fbpx

ดวงฤทธิ์ บุนนาค

URBAN DIALOGUE

เปิดทุกความเป็นไปได้ของชีวิต

ปลายปีที่ผ่านมา ชื่อของ ด้วง ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกหนุ่มนักธุรกิจเจ้าของโครงการริมน้ำ The Jam Factory ได้รับความสนใจจากกรณีการโพสต์ข้อความ

ถึงเรื่องการเมืองและองค์กรความคิดสร้างสรรค์อย่าง TCDC จนเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ดวงฤทธิ์เพิ่งได้รับรางวัล Best Building of the Year จากเวทีสถาปนิกเอเชีย ARCASIA 2015 จากผลงานการออกแบบรีสอร์ท The Naka Phuket

ไม่เกินความจริงนัก หากจะบอกว่านี่คือสถาปนิกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย นอกจากงานออกแบบแล้ว เขายังทำสิ่งอื่นมากมาย ตัวอย่างเช่น ร้านอาหาร ร้านหนังสือ งานเฟอร์นิเจอร์ ฟรีแมกกาซีน เสื้อผ้าแฟชั่น หรือแม้กระทั่งสนทนาเรื่องความรักกับเด็กวัยรุ่น

GM ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้วยแผนการที่วางล่วงหน้าไว้แล้วว่าอยากเข้าไปพูดคุยกับสถาปนิกหนุ่มนักธุรกิจที่มาแรงแห่งยุคคนนี้

แต่ว่ากันตามตรง กว่าเราจะได้คิวเพื่อคุยกับเขา ประเด็นอันร้อนแรงในโซเชียลฯ ก็ดูจะเงียบลงไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม มากกว่าปรากฏการณ์ที่ผ่านไปอย่างผิวเผิน ฉาบฉวย เราได้สร้างบทสนทนาที่ขยับขยายออกไปในหลายมิติของชีวิต

ตั้งแต่เรื่องเล็กถึงเรื่องใหญ่ เราคุยเรื่องประเด็นสาธารณะ นโยบายการพัฒนา ความเป็นไปในกรุงเทพฯ เฟซบุ๊คส่วนตัว คำถามความรักหญิงสาวในทวิตเตอร์ และยังผลักดันหลายโครงการที่สร้างการปะทะสังสรรค์ความคิดด้วยการพูดคุย

บทสนทนาระหว่างเรากับ ดวงฤทธิ์ บุนนาค ครานี้ จึงว่าด้วย ‘บทสนทนาแห่งการสร้าง’ ที่นำพารายล้อมสารพัดเรื่อง ตั้งแต่ธุรกิจจนถึงจิตวิญญาณ ซึ่งทุกอย่างเริ่มต้นสร้างด้วยบทสนทนาแห่งความเป็นไปได้

WORKING MY WAY TO IT

GM : สังเกตว่าคุณค่อนข้างจะแอคทีฟในโซเชียลมีเดีย คอยพูดถึงประเด็นสาธารณะบ้าง ช่วยตอบปัญหาความรักหนุ่มสาวบ้าง จริงๆ แล้วตอนนี้คุณกำลังสนใจเรื่องอะไร

ดวงฤทธิ์ : ในตัวมนุษย์คนหนึ่งมีหลายมิติ ผมเองก็เหมือนกัน จึงทำอะไรแบบธรรมชาติมาก สมมุติวันนี้อ่านข่าวหนึ่ง แล้วรู้สึกว่าแบบ…39 ล้านเลยเหรอวะ!? ก็เอาสักที ขอซัดสักดอก หรืออีกวันผมไปกินอาหารอร่อย ก็พูดถึงสักหน่อย ชีวิตก็เป็นแบบนี้ ผมแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ไม่คิดว่าจะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อทำพีอาร์ส่วนตัว ไม่เคยออกแบบมัน แต่ถ้าเราทำงานในเดอะแจมแฟคตอรี่ แล้ววันนี้มีอีเวนท์อะไร ถ้าอยากโพสต์ก็โพสต์ ช่วยประชาสัมพันธ์หน่อย ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในบริบทชีวิตเราตอนนั้นจริงๆ ดังนั้น มันก็เลยจริงมาก ไม่เคยคิดว่าเล่นพวกนี้เพื่อพีอาร์ สนใจอะไรก็พูด คิดอะไรก็พูด บางวันก็การเมือง บางวันไม่มีเรื่องอะไร ก็ไม่โพสต์ บางวันทหารทำอะไรดีก็ชม บางวันทหารทำไม่ดีก็ด่า เพราะผมไม่มีพวก ก็ตอบสนองไปกับสถานการณ์ตอนนั้น

ผมว่านี่คือวิธีที่เราจะได้สร้างการสนทนาที่ดีขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่แค่ในเฟซบุ๊ค แต่ขยายไปสู่สาธารณะด้วย ไปพูดในสื่อมวลชนด้วย ทุกอย่างที่พวกเราพูด พวกเราแสดงออก เป็นการแสดงจุดยืนว่าเราอยู่ที่ตรงไหน ทุกครั้งที่พูด ผมไม่เคยให้ร้ายใครนะ ไม่เคยลุกไปชี้หน้าด่าใคร ไม่เคยเลย ผมคิดว่าแบบนั้นไม่เวิร์ก แต่มันเป็นการแสดงจุดยืนมากกว่า ว่าผู้นำประเทศควรจะเป็นยังไง สถานการณ์นี้ควรจะเป็นยังไง ซึ่งบางครั้งเราก็อาจจะผิดได้ แต่สิ่งสำคัญคือการ Self Expression การแสดงตัวตนของเรา นี่เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้มนุษย์คงอยู่ในบริบทของสังคม ซึ่งต้องมีคนอื่นรับรู้ว่าเราเป็นใคร เราใช้โซเชียลมีเดียแสดงออกว่าเราคือใคร ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องทำให้คนอื่นเชื่อตาม หรือไปด่าคนอื่น คือที่ผ่านมา คนด่าผมเยอะมาก แต่ผมไม่เคยด่าใคร ผมโอเค ทุกคนมีสิทธิ์จะด่า ส่วนผมก็มีสิทธิ์แสดงความคิด ทุกคนก็มีสิทธิ์แสดงความคิดเหมือนกัน และผมไม่เคยถือเอาคำด่าของคนอื่นมาเป็นเรื่องส่วนตัวเลย

GM : ในทุกๆ เช้า นักธุรกิจที่ต้องดูแลบริษัทเป็นสิบแห่ง จะคอยมาแสดงความเห็นหรือตอบคำถามเด็กๆ แบบนี้ คุณทำไปเพื่ออะไร

ดวงฤทธิ์ : (หัวเราะ) ผมเป็นพวกโรคจิต เวลาเห็นวัยรุ่นเขาเล่นอะไรกัน ก็อยากเล่นตาม มีโปรแกรมแอปพลิเคชั่นหนึ่ง ชื่อ ask.fm ผมเห็นวัยรุ่นเล่นกัน อยากรู้ว่าเป็นยังไง ลองเล่นบ้าง ปรากฏว่ามีคนถามเข้ามาเรื่อยๆ เว้ย! ตอนแรกก็มีคำถามซีเรียสๆ เกี่ยวกับวิชาสถาปัตยกรรม เรื่องทฤษฎีต่างๆ แต่พอมาตอนหลังๆ ทำไม

มันมีคำถามความรักเต็มไปหมด (หัวเราะ) แต่สนุกนะ การนั่งตอบคำถามพวกนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ชีวิตพวกเขา ได้สัมผัสว่าวัยรุ่นกำลังคิดอะไรอยู่ อะไรคือปัญหาของเขา อะไรคือสิ่งที่รับมือจัดการ บางคนมีปัญหา แต่พ่อแม่ไม่ฟัง ไม่รู้จะพูดกับใคร การได้สนทนากันแบบนี้ เขาก็จะ Empower รู้สึกมีพลังชีวิตมากขึ้น เขาไม่ได้เกลียดพ่อแม่ แต่จะเข้าใจพ่อแม่มากขึ้นว่า อ๋อ!ที่พ่อแม่ไม่ฟังเพราะอะไร ผมให้มุมมองแบบผู้ใหญ่ ปัญหาอกหักรักคุดสำหรับวัยรุ่นนี่มันคือโลกทั้งโลกของเขาจริงๆ โดยที่ไม่ตั้งใจ

เรากลายเป็นพื้นที่ให้สำหรับพวกเขามาถามคำถาม แล้วการมานั่งตอบคำถามพวกนี้ ใช้เวลาเยอะมากนะแต่ละวันๆ แต่รู้สึกว่า เออ…ได้ประโยชน์เว้ย บางคำถามก็สะกิดใจบ้าง แต่เราคิดมาเยอะแล้ว ชีวิตไม่เหลืออะไรให้คิดเท่าไหร่ จริงๆ ก็ไม่เชิงเป็นการตอบคำถาม เพียงแค่ทำให้เขาเห็นอีกมุมที่เขาไม่เคยมอง ผมคิดว่ามนุษย์เราติดอยู่กับตรงนี้ ติดกับสถานการณ์อะไรบางอย่าง เป็นเพราะมองไม่เห็นจากอีกด้านหนึ่ง แล้วเราก็รับมือกับมันแบบที่แค่เราเห็นมัน ไม่ได้รับมือแบบที่เห็นจากหลายด้าน จากมุมมองอีกอันที่พลิกไป ด้วยวิธีนั้นเขาจะเห็นด้วยตัวเองว่าคำตอบคืออะไร ถ้ามีคนมาถามคำถามหนึ่ง ผมไม่ได้ตอบเขาตรงๆ ว่าคำตอบคือ Yes หรือ No ก หรือ ข แต่ผมจะบอกว่าลองมองจากมุมนี้สิ มีคำตอบชัดเจนขึ้นจากตัวคุณเองมั้ยล่ะ

GM : คิดว่าตัวเองเชี่ยวชาญเรื่องความรักมากแค่ไหน

ดวงฤทธิ์ : แหม! คุณ ปีหน้าผมจะ 50 แล้วนะ ผมโชกโชนมาทุกเรื่องแหละ ผมแต่งงาน มีลูก หย่า แล้วผมก็มีแฟน เลิกกับแฟน แล้วก็มีแฟน ชีวิตมีเรื่องพวกนี้เต็มไปหมด แต่ตอนนี้นิ่งขึ้นแล้ว ไม่ค่อยมีความสนใจเรื่องนี้แล้ว จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งชีวิต ถ้ามีอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นได้บ้าง ผมว่ามันก็โอเค ผมชอบในความเป็นมนุษย์มากเลยนะ ผมรักมนุษย์ทุกๆ คน ผมรักคนจน คนรวย ผมรักผู้ชาย ผู้หญิง รักเกย์ รักทอม รักทุกๆ แบบ ผมมีศรัทธาในความเป็นมนุษย์สูงมาก มนุษย์ทุกๆ คนแม่งมหัศจรรย์ ทุกคนมีศักยภาพในตัวทั้งนั้นเลย เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำ เพราะมีบางอย่างมาขวาง ผมไม่ได้ทำให้เขาเก่งขึ้น เพราะเขาเก่งอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าผมเอาบางอย่างที่ขวางชีวิตเขาออกไป นั่นคือสิ่งที่ผมกำลังทำ และตื่นเต้นกับตรงนี้มาก

GM : ความรักและความศรัทธาต่อมนุษย์นี่มาจากไหน

ดวงฤทธิ์ : อืมม์…ไม่รู้สิ วันหนึ่ง จู่ๆ ตื่นขึ้นมา ผมก็รักมนุษย์ อาจจะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กมั้งครับ ผมอยู่ในครอบครัวซึ่งพ่อแม่สอนให้มองเห็นความงาม เห็นความงามของมนุษย์ในทุกชนชั้น ทุกวันนี้ผมคุยกับคนงานก่อสร้างในไซต์งาน และก็นั่งกินข้าวกับเขาได้ เวลาเห็นพวกเขาหุงข้าวเหนียวในไซต์งานแล้วมันน่ากินจริงๆ โอเค มันอาจจะไม่ใช่เรื่องของชนชั้น เพียงแค่ผมมีความสุขกับการพูดคุยกับผู้คน สนใจวิธีที่เขาคิด แล้วผมรู้สึกว่าคนงานนี่ฮามากๆ พูดคุยกับเขาแล้วสนุกมาก แล้วผมก็สามารถคุยกับคนที่เป็นเจ้าของบริษัทใหญ่โต ระดับมหาเศรษฐีที่รวยมากๆ ของประเทศไทยได้ โดยที่ผมไม่ได้รู้สึกว่าด้อยกว่าเขา หรือเขาสลักสำคัญกว่าผม ฉะนั้น การที่ผมสามารถคุยกับเขาแบบนั้นได้ เขาก็มีความสุข เขาก็รู้สึกว่าไม่ต้องเกร็งเหมือนกัน รู้สึกว่าเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน ในเบื้องหลังของความเป็นมนุษย์คล้ายกันหมด เพียงแต่ว่าเราให้ความหมายว่าคนนู้นเป็นแบบนี้ คนนี้เป็นแบบนั้น ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนยอดเยี่ยม

สิ่งนี้ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่น่ะตัวดีเลย ในบทสนทนาที่บ้านของเรา จะให้ความเคารพกับมนุษย์ทุกคน ตั้งแต่เด็กจนโต ไม่มีบทสนทนาที่ดูถูกเหยียดหยามใคร แล้วก็ไม่เคยคิดว่าคนนู้นดี คนนี้เลว คนนั้นถูก คนนี้ผิด ที่บ้านผมจะไม่มีแบบนั้นเลย เขาไม่ได้สอนว่าจะต้องเป็นเด็กดีหรอก แม่ไม่เคยสอนหรือบังคับให้ผมตั้งใจเรียนเลยนะ ไม่เคยพูด แต่เขาจะพูดเสมอว่าลองคิดเอาเองก็แล้วกัน ว่าอนาคตถ้าโตขึ้นแล้วเรียนไม่เก่ง ชีวิตจะเป็นยังไงบ้าง เขาถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ชีวิตในอนาคต ผมมองเห็นภาพ ถ้ากูเรียนไม่เก่งนะ ที่บ้านกูก็ไม่ได้รวยล้นฟ้า ชีวิตหายนะแน่ พ่อแม่ไม่เคยต้องมาบังคับว่าต้องดูหนังสือ ทำเองหมดเลย เพราะไม่อยากมีชีวิตในอนาคตที่ลำบากกว่าที่เราเป็น เด็กๆ ผมไม่ได้รวยนะ ที่บ้านผมไม่รวยเลย แม่ผมเรียนบัญชี พ่อผมเรียนวิศวะ เป็นข้าราชการรัฐวิสาหกิจ ส่วนแม่ก็เป็นแม่บ้าน แม่ผมตั้งใจเลี้ยงลูกเลยไม่ได้ทำงาน ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณของพ่อคือผู้ช่วยรองผู้ว่าการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ฉะนั้น บ้านเราก็ไม่ได้ฐานะดีอะไร ฐานะปานกลาง พอมีกิน แต่ไม่เหลือเก็บ แค่ส่งลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยไม่มีปัญหาอะไร

มีแต่ผมเองนี่แหละที่เป็นคนทะเยอทะยานมาตั้งแต่เด็ก อยากทำชีวิตให้ดี อยากเห็นพ่อแม่สบาย อยากมีตังค์ให้แม่ เป็นแรงขับอันเดียวเลยที่ทำให้ผมตั้งใจเรียน เป็นพวกเด็กเนิร์ด ช่วงมัธยมเป็นเด็กติ๋มนิดๆ แต่พอมีเพื่อนเยอะขึ้นเลยไม่ค่อยติ๋มแล้ว แต่ว่าเป็นเด็กเรียนมากเลยนะ ตอนอยู่สถาปัตย์จุฬาฯ ตลอดทั้ง 5 ปีนั้น ผมเคยขาดเรียนไปแค่ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ผมโดดเรียนไปแค่ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ที่เหลือไม่เคยขาดเรียนเลย ทำกิจกรรมในคณะทุกอย่าง รับน้อง ทำละคร ทำหนังสือพิมพ์ ทำทุกอย่าง อาจารย์ก็เป็นห่วงว่ามึงทำกิจกรรมมาก จะไปรอดมั้ย แต่ก็จบมาได้เกียรตินิยม

GM : เวลา 1 ชั่วโมงครึ่งที่ว่านั่นคุณหายไปไหน

ดวงฤทธิ์ : หนึ่งชั่วโมงแรกนั้นเป็นเพราะผมเข้าใจผิด คิดว่าโดดเรียนกันได้สบายๆ เป็นเรื่องปกติ มันเป็นวิชาแคลคูลัส คณิตศาสตร์ตอนปี 1 เพื่อนคนอื่นเขาไปทำกิจกรรมกัน แล้วก็โดดเรียนวันนั้นกันเยอะ ผมก็เลยโดดด้วย พออาจารย์รู้ว่าผมโดด เพราะปกติจะเห็นว่าผมนั่งหน้าตลอด แต่วันนั้นไม่เห็น อาจารย์เสียใจและร้องไห้ ผมก็เลยไม่กล้าโดดเรียนอีกเลยตั้งแต่วันนั้น นั่นคือหนึ่งชั่วโมงแรก และมีอีกครั้งหนึ่งตอนอยู่ปีสอง คืออีกครึ่งชั่วโมงที่หายไป ผมไปจีบหญิง แล้วเข้าห้องเรียนช้า ตอนเรียนปีแรก คะแนนผมได้ 3 กว่าๆ พอถึงตอนปี 2 คะแนนตกไปเหลือ 2.91 ก็เพราะไปจีบหญิงนี่แหละ ก็เลยแบบว่าตั้งต้นชีวิตใหม่ ทำคะแนนจาก 2.9 ไต่ขึ้นมาจนกระทั่งได้เกียรตินิยม

GM : แสดงว่าเริ่มเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาเรื่องความรักและจัดการชีวิตได้ตั้งแต่วัยนั้น ดวงฤทธิ์ : ไม่ๆ เป็นเพราะเขาทิ้งผมไง (หัวเราะ) เลยได้โอกาสกลับมาตั้งหน้าตั้งตาเรียนใหม่

GM : ฟังดูเหมือนคุณเป็นพวกเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์มากเลยนะ แล้วในการทำธุรกิจของคุณ คุณเพอร์เฟ็กต์แบบนั้นด้วยหรือเปล่า

ดวงฤทธิ์ : ตอนเด็กๆ อาจจะเป็นนะ แต่พอแก่มานี่ก็ไม่เพอร์เฟ็กชั่นนิสต์แล้ว ถ้าจะเปรียบชีวิตตอนนี้ ผมว่ามันเหมือนดนตรีแจ๊ส เมื่อก่อนมีความเป็นดนตรีคลาสสิกอยู่บ้าง แต่พอเราเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้น ชีวิตเปรียบเป็นดนตรีแจ๊ส คือมันจะอิมโพรไวซ์ไป ไม่มีโน้ต ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดจบที่ชัดเจน เล่นกันไปตามอารมณ์ ชีวิตผมทุกวันนี้เป็นแบบนี้ ธุรกิจที่ผมทำอยู่มีทั้งหมด 14 บริษัท ผมอิมโพรไวซ์หมดเลย ไม่มีการวางแผนอะไรทั้งนั้น ไม่มีกลยุทธ์การตลาด ไม่มีอะไรเลย ผมเต้นรำอย่างเดียว

ผมจะบอกอะไรให้นะ ความลับจักรวาลนะ เวลาที่คุณจะสร้างบางสิ่งบางอย่างให้เกิดขึ้น คอนเซ็ปต์มันสร้างไม่ได้ วิธีเดียวที่จะสร้างได้ คือให้คุณดูที่ความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นอยู่ในบริบท คุณลองจินตนาการวงกลมอันหนึ่ง คุณอยู่ใจกลางวงกลมนั้น บริบทคือเส้นรอบวงที่อยู่รอบตัวคุณ บริบทคือทุกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวคุณ ณ เวลานั้น คุณถามตัวเองว่าอะไรเป็นไปได้บ้าง เท่าที่อยู่ในบริบทที่ฉันมี ฉันมีบริบทแบบนี้ ลูกค้ามีแบบนี้ โจทย์แบบนี้ ฉันมีความจำเป็นแบบนี้ นี่คือบริบททั้งหมดที่อยู่รอบๆ ตัวฉัน แล้วคุณก็ถามกับตัวเองคำถามเดียวเลยนะ ว่าเฮ้ย! มีอะไรเป็นไปได้บ้างวะ ทีนี้แหละที่คุณจะสามารถสร้างทุกอย่างในชีวิตคุณได้ ไม่ต้องอาศัยคอนเซ็ปต์

คอนเซ็ปต์เป็นวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ผลทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากเหตุ ทุกอย่างมาจากจุดกำเนิด 1 จุด แต่จริงๆ แล้วในบริบทของการสร้างสรรค์ ไม่เคยมีอะไรที่เกิดจากเหตุผล มันเกิดจากความเป็นไปได้ต่างหากล่ะ คือมันเป็นไปได้ที่จะทำสิ่งนี้ มากกว่าที่คุณมีเหตุผลที่จะทำสิ่งนี้ ตัวอย่างคลาสสิกเลย คือ สตีฟ จอบส์ คิดไอโฟน มันเป็นไปได้ที่จะมีโทรศัพท์แบบนี้ แต่ไม่มีเหตุผลเลยที่จะทำโทรศัพท์แบบนี้ ไม่มีการวิจัยตลาดอะไรหรอก ว่าถ้าหน้าจอแตะๆ แล้วเอานิ้วรูด มันจะเวิร์ก แต่ สตีฟ จอบส์ มีวิสัยทัศน์ไง โทรศัพท์ไม่ต้องเป็นแบบเดิม ทุกอย่างเป็นปุ่มไอคอนหมด แล้วก็เอานิ้วรูดๆ เอา นึกออกมั้ยว่ามันมาจากความเป็นไปได้

ในบริบทของการสร้างสรรค์ อะไรก็แล้วแต่ ไม่เคยเกิดจากคอนเซ็ปต์ คอนเซ็ปต์เป็นวิธีคิดที่มาจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตอนนี้เราพยายามจะเอาวิธีคิดของสมองมนุษย์ไปทำงานในแบบกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งแม่งไม่ใช่ สมองมนุษย์ฉลาดกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ล้านเท่า เหมือนคุณเห็นผู้หญิงสวย ถ้าวิทยาศาสตร์จะบอกว่าตา 8 คะแนน จมูก 10 คะแนน แก้มได้ 5 คะแนน บวกกันแล้วเกิน 20 คะแนนแปลว่าสวย ผมถามว่าสมองคุณเคยมองผู้หญิงแบบนั้นหรือเปล่า สมองคุณทำงานเป็นคู่ขนาน แล้วกระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ไม่ได้ทำให้คุณทำงานแบบนั้น มันดาวน์เกรดสมองคุณให้ทำงานแย่ลง

ความเป็นไปได้มาก่อนกระบวนการ เราเข้าใจว่ากระบวนการจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ แต่ความเป็นไปได้ต่างหากที่มาก่อนกระบวนการ เพราะฉะนั้นเราต้องเห็นความเป็นไปได้ก่อน เหมือนกับการถ่ายภาพ เรามองเห็นภาพก่อนวินาทีที่จะกดชัตเตอร์ เราเห็นความเป็นไปได้ของช็อตนั้นก่อน เราถึงจะกด เหมือนกัน ดีไซน์ก็เหมือนกัน การสร้างสรรค์ทั้งหมดเหมือนกันหมดเลย นักเขียนจะนึกถึงภาพคร่าวๆ ของหนังสือที่เขาจะเขียน ก่อนที่เขาจะเริ่มเขียน ไม่มีกระบวนการอะไรที่มีเหตุผลว่าจะเขียนเรื่องแบบนี้ บ้าหรือเปล่าวะ ไม่มีหรอก

GM : ตอนเป็นเด็กหนุ่ม คุณมองเห็นความเป็นไปได้ในบริบทรอบๆ ตัวว่าอย่างไร

ดวงฤทธิ์ : ผมมองเห็นว่ามีความเป็นไปได้ ที่ผมจะเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงระดับโลก อันนี้ที่ผมเห็นนะ ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ผมบอกเพื่อนว่า เฮ้ย! คอยดูนะพวกมึง กูจะเป็นสถาปนิกที่ทั่วโลกต้องรู้จักชื่อกู ยังไม่เคยมีคนไทยที่เป็นสถาปนิกแล้วฝรั่งยอมรัว่าไอ้นี่เก่ง กูทนไม่ได้ กูอยากให้ฝรั่งมันยอมรับในฐานะที่เราเป็นสถาปนิก เพื่อนแม่งก็หัวเราะเยาะสิ บอกไอ้ด้วง มึงบ้าแล้ว มึงจะเป็นได้อย่าง เลอกอร์บูซีเย เหรอ อยากจะเป็นมาสเตอร์แบบนั้นเหรอ เป็นไปไม่ได้หรอก คนไทยไม่มีทางเป็นแบบนั้นได้ ผมก็บอก เออๆ กูจะทำให้ดู

GM : ข่าวล่าสุด คุณเพิ่งได้รับรางวัล Best Building of the Year จากเวทีสถาปนิกเอเชีย

ดวงฤทธิ์ : ใช่, อย่างน้อยในเอเชียก็ต้องจำชื่อกูได้ล่ะเว้ย (หัวเราะ) ผมอยากจะกลับไปบอกเพื่อนๆ กูได้ 19 ประเทศในโลกแล้ว เหลืออีกครึ่งโลกที่กูจะต้องไปจัดการต่อ

GM : พอเรามองเห็นความเป็นไปได้มากมาย แล้วยังไงต่อล่ะทีนี้

ดวงฤทธิ์ : พอมีความเป็นไปได้แล้วเราก็แค่ Work My Way To It เราแค่นำตัวเราให้ไปสู่ความเป็นไปได้นั้น แค่นั้นเอง เรามีเป้าหมาย มียอดเขาที่จะไต่ เวลาไต่เขาก็จะไม่ต้องมานั่งเพ้อเจ้อไง เราจะรู้ว่าจะไต่ไปยอดเขานี้ เพราะฉะนั้น ชีวิตผมที่ผ่านมา 20 กว่าปี ผมทำอาชีพนี้ ผมก็รู้ว่าอันนี้คือยอดเขาที่ผมจะไป ผมก็ Work My Way To It ทำตัวเองให้ไปที่ยอดเขานั้น

แต่ในบางครั้งมันจะไม่ได้เทิร์นเอาต์ในวิธีที่เราอยากเห็น หรือบางครั้งไม่ได้เป็นตามความคาดหวังของเรา เป็นไปได้นะ แต่ว่าสิ่งที่ผมทำ ก็คือต้องทำใหม่อีกที ชีวิตมีแค่นี้เอง ทั้งชีวิตผมเปิดบริษัทมาหลายบริษัทแล้ว ตอนนี้มีทั้งหมด 14 บริษัท ผมเคยปิดไปแค่บริษัทเดียวเท่านั้นเอง แม่งไม่เวิร์ก ตอนนี้ที่เหลืออีก 14 บริษัทก็พอไปได้ มีโอกาสที่จะล้มเหลวเหมือนกัน แต่ก็แค่เริ่มต้นใหม่ คุณเคยเล่นเกมมั้ย เกมเพลย์สเตชั่นอะไรพวกนี้ เล่นแล้วคุณตายในเกม มันบิ๊กดีลหรือเปล่าวะ คุณก็แค่เริ่มเล่นใหม่ ชีวิตเป็นแบบนั้นจริงๆ บางทีคุณก็ล้มเหลว แล้วยังไงล่ะ คุณก็ยังมีชีวิตอยู่ ถูกมั้ย คุณก็เริ่มเล่นใหม่แค่นั้นเอง

GM : ก่อนหน้าจะมาเปิดบริษัท คุณเองก็ทำงานประจำอยู่นาน

ดวงฤทธิ์ : ผมทำ A49 อยู่ 9 ปี แล้วไปเรียนต่อที่อังกฤษ แล้วก็กลับมาทำต่อที่เดิม จริงๆ ตอนแรกก็จะทำที่นั่นตลอดไปแหละ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ตอนปี 2540 ผมก็คงทำตลอดไป แต่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง แม่งถีบผมออกมาอย่างสวยงาม

GM : อย่างคุณก็ถูกเลย์ออฟด้วยเหรอ?

ดวงฤทธิ์ : ออฟฟิศไม่ได้อยากให้ผมออก เขาอยากให้ผมอยู่ แต่ผมรู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ออกมาแล้วจะได้เป็นฮีโร่ด้วย ผมเป็นผู้บริหารระดับซีเนียร์แล้วตอนนั้น เขาไม่อยากให้ผมออกหรอก แต่ทุกคนก็รู้ว่าถ้าเราอยู่กันแบบนี้ เราไปไม่รอดครับ ผมเสนอว่าพวกซีเนียร์ทำเป็นบริษัทย่อยๆ ให้บริษัทใหญ่ถือหุ้น แล้วแต่ละบริษัทเล็กย่อยๆ ก็ทำให้รอด แล้วบริษัทใหญ่จะได้รอดด้วย เจ้านายผมตอนนั้นบอก เฮ้ย! ไอเดียเข้าท่า ทำเลย ตอนนั้นก็ประชุมกันประมาณ 10-20 คน ลูกพี่ผมนั่งหัวโต๊ะถามว่ามีใครจะทำบ้าง เรามีไอเดียนี้ ตอนแรกก็นัดแนะว่าทุกคนจะทำกันหมด แต่พอตอนยกมือ ทำไมมีกูยกคนเดียว (หัวเราะ) ทุกคนนิ่งหมดเลย อ้าว! ไหนพวกมึงบอกจะยกกัน

ผมก็เลยออกมาทำบริษัท ซึ่งก็เท่เลย เจ้านายสนับสนุนนะ เพราะเขาคิดว่าผมทำเพราะอยากช่วยบริษัทเขา สนับสนุนเต็มที่ เขาถือหุ้นให้เราช่วงหนึ่ง ทีนี้พอทำๆ ไป ปรากฏว่ารุ่งเพราะเศรษฐกิจดีขึ้น เขาถามเราอย่างสุภาพว่าอยากออกไปเปิดเองเลยมั้ย เขาจะคืนหุ้นให้ ผมเลยเอาสิครับ ผมจะทำเอง เขาคืนหุ้นมา แล้วผมเปิดบริษัทตัวเอง ทำบริษัทเองจนถึงทุกวันนี้ 14 ปี

จริงๆ ทำแค่ 2 บริษัทมาตลอด 14 ปี คือบริษัทดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด แล้วก็บริษัท Anyroom ที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ จนเมื่อ 2-3 ปีหลัง ตอนที่ย้ายมาที่ The Jam Factory ถึงเพิ่งจะแตกเป็น 14 บริษัท เรื่องของเรื่องคือพอมาตรงนี้ เฮ้ย! ทำร้านอาหารดีกว่า แม่งเจ๋งว่ะ ทำแล้วดันรวยด้วยสิ เผลอๆ รวยกว่าทำสถาปนิกอีกนะ เสร็จแล้วเริ่มสนุก พอเงินมาเยอะ ผมเป็นคนไม่ชอบเก็บเงินไปซื้อรถ ซื้อนาฬิกา ก็เลยเอาเงินที่ได้ไปลงทุนต่อ เปิดบริษัทอื่นต่อ เราทำ Gallery ก็ของ The Jam Factory ตอนหลังก็มาเปิดร้านก็องดิด กับร้านไลบรารี่ เป็นบริษัทชื่อวอลแตร์ อีกบริษัทหนึ่งทำ The Jam Factory Magazine ก็เปิดบริษัทชื่อ Revolution Daffodils เราเคยทำ Art4D มาก่อน แล้วก็สาบานกับตัวเองว่ากูจะไม่ทำหนังสืออีกแล้ว เพราะรู้สึกว่า Art4D ดีมากไง เรารู้สึกว่าถ้าทำอีกเล่มหนึ่ง ความยากตรงที่ต้องทำให้ได้มาตรฐานกับที่เราเคยทำไว้

GM : แต่ก็ทำ

ดวงฤทธิ์ : ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ที่ดู Gallery ให้ผม วันหนึ่งกลับมาจากญี่ปุ่น เดินมาบอก ป่านว่าเราควรทำ Free Magazine ผมก็เอาอีกแล้ว ไอ้ป่าน กูจะเดือดร้อนอีกแล้ว แต่ผมปิ๊งไอเดียว่าควรทำ Free Magazine ที่ชื่อ The Jam Factory Magazine เพราะที่ The Jam Factory เป็นสถานที่ ถ้าเอาสมการของ The Jam Factory มามองไปยังโลกรอบตัว จะเห็นอะไรที่น่าสนใจ ผมก็ตื่นเต้นเลย บอกเฮ้ย! น่าสนใจว่ะ ต้องเป็นแมกกาซีนที่ฮิตมากๆ เลย ต้องเท่สุดๆ ผมเลยบอกว่า เออๆ ทำๆ ก็ควักเงินทำ นี่ทำมาปีกว่าแล้ว ก็ยังทำอยู่ ยังพอรอดอยู่นะ

คุณเห็นมั้ย ประเด็นคือมันมีความเป็นไปได้ ผ้าป่านมาบอก แล้วผมเห็นความเป็นไปได้ ผมทำเลย ผมเป็นโรคจิต อะไรก็ตามที่เห็นว่าเป็นไปได้ คือกูต้องทำเลย ผมจะไม่ทิ้งความฝันค้างไว้นาน พอคิดได้ปุ๊บ ทำเลย ทีนี้พอทำ The Jam Factory Magazine ผมเจอเพื่อนอีกคนหนึ่งที่เคยอยู่หนังสือมอเตอร์ไซค์ฉบับอื่นมาก่อน ผมก็ขี่มอเตอร์ไซค์และมีไอเดียอยากทำหนังสือมอเตอร์ไซค์มานาน บอกเฮ้ยๆ กูอยากทำหนังสือมอเตอร์ไซค์เว้ย มันก็บอก ดีพี่ ทำเลย ทำหนังสือ Rubber ขึ้นมา สนุกดี อยู่ๆ ก็มีสำนักพิมพ์ มี 2 ฉบับแล้ว นี่กำลังคิดว่าปีหน้าจะทำอีกฉบับหนึ่ง คุยกันเล่นๆ ว่าจะทำหนังสือโป๊ ซึ่งมีความเป็นไปได้เหมือนกัน (หัวเราะ)

GM : ไม่นะ ตอนนี้หนังสือโป๊ก็ยังปิดตัวไปนะครับ

ดวงฤทธิ์ : เคล็ดลับคือคุณทำหนังสือโป๊ แต่หน้าปกไม่ได้โป๊มาก หน้าปกดูอาร์ต ข้างในรูปต้องดูอาร์ต คนที่ถือจะบอกว่ากูถือหนังสืออาร์ตเว้ย ไม่ใช่หนังสือโป๊ คุณถือหนังสือบางเล่มแล้วอาย แบบนี้ใครจะไปซื้อที่แผง ก็เจ๊งสิ แต่หนังสือผมถือแล้วเท่ รู้สึกว่าผู้ชายคนนี้มีรสนิยม เซ็กซี่นิดหน่อย มีศิลปะ แม่งอาร์ตมาก แบบนี้เวิร์ก

มีหลายคนบอกว่าแมกกาซีนกำลังจะตาย ผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าแมกกาซีนเป็น Self Expression ของมนุษย์ เวลาคุณเดินไปที่แผงแล้วหยิบหนังสืออะไร มันจะบอกคนข้างๆ ว่าคุณเป็นคนยังไง หรือคุณมีหนังสือนี้วางไว้ที่รถ คุณกำลังบอกคนที่ขึ้นรถว่าคุณเป็นคนยังไง หรือวางในโต๊ะทำงานคุณ มันเป็นวิธีที่บอกว่าคุณเป็นคนแบบไหน เพราะฉะนั้นแมกกาซีนไม่มีวันตาย แล้วผมบอกได้เลยว่าคุณลองอ่านหนังสือในไอแพดสิ วันแรกๆ ก็ตื่นเต้น ผมเคยอ่าน แล้วหลังๆ คุณลองเอาไอแพดไปอ่านในส้วมสิ อ่านยากฉิบหาย อ่านแล้วแบบขี้ไม่ออก แต่พอกลับมาอ่านแมกกาซีนปุ๊บ โอ้ว! สบาย คือชีวิตง่าย อ่านที่ไหนก็ได้ นึกอยากอ่านก็เปิดอ่าน คุณถือไอแพด มันไม่ได้เป็น Self Expression อีกต่อไป ตอนนี้มันดูไม่เท่แล้วนะ ตั้งแต่คนเริ่มเอาไอแพดมาถ่ายรูป ทุกอย่าง มันเลยดูหายนะหมด

แมกกาซีนจะกลับมาเหมือนไวนิล ไวนิลก็กลับมา ต้องบอกว่าแมกกาซีนจะกลับมา ไม่ต้องห่วงหรอก แต่ผมลงทุนให้กับอนาคตเอาไว้ มันคืออนาคตเลยแหละ ถ้าผมบอกคุณเมื่อ 10 ปีที่แล้วว่าไวนิลจะกลับมา คุณเชื่อผมมั้ยล่ะ แล้วตอนนี้ไวนิลมันขายมากกว่าแผ่นซีดีไปแล้ว คุณไปดูแผ่นเสียงที่เพลงไทยทำก๊อบปี้พรินต์ใหม่ออกมา ตอนนี้พอบอกว่าจะเปิดขาย มันจองกันเกลี้ยงหมดทั้งล็อตเลย หนึ่งพันแผ่นก็หมดหนึ่งพันแผ่น ตอนนี้ทุกคนกลับมาทำหมดเลย เพราะขายดี บอกว่าทำปั๊มมาหนึ่งพันแผ่น พรีเซลส์ก่อน ทุกคนสั่งออร์เดอร์หมด ยังไงก็ขายได้

GM : โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะเห็นความเป็นไปได้ต่างๆ มากขึ้น เมื่อมีคนรอบตัวมากขึ้นด้วยใช่ไหม

ดวงฤทธิ์ : ผมจะทำบริษัทด้วยการเป็นพาร์ตเนอร์กับเขา ให้เขาถือเยอะด้วยนะ เหมือนผมถือใหญ่ แล้วเขาถือเยอะ เขาถือไม่น้อย แล้วเราชอบเล่นกับเขา มีอันหนึ่งที่ผมทำแบรนด์แฟชั่น ชื่อ Lonely Two-Legged Creature เพิ่งทำได้ไม่กี่เดือน เราทำเสื้อผ้าเพราะว่าผมไปเจอน้องดีไซเนอร์คนหนึ่ง เป็นเด็กจากจังหวัดเลย ดีไซน์เก่งมาก ขายเสื้ออยู่ประตูน้ำ ผมไปเจอในเฟซบุ๊ค ดูงานแล้วเรียกมาคุย ขอพอร์ตมาดู ดีไซน์ดีมาก ผมบอกไอ้นี่ Giorgio Armani ชัดๆ ผมบอกว่ามาทำกับผม แล้วหุ้นกัน ทำแบรนด์ น้องมันก็งงๆ นิดหน่อยนะ แล้วผมก็ไปดึงเพื่อนมาช่วย ตอนนี้ทำเป็นเรื่องเป็นราว ดีเลย ใช้ได้เลย

GM : คุณมีหลักในการเลือกพาร์ตเนอร์อย่างไร

ดวงฤทธิ์ : ฟีลลิ่งล้วนๆ เฮ้ย! คนนี้ทำได้มั้ย เป็นไปได้เว้ย ทำได้ หุ้นกันทำ

GM : ชีวิตการงานหลากหลายขนาดนี้ คุณบริหารจัดการอย่างไร

ดวงฤทธิ์ : เคล็ดลับในการทำธุรกิจ คือเรื่องของ Leadership ถ้าคุณมี Leader อยู่ในองค์กร มันจะรันไปได้ บริษัทสถาปนิกที่ผมรันได้ทุกวันนี้ ผมมี Leader ที่เป็นกรุ๊ปเฮด 7 คน ซึ่งแข็งแรงมาก ทุกคนเพาเวอร์ฟูลมาก ผมแทบไม่ต้องทำอะไรมาก พวกเขารับมือได้ ที่ผมมานั่งคุยกับคุณได้ตอนนี้ เพราะว่า 7 คนนั้นกำลังทำงานหัวแตกอยู่ในออฟฟิศ (หัวเราะ) ผมถึงมีเวลาว่างทำนู่นนี่ ทำบริษัทหรือขยายตัวไปยังด้านอื่นในชีวิตได้

GM : คุณเลือกคนมาเป็น Leader อย่างไร

ดวงฤทธิ์ : ไม่มีหรอก คุณต้องครีเอท ต้องสร้างเอง Leadership ไม่ได้มาจากวิธีที่เขาเป็น Leader แล้วเราเลือกเขานะ เขาจะต้องตั้งใจ มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจที่จะเป็น Leader แล้วเราก็สร้างเขาขึ้นมา ผมสร้างพวกเขาจากตอนตัวเล็กๆ กันหมดเลย และเขาไม่รู้ด้วยว่าตัวเองเป็น Leader แต่ผมมองเห็น ครีเอทเขาขึ้นมา บอกว่ายูเป็นได้ เขาบอกไม่ๆ พี่ คนอย่างผมเป็นไม่ได้หรอก แต่ผมบอก ไม่ๆ มึงอะเป็น กูเชื่อว่ามึงเป็น กูอยากให้มึงนำ

ผมว่าผู้คนมักจะถูกสร้างขึ้นจากบทสนทนา เวลาที่มีใครเชื่อในตัวคุณ คุณก็จะเชื่อว่าคุณเป็นเช่นนั้นได้ ผมทำแบบนี้กับทุกบริษัทเลย ตอนนี้ทุกคนกลายเป็น Leader หมด ทุกคนจากที่บอกว่าไม่น่าเป็นไปได้ แต่ตอนนี้ทุกคนเชื่อแล้วว่าเป็นไปได้ ผมบอกว่าในกลุ่มบริษัทของผมทั้งหมด ซึ่งไม่รู้ว่าในท้ายที่สุดแล้วจะมีกี่บริษัทนะ บอกว่าทั้งกลุ่มเราจะมีรายได้รวมกันมากกว่าหมื่นล้านในอีก 10 ปีข้างหน้า ฟังแล้วดูมันจะเป็นไปได้เหรอ หมื่นล้านไม่เยอะนะ แต่ตอนนี้คนในองค์กรผมทุกคนเชื่อว่ามันเป็นไปได้ เขาบอกว่าหมื่นล้านไม่ได้เยอะเกินไป เทียบกับสิ่งที่จะทำ ผมอยากจะทำให้คนเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นเงินได้ สิ่งที่ผมลงทุนทุกอันเป็นเรื่องนี้ทั้งนั้นเลย เป็นเรื่อง Creativity ความคิดสร้างสรรค์

GM : พูดง่าย แต่ทำยากนะ การใช้ความคิดสร้างสรรค์มาทำธุรกิจ เราต้องสร้างกันยังไงความคิดสร้างสรรค์

ดวงฤทธิ์ : ไม่หรอก ตั้งแต่ประโยคแรกที่ผมบอกคุณนั่นแหละ อะไรบ้างที่เป็นไปได้ แค่นั้นเลยจริงๆ คุณถามคำถามเดียวว่ามีอะไรเป็นไปได้บ้าง ในสมองมนุษย์ถูกออกแบบมาให้สร้าง โดยที่เราไม่รู้ตัวนะ มันถูกออกแบบมาอัตโนมัติ ฉะนั้น ถ้าเกิดคุณถามแค่คำถามว่าอะไรบ้างที่เป็นไปได้ เดี๋ยวที่เหลือก็จะทำงานเอง แต่คุณอย่าไปพยายามถามว่ามีความคิดอะไรบ้าง ส่วนใหญ่เราจะถามคำถามผิด เราจะถามว่ามีไอเดียอะไรมั้ย มันจะไปมีได้ยังไง ไอเดียมันเป็นคอนเซ็ปต์ จับต้องไม่ได้ ไอเดียอะไรเหรอ ไม่มีๆ แล้วทุกคนก็จะพูดไอเดียอะไรบ้าบอ อันนี้คือโลกคอนเซ็ปต์ ซึ่งไม่เวิร์ก แต่ถ้าถามว่าอะไรเป็นไปได้ คุณลองถามคำถามนี้กับเพื่อนคุณดูสิ เดี๋ยวแม่งพรั่งพรูเลย นั่นแหละความคิดสร้างสรรค์ โคตรง่ายเลย ไม่มีอะไรยาก

คำถามต่อมา ถามตัวเองว่า แล้วอะไรบ้างที่พาเราไปสู่จุดนั้น เขียนลิสต์ออกมา 1-5 ถ้าคุณเขียนลิสต์ออกมา คุณจะค้นพบว่าคุณไม่ต้องการความรู้อะไรมากเลย ในลิสต์เหล่านั้นไม่ได้ต้องการความรู้ หรือบางอย่างที่คุณต้องการความชำนาญพิเศษ หรือความรู้คุณไปหาจากคนอื่นได้ ลิสต์ไปลิสต์มา จะมีแต่สิ่งที่ต้องทำ แล้วมันก็มีทางเลือกแค่ว่าคุณทำหรือคุณไม่ทำแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นผมบอกได้เลยว่า คุณอยากเป็นนายกรัฐมนตรี คุณก็ลิสต์มาว่าคุณจะต้องทำอะไรบ้าง ผมบอกเลย คุณทำได้ทุกอย่าง แค่มีลิสต์ที่ต้องทำ อาจจะมีลิสต์ 15 รายการ แต่ถ้าคุณเป็นนายกฯ อาจจะมี 25 รายการ มันจะเยอะกว่าหน่อย สิ่งเดียวที่จะหยุดคุณจากความเป็นไปได้คือตัวคุณเอง คุณจะพูดกับตัวเองว่า ฉันทำไม่ได้หรอก ฉันเป็นแค่คนตัวเล็กๆ ฉันเป็นแค่นักเขียนตัวเล็กๆ ฉันเป็นสถาปนิกตัวเล็กๆ ฉันทำแบบนั้นไม่ได้หรอก ฉันไม่ใหญ่พอ ฉันไม่มีความสำคัญมากพอ หรือฉันไม่เก่ง สู้คนอื่นเขาไม่ได้

สังเกตว่าสิ่งที่หยุดคุณ ก็คือบทสนทนาเวรๆ พวกนี้ ซึ่งบทสนทนาเวรๆ พวกนี้ คือสิ่งที่คุณพูดกับตัวคุณเอง คุณไปถามเพื่อนคุณสิว่ากูห่วยจริงหรือเปล่าวะ เพื่อนจะบอก เฮ้ย! มึงไม่ห่วยหรอก ไปถามพ่อแม่ พ่อครับ ผมห่วยหรือเปล่า เฮ้ย! คุณไม่ห่วยเท่าไหร่นะ แต่ว่าตัวคุณเองที่เป็นคนบอกว่าตัวคุณห่วย และบทสนทนาที่บอกว่าคุณห่วยนี่แหละ หยุดคุณจากชีวิตที่เหลืออยู่ของคุณหมดเลย

GM : เคยมีบทสนทนาห่วยๆ กับตัวเองไหม

ดวงฤทธิ์ : เคย ทุกคนเคย แม่งหยุดผมอยู่นาน แต่ผมฝึกฝน พยายามทำความเข้าใจ แล้วผมมีวิสัยทัศน์ที่ดีคือไม่ยอมแพ้ อะไรก็ตามที่หยุดผม ผมจะศึกษาให้ได้ว่าอะไรหยุดผม แล้วผมก็ได้รู้ว่าจริงๆ สิ่งที่หยุดผมไม่เคยเกี่ยวกับข้างนอกนั่น ทุกอย่างที่หยุดผมมาจากข้างในตัวเองทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นในโลกนี้ไม่มีอะไรที่หยุดเราหรอก นอกจากตัวเราเองเท่านั้น ซึ่งถ้าคุณค้นพบความลับจักรวาลข้อนี้ คุณจะรู้ว่าคุณทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าคุณอยากทำอะไร

GM : คุณค้นพบความลับแห่งจักรวาลข้อนี้ได้ยังไง ไปอ่านหนังสือเล่มไหนมา

ดวงฤทธิ์ : ผมอ่านหนังสือเยอะ ฝึกฝนตัวเองเยอะ เข้าไปอยู่ในการศึกษาหลายแบบ อันหนึ่งเป็นเรื่องของ Ontological หรือ ภววิทยา ซึ่งฟังภาษาไทยดูแปลกมาก จริงๆ แล้วชื่อเต็มๆ น่าจะเป็น Realist Ontology เป็นเรื่องที่ว่าด้วยความจริง คือความจริงในวิธีที่เราไม่ได้เอาความหมายใส่ไปในความจริง ซึ่งจะตรงข้ามกับพวกโพสต์โมเดิร์นนิสม์นะ พวกโพสต์โมเดิร์นมักจะว่าด้วยนัย สัญศาสตร์อะไรเต็มไปหมดเลย นี่คืออะไร (ชี้มือมายังโซฟา) นี่มีนัยถึงความนุ่มนิ่ม คิดแบบนี้เป็นประมาณพวกโพสต์โมเดิร์น แต่ถ้าบอกว่า นี่เป็นโซฟาสีขาว มีเนื้อผ้าแบบนี้ๆ นี่คือ Realist Ontology คือเรารับมือกับสิ่งที่อยู่รอบตัว ในฐานะบริบทอย่างที่เป็นจริงๆ

Realist Ontology คือ What’s Real, What’s There รวมทั้งตัวผมด้วย ตัวเราในฐานะที่เป็นเราจริงๆ ไม่ใช่ในฐานะที่เรากำหนดความหมายให้กับตัวเอง อะไรบ้างที่จริงๆ แล้วเราทำได้ ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่าทำได้

ด้วยภววิทยาแบบนี้ เราก็จะมีวิธีจัดการกับสถานการณ์รอบตัว เช่นเวลาเข้าห้องสอบ เจอข้อสอบโคตรยากเลยว่ะ เราจะคิดทันที อันนี้คือความหมายที่เรากำหนดให้กับมันนี่หว่า ข้อสอบอยู่ตรงหน้าเรา มีข้อ 1-5 มึงก็ทำไปสิ ตอบไป 1-5 ทำไป ไอ้คำว่ายากๆ นี่ก็ยกออกไป ฉะนั้น เราจะรับมือกับสถานการณ์อย่างที่มันเป็นจริงๆ เวลาที่ยกคำว่ายากออกไป ก็จะเหลือแค่ข้อสอบที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น ก็ลงมือทำมันสิ

ฉะนั้น เราจะรับมือกับชีวิตอีกแบบหนึ่งเลย คนส่วนใหญ่จะรวมเอาสถานการณ์กับปัญหาเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้น อะไรๆ ก็จะถูกเรียกว่าเป็นปัญหาด้วย แต่โลกของผมมันไม่มีปัญหา มีแค่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า มี What Happened? และ So What? สิ่งที่ต้องคิดก็คือ แล้วยังไงต่อล่ะ What’s Next? What’s Possible? ทำยังไงต่อล่ะ มีแค่นั้นเอง โอเค เงินหมดบริษัท มีอะไรบ้างที่เป็นไปได้ 1. กู้แบงก์ 2. ยืมเงินเพื่อน 3. อะไรล่ะ นึกออกมั้ย แล้วก็แอคชั่นตามนั้น

GM : แต่มนุษย์ต้องมีอารมณ์ ความรู้สึก ความกลัว ตอนทำบริษัทใหม่ๆ คุณแยกแยะได้ไหม

ดวงฤทธิ์ :  ยังแยกไม่ได้ โหดมาก ผมบอกได้เลยว่าทำบริษัทมาก่อนจะย้ายมาที่นี่ 10 กว่าปี แรก ทุกข์ทรมานมาก ผมคิดตลอดเวลาว่า เฮ้ย! ไม่มีทางแล้ว ทำไม่ไหวหรอก ฉันจะรีไทร์ไปแล้ว จะเลิกทำ จะไปทำอย่างอื่น ไม่ไหวแล้ว แต่สิ่งเดียวที่ผมมี คือไม่ยอมแพ้ แล้วเวลาที่ติดขัดหรือมีปัญหากับชีวิต ผมจะหาทุกวิถีทางเลยที่จะทำให้หลุดจากตรงนั้น ตอนนี้เลยพลิ้วมาก ตอนนี้บริษัทผมรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 2 เท่า ขยายบริษัทไป คนเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า บริษัทในกลุ่มทั้งหมด รายได้รวม 1 ปี มากกว่าเดิมที่ผมเคยหาได้ประมาณ 3-4 เท่า ตอนนี้คือสบาย เบา แล้วก็ไม่เหนื่อยด้วย มีคนช่วยผมเยอะแยะไปหมด

GM : เป็นความจริงเหรอ เห็นมีแต่คนบ่นกันอุบว่าเศรษฐกิจไม่ดี คุณทำยังไงถึงโตได้ถึง 2 เท่า

ดวงฤทธิ์ : ความคิดสร้างสรรค์ไงล่ะ คุณคิดว่ามีอะไรมากกว่านี้เหรอ ผมเป็นคนที่เติบโตมาด้วยการตั้งต้นบริษัทแรก ผมมีเงินสองแสนบาทอยู่ในกระเป๋า สองแสนบาทแค่นั้นเองนะ วันแรกเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ผมตั้งบริษัทสองแสนบาท จนทุกวันนี้ ผมมีกบาลอย่างเดียวเลยนะ คุณคิดว่าผมรอดมาทุกวันนี้เพราะอะไร ถ้าไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์

GM : อยากให้คุณแสดงความเห็นเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือรูปแบบเศรษฐกิจแบบไหนที่จะมีโอกาสเติบโตในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้

ดวงฤทธิ์ : คุณลองมองไปรอบๆ ตัวสิ ในภาคการเกษตร ตอนนี้เราขายข้าวแพ้เวียดนาม คุณว่าเรามีความหวังมั้ย ตอนนี้เรามี GMOs แล้วด้วยนะ คุณเคยฟังเรื่องราวของคุณวิลิต เตชะไพบูลย์ เพื่อนผมที่เป็นลูกนายแบงก์ แล้วไปเป็นชาวนาที่เพชรบุรี คุณลองไปหาดู เขาเพิ่งให้สัมภาษณ์่ช่อง ThaiPBS ไป มันแจ๋วมาก อันนี้ทำนามา 14 ปีแล้ว เขาบอกว่าคุณรู้มั้ยว่าทุกวันนี้ที่ชาวนาเป็นหนี้เพราะพันธุ์ข้าวที่ภาครัฐสนับสนุนให้เขาปลูกกันเป็นข้าวใหม่ เรียกว่าผลผลิตสูงมาก แต่ต้องการปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ถ้าไม่มีปุ๋ยและยาฆ่าแมลง แม่งตาย ไม่ออกผลผลิต แล้วเราก็แจกไอ้พันธุ์ข้าวแบบที่ต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงให้ชาวนาปลูก คุณคิดว่าใครรวยล่ะ นี่คืออนาคตของภาคการเกษตร ชาวนาจะจนลงเรื่อยๆ แล้วคนก็จะเลิกทำนามากขึ้นเรื่อยๆ การเกษตรข้าวเราถึงห่วยลงเรื่อยๆ ข้าวการผลิตเยอะ จำนวนข้าวต่อรวงเยอะนะ แต่ไม่อร่อย ถ้าเราไม่ดีลกับตรงนี้ ภาคการเกษตรจะไปไหนต่อ อุตสาหกรรมสู้จีนไม่ได้แล้วตอนนี้ แล้วเมืองไทยมีอะไร คุณคิดว่าตอนนี้จะมีอะไร ท่องเที่ยวเอาเข้าจริงๆ ปีหนึ่งๆ จะสักกี่แสนล้าน

GM : คนจีนไง คนจีนมาเที่ยวบ้านเราเยอะ

ดวงฤทธิ์ : สักพักก็จะหมด ต้องหาแผนต่อไปแล้ว แล้วยิ่งมาเที่ยว คุณดูทรัพยากรเราสิ เกาะของเราก็หายนะ ขยะเต็ม อันนั้นคือผลของการท่องเที่ยว แล้วคุณคิดว่าจะเหลือทรัพยากรท่องเที่ยวอีกสักเท่าไหร่ เกาะพีพีที่เคยสวย บรรลัยตายห่าหมดแล้ว เหลืออะไรให้เราท่องเที่ยวอีก จะไปต่อยังไง รัฐบาลก็พยายามจะแก้ไขด้วยการใช้กลไกทางการเงิน แต่เอาจริงๆ แล้วธุรกิจจะไปยังไงต่อเหรอประเทศนี้

ผมจึงเสนอไง ว่าเรื่องความคิดสร้างสรรค์นี่แหละ ความคิดสร้างสรรค์จะทำให้ข้าวที่เราผลิตกิโลกรัมหนึ่ง สมมุติเคยขายได้ร้อยบาท เราจะขายได้สองร้อยบาท ผมทำแพ็คเกจใหม่ Marketing Value Added เข้าไป ให้คนรู้สึกว่าข้าวนี้กินดีขึ้น สะดวกขึ้น

การใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในภาคอุตสาหกรรม ทำเสื้อผ้าแฟชั่น เราจะไม่ทำเสื้อโหลอีกต่อไป หรือสามารถทำแอปพลิเคชั่นในมือถือแล้วขายได้ทั่วโลก ทำโฆษณาที่ทุกคนหลงใหลได้ปลื้ม แล้วก็ซื้อสินค้าของประเทศ พวกนี้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์แล้วไปต่อยอด ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่ตัว Industry โดยตรง แต่เป็นบางอย่างที่ต่อยอดสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว

ลองนึกภาพการท่องเที่ยว การเกษตร และอุตสาหกรรม ที่นำมารวมกันแล้วบวกความคิดสร้างสรรค์เข้าไป ไอ้พวกนี้ไปต่อยอด แก้วน้ำใบเดียวกัน ใบหนึ่งขายในตลาด 30 บาท อีกใบหนึ่งขายในสถานที่ท่องเที่ยว 220 บาท ต่างกัน 10 เท่า เนื้อแก้วเหมือนกัน ต่างแค่ดีไซน์ เพราะดีไซน์คือความคิด ต้องจ่ายค่าออกแบบ ประเทศรวยขึ้นมั้ย คุณคิดดูว่า GDP เราจะเพิ่มขึ้นได้ยังไง

GM : ในภาวะบ้านเมืองแบบนี้ อีก 10 ปีข้างหน้า เรายังจะก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องอยู่หรือเปล่า

ดวงฤทธิ์ : ผมเอาตัวรอด ไม่ต้องห่วง ผมมีเครื่องมือที่มหัศจรรย์มาก คือ Creativity เหมือนไม้เท้ากายสิทธิ์ ทำได้ทุกอย่าง เสกได้ทุกอย่าง แต่แค่ผมคนเดียวเปลี่ยนประเทศนี้ไม่ได้ ผมต้องทำให้เด็กเจเนอเรชั่นต่อไปทุกคนเป็นแบบผม แล้วผมก็ทำเองไม่ได้เหมือนกัน ผมต้องการภาครัฐเข้ามาช่วย ผมต้องการให้หน่วยงานอย่าง TCDC, TK Park, Museum Siam, OKMD หรือแบบนโยบายกำกับเศรษฐกิจเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ฉะนั้น ถ้าทุกอย่างมันคงอยู่ แล้วสร้างคนที่เป็นแบบผมออกมาเยอะๆ สร้างคนที่เป็นนักสร้างออกมาเยอะๆ ประเทศไทยเราต้องการอะไรแบบนั้น ประเทศเราต้องรอดไป 10 ปี 20 ปี ชั่วลูกชั่วหลาน ผมมองไปไกลแบบนั้น ผมถามพวกพี่มองไกลแบบผมหรือเปล่า

ถ้าคุณใช้เครื่องมือทางการเงิน อัดเงินเข้าไปในระบบ แล้วเงินมันจะมาจากไหน ก็ภาษีพวกเราเอง แล้วพวกเราจะเอาเงินมาจ่ายภาษีให้พวกพี่ได้ยังไง ถ้าเศรษฐกิจจริงๆ มันห่วยแตก ตอนนี้ตลกนะ เป็นงูกินหางอยู่ ปัญหาที่แท้จริงคือไม่มีเงินข้างนอกเข้ามา ตอนกุมภาพันธ์ ปี 2558 เรามีเงินที่เรียกว่า Direct Foreign Investment เข้ามา 8 หมื่นล้านบาท ตอนพฤษภาคมเหลือ 18,000 ล้านบาท มาถึงตอนนี้ ตัวเลขยังไม่ออก ไม่รู้เหลือเท่าไหร่ ผมว่าเหลือน้อยมาก อันนี้แหละเป็นสาเหตุว่าทำไมเศรษฐกิจเราแย่ ไม่มีเงินข้างนอกเข้ามาหมุนเว้ย

รัฐบาลเป็นรัฐบาลทหาร อันนี้พูดตรงๆ คือคนอื่นเขาไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะเวลาที่ทหารตัดสินใจ ไม่ได้มาจากประชาชน เพราะฉะนั้นอุปสงค์กับอุปทานไม่สอดคล้องกัน ผมไม่ได้บอกว่าใครดี ใครเลว แต่มันคือ Fact คนที่จะมาลงทุนจากข้างนอกเห็นภาพนี้ เขาก็ไม่มาลงทุน ฐานการผลิตเริ่มย้ายออกนอกประเทศไป อันนี้ทำให้เศรษฐกิจเราแย่ ต่อให้คุณจะอัดฉีดงบประมาณเข้ามาเท่าไหร่ ก็ช่วยได้ชั่วคราว เป็นภาพลวงที่ดูเหมือนเศรษฐกิจดี เหมือนมีการลงทุนเศรษฐกิจมูลฐานอะไรก็คือการเอาเงินสำรองมาลง กู้เงินเพื่อเป็นหนี้แล้วเอามาลง สุดท้ายต้องแบกรับใช้หนี้เหมือนกัน เป็นภาพลวงชั่วคราวที่เหมือนเศรษฐกิจจะดี เราเคยผ่านเรื่องแบบนี้มาแล้วนะ ตอนปี 2540

GM : ตอนนี้คุณเห็นความเป็นไปได้อะไรใหม่ๆ อยู่อีกบ้างมั้ย

ดวงฤทธิ์ : อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น (หัวเราะ) เรื่องใหญ่ที่สุดและกำลังทำอยู่ตอนนี้ คือเราเอา The Jam Factory มาอยู่ที่นี่ประมาณ 2-3 ปีแล้ว มีคอมมูนิตี้ของ Gallery ในฝั่งคลองสานกับฝั่งบางรัก เราเริ่มเชื่อมโยงสองฝั่งนี้เข้าด้วยกัน เชื่อมโยงโรงแรมต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วเราก็สร้างบทสนทนาขึ้นมา ชื่อว่า Creative District ซึ่งเราพยายามทำให้บางรักกับคลองสาน เป็น Creative District มีการประชุมกันของคณะกรรมการมา 4-5 ครั้งแล้ว เราสร้างโปรเจ็กต์ สร้างโครงสร้าง จนกระทั่งเราสร้างบทสนทนานี้ได้รับรางวัล Wallpaper Magazine เมื่อปี 2015 เป็นเหมือนไอเดียเยี่ยมยอดของปี 2015 สถานทูตต่างๆ Welcome ไอเดียนี้ ตื่นเต้นกับมัน แล้วตอนนี้เรามีโปรเจ็กต์เยอะแยะเลยใน Creative District เราเด่นมากจนกระทั่ง กทม. รับไอเดียนี้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาของเมือง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราสามารถสร้างบทสนทนาประชาชน แล้วยัดใส่มือผู้บริหารบ้านเมืองได้ เป็นอันหนึ่งที่เราตื่นเต้น

GM : บทสนทนานี้พูดคุยเกี่ยวกับอะไร แก่นสารคืออะไร

ดวงฤทธิ์ : คือมันมีความเป็นไปได้ที่คลองสานกับบางรักจะเป็น Creative District อย่างปีนี้เราจะมีกิจกรรมแรกชื่อว่า บุกรุกเฟสติวัล ครั้งที่ 2 เป็นอาร์ตอีเวนท์มาจากต่างประเทศ คนทำเป็นฝรั่งเศส มาทำในเมืองไทย กิจกรรมที่สอง เราก็จะมีสตรีทอาร์ต สตรีทอาร์ติสท์จากทั่วโลกมาทำงานเพนต์ตึกต่างๆ ย่านตลาดน้อย ย่านบางรัก จะมีตั้งแต่โปรเจ็กต์แบบนี้ จนกระทั่งโปรเจ็กต์พัฒนาเมือง พัฒนาถนน พัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ของสองย่านนี้ ให้เป็นย่านที่ปิ๊งปั๊งขึ้นมา เหมือนพวกแถวๆ East London อะไรแบบนี้ เราอยากให้เป็นที่รวมของคนซึ่งสนใจศิลปะ เรื่องของ Art Design พยายามทำให้ชุมชนแบบนั้นเกิดขึ้น

GM : เมืองที่ไร้โครงสร้าง ไร้ระเบียบอย่างกรุงเทพฯ เราจัดการเรื่องแบบนี้ได้เหรอ

ดวงฤทธิ์ : จริงๆ มีโครงสร้างนะครับ เป็นโครงสร้างอยู่แถวๆ เกาะรัตนโกสินทร์กับรอบนอก เมืองเก่า ช่วงนั้นจะมีโครงสร้างบางอย่าง เป็นโครงสร้างของวัด โครงสร้างแรกคงเป็นถนนราชดำเนินที่รัชกาลที่ 5 ทรงวางไว้ เป็นผังเมืองอันแรกเลย เหมือนตะวันตก หลังจากนั้นมาก็ไปตามธรรมชาติ ตัวใครตัวมัน

จริงๆ แล้วเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ในสมัยหนึ่งมีการเจริญเติบโตเป็นย่านนู้นย่านนี้ แล้ววันดีคืนดี เราก็ไปจ้าง MIT มาวางผังเมืองกรุงเทพฯ แล้ว MIT ก็วางผังเมืองเราเป็นชั้นๆ มีสีแดง สีส้ม สีเขียวอะไรไม่รู้ แล้วเราก็คิดว่ามันโอเค กรุงเทพฯ ต้องเป็นแบบนั้น ซึ่งไอ้คนที่มาจาก MIT ก็มาจากอเมริกา อเมริกาเป็นเมืองมีประชากร 3 ล้าน 5 ล้าน หรือ 7 ล้านคน แต่ที่กรุงเทพฯ มีคนเป็นสิบล้าน เป็น Metropolis พวกนั้นก็วางผังเมือง Metropolis ไม่เป็น อเมริกาไม่มี คือเขามีนิวยอร์กที่ใกล้เคียง แต่ว่ามันก็มีอยู่เมืองเดียว แล้วเป็นเมืองที่มีคาแร็กเตอร์เฉพาะ วางผังเมืองแบบอื่นไม่เป็น ก็เลยซวยเลย กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองไข่ดาว แบ่งวงออกเป็นชั้นๆ ซึ่งทุกอย่างถูกดึงเข้ามาสู่ศูนย์กลาง คุณลองนึกภาพคน 10 ล้านคน แล้วดึงมาสู่ศูนย์กลางหมด นี่คือความหายนะ รถติดทุกอย่าง ถ้าลองไปดูโตเกียว ลอนดอน นั่นเป็นเมืองที่มีหลายศูนย์กลาง เป็นเรื่องของย่านๆ ญี่ปุ่นนี่ชัดเลย ถ้าคุณไปญี่ปุ่นโตเกียวบ่อย จะมีชินจุกุ ชิบุยะ จะเป็นย่านๆ ไป กระจายตัวไปแต่ละย่าน แต่ละย่านมีทุกอย่างหมด อยู่ได้หมด ไม่ต้องข้ามย่าน ฉะนั้น กรุงเทพฯ ควรจะต้องถูกออกแบบเป็นย่านๆ แต่ตอนนี้เราไม่ทำแบบนั้นอยู่แล้ว

GM : แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง

ดวงฤทธิ์ : ผมพูดเรื่องนี้มา 10 กว่าปีแล้ว ว่าเราจะต้องคิดใหม่เกี่ยวกับเรื่องผังเมืองในกรุงเทพฯ ต้องล้มเลิกวิธีคิดแบบฝรั่งตะวันตก แล้วมาดูจริงๆ ว่ากรุงเทพฯ ของเราหน้าตาเป็นยังไง ต้องสร้างความเป็นไปได้ของกรุงเทพฯ ใหม่ ที่มาจากรากของสิ่งที่เราเป็นจริงๆ ถ้ามีทุกอย่างเป็นของตัวเอง มีเมืองเป็นของตัวเอง คนจากหนองจอกก็ไม่ต้องเข้ามาทำงานที่สาทร แต่ว่าวิธีแบบนั้น คือต้อง Authority ให้ เช่น เขตหนองจอกเก็บภาษีได้ในหนองจอก คุณก็เอาภาษีนั้นไปใช้ในหนองจอก แต่ตอนนี้มันมาที่ศูนย์กลาง แล้วศูนย์กลางค่อยกระจายออก ศูนย์กลางก็ต้องเอาแล้วเว้ย กูให้มึง กูจะได้อะไรวะ ซึ่งอันนี้เป็นบทสนทนาของกรุงเทพฯ อยู่ในตอนนี้ วิธีที่ผมเสนอคือ Decentralized มันอะไร คุณก็ต้อง Decentralized งบประมาณด้วย ซึ่งไม่มีใครชอบไอเดียนี้ กทม. บอกไม่ชอบ กทม. ตอนนี้เหมือนเป็นศูนย์กลางอำนาจอยู่ การเมืองของ กทม. คือการเมืองที่กำหนดประเทศ เขาก็บอกว่าถ้าเขาทำแบบนี้ เขาก็กุม สก. สข. ไม่ได้ เพราะงบไม่ได้มาจากเขา งบมาจากเขต ทีนี้แต่ละเขตก็เป็นอิสระกันหมด ทีนี้เขาก็ไม่ชอบ เป็นผลทางด้านการเมือง ฉะนั้นเขาก็จะไม่ยอม Decentralized ตราบใดที่เราไม่ Decentralized ปัญหาแบบนี้จะเกิดอยู่ตลอดเวลา

GM : เราก็จะยังอยู่แบบนี้ รถติดวุ่นวาย

ดวงฤทธิ์ : หายนะตลอด พอน้ำท่วมมากๆ เขาก็ไล่เราไปอยู่บนดอยไงล่ะ (หัวเราะ) จริงๆ กรุงเทพฯ มีความหลากหลาย และในความหลากหลายทำให้คิดอะไรใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา เราสามารถเจอของใหม่ชนกับของเก่า เจอความเละเทะ ผมนั่งเรือข้ามไปฝั่งตลาดน้อย เจอแผงลอย เจอร้านอะไรเยอะแยะ นี่คือความมหัศจรรย์ของกรุงเทพฯ ไปเมืองอื่นจะไม่เจอแบบนี้ ของเรามีอะไรบ้าๆ แบบนี้เยอะมาก ทำให้เซอร์ไพรส์ได้ตลอดเวลา เดินข้ามไปตลาดน้อยก็เจอแกลเลอรีแห่งหนึ่งที่เอาตึกแถวมาทำ ผมว่าอันนี้ทำให้คนกรุงเทพฯ มีเรื่องของ Creativity ค่อนข้างสูง เละๆ แบบนี้แหละแม่งแจ๋ว เป็นเมืองที่อยากกินข้าวข้างถนน ผมอยากให้กรุงเทพฯ เป็นแบบกรุงเทพฯ นี่แหละ ถ้าเราไม่ไปฝืน ถ้าเราปล่อยให้กรุงเทพฯ เป็นแบบที่เป็นจริงๆ ปัญหาจะหายไป คือถ้ากรุงเทพฯ กำลังจะเจริญเติบโตแบบ 17 หัวเมือง คุณก็ต้องปล่อยให้เติบโตแบบ 17 หัวเมือง แต่ตอนนี้ปัญหาเกิดขึ้น คุณพยายามดึงทุกอย่างเข้าศูนย์กลาง เพราะคุณต้องการควบคุมอำนาจ

GM : เปรียบเทียบกับแวดวงในระดับโลก ตอนนี้เขาไปถึงไหนแล้ว

ดวงฤทธิ์ : ไม่ต้องไปสนใจ ไม่สำคัญนักหรอก เราอยู่ในกรุงเทพฯ ทำในแบบที่เป็น ผมทำ The Jam Factory ก็คือการเอาตึกเก่ามารีโนเวท ซึ่งมันก็เคยเกิดที่อื่นในโลกแล้ว ไม่ใช่ผมคิดคนแรก แต่แค่ในกรุงเทพฯ ยังไม่มีไง พอทำมันก็เวิร์ก ถ้าผมไปทำตึกแบบ Cutting Edge แบบว่าโอ้โฮ! ทันสมัยเปี๊ยบเลยนะ ก็อาจจะไม่ได้เวิร์กเท่านี้ เพราะกรุงเทพฯ ชอบอะไรแบบนี้แหละ คนมา The Jam Factory แล้วรู้สึกสบาย รีแล็กซ์ ถ้าตึกผมเฟี้ยวมาเลย คนอาจจะเฉยๆ ก็ได้ ผมว่ากรุงเทพฯ มีเสน่ห์แบบของมัน ถ้าเราเริ่มฟังเสียงของกรุงเทพฯ มันจริงๆ หน้าตาเป็นยังไงนะ ผมว่าชีวิตจะง่ายขึ้น

GM : การรับฟังเสียงของกรุงเทพฯ คืออะไร

ดวงฤทธิ์ : ก็คือการที่เราไม่ได้ไปให้ความหมายกับมัน รับรู้มันแบบที่มันเป็นจริงๆ ไม่ต้องบอกว่ากรุงเทพฯ รถติด น่าเบื่อ นั่นเป็นวิธีที่เราให้ความหมายกับมัน ถ้าเรามองแบบนี้ เราจะมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ของกรุงเทพฯ ตัดความหมายอื่นๆ ออกไป ในโลกของผมไม่มีคนดีคนเลว มีแต่คนเวิร์กกับคนไม่เวิร์ก เฮ้ย! มึงทำแบบนี้ไม่น่าจะเวิร์กนะเว้ย ผมจะพูดกับลูกน้องตลอด ผมจะไม่บอกลูกน้องว่าแกมันไม่ดี ผมจะบอกว่าอันนี้ไม่เวิร์กสำหรับผม ดีหรือเลว เป็นแค่ความหมายที่ให้ คุณเลือกว่าคนนี้ดีเลวก็ได้ แต่ผมถามว่ามีประโยชน์อะไรในการที่เราพูดแบบนั้น

GM : แต่เรากำลังอยู่ในยุคสมัยแห่งการตัดสินกันไปมา ฉันดี แกเลว ฉันถูก แกผิด

ดวงฤทธิ์ :  ก็แล้วเป็นยังไงบ้างล่ะ สองสามปีที่ผ่านมา มันเวิร์กมั้ย ชีวิตเราดีขึ้นมั้ย ถามจริงๆ ว่าชีวิตคุณดีขึ้นบ้างหรือเปล่า ก็ยังมีคอร์รัปชั่นเหมือนเดิม แล้วเราก็ยังยากจนเหมือนเดิม ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นนี่หว่า โอเค เราชัดเจนแล้วว่ามีคนดีกับคนเลวในสังคม เรากันคนเลวไปในทางหนึ่งแล้ว แล้วยังไง เวิร์กมั้ย ชีวิตก็ไม่ได้เวิร์กขึ้น แต่ถ้าเราบอกว่าอันนี้ไม่เวิร์กนะ คอร์รัปชั่นไม่เวิร์ก แต่ไม่ได้แปลว่ามึงเลว มึงผิด แต่วิธีที่มึงทำอยู่ตอนนี้มันไม่เวิร์ก เราบอก มึงอย่าทำอีกนะ ถ้ามึงทำอีก กูไม่เลือกมึงแล้ว อันนี้โอเค คือไม่ได้ไปให้ความหมายว่าใครคนนั้นเลวแบบถาวร เขาอาจจะเคยเลว แต่ถ้าเขาได้รู้แล้วว่าทำแบบนี้ไม่เวิร์ก เขาน่าจะหาวิธีทำให้มันเวิร์กกว่านี้ นั่นแปลว่าเขาสามารถกลับคืนมาได้ ทำอะไรที่มันเวิร์ก เราก็ใช้ประโยชน์เขาในส่วนที่เวิร์ก ถ้าสังคมเราเลิกพูดเรื่องดีเลว เลิกตัดสินกัน เลิกให้ความหมายกันไปมา เราจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นสำหรับทุกๆ คน คุณคิดว่าคนที่กำลังติดอยู่ในคุกทุกคนนั้นเลวจริงๆ เหรอ ไม่หรอก มันแค่สิ่งที่เขาเคยทำมานั้นมันไม่เวิร์ก วันหนึ่งเขาจะกลับมาเป็นกำลังของสังคม

คุณลองดูสิว่าวิธีแบบไหนที่จะให้พลังกับคุณมากกว่ากัน คุณเดินเข้าไปหาคนคนหนึ่ง แล้วคุณบอกว่าไอ้นี่เป็นคนเลว แล้วฉันเป็นคนดี ผมถามว่าสังคมแบบนี้คุณอยากได้หรือเปล่าล่ะ คุณอยากได้สังคมที่ทุกคนออกมาชี้บอกไอ้คนนี้ดี ฉันเลว ไอ้คนนี้เลว ฉันดี เทียบกับสังคมที่บอกกัน เฮ้ย! มึงทำแบบนี้ไม่เวิร์กนะ แล้วเขาก็จะถาม อ้าว! งั้นกูต้องทำยังไงล่ะ นี่คือการเปิดการสนทนากัน คุณไม่ต้องกั้นประเทศเป็นแบบเบอร์ลินตะวันออกกับตะวันตก ไม่จำเป็นแล้ว เวิร์กหรือไม่เวิร์กเป็นบทสนทนาของความปรองดอง แต่ดีกับชั่วไม่เคยเป็นบทสนทนาของความปรองดอง

GM : ในชีวิตนี้ คุณไม่เคยเจอใครที่รู้สึกว่าไอ้นี่แม่งเลวมากๆ เลยเหรอ

ดวงฤทธิ์ :  (หัวเราะ) ไม่ๆ ผมจะบอกว่ามึงทำแบบนี้ไม่เวิร์กว่ะ

GM : แล้วในชีวิตนี้ คุณเคยเจอใครที่ดีงามมากๆ บ้างไหม

ดวงฤทธิ์ : ก็คือคนที่ทำอะไรแล้วเวิร์กสำหรับผม คนนี้ใช้การได้ เวลาที่เราไม่ได้บอกว่าเขาดีหรือเลว ผมว่าเป็นบทสนทนาที่สร้างผลลัพธ์กับชีวิตเราเอง คือถ้าบอกดีกับเลว ไม่สร้างผลลัพธ์อะไรสักอย่าง

GM : แล้วเรื่องความดีความเลว แบบคำสอนทางศาสนาล่ะ

ดวงฤทธิ์ : ยังมีอยู่นะ ผมนับถือศาสนาพุทธ แต่ไปดูในศาสนาพุทธจริงๆ จะพูดถึงบางสิ่งบางอย่างที่คุณทำแล้วมีความสุข บางสิ่งบางอย่างที่คุณทำแล้วจะไม่มีความสุข เขาก็บอกว่าคุณถือศีลสิ เราจะได้อยู่กันอย่างมีความสุข ไม่ได้บอกว่าคุณถือศีลแล้วคุณจะเป็นคนดีกว่า ศาสนาไม่ได้สอนแบบนั้น ถ้าไปดูในคำว่าศาสนาจริงๆ พระพุทธเจ้าบอกกรรมและผลของกรรม สิ่งที่คุณทำเป็นวิธีที่คุณลงมือทำ แล้วคุณต้องได้ผลลัพธ์แบบนี้ อันนี้คือเรื่องของกรรม ผลของการกระทำที่คุณลงมือทำ พระพุทธเจ้าเทศน์เรื่องนี้

GM : คุณเข้าวัดบ้างไหม

ดวงฤทธิ์ : โห! ผมไม่อยากจะพูดว่าผมศึกษาพระพุทธศาสนาช่ำชองนะ สนใจอยู่ช่วงหนึ่งตอนที่คุณพ่อผมตาย ผมอ่านหนังสือพุทธศาสนาเยอะมาก เพราะไม่รู้จะหาวิธีไปยังไง ผมเสียใจ ผมสนิทกับพ่อมาก ช่วงนั้นผมไม่ได้อ่านจากหนังสือที่คนมาเขียนเรื่องธรรมะ แต่อ่านจากตำราไตรภูมิ อ่านจากข้อมูลชั้นต้น ผมว่าอ่านจากข้อเขียนชั้นสอง ก็อาจจะมีการแต่งเติมกันไปตามทัศนคติของคนเขียน แต่อันนี้จากต้นตำรับน่าจะเวิร์กกว่า

GM : แล้วตอนนั้นช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นไหม

ดวงฤทธิ์ :  เริ่มทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้น มีความสงบมากขึ้น แต่ทุกอย่างที่ผมรู้มาในชีวิต มันผสมปนเปกันไปหมด ผมไม่รู้แล้วว่าอะไรได้มาจากตรงไหน มันมั่วซั่วมาก แต่มันก็ออกมาเป็นสิ่งที่ผมเป็นทุกวันนี้

GM : ตอนนี้แฮปปี้กับชีวิตดีใช่ไหม

ดวงฤทธิ์ : แฮปปี้ ชีวิตผมทุกวันนี้แม่งเพอร์เฟ็กต์แล้ว ถึงจะมีความเครียดทุกวัน แต่โอเค มันไม่ได้เครียดแบบว่าฉันจะตายซะให้ได้ เพราะผมรู้ว่าทุกปัญหามีทางแก้หมดแหละ ไม่มีปัญหาไหนไม่มีทางแก้หรอก มันแก้ได้หมด เพียงแค่ถ้าคุณยังคิดหาทางแก้ไม่ได้ แปลว่าคุณไม่ได้พยายามมากพอเท่านั้นเอง เวลาต้องการความช่วยเหลือ เฮ้ย! กูไม่มีเงิน ยืมเงินมึงหน่อย อันนี้ได้ จะชัดเจนว่าต้องการอะไร แต่จะไม่ไปคร่ำครวญแบบว่า เฮ้ย! ไม่ไหวแล้ว จะไม่เคยทำแบบนั้น ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเป็นตินะ แต่ไม่เคยฟูมฟาย ไม่เคยโทรฯ ไปพร่ำบ่นอะไร

GM : สังเกตว่าตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการบริหารธุรกิจ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างปรัชญาของชีวิต สำหรับคุณล้วนขับเคลื่อนไปด้วยการสนทนาที่ดี

ดวงฤทธิ์ : การสร้างบทสนทนาขึ้นมา คือการที่เรากำลังสร้างความเป็นไปได้สำหรับอนาคต ผมบอกได้เลยว่าจริงๆ แล้วทั้งหมดในการสร้างมัน อยู่ในบทสนทนาที่เราสร้าง อย่างเช่น ถ้าเราบอกว่าตรงนี้จะเป็น Creative District นะ มันไม่มีเหตุผลอะไรที่สถานที่นี้ต้องเป็น แต่มันมีเพียงแค่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็น แล้วพอเราประกาศออกไป มันจะเกิดขึ้นมาได้จริง

ถ้าคุณลองย้อนดูในประวัติศาสตร์ อย่าง จอห์น เอฟ. เคนเนดี บอกว่าอเมริกันจะไปดวงจันทร์ ตอนนั้นคือ 10 ปีก่อนจะไปดวงจันทร์ได้จริง อเมริกาไม่มีเทคโนโลยีอะไรเลยในการไปดวงจันทร์ เริ่มจากศูนย์เลย แต่เป็นเพราะเคนเนดีดันทะลึ่งไปประกาศว่าเราจะไปดวงจันทร์เป็นชาติแรกของโลก นักวิทยาศาสตร์ก็ทำงานกันหัวปั่นเลย จนกระทั่งได้ไปดวงจันทร์จริงๆ หรือโมเมนต์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศอิสรภาพ ตอนนั้นเขายังไม่มีอิสรภาพเลยนะ แต่พอเขาประกาศว่าฉันจะเป็นอิสระจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ อันนั้นแหละได้อิสรภาพเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นบทสนทนานี่คือการประกาศ อันนี้เป็นวิธีที่สร้างความเป็นไปได้ให้เกิดขึ้น

GM : เหมือนที่คุณเคยบอกกับเพื่อนๆ ว่ากูจะเป็นสถาปนิกชื่อดังระดับโลก

ดวงฤทธิ์ : อันนั้นก็เป็นดีแคลเรชั่นเหมือนกัน เราต้องประกาศให้ใครสักคนได้ฟัง

GM : แค่ตั้งเป้าหมายไว้ในใจไม่ได้เหรอ ทำไมต้องป่าวประกาศออกมา

ดวงฤทธิ์ : ก็ไม่มีใครฟังสิ เราสร้างความมุ่งมั่นด้วยข้อผูกมัดตัวเอง เท่ากับการลงชื่อในอนุสัญญา นึกออกมั้ย เหมือนเวลาคุณประกาศอะไรเข้าไปในเฟซบุ๊ค หรือคุณประกาศให้คนที่นั่งฟังอยู่ตรงหน้า แต่ถ้าคุณพูดไปลอยๆ โดยไม่มีใครฟัง อันนี้มันไม่เข้าท่าแล้ว เหมือนคิดไว้ในใจตัวเอง ก็ไม่ได้เป็นการประกาศ ถ้าคุณได้สร้างพันธสัญญาแล้วว่าจะทำสิ่งนี้ ถ้าเกิดว่าคุณไม่ทำตามที่พูดไว้ คุณจะดูไม่ดีสุดๆ แล้วคุณคงไม่อยากจะดูไม่ดี เชื่อผม ทั้งชีวิตเรา บทสนทนาระหว่างเราเป็นแหล่งกำเนิดของการสร้างสรรค์ อะไรๆ จะเกิดขึ้นตามการสนทนาของเรา อย่างเวลาทำงานออกแบบ ผมสนทนากับลูกน้องว่า เฮ้ย! เราเห็นภาพบ้านหลังนี้เป็นอย่างนี้ๆ นะ ลูกน้องก็จะเห็นภาพตามเรา เกิดการทำงานตามมา เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าในการครีเอทบทสนทนาของเรา อันนั้นคือหัวใจทั้งหมดของการสร้าง

เพียงแต่ต้องไม่ใช่การบ่นๆ ส่วนมากเราจะชอบบ่น ประชดประชัน เหน็บแหนม สังคมจะไม่เปลี่ยนเพราะเราไปด่าคนอื่น คนส่วนใหญ่คิดว่าการด่าคนอื่นจะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม แต่มันไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย หรือคนส่วนใหญ่คิดว่าการบ่นไปวันๆ จะช่วยอะไรขึ้นมา แต่มันไม่ช่วย วิธีสร้างการเปลี่ยนแปลง เราต้องโน้มน้าวคนเข้ามาในการสนทนาของเรา เข้ามาในโลกใหม่ที่เราสร้างขึ้น อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ถ้าผมบอกว่าอีก 3 ปีข้างหน้าภาคใต้จะสงบ ขนลุกมั้ย จะไม่มีความขัดแย้ง ทุกคนจะอยู่อย่างสงบสุข ไม่มีการระเบิดที่ยะลาอีกต่อไป เศรษฐกิจจะดีขึ้น ผู้คนจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แล้วเราก็มานั่งสนทนากัน จะไม่มีบทสนทนาประเภทที่ว่าฝ่ายตรงข้ามเลว หรือคนที่วางระเบิดเลว เราต้องไม่พูดแบบนั้น เราดึงคนเข้ามาในความคิด ร่วมบทสนทนา ร่วมโปรเจ็กต์ ผมบอกได้เลยว่า การคงอยู่ของระบบสังคมนั้นมันอยู่ในบทสนทนา อยู่ในวิธีที่เราสื่อสาร วิธีที่เราพูดจากัน ในโลกนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น บทสนทนาเป็นการสร้างอนาคตขึ้น ณ ปัจจุบัน

GM : เราจะยกระดับการสนทนาให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้อย่างไร

ดวงฤทธิ์ : ด้วยพวกเราทุกคนครับ จริงๆ Leadership ช่วยได้ ถ้ามี Leader ที่เก่ง อย่างเคนเนดี เราก็จะได้ไปดวงจันทร์ แล้วโลกก็พลิกไปตามนั้น อย่าง มหาตมะ คานธี ทำให้อินเดียเป็นเอกราชจากอังกฤษได้ โดยการบอกว่า อินเดียจะต้องเป็นเอกราชจากอังกฤษ คนคนเดียว พูดคำเดียว ตอนนั้นผู้คนหัวเราะ พลังที่มีในบทสนทนาค่อนข้างสำคัญ การเป็นผู้นำนั้นสำคัญมากในการนำบทสนทนา ต้องเป็นบทสนทนาที่ว่าด้วยการสร้าง ตอนนี้ผู้นำของเรากลับสร้างบทสนทนาที่ว่าด้วยการโยนบาปกลับมาให้เรา อะไรไม่ดีก็เพราะพวกมึงเอง อันนี้ไม่ใช่บทสนทนาของการสร้าง การสร้างคือการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้กับประชาชน นี่คือบทสนทนาที่ผู้นำเขาพูดกัน

GM : คิดอยากลงสนามการเมืองบ้างไหม

ดวงฤทธิ์ :  ไม่เลย แต่ผมมีแผนชั่วกว่านั้นเยอะ (หัวเราะ) ผมคิดว่าถ้าประสบความสำเร็จในธุรกิจ มีเงินสักหมื่นล้าน ผมจะคอนโทรลทุกอย่างได้ ผมควบคุมนโยบายรัฐบาลได้ ถ้าผมรวยมากพอ ถ้ามีอิทธิพลมากพอ ผมคอนโทรลบ้านเมืองได้ง่ายกว่า ผมไม่เสียเวลาไปบริหารบ้านเมืองหรอก มันเป็นเรื่องงานรูทีนแบบที่ผมเบื่อมาก แต่ว่าการคอนโทรลได้นั้นสำคัญกว่า ถ้าผมกลายเป็นผู้ประกอบการที่สำเร็จจากธุรกิจครีเอทีฟ พอไปบอกรัฐบาลให้ประเทศไทยต้องเป็นประเทศที่ยืนอยู่บนแนวคิด Creative Economy เขาก็จะฟังผม เพราะเขาปฏิเสธผมไม่ได้แล้วในวันนั้น

ปีนี้ผมกำลังมีอีก 2 โปรเจ็กต์ หนังเรื่องหนึ่งทำกับยุทธเลิศ สิปปภาค กำลังคุยกันอยู่ เป็นหนังตลก แต่ตลกแบบลึกๆ หน่อย ผมเชื่อว่าโปรดักต์นี้คนไทยรับได้ แต่ยังไม่มีนายทุนไหนกล้าทำ อีกอันผมตกลงซื้อลิขสิทธิ์หนังสือของ วีรพร นิติประภา ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ตกลงดีลกันไปแล้ว ทำเป็นหนัง เป็นเอก รัตนเรือง กำกับ เราเป็นโปรดิวเซอร์ เราอ่านหนังสือคุณแหม่มจบ ก็บอกเขาว่าอันนี้ต้องเป็นเอกกำกับ ก็ไปบอกเป็นเอก เขาก็ไปซื้อหนังสือมาอ่าน แล้วคุณวีรพรก็แฮปปี้ ประเด็นคือเราจะลงทุนกับบทมากกว่าดารา ผมคิดว่าหนังในยุคต่อไปไม่เกี่ยวกับดารา แต่เกี่ยวกับผู้กำกับและบท ฉะนั้นดาราเป็นเรื่องรอง เราพยายามจะผลักไปสู่อีกยุคหนึ่งให้ได้ เป็นยุคที่อินเตอร์และมีคุณภาพมากขึ้น เราจะลงทุนกับบท กับผู้กำกับ ทำเป็นหนังให้ดีให้ได้ ถ้าเกิดผมสำเร็จ ฮิตร้อยล้าน คนต้องกลับมามองแล้วว่าเวิร์กนี่หว่า แม่งถ้าไม่ฮิต ผมก็เจ๊ง

GM : ในการสนทนาของเราตอนนี้ คุณก็กำลังสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาให้เป็นจริงใช่ไหม

ดวงฤทธิ์ : (หัวเราะ) ผมสร้างมาเรื่อยๆ What Possible? What Next? มีอะไรที่เราทำได้อีก รุ่นน้องเริ่มนอยด์แล้วนะ บอกพี่หยุดบ้างเถอะ ปีนี้ผมมีโปรเจ็กต์ทำโรงแรมอีกนะ แต่เป็นโรงแรม 2-4 ห้อง แล้วก็ไปอยู่ในที่แปลกๆ อันแรกทำที่หัวหิน แล้วก็ตั้งใจจะทำช็อปปิ้งมอลล์ตรงนั้นด้วย ก็เลยต้องเปิดบริษัทใหม่อีก

GM : คุณเอาเรี่ยวแรงมาจากไหน

ดวงฤทธิ์ : มนุษย์แต่ละคนใช้ศักยภาพอยู่ 10% ที่คุณว่าเหนื่อยๆ มันแค่ 10% เท่านั้นแหละ แต่วิธีที่คุณทำได้ไม่เยอะมาก เพราะมีบางสิ่งบล็อกคุณเอาไว้ ก็คือบทสนทนาที่ว่าฉันไม่ดีพอหรอก ฉันสู้ดวงฤทธิ์ไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าต้องคิดบวกนะ คือแม่งแย่ก็ต้องแย่ แต่ให้เข้าใจว่าสิ่งที่แย่ไม่ได้เกิดขึ้นในอนาคต แต่เกิดขึ้นในอดีต ที่คุณกังวลว่ามันจะแย่ เพราะเคยแย่ในอดีต เหมือนคุณเคยขี่จักรยานแล้วล้ม พอขี่อีกก็จะเริ่มแหยงว่าจะล้มอีกไหม แต่ในอนาคต โอกาสมันก็ 50-50 นั่นแหละ เพียงแค่จิตใจเราจะกังวลไปแล้ว เวลาที่เราถูกหยุดโดยอดีต สิ่งที่เราทำคือเราคิดถึงความสำเร็จว่าหน้าตาจะเป็นแบบไหน แล้วเชื่อไหม ผมไม่รู้ว่าเป็นอะไรนะ แต่เราจะเป็นไปแบบนั้น

นี่เป็นวิธีที่ทำให้เราเคลียร์กับสิ่งที่จะทำ สมมุติคุณอยากทำโฮสเทล คุณพูดถึงมันอย่างละเอียดถึงขั้นว่าอาหารเช้าหน้าตาแบบไหน ผมเชื่อว่าคนที่จะลงทุนให้คุณ เขาก็เชื่อมั่น โคตรเห็นภาพเลยว่าโรงแรมฉันอย่างนี้ เข้ามามีพรมเช็ดเท้าสีฟ้าเข้มๆ มีล็อบบี้เล็กๆ เก้าอี้ตั้งอยู่สองสามตัว พนักงานพาไปห้องแบบนี้ หน้าตาเป็นประตูไม้

มีกระจกพื้น ถ้าคุณอธิบายชัดเจน นี่เป็นบทสนทนาแห่งการสร้าง

สิ่งหนึ่งที่เราเข้าใจผิดมาตลอด คือสิ่งต่างๆ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจากเหตุผล เรามักจะถูกปลูกฝังว่าฉันจะทำอย่างนี้เพราะมีเหตุผลที่จะทำ แต่สิ่งต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นนั้นไม่เกี่ยวกับเหตุผล ตรงกันข้าม เหตุผลกลับเป็นตัวหยุดความเป็นไปได้ แต่เหตุผลจะเข้ามาสนับสนุนเมื่อความเป็นไปได้เกิดขึ้นแล้ว เราเอาความเป็นเหตุผลมาทำให้ความเป็นไปได้เกิดขึ้นจริง เหตุผลมาตอนท้ายเลย การสร้างต้องมาก่อน

GM : แล้วชีวิตล่ะ เราถูกสร้างมาด้วยเหตุผลอะไร เรามีเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ต่อไปมั้ย

ดวงฤทธิ์ : เหตุผลที่เรามีชีวิตอยู่เหรอ…ก็เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับโลกใบนี้ ผมตอบตรงนี้ชัดเจน และผมคิดเรื่องนี้แบบตกผลึกเลยละ เวลาที่เราสร้างความแตกต่าง มันไม่ได้คงอยู่เฉพาะเรา แต่จะอยู่กับคนรอบๆ เรา และบางทีอาจอยู่ไปชั่วลูกชั่วหลานได้ มันไม่เกี่ยวกับการที่เราต้องมีชื่อเสียงด้วย แต่เป็นการสร้างความแตกต่างให้กับโลกใบนี้ ผมชอบยกตัวอย่างแว่นตา ใครคิดแว่นตาคนแรกในโลกวะ ผมว่าไม่ต่ำกว่า 3-4 ร้อยปีแล้ว ทุกวันนี้แว่นตาก็ยังอยู่ คนหลายคนใช้มันแล้วชีวิตดีขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าใครคิดนะ แต่ใครสักคนทำหน้าที่นี้ไว้ นั่นคือเขาได้สร้างความแตกต่างให้กับโลก คนคนนั้นเกิดมาเพื่อประดิษฐ์แว่นตาทิ้งไว้ให้กับโลก เขาเป็นคนดีจริงๆ นะ แต่แม่งเป็นใครวะ!? (หัวเราะ)

ผมคิดว่าจะมีบางสิ่งบางอย่างที่ทำในวันนี้ จะสร้างความแตกต่างในอีก 500 ปีข้างหน้า โดยที่คนทั่วไปไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนเริ่มต้นทำไว้ แต่อันนั้นแหละ คือเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ของผม การคงอยู่ของผมในวันนี้เพื่อสร้างความแตกต่างใน 500 ปีข้างหน้า สิ่งที่ผมทำทุกอย่างจึงไม่เกี่ยวกับเงิน แต่เงินเป็นเกมที่ผมชอบ เพียงแค่มันไม่เคยเกี่ยวกับเงินตรงๆ ผมทำสถาปัตยกรรม เพราะเชื่อว่าจะมีบางอย่างที่คงอยู่ในอีก 500 ปีข้างหน้า และมันสร้างความแตกต่างให้คนที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้จนถึง 500 ปีข้างหน้าได้ อาจจะเป็นแค่ความคิดก็ได้ อาจจะเป็นแค่ประโยค อาจจะเป็นแค่ตึกหนึ่ง ผมถึงได้ทำโน่นทำนี่ ทำฉิบหายวายป่วง เพราะไม่รู้ว่าอะไรที่ทำจะอยู่ได้ถึง 500 ปีข้างหน้าบ้าง

GM : ถ้าให้คุณชวนประเทศไทยสนทนา บทสนทนาของคุณจะเป็นแบบไหน

ดวงฤทธิ์ : คนไทยเป็นชนชาติหนึ่งที่ฉลาดที่สุดในโลก ผมอยากให้เรามั่นใจตรงนั้นเลยนะ ผมไม่ได้บอกถึงใครบางคนที่ฉลาด แต่ทุกคนฉลาด แล้วคนไทยมีศักยภาพสูงที่สุดในโลก เราเป็นชนชาติที่ครีเอทีฟที่สุดในโลก เพราะด้วยภาษาที่เรามี ทำให้เราครีเอทีฟ ภาษาไทยเป็นภาษาที่ทำให้คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์สูงที่สุดในโลกเพราะวิธีของภาษา การที่คนไทยจะเป็นคนสร้างสรรค์ได้ เพราะภาษาของเราทำให้เราได้ประโยชน์ในการคิด ตรรกะของสมองเราถูกสร้างมาจากภาษาไทย คนที่ใช้ภาษาไทยต้องฉลาด โง่ไม่ได้ แล้วก็ต้องมีความคิดตลกลึกๆ มีความคิดสร้างสรรค์อยู่ลึกๆ ตลอดเวลา

ผมบอกได้เลยว่าคนไทยเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่สุดในโลก แล้วจงใช้ประโยชน์จากตรงนี้ครับ เพราะในอนาคตคุณจะไม่เหลืออะไรเลย คุณจะไม่มีอุตสาหกรรมอย่างที่คุณอยากมีหรอก ทุกวันนี้ก็ไม่มีอยู่แล้ว ไม่มีภาคการเกษตรอย่างที่อยากมีด้วย สิ่งเดียวที่คุณมีอย่างไม่จำกัดก็คือความคิด และทุกคนในประเทศไทยมีความคิด คุณต้องสร้างคนไทยให้มีความคิดสร้างสรรค์ แล้วอันนั้นแหละคืออนาคตของประเทศ และไม่ว่าจะพัฒนาท่องเที่ยว อุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม ทุกอย่างถูกกำหนดด้วยความคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น อนาคตของประเทศอยู่ที่นี่ ไม่เห็นกันหรือไงวะ และเป็นอนาคตเดียวที่คุณมีด้วย ผมมีจุดยืนตรงนี้อย่างเหนียวแน่น เป็นเรื่องเดียวที่ผม Stand นะ ใครมาแหย็มนี่ ผมชกนะ เตะก้านคอเลย

ถ้าจะเปรียบชีวิตตอนนี้ ผมว่ามันเหมือนดนตรีแจ๊ส เมื่อก่อนมีความเป็นดนตรีคลาสสิกอยู่บ้าง แต่พอเราเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้น ชีวิตเปรียบเป็นดนตรีแจ๊ส คือมันจะอิมโพรไวซ์ไป ไม่มีโน้ต ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดจบที่ชัดเจน เล่นกันไปตามอารมณ์ ชีวิตผมทุกวันนี้เป็นแบบนี้ ธุรกิจที่ผมทำอยู่มีทั้งหมด 14 บริษัท ผมอิมโพรไวซ์หมดเลย ไม่มีการวางแผนอะไรทั้งนั้น ไม่มีกลยุทธ์การตลาด ไม่มีอะไรเลย ผมเต้นรำอย่างเดียว

มีหลายคนบอกว่าแมกกาซีนกำลังจะตาย ผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าแมกกาซีนเป็น Self Expression ของมนุษย์ เวลาคุณเดินไปที่แผงแล้วหยิบหนังสืออะไร มันจะบอกคนข้างๆ ว่าคุณเป็นคนยังไง หรือคุณมีหนังสือนี้วางไว้ที่รถ คุณกำลังบอกคนที่ขึ้นรถ ว่าคุณเป็นคนยังไง หรือวางที่โต๊ะทำงานคุณ มันเป็นวิธีที่บอกว่าคุณเป็นคนแบบไหน เพราะฉะนั้นแมกกาซีนไม่มีวันตาย

เลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier)

สถาปนิกนักผังเมือง มัณฑนากร จิตรกร และนักเขียน เป็นชาวสวิส เกิดในภูมิภาคที่ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ และแปลงสัญชาติเป็นชาวฝรั่งเศสเมื่ออายุ 43 ปี เขาเป็นหนึ่งในผู้นำร่องของแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านการผังเมือง เขามีชื่อเสียงในการสร้างแนวคิดหน่วยที่อยู่อาศัย เริ่มคิดค้นในช่วงปี ค.ศ. 1920 เพื่อนำไปสู่การสร้างทฤษฎีของการอยู่อาศัยแบบร่วมกัน (Logement Collectif, Collective Lodging)

ในสมองมนุษย์ถูกออกแบบมาให้สร้าง โดยที่เราไม่รู้ตัวนะ มันถูกออกแบบมาอัตโนมัติ ฉะนั้น ถ้าเกิดคุณถามแค่คำถามว่าอะไรบ้างที่เป็นไปได้ เดี๋ยวที่เหลือก็จะทำงานเอง แต่คุณอย่าไปพยายามถามว่ามีความคิดอะไรบ้าง ส่วนใหญ่เราจะถามคำถามผิด เราจะถามว่ามีไอเดียอะไรมั้ย มันจะไปมีได้ยังไง ไอเดียมันเป็นคอนเซ็ปต์ จับต้องไม่ได้ ไอเดียอะไรเหรอ ไม่มีแล้ว ทุกคนก็จะพูดไอเดียอะไรบ้าบอ อันนี้คือโลกคอนเซ็ปต์ ซึ่งไม่เวิร์ก แต่ถ้าถามว่าอะไรเป็นไปได้ คุณลองถามคำถามนี้กับเพื่อนคุณดูสิ เดี๋ยวแม่งพรั่งพรูเลย นั่นแหละความคิดสร้างสรรค์ โคตรง่ายเลย ไม่มีอะไรยาก

สิ่งหนึ่งที่เราเข้าใจผิดมาตลอด คือสิ่งต่างๆ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจากเหตุผล เรามักจะถูกปลูกฝังว่าฉันจะทำอย่างนี้เพราะมีเหตุผลที่จะทำ แต่สิ่งต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นนั้นไม่เกี่ยวกับเหตุผล ตรงกันข้าม เหตุผลกลับเป็นตัวหยุดความเป็นไปได้ แต่เหตุผลจะเข้ามาสนับสนุนเมื่อความเป็นไปได้เกิดขึ้นแล้ว เราเอาความเป็นเหตุผลมาทำให้ความเป็นไปได้เกิดขึ้นจริง เหตุผลมาตอนท้ายเลย การสร้างต้องมาก่อน

BUKRUK festival at The Jam Factory

เทศกาล Street Art, Illustration และ Music Festival ที่นําศิลปินกว่า 50 ชีวิต จาก 10 ประเทศทั่วโลกร่วมแสดงผลงานและกิจกรรมต่างๆ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง การจัดนิทรรศการ 6 โซน การพูดคุยกับเหล่าศิลปินและการทำเวิร์กช็อป

John F. Kennedy

ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา เจ้าของวาทะดัง “จงอย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่าท่านจะทำอะไรให้ประเทศชาติ” วันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 เขาแถลงต่อสภาคองเกรสว่าอเมริกากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ไม่ธรรมดา ให้สภาอนุมัติงบประมาณเพื่อจุดมุ่งหมายของชาติคือ การส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์ และเดินทางกลับอย่างปลอดภัย

ผมบอกได้เลยว่าคนไทยเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่สุดในโลก แล้วจงใช้ประโยชน์จากตรงนี้ เพราะในอนาคตคุณจะไม่เหลืออะไรเลย คุณจะไม่มีอุตสาหกรรมอย่างที่คุณอยากมีหรอก ทุกวันนี้ก็ไม่มีอยู่แล้ว ไม่มีภาคการเกษตรอย่างที่อยากมีด้วยสิ่งเดียวที่คุณมีอย่างไม่จำกัดก็คือความคิด และทุกคนในประเทศไทยมีความคิด คุณต้องสร้างคนไทยให้มีความคิดสร้างสรรค์ แล้วอันนั้นแหละคืออนาคตของประเทศ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ