fbpx

จิรายุ ขอบุญ “ถ้าตั้งใจ ผมไม่เคยทำไม่ได้…ไม่เชื่อถามแม่สิ”

จังหวะที่เขาจับกรรไกรขึ้นมาซอยเส้นผมตรงหน้านั้นพลิ้วแล่นเสียจนเราเชื่อว่ามันเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่งอกเพิ่มออกมาจากฝ่ามืออันทรงพลัง

ไม่ใช่แค่หั่นออก แต่กรรไกรยังทำหน้าที่กำหนดเส้นและแสกทรงให้มีมิติของระดับสั้นและยาว ไม่นับปัตตาเลี่ยนคู่ใจที่เขาใช้ไถแต่งขอบล่างให้เรียบเตียนตามท่วงทำนองบทเพลงบลูส์ที่ได้ยินผ่านแผ่น ภายในร้าน The Overhead Barbershop บนชั้น 6 ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน  

“เพลงบลูส์มีต้นกำเนิดจากคนผิวสี มันฟังนุ่ม ผ่อนคลาย ผมอยากให้ลูกค้าผ่อนคลายเวลาเข้ามาในร้านนี้ และใช้เวลาอยู่กับเราประมาณสัก 30 นาที”

ในฐานะช่างตัดผมวินเทจ แน่นอน, กรรไกรและปัตตาเลี่ยน สองสิ่งนี้คือ ‘อาวุธรัก’ ของ ต๊ะ-จิรายุ ขอบุญ

“เพราะมันเป็นเครื่องมือที่ผมใช้ทำมาหากิน ทุกครั้งที่ตัด ผมจะใช้ปัตตาเลี่ยนอย่างต่ำ 2 ตัว ตัวเล็กเอาไว้กันขอบ ตัวใหญ่เอาไว้ตัดผม มันดูวินเทจย้อนยุค แต่ที่จริงเป็นตัวใหม่ ที่ชอบตัวนี้เพราะมันคม ถ้ามันไม่คมจะตัดผมไม่เข้า และกินหนังศีรษะ 

“ส่วนกรรไกรที่ใช้ประจำคือ 2 ตัวนี้ครับ” ต๊ะว่าพลางหยิบกรรไกรตัวโปรดขึ้นมาโชว์ มันเป็นกรรไกรสเตนเลสขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับขนาดฝ่ามือของเขา “ผมไม่ได้ใช้ของแพงอะไรมาก แต่ใช้ที่มันถูกกับเรา…” ต๊ะว่างั้น

“เคยหล่นไหม” ต๊ะทวนคำถาม “ถ้าหล่นก็แค่เก็บมาใช้ใหม่ (ยิ้มกวน) ผมทำหล่นบ่อยนะ แต่ถ้าให้ดีอย่าทำหล่นดีกว่า เพราะเดี๋ยวมันจะหลวม ส่วนใหญ่ช่างผมเขาไม่ค่อยเปลี่ยนกรรไกรกัน ใช้นานเป็นสิบๆ ปีเชียวละ แต่กว่าเราจะเจออันถูกใจนี่ก็เปลี่ยนมา 3-4 ตัวแล้วนะ” ต๊ะเล่า

“ยืมกันได้ครับ แต่ผมว่าใครเอากรรไกรของผมไปใช้ก็ไม่เหมือนผมใช้เองหรอก มันอยู่ที่ความเคยชิน กรรไกร 2 ตัวนี้ผมซื้อจากร้านแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ เป็นของใหม่ จับแล้วเข้ามือ เวลาใช้จะรู้สึกได้ ตัดๆ ไปรับรองไม่ทำให้ผมลูกค้าแหว่ง แต่ถ้าใช้ตัวอื่นอาจทำให้ลูกค้าผมแหว่งได้ (หัวเราะสนุก)

“การเก็บการรักษา อย่างปัตตาเลี่ยนก็ใช้แค่แปรงสีฟันขัดและลงน้ำมันจักร  กรรไกรก็ด้วยครับ ต้องทำความสะอาดทุกวัน จริงๆ ถ้าลูกค้าเดินเข้ามาในร้าน เราก็ต้องปัดฝุ่นแล้ว”

สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์เคยทำสำรวจและสรุปให้ฟังว่า ผู้ชายเราตัดผมเฉลี่ยตกอยู่ที่ 3-6 อาทิตย์/ครั้ง และแนะนำให้หนุ่มๆ ตัดผมก่อนวันงานสำคัญล่วงหน้า 1-2 วัน เพื่อให้ผมเซตตัว หรือพูดง่ายๆ คือให้หน้าไม่เด๋อ เห็นรอยไถใหม่กริบ ดูไม่เป็นธรรมชาติ 

และอย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่ายุคนี้ หนุ่มๆ อยากตัดผมออกมาหล่อและดูดีเหมือน ทอม ฮอลแลนด์ หรือไม่ก็ คริส อีแวนส์ เทรนด์ผมวันนี้เราหวนและโหยหาอยากกลับไปหล่อกระชากใจสาวเหมือน เอลวิส เพรสลีย์ หรือเจมส์ ดีน ที่ยุคหนึ่ง (กลาง 50’s ถึงต้น 60’s) ปู่ทั้งสองเคยฝากรอยประทับไว้กับทรงผมที่เรียกว่า Big Quiff จุดเด่นอยู่ตรงการเซตผมที่ต้องเสยโค้งขึ้นไปบริเวณด้านหน้า และไถข้างอันเดอร์คัตแบบรองทรง

แน่นอน, เมื่อหนุ่มๆ ฮิตตัดทรงวินเทจ จึงมีร้านตัดผมแนวๆ นี้ผุดขึ้นทั่วทุกมุมเมืองราวดอกเห็ด โดยมีคนบุกเบิกยุคแรกๆ อย่างต๊ะเองนี่แหละ

วันนี้นอกจากเขาที่เราเจอ ยังมีน้องสาวที่เดินตามรอยพี่ชาย และมีอาชีพเป็นช่างผมวินเทจประจำอยู่ที่ร้านด้วย กับที่มานั่งให้กำลังใจอยู่ข้างกัน คือคุณแม่ของทั้งคู่ วันนี้ปวารณาตัวเป็นช่างภาพ ถือไอแพดตามถ่ายเบื้องหลังการพูดคุย ครอบครัวขอบุญเขาน่ารักกันจริงๆ เลยครับ

“ผมเปิดร้านตัดผมวินเทจมานาน 5-6 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นเคยขายภาพโปสเตอร์ ทั้งโปสเตอร์หนัง และวงดนตรีต่างประเทศ ที่ตลาดรถไฟจตุจักร 

“ที่เปลี่ยนมาตัดผม เพราะตลาดรถไฟจตุจักรปิด ผมเลยไปเรียนตัดผม ใช้เวลา 2 เดือนกว่า ก็สามารถตัดผมได้ เห็นช่างผมฝรั่งดูเท่ดี ไม่เหมือนช่างตัดผมไทย 

“ผมโดนพ่อด่าว่ามาตัดผมทำไม แม่ก็ว่า ตัดผมได้เงินหัวละไม่ถึงร้อย (ปัจจุบันค่าตัดที่ร้านเขาหัวละ 200 บาท) แต่ผมก็ยังอยากเรียน รู้ตัวว่าทำได้ เวลาผมตั้งใจทำอะไร ผมมักจะทำได้ ไม่เคยทำไม่ได้เลยสักครั้ง…ถ้าผมตั้งใจทำนะ (ย้ำ) ถามแม่กับน้องดูได้” แววตากับน้ำเสียงเขาฟังเหมือนเล่น แต่มันจริง  

“ตอนนั้นยังไม่มีคนไทยเปิดสอนตัดผมวินเทจ คลิปยูทูบสอนวิธีตัดผมทรงวินเทจก็ไม่มีให้ดูเหมือนสมัยนี้ มันเพิ่งมาดังมากช่วง 2-3 ปีหลังมานี้เอง” ต๊ะเล่า  

“แรกเริ่มเลยผมเปิดร้านตรงตลาดหน้ารามฯ เป็นของ กกท. พอวันเสาร์-อาทิตย์ก็มาเปิดอยู่ชั้น 8 พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน มากางร้านบนตลาดคลองถมติดแอร์ ลูกค้าตัดผมเต็มทุกวัน จองคิวกันข้ามวัน”

ฟังดูเหมือนเขาเริ่มต้นบนเส้นทางสายนี้ง่ายดายไปเสียทั้งหมด “ง่าย…เพราะผมเป็นทีมแรกๆ ในตอนนั้น เรียกเพื่อนมาสามสี่คน มาถึงก็เปิดร้านเลย ไม่มีกระจก ไม่มีเก้าอี้ เอาถังใส่ยามาวางตั้งให้ลูกค้านั่งตัดผม คิดหัวละ 150 บาท ร้านดังๆ แถวหน้ารามฯ ยังเดินมาดูเลยว่าพวกเอ็งทำอะไรกันวะ มันเป็นของใหม่ในตอนนั้นด้วยไงครับ ลูกค้าก็พอใจ ถ้าให้ผมมาเริ่มต้นตอนนี้คงยาก  

“คำว่าวินเทจมันมาพร้อมการตกแต่งร้าน เก้าอี้ที่ให้ลูกค้านั่ง ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นที่นิยม ยิ่งเป็นต่างจังหวัดยิ่งชอบ ใช้บริการร้านแบบนี้กันเยอะ และผมว่าเสน่ห์ของการตัดผมวินเทจคือการเซต การแสก ส่วนเรื่องทรงผมเขาดูกันไม่ออกหรอกว่าสวยยังไง เพราะมันเหมือนกันหมด อยู่ที่เส้น ที่แสง วิธีการเซต อันเดอร์คัต ปอมปาดัวร์ เรื่องทรงผมสำหรับผู้ชายเราก็ต้องตามเทรนด์ให้ทันนะ”

GM ให้เขาช่วยเท้าความหลัง เล่าเรื่องน่าตื่นเต้นในการตัดผมลูกค้าครั้งแรกให้ฟังสักหน่อย

“ตัดผมครั้งแรกสั่น กลัวเหมือนกันนะ เพราะหัวเขา ไม่ใช่หัวเรา (หัวเราะสนุก) แต่ใช้วิธีเรียกความมั่นใจจากเพื่อนฝูง ได้วิชาอะไรกลับมาก็อาศัยตัดหัวเพื่อน เขาเห็นผมชอบแต่งตัว ชอบทำอะไรแปลกๆ ก็ไว้ใจให้ตัด อย่างผมเป็นคนชอบแต่งตัว แต่ไม่ได้แต่งตามกระแส ชอบแต่งให้เข้ากับตัวเอง ชอบเดินซื้อของเก่า อะไรที่เหมาะกับบุคลิกเราก็ซื้อ”

ร้านตัดผมวินเทจในห้างพันธ์ุทิพย์ งามวงศ์วาน ที่เห็นมีไม่น่าต่ำกว่าสิบ การแข่งขันจึงค่อนข้างสูง

“ร้านนี้ก็เก่ง ร้านนั้นก็เก่ง” เขาเล่าน้ำเสียงเรียบ “ตอนนั้นที่เริ่มทำ มันไม่มีคนทำไงครับ ผมก็แค่เอารูปมาให้ลูกค้าเลือก แล้วชี้ว่าจะเอาทรงแบบไหน ผมตัดออกมาได้คล้าย โดยไม่มีใครมาเปรียบเทียบเหมือนอย่างสมัยนี้ ตัดทรงอะไรออกมาเขาก็ยอมรับว่าเราทำได้ เราทำสวย เพราะไม่มีใครมาเปรียบ” ต๊ะย้ำ

เอาเข้าจริงความเก่ง – ไม่เก่งในฝีมือของช่างผมวินเทจวัดกันได้หรือไม่ “ผมว่าทุกคนเก่งทั้งนั้นนะ แต่จะเหนือชั้นกว่าที่บริการ และพูดคุยกันถูกคอ ผมไม่เคยมองว่าใครตัดผมไม่สวย แต่ถ้าใครบริการเก่ง ร้านนั้นก็จะได้ลูกค้าเยอะ เพราะลูกค้าติด”

สงสัยต่อว่าร้านตัดผมวินเทจแตกต่างจากบาร์เบอร์อย่างไร “คล้ายกันครับ แต่มันมีการเฟดขอบผม และมีอุปกรณ์เสริมเยอะขึ้น ช่วงหลังมานี้บริษัททำอุปกรณ์ตัดผม โดยเฉพาะปัตตาเลี่ยนเขาแข่งขันกัน มีปัตตาเลี่ยนหลายขนาด หลายไซส์ หลายฟังก์ชัน พออุปกรณ์เสริมเยอะ มันก็ทำให้ตัดผมได้สวยขึ้น”  

และนี่แหละคือเสน่ห์ของอาวุธที่ต๊ะชอบใช้มันในท่วงทำนองบทเพลงบลูส์

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ