fbpx

พิศณุ นิลกลัด คลุกวงใน

อย่าเข้าใจไปว่าเราจะมาคุยกับ พิศณุ นิลกลัด แค่เรื่องกอล์ฟ เรื่องวงการมวย หรือเรื่องขำๆ จากสะเก็ดเก็บตกหลังข่าว แต่ผู้ชายคนนี้ในวัยเฉียดแซยิด มีเรื่องเล่ามากโขอยู่ในคลังความคิดมาเล่าสู่ให้เราฟังเพียงเรื่องชื่อของเขาก็สนุกแล้ว เพราะชื่อจริงๆ ของเขาตามบัตรประชาชนคือ ‘พิศณุ’ แต่เขาบอกว่า ใครๆ เขียนผิดมาตลอดเป็น‘พิษณุ’ โดยที่เขาไม่ได้ทักท้วง แต่มาปีนี้ เขาอยากแก้ไขให้ถูกต้องตามบัตรประชาชนเสียที นี่แสดงให้เห็นถึงความเป็นคนใจดีอย่างหนึ่ง เขาถือเป็นบุคคลสาธารณะที่ทำงานในวงการสื่อสารมวลชนกว่า 22 ปี ในบทบาทของผู้ประกาศข่าว นักพากย์รายการกีฬาและผู้ดำเนินรายการกีฬา นอกเหนือจากนั้น เขายังเป็นกูรูกอล์ฟ เป็นผู้บุกเบิกการสอนกอล์ฟทางโทรทัศน์ และยังเป็นคอลัมนิสต์เขียนเรื่องกอล์ฟตามสื่อต่างๆ ทั้งนิตยสารและหนังสือพิมพ์ รวมทั้งงานเขียนที่ออกจะแปลกแหวกแนวกว่าชิ้นอื่นๆ ที่ทำเป็นประจำ คือคอลัมน์ ‘คลุกวงใน’ ข้อเขียนขนาดป้อมๆ ไม่สั้น ไม่ยาว ในมติชนสุดสัปดาห์ ที่แปลกก็เพราะมันเป็นเรื่องสัพเพเหระของผู้ชายที่สนใจใคร่รู้ไปเสียทุกอย่าง เขาเขียนถึงสารพัดเรื่อง ตั้งแต่เรื่องดาราวัยรุ่นอย่างนิชคุณ เรื่องปลาเค็ม แสนอร่อยที่ตากใบ ไปจนถึงเรื่องหนักหนาสาหัสอย่างการเมือง เขาก็เขียนได้ แถมสนุกน่าอ่านเสียด้วย ถือเป็นมหรสพทางตัวหนังสือขนาดสั้นที่ยืนหยัดมากว่าสิบปีแล้ว ตัวหนังสือเป็นกันเองทำให้เราคุ้นเคยกับเขา เหมือนที่เราคุ้นเคยกับญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ห่างไกลกัน คือสนิท แม้ไม่ได้พบหน้าค่าตากัน ความหลากหลายและอารมณ์ขี้เล่นในข้อเขียน ทำให้เราอยากรู้ว่าตัวจริงเสียงจริงของเขาจะหล่อ ขี้เล่น และรอบรู้เหมือนที่คิดไว้ไหม พักสะเก็ดข่าวไว้สักครู่ ปิดโทรทัศน์ ปิดโทรศัพท์มือถือ มาคุยกับตัวจริงเสียงจริงกันดีกว่า

GM : เล่าให้เราฟังหน่อยว่าพื้นเพคุณมาจากไหน อย่างไร

พิศณุ : ผมเป็นคนเพชรบุรี เกิดที่อำเภอท่ายาง พ่อแม่เป็นครู ผมยังไม่ทันเข้าเรียนชั้น ป.1 พ่อแม่ก็ลาออกจากราชการไปทำไร่กล้วยไข่และส้มเขียวหวาน แม่บอกว่ารับราชการเงินไม่พอเลี้ยงลูก 8 คน ตอนลาออกจากราชการพ่อกับแม่เงินเดือนรวมกันไม่ถึงพันบาท ผมเรียน ป.1-ป.4 ที่ท่ายาง ป.5 เข้าไปเรียนที่อำเภอเมือง อยู่กรมทหารกับน้องชายคนเล็กของพ่อซึ่งเป็นนายทหาร จบ ป.5 หยุดพักการเรียนไป 1 ปี เพราะบ้าเลี้ยงปลากัดกับไก่ชน ม.ศ.1 เข้ากรุงเทพฯเรียนที่โรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ  บางเขน จนจบ ม.ศ.5 แล้วสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

GM : ชีวิตวัยเด็กของคุณโลดโผนไหม

พิศณุ : ไม่ถึงกับโลดโผนเพราะเป็นลูกครู สถานภาพทางสังคมของครูต่างจังหวัดเมื่อ 40-50 ปีก่อนโน้นยังเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ครูจึงต้องอบรมลูกให้เป็นเด็กดี เรียนหนังสือ ไม่เกะกะเกเร มีกิริยามารยาท รู้จักเดินด้วยปลายเท้า ผมเป็นลูกครูที่ดี ป.1- ป.4 สอบได้ที่ 1 ตลอด จบ ป.4 ยังสอบชิงทุนอำเภอได้ด้วย สมัยก่อนเขามีการสอบชิงแชมป์ ป.4 ประจำอำเภอทุกปี แต่ละโรงเรียนส่งยอดฝีมือได้ 1 คน ไม่ทราบเดี๋ยวนี้ยังมีอยู่หรือเปล่า

GM : ทำไมคุณถึงเลือกเรียนรัฐศาสตร์

พิศณุ : พ่อเป็นผู้ใหญ่บ้าน อยากให้ลูกเป็นนายอำเภอ พ่อเคยบอกใครต่อใครว่าจะให้พี่ชายคนถัดจากผมเป็นนายอำเภอ แต่พี่ชายผมดันไปอ่านนวนิยายเรื่อง ‘ร้อยป่า’ ตัวเอกชื่อเสือ กลิ่นสัก เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พอสอบเอนทรานซ์เลยเลือกคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยากเป็นแบบเสือ กลิ่นสัก แล้วสอบติดด้วย ภาระการเป็นนายอำเภอก็เลยตกมาอยู่ที่ผม แต่ปรากฏว่าพอเรียนชั้นปี 2 ผมไปอ่านสารคดีรวมเล่มเรื่อง ‘มาลัยร้อยชีวิต’ ของอรวรรณ (เลียว ศรีเสวก) เล่าถึงชีวิตนักข่าวหนังสือพิมพ์ว่ามันมีอิสรเสรีในการทำงานแบบเป็นลูกจ้างอาชีพอื่นไม่มีทางทำได้ ผมตัดสินใจวันนั้นเลยว่าจะเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์

GM : ทั้งๆ ที่คุณไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้ ตั้งแต่ต้น

พิศณุ : แต่ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจว่าจะเป็นนักข่าวตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย เหตุมันเริ่มจากในวิชารัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ตอนนั้น ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช สอนวิชาความคิดทางการเมือง ชั่วโมงแรกที่เข้าห้องสอน ท่านแจกชีท 3 แผ่น เป็นรายชื่อหนังสือสองร้อยกว่าเล่ม ทั้งหนังสือตำรารัฐศาสตร์ หนังสือนอกเวลา รวมทั้งหนังสือนวนิยายอย่างเรื่อง ‘ปีศาจ’ ‘สี่แผ่นดิน’ ท่านบอกว่าวันสอบจะมีข้อสอบข้อเดียว ใครจะสอบปากเปล่าก็ได้ ทำให้นิสิตทุกคนต้องอ่านหนังสือทุกเล่มเพราะเก็งข้อสอบไม่ได้ ตอนแรกเราก็คิดว่าเหนื่อยแน่ หนังสือเยอะเหลือเกิน แต่พออ่านไปได้สิบกว่าเล่มก็ติด นักอ่านก็คงเหมือนนักดูหนังที่ติดหนัง คนสูบบุหรี่ติดบุหรี่ คืออ่านจนติดเป็นนิสัย อ่านได้ทุกประเภท อ่านได้ทุกวัน ผมคิดว่าการอ่านหนังสือทำให้เราสามารถเป็นนักสื่อสารมวลชนได้ แม้จะไม่ได้เรียนวารสารศาสตร์หรือนิเทศ-ศาสตร์ จากนั้นพอจบมา ปี 2518 ผมก็เริ่มทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ เริ่มจากการเป็นนักข่าวการเมือง พอปี 2519 บ้านเมืองมีปัญหาเรื่องการเมือง เพื่อความปลอดภัยผมก็ย้ายมาเขียนข่าวกีฬาแทน ทำงานด้านข่าวกีฬาและเขียนเรื่องกีฬาจนทุกวันนี้ ก็นับเป็นสิบๆ ปี ทั้งเรื่องกอล์ฟและเรื่องสัพเพเหระ ส่วนคอลัมน์ ‘คลุกวงใน’ คุณเสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการบริหารมติชน

สุดสัปดาห์ชวนมาเขียน เขาเปิดกว้างให้ผมเขียนอะไรก็ได้ไม่จำกัด ผมก็เห็นดี เพราะผมชอบอ่าน มีความสนใจหลากหลายก็อยากเล่า

GM : คุณมีนักเขียนในดวงใจบ้างไหม

พิศณุ : ผมชอบงานเขียนของหลายๆ ท่าน แต่ที่จะบอกให้น้องๆ อ่านเสมอก็คือหนังสือทุกเล่มที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียน ท่านใช้ภาษาง่ายๆ แต่สวยงาม ไม่ใช่แบบ Big Words, Small Meaning งานของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็ชอบที่ท่านใช้ภาษาได้เหมือนตัวท่านเอง คือตรงๆ หนักแน่น และงานของคุณอัศศิริ ธรรมโชติ คนนี้เป็นกวีที่ทำให้ตัวหนังสือมีชีวิต

GM : คุณเคยคิดจะเขียนเรื่องสั้นหรือนวนิยายขนาดยาวบ้างไหม

พิศณุ : ผมเคยเขียนอยู่ 2 เรื่อง แต่รู้สึกว่าการเขียนเรื่องสั้นเป็นงานที่ต้องใช้ศิลปะมาก เราก็อยากทำออกมาให้ดีที่สุด ตอนนี้ยังไม่พร้อมเพราะงานเขียนคอลัมน์ที่มีอยู่ตอนนี้มีมากอยู่ เฉลี่ย 8 ชิ้นต่อสัปดาห์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานที่เรียกร้องเวลาพอควร สิ่งที่อยากทำตอนนี้ก็คือ เขียนตำรากอล์ฟที่นักกอล์ฟไทยทุกคนบอกต่อๆ กันไปว่า ถ้าคุณเล่นกอล์ฟคุณต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่อ่านได้ตลอดกาลแบบเดียวกับหนังสือ Little Red Book ของ Harvey Penick เป็นตำรากอล์ฟที่ไม่มีภาพประกอบแม้แต่ภาพเดียว แต่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ตำรากอล์ฟที่ผมแปลบ้างเขียนบ้าง จะเป็นเรื่องเทคนิคการเล่น ล้วนๆ จะเขียนเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับวงสวิงหรือเทคนิคการตีกอล์ฟ แต่เป็นสิ่งที่นักกอล์ฟไทยทุกระดับฝีมือไม่ว่านักกอล์ฟในปัจจุบันหรือในอนาคตอ่านแล้วมีความรู้สึกว่าต้องซื้อเก็บไว้หนึ่งเล่ม เพราะเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือนหรือ 1 ปีก็สามารถหยิบมาอ่านได้อีก เหมือนกับหนังสือฤทธิ์มีดสั้นหรือก๊อดฟาเธอร์

GM : อะไรทำให้คุณมีความสุขกับงานในฐานะนักสื่อสารมวลชนได้ถึงทุกวันนี้

พิศณุ : มันไม่ได้สุขตลอดเวลาหรอกครับ ทุกข์และเครียดก็มีอยู่เกือบทุกวัน คือทุกข์ว่างานจะออกมาไม่ดีทั้งงานทีวีและงานเขียนบทความ ทุกข์กับความคาดหวังของผู้ชมผู้อ่าน แต่ที่อยู่มาได้ถึงทุกวันนี้เพราะเราได้เลือกอาชีพด้วยตัวเองและยึดอาชีพนี้มาตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย คงชินกับความทุกข์จนคนอื่น คิดว่ามีความสุขตลอดเวลามั้ง

GM : คุณเป็นคนสนใจเรื่องกีฬา มีความสามารถทางด้านกีฬาหลายต่อหลายอย่าง โดยเฉพาะกอล์ฟ เมื่อนึกย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กีฬากอล์ฟยังไม่ได้กว้างขวางอย่างทุกวันนี้ คุณเสาะหาแหล่งความรู้จากไหน อะไรที่จุดประกายทำให้คุณสนใจกีฬากอล์ฟอย่างจริงจัง

พิศณุ : เรื่องรักกีฬาต้องยกให้พื้นฐานจากทางบ้าน ผู้ชายในบ้านผมเล่นกีฬาทุกคน แต่ละคนเล่นกีฬาหลายชนิด ผมเห็นพ่อ เห็นพี่ชายเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก แม่กับพี่สาวไม่เล่นกีฬา แต่ก็เป็นกองเชียร์ ชั้นดี ก็ซึมซับความชอบเล่นกีฬามาตั้งแต่ เรียนชั้นประถมแล้ว บ้านผมเล่นกีฬาเพื่อการแข่งขันด้วย จึงตั้งใจเล่นทุกอย่างเพื่อจะได้เป็นผู้เล่นทีมโรงเรียน ทีมอำเภอ ทีมมหาวิทยาลัยอย่างนั้นเลย ปี 2520 ผมเข้าสยามรัฐ เป็นบรรณา-ธิการข่าวกีฬา คุณสุรพันธ์ วิลาวัณย์ บรรณาธิการข่าวการเมืองเขาไปดูกอล์ฟ เวิลด์ คัพ ที่สนามนวธานี แล้วอยากเล่นกอล์ฟ เขาก็มาชวน ผมก็ไปด้วย ความที่ เราชอบเล่นกีฬาอยู่แล้ว เราหัดกัน 2 คน โดยอาศัยตำราเป็นหลัก โปร 3 คนที่ผมเคยขอคำแนะนำคือ คุณสุกรี อ่อนฉ่ำ คุณปรารถนา งามพร้อม และคุณนเรศ นาวิน ทั้ง 3 ท่านเคยเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งกอล์ฟ เวิลด์ คัพมาแล้ว แต่คนที่ผมได้ความรู้เรื่องกอล์ฟจากท่านมากที่สุดคือ คุณวิสุทธิ์ จุณณา-นนท์ พบกันครั้งแรกที่สนามกอล์ฟรถไฟ (ปัจจุบันคือสวนรถไฟ) ได้ออกรอบกับท่านแบบตัวต่อตัวสองคนด้วยความบังเอิญ  เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นผมโทรศัพท์ขอคำปรึกษาท่านเป็นประจำมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ทั้งเรื่องเทคนิคและประวัติศาสตร์

คุณวิสุทธิ์เป็นผู้ออกแบบสนามกอล์ฟสวนสามพราน เป็นนักกอล์ฟทีมชาติไทยรุ่นแรก เป็นนักเรียนมัธยมห้องเดียวกับท่านนายกฯอานันท์ ปันยารชุน จบสถาปัตย์ จุฬาฯ แล้วไปต่อโทที่อังกฤษ เป็นแฟนกีฬาที่รู้เรื่องกีฬาทุกชนิด แบบรู้ลึก เวลามีฟุตบอลโลก ท่านจะซ้อมนอนล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ ให้เวลาตื่นและเวลานอนของท่านตรงกับเวลาของประเทศที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เป็นคนอายุใกล้ 80 ที่ไม่เคยแก่ คุยกับคุณวิสุทธิ์ทีไร ผมรู้สึกว่าตัวเองมีความรู้เรื่องกอล์ฟ เรื่องกีฬา น้อยเหลือเกิน

แม้กระทั่งวันนี้

GM : เสน่ห์ของกอล์ฟอยู่ตรงไหน

พิศณุ : สำหรับผมอยู่ที่ความท้าทาย สนามกอล์ฟมันไม่เหมือนสนามฟุตบอลหรือสนามเทนนิส สนามเทนนิสคุณไปที่ไหนขนาดก็เท่ากันหมด ฟุตบอลก็เช่นกัน แต่สนามกอล์ฟแต่ละสนามในโลกนี้ไม่มีทางเหมือนกัน และต่อให้เป็นสนามเดิม แต่ละวันที่ออกรอบก็ไม่เหมือนกัน มันเป็นเกมที่ทำให้เราทั้งดีใจ เสียใจ เอาแน่ เอานอนไม่ได้ มันยั่วยวนให้เราสู้กับมัน แล้วเป็นเกมที่ยุติธรรม ไม่ว่าจะคนแก่ คนหนุ่ม เด็ก หญิง หรือชาย เล่นร่วมกันได้หมด และสนุกสนานด้วยหากมีแต้มต่อที่เหมาะสม ผมเคยออกรอบกับธงชัย ใจดี ธงชัยจะต่อแต้มให้ผม ไม่มากไม่น้อยไป เกมสนุกสูสีมาก จนไม่รู้ว่าใครแพ้ ใครชนะ แต่เล่นเทนนิสให้เฟเดอเรอร์ต่อให้คุณ 40-0 ยังไงคุณก็แพ้ ให้ผมไปตีกับเอแน็ง ผมก็แพ้ แต่เกมกอล์ฟไม่ใช่

GM : มีหลายคนพูดถึงเรื่องของความเชื่ยวชาญเรื่องกอล์ฟ จนถึงกับมีคนบอกว่าคุณน่าจะเทิร์นโปร หรือเข้าแข่งขันระดับอาชีพ

พิศณุ : ผมไม่เคยคิด ตอนที่ผมเรียนหนังสือ คนรุ่นผมคิดแต่จะเป็นครู เป็นหมอ เป็นทหาร ไม่มีใครคิดว่าตีกอล์ฟจะยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ พอมาเห็นว่าคนไทยอย่างธงชัย ใจดี ประหยัด มากแสง ก็เป็นนักกอล์ฟอาชีพได้ อายุก็มากเกินกว่าจะเริ่มต้นซะแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็มีความสุขกับการได้เล่นกอล์ฟ โดยเฉพาะกับคนหนุ่มๆ

GM : เชื่อว่าคุณมีโอกาสได้ออกรอบกับบรรดาดาราหรือคนดังอยู่บ่อยครั้ง พอบอกเราได้ไหมว่า ใครพอมีฝีมือ

เข้าขั้นบ้าง

พิศณุ : คนที่เก่งมากๆ ตอนนี้ ก็คือ คุณเท่ห์ (อุเทน พรหมมินทร์) คนนี้เก่งและมีความมุ่งมั่นมาก แท่ง (ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง) ก็เก่ง แต่อาจจะงานเยอะ ในวันที่เขางานน้อย เขาเก่งมาก อ่ำ (อัมรินทร์ นิติพน) ก็เก่ง แต่อ่ำเล่นกอล์ฟเหมือนนิสัย คือสนุกสนานเฮฮา ไม่ค่อยจริงจัง ถ้าจริงจังอ่ำก็จะเก่ง ผมชอบเล่นกับคนหนุ่มเพราะการได้สู้กับคนหนุ่มมันเป็นความท้าทาย และถ้าหาก  เราชนะ มันยิ่งภูมิใจ

GM : พูดถึงวงการแสดง ผู้ประกาศหลายคนก็เคยไปเล่นหนังเล่นละคร คุณไม่คิดจะลองบ้างหรือ

พิศณุ : ศาสตร์ของการเป็นผู้ประกาศกับการเป็นนักแสดง มีบางอย่างที่เหมือนกันอยู่บ้าง คือคุณต้องมีฝีมือ มีโอกาส และควรจะมีโชคบ้างพอสมควร สองอย่างแรกสำคัญที่สุด อย่างเช่นคุณสรยุทธช่อง 3 มีครบ คุณกนกช่อง 9 มีฝีมือไม่น้อยกว่าคุณสรยุทธ ความน่ารักน่าเอ็นดูมีมากกว่าด้วยซ้ำ แต่ประสบความสำเร็จน้อยกว่า เพราะช่อง 3

แข็งแรงกว่าช่อง 9 อย่างนี้ถือว่าโอกาสและโชคของคุณกนกน้อยกว่าทั้งๆ ที่เกิดจากค่ายเนชั่นเหมือนกัน วัยก็เท่ากัน ออกสตาร์ทงานทีวีก็พร้อมกัน ว่าไปแล้วผมว่าทุกอาชีพมีหัวใจของความสำเร็จขั้นพื้นฐานเหมือนกันหมด คือต้องมีฝีมือ มีโอกาส และมีโชค ส่วนใครจะสำเร็จมากน้อยและยั่งยืนแค่ไหน อยู่ที่การใฝ่รู้เพิ่มเติม การรักษามาตรฐานคุณภาพของงานให้คงเส้นคงวาเรื่องงานแสดงเคยมีสองสามครั้ง หนังก็มีอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องประเภทเสือใบ เสือมเหศวร อะไรแบบนั้น มีดารา  รับเชิญตั้งยี่สิบสามสิบคน ทุกคนล้วนแต่เป็นคนที่เราคาดไม่ถึงว่าจะเล่นหนัง พี่หงา คาราวานก็ยังเล่น! แต่ส่วนใหญ่ถามมาผมก็ปฏิเสธทุกเรื่อง เพราะมั่นใจว่าตัวเองทำได้ไม่ดี ส่วนละครก็เคยเล่นเรื่องเดียว เป็นละครพิเศษในวันพ่อแห่งชาติ เพราะผู้ใหญ่ของช่อง 7 สั่งว่าต้องเล่น รับบทเป็นครูวาดเขียน มีบทเจรจากับคุณศรัณยู วงษ์กระจ่าง ซึ่งลูกเขาเป็นลูกศิษย์ผมสองสามประโยค ทั้งเรื่องเล่นฉากเดียวถ่ายตั้ง 5 เทก

GM : กว่า 23 ปี ที่คุณทำงานอยู่กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ในขณะที่ผู้ประกาศรุ่นหลังๆ ย้ายงานกันเป็นว่าเล่น เป็นไปได้ไหมว่าทัศนคติของคนทำงานสมัยใหม่เปลี่ยนไป

พิศณุ : ต้องบอกว่าช่อง 7 ให้โอกาสผม ถ้าผมไม่ได้เริ่มต้นที่ช่อง 7 ก็ไม่ทราบว่าผมจะมีวันนี้มั้ย อันนี้เป็นเรื่องของบุญคุณ ที่สำคัญอีกเรื่องคือช่อง 7 ดูแลผม จนผมและครอบครัวรู้สึกว่าเรามีความปลอดภัยในชีวิตแล้ว ไม่จำเป็นต้องขวนขวายไปที่อื่น ถ้าเขาไม่บอกเลิก เราก็อยู่ไปจนกว่าจะเบื่อกันไปข้างหนึ่ง สำหรับคนรุ่นใหม่ๆ ที่ย้ายค่ายย้ายสถานี อาจเป็นเพราะยังหนุ่มยังสาวอยู่ อยากแสวงหาอะไรที่ดีกว่าที่เก่า ดีกว่าในเรื่องรายได้ เรื่องทีมงาน เรื่องสภาพแวดล้อม หรือในทุกๆ ด้าน อาจเหมือนการไหลบ่าของวัฒนธรรมการย้ายสโมสรฟุตบอลลีกของยุโรปมั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ ผมอยากให้น้องๆ อ่านหนังสือให้มาก ผมเชื่อว่าหากคุณเป็นสื่อ ก็ต้องอ่านหนังสือ หนังสือทำให้เราคิดเป็นระบบ ทำงาน พูด เขียน คิดเป็นระบบ พอเป็นระบบแล้ว เราจะแยกถูกแยกผิดได้อย่างถูกต้อง เพราะหากเราอ่านหนังสือน้อย ต้นทุนเราก็น้อย การแยกผิดแยกถูกก็จะไม่คม แต่เมื่อเรารู้มาก อ่านมาก เราจะสามารถชี้นำคนได้อย่างถูกต้อง คนอาจถามว่า เราเป็นสื่อชี้นำได้ยังไง ผมว่าได้ ถ้าหากคุณเป็นสื่อชั้นดี เหมือนคอลัมน์ซ้ายมือหน้าสามของไทยรัฐ นั่นผมว่าเป็นตัวอย่างที่สุดยอด ตั้งแต่วันแรกที่ผมเริ่มอ่านตอนเข้าเรียนปี 1 จนถึงวันนี้ คุณภาพไม่เคยตก คุณสุทธิชัย หยุ่น

อีกท่านหนึ่ง ข้อเขียนก็ไม่เคยตก กล้าหาญ ชัดเจน มั่นคง และไม่เคยแก่

GM : ถามตรงๆ และอยากให้ตอบตรงๆ คุณคิดว่าสถานีของคุณเป็นอย่างไร สิ่งที่คุณอยากเห็นต่อจากนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของรายการข่าวและรายการอื่นๆ ของทางสถานี

พิศณุ : ผมวิจารณ์ตัวเองใครจะเชื่อถือ แค่ผมบอกว่าละครช่อง 7 เหนือกว่าช่อง 3 แฟนคุณเคน ธีรเดช แฟนคุณแอน ทองประสม ก็เถียงคอแตกแล้ว เรื่องแบบนี้มันนานาจิตตัง ไม่เหมือนวิ่ง 100 เมตรที่แพ้ชนะตัดสินกันด้วยการจับเวลา

GM : แต่ต้องยอมรับว่าระยะที่ผ่านมาที่คุณเข้ามาร่วมงานกับสถานี เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ อย่างเช่น การอ่านข่าวในแนวทางใหม่ๆ การอ่านสะเก็ดข่าว คุณรู้ได้อย่างไรว่า อย่างไหน  เหมาะสมและทำได้ หรืออย่างไหน

ไม่เหมาะที่จะทำ

พิศณุ : เรื่องการทำงานต่างๆ ผมว่ากาลเทศะเป็นตัวกำหนดว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ควรทำ กาลเทศะ ได้มาจากการอบรมทางบ้านตั้งแต่เด็ก จากโรงเรียน มหาวิทยาลัย จากการเข้าสังคมที่ให้ความสำคัญเรื่องระเบียบวินัย อย่างภาพอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งนั่งคุกเข่าก้มกราบพระ เป้ากางเกงขาดแควกถึงก้นกบ เห็นกางเกงในสีขาวห้อยเป็นพวง ช่างภาพนำเสนอให้ออกสะเก็ดข่าว เราก็ต้องอธิบายว่าอย่าออกเลย ทุกคนเสียหมด ผู้ชมจะดูถูกรายการสะเก็ดข่าวของเราด้วย สำหรับบทที่ผมอ่านในสะเก็ดข่าวก็เหมือนกัน เราตกลงกันว่ารายการของเราจะไม่ทำร้ายใคร ถ้าเลวร้ายแบบน่าด่าจริงๆ ก็อย่าเอาออกอากาศเลย พื้นที่ตรงนี้เอาไว้สำหรับข่าวขำๆ ถ้าจะตำหนิกันก็เอาแค่หยิกแกมหยอกด้วยภาษาที่ไม่ทำให้คนถูกหยิกเคืองส่วนการอ่านข่าวรายการข่าวปกติ เรียนตามตรงว่าผมลอกเลียนแบบมาจาก คุณฉลวย เรืองชาญ ซึ่งเคยอ่านข่าวต่างประเทศทางช่อง 5 เมื่อราวๆ 30 ปีก่อนโน้น คุณฉลวยเป็นผู้ประกาศข่าวบีบีซีมาก่อน อ่านข่าวเหมือนบอกข่าวให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งเป็นสไตล์ของคนบีบีซี ผมฟังแล้วชอบมาก สบายๆ ไม่แข็งเหมือนการอ่านข่าวของผู้ประกาศคนอื่นๆผมทดลองอ่านอย่างคุณฉลวย โดยตั้งใจว่าถ้ามีเสียงตำหนิจากผู้ชมหรือผู้บริหารก็จะเลิก ปรากฏว่าไม่มี ก็เลยอ่านแบบบอกข่าวตลอดมา คุณเป็นคนที่สองที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ คนแรกคือ ครูแอ๋ว-อรชุมา ยุทธวงศ์

GM : ว่ากันว่าอีกไม่นาน Free TV อาจจะกำลังตายไปช้าๆ เช่นเดียวกับธุรกิจหนังสือพิมพ์ที่เริ่มส่อเค้าให้เห็น คุณคิดเห็นอย่างไรในฐานะที่คุณเป็นสื่อมวลชนที่ทำงานมาตลอด 30 ปี

พิศณุ : คนทีวีระดับแถวหน้าสุดของประเทศสี่ห้าคนพูดแบบนั้น เขาบอกว่าถ้าทีวีดาวเทียมที่มีอยู่ทุกวันนี้สักสองสามช่อง ผลิตรายการตั้งแต่ตี 5 ถึงเที่ยงคืน ให้ปริมาณและคุณภาพเหมือนช่อง 3 ช่อง 7 ฟรีทีวีจะต้องปรับตัว เพราะเมื่อคนดูมีทางเลือกมากขึ้น คนใช้เงินโฆษณาสินค้าทางทีวีก็มีทางเลือกมากตามไปด้วย และถ้าวันหนึ่งผู้ผลิตรายการหรือผลิตละครเห็นพร้อมกันว่าทำรายการช่องดาวเทียมคล่องตัวกว่า วงการทีวีบ้านเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สำหรับหนังสือพิมพ์ผมว่าคงจะมีปลายทางเหมือนฟิล์มถ่ายรูป เมื่อ 20 ปีก่อนโน้นจะมีสักกี่คนที่คิดว่าเราสามารถถ่ายรูปด้วยกล้องถ่ายรูปที่ไม่ต้องใช้ฟิล์ม

GM : คุยถึงเรื่องน่าเบื่อของหลายๆ คนอย่างการเมืองบ้าง คุณคิดเห็นอย่างไรกับการเมืองบ้านเรา และทางออกของปัญหานี้ในทรรศนะของคุณคืออะไร และมีทางเป็นไปได้ไหม ?

พิศณุ : การเมืองไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ แต่เป็นเรื่องน่าห่วงใย พูดถึงทีไรทุกข์ใจทุกครั้ง นักวิเคราะห์บางท่านบอกว่าต้องจบด้วยความรุนแรง ทุกอย่างจึงจะจบ ประวัติศาสตร์มันเป็นอย่างนั้น ผมไม่อยากเห็น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ผมเห็นว่าเห็นผลทันทีคือ คุณทักษิณต้องเสียสละเหมือนท่านปรีดี เหมือน อาจารย์ป๋วย หรือแม้แต่จอมพลถนอม จอมพลประภาส ถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้บ้านเมืองพังพินาศ อย่างการเอาอุจจาระไปปาบ้านนายกฯ ดูเผินๆ เหมือนเรื่องจิ๊บๆ แต่พอเป็นข่าวไปทั่วโลก ประเทศที่เจริญแล้วเขาถือเป็นเรื่องใหญ่ มีผลต่อการท่องเที่ยว เพราะต้นทุนเรื่องความสงบเรียบร้อยของเราต่ำมาหลายปีแล้ว เอาไปเทียบกับอิตาลีที่นายกฯโดนเรซินทุบปากไม่ได้

GM : ดูเหมือนว่าแวดวงการกีฬา

บ้านเราก็ไม่แตกต่างจากวงการเมือง

พิศณุ : ใช่, คุณพูดถูก การเมืองกับการกีฬาของเราคล้ายกัน ในแวดวงกีฬามีผู้บริหารสมาคมที่มีทั้งคนดีและมีทั้งคนไม่ค่อยดี คนที่เข้ามาเพื่อสร้างผลงาน สร้างนักกีฬาเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศก็มีอยู่ แต่บางคนก็เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เช่นเดียวกับนักการเมืองก็มีอยู่มากที่เป็นแบบนี้ ยิ่งหากคุณเป็นนายกสมาคมที่เป็นกีฬาของมหาชน ที่ได้รับความนิยมมากๆ มีสปอนเซอร์มาก คนที่มองเห็นช่องทางแบบนี้ก็เข้ามาเพื่อแสวงหาผลกำไร ผมไม่เห็นด้วยอย่างมากที่เรามีการแก้กฎกติกาว่า หากใครคนใดที่เป็นกรรมการขององค์กรระหว่างประเทศ คุณสามารถเป็นนายกสมาคมได้ยาวนาน ซึ่งอาจหมายถึงตลอดชีพเลยก็ได้ แต่เดิมกำหนดไว้ว่านายกสมาคมห้ามเป็นติดต่อกันเกิน 2 สมัย ตอนนี้กลายเป็นว่าในสมาคมกีฬาใหญ่ๆ จะมีคณะกรรมการหน้าเดิมๆ ชุดเดิมๆ ผมถือว่ามันไม่สร้างผู้นำใหม่ ผมว่าการสร้างผู้นำใหม่มันมีความคิดใหม่ และน่าเสียดายที่คนรุ่นใหม่ เหล่านี้ไม่ได้เข้ามา ผมยืนยันเสมอว่า ผมไม่เห็นด้วยหากเป็นแบบนี้ อย่าพูดว่าฟุตบอลไทยจะไปฟุตบอลโลกหรืออะไรแบบนั้น ผมว่าไม่มีทาง ผมไม่เห็นทางเลยถ้ายังทำงานกันแบบนี้ รัฐบาลต้องกล้าๆ หน่อย ยื่นมือเข้ามาจัดการกฎกติกาให้เรียบร้อย หลายๆ ส่วนช่วยกันผลักดันแก้ไข ทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้น

ผมว่ากีฬาเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ นึกถึงที่เราสามารถจัดกอล์ฟรายการระดับโลก อย่าง LPGA Tour ซึ่งมีมือวางอันดับแรกของโลก 49 คนมาร่วมแข่งขัน พอมีกิจกรรมแบบนี้ ทั่วโลกก็ต้องมองว่าเราจัดได้อย่างไร แสดงว่าบรรยากาศการเมือง เศรษฐกิจ การเมืองสงบเรียบร้อยดีใช่ไหม จนสามารถจัดรายการกอล์ฟใหญ่ขนาดนี้ได้ ทุกอย่างมันเป็นภาพลักษณ์ที่ดี

GM : ในฐานะที่คุณจบรัฐศาสตร์ เป็นบุคคลสาธารณะที่ทุกคนรู้จัก ซึ่งดูเหมือนจะมีคุณสมบัติครบสำหรับการเป็นนักการเมือง คุณเคยสนใจจะลองลงสมัครเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. หรือทำงานด้านการเมืองหรือไม่

พิศณุ : เคยได้รับการทาบทามจากพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดในแต่ละช่วงเวลา 3 ครั้ง ผมตอบปฏิเสธด้วยความสุภาพด้วยเหตุผล 2 อย่างคือ ไม่อยากมีศัตรู และลูกกับภรรยาไม่อนุมัติ

GM : คุณมองว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร และมีประสบการณ์ในชีวิตครั้งไหนบ้างไหมที่เปลี่ยนความคิดของคุณได้

พิศณุ : เป็นคนที่ค่อนข้างโชคดี มีคนอุปถัมภ์เป็นทอดๆ ตามวัย ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน แต่ก็มีนิสัยเสียที่ยังแก้ไม่หายคืออารมณ์ฉุนเฉียว ซึ่งก็พยายามลดอยู่ เรื่องประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตผม น่าจะเป็นวันที่ผมอ่าน ‘มาลัยร้อยชีวิต’ ของอรวรรณ ที่ ดร. ชัยอนันต์กำหนดให้อ่านตอนเรียนวิชาความคิดทางการเมือง นั่นทำให้ผมตัดสินใจเป็นนักข่าวแทนที่จะเป็นนายอำเภออย่างที่พ่ออยากให้เป็น

อีกช่วงหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตผมเลยก็เห็นจะเป็นปีที่แล้ว ที่ผมเพิ่งรู้ตัวเองว่ากระดูกสันหลังผมขาดมาตั้งแต่เกิด คุณหมอบอกว่ากรณีแบบนี้ สองสามล้านคนจะเจอสักคนหนึ่ง ตอนหนุ่มๆ ที่ร่างกายยังแข็งแรง กล้ามเนื้อก็จะช่วยยึดเราไว้ แต่พอแก่ตัว กล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแอ อาการก็เริ่มสำแดง ทำให้เราเจ็บมาก ก่อนผ่าตัดสักสองเดือน ผมทำอะไรไม่ได้เลย เดินก็ไม่ได้ เวลาอ่านหนังสือก็ต้องนอนอ่าน นั่งอ่านข่าว เบรกก็ต้องพัก ทรมานมาก ตอนนั้นก็ทำให้เราเป็นกังวลเรื่องชีวิตอยู่พอสมควร สุดท้ายคุณหมอแนะนำให้ผมผ่าตัดดามกระดูก โดยใช้ไทเทเนียม ตอนนี้ดีขึ้นมาก ผมนั่งได้ปกติ แต่กว่าจะกลับไปตีกอล์ฟได้ต้องรอให้ผ่านเดือนเมษายนไปก่อน ตอนนี้เริ่มเดินบนลู่วิ่งได้แล้ว ออกกำลังกายได้นิดหน่อย เตรียมตัวไว้สำหรับการออกไปต่อสู้กับคนหนุ่มอย่างสมศักดิ์ศรี

GM : การมีชีวิตอยู่ของคุณเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคุณไหม ใครบางคนตั้งเป้าว่าจะอยู่ให้นานนับร้อยปี สำหรับ คุณ มีความคิดแบบนั้นบ้างหรือเปล่า

พิศณุ : ผมไม่คิดว่าผมจะอยู่ได้นาน

หรือไม่ แต่ผมอยากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความสุข ทั้งตอนทำงานและนอกเวลา ทำงาน มีร่างกายที่แข็งแรง แค่นั้นก็พอ ผมว่าพอเราอายุประมาณหนึ่ง ทำงานมาประมาณหนึ่ง มีความมั่นคงไว้ให้กับครอบครัว ถึงตอนนั้น เราก็จะไม่ค่อยกลัวกับความตายนะ เพียงแต่ว่าถ้าเลือกได้ ขออย่าให้ทรมาน คือถ้าตายแบบ ย.โย่ง (เอกชัย นพจินดา) คือแวบไปเลยนะ ผมยินดี แต่หากว่าจะตายแล้วต้องมีเข็มปักที่ตัวเต็มไปหมด มีสายระโยงระยาง ผมว่าผมไม่เอา ผมกับภรรยามีข้อตกลงกันไว้แล้วว่า หากถึงเวลานั้นจริงๆ ก็อย่ายื้อ เราไม่ได้อยากเป็นมนุษย์ผัก ถ้าจะอยู่ก็ขออยู่อย่างสง่างาม

GM : อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับความเป็นมนุษย์

พิศณุ : ทำงาน ผมว่าเราไม่ทำงานเราจะอยู่ได้ยังไง วันเวลามันจะผ่านไปยังไง เอาแค่เวลากลางวันที่พระอาทิตย์ขึ้น เราจะไม่ทำงานได้อย่างไร ผมนึกไม่ออกว่าหากคนเราไม่ทำงานเลย ลองดูก็ได้ คุณลองหยุดงานสักเดือนหนึ่ง ผมว่าคุณก็ต้องแทบคลั่งหากว่าคุณเป็นคนที่ทำงานมาโดยตลอด ยิ่งโดยอาชีพการเป็นนักข่าวด้วยแล้ว การนั่งเฉยๆ ของคนข่าว ก็ถือเป็นการทำงานเพราะเราคิดตลอด

GM : แสดงว่างานของคุณไม่มีคำว่า รีไทร์

พิศณุ : ถ้ากำหนดได้ อยากเขียนบทความแบบบรรณาธิการอนุญาตให้เขียนเรื่องอะไรก็ได้แบบที่มติชนสุดสัปดาห์เขาอนุญาตให้ทำอยู่ทุกวันนี้สัปดาห์ละชิ้นหรือสองชิ้น งานเขียนหนังสือเป็นงานที่ชอบ สองชิ้นต่อสัปดาห์เป็นปริมาณงานที่ทำได้สบายๆ ไม่กดดัน การเขียนบทความทำให้เราต้องค้นคว้า พบปะผู้คนทุกวัน ชีวิตไม่จำเจ สมองได้คิด ถ้าอายุเกิน 60 ให้ผมทำงานเท่านี้ผมคงมีความสุขมาก ส่วนธุรกิจอย่างอื่นที่ร่วมทุนกับเพื่อนๆ ภรรยากับลูกสาวเขาทำของเขาอยู่แล้ว

GM : เราไม่ค่อยได้เห็นคุณพูดถึงเรื่องครอบครัวคุณเท่าไหร่ โดยเฉพาะลูกสาวของคุณ

พิศณุ : จริงๆ ผมไม่ค่อยมีเวลาเลี้ยงลูกเท่าไหร่ เพราะแต่ไหนแต่ไรมาผมทำงาน 2 แห่งมาตลอด กลางวันที่หนึ่ง กลางคืน อีกที่หนึ่ง กลับบ้านก็เที่ยงคืน หรือบางทีก็ตีสี่ตีห้า ฉะนั้นหน้าที่เลี้ยงลูกส่วนมากจะเป็นของภรรยา แต่เราก็เป็นครอบครัวที่ใกล้ชิดกัน ผมจะไม่สอนอะไรเขามาก นอกเหนือจากพยายามทำให้เขาเห็น โดยเฉพาะเรื่องของการรักการอ่านซึ่งเขาก็ได้จากเราไปมาก ตอนนี้ลูกสาวผมเขาอายุ 32 หลังจากที่จบรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขาไปเรียนปริญญาโทด้านการท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม แล้วก็ไปเรียนปริญญาโทอีกใบด้าน Sport Management ที่อเมริกา หวังจะกลับมาทำอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งที่เราทำอยู่ แต่ความที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศนานมาก ก็ไม่อยากกลับมาทำงานที่เมืองไทย สุดท้ายก็ไปเปิดร้านขายกาแฟที่ลาสเวกัส เขาทำเองทุกอย่าง ก็ทำมา 4 ปีแล้ว แต่พอเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มแย่ ร้านก็ขายได้ไม่ดีเหมือนเก่า ก็เลยยื่นคำขาดว่ากลางปีนี้ยังไงก็ต้องกลับมา ให้ขายกิจการแบบยอมขาดทุน แล้วก็กลับมาช่วยงานผม เพราะผมก็ต้องการลดปริมาณงานที่ผมทำอยู่ตอนนี้ แต่ช่วง 10 ปีที่เขาอยู่ที่โน่นเขาก็ช่วยผมได้มากในเรื่องข้อมูลงานเขียน เพราะเขาอยู่ในสายกีฬา และเขาเป็นคนมีเหลี่ยมข่าว

รู้ว่าเราต้องการอะไร เป็นผู้หญิงที่เข้าใจกีฬา เป็นแฟนกีฬา และเป็นเพื่อนดูกีฬาที่ดีของผม

GM : หลายคนบอกว่าคุณพิศณุเป็นคนที่ดู Young at Heart อยู่เสมอ คุณคิดว่าเป็นคนอย่างนั้นไหม

พิศณุ : แล้วแต่ว่าคุยอยู่กับใคร คบคนรุ่นเดียวกันก็ได้ประสบการณ์อย่างหนึ่ง คนสูงอายุก็ได้อีกแบบหนึ่ง เที่ยวกับเพื่อนรุ่นน้อง ออกรอบเล่นกอล์ฟต่อสู้กับพวกดาราอายุ 30 กว่าๆ ก็ทำให้เลือดฉีดซู่ซ่า ตื่นเต้นตั้งแต่ขับรถออกจากบ้านไปสนามกอล์ฟ คุณอนันต์ อนันตกูล อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยบอกว่า ต้อง ‘หมั่นออกนอกบ้าน ช่วยงานสังคม เข้าชมรมคนดี มีเพื่อนหนุ่มสาว จะทำให้เราไม่แก่เร็ว’

GM : พูดถึงธุรกิจที่คุณทำที่เขาใหญ่กับเพื่อนๆ เป็นอย่างไรมาอย่างไร ถึงได้เริ่มต้นคิดอยากจะทำธุรกิจนี้ และมีแผนจะทำอะไรต่อไปในอนาคต

พิศณุ : ผมไม่มีหัวทางด้านธุรกิจ แต่เพื่อนเขามี เรา 3 คนมีบ้านที่เขาใหญ่ ไปกันทุกสัปดาห์ เขาคนหนึ่งซึ่งสร้างหมู่บ้านขายฝรั่งสแกนดิเนเวียนอยู่ที่ประจวบฯ บอกว่าจะทำพรีโม พอสโตเพื่อหากำไรมาแบ่งกันเดือนละ 1 หมื่น เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าแม่บ้านของแต่ละคน ไม่ได้คิดเรื่องกำไร เขาคิด เขาทำ และออกแบบเอง ผมกับเพื่อนอีกคนลงเงินอย่างเดียว ลงความคิดบ้างเล็กน้อยว่าเราควรจะบริหารจัดการอย่างไร ไม่คิดว่าจะโดนใจผู้คนมากมายขนาดนี้ ตัวเลขผู้มาเที่ยวพรีโม พอสโต ตลอด 2 ปีทำให้เพื่อนคนเดิมตัดสินใจทำ ปาลิโอ ซึ่งใหญ่กว่าเดิมประมาณ 50 เท่า ผมก็ว่าไงว่าตามกัน เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ขณะนี้ผมยังไม่มีแผนอะไรอีก แล้วแต่เพื่อน

GM : ดูเหมือนทุกคนกำลังมาเขาใหญ่ คุณกลัวไหมว่าคนกรุงอย่างเราๆ กำลังเข้ามาเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมของเขาใหญ่

พิศณุ : ผมอยากให้ดูที่ปาลิโอ เราเป็น Green Outdoor Walking Street เราไม่มีแอร์ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ออกแบบหมู่ตึกให้สูงพอจะบังแดดให้ถนนได้ พนักงานที่นี่ 95 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นคนปากช่อง เขาใหญ่ เราเชื่อว่าหากว่าใครจะมาทำที่นี่ ต้องทำให้กลมกลืนกับธรรมชาติ หากเราไม่ทำแบบนี้ ธรรมชาติก็ไม่เอื้ออำนวยเรา และคนที่นี่ก็คงไม่ยอม

GM : การเริ่มธุรกิจในช่วงชีวิตที่ไม่ใช่วัยหนุ่มแบบนี้ คุณรู้สึกว่ามันเสี่ยงไปไหม ?

พิศณุ : จริงๆ ผมไม่รู้เรื่องรายได้ของผมเลยว่า ผมมีรายได้เดือนหนึ่งเท่าไหร่ ภรรยาผมเป็นคนจัดการทั้งหมด ผมมีหน้าที่ทำงานอย่างเดียว แต่เราก็มีการแบ่งสรรปันส่วนไว้แล้วว่า ควรจะลงทุนเท่าไหร่ ควรจะเก็บเท่าไหร่ เขาจัดการเรื่องการเก็บออม ส่วนหนึ่งก็คือมาลงทุนกับเพื่อนๆ ถ้าสมมุติว่าเงินส่วนนี้มันเป็นอะไรไป เราก็ไม่เดือดร้อน เราก็ยังโอเค เรียกว่าพร้อมที่จะขาดทุนแบบไม่เดือดร้อน

GM : อีก 10 ปี คุณยังเล่นกอล์ฟอยู่ไหม และชีวิตคุณจะเป็นอย่างไร ?

พิศณุ : กอล์ฟก็ยังเล่นอยู่ครับ! ผมจะเล่นจนกว่าจะเดินไม่ไหว มีคนเคยบอกว่ากอล์ฟเป็นกีฬาที่เรียกว่า Lifetime Sport คือตราบใดที่คุณยังเดินได้ คุณก็เล่นได้ มีแรงมากก็ใช้มาก มีน้อยก็ใช้น้อย ตอนผมแก่ตัวลงผมก็จะมีสวิงให้น้อยลง เล่นให้สวยงามเหมือน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เดี๋ยวนี้เครื่องไม้เครื่องมือกอล์ฟก็ออกแบบมาสำหรับผู้เล่น

หลายรูปแบบ ทั้งคนแก่ ทั้งผู้หญิงทั้งเด็ก เล่นได้หมด เชื่อได้เลยว่าคนที่เล่นกอล์ฟจะเลิกเล่นก็ต่อเมื่อเดินไม่ได้หรือตาย แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่าหากคุณยังมีงานเยอะอยู่ หรือมีภาระมาก อย่าเล่นกอล์ฟ เพราะเล่นแล้วมันติด ติดขนาดที่ว่า ถ้าคุณมีงาน คุณอาจไปสายหรือเบี้ยวงานบ้าง แต่ถ้านัดตีกอล์ฟก๊วนนัดคุณตี 5 คุณก็จะไปตี 5 เล่นกอล์ฟเหมือนขึ้นเครื่องบิน ทุกคนเป๊ะมาก !เรื่องอื่นๆ อย่างที่กล่าวไปว่า ได้ทำงานที่รักด้วยปริมาณที่ไม่มากเกินไป ได้อ่านหนังสือรายวันรายสัปดาห์ครบถ้วนโดยภรรยาไม่โมโหว่ายังทำงานไม่เสร็จ มีเวลาอ่านพ็อกเก็ตบุ๊คบ้าง ได้ไปนอนที่เขาใหญ่ในวันหยุด พยายามดูแลสุขภาพไปหาหมอตามเวลาเพื่อจะได้ตายทีหลังภรรยา เขาสั่งนักหนาว่าห้ามผมตายก่อนเขาจะอยู่ลำบากเพราะไม่มีเพื่อน

สะเก็ดข่าวแรก มากันที่สนามกอล์ฟที่พิศณุชอบ เราถามไปว่าเป็นที่ไหน และเพราะอะไร คำตอบเป็นดังนี้

“ผมชอบสนามออกัสต้า เพราะพากย์ถ่ายทอดสดจากอเมริกาทุกปีมาเกือบ 20 ปี อ่านประวัติศาสตร์และเขียนบทความเกี่ยวกับออกัสต้าในแง่มุมต่างๆ มาเป็นร้อยชิ้น เป็นสนามที่นักกอล์ฟทั้งโลกฝันอยากไปเล่น แต่เข้าไปเล่นยากมากเพราะต้องมีสมาชิกของสนามพาเข้า แล้วทั้งโลกมีคนเป็นสมาชิกสนามออกัสต้าไม่ถึง 400 คน แค่ค้นว่าใครเป็นสมาชิกสนามก็เลือดตาแทบกระเด็นแล้ว แล้วไหนต้องขอร้องให้เขาพาไปเล่นอีก ถ้าไม่รักใคร่หรือเกรงใจกันสุดขีดไม่มีใครเขาทำให้ ผมเองที่ได้ไปเล่นเพราะบารมีเพื่อนคนไทยที่เขาสนิทสนมกับสมาชิกสนามออกัสต้า ชีวิตนี้มีโอกาสเล่นแค่ครั้งเดียว ขอเล่นครั้งที่ 2 ถือเป็นการเห็นแก่ตัว ผมคิดว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกได้เล่นที่ออกัสต้าแค่ครั้งเดียว การเข้าไปเล่นยากมาก และการที่สนามติดอันดับท็อปเท็นสนามกอล์ฟยอดเยี่ยมของโลกทุกปีมายาวนาน ทำให้ทุกคนที่ได้เล่น

ไม่ลืมออกัสต้า นึกถึงทีไรมีความสุขทุกครั้ง”

สะเก็ดข่าวที่สอง เป็นเรื่องในสนามกอล์ฟอีกเช่นกัน ถามถึงสนามแล้วไม่ถามถึงไม้กอล์ฟ ก็เหมือนลืมคุยเรื่องกระบี่กับจอมยุทธ คุณใช้ไม้กอล์ฟรุ่นไหนบ้างครับ

“ทุกวันนี้มีไม้กอล์ฟที่ใช้เป็นประจำอยู่ 7 ยี่ห้อ คือ ฮอนม่า (Honma) ซอร์ด (Katana Sword) พิง (Ping) คอบร้า (Cobra) โยเน็กซ์ (Yonex) คัลลาเวย์ (Callaway) และไนกี้ (Nike) เพราะทุกยี่ห้อเป็นสปอนเซอร์รายการกอล์ฟของผมทางช่อง 7 เจ้าของไม้กอล์ฟทุกยี่ห้อก็ต้องการให้ผมใช้ไม้ของเขา ผมจึงต้องบริหารจัดการตรงนี้ให้ยุติธรรม ถ้าเป็นการเล่นรับแขก แพ้ชนะไม่สำคัญ ใช้ยี่ห้ออะไรก็ได้ แต่ทุกยี่ห้อเข้ามือหรือเหมาะกับวงสวิงของผมมากน้อยไม่เท่ากัน ดังนั้นผมจึงมีชุดไว้ออกศึกสำคัญของผมอยู่ชุดหนึ่ง ไม้ 14 อันในถุงตั้งแต่ไดรเวอร์ถึงพัตเตอร์เป็นการจัดแบบมิกซ์ แอนด์ แมตช์ คือเลือกอันที่เราตีได้ดีที่สุด จับแล้วมั่นใจที่สุดของแต่ละยี่ห้อมาผสมกัน แล้วแต่ความรู้สึกในช่วงเวลานั้นๆ”

“สนามกอล์ฟมันไม่เหมือนสนามฟุตบอลหรือสนามเทนนิส ตรงที่คุณไปที่ไหนขนาดก็เท่ากันหมด แต่สนามกอล์ฟแต่ละสนามในโลกนี้ไม่มีทางเหมือนกัน และต่อให้เป็นสนามเดิม แต่ละวันที่ออกรอบก็ไม่เหมือนกัน”

สะเก็ดข่าวที่สาม หากเป็นม้าดี ก็ต้องนับกันที่สนามที่ชนะ หากเป็นนักกอล์ฟ อดไม่ได้เช่นกันที่จะพูดถึงการแข่งขัน คุณพิศณุเคยแข่งมากี่ครั้งครับ แล้วคว้าแชมป์มากี่รายการ

“มันเยอะ เยอะทั้งจำนวนแข่งและจำนวนแชมป์ เล่นมา 30 กว่าปี ช่วง 5 ปีแรกอาการเหมือนวัวเด็กที่เขาเพิ่งงอก เจออะไรมันอยากขวิดไปหมด ตั้งแต่ปี 2532 เลิกแข่งขันที่เป็นการแข่งอย่างเป็นทางการเพราะพอมาสอนกอล์ฟทางทีวี สถานภาพการเป็นนักกอล์ฟสมัครเล่นก็หมดไป แข่งโปรก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นนักกอล์ฟอาชีพ

แข่งสมัครเล่นก็ไม่ได้ เพราะสอนกอล์ฟทางทีวีแล้วรับค่าจ้าง 20 ปีหลังเล่นกับก๊วนประจำหรือเล่นกับลูกค้าซะเป็นส่วนใหญ่ รายการที่ชนะใหญ่ๆ ก็มีชนะเลิศกอล์ฟชิงแชมป์ประเทศไทยประเภทจูเนียร์เมื่อปี 2527 ที่สนามสามพราน ปีนั้นคุณบุญชู เรืองกิจ ได้แชมป์ประเภทซีเนียร์ แต้มต่อ 0 ถึง 9 ผมได้แชมป์จูเนียร์ แต้มต่อ 10 ถึง 15 แข่ง 4 วัน

72 หลุม ทุกคนเล่นจากแท่นทีออฟหลังสุด ยุคนั้นการแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นที่ถือเป็นรายการใหญ่สุดของประเทศมี 2 รายการ คือ คิงส์คัพที่สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน กับรายการชิงแชมป์ประเทศไทย”

“เรื่องการทำงานต่างๆ ผมว่ากาลเทศะเป็นตัวกำหนดว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ควรทำ กาลเทศะได้มาจากการอบรมทางบ้านตั้งแต่เด็ก จากโรงเรียน มหาวิทยาลัย จากการเข้าสังคม”

สะเก็ดข่าวที่สี่ เป็นเรื่องของกีฬาอีกประเภทที่คุณพิศณุเล่นเป็นประจำสม่ำเสมอ นั่นคือ เทนนิส ว่ากันว่ามันไปได้ดีกับกีฬากอล์ฟ เพราะทำให้ขาแข็งแรง ว่าแต่คุณพิศณุใช้ไม้อะไรครับ

“ผมใช้โยเน็กซ์มา 30 ปีแล้ว ไม่เคยเปลี่ยนยี่ห้อเพราะทางโยเน็กซ์เขาให้ฟรี แต่ละปีเขาก็เปลี่ยนรุ่นมาให้อยู่เรื่อยตามเทคโนโลยีและตามรุ่นที่นักเทนนิสชื่อดังใช้ ส่วนสนาม เปลี่ยนสนามไปตามวัยและทำเลของสถานที่ทำงาน ตอนอายุ 20 กว่า มีก๊วนประจำที่คอร์ตซอยนวลน้อย เอกมัย และคอร์ตลาดพร้าว 107 แต่ช่วงสิบกว่าปีหลังเล่นคอร์ตของช่อง 7 ที่เดียว เพราะในสถานีมีคอร์ตเทนนิส 2 คอร์ต ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง”

สะเก็ดข่าวท้ายสุด รู้มาว่าคุุณมีร้านไวน์

“ครับ ที่พรีโม พอสโต ชื่อดิวิโน่ เปิดมา 2 ปีแล้ว ร้านนั้นเข้าหุ้นกับเพื่อน 3 คน เป็นร้านเล็กๆ ไว้บริการลูกค้าที่มากินอาหารที่พรีโม พอสโต อีกร้านที่เพิ่งเปิดต้นปีนี้ชื่อ ซาโน่วีโน่ อยู่ที่ปาลิโอ ผมมีหน้าที่เลือกไวน์เข้าร้าน โดยยึดหลักการที่มั่นคง 2 อย่างคือ ราคาไม่สูงและรสชาติดีมาก โดยมากทั้งสองร้านของเราเป็นไวน์จากอิตาลีประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ได้ ถ้าเป็นไวน์จากอิตาลี ของดีราคาถูกมีเยอะครับ ถ้าเลือกปีเก็บเกี่ยวที่ดินฟ้าอากาศดี เลือกพันธุ์องุ่นถูกปากคอไวน์คนไทย อิตาลีเป็นประเทศผลิตไวน์มากที่สุดอันดับ 1 ของโลก ไวน์ชั้นดีราคาถูกมีให้เลือกมากมาย ผมชอบอะมาโรเน่ของทุกค่าย อะมาโรเน่เป็นไวน์ชนิดเดียวที่ทำจากองุ่นผึ่งลมนาน 3-4 เดือนจึงค่อยนำมาหมักทำไวน์ รสชาติจึงเข้มข้น แอลกอฮอล์อยู่ระหว่าง 15-17 ดีกรีสูงกว่ามาตรฐานไวน์ทั่วไปประมาณ 2-5 ดีกรี อะมาโรเน่ราคาสูงกว่าอิตาเลียนไวน์ระดับกลางๆ ประมาณ หนึ่งหรือสองเท่าตัวแล้วแต่คุณภาพ ขวดหนึ่งราคา 1,500-3,500 บาท ซึ่งราคานี้ซื้อเปตรุสหรือมูตอง ร็อธชิลด์ ของฝรั่งเศส ได้ประมาณ 30 หยด”

สะเก็ดข่าวถัดมา

เรารู้มาว่าคุณเป็นคนชอบทำอาหาร อาหารจานไหนที่คุณคิดว่าทำได้อร่อยที่สุด

“สมัยมีเวลาเหลือเฟือ ทำอาหารเองเกือบทุกวันเสาร์ การทำอาหารให้ตัวเองและภรรยากินเป็นความรื่นรมย์และความสุข แต่พองานเยอะ มีแม่บ้าน ก็สอนแม่บ้านให้ทำแทนเรา ภรรยาผมเก่งทุกอย่าง ยกเว้นงานครัว เขาทำอาหารไม่เป็น ที่ทำเป็นก็ไม่อร่อยเลย อาหารไทยผมทำได้ทุกอย่าง   อร่อยมากก็จำพวกแกงเหลือง แกงส้ม ผัดกะเพรา ปลาไหลผัดเผ็ด เนื้อปูผัดต้นหอม อาหารอิตาเลียนลูกผสมอย่างสปาเกตตีปลาเค็ม สปาเกตตีผัดน้ำมัน มะกอกใส่กระเทียมและเบคอนกรอบ โรยพริกแห้งคั่วนิดหน่อย พ่อตาบอกว่ากินที่ไหนก็ไม่อร่อยเท่าที่บ้านผม ไม่ทราบว่าพูดเอาใจลูกเขยหรือเปล่า ถ้ามีเวลามากพอก็ตำน้ำพริกนครบาลสูตรอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์”

“ไทเกอร์วางตัวเหนือกว่าคนอื่นมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกท่าทาง การพูดการจา การวางตัว เขาดูสง่างามกว่าใคร เขาเองก็รู้และสร้างภาพที่งดงามมาตลอด พอมาเจอกรณีแบบนี้ก็อดไม่ได้ที่จะโดนดูถูก”

สะเก็ดข่าวมาเล่า ในวงการกอล์ฟ ตอนนี้ไม่มีอะไรที่จะน่ารู้และน่าลุ้นไปกว่า สถานการณ์ของไทเกอร์ วู้ดส์ อดไม่ได้ที่จะถามคนที่แอบเชียร์ไทเกอร์ ตั้งแต่แข่งระดับจูเนียร์มาจนถึงกลายเป็นโปรกอล์ฟที่คุณใช้คำว่า ‘เปลี่ยนวงการกอล์ฟไปตลอดกาล’

“โดยสถิติใน PGA Tour บอกว่า ระหว่างอายุ 32-40 ต้นๆ ถือว่าเป็นช่วงสูงสุดของนักกอล์ฟ เพราะมันเป็นช่วงที่ทั้งประสบการณ์ ทั้งความเป็นผู้ใหญ่ สภาพร่างกายมันมาพร้อมกันหมด ไทเกอร์ก็เช่นกัน เขาเพิ่งจะขยับเข้ามาใกล้จุดเริ่มต้นของคำว่า ‘สูงสุด’ เท่านั้น ยังไปได้อีกไกลมาก ดังนั้น ผมเชื่อว่าทั้งทีมงานทั้งตัวเขาต้องฟันฝ่าให้เขากลับมาให้ได้ การที่เขาให้ข่าวว่าไปบำบัด sex addict หรือโรคคลั่งการมีเพศสัมพันธ์ ผมว่าอาจจะเป็นทางออกของเขานะว่า นี่คือการเป็นโรค ไม่ใช่สันดานหรือนิสัย พอบอกว่าป่วย เป็นโรค มันก็กลับมาง่ายกว่าวิธีอื่น สังคมให้อภัยได้ง่ายกว่า

“ไทเกอร์แย่หน่อยก็ตรงที่ว่า เขาวางตัวเหนือกว่าคนอื่นมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกท่าทาง การพูดการจา การวางตัว เวลาเขาเดินอยู่กับพวกโปรกอล์ฟด้วยกัน เขาดูสง่างามกว่าใคร แล้วเขาเองก็รู้และสร้างภาพที่งดงามมาตลอด พอมาเจอกรณีแบบนี้ก็อดไม่ได้ที่จะโดนดูถูก ทำนองว่านิสัยคนดำบ้างล่ะ เจ้าชู้แบบคนไทยบ้างล่ะ คนที่หมั่นไส้อยู่แล้ว ได้จังหวะก็อัดเลย ไมเคิล จอร์แดน หรือ ชาร์ล บาร์คเลย์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของไทเกอร์ก็บอกว่าความเป็นคนโด่งดัง พอพลาดแล้วก็โดนอัดกับเขามากหน่อย แต่ผมเชื่อว่าด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว ผลประโยชน์ในเรื่องงาน และเหนือสิ่งอื่นใด ผลประโยชน์ของเกมกอล์ฟของโลก เขาต้องกลับมา เพราะเขาเป็นคนที่เข้ามาเปลี่ยนวงการกอล์ฟของโลกใหม่หมด ปรากฏการณ์ของไทเกอร์เป็นเหมือนช่วงรุ่งๆ ของ อาร์โนลด์ พาล์มเมอร์ ในช่วงปี 1950-1960 ที่ทำให้เกิดกองทัพแฟนๆ ของอาร์โนลด์ ที่เรียกว่า Arni Army ไทเกอร์เป็นแบบนั้นแต่เป็นได้ยาวกว่าด้วย ยังหนุ่ม และเบอร์สองที่ตามเขามา ยังห่างกับเขามาก และถ้าเป็นแบรนด์ ไทเกอร์เองก็มีครบ ทั้งความเป็นเอเชียก็มี ความเป็นอัฟริกันก็มี ความเป็นอเมริกันก็มี เขาขายได้หมด ด้วยเหตุนี้ไทเกอร์ถึงกินตลาดได้กว้างมาก”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ