fbpx

คนหนุ่มยุค 5G X ณัฐพล ม่วงทำการตลาด [ใส่ใจ] วันละตอน

เรื่อง: ชัชฎาพร จุ้ยจั่น ภาพ : พิชญุตม์ คชารักษ์

ในยุคที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้ประชาชนเข้าสู่การตลาดออนไลน์วันละ 2 ชั่วโมง ดูเหมือนคนที่เริ่มต้นเป็นผู้ขาย กำลังคว้าลมกลางอากาศโดยไม่มีเป้าหมายในการตั้งแผงหน้าเฟซบุ๊ก หรือช่องทางออนไลน์อื่น ยังไม่รวมกลยุทธ์ในการนำเสนอสินค้าและบริการให้โดนใจผู้ซื้อท่ามกลางการแข่งขันเพียงปลายนิ้วเลื่อนฟีดเฟซบุ๊กเท่านั้น

…แต่อะไรเล่าคือการสร้างความประทับใจจากการรับบริการ หรือสร้างภาพจำให้กับแบรนด์
“ควรทำสองอย่างนี้ควบคู่กันไปครับ” – ‘หนุ่ย-ณัฐพล ม่วงทำ’ นักวางกลยุทธ์ในการตลาดดิจิทัล หรือ Digital Strategist กล่าวทันทีพร้อมอธิบาย

อดีตนักครีเอทีฟโฆษณาและสายดิจิทัล บวกกับการสั่งสมประสบการณ์การทำงานมาเกือบสิบปีในแวดวงการตลาด รวมไปถึงบทบาทวิทยากรสอนนักศึกษาตามมหาวิทยาลัย และองค์กรด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ สามารถย่อยความรู้ด้านการตลาดให้เข้าใจง่าย เขาจึงผันตัวมาทำเพจที่คอยอัปเดตข่าวการตลาดที่น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลกชื่อว่า ‘การตลาดวันละตอน’ เพื่อจุดประกายให้กับคนทำโฆษณาและนักการตลาดมือใหม่มีไอเดียไปต่อยอด

ไม่เพียงแต่อาชีพที่กล่าวมาเท่านั้น แต่คอนเทนต์ของหนุ่ยกลับโดนใจคนบ้านๆ อย่างเรา ซึ่งไม่มีประสบการณ์การขายแม้แต่น้อย ด้วยการหยิบยกเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันให้เข้าใจง่าย

“ผมเรียกว่ากลยุทธ์ Personalization โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ทำให้เราอยากรู้จักลูกค้ามากขึ้น สมมุติว่า ผมมักจะแวะร้านกาแฟเล็กๆ ร้านหนึ่งทุกวัน เขาจำผมได้ พอเดินเข้าร้านปุ๊บ ‘เช้านี้เอากาแฟ เหมือนเดิมไหมครับ’ คำว่า ‘เหมือนเดิมไหม’ คือ Data ที่เจ้าของร้านหรือพนักงานกำลังส่งมาว่าเขาจำเราได้ ถ้าวันไหนผมไม่ไปร้าน วันต่อมาเขาจะเริ่มทักผมแล้วว่า ‘เมื่อวานไปไหน ทำไมไม่มา’ นั่นคือการที่เขาจดจำลูกค้า ฉะนั้นเขาจะรู้ว่าลูกค้าแต่ละคนเป็นใคร ชอบไม่ชอบอะไร มาบ่อยแค่ไหน เรียกว่าเป็นกลยุทธ์การทำ Personalization แบบบ้านๆ

“เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจในอนาคต ไม่ใช่แค่คุณมีของที่ดีกว่าหรือของที่ถูกกว่า ณ วันนี้ถ้ามีน้ำยี่ห้อที่ผมกินหายไปจากตลาด ผมไม่สนใจเลยว่าหายไปไหน แต่ถ้าเป็นแบรนด์ที่รู้ใจผม ใส่ใจผม วันหนึ่งหายไป ผมจะเริ่มรู้สึก เอ๊ะ! หายไปไหน นี่คือความต่างระหว่างการทำตลาดแบบ Personalization กับธุรกิจที่ทำการตลาดแบบแมสหรือการตลาดแบบธรรมดาเหมือนในยุคก่อน” เจ้าของเพจการตลาดวันละตอนอธิบายให้เห็นถึงสถานการณ์ใกล้ตัวที่เราอาจปฏิบัติในชีวิตประจำวันจนเกิดความคุ้นชิน ซึ่ง Personalization เน้นการเข้าถึงลูกค้าแบบซึมซับประทับใจจนเกิดเป็น Royalty ต่อสินค้าและบริการนั้นๆ

จริงอยู่ทุกวันนี้ คนเรามักมีความผูกพันต่อสินค้าและบริการในดวงใจ ในทางตรงกันข้าม กลับปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคดิจิทัลที่เกิดแบรนด์สินค้าขึ้นมากมาย เจ้าของสินค้าพยายามป้อนคอนเทนต์ สร้างการรับรู้ให้เข้าถึงพวกเรามากที่สุด ที่สำคัญ เรากำลังเข้าสู่ยุค 5G คนค้าขายเล็กๆ หรือทำธุรกิจ SMEs สามารถนำเทคโนโลยีในเรื่องความฉับไวนี้มาพัฒนาธุรกิจได้อย่างไร เพื่อให้คนจดจำแบรนด์เกิดใหม่ภายในเวลารวดเร็ว

“มันคือการพลิกโฉมทั้งธุรกิจ การตลาด รวมถึงไลฟ์สไตล์ทั้งหมด เมื่อสัก 10 กว่าปีก่อน ทุกคนจินตนาการไม่ออกว่า 3G คืออะไร ผมยังจำได้เลยว่า มีคนบนรถสองแถวพูดว่า 3G มีไปทำไม แค่คุยกันเห็นหน้า แต่สิ่งที่เขาไม่รู้เลยว่า พอ 3G เข้ามาเราจะเห็นทุกคนเล่นโซเชียลมีเดียกันเป็นประจำ เราส่งรูปภาพให้เพื่อน เราอัปโหลด เราเช็กอิน นั่นคือ 3G เข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตทั้งหมด จากนั้นเมื่อ 4G เข้ามาทำให้คอนเทนต์วิดีโอมาเติบโตอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนดูยูทูบเป็นหลัก หันมาดูทีวีย้อนหลังทางออนไลน์ ดูหนังทาง Netflix” หนุ่ยอธิบายระบบ 5G ต่อไปว่า

“ผมอยากให้นึกภาพว่า แต่ละ Gen ของอินเทอร์เน็ต แต่ละ G คือความกว้างของถนน แวบแรกคือถนนเล็ก ฉะนั้นรถใหญ่วิ่งไม่ได้ มันก็มีความเจริญแค่ประมาณหนึ่ง มีร้านค้าเล็กๆ ตรอกชาวบ้านแถวนั้น พอเป็น 3G ถนนใหญ่ขึ้น 4G เริ่มเป็นไฮเวย์ 5G มีทางด่วนเข้ามา นั่นหมายความว่ามันจะมีโอกาสมากมายที่เกิดขึ้นจากความเร็วอินเทอร์เน็ตที่มีความรวดเร็วมาก”

หนุ่ยสร้างความเข้าใจง่ายๆ เมื่อคนทั่วโลกพยายามสร้างคอนเทนต์ให้ไหลรวมตัวกันแล้วกระจายสู่เป้าหมาย การวางกลยุทธ์และบริหารข้อมูลเพื่อให้เจ้าของกิจการเข้าถึงลูกค้าหรือผู้รับสารได้โดยง่ายในยุค 5G นั้น เขาแนะนำให้เราย้อนกลับมาทำ Personalization หรือ Personalize Marketing ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการตลาด

ผมท้าเลย คุณจำไม่ได้หรอกว่า Ads ตัวไหนโชว์หน้าฟีดครั้งล่าสุด เพราะโฆษณาพวกนั้นไม่เคยคุยกับเรา นอกจากโฆษณาที่เราชอบจริงๆ ตามสถิติทุก 20 ฟีดเราจะเห็นโฆษณา 1 ฟีด แต่ทุกครั้งที่เราปิดโทรศัพท์ เราไม่จำว่าดูโฆษณาอะไรไปบ้าง นั่นคือสิ่งที่โฆษณาไม่เคยเข้าใจว่าเราชอบอะไร

“อีกไม่นานครับ โฆษณาจะเริ่มเข้าใจเราและรู้จักเรามากขึ้น เช่นวันนี้ผมมาที่ GM Group ถ้า Google รู้ว่าผมมาที่นี่เพราะอะไร เขาจะรู้แล้วว่าเขาอยากจะต้องให้ผมเห็นโฆษณาแบบไหน ถ้าชอบดื่มกาแฟ เขาจะยิงโฆษณามาแล้วว่าแถวนี้มีร้านกาแฟสไตล์ไหนที่คุณชอบ พอกด Google Maps ก็จะพาเดินไปเสร็จซื้อกาแฟกลับมาที่ GM ให้สัมภาษณ์ได้ทัน นี่คือการที่การตลาดต้องเข้าใจเรื่องของ Contextual มากขึ้น ไม่ใช่แค่คอนเทนต์เยอะแยะ แต่จะมีเพียงข้อมูลที่เข้าใจเราจริงๆ”

การทำการตลาดแบบ Personalization บวกเข้ากับเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาอย่างรวดเร็วอย่าง 5G สร้างความมาเร็วแต่ไม่ไปเร็วเพราะเป็นการสร้างความผูกพันกับแบรนด์อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เราซึ่งเป็นลูกค้าหรือผู้บริโภคอาจจะต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัว หรือ Privacy เพื่อแลกกับความสะดวกสบายหรือไม่

“จริงๆ มีการแลกกัน (Trade-Off) ระหว่างเจ้าของ Data เพื่อแลกกับความสบาย หรือคุณยังอยาก Keep Data แลกกับความไม่สะดวก นี่คือสิ่งที่กำลังเรียกว่าเถียงกันอยู่สองฝ่าย แต่จากเสียงส่วนใหญ่ยินยอมให้ข้อมูลกับแบรนด์และองค์กร ฉะนั้นข้อดีในการทำ Personalization คือทำให้ลูกค้ารู้ว่ายิ่งคุณให้ข้อมูลมากเท่าไร คุณจะได้รับสิ่งที่สะดวกสบายเป็นการตอบแทนมากเท่านั้นครับ”

นักการตลาดทิ้งท้ายแนวคิดดีๆ ในการเลือกรับข่าวสารสำหรับคนรุ่นใหม่ในปีนี้ว่า

“วันนี้ออนไลน์ไม่ใช่แค่ที่ที่คุณเข้ามาปลอมตัวเป็นใครก็ได้ แต่ออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย เรามีตัวตน ฉะนั้นคนเราจะไม่กล้าพูด หรือแชร์อะไรมั่วๆ เพราะทุกอย่างมันมีเอฟเฟ็กต์กับชีวิตจริงกลับมาเสมอ เราเริ่มเห็น Facebook มีฟีเจอร์ว่าโพสต์นี้ต้นทางอยู่ที่ไหน และกระจายไปที่ไหนบ้าง เขาพยายาม Back Track กลับไปว่า

“สุดท้ายแล้วต้นตอข่าวนี้มาจากไหน ซึ่งสกิลในยุคหน้า คือการแยกแยะให้ออกว่าอะไรคือข่าวสารที่ควรใช้เวลาในการเรียนรู้ หรืออะไรคือข่าวสารหรือคอนเทนต์ที่ไม่ควรเสียเวลากับมัน”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ