fbpx

ดร.นรีรัตน์ รัตนพรวิเศษกุล ผู้นำทัพสินค้าไทย ไปสง่าในแดนมังกร

เ รื่ อ ง  :  ณั ฐ พ ล   ศ รี เ มื อง   ภ า พ :  อ นุ วั ต น์   เ ด ช ธำ ร ง วั ฒ น์

ดร.นรีรัตน์ รัตนพรวิเศษกุล หรือ ‘ลิลลี่’ เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่บ้านทำธุรกิจหลายอย่างกับทางเมืองจีน จบปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยในประเทศจีน และได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนราวกับเป็นบ้านหลังที่สอง จึงไม่น่าแปลกใจที่เธอจะมีความรู้ความเข้าใจใน ‘ความเป็นจีน’ ตั้งแต่วัฒนธรรมการใช้ชีวิตร่วมสมัย ไปจนถึงการเจรจาทำธุรกิจ นอกจากนี้เธอยังมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับภาคส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวางจีนนั้นเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ผู้ประกอบการธุรกิจทุกคนเล็งเห็นโอกาส แต่กระนั้นการที่จะนำสินค้าสักหนึ่งผลิตภัณฑ์เข้าไปกระจายในประเทศจีนจนถึงมือผู้บริโภค คงไม่ได้ง่ายดายอย่างใจคิด มีอุปสรรคนานาที่รออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันด้านรูปแบบของสินค้า โมเดลธุรกิจใหม่ๆ หรือกฎของทางภาครัฐที่เกี่ยวกับเรื่องการนำเข้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งคงจะดีหากได้คนที่มีคุณสมบัติข้างต้นมาเป็นเสมือนเพื่อนคอยให้คำปรึกษา และอยู่เคียงข้างเราตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง ดร.นรีรัตน์มีความฝันที่อยากจะส่งเสริมสินค้าแบรนด์ไทยเข้าไปยังประเทศจีนอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ บริษัท ไทยพาวิลเลี่ยน คอร์ปอเรท จำกัด จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสร้างเวทีเชื่อมระหว่างสินค้าจากต้นน้ำของไทยเราไปสู่ปลายน้ำในตลาดจีน

‘‘การลงไปศึกษาหรือหาตลาด ไปคนเดียวอาจดูเหมือนเร็วแต่อาจจะเดินไปได้ไม่ไกล เพราะว่าเมื่อคุณเจออุปสรรค คุณจะไม่มีเพื่อนพ้องหรือพลังที่จะสามารถช่วยเหลือกันได้เลยแต่ถ้าเราไปเป็นกลุ่มหรือรวมพลังกันไป เราย่อมจะสามารถช่วยกันฝ่าฟันอุปสรรคไปได้’’

การรวมพลัง การจับมือร่วมกัน คือสิ่งที่เธอเน้นย้ำอยู่เสมอ เมื่อบวกกับปัจจัยที่ส่งเสริมเกื้อหนุนต่างๆ แล้ว การที่สินค้าไทยจะไปสง่าอยู่ในแดนมังกรอย่างจีนนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมสำหรับผู้ประกอบการไทยเลย

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณเข้าไปเริ่มต้นทำธุรกิจในประเทศจีนได้อย่างไร

ดิฉันเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ครอบครัวทำธุรกิจหลายแขนงเชื่อมโยงไทย-จีน มากว่า 10 ปี ได้เรียนภาษาจีน ไปศึกษาต่อปริญญาโทและปริญญาเอก ที่ประเทศจีน มีโอกาสได้อยู่ในประเทศจีนเยอะ เราเป็นผู้ที่ได้เห็นการเจริญเติบโตของธุรกิจในประเทศจีนมาตลอด ได้เห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคจีนกับโมเดลธุรกิจที่มีการปรับไปตามยุคสมัย ทำให้เราได้เรียนรู้ตลาด มีความรู้สึกว่าสินค้าที่เป็นแบรนด์ไทยอยู่ในตลาดประเทศจีนน้อยมาก ขณะที่โอกาสใหญ่ขนาดนี้ สมัยก่อนน่าจะมีสินค้าไทยแค่ 1-2 แบรนด์ที่เข้าไป ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์คนจีนมาโออีเอ็มที่ประเทศไทย ทีนี้ ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง เราก็มีความฝันว่า วันหนึ่งเราจะสามารถนำสินค้าแบรนด์ไทยแท้เข้าไปสู่ประเทศจีน

ในระหว่างที่ทำธุรกิจไทย-จีน เราก็มีการศึกษาทั้งผู้ประกอบการไทยผู้ผลิตไทยว่า มันมีเหตุผลใดที่ทำไมแบรนด์ไทยเข้าไปประเทศจีนประสบความสำเร็จน้อย แล้วโอกาสที่จะเข้าไปประเทศจีนก็น้อยมาก เราพบว่า จริงๆ แล้วผู้ประกอบการไทยของเราส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลมาจากที่ต่างๆ โดยไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นระบบ เป็นการเรียนรู้แบบบอกกล่าวต่อกัน บางทีก็จะได้ข้อมูลมาไม่ถูกต้อง ไม่ได้รู้ถึงประเทศจีนอย่างถ่องแท้ ทำให้การวางแผนผลิตสินค้า วางเป้าหมาย หรือวิธีการตลาดผิดเพี้ยนไป ไม่ตรงจุด ทำให้โอกาสในการประสบความสำเร็จยุ่งยากขึ้น จากประสบการณ์ทั้งหมด เมื่อ 5 ปีที่แล้วเราจึงมีความตั้งใจว่าจะสร้างแพลตฟอร์ม สร้างเวทีเชื่อมระหว่างสินค้าจากต้นน้ำของไทยเราไปสู่ตลาดจีน นี่คือการเกิดขึ้นของ บริษัท ไทยพาวิลเลี่ยน คอร์ปอเรท จำกัด ด้วยจุดมุ่งหมายที่ว่า ฉันอยากจะนำสินค้าที่เป็นแบรนด์ไทยให้ไปสง่าอยู่ทั่วประเทศจีน

ผู้ประกอบการที่มาจับมือกับไทยพาวิลเลี่ยนจะมีขั้นตอนการทำงานร่วมกันอย่างไร

เราเซอร์วิสตั้งแต่ต้นจนถึงตลาด เรียกว่า One Stop Service เราเข้าไปคุยกับผู้ประกอบการ ช่วยกันวิเคราะห์ว่าสินค้าตัวนี้เหมาะกับตลาดจีนไหม แม้กระทั่งแพ็กเกจจิ้ง การตั้งชื่อแบรนด์ หรือการทำ อย. ในประเทศจีน ขั้นตอน วิธีการ ถ้าไม่มีประสบการณ์ไปอ่านข้อมูลต่างๆ แล้วอาจจะมีการเข้าใจผิดแล้วก็เสียเวลา ธุรกิจน่ากลัวที่สุดคือการเสียเวลา แล้วทำให้ผู้ประกอบการหมดกำลังใจ เราทำเซอร์วิสนี้ตั้งแต่การช่วยดูสินค้าจนไปถึงนำสินค้าถูกต้องเข้าประเทศจีน จนถึงเข้าสู่ตลาด อยู่คู่กับผู้ประกอบการตลอด
สินค้าตัวแรกของบริษัทไทยพาวิลเลี่ยนที่ทำก็คือสินค้ากึ่งผลไม้แปรรูป เนื่องจากประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องของผลไม้ไทย เป็นเมืองแห่งเกษตรกรรม ผลไม้แปรรูปเป็นที่นิยม บวกกับว่าหลายปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนมาประเทศไทยเยอะ รู้จักประเทศไทยในเรื่องของทุเรียน มะม่วง มังคุด หรือผลไม้เด่นของไทยเราแล้วชื่นชอบ กลับไปที่ประเทศจีนก็ย่อมอยากจะได้กิน โดยหลังจากที่เราตั้งบริษัทขึ้นมา เราก็มีการลงไป Case Study ลงไปถึงต้นน้ำ สวนผลไม้ ผู้ผลิต โรงงาน ศึกษาว่าสินค้าของไทยเราหลากหลาย แต่ละตัวก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน บางตัวอาจจะวัตถุดิบดีแล้ว ธรรมชาติวัตถุดิบอร่อยแล้วมาจากผลไม้ แต่กรรมวิธีการผลิตยังไม่ทันสมัยพอ หรือรสชาติอาจจะยังไม่ตรงกับที่ผู้บริโภคจีนชอบ เพราะว่าถึงแม้วัฒนธรรมไทย-จีน ไม่ว่าจะวัฒนธรรมอาหารหรือว่าอะไรต่างๆ จะใกล้เคียงกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างอยู่เยอะ โดยเฉพาะประเทศจีน ทั้ง 7 ภาค หรือแต่ละเมืองเอง พฤติกรรมหรือลักษณะนิสัย=การบริโภคก็ต่างกัน บางเมืองอาจจะชอบเค็มหน่อย บางเมืองอาจจะชอบหวานหน่อย บางเมืองอาจจะชอบเผ็ดหรือจืด ซึ่งรสชาติต่างๆ ที่แตกต่างกันก็ต้องมีการวิเคราะห์กันว่าสินค้าตัวนี้ จุดโฟกัสของคุณคืออยากเข้าตลาดในกลุ่มไหน เราทำงานต่างๆ นานา เรามีพันธมิตรผู้ประกอบการมากมายที่ร่วมกัน ด้วยประสบการณ์ 18 ปีในประเทศจีน คอนเนคชันหรือเรียกว่าความสัมพันธ์ทางธุรกิจของบริษัทไทยพาวิลเลี่ยนหรือของดิฉันเอง ค่อนข้างที่จะกว้างขวางในทุกๆ ภาคของประเทศจีน เราได้เข้าไปพบเจอเรียนรู้แล้วก็ไปขอโอกาสทางธุรกิจจับมือทำธุรกิจ จึงทำให้ทางเชื่อมของเราค่อนข้างที่จะไปได้ดีทีเดียว เพราะฉะนั้นในระยะเวลาหลังจากจัดตั้ง 2 ปี เราก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ผู้ประกอบการที่ว่านี้จะต้องมีคุณสมบัติหรือว่ามีเกณฑ์ประมาณไหน และปัจจุบันมีผู้ประกอบการ ที่จับมือกับไทยพาวิลเลี่ยนประมาณเท่าไร

จริงๆ แล้วสินค้าไทยเรามีมากมาย อย่างสินค้าเกษตรที่พัฒนาขึ้นมาแล้ว Shelf Life ไม่ถึงปี ดิฉันก็จะแนะนำว่าให้พัฒนา Shelf Life ให้ถึงปี เพราะว่าระยะเวลาการเดินทางเข้าสู่ประเทศจีนมันใช้เวลา กับการ Distribution ช่องทางการตลาดของประเทศจีนนี่กว้าง ในการที่จะส่งไปสู่ช่องทางต่างๆ ค่อนข้างที่จะใช้เวลา เพราะฉะนั้นสินค้าที่เราคัดเลือกก็ดูหลายๆ อย่าง ทั้งรสชาติที่เหมาะสม แพ็กเกจจิ้งเหมาะสม แพ็กเกจจิ้งไม่ใช่แค่สวยงามอย่างเดียว บนแพ็กเกจจิ้งมีคำโฆษณาที่ผิดกฎคำโฆษณาของประเทศจีนก็ไม่ได้ ดูไปจนถึงศักยภาพของโรงงานด้วยว่า การที่จะเข้าสู่ช่องทางในประเทศจีนแล้วกำลังการผลิตของเขาจะรองรับได้ไหม

ปัจจุบันนี้แบรนด์สินค้าไทยที่บริษัทไทยพาวิลเลี่ยนได้ทำเข้าไปตลาดจีนแล้ว มีกว่า 800-1,000 SKU ทีเดียว มีสินค้าตั้งแต่ผลไม้แปรรูป อาหารสำเร็จรูป มีเรื่องของสปา เรื่องของ Health & Beauty เกี่ยวกับสินค้าหมอนยางพารา ตอนนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราพยายามที่จะคัดเลือกสินค้าที่เหมาะกับตลาดจีน ในแต่ละปีสินค้าตามยุคสมัยที่เขาต้องการมีอะไรเราก็จะเอาข้อมูลมาบอกผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการก็จะมีการร่วมกันพัฒนาเพื่อที่จะนำเข้าประเทศจีน ข้าวสารไทยข้าวหอมมะลิก็มีชื่อเสียงในประเทศจีน

ช่องทางกระจายสินค้าของไทยพาวิลเลี่ยนในประเทศจีนมีมากน้อยแค่ไหน

เรามีศูนย์สินค้าในหลายภาคของประเทศจีน เช่นทางภาคเหนือเราตั้งที่ปักกิ่ง ภาคใต้เรามีที่เซินเจิ้น อื่นๆ เช่นที่หนานหนิง เซี่ยเหมิน ศูนย์สินค้าในแต่ละภาคก็หลากหลายช่องทาง อย่างเช่นว่าตลาดซานย่าก็จะเป็นตลาดทัวร์ ถ้าเป็นปักกิ่งก็จะอยู่ที่สนามบิน เราเป็น One Stop ที่ช่วยผู้ประกอบการผู้นำเข้าของประเทศจีนสามารถสัมผัสสินค้าของไทยได้อย่างใกล้ชิด อย่างเช่นผู้นำเข้าภาคเหนือของจีน การที่เขาจะไปดูสินค้าหรือมาถึงต่างประเทศ โอกาสน้อย เพราะว่านานาประเทศมีมากมาย เขาจะมาถึงประเทศไทยก็โอกาสน้อย ฉะนั้นเขาอยู่ในภาคของเขาก็สามารถที่จะหาไทยพาวิลเลี่ยนเจอ เราก็จะเป็นทางเชื่อมระหว่างสินค้าแบรนด์ต่างๆ ของไทยหรือชนิดต่างๆ ของไทยในการให้ข้อมูลข่าวสารเขาจนกระทั่งเกิดเป็นธุรกิจจับมือค้าขายกัน แล้วก็ในหลากหลายภาคเราก็มีศูนย์กระจายสินค้า นอกจากนี้เรายังมุ่งการตลาดเข้าสู่โมเดิร์นเทรด ใน 7 ภาค เรามีทีมการขายอยู่เกือบทุกภาคเลย

เรามุ่งในโมเดิร์นเทรดเนื่องจากเราคิดว่า ถึงแม้ประเทศจีนในหลายปีที่ผ่านมาออนไลน์จะฮอตฮิต แต่ผู้บริโภคทั่วๆ ไปก็ยังคุ้นเคยหรือชอบที่จะไปโมเดิร์นเทรดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่ดิฉันคิดว่า ในการที่จะส่งเสริมให้ผู้บริโภคจีนรู้จักแบรนด์ไทย ตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตโมเดิร์นเทรดก็เป็นช่องทางที่เราละเว้นไม่ได้เลย แต่สำหรับการทำตลาดโมเดิร์นเทรดนั้นค่อนข้างที่จะต้องทุ่มทุนเยอะ เพราะเนื่องจากว่ามันเป็นออฟไลน์ มีทีมงานที่เราจะต้องดูแลในทางการตลาด แต่ไทยพาวิลเลี่ยนเราก็ไม่ย่อท้อในตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เรามีจุดมุ่งหมายเดียวคือเราจะนำสินค้าที่เป็นท็อปไทยแบรนด์เข้าสู่ตลาดจีนอย่างแท้จริง สโลแกนที่เราส่งเสริมอยู่ตลอดคือ เรียลไทยต้องไทยพาวิลเลี่ยน หรือสินค้าไทยแท้ต้องไทยพาวิลเลี่ยน

นอกจากนี้ไทยพาวิลเลี่ยนยังมีออนไลน์ เรามี jd.com oversea shop เรามีของเถาเป่า (Taobao) มี Tmall เรามีหลากหลายช่องทาง ไทยพาวิลเลี่ยน ช้อปปิ้งมอลล์ ของเราเอง นอกจากนี้ในสื่อมีเดียใหม่ๆ ของประเทศจีนเราได้จับมือกับผู้ที่เป็นแพลตฟอร์มในเรื่องของไลฟ์สด ปีนี้เรายังได้มีโอกาสจับมือกับ ZTO ซึ่งเป็นโลจิสติกส์ที่มีชื่อเสียงในประเทศจีนเป็นอันดับสองเลยทีเดียว เรามี Warehouse ร่วมกับทาง ZTO ที่บางพลี พร้อมที่จะอ้าแขนร่วมกับผู้ประกอบการเรียกว่าจาก F2C คือจากโรงงานถึงผู้บริโภค คือเรียกว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อมูลการตลาดหรือจะเป็นเรื่องของโลจิสติกส์ ไทยพาวิลเลี่ยนเราพร้อม เพราะฉะนั้นสำหรับ Supply Chain สินค้าไทยในประเทศจีนเรากล้าบอกได้ว่าในอนาคตเราเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุด

จีนเป็นตลาดที่ยิ่งใหญ่มากทุกคนทราบดี แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเข้าไปค่อนข้างยากทีเดียวใช่ไหม ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้

การที่สินค้าแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ผู้นำเข้ารายหนึ่งก็ไม่สามารถที่จะทำสินค้าได้ทุกชนิดในทุกตลาด หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าในทุกตลาด การที่จะนำสินค้าไทยเข้าสู่ประเทศจีนไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเนื่องจากว่าตลาดจีนมีการแข่งขันสูงมาก แล้วรูปแบบธุรกิจของประเทศจีนมีการปรับเปลี่ยนกฎการนำเข้า กฎของภาครัฐมีการปรับเปลี่ยนตามยุคอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นใครล่ะที่จะมาเป็นผู้บอกกล่าวให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวได้ทันตามได้ทัน ดิฉันคิดว่าแพลตฟอร์มที่เป็นตัวเชื่อมแล้วก็ศูนย์กลางอย่างไทยพาวิลเลี่ยนของเราหลายปีที่ผ่านมา เราได้ฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย เราเจออุปสรรคมาเยอะแยะ ซึ่งเราแก้ไขปรับปรุงจนกระทั่งเราคิดว่าวันนี้น่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ที่จะอยู่คู่กับผู้ประกอบการในการจะนำสินค้าเข้าสู่ประเทศจีน

ส่วนหนึ่งของการที่จับมือกับไทยพาวิลเลี่ยนก็คือไปหาคู่ค้าทางธุรกิจที่โน่นด้วย พอจะยกตัวอย่างได้ไหมว่า มารยาทในการทำธุรกิจกับคนจีนมีอะไรบ้างที่ผู้ประกอบการควรจะรู้เป็นพื้นฐาน

การที่จะทำตลาดจีนได้ดี นอกจากทีมการตลาดที่มีประสบการณ์ มีช่องทางการตลาดที่กว้างแล้ว ก็ต้องมีสัมพันธภาพหรือว่ามีคอนเนคชันที่ดีกับภาคส่วนต่างๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือการเข้าใจวัฒนธรรมของคนจีน ไม่ว่าจะวัฒนธรรมการกิน วัฒนธรรมการไปมาหาสู่ การประสานความสัมพันธ์ หรือวัฒนธรรมการเจรจาธุรกิจ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้อย่างเช่นการไปพบปะเพื่อเจรจาธุรกิจ บนโต๊ะอาหาร ถ้าเป็นชาวจีนแล้วจะมีการแบ่งตำแหน่งของผู้ใหญ่หรือระดับรองลงมาเข้มงวดมาก ใครควรจะนั่งตรงไหนอย่างไรโดยเฉพาะถ้าเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือวัฒนธรรมการดื่มเหล้าบนโต๊ะอาหารนี่ก็สำคัญ ควรจะดื่มให้ใครก่อน หรือควรจะดื่มแบบไหน สำหรับวัฒนธรรมที่แตกต่างตรงนี้เราจะทำอย่างไร ที่บอกว่าเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม เราต้องการทำธุรกิจกับเขา ถามว่าไปฝึกกินเหล้าใช่ไหม ไม่ใช่ เราสามารถมีวิธีการ อาจจะโดยการมีมารยาทที่จะไปบอกกล่าว หรือไม่ก็ใช้เป็นเครื่องดื่มอย่างอื่นแทน แต่ก็ต้องมีมารยาทที่จะไปพบปะ แต่ถ้านั่งเฉยๆ ไม่สนใจเลย คุณจะดื่มก็ดื่มไม่สนใจ เขาก็ไม่สนใจคุณเหมือนกัน หลังจากที่บนโต๊ะอาหารงานเลิกแล้ว เขาก็จำคุณไม่ได้ คุณไม่ได้อยู่ในความประทับใจของเขา แต่ถ้าเข้าไปดิฉันไม่ดื่มเหล้า เราก็ต้องเข้าไป ขออภัยนะคะ พอดีไม่ได้ดื่มเหล้า เดี๋ยวขอใช้น้ำแทน นี่ค่ะ นี่คือวัฒนธรรม ถ้าเป็นคนไทย ผู้ใหญ่ก็ดื่มของเขาไป เราก็ดื่มของเรา อันนี้คือตัวอย่างที่นึกได้ เรื่องของการสร้างสัมพันธภาพนอกจากนี้การเจรจาธุรกิจ ต้องรู้ว่าผู้ที่เราไปมาหาสู่ทำธุรกิจด้วย จุดมุ่งหมายของบริษัทเขาคืออะไร เข้าให้ถูกทาง เพราะว่าโมเดลธุรกิจของประเทศจีนจะปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ ตามตลาด ไม่งั้นคุณจะเสียเวลา อย่างบริษัทนี้จุดมุ่งหมายของเขาคือทำออนไลน์ คุณเอาสินค้าที่ไม่เหมาะกับการทำออนไลน์ไปพยายามที่จะไปเสนอก็ไม่ได้ผล คุณก็เสียเวลา ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจของคุณสูงขึ้น มีหลากหลายอย่างที่คนไทยต้องศึกษากัน ดิฉันเลยตั้งใจที่จะสร้างศูนย์สำหรับเทรนนักธุรกิจทั้งไทยและจีนในการที่จะทำธุรกิจร่วมกัน โดยให้การศึกษาให้ข้อมูลความรู้อย่างเป็นระบบ เป็น Academy ที่เราจะสร้างขึ้นมา กำลังวางแผนกันอยู่ที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้

พูดถึงจีนแล้วคงไม่พูดถึงสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาไม่ได้ ในมุมมองของคุณ คิดว่าเรื่องนี้มีผลกระทบมาถึงผู้ประกอบการไทยอย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้วการทำธุรกิจ หรือว่าในวงจรธุรกิจ ทุกๆ วิกฤติย่อมนำมาซึ่งโอกาส สงครามเศรษฐกิจของอเมริกากับจีนมีผลกระทบกับหลายๆ ประเทศไม่ใช่แค่ประเทศจีน ในขณะเดียวกันดิฉันคิดว่ามันเป็นโอกาส ถ้าเรารู้จักที่จะวิเคราะห์แล้วก็คว้าโอกาสนั้น ยกตัวอย่างตีนไก่ ประเทศยุโรปหรือว่าอเมริกา ฝรั่งเขาไม่กินตีนไก่อยู่แล้ว ซึ่งก็ส่งเข้าประเทศจีนมากมาย กลายเป็นว่าหลายปีหลังสินค้าประเภทตีนไก่ส่งเข้าประเทศจีนน้อยแล้ว มันก็ทำให้เกิดโอกาสสำหรับสินค้าเกษตรของไทยเรา ซึ่งตีนไก่เป็นที่ต้องการของประเทศจีนมากนี่คือโอกาสในขณะเดียวกัน EEC ของประเทศไทยเรากำลังอยากจะอ้าแขนต้อนรับนักลงทุนหรือกิจการเกี่ยวกับเรื่องของไฮเทคโนโลยี โรงงานหรือว่าผู้ผลิตหลากหลายที่แต่เดิมเคยใช้ฐานประเทศจีนเป็นโรงงานผลิตสินค้าส่งไปอเมริกา เขาต้องย้ายฐานมาหาโอกาสที่ประเทศไทย เพื่อที่จะใช้ฐานประเทศไทยเราเป็นที่ผลิตแล้วก็ส่งไปที่อเมริกา เพราะฉะนั้นสำหรับประเทศไทยแล้ว การที่อเมริกามีปัญหากับประเทศจีน ดิฉันมองเห็นโอกาสมากกว่าปัญหาแน่นอนที่สุด เราอยากให้ทุกประเทศมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน ไม่ว่าจะการเมืองหรือเศรษฐกิจ การจับมือกันย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ด้วยนโยบายของภาครัฐไทยและจีน ท่านนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ก็เพิ่งมาเยือนประเทศไทยในการเชื่อมโยงมิตรภาพธุรกิจไทย-จีน เราคิดว่าเรายังมีอนาคตอีกไกล แล้วประเทศไทยกับประเทศจีนค่อนข้างที่จะเหมือนพี่น้องกัน สัมพันธภาพที่ยั่งยืนนำมาซึ่งโอกาส ทำให้คนไทยเรามีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสตลาดในประเทศที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้

ช่วงปีหลังๆ ที่นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวบ้านเราน้อยลง คุณพอจะบอกได้ไหมว่ามุมมองที่เขามีต่อการมาเที่ยวประเทศไทยตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

นักท่องเที่ยวจีนมาประเทศไทยลดน้อยลงกว่า 30-40% ดิฉันคิดว่ามีหลายเหตุผล ประเทศจีนตอนนี้เป็นที่สนใจของทั่วโลก ในขณะเดียวกันประเทศอาเซียนหลายประเทศพัฒนาการท่องเที่ยวขึ้นมามาก เพื่อที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนเข้าไป ดังนั้นนักท่องเที่ยวจีนส่วนหนึ่งจึงไปประเทศอาเซียนประเทศอื่น เช่นว่าอาจจะไปเที่ยวกัมพูชามากขึ้น เพราะกัมพูชาได้พัฒนาการท่องเที่ยวที่จะดึงดูดนักเที่ยวจีนเข้าไป หรือดึงดูดนักธุรกิจจีนเข้าไปลงทุน ขณะที่เขามีการพัฒนาเพิ่มขึ้น ประเทศไทยเราเองก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวอยู่ตลอดอยู่แล้ว ดิฉันว่าไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ชาวจีนยังรักและชอบที่มาจะเที่ยวเมืองไทย คนไทยเรามี รอยยิ้มที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนได้ อาจจะเป็นชั่วครั้งชั่วคราวที่เขาแวะไปท่องเที่ยวที่อื่นบ้าง แต่ในที่สุดดิฉันว่าถ้าเราประสานความสัมพันธ์ดีๆ กับประเทศจีนไว้ คนจีนเขาจดจำและยังมั่นใจในการที่จะมาเที่ยวประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกอะไรมาก

จุดมุ่งหมายในอนาคตของไทยพาวิลเลี่ยนคืออะไร

จุดมุ่งหมายในอนาคตคือเราอยากจะให้ผู้บริโภคจีน ผู้นำเข้า หรือผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าไทย วัฒนธรรมไทย หรือการท่องเที่ยวไทย เมื่อนึกถึงประเทศไทย นึกถึงไทยพาวิลเลี่ยน เราจะเป็นทางเชื่อม เป็นตัวกลางในการที่จะสื่อสารสิ่งที่ดีๆ ของประเทศไทย สินค้าใดๆ ถ้าไม่มีวัฒนธรรมมันจะไม่ยั่งยืน สินค้าใดๆ ถ้าไม่มีความเป็นมาหรือสตอรี่ที่จะสามารถบอกให้ผู้บริโภคทราบ มันจะไม่ยั่งยืน ปีนี้เราโชคดีมากที่ได้สัมปทานศูนย์สินค้าไทยพาวิลเลี่ยน ในสนามบินใหม่ ต้าซิง อินเตอร์เนชันแนลแอร์พอร์ต ซึ่งเป็นสนามบินที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของประเทศจีนอยากจะดันเป็นสนามบินอันดับหนึ่งในอนาคต และต้องมีโซนซิลค์โรดพาวิลเลี่ยมตามนโยบายของภาครัฐ เราได้รับคัดเลือกจากประสบการณ์จากศักยภาพ จนมีศูนย์สินค้าในสนามบินแห่งนี้แทนประเทศอาเซียน เพราะฉะนั้นนี่เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า การเดินทางตลอดเวลา 5-6 ปี ของบริษัทไทยพาวิลเลี่ยน แพลตฟอร์มนี้ความตั้งใจของเราเป็นที่ยอมรับ เรียลไทยเกิดขึ้นจริงกับไทยพาวิลเลี่ยน สินค้าไทยแท้เกิดขึ้นจริงกับไทยพาวิลเลี่ยน

เพราะฉะนั้นเราก็อยากที่จะพัฒนาและจับมือกับ ผู้ประกอบการทุกแบรนด์ของประเทศไทยให้ยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้น เพื่อที่จะช่วยกันรวมพลังกัน เพราะว่าประเทศจีนตลาดใหญ่ขนาดนี้แน่นอนว่าย่อมนำมาซึ่งการแข่งขันที่สูง สินค้าไทยเราจะสามารถแข่งขันกับเขาได้ หรือสามารถที่จะแบ่ง Market Share ในตลาดจีนได้ ดิฉันว่าคนไทยทุกคนทุกแบรนด์ต้องรวมพลังกันเข้าไป แล้วทุกท่านจะประสบความสำเร็จ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ