fbpx

ก้าวแรกที่สลัม ก้าวปัจจุบันที่ธุรกิจระดับโลก

ดร. ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ในวัย 68 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลกกว่าจะประสบความสำเร็จเช่นวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในยามที่ชีวิตเกือบจะติดลบอยู่ในสลัมคลองเตย

Reasons to Read

  • บทเรียนชีวิตจากเด็กชายในสลัม สู่การเป็นเจ้าของธุรกิจระดับโลก 
  • การไม่หยุดเรียนรู้ และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ ของ ดร. ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์    

ดร. ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ในวัย 68 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG  ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลกกว่าจะประสบความสำเร็จเช่นวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในยามที่ชีวิตเกือบจะติดลบอยู่ในสลัมคลองเตย ชีวิตของเขาจึงต้องผ่านทั้งร้อนและหนาวมามากมายกว่าจะมีทุกสิ่งดังเช่นทุกวันนี้ เราลองมาฟังเรื่องราวชีวิตและสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มา ซึ่งเชื่อแน่ว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน

จุดเริ่มต้นที่เกือบติดลบ

“คุณพ่อผมมมาจากประเทศจีน ตอนที่อายุ 19-20 ปี ด้วยความเป็นนักสู้ของคุณพ่อเมื่อมาถึงเมืองไทยก็คิดจะทำธุรกิจเป็นของตัวเอง พยายามทำงาน เก็บเงิน จนมีเงินทุนตั้งโรงงานฟอกหนังขึ้น แต่ก็เป็นโรงงานเล็กๆ ในสลัมคลองเตย การทำโรงงานในครั้งนั้นเป็นการตั้งตัวที่ไม่มีพื้นฐาน ทำธุรกิจก็ลุ่มๆ ดอนๆ ในที่สุดก็ก่อหนี้สินมากมาย ภาพที่ผมจำได้ก็คือเห็นเจ้าหนี้มาทวงเงินทุกวัน

“ตอนนั้นชีวิตลำบากมาก ต้องกินข้าวราดพริกน้ำปลาอยู่เป็นปีๆ คุณพ่อก็เป็นหนี้ มีทั้งตำรวจ ทั้งเจ้าหนี้ตามจับ สภาพแวดล้อมก็ไม่ดี อยู่ในสลัม รายล้อมด้วยอันธพาล ผมคิดเสมอว่าอยากรวย อยากมีเงินจะได้กินอาหารทีดีกว่านี้ ผมจึงช่วยที่บ้านด้วยการขายของ ขายขนมเก็บเงินทีละเล็กทีละน้อย”

ทุกวิถีทางเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“โชคดีที่ผมสนใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้อ่านอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด จนไปเจอสูตรทำหมึกล่องหนอย่างง่ายๆ ก็ปลอมเป็นคนทรงเจ้า ใช้หมึกล่องหนจากมะนาวมาเขียน แล้วพอโดนความร้อนถึงจะเห็น คนที่ไม่รู้ก็เห็นเป็นเรื่องอัศจรรย์ก็มากราบไหว้ เอาเงินมาให้ แต่พอคุณแม่ทราบ ก็ให้เลิกทันที

“แต่ผมก็ยังหาอะไรอื่นๆ มาทดลองทำอีก และก็มาเจอสูตรทำยาขัดรองเท้า ผมเอาไปให้เพื่อนๆ ลองใช้ หนึ่งในนั้นก็คือ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ (องคมนตรี) เขาเป็นคนใจถึง กล้าเอารองเท้าหนังราคา 80 บาท มาลองกับยาขัดรองเท้าของผม เพราะอยากได้รองเท้าใหม่ พอทดลองเสร็จก็เอาไปเล่นฟุตบอล รองเท้าหนังก็แตกลาย พอทาใหม่ก็แตกอีก ถึงจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นความรู้แฝงที่ติดตัวผม 

“ต่อมาคุณพ่อก็คิดจะทำโรงงานอีกครั้ง จึงไปซื้อเครื่องจักรเก่าๆ มาตั้งในโรงงานเดิมที่เคยเป็นโรงงานฟอกหนัง แต่คราวนี้จะผลิตยางพื้นรองเท้า เพราะคุณพ่อได้สูตรมาจากเพื่อนที่เขาทำมาก่อนหน้านี้ แล้วเขาขาดทุนเตรียมจะหนีเจ้าหนี้ สูตรที่ได้ก็เป็นสูตรเขียนด้วยมือใส่ในกระดาษ 1 แผ่น เราก็ทำตามสูตรนี้ไปเรื่อยๆ ก็ยังเป็นหนี้เหมือนเดิม”

ชีวิตที่พลิกผัน  

“นอกจากเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ผมสนใจแล้ว อีกเรื่องที่ชอบไม่แพ้กันก็คือเรื่องการเมือง ตอนที่ผมอายุประมาณ 17-18 ปี ผมเกือบจะเข้ากับพวกสังคมนิยมกับจีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะเราอ่านภาษาจีนได้ ก็จะมีกลุ่มใต้ดินคอยล้างสมอง มีหนังสือภาษาจีนให้อ่าน อีกนิดเดียวผมก็จะถูกส่งไปจีน ไปเรียนแล้วกลับมาทำงานใต้ดินที่เมืองไทยแล้ว แต่เพราะโชคชะตาที่ทำให้ผมไม่หันเหไปทางนั้น

“วันหนึ่งผมก็เตรียมเงินจะไปซื้อหนังสือสังคมนิยมที่เยาวราชเหมือนปกติ แต่พอดีแวะกินข้าวเสียก่อน ก็มีตำรวจจับกุมตัวพวกใต้ดินที่ร้านหนังสือ เดินผ่านหน้าไป ผมก็รู้แล้วว่าถ้าเดินไปที่ร้านต้องโดนจับแน่ๆ ก็เลยเดินไปทางอื่น จนไปเจอร้านหนังสืออีกร้าน ร้านนี้ขายแต่หนังสือภาษาจีนเหมือนกัน แต่เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ ก็ไปได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือ ‘ตำราเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยาง’ เป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตผมไปเลย

“หนังสือเล่มนั้นทำให้เข้าใจสูตรการทำยาง ว่าที่เขียนอยู่ในกระดาษแผ่นนั้นคืออะไรบ้าง เราเริ่มลดต้นทุนการผลิตยางได้ จากที่เมื่อก่อนต้นทุนกิโลกรัมละเป็นสิบบาท ก็ลดเหลือ 2-3 บาท การทำธุรกิจก็เริ่มมีกำไร ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น”

ก้าวใหม่ ก็เริ่มต้นเพราะหนังสือ

“หลังจากที่การทำยางเริ่มอยู่ตัว ผมก็อยากพัฒนาไปผลิตพลาสติกบ้าง แต่เราไม่มีความรู้อะไรเลย ก็กลับไปที่ร้านหนังสือร้านนั้นอีกครั้ง ก็ได้เล่มใหม่มาคือ ‘เทคโนโลยีพลาสติก’ เป็นหนังสือที่เขียนโดนอาจารย์ชาวไต้หวัน

“ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่หลายรอบจนจำได้ แล้วก็ไปคุยกับโรงงานที่รับผลิตพลาสติก ทั้งที่ไม่เคยเห็นเม็ดพลาสติกด้วยซ้ำไป แต่ต้องไปคุยกับโรงงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่เขาจะมาหลอกลวงไม่ได้ แล้วหลังจากนั้นก็มีการทดสอบคุณภาพ มีการทดลองพลิกแพลงสูตรต่างๆ จนสำเร็จ”

แม้ล้มก็เพียงแค่เริ่มต้นใหม่ 

“ตอนที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ผมคิดว่าจะต้องเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ได้ แต่ช่วงนั้นก็ยุ่งๆ เพราะต้องดูแลการผลิต ดูแลการจ่ายเงินพนักงาน ทำให้ไม่ได้อ่านหนังสือก่อนสอบ ปรากฏว่าสอบไม่ติด เลยไปเข้ามหาวิทยาลัยเกริก คณะเศรษฐศาสตร์ แทน ในใจตอนนั้นคิดว่าเดี๋ยวปีถัดไปค่อยมาสอบใหม่ แต่ปรากฏว่าพอเรียนควบคู่กับการทำงาน ก็รู้สึกว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน เลยตัดสินใจเรียนต่อที่เดิม แต่สุดท้ายก็ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิศวกรรมเคมี) ในปี พ.ศ. 2545 อยู่ดี ” 

ปัญหา + ความคิดสร้างสรรค์ = นวัตกรรม

“การคิดพลิกแพลงเป็นเรื่องสำคัญต่อการคิดนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างมาก อย่างของผมเมื่อก่อนลูกกลิ้งไม้ทาสีแต่เดิมทำได้วันละร้อยกว่าๆ ผมก็คิดหาวิธีเพิ่มผลผลิตจนได้วันละ 600 อัน

“ตอนที่เราเริ่มทำลูกลอยลากอวน ก็ลงเรือไปหาปลากับชาวประมง สังเกตวิธีที่เขาใช้สินค้าของเรา ดูว่ามันต้องเจอกับอะไรบ้าง ซื้อกล้องจุลทรรศน์มาส่องหารอยรั่วของลูกลอย แล้วเอามาทดสอบ มาพัฒนาให้ละเอียดกว่าบริษัทอื่นๆ ซึ่งหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องที่หาไม่ได้ในห้องเรียน แต่เราก็หาความรู้ได้จากหนังสือ จากอาจารย์ 

“นับจากที่ได้อ่านเรื่องยาง เรื่องพลาสติก ผมก็ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อเป็นการพัฒนาตัวเองด้วย จากสิ่งที่ทำมาทั้งหมดก็ทำให้ฐานะที่บ้านดีขึ้น โรงงานมีพนักงานเกือบ 20 คน แล้วก็ค่อยๆ ขยายมากขึ้น จนผมซื้อรถคันแรกได้ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2”

ตะวันมีตก ก็ย่อมมีขึ้น 

“ในวันที่ท้อ ผมจะคิดเสมอว่า ‘พรุ่งนี้ต้องดีกว่า’ มันเหมือนเส้นทางของดวงตะวันที่มีช่วงตะวันตก แล้วก็จะขึ้นในวันใหม่ เพราะฉะนั้น เราจะท้อไม่ได้ แต่ก็ห้ามดันทุรัง ต้องหาทางออกของปัญหาให้ได้ เราทำธุรกิจไหนที่ทำแล้วเติบโตก็ทำต่อไป แต่บางธุกิจที่ทำแล้วไม่ไหว มองไปข้างหน้าไม่มีอนาคต เราก็พอ

“การแก้ไขปัญหามันมีสองประเภท มีปัญหาแล้วจมปลัก หรือมีปัญหาแล้วหาทางออก การหาทางออกโดยการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ย่อมมีโอกาสสำเร็จมากกว่าจะจมนิ่งอยู่ที่เดิม”

การบริหารด้วยหัวใจ

“ความรู้ทางธุรกิจของผมสั่งสมมาจากประสบการณ์ที่เห็นคุณพ่อล้มลุกมาเรื่อยๆ แล้วเราก็เอามาพัฒนา เพราะเรารู้แล้วว่าทำแบบไหนดี หรือไม่ดี แต่หลักๆ คือต้องบริหารด้วยความยุติธรรม ไม่เอาเปรียบ ไม่โลภ แต่ก็ต้องทำกำไร

“อีกข้อที่สำคัญคือการดูแลพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือพนักงานเราจะต้องเติบโตไปพร้อมๆ กัน ดูแลเขาให้ดี ทั้งเรื่องสวัสดิการและการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาบุคลากร พัฒนาชีวิต ให้ทุกคนมีความสุขที่จะอยู่ในองค์กร แล้วเขาจะตั้งใจทำงานให้กับเรา มันเป็นเรื่องของการแบ่งปัน และการดูแลจิตใจกันและกัน”

วิกฤตที่ยากที่สุดในชีวิต

“วิกฤตที่ยากที่สุดในชีวิตคือการบริหารบริษัทให้ผ่าน ‘วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง’ ที่อยู่ดีๆ ค่าเงินบาทก็ลอยตัว ซื้อของจากต่างประเทศราคาเป็นสองเท่าจากของเดิม ช่วงนั้นเราขาดทุนก็จริง แต่ก็สร้างโอกาสให้เราอยู่เหมือนกัน เพราะวิธีที่เราใช้ก็คือ  ‘3 ป.’

“ป. ที่ 1 คือประหยัด เราใช้นโยบายประหยัดทั้งบริษัท พนักงานให้ความร่วมมือทั้งการประหยัดในบริษัท และประหยัดเงินทองของเขาเอง อะไรที่ไม่จำเป็นก็ลดลง แต่รายจ่ายอะไรที่จำเป็นต้องมีก็ยังคงไว้อย่างเดิม 

“ป. ที่ 2 คือประโยชน์ ทุกสิ่งอย่างต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือคน แต่ไม่ใช่ว่าเราใช้แรงงานหนัก แต่ทั้งหมดต้องช่วยกันทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด 

“ป. สุดท้ายคือประสิทธิภาพ คนที่ทำงานกับเราต้องมีประสิทธิภาพที่สุด เราจัดอบรมคน เป็นการติดอาวุธให้กับคนของเรา แล้วข้อดีไม่ใช่เพียงว่าเรารอดจากต้มยำกุ้ง แต่หลังวิกฤตนี้ พนักงานของเรามีความสามารถมากขึ้น ซึ่งก็เป็นประโยชน์และเป็นกำลังสำคัญให้กับบริษัทของเราในเวลาต่อมา

“หลังผ่านวิกฤตนี้มาได้ ผมดีใจมาก ที่ตลอดการบริหารงานของผมไม่มีเรื่องการปลดพนักงานหรือการลดรายได้เลย นับจากวันก่อตั้งเรามียอดแค่ 5-6 แสนบาทต่อเดือน แต่มันก็ขึ้นทุกปี จนตอนนี้ปีละหมื่นล้าน ซึ่งก็มาจากการสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรม มาจากประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ผมมุ่งมั่นมาตั้งแต่เด็ก”

ตลอดเส้นทางแห่งการต่อสู้ที่ยาวนานนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เต็มไปด้วย การคิดค้น การไม่ยอมแพ้ แต่นี่ก็เป็นพียงส่วนหนึ่งของ ‘เส้นทางแห่งตะวัน นวัตกรรมนำชีวิต’ บันทึกทุกแง่มุมของชีวิต ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการต่อสู้กับความยากลำบากในวัยเด็ก จุดเปลี่ยนชีวิตในวัยรุ่น และความรักในวัยหนุ่ม

F.Y.I

  • ‘เส้นทางแห่งตะวัน นวัตกรรมนำชีวิต’ หนังสือบันทึกชีวิตการต่อสู้ของ ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ จากเด็กชายในสลัม สู่เจ้าของบริษัทที่มีโรงงานอยู่ทั่วโลก 
  • มีจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ราคา 350 บาท
  • รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือ โดยไม่หักค่าใช้จ่าย จะนำไปช่วยเหลือการศึกษาของเยาวชนด้อยโอกาส

นักเขียน : พีริยา อากาศแจ้ง
ช่างภาพ : อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ​ อยุธยา

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ