสรรค์งานโดย ทีมกระต่ายตื่นตัว!! ภายใต้ V-Reform หรือ เครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป ซึ่งเป็นโครงการภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เข้าชมที่ www.youtube.com/watch?v=rG0ZoMCBnKk

GM: สำนักข่าวอิศราจะขยับไปทำทีวีหรือเปล่า

ประสงค์ : ไม่ทำ ผมว่าคนรุ่นใหม่ดูฟรีทีวีน้อยลง แต่มานั่งหน้าจอคอมพ์กันมากขึ้น

GM: มันเกี่ยวกันไหม ว่าคุณถนัดเขียนหนังสือ มากกว่าการไปออกทีวี

ประสงค์ : (หัวเราะ) ใช่ๆ ผมก็อยู่อย่างนี้มาตลอดชีวิต จะให้ไปเปลี่ยนคงยาก ถ้าจะทำงานทีวีจริงๆ ผมว่าเราคงเป็นผู้ทำเนื้อหาและทำประเด็นไปใหมากกว่า ส่วนกระบวนการผลิต การคิดให้เป็นภาพ เป็นเรื่องของพวกคุณ ผมทำไม่เป็น ตอนนี้ผมออกไปทำข่าวเองน้อยมากแล้วนะ ส่วนใหญ่จะบอกประเด็นให้น้องไปทำ นานๆ จะเขียนบทความสักทีหนึ่ง งานของผมตอนนี้ต้องหาตังค์ หาทุนเข้าสถาบันอิศรา สถานการณ์ของสถาบันตอนนี้ก็ยังไปได้เรื่อยๆ ยังไม่มีวิกฤติอะไร ผมพยายามหาทุนสนับสนุนจากหลายแหล่ง ส่วนหนึ่งมาจาก สสส. สปอนเซอร์ และการอุดหนุนจากองค์กรต่างๆ องค์กรธุรกิจก็มีที่เข้าใจและไม่เข้าใจ บางองค์กรก็ให้ แต่ให้ไม่มาก ผมยังไม่สามารถขายแนวคิดอย่างที่บอกไว้ตอนต้นได้ บางแห่งกลัวการเมือง บางที่ไม่กลัวก็ให้เลย ไม่ถามอะไรเลย ก็ให้มาปีหนึ่ง จะกี่บาทก็ว่ากัน

GM: เคยคิดไว้หรือยัง ว่าในภูมิศาสตร์ของสื่อมวลชนในอนาคต สำนักข่าวอิศราจะอยู่ตรงจุดไหน

ประสงค์ : เอาจริงๆ ว่าเรายังไม่ได้วางโพสิชั่นนิ่งไว้ขนาดนั้น แต่คิดไว้คร่าวๆ ว่าอยากพัฒนาให้มีความเป็นมัลติมีเดียมากขึ้น และอีกประการหนึ่ง คืออยากให้เราเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญ ถ้าคุณอยากรู้ฐานข้อมูลเกี่ยวกับข่าวสืบสวนในด้านต่างๆ คุณต้องนึกถึงที่นี่ก่อน นี่เป็นจุดยืนที่เรามีตั้งแต่ต้น เหมือนกับเมื่อก่อน ถ้าคุณจะหาข้อมูลข่าว คุณต้องไปค้นห้องสมุด ที่เขามีฐานข้อมูลเป็นตัดคลิปข่าวเอาไว้ สำนักข่าวอิศราเราก็อยากจะเป็นอย่างนั้น คุณสามารถหาข้อมูลเบื้องลึก เบื้องหลังนักการเมือง ด้วยการค้นในกูเกิล แล้วมาเจอเราเป็นอันดับต้นๆ

GM: คุณเช็กได้ใช่ไหม ว่าคนที่เข้ามาในเว็บเพจของอิศรา เขามีต้นทางมาจากไหน

ประสงค์ : เท่าที่พบตอนนี้ คนเข้ามาผ่านทางเฟซบุ๊คมากที่สุดประมาณ 50% รองลงมาคือพวกที่เข้ามาโดยตรงมีบ้าง ส่วนเสิร์ชคำคีย์เวิร์ดที่อยากรู้จากกูเกิลก็มี แต่ที่น้อยที่สุดคือเข้ามาจากทางทวิตเตอร์ ผมคิดว่าเป็นเพราะพฤติกรรมของคนใช้ทวิตเตอร์ มักจะไม่เปิดดูสิ่งที่แนบไปด้วย เพราะ

1. มันต้องออกไปข้างนอก

2. มันช้าเกินไป คนใช้ทวิตเตอร์ต้องการความเร็ว

ส่วนใหญ่จึงดูแค่หัวข่าว และเขาเปิดอ่านแค่ในไทม์ไลน์ ยกเว้นว่าอยากจะดูต่อจริงๆ ซึ่งน้อยมาก จึงจะเปิดออกไปข้างนอก ผมคิดว่าต่อไปเฟซบุ๊คจะมีความสำคัญต่อเว็บข่าว เพราะเมื่อเราเปิดเข้าไปในเฟซบุ๊ค เราจะเห็นเพื่อนๆเอ าอะไรมาแปะมากมาย ข่าว คลิป เฟซบุ๊คเป็นเหมือนช่องทาง ที่เราสามารถเอาสินค้าไปเร่ขายได้ เหมือนอยู่ตามสี่แยก เฟซบุ๊คเหมือนสี่แยก ถ้ามันคึกคัก คุณก็เอาของไปเร่ขาย เว็บไซต์คือหน้าร้าน เฟซบุ๊คคือแหล่งชุมชนที่คุณจะเอาสินค้าไปเร่ผมนึกภาพนักข่าวในอนาคต จะหาข่าวนักการเมืองคนนี้ก็พิมพ์ชื่อไปในกูเกิล จะลิงค์ไปที่สำนักข่าวอิศรา ดูบัญชีทรัพย์สิน ดังนั้น นับตั้งแต่ตอนนี้ เราจึงต้องทำฐานข้อมูลให้แน่น โอกาสในการได้ข้อมูลจากลิงค์ที่มาถึงสำนักข่าวอิศราจะมีมากน้อยแค่ไหน ลองเสิร์ชว่า ‘ภาษี’ ตอนนี้คุณจะพบว่าข่าวของสำนักข่าวอิศราขึ้นอันดับต้นๆ เลยนะ กูเกิลจะมีอิทธิพลมหาศาลเพราะเหตุนี้แหละ เพราะมันเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลจากทั่วโลก

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ