fbpx

ดร.นิรันดร โพธิกานนท์

ON THE ROAD TO BIKE NATION

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าผู้ชายวัย 67 ปีคนนี้ ขี่จักรยานจากเชียงใหม่เป็นระยะทางยาวไกลลงมาถึงกรุงเทพฯ ท่ามกลางระอุแดดของต้นเดือนเมษายน ด้วยความมุ่งมั่นจะประกาศว่า ถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยจะมี ‘วันจักรยานแห่งชาติ’ กันเสียที !

เขาไม่ได้บ้า ไม่ได้เสียสติ แต่เป็นอีกคนหนึ่งที่สมบูรณ์ไปด้วยสติและวิสัยทัศน์อย่างแท้จริงผู้ชายคนนี้คือ ดร. นิรันดร โพธิกานนท์ ผู้มาพร้อมกับจักรยานของเขาเคยมีผู้กล่าวว่าจักรยานคือพาหนะที่ ‘ก้าวหน้า’ ที่สุด เท่าที่มนุษย์เคยสร้างสรรค์ขึ้น เพราะจักรยานไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายตัวเอง ไม่ทำลายผู้ขับขี่ ซ้ำยังช่วยให้ผู้ขับขี่แข็งแรงมากขึ้นด้วยในนาทีที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเริ่มคุกคามเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ หลายคนอดยอมรับไม่ได้-ว่า, ดูคล้ายจะเป็นจริงเช่นนั้น !

ในโลกและสังคมที่สมาทานเอา ‘วัฒนธรรมรถยนต์’ (Car Culture หรือ Motor Culture) กันอย่างสุดขั้วนั้น จักรยานและวิธีเดินทางแบบอื่นๆ ถูกเพิกเฉย แม้เป็นการเดินทางระยะใกล้ๆ เช่น จากบ้านไปหน้าปากซอย ด้วยหลากหลายข้ออ้าง อาทิเช่น ร้อน เหนื่อย รวมไปถึงอันตราย เราจึงเร่งมือเผาโลก ด้วยการผลิตก๊าซเรือนกระจกไปกับการเดินทางทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น โลกที่มีสำนึกเช่นนี้มักสร้างสาธารณูปโภคเอาไว้รองรับ ‘รถยนต์’ มากกว่าการเดินทางแบบอื่นๆ ถนนและทางด่วนมูลค่าเป็นพันหมื่นล้าน จึงไม่เคยเหลือที่ไว้ให้บาทวิถีและเส้นทางจักรยานอันมีต้นทุนถูกกว่านั้นหลายเท่า สำนึกเช่นนี้จึง ‘เบียดขับ’ วิธีเดินทางอื่นๆ ออกไปจากสังคม ไม่ว่าจะเป็น ‘การเดิน’ หรือ ‘การขี่จักรยาน’ เพื่อเปิดทางให้กับการเดินทางด้วยพาหนะกระแสหลักเพียงอย่างเดียวเท่านั้นนี่เป็นปัญหาที่หลายคนมองไม่เห็นว่าเป็นปัญหา แต่สำหรับ ดร. นิรันดร โพธิกานนท์ ประธานชมรมจักรยานวันอาทิตย์ของเมืองเชียงใหม่ ได้ ‘แสดง’ ให้เราเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลุกขึ้นแสดงให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันไม่ใช่แค่ขี่เล่นๆ !

ผู้ชายวัยเลยเกษียณมาแล้วเกินครึ่งทศวรรษ ได้ลุกขึ้นรวบรวมสมัครพรรคพวกในชมรม เพื่อ ‘ขี่จักรยาน’ จากเชียงใหม่ลงมายังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ เพื่อร่วมงานนิทรรศการศิลปะครั้งใหญ่อย่าง ‘เชียงใหม่นาว!’ ที่จัดขึ้นที่นั่น เพื่อประกาศว่า ประเทศไทยควรหันมาใส่ใจอย่างจริงจังกับการสนับสนุนการขี่จักรยานในชีวิตประจำวันและควรเดินทางมุ่งสู่การเป็น Bike Nation เหมือนประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปเสียที !

ดร. นิรันดร ผู้เคยเป็นประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นกรรมการเครือข่ายเชียงใหม่เพื่อแก้ปัญหาจราจร ได้พยายามต่อสู้และผลักดันนโยบายเกี่ยวกับเส้นทางจักรยานในเชียงใหม่มาตลอดเวลาหลายปี กระทั่งเกิด ‘เส้นทางจักรยานในหัวใจ’ และ ‘ทางจักรยานร่วมสัญจร’ ขึ้นในเชียงใหม่ นับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งกับเมืองอันได้ชื่อว่าเป็น ‘ถิ่นไทยงาม’ แห่งนั้น

แต่แน่นอน-เส้นทางสู่การเป็น Bike Nation นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนี่คือการสร้าง ‘วัฒนธรรมใหม่’ ขึ้นมาต่อสู้ต่อรองกับวัฒนธรรมเดิมที่

เข้มแข็งอย่างยิ่ง การใช้รถยนต์เป็นเรื่องมีประโยชน์ แต่การบ้าคลั่งใช้เฉพาะรถยนต์อย่างสุดขั้วต่างหากที่สร้างปัญหา ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการจราจร ไล่เลยไปถึงการเกลี่ยการใช้ทรัพยากรที่เหลื่อมล้ำ และปัญหาทางสังคมอื่นๆ อีกหลายเรื่องหากคุณรักการใช้รถยนต์ อย่าเพิ่งรู้สึกว่าถูกทิ่มแทงจนกว่าจะอ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ เพราะการเป็น Bike Nation นั้น ไม่ได้หมายถึงการยกจักรยานขึ้นสู่ที่สูงแล้วตั้งตัวเป็นปรปักษ์เหยียดพาหนะอื่นมันเป็นการมองหา ‘ทางเลือก’ และ ‘ทางรอด’ สำหรับสังคมเท่านั้นเอง !

GM : ชมรมจักรยานวันอาทิตย์ของเชียงใหม่มีที่มาที่ไปอย่างไร

ดร.นิรันดร : ชมรมจักรยานวันอาทิตย์ที่เชียงใหม่นี่ถือว่าเป็นผลพวงของการริเริ่มรณรงค์จักรยาน โดยสารวัตรจราจรเมืองเชียงใหม่ท่านหนึ่งในสมัยนั้น คือ พันตำรวจโท อนุ เนินหาด คิดว่าน่าจะเป็นสารวัตรจราจรคนแรกในเมืองไทยที่รณรงค์การใช้จักรยานเพื่อแทนพาหนะอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2539 ซึ่งในช่วงนั้นเขารณรงค์ไปประมาณ 2 อาทิตย์ ผมก็กลับมาจากต่างประเทศ แล้วก็รู้เรื่องตรงนี้ ผมเคยสัมผัสการใช้จักรยานที่เมือง Gerlingen ประเทศเยอรมนี ต่อเนื่องกัน 3 เดือน แล้วก็พบว่ามันดีมาก เมื่อกลับมาถึงก็เลยมาร่วมรณรงค์ด้วย

ในตอนนั้น ผมมาวิเคราะห์ดู ก็ได้พบบทเรียนว่าที่คนมาร่วมรณรงค์ปั่นจักรยานร่วมกับสารวัตรอนุมีจำนวนเยอะมาก อาทิตย์นึงผมสังเกตได้ว่ามีมากที่สุดประมาณถึง 300 คน ซึ่งในตอนนี้ไม่มีแล้ว ผมคิดว่าที่คนมาเยอะเพราะรู้สึกว่ามารณรงค์ขี่จักรยานกับตำรวจ แล้วมีการดูแลโดยตำรวจจราจรและอาสาจราจร เมื่อขี่ไปถึงที่ไหน อย่างตามแยกต่างๆ ตำรวจก็จะคอยกันทางให้จักรยานผ่านได้อย่างปลอดภัย หรือเมื่อไปถึงทางแยกหรือสี่แยก ตำรวจก็จะเปิดสัญญาณไฟจราจรสีเขียวให้รถจักรยานผ่านไปได้หมดก่อน คนจึงรู้สึกว่าการขี่จักรยานกับตำรวจนั้นปลอดภัย ความปลอดภัยนี่แหละ เป็นสิ่งดึงดูดใจให้มีคนมาร่วมรณรงค์การใช้จักรยานขนาดนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่คนมั่นใจว่าขี่จักรยานแล้วปลอดภัย เขาก็จะขี่ เพียงแต่เราจะทำให้ปลอดภัยได้มั้ย ทำได้ในเวลาเท่าไหร่

GM : เชียงใหม่เป็นเมืองที่เหมาะสมกับการขี่จักรยานไหม

ดร.นิรันดร : เมืองเชียงใหม่ในสมัยก่อนมีการใช้จักรยานมานานแล้ว เหมือนกับในกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ช่วงที่ผมมาเชียงใหม่ครั้งแรก

ผมเห็นว่ามีคนใช้จักรยานเป็นจำนวนมาก ผมเข้ามาเชียงใหม่ตอนปี 2507 มาเรียน มช. ก็ได้ใช้จักรยานจากบ้านพักแถวๆ แม่หยวก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสนามกอล์ฟลานนา ปั่นจักรยานไปเรียนที่ มช. สมัยนั้นยังไม่มีถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ก็ต้องปั่นอ้อมมาที่ประตูช้างเผือก แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนรอบคูเมืองด้านนอกไปทางถนนห้วยแก้ว ซึ่งเป็นถนนเล็ก

ช่วงที่เราปั่นจักรยาน เราเห็นว่าชาวบ้านก็ปั่นจักรยานเข้ามาในเมือง มาทำงาน ในเส้นทางอื่นๆ คนก็ใช้จักรยานเยอะ ไม่ว่าจะเป็นดอยสะเก็ดเข้ามาในเมือง หางดงเข้ามาในเมือง สันกำแพงเข้ามาในเมือง ถนนสายหลักๆ ก็ใช้กันเยอะมากแต่ต่อๆ มาความนิยมในเรื่องของจักรยาน-ยนต์มีมากขึ้นๆ จนเกิดบรรยากาศของอาการป่วยทางสังคมที่เรียกว่า ‘สาวมอเตอร์ไซค์’ โดยไม่รู้ตัว เป็นชื่อเพลงของคุณจรัล มโนเพ็ชร นะครับ (ยิ้ม) ความเป็นจริงมันก็เป็นเหมือนในเพลงนั่นแหละ ว่าอาการสาวมอเตอร์ไซค์นี่มันกำเริบขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ตอนนั้นคนยังไม่ได้เรียกว่าเป็นโรคสาวมอเตอร์ไซค์ หนุ่มๆ จะรู้สึกว่าสาวชอบซ้อนมอเตอร์ไซค์เท่กว่า ดีกว่า คนใช้จักรยานก็ค่อยๆ ใช้น้อยลงไป รถอื่นๆ ก็เพิ่มมากขึ้น แล้วต่อมาอาการสาวมอเตอร์ไซค์ก็ขยายตัวไปจนถึงเรื่องการใช้รถยนต์ เพียงแต่ว่าใช้เวลานานกว่า

การรณรงค์ในปี 2539 เราได้เห็นว่ามันมีบทเรียนเรื่องความปลอดภัยที่ทำให้คนมั่นใจในการใช้จักรยาน แต่ว่าในวันธรรมดา ไม่มีกระบวนการที่จะสร้างความปลอดภัยแบบนี้ ซึ่งผมก็เชื่อว่าไม่มีทางทำได้ในวันธรรมดา แต่วันอาทิตย์เป็นวันที่คนหยุดพัก มีรถในถนนน้อยเป็นต้นทุนอยู่ ตำรวจก็ไม่ได้มีภาระอะไรมาก ก็มาช่วยงานสารวัตรจราจรได้ แต่ในวันธรรมดาผมคิดว่ามันต้องมีระบบจราจรที่มีความพิเศษเกิดขึ้น และดูแลให้ทางแก่คนใช้จักรยาน เพราะฉะนั้นวันธรรมดาจึงเป็นเรื่องยากมาก ตราบใดที่เรายังไม่มีระบบจราจรที่จะมาทำหน้าที่แทนตำรวจที่จะมาดูแลเป็นพิเศษ และในวันธรรมดา คนก็อยู่ในที่ต่างๆ ไม่ได้มารวมกันก่อนแล้วถึงจะมาปั่นจักรยานด้วยกัน ต่างคนต่างออกจากบ้าน มาคนเดียว สองคน อย่างเก่งก็สามคนเพราะฉะนั้นความมั่นใจเหมือนตอนที่มารณรงค์ขี่ในวันอาทิตย์ก็ไม่มี

แต่ผมเห็นระบบจราจรที่เกิดและพัฒนาขึ้นในยุโรป เห็นในเยอรมัน เห็นในฮอลแลนด์ ผมก็คิดว่าในบ้านเรา เมื่อเห็นความแตกต่างระหว่างวันอาทิตย์กับวันธรรมดาแล้ว มันชัดเจนมากว่าถ้าเรายังไม่ทำอะไร วันธรรมดาเราจะขี่จักรยานไม่ได้ เพราะจะมีแต่ความกลัว แต่คนที่ขี่จักรยานวันอาทิตย์ไม่ได้กลัวอย่างนั้น เพราะขี่บ่อยๆ ก็ชินแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ยังกลัวและคนที่บ้านก็ไม่อยากให้ลูกหลานต้องเสี่ยงขี่จักรยานจากบ้านไปเรียน หรือไม่กล้าที่จะขี่ไปทำงาน เมื่อไม่มีผู้ใหญ่นำ ก็ไม่มีเด็กตาม มันก็จะมีเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น ในปี 2540 ผมจึงขับเคลื่อนภายในชมรมว่า เราควรจะมีการตั้งชมรมจักรยานที่มีวัตถุประสงค์ที่จะขับเคลื่อนในเรื่องเส้นทางจักรยาน

GM : ขับเคลื่อนอย่างไร

ดร.นิรันดร : ตอนที่จะทำงานเป็นชมรมและขับเคลื่อน ในขั้นแรกเมื่อมีการตั้งชมรมจักรยานวันอาทิตย์เชียงใหม่ขึ้น เรามีการคุยกันว่าจะเอาชื่ออะไรดี ก็มีความเห็นว่าน่าจะให้มีคำว่าวันอาทิตย์อยู่ด้วย เพราะเป็นชื่อที่บอกว่าเราเกิดมาจากวันอาทิตย์ และวันอาทิตย์เป็นวันที่นัดรวมตัวและรณรงค์ ก่อนที่จะออกไปเที่ยวด้วยจักรยานตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีระยะใกล้ ไกล ต่างกัน ชมรมจักรยานวันอาทิตย์ก่อตั้งขึ้นในปี 2540พอถึงปี 2541 เราก็เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด นายประวิทย์ สีห์โสภณ ในสมัยนั้นว่า อยากให้ทางจังหวัดช่วยสนับสนุนการใช้จักรยาน ประเด็นสำคัญคือในเรื่องความปลอดภัย ที่ผู้ว่าฯ ประวิทย์คิดทำในตอนนั้นก็คือ ทำหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานราชการและเอกชน บอกว่าทางจังหวัดสนับสนุนการใช้จักรยานและอยากขอความร่วมมือให้คนใช้รถยนต์ และจักรยานยนต์ในท้องถนน โดยการดูแลให้ทาง และระมัดระวังคนขี่จักรยานเป็นพิเศษ แต่ในทางปฏิบัติมันยังไม่เกิดอะไรให้เราเห็น เพราะไม่มีใครรู้ว่าใครจะต้องมาดูแล มีแต่การส่งหนังสือเวียนอย่างเดียว

   ตอนนั้นเราก็ได้ในลักษณะนั้น คือขอความร่วมมือจากจังหวัด ฟังแล้วมันก็ดูดีเหมือนกัน ทำให้มีกำลังใจขึ้น แต่มันก็ไม่เพียงพอ เพราะมันไม่เกิดอะไรเปลี่ยนแปลง เราก็พยายามที่จะให้มีเส้นทางจักรยานที่มีเครื่องหมายจราจรอยู่บนขอบถนน หรือบนผิวถนนบ้าง

จากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงตำรวจจราจร สารวัตรอนุย้ายไปเป็นสารวัตรสืบสวน ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้ากว่าในเรื่องของงานจราจร การย้ายออกไปจากงานจราจรไปงานสืบสวนก็คือความก้าวหน้าอย่างหนึ่ง ซึ่งเราก็นึกไว้เหมือนกันว่ายังไงๆ ก็ต้องมีการย้าย ท่านคงไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งนี้ได้ตลอด แต่ภาคประชาชนยังอยู่ เรายังทำกันต่อ แล้วเราก็รู้ว่าการที่เราเสนอให้มีทางจราจร หรือมีระบบจราจรสำหรับดูแลจักรยานขึ้นนั้น สารวัตรอนุเองก็คงยังทำเองไม่ได้ เพราะว่าต้องไปเสนอหัวหน้า เมื่อเสนอหัวหน้า ก็มีการประชุมว่าเอาหรือไม่เอา ปรากฏว่าตำรวจจราจรส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ตัวหัวหน้าเองก็ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจักรยานจะทำให้การจราจรติดขัด จะไปทำให้รถยนต์เดินทางไม่สะดวก เพราะเขาติดภาพของรถสามล้อถีบรับจ้าง ที่เวลาพาผู้โดยสารเดินทางไปตามถนนก็จะค่อยๆ ไปแบบอืดๆ ช้าๆ ก็ยังไม่เข้าใจกัน เพราะคนที่ไม่ได้ขี่จักรยานจะเข้าใจเรื่องนี้ด้วยตัวเองยากแต่ต่อมาก็มีการเปลี่ยนตำรวจจราจร มีพันตำรวจโท ประหยัด บุญศรีเข้ามาเป็นรองผู้กำกับจราจร แกก็สนับสนุนเรื่องจักรยาน มีการพูดคุยกันเรื่องเส้นทางจักรยาน แกก็เสนอให้ชมรมจักรยานวันอาทิตย์เชิญขนส่งจังหวัด ผู้อำนวยการ สำนักงานโยธาของเทศบาลนครเชียงใหม่มาคุยกัน เราก็เสนอไปว่าเราอยากให้มีเส้นทางจักรยาน หรือมีช่องเดินรถจักรยานในถนนบ้าง เราก็เสนอไปที่ถนนห้วยแก้ว รอบคูเวียงทั้งหมด ก็มีการทำ ถนนห้วยแก้ว ก็เลยมีทางจักรยานที่มีป้ายปักบนถนน ปักเป็นข้อความว่า ‘ทางเฉพาะจักรยาน’

GM : เป็นเส้นทางจักรยานบนบาทวิถีหรืออยู่บนพื้นถนน

ดร.นิรันดร : อยู่บนถนนครับ ป้ายอยู่บนทางเดินเท้า รูปจักรยานก็อยู่ตามแนวขนานของทางเท้าไป แต่ห่างมากเลย 500 เมตรมีรูปจักรยาน 1 ตัว คนขับรถเห็นรูปจักรยาน พอผ่านมา 200-300 เมตร เขาก็ลืมไปแล้วว่ามันเป็นเส้นทางจักรยาน แต่ในแง่ของพัฒนาการและความมุ่งมั่นก็ถือว่าดีขึ้น หัวหน้างานโยธาเทศบาลในตอนนั้นก็ดำเนินการให้ แต่ก็ทำแบบยังมีความเกรงใจผู้ใช้รถยนต์อยู่อีกเยอะ มันก็ยังไม่เกิดผลในเรื่องความมั่นใจในความปลอดภัยต่อมามีการทำเพิ่มเติมอีกในสมัยของ พันตำรวจโท ประหยัด บุญศรี ก็ทำในเส้นทางอื่นๆ ด้วย คราวนี้ตีเส้นเลย จากสะพานนวรัตน์ทำไปถึงสถานีรถไฟ ถนนศรีดอนชัยก็มี ถนนสุเทพต่อมาก็มีด้วย แต่ว่าก็ยังไม่มีความมั่นใจพอที่จะห้ามรถยนต์จอดในช่องจักรยาน เมื่อไม่มีการดำเนินการ ไม่นานรถยนต์ก็ทยอยจอดในช่องรถจักรยาน ทั้งๆ ที่ตอนแรกก็ไม่จอดกันเพราะเห็นเป็นเส้นทึบ แต่พอจอดแล้วไม่มีปัญหา คนอื่นเห็นจอด ฉันก็น่าจะจอดได้เหมือนกัน ก็จอดกันเต็มพรึ่บไปหมด คนขี่จักรยานก็ไม่มีความมั่นใจ ถึงแม้ว่าจะเป็นช่องเดินรถจักรยาน มีเส้นไว้ให้ ใหม่ๆ คนก็สนใจนะ แต่พอเริ่มมีรถยนต์จอดปุ๊บคนก็เริ่มไม่กล้า ถอยหมด เพราะว่าต้องระวังรถจากข้างหลังตอนที่กำลังแซงรถที่จอด ซึ่งรถที่มาจากข้างหลังในขณะแซงรถที่จอดนี่ถือว่าเป็นจุดอันตรายและน่าหวาดเสียว เพราะฉะนั้นช่องทางจักรยานมันก็เลยไม่สามารถเกิดได้ ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงผิวถนน ซ่อมถนนทางจักรยานที่มีอยู่ก็ถูกลบหายไปพร้อมกับการทำถนน

GM : เป็นเพราะเราเพียงแต่ตีเส้นเป็นช่องหรือเปล่า ถึงทำให้ไม่ได้แยกพื้นที่กันเด็ดขาด

ดร.นิรันดร : เส้นที่เป็นช่องนี่ถือว่าเป็นมาตรฐานอันหนึ่งที่ยุโรปใช้กัน แต่ในบ้านเราก็ยังไม่เวิร์ก เพราะบ้านเราไม่ได้ห้ามรถจอด ในขณะที่ยุโรปห้ามรถจอดเด็ดขาดเลย เป็นการห้ามที่มีมาตั้งแต่การสอบใบขับขี่ คือจะสอบใบขับขี่ก็ต้องรู้ด้วยว่าถ้ามีช่องแบบนี้ห้ามจอด แต่ของบ้านเรามันไม่มีอะไรที่จะโยงให้เข้าไปถึงระบบการสอบใบขับขี่ได้ จึงไม่มีใครรู้ ก็เป็นอันว่าเส้นทางจักรยานที่มีช่องในถนนสุเทพ ในถนนห้วยแก้ว ก็หายไปจริงๆ แล้วก็มีช่องเดินรถจักรยานที่กั้นด้วยแนวปลูกต้นไม้เป็นอย่างดีในถนนรัตนโกสินทร์ คือถนนที่ผ่านตรงสนามกีฬาเทศบาลข้ามสะพานข้ามแม่น้ำปิงไปทางสุสานสันกู่เหล็ก อันนั้นเป็นทางจักรยานที่ดีมาก แต่เกิดขึ้นมาโดยไม่มีใครเรียกร้องต้องการ ก็เลยไม่มีคนขี่ เพราะมันไม่มีคนเรียกร้องให้เกิดตรงนั้น

GM : ดูเหมือนจะเป็นลักษณะเดียวกับเส้นทางจักรยานที่กรุงเทพฯ ซึ่งมักเกิดขึ้นในที่ที่ไม่มีใครใช้งาน เช่นตรงเลียบทางด่วนรามอินทรา

ดร.นิรันดร : ผมคิดว่าเป็นกันทุกแห่ง เพราะเราเคยมีทางจักรยานที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีคนเรียกร้อง พอไม่มีการรณรงค์อะไรมันจะไม่มีคนไปใช้เพราะไม่ใช่เส้นทางที่จะพาคนไปไหนต่อได้ และมันสั้นเกินไป อย่างเส้นทางจักรยานเชียงใหม่-แม่ริม อันนี้เป็นตัวอย่าง เกิดขึ้นในสมัยที่สาวมอเตอร์ไซค์กำลังฮอตสุดๆ จักรยานเพิ่งจะเลิกใช้กันไปใหม่ๆ แล้วไม่มีการรณรงค์ อยู่ๆ อันนี้ก็เกิดขึ้นมา มันก็ไม่มีคนใช้ ผมก็ไม่ได้ใช้ (หัวเราะ) ตอนนั้นมันยังไม่มีใครคิดรณรงค์เรื่องพวกนี้ กรมทางหลวงทำขึ้นก็ไม่ได้คิดว่าใครจะมาใช้ แต่อยากทดลองทำดู

เส้นทางจักรยานแบบนี้เกิดขึ้นที่เส้นนครชัยศรีเข้าสู่นครปฐมด้วย ตรงนั้นกั้นเป็นเหล็กอย่างดีเลยนะ เหมือนเมืองจีน แต่ไม่มีใครรณรงค์ให้ใช้จักรยาน มันก็ล้มเหลว ตอนนี้มีคนบอกว่า มีเส้นทางจักรยานที่มีช่องตีเส้นเอาไว้ที่จังหวัดตาก ตรงถนนซูเปอร์ที่ผ่านตากลงไปต่อกำแพงเพชร แต่จริงๆ ผมคิดว่ามันก็ไม่เวิร์กหรอก เพราะแม้แต่ในเทศบาลเมืองตากก็ยังไม่ได้ทำช่องทางจักรยาน ยังไม่มีระบบจราจรให้คนใช้ในเมืองขี่ออกมาเชื่อมกับตรงนี้ได้ แล้วใครจะเหาะมาขี่ (หัวเราะ)เพราะฉะนั้นระบบการจราจรจักรยานหรือช่องทางเดินจักรยานที่ไม่มีการรณรงค์ และไม่ได้มีความต้องการที่จะใช้อย่างชัดเจน ถึงแม้จะเกิดขึ้น แต่มันก็จะไปได้ยาก

GM : ระบบเส้นทางจักรยานที่พึงเป็น อย่างในญี่ปุ่นหรือในยุโรป ควรมีลักษณะอย่างไร

ดร.นิรันดร : ในญี่ปุ่นผมไม่เคยไปเอง แต่จากที่เห็นในภาพถ่ายทางเท้าเขากว้าง ระดับไม่ได้สูงจากถนน มันเหมือนกับลาดจากถนนขึ้นไปยังทางจักรยานที่อยู่บนทางเท้าเลย ก็เวิร์กสำหรับญี่ปุ่นที่จะใช้ทางจักรยานร่วมกับทางเท้า แต่ในยุโรป ทางจักรยานร่วมกับทางเท้าจะมีอยู่ใน park หรือจะอยู่ตามถนนคนเดิน แต่ถ้าอยู่บนถนนก็มักจะอยู่บนผิวถนน มีน้อยกิโลเมตรที่จะอยู่บนทางเท้า เพราะว่าวิ่งในผิวถนนมันไม่มีอะไรกีดขวาง แต่บนทางเท้า ยิ่งในบ้านเรามันมีอะไรที่เป็นสิ่งกีดขวางมากมาย ถ้าขึ้นไปแล้วเดี๋ยวก็ต้องลง ตอนลงนี่ละที่เป็นจุดอันตราย ถ้าเราลงมาแล้วลืมดูข้างหลัง รถอื่นก็อาจจะชนได้ เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่าในบ้านเราต้องเอาทางจักรยานในผิวถนนเป็นหลัก เพราะทางเท้าเรามันใช้ไม่ได้ ไม่มีการจัดระเบียบอะไร แล้วถ้าเราคิดถึงการทำทางจักรยานบนทางเท้า เราก็ไม่ได้นึกถึงคนเดิน

เท่าไหร่ คนเดินและผู้พิการควรที่จะได้ใช้ทางเท้า ถ้าเราทำให้มีทางเดินจักรยานอยู่บนช่องพื้นผิวถนน ผู้พิการที่ใช้ล้อเลื่อนก็จะสามารถใช้ทางนั้นได้ด้วย แต่ต้องดูแลว่ารถต้องไม่จอด

เมื่อทางจักรยานแบบเดิมๆ ที่ไม่มีการดูแลมันล้มเหลว เราก็นึกถึงระบบที่ผมเห็นในต่างประเทศ เพราะผมไปยุโรปประมาณ 2 ปีครั้ง ส่วนใหญ่ก็จะไปที่เยอรมัน หรือไม่ก็ฮอลแลนด์ ผมเห็นการพัฒนาของเขาเรื่อยๆ ก่อนไปเราหาข้อมูล เราก็รู้ว่าเขามีการทดลองใช้ถนนที่เป็นวันเวย์ แต่ให้จักรยานวิ่งทูเวย์ ปรากฏว่าเวิร์กมาก เพราะว่าหลายถนนที่แคบรถยนต์สวนกันไม่ได้แต่ไม่ได้แคบเกินกว่าจะให้รถยนต์แซงรถจักรยานได้ ทีนี้เมื่อรถยนต์แซงจักรยานได้ ก็ต้องมองในทางกลับกันว่า แล้วถ้าเผื่อสวนกันล่ะ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะฉะนั้นก็เกิดระบบจักรยานวิ่งทูเวย์ รถยนต์วิ่งวันเวย์ขึ้นทั่วยุโรป คือไม่มีช่องจักรยาน แต่มีรูปจักรยานอยู่กลางถนน แล้วมีลูกศรชี้บอกว่าเป็นถนนที่มีจักรยานวิ่ง 2 ทาง จักรยานจะไปทางไหนก็ได้ แล้วคนที่เห็นก็จะรู้ได้เลยว่าสิทธิของคนขี่จักรยานมันเป็นแบบนี้ ไม่ได้มาคิดว่าทำไมจักรยานถึงมีอภิสิทธิ์

GM : จริงๆ แล้ว เรื่องการเลือกใช้จักรยานนั้นเป็นเรื่องของการสนับสนุนทางด้านสิทธิการใช้ถนนด้วยใช่ไหม

ดร.นิรันดร : คนยุโรปคิดว่าจักรยานเมื่อใช้แล้วมีผลดีหลายอย่าง ผลดีต่อสุขภาพของคนขี่ ผลดีต่อสภาพแวดล้อมของเมือง มลพิษลดน้อยลง ปัญหารถติดก็ไม่ค่อยมี เขาจึงสนับสนุนเรื่องพวกนี้เต็มที่ รถยนต์อาจจะคันใหญ่ แต่มีสิทธิเล็กกว่าจักรยานอีก เมื่อทำแบบนี้การใช้จักรยานมันก็ขยายตัวไปดีมากเลย เดิมถนนวันเวย์รถจักรยานก็ต้องวิ่งวันเวย์เหมือนรถ ต้องไปกลับรถไกลๆ เหมือนรถยนต์ แต่จักรยานใช้กำลังคน ถ้าเป็นเด็ก ผู้หญิง คนมีอายุล่ะ จะทำอย่างไร ดูๆ แล้ว เอ๊ะ! มันเป็นการส่งเสริมให้คนเลิกใช้นี่นา (หัวเราะ) ไม่ใช่ส่งเสริมให้คนใช้มากขึ้นในไทยยังไม่เป็นอย่างนั้น ทั้งที่ถนนมันกว้างพอ ทำไมผมถึงจะขี่ย้อนกลับมาไม่ได้ แต่ที่ย้อนขี่กลับไม่ได้ เพราะว่าตำรวจที่ผ่านมาเขาไม่เข้าใจ ทำให้จักรยานต้องวิ่งไปตามทางวันเวย์ แต่เรามองว่าถ้าเราจะสนับสนุนให้คนใช้จักรยานมากขึ้น ต้องให้คนใช้จักรยานขี่สวนได้

GM : ในเชียงใหม่ดูเหมือนจะมีทางวันเวย์อยู่มาก

ดร.นิรันดร : ใช่ครับ เพราะฉะนั้นผมก็เสนอเรื่องนี้ตอนที่เป็นอนุกรรมการจัดการจราจรทางบกจังหวัดเชียงใหม่ หรือ อจร.ชม. พอถึงตอนที่เสนอตรงนี้ โอ้โห! มันผ่านยากนะ เพราะว่าคนอื่นๆ เขาไม่ได้ขี่จักรยานกัน คนที่ขี่ก็คือผมที่ไปเป็นกรรมการอยู่ตรงนั้น กว่าจะผ่านได้ก็ถือว่าวุ่นวายพอสมควร ตำรวจไม่ค่อยเห็นด้วย บางคนถึงกับบอกว่า ถ้าให้มีทางจักรยานแล้วรถยนต์จอดไม่ได้ ทางชมรมวันอาทิตย์ต้องหาที่ให้รถยนต์จอดนะ (หัวเราะ)เพราะฉะนั้นอันนี้แหละที่ผมว่ามันเป็นยุทธศาสตร์นำร่อง ที่จะต้องเสนอเส้นทางจักรยาน 3 เส้น ให้ผ่านย่านที่อยู่อาศัย ย่านธุรกิจ ย่านที่พักของนักท่องเที่ยว เข้าไปยังคูเวียงหรือตรงใจกลางเมือง เพราะคูเวียงนี่เป็นพื้นที่ที่พิเศษมาก ตอนกลางวันมีคนเข้าไปเต็มเลย มีนักเรียนไปโรงเรียน คนไปทำงาน สถานที่ทำงานของหน่วยงานราชการก็มีเยอะ คุก อำเภอ โรงเรียนราชการก็หลายแห่ง เพียงแต่ว่ากระบวนการนี้ติดอยู่ที่ตำรวจบางคนที่ยังเห็นว่าถนนแคบ การให้จักรยานสวนมาไม่ปลอดภัย แต่เราจะให้สวนมาเฉยๆ ได้ยังไง ก็ต้องให้สิทธิเขาถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้รถอื่นเคารพสิทธิของจักรยานที่สวนมาด้วย นั่นก็คือต้องมีช่องเดินรถจักรยาน และมีป้ายบอกให้คนอื่นรู้ มันถึงจะมีความปลอดภัย แต่โดยธรรมชาติมันก็ปลอดภัยอยู่แล้วนะ ที่จักรยานสวนกับรถออกมาได้ เพราะว่าต่างคนต่างขับขี่สวนชิดซ้าย ก็คืออยู่คนละฟากของผิวถนน และก็มองเห็นกัน ในขณะที่เราขี่ไปตามกระแสจราจรแล้วมีรถแซงไป เราจะมองไม่ค่อยเห็น อันตรายกว่า ก็สู้กันมานาน

จนในที่สุดที่มีการเปลี่ยนผู้บังคับการคนหนึ่ง เมื่อต้นปี 2552 แกก็รู้เรื่องนี้ เนื่องจากว่าผมร่วมกับสำนักงานพลังงานซึ่งเป็นพันธมิตรหน่วยราชการ สำนักงานสิ่งแวดล้อม มาจัดเสวนาเรื่องการจัดระบบจราจรแบบประชาชนมีส่วนร่วม โดยสาธิตให้สื่อมวลชนเห็นว่าขี่จักรยานสวนมาแล้วเป็นอย่างไร สื่อมวลชนก็มาบันทึกภาพ บันทึกวิดีโอ แล้วก็สัมภาษณ์คนขี่บ้าง มาสัมภาษณ์ผมบ้าง คนที่มาร่วมสาธิตบอกว่า มันปลอดภัยกว่าอยู่แล้วที่ให้ขี่สวนมา เพราะมันมองเห็นกัน ซึ่งผู้การคนนี้เขามีความคิดอยู่ว่า เมืองเชียงใหม่น่าจะเป็นเมืองที่คนมาเที่ยว มาดูวิถีชีวิตวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นมีจักรยานนี่เป็นเรื่องดี แต่แกบอกว่าบ้านเราคนขับรถกันเร็วเกินไป ถ้าเป็นจักรยาน การเดินทางก็จะช้าลง ความปลอดภัยก็จะมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็สนับสนุนคือการที่เราเสนอให้จักรยานวิ่งสวนทางได้ มันดูเหมือนคิดนอกกรอบ ซึ่งเบื้องแรกที่ตำรวจคิดตามสัญชาตญาณ เขาก็จะมองว่ามันนอกกรอบ แต่จริงๆ แล้วอยู่ในกรอบกฎหมาย นั่นก็คือต่างคนต่างชิดซ้าย ก็เหมือนกับถนนทั่วไปนั่นแหละที่วิ่งสวนทางกัน ต่างคนต่างชิดซ้าย เพียงแต่เราทำให้ปลอดภัยด้วยการตีเส้นเป็นช่องจักรยาน ให้รถอื่นเกรงใจหน่อย

GM : ลึกๆ แล้ว เรื่องของการมีเส้นทาง

จักรยานในเมืองไทยอาจจะไม่ใช่เรื่องของความปลอดภัยที่ยังไม่มี แต่อาจเป็นเรื่องของการเรียนรู้ด้านสิทธิที่ยังไม่มากพอ

ดร.นิรันดร : ใช่ การเรียนรู้ในเรื่องสิทธิ และการเรียนรู้ในเรื่องที่จะใช้วิสัยทัศน์มาสนับสนุน นั่นคือว่าเราต้องมองข้ามช็อตไปว่า ถ้าคนเคยใช้รถยนต์ที่เดือดร้อนในเรื่องน้ำมันแพง รถติด ได้เห็นพวกขี่รถจักรยานชิดซ้ายซอกแซกๆ ไปแล้วไม่ติด ไปถึงไฟแดงข้างหน้า

โห! มันจูงเดินข้ามต่อไปได้ ไม่ต้องติดไฟแดงอีก ผมว่าจะเกิดแรงผลักดันให้คนคิดว่าเรามาขี่จักรยานดีกว่า รถก็ไม่ติด ประหยัดก็ประหยัด สุขภาพก็ได้ ถ้ามองข้ามช็อตแบบนี้ ก็จะเห็นว่าถ้าเราสนับสนุนให้คนใช้จักรยานมากขึ้นเท่าไหร่ แล้วเขามั่นใจว่าความปลอดภัยมันมี รถอื่นๆ มันจะน้อยลงได้แต่ปัญหานี้มันเหมือนไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่ ที่จะเริ่มต้นอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ไปตั้งเงื่อนไขกลับตาลปัตร ถ้าเมื่อไหร่คิดเงื่อนไขกลับตาลปัตรเพื่อไปค้านมัน มันก็ไม่เกิด เพราะมันยังไม่เห็น แต่ผมได้บทเรียนจากสมัยที่สารวัตรจราจรรณรงค์ไง ที่ตอนนั้นคนมาเยอะ เพราะคนมั่นใจในความปลอดภัย เพียงแต่ในวันธรรมดามันจะต้องทำยังไงถึงจะให้ทำอย่างนั้นได้ด้วย

GM : อย่างกรุงเทพฯ คุณมองว่าควรจัดเส้นทางจักรยานอย่างไร เพราะกรุงเทพฯ มีความซับซ้อนในเรื่องการจราจรมาก แล้วเอาเข้าจริง ความปลอดภัยน้อยมาก

ดร.นิรันดร : จริงๆ แล้ว ความปลอดภัยจะเกิดได้ต้องมีความเข้มแข็งที่จะสร้างระบบที่ปลอดภัย ความเข้มแข็งก็คือการเตือนและใช้วินัยจราจรเพื่อให้รถอื่นดูแลให้ทางคนขี่จักรยานที่กำหนดเป็นช่องเดินรถจักรยานเอาไว้ นักวิชาการมองว่าเส้นทางจักรยานต้องมีการเชื่อมโยงให้ไปโน่นนี่ได้ แต่พอทำหลายเส้นพร้อมกันตำรวจก็ไม่มีกำลังไปดูแลความเรียบร้อย เมื่อทำไม่ได้มันก็เละ ผมจึงไม่ได้สนใจมากนักว่ามันต้องเชื่อมโยงไปไหนต่อไหนได้ แต่ขอให้มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ และดูแลมันดี ให้คนเคารพช่องเดินรถจักรยานไม่เข้าไปขี่ ไม่เข้าไปจอด คนก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ ขยายไปที่ไหนต่อคนก็จะปฏิบัติ ถ้ามีเส้นทางจักรยาน แล้วมีการเข้มงวด จอดโดนจับ มีการปรับอะไรพวกนี้เอาแค่ 10% ของจำนวนที่เกิดขึ้นจริง ก็จะเกิดผลขึ้นมา

GM : แล้วพวกจุดตัดขวางต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่มาก ลักษณะของเส้นทางจักรยานที่ผ่านจุดตัดขวางเหล่านี้ควรเป็นอย่างไร

ดร.นิรันดร : ก็ต้องมีเส้นประข้ามจากช่องจักรยานไป สมมุติว่าตรงนี้เป็นทางแยกที่มีช่องจักรยานมา อีกทางก็มีช่องจักรยานมา พอมาถึงทางแยกจะมีไฟแดงหรือไม่ก็แล้วแต่ ก็ให้ทำเป็นช่องประ หมายถึงว่าวิ่งตัดผ่านได้ ไม่ผิด แต่ให้คนระมัดระวังว่าตรงนี้เป็นช่องของคนขี่จักรยาน แล้วถ้าเผื่อมีการปล่อยสัญญาณไฟเขียว เพื่อให้จักรยานได้ล่วงหน้าออกไปก่อนรถเลี้ยวขวา จักรยานก็จะออกไปก่อน ทำให้รถยนต์ที่จะเลี้ยวขวาก็เลี้ยวได้ เพราะจักรยานไปหมดแล้ว มันไม่เหมือนการขี่จักรยานวันอาทิตย์ที่ขบวนยาว ในวันธรรมดาจะมีเพียงไม่กี่คันทยอยกันไป ต้องใช้เวลาอีกนานมาก ถึงจะเป็นแบบฮอลแลนด์ ที่มีจักรยานมาแบบมากมายไม่ขาดสายเลย

GM : นอกจากการเรียนรู้เรื่องสิทธิแล้ว อาจยังมีอีกเรื่องหนึ่งคือการใช้รถยนต์เป็นสัญญะ ทำให้เรามองว่า รถยนต์มีอำนาจมากกว่าจักรยาน เหมือนเรื่องโรคสาวมอเตอร์ไซค์ที่คุณว่าในตอนต้นก็ได้

ดร.นิรันดร : ถ้าเป็นคนใหญ่คนโตในตำแหน่งข้าราชการเขาอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ผมคิดว่าถ้าเป็นคนทั่วไป ถ้ามีระบบดูแลพอ ผมว่าเขาไม่กล้า ไม่คิดว่าตัวเองมีอำนาจหรือสิทธิอะไรมากกว่ากัน แต่มันต้องเตือนสติด้วยการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานราชการที่สนับสนุน เตือนสติด้วยภารกิจหน้าที่ของตำรวจจราจร ตำรวจจราจรก็ต้องมองเห็นว่า การสนับสนุนให้คนขี่จักรยานแล้วช่วยเปลี่ยนบ้านเมืองให้ดีได้ นโยบายของผู้ที่สนับสนุนหรือผู้ที่บริหารบ้านเมืองก็ต้องเข้าใจตรงนี้ ต้องคิดเหมือนกันว่าทำแล้วบ้านเมืองมันดีขึ้นหรือเปล่า ถ้าดีขึ้นก็ต้องให้สิทธิเขา คนอื่นก็ต้องระมัดระวัง แล้วที่สุดก็จะกลายเป็นกฎที่ว่า คนเดินเท้ามาอันดับหนึ่ง จักรยานอันดับสอง รถยนต์หรือรถอื่นๆ เป็นอันดับสาม

GM : แต่ผู้มีอำนาจที่ไหนๆ ก็ไม่ได้เดินเท้าและไม่ได้ขี่จักรยาน

ดร.นิรันดร : เมื่อไม่ได้เดินเท้า ไม่ได้ขี่จักรยาน เขาก็จะคิดว่า มันต้องหลีกกู ก็บีบแตรอะไรต่างๆ นานา อันนี้เป็นสัญญาณของความไม่เจริญ ซึ่งอีกหน่อยผมคิดว่าคนจะรู้สึกอายไปเองที่จะคิดแบบนี้ ผมเชื่อว่ามันต้องเปลี่ยน และถ้าน้ำมันราคาสูงขึ้น คนก็จะรู้สึกว่า โห! มันไม่ไหว (หัวเราะ) ผ่อนรถนี่บางเดือนยังไม่มีเงินจะส่ง ต้องไปยืมเงินนอกระบบมาผ่อนไปก่อน แล้วเจอน้ำมันอีก ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องสบายอีกต่อไป

GM : ที่คนยังไม่ขี่จักรยานกันมากนักในชีวิตประจำวัน เป็นเพราะบ้านเราอากาศร้อน คุณว่ามีส่วนจริงไหม

ดร.นิรันดร : คนที่ไม่ขี่จะบอกว่าที่ไม่ขี่เพราะอากาศมันร้อน ก็เป็นเหตุผลที่พอกล้อมแกล้มได้ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ถ้าขี่ในชีวิตประจำวันจริงๆ อย่างขี่ไปทำงานหรือไม่ก็ขี่ไปเรียน ไปตอนไหนล่ะ ก็ไปตอนเช้า แล้วกลับตอนเย็นในวันทำงาน แล้วจะออกมาขี่จักรยานตอนแดดร้อนๆ นี่ไม่ค่อยมีหรอก เพราะฉะนั้นตอนร้อนก็ไม่ได้ขี่ ที่ขี่ก็จะเป็นตอนที่อากาศยังดีๆอยู่ ไม่ว่าเป็นตอนเช้าหรือว่าตอนเย็นในช่วงที่ร้อนๆ แล้วเราจอดรถเอาไว้ พอเราเข้าไปในรถก่อนที่แอร์มันจะเริ่มเย็นนี่ โอ้โห! มันร้อนมากเลย แต่ถ้าเราเอามือยื่นออกไปนอกรถในขณะกำลังวิ่ง มันเย็นกว่าเยอะมากเลย นั่นก็ถ้าดูเผินๆ จะเหมือนขี่จักรยานแล้วร้อน แต่เมื่อเราขี่ไปลมพัดโดนตัวเรา มันเหมือนได้พัดลมธรรมชาติ จริงๆ แล้วมันไม่ร้อน เพียงแต่คนที่ไม่เคยขี่ก็จะมองว่าร้อน แล้วก็บอกว่าเป็นเหตุผลที่ฉันไม่ขี่

GM : เป็นไปได้ไหมว่า ถ้าคนขี่จักรยานมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เราเห็นคุณค่าของต้นไม้ใหญ่มากขึ้นเหมือนในสิงคโปร์ที่แม้จะเป็นประเทศในเขตร้อนกว่าเรา แต่มีการขี่จักรยานกันมากได้เพราะมีต้นไม้ใหญ่มากด้วย

ดร.นิรันดร : ใช่ครับ ก็ค่อยๆ ทำไป ทางที่ช่องเดินรถจักรยานทำให้มีต้นไม้ มันทำได้ ก็ทำให้เมืองร่มเย็นน่าอยู่ ขี่จักรยานก็สบาย ปัญหาเรื่องร้อนก็ยิ่งลดน้อยลงไปใหญ่ แต่โดยธรรมชาติมันไม่ใช่ปัญหา ของสิงคโปร์นี่ร้อนด้วยอุณหภูมินะ ถึงแม้จะอยู่ในร่มอุณหภูมิกับความชื้นมันก็ทำให้ร้อนอบอ้าว แต่ถ้าขี่จักรยานก็เหมือนมีลมพัด ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกสบาย แล้วการขี่ในเมือง ในชีวิตประจำวันมันไม่ใช่การเดินทางไกล หรือไม่ก็ใช้รถจักรยานพับ ถ้าอยู่ไกลก็ขี่จากถนนส่วนที่สบายๆ มา พอถึงช่วงนึงก็อาจจะหิ้วขึ้นรถไฟฟ้า ลงปั๊บ ปั่นเข้าที่ทำงาน พับเอารถขึ้นไปจอดอยู่ข้างเก้าอี้ ไม่ต้องกลัวหาย แล้วทุกวันนี้รถไฟฟ้า BTS ก็ให้รถจักรยานขึ้นได้ ทั้งแบบพับและไม่พับ แต่ว่าถ้าเป็น MRT นี่ยังให้แค่แบบพับอย่างเดียว

GM : คุณคิดอย่างไรกับการที่สวนสาธารณะหลายแห่งห้ามใช้จักรยาน

ดร.นิรันดร : ขอยกตัวอย่างนะ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ที่เชียงใหม่ เราเสนอให้จักรยานเข้าได้ ให้นักท่องเที่ยวปั่นจักรยานจากในเมืองเข้าไป คนที่ขี่จักรยานจากบ้าน หรือนักท่องเที่ยวขี่จากเมืองเข้าไป ไม่มีใครที่เข้าไปแล้วขี่แบบคึกคะนองสักคน มันไม่มีความคิดเรื่องคึกคะนองอะไรอีกแล้ว เพราะเขาใช้จักรยานเป็นพาหนะ เพราะฉะนั้นคนพวกนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่ในตอนแรกก็มีการคัดค้านอยู่ เขาบอกว่ากลัวว่าจะขับเข้าไปเฉี่ยวชนคนอื่น อันนั้นเขาไปเห็นหรือมีประสบการณ์จากสถานที่ที่มีจักรยานให้เช่าพ่อแม่พาลูกไปเที่ยว ลูกเห็นก็บอกให้พ่อแม่เช่าจักรยานให้ แล้วเวลาเด็กขี่ก็ขี่แบบเด็ก ไม่ได้ขี่จักรยานแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน ก็ขี่แบบคึกคะนอง แล้วก็ล้มเองบ้าง ไปชนคนอื่นบ้าง ทำให้คนที่บริหารอยู่ที่นั่นคิดว่าจักรยานเป็นปัญหา

แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวที่ขี่จักรยานจากในเมืองเข้าไปหรือคนที่ขี่จักรยานเป็นประจำ คนประเภทนี้ไม่เข้าไปขี่ผาดโผนอะไร มันไม่มีปัญหาเลย มีเฉพาะจักรยานเช่า แต่ปรากฏว่าตัวจักรยานที่ให้เช่านี่แหละที่ยังมีปัญหาอยู่เหมือนที่เขามีกัน (หัวเราะ) คือคนไปขี่จักรยานหัวร้างข้างแตก ปากฉีก ก็กลายเป็นภาระของเขาที่จะต้องพาคนพวกนี้ไปส่งโรงพยาบาล ซึ่งผมดูๆ แล้วพวกเจ้าหน้าที่ดูแลจักรยานเขาก็เกือบจะถอดใจเหมือนกันนะผมเคยเสนอแนะว่าจักรยานไม่ต้องมีให้เช่าหรอก ให้เอาจักรยานมาเองจากที่บ้าน พวกนี้จะไม่มีปัญหา

GM : ตอนนี้กรุงเทพฯ กำลังจะมีการก่อสร้างซูเปอร์สกายวอล์ก เพื่อให้คนเดิน โดยที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้จักรยานบนนั้น ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ไม่อยากให้เกิดการเฉี่ยวชน คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ดร.นิรันดร : ผมว่าจริงๆ ควรจะให้จักรยานขึ้นนะ มันสามารถกำหนดได้ว่าทางเดินทางจักรยานให้มันอยู่ซ้ายหรือขวาของกันและกัน ทำให้เป็นการเฉพาะ ซึ่งสามารถทำได้ เพราะว่า Sky Walk เท่าที่ทราบก็ยาวเหมือนกันเป็นสิบกว่ากิโล คนคงไม่มีอารมณ์ที่จะเดินไกลเกินกว่า 2 กิโลเมตร คนที่เดินก็คงจะเป็นในระยะสั้นๆ ซึ่งก็คงมีคนเดินนั่นแหละ เพราะว่ามีร่มเงาด้วยเพราะข้างบนเป็นรถไฟฟ้า ความคิดนี้จริงๆ ก็ไม่เลวนัก เพียงแต่เราสงสัยว่าทำไมตารางเมตรละ 50,000 บาท (หัวเราะ) แต่เรื่องจักรยานนี่ถ้าให้จักรยานใช้ ระยะทาง 12 กิโลเมตร ถือว่าไม่ไกลเลย จะทำให้คนเดินทางไปทำงาน ไปไหนต่อไหนได้สบายๆ เลย และจะเกิดการใช้ในชีวิตประจำวันอย่างที่เราคิดว่าควรจะเป็น ทั้งยังสามารถแก้ปัญหาที่หลายคนบอกว่าขี่จักรยานแล้วร้อนไปได้ด้วยเพราะมีร่ม แล้วคนก็คงจะไม่ได้เดินมากมายกันตลอดเวลาหรอก มียกเว้นบางช่วงที่อยู่ใกล้ๆ ห้างสรรพสินค้า แต่ถ้าเลยไปไกลอีกหน่อย ผมว่าคนจะไม่เดิน

คนไทยยังไม่มีวัฒนธรรมในการเดินเล่น คือชวนกันไปเดินเล่นมีน้อย แต่ถ้าในยุโรป การเดินเล่นถือเป็นวัฒนธรรม ถือเป็นวิถีชีวิต ผมไปเยี่ยมบ้านเพื่อนต่างเมือง พอไปถึงกินกาแฟอะไรเสร็จ เพื่อนก็ชวนว่าเดี๋ยวเราไปเดินเล่นในป่ากัน เขาก็ทำของเขา ถึงแม้เราไม่ไป เขาก็ทำกันในหมู่ครอบครัวของเขา พอเราไปเยี่ยม เขาก็เอาวัฒนธรรมของเขามาต้อนรับเรา กินกาแฟ กินข้าวเสร็จก็ไปเดินเล่นในป่า แต่ของเราการเดินเล่นจะไม่ค่อยมี มันไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา แต่คนที่เคยไปต่างประเทศมาก็บอกว่าฉันอยากจะเดิน ก็ขับเคลื่อนให้ทางเท้ามันเดินได้อย่างสะดวก ปลอดภัย คนเหล่านี้แหละที่จะเป็นตัวขับเคลื่อน

GM : นั่นแปลว่าเรื่องบาทวิถี การเดิน หรือเส้นทางรถจักรยาน จริงๆ แล้วเป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรมด้วย

ดร.นิรันดร : ของเรานี่ยังไม่เป็น เพราะฉะนั้นคนที่ไปต่างประเทศมา หรือว่าคนที่เคยเดินมาแล้วรู้สึกว่ามันดี เขาก็ค่อยๆ นำเข้ามาใช้ ก็เป็นเรื่องดีนะ แต่ว่ามันไม่ใช่พื้นฐานของวัฒนธรรมเรามันก็เลยเกิดน้อย อาจจะต้องใช้เวลา แต่เราก็ต้องพยายามเร่งทำอะไรหลายๆ อย่างให้มันเกิดขึ้นได้เร็ว คือโดยธรรมชาติแล้วก็ต้องใช้เวลานั่นแหละ เพียงแต่ว่าใช้เวลาอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องพยายามทำอะไรบางอย่างด้วยเพื่อให้มันเกิดเร็วขึ้นทุกเรื่อง ไม่ว่าเดินเท้าหรือว่าขี่จักรยาน

GM : สำหรับคนที่อยากเปลี่ยนตัวเอง หันมาขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน คุณมีคำแนะนำอย่างไรบ้างไหม

ดร.นิรันดร : เรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือจะมีกลุ่มคนที่ใช้จักรยานอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีแล้วขี่จักรยานอยู่เรื่อยๆ ผมว่าคนเหล่านี้จะเป็นกลไก คนเหล่านี้ส่วนมากว่างงานหรือเกษียณแล้ว ซึ่งถ้าเรารณรงค์ส่งเสริมให้คนใช้จักรยาน แล้วให้คนเหล่านี้มาเป็นอาสาสมัคร มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับคนหน้าใหม่ที่อยากหันมาขี่จักรยานได้

คนที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงเหล่านี้ เขาต้องการปั่นจักรยานออกกำลังกายอยู่แล้ว ก็สามารถปั่นจักรยานจากบ้านไปยังจุดนัดของคนที่สนใจอยากจะเริ่มขี่จักรยานไปทำงานหรือไปโรงเรียน แล้วจะได้ช่วยแนะนำคนอื่นๆ ได้ด้วยว่าขี่มาอย่างนี้นะ เส้นทางแบบนี้จะใช้สัญญาณยังไง จะตรงไป เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ต้องทำอย่างไร หรือเลือกเส้นทางไปยังไงเป็นถนนที่ดี ยิ่งถ้ามีช่องเดินรถจักรยานอยู่มันยิ่งง่ายเลย พี่เลี้ยงจะช่วยทำพวกนี้ได้ แต่ต้องเป็นโครงการอาสาสมัครให้พี่เลี้ยงไปช่วย มีอะไรตอบแทนบ้างเล็กน้อย ไม่ต้องเป็นเงินค่าจ้างขั้นต่ำนะ (หัวเราะ) มีค่าอาหารว่าง มีค่าน้ำดื่มให้บ้าง บางคนอาจจะไม่ต้องการอะไรเลยด้วยซ้ำ แค่อยากจะช่วยเฉยๆ ก็มี เราต้องมีโครงการประเภทนี้ที่สร้างพี่เลี้ยงเพื่อให้เขาคอยไปดูแลให้คำแนะนำแก่คนที่เขาเริ่มต้นใช้จักรยานไปทำงาน ถ้ามีพี่เลี้ยงไปช่วยผมคิดว่าถ้าพี่เลี้ยงไปช่วยสัก 2 วัน วันต่อๆ ไปก็น่าจะไปได้อยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แล้วคนเหล่านี้ก็มีอยู่แล้ว เขาว่างแล้วเพราะเขาก็เกษียณแล้ว เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้

จะมองข้ามไม่ได้ เขาช่วยได้ ผมก็อยากทำนะ อยากทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเหมือนกัน ผมว่ามันก็สนุกดี (หัวเราะ)

GM : คิดอย่างไร ถึงได้ขี่จักรยานจากเชียงใหม่ลงมากรุงเทพฯ สำหรับคนวัยขนาดนี้ ไม่น่าจะเป็นเรื่องง่าย

ดร.นิรันดร : แนวคิดเริ่มต้นมันไม่มีอะไร คือว่านิทรรศการ ‘เชียงใหม่นาว !’ เขาเริ่มวันที่ 7 จะมีงานเปิดนิทรรศการในวันนั้น แต่ถ้าจะอยากให้คึกคักก็น่าจะมีการขี่จักรยานไปกรุงเทพฯ ชวนกันขี่ไปหลายๆ คน พอเราย้อนกลับมาดู ก็เห็นว่าเดือนเมษายนมีวันสำคัญ วันที่ 2 เมษายน เป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเทพฯ วันที่ 6 เป็นวันจักรี เชียงใหม่นาว ! เป็นวันที่ 7ถ้าเราใช้เวลาจากวันที่ 1-6 เดินทางก็พอได้ ถ้าเกิดเราเหนื่อยเพื่อจะเทิดพระเกียรติพระเทพฯ ไปด้วย ก็น่าจะดี เพราะว่าท่านก็ทรงงานหนัก ท่านทำอะไรที่เกี่ยวกับจักรยานไว้มาก ทั้งเวลามีการแข่งขันจักรยาน Tour of Thailand ทางสมาคมกีฬาจักรยานก็จัดขอพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ เรียกว่า มหาจักรีสิรินธรคัพ ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ ซึ่งจะปั่นข้ามจังหวัดประมาณ 3 จังหวัด หรือ 4 จังหวัด แล้วแต่ว่าระยะห่างมากน้อยขนาดไหน คล้ายๆ การแข่งขัน Tour de France เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าสมเด็จพระเทพฯ ได้อยู่คู่วงการจักรยานในเมืองไทยมาเป็นเวลานานเมื่อปีที่แล้ว ก็มีข่าวที่สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานจักรยาน 120 คัน กับโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาสให้นักเรียนใช้ ผมก็ยิ่งคิดว่า ท่านได้ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับจักรยานไว้เยอะ เพราะฉะนั้นเราสมควรที่จะเทิดพระเกียรติท่าน

แล้วก็นึกต่อไปด้วยว่า เดือนเมษายนนี่แหละ น่าจะตั้งให้มีวันจักรยานไทย หรือวันจักรยานแห่งชาติ อะไรก็แล้วแต่ ผมก็นึกอยู่ในใจว่า ควรกำหนดให้เป็นวันเสาร์และอาทิตย์ของเดือนเมษายน ซึ่งอยู่ในสัปดาห์ของวันคล้ายวันประสูติ คือเป็นวันที่ชวนคนไทยทุกคนมาขี่จักรยานออกกำลังกายผมคิดว่าอันนี้น่าจะดี โดยไม่ต้องสนใจในเรื่องของ Car Free Day เพราะ Car Free Day มันเกิดในเดือนกันยายน เป็นเดือนที่บางครั้งก็มีฝนตกบางทีหน่วยงานของรัฐจะมาจัด Car Free Day ก็ปวดหัวกับเรื่องจะปิดบัญชีงบประมาณมันปิดไม่ลงเพราะมันปลายเดือน อะไรพวกนี้วุ่นวายไปหมด เงินก็ไม่ค่อยจะมีใช้

GM : ถ้าจะมีวันจักรยานแห่งชาติขึ้นมาจริงๆ ในวันนั้นควรเป็นอย่างไร

ดร.นิรันดร : เราต้องทำในลักษณะที่ว่า ทำให้เป็นวันจักรยานที่รถอื่นเกรงใจและดูแลคนขี่จักรยานเป็นพิเศษ แล้วให้ถือเป็นวันเริ่มต้นของคนที่เพิ่งขี่จักรยาน ว่าวันนี้ฉันได้เริ่มต้น แล้วจะขี่ต่อไปนานๆ ใช้ในชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ อย่าไปนึกว่ารอให้ถึงวัน Car Free Day แล้วจะขี่จักรยานเฉพาะวันนั้น ให้ถือว่าเป็นวันเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิต จากชีวิตที่ใช้น้ำมันมาก ปล่อยมลพิษเยอะ มาเป็นวิถีชีวิตลดโลกร้อนด้วยชีวิตพอเพียง ในวันนั้นต้องประกาศไปเลยว่า คนขับรถอื่นต้องดูแลคนขับจักรยานเป็นพิเศษ

พอเขาเริ่มแล้วมันก็ต้องดูแลกันไปตลอดแหละ

GM : แต่บางเสียงก็บอกว่า การรณรงค์ให้ใช้จักรยานจะไม่ประสบความสำเร็จหรอก เพราะกลุ่มอุตสาห-กรรมใหญ่ๆ ทั้งน้ำมันและรถยนต์ ต่างก็ต้องต่อต้านการทิ้งรถยนต์มาใช้จักรยาน

ดร.นิรันดร : แต่การที่แถมจักรยานพับให้คนที่ซื้อรถยนต์ไปอย่างที่เกิดกับรถยนต์หลายยี่ห้อ ก็ถือว่าเป็นการโปรโมตทั้งสองอย่าง อย่างรถจักรยานของเชฟโรเล็ต ญี่ปุ่นก็เอาไปขายแถมกับรถยนต์ แม้แต่เบนซ์ก็ยังมีรถจักรยาน หรือ BMW ก็แถมกับรถยนต์ มันก็ส่งเสริมทั้งสองอย่าง จริงๆ ผมพบว่าคนในฮอลแลนด์ที่ปั่นจักรยานไม่น้อยนะที่มีรถยนต์กัน แต่เขาไม่ค่อยได้ใช้ เขาใช้รถยนต์ก็ต่อเมื่อพาครอบครัว

ไปไกลๆ ซื้อของเยอะๆ ซึ่งห้างใหญ่ๆ ขายถูกๆ มันก็อยู่นอกเมือง ก็ต้องออกไปซื้อนอกเมือง ก็เอารถยนต์ไปซื้อ เวลาเอาลูกไปส่งโรงเรียน ก็มีจักรยานที่มีที่ซ้อนสำหรับลูกข้างหน้าคนนึง ข้างหลังคนนึง แล้วก็ปั่นจักรยานไปส่งลูก มันเป็นวิถีชีวิตของเขา คนพวกนี้มีรถยนต์ บางคนบ้านอยู่ติดคลองก็มีเรืออีก คือมีรถยนต์เอาไว้ใช้ แต่ไม่ได้ใช้พร่ำเพรื่อ เหตุผลก็เพราะว่าใช้พร่ำเพรื่อแล้วปวดหัว ที่จอดก็หายาก บางที่ก็เสียเงินแล้วมันก็แพง

ถ้าเราส่งเสริมให้มีรถยนต์ประจำทางสาธารณะแล้วให้มีจักรยานอยู่ด้วย ถนนสายไหนที่ส่งเสริมแบบนี้ รถยนต์ต้องห้ามจอด ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องส่งเสริมให้ทำที่จอดเป็นของเอกชน จอดแล้วต้องเสียเงิน เมื่อปีที่แล้วผมไปเที่ยวสวิส ลูกชายผมเช่ารถจากบาเซิลไปแวะตามเมืองต่างๆ ของสวิส มีเมืองหนึ่งซึ่งผมจำชื่อไม่ได้ เราเอารถเข้าไปจอด จอดแล้วก็ไปเดินเล่นอะไรต่อไป ปรากฏว่าค่าจอดในชั่วโมงหลังๆ มันแพงขึ้นแบบอัตราก้าวหน้า ปรากฏว่าวันนั้นเสียค่าจอดรถไป 1,000 กว่าบาทไทย (หัวเราะ)

GM : ตอนนี้คุณยังทำงานสอนหนังสืออยู่ไหม

ดร.นิรันดร : ไม่ครับ ผมเกษียณมาหลายปีแล้ว อายุย่าง 67 ปีแล้ว แต่ผมเป็นคนออกกำลังกายอยู่เรื่อยๆ มันก็ดีนะ แต่จริงๆ สำหรับผม

ผมก็คิดว่ามันหนักอยู่เหมือนกัน งานหลายอย่างที่ต้องขีดต้องเขียน หรือเตรียมอะไรหลายอย่างก็ทำให้ผมนอนดึก แล้วผมจะไปปั่นจักรยานเหมือนพรรคพวกมันก็ทำให้พักผ่อนได้ไม่เต็มที่ บางทีก็ต้องใช้ตัวช่วย ใช้วิชาตัวเบา อย่างตอนขี่จักรยานไปกรุงเทพฯ นี่ ผมก็ต้องใช้วิชาตัวเบาเป็นช่วงๆ

GM : คืออะไร ?

ดร.นิรันดร : เวลาปั่นๆ ไปนี่เหนื่อยมาก แล้วเวลาเหนื่อยมาก ถ้าเราไปขืนมันนี่แย่เลยนะ ผมก็จะอาศัยชิ่งไปโบกรถปิกอัพ แล้วถามว่าคุณไปถึงเส้นทางนี้มั้ย ผ่านเส้นทางที่เราจะไปมั้ย ถ้าผ่านแล้วหยุดรับตรงนั้นเราก็ไป หรือถึงแม้ไปไม่ถึง แต่ช่วยเราได้ เราก็ไป วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ผมค้นพบโดยบังเอิญ นั่นก็คือมีเส้นทางสายเชียงใหม่ แม่ริม สะเมิง หางดง แล้วก็วกกลับมาเชียงใหม่อีกที ผมเคยขี่จักรยานไปตามเส้นนี้ 3 หน แล้วผมก็แพ้ตรง 7 พับ ซึ่งเป็นถนนขึ้นเขาหักศอกหลายครั้ง ตรงทางด้านที่ออกมาทางสะเมิง ครั้งแรกไปไม่ไหว ต้องจูงจักรยานขึ้นมา

ครั้งต่อมาผมเก่งขึ้น แล้วก็มีคนไปด้วย แต่เขาเพิ่งมือใหม่ มาจากสะเมิงขึ้นมา เขาขึ้นไม่ไหวเป็นตะคริว ผมเลยไปแล้วก็ต้องกลับมาดูเขาอีกที แล้วก็ขี่ขึ้นไปอีก ผมก็เลยไปหมดแรงเอาตรง 7 พับนี่แหละ แต่ขณะกำลังจูงๆ ขึ้นไปก็มีปิกอัพตามหลังมา เขาชะลอรถแล้วถามผม อ้ายๆ ไปบ่ (หัวเราะ) ก็เลยเกิดเป็นไอเดียใหม่ขึ้นมา รถจักรยานนี่มันช่วยผมนะ ถ้าไม่มีจักรยาน เขาก็ไม่มาถามผมหรอก แต่เป็นเพราะว่าเราจูงจักรยาน เขาก็มองว่าเรามีปัญหา เลยชวนผมขึ้น ผมก็บอกเขาว่าขอแค่ขึ้นไปข้างบนพ้น 7 พับก็พอแล้วจากนั้นมาผมก็แนะนำคนอื่นว่าไม่ต้องกลัว ถ้าไม่ไหวก็ให้โบกรถเอา แต่คนไทยชอบเขินนะ หลายคนก็กลัว ต้องมีรถเซอร์วิสเวลาไปไหนมาไหน แต่ผมไม่สนใจเรื่องรถเซอร์วิส เพราะผมเซอร์วิสด้วยวิธีโบกรถ ซึ่งก็มีคนรับนะ แต่ก็ต้องโบกให้เป็นด้วย เช่น มีคนไปไม่ไหวอยู่ 1 คนหรือ 2 คน แต่ถ้ามีคนมาคอยช่วยดูอยู่ 6-7 คน ช่วยโบกเพื่อให้ 2 คนนี้ได้ไป อย่างนั้นไม่มีรถที่ไหนจอดหรอก รถที่จะจอดต้องเห็นว่ามีแค่ 1 คนหรือ 2 คน เขาถึงจะกล้าจอด หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้หญิง แต่ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องกลัวเหมือนกันว่าคนที่มารับจะเป็นยังไง จะพาไปที่ไหน แต่ถ้าเป็นผู้ชายก็ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ ถ้าฉุกเฉินอยู่ที่ไหนก็ต้องโบก แต่ถ้าไม่ฉุกเฉินมาก ก็พยายามถูไถไปให้ถึงปั๊มน้ำมันก่อน เมื่อถึงปั๊มน้ำมัน จะมีรถจอดเติมน้ำมัน มีเวลาคุยกัน และเราสามารถดูได้ว่าติดรถไปกับเขาแล้วจะปลอดภัยหรือเปล่า

เชียงใหม่นาว !

เชียงใหม่นาว ! คือนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย ที่คัดเลือกศิลปินนักวัฒนธรรมจากเมืองเชียงใหม่ จำนวน 13 ท่าน มาร่วมแสดง

ผลงานที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยภัณฑารักษ์หรือ Curator ของงานนี้คือ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ผู้มีความเห็นว่า ศิลปะแทรกซ่านอยู่ในทุกกิจกรรมของชีวิต ไม่เว้นแม้กระทั่งการขี่จักรยานก็เป็นงานศิลปะ ดังนั้น เขาจึงเชื้อเชิญชมรมจักรยานวันอาทิตย์ให้เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นปลุกเร้าผู้คนให้สั่นสะเทือนไปกับศิลปะงานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 เมษายน – 18 มิถุนายน 2554 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

สมัยก่อนผมเคยโบกรถจากโคโลญจน์ไปจนถึงฮอลแลนด์ ผมก็นำประสบการณ์ตอนนั้นแหละมาใช้ ก็มีคนรับนะ แต่คนไทยจะมีนิสัยเขิน ไม่กล้าโบกรถ ถามว่าทำไม คำตอบก็คือกลัวเขาไม่รับ ผมก็บอกเลย แล้วถ้าคุณไม่โบก ใครเขาจะไปรับล่ะ (หัวเราะ)

ในบ้านเรา เมื่อเห็นความแตกต่างระหว่างวันอาทิตย์กับวันธรรมดาแล้วมันชัดเจนมากว่า ถ้าเรายังไม่ทำอะไร วันธรรมดาเราจะขี่จักรยานไม่ได้เพราะจะมีแต่ความกลัวแต่คนที่ขี่จักรยานวันอาทิตย์ไม่ได้กลัวอย่างนั้นเพราะขี่บ่อยๆ ก็ชินแล้ว

นักวิชาการมองว่าเส้นทางจักรยานต้องมีการเชื่อมโยงให้ไปโน่นนี่ได้ แต่พอทำหลายเส้นพร้อมกันตำรวจก็ไม่มีกำลังไปดูแลความเรียบร้อย เมื่อทำไม่ได้ก็เละ ผมจึงไม่ได้สนใจมากนักว่าต้องเชื่อมโยงไปไหนต่อไหน แต่ขอให้มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ และดูแลมันดี คนก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ

การสนับสนุนให้คนขี่จักรยานแล้วช่วยเปลี่ยนบ้านเมืองให้ดีได้ ถ้าดีขึ้นก็ต้องให้สิทธิเขา คนเดินเท้ามาอันดับหนึ่ง จักรยานอันดับสอง รถยนต์หรือรถอื่นๆ เป็นอันดับสาม แต่เมื่อไม่ได้เดินเท้า ไม่ได้ขี่จักรยาน เขาก็จะคิดว่ามันต้องหลีกกู ก็บีบแตรอะไรต่างๆ นานา อันนี้เป็นสัญญาณของความไม่เจริญ

Sky Walk ควรจะให้จักรยานขึ้นนะ มันสามารถกำหนดได้ว่าทางเดินทางจักรยานให้มันอยู่ซ้ายหรือขวาของกันและกัน ทำให้เป็นการเฉพาะ ซึ่งสามารถทำได้ เพราะว่ามีร่มเงาด้วยเพราะข้างบนเป็นรถไฟฟ้า ความคิดนี้จริงๆ ก็ไม่เลวนัก เพียงแต่เราสงสัยว่าทำไมตารางเมตรละ 50,000 บาท

3 จักรยานฮิตของคนเมือง

ตัวเลือกจักรยานสำหรับคนเมือง น่าจะเป็นจักรยานพับหรือ Foldable Bicycle ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลากหลาย แต่เราเลือกมาให้คุณชม 3 แบรนด์ด้วยกัน

Strida

Brompton

Dahon

ดาฮอนมีให้เลือกมากมายหลายรุ่น เป็นจักรยานพับได้ที่รูปร่างหน้าตาน่ารัก พับได้สะดวก ชื่อของมันมาจากผู้ก่อตั้ง คือ David Hon ซึ่งเคยเป็นนักฟิสิกส์มาก่อน ตอนนี้ดาฮอนเป็นบริษัทผู้ผลิตจักรยานพับได้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เป็นจักรยานพับที่นิยมมากในอังกฤษ  ดูเผินๆ หน้าตาคล้ายๆ Dahon แต่จริงๆ แล้วไม่เหมือน มีวิธีพับเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ Brompton กลายเป็นจักรยานพับที่ได้รับรางวัลมากมาย เป็นจักรยานพับที่นักวิจารณ์ยกย่อง

โครงรูปตัว A ของสไตรดาทำให้มันเป็นจักรยานพับที่หน้าตาประหลาดและแอบเท่อยู่ในตัว ออกแบบโดย Mark Sanders เป็นจักรยานพับที่สามารถพับได้อย่างรวดเร็วและไม่ต้องยก เพราะสามารถ ‘ไถ’ ไปกับพื้นได้จึงเหมาะกับการขับขี่ในเมือง

IN BIKE NATIONS

ในประเทศที่เห็นความสำคัญของจักรยานอย่างแท้จริง จะมีการแบ่งเส้นทางจักรยานออกเป็นหลายแบบ แต่โดยรวมแล้ว แบ่งออกได้เป็นเส้นทางจักรยานที่อยู่บนถนน (On Road) กับเส้นทางจักรยานที่อยู่นอกถนน (Off Road) โดยที่ทั้งสองแบบ ก็จะแบ่งออกไปอีกได้ดังนี้

On Road

Bike/Cycle Lane

แบบนี้ก็คือเส้นทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ จะมีการทำเครื่องหมาย เช่น ตีเส้นเอาไว้บนเส้นทางหรือไหล่ทางที่มีอยู่แล้ว อย่างในแคน-เบอร์รา ออสเตรเลีย จักรยานที่อยู่ในเลนสีเขียวจะมีสิทธิในเส้นทางนี้พาหนะอื่นๆ จะต้องให้ทางกับจักรยานก่อน ในอังกฤษจะเรียกว่า

Cycle Lane โดยที่เลนจักรยานจะไม่แยกขาดออกจากเลนของรถยนต์ทางกายภาพ แต่แยกขาดทางการบังคับใช้

Cycle Track

ไซเคิลแทร็คจะมีลักษณะแยกขาดออกจากพื้นผิวจราจรอื่นๆ แม้ว่าจะยังอยู่บนถนนก็ตาม โดยอาจมีลักษณะยกสูงขึ้นจากพื้นถนน (แต่มีทางเชื่อม) อาจเป็นวันเวย์ ทูเวย์ หรืออาจอยู่ในระดับเดียวกับพื้นถนนก็ได้ ในอังกฤษ ไซเคิลแทร็คนั้นสร้างขึ้นเพื่อให้นักปั่นใช้โดยเฉพาะ ไม่ให้พาหนะอื่นใช้ และบางที่ เช่นในไอร์แลนด์ ไซเคิลเลนกับไซเคิลแทร็คก็เชื่อมต่อกัน

Off Road

Cycleways/Bike paths

เป็นเครือข่ายเส้นทางจักรยานที่แยกออกจากถนน ไม่เกาะเกี่ยวไปกับถนน โดยมีลักษณะเป็น ‘ถนนสำหรับจักรยาน’ โดยเฉพาะ โดยอาจจะมีจุดเชื่อมกับถนนได้ในบางจุด และมีสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น สะพานลอยสำหรับจักรยาน ทางลอดสำหรับจักรยาน ฯลฯ ที่คุ้นเคยกันดีน่าจะเป็น Bike Trail ในอเมริกา

Sidepath/Shared-use footway

แบบนี้คือเส้นทางที่เลียบไปกับถนนใหญ่ แต่แยกขาดออกมาเป็นถนนเส้นเล็กอีกเส้นหนึ่งสำหรับจักรยานและคนเดินเท้าโดยเฉพาะ ทำให้สะดวกต่อการสัญจรไปตามเส้นทางหลัก แต่ไม่เกาะเกี่ยวไปกับถนน จึงสร้างความปลอดภัยขึ้นมาได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือในเมลเบิร์น โดยต้องมีการเคารพสิทธิกันระหว่างนักปั่นกับคนเดินเท้า เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ