fbpx

เกรียงไกร กาญจนะฏภคิน

ในห้องทำงานของ เกรียงไกร กาญจนะโภคิน มองผ่านกระจกหน้าต่างออกไป เห็นท้องฟ้ายามเย็นที่ฉ่ำฝนมาหลายชั่วโมงแล้ว แน่นอนว่าตอนนี้ข้างนอกคงรถติดสาหัส ทีมงาน GM จึงไม่จำเป็นจะต้องรีบร้อนอะไร เราอยากจะใช้เวลานั่งคุยและชักภาพเขาให้นานขึ้นอีกสักหน่อยมีกีตาร์เบสเกือบสิบตัววางเรียงเป็นตับอยู่ด้านข้างโต๊ะทำงานตัวใหญ่ “เพราะเห็น พอล แม็กคาร์ตนีย์ เล่นเบสแล้วเท่นี่แหละ เป็นแรงบันดาลใจให้ผมหัดเล่นเบส” เกรียงไกรพูดพลางหยิบเบส Rickenbacker 4001 C ขึ้นมาสะพาย เขาไปนั่งผ่อนคลายอารมณ์ที่ริมหน้าต่างการเล่นเบสมีความหมายอะไรซุกซ่อนอยู่อีกหรือเปล่า? เบสเป็นเครื่องดนตรีที่คอยนำทางและเกื้อหนุนให้เครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ โดดเด่นขึ้นมา ในขณะที่ผู้เล่นเบสมักจะยืนอยู่แถวหลัง และในเงามืดบนเวที GM ถามเขา

“ผมแค่ไม่ชอบจำโน้ต เล่นเบสจึงสนุกกว่า จำแค่โครงสร้างคร่าวๆ แล้วก็ไปแจมกับคนอื่นได้หมด” เขาเล่าถึงการตั้งวงดนตรีเล่นสนุก เพื่อสันทนาการกันภายในบริษัท

อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ประสบความสำเร็จแบบดาวรุ่งพุ่งแรง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2533 เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นไปถึงจุดหนึ่ง ก็แตกตัวออกมาเป็นบริษัทย่อยๆ อีก 17 ธุรกิจในเครือ จนกลายเป็นอาณาจักรของธุรกิจงานอีเวนท์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย

เกรียงไกรลุกขึ้นแล้วเดินไปหยิบกรอบรูปมายื่นให้เราดู เป็นกระดาษหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นหน้าหนึ่ง ที่เขาตัดเก็บไว้ตั้งแต่เมื่อเกือบสิบปีก่อน ภาพเขากำลังประสานมือกับน้องชายฝาแฝด เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน

“น้องชายผมชอบเล่นกีตาร์” เขาเล่าถึงน้องชายที่ต้องเดินทางไปๆ มาๆ ต่างประเทศ สลับกับเขาแทบตลอดเวลา ทำให้ช่วงนี้ไม่จำเป็นจะต้องปรากฏตัวพร้อมกันในสื่อต่างๆ เพราะถึงแม้พวกเขาโตมาด้วยกัน และทำงานด้วยกันมาตลอดจนถึงวันนี้ แต่เมื่อเติบโตขึ้นก็ต่างจะต้องมีเรื่องราวในใจให้ขบคิด และมีแง่มุมชีวิตที่แตกต่างกันไป

“และก็คนโน้นเป็นนักร้องนำของวงเรา” ชี้ไปที่ทีมงานสาวสวย ที่มายืนดูพวกเรากำลังทำงานเก็บภาพของเกรียงไกรในอิริยาบถสบายๆ

ส่วนตัวเขาเองชอบเพลงร็อคยุค 1980s ตามประสาหนุ่มใหญ่วัย 40 กว่า แต่น้องๆ ในวงไม่รู้จักเพลงพวกนี้ เขาจึงต้องหัดเล่นเพลงวัยรุ่น ของบอดี้สแลม ริชแมนทอย เพื่อจะได้แจมกับคนอื่นได้อย่างกลมกลืนทุกวันนี้ เขามาออฟฟิศแปดโมงเช้าและกลับบ้านตอนสองทุ่ม เขาบอกว่ามาทำงานก็เหมือนไม่ได้ทำงาน เหมือนมานั่งคุยเพื่อแชร์ประสบการณ์ วางยุทธศาสตร์ในอนาคตไกลๆ และสนับสนุนให้ทีมงานทุกคนได้ทำงานออกมาอย่างโดดเด่น เขาสนับสนุนแม้กระทั่งนักศึกษาฝึกงาน ให้เข้ามามีส่วนร่วมเบรนสตอร์มสร้างสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญของบริษัทนี่เป็นวิธีคิดแบบ เกรียงไกร กาญจนะโภคิน และกลายมาเป็นวัฒนธรรมองค์กรของอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ที่จะช่วยให้พวกเขายังคงรักษาจิตวิญญาณ Never Stop Creating ไว้ได้ในขณะที่ธุรกิจกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการขยายตัวให้ใหญ่โตขึ้นไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก เมื่อมาถึงจุดที่ธุรกิจอีเวนท์ไม่ใช่ดาวรุ่งอีกต่อไป และมีการแข่งขันที่สูงขึ้น

จะเกิดอะไรขึ้นกับอีเวนท์ มาร์เก็ตติ้ง? และเขานำทางและเกื้อหนุนให้คนรุ่นใหม่ในองค์กรร่วมกันเดินหน้าไปได้อย่างไร? นี่คือประเด็นหลักที่ GM นำมาพูดคุยกับเกรียงไกรตลอดบ่ายวันนั้น

GM: ช่วงนี้มีประเด็นอะไรที่คุณกำลังติดตามเป็นพิเศษบ้าง

เกรียงไกร : ช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อของอะไรๆ หลายด้านนะครับ สังคมสมัยใหม่ วิถีชีวิตสมัยใหม่ คนไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่ผมสังเกตเห็นคือตอนนี้ทุกอย่างอยู่บนมือถือหมดแล้ว ที่อยู่อาศัยก็เปลี่ยนจากบ้านมาสู่สังคมคอนโดฯ กลายเป็นวิถีชีวิตบนรถไฟฟ้า ทั้งหลายเหล่านี้เป็นช่วงรอยต่อ รวมถึงเรื่อง AEC ด้วยที่จะผลักดันวิถีชีวิตคนไทยให้เปลี่ยนแปลงไป แต่จะเปลี่ยนไปทางบวกหรือทางลบก็แล้วแต่คน อย่างคนที่สามารถปรับตัวได้ เรียกว่าฉกฉวยโอกาสเก่ง ก็จะมีโอกาสมากขึ้น ส่วนคนที่ปรับตัวไม่ได้จะเหนื่อยแน่ หลายคนเริ่มปรับตัว แต่บางคนยังไม่รู้ร้อนรู้หนาว

GM: ในช่วงรอยต่อที่วิถีชีวิตของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป การจัดงานอีเวนท์ต่างๆ จะกระทบอย่างไร

เกรียงไกร : ในด้านหนึ่ง ผมคิดว่าคนในยุคนี้ Get Closer กันมากขึ้น เพราะเราเข้าถึงกันและกันได้ง่ายขึ้น การเชื่อมต่อมันเยอะขึ้น เราจึงสามารถติดต่อกับบางคน บางกลุ่ม ได้ตลอดเวลา แม้จะไม่มีโอกาสได้เจอหน้ากัน

จริงๆ เลย อย่างทุกวันนี้ ผมทักทาย Good Morning กับทีมงานอินเด็กซ์ที่อยู่เวียดนามและพม่าได้ทุกเช้า สามารถแชร์สิ่งต่างๆ กับเขาได้เร็วขึ้น เมื่อวานอินเด็กซ์ประเทศไทยเราจัดงานหนึ่งขึ้นมา ผมสามารถแชร์เรื่องราวไปให้ทีม

ที่อยู่เวียดนามดูเป็นตัวอย่างได้เลย ว่าพวกเราที่นี่ทำอะไรไปบ้าง นี่คือด้านที่ดีของความเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างใกล้กันมากขึ้น และทุกอย่างก็เร็วขึ้นด้วย โลกวันนี้ ใคร ทำอะไร ที่ไหน แค่ในชั่วพริบตาผู้คนก็รู้กันทั่วโลกแล้ว ต่างจากเมื่อก่อน ที่อาจต้องรอกันเป็นวันๆ ถึงจะรู้ข่าวสารที่เกิดขึ้น มีหลายคนมาถามผม ว่าความเปลี่ยนแปลงตรงนี้จะเป็นอุปสรรคสำหรับธุรกิจอีเวนท์หรือเปล่า และผมก็ตอบไปว่าพวกเราต้องปรับตัวเข้าหามัน และเรียนรู้ที่จะใช้มันให้เป็นประโยชน์

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว เรื่องไลฟ์สไตล์ก็เอื้อกับอีเวนท์ คุณสังเกตไหม คนในปัจจุบันชอบออกนอกบ้านกันมากขึ้น เพราะอะไร? เพราะเดี๋ยวนี้คนเราต้องไปอยู่คอนโดฯ พอถึงวันเสาร์-อาทิตย์ เราคงไม่อยากนอนอยู่แต่ในห้อง

ใช่ไหม ถึงแม้จะเป็นห้องใหญ่ๆ 100-200 ตารางเมตร คุณจะขลุกอยู่ในห้องกันทั้งวันได้หรือ มันเป็นธรรมชาตินะ คือเราจะต้องไปอยู่ในที่ที่มีสเปซเยอะๆ เหมือนกันกับเรื่องเทคโนโลยี เราอยู่ในโลกดิจิตอลได้ชั่วเวลาหนึ่ง นอกจากนั้นแล้ว เราจะอยากเจอธรรมชาติ อยากเจอสิ่งแปลกใหม่ในชีวิต โลกยุคใหม่ทำให้คนเดินทางมากขึ้น เร็วขึ้น สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น การถ่ายเทของคนในภูมิภาคมีมากขึ้น ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจของหลายๆ คน อุปกรณ์ต่างๆ

มีแบตเตอรี่อยู่ในตัว แถมเราเชื่อมต่อแบบไร้สายได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องถูกขังอยู่ในบ้าน อยู่ในออฟฟิศ เมื่อก่อนเขาใช้คำว่า ‘ออนไลน์’ เพราะมันต้องมี ‘ไลน์’ จริงๆ คือต้องมีโต๊ะไว้ตั้งคอมพิวเตอร์ มีสายไฟ สายโทรศัพท์ เสียบเข้ามาหาเรา แต่ตอนนี้คำว่า ‘ออนไลน์’ ของเราคือ Anywhere, Anytime ในเมืองไทยบ้านเราตอนนี้ เกินกว่า 50-60% แล้วนะ ที่ออนไลน์จากโมบายล์ พฤติกรรมการดูทีวีก็เปลี่ยนไปอีก สามารถดูย้อนหลังได้ เด็กสมัยใหม่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอมือถือมากกว่าหน้าจอทีวีด้วยซ้ำ เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในบ้าน หรือในออฟฟิศตลอดเวลา

GM: แต่คุณสร้างตึกออฟฟิศอินเด็กซ์ใหญ่โต และมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาประชุมงานกันทั้งวันอยู่ดี

เกรียงไกร : (หัวเราะ) ออฟฟิศเป็น Traditional Way ที่ทำให้คนเราได้เจอหน้ากัน มีมีตติ้งกัน ถามว่าจำเป็นแค่ไหนที่ต้องมาเจอกันที่ออฟฟิศ แน่นอนว่าในอนาคต ผมอยู่ที่ไหนก็สามารถสั่งงานน้องๆ ได้ แต่ผมยังเชื่ออยู่ว่าการได้เจอหน้ากันจริงๆ ทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น ไม่อย่างนั้นเราจะสร้างวัฒนธรรมไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งกว่าตัวเนื้อหาในการพูดคุย มันมีสัมผัสอื่นๆ ที่เราต้องการอีกมากมาย เป็น Human Touch มันลึกซึ้งกว่าการ

สั่งงานหรือประชุมกันทางออนไลน์ ทุกวันนี้ ไม่ต้องบนรถไฟฟ้าหรอกนะ ที่จะมีแต่คนก้มหน้ากดโทรศัพท์ ที่อื่นๆ ก็เป็นเหมือนกันหมด อย่างในห้องประชุมเราตอนนี้ (หยอกล้อกับทีมงานอินเด็กซ์ที่กำลังก้มหน้ากดโทรศัพท์) ทุกวันนี้เป็นสังคมก้มหน้า นั่งอยู่บนโต๊ะกินข้าวด้วยกัน แต่ทุกคนก้มหน้าหมด แล้วไม่รู้จะนัดกินข้าวด้วยกันทำไม

อย่างเวลามีคนมาสมัครงานที่อินเด็กซ์ ผมยังต้องการให้เขากรอกเอกสารด้วยลายมืออยู่เลยนะ พวก HR ชอบมาถามว่าทำไมต้องให้กรอกรายละเอียดด้วยลายมืออยู่อีก ผมตอบไปว่าเราจะไม่มีทางรู้ความมีระเบียบของเขาเลยนะ ถ้าไม่เห็นลายมือของเขา มันบอกถึงความใส่ใจของเขา บอกว่าเขาเป็นคนอย่างไร สามารถดูได้จากลายมือ จะให้ดูจากการแต่งตัว บุคลิกภายนอกอย่างเดียวไม่ได้หรอก เพราะคนมาสมัครงานต้องแต่งตัวดีกว่าวันปกติอยู่แล้ว จริงไหม? ดิจิตอลทำให้เราเร็วขึ้น สะดวกขึ้นก็จริง แต่มีหลายๆ อย่างที่เรายังต้องเรียนรู้จากโลกแห่งความจริง ผมคุยกับคนมาเยอะ พอเดินมาผมรู้เลยว่าคนนี้มีบุคลิกนิสัยอย่างไร เหมือนเป็น Gut Feeling ที่ผุดขึ้นมา คนนี้น่าจะใช่ คนนี้อืมม์…ไม่ใช่แน่ๆ เหมือนการดูโหงวเฮ้ง แต่ของผมเกิดจากการพูดคุย เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กับตัวเขาจริงๆ คนในบริษัทจะรู้กันดีว่าเวลาผมสัมภาษณ์งาน ผมจะมีคำถามสุดท้าย คือคุณมีอะไรอยากจะถามผมไหม ให้ถามผมได้ 2 คำถาม ผมจะรู้ว่าคนที่ผมสัมภาษณ์เป็นคนอย่างไร เพราะบางคนไม่มีคำถาม บางคนถามคำถามที่ไม่ใช่ ก็สอบตก

GM: ในอนาคต ทุกอย่างจะถูกทำให้เป็นดิจิตอล และโลกเราจะกลายเป็น Virtual Reality กันหมดแล้ว

เกรียงไกร : ก็ไม่อย่างนั้นเสมอไปหรอกนะ คุณสังเกตบ้างหรือเปล่า ทุกวันนี้ เราทุกคนยังพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องวัฒนธรรมย้อนยุคกันอยู่เลย แล้วคนที่อยากไปเห็นเรื่องย้อนยุคก็เป็นคนรุ่นน้องๆ เราทั้งนั้นเลยนะ ทำไมเขาอยากไปเพลินวาน อยากไปปารีส อยากไปโรม ถามว่าตรงนั้นคืออะไร ปารีสและโรมมีแต่ของเก่าหมดเลย ทำไมคนรุ่นใหม่ยังอยากจะเสพอะไรพวกนี้อยู่ คำตอบสุดท้ายมันคือ Real Experience นั่นแหละ เพราะไม่อย่างนั้น ทุกคนแค่ดูสารคดีในทีวีเกี่ยวกับปารีส 1 ตอนก็พอแล้ว ทำไมเรายังอยากเห็นของจริง ทำไมยังอยากเดินทางไปไกลๆ เจอสถานที่กว้างใหญ่ โลกเสมือนมันเป็นแค่ช่วงหนึ่งของเรา สุดท้ายที่ทุกคนใฝ่หาประสบการณ์จริง เพราะคนเราเกิดมาพร้อมกับสัมผัสทั้ง 5 เป็นการดีไซน์มาจากธรรมชาติแล้ว ว่าให้มนุษย์ต้องสัมผัสกับโลกรอบตัวแบบนี้ มนุษย์คงไม่อยากก้มหน้ามองมือถือหรือไอแพดตลอดเวลา ก้มหน้าดูละคร ดูทุกอย่าง มันไม่ใช่ เราอยากเงยหน้าขึ้นมาเห็นของจริง

GM: แต่การไปงานอีเวนท์ ก็ใช่ว่าเราจะได้เสพความจริงนะครับเพราะสิ่งต่างๆ ในงานล้วนถูกสร้างขึ้น จำลองขึ้นมา

เกรียงไกร : ก็ถูกต้องนะครับ อย่างกรณีของ ไทยแลนด์ พาวิเลียน ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อปี 2010 และที่เมืองยอซู ประเทศเกาหลี เมื่อปี 2012 งานที่เราออกแบบและสร้างขึ้นมา เราเรียกว่า Real Brand Experience คำว่าแบรนด์

ก็หมายถึงประเทศไทย ส่วนคำว่าเอ็กซ์พีเรียนซ์ เราหมายถึงประสบการณ์โดยรวมที่คุณจะได้รับ เวลาคนจีนหรือคนเกาหลีเดินเข้ามาที่พาวิเลียนของเรา สิ่งหนึ่งที่เราจงใจออกแบบไว้เลย คือทำให้มันมี Human Touch ที่สะท้อนความเป็นไทยมากที่สุด เราจัดเจ้าหน้าที่คนไทยทั้งหมดเข้าไปยืนให้ข้อมูล แทนที่จะใช้คนในท้องถิ่นเหล่านั้น มีหนังสือพิมพ์ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวถึงงานของเราว่านี่คือ Hospitality แบบคนไทย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่มีในพาวิเลียนอื่นๆ เลย เห็นคนไทยไปช่วยจูงคนแก่ ช่วยจูงเด็กๆ สำหรับผม ผมถือว่านี่คือ Real เพราะมันออกมาจากดีเอ็นเอของคนไทย

แน่นอนว่าทั้งพาวิเลียนนั้นคือสิ่งก่อสร้าง เมื่อเดินเข้ามาก็จะเห็นสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ มีคนมาคอมเมนต์ไว้ว่า อินเด็กซ์มีปัญญาออกแบบได้เท่านี้เองเหรอ ผมก็ตอบไปว่างานแบบนี้มันไม่ใช่การแข่งขันด้านการออกแบบ แต่เป็นเรื่องของ National Branding ต่างหาก เป็นการทำแบรนด์ให้กับประเทศไทย เท่าที่พวกเรารีเสิร์ชกันมา ก็พบว่าสิ่งที่จะสะท้อนความเป็นไทยได้ง่ายที่สุด คือต้องเอา Traditional นั่นแหละมาใช้ เพราะเป็นสิ่งที่มีเอกลักษณ์และแตกต่างจากคนอื่น ถามว่าในเมืองไทยเรามีโมเดิร์นดีไซน์ไหม เราก็มี เราก็ทำได้ แต่เราเลือกนำเสนอสถาปัตยกรรมไทยแบบนี้ แต่ข้างในเราไฮเทคมาก จากการรีเสิร์ชพบว่าคนจีนสมัยใหม่ชอบอะไรหวือหวา ถามว่าสิ่งเหล่านี้ Fake ไหม? ผมคิดว่ามันคือการเลือกสิ่งที่เราจะนำมาเสนอและวิธีการนำเสนอมากกว่า เรารีเสิร์ชทุกอย่าง แม้กระทั่งเวลาในการนำเสนอทั้งหมด ว่าควรใช้เวลาสั้นหรือยาวแค่ไหนในการนำเสนอ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อนำไปสู่เนื้อหาสาระที่เราต้องการให้คนที่เดินออกมาจากไทยแลนด์ พาวิเลียน คือชอบคนไทยจังเลย ประเทศนี้เจ๋งว่ะ มีอะไรให้ดูเต็มเลย แค่นี้พอแล้ว มิชชั่นของเราอยู่แค่ตรงนี้แหละ เราเอา Digital มานำเสนอเนื้อหา Traditional ซึ่งแตกต่างไปจากของประเทศอื่น หลายพาวิเลียนพยายามที่จะ Go Digital ไปเลย ซึ่งผมไม่ปฏิเสธโลกปัจจุบัน ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี ผมแช็ต ผมไลน์ แต่มันอยู่ที่การเลือกว่าจะใช้อย่างไร ยกตัวอย่าง ไทยแลนด์ พาวิเลียน ที่เกาหลี ผมรู้ว่าเงินเราน้อย จะทำอย่างไรให้เกิด Awareness ได้มากๆ ก็เลยตั้งกลยุทธ์ไว้ว่า จะทำอย่างไรให้คนมาถ่ายรูปพาวิเลียนของเรามากที่สุด และให้เขาแชร์มากที่สุด เพราะคนเกาหลีชอบแชร์ ชอบใช้โซเชียลมีเดียเหมือนคนไทยเรานี่แหละ พอเข้าใจธรรมชาติของกลุ่มเป้าหมาย เราก็สามารถใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

อย่างที่บอกไว้ ว่าช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน นอกจากธุรกิจอีเวนท์แล้ว ธุรกิจสิ่งพิมพ์ของคุณก็คงเจอเช่นกัน คนเริ่มหันไปอ่านหนังสือบนไอแพด แต่ผมคิดว่าเขาต้องการความง่ายเท่านั้นเอง คอนเทนต์สำคัญที่สุด คนอ่านหนังสือเพราะอ่านคอนเทนต์ เขาเพียงแค่เปลี่ยนแพลตฟอร์มเท่านั้น เราก็ต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจตามไปให้ทัน จากหนังสือเป็นเล่มๆ ให้มาอยู่บนดิจิตอลแพลตฟอร์ม ซึ่งต้นทุนการพิมพ์ไม่มีแล้ว ค่าขนส่งไม่มีแล้ว สองสิ่งนี้คือต้นทุนที่ทำให้หนังสือแพงใช่ไหม แล้วเราก็จะได้หันมาให้ความสำคัญว่าทำคอนเทนต์อย่างไรให้น่าสนใจ มันเป็นเรื่องของคอนเทนต์ล้วนๆ วันนี้มีคนพูดถึงละครที่ฮิตที่สุดตอนนี้คือเรื่อง ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ว่ารายการหรือละครยอดฮิตไม่จำเป็นต้องอยู่ในฟรีทีวีอีกต่อไป ก็ไปอยู่ช่องดาวเทียม จีเอ็มเอ็มวัน มันก็แค่เปลี่ยนช่องทางเท่านั้น คอนเทนต์ที่ดีไม่ว่าจะย้ายไปอยู่ในช่องทางไหน คนก็ยังแสวงหามาเสพอยู่ดี ไม่ว่าจะไปอยู่ในฟอร์แมตไหนก็ตาม

GM: แล้วธุรกิจอีเวนท์จะมีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มไหม ทุกวันนี้เราต้องมีสถานที่จริง มีเวที มีแบ็คดร็อป มีอาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุนทั้งนั้น

เกรียงไกร : มันแตกต่างกันนะ อีเวนท์มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง มันเลิกจัดไม่ได้ ไม่เหมือนการเปลี่ยนแพลตฟอร์มสิ่งพิมพ์จากกระดาษไปเป็นดิจิตอล อีเวนท์ก็ยังเป็นอีเวนท์เหมือนเดิม แต่เราจะผนวกการสื่อสารในยุคดิจิตอลเข้าไปช่วย ทำให้ข่าวสารเกี่ยวกับอีเวนท์นั้นๆ ขยายตัวออกไปมาก ผมใช้ว่า Analog Event จะมี Digital Event เข้ามาช่วยให้กว้างขึ้น กลายเป็น Hybrid Event เชื่อมโยงให้เป็นเรื่องเดียวกัน ผมคิดว่าในทุกวันนี้ คนที่มาร่วมงานของเรา

ทุกคนกำลังนั่งอยู่ในอีเวนท์ แต่ในเวลาเดียวกันนั้น เขาจะเปิดช่องทางสื่อสารออกไปสู่ดิจิตอล เพื่อนๆ ของเขาอีกนับร้อยก็สามารถมาจอยกันได้ แต่แน่นอนว่าเพื่อนๆ พวกนั้น ไม่สามารถเห็นของจริงได้เหมือนเขา นี่คือเหตุผล ว่าทำไมคนไทยต้องแห่ไปดูเชลซีในสนาม แห่ไปดูแมนฯ ยูฯ ในสนาม เพราะเราอยากเห็นของจริง แต่เห็นของจริงซึ่งไกลมากๆ เลยนะ เห็นนักฟุตบอลตัวเล็กๆ แต่การที่คนมารวมตัวกันเยอะๆ ในสนาม มันกลายเป็นสิ่งใหม่ มันมีบรรยากาศ เป็นประสบการณ์อีกแบบหนึ่งไปเลย ซึ่งแตกต่างจากการดูภาพจากเฟซบุ๊คของเพื่อน หรือการดูถ่ายทอดสดทางทีวี

GM: เหมือนคืนวันสิ้นปี ที่เราไม่สามารถนั่งเคานต์ดาวน์อยู่หน้าจอทีวีคนเดียว

เกรียงไกร : (หัวเราะ) นั่นแหละๆ มันไม่มีความสุข เราต้องเคานต์ดาวน์กันหลายๆ คน ถึงจะมีความสุข อย่างกรณีหนังโรงก็เหมือนกัน ผมนั่งดูดีวีดีหนังเรื่อง พี่มาก…พระโขนง อยู่ที่บ้าน มันก็สนุกแหละ แต่ก็นึกขึ้นมา ว่าถ้าได้ไปดูในโรงคงจะยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่ เพราะมันมีบรรยากาศของคนอื่นๆ ที่หัวเราะขึ้นมาพร้อมกัน บรรยากาศร่วมเป็นสิ่งสำคัญมากนะ อย่างเมื่อก่อน คนเราจะรับข้อมูลจากสื่อมวลชน เวลาสื่อแนะนำร้านอาหาร เราก็อยากไปกิน แต่วันนี้ไม่ใช่ แค่มีเพื่อนมาเล่าให้ฟัง หรือมาโพสต์รูปภาพ มีคนมาคอมเมนต์ ก็ยิ่ง Convince เรามากกว่าสื่อมวลชนเสียอีก เพราะเราทุกคนโตมากับสื่อมวลชนและการโฆษณา เราจึงไม่ค่อยเชื่อมันหรอก พอมีคนคอมเมนต์ว่ามันดี เราจึงเชื่อว่าน่าจะดี ในโลกยุคนี้ สิ่งที่เป็น Real Experience กลับจะมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น เพราะมัน Convince เราได้มากกว่า

GM: เมื่อสิบกว่าปีก่อน ผลงานของอินเด็กซ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง อย่างงานเนสกาแฟ เชค ที่ใช้ แสงระวี อัศวรักษ์์ เป็นพรีเซ็นเตอร์ ถ้าสมมุติว่าเรานำกลับมาจัดกันในยุคสมัยรอยต่อแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ อินเด็กซ์จะจัดมันอย่างไร

เกรียงไกร : เอ้อ! เป็นคำถามที่ดีมากนะครับ ผมยังไม่ทันได้นึกถึงมาก่อน ยุคสมัยมันต่างกันมากเลย มุมหนึ่งคงง่ายขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งคงยากขึ้น ในวันนั้นภาพบนบิลบอร์ดยังเป็นภาพวาดเลยนะ ไม่ใช่ภาพถ่ายจริงๆ คนเพ้นต์

คงเพ้นต์เก่งมาก แสงระวีสวยมาก จนรถชนกันบนทางด่วนเพราะมัวแต่ดูรูปบิลบอร์ดแสงระวี แล้วไทยรัฐเอาไปลงข่าวหน้าหนึ่ง จริงๆ แล้วแสงระวีไม่ใช่นักแสดงดาวรุ่งดวงใหม่ แต่บังเอิญด้วยข่าวในไทยรัฐ ทำให้เธอกลายเป็นกระแสแบบชั่วข้ามคืน วิธีการฉกฉวยโอกาสจากกระแสตรงนี้ต่างหากที่น่าสนใจ เนสกาแฟเลยหยิบเอาตัวจริงของแสงระวีไปโชว์ตัวตามที่ต่างๆ คนอยากเจอแสงระวีตัวเป็นๆ เพราะตอนนั้นรูปภาพจริงๆ ยังไม่มีเลย มีแต่รูปวาด นั่นคือจุดเริ่มต้นของบริษัทอินเด็กซ์เลยก็ว่าได้ และถือเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจอีเวนท์ มาร์เก็ตติ้งในเมืองไทยด้วย มีแสงระวีตัวจริง มีแดนเซอร์ออกมาเต้น ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นสิ่งใหม่ วันนี้ถ้ามีคนมาบอกว่า คุณเมฆมาช่วยจัดอีเวนท์ให้เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เหมือนตอนทำเนสกาแฟ เชค แสงระวี หน่อยได้ไหม หรือตอนที่ทำงานอีเวนท์แชมพูลักซ์ซูเปอร์ริช ผมจะบอกว่ามันไม่ได้ง่ายเหมือนเก่าแล้วนะ เพราะเกมมันคือทั้งโลก ต่อให้วางแผนดีอย่างไรก็ตามที่จะเป็นข่าวหน้า 1 ไทยรัฐ เปรี้ยง เมื่อคืนมีปฏิวัติที่ประเทศหนึ่ง ชั่วข้ามคืน หนังสือพิมพ์เขาสามารถเปลี่ยนพาดหัวได้เลยทันที ข่าวเราอาจกลายเป็นข่าวรองหรือย้ายไปอยู่หน้าใน บนความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของธุรกิจอีเวนท์ ที่จะทำให้มันกลายเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เหมือนสมัยก่อน แต่ในทางกลับกัน การจะเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ถ้าคุณไม่ยึด KPI ว่าต้องเป็นการขึ้นหน้า 1 ไทยรัฐเท่านั้น แต่คุณก็สามารถเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ โดยใช้โซเชียลมีเดียจากกลุ่มคนที่คุณอยากสื่อสาร จะทำให้จำเพาะเจาะจงได้มากยิ่งขึ้น เราอย่าใช้ความเคยชินในอดีตมาวัด หรือใช้ KPI เดิมๆ มาวัด

GM: ในยุคนี้นักการตลาดยังให้ความสำคัญกับอีเวนท์หรือเปล่ามีงบมาใช้กับอีเวนท์จำนวนเท่าไรต่อปี

เกรียงไกร : ทุกปีธุรกิจอีเวนท์มีการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นธุรกิจที่มีไดนามิกสูงมาก ขึ้นอยู่ที่ว่าเราสามารถปรับตัวหรือปรับยุทธศาสตร์องค์กรให้เหมาะกับธุรกิจแต่ละช่วงหรือเปล่า ย้อนกลับไปดูการทำธุรกิจของลูกค้าเรา ส่วนใหญ่ก็จะเห็นว่าแผนกต่างๆ ในบริษัท เริ่มต้นที่ฝ่ายการตลาด แล้ววันหนึ่งก็มีฝ่ายโฆษณา แล้วต่อมาก็มีฝ่ายประชาสัมพันธ์ จนเดี๋ยวนี้ต้องมีฝ่ายอีเวนท์กันทั้งนั้น นั่นแปลว่าแทบทุกธุรกิจให้ความสำคัญมากกับอีเวนท์ จริงไหม? เพราะเขาถึงกับตั้งเป็นแผนกกันขึ้นมาเลย อย่างเมื่อก่อน คนจะตั้งงบประมาณด้านการตลาด ก็มุ่งไปที่โฆษณาอย่างเดียว ถ้ามีเศษเงินถึงจะทำประชาสัมพันธ์ แต่เดี๋ยวนี้ธุรกิจมีแนวคิดแบบใหม่ เขาเรียกงบประมาณก้อนนี้ว่า งบคอมมูนิเคชั่น แล้วก็เอาไปทำด้านต่างๆ เช่น วันนี้ฉันจะใช้ทำอีเวนท์ก่อน แล้วค่อยทำแอดเวอร์ไทซิ่ง ถ้าเป็นเมื่อก่อน วิธีคิดคือต้องรอให้มีหนังโฆษณาในทีวีออกมาก่อน แล้วก็จะมีบิลบอร์ด แล้วก็จะมีโฆษณาในสิ่งพิมพ์ หลังจากนั้นเขาจะทำอีเวนท์ออกตามมา เพราะต้องทำให้อีเวนท์ออกมาในรูปแบบเดียวกับหนังโฆษณา จะได้เป็นธีมเดียวกัน เมื่อก่อนนี่ผมรู้เลย ก็นั่งรอไปสักพัก พอดูหนังโฆษณาสินค้าอันนี้เสร็จ รู้แล้วอีกไม่นานจะมีงานอีเวนท์มาถึงพวกเรา แต่ยุคนี้เปลี่ยนไปแล้ว มันขึ้นกับยุทธศาสตร์ของลูกค้า เขาอาจเริ่มต้นด้วยอีเวนท์ก่อนเลยก็ได้ เขาใช้วิธีเชื่อมโยงหลายๆ เครื่องมือเข้ามาหากัน เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน นี่ต่างหากที่เป็นโมเดลของการทำธุรกิจสมัยใหม่ มันคือการทำคอมมูนิเคชั่น โลกเปลี่ยนไป ทำให้อีเวนท์เป็นหนึ่งในวิธีที่ลูกค้าใช้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความศักดิ์สิทธิ์ของธุรกิจอีเวนท์ เมื่อเทียบกับช่วง 20-30 ปีที่แล้วมันน้อยลง ความศักดิ์สิทธิ์ในความหมายของผม คือการจัดอีเวนท์แล้วดังเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ อะไรทำนองนั้น

GM: อยากให้เล่าถึงปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเศรษฐกิจสังคม และการเมืองไทย ว่าส่งผลกับอินเด็กซ์อย่างไรบ้าง

เกรียงไกร : ตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยที่คุณกล่าวมาทั้งหมด มีผลกระทบกับธุรกิจอีเวนท์เยอะมาก บ้านเรานี่แทบจะไม่ได้อยู่กันอย่างสงบสุขเลย ทั้งเรื่องม็อบการเมืองฝ่ายต่างๆ ที่มากันทุกเสาร์-อาทิตย์ ปีก่อนนั้นที่ทำท่าจะดีกลายเป็นว่าเกิดน้ำท่วมใหญ่ ความไม่ปลอดภัยบางช่วงที่เกิดระเบิดก็กระทบกับธุรกิจอีเวนท์ แต่ในมุมมองของผม ผมคิดว่าพวกเรามีภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราไม่มีชีวิตที่ปกติเลย เราจึงฉีดวัคซีนไปหลายเข็มแล้ว ยกตัวอย่างช่วงที่เราเจอม็อบเยอะๆ ต้องบอกว่าธุรกิจอีเวนท์เราเจอวิกฤติกันจนชินแล้ว ก่อนสงกรานต์เพิ่งยิงกัน พอม็อบเลิก ก็จัดงานฉลองสงกรานต์กันแล้ว เหมือนเมื่อวานไม่ได้เกิดอะไรขึ้น ผมว่าเป็นธรรมชาติของคนไทยที่แปลก คือสถานการณ์ทุกอย่างจะกลับคืนมาเร็วมาก ไม่เหมือนฝรั่ง อย่างเกิดระเบิดที่บอสตัน เขาซึมเศร้าทั้งประเทศ ที่บอกว่าคนไทยลืมง่ายมันจริงสุดๆ

ขณะเดียวกัน การแข่งขันในธุรกิจอีเวนท์ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย เมื่อก่อนคือ ‘งานแบบนี้ต้องอินเด็กซ์เท่านั้นถึงจะทำได้’ แต่ยุคนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นอินเด็กซ์แล้ว เพราะเทคโนโลยีหลายอย่างซื้อกันได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังมีมุมมองที่มั่นคงสม่ำเสมอ คือเราคิดมากกว่างานอีเวนท์ หลายคนมองอีเวนท์แบบฉาบฉวยมาก คือแค่ Make It Happen! แล้วก็เสร็จๆ ไป แต่ผมมองว่าสิ่งที่เราทำ ที่เราคิด มันจะเชื่อมโยงไปสู่อะไร เรามองว่าอีเวนท์ไม่ใช่แค่เรื่องข้างบนเวที มีนักแสดง มีพิธีกร แค่นั้น แต่เรามองว่าอีเวนท์คือการสื่อสารที่คุณต้องให้ความสำคัญกับมันในทุกๆ องค์ประกอบ ตั้งแต่แขกของเราก้าวเดินเข้ามาในงาน Mood & Tone จะเป็นอย่างไร คุณจะสามารถสื่อสารเมสเสจสำคัญไปในรูปแบบไหนได้บ้าง บางอย่างไม่ต้องบอกบนเวทีเลยด้วยซ้ำ บางอย่างบอกผ่านอาหารที่เราเสิร์ฟ เครื่องดื่มที่เราให้การต้อนรับ ทุกสัมผัสคือการสื่อสารหมด ผมขอฟันธงเลยว่าเกิน 90% ของบริษัทอีเวนท์ในเมืองไทย เขาคิดแค่จะทำอีเวนท์อยู่บนเวทีเท่านั้นเอง ไม่ได้คิดถึงองค์ประกอบอื่นว่าคือสิ่งสำคัญ คือ Real Experience

GM: ลูกค้าเข้าใจเรื่องพวกนี้แค่ไหน

เกรียงไกร : เราอยากเห็นว่าลูกค้าสนใจเรื่องพวกนี้ด้วย แต่แน่นอนว่า

เราบังคับลูกค้าไม่ได้ ในเมื่อตลาดส่วนใหญ่ อยากเห็นอีเวนท์ที่ง่ายๆ ใครก็ทำได้ ขอคิดราคาถูกๆ แบบนี้ เราก็ต้อง Diversified ธุรกิจออกไปทำในสิ่งที่คนอื่นยังทำไม่ได้ เช่น การขยายตัวไปในตลาดต่างประเทศ ซึ่งกลายมาเป็นยุทธศาสตร์หลักของเราในช่วงนี้ ต้องบอกว่าเราก้าวนำหน้าตลาดอยู่ตลอดเวลา การที่เราไปพม่า ไปเวียดนาม ยอมรับว่าเหนื่อย ยาก และท้าทายมากขึ้น แต่ก็เป็นยุทธศาสตร์ของบริษัทเราเอง เพราะเราเชื่อว่าการตลาดยุคใหม่จะมีประเทศไทยเป็นฮับของภูมิภาคนี้ และคนไทยจะเป็นตัวผลักดันการตลาดของภูมิภาคนี้ เราถึงเริ่มตั้งต้นจากในพม่าและเวียดนามก่อน เพราะเราเห็นว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก บินแค่ชั่วโมงเดียวถึง ประเทศไทยได้เปรียบมากในเชิงภูมิศาสตร์ ยุทธศาสตร์นี้น่าจะถูกต้อง เราทำตรงนี้มา 2 ปี หลายสัญญาณเริ่มเห็นชัด ลูกค้าของเราเองหลายราย ได้ขยายตลาดไปในระดับภูมิภาค เขาเองก็อยากให้เราไปทำงานอีเวนท์ให้ที่นั่นด้วยเหมือนเดิม นักการตลาต้องการบริษัทอีเวนท์ที่คุยในเมืองไทยแล้วจบทุกกระบวนการ ทำได้เลยทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ตอนนี้เราพยายามขยายไปสู่ทุกๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ เป็นการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันทางธุรกิจในระดับภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น เราต้องเป็นบริษัทระดับภูมิภาค ระดับนานาชาติ ไม่ได้เป็นบริษัทโลคัลอีกต่อไป

GM: ทั้งหมดนี้เป็นเพราะสถานการณ์ในประเทศเราบังคับใช่ไหม

เกรียงไกร : มันเป็นยุทธศาสตร์ขององค์กรมากกว่า ผมมองว่าถ้าเราจะยืนอยู่ในประเทศไทย มันก็ยืนได้อยู่ แต่ยุทธศาสตร์โดยรวมของประเทศไทย หรือของทั้งภูมิภาค จะอย่างไรก็ตาม พวกเราต้องเป็น Regional อยู่ดี ถ้าเรา

ไม่ขยับตัว ถ้าเราจะอยู่เท่าเดิม เราจะเล็กลงไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ ตรงกันข้าม การมูฟไปข้างหน้า กลับจะช่วยรักษาฐานลูกค้าในประเทศเราไว้ด้วยซ้ำ แถมยังมีโอกาสขยายตลาดใหม่ๆ ได้มากขึ้นอีก ผมต้องยืนยันคำเดิม ที่ผมเคยให้สัมภาษณ์ไปหลายที่ ว่าผมไม่ใช่นักธุรกิจ ผมแค่เป็นคนที่ชอบทำงาน และไม่ได้มองว่ามันคือธุรกิจ แต่เป็นงานที่ผมรักและเป็นความท้าทายในชีวิต อย่างล่าสุด ผมก็กลับมาเล่าให้น้องๆ ที่ออฟฟิศฟัง ว่าไม่นึกฝันว่าทำอีเวนท์แล้วจะได้ไปเจอคนระดับรัฐมนตรี แค่ในประเทศไทยนี่ผมก็ดีใจแล้วนะ แต่เมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้ไปคุยกับรัฐมนตรีของเวียดนาม เมื่อเดือนก่อนก็ไปเจอของพม่า หลายกระทรวง ได้กินข้าวกับรัฐมนตรีด้วย นั่งนึกๆ ดู ก็รู้สึกว่าชีวิตนี้งานอีเวนท์พาเรามาไกลมาก พามาพบกับสิ่งที่ไม่เคยคิดฝันมาก่อน เป็นความภูมิใจของทั้งตัวเอง ทั้งของบริษัท และของคนไทย โห! ประเทศอื่นให้เกียรติเรานะ เขาชื่นชมในงานที่เราคิด เขาต้อนรับเราเหมือนที่เห็นในข่าวเวลาพวกรัฐมนตรีไปเจอกับรัฐมนตรีเลย มีเก้าอี้สองตัวตั้งหันเอียงๆ เข้าหากัน และมีคนแปลภาษานั่งอยู่ข้างหลัง มีน้องแซวว่าพี่เมฆเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอีเวนท์ของประเทศไทยใช่ไหม (หัวเราะ)

GM: เมื่อองค์กรขยายใหญ่ไปถึงระดับภูมิภาค คุณจะทำอย่างไรให้องค์กรยังมีความคิดสร้างสรรค์ได้เหมือนเดิม

เกรียงไกร : ผมต้องใช้กระจกส่องสะท้อนตัวเองเสมอๆ ผมเชื่อว่าพวกเราที่นี่โชคดีที่มี ‘ความเชื่อ’ ร่วมกัน มันเริ่มต้นจากความเชื่อส่วนตัวของผม แล้วพวกเราที่นี่นำมาสร้างเป็นวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญของที่นี่มาก ผมลงมาเล่นเองในเรื่องของการนำองค์กรไปข้างหน้า และการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ทุกวันนี้ ผมจึงยังคงดูแลงานด้าน HR และงานด้าน Corporate หรือการสื่อสารองค์กรด้วยตัวเอง เพราะ 2 หน่วยงานนี้ จะผลักดันในเรื่องวัฒนธรรมขององค์กรได้ดีที่สุด

ผมถ่ายทอดความเชื่อประการหนึ่งไปถึงน้องๆ ทุกวัน ทุกโอกาสที่ได้พูด คือผมบอกเขาว่า ผมไม่เชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด มันต้องมีสิ่งที่ดีกว่านี้อีก จนความเชื่อนี้ก็ถูกแปลมาเป็นสโลแกนขององค์กรเรา Never Stop Creating เราสร้างองค์กรให้มองไปข้างหน้าตลอดเวลา เราเช็กตัวเองว่าเราเก่าไปไหม เราจ้างบริษัทวิจัยการตลาดให้ทำโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มที่เป็นลูกค้าเป้าหมาย ว่าพวกเขามองเราอย่างไร สมมุติถ้าเป็นรถ เราเป็นรถยี่ห้อไหน บางคนมองว่าเราเป็นเบนซ์ จากนั้นเรานำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ก่อนจะสรุปว่านี่เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะสำหรับคนไทย รถเบนซ์นี่เป็น Once in a Lifetime นะ ที่อยากจะเป็นเจ้าของ เราอยู่ในตลาดตรงนี้แล้ว แบรนด์อินเด็กซ์กลายมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมมองว่าเป็นเรื่องของแบรนด์ เพราะเราทำแบรนดิ้งมาสิบกว่าปีแล้ว เหมือนการหยอดเหรียญวันละบาทๆ หยอดไปเรื่อยๆ พอเงินมันมากขึ้น ก็จะมีคนเห็นเอง นั่นละคือแวลูที่เราจะได้จากการลงทุนในแบรนดิ้งของเรา เพราะฉะนั้น งานทุกงานของเรา ต้องทำออกมาให้ดีๆ

อย่างตอนเราสร้างตึกนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ฝ่ายการเงินก็บอกว่านี่เป็นการลงทุนที่ผิดนะ ทำตึกเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ได้ผลตอบแทนอะไร แต่สำหรับในมุมมองนักการตลาด ผมคิดว่ามันคือแบรนดิ้งบริษัทของเรา ใครเดินเข้ามาที่นี่จะสัมผัสกับ Real Experience แบบอินเด็กซ์ เราใส่ใจกับทุกรายละเอียด มันกลายมาเป็นแบรนดิ้งของบริษัท เป็นความน่าเชื่อถือ เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อองค์กรมีแบรนด์ที่แข็งแรง มีวัฒนธรรมที่แข็งแรง ตอนนี้ผมปล่อยให้น้องๆ ทำงานกันเองได้เลย ไม่ต้องปากเปียกปากแฉะเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว อย่างของขวัญปีใหม่ที่เราแจกให้ลูกค้า ผมก็ไม่ต้องเลือกเองแล้ว ปล่อยให้น้องๆ เขาเลือก เชื่อในรสนิยมของเขา จนตอนเอาของไปแจก ผมยังไม่รู้เลยว่าในห่อมีอะไรบ้าง ต้องบอกลูกค้าให้ช่วยแกะให้ดูหน่อยได้ไหม ผมชักอยากจะรู้

GM: อยากให้ช่วยอธิบายว่างานด้าน HR และการสื่อสารองค์กรที่คุณทำอยู่ มันสำคัญอย่างไร

เกรียงไกร : มันสำคัญมากสำหรับองค์กรที่ขับดันด้วยคน ถ้าไม่ลงไปดู HR ด้วยตัวเอง ไม่รีครูทเอง เราจะได้คนที่เราไม่อยากได้ เวลาเราสร้างองค์กร ต้องลงไปดูเอง ไปดูคนที่เข้ามาว่าใช่หรือไม่ใช่ คนเหล่านี้จะเข้ามาขับดันองค์กร

คนเหล่านี้จะกลายมาเป็น Brand Ambassador ขององค์กรได้เลย เพราะคนภายนอกจะรู้จักองค์กรของเรา ก็จากคนของเรานั่นแหละที่ออกไปพบปะกับเขา อย่างเมื่อกี้มีชาวอินโดนีเซียมาเยี่ยมชมออฟฟิศของเรา เขามาบอกว่าออฟฟิศนี้บรรยากาศไม่เหมือนออฟฟิศที่อินโดฯ เลย คนที่นี่เฟรนด์ลี่ ดูสบายๆ ผมก็รู้สึกภูมิใจ นั่นคือสิ่งที่ได้ออกแบบ เมื่อคนเหล่านี้ไปเจอคนอื่น ก็สะท้อนกลับมาที่แบรนด์ของเรา สิ่งที่ได้กลับมาคือตัวตนขององค์กร เมื่อองค์กรได้คนดีๆ แบรนด์จะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อคนประเภทเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน ก็จะช่วยกันขับดันองค์กรให้ไปในทางเดียวกัน มันก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีน้องบางคนเป็นคนเงียบๆ แต่พอมาอยู่อินเด็กซ์สักพักเดียว เขาก็พัฒนาตัวเองมากขึ้น ต้องฉลาด ต้องเก่งมากขึ้น เรามี MOU กับ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ คือ นิด้า มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ มหาวิทยาลัยเนชั่น เพื่อการรีครูทคนเก่งๆ เข้ามา และที่นิด้า เขาเอาเรามาเป็นแล็บในการทดลองด้านการบริหารธุรกิจหลายๆ เรื่อง เขามาทำวิจัยแล้วบอกว่าคุณภาพของคนในอินเด็กซ์สูงกว่ามาตรฐานในธุรกิจเดียวกัน และเราได้รับเลือกให้เป็นองค์กรต้นแบบแห่งความสุข Happy Work Place จาก สสส. และนิด้าด้วย

GM: แล้วการสื่อสารองค์กรล่ะ คุณทำอย่างไร

เกรียงไกร : 10 กว่าปีที่ผ่านมาในการสร้างแบรนด์ ผมต้องเอาตัวเข้าแลก เหมือนพวกนักการเมืองต้องออกไปหาเสียง ผมทำทุกรูปแบบ อย่างการไปสอนหนังสือ ก็เป็นการหาเสียงให้กับบริษัทอย่างหนึ่ง ผมสอนตั้งแต่ระดับ

ป.ตรี ป.โท ไปเป็นวิทยากรรับเชิญให้กับหน่วยงานต่างๆ ไม่เกี่ยงวัน เกี่ยงเวลา หรือเกี่ยงเงินค่าตัว (หัวเราะ) ผมไปได้ทุกรูปแบบ ผมเขียนหนังสือ เป็นคอลัมนิสต์ หนังสืออีเวนท์มาร์เก็ตติ้ง ผมก็เขียน ผมใช้เวลาประมาณ 25% ของชีวิตไปหาเสียงให้กับบริษัท เคยไปบรรยายในชั้นเรียน มีนักศึกษามาฟัง 6 คนก็เคยมาแล้ว ตอนก่อนไป อาจารย์แจ้งว่าคลาสนี้มีนักศึกษา 30 คน แต่วันนั้นมาเรียนกันแค่ 6 คน มาน้อยๆ แบบนี้ก็ยิ่งต้องตั้งใจสอนมากขึ้นไปอีก เพราะแปลว่าเด็กพวกนี้เขาตั้งใจมาฟังผมจริงๆ คนเหล่านี้ไม่ใช่ลูกค้าอินเด็กซ์ แต่คนเหล่านี้ สักวันหนึ่งอาจกลายมาเป็นลูกค้าก็ได้ ใครจะไปรู้ ยิ่งเมื่อก่อนผมสอนเยอะกว่าตอนนี้อีก เพราะอาจารย์ในมหาวิทยาลัยยังไม่มีความรู้เรื่องอีเวนท์ ก็ต้องใช้ผู้ที่ทำงานจริงๆ ไปช่วยสอน สาเหตุที่ผมเขียนหนังสือ ก็เพราะตั้งใจอยากให้อาจารย์ทั้งหลาย เอาไปใช้เป็นหนังสือเรียน ผมส่งหนังสือที่เขียนไปตามมหาวิทยาลัยทุกแห่ง หวังว่าอาจารย์จะได้อ่าน หวังว่าเด็กรุ่นใหม่ที่เรียนอีเวนท์ จะเรียนอยู่บนแพลตฟอร์มของอินเด็กซ์ นี่เป็นมาร์เก็ตติ้งแพลนของเรานะ แต่เวลาบอกใครๆ จะบอกว่านี่เป็น CSR

GM: ในเมื่อต้องไปเจอกับเด็กนักศึกษาบ่อยๆ คุณรู้สึกว่ามีช่องว่างระหว่างวัยไหม

เกรียงไกร : ไม่ค่อยรู้สึกนะ เพราะที่อินเด็กซ์ตอนนี้ก็มีเด็กจบใหม่เต็มเลย ผมชอบทำงานกับเด็กๆ ชอบชักจูงให้ทุกคนพูด ไม่ชอบห้องประชุมที่เงียบ ไม่ชอบให้ทุกคนคอยฟังแต่สิ่งที่ผมพูดอย่างเดียว ผมจะบอกว่า พูดสิๆ น้องๆ คอมเมนต์เลย แม้กระทั่งเด็กฝึกงาน ผมก็เอามาใช้ให้ทำงานจริงเลย ตอนนั้นอินเด็กซ์กำลังดีเวลล็อปงานไทยแลนด์ พาวิเลียน ที่เมืองยอซู เกาหลี ผมลองเอาน้องฝึกงานมานั่งประชุมเลย มอบโจทย์ให้เด็กๆ เอากลับไปทำการบ้าน แล้วมานั่งประชุมกันต่อที่ออฟฟิศ เขาช่วยกันไปรีเสิร์ชข้อมูล หาวิธีออกแบบมาสคอต โลโก้ Theme ต้นแบบของไทยแลนด์ พาวิเลียน ที่ยอซู ผมพูดได้เต็มปากว่ามาจากเด็กฝึกงานของอินเด็กซ์ 100% ก่อนที่ทีมงานตัวจริงจะเอาต้นแบบนั้นไปพัฒนาต่อให้มันแข็งแรงมากขึ้น ผมเชื่อจริงๆ ว่าไอเดียไม่ได้มาจากคนอายุเยอะๆ ตำแหน่งใหญ่ๆ แต่มาจากทุกคน ซึ่งจะเป็นใครก็ได้

GM: มีแต่คนบอกว่าเด็กสมัยนี้เรียกว่าพวกเจนวายพวกเขาเป็นตัวอันตรายสำหรับองค์กรธุรกิจ

เกรียงไกร : มีคนบ่นเรื่องนี้กันเยอะมาก คำถามของผมคือ มันเป็นความผิดของพวกเขาหรือเปล่า? ก็คนรุ่นเราๆ นี่เอง ที่เป็นคนหล่อหลอมให้เขาเป็นคนแบบนี้เอง เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับเขา ซึ่งผมเองก็ไม่รู้สึกว่าเจเนอเรชั่น

ใหม่ๆ จะเป็นปัญหากับชีวิตผมเลย วันนี้ผมโลว์เทคกับหลายๆ เรื่อง ตามกระแสไม่ทันในหลายๆ เรื่อง ผมเคยไปบรรยายที่กรมประชาสัมพันธ์ มีข้าราชการระดับซี 8 ซี 9 มานั่งฟังกันเยอะ ผมก็ถาม ใครรู้จัก M2F บ้าง นั่งนิ่งกันเชียว ใครรู้จักฮอร์โมนส์บ้าง ก็เงียบกันหมด แปลว่าคนรุ่นเราไม่ได้ตาม เราจะรู้เฉพาะเรื่องที่ผ่านแมสมีเดียเท่านั้น อย่างข่าวเณรคำ พอถามไป เขารู้จักกันทุกคน มันแปลว่าอะไรที่อยู่ในรายการสรยุทธ เราถึงจะรู้ ซึ่งสำหรับผม แบบนี้มันผิด เพราะทุกวันนี้เรามีอัลเทอร์เนทีฟมีเดียเต็มไปหมด คนทำงานด้านสื่อ ด้านการตลาด ก็จำเป็นจะต้องตามให้ทัน และการทำงานกับเจนวายก็จะช่วยเราได้ในเรื่องนี้ เราต้องยอมรับว่าวันหนึ่งคนรุ่นเราก็ต้องจากไป วันหนึ่งเราก็ต้องปล่อยให้เขาทำแทน

มันสำคัญที่การเทรนนิ่ง เราต้องเป็นโค้ช ผมถึงชอบวิธีบริหารทีมฟุตบอลของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่สร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมา กล้าเสี่ยงที่จะเอาเด็กรุ่นใหม่มาเล่น แน่นอนว่ามันมีโอกาสผิด แต่จะทำอย่างไรให้เขาผิดน้อย ก็โดยการเทรนนิ่งเขาเยอะๆ โค้ชชิ่งเขาดีๆ ที่นี่เราพยายามไม่มีลำดับชั้นการบริหารแบบพีระมิด เราจัดองค์กรให้แฟลตมากที่สุด พอทีมใหญ่ขึ้นมา ผมจะบอกให้ทำทีมให้เล็กลง คือแตกออกไปเป็นบริษัทใหม่ เพื่อให้พี่กับน้องอยู่ใกล้กัน

จะได้โค้ชชิ่งกันมากขึ้น ผมไม่ชอบเป็นบิ๊กทีม ซึ่งสำหรับผมมันไม่ใช่ เราเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยคนที่มีลักษณะเป็นสเปเชียลิสต์ เหมือนกับเราเป็นหมอ อีกกี่ปีๆ ก็เป็นหมอเหมือนเดิม ตำแหน่งเราไม่ได้เพิ่ม แต่เราจะค่อยๆ เก่งขึ้นในสายอาชีพของเรา สตีเว่น สปีลเบิร์ก วันนี้ก็ยังกำกับหนัง ตำแหน่งเขาก็ไม่ได้เปลี่ยน ชีวิตดีขึ้น ผลตอบแทนดีขึ้น นี่ต่างหากคือการเปลี่ยนแปลง คิดแบบนี้ผมจึงสนุกกับการทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ พวกนี้มีอะไรใหม่ๆ ที่เราคิดไม่ถึง

มีวันหนึ่งผมกำลังจะขับรถกลับบ้าน เห็นเด็กฝึกงานกำลังเดินอยู่ที่หน้าประตูบริษัท ผมเปิดกระจกแล้วตะโกนถามว่าใครจะติดรถผมออกไปหน้าปากซอยบ้าง ก็มี 3-4 คนวิ่งขึ้นรถมา นี่คือเจนวายจริงๆ เลยละ มีเด็กคนหนึ่งเล่าว่าเขามาขอฝึกงานเอง มหาวิทยาลัยไม่ได้ส่งมา ถามไปเรื่อยๆ ผมก็มองเห็นแง่มุมโพสิทีฟของเด็กสมัยนี้ พวกเขากล้า พวกเขากระตือรือร้น พวกเขาขวนขวายหาโอกาสให้กับตัวเอง ผมจึงมาบอกพวกน้องๆ ทีมงาน ว่าบริษัทเราต้องเทคแคร์เด็กฝึกงานดีๆ นะ ผมจะหงุดหงิดทุกครั้งที่พี่ๆ ปล่อยเด็กฝึกงานให้นั่งเบื่อ นั่งน้ำลายยืด ไม่ได้ทำอะไร ผมจะเรียกให้มานั่งในห้องประชุมด้วยกัน อย่างน้อยก็เพื่อให้เขาได้เห็นและเรียนรู้ เราต้องให้อะไรกับพวกเขามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ผมนึกไปถึงตอนที่เรียนรัฐศาสตร์ เขาให้ฝึกงานไปกับปลัดอำเภอ ไปอยู่ตามที่ว่าการอำเภอ ผมไม่อยากไป เพราะรู้อยู่แล้วว่าชีวิตนี้ ผมไม่เป็นข้าราชการแน่นอน แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าจะไปฝึกงานที่ไหนได้อีก ต่างกับเด็กสมัยนี้ที่รู้จักดิ้นรนขวนขวาย

GM: นอกจากแบรนด์ขององค์กรแล้ว ตัวคุณเองยังมีความเป็น Personal Brand ด้วยใช่ไหม

เกรียงไกร : แบรนด์อินเด็กซ์กับตัวผม ผมเชื่อมให้เป็นเรื่องเดียวกันตั้งแต่แรกแล้ว ผมถ่ายทอดความเป็นตัวเองลงไปในอินเด็กซ์ค่อนข้างเยอะ เลยเชื่อมโยงกันง่าย ผมเป็นครีเอทีฟเอง ผมทำงานที่ชอบจริงๆ ทำงานที่มี Passion จริงๆ ทำให้ผมกับอินเด็กซ์ไม่ได้ห่างกัน ตัวตนของผมกับแบรนด์อินเด็กซ์จึงมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอยู่

GM: เหมือนกับ สุทธิชัย หยุ่น เป็นแบรนด์ให้กับเนชั่นกรุ๊ป ตัน ภาสกรนที เป็นแบรนด์ให้กับอิชิตัน

เกรียงไกร : ผมอาจแตกต่างจากคนเหล่านี้อยู่นิดหนึ่ง ธุรกิจของอินเด็กซ์ส่วนใหญ่เป็นแบบ B to B คือเราทำธุรกิจกับองค์กรธุรกิจ ผมไม่ได้มีสินค้ามาขายให้กับผู้บริโภคทั่วไป ผมเองก็คุ้นเคยกับคุณตันเป็นอย่างดี และเห็นวิธีการทำแบรนด์ของเขา ตั้งแต่เป็นโออิชิ มาจนถึงอิชิตัน รู้ว่าสไตล์เขาเป็นอย่างไร เขาเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับแบรนด์สินค้าได้อย่างแนบสนิทเลย แม้กระทั่งชีวิตส่วนตัวของเขาเอง แต่สำหรับผม ผมจะไม่ดึงเอาแฟมิลี่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ

การทำงาน มีระยะห่างกันอยู่ประมาณหนึ่ง เพราะเป็น B to B ผมว่านี่เป็นเรื่องธรรมดา แบรนด์อินเด็กซ์พูดด้วยตัวเองไม่ได้ ธุรกิจบริการแบบนี้จึงต้องมีคนมาพูดให้ ผมเองก็เป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ให้ได้ แต่อินเด็กซ์ไม่จำเป็นต้องมีแบรนด์แอมบาสซาเดอร์แค่คนเดียว จริงไหมล่ะ? ผมสร้างทีมงานเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ให้มาเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ของอินเด็กซ์ได้ ผมพยายามดันคนรุ่นใหม่ให้ออกมาอยู่ข้างหน้า โดยที่อีกหน่อยไม่จำเป็นต้องมีผมก็ได้ ให้แบรนด์อินเด็กซ์กลายมาเป็นตัวตนของมันเอง ให้มีแบรนด์แอมบาสซาเดอร์หลายๆ คนช่วยกันพูด เรื่องพวกนี้มีมานานแล้ว เพียงแต่บ้านเราเพิ่งเปิดโอกาสให้ Entrepreneur ออกมาพรีเซนต์ตัวเองมากๆ เทียบกับสมัยก่อนโน้น อย่างนายห้างเทียม โชควัฒนา หรือคุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ พวกเขาทำงานหนัก เสาร์-อาทิตย์ไม่ได้หยุด คนทั่วไปอาจจะไม่สามารถเชื่อมโยงตัวบุคคลเข้ากับธุรกิจหรือสินค้าของเขา แต่พอมาถึงทุกวันนี้ ทุกคนรู้จัก เพชร โอสถานุเคราะห์ และทุกคนเชื่อมโยงไปถึงมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้เลย สิ่งนี้คือหนึ่งในมิชชั่นของผู้บริหารยุคปัจจุบัน ถ้าทำไม่เป็น ก็ต้องพยายามทำให้ได้ เมื่อก่อนผมเองเป็นคนขี้อายมาก (เน้นเสียง) แต่พอทำธุรกิจมาถึงจุดหนึ่ง ก็รู้ว่าเราต้องพัฒนาตัวเอง ผมเคยเขินกล้องมาก ตอนนี้พวกคุณมาเลย มาๆ ผมไม่กลัวแล้ว คือกระบวนการทำให้ตัวบุคคลเชื่อมโยงกับหน้าที่การงานหรือธุรกิจของเขา จนกลายเป็นแบรนด์ในสายตาของคนทั่วไป

GM: ธุรกิจจัดอีเวนท์นี่เป็นโลกของการแสดง เป็นโลกของการขึ้นไปบนเวที มีไฟส่องลงมาเยอะๆ คนขี้อายอย่างคุณเข้ามาทำได้อย่างไร

เกรียงไกร : ก็ตอนแรกๆ ผมคิดว่าจะเป็น Man Behind the Scenes ไงล่ะ ผมชอบอยู่เบื้องหลัง ไม่ชอบอยู่เบื้องหน้า จนรู้ว่ามีความจำเป็นที่นักธุรกิจยุคนี้ ต้องมาอยู่ข้างหน้าบ้าง ต้องฝึก ต้องหัด แต่อย่างไรก็ตาม ผมยึดถือเสมอมา

ว่านี่เป็นงานของลูกค้า เวลาผมกำลังทำงานให้ลูกค้า แล้วมีนักข่าวสนใจจะสัมภาษณ์ผม ผมจะปฏิเสธหมดเลย ไม่ใช่สไตล์ผมที่จะขึ้นเวทีไปยืนถ่ายรูปกับลูกค้า งานลูกค้าก็ต้องเป็น Scene ของลูกค้าอย่างแท้จริง ผมจะไม่เสนอหน้าเลย แม้บางทีนักข่าวที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี พี่เมฆๆ ขอสัมภาษณ์เรื่องนี้หน่อยสิ ผมจะรีบบอก วันนี้ไม่พูดครับ วันนี้งานลูกค้า มีอะไรโทรฯ หาพี่พรุ่งนี้ที่ออฟฟิศนะครับ ผมจะรักษา Man Behind the Scenes ไว้แบบนี้ ถ้าคุณไปงานที่

อินเด็กซ์จัด จุดที่คุณจะเห็นผมยืนอยู่ คือที่ตรงตำแหน่งหลังแผงคอนโทรลเท่านั้น นั่นเป็นจุดที่คุณจะหาผมเจอ และผมยังยืนจุดนั้นมา 20 กว่าปีแล้ว นอกจากถ้าเป็นอีเวนท์ของผม เวทีของผม หรืออย่างวันนี้ที่คุณมาสัมภาษณ์ผมในฐานะของผมเอง

ผมภูมิใจที่ได้เห็นความคิดหรือจินตนาการของทีมงาน ออกมาเสร็จสมบูรณ์ พวกเราจะรู้สึกว่า ฝันของเราเสร็จไปอีกหนึ่ง มันกลับเป็นเรื่องดีเสียอีก มีคนออกตังค์ให้เราทำตามความฝันของเราด้วย (หัวเราะ) เสร็จแล้วก็คิดว่างานของเราครั้งต่อไป เราจะทำอะไรให้เขา ทำอย่างไรให้ดีกว่าเดิม อาชีพของเราคือการทำให้คนบนเวทีเด่นที่สุด เราเป็นคนที่อยู่ข้างหลัง เมื่อไรคนข้างหน้าเราเจ๋ง แปลว่างานของเราดี มันคือเหรียญที่เราสะสม หยอดกระปุกไป แล้วสักวันหนึ่ง เราจะขึ้นมายืนเด่นเองแหละ แต่ถ้าเราไปยืนอยู่ข้างหน้าตั้งแต่วันแรก เราจะไม่ได้ยืนตรงนั้นแบบถาวร ลูกค้าบางคนเคยพูดกับผมว่าจ้างบริษัทอีเวนท์บางบริษัทมา นักข่าวมาสัมภาษณ์เขามากกว่าฉันอีก คนมาขอถ่ายรูปเขามากกว่าฉันอีก แล้วจะจ้างมาทำไม

GM: อยากให้คุณช่วยเล่าถึงสถานการณ์จริงๆ ของเออีซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพม่า เวียดนาม ในฐานะนักธุรกิจที่ออกไปเปิดตลาดจริงๆ

เกรียงไกร : ไทยตื่นเต้นกับเออีซีมาก ต่างจากประเทศอื่นที่ตื่นเต้นประมาณหนึ่ง ตอนนี้หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจของเมืองไทยมีหน้าเออีซีทุกเล่ม ทีวีทุกช่องมีเรื่องเออีซี เราตื่นเต้นกันเป็นเรื่องดีเพื่อที่เราจะเตรียมตัว แต่ในบางประเทศเขาไม่รู้สึกตื่นเต้นแบบเรา ผมเจอระดับรัฐมนตรีของพม่า เขาก็รับรู้เรื่องเออีซีแต่บอกว่า มันพร้อมแล้วเหรอ พม่าบอกเลย ถ้าเปิดเออีซี หลายๆ ประเทศคงจะพร้อมแล้ว เขารู้ตัวว่ามันมีความแตกต่างมาก เปิดมาเขาอาจจะเสียหายก็ได้ ผมยังรอดูว่าตอนปี 2015 จะเกิดอะไรขึ้น มันอาจไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ได้ แต่ผมว่าเราเตรียมตัวไว้น่ะดีแล้ว การที่เขาไม่เตรียมอาจจะเสียเปรียบด้วยซ้ำไปสิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่เรื่องการเคลื่อนย้ายของแรงงานมากกว่า ที่จะมีอิสระมากยิ่งขึ้น เออีซีคือทุกคนเปิดรั้วหมด ไม่มีวีซ่า เหมือนในยุโรป จะเคลื่อนย้ายแรงงานไปได้ คนที่ได้เปรียบ มีศักยภาพที่สูงกว่า ก็จะมีโอกาส ค่าแรงสูงกว่าก็จะดึงดูดให้คนเข้าประเทศมากกว่า เมืองไทยคงได้หมอดีๆ เต็มเลย อย่างมีอ้างกันว่าสิงคโปร์จะเป็นฮับด้านสุขภาพ ผมว่าไม่มีทาง สิงคโปร์แพงเกินไป เครื่องไม้เครื่องมือก็ยังสู้เมืองไทยเราไม่ได้ ยังไงเมืองไทยก็ชนะเรื่องนี้แน่ๆ ผมหลับตานึกถึงภาพหมอจากประเทศอื่นมาอยู่เมืองไทยกันหมด พยาบาลจากประเทศอื่นมาอยู่เมืองไทยหมด เรื่องแรงงานเป็นประเด็นที่หลายคนอาจจะยังมองไม่เห็น ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมการผลิต ผมมองมันจะกลายเป็นคลัสเตอร์ๆ ของแต่ละอุตสาหกรรมไปเลย แหล่งผลิตที่ใช้แรงงานไม่ต้องใช้ทักษะสูงก็จะเทไปอยู่ประเทศหนึ่ง แหล่งผลิตที่ใช้แรงงานมีสกิลจะเทไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง ภาพนี้เราจะเห็นถัดไปในอีก 5-10 ปี หลังจากเปิดเออีซี

GM: จะมีคลัสเตอร์ของอะไรมาอยู่ในเมืองไทย ภาคธุรกิจบริการ ธุรกิจที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ จะมาถึงเมืองไทยไหม

เกรียงไกร : อยู่ที่ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในตอนนี้ ว่าจะเอาความได้เปรียบนี้มาได้ขนาดไหน ถ้าเรามีระบบโลจิสติกส์ที่ดี จะเอื้อประโยชน์ให้ประเทศไทยกลายมาเป็นที่เชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นถนน ระบบราง ผมไม่ได้มองรถไฟความเร็วสูงว่าจะเป็นสาระสำคัญเลยนะ เพราะคุณไปประเทศแถบนี้ ก็ใช้เวลานั่งเครื่องบินแค่ชั่วโมงเดียวพอกัน เอาประเทศที่มีพื้นดินติดกันนะ แล้วทำไมต้องมีรถไฟความเร็วสูงล่ะ ผมว่าเอารางคู่ที่จะทำให้ต้นทุนขนส่งเราถูกลง แล้วเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคได้หมดดีกว่า เราต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน

ถ้าวันนี้ถามว่าประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร มันต้องมีคนวาดภาพให้เห็นก่อน วันนี้เรายังไม่เห็นเป้าหมายของประเทศไทยเลยจริงๆ ขณะที่มาเลเซียเขามีเรียบร้อยแล้ว เขามี Vision 2020 สิงคโปร์ไม่ต้องห่วง เขามีแผน มีทุกอย่างรองรับหมดแล้ว ประเทศไทยเราจะยังไงยังไม่รู้เลย คนพม่าและเวียดนามเอง ก็มองว่าเราน่าจะมีศักยภาพที่จะผลักดันตรงนี้ได้ดีกว่านี้ แต่สงสัยเรากลัวเพื่อนๆ จะตามไม่ทัน อย่างเวียดนาม ตอนนี้ใกล้แซงประเทศไทย สำหรับภาคเอกชนเราไม่ได้ยืนอยู่นิ่งๆ ก็วิ่งอยู่ตลอด ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเอายุทธศาสตร์ตรงไหนบ้าง วันหนึ่งเราบอกว่าจะเป็นฮับการเงินของภูมิภาค เป็นฮับนู่น ฮับนี่เต็มไปหมดเลย จะเป็นเมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์  มันไม่มีไดเร็กชั่น จากที่ผมได้คุยกับหลายๆ คน ยุทธศาสตร์ของประเทศ ยุทธศาสตร์ของเมือง มันต้องใช่ เราทำงานกันแค่รายวัน นโยบายอะไรออกมา ถ้าเป็นของพรรคการเมืองก็เพื่อคะแนนที่จะได้รับในการเลือกตั้ง เราไม่ได้มองว่ามันควรจะต้องเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ

ในหนังสือที่ผมเขียนไว้ ถึงข้อแตกต่างระหว่างผู้บริหารมืออาชีพกับผู้บริหารที่เป็นเจ้าของกิจการ มีข้อหนึ่งที่ชัดเจนมากคือพวกมืออาชีพจะมีเทอมอยู่ 3-4 ปี โดยเฉพาะบริษัทฝรั่งที่เขาต้องย้ายกันไปเรื่อยๆ เขาจะทำผลประกอบการในช่วงเวลาของตัวเองให้ดีที่สุด เขาจึงลงทุน Short Term ในขณะที่คนที่เป็นเจ้าของกิจการเอง เขาอาจจะมอง 5-10 ปีข้างหน้า เขาจะลงทุน Long Term วิธีคิดจะไม่เหมือนกัน มีคนที่อ่านหนังสือผมมาเล่าให้ผมฟังว่ามันใช่จริงๆ ทุกคนจะมาแบบช็อตเทอม เอาตัวเลขให้ดีที่สุดเพื่อโชว์ความสามารถของตัวเอง แต่ไม่เคยมองอนาคตเลย ว่าวิชั่นขององค์กรควรไปอย่างไร ในวันนี้ ผมได้เริ่มลงทุนสำหรับ 10 ปีข้างหน้าของอินเด็กซ์แล้ว ผมมองเจเนอเรชั่นใหม่ของอินเด็กซ์แล้ว ว่าใครจะขึ้นมาทำอะไร เริ่มวางแผนเตรียมไว้ เพื่อวันที่เขาเข้ามาแทนผม มันจะง่ายขึ้น ในช่วง 1-2 ปีนี้ เราใส่เงินลงไปเป็นร้อยๆ ล้าน ลงทุนในทุกมิติ แต่ทำเพื่อ 5-10 ปีข้างหน้า เป็นการเดิมพันในอนาคตหมด ไม่ใช่เรื่องระยะสั้น เราไปทุ่มที่พม่า ทุ่มเวียดนาม เหนื่อยยากแสนสาหัส วันนี้ยังไม่เห็นผลหรอก วันนี้พม่า เวียดนาม ผลประกอบการออกมาตัวแดงแน่นอน เราไปลงทุนสร้างคนกันขนาดนี้ แต่ 3-4 ปีข้างหน้า

จะกลายมาเป็นต้นไม้ที่เติบโต ให้เรายืนอยู่ใต้ร่มเงาได้ในอนาคต

GM: ในระหว่างการลงทุนยาวๆ คงมีผลต่อการขึ้นเงินเดือนและโบนัส พนักงานจะเข้าใจได้หรือเปล่า

เกรียงไกร : เปรียบเหมือนกับเรื่องระดับประเทศนะ อย่างในยุโรป ภาษีมูลค่าเพิ่มของเขาไม่ใช่ 7% เหมือนในบ้านเรานะ ของเขา 10% หรือ 20 กว่าก็มี แต่ประชาชนของเขายอม เพราะรู้ว่าผลตอบแทนที่จะกลับมามันคุ้ม ได้เห็นประเทศพัฒนาดีขึ้น วันนี้อาจยังไม่เห็นผล ยังไม่ได้ผลตอบแทน แต่วันที่เขาเกษียณไป เขาจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ต่างจากของเราที่เราต้องเริ่มกังวลกับชีวิตหลังเกษียณกันแล้ว ถ้าไม่เก็บเงินตั้งแต่วันนี้ คุณเหนื่อยแน่ ไม่รู้ว่าจะมีเงินเข้าโรงพยาบาลไหม เพราะค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นๆ แต่ทุกวันนี้คนไทยคิดแบบระยะสั้นหมดเลย อยากได้ผลเร็วๆ ไม่ยอมเก็บออม ไม่มองวันข้างหน้า มองว่ารัฐบาลต้องให้ ส่วนตัวเองก็คอยแบมือขอ วันนี้เราเลยเห็นม็อบเต็มไปหมด อะไรไม่พอใจก็ม็อบมาขอ มันไม่ใช่

GM: ในระหว่างการลงทุนยาวๆ ถ้าคุณไม่สปอยล์พนักงานให้มากเท่าที่เขาอยากได้ เขาก็ลาออกไปอยู่ที่อื่นหมด

เกรียงไกร : ขึ้นกับว่าเราจะสื่อสารกับเขาได้ดีขนาดไหน ผมพูดเสมอว่าอินเด็กซ์เป็นองค์กรแห่งอนาคต ผมไม่ได้ทำธุรกิจวันนี้เพื่อวันนี้เท่านั้น ผมมองไปในอนาคต ถ้าคุณอยู่กับเรา คุณสามารถฝากผีฝากไข้กับเราได้ตลอดไป เราจะเติบโตไปด้วยกัน เราไม่ได้ทำทุกอย่างเพื่อตอบแทนนักลงทุนเพียงอย่างเดียว เราต้องไปด้วยกันหมด แต่ถ้าบางคนอยากได้ผลตอบแทนเร็วๆ เขาคงเลือกไปอยู่ที่อื่น เราก็คงห้ามไม่ได้ แต่มีหลายคนที่ไปแล้ว ก็ขอกลับมาที่เดิม เพราะเขาพบว่าที่ใหม่นั้นไม่ใช่ ทุกวันนี้ อินเด็กซ์เป็นองค์กรที่คนลาออกไป แล้วขอกลับเข้ามาทำงานใหม่อีกครั้งเยอะมาก

GM: คุณเชื่อใน Lifetime Employment หรือครับ

เกรียงไกร : ก็ไม่ขนาดนั้น ผมอยากสร้างโอกาสให้ทีมงานให้มากที่สุด อินเด็กซ์จะ Diversified ธุรกิจของตัวเองออกไปตลอดเวลา ผมจะมองหาโอกาสทางธุรกิจตลอดเวลา อยู่ที่น้องๆ ว่าอยากจะโตไปกับผมด้วยไหม เมื่อมีโอกาสมาถึง เขาจะคว้าไหม ผมบอกเขา วันนี้คุณไปพม่า อาจไม่ได้สะดวกสบายเหมือนกรุงเทพฯ แต่เป็นโอกาสของคุณนะ คุณจะไปไหม อินเด็กซ์พยายามไปข้างหน้าตลอดเวลา

GM: คุณมองการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์อย่างไร เพราะคนรุ่นใหม่ชอบทำงานเป็นฟรีแลนซ์ รับจ้างอิสระ

เกรียงไกร : ผมไม่เชื่อในฟรีแลนซ์เลย ฟรีแลนซ์จะมีความสามารถในการพัฒนาตัวเองอยู่ในช่วงแรกๆ เพียงช่วงหนึ่ง แล้วเขาจะตายไป เทียบกับถ้าเขาอยู่ในองค์กรใหญ่ๆ องค์กรจะพัฒนาเขาได้ตลอดเวลา จะมีคนเก่งๆ หลายๆ มุม

มาช่วยขัดเกลาเขา ส่งไปดูงาน จัดเทรนนิ่ง แต่ฟรีแลนซ์จะไม่มีอะไรพวกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทเรามีโนว์ฮาวของเราเอง ซึ่งหลายอย่างเป็นความลับทางธุรกิจ ถ้าเราจำเป็นต้องจ้างฟรีแลนซ์ เราจะให้ทำงานปลายทาง เขาไม่ได้ทำงานที่เป็นศูนย์กลาง

GM: อย่างในวงการฮอลลีวู้ด เขามีรูปแบบการทำงานแบบฮอลลีวู้ด โมเดล คือจ้างฟรีแลนซ์เก่งๆ มาจากแต่ละสายงาน มาร่วมกันทำงานชิ้นเดียวจนเสร็จ รับส่วนแบ่งตามตกลง แล้วก็แตกกระจายออกไปเหมือนเดิม

เกรียงไกร : เราก็ทำคล้ายๆ กัน คือเวลาเราได้งานใหญ่มา 1 งาน แล้วเราใช้บริษัทในเครือให้มาทำงานร่วมกัน เสร็จงานก็ค่อยแยกกันไปเหมือนเดิม เวลาที่มีเหลือก็จะทำโปรเจ็กต์เล็กๆ อื่นๆ ได้อีก บริษัทลูกของเราก็สามารถ

ไปทำงานอื่นได้อีกมากมาย อินเด็กซ์เหมือนหัวขบวนรถไฟ เมื่อได้งานมา 1 งาน ยิ่งต่อโบกี้ยาวเท่าไร ก็จะยิ่งคุ้มค่า เพราะรถก็วิ่งไกลเท่าเดิม พลังงานถูกใช้ไปแล้วแน่ๆ แต่เงินแทนที่จะเข้ากระเป๋าคนอื่น ก็มาเข้ากระเป๋าพวกเราหมด ทุกวันนี้เราอยู่กันแบบหมู่บ้าน ผมถึงเรียกที่นี่ว่า อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ผมไม่ได้ทำตัวเป็นซีอีโอของทุกบริษัท ผมเป็นซีอีโอของบริษัทนี้ที่เดียว และทุกคนมีบ้านของตัวเอง ก็เป็นหัวหน้าในบ้านของตัวเองไป บ้านแต่ละหลังเชี่ยวชาญแต่ละอย่าง วันหนึ่งถ้าต้องทำงานด้วยกัน เราก็เดินมาทำด้วยกัน ถึงเวลานอนก็กลับไปนอนบ้านใครบ้านมัน ผมจะเล่นบทหัวหน้าหมู่บ้าน ถ้าผมไปล่าช้างมาได้ 1 ตัว เราก็มาแบ่งกันกิน แต่ถ้าผมไปล่าอะไรที่เล็กๆ ผมจะกินเองหมดนะ ผมแบ่งปันความสุขให้ทุกบ้าน เมื่อบริษัทลูกมีกำไรก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ บางบริษัทกำไรเยอะกว่าอินเด็กซ์อีก

หรือเรียกว่า Japanese Work Environment เป็นวัฒนธรรมการทำงานและจ้างงาน แบบที่จะมีการคัดเลือกบุคลากรเข้ามาตั้งแต่เพิ่งเรียนจบ และเปิดโอกาสให้เจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานไปเรื่อยๆ อยู่กับองค์กรไปจนกระทั่งเกษียณอายุเป็นวิธีการทำงานแบบการสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด โดยว่าจ้างมืออาชีพที่ทำงานอิสระ มารวมตัวกันทำงาน โดยแบ่งแยกงานอย่างชัดเจนไปตามความชำนาญ เมื่อสร้างภาพยนตร์เสร็จสิ้น บรรดามืออาชีพ

ก็แตกตัวออกไปรับจ้างทำงานอิสระชิ้นใหม่

GM: มีบ้านไหนกำลังน่าเป็นห่วงบ้างไหม เกรียงไกร : มี ผมจะนั่งคุยกันว่าแต่ละบริษัทเป็นอย่างไรบ้าง ปีนี้ทำไม

ได้น้อย บางอันก็เลิกเถอะ บางอันก็ปรับเปลี่ยนแท็กติก เปลี่ยนธุรกิจเลยไหม ต้องมานั่งคุย

GM: มีบางกระแสเริ่มออกมาบอกว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ช่วงขาลงแล้ว มีสัญญาณอะไรมาถึงอินเด็กซ์หรือยัง

เกรียงไกร : ถ้าเป็นฝั่งรัฐบาลจะบอกว่าดีอย่างเดียว ส่วนฝ่ายค้านจะบอกว่าไม่ดีอย่างเดียว ตกลงจะเชื่อใคร ผมมองว่าเรากำลังอยู่ในช่วงที่น่ากลัว รู้ว่าจะมีระเบิดเวลาอยู่ช่วงระหว่างทาง แต่จะระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่ไม่รู้ มีฝังอยู่หลายลูก นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คนทำธุรกิจต้องระมัดระวังตัว และนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เพราะวินาทีที่ประเทศไทยมีปัญหา ตลาดในต่างประเทศจะช่วยให้บริษัทเราคงอยู่ได้

GM: งบการตลาดในแต่ละปี น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ว่านักธุรกิจไทยมองไปที่ไหน ตอนนี้เค้กก้อนนี้เริ่มลดลงแล้วหรือยัง

เกรียงไกร : อินเด็กซ์เราคงไม่ใช่ต้นทางที่จะได้รับเงินก้อนนี้ ตัวเลขผลประกอบการของเราคงจะบอกถึงเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศไม่ได้หรอกครับ มันขึ้นกับว่าปีนี้เราได้ลูกค้ารายใหญ่มาบ้างหรือเปล่า บางปีที่คนอื่นไม่ดี เรากลับดีก็มี ผมว่าอินเด็กซ์ไม่ใช่ Real Sector เราไม่สะท้อนความเป็นจริงของเศรษฐกิจหรอกครับ อย่างปีที่แล้วช่วงต้นปีดีมาก เพราะเรามีบีโอไอแฟร์ และมีเวิลด์เอ็กซ์โป ซึ่งผมก็คิดว่ามันไม่รีเฟล็กซ์ปีที่แล้วหรอกครับ ปีนี้ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว ตอนนี้เรามีธุรกิจในต่างประเทศอีก ถ้าถามว่าโดยรวมเป็นยังไง ผมว่าปีนี้ไม่ค่อยดี ทั้งบรรยากาศ ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาด มันมีความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีเท่าไร อีกอย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐก็ค่อนข้างสูง เพราะระดับนโยบายเปลี่ยนตลอดเวลา เปลี่ยนหัวตลอดเวลาในหลายๆ กระทรวง จึงไม่ค่อยเอื้อให้ภาคธุรกิจเท่าไร ทุกวันนี้ ตลาดอีเวนท์เติบโตมาถึงระดับหนึ่ง ที่จะโตต่อไปในอัตราที่ไม่หวือหวาอีกต่อไป อินเด็กซ์อยากมีตัวเลขที่มั่นคงมากขึ้น เพราะฉะนั้นการที่เราไปต่างประเทศ มีหลายโอกาสที่เราเห็น แต่ในประเทศเขายังไม่เห็นกัน

GM: เช่นถ้าตอนนี้เอาแคมเปญเนสกาแฟ เชค แสงระวี ไปทำอีกครั้ง พม่า หรือเวียดนาม คนก็จะยังสนุกอยู่

เกรียงไกร : แน่นอน เรานำประสบการณ์ที่ทำงานมา ไปพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย เข้ากับสังคมของเขา แต่คงใช้ไม่ได้ทุกเคสที่เราทำๆ กันมานะ ยกตัวอย่างวันที่เราอยากจัดงานเคานต์ดาวน์ที่พม่า พม่าไม่เคยมีงานแบบนี้มาก่อน เราไปทำก็โดนใจเขา ของพวกนี้เรามีอยู่แล้ว มีไอเดียอยู่แล้ว พยายามเช็กกับเขาว่าอย่างนี้เคยทำมาก่อนไหม ทำแล้วจะเวิร์กไหม ลองทำดู ปรากฏว่าเวิร์ก โอกาสมันมีตลอด ขึ้นกับว่าเราจะฉกฉวยได้ไหม ตำแหน่งที่เรายืนมันใช่หรือยัง บางคนยืนในตำแหน่งที่มีคนบังตลอดเวลาก็เกิดยาก เราก็เลือกตำแหน่งที่เดินออกมาแล้วโดดเด่นขึ้นมาได้ เราจะได้คว้าเงินได้เยอะๆ เป็นโอกาสทางธุรกิจ

GM: หน่วยธุรกิจในพม่า เวียดนาม ของอินเด็กซ์ เป็นอย่างไร

เกรียงไกร : เราไปเปิดบริษัทที่พม่าภายใต้ชื่อ Myanmar Index Creative Village และที่เวียดนามภายใต้ชื่อ TVM Index ซึ่งไปได้ดีมากทั้ง 2 บริษัท ที่เวียดนามมีคนไทย 4 คน อีก 4 คนเป็นเวียดนาม แต่ที่พม่ามี 10 คน มีคนไทยแค่คนเดียว เราคุยงานกันผ่านไลน์ ทั้งสองแห่งนี้มีงานเฉลี่ยเดือนละ 2-3 งาน มีทั้งงานของเราเอง งานเอกชน งานรัฐบาล เราครีเอทงานของเราเอง เพื่อให้เป็นงานประจำปี และจะกลายเป็นรายได้ที่ถาวร เช่น งานเคานต์ดาวน์ปีใหม่ที่พม่า งานสงกรานต์ที่พม่า เรียกว่าซัมเมอร์เฟสติวัล มีงานวินเทอร์เฟสติวัล มีงานแฟร์ต่างๆ วันหนึ่งรายได้ที่พม่าอาจมากกว่ารายได้จากเมืองไทยก็ได้

GM: การแบ่งหน้าที่ แบ่งงานกันระหว่างคุณเกรียงไกรกับคุณเกรียงกานต์

เกรียงไกร : ผมกับหมอกแบ่งงานกันค่อนข้างชัดเจนครับ น้องๆ ที่ออฟฟิศของผมจะทราบโดยอัตโนมัติเลยครับ ว่างานแบบไหนควรจะปรึกษาใคร หมอกจะออกแนวอาร์ตหน่อย ดูแลพวกงานศิลป์ทั้งหมด ลงดีเทลในเรื่องของโปรดักชั่น ชอบทำงานด้าน Showbiz พวกงานคอนเสิร์ต ละครเวที รวมถึงการเสาะหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะสร้างสีสัน ความโดดเด่น และความแตกต่างให้กับงานของเราด้วย ส่วนผมจะเป็นมุมในเรื่องการตลาด ในเรื่องของการวางกลยุทธ์ การตลาดคิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการวางแผนขยายธุรกิจไปในภูมิภาคอาเซียน และสร้างเครือข่ายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ด้วย เพราะต้องการวางรากฐานให้อินเด็กซ์ฯ สามารถเติบโตต่อไปได้ด้วยตัวของมันเองในอนาคต ถึงแม้ว่าจะไม่มีเจเนอเรชั่นของผมแล้วก็ตาม ผมและหมอก ถึงแม้เราจะมีความถนัดต่างกัน หรือคิดต่างกันบ้าง แต่ก็แชร์ให้อีกฝ่ายหนึ่งฟังอยู่เสมอ สิ่งที่เราทั้งสองคนคิดตรงกัน คือการไม่มีวันหยุดคิด หยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ผมว่านั่นแหละคือดีเอ็นเอของคนอินเด็กซ์

GM: การจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โปที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ มีโอกาสอยู่หรือไม่

เกรียงไกร : ก่อนอื่นผมขออธิบายถึงลักษณะของงานเวิลด์เอ็กซ์โปก่อน ว่ามันเป็น 1 ใน 3 ของงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศของตัวเองสู่สายตานานาชาติที่ทรงอิทธิพลเป็นอย่างมาก อย่างการที่อินเด็กซ์ฯ ได้ไปจัดไทยแลนด์ พาวิเลียน ที่เซี่ยงไฮ้ ที่เกาหลี ทำให้มีคนรู้จักประเทศไทยมากขึ้น รับรู้ถึงความเป็นไทย และมีความเข้าใจในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งก็ส่งผลที่ดีต่อการท่องเที่ยว การลงทุนให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก ในกรณีที่ทางประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Expo 2020 ที่อยุธยา จากการที่ได้ศึกษาถึง Feasibility ต้องบอกว่ามีความเป็นไปได้สูง ด้วยปัจจัยในหลายๆ ด้าน ไซต์ที่อยุธยานั้นถือว่าเป็นการลงทุนทำที่ต่ำมากเพราะห่างจากกรุงเทพฯ แค่ 45 นาที เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนในการสร้างโรงแรม หรือสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ซึ่งทำให้การลงทุนในงานนี้ต่ำมาก และประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพในมิติที่มีความหลากหลายทั้งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ที่จะได้รับกลับมายังประเทศของเรา ซึ่งในตอนนี้ก็น่าเสียดายที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิ์ในครั้งนี้ไปแล้ว ต่อให้วันนี้อยากแก้ตัวกลับเข้าไปชิงชัยเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง ก็คงทำไม่ได้แล้วเพราะเราถูก BIE ถอนสิทธิ์ไปแล้ว และเป็นประเทศแรกที่ถูกถอนสิทธิ์ ตั้งแต่มีการชิงชัย World Expo กันมาเป็นร้อยปี ก็คงต้องมาสู้กันใหม่ในโอกาสหน้า

GM: กิจวัตรประะจำวันของคุณเป็นอย่างไร

เกรียงไกร : มาถึงออฟฟิศก่อนแปดโมงครึ่ง กลับบ้านตอนประมาณสองทุ่ม บ้านผมอยู่ไม่ไกลจากออฟฟิศ ผมชอบทำงาน ทำงานก็เหมือนไม่ได้ทำงาน ประชุมก็เหมือนนั่งคุยสนุกสนาน เวลาไปออกอีเวนท์ผมยิ่งชอบนะ ไปยืนดูอีเวนท์แล้วมีความสุข ได้เจอคนนั้น คนนี้ ได้เห็นสิ่งที่เราคิดออกมาเป็นของจริง ผมจะคอยคอมเมนต์ คอยเตือนให้ระวังเรื่องนั้นเรื่องนี้ เสาร์-อาทิตย์ ถ้าไม่มีอีเวนท์ให้ไป ก็จะนั่งเขียนหนังสือ เขียนคอลัมน์ เขียนหนังสือนี่สนุกดีนะ ไม่คิดว่าเป็นภาระ ชอบเขียนล่วงหน้าเยอะๆ สต็อกเพียบ บางที่สต็อกไปประมาณ 3 เดือน เคยมีบางอาทิตย์ที่เขียนไม่ออก เขียนอะไรดีวะ (หัวเราะ) แต่วิธีง่ายที่สุดของผมคือเปิดทีวี นั่งๆ ดูเดี๋ยวก็มีประเด็น หรือออกไปนอกบ้าน ไปเดินเล่นเดี๋ยวจะได้ประเด็นเอง ตั้งใจว่าจะออกพ็อกเก็ตบุ๊คปีละเล่ม ปลายปีจะออกอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ บันไดเมฆ ทางสำนักพิมพ์เขาตั้งชื่อหนังสือให้นะ ผมไม่ยุ่งเรื่องนี้เลย ผมมีหน้าที่เขียนคอนเทนต์อย่างเดียว เพราะถือว่าทุกคนเป็นมืออาชีพในสายงานของตัวเอง

GM : การอยู่ในออฟฟิศวันละ 12 ชั่วโมง โดยมีความสุขกับสิ่งที่ทำ นี่ฟังดูเหมือนว่าคุณมีชีวิตที่ดีมากเลยนะครับ

เกรียงไกร : มันก็ต้องมีเครียดบ้าง มีโกรธบ้าง แต่ไม่ถึงกับเป็นคนปล่อยวางนะ แค่ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยเก็บเรื่องต่างๆ มาคิดเยอะ เรื่องปัญหาหนักๆ ยากๆ ก็ปล่อยให้มันกองอยู่ตรงนั้นแหละ ขอไปทำอย่างอื่นก่อน แล้วค่อยกลับมาแก้ ปัญหาบางอย่างผมกองทิ้งไว้ 6-7 เดือนเลยนะ เพราะมันแก้ไม่ได้จริงๆ เวลานาน 6-7 เดือนนั้น ก็คือเวลาที่ผมใช้ในการทำใจ นี่เป็นสไตล์การทำงานของผม (หัวเราะ)

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ