fbpx

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร China 5.0 การเมือง/เศรษฐกิจ/เทคโนโลยี ภายใต้นิยาม ‘จีนยุคใหม่’

เวลาที่เรานึกถึงประเทศจีน สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคือขนาดความใหญ่ของประเทศ และความมากของจำนวนประชากร

แล้วพอแบ่งจีนออกเป็นยุคๆ ถ้าไล่ตามความคุ้นเคยของคนส่วนใหญ่ที่เคยท่องโลกไปกับยุทธภพกำลังภายใน ก็จะสัมผัสได้ถึงจีนยุคโบราณตั้งแต่ ราชวงศ์ฮั่น, ชิง หรือแม้แต่แมนจู ซึ่งเป็นภาพของลักษณะการปกครองแบบรวมศูนย์ แต่ก็มีภาพของความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ก่อนจะมาถึงการเปลี่ยนผ่านประเทศครั้งใหญ่จาก เหมา เจ๋อตง และก่อให้เกิดยุคเผด็จการคอมมิวนิสต์ หรือยุคสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน

พอยุคต่อมา โดยเฉพาะช่วงที่เป็น เติ้ง เสี่ยวผิง ก็จะนึกถึงจีนในมุมของการเป็นแหล่งก็อบปี้ของสินค้าราคาถูก เป็นแหล่งผลิตสินค้าชื่อดังของโลกที่ผลิตสินค้าทุกรูปแบบได้ในราคาไม่แพง และนี่ก็เหมือนกับเป็นก้าวย่างสำคัญที่ผลักให้จีนค่อยๆ ออกมารู้จักกับโลกภายนอกมากขึ้น

แต่พอยุคปัจจุบันนี้ อาจจะเริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกสุดขั้ว เพราะไม่ว่าจะเรื่องของนโยบายทางการเมืองเอย หรือว่าเรื่องของเศรษฐกิจเอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเทคโนโลยีจากประเทศจีนนั้น เริ่มมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้ทั่วทั้งโลกได้ประจักษ์ชัด

ในถ้อยแถลงที่มีต่อที่ประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศ ครั้งที่ 19 หรือ “สมัชชาฯ 19” ที่มีขึ้นที่กรุงปักกิ่งเมื่อปลายปีก่อน ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ผู้นำคนปัจจุบัน ได้ประกาศชัดถึงยุทธศาสตร์ใหม่ของจีน ที่แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ปี 2020-2035 ที่มุ่งพัฒนาจีนสู่การเป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมที่ทันสมัย และช่วง 15 ปีถัดไป (2035-2550) หรือ กลางทศวรรษที่ 21 ที่มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นมหาอำนาจในแบบของจีน

นี่คือ เรื่องราวสำคัญของประเทศจีน ที่เปลี่ยนถ่ายขั้นตอนของการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ “สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ทันสมัย มั่งคั่ง และเจริญเติบโตอย่างสง่างามในทุกๆ ด้าน ในแบบฉบับของจีนยุคใหม่”

เรื่องราวของจีนยุคใหม่ เป็นสิ่งที่เชื่อว่าคนทุกคนน่าจะอยากรู้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะหากมองในแง่ของการเปิดเสรีด้านการค้าของจีนยุคใหม่ เท่ากับว่าคนรวยจีนก็อยากหาตลาดที่เหมาะสมต่อการลงทุน ขณะที่คนทั่วโลก รวมถึงไทยก็อยากหาโอกาสเข้าไปเก็บเกี่ยวเม็ดเงินจากคนจีนเช่นกัน

พอมองถึงประเด็นนี้ GM ก็จัดการดึงตัว ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร นักวิเคราะห์จีนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจในประเทศจีนหลายๆ มิติอย่างรอบด้าน ในวัยเพียง 32 ปี มานั่งกะเทาะแก่นของจีนยุคใหม่ ที่เชื่อว่าหลายคนที่เคยติดภาพจีนแบบหัวรุนแรง คอมมิวนิสต์ ไม่มอบอิสระแก่ประชาชนในประเทศ รวมถึงเป็นประเทศที่ทำได้แค่ก็อปปี้ธุรกิจในซีกโลกอื่นๆ เท่านั้น อาจจะต้องคิดมุมกลับ และต้องพิจารณาให้เห็นถึงรากฐานใหม่ที่ต้องแอบ “ร้องว้าว” ในขณะเดียวกัน ก็มองเห็นความท้าทายและระเบิดเวลาหลายลูกที่ซ่อนอยู่ในจีนสมัยใหม่ด้วยเช่นกั

GM: ก่อนอื่น ต้องถามว่าทำไมสนใจในเรื่องของจีน
ดร.อาร์ม: 
ตอนผมเรียนจบ ม.6 ก็มีโอกาสได้สอบชิงทุนของรัฐบาลไทยไปเรียนต่อที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นช่วงแรกๆ ที่รัฐบาลไทยเริ่มส่งนักเรียนทุนไปเรียนเมืองจีน ผมไปเรียนจีนช่วงปี 2004 -2010 เป็นยุคที่จีนเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วมาก ผมไปเรียนภาษาจีน 2 ปี แล้วจึงเข้าเรียนปริญญาตรีด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งอีก 4 ปี

ส่วนสาเหตุที่ไปเรียนเมืองจีน เพราะผมคิดว่าจีนน่าค้นหา เป็นประเทศที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และผมสงสัยว่าทำไมประเทศนี้ถึงมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็ว แล้วก็เหมือนกำลังเปลี่ยนโฉมตัวเองครั้งใหญ่ ผมคิดว่าเราไม่เข้าใจจีนไม่ได้ อย่าลืมนะครับว่าประชากร 1 ใน 5 ของโลกเป็นคนจีน

ผมเลือกเรียนกฎหมาย เพราะคิดว่าต่อไปจะมีความสำคัญสำหรับการคบค้าและรู้เท่าทันจีน ขณะเดียวกัน ผมคิดว่ากฎหมายน่าจะเป็นตัวเชื่อมโยงให้เราเข้าใจระบบการเมือง เศรษฐกิจ แล้วก็สังคมของจีนได้ดีด้วย เพราะว่าหลายอย่างก็จะสะท้อนผ่านระบบกฎหมาย

GM: ทราบมาว่าไม่ได้เลือกเรียนแค่กฎหมายจีน แต่ยังรวมถึงกฏหมายในโลกตะวันตกด้วย
ดร.อาร์ม:
 ตอนที่ผมเรียนกฎหมายที่จีน เป็นช่วงที่จีนกำลังศึกษาและเรียนรู้โลกของตะวันตกอย่างจริงจัง เพราะเป็นช่วงที่จีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจระบบวางแผนจากส่วนกลางมาเป็นเศรษฐกิจกลไกตลาด ซึ่งพื้นฐานระบบกฎหมายก็ต้องศึกษาจากระบบของตะวันตก ผมจึงสนใจศึกษากฎหมายเปรียบเทียบตั้งแต่อยู่ที่จีน

ต่อมา ผมจึงได้มีโอกาสศึกษาต่อปริญญาโทและเอกที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งผมไปเรียนสหรัฐฯ หลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินสหรัฐฯ และนั่นก็ทำให้เรามองเห็นและเริ่มมีการตั้งคำถามต่างๆ พร้อมๆ ไปกับทบทวนทฤษฎีกระแสหลักหลายเรื่องที่เราเคยศึกษามา ซึ่งเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณค่ากับผมมาก โดยความสนใจหลักของผมจะเป็นเรื่องกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กฎหมายการลงทุน ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายและระบบเศรษฐกิจ และสังคมวิทยากฎหมาย คือผมสนใจกฎหมายในเชิงกว้างกว่าตัวบท โดยมองกฎหมายในฐานะกลไกทางสังคมที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

“ประชากรจีนมีจำนวนกว่า 1 ใน 5 ของโลก เป็นกำลังซื้อมหาศาลที่น่าสนใจ และตัวประเทศจีนเองก็กำลังก้าวสู่ยุคใหม่ที่ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ผมจึงอยากเป็นคนๆ หนึ่งที่จะช่วยให้คนไทยรู้จักจีนในแง่มุมต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเราให้มากที่สุด”

GM: ตอนนี้มีคนพูดถึงอาจารย์ค่อนข้างเยอะในแง่ของการเป็นนักวิเคราะห์ และกูรูเศรษฐกิจการเมืองจีน คิดว่าอะไรเป็นจุดที่ทำให้ชื่อของอาจารย์เข้ามาอยู่ในระบบความสนใจของคนไทย
ดร.อาร์ม: 
อันดับแรกผมขอเรียนก่อนว่าผมไม่ใช่กูรู ผมเป็นแค่คนที่สนใจศึกษาและติดตามพัฒนาการของจีนคนหนึ่ง เป็นเหมือนนักศึกษาที่ไม่ยอมจบการศึกษามากกว่า เพราะจีนเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ความรู้ของผมก็ต้องพยายามอัพเดทอยู่ตลอดเวลา

ปกติผมเขียนคอลัมน์เรื่องเมืองจีนอยู่ในกรุงเทพธุรกิจ 101.world และไทยพับลิกา ซึ่งก็เป็นการพยายามอัพเดทความรู้ของตัวเอง และสื่อสารกับคนไทยที่สนใจติดตามพัฒนาการของจีน ก่อนหน้านี้ ผมเองยังได้เข้าไปช่วยดูแลศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทยจีนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ก็ได้มีส่วนช่วยผลักดันให้มีการศึกษาเรื่องจีนอย่างรอบด้านมากขึ้นในวงวิชาการไทย และให้เริ่มมีการคิดและวิเคราะห์ว่าเราควรวางบทบาทความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างไรในเชิงยุทธศาสตร์

GM: มาพูดกันถึงเรื่องของจีนในวันนี้กันบ้างว่าเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน
ดร.อาร์ม: 
ถ้าเรามองจีนยุคปัจจุบัน กับเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว มันก็เป็นคนละเรื่องกันเลย การเปลี่ยนแปลงของจีนเร็วขนาดที่คนจีนบอกว่า คนอายุห่างกัน 5 ปี ก็กลายเป็นคนอีก Generation หนึ่งแล้ว สมัยก่อนจีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 10% หรือสูงกว่านั้น ตอนนี้ตัวเลขนี้ลดลงมาที่ราว 6% แต่อย่าลืมว่าเป็น 6% ของก้อนเค้กที่ใหญ่ขึ้นมามากแล้ว

ตอนนี้จีนมองว่าปัญหาหลักไม่ใช่เรื่องความเร็วของการเติบโตอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เติบโตอย่างสมดุล ต้องเน้นเรื่องอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ซึ่งตอนนี้จีนให้ความสำคัญอย่างมากกับแผนพัฒนาชนบท เพื่อขจัดความยากจน

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเศรษฐกิจจีน กำลังส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และระบบกฎหมายในจีน เรียกว่าทั้งหมดพลิกโฉมจากอดีตในทุกมิติครับ

GM: ขั้นบันไดของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างไร
ดร.อาร์ม:
 ต้องย้อนไปสมัยเหมา เจ๋อตง สมัยนั้นเศรษฐกิจจีนเป็น “เศรษฐกิจระบบวางแผนจากส่วนกลาง” ก็คือในประเทศจีนไม่มีตลาด ไม่มีเอกชน ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีภาพของเศรษฐกิจแบบโลกเสรี โรงงานทั้งหมดเป็นของรัฐ การที่โรงงานไหนจะผลิตสินค้าออกมาเท่าไร ล้วนแต่เป็นคำสั่งจากรัฐบาลทั้งหมด

พูดในเชิงเศรษฐศาสตร์ ก็คือ จีนในยุคนั้นไม่ได้มีการผลิตตามอุปสงค์อุปทานในตลาด หากเป็นระบบเศรษฐกิจของประเทศอื่น อุปสงค์อุปทานจะเป็นตัวกำหนดว่าจะมีคนทำธุรกิจอะไร จะมีคนผลิตอะไรเท่าไร แต่ของจีนในสมัย เหมา เจ๋อตงเป็นระบบที่รัฐเป็นคนวางแผนและสั่งการ ส่วนภาคการเกษตรก็เป็นระบบคอมมูน (Commune) ความหมายก็คือทุกคนปลูกข้าวเสร็จแล้ว ผลผลิตเป็นของคอมมูน แล้วค่อยมาแบ่งให้สมาชิกในคอมมูนเท่าๆ กัน

GM: มันคือเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ใช่ไหม
ดร.อาร์ม:
 ใช่ครับ แต่ปัญหาก็คือ คนจีนในยุคเหมา เจ๋อตง ที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบนี้แม้จะมีความเท่าเทียม แต่อดอยากและยากจนมาก นโยบายเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของเหมา เจ๋อตง ใช้ชื่อว่า “การก้าวกระโดดไกล” คือเหมา เจ๋อตงประกาศว่าจะกระโดดจาก China 1.0 ไป China 3.0 ในชั่วข้ามคืน เหมา เจ๋อตงเห็นว่าประเทศตะวันตกเจริญ เพราะมีภาคอุตสาหกรรมหนัก จึงมีนโยบายให้จีนเร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ อุตสาหกรรมถลุงเหล็ก อุตสาหกรรมเครื่องบิน แต่อุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นอุตสาหกรรมทุนเข้มข้น คือต้องใช้เงินทุนมหาศาล ขณะที่ประเทศจีนในตอนนั้นขาดแคลนเงินทุน รัฐวิสาหกิจเหล่านี้สุดท้ายก็ทำกำไรไม่ได้ เพราะไม่สอดคล้องกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของจีนในตอนนั้น แต่รัฐบาลจำเป็นต้องอุดหนุนเงินมหาศาล เศรษฐกิจทั้งระบบจึงไม่มีประสิทธิภาพ

ส่วนภาคการเกษตรที่ใช้ระบบคอมมูน ก็ทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจที่จะลงแรง เพราะทำมากทำน้อย สุดท้ายผลผลิตก็ไปเข้าคอมมูน แล้วก็ค่อยมาแบ่งเท่ากัน ดังนั้น ผลผลิตทางการเกษตรก็ตกต่ำด้วย

GM: พูดง่ายๆ คือยุคนั้นทุกคนเป็นพนักงานของรัฐ ก้มหน้าก้มตาทำตามคำสั่งลูกเดียว
ดร.อาร์ม: 
ใช่ครับ ไม่มีตลาด ไม่มีธุรกิจ ไม่มีเอกชน อันนี้คือสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจคำว่าคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น แต่ถามว่าวันนี้จีนเป็นแบบนั้นไหม ก็ไม่ใช่แล้ว ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนตอนสมัย เติ้ง เสี่ยวผิง ที่เริ่มปฎิรูปจีน โดยค่อยๆ เปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจวางแผนเป็น “ระบบเศรษฐกิจตลาด”

ความหมายของระบบเศรษฐกิจตลาด ก็คือ เริ่มให้มีตลาดในประเทศจีน เริ่มคุ้มครองกรรมสิทธิในทรัพย์สิน เริ่มให้มีการทำสัญญา มีการค้าขาย จากเดิมที่รัฐบาลส่วนกลางเป็นคนวางแผนการผลิต ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นผลิตตามอุปสงค์อุปทานในตลาด เปิดให้มีเอกชน เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน เอกลักษณ์ของประเทศจีน ก็คือ สัดส่วนของรัฐวิสาหกิจยังสูง รัฐวิสาหกิจยังควบคุมส่วนยอดของระบบเศรษฐกิจ นั่นก็คือ บริษัทในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้นยังเป็นรัฐวิสาหกิจเสียส่วนมาก

GM: ยุคของมังกรเติ้งคือปฐมบทของจีนยุคใหม่ ที่ทำให้ประชาชนเริ่มมีกินมีใช้แบบนั้นใช่ไหม
ดร.อาร์ม: 
เติ้ง เสี่ยวผิง ทำให้จีนเริ่มมี 2 ลู่ (two-track system) คือ ลู่เดิมของเหมา เจ๋อตง ก็ยังคงรักษารัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมทุนเข้มข้นและอุตสาหกรรมหนักไว้ ขณะเดียวกันก็เปิดอีกลู่หนึ่งคือลู่เอกชน เติ้ง เสี่ยวผิงเริ่มเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ พอเอกชนเข้ามาแล้ว มันก็ไม่ใช่แค่เอกชนจีน แต่ยังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมหาศาล และเมื่อเอกชนมองกำไรเป็นหลัก เพราะฉะนั้น เอกชนก็ย่อมจะลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศ จีนเป็นประเทศที่มีแรงงานมหาศาลและแรงงานราคาถูก ดังนั้น ภาคเอกชนจึงเลือกลงทุนในภาคอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น นี่คือ ปรากฎการณ์ที่จีนกลายมาเป็น “โรงงานโลก” ครับ

GM: แล้วถ้ามองจุดพลิกผันของการพัฒนาประเทศจีนมาสู่แนวหน้าของโลกด้านเศรษฐกิจมันมาจากจุดไหน
ดร.อาร์ม: 
ผมมองว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างชัดเจน ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 90 และหมุดหมายที่สำคัญมากก็คือ ปี 2001 ที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ทำให้จีนเป็นฐานการผลิตของโลกอย่างเต็มตัว คือ มาผลิตที่จีนเพื่อส่งออก แล้วใช้ตลาดโลกเป็นตลาดผู้บริโภค เหมือนเช่นสินค้าในสหรัฐอเมริกาที่มาผลิตที่จีนจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ยังสามารถซื้อของสหรัฐได้ในราคาถูก แม้ว่าค่าแรงในสหรัฐฯ จะแพงมากแล้วก็ตาม เนื่องจากสินค้าที่มาจากประเทศจีนทำให้ต้นทุนถูกกว่าผลิตในสหรัฐฯ

ดังนั้น จีนก็เลยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วมากปีละ 10% เป็นเวลายาวนาน แต่จริงๆ แล้ว เหตุผลหนึ่งก็คือ จีนเติบโตจากจุดที่ต่ำมาก แรงงานส่วนใหญ่ของจีนเดิมอยู่ในภาคเกษตร พอเปลี่ยนถ่ายมาอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ก็ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่จีนไม่ใช่ประเทศที่หยุดแต่เพียงเท่านี้ เขามีแผนที่จะปรับตัวและยกระดับตลอดเวลา

GM: แล้วจีนในยุคของ สี จิ้น ผิง เป็นอย่างไร
ดร.อาร์ม:
 พอมาถึง สี จิ้นผิง เขาเริ่มใช้คำว่า “เศรษฐกิจยุคใหม่” กล่าวคือ ถึงเวลาที่จีนจะต้องปรับตัวเองอีกรอบหนึ่ง เนื่องจากโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมมันไปต่อไม่ได้ ซึ่งโมเดลแบบเดิมคือเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุนและการส่งออก ตรงนี้ส่งผลให้เกิดการลงทุนโดยรัฐ รัฐบาลจีนลงทุนในการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีประเทศไหนทำมาก่อน สร้างถนน สะพาน รถไฟความเร็วสูง ตึกรามบ้านช่องเต็มเมือง

ที่ผ่านมา ตัวเลขการลงทุนใน GDP ของจีนจึงเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ถ้าไปดูตัวเลขในตะวันตก เราจะพบว่าตัวเลขการลงทุนไม่ได้สูง ตัวเลขที่สูงคือตัวเลขการบริโภคของคนในประเทศ ขณะที่ของจีนโมเดลเศรษฐกิจในยุคเก่าเป็นการขับเคลื่อนด้วยการลงทุนและการส่งออก ปัญหาคือ วิกฤติการเงินโลกช่วงปี ค.ศ. 2008 ทำให้การส่งออกหดตัว เพราะตลาดโลกซบเซา ปัจจุบัน ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็ยิ่งเป็นตัวกดการส่งออก ส่วนการลงทุนโดยภาครัฐเองก็ไปต่อไม่ได้เหมือนกัน เพราะจีนสร้างอะไรเต็มไปหมดแล้ว จนไม่รู้ว่าจะสร้างอะไรต่อไป และถ้าสร้างต่อไป ก็มีแต่จะก่อหนี้เพิ่ม โดยไม่เกิดประสิทธิภาพ ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของเศรษฐกิจจีนตอนนี้คือ การผลิตเกินตัว (Overcapacity) ในภาคอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมโซลาเซลล์ คือผลิตปริมาณมากเกินไป แต่ไม่มีตลาดรองรับ ผลสุดท้ายก็ค้างสต๊อก และทำกำไรไม่ได้

GM: จีนจะผ่านปัญหานี้ด้วยวิธีการไหน
ดร.อาร์ม:
 นี่เป็นปัญหาสะสมของรัฐบาลจีน ทำให้ สี จิ้นผิง ประกาศคำว่า “เศรษฐกิจยุคใหม่” ซึ่งเศรษฐกิจยุคใหม่ของสี จิ้นผิง จะเป็นการยกระดับจากสมัยเติ้ง เสี่ยวผิง ในสมัยเติ้งเสี่ยวผิง จีนเป็นเศรษฐกิจขาดแคลน เป้าหมายของเติ้งคือพัฒนาพลังการผลิต ตอนนั้นจึงเป็นการเติบโตที่เน้นปริมาณ ขณะที่ สี จิ้นผิง มีความต้องการยกระดับเศรษฐกิจมาเน้นคุณภาพ ผลิตให้ตรงจุด ตรงตามความต้องการของตลาด และยกระดับสินค้าและนวัตกรรม ไม่ใช่เน้นแต่ผลิตสินค้าจำนวนมากๆ เหมือนแต่ก่อน สี จิ้นผิงบอกว่าที่ผ่านมา การพัฒนาของจีนไม่สมดุลและไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย คือสิ่งที่ควรผลิตมากไม่ผลิต สิ่งที่ควรผลิตน้อยกลับผลิตมาก

GM: อาจารย์เห็นอะไรจากการเปลี่ยนแปลงในแบบของ สี จิ้น ผิง
ดร.อาร์ม:
 สี จิ้น ผิง ต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการ ในจีนตอนนี้มีสโลแกนว่าเป็นยุค “ต้าจ้งช่วงเย่ ว่านจ้งช่วงซิน” แปลว่า “ทุกคนทำธุรกิจ ทุกคนสร้างสรรค์” นี่ล่ะครับจะเป็นกุญแจใหม่ที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนยังคึกคักต่อไปได้ ถ้าจะให้สรุป ก็คือ แนวคิดของสี จิ้น ผิง คือ การส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยเชิงนวัตกรรมมากขึ้น และส่งเสริมภาคบริการ แทนการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตเชิงปริมาณแบบเดิม

นโยบายนี้ทำให้คนจีนตื่นตัวมาก เพราะนั่นหมายถึงทุกคนมีโอกาสฝันที่จะเป็นแจ็คหม่าคนที่ 2 ซึ่งผมเคยไปดูบริษัทเทคโนโลยีของจีน ก็เซอร์ไพรซ์มาก เช่น กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง B – A – T คือ Baidu, Alibaba และ Tencent เมื่อเข้าไปแล้วเราจะไม่เห็นคนแก่เลย คนทำงานทุกคนเป็นคนหนุ่มสาว แล้วแรงงานที่มีฝีมือในจีนเยอะมาก เนื่องจากคนจีนนิยมเรียนวิทยาศาสตร์และผลิตบุคลากรด้านนี้ออกมามหาศาล มากยิ่งกว่าประเทศเจ้านวัตกรรมอย่างสหรัฐอเมริกาหลายเท่าครับ

“ในระหว่างที่หลายๆ ประเทศกำลังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญที่จะรับมือเทคโนโลยียุคใหม่ แต่จีนกำลังผลิตคนหนุ่มสาวที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมหาศาล คนเหล่านี้จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนยุคใหม่” 

GM: จริงๆ ก็ไม่ค่อยอยากเชื่อเลยว่า ด้วยความที่จีนเป็นระบบคอมมิวนิสต์มานาน กลับเปิดโอกาสให้คนในประเทศได้ทำธุรกิจแบบนี้
ดร.อาร์ม:
 จีนไม่ใช่คอมมิวนิสต์แบบที่ตำราเรียนเขียนหรอกครับ สมัยเติ้ง เสี่ยวผิง เคยบอกว่า สังคมคอมมิวนิสต์ต้องเป็นสังคมที่เน้นการกินดีอยู่ดีและความเท่าเทียมกัน ซึ่งเติ้งบอกว่าที่เหมา เจ๋อตงทำมันไม่ใช่ เพราะทุกคนยากจนเท่ากันหมด ฉะนั้นตั้งแต่ยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง เขาวางเป้าหมายว่าเน้นพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนากำลังการผลิตก่อนเป็นลำดับแรก พรรคคอมมิวนิสต์ยังคุมเรื่องการเมือง ยังอุดหนุนรัฐวิสาหกิจหลักของประเทศ แต่ก็จะคู่ขนานไปด้วยระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจจีนในภาคเอกชนมีความคึกคักและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

นอกจากนี้ระบบคอมมิวนิสต์ในแบบของ เติ้ง เสี่ยวผิง ยังมุ่งเน้นเรื่องของ “ปฏิบัตินิยม” คือเขาเป็นคนไม่ติดไม่คลั่งกับลัทธินิยมแบบเก่า หากจำกันได้ เขามีคำพูดที่

โด่งดังว่า “ไม่ว่าจะเป็นแมวขาวหรือแมวดำ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” ความหมายคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้การเมืองมีเสถียรภาพ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็ยังเติบโตในอัตราที่สูง และนี่คือภาพที่ทำให้จีนมีความเป็นแบบฉบับของตน เต็มไปด้วยความซับซ้อนและย้อนแย้ง คำที่เติ้งเสี่ยวผิงใช้ก็คือ “สังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน” แต่ฝรั่งชอบล้อว่าเป็น “ทุนนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน” มากกว่า

GM: ทราบมาว่าตอนนี้จีนกำลังซุ่มพัฒนา Digital Town มันคืออะไร
ดร.อาร์ม: 
ไม่ใช่แค่ Digital Town หรอกครับ แต่เป็น AI Town ความหมายหนึ่งของ China 5.0 ที่ผมใช้ ก็คือ จีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากยุค 4.0 คือเทคโนโลยีดิจิทัล มาเป็นยุค 5.0 คือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งจะตอบโจทย์หลายๆ อย่างของจีน เช่น ตอบโจทย์เรื่องของเศรษฐกิจ เพราะว่าจีนกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุจากการใช้นโยบายลูกคนเดียวมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้ต่อไปจะมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งค่าแรงในจีนก็ปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่จีนอาจสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยโรงงานหุ่นยนต์ ไม่ต้องใช้แรงงานปริมาณมหาศาลเหมือนในอดีต นอกจากนั้น เทคโนโลยี AI และ Big Data ก็จะช่วยให้รัฐบาลจีนวิเคราะห์และวางแผนรับมือความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้ตรงจุด และจะเป็นเครื่องมือสำคัญให้รัฐบาลใช้ควบคุมสังคมในทางการเมืองด้วย

“การลงทุนสร้างเมืองหรือเขตเทคโนโลยีของจีนมีในหลายพื้นที่ แต่ที่คนจับตามองกันมากคือ “เมืองสงอัน” ที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองหลวงปักกิ่ง เมืองท่าเทียนจิน และฉือเจียจวงเมืองเอกของมณฑลเหอเป่ย สีจิ้นผิงต้องการเนรมิตเมืองสงอันขึ้นมาใหม่จากเดิมที่เป็นทุ่งนา เพื่อให้เป็นตัวอย่างเมืองแห่งอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เป็นเมืองนวัตกรรมใหม่ รวมทั้งเป็นเมืองสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย อันนี้เป็นแผนพัฒนาเมืองระยะยาว 20 ปี ต่อจากนี้”

GM: สหรัฐฯ กำลังจะหมดอำนาจหรือไม่
ดร.อาร์ม:
 สหรัฐฯ คงไม่หายไปไหน เพราะสหรัฐฯ มีความได้เปรียบหลายเรื่อง สหรัฐฯ มีความได้เปรียบในเชิงที่ตั้ง สามารถออกทะเล 2 ฝั่งได้ และสหรัฐฯ เองก็ยังมีความเข้มแข็งมากในเรื่องการทหาร ขณะที่เทคโนโลยี AI สหรัฐฯ ก็ยังเป็นอันดับ 1 อยู่ ที่สำคัญทุกคนก็ต้องใช้ดอลล่าร์สหรัฐฯ เพราะยังเป็นสกุลเงินหลักของโลก

เพียงแต่ว่า ภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศกำลังจะเปลี่ยนไป คือ ไม่ใช่สหรัฐฯ ใหญ่อยู่คนเดียวอีกแล้ว แต่จะเป็นยุคของโลกหลายขั้ว จะมีมหาอำนาจอื่นขึ้นมาท้าทายและขอร่วมเล่นบทผู้นำด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “จีน”

GM: อาจารย์คิดว่าจีนจะไม่ใช่แค่ม้าตีนต้น เพราะตอนนี้จีนเองก็ถูกกดดันมาก เช่น สงครามการค้า
ดร.อาร์ม: 
ผมเชื่อว่าจีนยังเติบโตได้อีก จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะนโยบายใหม่ๆ ที่จะทำให้มีผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมเกิดขึ้นอีกมากมาย วันนี้ภาพการเมืองระหว่างประเทศยังดูฝุ่นตลบอยู่ สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เหมือนเป็นลูกบ้าของ โดนัลด์ ทรัมป์

ตอนนี้ไปดูที่สหรัฐฯ นักวิชาการส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับการทำสงครามการค้า ดังนั้น นี่จึงเป็นนโยบายที่มีความไม่แน่นอนสูง และไม่รู้ว่าทรัมป์จะอยู่ได้นานแค่ไหน แล้วอีกประเด็นหนึ่งคือเขาจริงจังกับเรื่องสงครามการค้ามากน้อยเพียงใด เขาต้องการอะไรกันแน่จากสงครามการค้า เช่น เป็นแค่การปลุกกระแสชาตินิยมในสหรัฐฯ เพื่อทำให้เขาชนะมิดเทอม แต่พอหลังมิดเทอม ก็อาจจะผ่อนคลายลงหรือเปล่า

บางคนก็บอกว่า ทรัมป์ ต้องการใช้สงครามการค้ามาบีบจีน เพื่อกดดันให้จีนยอมโอนอ่อนในเรื่องอื่นๆ เช่นยอมเปิดภาคธุรกิจบางประเภทที่ตอนนี้จีนยังกีดกันต่างชาติ หรือกดดันให้จีนยอมปฏิรูปกฎเกณฑ์เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนผลโดยตรงที่เราเห็นจากสงครามการค้า ก็คือ ทุนจีนจะออกไปต่างประเทศมากขึ้น เช่น ต้องมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ หรือมาหาฐานลูกค้าและผู้บริโภคกลุ่มใหม่แทนตลาดสหรัฐฯ เพื่อระบายสินค้า

GM: ไทยเราจะได้หรือเสียจากสงครามของสองยักษ์
ดร.อาร์ม: 
อยู่ที่ว่าเป็นเซ็คเตอร์ไหน ภาพผลกระทบจะค่อนข้างซับซ้อน อย่างธุรกิจไทยที่ผลิตชิ้นส่วนและส่งไปประกอบที่จีน เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ก็จะได้รับผลกระทบ ส่วนธุรกิจไทยกลุ่มไหนที่แข่งกับธุรกิจจีน ถ้าส่งออกไปสหรัฐฯ ก็จะได้ประโยชน์ เพราะธุรกิจไทยย่อมจะส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้น เพราะจีนกำลังโดนภาษีที่ทำให้สินค้าแพงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะมีนักลงทุนจีนสนใจมาลงทุนสร้างฐานการผลิตในไทยหรือร่วมมือกับอุตสาหกรรมไทยมากขึ้น ส่วนเศรษฐกิจโลกโดยรวมก็จะมีความผันผวนมากขึ้นเช่นกัน

GM: มีอะไรแนะนำคนไทยที่อาจสนใจไปลงทุนที่จีน
ดร.อาร์ม:
 สมัยก่อนเคยมีคนบอกว่าเราไม่ควรมองจีนเป็นหนึ่งประเทศด้วยซ้ำ เราควรมองแต่ละมณฑลของจีนเหมือนเป็นหนึ่งประเทศ ผมคิดว่า คนไทยที่สนใจจะไปลงทุนที่จีนต้องเข้าใจจีนในรายละเอียดมากขึ้นกว่าความเข้าใจกว้างๆ และต้องเตรียมใจเลยว่า ตลาดจีนไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่แค่ไทยคนเดียวที่สนใจ คนอีกไม่รู้กี่สิบชาติที่สนใจจะไปแข่งในตลาดนี้ ขณะเดียวกันแค่คนจีนกันเองก็ไม่รู้กี่คู่แข่งแล้ว อีกเรื่องที่ต้องระวังก็คือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ยิ่งสินค้าหลายอย่างของไทยเป็นสินค้าที่เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน ก็มีโอกาสจะถูกลอกเลียนแบบได้ง่าย สมัยก่อนจะมีคำพูดติดตลกว่า ของส่งไปขายที่จีนขายได้ไม่ถึงอาทิตย์ก็จะมีของจีนมาวางขายคู่กันแล้ว

GM: แสดงว่าภาพสวยๆ ที่ว่าทำอะไรไปขายคนจีนยังไงก็ขายได้ ไม่ใช่เรื่องจริง
ดร.อาร์ม: 
ผมอยากให้มองและคิดอย่างรอบคอบมากกว่า ไม่มีอะไรที่ง่ายในตลาดจีน แต่ถ้าประสบความสำเร็จ คุณก็รวยเลยนะ ผมแค่อยากจะเตือนว่ามันไม่ใช่ตลาดที่หมู เป็นตลาดที่ล้มช้างมาแล้วหลายตัว แต่ว่าเราไม่ได้มองว่ามันไม่มีโอกาส ในขณะเดียวกัน ถ้ามองกลับมาในไทย นักลงทุนจีนเองก็จะมาลงทุนที่ไทยมากขึ้น แต่จะทำอย่างไรที่เราจะสามารถร่วมมือกับเขา หรือว่าสิ่งที่เขามีเทคโนโลยีเหนือกว่า ทำอย่างไรที่เราจะเรียนรู้เทคโนโลยีจากเขาได้

“โอกาสจากการบริโภคของจีนมีมาก เพราะรายได้ของคนในประเทศเพิ่มสูงขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า อะไรที่ไทยส่งไปขาย จะได้รับการตอบรับทั้งหมด ภาพสวยๆ แบบนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นจริงในยุคที่จีนเนื้อหอมหรอกครับ” 

GM: ในอนาคตความสัมพันธ์ไทย-จีน จะมีผลต่อการเชื่อมโยงเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่านี้ได้แค่ไหน
ดร.อาร์ม: 
ในส่วนของประเทศไทย ในแผนยุทธศาสตร์เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) น่าจะเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่สามารถเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมจีน Made in China 2025 ได้ โดยไทยวางแผนให้อุตสาหกรรมใน EEC สามารถเชื่อมหรือเสริมกับอุตสาหกรรมในจีนได้ เช่น พวกอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคและยานยนตร์แบบใหม่ แต่โครงการ EEC จะทำได้สำเร็จแค่ไหน ก็ต้องติดตามกันต่อไป เพราะตอนนี้ก็มีความท้าทายมากเหมือนกัน เช่น ราคาที่ดินที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ห่วงโซ่การผลิตมีความเชื่อมโยงในพื้นที่แค่ไหน ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

GM: ตอนนี้อาจารย์ได้เขียนหนังสือขายดีในชื่อ China 5.0 หนังสือเล่มนี้มีสาระสำคัญอะไร
ดร.อาร์ม:
 หนังสือ China 5.0 ต้องการเน้นเรื่องจีนภายใต้การนำของผู้นำรุ่นที่ 5 และจีนที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเทคโนโลยี AI ผมต้องการฉายภาพจีนร่วมสมัย และเชื่อมโยงมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ด้านการเมืองนั้น สี จิ้นผิงกลับมาเดินหน้ารวบอำนาจ ซึ่งเหตุผลหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจในยุคใหม่ ที่อุปสรรคในการปฏิรูปคือกลุ่มผลประโยชน์ รัฐบาลท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจท้องถิ่นที่มีการผลิตเกินตัวและก่อหนี้มหาศาล ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีในภาคเศรษฐกิจใหม่ ก็จะกลับมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตรอบใหม่ และก็ช่วยตอบโจทย์ด้านการเมืองในเรื่องควบคุมสังคมและวางแผนนโยบายด้วย

GM: แอบชี้นำทิศทางใดเพื่อประเทศไทยบ้างหรือเปล่า
ดร.อาร์ม: 
จริงๆ แล้วถ้าถามว่าอะไรเป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ ผมไม่ได้ชี้นำอะไรเลย (หัวเราะ) หนังสือเล่มนี้พยายามที่จะนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้าน ทั้งส่วนที่เป็นความสำเร็จของจีน และความท้าทายของจีนต่อจากนี้ โดยเฉพาะจากมุมมองของจีนฝ่ายหัวก้าวหน้าและจีนฝ่ายอนุรักษ์นิยม และพยายามชวนทำความเข้าใจบริบทร่วมสมัยของจีน

ส่วนประเทศไทยจะเดินอย่างไร เป็นทางเลือกของเรา หลายอย่างเราก็อปปี้โมเดลการพัฒนาของจีนไม่ได้ เพราะบริบทของประเทศเราต่างกับเขามาก หลายอย่างเราเรียนรู้จากเขาได้ เพราะเป็นประเทศกำลังพัฒนาเหมือนกัน แต่ที่สำคัญที่สุด ผมอยากชวนให้ทุกคนเริ่มคิดว่า เราจะอยู่ร่วมกับจีนอย่างไร เรารับมือเขาไม่ได้หรอกนะครับ ถ้าเราไม่เข้าใจเขาเลย…

นักเขียน : โชติ เวสสวานิกูล
ช่างภาพ : ดำรงฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม
Update : 10 Oct 2018

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ