fbpx

มองทศวรรษหน้ากับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

  • เข้าสู่ทศวรรษใหม่ปี ค.ศ. 2020 เราอยากชวนผู้อ่าน มองไกล ไปอีก 10 ปีข้างหน้า ว่าโลกและประเทศไทย
    จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และมี 
    บิ๊กเทรนด์ อะไรที่คนไทยต้องเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ โดยผู้ที่จะมาช่วยอธิบายเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ท่านคือ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ
    แบงก์ชาติ หน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินให้กับประเทศไทยนั่นเอง!!
  • มักมีคำถามว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คงไม่มีคำตอบที่ตายตัว เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก รูปแบบความสัมพันธ์ที่เราคุ้นชินหลายอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการเตรียมตัวรับมือกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงระดับโลกต่างๆ แล้วคำตอบของเศรษฐกิจไทยทศวรรษหน้าจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศเราจะตั้งรับหรือเปลี่ยนแปลงเชิงรุกได้มากน้อยแค่ไหน
  • ผู้ว่าการแบงก์ชาติมองว่า การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะมีบทบาทกับเศรษฐกิจไทยมีอยู่ 5 เรื่อง ได้แก่ 1) โครงสร้างประชากร 2) สภาวะภูมิอากาศ 3) เทคโนโลยี 4) ห่วงโซ่การผลิตโลก (Global Supply Chain) และ 5) สภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกที่สูงมาก
  • ต่อไปจากนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงแต่ละเรื่องให้มากขึ้น

ประชากรครึ่งโลกกำลังเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’

เมื่อมองภาพใหญ่ โครงสร้างประชากรของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก หลายประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยพึ่งพาอยู่มาก ขณะที่ไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ประเทศแรกๆ ที่จะเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นเดียวกัน

การเข้าสู่สังคมสูงวัยมีผลกระทบอย่างน้อย 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงาน เพราะคนวัยทำงานลดลง โครงสร้างการผลิตที่พึ่งพาแรงงานราคาถูกจะไม่ใช่ความได้เปรียบของประเทศไทยอีกต่อไป และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริโภค (Consumption) ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของระบบเศรษฐกิจ เมื่อ ‘ผู้ใหญ่’ สูงวัยขึ้น พฤติกรรมการใช้จ่ายก็จะน้อยลง และรูปแบบสินค้าที่ซื้อจะต่างจากเดิม ยิ่งถ้าครอบครัวไหนมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแล ลูกหลานวัยหนุ่มสาวก็ต้องวางแผนการใช้จ่ายมากขึ้น ต้องออมมากขึ้น ดังนั้น ความหวังว่าการบริโภคจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เร็วในสังคมสูงวัยก็จะทำได้ลำบากมากขึ้น

“ทุกการเปลี่ยนแปลงมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ถ้าเตรียมพร้อมปรับตัวให้เท่าทันกับความเสี่ยงก็จะกลายเป็นโอกาสได้ ตลาดสินค้าผู้สูงอายุจะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก การที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคเท่ากับเราได้เปรียบเพราะเริ่มก่อนคนอื่น ขณะที่อีก 10 ปีข้างหน้าประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งจีน จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุตามเรามา อีกด้านของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่คนไทยอาจยังไม่ได้มองมากคือ ตลาดเอเชียใต้ (อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ) รวมไปถึงแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดวัยหนุ่มสาวที่กำลังเติบโต ฉะนั้น ธุรกิจไทยต้องปรับมุมมองและปรับโครงสร้างการส่งออกให้สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป”

‘โลกร้อน’ กับความยั่งยืนเกี่ยวกันเป็นเนื้อเดียว

ผู้ว่าการแบงก์ชาติเล่าว่า หากถอยหลังไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว คนไทยอาจยังไม่เข้าใจผลของ ‘ภาวะโลกร้อน’ เพราะยังไม่เกิดขึ้นมากนัก แต่อีก 5 ปีข้างหน้า ผลกระทบจะรุนแรงกว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมามาก อย่างปีที่แล้ว ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมฉับพลันและภาวะภัยแล้งในพื้นที่เดียวกันในช่วงเวลาใกล้กัน และปีนี้เรากำลังเผชิญปัญหาภัยแล้งและไฟป่าในหลายพื้นที่

“ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและภาคเกษตรจะอ่อนไหวมากต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ นอกจากนี้ สภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดคู่แข่งด้านสินค้าเกษตรใหม่ๆ เช่น ประเทศที่หนาวเย็นอย่างแคนาดาก็อาจกลายเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกได้ ขณะที่เกษตรกรไทยมี ‘กันชน’ ค่อนข้างน้อย มีหนี้มาก เงินออมไม่สูง ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ และอายุเฉลี่ยของเกษตรกรก็สูงขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือเราจะเตรียมพร้อมภาคเกษตรไทยให้เท่าทันความเสี่ยงจากสภาวะภูมิอากาศได้อย่างไร”

การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศกระทบกับทุกอุตสาหกรรม และทำให้เกิดกฎกติกาในการทำธุรกิจใหม่ๆ ที่สะท้อนความคาดหวังของสังคม และแนวคิดเรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจะได้รับความสำคัญมากขึ้นจนกลายเป็นกระแสหลัก เช่น การงดใช้ถุงพลาสติก

“ต่อจากนี้ ธุรกิจที่ไม่สนใจเรื่องความยั่งยืนจะเกิดความเสี่ยง และธุรกิจที่ทำเรื่องนี้ก่อนก็จะได้เปรียบ เพราะจะเป็นคนตั้งมาตรฐานที่คู่แข่งต้องวิ่งตาม นอกจากนี้ องค์กรที่ปฏิบัติดีต่อสิ่งแวดล้อมก็มีแนวโน้มจะดึงดูดคนรุ่นใหม่มาร่วมงานได้มากกว่า”

เทคโนโลยีเปลี่ยนทุกชีวิต เปลี่ยนโลกธุรกิจ

“ถ้าถามว่าคุณไปสาขาธนาคารครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ อาจจะนานจนจำไม่ได้ เพราะวันนี้ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสาขาธนาคาร ห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหาร และในอีก 5 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีจะยิ่งเร็วขึ้น และส่งผลกระทบวงกว้างกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เพราะจะยิ่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ใช้งานอย่างแพร่หลาย ทั้งเทคโนโลยี 5G และ IoTs (Internet of Things) ที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเชื่อมโยงกันได้ หรือ DLT (Distributed Ledger Technology) ที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ การพิมพ์ 3 มิติ และอื่นๆ ที่มีศักยภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ”

การที่ทุกคนใช้ชีวิตและทำธุรกรรมต่างๆ ในโลกดิจิทัล จะสร้าง ‘รอยเท้าดิจิทัล’ (Digital Footprint) ที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะนำไปสู่รูปแบบธุรกรรมและบริการใหม่ๆ อย่างแนวคิด Mass Customization หรือสินค้าและบริการแบบเฉพาะเจาะจงที่ทำให้กับคนจำนวนเป็นล้านคนได้ด้วยเทคโนโลยี 

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียังเปลี่ยนกระบวนการผลิตด้วย อุตสาหกรรมหลายอย่างอาจถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ที่ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เหนื่อย ไม่พัก ไม่ประท้วง

ไม่มีค่ารักษาพยาบาล อีกทั้งยังมีผลิตภาพ (Productivity) สูง และยังก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ อย่าง Sharing Economy หรือ Platform Economy ที่เป็นแพลตฟอร์มสื่อกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสามารถใช้ร่วมกันได้

“วันนี้ ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสเข้าถึงตลาดที่กว้างไกลได้โดยไม่ต้องลงทุนสูงมาก ไม่ต้องมีหน้าร้าน ระบบแพลตฟอร์มและลอจิสติกส์สมัยใหม่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพได้ ส่วนธุรกิจที่ไม่ปรับตัวหรือปรับตัวไม่ทันก็จะรู้สึกว่าถูกกระทบ (Disrupted) โจทย์สำคัญ คือ เราจะช่วยกลุ่มที่ขาดโอกาส ขาดความรู้ให้เข้าถึงและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างไร”

ห่วงโซ่การผลิตโลกสั้นลง ธุรกิจไทยก็ต้องปรับตัว

ผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าวว่า เมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ เข้ามาทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต ก็จะทำให้ห่วงโซ่การผลิตของโลก (Global Supply Chain) เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง หลายธุรกิจย้ายกลับมาผลิตในภูมิภาคมากขึ้น หรือดึงกลับไปผลิตภายในประเทศปลายทาง

“ประเทศที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องนี้ คือ จีน ตอนเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO) ใหม่ๆ จีนยังไม่มีความสามารถในการผลิตที่หลากหลาย สินค้าบางชนิดต้องข้ามพรมแดนหลายประเทศเพื่อไปประกอบที่จีน แต่วันนี้ จีนผลิตสินค้าหลายอย่างได้เอง ห่วงโซ่การผลิตโลกที่เคยเป็นสายยาวจึงสั้นลงมาก บางสินค้าที่ไทยเคยส่งออกไปจีนได้มากก็จะลดลง นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การค้าโลก รวมถึงการส่งออกของไทยหดตัว”

สำหรับธุรกิจไทย ดร.วิรไท แนะนำว่าควรปรับตัวด้วยการให้ความสำคัญกับ ‘บริการสมัยใหม่’ ที่แฝงอยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การโค้ดดิ้ง (Coding) ทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงบริการหลังการขายต่างๆ

“สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างและการเพิ่มมูลค่าสินค้าต้องอาศัยบริการสมัยใหม่เหล่านี้ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องคิดว่าจะปรับตัวอย่างไรให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป”

สภาพคล่องส่วนเกินของระบบการเงินโลกกับเศรษฐกิจไทย

นับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกในปี 2008 ธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ใช้นโยบายการเงินที่เรียกว่า Unconventional Policy เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงิน ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ มาตรการ QE (Quantitative Easing) หรือการที่ธนาคารกลางบางแห่งซื้อตราสารโดยตรงจากตลาดเงินและตลาดทุน ช่วงหนึ่งเราเคยคาดหวังว่า นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักจะเข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) ได้เร็วขึ้น แต่สถานการณ์วันนี้ คงจะทำให้ Normalization เกิดได้ช้าลง เหตุการณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า สถานการณ์โรคระบาด ทำให้นโยบายการเงินของหลายประเทศยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ สภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกจะยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะคงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

“มองไป 5 ปีข้างหน้า อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกก็น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสร้างผลข้างเคียงมากพอสมควร พอดอกเบี้ยต่ำคนก็ไม่มีแรงจูงใจในการออม จนเกิดปรากฏการณ์ ‘แสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) โดยที่อาจไม่เข้าใจ

ความเสี่ยงหรือประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร’ สำหรับผู้กู้ควรใช้จังหวะนี้ในการปรับโครงสร้างการเงินของตัวเองให้เหมาะสม แต่ถ้ากู้กันอย่างไม่ระมัดระวังก็จะมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เพราะขณะนี้ มูลค่าหนี้ทั่วโลก เทียบกับ GDP สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งหนี้ภาครัฐ หนี้ภาคเอกชน และหนี้ครัวเรือน

“สภาวะที่โลกต้องเผชิญความผันผวนมากขึ้น พอไม่มีเงินออมก็เท่ากับไม่มี ‘กันชน’ ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูงเป็นเรื่องที่น่ากังวล และทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ เพราะสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำอาจจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง”

โจทย์ใหญ่ของสังคมไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลง

ผู้ว่าการแบงก์ชาติมองว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงใหญ่ทั้ง 5 เทรนด์นี้ ประเทศไทยมีหลายโจทย์สำคัญที่ต้องร่วมกันตั้งรับและปรับตัวเชิงรุก โดยหนึ่งในโจทย์ข้อใหญ่ คือ การช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเข้าถึงประโยชน์และโอกาสจากเทรนด์เหล่านี้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญอย่างความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่กับขนาดเล็กด้วย โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถปรับตัวและแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม เพื่อไม่ให้ถูกเบียดจนไม่มีพื้นที่ยืน

อีกโจทย์ที่สำคัญมาก คือเรื่องผลิตภาพของไทยที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาเร็วและต้นทุนถูกลงมาก ถือเป็นโอกาสที่จะมาช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับธุรกิจไทยได้มาก แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสร้างกลไกนี้ให้เกิดขึ้นในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทย เพื่อทำให้ภาคเศรษฐกิจที่ผลิตภาพต่ำโตได้เร็ว

“ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย สถาบันการศึกษาจะช่วยได้มากในเรื่ององค์ความรู้ ภาคธุรกิจก็ต้องช่วยเหลือกัน ไปจนถึงภาครัฐที่ต้องสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้คนปรับตัว แต่มาตรการภาครัฐที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเน้นที่การเยียวยา ซึ่งส่งผลข้างเคียงคือสนับสนุนให้คนยังทำแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และอีกสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ อย่าคิดว่ามีสูตรเดียวในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ทุกคนต้องร่วมกันทำหลากหลายมิติที่จะขับเคลื่อนทั้งองคาพยพไปในทิศทางที่ควรจะเป็น”

นอกจากนี้ ผู้ว่าการแบงก์ชาติมองว่าการทำให้แรงงานไทยสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตและปรับ Mindset ให้เท่าทันโลกยุคใหม่ ถือเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของสังคมไทย ซึ่งทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตถือเป็นภูมิคุ้มกันในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว   

“สิ่งสำคัญคือเราต้องมองให้ไกล แล้วจะรู้ว่าโลกข้างหน้าจะไม่เหมือนเดิม เราต้องมีผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มขึ้น ผลิตสินค้าที่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทำงานน้อยลง แต่ได้เงินมากขึ้น เราต้องมีภูมิคุ้มกัน (Immunity) ตั้งแต่ระดับครัวเรือน จนถึงระดับประเทศ ในแง่สังคมก็ต้องให้ความสำคัญกับการกระจายประโยชน์อย่างทั่วถึง (Inclusivity) เพราะโลกข้างหน้า ถ้าเราไม่คำนึงถึงเพื่อนร่วมสังคม เราก็จะอยู่ได้ยาก เพราะไม่มีความยั่งยืน (Sustainability)”

วัฒนธรรมองค์กรแบงก์ชาติท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

ดร.วิรไทเล่าว่าเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ คนแบงก์ชาติก็ต้องเปิดใจมากขึ้น และนี่เป็นสิ่งที่ท่านพยายามขับเคลื่อนตลอดกว่า 4 ปีที่ผ่านมา

“เมื่อก่อนคนมักพูดว่าเราอยู่บนหอคอย ไม่เข้าใจโลกภายนอก และยึดติดวิธีการทำงานเดิมๆ มาวันนี้ คน ธปท. ต้องเปิดใจรับฟังและมองรอบด้าน ซึ่งนำไปสู่กระบวนการสื่อสารสองทางมากขึ้น ก่อนที่แบงก์ชาติจะออกกฎเกณฑ์ หรือนโยบายใดๆ เราจะให้ความสำคัญมากในการรับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงจากหลากหลายองค์กรและภาคส่วน เพื่อกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์ของสังคมไทย”

อีกคุณสมบัติที่สำคัญคือ ต้องมีความคล่องตัวสูง เพราะถ้าทำงานด้วยกฎเกณฑ์กติกาแบบเดิม ไม่ยืดหยุ่น ก็จะไม่สามารถตอบโจทย์ของสังคมได้อย่างเท่าทันต่อเหตุการณ์ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน เช่น รูปแบบการทำงานเป็นทีมเฉพาะกิจ (Squad) สำหรับงานด้านดาต้าอนาไลติกส์ หรือการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งต้องอาศัยสมาชิกที่มาจากหลากหลายสายงาน รวมถึงต้องมุ่งผลสำเร็จที่ชัดเจน

“คนแบงก์ชาติสมัยใหม่ต้องมีทักษะ ‘การลงมือทำ’ ด้วย ต้องสามารถคิดและพัฒนางานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลาย เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ๆ อย่างระบบพร้อมเพย์ คลินิกแก้หนี้ หรืองานด้านพัฒนาหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมความรู้ทางการเงินสำหรับนักเรียนอาชีวะในโครงการ Fin. ดี We Can Do!!! และสำหรับคนวัยทำงานในโครงการ Fin. ดี Happy Life!!!”

นอกจากนี้ ผู้ว่าการแบงก์ชาติมองว่าคนแบงก์ชาติยุคใหม่ต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีและ Data Sciencesรวมถึง Data Analytics ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะกลายเป็น Backbone ในระบบการเงิน และจะเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตของผู้ใช้บริการทางการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันแบงก์ชาติสำนักงานใหญ่มีสัดส่วนบุคลากรที่จบทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีมากถึงร้อยละ 15 เลยทีเดียว

บุคลิกที่สั่งสมจากการทำงานกว่า 4 ปีในแบงก์ชาติ

ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.วิรไท เล่าว่า ประสบการณ์ทำงานที่แบงก์ชาติได้ทำให้ท่านเป็นคนที่ต้องมองไกล มองกว้าง และมองลึก (ผลกระทบเชิงลึก) มากขึ้น

“แบงก์ชาติเป็นองค์กรที่ดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ทุกนโยบายมีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ฉะนั้น เราจึงต้องมองรอบด้าน ต้องเข้าใจประโยชน์และผลกระทบของนโยบายที่มีต่อคนกลุ่มต่างๆ ทั้งวันนี้และในอนาคต การทำงานที่นี่ทำให้ผมได้มองประเด็นต่างๆ กว้างขึ้น และเห็นความเชื่อมโยงกันมากขึ้น

“สิ่งสำคัญคือ เราต้องแน่ใจว่าสิ่งที่เราตัดสินใจเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มีเหตุผลสนับสนุน และอธิบายได้ แบงก์ชาติเป็นองค์กรเดียวในประเทศที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินไทย ซึ่งในยามปกติจะไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพ เพราะเป็นเรื่องระยะยาว เราจึงต้องสื่อสารมากขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจผ่านช่องทางใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนทั่วไป”

ด้วยตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูง และมีเนื้องานที่กระทบกับคนกลุ่มต่างๆ อีกทั้งยังต้องตื่นตัวเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนไปตลอดเวลา ทำให้ผู้ว่าการแบงก์ชาติมักนำเอาพื้นความรู้ความสนใจในเรื่องพุทธศาสนาออกมาใช้อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่องของการรักษาสมดุลระหว่างกายกับใจ

“พุทธศาสนาเป็นเรื่องของชีวิต ชีวิตคือกายกับใจ ในขณะที่ดูแลรักษากายให้เข้มแข็ง มีสุขภาพดี เราก็ต้องไม่ลืมรักษาใจ มีสมาธิ และสามารถปล่อยวางได้ เพื่อพร้อมรับแรงปะทะต่างๆ”

ดร.วิรไท ทิ้งท้ายถึงคนทำงานรุ่นใหม่ว่า ในโลกที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น การรักษาสมดุลระหว่างกายกับใจเป็นเรื่องที่ควรต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ