fbpx

มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ

However mean  your life is, meet it and live it.

–  Henry David Thoreau  –

ความขัดแย้งเริ่มปะทุขึ้นมาทันที ในที่ประชุมกองบรรณาธิการ GM เมื่อมีคนเสนอให้เราทำสัมภาษณ์ใหญ่ มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ หรืออดีตพระมิตซูโอะ คเวสโก ผู้ลาสิกขาไปแต่งงานกับ สุทธิรัตน์ มุตตามะระ หรือสีกาแอน ซึ่งทั้งสองเพิ่งรู้จักกันมาได้เพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น เรื่องมันมาถึงขนาดนี้แล้ว พุทธศาสนายังบอบช้ำไม่พออีกหรือ? – ฝ่ายคอนเซอร์เวทีฟแย้งมาด้วยแนวคิดประมาณนี้ หลังจากที่เรื่องราวฉาวโฉ่และคำติฉินนินทามากมาย แพร่กระจายอยู่ในโซเชียลมีเดียไปทั่ว เกี่ยวกับสีกาสาวที่ร้ายกาจ สึกพระที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดแห่งยุคสมัย ถึงอย่างไรก็ตาม เขามีคุณค่า

ในเชิงข่าว มีฮิวแมนอินเทอเรสต์สูงที่สุดในช่วงเวลานี้นะ – ฝั่งที่ไม่สนใจคุณค่าเชิงนามธรรมใดๆ นอกเหนือจากการได้ทำหน้าที่สื่อมวลชน จะเสนอขึ้นมาแนวนี้ เพราะเห็นว่าทั้งสองคนเดินสายออกรายการทีวี ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ และนำหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มใหม่ ‘ความในใจ…อาจารย์มิตซูโอะ’ ออกวางขายอย่างเอิกเกริก ถึงอย่างไรก็ตาม คนเรามันก็เท่านี้ไม่ใช่เหรอ บางครั้งเราได้รับคำชม บางครั้งเราได้รับคำนินทา เรื่องราวในชีวิตของคนที่กำลังเจอมรสุมหนัก เราเรียนรู้ความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง – ฝั่งลิเบอรัลขอเสนอเหตุผลบ้าง

แค่เพียงในห้องประชุมเล็กๆ เรายังเถียงกันหน้าดำหน้าแดง ในสังคมไทยช่วงหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ได้ถกเถียงกันในเรื่องนี้มายาวนาน …นานจนพุทธศาสนาบอบช้ำ…นานจนสื่ออื่นๆ เบื่อกันไปหมดแล้ว…หรือว่านานจนเราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้ ถึงอย่างไรก็ตาม GM ตัดสินใจทำบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ขึ้นมา พวกเรานัดเจออาจารย์มิตซูโอะและภรรยา ที่คอนโดฯ หรูหราริมแม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้เขาให้เวลากับเราตลอดทั้งบ่าย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับบทเรียนที่เขาได้เรียนรู้มา บทเรียนที่หนักหนาและยากแสนสาหัสกว่าครั้งใดๆ ในชีวิตพระ “ถึงอย่างไรก็ตามนะ…” เป็นคำพูดที่ติดปากของอาจารย์มิตซูโอะ เขาเอ่ยคำนี้เสมอๆ เมื่อได้กล่าวแสดงความเห็นอะไรออกมาสักพัก แล้วเขาก็จะแสดงความเห็นอีกด้านขึ้นมา เพื่อช่วยให้เราทบทวนความคิดก่อนหน้า และช่วยชี้ให้เราเห็นว่าโลกและชีวิตนี้ซับซ้อนกว่าจะมองอะไรด้านเดียว

สุทธิรัตน์ มุตตามะระ หรือสีกาแอน คอยนั่งให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ เธอเปิดโอกาสให้เราได้สนทนาธรรมกับอาจารย์อย่างจริงจัง มากกว่าจะมาชวนพูดคุยกันแค่เรื่องข่าวอื้อฉาวและความสัมพันธ์ฉันชู้สาว อย่างที่สื่ออื่นๆ เคยทำกันมาก่อนหน้านี้เยอะแล้ว GM ไม่พลาดที่จะถามทุกเรื่องราวที่คุณอยากรู้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม…เราถามเรื่องธรรมะเป็นหลัก เพราะถึงอย่างไรก็ตาม เราคิดว่าเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นมาในชีวิตของชายชราคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเลวร้ายสักเพียงใด ก็สามารถนำมาเป็นบทเรียนให้กับคนหนุ่มอย่างเราได้เป็นอย่างดี

GM: ช่วงนี้ท่านมีแต่ข่าวคราวความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิมายา โคตมี และวัดสุนันท-วนาราม

อ.มิตซูโอะ : ก็เป็นเรื่องที่มีมาอยู่เดิม มีมาตั้งแต่วันแรกที่ลาสิกขามาแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือคนของมูลนิธิมายา โคตมี นี่เอง ที่เป็นคนปล่อยข่าวต่างๆ ออกมา ตั้งแต่เรื่องมอมยา และอีกสารพัดเรื่องที่ออกมาจากมูลนิธิฯ พวกคนที่เป็นแกนนำ อาจารย์ได้ไปที่มูลนิธิฯ โดยไม่ได้นัดหมายไว้ เพื่อขอเอกสารหนังสือที่เขียนไว้แล้ว และพร้อมพิมพ์หนังสือได้ เรื่อง ‘อารมณ์ดี ได้งานดี’ อย่างที่เขียนเล่าไว้ในหนังสือ อาจารย์ต้องไปขอคืน เพราะหนังสือเล่มนี้ ทาง 7-11 ก็ทำสัญญาเอาไว้ พร้อมจะพิมพ์เป็นหนังสือแล้ว แต่พอลาสิกขาออกมา เขาก็บอกว่าจะไม่พิมพ์แล้ว อาจารย์ก็อยากได้ต้นฉบับอันนี้กลับมา เพื่อปรับปรุงและใช้ประโยชน์ ถึงแม้ไม่ได้พิมพ์หนังสือในเมืองไทยแล้ว แต่ทางญี่ปุ่นเขาต้องการจะดู ก็ขอไป แต่เขาไม่ส่งให้เสียที ส่งมาแต่หน้าปกอย่างเดียว ตอนนั้นอยู่ญี่ปุ่น พอกลับมาไทย ก็ไปขออีก ก็ยังไม่ได้อีก แล้วก็มีเหตุการณ์อย่างที่เขียนถึงในหนังสือเล่มนี้ ในบทที่ชื่อว่า ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ นี่ก็เป็นทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากคนของมูลนิธิฯ

อาจารย์ก็แปลกใจ ถ้ามูลนิธิฯ ไม่ปล่อยข่าว ถ้าเขานิ่งๆ พยายามทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรต่อมาอีก ในวัดอื่นๆ เวลาครูบาอาจารย์มีปัญหาอะไรขึ้นมาจริงๆ มีอะไรไม่ค่อยดี เขาต้องช่วยกันปิดข่าวไม่ให้สื่อมวลชนทราบใช่ไหม เวลาพูดอะไร เขียนอะไรออกมา เกรงว่าจะเสียชื่อวัด วัดไหนๆ ก็มีปัญหาทั้งนั้น พอมีปัญหาเรื่องพระปุ๊บ จะปิดไม่ให้คนข้างนอกทราบ แต่สำหรับในกรณีของอาจารย์ กลับเป็นตรงกันข้าม ลูกศิษย์แท้ๆ เคยทำงานใกล้ชิดด้วยกันมาแท้ๆ กลับปล่อยข่าวต่างๆ ออกมา คนอื่นพอรู้เข้า ก็นำไปปรุงรสชาติเพิ่มขึ้นไปอีก ดูเหมือนว่านโยบายของมูลนิธิฯ ตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้ เพื่ออะไร? เท่าที่ทราบก็คือเขาจะไม่ให้อาจารย์ไปทำอะไรได้อีกเลย พอลาสิกขาไปแล้ว ก็จะให้อาจารย์นั่งเสียใจ ทำอะไรไม่ได้ ต้องกลับมาที่วัด ทั้งๆ ที่กรณีของคนอื่นไม่ใช่แบบนี้ อาจารย์เองก็เคยมีลูกศิษย์เป็นพระญี่ปุ่น เขารู้สึกเบื่อๆ ก็มาขอสึกออกไป แต่พอสึกไป 1 เดือน เขาก็กลับมาขอบวชใหม่ ต่อมาเขาอยากสึก คราวนี้เขากลับไปอยู่ญี่ปุ่นได้ 3 เดือน แล้วก็กลับมาบวชอีกเป็นรอบที่สาม เขาอาจจะคิดทำนองนี้นะ ว่าทำให้อาจารย์ไปทำอะไรไม่ได้ แล้วสุดท้ายก็จะกลับไปบวชเหมือนเดิม พออาจารย์ทำงานไม่ได้ แอนก็จะทิ้งอาจารย์ไป แล้วก็กลับไปบวช

GM: ท่านเสียใจหรือขุ่นเคืองใจแค่ไหนกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้นที่เคยทำงานร่วมกันมา

อ.มิตซูโอะ : ไม่มีๆ อาจารย์เห็นว่าชีวิตคือปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมคือชีวิต ลึกๆ แล้วโดยส่วนตัวก็ไม่ได้เสียใจอะไร แต่ในฐานะที่อาจารย์สึกออกมาแต่งงานแล้ว มีชีวิตคู่ มีภรรยาคนนี้ อาจารย์รู้สึกเสียใจที่ทำ

ให้คนอยู่ข้างๆ เป็นทุกข์ด้วย เขาเองก็มีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มีธุรกิจ เรื่องนี้ไปกระทบกับเขา ทำให้คนด่าเขา ในฐานะสามี เมื่อภรรยาเสียใจ เราก็ต้องเสียใจ จริงๆ ไม่สบายใจเลย อาจารย์มีสองฐานะตอนนี้ คือ ฐานะตัวเองไม่เป็นไร แต่ในฐานะที่เป็นสามี ก็เสียใจ ไม่ใช่เราคนเดียวที่ทุกข์ รวมถึงชื่อเสียงฝ่ายผู้หญิงถูกมองในแง่ร้าย ทั้งคนไทย คนญี่ปุ่น แต่พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา คือถ้าคุณถามว่าเสียใจไหม ทุกข์ไหม ก็ต้องตอบใน 2 ระดับ

แบบนี้ จึงจะเห็นเป็นธรรมะ

เมื่อมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ฮีโร่ของอาจารย์คือพระพุทธเจ้า ตอนนี้ก็จะนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า แต่ท่านทำใจได้ ท่านก็สอนอะไรไว้มากมาย เหตุการณ์นี้ถือเป็นธรรมะ นึกถึงประวัติของพระพุทธเจ้าในสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ มีเหตุการณ์วิกฤติเกิดขึ้นแบบนี้แหละ การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างบารมีในช่วงที่ท่านกินอยู่ดี มีความสุขนะ ช่วงที่ท่านเป็นเจ้าชาย มีความสุขดี มีเงินมีทอง หรือช่วงที่ท่านตรัสรู้แล้วมีผู้คนยกย่องสรรเสริญ แต่ท่านสร้างบารมีมาในช่วงทศชาติ 10 ชาติ สังเกตดูว่าทุกชาติท่านมีชีวิตที่เป็นทุกข์ มีวิกฤติทั้งนั้น พระพุทธเจ้าพ้นจากทุกข์ พ้นจากวิกฤติ ด้วยคุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง คือบารมี 10 อย่าง อะไรก็แล้วแต่ อาจารย์จึงมองว่านี่คือช่วงเวลาของการปฏิบัติธรรม เป็นช่วงของการสร้างบารมี สร้างกำลังใจ

GM: ท่านคิดว่าช่วงนี้ได้บำเพ็ญบารมีข้อใด ได้เรียนรู้อะไร

อ.มิตซูโอะ : นี่ๆ ช่วงนี้แหละ ตั้งแต่อาจารย์ฝึกปฏิบัติมา อาจารย์คิดว่าช่วงนี้สำคัญที่สุดที่จะได้ปฏิบัติอย่างจริงจังที่สุด หลวงพ่อชาเคยเล่าไว้ว่าสมัยที่ท่านธุดงค์อยู่ในป่า ก็ได้เรียนรู้อย่างหนึ่ง ต่อมาสมัยที่ท่านมามีลูกศิษย์ ท่านเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้เรียนรู้อีกอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็เรียนรู้ได้ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ขอให้เราทำใจเหมือนแผ่นดิน ใครจะเหยียบ จะถ่มน้ำลาย จะถ่ายอุจจาระ แต่แผ่นดินก็อยู่อย่างนี้เหมือนเดิม ให้มีอุเบกขา อยู่เฉยๆ อาจารย์ใช้คำว่า อดได้ ทนได้ รอได้ ด้วยใจที่ดี เรื่องราวตอนนี้ทำให้เรียนรู้โลกธรรม 8 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ในฝั่งที่ไม่น่าปรารถนาเกิดขึ้น คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ โดนนินทา มีทุกข์ต่างๆ ท่านก็สอนว่าอย่าไปยินดียินร้าย

เรื่องนี้อาจารย์เคยเทศน์บ่อยๆ จนกระทั่งตอนเริ่มคิดว่าจะลาสิกขา อาจารย์ก็จะเทศน์เรื่องนี้บ่อยขึ้น เวลาไปเทศน์ที่ไหนพยายามสรุปด้วยประเด็นนี้เสมอ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะน่าปรารถนาก็ตาม มีลาภ มียศ

หรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม เสื่อมลาภ เสื่อมยศ อย่าไปยินดียินร้าย ขอให้คิดดี พูดดี ทำดีในทุกๆ สถานการณ์ รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ทำดีที่สุด ด้วยใจดีและความสุข นี่คือที่อาจารย์ยึดหลักข้อนี้มาจนถึงปัจจุบัน พูดอย่างภาษาชาวบ้านเลย คือเราเคยเป็นพระที่มีชื่อเสียง กราฟกำลังพุ่งขึ้นๆ ตอนนี้เราสุดๆ ยอดๆ แล้ว แต่พอจู่ๆ ก็ลาสิกขา ถอดจีวรนี้ออกมาเมื่อไร มันก็คือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถ้าไม่สึกเลยตลอดชีวิต อาจารย์ก็สบาย ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทอง ไปไหนมาไหนก็ฟรี ไปโรงพยาบาลฟรี แต่พอสึกมา ตอนนี้เราไม่มีเงิน เราเป็นขอทานแล้ว กลับมาเหมือนตอนเริ่มต้น เราก็เป็นศูนย์ เป็นคนตัวเปล่าๆ

GM: การที่เราทำใจดีๆ ไว้แต่เพียงฝ่ายเดียว คงไม่สามารถทำให้ปัญหาหรือความขัดแย้งที่มีกันสองฝ่าย ดีขึ้นมาได้ใช่ไหม

อ.มิตซูโอะ : ก่อนลาสิกขาออกมา อาจารย์กำลังทำงานโครงการหนึ่งอยู่ ชื่อว่าโครงการครอบครัวประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องความแตกแยก ความขัดแย้งกันในสังคม ไม่ว่าจะเรื่องศาสนาก็ดี หรือเรื่องการเมืองก็ดี อย่างที่เขาแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ตอนยังเป็นพระ อาจารย์ก็สอนเรื่องนี้ประจำ ทำอย่างไรที่จะให้ประเทศไทยเป็นครอบครัวเดียวกันได้ นี่คืองานที่ทำในช่วงปีสุดท้าย สอนธรรมะไม่ให้คนแตกแยกกัน นักการเมืองเสื้อแดง-เสื้อเหลือง พูดกันไม่ได้ คนไทยเราจะผ่านอุปสรรคนี้ได้อย่างไร และเราจะเรียนรู้หรือใช้ประโยชน์อะไรจากความขัดแย้งครั้งนี้ พออาจารย์สึกออกมา ก็ได้เจอกับตัวเองเลย ความแตกแยกของพวกเรากันเองนะ

สรุปวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง อาจารย์มีหลักการอยู่ 3 ประการ เรื่องศาสนาก็ดี เรื่องการเมืองก็ดี หรือเรื่องส่วนตัวของเราทุกคนก็ดี ประการแรก คือมองว่ามนุษย์ทุกคนเป็นพ่อแม่พี่น้องกันมาแต่ชาติปางก่อน คนไทยทุกคนเป็นพี่น้องกันตั้งแต่ชาติก่อน มนุษย์และสัตว์ที่เราพบเห็น ไม่เคยแบ่งญาติพี่น้องกัน เราพูดแคบๆ เฉพาะกรณีประเทศไทยก็แล้วกันนะ ประการ

ที่สอง คือ ต้องยึดหลักเมตตา เมื่อมีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นมา อย่างน้อยก็ไม่โกรธ เมตตาต่อคนที่ดีๆ กัน ก็ง่ายนะ คือความรู้สึกรัก หรือการเมตตาต่อคนทั่วไป แบบนี้ก็ง่ายใช่ไหม? แต่ต้องมากกว่านั้นอีก คือพระพุทธเจ้าสอนให้เมตตาต่อทุกคน แม้แต่ศัตรูของเรา นี่ถือเป็นที่สุดของเมตตา อย่างพระเทวทัตที่พยายามจะฆ่าพระพุทธเจ้า ท่านก็มีเมตตา ไม่โกรธ

คงไม่ถึงกับว่ามองเขาเป็นคนดี คนน่ารักอะไรขนาดนั้นนะ แค่เราไม่โกรธเขา มีความปรารถนาจะไปช่วยทำจิตใจของเขาให้ดีขึ้น เมื่อจิตใจดี มีความสุข ความอาฆาตมาดร้ายจะหายไป อย่างน้อยก็ไม่โกรธกันกับคู่กรณี คนเราทะเลาะกันได้ สามีภรรยาทะเลาะกัน คนในองค์กรธุรกิจขัดแย้งกัน แต่สำคัญคือเรามีเมตตา เราก็ไม่โกรธ และไม่ใส่ร้ายกัน ไม่นินทากัน และประการที่สาม คือ ถ้ามี

ปัญหามากจริงๆ ก็ขอให้อยู่ห่างๆ กันไว้เถอะ เหมือนชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวมุสลิม ที่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน ก็ต่างคนต่างอยู่ไป ใครเข้าโบสถ์ก็เข้าไป ใครเข้าวัดก็เข้าไป ถ้าทัศนคติและความเชื่อไม่ตรงกัน ก็ต่างคนต่างอยู่กันไปดีกว่า

GM: ในความขัดแย้งใดๆ ก็ตาม เป็นไปได้ไหมที่เราเองจะเป็นฝ่ายที่ผิด และฝ่ายตรงข้ามนั้นจริงๆ แล้วเขาเป็นฝ่ายถูก เขากำลังหวังดีกับเรา

อ.มิตซูโอะ : อาจารย์คิดว่ามีกันหลายแบบ ทุกคนอยู่ในฐานะที่ไม่เหมือนกันหรอก บางคนด่า รังเกียจอาจารย์สุดๆ อย่างที่เขาให้ข่าวไปลงไทยรัฐหน้า 1 ในสังคมนี้มีคนไม่เหมือนกัน ไม่ใช่เหตุผลเพราะหวังดีอย่างเดียว หรือเพราะรักอย่างเดียว มันมีเหตุผลอื่น เรื่องเงินๆ ทองๆ แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม คนเราต้องรักกันด้วยปัญญา การปล่อยข่าวทำลายกันแบบนี้ อาจารย์บอกเขาไปตั้งแต่แรกแล้ว

ว่ามันไม่ได้ทำลายแค่อาจารย์ มันทำลายแอนด้วย และจะย้อนไปทำลายมูลนิธิฯ ทำลายพุทธศาสนา แบบนี้จะอ้างว่ารักก็ไม่ใช่ ไม่ใช่เหตุผลที่จะใช้อ้าง จะไปคืนดีกันกับมูลนิธิฯ อย่างไร อาจารย์ได้ข้อสรุปในใจแล้ว ว่าถ้าคุณรู้แล้วว่าที่ข้อกล่าวหาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเรื่องโดนมอมยา หรือเรื่องอะไรๆ เหล่านั้นมันไม่ใช่เรื่องจริง ก็ต้อง

ออกมาขอโทษต่ออาจารย์ ขอโทษต่อสังคม โดยลงหนังสือพิมพ์ด้วยก็ดี เพื่อให้ชื่อเสียงที่โดนทำลายกลับคืนมา ทุกวันนี้ คนที่ได้อ่านข่าวก็เชื่อกันไปหมดแล้ว ว่าอาจารย์มิตซูโอะเป็นคนไม่ดีจริงๆ อาจารย์รู้ว่าพวกเขารักอาจารย์ จริงๆ แล้วพวกเราเป็นครอบครัวเดียวกันมาตลอด เคยใกล้ชิดกัน แต่ตอนนี้ก็เกินไปแล้ว แรงๆ มันเกินไป ก็อยากให้สังคมที่เข้าใจอาจารย์ผิดไปในตอนนี้ ได้รู้ความจริง ถ้าเขาออกมายอมรับผิดก็จะช่วยได้เยอะ นี่คือเป้าหมายที่อาจารย์เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาขายในช่วงนี้ อยากให้เขาสำนึกผิด แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่า เพราะวันนี้เข้าไปดูในเฟซบุ๊ค ก็ยังโพสต์เรื่องไม่ใช่ความจริง ทุกข้อกล่าวหา อาจารย์สามารถอธิบายได้หมด

GM: แต่ข้อกล่าวหาทั้งหมดดูเหมือนว่าจะพุ่งไปที่ตัวท่านเอง มากกว่าจะไปกระทบกับพุทธศาสนา

อ.มิตซูโอะ : อาจารย์คิดว่าถ้าอาจารย์เคลียร์ตัวเองได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับพุทธศาสนาโดยรวมด้วย ข่าวสารทุกอย่างในวันนี้ มันเป็นโทษของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในไทยและต่างประเทศมีความขัดแย้งกันเพิ่มมากขึ้นที่เกิดจากอินเตอร์เน็ต อย่างคลิปวิดีโอเรื่อง Innocence of Muslims ที่เป็นโฆษณาแค่ไม่กี่นาที แต่แพร่กระจายไปในโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวมุสลิมลุกขึ้นมาต่อต้าน หรือกรณีปัญหาข่าวลือในประเทศบังกลาเทศ ว่าชาวพุทธไปดูถูกชาวมุสลิม ทำให้วัดพุทธถูกเผาทำลาย วัดพุทธที่นั่นก็เหลือน้อยเต็มทีแล้ว

ก็โดนเผาไปเกือบหมด นี่คือโทษของโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาจารย์เพิ่งเจอเรื่องอย่างนี้กับตัวเอง ถ้าไม่สึก คงไม่เจออย่างนี้ อาจารย์ก็ใช้เหตุการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์ ถือว่าเป็นบทเรียนที่ดี เหมือนที่เขียนไว้ในหนังสือ อยากให้บทเรียนครั้งนี้ได้สอน ได้เตือนสติประชาชนว่า ต้องรู้ถึงโทษของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ต้องมีศีลธรรม จริยธรรม ไม่ใช่ว่าปล่อยข่าวไม่มีมูลความจริงแล้วก็เอามาพูดต่อๆ กันไป อาจารย์เองไม่ได้ถูกมอมยาจริงๆ แต่ข่าวลือนี้ก็ถูกเผยแพร่ออกไป นี่เป็นบทเรียนที่มีประโยชน์กับสังคมไทย ต่อวงการพุทธศาสนาในอนาคต

GM: กลับมาเมืองไทยรอบนี้ ได้พบปะผู้คนมากมาย ท่านพอจะคำนวณได้ไหม ว่ามีคนรักหรือคนเกลียดมากแค่ไหน

อ.มิตซูโอะ : คำนวณไม่ค่อยถูกหรอก เพราะอาจารย์เจอคนน้อย ที่ผ่านมา อาจารย์นั่งเขียนหนังสือใช้เวลา 2 เดือน ไม่ได้ไปไหนเลย เพิ่งได้มาเจอกับคนมากๆ ก็ตอนเปิดตัวหนังสือนี่แหละ ก่อนหน้านี้ เหตุการณ์ที่

ได้เจอคนมากๆ ก็มีแค่ตอนไปเทศน์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากนั้นก็เก็บตัวมาตลอด พยายามไม่ให้ใครมาพบ เพิ่งจะตอนเปิดตัวหนังสือ ก็เปิดตัวเองออกไป ประกาศเลยว่าสื่อมวลชนและทีวีทุกช่อง สามารถมาขอสัมภาษณ์ได้เลยในช่วงนั้น หนังสือพิมพ์เอาไปเขียนข่าวกัน ทีวีก็เอาไปออกกัน ตอนนี้อาจารย์ก็จะไปอยู่ในสัปดาห์หนังสือฯ ก็มีคนมาขอถ่ายรูป เป็นร้อยๆ คนได้มั้ง เขาบอกว่าให้กำลังใจนะ เขายังศรัทธาเหมือนเดิม ก็ได้พูดคุยกันแค่ 2 คำนี้แหละเจอหน้าใครตอนนี้ก็เรียกอาจารย์มิตซูโอะๆ เราก็ให้ถ่ายรูปด้วย กลายเป็นคนดังขึ้นมา เด็กๆ ก็ชอบกันมาก มาขอถ่ายรูป สมัยก่อนพระมิตซูโอะก็อยู่แค่ในวงการศาสนาใช่ไหม แต่ตอนนี้ก็เปิดกว้างออกไปได้มากขึ้น ทุกคนก็แสดงออกว่าดีใจที่เราได้พบกัน ตอนไปขอทำวีซ่า ทำพาสปอร์ต มีตำรวจ มีเจ้าหน้าที่มาขอถ่ายรูปด้วยหลายคน เขาก็ดูมีความสุขกัน

GM: ได้เผชิญหน้ากับคนที่ไม่ชอบบ้างไหม

อ.มิตซูโอะ : ไม่มีนะ ไม่เห็นมีเลย พวกที่ไม่ชอบมักอยู่แต่ในเฟซบุ๊ค ก็คอยหาเรื่องสารพัดอย่าง เล่นงานใต้ดิน แต่ยังไม่เจอคนที่ต่อต้านแบบเจอหน้า จริงๆ ที่เจอมีแต่แสดงความเคารพ ให้กำลังใจ ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยก็ว่าได้

GM: สมมุติว่าสมัยที่ท่านยังอยู่วัดหนองป่าพง คอยดูแลหลวงพ่อชา ถ้าจู่ๆ หลวงพ่อชาสึกออกมาแต่งงานแบบนี้ ท่านเองในตอนนั้นจะโกรธไหม

อ.มิตซูโอะ : (หัวเราะ) แล้วจะโกรธทำไม

GM: ก็ตอนนั้นท่านเป็นลูกศิษย์อยู่

อ.มิตซูโอะ : ไม่โกรธ (เน้นเสียง) คนที่จะเป็นอาจารย์เราได้ ก็มีตั้งเยอะในประเทศไทย ธรรมะที่สอนๆ กัน ก็มีเผยแพร่ออกมามาก ธรรมะอยู่ในเส้นเลือดของเราอยู่แล้ว แม้อาจารย์จะหายตัวไป หรือท่านจะสึก หรือแม้ท่านจะตาย เราก็ไม่ควรไปโกรธ

GM: ทำไมบางคนจึงโกรธ

อ.มิตซูโอะ : ก็นั่นแหละ เขาขาดธรรมะจริงๆ ตอนยังเป็นพระอยู่ อาจารย์ก็สอนทุกคนว่าให้หัดตายทุกวัน มันเป็นเรื่องของการยึดมั่นถือมั่นและการรู้จักปล่อยวาง อาจารย์คิดว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ

อาจารย์อยู่ในแวดวงพระพุทธศาสนามา จนตอนนี้อายุ 62 เข้าไปแล้ว แม่ของอาจารย์เองก็ตายตอนอายุ 62 หลวงพ่อชาที่พูดไม่ได้ก็ตอนอายุ 62 พี่สาวของอาจารย์ป่วยหนักและเป็นอัมพาต พูดไม่ได้เหมือนหลวงพ่อชาก็ตอนอายุ 62 เหมือนกัน อาจารย์คิดว่าเลข 62 นี่มันกำลังบอกเราว่าต้องเกษียณได้แล้ว อาจารย์อยากเลือกชีวิตใหม่ ชาติใหม่ เลยเลือกมาทางนี้

ตอนปี พ.ศ. 2553 ช่วงที่ขัดแย้งการเมืองรุนแรง นักข่าวมาถามอาจารย์ ว่าธรรมะเร่งด่วนที่สุดสำหรับสถานการณ์ในตอนนั้นคือธรรมะเรื่องไหน? อาจารย์ก็ตอบเขาไปว่า เรื่องการเมตตาต่อตัวเอง รักตัวเอง ควา

มขัดแย้งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เรารักคนอื่น ฝ่ายหนึ่งก็ฝ่ายในหลวงใช่ไหม ฝ่ายหนึ่งก็ฝ่ายทักษิณใช่ไหม แต่เกิดปัญหาขึ้นมาเพราะทุกฝ่ายมองข้าม

ตัวเอง รักคนอื่น ไม่รักตัวเอง การรักตัวเองหมายความว่าเมตตาตัวเอง ทำจิตใจตัวเองให้มีความสุขบ้าง ความสุขเกิดขึ้นที่จิตใจ แก้ปัญหาทุกอย่างก็ใช้หลักอันนี้เหมือนกัน มีเมตตาต่อตัวเองก็มีความสุข

และก็ควรหัดตายทุกวัน

นอนหลับแล้วก็มีความสุข นอนไปก็ปล่อยวางทุกอย่าง เพราะธรรมชาติของจิตใจมีความสุขอยู่แล้ว ต้องปล่อยวางความนึกคิดต่างๆ อารมณ์ต่างๆ ความไม่สบายใจต่างๆ แต่ที่อาจารย์สอนๆ ไปนี่กลับไม่เข้าไปในใจของลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดเลย พวกเขาเป็นเหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง เป็นทัพพีที่ตักเก่งมาก ตักทุกวันๆ แต่ไม่รับรู้รสชาตินั้น แม้แต่คนเป็นถึงกรรมการมูลนิธิฯ กลับไม่เข้าถึงธรรมะที่เราสอนกันเป็นประจำ

อาจารย์ไม่อยากให้คนเสียใจเลยกับเรื่องที่อาจารย์สึกออกมา ตลอด 31 ปี อาจารย์ไม่ได้คิดว่าจะสึกเลยนะ อาจารย์คิดว่าตอนบวชอยู่ก็ดี ตอนสึกออกมาก็ดี อยากให้ลูกศิษย์คิดว่ามันก็ดีเหมือนกัน มันดีกว่าด้วยซ้ำ สึกแล้วทำความดีได้สะดวกกว่าเป็นพระ แต่พวกเขากลับมองว่าพระมิตซูโอะไม่น่าสึก แอนเป็นคนเห็นแก่ตัว แอนเอาพระไปเป็นสมบัติส่วนตัว แม้แต่พระผู้ใหญ่ก็เทศน์แบบนี้ ทุกคนคิดว่าพระมิตซูโอะถ้าไม่สึก จะทำประโยชน์ได้มากอย่างนั้นอย่างนี้ พอลาสิกขา มันก็แค่ พระมิตซูโอะ คเวสโก หายไป แต่อาจารย์มิตซูโอะยังมีเหมือนเดิม สิ่งที่พระทำไม่ได้ ตอนนี้อาจารย์มิตซูโอะทำได้แล้ว คือออกเดินทางไปรอบโลก ไปสอนคนญี่ปุ่น สอนคนต่างชาติ

อุดมการณ์ของอาจารย์ไม่ใช่การเผยแผ่พุทธ-ศาสนานะ อาจารย์คิดแบบนี้มาตั้งแต่สมัยเป็นพระแล้ว คนอื่นๆ อาจไม่เข้าใจอุดมการณ์ข้อนี้ ประมาณ 20 ปี ก่อน อาจารย์เคยถูกท่านอาจารย์สุเมโธ (พระราช-สุเมธาจารย์) ส่งไปทำงานประเทศอังกฤษ ก่อนจะเดินทางไป หลวงพ่อชาก็เรียกไปสอน ท่านบอกว่าอย่าเอาพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่อังกฤษนะ แต่ให้เอาธรรมะไปเผยแผ่ ชาวอังกฤษที่กำลังเป็นทุกข์มากๆ นั้นคงมีเยอะ เราแค่ให้เขาพ้นทุกข์ สอนให้รู้จักทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทำอย่างไรถึงจะบรรเทาทุกข์ได้ ก็ให้เอาธรรมะไปสอนเขา แค่นั้นพอ อย่าไปเผยแผ่ศาสนา พวกพิธีกรรมต่างๆ พิธีรีตองไม่ต้องเอาไป

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำไมโลกเราวุ่นวาย เพราะเราแบ่งแยกกันด้วยศาสนา ทั้งที่ก่อนจะแบ่งว่าเราเป็นชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวมุสลิม ก่อนที่เราจะแบ่งเสื้อเหลือง เสื้อแดง ให้มองความเป็นมนุษย์กันเสียก่อน มนุษย์คืออะไร มนุษย์ แปลว่า ผู้รู้จักชั่ว-ดี-บุญ-บาป มนุษย์ แปลว่า ผู้มีใจสูง ใจสูง คือ รู้ชั่วดี บุญบาป และมากกว่านั้นก็ต้องเมตตาแก่ตัวเอง มีความรักตัวเอง ทำให้เป็นมนุษย์ที่ดีและมีคว

ามสุข พวกหนังสือเล่มเล็กๆ ของอาจารย์ที่เขียนไว้ตั้งแต่ยังเป็นพระ ก็มีคนเอาไปให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนคริสต์ โรงเรียนอิสลามได้อ่านกัน อาจารย์ก็ถามเขาว่าอ่านกันได้เหรอ คนละศาสนานะ ก็มีคุณครูคนหนึ่งบอกว่าถ้าไม่ใช่หนังสือบทสวดมนต์ ก็ให้อ่านได้ เพราะหนังสือพวกนั้นมีแค่การสอนให้หายใจยาวๆ มีสติ ให้รู้สึกตัว แล้วก็ปล่อยวาง ธรรมะแบบนี้เข้าถึงทุกศาสนาได้

GM: นั่นคือหลักการของศาสนาสากลใช่ไหม

อ.มิตซูโอะ : ใช่ๆ เรียกว่าศาสนาสากลแบบนั้นก็ได้ ดังนั้นพอสึกออกมาก็โอเค บางคนบอกว่าสึกแล้วตกต่ำ สึกแล้วไม่ดี อาจารย์ไม่ถือแบบนั้น อาจารย์ไม่ลังเลสงสัย ว่าสึกแล้วจะดีหรือไม่ดี ความรู้สึกลังเลแบบนี้ไม่มี อาจารย์ถือว่าสึกแล้วก็ดี วางแผนไปเผยแผ่ธรรมะที่ญี่ปุ่น ที่ทั่วโลก เพราะทุกวันนี้ชาวโลกมีอาการของโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก เคยเห็นใช่ไหม เขาบอกว่าสาเหตุเกิดจากอินเตอร์เน็ตด้วย ตั้งแต่มีอินเตอร์เน็ตเข้ามาในครอบครัว ในปี 2010 โรคทางจิตใจเพิ่มขึ้นมาเป็นโรคที่คนป่วยมากที่สุดอันดับ 1 ใน 5 ปี องค์การอนามัยโลกบอกว่า ในปี 2020 โรคทางจิตใจจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับที่ 1 ปัญหาทางจิตใจเพิ่มขึ้นเพราะโซเชียลเน็ตเวิร์กแบบเดียวกันกับที่อาจารย์เจออยู่นี้หรือเปล่า อาจารย์อยากทำโครงการชื่อว่า โครงการสุขภาพใจดี สำหรับมนุษย์ทุกคน คิดหลักสูตรต่างๆ แปล 20 กว่าภาษาเพื่อสอนมนุษย์ทุกคน กิจกรรมอื่นๆ ในเมืองไทยก็หยุดไว้ก่อน ชีวิตที่เหลืออยู่จะใช้ไปกับการเตือนสติ

มนุษย์ การเจริญสติ แม้เราจะมีความสุขมากแค่ไหนก็ตาม ถ้าจิตใจฟุ้งซ่าน สุขภาพจะไม่ดี สุขภาพจะดีต้องมีสติ สงบ สบายใจ และมีความสุขด้วย พูดง่ายๆ คือ หยุดคิดบ้าง อย่างเด็ก 1 ขวบ มักจะสุขภาพดี เพราะอะไร จิตของเด็กๆ จะกลับมาสู่ความสงบได้ง่าย กลับมาสู่ปัจจุบันได้ง่าย เกิดสติได้โดยอาศัยพ่อแม่มาอุ้มชูเขา ลูบหลังเขาเบาๆ ให้เขาผ่อนคลาย ให้เขาหยุดร้องไห้ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องไปวัดบ้าง ไปเรียนวิธีเจริญวิปัสสนา

GM: ความรักในมุมมองของท่าน ในฐานะคนที่ปฏิบัติธรรมมาเยอะๆ จะเหมือนหรือแตกต่างจากความรักของคนหนุ่มสาวทั่วไปอย่างไร

อ.มิตซูโอะ : ก็แตกต่างตรงที่ว่า

ความรักของคนปฏิบัติธรรมจะมีความเข้าใจ แต่จริงๆ แล้ว คนที่ปฏิบัติธรรมก็อาจไม่เข้าใจก็ได้ เราจึงพูดสรุปแบบนั้นไม่ได้ว่าคนไหนเข้าวัด คนไหนไม่เข้าวัด คนไหนจะดีกว่า เราพูดไม่ได้ว่าใครดีกว่าใคร การไปสรุปแบบนี้ เขาเรียกว่า ‘สีลัพพตปรามาส’ อย่างคนหนุ่ม 2 คน คนหนึ่งเข้าวัดสิบปี อีกคนหนึ่งไม่เข้าวัดเลย เราจะ

บอกว่าคนที่เข้าวัดดีกว่า แบบนี้ไม่ได้ เพราะจิตดีหรือไม่ดีอยู่ที่ตัวจิต คนปฏิบัติธรรมก็แค่พอสันนิษฐานได้ว่า เขาน่าจะเข้าใจธรรมะพอสมควร ทำให้ความรักของเขาดีแน่นอน เพราะไม่ใช่ความรักที่เกิดจากความรู้สึกทางเพศอย่างเดียว เวลาเกิดความไม่พอใจ หงุดหงิด วิตกกังวล คนที่มีธรรมะก็จะสามารถจัดการกับอารมณ์พวกนี้ได้ ความรักของเขาจึงมั่นคงแน่นอน หรืออย่างน้อย ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิบัติธรรมมาดี ก็ช่วยให้มีปัญหาน้อยลง ถ้าจะให้ดีต้องปฏิบัติทั้งสองฝ่าย

GM: ในขณะที่ศาสนาพุทธสอนเราว่าไม่มีอะไรที่มั่นคง แต่ความรักนี่มั่นคงได้ด้วยหรือ

อ.มิตซูโอะ : ไม่ใช่ในความหมายแบบนั้น ความรักนั่นมีอยู่ เรียกว่าเป็นพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คือ ความรักที่เรามีให้กับมนุษย์ทุกคน แต่ถ้าเป็นอย่างความรู้สึกที่ดีกับคนรักของเรา มักจะเจือปนด้วยอุปาทาน มักจะมีความเห็นแก่ตัวแฝงอยู่ นั่นก็ทำให้ความรักของเรามีปัญหาอยู่ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม อาจารย์คิดว่านี่แหละคือปฏิบัติธรรมอีก

อย่างหนึ่ง มีนักข่าวคนหนึ่งมาถามว่าทำไมอาจารย์เลือกมาทางนี้ ทั้งที่รู้ๆ อยู่ว่าเรื่องความรัก เรื่องชีวิตคู่ เหล่านี้เป็นทุกข์ การไม่มีภรรยาเป็นลาภอันประเสริฐ ไม่มีสามีเป็นลาภอันประเสริฐ (หัวเราะ) เขาสอนอยู่ในสาระแห่งชีวิต แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สำหรับอาจารย์ คิดว่าพอชีวิตเรามาถึงจุดหนึ่ง เราก็ต้องหาทางเรียนรู้แบบอื่นๆ บ้าง ก็ลองกระโดดเข้ามา เปรียบเหมือนกับว่าถ้ายังเป็นพระอยู่ ก็คือออกไปธุดงค์บ้าง จะบวชเป็นพระแล้วอยู่ดีกินดีตลอดก็ไม่ได้เรียนรู้อะไร เราก็ต้องลองไปฝึกหัดไม่นอนหลับ 3 เดือน หรือฝึกหัดกินข้าวเปล่าๆ ไป 3 เดือน การบวชก็เพื่อหาโอกาสขัดเกลากิเลสแบบหนึ่ง พอสึกออกมาแต่งงานก็เพื่อหาโอกาสขัดเกลากิเลสอีกแบบหนึ่ง ปฏิบัติต่อเนื่องกันไปนี่แหละ

GM: การฝึกหัดแบบไหนยากกว่ากัน

อ.มิตซูโอะ : สำหรับอาจารย์ ก็ต้องคิดว่าวิธีที่เลือกอยู่ตอนนี้ยากแน่นอนอยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วคงไม่มีคำตอบหรอกว่าอันไหนยากกว่ากัน ชีวิตเมื่อเปลี่ยนมาอยู่ในทางโลก เรารู้ก่อนแล้วว่าสึกเมื่อไรก็ต้องโดนด่าสุดๆ จากทุกคน ทุกฝ่าย เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ การลาสิกขาออกมาตอนนี้ต้องยากกว่าการบวชต่อไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่าทุกสิ่งคือการปฏิบัติธรรม ทุกข์เป็นครู ทุกข์เป็นอาจารย์ เหมือนเป็นปุ๋ยแห่งชีวิต เมื่อมีทุกข์ เราถึงจะฉลาดขึ้น ถ้าในช่วงเวลาตอนนี้ อาจารย์สามารถทำได้ดี ก็จะสามารถนำมาสอนต่อไป ถือเป็นประสบการณ์จริงๆ เขียนหนังสือเป็นธรรมะสอนได้เลย อย่างในหนังสือ ความในใจ… อาจารย์มิตซูโอะ ถ้าเป็นแบบนี้ อาจารย์ก็จะเอาไปเขียนหนังสือไปเรื่อยๆ เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต ทุกเรื่องที่เกิดขึ้น มันทำให้อาจารย์คิดอะไร แก้ไขอย่างไร ก็เล่าไปได้เรื่อยๆ การเล่าชีวิตผ่านหนังสือคือการแสดงธรรมรูปแบบหนึ่ง อย่างเรื่องความขัดแย้งกับมูลนิธิมายา โคตมี อาจารย์ก็เล่าไป คิดอย่า

งไร รู้สึกอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร ก็เขียนถ่ายทอดออกมา

GM: ท่านยังคงกล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ และวัดอยู่เสมอๆ ดูเหมือนมันเป็นเรื่องสำคัญและค้างคาใจที่สุดในตอนนี้ใช่ไหม

อ.มิตซูโอะ : ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่อาจารย์แค่สงสัยว่าทำไมคนที่นับถืออาจารย์มา 20 ปี เขาจึงเข้าใจผิดว่าอาจารย์เป็นคนไม่ดี ถ้าเรื่องนี้เงียบๆ ไปแล้ว อาจารย์จะเดือดร้อนอะไร อาจารย์ก็พออยู่ได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่คิดว่าพระมิตซูโอะที่เคยนับถือ ที่มีหนังสือวางอยู่ที่บ้านเยอะๆ เป็นคนไม่ดีไปแล้ว อาจารย์เองรู้สึกไม่ดีกับเรื่องแบบนี้ มีการใช้คำว่า มารศาสนา อาจารย์ออกมาพูดแบบนี้เพื่อเป็นประโยชน์ของส่วนรวม

อาจารย์ถามว่ามารศาสนาตัวจริงคือใคร พออาจารย์จะทำความดี กลับมากีดกั้นๆ แล้วปล่อยข่าวซ้ำอีก ว่ามิตซูโอะเป็นคนไม่ดี คนได้ฟังก็เชื่อตามนั้น คนฉลาดมีน้อยกว่าเสมอ เหมือนสมัยของพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ ตอนที่ท่านบวชกับพระพุทธเจ้าแล้ว ก็กลับไปชักชวนอาจารย์เก่าที่เคยสอนท่าน อาจารย์ท่านนั้นชื่อสัญชัยปริพาชก ว่าได้เจออาจารย์ที่

แท้จริงแล้ว ชวนให้อ

าจารย์สัญชัยตามไปบวชด้วยกัน อาจารย์สัญชัยก็ถามว่า คนโง่กับคนฉลาด คนกลุ่มไหนมีมากกว่ากัน? คำตอบก็คือคนโง่นี่แหละ สุดท้ายอาจารย์สัญชัยก็เลือกอยู่กับคนโง่ เพราะเขาได้รับลาภสักการะเยอะๆ (หัวเราะ) ไม่ต้องทำอะไรมาก มีลูกศิษย์เข้ามาหาเยอะๆ พวกพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ได้เจอคนฉลาดก็ดีแล้ว ก็เชิญไปเถอะ แต่เราไม่ไป เราจะอยู่กับคนโง่

ชาวพุทธอาจจะคิดว่านี่แหละ เรานับถือศาสนาพุทธด้วยศรัทธา พอเกิดข่าวไม่ดี จิตใจก็จะมีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น พอได้ยินคนนั้นคนนี้ว่าไม่ดี จิตใจก็มีอุปาทานไปแล้ว จริงหรือไม่จริงไม่รู้นะ เหมือนอย่างคนติดคุกแล้วพ้นออกมา คนไม่ถึงกับด่านะ แต่เขามองไม่ดีไปแล้ว มันติดในสมองไปแล้ว แก้ยากจริงๆ ความยึดมั่นถือมั่น ลูกศิษย์นับถืออาจารย์มา 20 กว่าปี ทำงานเผยแผ่ธรรมะมาด้วยกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่อาจารย์ขอถามว่า มารศาสนาตัวจริงคือใคร ใครทำให้พุทธศาสนาเสื่อมเสีย อาจารย์จึงต้องลุกขึ้นมาพูดความจริงเพื่อประโยชน์ส่วนรวมด้วย

GM: มีหลายคนคิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว

อ.มิตซูโอะ : ลูกศิษย์คงคิดว่าอาจารย์เป็นพระอรหันต์ เขาก็เสียใจ บางคนร้องไห้เลยก็มี ตอนนี้อาจารย์เลือกชีวิตใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ เขียนหนังสือเหมือนได้เผยแผ่ธรรมะในตัว

GM: ถ้าชีวิตประจำวันคือการปฏิบัติธรรมไปตามปกติ แล้วจุดมุ่งหมายข้างหน้าของชีวิตท่านคืออะไร

อ.มิตซูโอะ : เหมือนเดิมนั่นแหละ หัวใจของการปฏิบัติธรรมคือ สติปัฏฐาน 4 นิพพานเป็นอารมณ์อยู่แล้ว จุดหมายในชีวิตเหมือนเดิม ถึงจะมีครอบครัวแล้วก็ตาม อาจารย์สอนธรรมะมาพอสมควร ในความเข้าใจ ในประสบการณ์ของอาจารย์ อาจารย์ไม่ใช่พระอรหันต์แน่ๆ และก็ไม่ใช่พระอนาคามีด้วย เพราะพระอนาคามีต้องไม่มีราคะ โทสะไม่มี

GM: ความรู้สึกตอนนี้ เหมือนสมัยท่านเป็นหนุ่มๆ เดินทางออกจากบ้านในประเทศญี่ปุ่น เพื่อมาแสวงหาธรรมะใหม่ๆ ให้กับชีวิตหรือเปล่า

อ.มิตซูโอะ : คนละอย่างกันเลย เปรียบเทียบไม่ได้ พูดอธิบายคุณด้วยภาษาไทยลำบากนะ พูดไปเดี๋ยวจะเข้าใจผิดไปอีก แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปฏิบัติธรรมตอนหนุ่มๆ อาจารย์มีประสบการณ์ดีๆ เกิดขึ้นมามากมาย มิจฉาทิฐิหายไป ทิฐิก็เปลี่ยน ทิฐิคือความเห็นนะ ตอนนี้ความเห็นเปลี่ยนไป ตอนนี้กิเลสต่างๆ ก็ยังมีอยู่บ้าง แต่ยังเชื่อว่านิพพานมีจริง อริยสัจ 4 เป็นเรื่องจริง

GM: กิเลสในใจตอนนี้ ท่านเกิดโทสะหรือราคะบ่อยแค่ไหน และต้องรอไปถึงชาติไหน จึงจะเอาชนะได้

อ.มิตซูโอะ : เรื่องโทสะนี่ก็พยายามปฏิบัติทุกวันอยู่แล้ว ถึงจะโดนเหยียบ โดนถ่มน้ำลาย จะอุจจาระใส่อาจารย์อย่างไร ก็บอกแล้วว่าไม่โกรธอยู่แล้วนะ ไม่ต้องรอชาติหน้า ส่วนเรื่องราคะก็เหมือนกัน อาจารย์ทำตัวให้อยู่ในศีลธรรมอันดี อาจารย์แต่งงานมีภรรยา อาจารย์ไม่ได้ทำผิดกับผู้หญิงคนอื่น อาจารย์ตัดสินใจสึกออกมาเพื่อแต่งงาน เพื่อไม่ทำผิดศีลธรรม ไม่ใช่ว่าเราไปรอชาติหน้า เราพยายามทำอยู่แล้วในขณะนี้

GM: ตอนสึกมาใหม่ เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น ได้เจออะไรเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่ท่านยังทำความเข้าใจมันไม่ได้บ้าง

อ.มิตซูโอะ : เรื่องที่ยากๆ ก็คือเรื่องนี้แหละ (หัวเราะ) เรื่องพฤติกรรมของมูลนิธิมายา โคตมี นี่แหละ เรื่องนี้ทำให้อึดอัดใจตลอด อย่างอื่นตอนนี้ก็ธรรมดาๆ ไม่ได้ทำอะไรใหม่ๆ แปลกๆ ใช้ชีวิตไปตามธรรมดา

GM: ท่านได้ไปเที่ยวสนุกๆ กินอาหารอร่อยๆ ทำให้จิตใจว้าวุ่นเพิ่มขึ้นไหม

อ.มิตซูโอะ : ความรู้สึกสนุกมากๆ อย่างนั้นมันไม่มีหรอก ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร ตอนนี้เวลาเปิดทีวี ก็เหมือนการฆ่าเวลาไปเฉยๆ คนแก่แล้วนะ

GM: ท่านได้ไปดูหนังในโรงหรือยัง

อ.มิตซูโอะ : ยังๆ ไม่ได้รู้สึกอยากไป เพราะตอนนี้สึกแล้วก็เหมือนเดิม ไม่ใช่สึกออกมาเพื่อสนุกสนานอะไรๆ แบบนั้นนะ เรื่องสนุกสนานไม่มี ที่เปลี่ยนไปคือตอนกินข้าว ที่สามารถกินอะไรๆ ได้สบายหน่อย ต่างจากตอนเป็นพระที่ต้องรอประเคน อยากกินอาหารคำหนึ่งก็ไม่ต้องรู้สึกผิด ถ้าเป็นพระอยู่ มันต้องคิดหลายเรื่อง อะไรกินได้ กินไม่ได้ ต้องคิดตลอด ยิ่งการเป็นพระป่า ต้องคิดเรื่องอาหารที่จะฉัน มีนมผสมอยู่ไหม ประเคนหรือยัง เรื่องพวกนี้เหนื่อย พอมาเป็นแบบนี้ สบาย (เน้นเสียง)…กินได้

GM: ความสะดวกสบายแบบนี้ แท้จริงแล้วมันดีกับจิตใจ หรือไม่ดีกับจิตใจ

อ.มิตซูโอะ : ก็ต้องดีสิ ไม่จำเป็นที่เราต้องทำให้ตัวเองลำบากเสมอไปนะ รู้ไหม เวลาเป็นพระกังวลตลอด ยาสีฟันหมด หงุดหงิดๆ ถ้ามีใครเอายาสีฟันมาถวาย เราก็สบาย ไม่ต้องกังวล บางวันปวดท้องอาหารไม่ย่อย ก็กังวลอีก อยากกินอาหารแบบนั้นแบบนี้เพื่อช่วยย่อย ถ้ามีใครเอามาถวาย ก็สบายๆ ชีวิตไม่จำเป็นต้องลำบาก ชีวิตเราสบายๆ ดีกว่า เรียกว่า ‘สัปปายะ’

สัปปายะ 7 สิ่งที่เกื้อกูล สนับสนุนในการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี เช่น ไม่พลุกพล่านจอแจ อาหาร ดินฟ้าอากาศ และอิริยาบถ

GM: อย่างนี้พวกที่ยังเป็นนักบวชอยู่ พวกเขาก็กำลังปฏิบัติผิดหรือ

อ.มิตซูโอะ : ไม่มีผิดหรือถูกแบบนั้น อาจารย์ถือว่าควรมีสัปปายะ คือมีความสบายพอสมควร อยู่สบาย อากาศสบาย อาหารสบาย ภายในจึงจะเกิดปัญญา คนที่ไม่บวชเลย แต่เข้าวิปัสสนาได้ ก็มีประสบการณ์ที่ดีได้ แต่พอมาบวชแล้ว 10 ปีก็ยังไม่เจอประสบการณ์ดีๆ แบบนี้ก็ต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะพวกพระชาวต่างชาติ พวกเขาเคยได้เข้าวิปัสสนา ได้ประสบการณ์ ดีๆ ต่อมาจึงขอบวชพระ เพื่อขัดเกลากิเลส ก็ได้ฝึกฝนขัดเกลาไป แต่บางคนกลับพบว่าบวชไป 10 ปีแล้วยังไม่ได้พบประสบการณ์อะไรเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เขาก็อาจจะคิดว่าไม่ต้องบวชดีกว่า เพราะมาบวชแล้วต้องสวดมนต์ ต้องทำพิธีกรรมต่างๆ สารพัด

คุณชอบให้เปรียบเทียบว่าอะไรดีกว่าอะไร แบบนี้เปรียบเทียบไม่ได้ แต่ถ้าตั้งใจให้นิพพานเป็นอารมณ์จริงๆ โอเคนะ บวชพระทุกอย่างก็จะเป็นไปได้ พระวินัยมีไว้สำหรับคนตั้งใจปฏิบัติจริงๆ แบบนั้น ต้องตั้งใจปฏิบัติจริงๆ ต้องไปอยู่ในป่าลึกๆ ไม่ยุ่งกับใครเลย แต่ถ้าไม่ได้เป็นวัดป่าแบบนั้น พระต้องเดินทาง ต้องทำงาน ต้องมาอยู่กับสังคมเมือง ความเป็นพระวินัยแบบนั้นอาจไม่ช่วยแล้ว อาจจะกลายเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ

GM: เราจะมั่นใจได้อ

ย่างไร ว่าวิถีทางปฏิบัติแบบไหนดี เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการตัดสินใจครั้งนี้ถูกต้อง เรามั่นใจได้อย่างไรว่าการบวชอยู่นั้นดี หรือการลาสิกขานั้นดีกว่า

อ.มิตซูโอะ : (หัวเราะ) ก็ต้องมาตั้งต้นกันใหม่ ที่ความเชื่อมั่นในตัวเอง เรื่องนี้ก็ต้อง อัตตา หิ อัตตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนเอง อริยทรัพย์ 7 ต้องมีไว้ ศรัทธาต้องมั่นคง ทุกสิ่งทุกอย่างควรมองเห็นเป็นอนิจจัง ไม่แน่นอน ทุกวินาทีในชีวิตของเรานั้น มีทางเลือกเยอะแยะใช่ไหม แต่เราต้องเชื่อมั่นว่าทุกขณะจิตนั้น เราได้เลือกทางเลือกที่ดีที่สุด ทางเลือกที่ดีที่สุดคืออะไร คือทางเลือกที่ไม่ได้เห็นแก่เงิน เห็

นแก่ลาภยศ สรรเสริญ ถ้าเป็นชาวคริสต์ก็จะอ้างถึงพระเจ้าว่าท่านให้คำแนะนำมา ถ้าเป็นชาวพุทธก็ต้องอ้างถึงกฎแห่งกรรมกำหนดมา อะไรที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็เพราะผลแห่งกรรม ทางเลือกที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันนี้ ก็เป็นไปตามกฎแห่งกรรม เราก็ต้องยอมรับ และพร้อมที่จะพยายามสร้างอริยทรัพย์ให้มากขึ้นๆ พิจารณาวิปัสสนา อนิจจัง ไม่แน่นอน และมองว่าขณะปัจจุบันนั้นดีที่สุด

ตอนที่ไปออกรายการตีสิบ พิธีกรถามแบบนี้เหมือนกัน ว่าถ้ารู้แบบนี้แล้ว ถ้าสามารถย้อนเวลากลับไปได้ อาจารย์ยังจะเลือกทำแบบเดิมหรือเปล่า? อาจารย์ก็ตอบว่า การเลือกแบบในปัจจุบันนั้นดีที่สุดอยู่แล้ว เพราะเราเลือกเอง เราพิจารณาด้วยสติปัญญา มันจึงดีที่สุดแล้ว ถึงแม้ตอนนี้จะดูเหมือนเลวร้ายที่สุดก็ตาม เพราะคนอื่นเขาด่ากัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม

เราก็ต้องมองให้เห็นถึงประโยชน์ที่มากที่สุดให้ได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าสอน ปัจจุบันนี้สำคัญที่สุด ให้ประโยชน์มากที่สุด และพร้อมกันนี้ก็ให้มีความสุข อดได้ ทนได้ รอได้ ด้วยใจดีและมีความสุข ถึงจะมีความทุกข์ก็ตาม แต่ถ้าเราพอใจในปัจจุบันแล้วด้วยปัญญา เราก็มีความสุข ถ้าปฏิบัติถูกต้องอยู่แล้ว จะมีความสุขจากปัญญาที่เข้าใจ

อริยทรัพย์ 7 ทรัพย์คือคุณธรรมประจำใจอย่างประเสริฐ ประกอบด้วยศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และ ปัญญา

GM: ตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ ที่ได้เดินทางไปศึกษาธรรมะหลายแห่ง หลายสำนัก มีครั้งไหนที่ท่านคิดว่าเขาสอนผิด หรือตัดสินใจผิดบ้างหรือเปล่า

อ.มิตซูโอะ : ไม่มีๆ ไม่มีเลย อาจารย์บอกแล้วไง ว่าเราต้องถือคติว่าไม่มีอะไรที่ไม่ดี และถึงแม้ว่ามันไม่ดี หรือถึงแม้ว่ามันผิด เราก็ต้องรู้เสมอ ว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออก ความทุกข์เป็นครู อาจารย์คิดอย่างนี้จริงๆ ตามกฎแห่งกรรมก็ได้ ถ้าคุณเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม คำถามแบบนี้จะไม่มีแน่นอน เพราะคุณจะรู้ว่าปัจจุบันนั้นดีที่สุดอยู่แล้ว ปัจจุบันเราสามารถนิพพานได้ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเรามีอริยมรรค มีองค์ 8 เราถึงนิพพานได้อยู่แล้ว

GM: ตอนนี้วางแผนการทำงานสอนธรรมะต่อไปอย่างไร จะมีการตั้งสถานปฏิบัติธรรม หรือการจัดหลักสูตรอะไรบ้าง

อ.มิตซูโอะ : คงไม่มีการเปิดโรงเรียนหรือสถานที่อะไร เพราะคิดว่าจะเดินทางเผยแผ่ธรรมะไปทั่วโลก แต่ช่วงนี้ไม่มีเวลาคิดหลักสูตร เพราะสึกมาแค่ 5 เดือน ต้องอีกสักปีหนึ่งจึงน่าจะคิดหลักสูตรได้ ตอนนี้มีประสบการณ์

อะไรก็บันทึกไว้ เพราะคิดว่าการเล่าประสบการณ์ชีวิต คือการแสดงธรรมอยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนเป็นพระก็ดี หรือตอนนี้ที่ลาสิกขาออกมาก็ดี อาจารย์ไม่เคยทิ้งเรื่อง คิดดี พูดดี ทำดี ด้วยใจดี ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ด้วยจิตใจที่ดีและมีความสุข ยึดหลักนี้มาตลอด แม้จะอยู่ในสถานะใด ชีวิตคือการปฏิบัติธรรม ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะเอามาเขียนหนังสือ อาจจะ 4 เดือน เขียนหนังสือ 1 เล่ม อีก 4 เดือนถัดไป ก็อีก 1 เล่ม อย่างนี้ไปเรื่อยๆ

GM: ทุกวันนี้ท่านเขียนไดอารี่บันทึกประจำวันใช่ไหม

อ.มิตซูโอะ : ไม่ถึงขนาดนั้น แต่พิจารณาชีวิตอยู่ตลอดเวลา

GM: อยากให้ท่านเล่าเรื่องพุทธศ

าสนาในประเทศต่างๆ ที่ได้เดินทางไป และในญี่ปุ่นที่เป็นบ้านเกิด ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

อ.มิตซูโอะ : พุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นที่ได้สัมผัสมาด้วยตัวเอง ตั้งแต่สมัยเด็กๆ คนญี่ปุ่นหลายคนเป็นชาวพุทธตามประเพณี ตั้งแต่สมัยเอโดะ รัฐบาลญี่ปุ่น รัฐบาลซามูไร เขาให้นโยบายว่า ทุกคนต้องเข้าเป็นสมาชิกในวัดแห่งใดแห่งหนึ่ง อาจจะมีวัด 3-4 นิกายอยู่ในบริเวณนั้น ทุกคนต้องไปขึ้นบัญชีแห่งใดแห่งหนึ่ง เพราะตอนนั้นยังไม่มีหน่วยงานราชการที่เป็นระบบ เขาก็อาศัยวัดมาทำหน้าที่นี้ ใครเกิด ใครตาย ใครแต่งงาน ใครทำไร่ที่ดินมีเท่าไหร่ เพื่อเก็บภาษี ทุกคนต้องไปวัด และทุกคนก็รู้กันหมดนะ สมัยหนึ่งบังคับอยู่อย่างนี้

สมัยอาจารย์เด็กๆ ก็เหมือนกัน สมัยก่อนไม่มีกิจกรรมทางศาสนาแบบคนไทย อาจารย์จำได้ว่าต้องเข้าวัดปีละครั้ง คือเพื่อไปจ่ายค่าสมาชิก

ทุกวันนี้เปลี่ยนไป พุทธศาสนาในญี่ปุ่นเป็นมหายาน และก็มีนิกายแบบที่คนที่แต่งงานแล้ว ก็ไปสร้างวัด สามีภรรยาคู่นี้แหละ ก็สอนธรรมะกันไป สมาชิกกระจายไปทั่วโลก เคยมีงานกิจกรรมครั้งหนึ่ง จัดขึ้นระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีพระจากไทยและพระจากญี่ปุ่นมาเข้าร่วม เราก็เห็นว่าพระของญี่ปุ่นมีภรรยามานั่งในงานด้วย เขาเรียกว่าภิกษุณี พอตอนเย็นไปกินข้าว

ไปกินเบียร์กัน แตกต่างจากเถรวาทมาก

ญี่ปุ่นถ้าเคร่งก็เคร่งจริงๆ นะ อย่างพวกนิกายเซนก็ปฏิบัติเคร่งครัดจริงๆ ที่ญี่ปุ่นมีรูปแบบกว้างมากจริงๆ อาจารย์รู้จักไม่หมด เคยได้ยินว่ามีคนที่เก่งๆ บางคนอยู่ในวัด 12 ปี ไม่ออกจากวัดเลย ไม่ออกจากห้องเลย 12 ปี เรียนหนังสือ ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ อยู่ในห้องเดียวกัน เคยได้ยินว่าบางคนไปธุดงค์ 1 พันวัน ช่วงแรกอาจจะเดิน 30 กิโลฯ บางคนก็วิ่งตามเส้นทางแล้วสวดมนต์ ทำอย่างนี้ประมาณ 3 เดือน มหายานที่ปฏิบัติแปลกๆ ก็มีเยอะ บางคนก็ยืน 90 วัน นั่ง 90 วัน แบบนี้ก็มี สมัยที่อาจารย์บวชเป็นพระอยู่ ก็เป็นเถรวาท และคิดว่าดีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้พอสึกออกมา อาจ

ารย์เน้นที่ความเป็นมนุษย์ เป็นธรรมะเดียวกันกับของพระพุทธเจ้า เพื่อสุขภาพใจดีสำหรับมนุษย์ทุกคน

GM: แสดงให้เห็นว่าศาสนามีรูปแบบที่หลากหลายมากเลยใช่ไหม

อ.มิตซูโอะ : ที่เล่าๆ มานี่ คือเรากำลังพูดถึงเรื่องเปลือกภายนอกนะ แต่ถ้าพูดถึงพุทธศาสนาจริงๆ สิ่งที่ควรจะเป็นเหมือนกัน คือ อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค วิธีปฏิบัติก็มีอริยมรรค มีองค์ 8 ตั้งแต่สัมมาทิฐิ ถึงสัมมาสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา หัวใจของพุทธศาสนาเหมือนกัน เอาไปสอนที่ไหนก็ไม่ผิด หัวใจเราเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนิกายไหน ไม่ว่าจะแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม เราทุกคนต้องการความสุขกันทั้งนั้น

เราเคยเป็นพระที่มีชื่อเสียง กราฟกำลังพุ่งขึ้นๆ ตอนนี้เราสุดๆ ยอดๆ แล้ว แต่พอจู่ๆ ก็ลาสิกขา ถอดจีวรนี้ออกมาเมื่อไร มันก็คือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถ้าไม่สึกเลยตลอดชีวิต อาจารย์ก็สบาย

ถ้าอาจารย์เคลียร์ตัวเองได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับพุทธศาสนาโดยรวมด้วย ข่าวสารทุกอย่างในวันนี้ มันเป็นโทษของโซเชียล-เน็ตเวิร์กในไทยและต่างประเทศมีความขัดแย้งกัน

เพิ่มมากขึ้น

สีลัพพตปรามาส

(บาลี : สีลพฺพตปรามาส)

หมายความถึง ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และศีลพรต จนถือตนประเสริฐ เป็นเหตุให้ละเลยการปฏิบัติทางด้านจิตใจหรือการใช้ปัญญาเพื่อหลุดพ้น จัดเป็นความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ