fbpx

ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล Behind The Scene ! กับ 10 คำถามที่ไม่เคยตอบ

หากพูดถึงวงการภาพยนตร์ไทย เชื่อว่าชื่อของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ต้องติดอยู่ในใจของใครหลายคนจากการทำงานอย่างต่อเนื่องกว่า 50 ปี และหากการออกศึกของพระนเรศวรเต็มไปด้วยอุปสรรค ดูเหมือนการทำหนังเรื่องนี้ของท่านมุ้ยก็ดูไม่แตกต่างกันมากนัก มีคำวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับตัวหนังและผู้สร้างตลอดระยะเวลา 5 ปี ทั้งเรื่องของเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์ รวมถึงข้อสงสัยต่องบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและหากคุณเป็นหนึ่งในผู้ชมที่มีข้อสงสัยกับเรื่องเหล่านี้ นี่คือ 10 คำตอบจาก ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล

1.GM : หลายคนวิจารณ์ว่า การสร้างภาพยนตร์ของท่านในระยะหลัง ไม่ว่าจะเป็นสุริโยไทหรือพระนเรศวรเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นกระแส ‘ชาตินิยม’ ท่านมองอย่างไร
ม.จ.ชาตรีเฉลิม :
 สำหรับตัวผม แค่อยากให้คุณไปดูหนังผม แล้วชอบหรือไม่ชอบ ก็พอแล้ว ส่วนเรื่องชาตินิยมหรือไม่นั้น ผมคิดว่ามันไม่มีความสำคัญกับผมเท่าไหร่ ดูอย่างเมื่อก่อนสิ ถนนทั้งสายจะโล่งไปหมดเวลาเขาทรายจะขึ้นชกแต่ละที หรืออย่างตอนนี้ทุกคนก็แทบจะหยุดทำทุกอย่างหมดเพื่อมาดูคนไทยกับคนจีนตบกัน หมายถึงวอลเลย์บอลนะครับ (หัวเราะ) พอคนไทยชนะที น้ำตาไหลพรากเลยก็มี นี่ก็คือชาตินิยม ผมไม่จำเป็นต้องทำหนังหรืออะไรเลย เพราะนี่มันก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชาตินิยมได้ง่ายที่สุดแล้วส่วนจุดประสงค์จริงๆ ของหนัง คือกระตุ้นให้คนสนใจประวัติศาสตร์ ความสำเร็จของหนังคือทำให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ในประวัติศาสตร์ของประเทศ

เวลามีคนสงสัยว่าท่านมุ้ยผิดเว้ย ผมจะคิดตลอดว่า เออ… คุณถูก ที่คุณคิดว่าผมผิด แต่คุณก็ต้องไปหามาว่าผมผิดตรงไหน แล้วคุณก็จะได้รู้ประวัติศาสตร์เพิ่มมากขึ้น แล้ววันหนึ่ง เขาก็จะมาโต้เถียงว่าท่านมุ้ยผิดอย่างนี้ความจริงต้องเป็นอย่างนี้ ผมก็จะโอเค ดีมาก คุณถูก แต่ผมชนะ ผมได้รับชัยชนะตามที่ผมตั้งเป้าไว้แล้ว

เมื่อก่อนเวลาเขียนตำราประวัติศาสตร์มีคนอ่านสักกี่คน ห้าหกร้อยคน พันคน มีไม่กี่คนหรอกที่อ่าน แต่พอผมทำหนังออกมาแค่วันเดียว ผมมีคนดูเป็นล้านแล้วมันทำให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ แต่ก่อนคุณเคยรู้จักหรือเปล่าว่าใครคือพระชัยราชา ใครคือพระมหาจักร-พรรดิ ใครคือพระมหาธรรมราชา แต่ตอนนี้คุณคุยได้สบายเลยว่าใครคือเลอขิ่น ใครคือมณีจันทร์ ใครคือ พระราชมนู ใครคือพระศรีถมอรัตน์ ตอนนี้คุณพูดได้คล่องปาก มันคือบางอย่างที่คุณได้จากการดูหนัง ส่วนเรื่องที่ตั้งชื่อเป็นตำนานก็ไม่ได้ต้องการจะสะท้อนอะไร ที่ตั้งอย่างนั้นเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด ผมไม่ต้องการให้คนดูเข้าไปแล้วคิดว่าทุกอย่างในหนังของผมเป็นเรื่องจริงทั้งหมด แต่มันเป็นการเล่าเรื่องในลักษณะของการเป็นเรื่องเล่ามากกว่าเท่านั้นเอง

2.GM : ในภาคสุดท้ายของตำนานสมเด็จพระ-นเรศวร มีประเด็นเกี่ยวกับความรักความผูกพันเข้ามาเยอะมาก เป็นเพราะคำวิพากษ์วิจารณ์จากภาคที่แล้วที่มีแต่ฉากต่อสู้มากเกินไปหรือไม่
ม.จ.ชาตรีเฉลิม : 
มันมีอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น บทมันวางมาไว้อย่างนี้ว่า ภาคนี้ต้องพูดถึงตรงนี้ อย่างในภาค 3 ถึงภาค 5 เราถ่ายทำพร้อมกันแทบทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเรามาเขียนทีละภาคๆ เราเขียนรวดเดียวจบเลย 5 ภาค ไม่ใช่มัวมารอแต่ดูเสียงตอบรับแล้วค่อยมาแก้ทีละภาคๆ แบบนี้มีหวังไม่ต้องสร้างหนังกันพอดี

แล้วการที่เราพูดถึงเรื่องภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวร ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องพูดถึงแต่เรื่องการรบกันอย่างเดียว มันยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจและควรพูดถึง หากคุณดูตั้งแต่ภาคแรกถึงภาคนี้ ก็จะรู้ว่าหนังทั้งเรื่องมันขึ้นอยู่กับคน 5 คนเท่านั้น คือ พระนเรศวร มณีจันทร์ พระราช-มนู มหาเถรคันฉ่อง พอภาค 2 ก็จะมีเลอขิ่นเพิ่มเข้ามา แต่ตัวหลักๆ มีประมาณนี้เท่านั้น เป็นชีวิตของคนสี่ห้าคน ที่จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในหนัง ส่วนเรื่องที่เน้นไปที่ความรักความผูกพันกับคนรอบข้าง มันก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าที่จริงแล้วท่านก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ใช่ว่าจะต้องรบราฆ่าฟันกันอย่างเดียว

GM : คิดว่าประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในหนังของท่านบิดเบือนไปจากความจริงมากน้อยเพียงใด

ม.จ.ชาตรีเฉลิม : ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ความจริงทางประวัติศาสตร์มันไม่มีอยู่แล้ว เพราะประวัติศาสตร์อยู่ที่การตีความ การศึกษาประวัติ-ศาสตร์เหมือนการอ่านหนังสือ แต่ละคนจะมีความคิดความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นพอมาทำเรื่องพระนเรศวร ผมก็มองในมุมของผม หลายคนก็มองอีกมุมนึง บางคนก็เขียนวิจารณ์ออกมายืดยาวเลย แล้วก็บอกว่าเอาจากพงศาวดารฉบับนี้ แต่พงศาวดารก็มีอยู่หลายฉบับ บางฉบับกล่าวถึงเรื่องเดียวกันแต่ก็มีจุดที่ไม่ค่อยตรงกัน เราไม่อยากจะเถียงกันเรื่องนี้ ก็บอกแล้วว่าเรื่องนี้มันเป็น ‘ตำนาน’ แล้วผมก็ทำมันออกมาอย่างที่ผมต้องการ โดยตีความจากที่เก็บรวบรวมข้อมูลไว้ มาผสมกับจินตนาการของผมในแต่ละฉาก ซึ่งไอ้เรื่องจินตนาการเป็นสิ่งสำคัญมากนะในการสร้างหนัง มันต้องเอามาใช้ประกอบกับความจริงด้วย เรามีบทเรียนจากภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เราพยายามทำหนังแล้วก็ยึดหลักตาม ประวัติศาสตร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

3.GM : มีวิธีการปรับสมดุลระหว่างความจริงกับจินตนาการอย่างไร
ม.จ.ชาตรีเฉลิม :
 จินตนาการต้องยืนอยู่บนความเป็นไปได้ แล้วก็ต้องอาศัยการสืบค้นข้อมูลอย่างหนัก เพื่อให้มีพื้นฐานในการต่อยอด เป็นจินตนาการที่ยืนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ซึ่งในหนังผมและทีมก็ได้ทำการค้นคว้าข้อมูลอย่างหนักมาก มีการเก็บรวบรวมข้อมูลมาเป็นสิบปี เปิดดูจากพงศาวดารแทบทุกเล่มเท่าที่พอจะหาได้ ที่สำคัญคือ ต้องไปดูให้เห็นถึงสถานที่จริง ผมกล้าพูดได้เลยว่าผมเป็นเพียงคนเดียวที่ไปในทุกๆ ที่ที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จฯ ตั้งแต่ท่านประสูติถึงสวรรคต ไปแม้กระทั่งสถานที่ที่ท่านเคยเดินทัพ รับรองได้เลยว่าไม่มีนักประวัติศาสตร์ในไทยหรือในพม่า หรือที่ไหนก็ตาม เคยเดินทางไปตามรอยท่านจริงๆ แบบนี้มาก่อน ทั้งฝั่งมอญ ฝั่งพม่า พื้นที่อันตรายหรือลำบากแค่ไหน ผมก็ไปมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นทั้งสองอย่างนี้มันจึงต้องไปด้วยกัน

4.GM : เหตุใดหนังเรื่องพระนเรศวรจึงมีถึง 5 ภาค ทั้งๆ ที่ตอนแรกมีข่าวว่าจะทำเพียง 2 ภาคเท่านั้น
ม.จ.ชาตรีเฉลิม : 
ผมวางแผนมาตั้งแต่แรกแล้วว่าจะต้องมี 5 ภาค แต่คุณต้องเข้าใจว่าคนสร้างคือคนสร้าง คนประชาสัมพันธ์คือคนประชาสัมพันธ์ มันคนละเรื่องกัน ฝ่ายที่ประชาสัมพันธ์เขาอาจจะคิดว่ามีแค่นั้น ซึ่งก็ไม่เคยถามผมสักคำ มันก็เลยออกมาอย่างที่เห็น

5.GM : นอกเหนือจาก ‘ความจริง’ ทางประวัติ-ศาสตร์ในหนังที่ถูกพูดถึงกันมาก อีกเรื่องที่คนให้ความสนใจกันมากคงหนีไม่พ้นเรื่องของงบประมาณสนับสนุนจำนวนมหาศาลที่ได้จากรัฐบาลว่า ‘ความจริง’ เป็นอย่างไร
ม.จ.ชาตรีเฉลิม :
 เรื่องนี้ผมไม่อยากพูดเท่าไหร่ ถ้าให้พูดจริงๆ มันจะยาวมาก แล้วมันก็จะกระทบกับหลายฝ่าย และถ้าผมคิดจะพูดผมก็พูดออกมาตั้งแต่วันแรกที่มีปัญหากันแล้ว แต่ผมก็เลือกที่จะไม่พูดดีกว่า ไม่อยากไปต่อสู้ ไปโต้เถียงด้วย แต่ถ้าจะให้ตอบก็คือ ทุนที่ผมเอามาทำหนัง ผมต้องคืนเขา คนอื่นไม่ต้องคืน จะกี่ร้อยกี่ล้าน ผมต้องคืนหมด แล้วก็เป็นเพราะผมเดินเข้าไปขอเขา ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีคนทำหนังคนไหนเดินเข้าไปหาท่านนายกฯ แล้วก็บอกว่าผมขอเงินทำหนังแต่ผมเดินเข้าไปเลย ที่มีเสียงออกมาส่วนใหญ่ก็จะออกมาบอกว่าผมได้อย่างเดียว มีใครพูดบ้างหรือเปล่าล่ะ ว่าผมต้องคืนที่ได้มาทั้งหมดเลยน่ะ แม้แต่กำไรผมก็ต้องคืนให้ด้วยซ้ำ (หัวเราะ)

6.GM : ท่านมุ้ยมองอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยตอนนี้อย่างไร เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นช่วยพัฒนาธุรกิจนี้ให้เติบโตขึ้นอย่างไรบ้าง
ม.จ.ชาตรีเฉลิม :
 ยุคนี้เป็นยุคของดิจิตอล ดิจิตอลช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการผลิตหนังสักเรื่องหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน บางทีมันอาจเป็นการทำลายหนังไทยเหมือนกับสมัยที่เปลี่ยนจากฟิล์ม 35 มม. มาเป็นฟิล์ม 16 มม. แล้วก็มีคนหันมาสร้างหนังกันเยอะมาก จนเหมือนเน้นไปที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ ผมคิดว่าช่วงเวลานั้นมันอาจจะกลับมาอีกก็เป็นได้ เพราะสมัยนี้ใครๆ ก็ทำหนังกันได้ ถ่ายเสร็จ ตัดต่อเสร็จก็ฉายได้เลย ในตลาดก็จะมีหนังไทยเต็มไปหมด มันอาจจะทำให้คนเอียนหนังไทยไปเลยก็ได้ เพราะต้องการทำกำไรแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีการคัดกรองคุณภาพเท่าที่ควร ผมคิดว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่ง แต่คนทำต้องมีฝีมือเป็นหลักสำคัญ คิดง่ายๆ เลย คุณหากระดาษกับปากกา แล้วคุณลองนั่งเขียนเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง แล้วเขียนออกมาให้ดีเหมือนที่พนมเทียนเขียน ให้เหมือนทมยันตี ทำได้หรือเปล่า ปัญหาคือมันไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ มันอยู่ที่ฝีมือมากกว่า

นักเขียน : ณัฐนันท์ เฉลิมพนัส
ช่างภาพ : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์
Update : 15 Nov 2018

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ