fbpx

คำ ผกา ผู้หญิงปากกัด ตีนถีบ

0. ความป่วยไข้

วลา : 08.30 น.

อุณหภูมิ : 24 องศาเซลเซียสเชียงใหม่เช้านี้อากาศดีกว่าที่เราคิดไว้มาก ผิดกับ คำ ผกา เธอสะบักสะบอมจากอาการไข้หวัดกะทันหัน เมื่อคืนเราได้รับแจ้งข่าวจากเธอว่า เธอหลับไม่รู้สมประดีไปนานกว่า 14 ชั่วโมงเต็มๆ พวกเราได้แต่หวังว่า วันนี้เธอคงมีแรงมากพอที่จะลุกมาเปิดประตูต้อนรับและชวนเราคุยในบ้านของเธอได้สองเดือนที่ผ่านมา บทความหลายชิ้นของ คำ ผกา ที่ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์กลายเป็นประเด็นโต้เถียงกันในวงสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ อย่างตรงไปตรงมา (หรือเรียกง่ายๆ ตามภาษาของ คำ ผกา ว่า ‘ด่า’) อีกทั้งการเลือกข้างอย่างชัดเจนของเธอในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่ผู้คนตั้งคำถามกับผู้หญิงคนนี้เป็นอย่างมากว่า ทำไมเธอถึงเลือกใช้ ‘ปาก(กา)กัด’ ผู้คน และเลือกใช้ท่าทีเสมือนนางร้ายที่ใช้ ‘ตีนถีบ’ คนอื่นอยู่เสมอ

GM ก็สงสัยอย่างนั้น เพราะในฐานะที่ คำ ผกา เป็น ‘คนคุ้นเคย’ (ถ้าจำกันได้ เธอเคยมาฮือฮาเป็นปกนู้ดให้กับ GM PLUS เมื่อหลายปีก่อน) เราจึงพูดได้เต็มปากอย่างมีฉันทาคติต่อเธอว่า เมื่อพบหน้ากัน เธอเป็นคนที่น่ารัก อัธยาศัยดี และหากใครตามอ่านงานเขียนของเธอ คงรู้ว่าเธอเป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีผลงานหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องท่องเที่ยว ไปจนถึงเรื่องหนักๆ อย่างเช่น เรื่องวัฒนธรรม สังคม และการเมือง

ว่าแต่ ณ ขณะนาทีที่ความขัดแย้งในสังคมไทยมาถึงขีดสุด – ตัวตนที่แท้จริงของ คำ ผกา เป็นอย่างไรกันแน่ ?

ลักขณา ปันวิชัย (ชื่อจริงของเธอ) จะน่ารักเหมือน ฮิมิโตะ ณ เกียวโต (นามปากกาที่เขียนเรื่องน่ารักอย่าง ‘จดหมายจากเกียวโต’ หรือในปัจจุบันเธอใช้นามปากกานี้เขียนคอลัมน์ ‘รักตกขอบ’ ในนิตยสาร ‘ดิฉัน’) หรือก๋ากั่นไม่กลัวใครแบบ คำ ผกา (ติดตามได้ใน ‘มติชนสุดสัปดาห์’) เกือบหนึ่งวันเต็ม นับจากเวลา 08.30 น. เราจะได้รู้จักแง่มุมต่างๆ ของผู้หญิงคนนี้ผ่านเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเธอ พร้อมความร้อนแรงของอุณหภูมิและบทสนทนาที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆเราเชื่อว่าคุณอาจจะ ‘เห็น’ ผู้หญิงคนนี้รอบด้านกว่าตัวหนังสือด้านเดียวที่คุณเห็นอยู่ทุกสัปดาห์ก็เป็นได้

“วันที่ตัดสินใจว่าแขกจะเป็นสีแดง น่าจะเป็นตอนที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบ สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ถูกปลดออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และคุณอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นนายกฯ”

1. ชีวิต โยคะ และเวลาของความทรงจำ

เวลา : 09.12 น.

อุณหภูมิ : 24.6 องศาเซลเซียส

เสียงไอดังมาแต่ไกล ก่อนที่เราจะเห็นตัวเธอด้วยซ้ำ นั่นเป็นหลักฐานที่หลงเหลืออยู่เล็กๆ น้อยๆ ของอาการหวัดกะทันหันของเธอ แต่เช้านี้เธอยังดูสดใสแม้จะบ่นกับพวกเราว่า สมองเธอยังตื้อและลิ้นไม่รู้รส มาตั้งแต่เมื่อวานผ่านไปหลายนาที เธอยังคงไออยู่ จนเรากลัวว่า เราจะติดหวัดจากเธอหรือเปล่า แน่นอน, เราไม่ลืมจำแก้วใส่น้ำของเราเพื่อไม่ให้สับสนกับแก้วของ คำ ผกา เรานั่งคุยกันที่โต๊ะทำงานในบ้านที่เธอใช้งานอยู่ทุกบ่าย เธอบอกว่าชีวิตปกติของเธอตื่นมาก็จะทำงานบ้านก่อนที่จะเริ่มทำงานเขียน ไม่ก็ไปโยคะ แต่เช้านี้เธอวางไม้กวาด แล้วเริ่มคุยกับเราก่อน

GM : ชีวิตของคุณทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

คำ ผกา : ยากมากเลย เพราะปกติแล้ว เราจะไม่มานั่งมองชีวิตของตัวเองว่าเป็นอย่างไร ทุกอย่างทำตามเคยชิน แต่จริงๆ ชีวิตไม่มีอะไรเลยค่ะ ก็อยู่บ้าน ตื่นมาทำงานบ้าน เขียนหนังสือ ชีวิตประจำวันจริงๆ ค่อนข้างตายตัวและคาดเดาได้ อังคาร พฤหัสฯ เสาร์ อาทิตย์ ไปเรียนโยคะตอนเช้า ที่เหลือก็คือ ตื่นขึ้นมาก็ทำความสะอาดบ้าน ทำกับข้าว เสร็จแล้วก็มานั่งอ่านหนังสือ เพื่อที่จะเขียนต้นฉบับ แค่นี้เอง ไม่มีอะไรมากกว่านี้

GM : ไม่เคยรู้มาก่อนว่าคุณเรียนโยคะ

คำ ผกา : จริงๆ เริ่มจากเราอยากเป็นคนแข็งแรงนะ ไม่ได้อยากเป็นหญิงแก่ๆ ท้องแขนห้อยๆ เคยเห็นผู้หญิงผอมๆ อายุ 40 ใส่เสื้อผ้ารัดๆ แล้วมันเห็นคอเป็นชั้นๆ แขนห้อยๆ

เราไม่อยากเป็นอย่างนั้น ก็เลยไปเรียนโยคะ เพราะเราไม่ชอบออกกำลังกาย ไม่ชอบวิ่ง ไม่ชอบอะไรที่กระโดดโลดเต้น ทำอะไรโลดโผน ชอบช้าๆ เนิบๆ แบบนี้ก็เลยถูกจริต ตอนนี้เรียนมาก็สามสี่ปีแล้ว กลายเป็นว่าตอนนี้เรียกได้ว่า คำ ผกา obsess (หลงใหล) กับโยคะไปแล้วเรียบร้อย

GM : ทุกวันนี้คุณทำแต่งานเขียนเพียงอย่างเดียวหรือ ไม่มีอาชีพอื่น มันเพียงพอกับการเลี้ยงดูตัวเองไหม

คำ ผกา : เข้าใจว่าที่อยู่ได้เพราะว่าเรามีต้นทุนที่ได้เปรียบจากบรรพบุรุษ แขกหมายถึงว่าถ้าไม่มีที่ดินที่เป็นมรดกก็คงปลูกบ้าน ไม่ได้

(กระนั้นก็ตามเธอยืนยันกับเราว่า เธอใช้เงินน้อยมากในการปลูกบ้าน เพราะมีไม้จากบ้านเก่ามาเป็นส่วนประกอบเสียมาก) ไม่ต้องส่งน้องเรียนหนังสือ ไม่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่บางคนถ้ามีภาระอะไรแบบนี้ การอยู่ด้วยอาชีพอิสระอย่างเรา ก็อาจลำบาก พ่อแม่ก็ดูแลตัวเองได้ น้องก็ไม่ได้มาพึ่งพาเรา เพราะฉะนั้นการที่เราดูแลแค่ลำพังตัวเรา การเป็นฟรีแลนซ์มันก็อยู่ได้ แต่ถ้ามีลูกสองคน เรียนโรงเรียนนานาชาติก็คงไม่ไหว

GM : คำ ผกาในวัยเด็กต่างจากที่เห็นตอนนี้มากไหม

คำ ผกา : ก็เป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งค่ะ เรียนก็ไม่ได้เก่งมากนัก ไม่ค่อยรู้จักอะไร สอบเทียบก็ไม่รู้จัก เด็กเชียงใหม่สมัยนั้นไม่รู้จัก ก็เรียนไปตามปกติ จุฬงจุฬาฯ เรายังไม่รู้จักเลย ไม่รู้ด้วยว่าสุดยอดมหาวิทยาลัยของไทยต้องจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ไม่รู้เรื่อง เด็กดาราฯ (โรงเรียนดาราวิทยาลัย) อย่างเรารู้จักแค่ว่า มช. ในแวดวงสังคมเพื่อนๆ ที่คบกันก็ไม่มีใครสนใจว่าจะต้องไปธรรมศาสตร์ จุฬาฯ ไม่มีใครพูดถึง

GM : แล้วทำไมคุณถึงสนใจเลือกเรียนประวัติศาสตร์หรือว่าเป็นอุบัติเหตุทางการศึกษา

คำ ผกา : ไม่เชิงอย่างนั้นเสียทีเดียว จริงๆ แล้วอยากเรียนละคร ชอบอะไรดราม่าๆ แต่ไม่รู้จักอีก รู้แค่ว่าอยากเล่นละคร อยากเขียนบทละคร แต่ความที่เป็นเด็กบ้านนอก ก็ไม่รู้จักว่ามีวิชาละครแบบนี้ แต่มาคิดอีกว่าถ้าเรียนละครจริงๆ จบมาเราจะไปทำมาหากินอะไร ตอนนั้นไม่มีใครมาบอกเราอีก งั้นก็เอาที่ใกล้เคียงอีกหน่อยคือสื่อสารมวลชน แต่ตอนนั้นเท่าที่เห็นก็ดูมันจะเป็นเรื่องเทคนิคเกินไปหรือเปล่า ก็เลยมาลองดูว่าเรียนรัฐศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ดี ก็ชั่งใจอยู่ระหว่างสองอย่างนี้ แต่พอมาดูรัฐศาสตร์ก็มาคิดว่ามันจะแข็งกับเราไปไหม เป็นทฤษฎี เรื่องการเมืองการปกครอง เลยเรียนประวัติศาสตร์น่าจะมีชีวิตชีวากว่า

GM : แล้วเป็นอย่างที่คิดไหม

คำ ผกา : เป็นเหนือกว่าที่คิด เพราะสมัยที่เรียนมัธยมเราจะรู้เรื่องประวัติศาสตร์แบบสำเร็จรูป คือมีคนเขียนประวัติศาสตร์ให้เราอ่าน ให้เราท่องจำแล้วก็ไปสอบ แต่พอเข้าไปเรียนประวัติ- ศาสตร์ เราถึงได้รู้จักเรื่องของประวัติศาสตร์นิพนธ์ ขั้นตอนการเขียนประวัติศาสตร์ การเขียนประวัติศาสตร์มันก็มีหลายสกุล มีหลายวิธี เรียกว่ากว่าจะพัฒนามาเป็นประวัติศาสตร์ มันมีที่มา พูดได้ว่าการเรียนประวัติศาสตร์มันเป็นการเรียน ‘การเขียน’ ประวัติศาสตร์มากกว่า คราวนี้มันก็เลยสนุกเพราะเรารู้ว่าการจัดการกับอดีตของมนุษย์มันมีหลายวิธี แล้วมันก็มีเหตุผลด้วยว่า ทำไมคนเราจัดการกับอดีตแบบนั้นแบบนี้ หรือความอยากรู้อยากเห็นในอดีตของเรา มันอยู่บนฐานของอะไรบ้าง เรียกว่าเปลี่ยนโลกการรับรู้ของเราไปเลย พูดได้ว่างานที่เขียนอยู่ทุกวันนี้ จริงๆ ก็น่าจะมีพื้นมาจากการเรียนประวัติศาสตร์นั่นล่ะ

GM : แต่พอเรียนจบไม่นาน ก็กระโดดจากเชียงใหม่ไปญี่ปุ่น

คำ ผกา : ใช่ (หัวเราะ) ชีวิตไม่ได้ผ่านกรุงเทพฯ ยังไม่เคยใช้ชีวิตกรุงเทพฯ แต่ไปเกียวโต ก็เหมือนเชียงใหม่นะ ปั่นจักรยานได้ มีทุ่งนา มีวัด แต่ถัดจากทุ่งนาจากวัดก็จะเป็นร้านช็อกโกแลตโกดีว่า เป็นทากาชิมายา เป็นร้านหลุยส์ วิตตอง อะไรแบบนั้นเลย เมืองมันเล็กๆ มันไม่ได้มีจังหวะอะไรที่กระชากเราเข้าไปอยู่ในเมืองใหญ่ เกียวโตเป็นเมืองเล็กมีความเงียบสงบเท่าๆ กับที่ชานเมืองเชียงใหม่มีเลย เพียงแต่ว่ามันมีความทันสมัยอยู่ด้วย แต่มันไม่ใช่ความทันสมัย ที่อึกทึกเหมือนกรุงเทพฯ เช่นว่าคนจะไปซื้อกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง ก็ยังปั่นจักรยานไป ไปซื้อแหวนเพชรก็ปั่นจักรยานไป พูดง่ายๆ คือ เกียวโตไม่ใช่เมืองแบบ Metropolitan

ถึงบอกว่าอนาคตของแขกเป็นเรื่องวันต่อวัน ตอนที่เรียนจบก็เหมือนนักศึกษาทั่วไปที่ต้องหางานทำ ได้งานเป็นนักข่าววิทยุ อสมท แต่งานนักข่าวในต่างจังหวัดไม่มีอะไรท้าทาย วันๆ มีหมายอะไรมาก็ไป ส่วนใหญ่เป็นการแถลงข่าว เรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่นักข่าว นี่เป็นแมสเซนเจอร์ คือไปฟังเขาพูดอะไรมาแล้วก็ถ่ายทอด เขียนออกมาไม่เกิน 5 บรรทัด รู้สึกไม่ชอบเลย ไม่ชอบการที่จะต้องวิ่งตามใคร ข่าวก็ไม่ได้น่าสนใจ แล้วเงินเดือน น้อยมาก เราจบปริญญาตรีให้เงินเดือน 4,500 บาท ทำอยู่ 3 เดือน ครูใหญ่ที่โรงเรียนดารารัศมีโทรฯมาตามให้ไปสอนสังคมศาสตร์แทนครูคนเก่าที่ลาออกไปแต่งงาน ระหว่างไปสอนหนังสือก็มีคนบอกว่ามีทุนของรัฐบาลญี่ปุ่น ทุนมอนบุโช

ตอนนั้นคุยกับอาจารย์ที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ไว้เหมือนกันว่าอยากเรียนปริญญาโท แต่มีอาจารย์แนะนำว่าถ้าจะเรียนต่อปริญญาโท อย่ามาเรียนที่เดิมเลย ไปหาอะไรใหม่ๆ จากอาจารย์ท่านอื่นบ้าง ไม่ใช่อยู่แต่ในสคูลเดิม วิธีความคิดเดิมๆ ฉะนั้นถ้าจะให้เรียนปริญญาโทที่ มช. อาจารย์ก็ไม่แนะนำ คือควรจะได้เปิดโลกทัศน์บ้าง เราก็ไปสมัคร ไปสอบแล้วก็ได้

GM : ทราบว่าคุณไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเกียวโต โดยมีอาจารย์ทามาดะ โยชิฟูมิ ซึ่งเพิ่งมาบรรยายที่เมืองไทยเป็นที่ปรึกษา อยากให้คุณเล่าถึงการเรียนและตัวอาจารย์ให้ฟังหน่อย

คำ ผกา : แขกไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ไปเรียนในส่วนที่เป็น Graduate School ส่วนที่เป็นเรื่องของ Southeast Asian Studies ที่เรียนเพราะรู้ดีอยู่เรื่องเดียว และอ่านภาษาอื่นไม่ออก ก็ต้องไปเรียนเกี่ยวกับเรื่องไทย ก็ต้องไปหาอาจารย์ที่ทำวิจัยเรื่องไทยในขอบข่ายของการศึกษา Southeast Asian Studies เลยเป็นที่มาทำให้เจออาจารย์ทามาดะ ซึ่งเป็นคนที่เข้ามา ศึกษาเรื่องการเมืองไทยอย่างต่อเนื่องและยาวนานคนหนึ่ง

ก่อนหน้านั้น แขกไม่รู้จักอาจารย์หรอกค่ะ รู้จักผ่านงานของอาจารย์ที่ชื่อ ‘อิทธิพลกับอำนาจ’ ที่พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ แปล เผอิญเราสนใจอยากจะทำเรื่องชาตินิยมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับที่อาจารย์สนใจ ทีนี้อาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เลยแนะนำว่าหากสนใจเรื่องชาตินิยมให้ลองไปคุยกับอาจารย์ทามาดะ

GM : ทำไมคุณถึงสนใจเรื่องชาตินิยม

คำ ผกา : ต้องย้อนกลับไปสมัยเรียนประวัติศาสตร์ที่ มช. ตอนนั้นเราอยู่ในกระแสที่มีคนพูดถึงเรื่องของความเป็นชาติมันจะหายไป คนไทยเริ่มรู้จักคำว่าโลกาภิวัตน์ใหม่ๆ ประมาณปี 2538-2539 มีคนพูดกันมากเรื่องการข้ามรัฐ ลอดรัฐ การจะไม่มีชาติอีกต่อไป พลังของความเป็นชาติจะหายไป ตอนนั้นสำหรับแขกคิดว่าเป็นเรื่องดีที่จะไม่มีชาติ เพราะรู้สึกว่าชาติมันเป็นเครื่องมือในการครอบงำคน อย่างสมมุติว่าบอกให้ประชาชนไปตายเพื่อชาติ สำหรับแขก ณ เวลานั้น รู้สึกว่ามันไม่แฟร์ว่าทำไมต้องตายเพื่อชาติ ชาติคืออะไร ทำไมชาติถึงกลายเป็นข้ออ้างในการทำอะไรหลายอย่าง เลยสนใจว่าชาตินิยมของไทยสร้างมาได้อย่างไร และมีพัฒนาการมาอย่างไร

2. ช้อปปิ้ง ทุนนิยม และความงาม

เวลา : 10.08 น.

อุณหภูมิ : 26.7 องศาเซลเซียส

GM : รู้มาว่า คำ ผกา ชอบการช้อปปิ้ง

คำ ผกา : โอย…ชอบมากกกก (ลากเสียงยาว) ที่สุด! เป็นคนชอบซื้อเสื้อผ้า รองเท้า เราก็เป็นผู้หญิงทั่วไปคนหนึ่ง ไม่มีอะไรแตกต่างจากผู้หญิงคนอื่นๆ เลย ชอบ แต่ไม่มีแบรนด์ เนมเลยเพราะมันซื้อไม่ไหว แล้วก็ไม่ได้อยากได้ เพราะมันไม่ใช่วิถีชีวิตเรา คือการที่คนจะใส่แบรนด์เนม มันก็ต้องมีวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง ต้องมีปาร์ตี้ให้ไป มีคนที่ใส่แบรนด์เหมือนกันไปเจอกัน มีประชุม มีงานที่คุ้มพอที่จะซื้อใส่ แต่นี่เราปั่นจักรยาน นั่งสี่ล้อแดง จะใส่แบรนด์ก็ดูตลก แล้วเพื่อนก็ไม่ใส่กัน ใส่ไปก็แปลกแยกกับเพื่อนอยู่ดี ไม่มีใครเก็ตกับเรา ไม่มีใครรู้ว่าคืออะไร รองเท้าแบบส้นสูงมากๆ ต้องเดินบนพื้นอีกแบบ เดินบนพรมไม่กี่ก้าวก็นั่งลีมูซีนต่ออะไรแบบนั้น ซึ่งไม่ใช่ชีวิตประจำวัน ส่วนมากเสื้อผ้าของแขกจะซื้อร้านของที่เป็น Local Designer เป็นช่างในเชียงใหม่ ไม่มีแบรนด์ แต่ว่าออกแบบเองอย่างร้าน ‘เชียงใหม่คอตตอน’ ซึ่งเป็นร้านเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน

‘คำ ผกา’ มาจากไหน

“เริ่มเขียนตอนที่เราเรียนอยู่ปริญญาเอกปี 2 กลับมาเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ที่เมืองไทย ไปกินข้าวกับอาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา มื้อนั้นพี่ตู่แนะนำให้รู้จักกับพี่รุ่งเรือง ปรีชากุล บ.ก. สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ก็นั่งคุยกัน พี่รุ่งเรืองถามแขกว่าทำอะไรอยู่ เราก็เล่าให้เขาฟัง พี่รุ่งเรืองบอกว่าเล่าสนุก ทำไมไม่ลองเขียนดู ‘เขียนเหมือนที่เล่าให้ฟังนี่ละ’

“พอกลับไปเกียวโตก็มานั่งคิดว่า เรายังไม่ได้เริ่มเขียนวิทยานิพนธ์แม้แต่หน้าเดียว เริ่มคิดว่าตายห่า ถ้าทุนหมดแล้วต้องกลับเมืองไทย เราจะทำอะไร เพราะวุฒิปริญญาโทคงเป็นอาจารย์ไม่ได้ เป็นนักเขียนก็ท่าจะดีนะ เลยลองเขียนเรื่อง ‘จดหมายจากเกียวโต’ ส่งไปที่สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปรากฏว่าพี่รุ่งเรืองชอบ ก็ได้ลง ไม่นานก็มีคนติดตาม

คนเขียนจดหมายมาเต็มเลยที่สยามรัฐ เราก็ฮึกเหิมเลยคราวนี้ เลยเขียนมาเรื่อยๆ ต่อมาตอนนั้นอ่านนิยายมาก เพราะจะทำวิทยานิพนธ์เรื่องนิยาย เลยมีความคิดว่าอยากวิจารณ์นิยายท่าจะสนุก ก็คิดว่าจะใช้ชื่อคอลัมน์ว่าอะไรดี ตอนนั้นมีแวบๆ มาในหัวว่า ‘กระทู้ดอกทอง’ ก็เลยใช้ แล้วจะใช้นามปากกาว่าอะไรล่ะ ‘ฮิมิโตะ ณ เกียวโต’ ที่ใช้อยู่ก็ไม่ได้แน่ๆ เพราะมันดูน่ารักไป เราอยากจะเขียนวิจารณ์แบบ bitch แล้วถ้า bitch ในภาษาไทยจะเป็นอะไร ก็น่าจะเป็นดอกทอง แล้วนามปากกาล่ะ ก็มาลงตัวที่ ‘คำ ผกา’ สรุปคือช่วงนั้นเรามีคอลัมน์สองคอลัมน์พร้อมกันเลยในสยามรัฐ ซึ่งคนอ่านไม่มีใครรู้ว่าเป็นคนเขียนคนเดียวกัน”

GM : รายได้กับรายรับทำให้ผู้หญิงมีความสามารถพิเศษในการจัดการเงินเพื่อช้อปปิ้ง คำ ผกา มีวิธีอย่างไร

คำ ผกา : ไม่ได้จัดการอะไรมาก อย่างปีที่แล้วก็งดฉีดปลวกที่บ้านเพราะเอาเงินไปช้อปปิ้งหมด (หัวเราะ)

GM : คิดว่าคำว่า ‘ช้อปปิ้ง’ ของคำ ผกา เหมือนช้อปปิ้ง ของผู้หญิงคนอื่นๆ ไหม

คำ ผกา : อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เราไม่ชอบซื้อของแพงแต่ชอบเดินห้างนะ ชอบดูรองเท้าสวยๆ แต่ห้างที่เรามีที่นี่ก็ไม่มีรสนิยมเลย เหมือนตลาดนัด ดิฉันอยากมีห้างแบบอิเซตันในเกียวโต เปิดเพลงคลาสสิกให้เดินเย็นๆ เงียบๆ อยากเดินดูของแบรนด์เนม คือถึงแม้ว่าไม่มีปัญญาซื้อของแบรนด์เนม แต่ชอบดูนะ ชอบเดินในร้านปราด้า ชาแนล ไม่มีปัญญาซื้อ

แต่เป็นการศึกษา เราก็อยากรู้นะว่าของดีๆ มันคืออะไร คือแขกไม่ได้มองว่าของเหล่านี้ฟุ่มเฟือย แต่มองว่ามันเป็นศิลปะ เราไม่มีเงินซื้อก็ไม่ใช่ความผิดของแบรนด์และไม่ใช่ความผิดของเรา เหมือนเราชื่นชมงานของแวนโก๊ะห์ เราคงไม่มีปัญญาซื้อมาติดบ้าน แขกก็ไม่มีปัญญาซื้อชาแนลใช้ แต่มันไม่ได้หมายความว่านี่ผิดปกติ เราไม่มีเงินซื้อไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีโอกาสชื่นชม ฉะนั้นก็อยากเห็นนะของสวยๆ งามๆ สินค้าดีๆ มีห้างสวยๆ ไม่ได้อยากเห็นแต่ภูเขา ทุ่งนาตลอดเวลา

GM : เคยนึกไหมว่า เวลาช้อปปิ้ง คุณกำลังทำสิ่งที่ขัดแย้งกับงานเขียนที่ต่อสู้เรื่องชนชั้นและความเท่าเทียม

คำ ผกา : ไม่รู้สึกเลย การต่อสู้ของเราไม่ได้ต่อสู้แบบขุดดินกินหญ้า จริงๆ แขกโปรทุนนิยมมาตลอด โปรประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม คือเราไม่เอาแบบเศรษฐกิจพอเพียง ฉะนั้นการ satire ของเราไม่ได้เป็นการบอกให้เรากลับไปอยู่แบบชนบท แขกไม่เอาแบบนั้น แขกผ่านชีวิตเด็กบ้านนอกที่ขี้กันอยู่กลางทุ่งมาแล้ว ชั้นขอใช้ชักโครกบ้างได้ไหม คืออย่ามาบอกว่า ชาวบ้านต้องมีชีวิตอยู่เหมือนเดิม สิ่งหนึ่งที่เราควรมีก็คือสิทธิในการ

เข้าถึงการบริโภคอย่างเท่าเทียมกัน แล้วทำอย่างไรเราถึงจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีสิทธิในการบริโภคได้อย่างน้อยก็ใกล้เคียงกัน ไม่ใช่ว่าคุณมีอ่างจากุซซี่ แต่อีกคนใช้ส้วมหลุม เราไม่เคยบอกว่าเราไม่เอาช้อปปิ้ง แต่การที่เราเขียนถึงเรื่องของการช้อปปิ้ง ผิวสวยหน้าใส เราพยายามจะถอดรหัสวัฒนธรรม แต่ไม่ได้บอกว่าเราจะไม่เอาระบบทุนนิยมนะ ตรงข้าม เราส่งเสริมมากเลย แขกจะต่อต้านมากกับพวกที่บอกว่าเราไม่เอาทุนนิยม ไม่เอาโลกาภิวัตน์ จะบ้าเหรอ คุณอยู่ในโลกแบบนี้คุณไม่เอาทุนนิยม แล้วคุณจะอยู่ได้ยังไง

ชีวิตสุขสงบร่มเย็นแบบชนบท คนที่ทำนาแล้วจะอยู่ได้ต้องนามสกุลเตชะไพบูลย์ แบบคุณวิลิต ถึงจะอยู่ได้ ชีวิตชาวนาจริงๆ มันลำบากมาก แล้วทำไมเขาจะไม่อยากให้ลูกของเขาเป็นวิศวกร ทำไมเขาจะไม่อยากให้ลูกเขาเป็นหมอล่ะ แล้วการศึกษามันต้องใช้เงินไม่ใช่หรือ จะให้เขาทำการเกษตรแบบไม่ใช้เงิน มันเป็นไปได้ยังไง คุณจะให้เขาทำการเกษตรแบบวันนี้จับปลาดุก มาปิ้งกิน อีกวันจับไก่ที่เลี้ยงมาฆ่ากิน เห็นไหมไม่มีเงินก็อยู่ได้ ก็โอเค ถ้าแค่กินก็อยู่ได้ แต่ว่าถ้าอยากส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยล่ะ

ล่าสุดมีคนมาบอกว่าดูสิเชียงใหม่เปลี่ยนไป ไม่มีมิตรจิตมิตรใจเหมือนก่อนแล้ว คนเชียงใหม่เมื่อก่อนมีหม้อน้ำอยู่หน้าบ้าน ให้ทานเป็นน้ำเป็นบุญแก่คนเดินทางที่เหนื่อย ทำไมเดี๋ยวนี้คนเชียงใหม่ไม่มีหม้อน้ำอยู่หน้าบ้าน คุณจะบ้ารึเปล่า หวัด 2009 ระบาดขนาดนี้ มึงจะให้คนกินกระบวยเดียวกันเหรอ คือโลกมันเปลี่ยนไป เราก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง แขกนี่ละที่อยากเห็นเชียงใหม่เปลี่ยน อยากเห็นเชียงใหม่ทันสมัย อยากเห็นเชียงใหม่มีการพัฒนาทางวัตถุมากกว่านี้ มีคอนเสิร์ตฮอลล์ดีๆ มีพิพิธภัณฑ์ดีๆ อยากมีไหมล่ะ อยากให้เชียงใหม่มีรถไฟใต้ดิน มีระบบขนส่งมวลชนที่ดี คือถ้าคุณจะพัฒนา มันก็ต้องพัฒนาไปให้ถึงที่สุด ไม่ใช่ว่าจะเดินหน้าก็ห่วงข้างหลัง จะเก็บข้างหลังไว้ ก็เดินหน้าไปไม่ได้

บางทีความเป็นชนบทก็เป็นแค่วาทกรรมที่บอกว่า ชีวิตชนบทโอบอ้อมอารีสวยงาม

คือท้ายที่สุดคุณก็อยากจะ preserve ให้ชีวิตชนบทเป็นเหมือนสัตว์เลี้ยง เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต คุณนอนแช่จากุซซี่ แล้วมาเดินท่อมๆ ดู

ชาวบ้านปลูกผัก ใช้ส้วมหลุม เห็นแล้วน่ารัก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มันไม่ใช่ จะวัตถุนิยมก็วัตถุนิยมไปเลย ไม่ต้องมากั๊ก

GM : แต่คุณก็พูดเรื่องความเฟคของเชียงใหม่ด้วย

คำ ผกา : ก็เป็นเรื่องธรรมดา เราก็จิกกัดมันด้วยความสนุกสนานนะ แต่ถามว่าแขกจะไปห้ามอะไรไหม แขกก็ไม่ห้าม เพราะแขกคิดว่าเมืองก็เปลี่ยนไปตามคนที่มาอยู่ มันก็ต้องมีพลวัตของมันเอง ใครจะใส่รองเท้าบู๊ต

มาเดิน เราก็กัดขำๆ แต่ถามว่าเราจะไปห้ามไหม เราก็ไม่ห้ามไง เพราะมันเป็นจริตของคนเหล่านั้น

GM : เรื่องความสวยความงามล่ะ คุณสนใจเรื่องแบบนี้ไหม

คำ ผกา : เยอะค่ะ ดิฉันทำทรีตเมนต์ทุกเดือนนะคะ ดึงหน้า ลบร่องแก้ม ตามประสาผู้หญิง

GM : คำ ผกา กลัวแก่หรือ

คำ ผกา : ไม่กลัวแก่นะ แต่ไม่อยากแก่แบบเยินๆ แบบดูไม่ดี อ้วนๆ เผละๆ ไม่แข็งแรง ไม่อยากแก่แล้วป่วยกระเสาะกระแสะ เดินไม่ไหว วิ่งไม่ไหว อยากแข็งแรง สดชื่น นั่นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราไปเรียนโยคะ

แขกโปรประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ฉะนั้นการ satire ของเราไม่ได้เป็นการบอกให้เรากลับไปอยู่แบบชนบท แขกผ่านชีวิตเด็กบ้านนอก

ที่ขี้กันอยู่กลางทุ่งมาแล้ว ชั้นขอใช้ชักโครกบ้างได้ไหม

3. ศาสนา ความกลัว

ความรัก และเรื่องบนเตียง

เวลา : 11.02 น.

อุณหภูมิ : 29.5 องศาเซลเซียส

GM : คำ ผกา มีศาสนาไหม

คำผกา : ไม่มีค่ะ (ตอบทันที) ไม่ได้เชื่อหรือศรัทธาในคำสอนของศาสนาใดๆ เลย แต่ไม่ได้มองว่าศาสนาไม่ดีนะคะ ศาสนา

ก็มีฟังก์ชันทางสังคมของมันอยู่ เช่น เป็นสถาบันหนึ่งในสังคม ในฐานะที่เป็น charity สำหรับช่วยคนยากจนหรือคนด้อยโอกาส หรือการ mobilize คน มองในแง่นั้นมากกว่า แต่แขกไม่ได้มองในแง่ของจิตวิญญาณ ศาสนาเป็นเหมือน NGO

GM : แล้วความดีงามมีอยู่จริงไหม คุณเคยบอกว่า ความดีเป็นอัตวิสัย ความดีที่เป็นอัตวิสัยของคุณคืออะไร

คำ ผกา : ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีลูก เราก็ต้องเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกมันเป็นความดีงาม แต่บางเผ่า ในแอฟริกา จับลูกโยนออกมาจากบ้านตั้งแต่ 3 ขวบ ที่รอด

ก็รอด ที่ไม่รอดก็ถือว่าไม่มีความพร้อมในการดำเนินชีวิต อันนี้ที่พยายามจะอธิบาย ฉะนั้นเราก็ดีอยู่ในมาตรฐาน ในบรรทัด-ฐานของสังคมของเรา แขกก็อยู่ในบรรทัดฐานของสังคมไทย พ่อแม่เรา เราก็ต้องเลี้ยงดู เราก็ต้องกตัญญู ก็เป็นความดีพื้นๆ เหมือนที่เรามีๆ กันนี่ละ

GM : แต่ไม่มีห้วงขณะที่จิตนิ่งแล้วเกิดสว่างวาบซาโตริอะไรอย่างนี้เลย แม้แต่ในช่วงทำอาหารหรือเขียนหนังสือ ?

คำ ผกา : ไม่มีเลย อย่างทำขนมก็มีแต่ลุ้นว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร ทำขนมก็ทำขนม เขียนหนังสือก็เขียนหนังสือ

อยู่กับประเด็นที่เขียน มีสมาธิกับเรื่องที่เขียนก็เท่านั้น แขกคิดแค่ว่าก่อนเกิดเราเป็นอะไรก็ไม่รู้ พอตายเราก็จะเป็นอะไรก็ไม่รู้ คือถ้ามันจะเป็นอะไรก็ให้มันเป็น ก็อยู่ไปเหอะ แต่แขกมองแค่นี้เองว่า เคารพในสิทธิของคนอื่น ไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น ละเมิดได้บ้างแล้วก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้นะ (หัวเราะ)

GM : คุณกลัวอะไรมากที่สุด

คำ ผกา : ตอนนี้กลัวโดนจับจากอำนาจรัฐอย่างเดียวเลย กลัวโดนจับแบบ ดา ตอร์ปิโด แบบสุวิชา ท่าค้อ อะไรแบบนี้ กลัวจะถูกพรากจากความเป็นอยู่ที่สุขสบาย

GM : คุณมีโรลโมเดลของตัวเองไหม

คำ ผกา : ไม่มีค่ะ แขกว่าอันตรายนะ ในโลกนี้ไม่ควรมีใครเป็นโรลโมเดลให้ใคร คนทุกคนมีจุดด้อยจุดแข็งของตัวเอง

ทั้งนั้น การที่เราไปยึดถือใครเป็นโรลโมเดล เราต้องสงสารคนนั้นนะ เท่ากับเราไปฟรีซเขาไว้ให้มีภาพแบบหนึ่งแล้วเขาก็จะเปลี่ยนไม่ได้เชียวเหรอ เกิดวันพรุ่งนี้เขาอยากทำอะไรชั่วๆ เราก็จะไปผิดหวังเขาอีก ซวยอีก แล้วเขาก็จะบอกว่า ใครบอกให้มึงมายึดถือกูเป็นแบบอย่าง ตราบใดที่คนเรายังไม่ตาย ความคิดของเรามันเปลี่ยนได้ทุกวัน แขกเองก็ยังไม่รู้เลยว่า

ปีหน้าความคิดของแขกจะเปลี่ยนไปยังไง

GM : คำ ผกา เชื่อเรื่องความรักไหม

คำ ผกา : มันก็ต้องมีอยู่แล้วละ ตอนเราเป็นเด็ก เราทุกคนก็เชื่อเรื่องความรักโรแมนติกกันอยู่แล้วใช่ไหม ตอนเราอายุ 15-16 อ่านนิยายก็ชอบฝันถึงเรื่องความรัก แต่ ณ วันนี้ รู้สึกว่า ถ้าสมมุติเรามีความรักให้กับใครสักคน มันมีอายุไม่ยาวหรอก แต่การที่เราเลือกจะอยู่กับใครสักคนหนึ่งเป็นระยะเวลายาวๆ นี่ บางทีมันไม่ใช่ความรักล้วนๆ นะคะ มันเป็นความลงตัวในชีวิต ว่าชีวิตเรากับเขาเข้ากัน เช่น การเงินลงตัวไหม ญาติพี่น้องลงตัวไหม เรื่องหน้าที่การงานลงตัวไหม แขกหมายถึง ปัจจัยภายนอกเมื่อมาอยู่ด้วยกันแล้วมันพอดีกัน เช่น ถ้าสมมุติว่าแขกมีแฟนอยู่คนละประเทศ แล้วไม่มีทางที่จะได้ย้ายประเทศไปอยู่ด้วยกันได้เลย ในระยะเวลาอันสั้น ต่อให้รักแค่ไหนก็คงเลิก เพราะปัจจัยภายนอกมันไม่เอื้อ มันไม่ใช่เรื่องความรักที่อยู่ข้างในอย่างเดียว

GM : ภาพลักษณ์ของคุณในงานเขียนทำให้ผู้ชายขยาด

ที่จะเข้าใกล้คุณไหม

คำ ผกา : คือตัวเองบอกไม่ได้หรอกว่าแรงหรือไม่แรง คงต้องให้คนอื่นมอง

GM : สมมุติมีมาตรวัดความเป็นดอกทอง จาก 0 ถึง 10 คุณน่าจะอยู่ตรงไหน

คำ ผกา : สิบได้เลยนะ (หัวเราะ) คือไอ้การเป็นดอกทอง คนมักจะมองว่า เราต้องไปนอนกับผู้ชายมากมายเยอะแยะ ยอมรับช่วงหนึ่งของชีวิต ตอนอายุสัก 22-27 อันนั้นน่ะเยอะมาก เคยแบบเช้า กลางวัน เย็น คนละคนก็เคย มันเป็นช่วงที่ชีวิตเราต้องการหาคำตอบ อยากรู้ อยากลองไปหมด แต่พอได้ลองจนหมดแล้ว มันก็ถึงจุดที่เรารู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องลองอะไรเยอะขนาดนั้น เพราะรู้หมดแล้ว เดี๋ยวนี้เพื่อนๆ ชอบล้อว่าเป็น สวลี ผกาพันธ์ุ เป็นสาวโบราณ เพราะว่าเราไม่ค่อยเดทกับใคร จะไปเอากับใครนี่ก็คิดเยอะมาก คิดแล้วคิดอีก คือมันเลือกมากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่ากลับมาฉันจะไม่เอาใครแล้ว ก็ไม่ใช่ หรือฉันจะอยู่แบบผัวเดียวเมียเดียวแล้ว ก็ไม่ใช่

GM : คุณคิดว่าตัวเองเป็น feminist ไหม

คำ ผกา : เป็นสิ แต่ไม่ได้ radical ขนาดไปเอาผู้หญิงนะ

GM : แล้วเคยอยากลองไหม

คำ ผกา : ไม่เคยนะ เคยโดนผู้หญิงจับก้นแล้วแบบว่า เสียวว่ะ เสียวแบบว้าย sensual นะ แต่ก็ไม่ได้คิดอยากจะลอง

GM : มีคนสงสัยว่า การแสดงออกว่าเป็นดอกทอง แปลว่า คุณมีปมอะไรอยู่ในใจ ?

คำ ผกา : ไม่รู้จะตอบอย่างไรนะ จริงๆ แขกว่าทุกคนล้วนมีปม แล้วการต่อสู้ทุกอย่างก็เริ่มจากปม คือถ้ามันไม่กดขี่ไม่มีปัญหาก็คงไม่มีการต่อสู้ใช่ไหมล่ะ ถ้าชีวิตมันดีอยู่แล้วเราจะลุกมาต่อสู้ทำไม ยกตัวอย่างง่ายๆ คำถามง่ายๆ ที่ทุกคนต้องเจอว่า ทำไมไม่แต่งงาน นี่ก็เป็นการต่อสู้แบบหนึ่งนะ แขกเองก็ต้องคอยตอบคำถามเหมือนกันว่า ทำไมไม่อยากมีลูก เป็นผู้หญิง ทำไมไม่มีสัญชาตญาณของความเป็นแม่ ทำไมถึงไม่อยากมีหมา พร้อมผู้ชายสักหนึ่งคน

GM : คุณต่อต้านสถาบันครอบครัวไหม

คำ ผกา : ไม่ได้ต่อต้านนะ ใครจะมีความสุขแบบไหน จะมีครอบครัวแบบไหน ก็มีไป แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีครอบครัวแบบที่สังคมเข้าใจจะมีความศักดิ์สิทธิ์กว่าคนที่อยู่ตามลำพัง หรือมีความสุขกว่าครอบครัวของคนที่เป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน จริงๆ ต้องถามต่อไปอีกว่า ครอบครัวเกย์หรือเลสเบี้ยนก็ไม่จำเป็นต้องไปเลียนแบบครอบครัวของคนที่เป็น

heterosexual (รักต่างเพศ) ทำไมเกย์ต้องพยายามมีลูก ทำไมเกย์ต้องไปแต่งงานแบบคู่ชายหญิง กลายเป็นว่าเกย์พยายามไป conform ตัวเองให้เข้ากับพิธีกรรมแบบคู่หญิงชาย ทำไมคุณไม่ไปต่อสู้ในเรื่องของสิทธิทางกฎหมายมากกว่า เช่น การกู้เงิน ทำไมเราไม่สามารถกู้เงินได้ในฐานะที่เป็น partner กัน ในขณะที่คู่ชายหญิงสามารถทำได้ แค่นี้ก็เป็นปมแล้ว

GM : คุณคิดว่าเรื่องไหนเป็นปมใหญ่ในชีวิตมากที่สุด

คำ ผกา : ก็ปมไม่มีผัวนี่ไง ปมที่ไม่มีชายเป็นของตัวเอง (หัวเราะ) พูดเล่นนะ นี่ไม่ใช่ปมของแขกนะ แต่เป็นปมของคนอื่นที่มาตั้งคำถามกับเรา

GM : ที่บอกว่ามีชีวิตเป็นสาวโบราณหรือเลือกมากขึ้นนั้น เป็นเพราะอะไร

คำ ผกา : มันหาผู้ชายดีๆ ที่คุ้มค่ากับร่างกายเรายากมาก ต้องดูว่าผู้ชายมันจะเอาเก่งไหมอะไรแบบนี้ด้วยไง หมายถึงว่ามันคุ้มกับเวลาที่จะนอนด้วยไหม เลือกเยอะ สวยเลือกได้ (หัวเราะ) แล้วบางทีคุยแล้วไม่สนุก คุยแล้วไม่ฉลาด เราก็ไม่อยากไปนอนด้วย

GM : แสดงว่าเรื่องบนเตียงของคำ ผกา มีเรื่องอื่นด้วย

คำ ผกา : มันเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวมากกว่า ที่เราเลือกแล้ว แต่โอเค ตอนสาวๆ อาจจะไม่ค่อยเลือก ตอนนั้นคืออยากรู้ ใครเข้ามาก็เอา เซ็กซ์ก็เหมือนเรากินอาหาร เมื่อก่อนเราอาจอยากกินให้เยอะที่สุด แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าอะไรอร่อย อะไรไม่อร่อย แล้วเราก็ไม่ได้อยากกินมากขนาดนั้นอีกต่อไป คือใครที่แขกนอนด้วยต้องภูมิใจนะว่า qualify แล้ว

GM : แล้วการหาความสุขของตัวเองมีอย่างอื่นอีกไหม

คำ ผกา : มีเพื่อนดีๆ ได้ไปดื่มกินกับเพื่อนนี่ถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งนะ แต่ตอนนี้เลือกดื่มเลือกกินเหมือนเลือกผู้ชาย ไม่อร่อยไม่กิน จริงๆ เราก็สลิ่มมาก ดัดจริตจริงอะไรจริง

4. สีแดง การเมือง และเรื่องพระ

เวลา : 12.25 น.

อุณหภูมิ : 32.5 องศาเซลเซียส

GM : มีคนบอกว่า คำ ผกา ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แรงๆ เพราะว่าอยากดัง

คำ ผกา : ก็ดังอยู่แล้วนะคะ (หัวเราะ) อีกอย่างที่เราทำก็ไม่ได้มีเงินเยอะขึ้นหรือว่ามีงานเขียนมากขึ้น ค่าต้นฉบับก็ยังได้เท่าเดิม ไม่ได้มีงานเขียนเพิ่มมากขึ้น เขียนไปมีแต่คนจะด่ามากกว่า

GM : ไม่กลัวหรือกับการพูดจาแรงๆ แบบนี้

คำ ผกา : ถ้า social sanction (การต่อต้านจากคนในสังคม) ไม่ค่อยกลัวเท่ากับอำนาจรัฐนะ ตอนนี้แขกพบว่ากลัวอำนาจของรัฐมาก มากจนเวลาเขียนต้นฉบับนี่รู้สึกว่า มันยากกว่าเดิมมากเลย

GM : เรื่อง ‘ล่ามแม่มด’ ในเฟซบุ๊คล่ะ รู้มาว่าคุณก็โดนหนักในฐานะที่เป็นแดง

คำ ผกา : ก็โดนมากอยู่ เรียกว่าต้องปิดแอ็คเคานต์ไปเลย ครั้งหนึ่งแขกเขียนเรื่องคนเสื้อแดงในเฟซบุ๊คว่า “นี่ไงการลุกฮือของประชาชน” ก็มีคนมาแสดงความเห็นว่า “การลุกฮือของค_ยมึงสิ มึงอยากเจอค_ย ลุกฮือใส่มึงไหม” อะไรแบบนี้ ถามว่ากลัวไหม ก็เหมือนกับที่บอกไปคือ ไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่นะ ตราบใดที่มันยังอยู่ในขอบเขตของการไม่ใช้ความรุนแรงหรือการทำร้ายร่างกายกัน แต่มันก็มีบางประเด็นที่ทำให้เราได้เห็น

ธาตุแท้ของคน อย่างกรณีที่เราเขียนถึงพระไพศาล ก็มีคนมาเขียนบน wall ของเราว่า “มันน่าถอดรองเท้ามาตบปากนัก” แต่รูปโปรไฟล์ของคนที่มาเขียนเป็นรูปพระพุทธรูป แล้วสิ่งที่เขาเขียนมักจะเป็นเรื่องของการพูดจาภาษาธรรมะตลอด คือแขกรู้สึกว่าแขกกลัวคนแบบนี้ คนเลวๆ อย่างเรา เรายังไม่เคยแวบเข้ามาในหัวเลยว่า เราจะถอดรองเท้าเราไปตบปากใครได้ แต่คนที่สังคมคิดว่าเขาเป็นคนดี ด้วยความที่เป็นคนดีเขาก็สามารถทำร้ายคนไม่ดีได้

GM : คิดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า เครือข่ายสังคมในอินเตอร์เน็ตจะสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในอนาคตได้มากน้อยแค่ไหน

คำ ผกา : เปลี่ยนมากแน่นอน ง่ายๆ เลยมันทำให้การรับรู้ข่าวสารของคนไปได้กว้างขวางขึ้น ไกลขึ้น อย่างในอีสาน

ที่เข้าอินเตอร์เน็ตได้ก็จะก๊อบปี้คลิปต่างๆ ใส่แผ่นแล้วก็เอามาแจกกันที่ตลาด มาแบ่งกันดู หรือมีคนไปอ่านบทความของประชาไท แล้วก็ปรินต์เอามาแบ่งกันอ่าน คนเหล่านี้ไม่ได้มีเงินมาก แต่มีเวลาพอที่จะจัดการเรื่องพวกนี้ ตอนนี้คนเหล่านี้ก็เริ่มรู้จักกันมากขึ้นผ่านเครือข่ายการชุมนุม เป็นคนที่รู้จักกันในฐานะที่เป็นเสื้อแดงเหมือนกัน มันมีแต่จะขยายตัวออกไป เขาตื่นกันแล้ว อำนาจเก่าอาจจะยังสามารถรักษาฐานอำนาจเดิมของตัวเองไว้ได้ในระยะหนึ่ง กลุ่มอำนาจเก่าอาจจะยังคงอิทธิพลอยู่ แต่ในระยะยาวเขาคงไม่สามารถปิดกั้นได้

GM : บางคนวิเคราะห์ว่า เราอาจหลีกความรุนแรงไม่พ้น

คำ ผกา : ก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่าการเปลี่ยนแปลง การตื่นตัวทางการเมืองที่เกิดขึ้นมันจะเป็นเครื่องมือสำคัญของการต่อสู้ของประชาชน หรืออย่างน้อยๆ ต้นทุนการรักษาฐานอำนาจเก่ามันก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไม่คุ้มที่จะทำ ซึ่งท้ายที่สุดเขาก็จะต้องปรับตัว

GM : ถ้าเปรียบกับการเมืองญี่ปุ่นซึ่งอดีตเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบอุปถัมภ์เข้มแข็งมาก มีการปรับตัว อย่างไร

คำ ผกา : ประเด็นคือเขาไม่มีการรัฐประหารอย่างบ้านเรา ฉะนั้นการเมืองมันจัดการตัวของมันไปเรื่อยๆ แต่กว่าที่เขาจะเดินทางมาถึงจุดนี้ เขาก็ต้องใช้เวลาในการต่อสู้อย่างยาวนานเช่นกัน ไม่ใช่ว่าประชาชนจะฉลาดเลย ประชาชนก็โง่มาก่อนเช่นกัน แขกมองว่าหากไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น เราอาจจะสามารถจัดการหลายๆ เรื่องในรัฐบาลทักษิณได้ ทั้งคดีที่ตากใบ เรื่องที่กรือเซะและอีกหลายๆ คดี ซึ่งต้องว่ากันตามกระบวนการ ใช้กระบวนการของประชาชนเป็นตัวเคลื่อนแล้วก็ใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นตัวบ่อนเซาะ สุดท้ายชาวบ้านก็ไม่เลือกเอง คืออย่างที่บอก ชาวบ้านไม่ได้กิน ขี้ ปี้ นอน เท่านั้น เขาก็อ่าน คุยกัน ถกเถียงกันเรื่องการเมือง เราต้องอดทน ต้องให้ข้อมูลไปเรื่อยๆ

GM : เห็นคุณเขียนถึง ‘สลิ่ม’ อยู่บ่อยๆ คำว่าสลิ่มในนิยามของคุณคืออะไร และสลิ่มมีความ ‘เป็นอื่น’ กับแดงขนาดนั้นเลยหรือ

คำ ผกา : แขกคิดว่าจริงๆ แล้ว เท่าที่ไปคุยกับชาวบ้านมา คนเสื้อแดงส่วนมากไม่รู้จักสลิ่มนะ เป็นพวกปัญญาชนเสื้อแดงนี่ละที่รังเกียจสลิ่ม จริงๆ แล้วต่อให้ไม่มีเสื้อแดง ต่อให้ไม่มีจุดยืนทางการเมือง งานเขียนของแขกที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมก็เป็นงานที่จิกกัดสลิ่มมาโดยตลอด เมื่อก่อนมุกหอม (วงษ์เทศ) จะเรียกคนที่อยู่ในวัฒนธรรมนี้ว่าเป็นพวก kitsch คือเป็นพวกที่เราดูถูกอยู่แล้ว เป็นพวกบูฌัวร์ งี่เง่ากิมกลวง

ซึ่งเราก็เป็นส่วนหนึ่งในสลิ่มนะ ไม่ใช่ว่าไม่เป็น แต่เราก็รังเกียจตัวเราเองด้วย แล้วเราก็รังเกียจวัฒนธรรมสลิ่มที่เราต้องอยู่กับมัน

ทีนี้พอมาถึงจุดที่เป็นความขัดแย้งทางการเมือง มันก็มีคนที่เป็นสลิ่มกิมกลวง ความเป็นสลิ่มนั้นเกิดขึ้นมาจากกลุ่มเสื้อหลากสี คือไม่ใช่แดง ไม่ใช่เหลือง แต่เป็นชมพู ขาว ฟ้า ที่ออกมาบอกว่าเราไม่เลือกข้าง เราไม่เอาความรุนแรง หรือกลุ่มที่ออกไปกวาดถนนหลังจากเผากันแล้ว กลุ่ม Big Cleaning Day หรือพวก Together We Can

กลุ่มคนพวกนี้เป็นพวกที่ไม่อ่านหนังสือ ไม่รับข้อมูลที่รอบด้าน แล้วก็ติดอยู่กับชาติ นิยมแบบเก่า เป็นพวกมีการศึกษาที่ไม่มีการศึกษา คือเป็นคนที่ได้รับการศึกษาในระบบ เรียนจบมหา-วิทยาลัยแต่อ่านหนังสือจำกัดมาก อาจจะอ่านหนังสือธรรมะ รับทวิตเตอร์ของท่าน ว.วชิรเมธี คือรับความรู้ที่ค่อนข้างสำเร็จรูป เราเคยแซว ว.วชิรเมธี เรื่องที่เขียนเรื่องธรรมะสามนาทีเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แล้วปรากฏว่าหนังสือชุดใหม่ของ ว.วชิรเมธีก็มาในรูปแบบของซองมาม่า จริงๆ ด้วย ไม่คิดนะว่าจะซื้อนะไอเดียนี้ (หัวเราะ) หรือหากจะใช้คำของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ก็คือพวกที่เป็น Provincialism หรือพวกบ้านนอก

แต่ถ้าเป็นนัยยะของสลิ่มกิมกลวงแบบนี้ ก็อาจไม่ใช่กลุ่มชัดเจน คนที่เป็นแดงบางคนก็อาจเป็นสลิ่มกิมกลวงได้ คนที่เป็นแดงอย่างแขกก็เป็นพวกสลิ่มเหมือนกันนะ แต่ปัญหาพวกนี้มันเป็นแค่ปลายเหตุนะคะ ต้องยอมรับว่าสลิ่มเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาไทย คือผลผลิตทางการปลูกฝังทางอุดมการณ์ที่อยู่ในตำราเรียนไทยมาโดยตลอด อย่างตำราเรียนไทยที่อยู่ในวิทยานิพนธ์ของแขก หลักสูตรปี 2521 บอกว่าประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิไตย ที่เราควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างคือประเทศสิงคโปร์ มัน absurd ไหมล่ะ

แล้วที่ตลกมากก็คือ ปีนี้การจัดอันดับของ freedom house (freedomhouse.org) จัดลำดับประเทศที่มีประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียน ไทยเคยอยู่อันดับ 2 สิงคโปร์เคยอยู่อันดับ 5 มาปีนี้ไทยกับสิงคโปร์อยู่ในอันดับเดียวกันแล้วคืออันดับ 5 เท่ากัน (หัวเราะ) แสดงว่าตอนนี้เราประสบความสำเร็จแล้วฉะนั้นสลิ่มกลุ่มนี้เป็นผลของการปลูกฝังอุดมการณ์รัฐในระบบการศึกษาแบบไทย แล้วถามว่า อุดมการณ์รัฐที่อยู่ในระบบการศึกษาแบบไทยคืออะไร หนึ่งก็คือ Provincialism พวกที่คิดว่าประเทศไทยดีที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ศาลาไทยในงานเอ็กซ์โปเริดที่สุดในโลกนี้ ลายกระหนกเราสวยที่สุด ชุดไทยในงานประกวดมิสยูนิเวิร์สต้องสวยที่สุด ซับซ้อนที่สุด ละเอียดอ่อนที่สุด สลิ่มถูกสอนให้เชื่อมาตลอด และเราก็ยังดูหนังนเรศวรอย่างชื่นชม โดยไม่ต้องรู้ประวัติ-ศาสตร์ไทยในเวอร์ชั่นอื่นๆ เผลอๆ ยังคิดว่าไทยยังมาจากเทือกเขาอัลไต อะไรแบบนั้นอยู่เลย ยังอาจจะเชื่อด้วยว่าเขาพระวิหารเป็นของไทย แบบนี้ละคือสลิ่ม

GM : ไหนๆ คุณก็พูดถึงท่าน ว.วชิรเมธี แล้ว อยากรู้ว่า คำ ผกา รังเกียจอะไรท่านนักหนา หรืออะไรในตัวท่านที่ คำ ผกา ไม่ชอบ เพราะคุณวิพากษ์วิจารณ์ท่านอยู่เนืองๆ

คำ ผกา : คือบางอย่างมันไม่เมกเซนส์ ไม่มีลอจิก คือมันไม่ใช่ความผิดของ ว.วชิรเมธี ไม่ใช่ความผิดของวินทร์ ไม่ใช่ความผิดของพระไพศาล

(คำ ผกา เคยวิจารณ์งานของ วินทร์ เลียววารินทร์ และวิจารณ์พระไพศาล วิสาโล) เพราะแขกไม่ได้สร้างบทสนทนากับวินทร์ กับ ว.วชิรเมธี หรือกับพระไพศาล แต่แขกกำลังสื่อสารกับผู้บริโภคว่าเราควรจะตั้งคำถามกับสิ่งที่เราอ่านหน่อยไหม วิเคราะห์มันหน่อยไหม เพราะฉะนั้นที่เขียนอยู่ไม่ได้หมายความ ว่า พระไพศาลต้องเปลี่ยนความคิดเดี๋ยวนี้นะ ว.วชิรเมธีต้องเปลี่ยนสไตล์แบบนี้นะ หรือคุณวินทร์ต้องไปเขียนนิยายใหม่แบบที่แขกบอก ไม่ใช่เลย แต่เพราะนี่เป็นเสรีภาพในการเขียน และเป็นเสรีภาพของนักเขียนแต่ละคนด้วยว่าเขาจะเชื่ออะไร เขามีสิทธิที่จะเชื่อในสิ่งที่เขาทำ เรามีสิทธิเท่าๆ กัน แต่คนอ่านควรจะอ่านด้วยวิจารณญาณแบบไหนบ้าง อันนั้นสำคัญกว่าคนเขียน

GM : แต่ท่าทีในงานเขียนของคุณเหมือนพยายามบอกคนอื่นว่า ต้องเชื่อในสิ่งที่คุณเขียน

คำ ผกา : ไม่เลย อันนั้นเป็นสิทธิของคนอ่าน แขกจะไม่ไปยุ่งว่าคนอ่านคิดอย่างไรกับเรา เท่าๆ กับที่เราเชื่อว่า ว.วชิรเมธี หรือพระไพศาล หรือใครก็ตาม เขาไม่ได้มาสนใจว่าคนอ่านมาคิดอะไรกับเขา เพราะว่าหากเป็นมืออาชีพจริงๆ เราจะถือว่านี่เป็นวรรณกรรมคนละชิ้น งานวิจารณ์ถือว่าเป็นวรรณกรรมอีกชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วต้องการจะสื่อสารกับผู้อ่าน ไม่ได้ต้องการจะสื่อสารกับผู้เขียนวรรณกรรมเรื่องนั้นๆ

หาผู้ชายดีๆ ที่คุ้มค่ากับร่างกายเรายากมาก ต้องดูว่าผู้ชายมันจะเอาเก่งไหม หมายถึงว่ามันคุ้มกับเวลาที่จะนอนด้วยไหม (หัวเราะ) เลือกเยอะ สวยเลือกได้ แล้วบางทีคุยแล้วไม่สนุก คุยแล้วไม่ฉลาด เราก็ไม่อยากไปนอนด้วย

M : ควรมีคำเตือนสำหรับคนที่อ่านงานของ คำ ผกา เหมือนคำเตือนบนซองบุหรี่ไหม

คำ ผกา : ไม่มีค่ะ ทุกคนใช้วิจารณญาณของตัวเอง นั่นเป็นเรื่องของเขาที่เราต้องเคารพ แล้วถ้าคุณเป็นห่วงเขา คุณก็เขียนบทความวิจารณ์ถึงงานของแขกก็ได้ว่ามันมีสิ่งที่พึงระวังหรือมีสิ่งที่อันตราย แต่อย่าไปติดฉลากว่า อย่าไปเชื่อมันนะ

GM : เท่าที่พูดคุยกันมา ดูเหมือนว่า คำ ผกา ก็เป็นคนปกติธรรมดา มีเหตุมีผล มีหลักคิด แต่ทำไมท่าทีในการเขียนต้องออกมาเป็น ‘นางร้าย’ อยู่ตลอดเวลา ทำไมคุณถึงอยากจะ ‘ฉายภาพ’ ตัวเองออกมาเป็นแบบนั้น

คำ ผกา : เป็นความตั้งใจ เพราะว่าอยากจะ satire ความดัดจริตในสังคมไทยด้วย คือเบื่อความปากหวานก้นเปรี้ยว รู้สึกว่าเป็นอะไรก็บอกกันมาตรงๆ ดีกว่า อย่ามาใส่หน้ากากใส่กันให้มากนัก สมมุติว่าคุณไม่ได้เห็นใจคนเสื้อแดงเลย ก็ไม่ต้องแสร้งทำดี ฉะนั้นแขกก็ยังนับถือ ASTV นะ อย่างน้อยก็จริงใจ อย่างน้อยก็ไม่ปากหวานก้นเปรี้ยว แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำเป็นว่าเห็นใจคนตาย สงสารคนเจ็บ เข้าใจคนจน แต่ทำไมตกเป็นเครื่องมือนักการเมืองล่ะ คือคำพูดแบบนี้มันเหมือนดูถูกเจตจำนงของคนที่ออกมาต่อสู้เพื่ออนาคตทางการเมืองของพวกเขา

GM : มีคนบอกว่าคุณเป็น ‘ซ้ายไร้เดียงสา’ แต่ถ้าดูจากความคิดของคุณที่บอกว่าเอาทั้งทุนนิยม เอาทั้งการเมือง อย่างเป็นทางการ และเอาทั้งรัฐ น่าจะพูดได้ว่าคุณเป็นขวามากกว่า

คำ ผกา : (หัวเราะ) แขกถึงบอกเสมอว่าแขกเป็นขวา คิดว่าจริงๆ แล้วคนไทยไม่เข้าใจหรือเปล่าว่า ซ้ายคืออะไร ขวาคืออะไร หรือบางทีอาจจะแยกไม่ออกว่า Conservative กับ Fundermentalist คืออะไร ต้องแยกกันนะคะ Funder-mentalist คือพวกหัวรุนแรง Conservative เป็นพวกอนุรักษนิยม ซึ่งแขกว่าแขกเป็น Conservative นะ แต่ก็มีระดับความเข้มข้นต่างกัน อย่างคนไทยอาจจะมีคนที่เอาชาตินิยมแบบเก่า ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายว่าชาตินิยมแบบเก่าหมายถึงอะไรนะคะ แต่สำหรับแขก หากจับแขกเอาไปไว้ในประเทศใดประเทศหนึ่งในยุโรป แขกจะเป็น Conservative แบบเอาพรรคการเมืองไปเลยนะในประเทศที่ประชาธิปไตยมันอยู่ตัวแล้ว ก็ไม่ต้องไปสู้กันเรื่องที่ว่ารัฐสภาจะเป็นอย่างไร พรรคการเมืองเข้มแข็งจะเป็นอย่างไร มันก็มาสู้กันเรื่องของอำนาจของประชาชนที่จะมาผลักดันนโยบายของรัฐ อย่างองค์กรพวกกรีนพีซ หรือองค์กรอื่นที่ผลักดัน agenda ระดับโลกมีคนพูดนะว่าแขกเชยจังเลย ทำไมมานั่งพูดเรื่องนักการ-เมือง เรื่องพรรคการเมือง เรื่องการเลือกตั้ง

เพราะพวกนี้มันเป็นเบสิกของระบอบประชาธิปไตยระบบตัวแทนมากๆ ตอนนี้น่าจะไปพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยทางตรง เรื่องที่ทำให้ประชาสังคมเข้มแข็งไหม แต่แขกกำลังจะบอกว่า มันจะเป็น

ไปได้อย่างไรที่จะให้ประชาสังคมเข้มแข็งโดยไม่มีระบอบประชาธิปไตย คือมันจะต้องมีประชาธิปไตยในระบบตัวแทนที่เป็นทางการก่อน แล้วภาคประชาสังคมถึงจะตามมา ถึงตอนนั้น คุณอาจจะมาต่อสู้บนท้องถนน เป็นม็อบ เป็นอะไรก็ได้ในกรณีที่ ส.ส. ในสภาอาจจะถูกครอบงำโดยเสียงข้างมาก เช่น สมมุติว่าพรรคไทยรักไทยมีเสียงข้างมากกดดันกฎหมายที่ตัวเองต้องการให้ผ่านการพิจารณา แล้วอาจจะไม่เป็นธรรมกับประชาชนอีกหลายๆ กลุ่ม ทีนี้เพื่อที่จะไปคานกับเสียงข้างมากในสภา เราก็ใช้การเมืองบนท้องถนนเพื่อจะไปถ่วงดุลอำนาจตรงนั้นได้ อันนี้โอเค

แต่ปรากฏว่าปัญหาของเราตอนนี้ ประชาธิปไตยในรัฐสภาของเรามันล้มเหลว เราจะมาเอาการเมืองบนท้องถนนมันไม่ได้ เราต้องเอาการเลือกตั้งให้ได้ก่อน เราต้องทำให้พรรคการเมืองมันอยู่ได้ก่อน ไม่ใช่ว่าตั้งพรรคการเมืองมาแล้วมีอำนาจพิเศษมายุบพรรคการเมืองได้ทุกเมื่อที่ต้องการ แขกก็ไม่รู้ว่าเรายุบพรรคกันบนพื้นฐานของอะไร

GM : ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คุณคิดว่าตัวเองเป็นแดงอย่างที่เรียกว่า Becoming Red มีเหตุการณ์ไหนที่ทำให้คุณเปลี่ยน

คำ ผกา : คือเริ่มจากไม่เอารัฐประหารก่อน ตอนนั้นยังไม่รู้จัก นปก. ยังมอง นปก. แบบดูถูกมาก แบบ…อี๋! ณัฐวุฒิ สภาโจ๊กนี่หว่า แบบนั้นเลย แต่วันที่ตัดสินใจว่าแขกจะเป็นสีแดง น่าจะเป็นตอนที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบ สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ถูกปลดออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และคุณอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นนายกฯ

GM : ด้วยความที่แดงมีหลายเฉด ถ้าให้นิยามตัวเอง คุณเป็นแดงแบบไหน

คำ ผกา : คนก็ยังอยากพยายามแบ่งแดงปัญญาชนออกจากแดงอริสมันต์ แต่แขกไม่แบ่งนะ แขกไม่ได้รังเกียจเจ๋ง ดอกจิก หรือว่าอริสมันต์ เพราะนั่นคือสิ่งที่สังคมไทยพยายามตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก ตัดสินคนจากมารยาท ตัดสินคนจากภาษาที่เขาใช้ คือถ้าออกมาบ้านนอกๆ ก็ดูถูกไว้ก่อน ใครที่ดุบ้าระห่ำ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่สันติวิธีก็ดูถูกไว้ก่อน ถ้ามีบุคลิกแบบผูกผ้าขาวม้าห้อยพระเครื่องใหญ่ๆ ก็ดูถูกไว้ก่อน บางคนบอกว่าอยากเป็นแดง แต่อยากเป็นแดงแบบปัญญาชนหน่อยไหม ถ้าแบ่งอย่างนั้นก็ผิดแล้ว คือไม่อยากให้แบ่งเพราะมันขัดแย้งกับหลักการการต่อสู้ แขกไม่รู้สึกว่าทำไมต้องแบ่งชั้นวรรณะอะไรแบบนั้นแขกรู้สึกว่าถ้าเราจะเป็นแดง เราก็ต้องยอมรับแดงอย่างที่มันเป็น ถ้ามันจะมีความรุนแรงบ้าง เราก็ต้องยอมรับว่ามันมี ถ้ามันมีอาวุธ เราก็ต้องยอมรับว่ามันมี อย่าไปอินโนเซนส์ขนาดนั้นว่าขบวนการของแดงจะบริสุทธิ์ผุดผ่อง สันติวิธี ไร้ข้อบกพร่อง ไร้ความผิดพลาด คือแขกมองว่าในกระบวนการการต่อสู้ของประชาชน ไม่ว่าจะฝ่ายไหนทั้งนั้น มันต้องมีความงี่เง่า มันต้องมีความผิดพลาด ลองผิดลองถูก

แล้วถ้าเรามองว่านี่เป็นขบวนการประชาชนที่ช่างไร้ประสบการณ์ ก็ไม่แปลก เพราะมันเพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อห้าหกปีนี้เอง มันขาดทักษะการต่อสู้อย่างมาก ยิ่งเทียบกับฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นรัฐ เขาสั่งสมการต่อสู้กับประชาชนมาหลายทศวรรษ เขามีทักษะที่ดีกว่าเราอยู่แล้ว เนียนกว่าเราอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าใครมาถามว่าเราเป็นแดงแบบไหน ก็เป็นแดงทั่วๆ ไปนี่ละ คือแขกอยากให้ยอมรับด้วยว่า ขบวนการของคนเสื้อแดงนั้นมันเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด แล้วยังต้องสั่งสมประสบการณ์การต่อสู้ไปเรื่อยๆ แขกมองว่าการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมที่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) ทำ ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งของพัฒนาการการต่อสู้ของมวลชน

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เพราะมันเกิดการเคลื่อนตัวของสติปัญญาพร้อมๆ กับการเรียนรู้ทางการเมืองช่วงสองสามปี ที่ผ่านมาด้วย ชาวบ้านเปลี่ยนไปมหาศาลอย่างที่เราคิดไม่ถึง แล้วทำไมชาวบ้านถึง get การต่อสู้ของหนูหริ่ง เรื่องการเต้นแอโรบิก เรื่องการไปนอนตาย คือชาวบ้านรับเอากระบวนการในการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างไม่มีความแปลกแยกเลย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรจับตามองให้ดี

ฉะนั้นแขกจะไม่บอกว่าเป็นแดงประเภทไหน คือเป็นแดงทั่วๆ ไป และเรียกร้องการเลือกตั้ง ต่อต้านสองมาตรฐาน ซึ่งถ้าดูในความหมาย มันไม่ใช่ double standard นะคะ แต่มันคือ injustice ทำไมเราทนอยู่ได้ยังไง เรื่องทุจริตหลายเรื่องไม่สามารถเป็นประเด็นร้อนแรงเหมือนกับสมัยที่เราพยายามจะตรวจสอบรัฐบาลทักษิณ ทุกคนรู้สึกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ทำอะไรก็ไม่ผิด ทั้งๆ ที่ความผิดนั้นเห็นตำตาอยู่หลายเรื่อง

GM : คุณคิดว่ารัฐบาลมีอำนาจควบคุมสื่อมากขนาดนั้นเลยหรือ

คำ ผกา : จริงๆ สื่อเองก็พร้อมที่จะเข้าข้างรัฐบาลอภิสิทธิ์อยู่แล้วไง เพราะว่าตัวเองไม่ชอบนักการเมืองแบบบรรหาร ทักษิณ หรือเนวิน เหมือนกับที่แขกเคยเขียนเรื่องเมโลดราม่าการเมืองไทย คนไทยชอบนายกฯแบบนี้ หล่อ ดูดี พูดภาษาอังกฤษเพราะ จบเมืองนอก ตระกูลดี ก็เข้าทาง สลิ่มอีกละ (หัวเราะ)

GM : แล้วผิดหรือที่สลิ่มจะชอบอะไรแบบนี้

คำ ผกา : ผิด สลิ่มจะต้องไปรื้ออุดมการณ์ทางการเมืองในหัวของตัวเองใหม่ว่าเราไม่ได้ต้องการนายกฯแบบอภิสิทธิ์ ทีนี้มันเป็นรหัสทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของเรา ว่าเรามักไปติดอยู่กับภาพขาว-ดำของพระเอกผู้ร้าย คือหน้าตาแบบไก่อู อภิสิทธิ์ นี่โอเค แต่พอหน้าตาแบบเฉลิม แบบบรรหารแบบนี้อี๋ เป็นหลงจู๊บ้านนอก แต่เราลืมมองไปว่า ในการเป็นนักการเมือง การที่ใครสักคนจะมาทำงานในฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติ มันไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล มันเป็นเรื่องของระบบ แล้วเราให้เขามาทำงานไม่ใช่ในฐานะที่เขาเป็นเฉลิม หรือว่าเป็นบรรหาร เขาทำงานในฐานะที่เป็น agent ของประชาชนที่เลือกเข้าไป เพราะฉะนั้นคุณต้องกลับมามองที่ประชาชน ไม่ใช่มองที่นักการเมืองทีนี้ความที่สื่อซึ่งเป็นเสียงของคนในเมืองตอนนี้ มันเป็นเสียงที่ดังกว่า สื่อเลือกที่จะเชื่ออภิสิทธิ์เพราะว่าหน้าตาดี มีตระกูล อย่างไรก็ดีกว่าหลงจู๊บ้านนอก คือไม่พร้อมจะไปตรวจสอบคนเหล่านี้แบบกัดไม่ปล่อยเหมือนที่ไปตรวจสอบบรรหารหรือทักษิณ เรื่องเครื่องจีที 200 ก็ต้องเกาะติดมากกว่านี้ นี่เป็นข่าวสองสามวันแล้วก็หายไป นี่คือ injustice ที่เกิดขึ้น อย่างพันธมิตรป่านนี้ยังไม่โดนจับ แต่พราหมณ์ที่ไปเจาะเลือดหน้าทำเนียบติดคุกไปแล้ว แขกขอแค่การเลือกตั้งคืนมาพร้อมกับนักการเมืองเลวๆ ก็ได้ แต่ขอให้มันอยู่ในระบบที่ตรวจสอบได้

GM : คุณคิดอย่างไรกับคุณทักษิณ

คำ ผกา : ก็เป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ก็ดีลกับเขาในฐานะนักการเมืองคนหนึ่ง อภิสิทธิ์ก็เช่นกัน เขาก็เป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ไม่ได้มีอะไรดีหรือเลวกว่าเนวิน หรือบรรหาร หรือทักษิณ ประชาชนควรจะทรีตนักการเมืองในฐานะที่เป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ที่มีทั้งผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม มีราคาที่คุณต้องซื้อในฐานะที่คุณเป็นตัวแทนของประชาชนฉะนั้นถ้าถามว่าแขกรู้สึกอย่างไรกับทักษิณ หรือกับใครต่อใคร ก็ขอบอกว่าทุกคนควรเป็นนักการเมืองมืออาชีพ นักการเมืองจะดีจะเลวนั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สำคัญที่ระบบมากกว่า จริงๆ อยู่ที่คนที่ทำงานเป็นข้าราชการมากกว่า นักการเมืองเป็นแค่คนที่กำหนดนโยบายเท่านั้น ฉะนั้นเรื่อง

หนึ่งที่แขกรับไม่ได้เลยก็คือ รัฐธรรมนูญปี ’40 ที่กำหนดว่านักการเมืองต้องจบปริญญาตรี คุณเอาวุฒิการศึกษามาวัดคนได้ยังไง คือเขาอาจจะจบ ป.6 แต่มีประสบการณ์ ผ่านชีวิตอะไรมามากก็เป็นได้

GM : หากมีผู้เชิญคุณเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย คุณจะบอกเขาว่าอย่างไร

คำ ผกา : ไม่เป็นค่ะ แล้วโดยเฉพาะคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาโดยรัฐบาลก็มาจากรัฐบาลที่อยู่ในช่วงการสังหารหมู่ประชาชน คือเราไม่ได้บอกว่าใครเป็นคนฆ่านะ ตอนนี้เราไม่รู้หรอกว่าใครฆ่า แต่รัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบอะไรบางอย่างออกมา แต่นี่ยังไม่มีความรับผิดชอบใดๆ แล้วก็ยังมาตั้งคณะกรรมการต่างๆ นานาอีก มันไม่มีความชอบธรรม แล้วการที่คุณเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูป โดยเฉพาะนักวิชาการ เหมือนคุณเข้าไปสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ เลย ไม่ว่าคุณจะเข้าไปด้วยความหวังดีหรืออะไรก็แล้วแต่ แขกขอถามคำเดียวว่า ใครหรือจะมีไม้เท้ากายสิทธิ์เปลี่ยนประเทศได้ภายในเวลาสองสามปี

แล้วถามจริงๆ ว่าคณะกรรมการต่างๆ ที่เข้าไปทำงานน่ะ เข้าไปทำอะไร ก็อย่างที่แขกเขียน คนที่ได้รับประโยชน์จาก

คณะกรรมการพวกนี้ก็คือ โรงแรม สายการบิน ธุรกิจจัดเลี้ยง บุฟเฟ่ต์ บริษัทขายแฟ้ม กระดาษถ่ายเอกสาร สุดท้ายมันก็ทำอะไรไม่ได้หรอก เพราะสุดท้ายมันอยู่ที่เรื่องของการกำหนดนโยบาย การบริหารที่ผ่าน ส.ส. มากกว่า อย่างมากพวกคุณก็เสนอแผน แล้วถ้า ส.ส. ไม่ทำ คุณจะทำอะไรได้ เหมือนเขาเสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แต่คุณไม่ยกเลิก คุณจะทำอะไรได้ ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี

GM : สำหรับ คำ ผกา ทางออกของประเทศไทยอยู่ตรงไหน

คำ ผกา : ทางออกของประเทศไทยอยู่ที่การเลือกตั้งเท่านั้นจริงๆ ต้องให้ทุกคนอดทนกับระบบการเมือง คือขอให้รู้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ของดีที่สุด แต่อย่างน้อยมันก็มีข้อเสียน้อยที่สุด คือเรื่องกระบวนการทางการเมือง แขกมองว่าเราไม่ต้องไปสนใจมัน มันต้องใช้เวลาอีกเป็นร้อยๆ ปี ขอเพียงแต่ว่าอย่าให้มีอะไรมาขวางทาง การพัฒนาเหล่านี้ คือการเลือกตั้งมันต้องเลือกตั้งไปครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อที่ให้ประชาชนได้เรียนรู้บทเรียนจากการเลือกตั้งนักการเมืองในโลกนี้ไม่มีใครดีหมดหรอกค่ะ อย่าว่าแต่นักการเมืองเลย พวกเราที่นั่งอยู่ตอนนี้ก็ไม่ใช่คนดีมาจากไหน ถามว่าในโลกนี้มีใครเป็นคนดีบ้าง

ถ้าคุณเชื่อในคนดี นั่นคือคุณกำลังมอบอำนาจให้กับคนที่จะทำให้คนดีกลายเป็นเผด็จการ เพราะคนดีไม่มีอะไรมาถ่วงดุลอำนาจ เมื่อขึ้นมาสู่อำนาจ สักวันเขาก็ต้องกลายเป็นเผด็จการอำนาจนิยมอยู่ดี ฉะนั้นแขกถึงไม่เชื่อในระบบคนดีระบอบประชาธิปไตย มันคือการมีอำนาจหลายๆ ส่วนที่จะมาคานกัน ถ่วงดุลกัน ทำงานกัน แล้วการเมืองมันไม่มีทางดีได้ภายใน 50 ปีหรือ 100 ปีแน่ๆ มันจะต้องมีการเลือกตั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วภายใน 100 ปี คนเปลี่ยนแปลงไปสักสองรุ่น มันจะมีความเปลี่ยนแปลงทางความคิด นักการเมืองก็ต้องปรับตัว คือเราไม่มายด์เลยนะ ถ้าจะมีนายกฯแบบเนวิน หากมาจากการเลือกตั้ง คือขอให้เรายอมรับกับเสียงส่วนใหญ่ แม้ว่าเราจะไม่ชอบ แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วย แต่เราก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นเสียงของคนส่วนมาก ต้องยอมรับความคิดเห็นทางการเมืองของเขา ไม่ว่ามันจะมาด้วยวิธีใด

GM : ต่อให้มาด้วยวิธีการทุจริตซื้อเสียง ?

คำ ผกา : ก็ต้องยอมรับ เพื่อเรียนรู้ เหมือนคนอเมริกันที่ก็ต้องทนกับบุชมาเป็นไม่รู้กี่ปี เราก็ต้องทน ในญี่ปุ่นก็มีแบบบ้านเรานะ มีระบบหัวคะแนน มีการซื้อเสียง แต่เขาใช้เวลา 50-70 ปีในการเรียนรู้ ประชาชนได้เรียนรู้จากการได้ไปเลือกตั้ง เป็นสิบๆ ครั้ง และพอคนมันผลัดเจเนอเรชั่น นักการเมืองเริ่มผลัดเจเนอเรชั่น ความเจริญทางวัตถุเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน การเข้าถึงการศึกษาเปลี่ยน สื่อสารมวลชนเปลี่ยน คือมันต้องประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ค่อยๆ เปลี่ยนมันไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ว่ามันมีการซื้อเสียง ไม่ใช่ว่านักการเมืองเลวแล้วเราจะถีบระบอบประชาธิปไตยออกไป แล้วแทนที่ด้วยการทำรัฐประหาร อ้างว่าเพื่อล้างไพ่ทางการเมือง แขกมองว่ามันไม่ถูก

GM : หากการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมาก จะยอมรับได้ไหม หรือถ้าพรรคอื่นที่ไม่ใช่พรรคที่คุณชอบ คุณจะยอมรับได้ไหม

คำ ผกา : ต่อให้รู้ว่ามีการโกงการเลือกตั้ง ก็ยังรับได้ แต่ขอให้เอาระบบการเลือกตั้งกลับมา แล้วรันไปสักพักหนึ่ง แขกเชื่อว่าถ้ามันรันการเลือกตั้งไปได้สักห้าปีเจ็ดปี เดี๋ยวมันจะ shape

ตัวมันเอง แต่ขออย่างเดียวว่า อย่าให้มีอำนาจพิเศษ แขก

ไม่เชื่อว่าสำหรับการเลือกตั้ง อำนาจพิเศษไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ เว้นแต่กำกับผ่านองค์กรอิสระ แต่โดยกระบวน-การเลือกตั้งมันจะคัดง้างกันเองแล้วมันจะอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นอำนาจพิเศษถึงไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง

GM : ดูเหมือนคุณจะปกป้องนักการเมืองค่อนข้างมาก จริงๆ แล้วเราจะชอบระบบการเลือกตั้งแต่ไม่ชอบนักการเมืองไม่ได้หรือ

คำ ผกา : ก็ได้ ไม่เห็นเป็นไร ตอนนี้แขกยอมรับว่าแขกกำลังออกมาปกป้องระบบการเลือกตั้งและนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นบรรหารหรือว่าใครก็ตามแต่ เพราะแขกว่าอย่างน้อยคนเหล่านี้ก็ออกมาเล่นในระบบ เอาอย่างนี้ดีกว่า ถ้าเราอยู่ในระบบการเมืองแบบปกติที่มีประชาธิปไตยปกติ แขกเข้าใจว่าบทบาทของปัญญาชนก็คือการออกมาด่านักการเมืองกับรัฐบาล

นี่เป็นหน้าที่ของพวกเราเลย เพราะว่าเป็นการคานอำนาจรัฐอย่างหนึ่ง สิ่งที่พวกเราทำกันมาตลอดก็คือด่านักการเมือง ซึ่งแขกก็ทำมาตลอดแต่พอถึงจุดที่มีคนบอกว่านักการเมืองมันเลว เราจึงไม่ศรัทธาในระบบการเลือกตั้ง พอถึงจุดนี้ แขกต้องกระโดดเข้ามาปกป้องว่า ต่อให้มันเลวแค่ไหน แขกก็จะปกป้องมัน แขกก็จะเอานักการเมืองกับระบบการเลือกตั้ง แต่แขกไม่เอาอำนาจพิเศษแบบที่ไม่ยอมมาเป็นนักการเมือง เพราะอำนาจ

ที่ไม่เอานักการเมือง คือตรวจสอบไม่ได้ ฉะนั้นถ้าถามว่าถ้าคุณไม่ชอบนักการเมือง แต่คุณไปเลือกตั้งแล้วคุณจะเลือกอะไรล่ะ คุณก็ต้องเลือกนักการเมืองคนใดคนหนึ่งอยู่นั่นเอง

GM : เห็นสนับสนุนการเมืองอย่างเป็นทางการอย่างนี้ หลายคนสงสัยว่า คุณคิดอยากเล่นการเมืองไหม

คำ ผกา : ไม่ค่ะ เพราะคนเป็นนักการเมือง ต้องมีความสามารถเยอะจริงๆ ค่ะ ต้องมีบุคลิก มี charisma มีบารมี

หนังสือ 3 เล่ม แนะนำโดย คำ ผกา

คำ ผกา บอกว่าส่วนใหญ่หนังสือที่เธออ่านจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ และ 3 เล่ม

ต่อไปนี้ คือเล่มที่เธอแนะนำให้เราอ่าน เป็นหนังสือที่จะทำให้คุณเข้าใจการเมืองไทยได้ดีขึ้น

• การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ของ อาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ : “อาจารย์ทักษ์นี่ต้องถือว่าเป็น the must ต้องอ่าน เพราะการเมืองไทยหลัง พ.ศ. 2490 ถือว่ามีผลสำคัญมาก ณ จุดแตกหักของวันนี้ แขกมองว่ามันเป็นผลพวงมาจากปี 2490”

•Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Nation โดย ธงชัย วินิจจะกูล

•Imagined Communities โดย Benedict Anderson

เข้าหามวลชนได้ ซึ่งไม่ใช่เรา เราเป็นพวกมวลชนต่อต้าน แล้วก็เป็นพวกไม่ค่อยมีมารยาท นักการเมืองต้องรักทุกคน

GM : แล้วถ้ามีคนเชิญคุณไปเป็นที่ปรึกษาพรรคล่ะ

คำ ผกา : ก็ไม่แน่นะ ถ้าเป็นพรรคการเมืองที่เราเห็นด้วยกับทิศทาง หรือนโยบายของเขา

GM : ตอนนี้มีไหม

คำ ผกา : ไม่มีพรรคที่เราเห็นว่าเราชอบมากที่สุด ขนาดที่จะไปทำงานด้วย แต่พรรคที่เราเลือกน่ะมี

GM : บอกได้ไหมว่าจะเลือกพรรคไหน

คำ ผกา : ก็พรรคเพื่อไทยนี่ละ ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แขกก็เลือกพรรคไทยรักไทยแล้วนะ ต่อให้เราเกลียดทักษิณขนาดไหน แต่เราก็ชอบนโยบายของเขา เช่น เรื่องของการกระจายอำนาจ เรื่องกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งแขกเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดี แล้วก็เรื่องของการปรับโครงสร้างระบบราชการ คือมันทำให้ชาวบ้านมีปากมีเสียงมากขึ้น

GM : คุณคิดว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของนักการเมืองมีอยู่จริงไหม

คำ ผกา : มันไม่ได้หมายความว่าอยู่ๆ มันจะมี แต่นโยบายในการเลือกตั้งแต่ละครั้งมันต้องแมตช์กับความต้องการของลูกค้า ซึ่งก็คือประชาชน มันไม่ใช่ว่าอุดมการณ์จะชัดเลย แต่ day by day, year by year อุดมการณ์ทางการเมืองก็จะชัดมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สิ่งที่ทักษิณเปลี่ยน ‘ข้าราชการ’ ให้เป็น ‘พนักงานของรัฐ’ นี่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนการรับรู้ของคนเลยนะ เมื่อวันหนึ่งที่คุณใช้คำว่า ‘พนักงานของรัฐ’ มันมี sense ของความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าคำว่า ‘ข้าราชการ’

GM : ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้คนชั้นกลางเกิดความเกลียดและกลัวคนเสื้อแดง หรือถึงขั้นมองว่าคนเสื้อแดงเป็นเชื้อโรคหรือสัญลักษณ์ของความรุนแรง คุณคิดว่าควรต้องทำอย่างไรให้อาการแบบนี้หมดไป

คำ ผกา : ชนชั้นกลางอาจจะต้อง educate ตัวเอง ต้องไปทำความรู้จักกับคนชนบทใหม่ ต้องไปทำความเข้าใจกับไดนามิกที่เกิดขึ้นในชนบทเสียใหม่ อย่างที่แขกเคยยกตัวอย่างถึงข่าวคำเมืองในวิทยุเชียงใหม่ สมัยก่อนโฆษณาในรายการ

จะเป็นยาหอมแดงอะไรก็ว่ากันไป แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้วนะค้า ตอนนี้สปอนเซอร์เป็นบริษัททัวร์ โอเค แม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้ไปยุโรป แต่เขาก็เริ่มไปปีนัง เวียดนาม สิงคโปร์ ไปเที่ยวสิบสองปันนา ลูกค้าก็คือคนแถวนี้ คนแถวสันคะยอมนี่ละ มีเงินประมาณหมื่นนึงที่ลูกเก็บไว้ให้พ่อแม่ได้เที่ยวปีละครั้ง โลกทัศน์ของคนบ้านนอกก็ขยายออกไปแล้ว เขาได้เห็นบ้านเมืองอื่นๆ เกิดการเปรียบเทียบว่าประเทศนั้นประเทศนี้เป็นแบบนี้ แล้วประเทศเราทำไมเป็นแบบนี้ นี่คืออีกไดนามิกหนึ่งที่เกิดขึ้น คนได้เดินทางมากขึ้น หรืออย่างน้อยๆ แค่คนเชียงใหม่ได้ไปเที่ยวภาคใต้ คนอีสานได้ไปเที่ยวเชียงใหม่

สิ่งแบบนี้ก็ขยายโลกทัศน์ของคนได้มากขึ้นแล้วเพราะฉะนั้นชนชั้นกลางอาจจะต้องทำความเข้าใจภาพของคนชนบทในแบบที่มันใกล้เคียงกับความจริงมากขึ้น เพราะคนชนบทในจินตนาการของชนชั้นกลางมันเป็น stereotype คือถ้าไม่ใช่คนชนบทแสนซื่อแสนดี โอบอ้อมอารี มีชีวิตเรียบง่ายพอเพียง ไม่โลภ ขยันขันแข็ง ก็จะเป็นภาพของคนชนบทที่ยากจน ไร้การศึกษา ป่าเถื่อน ใช้ความรุนแรง ไม่มีมารยาทแบบที่ใครพูดว่า คนเสื้อแดงเข้าไปใช้ห้องน้ำในเซ็นทรัลเวิลด์แล้วใช้ไม่เป็นก็ไปทุบก๊อก ซึ่งมันเกินจริงแล้วก็สร้าง stereo-type ของคนบ้านนอกคนในเมืองอยากเก็บภาพคนชนบทให้เป็นหมาเป็นแมวที่เชื่องๆ คือขอให้โอบอ้อมอารีในที่ของเธอนะ อย่าได้หลุดมาอยู่ในราชประสงค์ อย่าได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไรเชียว เพราะเรามักเชื่อว่าคนเหล่านี้พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่คนชนบทลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไรที่ตัวเองต้องการ ก็จะต้องถูกมองว่าเป็นเหยื่อของนักการเมือง ถูกใครเขาหลอกมา ความหวาดระแวงระหว่างชนชั้นนั้นมีอยู่สูง ชนชั้นล่างมักถูกมองว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นอาชญากร มีแนวโน้มที่จะเป็นภัยสังคมอยู่แล้ว

5. เวลาอาหาร

เวลา : 14.45 น.

อุณหภูมิ : 29.5 องศาเซลเซียส

และแล้ว บทสนทนาก็มาลงท้ายกันที่มื้ออาหารอุณหภูมิที่ร้อนแรงในตอนเที่ยงบรรเทาลงในยามบ่ายอย่างประหลาด ด้วยเมฆฝนที่ครึ้มฟ้าและส่งกระไอฝนจากที่ไกลมาแผ่วๆ หลังจากที่เราคุยกันอย่างยาวนาน ก็ถึงเวลากินอาหาร แรกเริ่ม คำ ผกา อยากจะทำเค้กมะตูม แต่เธอป่วย มะตูมที่ต้องหมักไม่ได้เตรียมไว้ เธอจึงเลือกทำอะไรง่ายๆ ที่กินได้ทันที

เมนูที่เธอเลือกคือสุกี้ญี่ปุ่นกินแกล้มกับไข่ดิบที่สุดแสนอร่อยและเป็นเครื่องการันตีคำพูดของเธอที่บอกว่า“ตอนนี้แพชชั่นในชีวิตมีอยู่สองอย่าง คือโยคะกับทำอาหาร”

GM : ความสนใจเรื่องอาหารของคุณเริ่มมาจากอะไร

คำ ผกา : คือตัวเองไม่เคยคิดว่าการทำอาหารเป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะว่าโตมาเราก็อยู่กับการทำอาหารอยู่แล้ว

ทุกบ้านก็ต้องทำอาหารกินเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิต อย่างในสมัยเด็กๆ สิ่งที่ทุกคนจะตื่นมาและทำเป็นอันดับแรกก็คือ นึ่งข้าวแล้วก็ทำอาหารเช้า เพราะฉะนั้นโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการทำอาหารเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะคนเราต้องกิน จะมีใครล่ะที่ไม่ทำอาหาร แล้วที่บ้านมีคนเยอะ ตอนเด็กๆ เราอยู่กันเกือบสิบคนภายในบ้าน ฉะนั้นคนสิบคนจะกินอะไรก็เป็นเรื่องใหญ่ บทสนทนาจะวนเวียนอยู่กับเรื่องของการกินว่า เช้านี้ เที่ยงนี้ เย็นนี้จะกินอะไร โดย sense ที่อยู่ด้วยกันมากๆ ในครอบครัว แขกไม่ได้คิดถึงว่าทำอาหารเพื่อต้องมาผดุงความรักในครอบครัวอะไรแบบนั้น คือทำเพราะว่ามันเป็นความจำเป็นเท่านั้นเอง แล้ว sense ของคนบ้านนอกจะคิดเสมอว่าการไปกินอาหารนอกบ้านเนี่ย เป็นเรื่องของความหรูหราฟุ่มเฟือย ฉะนั้นการทำอาหารกินในบ้าน มันราคาถูกกว่า

GM : ถ้าเป็นอาหารเหนือ คุณชอบอะไร

คำ ผกา : ชอบน้ำพริก เด็กๆ จะชอบมากก็คือน้ำพริกหนุ่ม ปลาปิ้ง ผักลวก

GM : นอกเหนือจากอาหารในชีวิตประจำวัน ทำไมถึงชอบทำขนมหรือเบเกอรี่ด้วย

คำ ผกา : สำหรับแขกมันเป็นเหมือนการทดลองวิทยาศาสตร์ เวลาทำก็จะแปลงสูตรเขานิดหน่อย เพิ่มอันนี้นิด ลดอันนั้นหน่อย อยากรู้ว่าออกมาแล้วมันจะเป็นยังไง

GM : เคยคิดจะทำขายไหม

คำ ผกา : ไม่เคยเลย เพราะรู้ว่าทำขายไม่ได้ คือเป็นนักเขียนนี่สบายกว่านะ เป็นนักเขียนเขียนหนังสือสองชั่วโมงก็ได้แล้วหกพันบาท แต่ทำขนม กี่ชั่วโมงกว่าจะได้หกพัน คือการเป็นนักเขียนใครจะบอกว่าได้เงินน้อยหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ถึงที่สุดแล้ว มันเป็นงานที่สบาย นั่ง คิด เขียน คิดดูว่ากว่าจะได้เค้กมาก้อนหนึ่ง ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยสามสี่ชั่วโมง กว่าจะอบกว่าจะอะไร แล้วได้กำไรเท่าไหร่ เราอาจจะได้กำไรร้อยสองร้อย ลงทุนลงแรงไปมากเลย ในขณะที่เราใช้เวลาเขียนหนังสือเท่ากัน แต่ได้เงินง่ายกว่า เราก็เลยรู้สึกว่า การทำขนมมันไม่คุ้มแล้วละ

GM : เห็นว่าคุณเป็นคนมั่นใจว่าทำอาหารอร่อย

คำ ผกา : หลงตัวเองค่ะ (หัวเราะ) เป็นคนที่ทำอะไรก็อร่อย ถ้าเพื่อนไม่กิน ก็จะพูดนำ อร่อยไหม อร่อยไหม อร่อยมากเลยใช่ไหม บางทีเราชิมก่อนแล้วบอกเพื่อนว่า อร่อยมากกกก (ลากเสียงยาว) เพื่อนจะไม่มีทางพูดเป็นอื่น เพราะเราพูดไปแล้วว่าอร่อยมาก

GM : นอกจากอาหาร เห็นว่าคุณยังทำของใช้อะไรหลายอย่างเอง

คำ ผกา : มีหลายอย่างค่ะ อย่างทำสวนนี่ส่วนมากก็ปลูกพืชที่กินได้ ตากพริกแห้งไว้กินเองก็มี ทำน้ำมังคุดหมักไว้ทาหน้า ตอนนี้ก็ใช้อยู่ วันนั้นเป็นสิวอักเสบขึ้นตรงคอ เอามาทา รุ่งขึ้นก็หาย แต่หมักไว้สองปีนะถึงจะใช้ได้ ก็ใช้เปลือกมังคุด แอปเปิ้ลไซเดอร์กับน้ำผึ้งป่าหมักด้วยกัน ส่วนของใช้ในบ้านนี่ เชื่อไหม ส่วนมากแขกชอบใช้ของสันติอโศกนะคะ เพราะปลอดสารพิษ ราคาถูก และคุณภาพดีค่ะ (หัวเราะ)

Recipe : สุกี้ญี่ปุ่น

เครื่องปรุง : โชยุ / มิริน / สาเก / น้ำตาลทราย / ปลาโอแห้ง / แครอท / หัวไชเท้าสำหรับทำน้ำซุป

วัตถุดิบ ผักสดตามชอบ / เต้าหู้ / เห็ดชนิดต่างๆ / เส้นบุก / ไข่ไก่ / เนื้อ

วิธีการทำ : อัตราส่วนของซอสที่ใช้กับน้ำซุปจะมี โชยุ 1 ส่วน มิริน 1 ½

ส่วนสาเกตามชอบ (สัก ½ ส่วน) และน้ำตาลทราย ปรุงรสตามชอบ การเตรียมน้ำซุป เอาแครอทและหัวไชเท้าลงต้ม กะเวลาพอออกรส แล้วให้เอาผักออก จากนั้นใส่ปลาโอแห้งเพื่อให้ได้รสชาติและกลิ่นรัญจวนใจ ยกหม้อน้ำซุปขึ้นตั้งไฟและเทซอสที่ผสมไว้ลงไปในน้ำซุป ลองชิมดู หากยังไม่เข้มข้นก็เพิ่มส่วนผสม รอจนน้ำเดือดอีกครั้ง ก็ลงผัก เห็ด เนื้อ เส้นบุก เต้าหู้ ตามชอบใจได้เลยครับ เมื่อสุกแล้วก็กินกับไข่ดิบที่ตีไว้ในถ้วย

ชมสวนคำ ผกา

เราลองใช้เวลาหลังอาหารกลางวันเดินชมสวนกับเธอ แล้วปล่อยให้เธอลองนับบรรดาพืชพรรณที่มีอยู่ คร่าวๆ มีราว 37 ชนิด (หรืออาจจะมากกว่านั้น) เข้าไปดูสวนของเธอได้ที่ www.gmlive. com

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ