fbpx

ประมนต์ สุธีวงศ์

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง เราต่างถูกฉีกทึ้งให้แตกแยกออกจากกัน บรรยากาศในบ้านเมืองเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ไม่มีความไว้วางใจกันหลงเหลืออยู่ จนไม่มีใครอยากจะลุกขึ้นมาทำอะไร นอกจากแค่นอนดูข่าวรายวัน แล้วก็กระโจนเข้าร่วมวงทะเลาะเบาะแว้ง หรือเข้าร่วมม็อบโน้น ม็อบนี้ แบบรายวัน ด้วยความฝันว่าจะมีส่วนช่วยทำให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้น

แต่ชายวัยเจ็ดสิบกว่าๆ คนหนึ่งไม่ได้ทำเช่นนั้น เขาลุกขึ้นมาพูดย้ำๆ ซ้ำๆ ถึงปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทย การแยกแยะความดี-เลว ธรรมะ-อธรรม และความมีหิริโอตตัปปะในใจ จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เราทุกคนควรจะมีความเห็นร่วมกันได้เหมือนเดิมแต่ในวันนี้ เรากลับเห็นมันต่างกันออกไป

ทั้งดอกไม้และก้อนหิน ถูกระดมปาเข้าใส่เขา จากทั้งคนที่เห็นด้วยและเห็นต่างทางการเมือง…ส่วนใหญ่โยงตัวเขาเข้าสู่เรื่องการเมือง และโยงเรื่องคอร์รัปชั่นเข้าสู่เรื่องอคติ ทฤษฎีสมคบคิด การใส่ร้ายป้ายสี การหวังผลทางการเมือง โดยแทบจะไม่มีใครสนใจเรื่องคอร์รัปชั่นอะไรนั่นอีกเลย

จนถึงวันที่กระสุนปืนลึกลับปลิวเข้าบ้านพักของเขา ตามติดมาด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงทางธุรกิจ

ในวันที่แม้แต่เรื่องคุณธรรมความดี เราก็ไม่สามารถมีความเห็นร่วมกันอีกแล้ว GM จึงหาโอกาสมานั่งจับเข่าคุยกับชายคนนี้ ประมนต์ สุธีวงศ์ วันนี้เขามาให้สัมภาษณ์ ในฐานะของประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ล้วนๆ ไม่มีภาคของธุรกิจหรือชีวิตส่วนตัวเข้ามาปะปน

แววตาของเขายังคงสดใส น้ำเสียงของเขายังคงมีพลัง เมื่อต้องมาพูดถึงการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชั่นในเมืองไทย ที่น่าจะเป็นภารกิจสุดท้ายในชีวิตของเขา หลังจากผ่านชีวิตการทำงานมาอย่างโชกโชนในแวดวงธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทย

GM ไม่ได้เห็นด้วยกับความเห็นทางการเมืองของเขาทั้งหมด เรานั่งคุยและโต้เถียงกับเขาอย่างสนใจใฝ่รู้ และเขายอมรับในความเห็นต่างในสังคมไทย

แต่สำหรับเรื่องคอร์รัปชั่น เราเห็นด้วยกับเขาทั้งหมด และคิดว่ามันคือเรื่องเดียว เรื่องสุดท้าย ที่ผู้คนในสังคมไทยเราน่าจะมีความเห็นพ้องต้องกันได้ ว่าเราต้องช่วยกันลงมือแก้ไขกันได้แล้ว

STANDING UP AGAINST CORRUPTION

8 มาตรการต้านคอร์รัปชั่น ที่ถูกเสนอต่อ คสช.

หลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ร่วมกับ 7 องค์กรภาคธุรกิจ ได้ยื่นหนังสือต่อ คสช. ในเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น โดยอาจออกเป็น คำสั่ง คสช. กฎหมาย หรือกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งออกเป็นระเบียบ หรือคำสั่งกระทรวงได้ทันที ใน 8 เรื่องสำคัญคือ

1 ประกอบกิจการโรงงาน

2 การร่วมมือกับนานาชาติในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นและสร้างมาตรการทางกฎหมาย ในการติดตามจับกุมลงโทษคนโกงอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อายุความในคดีคอร์รัปชั่น การติดตามคืนและริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการคอร์รัปชั่น

3 แก้ปัญหาประชาชนโดนเอารัดเอาเปรียบ ด้วยการตราพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาชุดที่ผ่านมาแล้ว

4 สร้างความไว้วางใจและมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ

5 การแก้ปัญหาที่ต้นตอและช่วยให้มาตรการอื่นๆ ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการปรับปรุงพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

6 ให้รัฐเป็นผู้นำในการสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่น ด้วยการรณรงค์ทางสื่อสาธารณะอย่างมียุทธศาสตร์และต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี

7 แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในรัฐวิสาหกิจ จากการตั้งพวกพ้องนักการเมืองเข้าไปเป็นกรรมการ โดยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องเปิดเผยข้อมูลและมีมาตรฐานการบริหารจัดการ เหมือนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

8 จัดการช่องทางการโกงของนักการเมือง เช่น ควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ

GM: ทุกวันนี้เรื่องการคอร์รัปชั่น ถูกนำมาพัวพันกับเรื่องการเมือง จนกลายเป็น ข้ออ้างของการรัฐประหาร คุณมีความคิดเห็นต่อกรณีนี้อย่างไร

ประมนต์ : เวลาพวกเราขับเคลื่อนการรณรงณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่น เราพยายามอย่างยิ่งที่จะแยกจากการเมือง เพราะว่าหลักคิดของเราคือ การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาของสังคม ไม่ใช่ปัญหาของการมีพรรคฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเวลาเราพูดถึงการเมือง ก็ต้องมีการแข่งขันกัน พยายามที่จะให้ประชาชนมาอยู่ข้างตัวเองใช่ไหม? แต่ว่าการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่น เป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศ ทุกฝ่าย ทุกพรรค ต้องมีความเป็นน้ำหนึ่ง-ใจเดียวกัน

เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าเท่าที่เราทำผ่านมาตลอด เราพยายามจะแยกอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็เป็นเพราะเวลาเราพูดถึงเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ก็มักจะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลสมัยปัจจุบัน ทั้งๆ ที่สมัยรัฐบาลอดีตก็มี ก็เลยมีความรู้สึกว่า เป็นเรื่องทางการเมืองใช่หรือเปล่า? โดยเฉพาะฝ่ายที่มีการทุจริต แล้วอยู่ในวงการราชการหรือการเมือง เขาก็จะมีความรู้สึกว่าตกเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหา แล้วก็พยายามไปโยงว่า อันนี้มีเจตนาทางด้านการเมืองแอบแฝงหรือไม่ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเราไม่มีจริงๆ

GM: ดูเหมือนว่าองค์กรของคุณถูกดิสเครดิต ถูกลดความน่าเชื่อถือลงอย่างมาก ข้อกล่าวหาก็กลายเป็นไม่มีน้ำหนักไป

ประมนต์ : นี่ก็เป็นปัญหาที่เราประสบอยู่จริงๆ มีผู้ที่ไม่อยากจะเห็นความสำเร็จของเรา เป็นเพราะว่าเขาเองมีผลกระทบทางการเมือง มีผลประโยชน์โดยตรงหรือว่าโดยอ้อม เขาก็กล่าวหากลับมา หรือทำทุกวิถีทางที่จะทำให้การขับเคลื่อนของเราไม่ได้รับการยอมรับ เป็นงานที่เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจต่อประชาชนต่อไป โดยให้ประชาชนส่วนใหญ่รับทราบว่า เจตนารมณ์ที่แท้จริงคือการขจัดการทุจริตออกจากระบบของเรา และก็คงต้องนำเสนอกรณีการทุจริตกรณีอื่นๆ ร่วมด้วย ที่อยู่นอกเหนือไปจากคณะรัฐบาล หรือกลุ่มนักการเมืองในปัจจุบัน เพื่อให้เห็นสมดุลของการนำเสนอ ซึ่งอันนี้ก็หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเห็นว่าเราไม่ได้มุ่งผลทางการเมือง และยิ่งถ้าเราพูดถึงเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่นของรัฐบาลในอดีตด้วย ก็จะยิ่งช่วยทำให้คนเข้าใจว่า    ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมันเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เกิดจากการริเริ่มของภาคเอกชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น นำโดยหอการค้าและสภาหอการค้าไทย เดิมใช้ชื่อว่า ‘ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น’ มีองค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ สถาบันการศึกษาและองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมก่อตั้งจำนวน 23 องค์กร ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)                           โดยมีสมาชิกเพิ่มเป็น 47 องค์กรในปัจจุบัน มี ประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน ต่อจาก ดุสิต นนทะนาคร ประธานคนแรกและผู้ริเริ่มแนวคิดก่อตั้งองค์กร และมีจุดยืนในการต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ

GM: สถานการณ์การคอร์รัปชั่นในปัจจุบันน่าเป็นห่วงแค่ไหน

ประมนต์ : เท่าที่มีการสำรวจทั้งโดยองค์กรภายในประเทศเองหรือองค์กรต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยเวลานี้ รุนแรงและก็ค่อนข้างจะแพร่หลาย ผมขอยกตัวอย่างดัชนีชี้วัดเรื่องความโปร่งใสที่ต่างประเทศทำมาโดยตลอด

เขาวัดจากประเทศทั้งหมดรวมประมาณสัก 160 ประเทศ ตอนแรกเราเคยอยู่ที่อันดับประมาณ 70-80 ตอนนี้ตกไปประมาณร้อยกว่าๆ ซึ่งก็หมายความว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เห็นชัดเจนว่าในสายตาของคนที่ให้สัมภาษณ์ มันมีการทุจริตที่รุนแรงมากขึ้น อันดับ 80 ก็แย่อยู่แล้ว เพราะเรากลางๆ ของโลก ตอนนี้ตกไปร้อยกว่า นี่ก็มาทางบ๊วยๆ เข้าไปแล้วนะ เรียกว่าใกล้กับประเทศที่พอเอ่ยชื่อขึ้นมาคนร้องยี้กันแล้ว

CPI (Corruption Perceptions Index) คือ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีค่าคะแนนตั้งแต่

0 (คอร์รัปชั่นมากที่สุด) -100 (คอร์รัปชั่นน้อยที่สุด) จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ    (Transparency International)  ซึ่งเป็นองค์กรอิสระนานาชาติที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นและมีเครือข่ายใน 120 ประเทศทั่วโลก   และได้จัดทำดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศต่างๆ เป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 ซึ่งในปี พ.ศ. 2556 ได้จัดอันดับจากประเทศต่างๆ จำนวน 177 ประเทศ โดยจัดอันดับจากผลสำรวจของสำนักโพลต่างๆ จำนวน 13 แห่ง ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี พ.ศ. 2556 พบว่า ประเทศไทยได้ 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 102 จากการจัดอันดับทั้งหมด 177 ประเทศทั่วโลก

ที่มา : thaipublica.org

โครงการรับจำนำข้าว

สองขั้นตอนหลัก คือขั้นตอนการรับจำนำและการเก็บข้าวเข้าคลังสินค้า และขั้นตอนการระบายข้าว ซึ่งผลการสอบสวนโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่าทั้งสองขั้นตอนมีการทุจริตโดยชาวนา โรงสี ข้าราชการ เจ้าของคลังสินค้า และอาจรวมถึงบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าวและผู้บริหารโครงการ หรือกล่าวได้ว่ามีการโกงในทุกขั้นตอน

เมื่อวันที่ 26 เดือนพฤษภาคม 2557 กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปี (2554/2555, 2555/2556, 2556/2557) พบว่าขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่า กรณีที่มีข้าวสารหายไปจากสต็อกอีกราว 3 ล้านตันนั้น ปรากฏว่าในสต็อก ไม่ได้มีข้าวอยู่จริง เป็นแค่ตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น และยังพบข้าวเสื่อมคุณภาพอีกจำนวนมากที่ยังรอให้เซอร์เวเยอร์ตีราคา ซึ่งหากมีการตีราคาแล้วคาดว่าจะทำให้ผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 5 แสนล้านบาท

(ข้อมูลบางส่วนจาก : หนังสือ เมนูคอร์รัปชั่น และการแสวงหาผลประโยชน์)

บันได5 ขั้น

1 ชาวนาบางรายแจ้งข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกเกินจริง เพื่อซื้อข้าวมาสวมสิทธิ์จำนำ

2 โรงสีร่วมโครงการบางแห่งโกงความชื้นและน้ำหนักของข้าวเพื่อให้ชาวนาเหลือสิทธิ์จำนำ และโรงสีนำข้าวของตนมาสวมสิทธิ์

3 โรงสีและเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) บางรายปลอมใบชั่งและใบประทวน โดยบันทึกปริมาณข้าวและมูลค่าการจำนำสูงกว่าที่วัดและชั่งได้

4 โรงสี บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าวและเจ้าหน้าที่ อคส. บางราย ร่วมมือกันลักลอบนำข้าวในคลังออกขายและซื้อข้าวคุณภาพต่ำจากในและต่างประเทศมาทดแทน

5 ขายข้าวของรัฐให้นายหน้าในราคาถูก โดยนายหน้าเอาข้าวไปขายต่อทำกำไรมหาศาล

สถานะของคดี

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน บุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น ในข้อหาทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ตั้งแต่เริ่มโครงการถึงเดือนมิถุนายน 2556 พบการทุจริตทั้งหมด 174 คดี โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า ผู้ต้องหาเป็นทั้งชาวนา ผู้ประกอบการโรงสี และข้าราชการ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งบางคดีให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 ศาลแขวงสมุทรปราการ พิพากษาจำคุก ‘เสี่ยเปี๋ยง’ หรือ อภิชาติ จันทร์สกุลพร นักธุรกิจชื่อดังวัย 50 ปี คนสนิทของ ทักษิณ ชินวัตร รวม 6 ปี ปรับ 12,000 บาท ในคดียักยอกข้าวกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องส่งไปขายอิหร่าน 2 หมื่นตัน มูลค่า 200 ล้านบาท

GM: อยากจะให้เล่าย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน สมัยที่คุณยังเป็นหนุ่มๆ ทำงานในแวดวงธุรกิจ องค์กรใหญ่ระดับประเทศ ตอนนั้นสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นมันเป็นอย่างไร มากหรือน้อยกว่าตอนนี้

ประมนต์ : คือถ้าเรามองย้อนหลังไป 40-50 ปี ผมคิดว่าการทุจริตในเมืองไทยก็มีมาตลอด แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย เราต้องยอมรับว่าทุกประเทศล้วนมีเรื่องปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ ระดับปัญหามันขึ้นๆ ลงๆ ขึ้นอยู่กับว่ายุคไหน ผู้บริหารประเทศเอาจริงเอาจังแค่ไหน

ค่าน้ำร้อนน้ำชา – การทุจริตคอร์รัปชั่นในอดีต เมื่อ 40-50 ปีก่อน ยกตัวอย่างเช่น เวลาคุณประมูลงานภาครัฐ สมัยก่อนก็ต้องมีเงินที่เรียกว่า ‘ค่าน้ำร้อนน้ำชา’ ที่เราพูดกันคือ 2-3 เปอร์เซ็นต์ หรือมากถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเงินก้อนนี้ก็ตัดเอามาจากส่วนกำไรของเขา สมมุติว่างานนี้เขาควรจะกำไร 15 เปอร์เซ็นต์ เขาก็ยอมจ่ายสัก 5 เปอร์เซ็นต์ ก็เหลือกำไร 10 เปอร์เซ็นต์ เขาถือว่านี่เป็นค่าอำนวยความสะดวก ซึ่งก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เพราะว่าผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จะมีค่าใช้จ่ายนี้เพิ่มขึ้น แล้วก็จะเป็นลักษณะที่เรียกว่า ‘กินตามน้ำ’ คือผู้มีอำนาจ ไม่ได้เรียกร้อง แต่เป็นการสมยอม เป็นการให้เพื่อเกิดความสะดวก

ประเมินโครงการ – ด้วยมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง เปรียบเทียบกับการคอร์รัปชั่นในปัจจุบัน จากการที่เราสำรวจมาพบว่ามันไม่ใช่แล้ว เพราะว่าความเกรงกลัวหรือความอับอายในการประพฤติทุจริตมีน้อยลง ฉะนั้นผู้ที่มีอำนาจ หรือผู้ที่สามารถจะสั่งการให้ใครทำอะไรได้ ถึงขั้นลงมาเรียกร้องเองเลย คุณต้องจ่ายเท่านั้นเท่านี้ กี่เปอร์เซ็นต์ว่ากันไป แล้วจากการสำรวจของเรา พูดกันรุนแรงถึงประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนโครงการ ซึ่งถ้าเราดูในข้อเท็จจริงแล้ว 25-30 เปอร์เซ็นต์นี่เป็นจำนวนเยอะขึ้นมากนะ ถ้าจะให้ผู้ที่เข้าไปรับงานต้องเป็นผู้จ่ายเอง มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะว่าเขาก็ไม่ได้มีกำไรมากขนาดนั้น ฉะนั้นมันก็เกิดการคอร์รัปชั่นรูปแบบใหม่เลย ในลักษณะที่ว่าเจ้าของโครงการกับผู้ที่จะรับโครงการ ประเมินโครงการด้วยมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงไปเลย

ยกตัวอย่าง ถ้ามูลค่างานนี้ควรจะพันล้าน ก็ไปงุบงิบกันว่าเอาเป็นพันสองร้อยล้านแล้วกัน หรือพันสามร้อยล้านนี้ โดยเอาเงินสามร้อยล้านนั้นมาแบ่งกัน ผู้รับเหมาก็แฮปปี้สิ เพราะว่าเขาไม่ได้เข้าเนื้อตัวเอง ข้าราชการหรือนักการเมืองที่คุมโครงการก็ได้ประโยชน์ไป แต่ผู้เสียประโยชน์ก็คือประชาชน เพราะว่างบประมาณอันนี้ แทนที่จะใช้ประโยชน์ไปทำอย่างอื่นได้ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้น แล้วก็เป็นความรุนแรง เป็นพฤติกรรมที่ขณะนี้ เราเห็นว่าถ้าปล่อยไว้ก็จะเสียหายรุนแรงมาก

ทุจริตเชิงนโยบาย – นอกเหนือไปจากนั้น ยังมีแบบที่เราเรียกว่า ทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นคำที่เพิ่งใช้กันใหม่ในช่วงสิบกว่าปีนี้เอง คำว่าทุจริตเชิงนโยบายในที่นี้ก็คือ ผู้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นผู้กำหนดเป็นนโยบายขึ้นมาเลยว่าจะทำโน่นทำนี่ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนก็ได้ แต่เป็นโครงการที่ทำขึ้นมาเพื่อจงใจให้มีการทุจริต แล้วผลที่ได้ออกมาอาจจะไม่มีประโยชน์ต่อประเทศสักเท่าไหร่ ซึ่งโครงการประเภทนี้ก็จะมีหลากหลายรูปแบบ เช่นการขุดเจาะอ่างน้ำอะไรต่างๆ ซึ่งโครงการแบบนี้วัดผลยาก และเงินที่ทำลงไปอาจจะไม่มีผลประโยชน์กลับคืนมาเลย หรือมีน้อยมาก อันนี้ก็เกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงหลังมานี้

ในช่วง 10-30 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามันค่อยๆ ทวีความสลับซับซ้อน ความรุนแรง แล้วก็แพร่หลายไปทั่ว ที่เราเป็นห่วงก็คือว่า เดี๋ยวนี้ใครที่ใกล้เงิน บริหารจัดการเงิน ก็มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ที่จะขอเล็กขอน้อย เรียกร้องอะไรต่างๆ โดยไม่ละอายแก่ใจ และก็คาดหวังว่าจะต้องมีผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นเงินที่ตกหล่นไประหว่างทางที่ควรจะไปใช้ประโยชน์ได้

ขณะนี้เราพูดกันว่ามันเป็นแสนๆ ล้านแล้วนะ ไม่ใช่ระดับพันๆ ล้านอย่างในอดีต เงินแสนล้านถ้าเอามาใช้ประโยชน์ทางด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาก็ดี หรือแม้กระทั่งมาปรับเงินเดือนข้าราชการให้มันดีขึ้นก็ดี มันก็จะได้ประโยชน์ดีกว่าที่จะตกหล่นหายไป

มายาคติแห่งการคอร์รัปชั่น

คนไทยมีชุดความเชื่อ 5 ประการที่สะท้อนความเข้าใจครึ่งๆ กลางๆ เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นจนพอจะเรียกได้ว่าเป็นมายาคติ

1 เป็นไปไม่ได้ที่คอร์รัปชั่นจะสร้างความเจริญ : จริงๆ แล้วมีคอร์รัปชั่นชนิดที่สร้างความเจริญหรือประโยชน์ได้ แต่ประโยชน์ที่ว่านั้นไม่ใช่ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือหากเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ก็มักเป็นประโยชน์ระยะสั้นที่ไม่ยั่งยืนและนำมาซึ่งความเสียหายในอนาคต เช่น นักการเมืองเบียดเบียนงบประมาณไปพัฒนาแต่ถนนจังหวัดตัวเอง

2 นักธุรกิจไทยจ่ายค่าคอร์รัปชั่นเพราะไร้คุณธรรม : กฎหมายและระเบียบพิธีต่างๆ ของประเทศมักกำหนดให้นักธุรกิจจำเป็นต้องได้รับการอนุญาต อนุมัติ ฯลฯ จากฝั่งเจ้าหน้าที่ นักธุรกิจส่วนหนึ่งจึงตกอยู่ในฐานะเหยื่อของการเรียกหาค่าน้ำร้อนน้ำชา

3 ข้าราชการเงินเดือนไม่พอประทังชีพ ดังนั้นจึงต้องคอร์รัปชั่น : มีการปรับเงินเดือนข้าราชการประจำในอัตราที่ค่อนข้าง

ดีมาโดยตลอดในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา แต่อัตราคอร์รัปชั่นในหมู่ข้าราชการกลับไม่ได้ลดลง

4 ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การคอร์รัปชั่น แต่อยู่ที่การคอร์รัปชั่นมากเกินควร : การที่ประเทศใดมีระดับคอร์รัปชั่นต่ำ มิใช่เพราะคุมให้การคอร์รัปชั่นอยู่ในระดับพอหอมปากหอมคอ แต่เป็นเพราะการไม่ยอมรับคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ทำให้ระงับคอร์รัปชั่นอยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ต่างหาก

5 คอร์รัปชั่นหยั่งรากลึกจนป่วยการที่จะต่อต้าน : ข้อนี้เป็นเรื่องของมิจฉาทิฐิที่มาจากนิสัยเห็นแก่ได้ มักง่าย และเข้าข้างตนเองของคนบางส่วนเท่านั้น ถ้าเลิกเสียได้ก็จะหลุดพ้นจากมายาคติข้อนี้เอง

ที่มา : เรียบเรียงจากหนังสือ หางกระดิกหมา โดย บรรยง พงษ์พานิช และ ธนกร จ๋วงพานิช

“อย่าง TDRI เขาก็ให้ความเห็นมาตลอด ทั้งเรื่องข้าว ทั้งเรื่องรถยนต์ เขาก็พูดมาตลอดว่าเป็นโครงการที่ไม่เหมาะสม นักวิชาการหลายคนก็พูด อยู่ที่ว่ารัฐบาลเอง หลังจากที่เขาฟังเสียงนกเสียงกาอย่างพวกเราแล้ว ทั้งบวกและลบ เขาเอาไปคำนึงหรือเปล่า”

GM: ทำไมเมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนๆ ที่ระบบการเมืองยังล้าหลังอยู่ ประเทศไทยยังไม่มีประชาธิปไตยเต็มใบ นายกฯ มาจากทหาร ทำไมสถานการณ์คอร์รัปชั่นกลับดีกว่า หรือจริงๆ แล้วมันเลวร้ายกว่า แต่เราไม่รู้ไม่เห็น

ประมนต์ : ผมคิดว่าไม่เกี่ยวกับระบบการปกครอง การทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ทั้งสองระบบนี้ ถ้าหากว่าเราไม่ควบคุมหรือไม่เอาใจใส่ มันก็ทุจริตได้ทั้งนั้น แล้วความรุนแรงก็อาจจะไม่ต่างกัน ระบอบเผด็จการเอง ที่เรารู้สึกว่าความรุนแรงที่บอกว่าน้อยๆ เพราะว่าเราไม่เห็นข้อมูลทั้งหมด ยกตัวอย่างว่าถ้าทหารมาเป็นนายกฯ งบลับงบอะไรต่างๆ เยอะแยะ เราก็มองไม่เห็นอยู่แล้ว                       เพราะฉะนั้นเราไม่มีทางเข้าไปวัด ไม่รู้ว่าความรุนแรงจริงๆ มากน้อยแค่ไหน แต่ว่าในระบอบประชาธิปไตย เรามีการตรวจสอบง่ายขึ้น มีการเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลมากขึ้น เราก็เลยทำให้เห็นความรุนแรงหรือปัญหามากขึ้น เพราะฉะนั้นผมเองก็ไม่สามารถจะพูดได้ว่าสมัยไหนดีกว่า หรือระบอบไหนดีกว่า

แต่จากความคิดเห็นส่วนตัว ถ้าคุณคิดว่าประเทศชาติของเราได้พัฒนามาในระดับหนึ่ง นั่นก็แสดงว่าการโกงกินถึงแม้จะมี มันก็คงไม่เสียหายถึงหนักหนามาก เทียบกับปัจจุบัน ถ้าเราดูกรณีทุจริตในโครงการจำนำข้าวที่เพิ่งเกิดขึ้น ความเสียหายมันไม่ใช่แค่เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเดียว เมื่อมันเกิดเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นแล้ว ก็ทำให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศถูกกระทบรุนแรง แล้วที่รุนแรงไปกว่านั้น มันทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นกันทั้งระบบ

GM: แล้วกรณีคอร์รัปชั่นของรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ล่ะ ทางองค์กรติดตามมากแค่ไหน

ประมนต์ : อย่างกรณีสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ เราก็มีการดำเนินการในเรื่องของโครงการรถดับเพลิง กทม. ที่เพิ่งตัดสินไป หลังจากคดียืดเยื้อมาหลายปี แล้วผู้ที่เกี่ยวข้องก็หนีออกไปต่างประเทศแล้ว ถ้าย้อนไปนานกว่านั้นหน่อย โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียที่คลองด่าน ก็พัวพันกับหลายพรรคการเมือง แล้วก็เสียหายไปโดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย หมดไปหลายหมื่นล้าน ทั้งสองโครงการนี้ คือประชาชนคนไทยเสียเงินแล้ว แต่เราไม่ได้ของ ก็มีตัวอย่างอื่นๆ อีกแต่ผมคิดว่ามันก็เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยอย่างที่ว่า

GM: การทุจริตเชิงนโยบายเป็นเรื่องที่มองเห็นได้ค่อนข้างยาก จะมีวิธีสังเกตอย่างไร ว่านโยบายไหนที่อาจจะมีเรื่องทุจริตซ่อนอยู่ข้างหลัง

ประมนต์ : ก็ไม่ง่ายอย่างที่คุณว่าจริงๆ และนโยบายหลายอย่างก็เป็นนโยบายประชานิยมด้วย นโยบายประชานิยมมันก็มีทั้งดีและไม่ดี คือถ้าทำดี ประชาชนได้ประโยชน์ ในกรอบที่เรารู้ว่ากำไร-ต้นทุนเท่าไหร่ แล้วคิดว่าคุ้มกัน ก็ดีไป แต่โครงการประชานิยมหลายๆ โครงการของเราที่ทำ ผู้ที่ทำไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบ คือประกาศตูมตามอยากจะทำโน่นทำนี่ โดยที่อาจจะไม่ได้ศึกษาว่าเรามีความสามารถที่จะรับภาระที่เกิดขึ้นได้หรือเปล่า

ยิ่งเป็นนโยบายประชานิยมที่มีการทุจริตเชิงนโยบายด้วย ก็สังเกตยาก เพราะว่ามันเป็นโครงการที่บรรจุอยู่ในงบประมาณ แล้วก็ผ่านการกลั่นกรองโดยสภาฯ แต่ว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นมันไม่สามารถพิสูจน์ได้ วิธีการที่ดีที่สุดในอนาคต เป็นข้อเสนออันหนึ่งที่เราทำ ก็คือจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม คำว่าประชาชนมีส่วนร่วมในที่นี้ ถ้าเป็นโครงการที่ประกาศว่าจะไปทำในพื้นที่นั้นพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์ของเขา เขาจะได้เข้ามาตรวจสอบด้วยว่าจริงหรือเปล่า

ผมยกตัวอย่างว่าถ้าเป็นโครงการที่จะขุดเจาะเอาน้ำขึ้นมา เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อชาวไร่ ก็ต้องมีคนในท้องที่ที่ว่านั้นด้วย เขาจะช่วยดูว่าทำแล้วมีประโยชน์ต่อเขาจริงมั้ย และควรทำหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการตรวจสอบจะต้องมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่งั้นเราไปตรวจสอบไม่ไหว โครงการของรัฐมีเป็นพันเป็นหมื่นโครงการ แต่ละโครงการอาจจะต้นทุนไม่มาก ร้อยล้านสองร้อยล้าน แต่ถ้ามันไม่เกิดประโยชน์ และทำขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นแหล่งสูบเงิน หลายๆ โครงการเข้า มันก็รวมเป็นเงินจำนวนมหาศาลเหมือนกัน

คดีรถดับเพลิง กทม.

คดีนี้ย้อนกลับไปเมื่อครั้ง สมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ได้เซ็นลงนามสัญญาซื้อขายเรือและรถดับเพลิง ในขณะที่เป็นรักษาการผู้ว่าฯ กทม. ในช่วงที่รอเลือกตั้งหาผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ เหตุเกิดขึ้นในวันสุดท้ายของการรักษาการ ถือว่ามีความผิดปกติในการเร่งลงนามสัญญา ต่อมา อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. ในขณะนั้น ได้ตัดสินใจเปิดแอลซีตามที่ได้ลงนามสัญญาไว้กับบริษัทคู่สัญญาคือ บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรีย จนหลายฝ่ายออกมาร้องเรียนถึงความผิดปกติในการจัดซื้อครั้งนี้ อาทิ ราคาแพงเกินจริง มีการเรียกรับสินบนของข้าราชการ การล็อกสเปคเอื้อเอกชน โดย ป.ป.ช. รับเรื่องนี้มาดำเนินคดี พร้อมนำเรื่องฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลได้ประทับรับฟ้อง และมีคำสั่งให้จำคุกผู้กระทำความผิด 2 ราย เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา

ซึ่งคดียังคงเดินหน้าหาผู้กระทำความผิดต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ภรรยาและทายาทมรดกของนายสมัคร ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวนกว่า 587 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีที่นายสมัครกับบริษัทสไตเออร์ร่วมกันกระทำความผิด กำหนดราคาซื้อขายให้สูงเกินจริง รวมทั้งมีคำสั่งให้ ประชา มาลีนนท์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเริ่มโครงการและกระบวนการจัดซื้อ ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับ กทม. ในจำนวนเดียวกับทายาทของนายสมัคร โดยคำพิพากษาถือว่ายังไม่สิ้นสุด

โครงการ

บำบัดน้ำเสียคลองด่าน : โครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ มีการทุจริตล็อกสเปค  เปลี่ยนเงื่อนไขเอื้อพวกพ้อง โดยจากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รูปแบบที่ดีและถูกที่สุดคือก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของจังหวัดสมุทรปราการ แต่กรม-ควบคุมมลพิษกลับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการก่อสร้างที่ฝั่งตะวันออกเพียงฝั่งเดียว ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีที่ดินที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขเพียงรายเดียว ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวซื้อที่ดินมาจากบริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งมีบริษัทและน้องชายของ วัฒนา อัศวเหม รมช. มหาดไทยในขณะนั้นเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น วัฒนา อัศวเหม ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี แต่หลบหนี ยิ่งพันธ์ มนะสิการ รมต. วิทยาศาสตร์ฯ ถูกตัดสิน ว่ามีความผิด แต่เนื่องจากเสียชีวิตไปแล้ว จึงจำหน่ายคดี ส่วน สุวัจน์ ลิปตพัลลภ รอด เพราะไม่อยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มูลค่าความเสียหายราว 23,000 ล้านบาท และระบบบำบัดน้ำเสียไม่เกิดขึ้น

(ข้อมูลบางส่วนจาก : หนังสือ เมนูคอร์รัปชั่น และการแสวงหาผลประโยชน์)

GM: คนที่ได้ประโยชน์โดยตรง ก็ต้องบอกว่านโยบายประชานิยมนี้ควรมีอยู่แล้ว อย่างเช่นการคืนภาษีสรรพสามิตรถคันแรก ตัวคุณเองในฐานะเป็นผู้บริหารของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของประเทศ ย่อมต้องบอกว่านโยบายนี้ควรมีใช่ไหม

ประมนต์ : ผมกลับคิดว่ามันมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะว่าไปบิดเบือนกลไกตลาด และไม่ใช่เรื่องความต้องการของประชาชน แล้วเราก็ไปกระตุ้นให้คนที่อาจจะยังไม่มีความสามารถที่จะซื้อรถยนต์ รีบเข้ามาซื้อรถ ทางฝ่ายคนในอุตสาหกรรมยานยนต์เอง ความจริงก็คิดว่าไม่ดีนะ เพราะว่าอะไรที่มันไม่ปกติ คุณขายได้มากในปีหนึ่ง คุณก็ต้องขายได้น้อยในอีกปีหนึ่ง คือเรียกว่าเป็นการขายล่วงหน้า เพราะฉะนั้น ภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรืออะไรก็ตาม พอเจอแบบนี้แล้วจะเป็นปัญหา  เพราะช่วงที่คุณขายมากๆ คุณจะผลิตไม่ทัน เพราะสายการผลิตไม่ได้ออกแบบเอาไว้ แล้วพอถึงช่วงขายน้อยๆ คุณ คนงานก็อาจจะไม่มีโอทีไม่มีอะไร ก็กระทบกันไปอีก เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วอะไรที่มันบิดเบือนของแท้จริง มันจะทำให้เกิดปัญหา  ความจริงแล้วผู้ประกอบการก็ไม่ได้ประโยชน์หรอก จะเห็นว่าอย่างปีนี้ ดีมานด์รถยนต์ตกไปเยอะ ก็เพราะปัญหาว่าคนที่ซื้อไปแล้ว  ก็ไม่ต้องการซื้อใหม่ คนที่ไม่ควรจะซื้อ ยังไม่มีตังค์ ก็ไปขายต่อ ก็ทำให้ตลาดมือสองต้องผลักดันออกไปอีก อันนี้มันก็กระทบกันหมด

GM: แล้วทำไมในช่วงนั้น บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างพวกคุณ ถึงไม่หยุดยั้งโครงการแบบนี้

ประมนต์ : คือพวกนักธุรกิจน่ะ การที่จะให้เขามารวมตัวกันเพื่อออกมาทำอะไร บางทีก็ไม่ชัดเจน ความเห็นในกลุ่มอาจจะไม่เหมือนกัน แล้วส่วนหนึ่งก็คิดว่าธุระไม่ใช่ คือรัฐบาลอยากจะทำก็ทำไป คือเขาก็ตอบสนองไปกับสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น เขาคิดว่าตนเองไม่มีหน้าที่ที่จะมาคอมเมนต์ว่าอะไรถูกหรือผิด ดีไม่ดี ถ้าออกมาคอมเมนต์มากๆ อาจจะถูกกล่าวหากลับไปอีกด้วยซ้ำไปว่าคุณถือหางการเมืองหรือเปล่า ออกมาบอกว่าอันนี้ไม่ดี หมายความว่าคุณสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านเหรอ อันนี้มันก็เป็นปัญหาสำคัญของสังคมตอนนี้ แต่ก็มีองค์กรอิสระหลายแห่งที่ให้ความเห็น อย่าง TDRI เขาก็ให้ความเห็นมาตลอด ทั้งเรื่องข้าว ทั้งเรื่องรถยนต์ เขาก็พูดมาตลอดว่าเป็นโครงการที่ไม่เหมาะสม นักวิชาการหลายคนก็พูด อยู่ที่ว่ารัฐบาลเอง หลังจากที่เขาฟังเสียงนกเสียงกาอย่าง

พวกเราแล้ว ทั้งบวกและลบ เขาเอาไปคำนึงหรือเปล่า

GM: ที่ผ่านมาการให้ความร่วมมือขององค์กรธุรกิจต่างๆ ต่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นดีแค่ไหน มาร่วมมือกันมากแค่ไหน

ประมนต์ : ถือว่าดี เพราะว่าองค์กรธุรกิจ ผมเชื่อว่าเขาก็มีสำนึกว่าการทุจริตมันเป็นผลเสียสำหรับธุรกิจเราเอง แต่คนที่อยากสนับสนุนเราหลายคน เขาไม่อยากมาออกหน้าชัดๆ เพราะว่าไม่อยากจะสร้างปัญหาให้กับตัวเอง มันถึงต้องมีกลุ่มอย่างเรา ที่คิดว่าจำเป็นจะต้องออกมาขับเคลื่อนในฐานะผู้แทน ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจอย่างเดียว แต่รวมถึงภาคประชาสังคมด้วย ก็ต้องมีคนรับหน้า แต่ถามว่าเขาสนับสนุนมั้ย เราก็ได้รับการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม เวลาต้องการจะรณรงค์อะไร ต้องการหาทุน เขาก็ให้การสนับสนุน เพราะว่าองค์กรที่เราทำขึ้นมา มีลักษณะเป็นองค์กรอาสาสมัคร คนที่มาช่วยงานกัน ก็ไม่ได้มีรายได้ ไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นรายจ่ายที่เกิดขึ้น เราก็ต้องไปหาวิธีการที่จะหาเงินจากคนอื่นมา

สำหรับหลายๆ กลุ่มกิจการที่เขาอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าแม้กระทั่งคนที่ยังร่วมอยู่ในวงการทุจริต เขาก็ได้ประโยชน์ เพราะถ้าเผื่อว่าเราสามารถจะขจัดเรื่องคอร์รัปชั่นออกไปได้ ต่อไปในอนาคต เขาก็ไม่ต้องควักกระเป๋าอีกแล้ว ซึ่งอันนี้ทุกคนก็ได้ประโยชน์ ผมคิดว่าอย่างน้อยเขาคงให้การสนับสนุนอย่างเงียบๆ เผื่อว่าจะไม่ไปทำให้เขาเดือดร้อน

GM: อย่างกรณีของคุณสรยุทธ มีบางธุรกิจประกาศว่าจะยกเลิกโฆษณาให้กับรายการข่าวของเขา แต่แล้วหลังจากนั้น ก็ไม่เห็นมีธุรกิจอื่นมาร่วมหรือว่ามาอะไรเลย มันเกิดอะไรขึ้น

ประมนต์ : หลังจากนั้นก็มีบ้าง แต่มันยังไม่เพียงพอ เราต้องการให้ทั้งสังคมเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างกรณีคุณสรยุทธ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังไม่ตระหนักพอ ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นจะแก้ได้ สังคมจะต้องตื่นตัวมากกว่านี้ คำว่าสังคมที่ผมพูดถึง ไม่ใช่เฉพาะพวกเรากลุ่มเล็กๆ ผมหมายถึงประชาชนทั่วไปที่เขาจะต้องสำนึกว่า การทุจริตมีผลโดยตรงมาถึงเขา ในนามผู้เสียภาษี และก็มีผลทางอ้อมในเรื่องของการที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ถ้าเขาไม่ลุกขึ้นมาช่วยกันในเรื่องนี้ การแก้ปัญหาก็จะยาก แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเภท ‘ธุระไม่ใช่’ รู้ว่ามีการทุจริตแต่ก็ปล่อยๆ ไปเหอะ เพราะอย่างปัญหาของคุณสรยุทธ เขาเป็นคนของสังคม เรียกว่าอยู่ในฐานะที่ทำให้ความคิดความอ่านของคนเปลี่ยนได้ เพราะฉะนั้นคนประเภทนี้ สังคมต้องตั้งเป็นกติกาไว้เลย ว่าต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือ ต้องเป็นคนที่เราไว้วางใจ ถ้าเผื่อว่ามีพฤติกรรมอะไรที่ส่อให้เห็นว่ามีความหมองมัว เขาควรจะพิจารณาตัวเองในขั้นแรก แต่ถ้าเขาไม่ทำ มันก็เป็นหน้าที่ของคนอื่น ที่เป็นผู้สนับสนุนเขาจะต้องพูด ออกมานำ เพื่อให้เกิดความกดดัน

แต่ที่เราเห็นก็คือ อย่างที่ผมพูดว่าสังคมไทยยังไม่ได้ตระหนักในเรื่องนี้ เรายังต้องรณรงค์อีกเยอะ ต้องทำอีกเยอะ ที่จะให้คนมองเห็นความสำคัญว่าทุกคนมีส่วนร่วม คือถ้าเราไปในประเทศที่เขาตระหนักในเรื่องนี้และพัฒนาแล้ว เราจะเห็นว่าประชาชนของเขามีจิตสำนึกค่อนข้างสูง ผมยกตัวอย่างง่ายๆ หลายประเทศในยุโรป เอาปัญหาง่ายๆ แค่สนามหญ้าที่เราเห็น เขาห้ามคนเดินผ่านสนามหญ้า ถ้ามีใครไปเดิน ก็จะมีคนที่ออกมาทักท้วงทันที ทำไมคุณไม่รักษาของส่วนรวม เพราะฉะนั้น นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าคนในประเทศนั้นในสังคมนั้นตื่นตัวในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว มันก็จะทำให้สิ่งชั่วร้ายต่างๆ เหล่านี้ลดน้อยลงไปได้ เพราะว่าคนที่จะทำลงไป ต้องสำนึก สังคมไทยเรายังต้องไปอีกไกล ไม่ใช่เฉพาะเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ถ้าเราไม่เดือดร้อนมากนักก็ไม่ต้องไปแสดงออกอะไร

GM: แต่จริงๆ แล้วมาตรการลงโทษทางสังคม หรือโซเชียลแซงก์ชั่น เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากกว่าเป็นข้อดีมั้ย เพราะบางทีถ้ามีข่าวลือนิดหน่อย เราก็รวมตัวกันไปต่อต้านหรือไปกล่าวหาเขาไปแล้ว

ประมนต์ : อย่างกรณีคุณสรยุทธ ผมขออธิบายนิดหนึ่ง คือตอนที่เราขับเคลื่อน เรามีข้อมูลพอสมควร ป.ป.ช. กล่าวหาเขาแล้ว คำว่ากล่าวหาในที่นี้ ป.ป.ช. ต้องมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการทุจริตจริง เขาถึงกล่าวหาได้ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ได้ทำตามอารมณ์ เพียงแต่ว่าจะต้องไปพิสูจน์กันในศาลอีกชั้นหนึ่ง ว่าการทุจริตของคุณมีทางที่คุณจะแก้ตัวเป็นอื่นหรือเปล่า ก็เหมือนกัน ใครๆ ถ้าโดนคดีอาญาก็ต้องไปแก้ต่าง แต่เนื่องจากกฎหมายของนักการเมืองมันชัดเจนว่าถ้าถูกกล่าวหาปั๊บ คุณต้องออกจากหน้าที่เลย แต่สื่อมวลชนไม่ใช่ คุณถูกกล่าวหาแล้ว คุณจะออกจากหน้าที่หรือไม่ มันแล้วแต่สังคม ผมถึงบอกว่าบางเรื่อง ใช่ ถ้าเผื่อว่าประชาชนถูกกระแสสังคมปั่นโดยที่ไม่มีข้อเท็จจริง อันนั้นอันตราย แล้วโดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ เนื่องจากโซเชียลมีเดียเร็วมาก การใช้สื่อเพื่อที่จะสร้างกระแสเร็ว เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อว่าคนคิดไม่ดีแล้วใช้สื่อในทางที่ไม่ดี ไปชักนำให้เกิดการเข้าใจผิด ก็เป็นอันตราย แต่ผมคิดว่าตรงนี้เราคงต้องดูว่าบุคคลหรือองค์กรที่เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องใดก็ตาม มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน แล้วก็เป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะมาขับเคลื่อน ไม่ว่าบวกหรือลบ ที่เขาจะต้องพิสูจน์ตัวเองด้วย ว่าเขามีความน่าเชื่อถือ ในสิ่งที่เขาพูด ว่าได้รับการกลั่นกรองมาแล้ว เพราะว่าถ้าไม่อย่างนั้นวันหลังก็เสียความน่าเชื่อถือไปเอง

GM: อย่างกรณีคลิปโฆษณา ที่เป็นเรื่องของเด็กผู้ชายในโรงเรียนถูกเพื่อนๆ โซเชียลแซงก์ชั่น เพราะว่าพ่อแม่ของเขาเป็นคนทุจริต เรื่องแบบนี้เป็นการทำร้ายตัวเด็ก และมันเป็นสิ่งที่น่ากลัว มากกว่าที่จะน่าสนับสนุนมั้ย

ประมนต์ : คือตรงนี้ก็คงต้องยอมรับว่าเวลาที่เราทำการสื่อสารอะไรออกไป

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวประเภทไหนก็ตาม มันจะมีทั้งมุมบวกมุมลบ และก็แล้วแต่ว่าใครดูโฆษณาชิ้นนี้แล้วจะมองอย่างไร ซึ่งเวลาเราลงมือทำไปแล้ว ถ้ามีเสียงสะท้อนเชิงลบมากกว่าบวก เราก็ต้องยอมรับและย้อนมาทบทวนตัวเอง เพราะว่าคงไม่มีใครที่จะทำอะไรได้เพอร์เฟ็กต์ทุกอย่าง คลิปโฆษณานั่นก็เหมือนโฆษณาทั่วๆ ไป บางตัวประสบความสำเร็จ บางตัวไม่ ตัวที่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะไม่ไปโดนใจของคนดู หรือว่ามีเสียงสะท้อนไปในทางไม่ดี อันนี้ผมว่าพวกเราซึ่งเป็นคนทำก็ต้องทบทวน ถ้าเราผิดหรือว่าไม่เหมาะสม ก็ต้องรีบทำอะไรเพื่อแก้ไข

สังคมไทยตอนนี้เป็นสังคมที่มีความไม่ไว้วางใจกันสูงมาก ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น พอเวลามีความขัดแย้งในสังคม ทุกคนก็สงสัยพฤติกรรมของคนอื่นไปหมดทุกฝ่าย ว่าสิ่งที่ทำมันจริงหรือเปล่า หรือว่าทำเพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือเปล่า อันนี้ต้องยอมรับว่าสังคมไทย ณ วันนี้ เราเป็นอย่างนี้จริงๆ ผมว่าเราก็คงต้องผ่านพ้นสิ่งนี้ไปให้ได้ จนกระทั่งถึงวันหนึ่งที่สังคมไทยกลับมาราบรื่นพอสมควร แล้วความไว้เนื้อเชื่อใจกันกลับมามีมากพอสมควร ใครทำอะไรก็ทำบนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นหลัก ก็จะไม่ถูกทักท้วง ที่สุดแล้วก็คงต้องว่ากันไปตามนั้น แต่ตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่า คุณพูดบวก ผมก็มองลบ ผมพูดลบ คุณก็มองบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นฝ่ายที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่าง

ไร่ส้ม

ที่มาที่ไปของคดีนี้ เริ่มจากสรยุทธได้เข้ามาร่วมงานกับทาง อสมท ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2546 รับการว่าจ้างเป็นผู้ดำเนินรายการ ‘ถึงลูกถึงคน’ จนได้รับความนิยมอย่างสูงก่อนที่จะตั้ง บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ผลิตรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ออกอากาศทาง อสมท ระหว่างปี 2547-2549 โดยมีตัวเองเป็นผู้ดำเนินรายการ

ตามสัญญาระบุว่า ในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ที่ออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 1 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 12.00-13.00 น.จะมีการโฆษณาได้ครั้งละ 5 นาที หากเกินจากนั้นให้เสียค่าโฆษณาให้ อสมท นาทีละ 2 แสนบาท ส่วนรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ที่ออกอากาศวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 21.30-22.00 น. โฆษณาได้ไม่เกิน 2.30 นาที หากเกินต้องจ่ายเงินให้ อสมท นาทีละ 2.4 แสนบาท

กระทั่งเมื่อช่วงปี 2549 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท ตรวจพบว่า บริษัทไร่ส้มค้างรายได้จากการโฆษณาเป็นเงินเกือบ

100 ล้านบาท ซึ่งสุดท้ายทางบริษัทไร่ส้มได้ชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้ อสมท เป็นเงินจำนวนกว่า 138 ล้านบาท เมื่อรวมดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า 152 ล้านบาท กลายเป็นการมัดตัวเองของบริษัทไร่ส้มว่ากระทำผิด

อย่างไรก็ตาม ทาง อสมท ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาชุดหนึ่ง ผลการสอบสวนพบว่ามีการกระทำผิดจริง โดยพนักงานระดับปฏิบัติการของ อสมท มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นนับสิบราย ทั้งนี้เชื่อว่ายังมี ‘เบื้องหลัง’ คอยบงการ

ล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อัยการสูงสุดเสนอให้ทาง ป.ป.ช. สอบเพิ่มอีก 5 ประเด็นก่อนพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่อีกครั้ง ขณะที่ฝ่าย ป.ป.ช. ก็ยืนยันว่าสำนวนคดีมีความสมบูรณ์สามารถส่งฟ้องได้ทันที และหากอัยการสูงสุดยังคงยืนกรานไม่ยื่นฟ้อง ป.ป.ช. ก็จะขอสำนวนคืนกลับมาฟ้องร้องคดีเอง ตามขั้นตอนของกฎหมาย

“ผมว่าคนไทยตระหนักดีว่าคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในตอนนี้ แต่ยังไม่พร้อมที่จะช่วยกันแก้ไข เพราะมีความรู้สึกว่าตราบใดที่ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องไกลตัว ตนเองก็ยังไม่ได้มีรายได้ที่น้อยลง พวกเขาก็ไม่เดือดร้อน ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าจะแก้ไขได้อย่างไร ซึ่งในที่สุดคงหนีไม่พ้นประชาชน นักศึกษา และนักวิชาการที่จะต้องต่อต้านไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่นอีกต่อไป ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่ประชาชน นักศึกษา และนักวิชาการเดินขบวนคัดค้านการคอร์รัปชั่นแล้วหยุดการคอร์รัปชั่นได้ สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าตราบใดที่ยังมีโพลออกมาบอกว่า ‘รับการคอร์รัปชั่นได้ ถ้าทำให้ประเทศไทยดีขึ้น’ ก็จะไม่มีทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้”

– ทนง พิทยะ –

ที่มา : หนังสือ จับชีพจรประเทศไทย

GM: แม้กระทั่งเรื่องความดีหรือคุณธรรม ตอนนี้กลับถูกตั้งคำถามไปหมดเลย ไม่มีใครยอมรับในความดีของอีกฝ่ายหนึ่ง คุณว่าสิ่งนี้ดี แต่ผมว่าคุณดัดจริต ไม่ได้ดีอย่างนั้นจริง

ประมนต์ : ผมประสบเหตุการณ์ทำนองนี้ ที่มีคนตั้งคำถามทำนองว่าตัวประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเองนั่นโปร่งใสจริงแค่ไหน แต่ว่าเป็นกลุ่มของคนที่อาจจะดูในพฤติกรรมแล้ว ก็มีวาระซ่อนเร้นพอสมควร ผมก็ยังคิดว่า คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าสิ่งที่เราทำอยู่ เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน เพราะเราก็พยายามทำในสิ่งที่คิดและหวังว่าเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนรวมจริงๆ แล้วคณะที่มาทำงานด้วยกัน ถ้ามองดูโดยตัวบุคคลแล้ว ส่วนใหญ่ก็ไม่มีความเกี่ยวโยงกับเรื่องของการเมือง ไม่มีเรื่องของการที่อยากจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อ

ส่วนตัว โดยองค์กรแล้วผมคิดว่าเราก็มีภาพพจน์ที่พิสูจน์ได้ แต่แน่นอน ก็ทำให้งานของเรายากขึ้น เพราะว่าตราบใดที่มีกลุ่มของคนที่จะไม่เห็นด้วยอย่างบริสุทธิ์ใจ หรือไม่เห็นด้วยเพราะว่ามีวาระแอบแฝงซ่อนอยู่ก็ตาม มันก็ทำให้การทำงานยากขึ้น ถ้าเผื่อว่ามีคนที่อยากจะป้ายสีให้เราออกมาในลักษณะดำ อะไรที่เขาส่งข่าวออกไป ถ้าคนไม่มีข้อมูลสมบูรณ์แล้วเชื่อ มันก็เป็นไปได้ แต่ผมก็เชื่อว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ว่าสิ่งที่องค์กรเราขับเคลื่อนอยู่ ทั้งเจตนาทั้งผล เรามุ่งหวังที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่เราหวังว่าจะดีขึ้น

GM: โดยส่วนตัวคุณรู้สึกมั้ยว่าเราเฉื่อยชากับความไม่ดี หรือเพราะมันเป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์ ที่แท้จริงแล้ว พวกเราชั่วร้ายอยู่ภายใน

ประมนต์ : ก็น่าจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาตินะ เพราะว่าอะไรที่ไม่ใช่ปัญหาใกล้ตัวเราจริงๆ ผมเชื่อว่ามนุษย์ทั่วๆ ไปก็ไม่อยากเดือดร้อนที่จะต้องไปออกแรง แล้วความที่ว่าไม่รู้สึกจริงๆ เพราะว่าการที่เวลาเขาโกงกัน ผลกระทบต่อคนแต่ละคน มันไม่มาก มันเป็นผลต่อส่วนรวม คุณพูดถึงเงินที่หายไปแสนล้าน ถ้าลองหารด้วยจำนวนหกสิบล้านคน คนหนึ่งก็เสียหายไม่กี่ตังค์ เพราะฉะนั้น เราก็จะมีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปเดือดร้อนอะไรเท่าไหร่ แต่อันนั้นมันเป็นผลกระทบแบบตรงๆ เราไม่ได้พูดถึงผลกระทบทางด้านอื่น ที่เราต้องสูญเสียประโยชน์ไป มันก็เป็นธรรมชาติมนุษย์ที่เรามีความรู้สึกอย่างนั้น

และอีกอย่าง การเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มันดึงพื้นที่ข่าวไปหมด เป็นข่าวที่ทำให้ข่าวอื่นๆ ไม่มีน้ำหนักเท่าไหร่ แต่ผมคิดว่าประชาชนที่เราได้สร้างกระแสว่าการทุจริตไม่ดี พวกเขายังอยู่ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวเมื่อถึงเวลา ถ้าเรามีรัฐบาลที่พร้อมจะมีการปฏิรูป ก็คงจะพยายามเอากระแสของประชาชนที่เคยมีขึ้นมาตอนนั้นกลับมา เพื่อให้เป็นพลังต่อไป

เราเคยทำการสำรวจความคิดเห็นระดับบุคคลออกมาหลายครั้ง เวลาถามเข้าไปลึกๆ จริงๆ โดยส่วนตัวแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการทุจริต แต่ที่บางครั้งมีคนพูดประมาณว่า โกงก็ได้ถ้าได้ประโยชน์ นั่นเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ แต่ว่าโดยรวมต้องยอมรับว่า อย่างที่ผมบอกน่ะ สังคมไทยยังไม่ได้ตระหนักมากพอ ที่จะบอกว่าเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่เลวร้ายและต้องลุกขึ้นมาลงมือทำอะไร คือเรามีความรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ไม่ควรจะมี แต่ว่าระดับความรู้สึกนี้ยังไม่รุนแรงพอที่จะลุกขึ้นมา เป็นผู้ที่ออกมายืนข้างหน้า แล้วบอกว่าต้องแก้ไข

การขับเคลื่อนเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น อาจจะต้องรอจนถึงจุดที่สุกงอมมากๆ สภาวะของประเทศที่ดำเนินไปจนถึงจุดหนึ่ง คนในประเทศมีความรู้สึกว่าทนไม่ไหวแล้ว ผมขอยกตัวอย่างประเทศฮ่องกงเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการรณรงค์ในเรื่องนี้ ประเทศเขาก็เหลวแหลกพอๆ กับเราตอนนี้ ไปไหนมาไหนเจอตำรวจ ก็ต้องจ่ายเงินอะไรต่างๆ ถึงจุดหนึ่งคนฮ่องกงทนไม่ไหว ลุกขึ้นมาปฏิวัติด้วยตัวเอง มันถึงได้มีการเปลี่ยนแปลง แล้วประชาชนเรียกร้องไม่พอ ต้องมีผู้นำที่พร้อมจะลุกขึ้นมาทำ การเปลี่ยนแปลงเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นจะไม่สำเร็จ ถ้าผู้มีอำนาจไม่เอาจริงเอาจังเรื่องนี้

มันต้องสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนด้วย 40 ปีที่ผ่านมา เขามีแคมเปญต่อเนื่องมาตลอด ทำให้เยาวชนของเขามีความรู้สึกว่าการทุจริตเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ซึ่งในขณะนี้ มันก็ได้ฝังอยู่ในหัวของเด็กๆ รุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาแล้ว และไม่ใช่แค่สอนอย่างเดียว เราต้องทำให้เป็นตัวอย่างด้วย คือหนึ่ง, ปราบคอร์รัปชั่นก่อน เอาคนที่ทำผิดหนักๆ มาลงโทษให้ได้เสียก่อน เพื่อให้เกิดความเกรงกลัว สอง, สร้างสังคมให้เยาวชนรุ่นต่อๆ ไปเริ่มตระหนัก แล้วเมื่อเขามีทรรศนะที่ดีในทางที่ว่าไม่ยอมรับคอร์รัปชั่นแล้ว การทุจริตอะไรมันก็ยากขึ้น

GM: อย่างประเทศฮ่องกง เป็นเพราะว่าเขามีอังกฤษเข้ามาดูแลด้วยหรือเปล่า เขาแก้ปัญหานี้ได้ด้วยอำนาจจากภายนอก และด้วยวิธีคิดจากภายนอก

ประมนต์ : ผมก็ไม่แน่ใจนะ อาจจะเหมือนอย่างประเทศสิงคโปร์ ก็เป็นตัวอย่างที่คล้ายคลึง คือเผอิญพวกประเทศเพื่อนบ้านของเรามีต่างชาติเกี่ยวข้องมาตั้งแต่ในอดีต แต่ผมคิดว่าตอนที่เขาแก้ปัญหา มันก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะว่ามีต่างชาติเข้ามา คนที่จะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาจริงๆ ก็ต้องเป็นคนของประเทศนั้นๆ สิงคโปร์นี่ก็ ลี กวนยู ตอนที่เขาก่อตั้งประเทศใหม่ๆ      สิงคโปร์เจริญเพราะเขาทำ 2 เรื่อง หนึ่ง, คุณอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมทั้งธุรกิจด้วย สอง, ความโปร่งใสให้กับสังคม

เพียงแค่ 2 เรื่องนี้เอง ถ้าประเทศไหนทำได้สำเร็จ ก็พอเพียงที่จะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายอีกแล้ว เพราะคนต่างชาติเขาอยากจะมาลงทุน เขาก็มาดูว่าประเทศนี้ไปทำงานด้วยแล้วจะยุ่งยากมั้ย ถ้าไม่ยุ่งยาก โปร่งใส ไม่มีทุจริตมาก เขาก็อยากมาลงทุน คนในประเทศก็สามารถจะลงทุนได้เอง เพราะฉะนั้นทำ 2 เรื่องนี้ก็พอแล้ว

ส่วนตัวอย่างอื่นๆ ในประเทศใกล้ๆ เรา ก็มีเกาหลี ไต้หวัน พวกนี้ก็เป็นประเทศที่ผ่านกระบวนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นแบบนี้มาแล้ว อย่างตอนนี้เขาเอาประธานาธิบดีเข้าคุกติดตะราง ก็มีตัวอย่างให้เห็น ประเทศจีนก็กำลังทำ จีนที่ทำสาเหตุเพราะพรรคคอมมิวนิสต์เห็นว่าถ้าไม่ทำ เขาเองจะแย่ มันจะเป็นตัวร้ายที่ไปทำให้พรรคคอมมิวนิสต์พัง เพราะฉะนั้นแรงกระตุ้นใจของเขาต่างจากประเทศอื่นๆ เขาต้องทำเพื่อความอยู่รอดของพรรค แต่เผอิญมันถูกใจประชาชน เทียบกับบ้านเราเอง เรายังไม่มีแรงกระตุ้นใจอันนั้น ผมถึงย้ำตลอดว่ามันต้องมาจากประชาชน

“สิงคโปร์เจริญเพราะเขาทำ 2 เรื่อง หนึ่ง, คุณอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมทั้งธุรกิจด้วย สอง, ความโปร่งใสให้กับสังคม เพียงแค่ 2 เรื่องนี้เอง ถ้าประเทศไหนทำได้สำเร็จ ก็พอเพียงที่จะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายอีกแล้ว”

GM: อย่างสิงคโปร์และจีนก็ไม่เป็นประชาธิปไตยสักเท่าไร

ประมนต์ : อยู่ที่ผู้นำมากกว่า ไม่ว่าคุณจะมาจากเผด็จการหรือประชาธิปไตย ที่จะได้ผู้นำที่ดีแล้วมาลงมือทำเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าการที่จะได้ผู้นำที่ดีมา ก็ต้องมาจากประชาชนนั่นแหละ ถึงแม้ว่าเป็นเผด็จการมา ถ้าเขาทำไม่ดี ประชาชนก็ต้องหาวิธีเปลี่ยน จะด้วยวิธีไหนก็ตาม เราดูประเทศที่ย่ำแย่อย่างฟิลิปปินส์ นั่นผมถือว่าน่าเสียดายมาก 40 ปีมาแล้ว นับตั้งแต่สมัยมาร์กอส ประเทศฟิลิปปินส์แย่มาตลอด จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ฟื้นเลย เพราะเขาโดนเผด็จการที่ไม่ดี ถ้าคุณเจอคนดีเข้า ก็โอเคไป เจอคนไม่ดีก็ซวยไป แต่ระบอบประชาธิปไตยที่ดีก็คือ มันเปลี่ยนผู้นำที่ไม่ดีออกไปได้เร็วกว่า เผด็จการคุณต้องใช้วิธีรุนแรงถึงจะเปลี่ยนได้

ฮ่องกงกับยุทธศาสตร์ปราบคอร์รัปชั่น

เมื่อ 40 ก่อน ฮ่องกงก็มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นหนักไม่ต่างจากประเทศไทย แต่ปัจจุบันฮ่องกงมีความโปร่งใสอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ในปี 2517 ครอว์ฟรอด เมอร์เรย์ แมคเลอโฮส ข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษของเกาะฮ่องกง เห็นว่า ถ้าปล่อยให้ปัญหาคอร์รัปชั่นลุกลามใหญ่โต ฮ่องกงคงจะล่มสลาย เขาจึงได้ตัดสินใจจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น ในนาม ICAC (Independent Commission Against Corruption) โดยให้หน่วยงานนี้เป็นอิสระและขึ้นตรงต่อข้าหลวงใหญ่เกาะฮ่องกงเพียงคนเดียว

ผู้นำคนแรกของ ICAC มีนโยบายชัดเจนในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานในองค์กร คือจะไม่เอาคนที่เป็นตำรวจมาทำงานด้วยเลย เพราะสมัยก่อนตำรวจฮ่องกงคือปัญหาหลักของการคอร์รัปชั่น (แบบในหนังฮ่องกงสมัยก่อนนั่นแหละ!) จึงต้องการให้องค์กรนี้ปลอดตำรวจตั้งแต่แรก นอกจากนี้คนที่มีพื้นฐานด้านการสืบสวนมาก่อนก็จะไม่รับด้วย เพราะต้องการที่จะฝึกอบรมการสืบสวนสอบสวนในแบบของ ICAC เอง

งานต่อต้านคอร์รัปชั่นขององค์กรทั่วโลกจะมีหน้าที่หลักๆ คือ ป้องกันไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่น, ปราบปรามหรือจับกุมคนคอร์รัปชั่น

และสร้างจิตสำนึกของประชาชนและแนวร่วม ICAC มียุทธศาสตร์ว่าจะต้องสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาจากคนฮ่องกงให้ได้ก่อน เริ่มจากการจับกุมคนกระทำผิดมาลงโทษให้ได้ เพื่อส่งสัญญาณว่า ICAC เป็นองค์กรที่มีความสามารถ ไม่ใช่เสือกระดาษ ซึ่งภายในเวลา 30 ปี สถานการณ์การคอร์รัปชั่นในฮ่องกงได้ลดลงอย่างมาก

สิงคโปร์กับกฎหมายปราบคอร์รัปชั่นที่เข้มแข็ง

ปัจจัยความสำเร็จด้านหนึ่งของสิงคโปร์ คือ การมีกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชั่นและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง องค์กรสอบสวนการกระทำคอร์รัปชั่นของสิงคโปร์ (CPIB) ได้รับการพัฒนาให้มีกำลังคน มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม มีเงินเดือนสูง มีงบประมาณมากพอที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีอำนาจที่จะหาข้อมูลนักการเมือง ข้าราชการ คู่สมรส และลูกของพวกเขาจากธนาคาร กรมสรรพากร และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ สามารถที่จะไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องสงสัยทุกคนไปจนถึงระดับสูงได้อย่างไม่มีข้อยกเว้น มีการแก้กฎหมายให้ศาลสามารถใช้ประเด็นว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐมีทรัพย์สินมากเกินรายได้จากเงินเดือน โดยอธิบายไม่ได้ว่ามาจากไหน เป็นหลักฐานว่าคนผู้นั้นอาจจะได้มาจากการคอร์รัปชั่นได้ ศาลสามารถใช้พยานหลักฐานการให้การจากเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ ได้โดยไม่ถือว่าเขามีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิด รวมทั้งศาลสามารถสั่งยึดทรัพย์ที่ได้มาจากการคอร์รัปชั่นได้

การมีกฎหมายที่เอื้ออำนวยเหล่านี้ แสดงให้เห็นความตั้งใจของรัฐบาลสิงคโปร์ที่จะแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ออกกฎหมายกว้าง และจัดตั้งองค์กรปราบคอร์รัปชั่นพอเป็นพิธี แต่ทำงานไม่ค่อยได้ผล              เพราะหน่วยงานไม่ได้รับการส่งเสริมให้เข้มแข็งและหาหลักฐานพยานเอาผิดผู้ต้องสงสัยยาก

ที่มา : นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ : การทับซ้อนของผลประโยชน์ทางธุรกิจ (Conflict of Interest) โดย วิทยากร เชียงกูล

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน ‘ตีไม่เลี้ยงทั้งเสือทั้งแมลงวัน’

นับตั้งแต่ สี จิ้นผิง เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน เขามีนโยบายปราบปรามคอร์รัปชั่นแบบเด็ดขาด ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับบนสุดจนถึงล่างสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สี จิ้นผิง เคยเปรียบเปรยไว้ว่า ‘ตีไม่เลี้ยงทั้งเสือทั้งแมลงวัน’ กับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่อการทุจริตคอร์รัปชั่น รับสินบน หรือใช้อำนาจในทางที่ผิด ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นข่าวคราวการจับกุมและลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนในคดีทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่เนืองๆ อย่างเช่นกรณีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการรถไฟของจีนถูกศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ให้รอลงอาญา จากความผิดข้อหารับสินบน และใช้อำนาจโดยมิชอบ

แต่ที่โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็นคดีของ ป๋อ ซีไหล ซึ่งกลายเป็นที่โจษจันอย่างมากในประเทศจีน จากเรื่องอื้อฉาวพัวพันการคอร์รัปชั่น, ฆาตกรรม, จารกรรม รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ และถูกศาลตัดสินมีความผิดจริง เขาต้องถูกจำคุกตลอดชีวิต ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้รับการยกย่องว่าจะเป็นดาวโรจน์ดวงใหม่แห่งการเมืองจีน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าคดีนี้จริงๆ แล้วเป็นเรื่องการเมือง เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจสีแดงของป๋อซึ่งทำให้เขาได้รับความนิยมอย่างสูงในนครฉงชิ่ง ถูกมองจากภายในพรรคคอมมิสนิสต์ว่าเป็นการท้าทายแนวคิดเสรีนิยมทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปประเทศของพรรค

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ศาลจีนตัดสินลงโทษประหารชีวิต หลิวฮั่น มาเฟียจากมณฑลเสฉวน มหาเศรษฐีอันดับ 148 ของจีนพร้อมด้วยน้องชาย 2 คน และลูกสมุนยกแก๊งอีก 36 คน ในข้อหาคอร์รัปชั่น ฆาตกรรม กักขังหน่วงเหนี่ยว และมีพฤติกรรมผิดกฎหมายร้ายแรง พร้อมทั้งสั่งให้หลิวฮั่นกล่าวคำขอโทษต่อประชาชนโดยถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ ก่อนจะถูกนำตัวไปประหารชีวิต เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ ของจีน

เกาหลีใต้ ประธานาธิบดีติดคุกจริง

สิบกว่าปีก่อน คนเกาหลีใต้เคยยอมรับนักการเมืองที่เก่งและโกงด้วย แต่จากการขับเคลื่อนขององค์กรภาคประชาชน PSPD (People’s Solidarity for Participatory Democracy) ส่งผลให้ 99 เปอร์เซ็นต์ของนักการเมืองเกาหลีใต้ที่ PSPD ขึ้นบัญชีดำไม่ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งมาจากกระบวนการตรวจสอบอย่างหนัก PSPD  ใช้จังหวะที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจสื่อสารกับประชาชนในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยผลักดันให้ยกร่างกฎหมายให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสการคอร์รัปชั่น ให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่คล้ายสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน  ทำหน้าที่เปิดเผยข้อมูลการคอร์รัปชั่นต่อประชาชน รวมถึงออกกฎหมายพิเศษให้เปิดเผยรายชื่อล็อบบี้ยิสต์ ข้าราชการเกษียณอายุแล้วที่จะมารับจ้างเป็นล็อบบี้ยิสต์ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายจำกัดผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะเดียวกันมีการเปิดพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลการคอร์รัปชั่นบนเว็บไซต์ และรายงานความเคลื่อนไหวของรัฐสภาอย่างใกล้ชิด เน้นเสนอการดำเนินงานของ ส.ส. และแสดงการเปลี่ยนแปลงบัญชีทรัพย์สินของ ส.ส. ด้วย ข้อมูลดังกล่าวนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเลือกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ กรณี 2 อดีตประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ถูกศาลพิพากษาตัดสินจำคุก แม้จะได้รับนิรโทษกรรมภายหลัง แต่สะท้อนให้เห็นว่าประธานาธิบดีก็ติดคุกได้ และสร้างปรากฏการณ์ความตื่นตัวทางการเมืองให้กับภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้มาตรฐานจริยธรรรมของนักการเมืองดีขึ้นมาก

ฟิลิปปินส์ ภายใต้ระบอบเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

ประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ ครองอำนาจตั้งแต่ 30 ธันวาคม 1965 – 25 กุมภาพันธ์ 1986 และเป็นประธานาธิบดี 2 สมัยซ้อนคนแรกของฟิลิปปินส์ รัฐบาลมาร์กอสกู้เงินจากต่างชาติเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อนำมาใช้ในนโยบายประชานิยม หนี้สินของรัฐบาลเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัวในระยะเวลากว่า 20 ปีที่มาร์กอสเป็นผู้นำประเทศ ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในเอเชีย จนถึงทุกวันนี้ชาวฟิลิปปินส์ยังต้องแบกรับภาระหนี้ รายได้ของประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่งถูกนำไปจ่ายดอกเบี้ยจากหนี้สินที่รัฐบาลมาร์กอสก่อขึ้น รัฐบาลมาร์กอสอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา มาร์กอสเปิดทางให้ทหารสหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศเพื่อสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งเกิดเหตุลอบสังหารนายเบนิโญ อาคิโน ผู้นำฝ่ายค้าน ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ลุกฮือขึ้นประท้วง มาร์กอสต้องขอให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือโดยลี้ภัยไปที่เกาะฮาวายจนเสียชีวิตที่นั่น ทุกวันนี้เงินทุจริตยังคงถูกซุกซ่อนอยู่ในต่างประเทศ ที่น่าแปลกใจคือชาวฟิลิปปินส์ยังเลือกให้นางอีเมลดา ภรรยาของอดีตผู้นำโกงชาติ กลับมาเป็น ส.ส. ถึง 2 สมัย

ไต้หวัน-เฉิน สุยเปี่ยน

คดีคอร์รัปชั่นที่โด่งดังของไต้หวันก็คือ การจำคุกตลอดชีวิตอดีตประธานาธิบดี เฉิน สุยเปี่ยน โทษฐานยักยอกเงินหลวง ใช้ตำแหน่งหน้าที่กอบโกยผลประโยชน์ รับสินบน ปลอมแปลงเอกสาร และฟอกเงิน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่โดนจับใส่กุญแจมือและนำตัวมาคุมขัง เฉิน สุยเปี่ยน ตะโกนลั่นว่า “ศาลทำร้ายผม การเมืองทำร้ายผม” เขาเชื่อว่าการดำเนินคดีต่อเขานั้น เป็นการแก้แค้นทางการเมืองของกลุ่มที่ต่อต้านการเคลื่อนไหวแยกตัวเป็นอิสระจากจีน ที่เขาได้ผลักดันระหว่างนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี 8 ปี

“ตอนนี้ปัญหาคอร์รัปชั่นกลายเป็นสัจธรรม เป็นวงจรที่แกะไม่หลุดในปัจจุบัน แต่ผมก็ยังเชื่อว่าประเทศไทยต้องดีขึ้น มันอาจไม่น่าเชื่อ แต่การเปลี่ยนแปลงต้องมาอย่างแน่นอน ดูตัวอย่างประธานาธิบดีไต้หวันที่คอร์รัปชั่นแล้วไปอยู่ในคุก ส่วนประธานาธิบดีเกาหลีฆ่าตัวตาย นี่คือพัฒนาการที่เกิดขึ้นทั่วโลก มันเปลี่ยนแปลงได้เร็วถ้าสังคมตื่น”

– บรรยง พงษ์พานิิช –

ที่มา : หนังสือ จับชีพจรประเทศไทย

GM: คุณว่านักลงทุนญี่ปุ่นหรือว่านักลงทุนจากชาติอื่นๆ เขามองเห็นปัจจัยข้อไหนสำคัญมากกว่ากัน

ประมนต์ : คือถ้าเรามองเฉพาะเรื่องการมาลงทุนในประเทศไทย เขาคงไม่มองแค่เรื่องระบอบการเมือง เพราะถ้ามองแค่นั้น อย่างสิงคโปร์ คุณก็ไม่ควรจะไปลงทุน อย่างจีน  คุณก็ยิ่งไม่ควรจะไปลงทุน เพราะไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ทั้งสองประเทศนี้คนก็ไปลงทุนกันอื้อซ่า ผมคิดว่านักลงทุนต่างชาติเวลาเขามาลงทุน เขามองถึงเรื่องเสถียรภาพของประเทศนั้นๆ เป็นหลัก  แล้วปัจจัยต่อมาก็คือผลตอบแทนที่เขาควรจะได้รับกลับคืน  ว่าจะไม่ถูกคดโกงไป ฉะนั้น ผมยังคิดว่าเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่นน่าจะเป็นตัวหลักสำคัญประการหนึ่งในการตัดสินใจของนักลงทุน แต่ถ้าถามว่าระหว่างสองประเทศที่มีอันดับเท่ากันในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น  คุณเลือกอันไหน แน่นอนว่าคุณก็ต้องบอกเลือกประเทศที่เป็นประชาธิปไตย  เพราะว่ามันเป็นวิถีการปกครองที่เป็นที่ยอมรับมากกว่า อย่างอินเดีย ประชาธิปไตยมากๆ นักลงทุนยังไปลงทุนน้อยกว่าจีนเลย  เพราะฉะนั้นการลงทุนนี่มันแฟ็กเตอร์หลายๆ อันที่คงไม่ใช่คำตอบแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

GM: ถ้าพูดแบบนี้ จะทำให้คุณถูกมองว่าเป็นผู้ไม่สนับสนุนประชาธิปไตยมั้ย

ประมนต์ : ผมไม่ใช่นักการเมือง แล้วก็ไม่ได้คิดมากเรื่องประชาธิปไตยหรือไม่ประชาธิปไตย และผมก็ไม่ขัดแย้งกับระบอบการปกครองที่ทำให้ประชาชนมีความผาสุก ผมบอกว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด ที่ผ่านมาก็พิสูจน์กันมาแล้ว เพราะฉะนั้นผมก็ไม่มีข้อโต้แย้งอะไร แต่ถ้าถามผมว่ามันขัดแย้งกับอย่างอื่นหรือเปล่า มันก็มีประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้วิธีการปกครอง

ระบอบประชาธิปไตย ดีก็มี ไม่ดีก็มี เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม กับสถานการณ์ กับช่วงเวลา มันก็ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของทั้งประชากรของประเทศนั้น ทั้งระยะเวลา หลายๆ อย่าง

GM: ถ้าเรามีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์เสียก่อน เมื่อได้เลือกตั้งไปเรื่อยๆ ปัญหาคอร์รัปชั่นจะลดน้อยลงไปเอง ความเชื่อแบบนี้คุณเห็นด้วยไหม

ประมนต์ : ผมไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะวิเคราะห์ หรือว่าให้ความเห็นที่ดีต่อคำถามนี้เลย แต่ว่าถ้าคุณจะถามเอาความรู้สึกส่วนตัวของผมเองนะ ผมคิดว่ามันไม่ได้มีความสัมพันธ์กันแบบนั้น ว่าเพราะเรามีประชาธิปไตยแล้ว คอร์รัปชั่นจะดีขึ้น คือทฤษฎีที่บอกว่าเลือกตั้งบ่อยๆ แล้วปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นจะดีขึ้นเอง คงมาจากแนวความคิดว่า ไอ้คนที่จะทุจริตคอร์รัปชั่น   มันคงไม่มีเงินพอที่จะซื้อเสียงได้ตลอดไป แต่อันนั้นก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่ข้อเท็จจริง เพราะว่ายังมีความพยายามที่จะซื้อเสียง และก็มีคนที่พร้อมจะขายเสียงอยู่ตลอด แต่ถ้าเราสามารถทำให้ระบอบประชาธิปไตย ให้ผู้คนที่จะไปเลือกตั้ง ได้เริ่มคิดคำนึงว่า เขาเลือกคนโดยไม่มีอามิสสินบน มันถึงจะเรียกว่าเป็นการลดการทุจริต เพราะฉะนั้นตอบไม่ได้ว่าระบอบประชาธิปไตยกับคอร์รัปชั่น มีความสัมพันธ์กันหรือเปล่า เพราะในอดีตอย่างที่เราดู ประเทศที่มีประชาธิปไตยดีๆ ก็เห็นมีคอร์รัปชั่นเยอะแล้วก็ยังมีอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่ไม่มี สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ไม่มีทุจริตนะ มี เพียงแต่มันยากขึ้น แล้วก็ถ้าถูกจับก็เจ็บตัวมากขึ้น

GM: ในฐานะที่คุณเป็นผู้อาวุโสมากๆ ตลอดชีวิตการทำงาน มีครั้งไหนที่คุณเอาตัวเข้าไปพัวพันกับการคอร์รัปชั่นหรือว่าการทุจริตอะไรมั้ย

ประมนต์ : ผมโชคดีที่ได้ทำงานอยู่กับองค์กรที่ไม่ได้มีพฤติกรรมประเภทนั้น คืออันนี้มันก็สำคัญเหมือนกัน เพราะว่าแล้วแต่ว่าธุรกิจที่องค์กรของคุณทำหรือคุณอยู่ด้วย ว่ามันเป็นธุรกิจประเภทไหน ถ้าเผื่อคุณอยู่ในธุรกิจที่ทำงานกับรัฐบาลมากๆ หรืออยู่ในธุรกิจที่ต้องอาศัยอำนาจรัฐเพื่อที่จะทำอะไร โอกาสในการที่จะทุจริตคอร์รัปชั่นมันก็มีสูง แล้วถ้าคุณเข้าไปอยู่ตรงนั้น ก็เกือบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าต้องเข้าไปพัวพัน ทีนี้เผอิญธุรกิจที่ผมอยู่ด้วย มันไม่มีความสัมพันธ์อย่างนั้น หรือถ้าจะมีการทำงานกับภาครัฐ ก็จะเป็นเรื่องของการขอใบอนุญาตอะไรต่างๆ มันก็ว่ากันไปตามหน้าที่ ตามขั้นตอน ไม่มีปัญหาว่าเราจะต้องสนับสนุนเรื่องการทุจริต ถึงจะทำธุรกิจได้ โดยส่วนตัวผมโชคดีที่ว่าอยู่ในองค์กรที่ไม่ได้มีความกดดันในเรื่องนี้ แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าจะทำให้เกิดความมัวหมองกับภาพพจน์ของเรา

แต่ละบริษัทก็มีเป็นบทบัญญัติเอาไว้ภายใน โดยเฉพาะถ้าเป็นบริษัทต่างชาติอย่างโตโยต้าซึ่งทำงานหลายประเทศ             เขาก็จะมีข้อกำหนดชัดเจนว่าอะไรคุณทำได้ อะไรทำไม่ได้ ในรายละเอียดต้องไปดู แต่ว่าโดยหลักๆ ก็คือว่า            การรักษาความสัมพันธ์กับหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือราชการ เรายังต้องทำ แต่ต้องทำในลักษณะที่ว่าไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการทุจริต ผมยกตัวอย่าง มีคำถามว่าการที่บางครั้งเราเอานักข่าวไปดูงาน แบบนี้เข้าข่ายมั้ย คือถ้าคุณทำอย่างเปิดเผย และมีเนื้อหาข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แล้วก็ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง อย่างน้อยมันก็ตอบโจทย์ได้ว่า เรามองในภาพว่าอันนี้ทำเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคน ไม่ใช่เพียงคนใดคนหนึ่ง แต่ว่าถ้าคุณบอกว่าเพราะว่านาย ก. สั่งมา แล้วก็ให้ทำอันนี้ ถ้าคุณทำอันนี้แล้ว นาย ก. จะให้ผลประโยชน์อะไรกับคุณ ถ้าอย่างนั้นมันก็เข้าข่าย มันตีความยากเหมือนกัน เวลาอยู่ในวงการธุรกิจ หลายๆ บริษัทมีความลำบากใจเหมือนกันว่าเส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหน ตรงนี้เองบริษัทใหญ่ๆ จะมีกติกา แล้วถ้าเผื่อใครไม่แน่ใจต้องถามว่าอันนี้ทำได้หรือไม่ได้ แล้วก็ควรจะทำหรือไม่ทำ

GM: จนถึงทุกวันนี้ คุณว่ากรณีการคอร์รัปชั่นครั้งไหน ที่เลวร้ายที่สุดต่อธุรกิจของคุณ หรือต่อประเทศไทย

ประมนต์ : (ถอนหายใจ) ต้องบอกว่าโครงการจำนำข้าวครั้งนี้ รุนแรงที่สุดเท่าที่ผ่านมา มันเป็นเงินมาก การที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นจนกระทั่งเกิดความเสียหายขนาดนี้ ในอนาคตประเทศไทยผมเชื่อเลยว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะไปช้ามาก ธุรกิจในประเทศทุกคนถูกกระทบหมด แล้วกระทบในลักษณะที่ว่า ผมเชื่อว่าต่างชาติจะไปลงทุนที่อื่น ตอนนี้ถ้าคุณไปถามต่างชาติ ถ้าถามว่าอนาคตประเทศไทย 5 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง ผมเชื่อว่าคำตอบเขาจะบอกว่าชะลอการลงทุน

GM: มันมาเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของพวกเรา แล้วอนาคตของพวกเราจะเป็นยังไง

ประมนต์ : คุณก็ลองคิดดูสิ ว่าเฉพาะที่ขาดทุนไป ประเมินกันว่า 6 แสนล้านบาท แค่เรื่องจำนวนเงินว่าใครจะเป็นผู้ใช้จ่าย ก็พวกเด็กรุ่นต่อไปที่จะถือกำเนิดตามมา ประเทศไทยไม่เคยมีหนี้สูงขนาดนี้ อันนี้จะเป็นหนี้ที่คนรุ่นหลังอีก 10 ปีข้างหน้า 20 ปีข้างหน้า จะต้องเป็นผู้ใช้ เพราะมันเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งในทางเศรษฐกิจ เราหนีไม่พ้น ภาวะของความเคลี่อนไหวทางเศรษฐกิจนี้ มันจะมากระทบเราโดยตรงในอนาคต

“คนที่จะทุจริตคอร์รัปชั่น มันคงไม่มีเงินพอที่จะซื้อเสียงได้ตลอดไป และก็มีคนที่พร้อมจะขายเสียงอยู่ตลอด แต่ถ้าเราสามารถทำให้ระบอบประชาธิปไตย ให้ผู้คนที่จะไปเลือกตั้ง ได้เริ่มคิดคำนึงว่า เขาเลือกคนโดยไม่มีอามิสสินบน มันถึงจะเรียกว่าเป็นการลดการทุจริต”

GM: แต่สำหรับชนชั้นกลาง พนักงานออฟฟิศกินเงินเดือน เราก็รู้สึกเฉยๆ ไม่กระทบ สิ้นเดือนเราก็รับเงินเดือนเหมือนเดิม

ประมนต์ : มันไม่ใช่แค่นั้นน่ะสิ คุณก็คงคิดอย่างนั้นได้ ในกรณีที่คุณยังมีงานทำ ซึ่งตอนนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ แต่ถ้าอีก 5 ปีข้างหน้า เด็กจบใหม่ไม่มีงานทำ พวกเขาก็คงจะต้องเริ่มคิด อีก 10 ปีข้างหน้า ภาระหนี้สินของเรามากขึ้น คนเริ่มไม่มีงานทำ แล้วรัฐยังต้องเลี้ยงดู อย่างกรณีของโปแลนด์หรือในยุโรปขณะนี้ ชีวิตพวกเขาถูกบีบคั้นแค่ไหน ในการที่จะต้องจำกัดค่าใช้จ่าย ในการที่จะต้องตกงาน คนยุโรปขณะนี้ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของคนหนุ่มสาวตกงาน เป็นปัญหาสังคมแค่ไหน ปัญหาที่จะตามมา เรื่องอาชญากรรม เรื่องอะไรต่างๆ ที่จะตามมา ผลของการทุจริตคอร์รัปชั่น มันไม่ใช่มีแค่ในตอนที่เกิดขึ้น แค่ตอนนี้ตอนเดียว คุณอาจจะยังไม่รู้สึก เพราะว่าตอนนี้คุณยังมีงานทำ ผมก็ยังมีงานทำ แต่เพื่อนๆ ของคุณล่ะ หรือน้องๆ ของคุณ ลูกหลานของคุณที่จะตามมาอีก เขายังมีงานทำหรือเปล่า

GM: พอบทสัมภาษณ์นี้ออกตีพิมพ์ อาจจะมีเสียงฝั่งตรงข้ามทางการเมืองมาโจมตีที่ตัวคุณอีก หรืออาจจะโดนยิงขู่ที่บ้าน หรือธุรกิจของโตโยต้าประเทศไทยอาจจะถูกกล่าวหา คุณวางตัวอย่างไร และคุณรู้สึกอย่างไร

ประมนต์ : (หัวเราะ) ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นความกังวลอย่างมาก คือส่วนตัวผมเองก็ยอมรับสภาพตอนนี้พอสมควร ว่าเมื่อเรารับที่จะมาทำในหน้าที่นี้ ความลำบากใจต้องมีแน่ ทั้งตัวเอง ทั้งครอบครัว กับส่วนของบริษัท ผมไม่ได้เป็นห่วงตัวเองนักหรอก แต่เป็นห่วงว่าไม่อยากจะทำให้บริษัทถูกกระทบกระเทือน เพราะสาเหตุงานตรงนี้ คือเราเป็นต้นเหตุที่ทำให้บริษัทต้องเดือดร้อนโดยที่ไม่จำเป็น อันนั้นผมเป็นห่วงมาก เพราะว่าบริษัทเขาอยู่ของเขาดีๆ แล้วก็เผอิญเรามีความสัมพันธ์กับบริษัท แล้วไปขับเคลื่อนรณรงค์เรื่องนี้ แล้วถูกคนเอาประเด็นเรื่องนี้ไปโยงเพื่อที่จะไปโจมตีบริษัท อันนี้ผมคิดว่าไม่แฟร์ ไม่เป็นธรรม

ส่วนเรื่องส่วนตัว ผมคงไม่สามารถจะป้องกันตัวเองได้ ถ้าใครคิดว่าสิ่งที่ผมทำไม่ถูก ก็คงถูกวิจารณ์หรือไม่อาจจะถูกกระทำ ในสิ่งที่เขาเห็นว่าสาสม คือคนเราทำอะไร ถ้าทำในสิ่งที่มองได้ว่าเป็นประโยชน์หรือกระทบต่อคนอื่น ก็มีโอกาสที่จะมีปัญหานี้ตลอดเวลา มันหนีไม่พ้น ผมไม่อยากจะมีปัญหา ไม่อยากจะเป็นเป้าหรือว่าถูกด่าโดยไม่จำเป็น แต่ผมคิดว่ายังไงๆ ก็ต้องมีใครสักคนยอมรับทำงานนี้ และก็ต้องรับความเสี่ยง แต่สิ่งที่ขอก็คือว่า ตราบใดที่มันสะท้อนความเป็นจริงโดยที่ไม่บิดเบือน เราก็ต้องไปรับสภาพเอากับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

มองตัวอย่างยุโรป

อิตาลี

คดีนักการเมืองคอร์รัปชั่นของอิตาลีนั้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรีผู้อื้อฉาว ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ถูกศาลตัดสินให้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุป่วยโรคอัลไซเมอร์ สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 ปี ฐานฉ้อโกงภาษี ซึ่งเกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์โทรทัศน์ที่บริษัทมีเดียเซ็ตของเขาซื้อในช่วงทศวรรษหลังปี 2523 ทั้งนี้แบร์ลุสโคนีวัย 77 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี 3 สมัย ถูกลงโทษจำคุก 4 ปีในข้อหาโกงภาษี แต่ได้รับการนิรโทษกรรมทำให้โทษจำคุกลดเหลือ 1 ปี และถูกลดโทษเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ในที่สุด เพราะระบบยุติธรรมอิตาลีจะยกเว้นโทษจำคุกสำหรับนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม วันที่แบร์ลุสโคนีเดินทางมาถึงบ้านพักผู้ป่วยสูงวัย ได้มีชายคนหนึ่งที่มารอดูเหตุการณ์อยู่ ตะโกนออกมาว่า “ไปเข้าคุกเถอะ” ซึ่งน่าจะสะท้อนความรู้สึกของคนอิตาลีได้ดี

นอกจากนี้ล่าสุด มัตเตโอ เรนซี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอิตาลี ได้ประกาศเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ปราบปรามคอร์รัปชั่นแห่งชาติ ซึ่งจะให้หน่วยงานสามารถตรวจสอบการลงทุนและการแทรกแซง ที่จะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอิตาลี หลังจากที่นายกเทศมนตรีนครเวนิส จิออร์จิโอ ออร์โซนี ได้ประกาศลาออกหลังถูกระบุว่าเขารับสินบนในโครงการป้องกันน้ำท่วมของนครเวนิส ซึ่งเป็นโครงการยักษ์ของเมือง การคอร์รัปชั่นที่มีมากขึ้นในอิตาลี เป็นแรงกดดันให้เรนซีต้องดำเนินการปราบปรามโดยเร็ว เพื่อดึงการลงทุนจากนานาชาติ และสร้างความเชื่อมั่นจากสาธารณะต่อสถาบันต่างๆ ให้กลับคืนมา

ฟินแลนด์

เนื่องจากมีการคอร์รัปชั่นน้อยมาก ฟินแลนด์จึงไม่มีหน่วยงานพิเศษที่ทำหน้าที่ในการปราบปรามคอร์รัปชั่น แต่จะเน้นมาตรการเพื่อการป้องกันมากกว่า ด้วยการสร้างบรรทัดฐานด้านจริยธรรมให้กับคนในสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการ และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเอกสารราชการได้ทั้งหมด ยกเว้นที่เจาะจงว่าเป็นเอกสารลับจริงๆ

นอร์เวย์

มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักคือ หน่วยงานสืบสวนและสั่งฟ้องการก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินอร์เวย์ (Okukrim) ซึ่งให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับคดีขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน เพื่อที่จะเอาผู้กระทำความผิดตำแหน่งสูงๆ มาลงโทษให้ได้ เพราะต้องการสร้างค่านิยมว่าการคอร์รัปชั่นนั้นมีความผิดและต้องได้รับการลงโทษ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม

สวีเดน

ประสบความสำเร็จในการจัดการกับคอร์รัปชั่น เพราะมองว่าการคอร์รัปชั่นเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง ขณะที่สื่อมวลชนในสวีเดนมีก็บทบาทสำคัญในการตรวจสอบและสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชน เพราะมีเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ที่น่าสนใจคือรายได้ของทุกคนในสวีเดนถือเป็นข้อมูลสาธารณะ ใครๆ ก็สามารถตรวจสอบได้

ที่มา : aecconsultandconnect.co.th

10 ผู้นำที่คอร์รัปชั่นมากที่สุดในโลก

ผู้นำทางการเมือง  ประเทศ  มูลค่าทรัพย์สินที่ยักยอกไป  (ปีที่ครองอำนาจ) หน่วย : ล้านดอลลาร์

1. โมฮัมเหม็ด ซูฮาร์โต อินโดนีเซีย 15,000-35,000  (2500-2541)

2. เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ฟิลิปปินส์ 5,000-10,000  (2515-2529)

3. โมบูตู เซเซ เซโก ซาอีร์ 5,000  (2508-2540)

4. ซานิ อาบาซา ไนจีเรีย 2,000-5,000  (2536-2541)

5. สโลโบดาน มิโลเชวิช เซอร์เบีย/ยูโกสลาเวีย 1,000  (2532-2543)

6. ฌอง โคลด ดูวาลิเยร์ เฮติ 300-800 (2514-2529)

7. อัลแบร์โต ฟูจิโมริ เปรู 600  (2533-2543)

8. ปาฟโล ลาซาเรนโก ยูเครน 114-200 (2539-2540)

9. อาร์นอลโด อะเลอมาน นิการากัว 100  (2540-2545)

10. โจเซฟ เอสตราดา ฟิลิปปินส์ 70-80  (2541-2544)

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ