fbpx

ดร. พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์

Game Theory ผู้ออกแบบการประมูล 3G และทฤษฎีเกม

หากพูดถึงโค้งสุดท้ายในการประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. หนึ่งคนหนุ่มที่เป็นหน้าใหม่ในข่าวของวงการโทรคมนาคม และมักจะได้รับมอบหมายให้ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการประมูล ราคาตั้งต้น การประมูลครั้งนี้จะฮั้วหรือไม่ฮั้ว? จะล้มหรือไม่ล้ม? คงจะเป็นใครไม่ได้ นอกจาก ดร. พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์

นักวิชาการหนุ่มวัย 30 ปี นอกจากจะมีตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบตลาดและการประมูล ของบริษัทผู้ชำนาญเรื่องการประมูลอย่างแครมตัน แอสโซซิเอทส์ (Cramton Associates) ในสหรัฐอเมริกาแล้ว เขายังมีบทบาทเป็นคณะอนุกรรมการ 3G รับภารกิจใหญ่ระดับประเทศ ทำหน้าที่ออกแบบเกมการประมูล การันตีถึงความรู้ความสามารถ ที่ต้องรู้เขารู้เรา รู้เท่าทันเกมการประมูลที่จะเกิดขึ้น นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากรู้จักเขามากขึ้นในเวลานี้

“ทฤษฎีเกม หรือ Game Theory ทำให้ผมสนใจมาทำงานด้านการประมูล”

ดร. พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ เริ่มต้นเล่าถึงช่วงเวลาที่เขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเมื่อหลายปีก่อน เพื่อศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย

แห่งรัฐแมรีแลนด์

“ผมได้เข้าชั้นเรียนที่ว่าด้วยทฤษฎีเกม และทำให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่เราชอบ หลังจากนั้นอาจารย์ที่สอนคงเห็นหน่วยก้าน เลยชวนไปทำงานในฐานะ

ผู้เชี่ยวชาญและให้คำแนะนำการออกแบบการประมูลหลายงาน โปรเจ็กต์แรกคือการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ที่อเมริกา ในปี พ.ศ. 2551 หลังจากนั้นก็ทำงานนี้มาเรื่อยๆ ผมร่วมทำงานในการประมูลคลื่นความถี่ในอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียและอีกหลายประเทศในยุโรป รวมถึงการประมูลในวงการอื่นๆ เช่น การประมูลไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ ที่ช่วยติดอาวุธให้เราได้เห็นหลายมุมมองในการประมูล ซึ่งเวลานั้นผมทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยจนจบปริญญาเอกด้านการออกแบบตลาดและการประมูลที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน จบแล้วก็ทำงานที่เราถนัดต่อยอดในอเมริกา”

การร่วมงานครั้งแรกของ ดร. พัชรสุทธิ์ กับ กสทช. เริ่มจากการที่เขาได้รับเชิญให้เดินทางมาเมืองไทย เพื่อบรรยายให้อนุกรรมการ 3G ฟังเรื่องการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ และตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องรูปแบบการประมูล

“กรณีการประมูล 3G ในประเทศไทยก็เป็นสิ่งที่ผมสนใจและติดตามมาตั้งแต่ตอนอยู่ต่างประเทศ และยังเคยส่งข้อเสนอแนะในการประมูลกลับมา

นำเสนอที่เมืองไทยบ้าง หลังจากนั้นก็ได้เข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการรับผิดชอบเรื่องการประมูลเป็นหลัก นอกจากโอกาสที่ได้ เหนือสิ่งอื่นใดผมมองว่านี่คืองานที่เราชอบและมีความเชี่ยวชาญ และยิ่งเป็นงานที่เราได้ทำให้กับประเทศตัวเองก็ยิ่งดี รวมทั้งยังเป็นจังหวะเดียวกับที่ผมตัดสินใจจะกลับมาอยู่กับครอบครัวที่เมืองไทย”

ดร. พัชรสุทธิ์กล่าวว่า โจทย์การออกแบบการประมูลของประเทศไทยไม่ยาก หากดูจากลักษณะคลื่นความถี่ที่เราจะนำมาประมูล เป็นสินค้าประเภทเดียวกัน ทุกอย่างเหมือนกันหมด สามารถซอยเป็นสินค้าย่อยๆ ได้ ขณะเดียวกันขนาดประเทศของเราก็ไม่กว้างใหญ่มาก การออกแบบการประมูลจึงไม่ซับซ้อนโดยหลักการ แต่ความยากอยู่ที่ปัจจัยภายนอกและตัวบริบทของประเทศไทยที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่น

ดังนั้นรูปแบบการประมูลของประเทศหนึ่ง ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับประเทศไทยได้ลงตัวทันที และนี่คือสิ่งที่ท้าทายความสามารถของทีมงานทุกคนอยู่ในขณะนี้

“จุดสำคัญ คือ ความเข้าใจ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะอุตสาหกรรมของการโทรคมนาคม หรือว่าสภาพตลาดเท่านั้น แต่รวมถึงรูปแบบวัฒนธรรม สิ่งที่ประชาชนต้องการ อีกประเด็นที่ กสทช. เน้นคือ ทุกอย่างจะต้องโปร่งใส แม้ไม่ใช่หน้าที่หลักของผมโดยตรง แต่มักมีความจำเป็นในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ด้วยการอธิบายเรื่องวิชาการ เรื่องการประมูลให้ทุกคนเข้าใจ ผมมองว่าเป็นหน้าที่เล็กๆ ที่สำคัญ และจะช่วยผลักดันให้เรื่องนี้เดินหน้า”

GM สนใจว่าทฤษฎีเกม จะถูกนำมาใช้ในการประมูลอย่างไร ?

ดร. พัชรสุทธิ์อธิบายว่า ทฤษฎีเกมคือแนวคิดที่ใช้ในการเจรจาต่อรอง สำหรับทางเศรษฐศาสตร์ก็ใช้ทฤษฎีนี้เป็นเครื่องมือในการศึกษาพฤติกรรมกลยุทธ์ (Strategic Behavior) วิเคราะห์และคาดการณ์พฤติกรรมของผู้เล่นในเกม การเป็นผู้ออกแบบก็ต้องรู้ว่าผู้ร่วมประมูลแต่ละรายจะใช้กลยุทธ์เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบมากที่สุดอย่างไร

หากถามว่าการประมูลครั้งนี้จะจบอย่างไร คำตอบคือการประมูลต้องเกิดขึ้นโดยมีการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ

หากถามว่าการประมูลครั้งนี้จะล้มหรือไม่ล้ม คำตอบคือ นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วง เพราะ ณ ตอนนี้ทุกคนต้องการ 3G แต่สิ่งที่น่าจับตามองมากกว่า

คือบรรยากาศการแข่งขันหลังการประมูล ทั้งเรื่องราคา นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ต้องมาพร้อมกับคุณภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่รอใช้บริการระบบ 3G

นั่นเป็นลำดับขั้นตอนที่สอดคล้องกับวัตถุ-ประสงค์การออกแบบประมูล ที่ต้องตอบโจทย์ให้เกิดการแข่งขันในตลาด นำไปสู่ประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณชนทั่วไป

“ความจริงแล้วผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ครับ งานออกแบบการประมูลเป็นหนึ่งในงานที่ผมทำเยอะ ซึ่งช่วงเวลานี้คุณอาจจะได้ยินบ่อย เพราะเป็นโค้งสุดท้ายของการประมูล”

ในฐานะคนหนุ่มอนาคตไกล ดร. พัชรสุทธิ์ตั้งใจกลับมาเมืองไทยและนำความรู้ความสามารถของเขามาทำให้เกิดประโยชน์กับเมืองไทยมากที่สุดนั่นคือสิ่งที่เขายืนยัน

“ผมคิดว่าความรู้ที่เรามีอย่างเดียวคงไม่พอ การทำงานร่วมกับคนที่มีประสบการณ์ กรรมการและคณะทำงานที่มีมุมมองหลากหลาย จะช่วยให้เรามองเห็นมิติในการทำงานได้มาก เช่น การวางตัวในฐานะนักวิชาการที่ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น หรือการทำตามสิ่งที่พูดไว้ และการได้รับคำแนะนำว่าจะสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างไร”

ปัจจุบันนอกจากการทำหน้าที่อนุกรรมการ กสทช. ดร. พัชรสุทธิ์ยังทำงานให้กับบริษัทที่ปรึกษาด้านการประมูลในอเมริกา เป็นการทำงานผ่าน

อินเตอร์เน็ต ที่ในเชิงปฏิบัติสามารถทำได้จริง และถ้าหากระบบ 3G ในประเทศไทยทั้งระบบเสร็จสมบูรณ์พร้อมก็จะช่วยให้การทำงานได้อย่าง

มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก และนั่นเป็นสิ่งที่เขาและเราเอง คาดหวังให้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

Did You Know ?

Simultaneous Ascending Bid Auction

คือ 1 ใน 3 รูปแบบการประมูลคลื่นความถี่ที่ทั่วโลกนิยมใช้ ถือเป็นรูปแบบการประมูลคลื่นความถี่ที่เก่าแก่ที่สุดแบบหนึ่ง และจะเป็นรูปแบบการประมูลที่ถูกนำมาใช้ในการประมูลครั้งนี้ โดยมีวิธีการคือ การประมูลคลื่นทุกสล็อตจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน โดยผู้ร่วมประมูลต้องเสนอราคาเพื่อรักษาสิทธิ์ของตนทุกรอบของการแข่ง จนกว่าจะไม่มีผู้เสนอราคาเพิ่ม เป็นวิธีการที่ใช้กับการประมูลคลื่นความถี่ 3G ในหลายประเทศ และ 4G ในโปรตุเกส อิตาลี และเยอรมนี รวมถึงการประมูลของไทยในครั้งก่อน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ