fbpx

บอย-วิสูตร แสงอรุณเลิศ

YEAR, ME, BEGINNING

การเปลี่ยนแปลงของโลกรอบตัวที่หมุนไวไปอย่างพลิกแพลง ทำให้วิถีของมนุษย์ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงในหลายมิติ ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และเรื่องราวต่างๆ เราได้ส่งผ่านเคลื่อนไหลรวดเร็วส่งต่อกันราวมหาสมุทรของเครือข่าย

ความต้องการชีวิตรูปแบบใหม่ได้อุบัติขึ้น ชีวิตที่มีเสรีภาพ อิสระหลุดพ้นจากความกลัว ความกังวล ความยากจน กลายเป็นเป้าหมายแห่งยุคสมัยของคนหนุ่มสาว

บอย-วิสูตร แสงอรุณเลิศ ผู้เขียนหนังสือชื่อ ‘งานไม่ประจำ ทำเงินกว่า’ หนังสือความคิดเกี่ยวกับชีวิตและการทำงานที่ว่าด้วยอิสระ การตอบรับของผู้อ่านมีอย่างล้นหลาม และหนังสือเล่มต่อมาก็ทยอยสู่ผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง แนวความคิดของเขาเป็นที่กล่าวถึง มีคนติดตาม Facebook ข้อคิดข้อเขียนของเขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเขาจัดคอร์สอบรมถ่ายทอดความรู้อย่าง ‘เขียนไม่กี่คำทำเงินกว่า’ ยิ่งได้รับความสนใจเพิ่มเข้าไปอีก และเขาได้ต่อยอดจัดงานสัมมนาที่มีผู้เข้าฟังจำนวนมาก

ความสนใจเหล่านี้สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านเหล่าวิทยากรรุ่นใหม่ มีโค้ช นักพูด นักสร้างแรงบันดาลใจ เกิดเป็นงานสัมมนามากมาย รวมถึงบนแผงหนังสือที่สามารถหาอ่านได้ง่ายๆ หนังสือชี้ทางรวย ทางหาเงิน หาแรงบันดาลใจ วางได้เต็มแผงไปหมด

ปรากฏการณ์ระดับนี้ สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะที่หลายคนกำลังงุนงง เมื่อเห็นคนอื่นๆ ทิ้งห่างออกไป

เกิดอะไรขึ้นกับสังคม…เกิดอะไรขึ้นภายในตัวเรา…คำถามก้องกังวานในหัว

GM คว้าเอาทุกความสงสัย ทุกคำถามต่อสังคมและคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ นำไปพูดคุยกับนักเขียนผู้สร้างแรงบันดาลใจที่มีคนสนใจมากที่สุดคนหนึ่งในเวลานี้

Understanding The Phenomenon

GM : ช่วงนี้เกิดอะไรขึ้นในสังคมของเรา ทำไมผู้คนหันมาสนใจเข้าสัมมนาพัฒนาตัวเองกันมากขึ้น

วิสูตร : วันก่อนผมเพิ่งคุยเรื่องนี้กับคุณหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ Money Coach เขาเป็นวิทยากรที่มีลูกศิษย์ทั่วประเทศ เราคุยกันเรื่องที่สัมมนากลายเป็นปรากฏการณ์ คุณหนุ่มบอกว่าสาเหตุก็เพราะเราเริ่มรู้แล้วว่าสิ่งที่เราเรียนๆ กันมา มันใช้ในโลกจริงไม่ได้ หรือต่อให้ใช้ได้ ก็ต้องมาเรียนรู้ของจริงตอนทำงานอีกที ซึ่งมันไม่ทันใช้งาน แต่การเรียนรู้จากสัมมนาจะบอกเลยว่าความรู้นี้เอาไปใช้อย่างไรให้เกิดผลลัพธ์ ประกอบกับในยุคนี้ เด็กรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จกันเร็วมาก บางคนอายุยี่สิบกว่า มีรายได้เดือนละเป็นแสน ผู้ใหญ่ที่ทำงานมานานก็เลยสงสัยว่าเด็กพวกนี้ทำไมก้าวหน้ากว่าเรา พอไปสืบค้นดูก็พบว่าบางคนขายของออนไลน์ บางคนทำยูทูบแล้วมีรายได้จากโฆษณา ก็เลยเริ่มสนใจว่าความรู้พวกนี้เขาไปเรียนกันที่ไหน ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะยุคนี้ เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต โลกหมุนเร็ว สัมมนาก็คือการเรียนพิเศษของผู้ใหญ่ เหมือนเด็กๆ ที่เขาเรียนพิเศษกันมาตั้งนานแล้ว

GM : นึกว่างานสัมมนามีแต่พวกปลุกพลัง ล้างสมอง หลอกขายของ มากกว่าจะเป็นเรื่องความรู้

วิสูตร :  งานสัมมนามีหลายรูปแบบ อย่างสัมมนาสอนขายของออนไลน์ ก็ไม่มีมาเย้วๆ หรือสอนทำ Google Adword จะให้มาปลุกพลังก็คงจะไม่ใช่ หรืออย่างของผมเอง สอนเขียนหนังสือ สอนทำธุรกิจความรู้ ที่เรียกว่า Info Business ก็ไม่ต้องมาปลุกพลัง ส่วนสาเหตุที่หลายๆ คนมองสัมมนาในแง่ลบ ผมคิดว่าเราน่าจะติดมาจากภาพของธุรกิจขายตรง ที่ต้องเน้นการปลุกพลัง เพราะคนเหล่านั้นเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่จัดสัมมนา โค้ชบางคนชอบชวนมาฟังเย้วๆ กันในห้องสัมมนา เขาน่าจะติดภาพจำมาจาก แอนโทนี่ ร็อบบินส์ สัมมนาของเขาคือการปลุกพลังในตัวเรา เพราะฉะนั้นก็เลยต้องเย้วๆ ลูกค้าของเขาระดับนักธุรกิจ นักการเมือง มหาเศรษฐี คนพวกนี้ไม่โง่ให้หลอกหรอกครับ แต่แน่นอน ภาพที่คนเห็นและตัดสินไปก่อนก็คือเปลือก เห็นเย้วๆ ก็คงคิดว่าทั้งงานมีแค่นี้ โดยยังไม่เคยได้ดูเนื้อหาข้างในเลย

GM : นอกจากปรากฏการณ์งานสัมมนาแล้ว ยังมีปรากฏการณ์ของโค้ช เทรนเนอร์ วิทยากร คนหน้าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างง่ายๆ และรวดเร็ว กระทั่งมีคอร์สสัมมนาสอนคนให้เป็นเทรนเนอร์ด้วยซ้ำ มันฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ

วิสูตร : ข้อแรก คอร์สที่สอนให้คนไปเป็นโค้ชอีกที คุณบอกว่ามันดูแปลกๆ คำถามของผมก็คือ แล้วสถาบันราชภัฏต่างๆ ไม่ใช่สอนคนให้จบไปเป็นครูเหรอครับ ผมคิดว่าเบื้องหลังของคำถามแบบนี้ก็คืออคติ บางคนรู้สึกไม่ดีกับสัมมนา ก็เลยไปตั้งแง่ว่าเหมือนการทำนาบนหลังคนไปเรื่อยๆ ทั้งที่จริงๆ คอร์สสัมมนาแบบนี้ก็เหมือนวิทยาลัยครูนั่นแหละ เขาสอนทักษะการสอน เพราะไม่ใช่ว่าคนที่เก่งเรื่องอะไร จะเอาไปสอนคนอื่นได้ดี เรื่องแบบนี้มันต้องฝึก

ข้อสอง ที่ถามว่ามันง่ายขนาดว่าใครก็เป็นโค้ชได้อย่างงั้นเลยหรือ คำตอบก็คือ ไม่ง่ายเลยครับ ศาสตร์ของการเป็นเทรนเนอร์หรือโค้ชมีอยู่จริง แต่ทุกวงการย่อมมีทั้งคนเก่ง คนไม่เก่ง มืออาชีพ มือสมัครเล่น และที่สำคัญที่สุด มีทั้งคนแบบที่เราชอบและไม่ชอบ ถ้าเราไม่ชอบ ทุกอย่างก็จบ ไม่ว่าโค้ชคนนั้นจะสอนเก่งแค่ไหน จะเป็นคนดีแค่ไหน ถ้าไม่ถูกจริตเรา ก็จบ

ในต่างประเทศมีมานานแล้ว สัมมนาที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ผมบอกได้เลยว่านี่เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ยังไม่มีสัมมนาแบบนี้เท่าไรเลย เพราะฉะนั้น อะไรที่เพิ่งเริ่ม สังคมก็เลยไม่เข้าใจ และสงสัยว่าจะดีเหรอ เรื่องพวกนี้ผมเข้าใจดีเลยครับ เพราะเคยอยู่ฝั่งของคนที่คิดแบบนี้มาก่อน เมื่อก่อนผมคิดว่าคนที่อ่านหนังสือพัฒนาตัวเอง พวกนี้โง่ ถูกหลอกขายหนังสือ โอ้โฮ! อ่านความคิดคนรวย แล้วจะไปรวยได้ไง มีแต่ไอ้คนเขียนนั่นแหละที่รวยจากการขายหนังสือ มึงถูกหลอกแล้ว ยังไม่รู้ตัวอีก

แต่แล้วช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผมตกหลุมดำย่ำแย่ ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือแนวนี้ แล้วลองเอาไปทำตาม ชีวิตกลับดีขึ้นเรื่อยๆ ไอ้ที่เคยสบประมาทไว้ พอมาอ่านดูวันนี้ เฮ้ย! เวิร์กว่ะ ใช้ได้ วันนั้นผมรู้สึกเหมือน บรูซ วิลลิส ในหนังเรื่อง The Sixth Sense (1999) ที่เฝ้ามองว่าคนอื่นเป็นผี แต่ตัวเองนั่นแหละที่เป็นผีเอง ผมได้บทเรียนว่า บางทีตอนที่เราคิดว่าเราฉลาดอยู่คนเดียว แล้วคนอื่นโง่ มันอาจจะแปลว่าเป็นเราเองที่โง่อยู่คนเดียวก็ได้

เมื่อสิบกว่าปีก่อน มีเพลงของวงดนตรีสังกัดไมล์สโตน ของ พี่ซัน-มาโนช พุฒตาล ชื่อวงว่า Wild Seed ผมยังจำเนื้อเพลงได้จนทุกวันนี้ เขาร้องว่า ‘สิ่งที่คุณชอบ มันจึงใช่และถูก สิ่งที่คุณไม่ชอบ มันจึงไม่ใช่และผิด’ ผมฟังแล้ว เฮ้ย! ใช่เลย มนุษย์เราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ถ้าเราชอบ เราก็บอกว่ามันถูก หรืออย่างเพลง ‘รู้สึกสบายดี’ ของเฉลียง พี่จิก-ประภาส ชลศรานนท์ แต่งท่อนหนึ่งว่า ‘คนเรียกคนดี ติดที่เขาเอาใจใคร’ สรุปว่าคนไหนถูกใจเรา เราก็เรียกว่าเขาคือคนดี เราตัดสิน

ทุกอย่างจากตัวเราเป็นที่ตั้งเสมอ พอเราคิดว่าพวกสัมมนา พวกหนังสือฮาวทู มันเป็นของปลอม เราก็จะหาหลักฐานที่สอดคล้องกับสิ่งที่เราเชื่อ ซึ่งถ้าเราหา ก็จะเจออยู่แล้วละครับ

ความรู้สึกต่อต้านแบบนี้เป็นกันทั้งโลก ผมเพิ่งรู้เรื่องนี้จากคุณบัณฑิต อึ้งรังษี เขาเคยบอกผม คำว่า Motivational Speaker หรือนักสร้างแรงบันดาลใจ แบบที่ผมใช้เรียกตัวเอง ในเมืองนอกเขารู้สึกอีเดียทกับคำนี้ กับคนทำอาชีพนี้ รู้สึกว่าหลอกลวง ซึ่งก็น่าจะจริง ขนาดซีรีส์เรื่อง Dexter พระเอกเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ทุกตอนก็จะต้องออกไปฆ่าคนเลว มีอยู่ตอนหนึ่ง คนที่พระเอกต้องไปฆ่า ก็คือ Motivational Speaker (หัวเราะ)

GM : การเข้าไปในห้องสัมมนา แล้วตะโกน ‘สุดยอด’ ให้กัน ส่งยิ้มให้กัน จับมือคนข้างๆ ทักทายเพื่อนใหม่ สามารถเปลี่ยนชีวิตผู้คนได้เชียวหรือ

วิสูตร : ถ้าทำแค่นี้แล้วชีวิตเปลี่ยนได้เลย ผมว่างานสัมมนาคงจะขายดีกว่านี้อีก (หัวเราะ) อย่างที่บอกไงว่าสัมมนานั้นมีหลากหลาย มันไม่ใช่แค่การมาตะโกนว่าสุดยอด ระดับของผลลัพธ์ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและเวลาในการเรียนด้วย ถ้าคุณมาฟังสัมมนาแค่ 2-3 ชั่วโมง ก็ได้แค่หลักการบางอย่าง แต่ถ้าคุณเข้าสัมมนาแบบ 5-6 วัน มีเวิร์กช็อปให้ลองทำ เป็นเหมือนภาพร่างไอเดียที่จะนำไปใช้จริงหลังออกจากห้องสัมมนาไปแล้ว

หลายคนคาดหวังว่าพอเรียนแล้ว ฉันจะต้องกลายเป็นอีกคนในทันที ซึ่งไม่จริงหรอกครับ ใครจะไปทำได้ ผมเองก็ทำแบบนั้นไม่ได้ อย่างคอร์สสอนเขียนหนังสือ ผมจะบอกทุกคนว่า 2 วันที่คุณเรียนจบไป ยังไงๆ ก็ยังเขียนไม่เก่งหรอกนะ สิ่งที่ผมให้ก็คือประสบการณ์เป็นสิบปีที่ได้เรียนรู้ ผมจะเล่าให้ฟังใน 2 วัน นั่นเท่ากับคุณประหยัดเวลา ผมจะบอกแหล่งทรัพยากร แหล่งข้อมูล มีตรงไหนบ้างที่คุณจะต้องไปเรียนรู้ต่อ ไปฝึกฝนต่อ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับคุณ พอพูดแบบนี้ บางคนก็บอกว่า อ้าว! งั้นเข้าข่ายหลอกลวงหรือเปล่า เพราะคนเรียนกับผม ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ออกหนังสือกันทุกคน แต่ผมถามหน่อย ว่าตอนเรียนหนังสือจบมหาวิทยาลัย มีที่ไหนการันตีไหมว่าทุกคนจะมีชีวิตดี๊ดี ร่ำรวยกันหมด มีงานดีๆ มีตำแหน่งดีๆ ทำ มันก็ไม่ใช่ นั่นเพราะคนที่ประสบความสำเร็จเป็นคนส่วนน้อยอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตที่ไม่ประสบสำเร็จในแบบที่เขาต้องการ ซึ่งทั้งหมดก็เพราะเขาไม่ลงมือทำ แค่นั้นเอง

GM : ในหนังสือเล่มหนึ่งของคุณ ที่ว่าด้วยเรื่องการตั้งเป้าหมาย แล้วในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ชีวิตของคุณเองเป็นอย่างไรบ้าง

วิสูตร : ได้อย่างที่ตั้งใจไว้ครับ แต่ต้องบอกก่อนว่าทุกเป้าหมายที่ผมตั้งไว้ มันก็ไม่ได้เป็นจริงทั้งหมด มีสำเร็จและไม่สำเร็จ ผมขอแค่สำเร็จเพียงหนึ่งอย่างก็สุดยอดแล้ว เพราะผมตั้งเป้าเหมือนยิงไปให้ถึงดวงจันทร์ เพราะฉะนั้น ต่อให้พลาดเป้า ก็ยังอยู่บนท้องฟ้า เช่น อยากมีรายได้เท่านี้ ผมก็ตั้งเป้ารายได้ให้โอเวอร์ไปเลย พอสุดท้ายก็ไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้หรอก แต่ตัวเลขผลประกอบการออกมา ก็ยังจะมากกว่าปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ปี 2558 หลายคนบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี สรุปก็คือต่อให้พลาดเป้า เราก็ยังมาได้ไกลกว่าเดิม อยากจะบอกว่าจริงๆ แล้ว การได้สัมภาษณ์ลง GM ก็เป็นเป้าหมายที่ผมเคยตั้งไว้นะ เพียงแต่พลาดไปนิด นึกว่าจะได้ลงปก (หัวเราะ)

GM : ใน Audiobook ของคุณ มีคำสอนให้พูดหน้ากระจก ยิ้มให้ตัวเอง ขอบคุณตัวเอง อยากให้คุณช่วยอธิบายเพิ่มเติมสักหน่อยว่ามันจะช่วยเราได้อย่างไร

วิสูตร : โจทย์มันเป็นอย่างนี้ครับ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเราทั้งหมด มันเริ่มจากว่าเรารักตัวเราเองแค่ไหน โลกข้างนอกที่เราเห็นนั้น แท้จริงแล้วก็คือภาพสะท้อนตัวเรา เราคิดว่าคนอื่นเป็นอย่างไร จริงๆ ก็คือเราคิดว่าตัวเราเป็นอย่างนั้นนั่นแหละ เราก็เลยคิดว่าคนอื่นน่าจะเป็นเหมือนเรา เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่รักตัวเอง เกลียดตัวเอง เราก็จะรู้สึกว่าโลกนี้มันแย่ ไม่น่าไว้ใจ ไม่ดีไปหมด เพราะมันคือกระจกที่สะท้อนตัวเรา การพูดหน้ากระจกก็คือการคุยกับตัวเอง เพื่อขุดออกมาให้เจอว่าตัวฉันมีดีเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งโดยปกติ เราคุยกับตัวเองตลอดเวลานั่นแหละ เพียงแต่ส่วนใหญ่เราคุยในเรื่องไม่ดี บ่น ว่าตัวเอง ดูถูกตัวเอง การขอบคุณหน้ากระจกจึงเหมือนการเรียกความเชื่อมั่นในตัวเองกลับมา เราจะได้รู้สึกรักตัวเองมากขึ้น เพราะเมื่อเรารักตัวเอง ก็มีแนวโน้มสูงว่า เราจะรักคนอื่นด้วย

มีช่วงหนึ่งของชีวิต ผมรู้สึกไม่รักตัวเองเลย เกลียดตัวเองมาก ผมมีความรู้สึกแบบนี้ตั้งแต่ตอนสมัยเรียน เพราะผมเรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ ผมชอบดนตรี แต่แม่อยากให้เรียนวิศวะ ก็เลยมีความทุกข์ทรมานมากในตอนนั้น พอมีความทุกข์ ก็ยิ่งเกลียดตัวเองขึ้นไปอีก รู้สึกตลอดเวลาว่าทำไมฉันจึงมีชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการไม่ได้ ตอนนั้นผมไม่เคยดูแลตัวเองเลย ไว้ผมยาวรุงรัง ไม่ตัดผมเป็นปีๆ ผมกลายเป็นคนคิดลบ ระแวงผู้คน ต่อต้านทุกสิ่ง จนกระทั่งถึงวัยทำงาน ไม่สามารถประกอบอาชีพนักแต่งเพลงที่ผมชอบได้ เพราะรายได้ไม่พอใช้ ผมต้องมาทำงานอีกหลายๆ งานเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดได้ แต่มันก็ไม่รอดอยู่ดี รายได้ผมน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ผมก็เกลียดตัวเองอีก ตอนนั้นผมพยายามเอาอะไรแย่ๆ มามอบให้ตัวเอง เหมือนจะตอกย้ำว่ามึงสมควรแล้วที่จะได้รับอะไรแย่ๆ แบบนี้ เช่น

ผมไม่ซื้อโต๊ะทำงาน แต่เอากล่องลังกระดาษมาคว่ำแล้วใช้แทนโต๊ะ ผมนอนที่นอนเก่าๆ ผ้าห่มก็ใช้มาเป็นสิบปีแล้ว เป็นผ้าห่มเก่าๆ ที่เพื่อนทิ้งไว้ ก็เลยเก็บมาใช้ ทั้งหมดที่ทำ ไม่ใช่ว่าไม่มีเงินซื้อนะ แต่ผมแค่รู้สึกเกลียดตัวเอง

ผมเพิ่งมาเข้าใจเรื่องนี้จากการอ่านหนังสือ เข้าสัมมนา ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากภายในของตัวเราก่อน เราต้องค้นให้เจอว่าเราติดป้ายบอกสรรพคุณตัวเองว่าอะไร ตอนนั้นผมติดป้ายให้ตัวเองว่าไอ้คนแพ้ มึงแย่แล้ว เห็นมั้ยแม่บอกให้เรียนวิศวะ มึงมันดื้อเอง พอปักป้ายตัวเองแบบนี้ มันก็เลยยิ่งแย่ไปใหญ่ เพราะเราจะเห็นแต่สิ่งที่เราอยากเห็น พอเรารู้สึกว่าชีวิตแย่ เราก็ยิ่งมองเห็นหลักฐานที่มาสนับสนุนว่า เออ…ชีวิตกูมันแย่จริงๆ ด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่ไสยศาสตร์ หรือกฎแรงดึงดูดอะไรอย่างนั้น แต่มันเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ คือเป็นจิตวิทยา สาเหตุที่เรามองเห็นแต่สิ่งที่เราอยากเห็น ก็เพราะขืนเราเห็นทุกอย่างชัดเจนเท่ากันไปหมด สมองคงแตกตาย เพราะมันทำงานหนักเกินไป สมองก็เลยต้องให้เราเลือกเห็นแต่สิ่งที่สำคัญ สิ่งที่เราอยากเห็น มันจะได้ทำงานน้อยลง จะได้ไม่ต้องประมวลผลเยอะ เพราะฉะนั้น การขอบคุณตัวเองจึงช่วยทำให้เราโฟกัสไปในสิ่งดีๆ ที่เคยทำมา พอมองหา เราก็จะมองเห็น แล้วโอกาสดีๆ คนดีๆ ก็จะเริ่มเข้ามา ไม่ใช่สิ ไม่ได้เข้ามา มันอยู่ที่นี่ ตรงนี้ตั้งนานแล้ว แต่เราไม่เห็นเอง

GM : หลายคนคงอยากลองทำตามที่คุณสอน แต่รู้สึกเขินตัวเอง ที่จะตื่นขึ้นมาส่องกระจกยิ้มให้ตัวเอง ขอบคุณตัวเอง

วิสูตร : ผมมีหนังในดวงใจอยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อ The Eighth Day พูดถึงเซลส์แมนคนหนึ่งที่กำลังเบื่อชีวิตตัวเองมาก สิ่งที่เขาต้องทำทุกวันก็คือยิ้มหน้ากระจก แสดงความมั่นใจว่าฉันทำได้ ตอนที่ผมดูฉากนี้ครั้งแรก รู้สึกเกลียดมันมาก เราต้องยิ้มหน้ากระจกด้วยเหรอวะ โคตรเฟคเลย จนวันที่ชีวิตผมมาถึงทางตัน ผมลองทำดู รู้สึกทุเรศตัวเองยังไงไม่รู้ แต่คุณเชื่อมั้ย ทำไปเรื่อยๆ มันก็เริ่มรู้สึกดีขึ้น (หัวเราะ) รู้สึกรักตัวเองมากขึ้น ผมมาเข้าใจเรื่องนี้ในภายหลัง เมื่อได้อ่านหนังสือชื่อ Beyond Positive Thinking เขียนโดย โรเบิร์ต แอนโธนี เขาบอกว่าการชมตัวเอง ไม่ได้ทำให้ตัวเราหลงตัวเอง แต่คือการปรับสู่สภาวะกึ่งกลาง เพราะอีโก้หรือตัวเราลึกๆ คอยแต่จะมีเสียงในหัวบอกเราเสมอว่ามึงมันห่วย ไม่ได้เรื่อง คนอย่างมึงก็ได้เท่านี้แหละ พูดง่ายๆ ว่าอีโก้จะกดตัวเราให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ การชมตัวเองจึงเหมือนเป็นการช่วยเติมพลังในทางบวก เพื่อไปหักล้างกับพลังทางลบนั่นเอง

ผมรู้ว่ามันฟังดูตลก แต่คำถามก็คือ ระหว่างพูดดีๆ กับตัวเองหน้ากระจก แล้วฟังดูตลก แต่อาจช่วยได้ กับอีกทางหนึ่ง มองหน้าตัวเอง แล้วคิดในใจว่ากูมันไอ้ขี้แพ้ จบเห่แน่ๆ แบบนี้ฟังดูไม่ตลก แต่คุณว่าแบบไหนน่าจะทำให้ชีวิตดีกว่ากันล่ะ สุดท้ายเราทุกคนต้องกลับมาเห็นคุณค่าของตัวเองก่อน หลายคนติดป้ายให้ตัวเองว่าฉันเป็นคนล้มเหลวในชีวิต ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาอาจจะล้มเหลวแค่ไม่กี่เรื่อง ที่ผ่านมามีเรื่องสำเร็จก็เยอะ แต่เราไปเหมารวมว่าฉันล้มเหลว ไปเอาอดีตมาตัดสินอนาคต ว่าอดีตเป็นอย่างไร อนาคตก็เป็นอย่างนั้น แบบนี้ก็ยิ่งแย่ไปใหญ่

บางคนบอกว่าชีวิตกำลังแย่ จะเอาอะไรมาขอบคุณ ผมบอกอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าคุณกำลังบ่นว่างานห่วย เจ้านายแย่ เงินเดือนก็น้อย แล้วฉันจะเอาอะไรมาขอบคุณ งั้นถ้าวันพรุ่งนี้คุณตกงานทันที คุณจะอยากได้งานห่วยๆ งานนี้ของคุณกลับมาไหม อยากแน่นอน ไม่งั้นจะเอาอะไรกิน ก็นี่ไง ทีนี้คุณก็แค่ขอบคุณที่วันนี้ยังมีงานอยู่

GM : ฝีไม้ลายมือในการเขียนหนังสือ คุณเอามาจากไหน คุณอ่านแต่หนังสือพวกฮาวทูอย่างเดียวเลยหรือเปล่า

วิสูตร : ตอนนั้นอาจจะเป็นเรื่องของช่วงวัย ผมอ่านหนังสือ แมกซิม กอร์กี อ่านหมด จริงๆ ดีนะที่ครั้งหนึ่งได้เรียนรู้มีประโยชน์ เชื่อว่าลายมือการเขียน วิธีคิดแบบนี้ได้อิทธิพลจากวรรณกรรม นวนิยาย เรื่องสั้น ทำให้เราต่างจากคนสายนี้ที่เขาน่าจะไม่เคยอ่าน แต่ต้องบอกก่อน ว่าคนวรรณกรรมกับคนฝั่งผม หรือเรียกว่าฝั่งฮาวทูแล้วกัน เป็นคนละโลกกันเลย แต่ผมโชคดีมาก เพราะได้อยู่ทั้งสองโลก เมื่อก่อนผมอยู่โลกวรรณกรรม ตอนนี้มาอยู่โลกฮาวทู แต่ก็ยังชอบงานวรรณกรรมอยู่นะ เพียงแต่เมื่อมีเวลาน้อยลง ก็ต้องเลือกอ่านที่ตรงกับสายงานมากกว่า

ถ้าเป็นสมัยวัยรุ่น ผมอ่านแต่งานวรรณกรรมเมื่อก่อนติสท์มาก อ่านแต่เรื่องสั้น นวนิยาย เล่มไหนอ่านยากๆ ยิ่งชอบ อ่านไม่รู้เรื่องยิ่งรู้สึกว่าเราฉลาด (หัวเราะ) รู้สึกว่าเจ๋ง งานซีไรต์ก็ตามอ่านหมดทุกเล่ม สมัยเรียนวิศวะ ผมจะเป็นพวกเพื่อชีวิตหน่อยๆ อ่านงานของ แมกซิม กอร์กี จิตร ภูมิศักดิ์ วิทยากร เชียงกูล มันเป็นยุคที่ผมกำลังแสวงหาความหมายของชีวิต ผมอ่านหนังสือแนววรรณกรรมมาตลอด

จนกระทั่งเกิดวิกฤติชีวิต รายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัวอย่างที่เล่านั่นแหละ ผมรู้สึกว่าหาคำตอบของวิกฤติชีวิตช่วงนั้นจากหนังสือวรรณกรรมไม่เจอ ก็เลยเริ่มอ่านหนังสือในแนวอื่นๆ สุดท้ายก็เลยมาเจอคำตอบจากหนังสือในแนวพัฒนาตนเอง คือเมื่อก่อนตอนสมัยเรียนอยู่ ชีวิตอาจจะสบายไง ผมก็เลยถามตัวเองว่าฉันเกิดมาทำไม ฉันเกิดมาเพื่ออะไร แต่พอเกิดวิกฤติชีวิต ผมไม่ได้อยากรู้แล้วว่าเกิดมาเพื่ออะไร แต่อยากรู้ว่าตอนนี้กูจะอยู่ยังไง (หัวเราะ)

GM : อยากให้คุณเล่าละเอียดๆ ถึงจุดเปลี่ยนในแนวทางการอ่านหนังสือ

วิสูตร : ผมจบวิศวะ จุฬาฯ แต่ไม่เคยทำงานวิศวะแม้แต่วันเดียว มาเป็นนักแต่งเพลงที่แกรมมี่ ดีใจมาก นึกว่าจะได้ทำงานที่รักไปตลอดชีวิต แต่แล้ววงการเพลงก็เริ่มตกต่ำ ผู้คนยังฟังเพลง แต่แทบไม่มีใครจ่ายเงินซื้อเพลงอีกต่อไป ผมหาทางหนีทีไล่ ไปเป็นครีเอทีฟวิทยุ ไปทำนิตยสาร ไปทำธุรกิจเครือข่าย ไปเปิดร้านค้าที่สวนลุมไนท์บาซาร์ ทำทุกอย่างที่จะได้ตังค์ ชีวิตตอนนั้นมีอยู่สองอย่างคือ นอนกับทำงาน ตื่นมาก็ทำงานเลย ทำงานเสร็จก็นอนหลับเลย วนลูปแบบนี้ จนเกิดคำถามกับชีวิตว่าทำงานหนักๆ แต่ทำไมตังค์ไม่พอใช้ ตอนนั้นทำงาน 6-7 อย่างพร้อมกัน เขียนหนังสือ แต่งเพลง เขียนสคริปต์รายการวิทยุ สคริปต์รายการทีวี ทำธุรกิจเครือข่าย เปิดร้านค้า แต่ชีวิตก็ยังไม่พ้นน้ำ รายได้พอๆ กับรายจ่าย ที่แย่ก็คือผมไม่มีเวลาเลย

ผมเลี้ยงหมาไว้ตัวหนึ่ง มีอยู่คืนหนึ่ง ตอนนั้นตีหนึ่งแล้ว ผมยังนั่งทำงานอยู่หน้าจอ รู้สึกล้ามาก พอมองออกไปหน้าบ้าน หมามันนอนหลับตั้งแต่หัวค่ำแล้ว แต่ผมยังไม่ได้นอน ตอนนั้นผมรู้สึกอิจฉาหมาขึ้นมาทันที มันสบายกว่าเราอีก (หัวเราะ) โมเมนต์นั้นแหละที่คิดว่าผมต้องทำอะไรบางอย่างกับชีวิตแล้วล่ะ ความโชคดีของผมก็คือ ผมมีเพื่อนเป็นหนังสือ ผมอ่านหนังสือมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ แต่ผมอ่านวรรณกรรมไง ซึ่งในโลกของวรรณกรรม เขาบูชาคนจน เขาไม่ถูกกับคนรวย ผมอ่านแล้วก็เลยหาไม่เจอ ว่าทำอย่างไรผมถึงจะหลุดจากความยากจนที่กำลังเป็นอยู่ เพราะงานวรรณกรรมบอกให้เราเป็นแบบนี้ ความยากจนน่ะถูกแล้ว คนรวยไม่ดี ผมรู้สึกว่าไม่ใช่แล้วละ ลูกผมไม่ควรจะต้องมาลำบากเพราะความจนของผม

คืนนั้นเอง ผมออกไป 7-11 หน้าหมู่บ้าน มีผมคนเดียวกับพนักงาน เหมือนฉากในหนังเรื่องฟรีแลนซ์เลย ผมก็เดินเล่นคลายเครียดไปเรื่อย แล้วผมก็พบกับหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ ‘ถอดรหัสลับ สมองเงินล้าน’ วางขายอยู่บนแผงหนังสือในเซเว่น ไม่รู้อะไรดลใจให้ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาดู ทั้งที่ในใจก็คิดว่า อีกแล้ว ไอ้พวกหนังสือที่คนเขียนรวย เพราะบอกให้คนอื่นรวย (หัวเราะ) แต่อาจเพราะช่วงนั้นผมกำลังมีปัญหาเรื่องเงิน ก็เลยลองหยิบมาดูสักหน่อย ผมพลิกดูปกหลังว่าเกี่ยวกับอะไร ด้านหลังปกเขียนไว้ว่า สิ่งที่คนรวยกับคนจนคิดต่างกัน มีดังต่อไปนี้ แล้วเขาก็ลิสต์มาเป็นข้อเลย เช่น คนรวยมองเห็นโอกาส คนจนมองเห็นปัญหา คนจนเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างเงินหรือความสุข คนรวยเลือกทั้งสองอย่าง อะไรแบบนี้

GM : พออ่านลิสต์นั้นแล้ว คุณเป็นพวกคนจนแหงๆ

วิสูตร : (หัวเราะ) เป็นคนจนทุกข้อเลย ตอนนั้นสงสัยมากๆ ไอ้คนเขียนนี่มันรู้ได้ไงวะว่ากูจน (หัวเราะ) สุดท้ายคืนนั้นก็เลยซื้อมาอ่าน ผมอ่านจนถึงเช้า แล้วเหมือนพบกับโลกใหม่ ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันมีหนังสือแบบนี้ด้วยเหรอวะ มีเรื่องแบบนี้บนโลกด้วย ผมรู้สึกเหมือนถูกปอกเปลือกทีละชั้นๆ ให้เห็นว่าทำไมผมถึงมีรายได้ไม่พอใช้ เช่น เขาพูดถึงเรื่องพิมพ์เขียวทางการเงิน ว่าทุกคนจะมีวิธีคิดเกี่ยวกับเงินในแบบของตัวเองอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากครอบครัว ผมอ่านแล้วก็รู้สึกว่าใช่เลย หรือสิ่งที่เขาพูดว่า ถ้าเราคิดว่าคนรวยเป็นคนไม่ดี การมีเงินเยอะเป็นสิ่งชั่วร้าย เราก็ไม่มีทางจะเป็นคนรวยได้ เพราะเราจะไม่ยอมเป็นในสิ่งที่เราเกลียด

GM : แล้วความคิดต่อต้านในหัวตอนนั้นมันหายไปได้อย่างไร

วิสูตร : ตอนนั้นผมลืมไปเลย เพราะช็อกกับตัวเองว่าทำไมเนื้อหาในหนังสือถึงได้เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน ผมไม่ได้คิดแล้วละว่าเขาหลอกหรือไม่หลอก แต่เริ่มคิดว่ามันมีอีกโลกหนึ่งที่ผมไม่รู้จัก ทั้งที่จะว่าไป ก่อนหน้านั้นผมก็เคยอ่านหนังสือแนวฮาวทูมาบ้าง อย่าง พ่อรวยสอนลูก เขาพูดเรื่อง Passive Income แต่ตอนนั้นผมก็มี Passive Income อยู่แล้ว ผมแต่งเพลงมีค่าลิขสิทธิ์ ก็เลยไม่ได้อินอะไรมากกับเนื้อหาในนั้น จนวันที่ชีวิตแย่ ผมถึงรู้สึกอิน แต่หนังสือเพียงเล่มเดียว ก็คงไม่ได้ทำให้ผมเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อหนังสือฮาวทูพวกนี้ไปหรอก มันค่อยๆ เปลี่ยนมากกว่า จากเล่มนี้ ไปสู่เล่มถัดไป ผมตะลุยอ่านหนังสือฮาวทูอย่างบ้าคลั่ง เหมือนเด็กไปเจอห้องเก็บของที่ไม่รู้มาก่อนว่าพ่อแม่เก็บของเล่นไว้ พอเห็นแล้วก็เลยตื่นตาตื่นใจ อ่านมันได้ทั้งวันทั้งคืน

GM : จากฮาวทูเล่มแรก ไปจนถึงเล่มไหนที่ทำให้คุณลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง

วิสูตร : หลังจากเล่ม ‘ถอดรหัสลับ สมองเงินล้าน’ ก็มีอีกเล่มหนึ่งของ โรเบิร์ต คิโยซากิ ชื่อว่า ‘โรงเรียนสอนธุรกิจ’ เขาพูดเรื่องธุรกิจเครือข่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เกลียดกลัว แต่คิโยซากิกลับบอกว่าโรงเรียนที่สอนเราได้ดีที่สุด และลงทุนน้อยมากก็คือ ธุรกิจเครือข่าย ให้คุณลองเข้าไปทำ เพราะต่อให้ไม่สำเร็จ สิ่งที่จะได้

กลับมาคือทักษะต่างๆ เช่น การพูดบนเวที การขาย ทักษะการคุยกับคนแปลกหน้า วิธีโน้มน้าวใจ ตอนนั้นผมคิดว่าทักษะการพูดน่าสนใจ หนังสือหลายเล่มที่ผมอ่าน บอกเหมือนกันว่าผู้นำทุกคนต้องพูดได้ ผมคิดว่าเป็นผู้นำก็น่าจะดีนะ น่าจะรวย (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นผมพูดไม่เป็นเลย ผมเป็นนักเขียนมาตลอดชีวิต แต่งเพลง เขียนสคริปต์ ทั้งหมดเป็นงานที่อยู่กับตัวเองล้วนๆ ไม่ต้องเจอใคร ผมก็เลยคิดว่าการทำธุรกิจเครือข่ายน่าจะเป็นโอกาสดีที่ผมจะได้ฝึกพูด แล้วกฎแรงดึงดูดคงทำงาน ไม่กี่วันรุ่นน้องคนหนึ่งก็โทรฯ มาชวนผมทำธุรกิจเครือข่าย ผมบอกไปว่าสนใจ พาไปทำความรู้จักหน่อย ผมน่าจะเป็นคนไม่กี่คนที่ไม่ต้องชวน แต่ยินดีสมัครเอง เข้าไปตอนแรกก็เหมือนคนทั่วไป ต่อต้าน กอดอก ปฏิเสธ ทำอะไรกันวะ เย้วๆ คุณทำได้ คุณทำได้ เออ…มึงทำได้ แต่กูทำไม่ได้ไง ผมก็คิดแบบนี้ในใจ แต่ผมก็คิดว่างั้นลองดูก็แล้วกัน จากไม่กล้าขายของ ก็ต้องมาขายของ ชวนคน จากไม่เคยพูดบนเวที เขาก็ให้เราขึ้นไปพูด ผมจำได้เลยว่าครั้งแรกที่ขึ้นเวที ผมตื่นเต้นมาก ยืนพูดกอดอก สั่นไปทั้งตัว

 The Infopreneur

GM : จากเป็นนักแต่งเพลง แล้วไปทำธุรกิจขายตรง เจอเพื่อนมาถามบ้างไหม ว่าไปทำงานแบบนั้นทำไมหรือเปล่า

วิสูตร : มีแน่นอนครับ แต่ช่วงนั้นผมต้องหนีตาย ต้องเอาตัวรอด ผมคิดว่าถ้าผมไม่มีตังค์ซื้อข้าวให้ลูกกิน คนที่ค่อนขอดผม คนพวกนั้นก็คงไม่ได้ช่วยอะไรผมหรอก เพราะฉะนั้นก็อย่าไปสนใจให้มาก สุดท้ายพอผมตั้งใจทำจริงๆ ก็รู้สึกว่าธุรกิจเครือข่ายก็ไม่ได้น่ารังเกียจอะไรนี่ เป็นอาชีพสุจริต ผมเริ่มฝึกขาย กล้าพูดขึ้น เริ่มไปสาธิตสินค้าตามบ้านต่างๆ เริ่มไปบ้านคนที่ไม่รู้จัก ชีวิตช่วงนั้นสนุกมาก ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ผมไปมาหมดแล้ว

GM : วิธีขายสไตล์ บอย วิสูตร ในยุคนั้นเป็นอย่างไร ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย

วิสูตร : ผมว่าทุกคนน่าจะถูกฝึกมาคล้ายๆ กัน เช่น ถ้าจะขายเครื่องกรองน้ำ ก็ต้องมีขั้นตอนวิธีการ ไม่ใช่หิ้วเครื่องกรองน้ำเข้าไปเลย แต่ต้องคุยก่อน ทักทายสารทุกข์สุกดิบ พอเขาเอาน้ำมาให้ เราก็เข้าเรื่องน้ำ บางทีเราขอเข้าห้องน้ำ เดินไปเห็นครัวก็จะเห็นว่าที่บ้านนี้มีเครื่องกรองหรือไม่มี แล้วก็ชวนคุย อ้าว! พี่ไม่ได้ใช้เครื่องกรองเหรอ พอดีผมมีติดมา เดี๋ยวผมทำอะไรให้ดู แล้วผมก็สาธิตเครื่องกรองน้ำให้ดู สุดท้ายจะซื้อหรือไม่ซื้อก็อยู่ที่เขา

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมตั้งใจว่าวันนี้จะเอาเครื่องกรองน้ำไปนำเสนอญาติ เตรียมแผนเดี๋ยวจะพูดแบบนั้นแบบนี้ แต่ในใจนี่ตุ๊มๆ ต่อมๆ ตลอดเวลา ภาวนาให้รถติด ขอให้เขาไม่อยู่ เราจะได้รู้สึกว่าเราตั้งใจแล้วนะ แต่เขาไม่อยู่เอง ปรากฏว่าวันนั้นรถโล่งเลย ไปถึงหน้าบ้าน ไฟในบ้านก็เปิดด้วยสิ ผมจอดรถอยู่หน้าบ้านสักพัก แต่ไม่กล้าเข้าไป สุดท้ายจับรถกลับบ้านเลย (หัวเราะ) ผมสู้กับความรู้สึกตรงนี้นานมาก กว่าจะทำลายความกลัวได้ พอทำลายแล้วก็พบว่าไม่มีอะไรน่ากลัวเลย คนอื่นเขาไม่ได้คิดมากเหมือนที่เราคิด แล้วเราก็ไม่ได้ไปทำอะไรเขา ไปนำเสนอของ เขาซื้อก็ดี เขาไม่ซื้อก็แค่นั้น ไม่ได้บังคับหรืออ้อนวอน ช่วงเวลาที่ผมข้ามผ่านความกลัวตรงนั้นมาได้ จึงเป็นช่วงที่ผมรู้สึกคล้ายกับกลายร่างจากดักแด้เป็นผีเสื้อ

GM : ถ้าวันนั้นคุณไม่ต้องหนีตาย เป็นไปได้ไหมว่าวันนี้คุณก็คงไม่ได้เป็นแบบนี้

วิสูตร : เมื่อวันก่อนผมเพิ่งคุยเรื่องนี้กับแฟน ผมบอกว่าถ้าเราไม่ได้แต่งงานกัน เราไม่มีลูก เราไม่เกิดช่วงเวลาวิกฤติชีวิตแบบนั้น ผมคงไม่มาถึงตรงนี้ ผมคงเป็นมนุษย์สโลว์ไลฟ์ไปเรื่อยๆ เพราะตอนทำงานแต่งเพลง ผมสบายมาก ทำงานสองวัน จันทร์กับพฤหัสบดี เข้างานบ่ายสอง เข้าไปกินเบียร์ ชิลล์ๆ ดูทีวี เพราะเพลงแต่งมาจากบ้านแล้ว สิ้นเดือนก็รับเงิน งานอดิเรกตอนนั้นของผมคือแต่งเพลง ส่วนงานหลักคือนอน (หัวเราะ) ชีวิตมันสอนผม ว่าถ้าไม่ผ่านช่วงลำบากมาก่อน ก็จะไม่มีทางมาถึงจุดสบาย ไม่มีทางเลย เราต้องไปผ่านบทเรียนอะไรบางอย่าง เหมือนหนังเรื่องหนึ่งที่ตัวละครต้องลำบาก ฝ่าฟันอุปสรรค ได้เรียนรู้ แล้วชีวิตถึงจะเปลี่ยน ให้จำไว้แบบนี้ครับ ว่าถ้าชีวิตนี้คุณยังไม่เจอปัญหาอะไรเลย แปลว่าคุณมาผิดซอยแล้วล่ะ

GM : หมายความว่าถ้าอยากประสบความสำเร็จ ควรพาตัวเองไปลำบากก่อน

วิสูตร : พูดว่าลำบากก็จะโหดไป เรียกว่า ‘พาตัวเองไปทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ’ จะดีกว่า ให้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ให้รู้สึกอึดอัดนิดๆ เพราะชีวิตที่ดีไม่ใช่ชีวิตที่รู้สึกสบายในทุกวัน เหมือนต้นไม้ เวลาจะงอกแทงทะลุรอยแตกของคอนกรีตขึ้นมาได้ มันก็ต้องใช้ความพยายาม ความสบายไม่เคยสร้างอะไรเลย ความลำบากต่างหากที่สร้าง

GM : คุณชอบชีวิตช่วงไหนมากกว่า ช่วงที่ใช้ชีวิตแบบศิลปิน กับตอนนี้ที่เป็นนักเขียน นักสร้างแรงบันดาลใจ

วิสูตร : ผมชอบตอนนี้นะ มองย้อนกลับไปช่วงที่เป็นนักแต่งเพลง ผมรู้สึกเสียดายเวลาว่าทำไมใช้เวลาได้ไร้สาระขนาดนั้น ตื่น 10 โมง ลงไปกินข้าวใต้หอพัก ดูทีวี อ่านหนังสือ ง่วงก็หลับ ตื่นมาตอนบ่ายกินข้าว ตอนเย็นว่างๆ ก็ไปวิ่งออกกำลัง รู้สึกมีอิสระ แต่ไร้แก่นสาร แต่วันนั้นผมก็คิดไม่ได้แบบนี้หรอก เราคิดดีที่สุด ณ ตอนนั้น เพียงแต่ผมโชคดีที่เป็นคนปรับตัวได้ไม่ยาก เมื่อมองเห็นวิกฤติ ผมไม่ลังเลที่จะกระโดดไปหาหนทางใหม่ ในขณะที่หลายคนเห็นอยู่แท้ๆ ว่าวิกฤติมาแน่ แต่กลับไม่กระโดดหนี เหมือนเดินอยู่บนรางรถไฟ เห็นรถไฟกำลังพุ่งตรงมา แต่กลับยืนชิลล์ๆ อยู่บนราง จนกระทั่งในที่สุดก็หนีไม่ทัน

GM : เวลาที่จะกระโดดหนีออกมาจากรางรถไฟ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับคนทั่วไปหรอก อยากรู้วิธีคิดของคุณตอนเปลี่ยนสายงาน

วิสูตร : วิธีคิดของผม ก็คืออย่ากระโดดจากเรือลำหนึ่งไปอีกลำหนึ่งทันที ให้เหยียบเรือสองแคมไว้ก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าเรือลำใหม่ดีจริง

หรือเปล่า มีหลายคนกระโดดไปตายเอาดาบหน้าสุดท้ายก็เลยตายจริงๆ ช่วงที่รายได้จากการแต่งเพลงตกต่ำ จากเคยได้เดือนเป็นหมื่นเป็นแสน ก็ลดลงเหลือหมื่นกว่าบาท บางเดือนได้ไม่กี่พัน ผมก็ต้องคิดแล้วละว่าจะอยู่ยังไง ผมถามตัวเองว่าความสามารถของผมเอาไปใช้ทำอะไรได้อีก แล้ววันหนึ่งผมก็โทรฯ หาเพื่อนคนหนึ่งชื่อ พี่อ้อ เขาออกจากแกรมมี่ไปเป็นครีเอทีฟคลื่นวิทยุ ผมถามเขาด้วยประโยคเปลี่ยนชีวิตว่า “มีอะไรสนุกๆ ให้ผมทำไหม” ปรากฏว่ามี ที่คลื่นกำลังเปิดรับครีเอทีฟวิทยุ ผมก็ไปสมัคร โดยที่ไม่รู้เลยว่าครีเอทีฟวิทยุเขาต้องมีหน้าที่ทำอะไร ที่แย่ไปกว่านั้น ผมเป็นคนที่แทบจะไม่ฟังวิทยุเลย เพราะมีแผ่นเพลงเป็นของตัวเอง จะไปรอฟังดีเจเปิดทำไม ปรากฏว่าในที่สุดผมก็ได้งาน เป็นการทำงานประจำครั้งแรกในชีวิต นั่งรถเมล์ไปทำงาน เข้างาน 10 โมงเช้า เลิก 6 โมงเย็น ต้องแตะบัตรลงเวลา หลังจากงานนี้ ชีวิตผมก็เปลี่ยนไปมากมาย คือไปทำธุรกิจเครือข่าย ไปทำนิตยสาร เป็นบรรณาธิการ ทำหนังสือให้คนอื่น จนกระทั่งได้มาเขียนหนังสือของตัวเอง

GM : การเหยียบเรือหลายแคม ทำงานหลายอย่าง คุณนิยามตัวเองไว้อย่างไร

วิสูตร : ถ้ามีใครถามว่าผมทำอาชีพอะไร ผมจะตอบง่ายๆ ว่าเป็นนักเขียน เพราะฟังเข้าใจง่ายดี ทั้งที่จริงแล้วผมทำอย่างอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิทยากรบรรยายตามองค์กรต่างๆ จัดสัมมนาเอง ทำหนังสือเสียง แต่หลักๆ แล้วสิ่งที่ผมทำก็คืออยากทำให้ทุกคนมีเป้าหมายในชีวิต อยากให้เขาดึงศักยภาพในตัวออกมาใช้ให้เต็มที่ ให้สมกับที่เราได้เกิดมา มีรุ่นน้องที่รู้จักกันคนหนึ่ง เขาบอกผมว่า ถ้าใครสักคนอยากจะรู้เรื่องของความสำเร็จ เรื่องการพัฒนาตัวเอง ทั้งหมดนี้มีอยู่ในหนังสือของพี่บอยหมดแล้ว ไม่ต้องไปหาอ่านที่อื่น ผมตอบรุ่นน้องคนนี้ไปว่าผมตั้งใจให้เป็นแบบนั้น ผมไม่เขียนอะไรใหม่ เพราะโลกนี้มีคนเขียนเรื่องดีๆ อยู่แล้ว แต่มันเข้าใจยาก ผมทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เหมือนวุ้นแปลภาษาของโดราเอมอน เหมือนคนส่งสารที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่ถูกเข้าถึงโดยผู้คนจำนวนมาก ซึ่งนี่อาจจะเป็นทักษะที่ผมได้มาจากตอนแต่งเพลง เพราะโจทย์ของการแต่งเพลงป๊อปก็คือต้องทำให้เข้าใจง่าย

GM : เด็กยุคนี้ทำงานหลายงานไปพร้อมกัน เหมือนพวกเขากำลังแสวงหาไปเรื่อย เป็นไปได้ไหมว่าเด็กยุคนี้จะกลายเป็นคนที่ไม่โฟกัสกับอะไรสักอย่าง

วิสูตร : ไม่ใช่เด็กยุคนี้ครับ ต้องบอกว่าคนยุคนี้ต่างหากที่ไม่โฟกัส เพราะเราถูกดึงดูดความสนใจด้วยสิ่งเร้าเต็มไปหมด ถามว่ามันจะเป็นปัญหาไหม ผมว่าเป็นแน่นอน ถ้าไม่จับตาดูดีๆ ว่าวันหนึ่งเราทำอะไรบ้าง เวลาหนึ่งวันจะหมดไปอย่างรวดเร็ว เวลาหนึ่งเดือนจะหมดไปอย่างรวดเร็ว และเวลาหนึ่งปีก็จะหมดไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น เราต้องจับตาการใช้เวลาของเรา วิธีคือให้คุณวาดวงกลมรูปนาฬิกา 24 ชั่วโมง จากนั้นให้ลองขีดเส้นเหมือนแบ่งเค้กว่าแต่ละชั่วโมง เราเอาเวลาไปทำอะไร เช่น 7-8 โมงอาบน้ำ แต่งตัว 8-9 โมงกินข้าว ทำแบบนี้ไปจนครบ 24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน แล้วคุณจะพบว่าเราหมดเวลาไปกับสิ่งไร้สาระไม่น้อย แค่เผลอรูดดูนิวส์ฟีดในเฟซบุ๊ค เงยหน้าขึ้นมาอีกทีก็หมดไปแล้วครึ่งชั่วโมง

GM : แต่คุณเองก็เล่นเฟซบุ๊คเยอะนะ คุณโพสต์แต่ละทีมีคนไลค์เป็นพันๆ มีคอมเมนต์ก็เยอะ แบบนี้ไม่เสียเวลาชีวิตเหรอ

วิสูตร : ไม่เสียเวลาหรอกครับ เพราะผมทำงานบนเฟซบุ๊ค ผมไม่ได้เล่นเฟซบุ๊ค ผมใช้มันเป็นช่องทางสื่อสารความคิดของผม ส่วนเรื่องคอมเมนต์นี่ผมดูไม่เยอะหรอกครับ ยิ่งการเปิดดูนิวส์ฟีด ต้องบอกว่าผมแทบไม่เคยทำเลย เป็นคนโลกแคบมาก ไม่ค่อยอยากรู้เรื่องของคนอื่น (หัวเราะ) เบรนดอน เบอร์ชาร์ด พูดเรื่องทำยังไงถึงจะมีโฟกัสในยุคที่ยุ่งเหยิงแบบนี้ เพราะตอนนี้เรามีอะไรให้สนใจเต็มไปหมด จนบางวันเรารู้สึกเหนื่อยมาก ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักหน่อย เบอร์ชาร์ดบอกว่าที่เรารู้สึกเหนื่อยเพราะเราตัดสินใจเยอะ เมื่อไหร่ที่ต้องตัดสินใจมากครั้ง เราก็จะยิ่งเหนื่อยมากขึ้น เพราะสมองต้องทำงานหนัก แล้วเขาก็เสนอทางแก้ที่ทันสมัยมากๆ ที่จะทำให้เรามีโฟกัส และไม่รู้สึกว่าเหนื่อย นั่นคืออย่าดูนิวส์ฟีดเฟซบุ๊ค เพราะทุกครั้งที่เราเห็นเรื่องของคนอื่น สมองจะตัดสินใจคิดอะไรบางอย่าง เช่น น่าสนใจไหม เกี่ยวกับฉันไหม ฉันอยากได้ไหม สมองก็เลยล้าและขาดโฟกัส เพราะมัวไปคิดถึงเรื่องของคนอื่น ว่ากันว่ามนุษย์ยุคนี้มีเรื่องที่เกิดขึ้นในหนึ่งวัน มากกว่าทั้งชีวิตของคนยุคโบราณเสียอีก เพราะคนยุคโบราณ วันๆ ไม่มีเรื่องอะไรใหม่ ทุกวันเหมือนเดิม

GM : แล้วทุกวันนี้คุณ Input อะไรใส่ตัวบ้าง

วิสูตร :  หนังสือ หนังสือเสียง คลิปวิดีโอ อะไรก็ได้ครับ ทุกครั้งที่มีเวลา ผมจะไม่ปล่อยมันไปโดยเปล่าประโยชน์ ผมจ้างผู้ช่วยมาขับรถให้ เพื่อที่จะได้อ่านหนังสือตอนเดินทาง ผมฟังหนังสือเสียงตอนอาบน้ำ เพราะหนึ่งในวิธีการที่เราจะเพิ่มเวลาได้ก็คือ เอาสองกิจกรรมมาซ้อนกัน เทรนด์ใหม่ของการเรียนรู้ก็คือการดูและฟัง ปี 2559 นี้ผมคิดว่ายูทูบจะมาแรงมากๆ ผมสังเกตจากตัวเองและลูก เมื่อก่อนผมไม่ค่อยดูยูทูบ แต่เดี๋ยวนี้ต้องดูทุกวัน มีคอนเทนต์เจ๋งๆ และฟรีอยู่ในนั้นมากมาย ดูทั้งชีวิตก็ไม่หมด หรืออย่างลูกสาวผม พวกเธอเรียนรู้ทุกอย่างจากยูทูบ

ยุคนี้เรามีเครื่องมือ มีช่องทางพร้อมทุกอย่าง เฟซบุ๊ค ยูทูบ อินสตาแกรม เต็มไปหมด ถามว่าแต่ก่อนคนธรรมดาๆ ไม่ได้เป็นดารา จะไปทำให้คนติดตามเป็นแสนเป็นล้านได้ยังไง แต่เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ทำได้ถ้าเก่งจริง ทุกวันนี้ที่บ้านผมไม่มีใครดูรายการทีวีเลย แฟนผมชอบดูช่องยูทูบของผู้ชายคนหนึ่งชื่อ บีหรุซัง เป็นคนไทยอยู่ญี่ปุ่น

เขาทำคลิปรีวิวท่องเที่ยวญี่ปุ่น ลูกผมก็ดูยูทูบช่องเด็กจิ๋วชิลล์เอาท์ ดำเนินรายการโดยน้องพริม เธอจะมีของเล่นใหม่ ๆ มาโชว์ หรือไม่ก็พาไปเที่ยวที่ต่างๆ ส่วนผมก็ดูช่อง เบรนดอน เบอร์ชาร์ด สรุปว่าทุกคนมีไอดอลเป็นของตัวเอง ที่บ้านผมไม่มีใครดูสื่อหลักอีกแล้ว

GM : ในฐานะคนทำหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คขาย คุณมองอนาคตและคิดถึงการปรับตัวไว้อย่างไร

วิสูตร : หนังสือจะไม่ใช่แมสอีกต่อไปแล้ว ผู้คนจะเรียนรู้ผ่านการดูวิดีโอ หนังสือที่ขายจะกลายเป็นลิมิเต็ด เอดิชั่น คนจะเสพแต่ของฟรีตามโซเชียลมีเดีย เพราะฉะนั้นต่อไปใครทำหนังสือ ก็ต้องทำให้ลิมิเต็ด เอดิชั่น ทำอย่างดี แล้วขายเฉพาะแฟนคลับ มีไว้เพื่อสะสม จำนวนจำกัดเท่านั้น ต่อไปหนังสือจะเจริญรอยตามซีดีเพลงหรือแผ่นเสียง นั่นคือมีไว้เพื่อเก็บเป็นคอลเลคชั่น

GM : การทำหนังสือเสียง เป็นส่วนหนึ่งในการพยายามปรับตัวของคุณใช่ไหม

วิสูตร : หนังสือเสียงเกิดจากการตอบโจทย์ผู้บริโภค เหตุก็เพราะคนยุคนี้หมดเวลาไปกับการเดินทางวันละ 2-3 ชั่วโมง คิดดูสิครับว่าถ้าเราเปลี่ยนเวลาตรงนี้มาเป็นเวลาของการเรียนรู้ ปีหนึ่งเราเก่งขึ้นแค่ไหน จริงๆ แล้ว Audiobook นั้นต่างประเทศทำมาเป็นสิบปีแล้ว ผมเป็นแฟนของ ไบรอัน เทรซี่ เขาคือเจ้าแห่งฮาวทู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาย การบริหารเวลา การพูดบนเวที การสอนเขียนหนังสือ หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงลูก เขามีฮาวทูให้เราเรียนรู้ทั้งหมด นอกจากหนังสือแล้ว เขาก็ทำ Audiobook นี่แหละ ผมซื้อซีดีเขามาฟังเป็นสิบๆ แผ่น รู้สึกว่าเจ๋งมาก หนังสือเสียงคือสิ่งประดิษฐ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดนับตั้งแต่เราประดิษฐ์แท่นพิมพ์ได้ เพราะมันทำให้เราเปลี่ยนเวลาที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ให้เป็นเวลาของการเรียนรู้ มันเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้มาก

GM : คุณกังวลกับการเปลี่ยนแปลงของสื่ออย่างไร

วิสูตร : ตอนแรกกังวลในแง่ที่ว่าคนจะอ่านหนังสือน้อยลง แล้วเราจะทำยังไงดีในฐานะคนทำหนังสือ พอมาทำหนังสือเสียง เป็นซีดี เดี๋ยวอีกไม่กี่ปีก็จะไม่มีเครื่องเล่นซีดี แล้วเราจะไปต่อยังไงดี สุดท้ายก็มาคิดได้ว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปคือฟอร์แมตหรือรูปแบบของสื่อเฉยๆ แต่คอนเทนต์ยังอยู่ คนอาจจะไม่อ่านตัวหนังสือจากหนังสือ แต่เขาก็ต้องอ่านอะไรสักอย่าง ซีดีเขาไม่มีเครื่องเล่น แต่เขาก็ต้องฟังอะไรสักอย่าง พอคิดได้แบบนี้ ก็เลยเลิกกังวล เพราะผมไม่ได้เป็นคนผลิตกระดาษ ไม่ได้เป็นคนผลิตแผ่นซีดี ผมเป็นคนผลิตคอนเทนต์ คอนเทนต์เป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการเสมอและตลอดไป ผมมีความรู้ที่มีประโยชน์ คนที่ติดตามผมรู้ว่าสิ่งที่ผมบอกออกไป ไม่ว่าจะเป็นสื่อไหนก็ตาม เขาก็เอาไปใช้กับชีวิตให้ดีขึ้นได้ เท่านี้ก็พอแล้ว

อีกอย่างเราไม่ใช่ประเทศที่เป็นผู้นำเทรนด์ ถ้าเราไปดูประเทศที่เจริญกว่าเรา ก็เหมือนเราได้เห็นอนาคตของเราในอีก 10-20 ปีข้างหน้า อย่างวันนี้กระแสการเข้าสัมมนาเพิ่งจะมาถึง ทั้งที่ประเทศอื่นเขามีกันตั้งนานแล้ว ไม่ต้องดูไปไกลถึงอเมริกา แค่สิงคโปร์ก็ได้ สิงคโปร์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เขาเรียนรู้นอกห้องเรียนกันจนเป็นเรื่องปกติ โค้ชหรือเทรนเนอร์ต่างๆ ของไทยเราก็ล้วนแต่ไปเรียนมาจากต่างประเทศ มีผมนั่นแหละที่ไม่ได้ไป ไม่ใช่เพราะคิดว่าไม่ดี แต่ผมแค่อยากจะแตกต่างบนทางของตัวเอง จะว่าไปผมก็แอบเรียนรู้จากโค้ชที่ไปเรียนเมืองนอกมาอีกทีนะ แต่เขาอาจไม่รู้ตัว (หัวเราะ)

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตผมไปตลอดกาลก็คือ Millionaire Messenger ของ เบรนดอน เบอร์ชาร์ด เขาบอกว่าทุกคนมีความรู้บางอย่างอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว ถ้ารู้จักวิธีนำจัดให้เป็นองค์ความรู้ที่เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง ก็จะสามารถเป็นธุรกิจได้ ที่สำคัญต้องแก้ปัญหาบางอย่างให้ผู้คนได้ ไม่อย่างนั้นใครจะยอมจ่ายเงินซื้อความรู้นั้น

GM : นั่นแสดงว่าคนทำคอนเทนต์ทุกวันนี้ เหมือนเป็นผู้คัดเลือกเนื้อหามาจัดเรียงสวยๆ ให้ผู้คนเดินเข้ามาซื้อ

วิสูตร : ใช่ครับ ฟังดูเหมือนไม่ได้ทำอะไรใหม่ แต่ผมจะบอกว่าทำให้ง่ายนี่ล่ะโคตรยากเลย บางคนบอกยุคนี้เป็นยุค Information Age เป็นยุคความรู้ แต่จริงๆ ไม่ใช่ นี่คือยุค Over Information Age ยุคข้อมูลล้นทะลัก อยากรู้เรื่องอะไร ก็มีข้อมูลร้อยแปดพันเก้า จนเราเลือกไม่ถูก เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่จัดระเบียบข้อมูลความรู้ได้ เขาจะชนะในเกมนี้ ผมเองก็ใช้ความสามารถตรงนี้ ผมเห็นแล้วว่าข้อมูลความรู้บางเรื่องยากไป บางเรื่องก็เก่าไป ถ้าเราเอามาเล่นแร่แปรธาตุใหม่ มันก็จะเป็นอะไรที่พร้อมใช้ได้เลย พูดง่ายๆ ว่ายุคนี้สินค้าของคุณต้อง Time Friendly หรือเป็นมิตรกับเวลาของผู้คน ไม่กินเวลาของพวกเขา เพราะแค่นี้เขาก็ไม่มีเวลาอยู่แล้ว ถ้าคุณไม่ Time Friendly กับผู้คน ผู้คนก็จะไม่ Friendly กับคุณ

GM : แล้วเราจะฝึกตัวเองให้มีวิธีการจัดเรียงข้อมูลให้ง่ายแบบนี้ด้วยวิธีไหน

วิสูตร :  ผมคิดในมุมเขาก่อนว่าเขาไม่รู้เรื่องอะไร เขาอยากรู้เรื่องอะไร เพราะบางทีเรารู้มากจนลืมไปแล้วว่าเรื่องพื้นฐานบางเรื่องก็ยากเกินไปสำหรับมือใหม่ เราต้องถอยออกมามองภาพใหญ่ สอนให้เข้าใจง่าย อย่าหวังดีเกินไปจนยัดทุกสิ่งอย่างให้เขา คิดเหมือนมือใหม่เสมอ บางคนสอนแล้วเข้าใจยาก เพราะเขาไม่เข้าใจตรงจุดนี้

แต่ละคอร์สที่สอน ต้องมีการฝึกสอน บางคนคิดว่าจัดสัมมนานี่ดีจัง สอนแค่ 1-2 วัน แล้วก็รับเงินไป แต่เขาไม่รู้หรอกครับว่ากว่าจะมาสอนได้ คนสอนต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ต้องผ่านอะไรมาบ้างถึงเข้าใจเรื่องที่สอนได้ทะลุปรุโปร่ง อย่างผมเอง แค่สไลด์ประกอบการสอนก็นั่งทำเป็นสิบวันแล้ว ไม่รวมการซ้อมพูดให้ต่อเนื่องไหลลื่น

ถ้าคุณชอบความสดใหม่ ผมแนะนำให้มาเรียนรุ่นแรกที่วิทยากรเปิดสอน แต่ถ้าชอบความสมบูรณ์ รอบแรกยังไม่ใช่หรอก คนสอนเขาก็ต้องปรับแก้ สอนไปเรียนรู้ไป สักรุ่นที่ 3-4 นั่นล่ะถึงจะสมบูรณ์ขึ้น แต่ความสดก็จะไม่เท่ารอบแรก

มีคนถามผมบ่อยมากว่าผมเป็นนักเขียนมาตลอด แล้วอยู่ดีๆ กลายมาเป็นนักพูดได้ยังไง ผมตอบว่าสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ตอนที่ผมเขียนหนังสือเล่มแรก ‘งานไม่ประจำ ทำเงินกว่า’ ปรากฏว่ากระแสตอบรับดี มีคนเชิญผมไปพูด เขาคงคิดว่าผมพูดได้ แต่ตอนนั้นผมพูดไม่ได้ไง เขาไม่รู้หรอกว่านั่นคือครั้งแรกของผม โคตรตื่นเต้น ผมยังจำเวทีแรกๆ ได้จนถึงทุกวันนี้ มันห่วยมาก ลงเวทีมานี่ผมโดนสับเละเลยว่าพูดไม่ได้เรื่อง คนฮากริบ ได้ยินเสียงแอร์ดังมาก

GM : คุณคิดว่าความรู้และวิธีคิดที่เราเรียนกันในโรงเรียนตั้งแต่เด็กๆ มันส่งมาถึงเราในวันนี้แค่ไหน

วิสูตร : โรงเรียนมีผลกับเราสูงมาก เพราะเราเข้าโรงเรียนตั้งแต่เด็ก เราถูกเขียนความคิดลงบนสมองตั้งแต่ตอนที่เรายังไร้เดียงสา และส่งผลมาจนถึงตอนที่เราเป็นผู้ใหญ่ เราถูกจัดให้อยู่ในระเบียบ ทำอะไรเหมือนๆ กัน ห้ามทำผิด ห้ามเถียง และหลายครั้งทำให้เราไม่ชอบการเรียนรู้ เพราะโรงเรียนทำให้การเรียนรู้น่าเบื่อ วันจันทร์เราไม่อยากไปโรงเรียน ความรู้สึกเกลียดวันจันทร์ติดตัวเรามาจนถึงตอนโต ที่มากไปกว่านั้น ชีวิตในโรงเรียนกับชีวิตจริงมันคนละเรื่องเลย ผมเคยไปบรรยายที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ วันนั้นผมบอกน้องๆ ที่กำลังเรียนอยู่ปีสี่ ว่าโลกที่น้องจะต้องออกไปเจอมันตรงข้ามกับที่เรียนมาเลย ตอนที่เรียนอาจารย์จะสอนก่อน แล้วค่อยสอบ แต่ชีวิตจริงตรงข้าม มันจะสอบน้องก่อน อัดจนเจ็บหนักก่อน แล้วค่อยบอกว่าเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร ที่โรงเรียนสอนว่าการทำผิดพลาดเป็นเรื่องไม่ดี แต่ชีวิตจริง ความผิดพลาดนั่นแหละที่สอนเราได้ดีมาก

GM : เราจะเตรียมตัวสอบวิชาชีวิตนี้ยังไงดี เราต้องรู้อะไรบ้าง

วิสูตร : เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือผลักใครให้ไปทำอะไรได้ ถ้าเขาไม่อยากทำ เหมือนที่เขาชอบพูดกันว่าชีวิตคนเราเปลี่ยนด้วยสอง ‘วิ’ คือ วิกฤติกับวิสัยทัศน์ บางคนโชคดีวิกฤติยังมาไม่ถึง แต่มีวิสัยทัศน์รู้ว่าต้องออกไปทำอะไรบางอย่างก่อน รู้ว่าผิดถูกก็ต้องลองทำ แต่บางคนต้องมีวิกฤติก่อน จึงจะยอมขยับตัว อย่างผมเองเจอวิกฤติ แล้วกระโดดออกมาทัน รู้ว่าสึนามิมาแน่ แต่จะว่าไป ผมเป็นพวกเข้าแก๊งไหนแล้วแก๊งนั้นตายหมดนะ อยู่วงการเพลง วงการเพลงก็ล่มสลาย อยู่คลื่นวิทยุ เขาเปิดได้ไม่ถึงปีก็ปิดตัว ตอนนั้นผมเป็นครีเอทีฟให้กับคลื่น The Radio 99.5 ของพี่หมึก-วิโรจน์ ควันธรรม คนชื่นชมคลื่นนี้กันเยอะ โดยเฉพาะคนในวงการครีเอทีฟ สื่อมวลชนมาขอสัมภาษณ์กันเต็มเลย แต่ปีเดียวก็เจ๊ง มีคำพูดติดตลกที่พวกเราพูดกันบ่อยๆ ตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นนักแต่งเพลง ว่าถ้าเอเยนซี่ชอบ ถ้าสื่อมวลชนชอบ คุณก็เตรียมตัวเจ๊งได้เลย เพราะรสนิยมจะตรงข้ามกับชาวบ้านอย่างสิ้นเชิง (หัวเราะ)

GM : กลับกันกับในตอนนี้ สิ่งที่คุณทำอยู่ คุณกลายเป็นแมสไปแล้ว

วิสูตร :  ผมไม่ใช่แมสนะ เดินไปไหนก็ไม่มีคนรู้จักหรอก ผมเป็นแมสในตลาด Niche มากกว่า คนที่ไม่สนใจอ่านหนังสือฮาวทู ไม่สนใจสัมมนา ไม่อยากพัฒนาตัวเอง เขาไม่รู้จักผมหรอก หนังสือที่แมสจริงๆ ในตอนนี้ คือพวกนวนิยายสำนักพิมพ์แจ่มใส หรือหนังสือสอนปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ เพียงแต่ผมเป็นคนแมสในแวดวงเรื่องการพัฒนาตัวเอง

ผมชอบคำนี้มากนะ ‘พัฒนาตัวเอง’ หนังสือเล่มใหม่ที่ผมกำลังทำอยู่ ผมก็ตั้งชื่อไว้ว่า ‘ถนนพัฒนาการ’ เพราะผมมีความเชื่อสุดๆ ว่ามนุษย์ทุกคนพัฒนาตัวเองได้ ไม่ว่าวันนี้เขาจะอยู่จุดไหน มันไม่สำคัญเลย สำคัญแค่ว่าเขาอยากไปที่จุดไหน และพร้อมจะจ่ายราคาของความสำเร็จนั้นหรือเปล่า ถ้าผมจะเป็นตัวอย่างให้ใครๆ ผมก็อยากจะเป็นตัวอย่างของการที่คนธรรมดาคนหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เท่าที่เขาต้องการ ผมเคยไม่พูดไม่จาทั้งวัน แต่ผมฝึกตัวเองจนเป็นนักพูดระดับประเทศได้ ผมเรียนจบวิศวะ แต่ฝึกฝนจนเป็นนักแต่งเพลง เป็นนักเขียนได้ ถ้าผมทำได้ คุณก็ไม่มีเหตุผลที่จะทำไม่ได้ ผมอยากเป็นตัวอย่างในเรื่องของการพัฒนาตัวเอง เพราะรู้ว่ามีคนอีกเยอะที่ชอบคิดว่าตัวเองดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว แต่คุณคิดผิดแล้ว คุณดีกว่านี้ได้ เพียงแต่ต้องกล้าทำอะไรที่เคยกลัว

เรื่องนี้มันไม่ง่าย เพราะเราถูกสอนให้ไม่กล้าเสี่ยงตั้งแต่เด็ก เราถูกห้ามว่า ไม่ อย่า พ่อแม่กลัวว่าเราจะบาดเจ็บ เสียใจ เขาก็เลยบอกว่าอย่าปีนนะลูก อย่าซนนะลูก เรียกว่ากว่าจะโต เราได้ยินคำว่าอย่า คำว่าไม่ เป็นหมื่นๆ ครั้งได้ พอผมมีลูก ผมก็พยายามไม่ห้ามเขา อยากทำอะไร ทำไปเลย ให้เขารู้ตั้งแต่เด็กว่าทำไปเถอะ จะผิดพลาดก็ช่างมัน ผมพยายามสร้างให้เขานับถือตัวเองให้ได้มากที่สุด ผมจะชมเขาอยู่บ่อยๆ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ค่อยทำกัน บางคนบอกว่าอย่าไปชมลูกมาก เดี๋ยวจะเหลิง จริงๆ มันไม่ใช่ การชื่นชมลูก ทำให้เขารักและนับถือตัวเอง แล้วเขาก็จะอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไปอีก

เช่นเดียวกับหลายคนกลัวว่าการชมตัวเองจะทำให้เราหลงตัวเองหรือเปล่า ผมว่ามันคือความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ไม่ใช่การเอาความเก่งของเราไปข่มคนอื่น เราสูงขึ้นได้ โดยไม่ต้องกดคนอื่น บางคนเข้าใจว่าพอมีคนหนึ่งสูงขึ้น คนอื่นจะต้องต่ำลง แต่มันไม่ใช่ การพัฒนาตัวเองนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องของใครของมัน แล้วพอเราเก่งขึ้น ความเก่งของเราก็จะเริ่มล้นจนต้องหาที่ระบาย ผมเชื่อว่าสัญชาตญาณของการส่งต่อความรู้ให้กับรุ่นลูกหลาน เราเก่งเรื่องไหน ก็อยากจะถ่ายทอดวิชาบางอย่างให้กับผู้คน ความลับที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ก็คือ ยิ่งสอน เราจะยิ่งเก่ง หรือแม้ต่อให้ยังไม่เก่งมาก แต่เมื่อเราเตรียมตัวสอน เราจะค้นคว้าหาข้อมูลจนเก่งขึ้นในที่สุด

GM : แล้วสำหรับปี 2559 เป้าหมายของคุณเขียนไว้หรือยัง

วิสูตร : ปี 2559 สำหรับผมเป็นอีกปีที่ท้าทาย เพราะปีที่แล้วผมทำไว้ได้ดีมาก การจะทำให้ดีกว่าเดิมจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ถ้าเป็นเรื่องของงาน ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลองทำโปรเจ็กต์ที่เป็น Niche มากขึ้น ทำหนังสือหรือคอร์สสัมมนาที่เป็นลิมิเต็ด เอดิชั่น ผลิตจำนวนจำกัด แต่ในขณะเดียวกันก็จะปล่อยฟรีคอนเทนต์ให้มากขึ้น ปล่อยความรู้ฟรีๆ สำหรับคนหมู่มากที่อาจจะยังขาดเรื่องเงิน ไม่พร้อมลงทุนในตัวเอง อย่างน้อยให้เขาลงทุนในเวลาก็ยังดี อีกเป้าหมายที่ผมยังทำได้ไม่ดี ก็คือผมให้ความสำคัญกับงานมากเกินไป จนบางทีก็ย่อหย่อนในเป้าหมายด้านอื่นๆ ของชีวิต อย่างเช่น สุขภาพ การจัดเวลาว่างให้ตัวเองและครอบครัว ซึ่งผมรู้สึกว่ายังทำได้ไม่ค่อยดี เผลอทีไรชอบขยันทำงานทุกที (หัวเราะ)

GM : แปลว่ามันจะเป็นปีที่ชีวิตของคุณบาลานซ์มากขึ้น

วิสูตร :  อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่ผมไม่ค่อยเชื่อว่าจะมีใครทำให้ชีวิตสมดุลได้ตลอดเวลา แค่แป๊บเดียวเดี๋ยวเราก็จะเอนไปทางใดทางหนึ่งเสมอ สโลว์ไลฟ์มากเกินไป หรือไม่ก็เครียดเกินไป ชีวิตก็เลยเป็นเรื่องของการหาสมดุลทุกวัน มีสมดุลอยู่แป๊บเดียว แล้วก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็ว่ากันใหม่ แค่นั้นเอง

GM : ฟังดูเหนื่อยมั้ย ชีวิตที่ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

วิสูตร : หลายคนคิดว่าการจะก้าวหน้าได้ ต้องเหนื่อยยากลำบากแน่ๆ ดังนั้น จึงอยู่เฉยๆ สบายกว่า แต่ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ อะไรที่ไม่ทำให้เราตาย มันจะทำให้เราโต ก็แค่ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ทุกครั้งที่ทำได้ เราจะรู้สึกว่าไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่คิดเลย ทุกเป้าหมายใหญ่ๆ ที่ผมตั้งไว้ อย่างโปรเจ็กต์ใหญ่ของปีนี้ที่ขออุบไว้ก่อน ทุกวันนี้ผมยังไม่แน่ใจเลยว่าจะสำเร็จหรือเปล่า แต่ผมจะบอกทีมงานเสมอว่าถ้าเรากลัว แปลว่าเรามาถูกทางแล้ว เพราะเมื่อเรากลัว แปลว่าเรากำลังก้าวไปบนถนนที่ไม่เคยไป เรากำลังทำในสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำ และมันจะสอนให้เราเติบโต ไม่ว่าสุดท้ายแล้วเราจะทำสำเร็จหรือไม่ก็ตาม

ผมคงเป็นพวกซาดิสต์ (หัวเราะ) ชอบก้าวไปบนถนนที่เราไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่ข้างหน้า ผมเชื่อเสมอว่าเราจะไม่เห็นทางไปจนสุดถนนหรอก เราจะเห็นแค่สองสามก้าวข้างหน้า แต่ถ้าเราก้าวต่อไปด้วยความเชื่อ ถนนมันจะค่อยๆ งอกมารองรับเท้าของเราเอง พอรู้ตัวอีกที เราก็เดินมาถึงจุดหมายแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ชอบมองว่าพอฉันไม่เห็นปลายทางว่าเป็นยังไง งั้นไม่ไปดีกว่า กลัวตกถนน แต่เขาไม่รู้ว่าทุกครั้งที่ก้าวออกไป ถนนจะสร้างขึ้นใหม่เอง นั่นแหละคือถนนพัฒนาการที่ผมหมายถึง

GM : ทุกวันนี้ความหมายความสำเร็จในชีวิตคุณเปลี่ยนจากเดิมมากไหม เป็นอย่างไรบ้างแล้ว

วิสูตร : ผมแยกเป็นสองส่วน เป้าหมายส่วนตัวกับเป้าหมายส่วนรวม ถ้าใครทำให้สองอย่างเป็นสิ่งเดียวกันได้ก็ยิ่งดีเลย เป้าหมายส่วนตัวก็อย่างเช่น การงาน การเงิน ครอบครัว สุขภาพ เป้าหมายส่วนรวมก็อย่างเช่น แล้วคนอย่างเราจะมีประโยชน์อะไรกับสังคมได้บ้าง จุดที่ลงตัวก็คือ ถ้างานของเราส่งผลกระทบกับสังคมได้ด้วยแบบนี้จะดีมาก เพราะการที่งานของเราส่งผลกระทบกับสังคม มันแปลว่างานเรามีคนให้ค่า ชีวิตความเป็นอยู่ของเราก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก ทุกวันนี้ผมภูมิใจในงานที่ทำอยู่มากๆ มีผู้คนชอบในสิ่งที่ผมทำ เขาอ่านสิ่งที่ผมเขียน ฟังสิ่งที่ผมพูดแล้วชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดี มีคนเข้ามาบอกผมตลอดเวลาว่าขอบคุณที่ผมเขียนหนังสือ ขอบคุณที่ผมพูดบรรยายบนเวที ขณะเดียวกันสิ่งนี้ก็ตอบกลับมาที่งานของเราด้วย ยิ่งสำเร็จ รายได้ก็ดีขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้นไปอีก ผมก็มีแรงไปทำประโยชน์ให้กับผู้คนยิ่งขึ้นไปอีก ผมอยากให้ทุกคนหาแง่มุมตัวเองให้เจอว่างานที่เราทำมีประโยชน์กับสังคมอย่างไร ถ้าหาเจอ คุณจะค้นพบสิ่งที่ยิ่งกว่าเงิน

GM : คุณเป็นคนประเภทไหนในกลุ่มเพื่อน

วิสูตร : ผมเป็นพวกเนิร์ด ชอบอ่านหนังสือ เงียบ ไม่พูด แต่ถ้าเป็นเพื่อนสนิทก็จะปล่อยมุกฮาๆ แต่ผมไม่ใช่คนประเภทผู้นำในกลุ่มเพื่อน

GM : แต่ทำไมตอนนี้คุณกลายเป็นคนที่ดูโดดเด่นเหลือเกิน

วิสูตร : ตอบว่าสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ผมไม่ได้อยากจะนำใคร เพราะอยากจะมีอำนาจเหนือคนอื่น แต่รู้สึกว่าต้องนำเพราะมีคนอยากได้ที่พึ่ง รู้สึกว่าต้องนำ เพราะสิ่งที่ผมพูดมันจะไปได้กว้างไกลกว่าเดิม ถ้าเป็นผู้นำ เสียงต้องดังขึ้น คนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ถ้าเปลี่ยนฉับพลัน มันจะหักโหม แล้วเราก็จะล้มเลิกไป

ในที่สุด แต่ถ้าเราค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ ปลูกกิจกรรมที่ดีไปทีละวัน ก็จะง่ายขึ้น เช่น การลดน้ำหนักมันเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน เพราะเขาหักโหมเกินไป แต่ถ้าเราค่อยเป็นค่อยไป มันจะไม่ลำบากกับชีวิตเกินไป ถ้าเราออกกำลังกายในตอนเช้า ควบคุมอาหาร ทำแบบนี้ทุกวัน มันก็ไม่ต้องใช้ความพยายามเท่าไหร่เลย เพราะกลายเป็นนิสัยไปแล้ว คำว่านิสัยแปลว่าอะไรรู้มั้ยครับ แปลว่า เราทำโดยไม่ต้องคิด มันเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ พอเป็นนิสัยก็ไม่ต้องคิด สมองก็ไม่ต้องทำงานหนัก เช่น ตื่นเช้าเราแปรงฟันก็ไม่ต้องคิด มันออโต้เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ปลูกให้มันเป็นนิสัย มันก็ไม่มีทางยั่งยืน

GM : ตอนนี้คุณมีนิสัยใหม่ๆ ในชีวิตตัวเองหรือเปล่าครับ

วิสูตร :  เรื่องนิสัยของการออกกำลังกาย นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมทำได้ ผมไปเล่นโยคะเกือบทุกเช้า หล่อสุดในคลาส เพราะทั้งคลาสเป็นแม่บ้านกันหมด (หัวเราะ) ผมชอบโยคะมาก เพราะมันคือการอยู่กับตัวเอง ไม่ต้องแข่งกับใคร

GM : ในแต่ละวันๆ คุณใช้เวลาอย่างมีคุณภาพขนาดไหน

วิสูตร :  จะว่าไปผมเป็นคนที่ตึงไปด้วยซ้ำ ถือเป็นจุดอ่อนตัวเอง พยายามใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากเกินไป คิดดูสิขนาดตอนอาบน้ำยังเรียนรู้เลย ยังเอายูทูบไปเปิดดู ไม่ใช่เปิดคลิปอะไรแบบนั้นนะ (หัวเราะ) ผมเป็นโรครู้สึกผิดเมื่อทำตัวว่าง ตรงจุดนี้ผมกำลังพยายามคลี่คลายให้ชีวิตไม่ตึงเกินไป

ปี 2558 มีจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งของผม นั่นคือการได้เจอหนังสือสองเล่ม เล่มแรกคือ ‘The Power of Now’ หรือ ‘พลังของการอยู่กับปัจจุบัน’ อีกเล่มหนึ่งชื่อ ‘The Five Secrets You Must Discover Before You Die’ หรือ ‘ความลับ 5 ข้อที่คุณต้องค้นให้พบก่อนตาย’ สองเล่มนี้มีจุดร่วมกันคือ การอยู่กับปัจจุบัน The Power of Now พูดเรื่องนี้ทั้งเล่ม ส่วนอีกเล่ม เขาสัมภาษณ์คนที่มีอายุ 60 ขึ้นไปว่าอะไรคือสิ่งที่เรียนรู้มาทั้งชีวิต มีอยู่ข้อหนึ่งเขาบอกว่า จงอยู่กับปัจจุบัน

ผมรู้เลยว่าตัวเองไม่ค่อยได้อยู่กับปัจจุบัน มีอยู่โมเมนต์เดียวที่ได้อยู่กับปัจจุบันก็คือตอนทำงาน พอเลิกทำงาน ผมก็ไม่อยู่กับปัจจุบันแล้ว ชอบคิดถึงแต่งาน นี่คือจุดอ่อน คือบ้างานเกินไป เขาบอกว่าเรามักจะกังวลกับเรื่องที่ผ่านไปแล้ว วิตกกับเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่ไม่เคยอยู่กับปัจจุบัน พูดอีกอย่างว่ามีตัวเราอีกคนคุมเราไว้ แต่เราไม่รู้ตัว จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเราอยู่กับปัจจุบัน อนาคตกับอดีตจะควบคุมเราไม่ได้ ถ้าเป็นภาษาพระเรียกว่า มีสติ

GM : แล้วเบรกตัวเองยังไงตอนนี้

วิสูตร :  ผมได้รับ Word of Wisdom จากคุณหมอคนหนึ่ง ผมมีโอกาสคุยกับท่าน จนผมรู้สึกว่าคำพูดนี้มันแพงกว่าราคาที่ผมจ่ายหมอเพื่อรักษาผมอีก หมอตรวจเลือดผมแล้วพบว่าฮอร์โมนต่ำ ผมถามว่าเกิดจากอะไร เขาบอกมาจากความเครียดและไม่ได้ออกกำลังกาย ผมก็บ่นตามแบบคนส่วนใหญ่คือผมไม่มีเวลาครับหมอ หมอบอกว่า ‘ถ้าคุณไม่จัดเวลาพักลงไปในตารางงานของคุณ มันก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น’ ผมฟังแล้วรู้สึกบรรลุขึ้นมาทันที หมายความว่าให้ถือว่าการพักผ่อนคือส่วนหนึ่งของตารางงาน เราต้องลงตารางเลยว่าบ่ายสองถึงสี่โมงคือเวลาพักของเรา เป็นคิวพัก หรือคิวออกกำลังกายก็ตาม ไม่รับนัดอื่นๆ เพราะถ้าคุณไม่ใส่มันลงไป การพักผ่อนจะไม่มีวันเกิดขึ้น เพราะคุณจะรอให้ว่างก่อน แล้วคุณก็จะไม่ว่าง เพราะคุณจะหาอะไรมาทำอีก เพราะงั้นคุณต้องจัดเวลาพักให้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของคุณ

สิ่งแรกที่ใส่ในตาราง คือการออกกำลังและการเติมอาหารให้สมองทั้งตอนตื่นและก่อนนอน เมื่อก่อนผมทำงานแบบกดสุด จัดเต็ม ทำจนนาทีสุดท้ายแล้วนอนทันที ไม่มีคูลดาวน์ แต่ตอนนี้ผมจัดเวลาใหม่ ผมจะเซฟชั่วโมงสุดท้ายกับชั่วโมงแรกของวันไว้เพื่ออ่านหนังสือ เพราะการเขียนหนังสือคือการเอาของออกจากสมอง เราจึงต้องเอาอะไรกลับเข้าสมอง ผมจึงต้องจัดเวลาให้ได้อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงเพื่ออ่านหนังสือ ยิ่งหนังสือที่ผมอ่านเป็นหนังสือในแนวพัฒนาตัวเอง จึงยิ่งช่วยปรับความคิดได้ดีขึ้นไปอีก ในหนังสือพวกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นลบเลย พูดเรื่องไปข้างหน้าทั้งหมดเลย คนส่วนใหญ่คิดถึงภาพอดีตได้ชัดเจนมาก แต่ถ้าคุณอยากสำเร็จ คุณต้องคิดถึงภาพอนาคตให้ชัดเจนต่างหาก หนังสือพวกนี้นี่แหละที่ทำให้เรานึกภาพอนาคตชัดเจน

GM : คุณเป็นพวกนักพัฒนาตัวเอง คิดว่าในมิติเรื่องครอบครัว ได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

วิสูตร : ปัญหาน้อยลง แต่ผมจะไม่บอกว่า โห!เรารักกันหวานชื่นทุกวัน ผมว่าชีวิตคู่มีปัญหาอยู่แล้วระหว่างทาง และส่วนใหญ่เป็นเรื่องไร้สาระ แต่ดีขึ้น เมื่อเช้าเล่นโยคะด้วยกัน ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อนหน้านี้ ที่เราสองคนเครียดต่างๆ นานา ไม่อยากให้เขาคิดเรื่องนี้ เวลาก็ไม่มีอีก คนเรานี่แปลกนะ มีคนอยู่สี่ประเภท หนึ่ง, มีเงินมีเวลา นี่คือสุดยอดมาก เศรษฐีตัวจริง สอง, มีเงินไม่มีเวลา พวกนี้เป็นพวกที่เก่ง แต่วุ่นทั้งวัน สาม, มีเวลาไม่มีเงิน พวกนี้ตกงาน แต่คนที่น่างงที่สุด คือพวกที่สี่, ไม่มีเวลาและไม่มีเงินด้วย อันนี้เป็นคนส่วนใหญ่สุด กลุ่มที่มีงานทำแต่ไม่มีเงิน ไม่มีเวลา เมื่อก่อนผมเป็นแบบนี้ คืออะไร องค์ประกอบหลายอย่าง คือ หนึ่ง, เขามีหนี้ ใช้เงินเยอะเกินตัว สอง, เขาอาจไม่มีหนี้ แต่หาเงินไม่เก่ง ค่าเวลาของเขาถูกเกินไป ทั้งเดือนทั้งวันของเขาจึงได้ตังค์ไม่พอ ต้องถามตัวเอง หนึ่ง, ถ้าที่ทำงานให้เงินน้อยไปก็เปลี่ยนงาน สอง, หากศักยภาพคุณน้อยเกินไปก็ต้องพัฒนาตัวเอง มีแค่นี้แหละ

GM : ขอถามเรื่องชีวิตส่วนตัวของคุณอีกหน่อย เรื่องการมีลูกส่งผลต่อชีวิตคุณแค่ไหน

วิสูตร :  ถ้าใครไม่มีลูกจะนึกโมเมนต์นี้ไม่ออก วันที่เรามีลูก จะเหมือนย้อนกลับไปเข้าใจพ่อแม่เรา ตอนที่เราเล็กมากๆ พ่อแม่คงเบื่อเราน่าดู (หัวเราะ) พอมีลูก ผมจะได้เรียนรู้จากเด็ก บางสิ่งที่นึกไม่ถึงว่าเขาคิดแบบนี้ เขาคิดได้ยังไง มีอะไรเซอร์ไพรส์ตลอด บางครั้งอาจไม่ได้อยู่กับลูกบ่อยเท่ากับภรรยา แต่มีอะไรที่เจ๋งๆ อยู่เสมอ ในแทบทุกสัมมนา ผมชอบเล่าเรื่องลูกตลอด เพราะเป็นเรื่องจริง ผมไม่ชอบเล่าจากหนังสือเรื่องโจ๊ก ฮาๆ มันอาจไม่ได้ฮาขนาดนั้น แต่จริงดี มีอันหนึ่งที่คลาสสิก เกือบทุกสัมมนาผมต้องเล่า จะบอกว่าลูกสาวผม น้องรุ้งคนโต ตอนที่เขาอายุ 4-5 ขวบ พาเขาไปเที่ยวทะเลบางแสน แล้วก็อยู่ชายหาดกัน เขาก็เอาไม้เขียนบนหาดทรายว่า รักป๊า และวาดรูปหัวใจ คนเป็นพ่อเป็นแม่ตื้นตันซึ้งอยู่ริมหาด สักพักน้องรุ้งกระซิบข้างหูผม ผมไม่ลืมเลย น้องรุ้งบอกว่า “ป๊าขา หนูจะฝังป๊าไว้ที่นี่ค่ะ” (หัวเราะ) เมื่อกี้ยังรักป๊าอยู่เลย แล้วนี่ฝังหลุมศพหรืออะไรเนี่ย ผมชอบเล่าเรื่องทำนองนี้ เป็นเมมโมรี่ที่จะเล่าได้ตลอด ครอบครัวเป็นพื้นฐานความสุขของมนุษย์ เบนจามิน ดิสราเอลี บอกว่าไม่มีความสำเร็จนอกบ้านที่ไหน จะมาชดเชยความล้มเหลวในบ้านได้ ผมเล่าเรื่องลูกเมื่อกี้ แล้วมาเข้าประโยคที่ว่าถ้าเกิดในบ้านคุณล้มเหลว เอาความสำเร็จข้างนอกมาชดเชยยังไงก็ไม่ได้ ผมเอาความสนุกในครอบครัวมาเล่าให้ไปทำกับครอบครัวตัวเองบ้าง

GM : คุณสอนลูกๆ ยังไง มีวิธีการสอนแบบไหน

วิสูตร : จะมีโมเมนต์หนึ่งในแต่ละวันที่ผมรู้สึกว่ามีคุณค่า และพยายามจะทำให้ได้ คือตอนก่อนนอน พ่อแม่น่าจะใช้เป็นควอลิตี้ไทม์ ในการคุยกับลูกก่อนนอนหรือเล่านิทาน สกิลล์หนึ่งที่คิดว่าทำให้เราพูดได้เก่ง ก็มาจากการเล่านิทานให้ลูกฟังนี่แหละ ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ มันเจ๋งจนผมคิดว่ามาทำเวิร์กช็อปได้เลย แน่นอนว่าเริ่มจากเบสิก นิทานสโนว์ไวท์ เล่าไปจนเริ่มไม่รู้จะเล่าอะไร เขาเริ่มอ่านหนังสือได้แล้ว จะเริ่มบอกว่าเคยอ่านแล้ว ทีนี้ต้องพัฒนาสกิลล์ไปสู่ขั้นที่สอง คือแต่งเรื่องขึ้นเอง มั่วแต่งขึ้นมา พอเล่าจบ เขาบอกต้องมีภาคสอง เอาตัวละครเดิมมาใช้ใหม่ เราต้องแต่ง เด็กโคตรจำแม่น บางทีไปถึงภาคห้า ภาคหก เขาจำได้ว่าตัวนี้ตายไปแล้วตั้งแต่ภาคหนึ่งไม่ใช่เหรอป๊า ต้องฟื้นคืนกลับมาใหม่

หลังๆ ไม่รู้จะเล่าอะไร ทีนี้เล่าตำนานของตัวเอง ว่าตอนเด็กป๊าเป็นแบบนี้นะ ตำนานร้านแถวบ้าน ของเล่นของป๊า ผมสอนลูกด้วยการเล่าเรื่อง ล่าสุดแอดวานซ์ไปอีกขั้น ดันพาเขาไปร้านของเล่น Toy Are Us มีเครื่องฉายสไลด์ เทียบกับสมัยก่อนเวลาเราเรียน มีเครื่องปิ้งแผ่นใส แต่เป็นเครื่องของเด็ก วาดรูปอะไรไปจะขึ้นมาบนเวทีฉาย ทีนี้ต้องเล่านิทานประกอบภาพด้วย มี 6 แผ่น ทำให้เป็นเรื่องให้ได้ก่อนที่เขาจะนอน ดูแอดวานซ์ไหมล่ะ และล่าสุดนี่คือเขาขอวาดรูปเอง วาดอะไรมั่วๆ ผมต้องเอามาแต่งเป็นนิทานให้ได้ เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบสดๆ เขาวาดรูป 6 รูป ผมเอามาแต่งได้หนึ่งเรื่อง ครีเอทีฟเวิร์กช็อปชัดๆ เขาจะได้เรียนรู้ บางเรื่องสอนแทรกตรงนั้นตรงนี้ไป

ก่อนนอนมีคำถามหนึ่งที่พยายามถามย้ำเขา อาจจะไม่ได้ทุกวัน จะถามว่าหนูรู้มั้ย หนูเกิดมาทำไม เพื่ออะไร เขาก็ไม่รู้หรอก ผมก็จะบอกว่า “หนูเกิดมาเพื่อมีความสุข อย่าลืมนะลูก ย้ำเขาตลอด” พูดง่ายๆ คือ ผมพยายามจะห่อความคิดเขาก่อนจะนอน แล้วก็ Kiss Goodnight บอกรักเขาตามปกติ ผมว่าจริงๆ ลึกๆ ผมอาจจะมีปม หลายๆ คนอาจจะเป็น ตอนเด็กถูกบังคับให้ทำแบบนั้นแบบนี้ พอมีลูก ผมว่าหลายคนจะทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่ถูกเลี้ยงมา เราอยากทำแบบนี้ แต่เราไม่ได้ทำ ก็เอามาใช้กับลูก ในมุมของผม ลูกอยากทำอะไรก็ทำ ชอบวาดรูปก็วาดเลย อยากเรียนอะไรเรียนเลย

GM : คุณสอนลูกด้วยแนวคิดจากหนังสือของตัวเองด้วยหรือเปล่า

วิสูตร : ใช่ครับ ก็บอกแบบนี้ บางทีเล่าเรื่องหนังยางล้างใจ ก็บอกว่าหนูรู้มั้ยลูก ว่าคนที่หนูคุยด้วยมากที่สุดคือใคร เขาก็จะบอกเพื่อน ผมก็บอกไม่ใช่ หนูคุยกับตัวเองมากที่สุด แล้วผมก็ถามต่อ หนูรู้มั้ยว่าคุยอะไรกับตัวเอง ลูกบอกไม่รู้ ผมก็บอกว่าหนูบ่นกับตัวเองมากที่สุด ว่าฉันไม่ชอบแบบนั้นแบบนี้ ครูสอนน่าเบื่อจัง หนูบ่นกับตัวเองตลอดเวลา หนูรู้มั้ยว่าผู้ใหญ่หลายคนเขาก็บ่นตลอดเวลา หนูจำได้ไหม ป๊าเคยถามว่าหนูเกิดมาเพื่ออะไร เขาตอบว่าหนูเกิดมาเพื่อมีความสุข ผมก็สอนเขาว่าเนี่ย ถ้าหนูอยากมีความสุขนะลูก หนูต้องเลิกบ่น ถ้าหนูบ่น ความสุขจะไม่เข้ามา คิดได้เมื่อไหร่ ต้องเลิกบ่น

โชคดีมาก ปีนี้มีการ์ตูน Inside Out มันเอาจิตวิทยามาทำการ์ตูนได้ดีมาก Inside Out จะบอกว่ามีตัวละคร 5 ตัวที่ควบคุมเราอยู่ มันมีตัว Joy ความรื่นเริง Sadness ความเศร้าสร้อย มีตัวโกรธ อะไรแบบนี้คุมเราอยู่ ตอนที่เรารู้สึกยังไง คือ ตัวนั้นคุมเราอยู่ ก็พาลูกไปดูเรื่องนี้ ผมว่ามันดีมาก หลังจากนั้นสื่อสารกับลูกได้ง่ายมาก ถ้าเขาหงุดหงิดโมโห ผมจะถามว่าตอนนี้ตัวอะไรควบคุมหนูอยู่ ตัวที่มันโกรธใช่มั้ย ชอบมั้ย เขาบอกไม่ชอบ ผมถามอยากเป็นตัวอะไร เขาบอกอยากเป็นจอย เป็นตัวที่สดชื่น ร่าเริง งั้นเอาตัวจอยเปลี่ยนกลับมาสิ

GM : การมีครอบครัวที่่ต้องรับผิดชอบ ทำให้จิตใจของคุณกลัวหรือกังวลอยู่มั้ย

วิสูตร : ผมว่าทุกคนมีความรู้สึกนั้น ไม่ใช่กลัวแบบว่าจะกลับไปหมดตัว แต่กลัวว่าสิ่งนั้นจะสำเร็จได้อย่างที่คิดหรือเปล่า ทุกครั้งที่จัดสัมมนา จะมีคนมาเรียนหรือเปล่า หนังสือออกไปจะโดนมั้ย แต่ผมชอบความกลัวแบบนี้ เพราะเราเป็นคน เราจึงกลัว ทุกครั้งที่ขึ้นไปพูด ก็ยังกลัว แต่ผมก็บอกว่าดีแล้ว กลัวแปลว่าเราใส่ใจกับมัน แปลว่าเราอยากทำให้มันดีขึ้น ฉะนั้นความกลัวเป็นเรื่องดี

GM : คุณกลัวอะไรที่สุดในชีวิตตอนนี้

วิสูตร :  ไม่นับกลัวเมียใช่มั้ย (หัวเราะ) อืมม์…นึกไม่ออก ก็กลัวว่าสิ่งที่ทำๆ อยู่นี้จะสำเร็จหรือเปล่า สิ่งที่กลัวและเตือนตัวเองตลอดเวลา คือกลัวจะคิดว่าตัวเองรู้แล้ว กลัวจะคิดว่าตัวเองฉลาด คือเมื่อไรก็ตามที่เราคิดว่าฉลาดทีไร ส่วนใหญ่เราโง่ทุกที เป็นแบบนี้มาตลอด อันนี้กลัวคิดว่าเรารู้แล้ว กลัวว่าเราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล กลัวว่าเราจะตัดสินคนอื่น

GM : สุดท้ายเป้าหมายของชีวิตมนุษย์คืออะไร

วิสูตร : ความรวยเป็นทางผ่านที่เราควรจะมีนะ เรารู้ว่าการรวยมันยาก เราอยากทำอะไรที่มันง่าย ผมว่าความรวยเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำให้ได้นะ ความรู้สึกนั้นเมื่อเรารวยแล้ว ควรไปให้ถึง รอดแล้ว ไม่มีวันกลับมาจนอีกแล้ว ไม่ต้องคิดอีกแล้ว ว่ากาแฟแก้วละ 70 บาทนี่มันแพงจัง เก็บเงินกินข้าวดีกว่า ไม่ต้องคิดแล้วแบบนั้น เราทุกคนควรไปให้ถึง

แต่ในภาพใหญ่กว่านั้น เป้าหมายของมนุษย์ทุกคน ผมพูดไว้หลายที่เหมือนกัน ผมเชื่อว่ามนุษย์เกิดมา เราไม่อยากแค่เกิดมาแล้วตายจากไป โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นบนโลกนี้เลย เรารู้สึกต้องฝากอะไรบางอย่างให้โลก ฝากในที่นี้ ไม่ได้แปลว่าต้องดัง แค่ฝากอะไรไว้กับครอบครัว อยากถ่ายทอดความคิดอะไรบางอย่างให้กับลูก นี่แหละคือสิ่งที่คิดว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อส่งผ่านประสบการณ์ความคิดของเขาไปสู่ลูกหลาน ผมคิดว่าแบบนี้ เราเกิดมาเพื่อทิ้งอะไรบางอย่างไว้

GM : กลับบ้านวันนี้ทำอะไร แผนการใช้เวลาช่วงท้ายของวันแบบไหน

วิสูตร : ไม่มีอะไรแล้วครับ กลับไปเย็นนี้ ถ้าลูกมีการบ้าน ก็จะช่วยดูว่าทำอะไรยังไง เด็กสมัยนี้ผมงงมากว่าทำไมการบ้านเยอะขนาดนี้ กับอันนี้แหละที่ต้องเตรียมว่าลูกผมจะวาดรูป 6 แผ่น แล้วผมต้องสร้างเป็นนิทานอะไรดี ลูกสาว 2 คนนี้เป็นแฟนคลับผม จะถามตลอดเลยว่าวันนี้เล่ามั้ย ถ้ากลับบ้านช้า ก็จะโดนโวยแล้วว่าต้องชดเชย อย่างวันนี้ผมคงต้องเล่า 2 เรื่องเลยละ

 ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเราทั้งหมด มันเริ่มจากว่าเรารักตัวเราเองแค่ไหน โลกข้างนอกที่เราเห็นนั้น แท้จริงแล้วก็คือภาพสะท้อนตัวเรา เราคิดว่าคนอื่นเป็นอย่างไร จริงๆ ก็คือเราคิดว่าตัวเราเป็นอย่างนั้นนั่นแหละ

Rich Dad Poor Dad พ่อรวยสอนลูก

– โรเบิร์ต คิโยซากิ

ผลงานโด่งดังของ โรเบิร์ต คิโยซากิ ที่พูดถึงเรื่องเงิน 4 ด้าน การแบ่งประเภทการทำงานและหนทางสู่ความรวย ซึ่งต่อมาก็มีซีรีส์หนังสือด้านการเงินออกมาอีกมากมาย

Brendon Burchard

เบรนดอน เบอร์ชาร์ด นักเขียนนักสร้างแรงบันดาลใจชาวอเมริกัน เขียนหนังสือขายดีอย่าง The Millionaire Messenger

Maxim Gorky

อเลกไซย์ แมกซิมอวิช เปชคอฟ หรือรู้จักกันในนาม แมกซิม กอร์กี (Maxim Gorky) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย เกิดเมื่อ พ.ศ. 2411 ที่เมืองนอฟโกรอด รัสเซีย บิดามารดาเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก เขาต้องออกมาใช้ชีวิตโดยลำพัง มีชีวิตยากลำบาก ครั้งหนึ่งเขาพยายามฆ่าตัวตายด้วยปืน แต่รอดชีวิตมาได้เพราะลูกกระสุนทะลุปอดตัวเอง ทำให้มีปัญหาสุขภาพตลอดมา งานเขียนชิ้นแรกของกอร์กีตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันท้องถิ่น ต่อมาได้เขียนบทละครและถูกนำไปแสดงเปิดโรงละคร เขาเริ่มมีชื่อเสียง กอร์กีอยู่ฝ่ายมาร์กซิสต์ งานเขียนของเขามีความคิดเอียงซ้าย จนถูกขึ้นบัญชีดำจากรัฐบาล กอร์กีเคยถูกจับกุมใน พ.ศ. 2448 แต่ในที่สุดก็ถูกปล่อยตัว ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงที่มีอิทธิพลระดับใหญ่ กอร์กีเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2479 เนื่องจากถูกวางยาพิษจากศัตรู พิธีศพของเขาถูกจัดที่จัตุรัสแดง ซึ่งคนสำคัญเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก เช่น โจเซฟ สตาลิน

ผมเลี้ยงหมาไว้ตัวหนึ่ง มีอยู่คืนหนึ่ง ตอนนั้นตีหนึ่งแล้ว ผมยังนั่งทำงานอยู่หน้าจอ รู้สึกล้ามาก พอมองออกไปหน้าบ้าน หมามันนอนหลับตั้งแต่หัวค่ำแล้ว แต่ผมยังไม่ได้นอน ตอนนั้นผมรู้สึกอิจฉาหมาขึ้นมาทันที มันสบายกว่าเราอีก (หัวเราะ) โมเมนต์นั้นแหละที่คิดว่าผมต้องทำอะไรบางอย่างกับชีวิตแล้วล่ะ

Secrets of The Millionaire Mind

– T. Harv Eker

หนังสือเล่มที่ขายดีของ ‘T. Harv Eker’ ผู้ก่อตั้งและประธานของบริษัท Peak Potentials Training บริษัทพัฒนาศักยภาพบุคคล วัยเด็กเขาไม่เคยมีเงินพอใช้เลย จนอายุ 13 ปี เขาจึงเริ่มทำงานด้วยการส่งหนังสือพิมพ์ ขายไอศกรีม ขายสินค้าแปลกใหม่ในงานแสดงสินค้า และขายโลชั่นทาผิวสีแทนที่ชายหาด หลังจากเรียนมหาวิทยาลัย เขาตัดสินใจใช้เวลาในการออกไปไล่ตามความฝันของเขาที่จะกลายเป็นเศรษฐี

The Radio 99.5

อดีตคลื่นวิทยุที่อัดแน่นด้วย DJ คุณภาพ พร้อมสไตล์การจัดที่แตกต่างหลากหลายพร้อมรายละเอียด เพลงแปลกใหม่ เพลงนอกกระแส มีรายชื่อนักจัดรายการคุณภาพอย่าง มาโนช พุฒตาล วิโรจน์ ควันธรรม เป็นต้น

Brian Tracy (ไบรอัน เทรซี่)

สุดยอดกูรูด้านพัฒนาตัวเอง หนึ่งในนักคิด นักพูดที่สร้างแรงจูงใจ ที่สร้างผลสำเร็จให้กับคนมาแล้วทั่วโลก เขาก่อตั้ง Brian Tracy International สถาบันฝึกฝนพัฒนาบุคคลและองค์กรอีกด้วย และมีผลงานหนังสือหลายเล่ม

The Power of Now : A Guide to Spiritual Enlightenment – Eckhart Tolle

หนังสือว่าด้วยพลังชีวิตที่ซ่อนอยู่ สามารถสัมผัสได้ มอบประสบการณ์ และนำพาไปสู่ ‘ชีวิตที่ดีกว่า’ เขียนโดย Eckhart Tolle นักเขียนด้านจิตวิญญาณชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก

ผมว่าความรวยเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำให้ได้นะ ความรู้สึกนั้นเมื่อเรารวยแล้ว ควรไปให้ถึง รอดแล้ว ไม่มีวันกลับมาจนอีกแล้ว ไม่ต้องคิดอีกแล้วว่ากาแฟแก้วละ 70 บาทนี่มันแพงจัง เก็บเงินกินข้าวดีกว่า ไม่ต้องคิดแล้วแบบนั้น เราทุกคนควรไปให้ถึง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ