fbpx

สัมภาษณ์ โมริโนซุเกะ คาวากูชิ ‘โอตาคุ หมายเลข 1’ ของญี่ปุ่น

บางทีเราอาจจะสับสนกัน ระหว่างโอตาคุ กับ Loser ถึงแม้ดูจากภายนอก เราเห็นเขาเป็นชายหนุ่มที่ไม่รู้จักโต ฝังตัวเองอยู่ในโลกโมเดลหุ่นยนต์ มังงะ และการ์ดพลัง หน้าตาไม่ค่อยเอาไหน ใส่แว่นหนาๆ และพูดจาถึงเรื่องราวแปลกๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ไม่สนใจ

แต่สำหรับ โมริโนซุเกะ คาวากูชิ เขาคือโอตาคุตัวพ่อ เขาคนนี้ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนและแวดวงวิชาการในญี่ปุ่นว่า ‘โอตาคุ หมายเลข 1’ เคยได้รับเชิญจาก TED องค์กรรวมนักคิดชั้นนำของโลกมาแชร์ความรู้ ไอเดีย และแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งโลกมาแล้ว โมริโนซุเกะทำให้ผู้ฟังอึ้ง! เพราะเขาบอกว่า “โอตาคุเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่น” เพราะอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับโอตาคุ ล้วนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล มากกว่าชาเขียวและวาซาบิเสียอีก ดูเอาง่ายๆ วัดจากการ์ตูน Doraemon หรือ One Piece ที่ได้ตั้งรกรากถาวรบนอันดับ Top 20 หนังสือขายดีทั่วโลกไปเรียบร้อย แม้กระทั่ง Forbes ยังออกมาระบุว่า ฮัลโหล คิตตี้ คือแมวสาวที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 1 ของโลก

ในหนังสือที่โมริโนซุเกะเขียนขึ้นชื่อ ‘Geeky-Girly Innovation : A Japanese Subculturist’s Guide to Technology & Design’ อธิบายเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง จนกลายเป็นงานเขียนคลาสสิกที่นักเรียน MBA แห่งบิสเนส สคูล ออฟ ฮาร์วาร์ดต้องอ่าน และ GM ได้คิวพิเศษสุดที่จะมานั่งพูดคุยกันลึกๆ พอเขาลงมาจากเวลา เราขอให้เขารีแลกซ์เพื่อถ่ายรูปสักพัก เขาหยิบเสื้อยืดยี่ห้อ Superdry สีแดง แบรนด์สุดคัลต์จากโตเกียวออกมาใส่ พร้อมโพสท่าปล่อย ‘พลังคลื่นเต่า’ แบบการ์ตูนดราก้อนบอล GM เกาหัวแกรกๆ เมื่ออ่านตำแหน่งในนามบัตรของเขา ‘รองผู้อำนวยการบริษัท Arthur D. Little (ประเทศญี่ปุ่น)’ ผู้ให้คำปรึกษาบริษัทยักษ์ใหญ่เกี่ยวกับอนาคตของเทคโนโลยีนวัตกรรม เขาเป็นผู้กำความลับของเทรนด์โลก และแน่นอนว่าคนระดับนี้ คิดค่าคำปรึกษาในราคามหาโหดแหงๆ ตอนนี้เขากำลังหยิบของเล่นจำพวกตุ๊กตุ่นตุ๊กตาหน้าตาประหลาดออกจากกระเป๋ามาเป็นพร็อพประกอบภาพถ่ายของเราอย่างสนุกสนาน ก่อนจะมานั่งลงคุยกับเรา…ฟรีๆ !!

GM : คุณสนใจเรื่องวัฒนธรรมของพวกโอตาคุเพราะอะไร
โมริโนซุเกะ :
 ก่อนหน้านี้ผมเป็นที่ปรึกษาให้กับแบรนด์ฮิตาชิมา 15 ปี ทุกๆ ปี เรามีวาระต้องคุยกันว่าจะออกโมเดลใหม่ๆ บางครั้งเราก็ทำเลยไป 4-5 ปี เพราะตลาดมีการแข่งขันสูง ผมเลยมาคิดๆ ดูว่าแท้จริงแล้ว นี่พวกเรากำลังตามหาอะไรอยู่…คำตอบก็มาในวันหนึ่งว่าคุณค่าที่แท้จริงก็คือวัฒนธรรม คุณอาจสับสนว่าวัฒนธรรมมาเกี่ยวอะไรกับนวัตกรรม ผมจะเล่าต่อไปว่า สินค้าส่วนใหญ่ที่อยู่ในท้องตลาด มาจากวัฒนธรรมของนักธุรกิจ ที่ต้องการแสวงหากำไร บีบต้นทุนให้ต่ำ หว่านล้อมลูกค้าด้วยโฆษณา ปรับเปลี่ยนอะไรนิดๆ หน่อยๆ พวกเขาไม่ค่อยกล้าหาญหรอก เพราะคิดถึงแต่ผลประกอบการ ไม่ทดลองอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า แต่สำหรับผมแล้ว ความคิดของวัฒนธรรมนักธุรกิจแบบนี้ ใช้ไม่ได้ผลกับโลกในปัจจุบัน โลกที่ผู้ใช้สินค้าเป็นคนหนุ่มสาว ไม่มากก็น้อยที่คนพวกนี้มีหัวคิดต่อต้าน ดังนั้น การคิดอยู่ในแถวจะเริ่มใช้ไม่ได้แล้ว ลูกค้าคุณเป็น Subculture กันหมดแล้ว คุณต้องกล้าหาญก่อน คุณต้องออกสินค้าที่ยั่วยุให้ลูกค้ามีความกล้าหาญอีกด้วย ผมจึงมาสนใจวัฒนธรรมโอตาคุ เพราะคนกลุ่มนี้มีความกล้าหาญอย่างสุดโต่ง สิ่งที่พวกเขาทำหรือว่ามันจับต้องได้ชัด

GM : โดยส่วนตัว คุณก็เป็นโอตาคุด้วยใช่ไหม
โมริโนซุเกะ :
 ผมเกิดมาในเจเนอเรชั่นแรกของเจ้าหนูอะตอม (Astro Boy) คือปี 1952-1968 ที่วาดโดย เทะซึกะ โอะซะมุ ในมังงะเรื่องนี้ได้สอดแทรกเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ คนรุ่นผมจึงเชื่อว่า โลกเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเด็กในร่างผู้ใหญ่

GM : ในสังคมไทยเรารู้จักความเป็นโอตาคุ ว่าเป็นคนอ่านการ์ตูน สะสมโมเดลหุ่นยนต์ ไม่ยอมโต นั่นเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือเปล่า
โมริโนซุเกะ :
 ถูกเป๊ะ…ว่าแต่มีคนแบบผมอยู่ในเมืองไทยด้วยเหรอ จงภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น! (หัวเราะ) ผมอยากเล่าอย่างนี้ว่า ผมสัมผัสกับคนมาเยอะ คนรวย คนที่ฐานะเพียบพร้อม เขาโชคดีโดยบังเอิญที่เกิดมาเป็นลูกชายเศรษฐี วันๆ พวกเขาไม่ต้องทำอะไร ชีวิตเช่นนี้ไม่เปิดโอกาสให้เขาได้หมกมุ่นหรือไขว่คว้าอะไรมากนัก แต่สำหรับชีวิตของโอตาคุนั้นเป็นอีกแบบ ข้อดีของโอตาคุ คือ พอเราเจอสิ่งใดแล้ว ชีวิตเราจะมีโฟกัสที่ชัด คนที่ทำปริญญาเอก หรือนักวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ เขาสนใจว่าจากหลอดแก้วพวกนี้ มันสร้างอะไรได้บ้าง มันจะเป็นไปแบบที่จินตนาการเขาคิดไว้ไหม เขาไม่ได้สนใจเรื่องเงินทองหรือว่าชื่อเสียง ผมว่านี่คือเหตุผล ว่าอนาคตของพวกเราต่างอยู่ในมือโอตาคุ

GM : ทำไมโลกในยุคปัจจุบัน พวก Subcultureจึงมีพลังมากกว่า Mainstream
โมริโนซุเกะ :
 เดี๋ยวก่อน ต้องถามก่อนว่า Mainstream ในความหมายของคุณคืออะไร หมายถึงสิ่งที่นักธุรกิจหรือนักการเมืองไม่กี่คนยึดถือหรือเปล่า คนที่กุมอำนาจเขาไม่อยากเสียอำนาจ เขาจึงจะยึดถือและบังคับใช้ความเป็นคนส่วนใหญ่ หรือ Mainstream มากดอย่างอื่นไว้ เรื่องนี้มันง่ายมากๆ เล่าได้ใน 2 นาทีจบ แต่เรื่อง Subculture มันเล่าได้ไม่รู้จบ จะเห็นได้ว่านายทุนเริ่มหันมาทำกำไรกับวัฒนธรรมย่อย สินค้าและอื่นๆ อีกมากมาย นับวัน Subculture จะถูกหาผลประโยชน์โดยกลุ่ม Mainstream นี่เป็นเทรนด์จากทั่วโลก

GM : หนังสือที่คุณเขียน คุณต้องการบอกอะไรกับคนอ่าน
โมริโนซุเกะ :
 Geeky-Girly Innovation: A Japanese Subculturist’s Guide to Technology & Design กำลังบอกถึงคุณค่าของการเป็นวัฒนธรรมย่อย ในสไลด์ที่ผมบรรยาย มีเรื่องหนึ่งพูดถึงเทพเจ้าองค์หนึ่งที่ศาลเจ้า รูปลักษณ์หรืออิทธิฤทธิ์เป็นที่รู้จักและน่าเกรงขามสำหรับผู้ใหญ่ แต่เมื่อผ่านมา 20-30 ปี เด็กรุ่นหลังห่างจากความเชื่อเรื่องเทพเจ้าแล้ว เรื่องธรรมเนียมประเพณี วันหนึ่งย่อมมี Gap เกิดขึ้น คำถามที่ยากกว่านั้น คือเราบังคับให้คนรุ่นใหม่เคารพศรัทธาได้ไหม ใส่ไว้ในแบบเรียนได้ไหม…ได้ แต่ยั่งยืนไหม…อันนี้ผมไม่รู้ แต่ว่าถ้าข้อมูลชุดเดียวกันนี้ ถูกนำเสนอใหม่ในรูปแบบของมังงะ เหมือนเรื่องเซเลอร์มูน คุณเคยดูหรือเปล่า นำข้อมูลต่างๆ มาถ่ายทอดครบถ้วน เทพเจ้าองค์นี้ยังสื่อสารกับเด็กกับวัยรุ่นได้ดีด้วย นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่เราหยิบวัฒนธรรมย่อยของพวกมังงะมาประยุกต์ใช้

ขอยกเรื่องใกล้ตัวมากๆ เช่น ตารางธาตุ นักเรียนสายวิทย์ในโลกนี้ส่วนใหญ่เกลียดวิชาเคมี เพราะต้องจำตัวย่อทางวิทยาศาสตร์ของธาตุต่างๆ คุณเคยเรียนไหม มันจำยากมาก (หัวเราะ) วันหนึ่งมีคนออกแบบให้ตารางธาตุกลายเป็นมังงะ ทำให้เป็นตำนานทวยเทพต่างๆ สิ่งที่เขาทำเหมือนเล็กน้อย แต่ว่ามันปฏิวัติวงการเลยละ เขานำคุณสมบัติทางเคมีของแต่ละธาตุมาแปลงเป็นเรื่องราว ตัวนี้ไม่ถูกกับตัวนั้น ตัวนั้นรบกับตัวนี้ จะได้สารชนิดนั้น ชนิดนี้ โอ้ว!… ช่วยให้ผู้เรียนเกิดจินตนาการตาม โดยไม่ต้องท่องจำ

หรือถ้าคุณไปไหนมาไหนในโตเกียว คุณจะเห็นป้ายตัวการ์ตูนเต็มไปหมด คอยเป็นผู้ช่วยคุณบอกโน่นบอกนี่ ป้ายพวกนี้มีที่มาที่ไป เช่นป้ายที่ใช้ในสถานที่ก่อสร้าง เป็นรูปผู้ชายนายช่างก้มหัวท่าทางเหมือนลุง ตัวที่เห็นในปี 2012 นี้เป็นรุ่นหลานของตัวแรกที่กำเนิดขึ้นในปี 1950 เรามีแนวคิดเรื่องสัญลักษณ์พวกนี้มานาน การ์ตูนทำหน้าที่ช่วยเหลือคน ขอโทษคน ตักเตือนคน ถ้าเป็นคนจริงๆ มาบอกคุณด้วยเรื่องพวกนี้ล่ะ คุณก็จะเบื่อและมีอคติ แต่กับตัวการ์ตูนพวกนี้ คุณจะเริ่มรู้สึกเป็นมิตร และนานวันไปก็ยิ่งผูกพัน พวกนี้แหละคือความเป็นโอตาคุที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน

GM : ในหนังสือของคุณ มีบทหนึ่งที่บอกว่าพวกโอตาคุ Humanize Everything อยากให้คุณช่วยขยายความ
โมริโนซุเกะ :
 การทำให้ทุกอย่างเป็นมนุษย์ขึ้นมา เช่น ในญี่ปุ่นมีเครื่องขายของอัตโนมัติ ถ้าเครื่องนี้เป็นแค่เครื่องจ่ายของ เก็บเงิน จะจืดชืดมาก นักออกแบบก็ได้ใส่หน้าตาให้เหมือนมีชีวิต ตัวเครื่องจะพูดได้ แนะนำคนซื้อได้ ที่สำคัญคือพวกมันจะมีชื่อเรียกด้วย นั่นคือการทำงานที่มากกว่าแค่บริการ แต่ยังแฝงไปด้วยทัศนคติของเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือเรื่องที่คุณคิดไม่ถึง เช่นเข็มเย็บผ้าที่ช่างตัดเสื้อเคยใช้ทำงานอย่างหนัก เราจะคิดกันว่าเข็มนี้มีชีวิต มันจะแก่ตัวเมื่อโค้งงอ เหมือนมันบอกว่า ‘ฉันอยากพักแล้วละ!’ ช่างตัดผ้าก็จะหาเต้าหู้นุ่มๆ มาปักเข็มนี้ไว้ เหมือนเป็นการให้รางวัลตอบแทนที่ช่วยงานมานาน นี่เป็นเรื่องที่แปลกใช่ไหม แต่เรามองว่าถ้าทุกอย่างมีชีวิต เราก็จะเคารพกัน อยู่ร่วมกันได้ด้วยดี

GM : คุณได้มาเดินเล่นในกรุงเทพฯ คุณมีความรู้สึกอย่างไรต่อเมืองนี้บ้าง
โมริโนซุเกะ : 
ผมมาครั้งแรกเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ครั้งที่ 2 ก็เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 บอกเลยว่าเปลี่ยนไปมาก และไวมากจริงๆ ก่อนหน้านี้กรุงเทพฯ ยังเป็นประเทศตะวันออกเต็มตัว (Oriental Country) แต่ตอนนี้กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยศูนย์การค้าเล็กใหญ่เต็มไปหมด อะไรที่โตเกียวมี ที่นี่ก็มีเหมือนกันหมด เราต่างกำลังแย่งชิงกันเป็นที่ 1 ของทุกอย่าง เรื่องเทคโนโลยี เรื่องแฟชั่น กรุงเทพฯ ได้นำเข้าทุกอย่างจากทุกประเทศทั่วโลกที่มี เมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลี และญี่ปุ่น ผมกำลังรู้สึกว่าคนในกรุงเทพฯ อาจจะต้องเหนื่อยมากๆ เมืองใหญ่ที่แข่งกันเรื่องความเจริญทางวัตถุ เปรียบได้กับการแข่งขันในเกมของผู้อื่น คุณไม่มีทางชนะเมืองที่ส่งออกความเจริญมาให้คุณ เว้นซะแต่คุณเลิกตาม คุณก็จะดูน่าสนใจขึ้นมาบ้าง

GM : คุณเก็บรักษาบุคลิกที่สนุกสนานแบบนี้ ทั้งที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกได้อย่างไร
โมริโนซุเกะ : 
ผมไม่ชอบพวกบ้าเครื่องแบบ พวกที่อธิบายให้เรื่องง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยาก (หัวเราะ) ผมอยากทำให้ทุกเรื่องเป็นเรื่องง่าย มีอารมณ์ขัน ทุกเรื่องคิดให้เครียดหมดก็ยังได้ แต่นั่นไม่ใช่ความสามารถของโมริโนซุเกะ

นักเขียน : มนตรี บุญสัตย์, ชนานันทน์ สุนทรนนท์
ช่างภาพ : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์
Update : 24 Nov 2018

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ