fbpx

บัญชา ชุมชัยเวทย์ ผ่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ !

จากคำว่า ‘ซับไพรม์’ มาถึงคำว่า ‘วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์’ จากการล้มของเลห์แมน-สถาบันการเงินระดับยักษ์อันดับ 4 ของอเมริกา ดูเหมือนโลกเศรษฐกิจกำลังพังทลาย !

คำถามก็คือ วิกฤติที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา จะลุกลามเป็นโดมิโนมาถึงเมืองไทย มาถึงตัวเราหรือเปล่า โดยเฉพาะในยุคที่ข่าวสารข้อมูลแพร่หลายรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง และธุรกรรมทางการเงินก็พันพัวกันซับซ้อนเหมือนฝูงงูผสมพันธุ์ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองบอกเราว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่น่าจะกระทบกระเทือนเมืองไทย แต่ดูหน้าตาและเครดิตในอดีตของคณะรัฐมนตรีหลายคนแล้ว ผู้ฟังยังปลงใจให้เชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ยินผ่านหูไม่ได้ด้วยเหตุนี้ บ่ายวันที่ 25 กันยายน 2551 GM จึงอยากชวนคุณไปจับเข่าคุยกับ บัญชา ชุมชัยเวทย์ คนหนุ่มที่ ‘คลุก’ อยู่กับข้อมูลข่าวสารในเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งในระดับชาติและระดับโลก ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค นาทีนี้ต้องถือว่าเขาเป็นคนหนุ่มในสายงานนี้ ที่ถ่ายทอดความรู้และข้อมูลออกมาได้ชัดเจน ตรงเป้า เคลียร์ และเข้าใจง่ายที่สุดคนหนึ่ง

แม้เขาจะทำงานมากมายตลอดวัน 7 วัน ใน 1 สัปดาห์ แต่ GM ก็หาโอกาสบุกเข้าไปถึงห้องส่ง เพื่อนั่งถกกับเขาเนื้อๆ เน้นๆ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นที่อีกซีกโลกหนึ่ง ทำความเข้าใจกับมันด้วยการ ‘แลไปข้างหลัง’ พร้อมกับขอให้เขา ‘มองไปข้างหน้า’ เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง และสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะเกี่ยวพันกับตัวเราในเมืองไทยอย่างไรบางคำตอบฟังแล้วบรรเทาใจลงได้บ้างแต่เชื่อไหม, บางคำตอบก็น่าขนพองสยองเกล้าอย่างยิ่ง !

บทสรุปในความโลภของมนุษย์มักมาถึงในเวลาที่เราหลงระเริงอย่างที่สุด คิดว่าตัวเองกำลังเฟื่องฟูอย่างที่สุด วิกฤติเศรษฐกิจก็มักเกิดขึ้นอย่างนั้น เงียบเชียบ ไร้สัญญาณ ปุบปับ แล้วหายนะก็มาเยือนมาผ่าวิกฤติ มองดูเหตุและผล และสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ร่วมกันเตรียมรับมือไว้แต่เนิ่นๆ จะได้ไม่มีอะไรสายเกินไป !

GM : อยากให้คุณสรุปวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ให้ฟังอย่างง่ายๆ ว่าจากซับไพรม์มาสู่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และการล้มละลายของวาณิชธนกิจในอเมริกานั้นเกิดขึ้นในชั่วพริบตาได้อย่างไร

บัญชา : กลับไปพูดตั้งแต่ต้นตอมาเลยดีกว่าว่าที่เราเจอกันทุกวันนี้ คือวิกฤติสหรัฐฯที่เรียกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ มันมีต้นตอมาจากอะไร ต้องยอมรับว่าประมาณ 1 ปีเต็มๆ กันยายนปีที่แล้ว ต้นตอเกิดมาจากการที่ธนาคารแห่งหนึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าไปซื้อสัญญาเงินกู้บ้าน คำว่าสัญญาเงินกู้บ้านนี่เป็นภาษาแบบชาวบ้านๆ เลยนะ ถ้าเป็นภาษานักลงทุนเขาเรียกว่า ตราสารสินเชื่อ ปัญหาเกิดขึ้นตรงที่ว่ามีคนกู้เงินไปซื้อบ้านกันเยอะ แล้วด้วยระบบเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ ทุกคนเชื่อว่าดอกเบี้ยจะต่ำต่อไป ดอกเบี้ยจะไม่สูงขึ้น ก็เลยกู้เงินแบงก์ไปซื้อ ทั้งคนที่มีเครดิตและเครดิตไม่ดี ต่างวิ่งกู้ซื้อบ้านกันหมดเลย แล้วก็เกิดสภาวะเหมือนฟองสบู่สมัยปี 2540 คือคนกู้ก็กู้กันเยอะ พอกู้เยอะแล้วปรากฏว่าดอกเบี้ยขึ้น-ลงตามวงจรของเศรษฐกิจ เมื่อไหร่ก็ตามที่เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวดี แบงก์ชาติกับแบงก์แต่ละประเทศก็จะขึ้น

ดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้ GDP ขยายตัวเร็ว ไม่ให้เศรษฐกิจก้าวกระโดด พอเป็นจังหวะที่ดอกเบี้ยต้องขึ้น คนที่ไปกู้ซื้อบ้านแล้วเคยได้อัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วง 2-3 ปีแรก พอพ้นปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ยก็จะเป็นไปตามดอกเบี้ยปัจจุบัน ก็บังเอิญจังหวะมันพอดีว่าคนที่กู้เมื่อ 3 ปีก่อนเกิดวิกฤติเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ พอปีที่แล้วแบงก์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วย มันก็พอดีกัน พอมันพอดีกันปั๊บ ก็กลายเป็นจุดระเบิด

ในขณะเดียวกันบรรดาพวกบริษัทหลักทรัพย์วาณิชธนกิจที่เราเรียกกันว่า Investment Banking และธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่เป็นคนออกเงินกู้ให้คนกู้ซื้อบ้าน เขาก็เอาเงินกู้ตรงนี้ไปผสมกันจนกลายเป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง เป็นเครื่องมือทางการเงินประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Collateralized Debt Obligation หรือย่อว่า CDO ตราสารตัวนี้เป็นตัวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับต้นตอ ถ้าผมเป็นเจ้าของธนาคาร มีคนมากู้ซื้อบ้าน ผมก็ปล่อยเงินกู้ปกติ ก็เก็บค่าต๋งกินส่วนต่างดอกเบี้ย ทีนี้ผมก็จะมองว่า

ถ้าเราเอาไอ้ตัวนี้ไปทำอะไรเพื่อให้ผลตอบแทนกับผมในฐานะเจ้าของแบงก์ที่ดีกว่าเดิมได้มั้ย เพราะว่าผมได้อัตราดอกเบี้ยจากคนที่มากู้แล้ว แต่มันอาจไม่มากพอ รู้สึกว่ากำไรยังไม่ดีพอ ก็เลยเอาไอ้เจ้าตัวนี้ไปผสมกับเงินกู้อื่นๆ เช่น เงินกู้บัตรเครดิต เงินกู้ซื้อรถยนต์ แล้วก็เอาทั้งหมดมารวมกันกลายเป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง แล้วเอาไปขายต่อให้เจ้าหนี้คนอื่นๆ มาลงทุนในตราสารหนี้ของแบงก์ผม พอคนอื่นมาซื้อต่อ คนที่มาซื้อต่อก็เอาไปขายให้กับเจ้าหนี้คนอื่นต่อไป มันก็เลยทบๆๆ เป็นชั้นๆๆ ขึ้นไป นาย ก ที่เป็นลูกหนี้ของแบงก์ผม เขาไม่รู้หรอกว่ามีเจ้าหนี้ระดับอาวุโสอีกเยอะแยะเลย ที่เกิดจากการที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของตราสารหนี้ตัวนี้

ตรงนี้แหละที่มันยากมากขึ้น เพราะกลายเป็นว่า พอมันเกิดระเบิดขึ้นเกี่ยวกับตราสารตัวนี้ เวลาไล่เบี้ยกันลงมา โอ้โฮ! กลายเป็นว่าตราสารหนี้นี้มีเจ้าหนี้หรือธนาคารที่มาถืออีกตั้งร้อยแห่ง หลายเลเยอร์ไล่ลงมาหมดเลย พอเป็นอย่างนี้ก็กลายเป็นจุดที่สองที่เกิดระเบิดขึ้น เพราะว่าเมื่ออสังหาริมทรัพย์แตก ราคาบ้านจะตกทุกเดือน พอราคาบ้านตก มันก็กระทบกับสัญญาเงินกู้ตัวนี้ ทำให้มีค่าด้อยลง เพราะว่าราคาบ้านตก ลูกหนี้หมดปัญญาจะส่งบ้านได้ แบงก์เองก็จะเกิดอาการหนี้ถูกชักดาบหรือหนี้เสีย เพราะว่าลูกค้าไม่ส่งดอกส่งต้น กลายเป็นว่าสัญญาตัวนี้ที่เคยให้ผลตอบแทนกับเจ้าหนี้อีกตั้งร้อยกว่าคนดีมากๆ ผลตอบแทนก็จะเริ่มลดลง เพราะว่าต้นทางคือบ้าน ไม่สามารถส่งเงินต้นส่งดอกเบี้ยได้อีกแล้ว สมมุติว่ามีผลตอบแทนร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็จะลดลงมาเก้าสิบ แปดสิบ เจ็ดสิบ ศูนย์ จนกระทั่งติดลบ ความเจ๊งก็เกิดขึ้นไล่เบี้ย คนที่ถือสัญญาตัวนี้ สมมุติว่าเป็นอันดับที่ 100 ก็ขายอย่างเดียว ไม่สนใจแล้ว คิดดูสิครับว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกาใหญ่ขนาดไหน คนที่เป็นเจ้าหนี้ระดับร้อยก็ต้องเทสัญญานี้ทิ้ง ไม่ถือแล้ว ไม่ถือครอง ทีนี้พอทิ้งลงมาเรื่อยๆ จนมาถึงแบงก์ ปัญหาก็เลยลุกลามต่อตรงที่ว่าธนาคารที่เป็นเจ้าของตราสารหนี้เงินกู้คนแรก ก็จะเกิดปัญหาแล้วว่า ตราสารที่เราเคยออก เคยส่งผลกำไรให้ดี ก็ไม่ดีแล้ว นี่ขาแรก

ขาที่สองก็คือคนกู้ซื้อบ้านหมดปัญญาส่งดอกส่งต้น ชักดาบเรา กลายเป็นหนี้เสีย รายได้จากดอกเบี้ย จากการปล่อยกู้บ้านก็ไม่เข้า สองทางแล้วนะครับ แล้วในที่สุดตัวแบงก์ก็มีปัญหา กลายเป็นว่า นาย ก กู้เงินไปซื้อบ้าน บ้านหลังนี้ก็กลายเป็นหนี้เน่าธนาคาร เพราะว่าส่งดอกส่งต้นไม่ได้ สัญญานี้เคยกะว่าจะมีรายได้จากดอกเบี้ย จากการออกตราสารหนี้ไปลงทุน ก็ไม่มีรายได้เข้ามา เพราะว่าเจ้าหนี้เทขายหมด ไม่สนใจ ผลประกอบการของธนาคารก็เลยขาดทุน ติดลบมาโดยตลอด นี่ยกตัวอย่างเฉพาะแบงก์เดียวนะครับเมื่อรายได้ไม่เข้า หนี้ธนาคารพุ่ง ผลประกอบการออกมาติดลบ ก็สะท้อนออกไปที่ตลาดหุ้น ราคาหุ้นธนาคารก็ไม่สวย นักลงทุนที่ซื้อก็เทหุ้นตัวนั้นทิ้ง ดัมพ์ราคาลงมา นี่เป็นแค่ธนาคารเดียว ลูกหนี้รายเดียว และนักลงทุนที่มาซื้อตราสารหนี้เพียงแค่หน่วยเดียว แล้วคิดดูว่าธนาคารในสหรัฐฯนะครับ มีทั้งธนาคารระดับรัฐ ระดับประเทศ รวมถึงนักลงทุนก็ใหญ่เยอะแยะไปหมด ภาคอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกาถือว่าเป็นอุตสาหกรรมเบอร์สอง รองจากภาคบริการ คิดดูสิครับว่าพอทวีคูณ มันจะเกิดอะไรขึ้น

GM : ธนาคารในสหรัฐฯตอนนี้มีประมาณกี่แห่ง

บัญชา : ต้องแยกว่าเป็นธนาคารรัฐหรือธนาคารระดับประเทศ แต่ถ้าดูธนาคารรวมทั้งหมด ไม่ต่ำกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน แต่ว่าโดนหมด เพราะอะไรทราบมั้ยครับ

ผมยกตัวอย่างธนาคารหนึ่ง เวลาเขาขายตราสาร CDO ให้นักลงทุน เขาขายให้กับทั้งธนาคารระดับรัฐ ทั้งธนาคารระดับประเทศ ธนาคารต่างประเทศที่สนใจอยากจะซื้อตราสารหนี้ ขายหมดเลย ตราสาร CDO เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ที่พยายามสร้างผลตอบแทนแบบทวีคูณ โดยอาศัยโปรดักท์ที่มาจากตราสารสินเชื่อเงินกู้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้รถยนต์ บัตรเครดิต หรือบ้านที่อยู่อาศัย เงินกู้คอนโดฯ เงินกู้จิปาถะทุกรูปแบบ แล้วเอามารวมกัน แล้วก็เสนอผลตอบแทนดอกเบี้ยงามๆ ให้คนที่มาลงทุน แล้วมันกลายเป็นโดมิโน เป็น Spiral Effect เป็นทวีคูณ คือปกติเวลาผลกระทบมันจะหนึ่งต่อหนึ่ง แต่อันนี้กลายเป็นหนึ่งต่อสิบ เพราะฉะนั้นธนาคารก็เลยเริ่มมีปัญหาตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว (2550) ทำให้ทุกคนรู้จักคำว่าซับไพรม์เป็นครั้งแรก

ถ้าถามว่าแล้วตราสารกับหนี้ตัวไหนที่เป็นปัญหาแรก มันมาจากคำว่าสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime) ซับไพรม์เป็นศัพท์ทางเทคนิค เป็นศัพท์ที่ทางธนาคารรู้จักกันดีว่าเป็นประเภทหนึ่งของสินเชื่อบ้าน อย่างบ้านเรา เวลาไปขอกู้แบงก์ อย่างเก่งก็แค่วางเงินดาวน์เท่าไหร่ ตรวจสอบประวัติ เคยล้มละลายมั้ย เคยไปชักดาบที่ไหนหรือเปล่า แต่ในอเมริกา คนที่จะไปขอกู้แบงก์ได้จะต้องมีเครดิตสกอร์ของตัวเอง คือมีคะแนนความน่าเชื่อถือของตัวเอง แล้วก็วางเงินกู้ได้เท่าไหร่ 20 เปอร์เซ็นต์หรือต่ำกว่า ลูกค้าระดับปกติชั้นดีจะต้องวางเงินดาวน์ 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วต้องมีคะแนนความน่าเชื่อถือของตัวเองประมาณ 470 คะแนนขึ้น จากคะแนนเต็มประมาณ 500 คะแนนมาจากเครดิตบูโร (Credit Bureau) ซึ่งมีวิธีคิดคะแนนมาจากเวลามีบัตรเครดิตมาเก็บ มีการผ่อนชำระช้ามั้ย ผ่อนชำระเต็มจำนวนหรือเปล่า หรือผ่อนชำระแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ จ่ายตรงเวลาหรือเปล่า พวกนี้จะคำนวณออกมาเป็นสกอร์ เพราะฉะนั้นธนาคารต่างประเทศ เวลาให้กู้กันเขาจะดูสองอย่าง วางดาวน์ระดับ 20 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปหรือเปล่า คะแนนสกอร์เป็นยังไง พวกซับไพรม์นี่คือคะแนนก็ไม่ถึง แถมวางดาวน์ก็ไม่ถึงอีก

GM : แล้วทำไมธนาคารถึงปล่อยสินเชื่อ

บัญชา : มันกลับมาตรงที่ว่า ธนาคารในยุคก่อนหน้านี้ ดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯมัน 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดใน 46 ปี แล้วดอกเบี้ยตอนก่อน อลัน

กรีนสแปน (Alan Greenspan) ลงจากตำแหน่ง ดอกเบี้ยนี้ถูกตรึงมาประมาณไม่ต่ำกว่า 5 ปี ถามว่าทำไมธนาคารต้องปล่อย ก็เพราะธนาคารมองว่าดอกเบี้ยต่ำ ผลตอบแทนก็ต่ำ เพราะดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่ใช้คุมธนาคารทั่วไปมันมาจากตัวนี้ เมื่อดอกเบี้ยต่ำมากๆ ผมหมายถึงดอกเบี้ยแบงก์ชาติสหรัฐฯที่ใช้คุมพวกธนาคารทั่วไป เรารู้กันดีว่า แหล่งที่มาของรายได้ หลักๆ ก็คือส่วนต่างดอกเบี้ย ปกติลูกค้าชั้นดีทั่วไปเขาก็ปล่อยกู้อยู่แล้ว แต่ก็จะมีคนกลุ่มซึ่งเป็นทั้งคนผิวสี คนอเมริกันที่ยากจน แต่อยากจะมีบ้าน เมื่ออยากจะมีบ้าน แต่ว่าวางดาวน์ไม่ได้ 20 เปอร์เซ็นต์ ได้อย่างเก่งก็แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ 7 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าเช็กเครดิตสกอร์ คะแนนก็ 50 แต้ม แต่อยากมีบ้าน แบงก์ก็เลยตัดสินใจว่า ถ้าอยากทำผลตอบแทนดีๆ จากกลุ่มนี้จะทำยังไง ก็กลับมาทฤษฎีที่ว่า High Risk, High Return เมื่อคุณมีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็ต้องสูง

ถามว่าคนกลุ่มนี้อยากจะมีบ้าน แต่เครดิตสกอร์ก็ไม่ดี วางเงินดาวน์ก็ไม่ถึงมาตรฐาน เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้เสี่ยงมั้ย เสี่ยง แต่จะปล่อยสินเชื่อได้มั้ย ได้ แต่ผมก็ต้องให้คุณมารับความเสี่ยงกับผมด้วย ผมก็จะคิดดอกเบี้ยคุณแพงกว่าคนทั่วๆ ไปนะ คุณรับได้หรือเปล่า ทีนี้คนอยากมีบ้านอยู่แล้วนี่ เพราะเขาก็รู้ว่าสมัยนั้นดอกเบี้ยต่ำ ถอยไปเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ดอกเบี้ยต่ำก็จริง แต่มันก็จะต่ำ 3-4 ปีแรก เพราะปกติเวลาเราปล่อยสินเชื่อกัน 3-4 ปีแรกจะฟิกซ์ ปีที่ 5 ก็ขึ้นมา MLR ลบเท่าไหร่ก็ว่ากันตามดอกเบี้ยในยุคนั้น ก็เป็นที่มาของคนที่อยากจะมีบ้านแต่เครดิตไม่ดี ความน่าเชื่อถือต่ำ ความเสี่ยงสูง เข้าไปกู้ แบงก์ก็คิดดอกเบี้ยสูง แล้วไม่ใช่รายเดียว มันก็เป็นที่มาของคำว่า ซับไพรม์ ซึ่งมาจากคำว่า ไพรม์ หมายถึงอัตราดอกเบี้ยปกติ กู้ยาว 30 ปี อัตราดอกเบี้ยประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ นี่ถือว่าเป็นอัตราของสินเชื่อบ้านปกติ 30 ปี พอๆ กับบ้านเรา ส่วนซับก็คือใต้ ก็คือต่ำกว่ามาตรฐาน สื่อเราก็มาแปลว่า ด้อยคุณภาพ ด้อยกว่ามาตรฐาน

ตราสาร CDO มีการเอาไปขายให้นักลงทุนต่างประเทศด้วย ขายทั้งในประเทศ ทั้งต่างประเทศ พันกันอีนุง-ตุงนังไปหมด นี่คือสาเหตุแห่งต้นตอทั้งหมด พอมันเริ่มมีอาการแตกเมื่อกันยายนปีที่แล้ว นั่นก็คือสัญญาณแล้ว ซึ่งแตกมาจากธนาคารที่เข้าไปลงทุนซื้อตราสารประเภทนี้ พอเจ้าของบ้านเบี้ยวหนี้ไม่จ่ายเงิน เพราะว่าช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยเริ่มขยับ จากระดับ 1 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นมาทีละ 0.5-0.25 ไล่ขึ้นมาจนถึงสูงสุด 5.25 เปอร์เซ็นต์ นี่คือดอกเบี้ยแบงก์ชาติสหรัฐฯ

ทุกครั้งที่ดอกเบี้ยแบงก์ชาติขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนของแบงก์แต่ละแบงก์ต้องขึ้น มันก็จะไปสะท้อนกับพวกดอกเบี้ยของแบงก์ที่ปล่อยกู้ให้ลูกค้าเขาโดยตรง ก็ต้องปรับขึ้นตามดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ แล้วถามว่าดอกเบี้ยเริ่มขึ้นช่วงไหน มันขึ้นช่วงที่ เบน เบอร์นานกี (Ben Bernanke) มานั่งบริหารในช่วง 2 ปีพอดี ช่วงตอนที่ อลัน กรีนสแปน ลง ช่วงนั้นดอกเบี้ยยังนิ่ง 1 เปอร์เซ็นต์มาตลอด

GM : มีคนเปรียบเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นสึนามิทางเศรษฐกิจ แต่สึนามิลูกนี้ไม่ส่อวี่แววมาก่อนเลยหรือ อย่างตอนที่กรีนสแปนยังอยู่ในตำแหน่ง สึนามิไม่เกิด พอเบอร์นานกีมาเป็นแล้วเกิดเลย แสดงว่าคนคนนี้ฝีมือด้อยกว่ากรีนสแปน หรือเปล่า หรือมีการซุกข้อมูลอะไรมาตั้งแต่รุ่นกรีนสแปนแล้ว

บัญชา : ถ้าถามว่ามันเป็นความผิดของคนไหนมั้ย คิดอย่างแฟร์ๆ ก็ไม่มีใครผิดหรือใครถูก เพียงแต่ใครจะรู้สัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าก่อน เคสนี้เกิดขึ้น

ทุกคนไปตำหนิ อลัน กรีนสแปน ว่าคุณปู่นั่นแหละตัวดี เพราะคุณปู่ตรึงดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์เอาไว้นานมาก ถามว่าคุณปู่มีเหตุผลหรือเปล่า เขาก็มี เพราะว่าเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นตัวลด กรีนสแปนเข้าบริหารมา 18 ปี ผ่านเศรษฐกิจถดถอยครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2001 คือ 11 กันยายน พอเครื่องบินพุ่งชนตึก

เวิลด์เทรดปั๊บ เกิดภาวะถดถอย ตามมาด้วยสงครามอิรัก อุตสาหกรรมการบินจอดเครื่องบินไว้กับที่ แกก็ต้องลดดอก-เบี้ยลงมา แล้วก็ตรึงไว้ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นพวกแบงก์เองพยายามหาทางรอดหลายๆ อย่าง ก็ต้องกลับมาตรงที่ว่า พอทำไมเป็นเบอร์นานกีขึ้นมาแล้ว แผลมันแตกโพละขึ้นมา มีใครบอกสัญญาณล่วงหน้ามั้ย ก็ต้องยอมรับว่าไม่มีใครบอกสัญญาณนั้นเลย

ถามว่ากรีนสแปนรู้มั้ย ว่าพอลงจากตำแหน่งแล้วอีก 2 ปีเศรษฐกิจจะถดถอย ดอกเบี้ยซับไพรม์จะแตก ทุกอย่างกลายเป็นสึนามิขึ้นมา ผมคิดว่าเขารู้นะ แต่ช่วงที่ลงจากตำแหน่งแล้ว เขาคงจะบอกอะไรได้ไม่ทัน ผมเชื่ออย่างนั้น ส่วนเบอร์นานกีขึ้นมา ถามว่าเป็นมือใหม่ในฐานะผู้ว่าฯแบงก์ชาติมั้ย ผมบอกได้เลยว่าใหม่ เส้นทางเขามาจากนักวิชาการ ไม่ได้มาจากคนที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมสถาบันการเงิน พอเขาขึ้นมาปั๊บ เขารู้แต่เพียงว่าจะต้องแก้ช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัวโดยการขึ้นดอกเบี้ย ถ้าจะให้ความคิดเห็นส่วนตัวในการมองเคสที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าพวกธนาคารและสถาบันการเงินทุกแห่งที่เข้ามาเล่นในเกมนี้ที่เกี่ยวกับซับไพรม์ เป็นเพราะว่าพวกเขามีความต้องการสูงมาก (เน้นเสียง) จนเกินไปในแง่ผลตอบแทน

GM : อย่างที่ คุณสุทธิชัย หยุ่น เคยเขียนไว้ในกรุงเทพธุรกิจว่า เกิดจากความโลภของสถาบันการเงิน ?

บัญชา : ทุกคนกำลังได้ข้อสรุปอย่างนั้น ว่าเกิดจากความโลภของสถาบันการเงิน แต่ถ้าเจาะให้ลึก ต้องดูว่าใครเป็นเจ้าของสถาบันการเงิน ต้องกลับไปถามผู้ถือหุ้นว่าพวกคุณน่ะ เวลาเปลี่ยนคณะบริหารจัดการที คุณตั้งโจทย์ให้เขาว่าปีนี้ต้องกำไรเท่าไหร่ ปีนี้ราคาหุ้นของผมต้องเท่านี้เมื่อเทียบกับคู่แข่งและทั้งตลาด ถ้าถามผมจริงๆ นะครับ ต้องกลับไปที่กลุ่มผู้ถือหุ้น เพราะทุกเคสที่ผ่านมาในช่วง 10 ปี ผู้ถือหุ้นเป็นคนดีมานด์ ต้องการผลตอบแทนให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าตอบโจทย์ไม่ได้ ก็ประชุมผู้ถือหุ้น ปลดซีอีโอถ้าถอยไปสัก 60-70 ปี คนที่นั่งตำแหน่งซีอีโอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยเฉพาะบริษัทอเมริกันจะอยู่ได้ยาว แต่ในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ ซีอีโอไม่ใช่ตำแหน่งที่ถือว่าอยู่ได้ยาวนะ เพราะผู้ถือหุ้น จะเรียกร้องผลกำไรมากๆ เพิ่มขึ้นทุกปี เป็นแบบนี้ตลอด คุณทำไม่ได้คุณก็ต้องลงจากตำแหน่ง เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าเป็นความละโมบโลภมากของสถาบันการเงินหรือเปล่า ผมคิดว่านั่นยังไม่ใช่ต้นตอของปัญหา ต้องกลับไปที่ผู้ถือหุ้น ซึ่งก็มีทั้งสถาบัน ธนาคารถือกันเอง กองทุนถือกันเอง ไปจนถึงบริษัทหลักทรัพย์ ถือกันเอง แล้วก็กองทุนประกันความเสี่ยงเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) รวมถึงผู้ถือหุ้นรายย่อย ถ้าต้นทางคือผู้ถือหุ้นไม่ตั้งโจทย์ว่าปีนี้ผมต้องกำไรสูง ราคาหุ้นต้องดีกว่าปีที่แล้ว 25 เปอร์เซ็นต์ ผมถามว่าซีอีโอคนนั้นจะมีการบ้านที่ยากสำหรับชีวิตเขามั้ย ถ้าสมมุติบอกว่า ทุกอย่าง 10 เปอร์เซ็นต์หมด สมเหตุสมผลตามวงจรเศรษฐกิจ ผมว่าซีอีโอคนนั้นก็ยังแฮปปี้ ยังอยู่ได้ในการบริหารของเขา ถ้าโทษนะ ผมว่าต้องโทษผู้ถือหุ้น

GM : ที่คุณบอกว่ากรีนสแปนอาจจะรู้แต่บอกไม่ทัน เป็นไปได้ไหมว่า จอร์จ บุช ไม่อยากให้บอกมากกว่า

บัญชา : การเมืองกับเศรษฐกิจของอเมริกาจะแยกออกจากกันเลย ความเป็นอิสระในการบริหารนี่แยกขาดอย่างสิ้นเชิงเลยนะครับ แต่ผมว่าก็เป็นไปได้ว่า ไหนๆ ผมก็จะลงจากตำแหน่งสิ้นปีนี้แล้ว คุณเองก็บอกอยู่แล้วว่าคุณไม่ต่อ คุณอายุเยอะแล้วนี่ ตอนที่ลงจากตำแหน่ง อลัน กรีนสแปน อายุ 79-80 ปีแล้ว ผมว่าอาจจะมีการประนีประนอมที่จะไม่บอกหรือว่าอะไรบางอย่าง ซึ่งถ้าเป็นจริงอย่างนั้น ก็ถือว่าชื่อเสียงของ อลัน กรีนสแปน ที่สั่งสมมาแย่มากเหมือนกัน แต่ถ้ากลับมาเทียบกับเคสปี 2540 บ้านเรา ถามว่ามีใครเป่านกหวีดบอกหรือเปล่าว่าอุตส่าห์ไปกู้เงินต่างประเทศมา กู้ยาวมาปล่อยสั้น แล้วแบงก์หรือว่าไฟแนนซ์ 56 แห่งนั้นน่ะ มีใครบอกบ้างว่าปีหน้าแตกนะ จนกระทั่ง 1 กรกฎาคม 2540 ต้องปล่อยค่าเงินบาท มันไม่มีใครบอกเหมือนกัน คือวิกฤติการเงินทุกครั้งย้อนกลับอดีตจนถึงปัจจุบัน มันเป็นคลาสสิกเคส คนที่มีอำนาจมักจะไม่ส่งสัญญาณหรอกว่ากำลังจะเกิดวิกฤติอะไรในอุตสาหกรรมการเงินข้างหน้า เราลองย้อนกลับไปดูก็ได้

ผมว่าบุชอาจจะมองในฐานะที่ว่าปีนี้เขาบริหารอยู่ในตำแหน่งประธา- นาธิบดีปีสุดท้าย การลงจากตำแหน่งของเขา ถ้าจะมีแผลเกิดขึ้นก็ปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นตัวตัดสินว่าจะเลือกใครเข้ามาบริหารแล้วแก้ปัญหาต่อไป สังเกตจากครั้งนี้ที่เกิดขึ้น บุชพยายามโลว์โปรไฟล์ เขาพยายามไม่แตะหรือพูดถึงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ จนกระทั่งระยะหลังต้องออกมาพูด ต้องใช้ทีวีแถลงทั่วประเทศ เพราะเขาคิดว่ามันเกินกว่าที่เขาคิดแล้วละ ตอนนี้กลายเป็น เรื่องของการเมืองแล้ว ส.ว. ในอเมริกา ซึ่งรัฐสภาปัจจุบัน ส.ว.-ส.ส. ของเดโมแครตมากกว่ารีพับลิกัน เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนที่นั่ง เพราะฉะนั้นถ้าเขายิ่งปล่อยปัญหา ก็ดูเหมือนเขาไม่รับผิดชอบ ก็จะเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับพรรคของเขาที่ จอห์น แมคเคน จะต้องหาเสียงแล้วก็ตะลุยต่อมันจึงมีทางเลือกสองทาง คือหนึ่ง, ถ้าลงมาแก้ อย่างน้อยแค่บรรเทา แต่ไม่จบ คะแนนที่คนจะเลือกรีพับลิกันก็มีโอกาสอยู่ แต่ถ้าคุณทิ้งปัญหา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประธานาธิบดีใหม่ แมคเคนก็จะตกที่นั่งลำบาก หาเสียงให้ตายยังไงคนก็ไม่เลือกคุณ โพลล่าสุดของ CNN ถามว่า ใครคือคนที่จะต้องรับผิดชอบต่อวิกฤติการเงิน คนชี้ไปที่พรรครีพับลิกัน 47 เปอร์เซ็นต์ โอบามาถึงจะไม่เก่งเรื่องเศรษฐกิจ แต่เขาก็คือเดโมแครตที่รอมา 8 ปี แล้ว 8 ปีที่แล้วอย่าลืมว่า บิลล์ คลินตัน เป็นคนที่บริหารเศรษฐกิจขาขึ้นยุคนั้นได้ดีมาก เศรษฐกิจขยายตัว เงินเฟ้อต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ครั้งนี้ผมถึงบอกว่า คนอเมริกันจะตัดสินใจเลือกด้วยประเด็นเศรษฐกิจมาอันดับหนึ่ง

GM : ระหว่างโอบามากับแมคเคน คุณคิดว่าใครขึ้นมาแล้วจะมีผลทางลบทางบวกกับเมืองไทยอย่างไรบ้าง

บัญชา : สองพรรคนี้มีหลักการที่เป็นจุดขายต่างกัน แต่ละยุคแต่ละสมัยที่ขึ้นมาก็จะมีหลักของเขาชัดเจน เดโมแครตเน้นในเรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม แรงงาน ความเท่าเทียมและเสมอภาคของสิทธิมนุษยชน รีพับลิกันจะตรงข้ามกันเลย เน้นเรื่องของการเจริญเติบโต การเมืองที่เป็นสายเหยี่ยว ทุกอย่างอยู่ที่เรื่องของทุน เศรษฐกิจ ลุย แล้วก็เน้นเรื่องการมีอำนาจบารมีทางการเมืองในเวทีโลกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สองพรรคนี้จะมีหลักการที่ต่างกัน ซึ่งก็มีทั้งบวกและลบ แล้วก็ต้องอาศัย Combi- nation ตรงนี้ร่วมกัน ทุกครั้งที่อเมริกามีปัญหากับชาวบ้าน โดยเฉลี่ยมักเกิดในยุคของรีพับลิกัน กลับไปดูประวัติ- ศาสตร์ได้เลย

ส่วนผลกระทบกับไทย ถ้าสมมุติว่าโอบามามาแน่, นอนมา ก็จะกลับไปเหมือนสมัย บิลล์ คลินตัน คือเวลาทำการค้า เราก็ต้องนึกถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิทางปัญญา สิทธิเสรีภาพในเรื่องแรงงานและสิทธิมนุษยชนจะเข้มข้นมากขึ้น แต่ถ้ารีพับลิกันมา การเมืองจะเป็นการเมือง ค้าขายก็เป็นค้าขาย ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจ รีพับลิกันจะมีเปอร์เซ็นต์ในการกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจระหว่างกันได้ดีกว่าเดโมแครต คือรีพับลิกันแยกเลยนะ การเมือง สงคราม การค้า คุยได้ทุกเรื่อง ถ้าทะเลาะกันก็ทะเลาะเป็นเรื่องๆ ไป แต่เดโมแครตจะสนใจหมด แล้วก็จะชั่งน้ำหนักเป็นกลางๆ ถ้ารีพับลิกัน ขนาดรัสเซีย ปูตินกับบุชทะเลาะกันอยู่ แต่บริษัททั้งหลายก็ยังค้าขายกันต่อ ไม่มีปัญหา เพราะค้าขายก็คือค้าขายคนอเมริกันมักจะให้โอกาสแต่ละพรรค 8 ปีติดต่อกัน พรรคไหนขึ้นก็จะ 8 ปี พรรคใหม่มาก็ 8 ปีจบ ถ้าสมัยนี้เดโมแครตขึ้นมาได้ ก็น่าจะอยู่ได้ถึง 8 ปีด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าครั้งนี้มันมีข้อที่จะว่าน่ากลัวก็น่ากลัว คือที่เป็นประธานาธิบดีผิวสี นี่คือความน่ากลัว คนอเมริกันส่วนใหญ่บอกว่าจะเปลี่ยน แต่อย่าลืมว่าการที่คนผิวสีขึ้นมาได้นี่ โอ้โฮ !

GM : มีคนบอกว่าคนอเมริกันยังไม่พร้อมจะเปลี่ยน White House เป็น Black House

บัญชา : ใช่, ยังไม่พร้อม (หัวเราะ) ผมยังกลัวเลยว่าถ้าโอบามาขึ้นมา อาจเกิดหลายอย่างเลยนะ แม้แต่ถึงขั้นมีการลอบสังหาร จะเป็นเคนเนดี้ 2 เพราะคำว่าสีผิวในอเมริกานี่ฝังรากลึกมาก คนรุ่นใหม่ๆ ยอมรับ แต่ไม่ใช่คนรุ่นเก่าๆ ตั้งแต่สมัยเบบี้บูมเมอร์ แล้วทุกวันนี้โครงสร้างเศรษฐกิจมันเป็นอาวุโสเยอะขึ้นเรื่อยๆ คนเหล่านี้ยังอยู่ แล้วยังมีความคิดต่อต้านสีผิวเยอะมาก คนกลุ่มนี้โดยสิทธิในการไปลงคะแนนอาจจะไม่ได้แล้ว แต่อย่าลืมว่าพวกนี้อยู่เบื้องหลังพวกกลุ่มแก๊งหรือมาเฟีย ทุกอย่างเชื่อมต่อกันอยู่

GM : พอจะพูดได้มั้ยว่า วิกฤติครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อโอบามา

บัญชา : ในทางการเมือง การหาเสียงถือว่าเป็นผลดีของเขา

GM : แต่ถ้าได้ขึ้นมาก็ถือว่าเหนื่อยเหมือนกัน เพราะต้องรับความเลอะเทอะเปรอะเปื้อนมาจากรีพับลิกัน แล้วเขาจะจัดการอย่างไร

บัญชา : ใช่, เพราะถ้าถามว่าความเสียหายอยู่ตรงไหน เน็ตๆ ไม่มีใครบอกได้ว่าอยู่ตรงไหน IMF บอกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทุกวันนี้แบงก์ชั้นนำของอเมริกาตัดหนี้สูญถึงไตรมาสที่ 3 ข้อมูลล่าสุดนี่ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯยังไม่พอ ก็ยังต้องตัดต่อไปอีก ขนาดแผนอุ้มตัวนี้ กระทรวงการคลังไปคิดตัวเลขมา 7 แสนล้านเหรียญ 23 ล้านล้านบาท พอมั้ย ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าพอหรือไม่พอ ว่าจะเอาเงินงบประมาณ 23 ล้านล้าน อัดเข้าไปแก้ในสถาบันการเงิน โดยการซื้อหนี้เสีย ซื้อหนี้เน่า ซื้อตราสารที่เป็นปัญหากลับมา แล้วจบหรือเปล่า

สูตรมันอยู่ตรงนี้ครับ ทุกครั้งของการแก้วิกฤติทางการเงิน ไม่พ้นภาษีประชาชน ผมบอกได้อย่างนี้ อเมริกามีเคสที่เกิดขึ้นทั้งหมด 12 เคส ที่เกี่ยวกับวิกฤติการเงิน ตั้งแต่สมัย 1907 แต่ว่ามาดังตอน 1930 The Great Depression แล้วก็เรื่อยมาจนกระทั่งปี 2008 ทุกครั้งจบตรงที่ว่า เอาเงินภาษีของคนอเมริกันใส่เข้าไปแก้ปัญหาสถาบันการเงิน เพียงแต่ว่าบทบาทตั้งแต่เมื่อ 80 ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ องค์กรแต่ละองค์กรมันต่างกัน ยุคแรกๆ นี่ Federal Reserve หรือแบงก์ชาติสหรัฐฯยังไม่เกิด ยุคนั้นก็รัฐบาลใส่เงินเข้าไป แล้วพอมาหลังๆ รัฐบาลตั้งองค์กรขึ้นมาช่วย ก็เป็นบริษัทประกันเงินฝากแห่งชาติของสหรัฐฯ เวลาเกิดวิกฤติการเงิน ก็ใช้บริษัทตัวนี้เข้าไปยึดกิจการ แล้วก็จ่ายเงินให้กับคนอเมริกันที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก แล้วก็แก้โดยการซื้อหนี้เสีย ทุกครั้งจบด้วยการเอาเงินประชาชนเข้าไปใช้ งบประมาณก็จะขาดดุล

GM : ครั้งนี้คิดว่าจะจบอย่างไร แล้วถ้าสภาคองเกรสอนุมัติหรือไม่อนุมัติ จะมีผลอย่างไรต่อไป

บัญชา : ผมว่าตอนนี้มันกลายเป็นประเด็นการเมืองแล้ว จากที่ผมจับกระแสแล้วดูจากข่าวมาเรื่อยๆ ครั้งแรกมันน่าจะจบตรงที่สองพรรคจับมือกัน ร่วมกันแก้ปัญหาว่าจะจบยังไง แต่ตอนนี้มันกลายเป็นการเมืองนิดๆ ขึ้นมาแล้ว เพราะว่าเงิน 7 แสนล้าน เฮนรี พอลสัน (Henry Paulson) เป็นคนเสนอ เขาเป็นรัฐมนตรีฯคลังสหรัฐฯ คนที่แต่งตั้งก็คือบุช-เฮนรีมาจาก โกลด์แมน แซคส์ พอคนนี้เสนอ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ตอนแรกทางเดโมแครตก็จะยกมือผ่าน แต่ข่าวล่าสุดที่เห็นก็คือ เกิดคำถามว่า หนึ่ง, ตัวเลข 7 แสนล้านเหรียญนี่พอหรือเปล่า สอง, 7 แสนล้านเหรียญนี่ ตกลงคุณเอาไปซื้อหนี้แค่เฉพาะอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวหรือเปล่า หรือคุณจะเอาไปซื้อหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ที่มันเน่าอยู่ด้วย คุณจะเอาไปทำอย่างนั้นด้วยไหม คือพอมันใกล้หน้าเลือกตั้ง ทุกคนก็จะต้องปกป้องผลประโยชน์ของคนอเมริกัน ถ้าเดโมแครตยกมือผ่านง่ายๆ คนอเมริกันก็จะมองเหมือนกันว่า อ้าว! ถึงคุณจะมีภาษีดีกว่า แต่ตอนนี้คุณเอาภาษีประชาชน ไปอุ้มให้กับธนาคารที่มันไม่ใช่ความผิดของคนอเมริกันเลย ผมเชื่อว่ามันเป็นประเด็นทางการเมืองหน่อยๆ ถ้าถามว่า ครั้งนี้ผ่านแล้วจบมั้ย คือถ้ามองจากวิธีแก้ไขนะ ผมเชื่อว่าจบ เอาเงินจำนวนนี้ซื้อหนี้เสีย แล้วก็เปลี่ยนสถานะของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ให้มันเป็นลักษณะควบรวมกัน ลดจำนวนของพวกที่อ่อนแอ คือมันกลับไปสู่สูตรเดิมของปี 2540

อย่างตอนนี้ที่เกิดขึ้นคือ เลห์แมน บราเธอร์ส ล้ม ที่เหลือก็คือ โกลด์แมน แซคส์ ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เขารู้ว่าสถานะของตัวเองก็ไปไม่ไหวแล้ว ก็เลยขอเปลี่ยนสถานะ-ขออนุญาตแบงก์ชาติเป็นธนาคารพาณิชย์ อันนี้ถ้าจะพูดลึกกันต่อไป ก็ต้องไปดูเรื่องของโครงสร้างการควบคุมดูแล เป็นบริษัทหลักทรัพย์นี่ อยู่ภายใต้ กลต. สหรัฐฯ พอเปลี่ยนมาเป็นธนาคารพาณิชย์ ก็อยู่ภายใต้การดูแลของแบงก์ชาติสหรัฐฯโดยตรง เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ถ้าเกิดปัญหา จะต้องขอเงินกู้ การเปลี่ยนสถานะตัวเองจากบริษัทหลักทรัพย์มาเป็นธนาคารพาณิชย์ ภายใต้แบงก์ชาติดูแลร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็กู้เงินได้เร็ว ทำอะไรก็ได้เร็ว จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ มอร์แกน สแตนเลย์ กับ โกลด์แมน แซคส์ เปลี่ยนตัวเองมาเป็นธนาคารพาณิชย์

ผมว่าถ้าดูจากภาพที่จะออกมานับจากนี้ไปคืออะไร ถ้าสมมุติว่ารัฐสภาสหรัฐฯผ่านงบประมาณตัวนี้ ซื้อหนี้เสียทั้งหมด เสร็จแล้วก็ธนาคารไหน ซีเคียวริตี้ไหน หลักทรัพย์ไหนมีปัญหา ก็หาคู่แต่งงาน จับมาเมิร์ซให้กลายเป็นสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นมาใหม่เสียอย่าลืมว่า หนึ่ง, เศรษฐกิจของอเมริกาเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมมูลค่าเศรษฐกิจ สอง, ตลาดหุ้นหรือตลาดทุนนั้นใหญ่ที่สุดในโลก สาม, เงินทุนทุกวันนี้ที่อเมริกามีอยู่เป็นเงินไฟแนนซ์จากบรรดาประเทศต่างๆ ที่ไปถือพันธบัตรของเขา อย่างเคสนี้ 7 แสนล้านเหรียญนี่ ผมเชื่อว่าบางส่วนก็ต้องมาจากรัฐบาลสหรัฐฯออกพันธบัตร แล้วขายให้กับประเทศที่ร่ำรวยเพิ่งเกิดใหม่ เพราะฉะนั้น คำว่าเป็นเจ้าหนี้กับวิกฤติครั้งนี้ เชื่อเลยว่ามันจะออกมาอีหรอบนี้ คือเงินรัฐบาลก็ส่วนหนึ่ง ตราสารหนี้ก็ส่วนหนึ่ง พันธบัตรรัฐบาลก็ส่วนหนึ่ง ผมมองว่าถ้ามันควบกัน ถ้ามันใหญ่ขึ้น อย่าลืมว่าเศรษฐกิจอเมริกาที่ว่าเป็นตลาดทุนใหญ่ที่สุดในโลก โตขึ้นทุกปี มันก็มาจากการซื้อ-ขายควบรวมกิจการ ทำตัวเองใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มันคือวงจร

GM : นอกเหนือจากวิธีแก้ปัญหาแบบนี้ ยังมีวิธีอื่นไหม

บัญชา : ผมว่าถึงเป็นทางเลือกอื่น แต่โดยผลลัพธ์สุดท้ายก็คือต้องการเงินเข้ามาไฟแนนซ์ปัญหาที่เกิด ผลลัพธ์มันอยู่ตรงนี้ แต่วิธีน่ะ จะใช้อะไร ถ้าถามว่าวิธีคือออกตราสารหนี้ ออกพันธบัตรรัฐบาล แล้วให้รัฐบาลประเทศอื่นๆ มาถือครอง ก็ได้เงินมาแก้ปัญหาในตัวเอง

อันที่สองก็คือช่วงนี้ที่เงินดอลลาร์อ่อนค่ามากๆ เพราะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ก็ได้รายได้จากการส่งออกส่วนหนึ่งเข้ามาช่วยอยู่ด้วย แต่ว่าตัวนี้ไม่ใช่ Big Budget เพราะถือว่าน้อยกว่ามาก อเมริกาตอนนี้เปิดทุกประเทศ บอกว่า เฮ้ย! ยูเข้ามาซื้อสินทรัพย์ประเทศฉันสิ เพราะว่ามิดเดิลอีสต์ก็รวยจากน้ำมัน เงินมหาศาล กองทุนอาบูดาบีใหญ่ที่สุดในโลกทุกวันนี้ จีน อินเดีย อาเซียน ที่บอกว่า 10 ประเทศจับมือกันแล้วจะกลายเป็นหนึ่งในห้าของตลาดที่ใหญ่ เพราะฉะนั้นเงินทุกวันนี้

ที่ค้าขายมันไปอยู่ตามกลุ่มนี้ อเมริกาคิดอยู่เพียงอย่างเดียวว่า ทำยังไงให้เงินตัวนี้กลับมาหาตัวเอง เขาจะมองเห็นว่าเงินอยู่กระจุกนี้ อยู่ที่จีน อินเดีย อยู่ที่เอเชีย อาเซียน ทำยังไงจะกลับมาแก้ปัญหาตัวนี้ได้ วิธีหนึ่งที่แก้ปัญหาได้ก็คือการออกพันธบัตรรัฐบาล บริษัทชั้นนำที่จดทะเบียนอยู่นี่ ยูออกหุ้นกู้บริษัท ถือโดยต่างประเทศอะไรอย่างนี้ เป็นต้นผมว่าถ้าเป็นพวกบริษัทเอกชนที่เจอปัญหาอยู่ในตอนนี้ การขายสินทรัพย์น่าจะเป็นทางแรกเลย คือต้องตัดสินทรัพย์ที่เน่าและหนี้เสียของตัวเองออก แต่ในฐานะของรัฐบาล เขาจะไม่ลงไปยุ่งกับการตัดขายหนี้สินหรือสินทรัพย์ เพราะเขาถือว่าการทำงานแยกกันชัดเจน แล้วสหรัฐอเมริกานี่วิธีคิดก็คือปล่อยให้กลไกตลาดแก้ด้วยตัวเอง ทำไมเขาถึงปล่อยให้เลห์แมนฯล้ม นั่นคือเคสนี้

เพราะเลห์แมนฯเป็นเคสเอกชน แบร์ สเติร์นส์ เป็นเคสแรกที่เขาจำเป็นต้องเข้าไปอุ้ม เพราะมันคือเคสแรกที่เกิด แฟนนี่เมย์ เฟร็ดดี้ แม็ค เป็นกึ่งๆ รัฐบาลกับเอกชน ถามว่าทำไมต้องอุ้ม-ต้องอุ้มเพราะแม้ผู้ถือหุ้นจะเป็นเอกชน แต่ทุกครั้งที่ปล่อยสินเชื่อกู้ซื้อบ้านไปแล้ว คนที่ค้ำประกันคือรัฐบาล แฟนนี่เมย์ เฟร็ดดี้ แม็ค โครงสร้างมันกึ่งๆ ก็ต้องอุ้มไว้ เลห์แมนฯเป็นเอก 100 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาจากเรื่องซับไพรม์ สุดท้ายตัวเองก็ราคาหุ้นตก หนี้สูญพุ่ง ผลประกอบการแย่ รายนี้ไม่ช่วย ก็ต้องล้ม พอล้มเสร็จ ประกาศล้มละลาย พิทักษ์ทรัพย์สิน ตัดขายหนี้เสีย ทีนี้ใครสนใจจะซื้อ ธนาคารบาร์เคลย์สก็เข้ามาซื้อ บาร์เคลย์สมองว่า 3 เคสแรก คือ แบร์ สเติร์นส์ เฟร็ดดี้ แม็ค แฟนนี่เมย์ รัฐบาลยังอุ้ม เคสนี้ทำไมรัฐบาลไม่อุ้ม เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้บาร์เคลย์สเข้าไปถือในเลห์แมน บราเธอร์ส เพื่อต่อชีวิต ธนาคารกลางสหรัฐฯก็ต้องเอาเงินเข้ามาอุ้มสิ ใส่ผ่านบาร์เคลย์สก็ได้ เหมือนเคสแรกที่ เจ.พี. มอร์แกน เข้าไปอุ้มแบร์ สเติร์นส์ ดูเหมือนว่า เจ.พี. มอร์แกนเข้าไปอุ้มนะ แต่จริงๆ คือเงินจาก Federal Reserve คือจากแบงก์ชาติสหรัฐฯ ผ่าน เจ.พี. มอร์แกน

ที่เขาทำอย่างนั้นเพราะมันติดตัวบทกฎหมายบางอย่างที่ธนาคารกลางสหรัฐฯลงทุนเองไม่ได้ แต่ก็จะมีคำถามถามว่า อ้าว! แล้วแบร์ สเติร์นส์เป็นเอกชน แล้วทำไมต้องช่วย เพราะนั่นคือเคสแรก ตอนนั้นแบงก์ชาติก็ไม่รู้หรอกว่า ผลเสียหายมันจะขนาดนี้ แต่ปล่อยให้ล้มเลยยังไม่ได้ บาร์เคลย์สก็เลยยกหูด้วยเงื่อนไขเดียวกัน แต่ปรากฏว่าคุยกันแล้ว เคสนี้ไม่อุ้ม ปล่อยให้เลห์แมนฯล้มตามวิธีคิดของเขา

GM : เคสแรกจะเป็นเคสเดียวไหม ถัดจากนี้คงไม่มีอีกแล้ว

บัญชา : ไม่มีเคสของเอกชนอีกแล้ว เคสนั้นเป็นเคสแรกเลย เป็นเคสที่เป็นบทเรียนของเขาด้วย การใส่เงินเคสนั้นทำให้เกิด Second Question ขึ้นมากับ เลห์แมน บราเธอร์ส กับบาร์เคลย์ส บาร์เคลย์สก็จะถามว่า กับแบร์ สเติร์นส์คุณยังช่วยเลย นั่นก็เอกชน ทำไมคุณไม่ใส่เงินผ่านผมล่ะ แล้วผมก็เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ของเลห์แมนฯ แล้วก็ทำให้เลห์แมนฯไม่เชื่ออีกต่อไป พอการเจรจาไม่ลงตัว มันก็เลยจบ โดยวิธีของคนอเมริกันมีอยู่อย่างเดียว คือล้ม ประกาศพิทักษ์ทรัพย์สิน ตัดหนี้ทรัพย์สินขายทอดตลาด แล้วคนที่มาซื้อ ก็คือคนที่เข้าไปเจรจาคนแรก คือบาร์เคลย์ส แต่ซื้อในราคาถูกลง

GM : สำหรับประเทศไทย ตอนที่นายกรัฐมนตรี (สมชาย วงศ์สวัสดิ์) เข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ มีคนถามว่า เมืองไทยจะกระทบกระเทือนไหม ท่านบอกว่าไม่กระทบกระเทือนเท่าไหร่หรอก คุณสุทธิชัย หยุ่น ก็เขียนแสดงความเห็นว่า ถ้านายกฯรู้สึกว่าไม่กระทบกระเทือนเท่าไหร่ แสดงว่ามีความรู้ด้านเศรษฐกิจหน่อมแน้มมากๆ ตกลงคุณคิดว่าจะกระทบมากน้อยแค่ไหน คือถ้าเป็นสึนามิเกิดที่ฝั่งหนึ่ง คนอีกฝั่งหนึ่งจะไม่เป็นไร แต่กรณีนี้ถึงเกิดที่โน่น มันจะไม่กระทบกระเทือนจริงหรือ

บัญชา : ถ้าถามผม เวลามองคำว่ากระทบ เราต้องมองว่าเราเห็นผลของการกระทบนั้นแบบไหน สึนามิก็คือโรงแรมพัง คนตาย เกิดเฉพาะมหาสมุทรอินเดีย ถ้าเรามองผลกระทบของปี 2540 ก็คือบริษัทหลักทรัพย์ปิดหมด 56 ไฟแนนซ์ ถามว่าแล้วปีนี้ล่ะ หนึ่ง, แบงก์จะล้มหรือเปล่า เพราะภาพแบงก์ล้มปี 2540 อยู่ในหัวใจคนไทย ผมดูจากทุกอย่างแล้วนะ ผมเชื่อว่าจะไม่มีวันล้ม ส่วนถ้าถามต่อไปว่า แล้วผลของมันจะกระทบแบบไหน ตอบได้เลยว่ากระทบอยู่สองสามอย่าง หนึ่ง, ส่งออกบ้านเราที่นักวิชาการพูดกันนี่แหละ ระวังนะ หดตัวแน่ เพราะเราพึ่งตลาดอเมริกา ตัวเลขมันฟ้องเลยว่าหด แต่เราก็เก่งเพราะเราไปหาตลาดใหม่มาชดเชย แต่ตลาดใหม่ก็ไม่คุ้นเคยกับการเมืองบ้านเรา เวลามีรัฐประหารยึดอะไรบ้าบอคอแตก มันก็จะตกใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถามญี่ปุ่น ญี่ปุ่นบอกไม่มีอะไร สอง, มันจะกระทบสถาบันการเงินตรงที่ถ้าเขาจะไปกู้ต่างประเทศ โดยการไปออกหุ้นกู้ ตรงนี้แหละจะมีปัญหาตรงที่ดอกเบี้ยมันจะแพง

เหตุผลก็เพราะเงินในอเมริกามีปัญหา ทุกคนดึงเงินกลับ เพราะฉะนั้น ถ้าสถาบันการเงินจะออกตราสารหนี้เพื่อกู้มาบริหารจัดการในบริษัท อันนี้จะกระทบ เพราะต้นทุนจะแพง ตอนนี้สภาพคล่องไม่เป็นทะเลเหมือนครั้งที่แล้วให้คุณเลือก อันนี้เป็นตัวที่สอง ส่วนสิ่งที่เราเห็นที่เกิดกับฮ่องกง คือคนไปเข้าคิวยาวขอถอนเงินออก สิ่งที่เกิดขึ้นกับ AIG ที่สิงคโปร์ AIA มาแถลงแล้ว คนก็ยังไม่มั่นใจ ขอถอนออก ผมว่าพวกนี้เป็นจิตวิทยา ถามว่ามีผลกระทบต่อสถาบันการเงินบ้านเรามั้ย ผมถือว่าตอนนี้ยังไม่มี

GM : แล้วจะมีไหม

บัญชา : ก็ต้องกลับมาดูว่าธนาคารทั้งหมด 14 แห่งบ้านเราไปลงทุนซื้อตราสารประเภท CDO ไว้เยอะมั้ย แล้วซื้อซับซ้อนแค่ไหน คือผมบอกอย่างหนึ่งนะว่า มันเป็นเคสโชคดีในบ้านเราอย่างหนึ่ง คือพวกตลาดเงินตลาดทุนตลาดหุ้นของยุโรปหรืออเมริกามันพัฒนาไปไกลมาก มีเครื่องมือทางการเงินเยอะมาก แต่ว่าจากปี 2540 ของบ้านเราจนถึงทุกวันนี้ จะเห็นว่าแบงก์ชาติบ้านเราขยับตัวช้าในเรื่องที่จะเปิดกฎเกณฑ์ เปิดตลาด เปิดโอกาสให้สถาบันการเงินไปลงทุนในพวกเครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อนในตลาดต่างประเทศ อาจจะเป็นเพราะว่าตลาดบ้านเราไซส์เล็ก คนเก่งๆ เรื่องนี้มีอยู่ แต่ว่ากฎหมายและคนที่เข้าใจต่างๆ ยังต่อสู้กันอยู่ในรัฐสภา แล้วก็ไม่เปิดโอกาสให้แบงก์พาณิชย์ไปลง เมื่อกฎหมายไม่เอื้อ ก็มีการไปลงทุนอยู่บ้าง แต่น้อย ผมถึงบอกว่ามันเป็นโชคดีอย่างหนึ่ง ที่มันไม่ลามมาถึงบ้านเราเพราะอย่างนี้ ถามว่ามีมั้ย รอบแรกซับไพรม์ ทุกแบงก์ออกมาประกาศว่ามี ไทยธนาคาร กรุงศรีอยุธยาก็ประกาศ แต่เล็กนิดเดียว รอบที่สองมีมั้ย ไปลงทุนใน เลห์แมน บราเธอร์ส ไปซื้อหุ้นกู้ AIG มี แต่ก็นิดเดียว

GM : ที่โชคดีไม่ใช่เพราะรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดวิกฤตินี้ แต่โชคดีเพราะกฎหมายยังไม่เปิด ?

บัญชา : กฎหมายไม่เปิดให้ทำ จริงๆ แบงก์ชาติทุกยุคจะถูกคอมเมนต์ว่าเป็นเต่า ต้วมเตี้ยม ไม่พัฒนา ช้ากว่าชาวบ้าน ผมยอมรับว่าครั้งนี้เป็นตัวช่วยที่ดีมาก บ้านเรา

ที่เจอวิกฤติ 2540 เพราะว่าเราไปเจอ IMF ข้อที่ 8 จำได้มั้ยครับ คือเปิดเสรีเรื่องปริวรรตเงินตรา ไอ้นั่นน่ะมันเป็นประตูแรกที่เวลคัมวิกฤติ เป็นตัวแรกที่เป็นบทเรียน แต่เคสคราวนี้ผมต้องยอมรับว่าเพราะความช้าต้วมเตี้ยมของแบงก์ชาติ เลยเป็นโชคอย่างหนึ่ง เป็นภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งที่ทำให้สถาบันการเงินไม่ได้ไปซื้อ CDO ไปลงทุนในเลห์แมนฯ หรือ AIG เยอะแยะไปหมด

GM : ผลที่เกิดขึ้นกับอเมริกาจะกว้างขนาดไหน แล้วจะเปลี่ยนโครงสร้างสังคมของคนอเมริกันอย่างไรบ้าง

บัญชา : ผมเชื่อว่างานนี้กว้างมาก แล้วก็ลึกด้วย เพราะอย่างที่บอก คราวนี้ มันทั้งประเทศเลย มันไม่ใช่แค่กระจุกเดียว เทียบกับปี 1930 ผมว่าเคสนี้จะเยอะกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ นะ เมื่อ 4 ปีที่แล้วเกิดเฮอริเคนแคทรีนา อย่างเก่งก็คือลุยเซียนา เทกซัส ที่เจอเข้าไปตรงนั้น ก็จะเห็นว่ามันก็แค่เป็นเขตเศรษฐกิจ 2 รัฐ ต่อให้เจอเฮอริเคนรุนแรงแค่ไหนมันก็เป็นแค่เศรษฐกิจเฉพาะรัฐ แต่นี่เราพูดถึงระบบการเงินทั่วประเทศของอเมริกา ตอนนี้เอาแค่ธนาคารระดับรัฐนะ จนถึงวันนี้ล้มละลายไปแล้ว 12 แห่ง นี่เรากำลังพูดถึงธนาคารระดับประเทศ ระดับโลก โกลด์แมน แซคส์ แบงก์ออฟอเมริกา AIG พวกนี้มีเครือข่ายทั่วโลก แต่อย่างที่ผมบอก ตอนนี้มีธนาคารล้มในอเมริกา 12 แห่งแล้ว ผมว่าคนไทยก็ตกใจ เพียงแต่ว่าพอมันล้มระดับรัฐ ความเสียหายมันแค่รัฐ แต่นี่เรากำลังพูดถึงทั้งประเทศ มันกระทบมากกว่าแน่

GM : คุณพูดถึงคนฮ่องกงแห่กันไปถอนเงิน ดูเหมือนจะตื่นตกใจเกินเหตุหรือเปล่า ทำไมบ้านเราไม่มีอาการอย่างนั้น แสดงว่าบ้านเราเข้าใจปัญหาใช่ไหม หรือไม่ก็ไม่เข้าใจอะไรเลย

บัญชา : มีสองอย่าง (หัวเราะ) คือเข้าใจจนแยกออกระหว่างอารมณ์กับเหตุผล กับอีกอย่างคือไม่รู้เรื่อง คือตามไม่ทัน เคสอย่าง AIA ที่สุดแล้วก็มีคนไปถอนประกันนิดเดียว คือฝรั่งก็ออกมาแถลงว่าโดยกฎของ คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย) นี่จะส่งกำไรกลับบริษัทแม่ทีเดียวไม่ได้นะ ต้องทยอยส่งทีละงวด งวดละเท่านี้ๆ อย่างเคสของ AIA บ้านเรา ผมมองแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและคลาสสิกสำหรับประเทศไทย เพราะว่า คปภ. วางกฎเกณฑ์ได้ดีมาก เช่น ถ้าบริษัทต่างประเทศมาทำธุรกิจประกันภัย หนึ่ง, สภาพคล่องคุณต้องรักษามาตรฐานเท่าไหร่ สอง, เงินกองทุนต่อประกันภัย คุณต้องรักษาให้ได้เท่าไหร่ สาม, เงินสำรองกรณีไถ่-ถอนสินไหม คุณต้องได้มาตรฐานเท่าไหร่ ปรากฏว่าบริษัทฝรั่งพวกนี้ทำเกินไปตั้ง 10-11 เท่า แล้วพวกบริษัทต่างชาติเวลาได้กำไรก็ต้องส่งคืนบริษัทแม่ คปภ. ก็มีกฎอีกว่า ส่งได้แต่ละครั้งไม่เกินเท่าไหร่ อย่าง AIA จริงๆ แล้วเคสนี้เขาขอส่งกลับ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯทีเดียว แต่ คปภ. บอกว่าไม่ได้ คุณส่งได้ทีละงวด งวดละไม่เกิน 1 พันล้านเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าโชคดี

GM : ถามแทนคนที่ถือกรมธรรม์ AIA ว่า ผู้บริหารออกมาแถลงว่าฐานะการเงินของเขายังแกร่งอยู่ ก็จริง แต่ว่ามันจะแกร่งถึงเมื่อไหร่ ช่วงนี้ของเราโชคดีที่ไม่มีการแห่ถอนเหมือนที่อื่น กฎหมายของบ้านเราก็ค่อนข้างดี ยังไม่กระทบตอนนี้ แต่พ้นจากนี้ไปแล้วจะยังแกร่งไหม อย่าลืมว่าตอนนี้บริษัทแม่มีปัญหา แล้วบริษัทลูกจะเก่งแค่ไหนที่จะไม่มีปัญหา

บัญชา : คำถามนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจ หลายคนถามผมว่าเขาแถลง ณ วันนี้ มันคือข้อมูลวันนี้ แล้วอนาคตล่ะ มันจะแกร่งเหมือนที่แกร่งอยู่หรือเปล่า ผมมองอย่างนี้ว่า คือถ้า AIG ที่ต่างประเทศ หรือต่อให้เป็นเคสในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ถ้าบริษัทแม่ถูกอุ้มโดยรัฐบาลอเมริกัน ผมถือว่าไม่น่ามีผลกระทบอะไรกับบริษัทลูกในอนาคต ถ้าทางนั้นอุ้มนะครับ อย่าง AIG ในตอนนี้ เขาก็บอกแล้วว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯเข้าไปอุ้ม 85,000 ล้านเหรียญ แต่ต้องแลกนะว่ายูต้องตกเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลเข้าไปถือหุ้น 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง AIG ก็ยอม มีซีอีโอคนใหม่เสนอโดย Federal Reserve เรียบร้อย ผมเชื่อว่าพอเขาเข้าไปอุ้มเสร็จเรียบร้อย บริษัทลูกหลานเหลนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทพวกนี้ ไม่น่ามีปัญหา

แต่ถ้าเขาไม่อุ้ม ทางข้างหน้าที่เขาจะทำธุรกิจนี่มันลำบาก เพราะอย่าลืมว่าธุรกิจประกันภัยคือการมีกรมธรรม์ เงินสดเยอะมาก เยอะกว่าแบงก์อีกนะ แล้วประกันภัยเป็นธุรกิจที่ต้อง Digest เงินตัวนี้ไปลงทุนหาผลตอบแทนอื่นๆ ซึ่งถ้าผมวัดระหว่างธนาคารกับธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันภัยมีเงินสดมากกว่าแบงก์ แต่ในแง่ความเสี่ยงนะ ไอ้นี่เสี่ยงกว่าแบงก์ เพราะลงได้ทุกรูปแบบ ตราสารระยะสั้น ตราสารระยะยาว ถือหุ้นกู้รัฐบาล บริษัทเอกชนชั้นนำไปลงทุนในตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นอันนี้จะยากกว่า ผมก็มองเคสนี้ว่า ถ้าเขาไม่แก้ปัญหาที่บริษัทแม่ อนาคตพวกนี้มีปัญหา

GM : ฟังอย่างนี้แล้ว ที่บอกว่าไม่ค่อยกระทบกับประเทศไทยเท่าไหร่นี่ดูเหมือนจะจริง เพราะฉะนั้นรัฐบาลสมชาย 1 ก็เลยมองว่าเอาใครก็ได้มาเป็นรัฐมนตรีฯคลังหรือเปล่า

บัญชา : ถ้าถามผม ผมก็ไม่เห็นด้วยเลยนะ คือถึงแม้วิกฤติคราวนี้มันไม่มาให้เห็นว่าธนาคารบ้านเราล้ม มันไม่เกิดอย่างนั้น แต่ที่มันแย่ก็คือ แล้วคุณจะบริหารยังไงว่าการส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ 70 เปอร์เซ็นต์ ต่อไปนี้เมื่อตลาดที่เคยจ่ายดีจ่ายงามมันพังลง คนไม่ซื้อเพราะบ้านเขาเศรษฐกิจแย่ คุณจะทำยังไง ไอ้นี่แหละคือปัญหาใหญ่ ที่ยังไม่มีใครตอบได้

GM : ดูเหมือนว่าพอเห็นรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดนี้แล้ว ไม่มีใครมีสีหน้ามีความหวังเลย ?

บัญชา : ใช่, ผมก็ไม่รู้สึกว่าดีเลยนะ

GM : คุณคิดอย่างไรกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ดร. สุชาติ ธาดาธำรงเวช

บัญชา : สุชาติ ธาดาธำรงเวช อันนี้ก็มาตามโผ พูดตรงๆ นะ ผมไม่เคยเชื่อหรือศรัทธานักเศรษฐศาสตร์คนนี้เลย คืออย่าลืมว่า นักเศรษฐศาสตร์บ้านเรามีทั้งที่เป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง แล้วก็เศรษฐศาสตร์จริงๆ ในเนื้อหาสาระ เศรษฐศาสตร์การเมืองมีเยอะขึ้นทุกวัน คำว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองของผมไม่ได้หมายความว่าเขาเรียนมาทางเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าไปใช้ชีวิตเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนนี่ก็เป็นเคสหนึ่งที่เกิดขึ้น การที่มาในฐานะคลังแล้วบอกแบงก์ชาติว่า ถ้าคุณไม่ให้ความร่วมมือคุณก็ลาออกไป ผมว่านี่เป็นการ Contradict หรือเผชิญหน้ากันอย่างเต็มที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีระบบเศรษฐกิจที่ดี ต่อให้ไซส์มันจะเล็กเหมือนปาปัวนิวกินี หรือใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ทุกคนจะรู้ฟังก์ชันของแต่ละสถาบันชัดเจน แบงก์ชาติเป็นองค์กรอิสระ ทุกประเทศรู้หมด กระทรวงการคลังเป็นองค์กรที่ขึ้นกับรัฐบาล ก็มีวิธีบริหารของเขา แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คลังไปกด ไปไล่ ไปบี้ ผมว่านั่นคือการเมืองเกินไปแล้ว ซึ่งอันตราย

GM : แล้ว ดร. โอฬาร ไชยประวัติ ล่ะ เชื่ออะไรได้ไหม

บัญชา : ถ้าถามผม ผมว่าเอา ดร. โอฬาร มาเป็นแบรนด์ให้เกิดความเชื่อมั่น ถ้าถามว่าไม่มีรองนายกฯ แบบ ดร. โอฬาร ดร. โกร่ง เลย ก็ติดลบเข้าไปอีก ทุกวันนี้ก็ติดลบอยู่แล้วนะ ก็จะยิ่งลงลบแบบหนักๆ เลย

GM : เพราะอะไร ดร. โอฬารถึงยอมมารับตำแหน่ง

บัญชา : ต้องยอมรับว่า ดร. โอฬารก็อยู่ในวงการการเมืองเหมือนกัน สายที่อยู่ในระบบทุนนิยมทักษิณหรืออะไร ก็ช่วยงานเขามาตลอด หรือแม้แต่ ดร. โกร่งก็มาสายนี้ แม้ว่าจะไม่อินมาก แต่เขาก็เข้าใจวิธีคิด แนวทางของสมัยทักษิณ ต้องยอมรับว่า เวลาพูดถึงแบรนด์ ระหว่าง ดร. โอฬาร กับ ดร. สุชาติ ผมเชื่อว่าคนรู้จัก ดร. โอฬารดีกว่า มีภาษีดีกว่า ดร. สุชาติมาจากสายนักวิชาการล้วนๆ มาจากการเป็นอาจารย์สอน จากนักวิชาการจริงๆ เคยทำงานในระดับที่เป็นสถาบันการเงินที่เป็นอิสระแล้วคุมกลไกได้ครบหรือเปล่า ไม่เคยนะครับ ไม่เคยอยู่แบงก์ชาติ ไม่เคยอยู่กระทรวงการคลัง ไม่เคยอยู่กรมกองไหนที่อันเดอร์กระทรวงการคลัง

GM : แต่เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ?

บัญชา : ถ้าถามผมนะ เขาเรียกอะไรนะ จรรยาบรรณหรืออะไร ถ้าผมได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง แต่ผมยังมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีฯคลัง ความเหมาะสมมันอยู่ตรงไหน เพราะถือว่าตอนนี้คุณเล่นการเมือง100 เปอร์เซ็นต์เต็มแล้วกับการเป็นหัวหน้าพรรค แต่คุณต้องมาเป็นคู่แข่งทางการเมือง ตลกมั้ย

GM : แต่นายกฯสมชายก็คงไม่มีทางเลือกมากนัก ตราบใดที่การตั้งคณะรัฐมนตรียังยึดอยู่กับรูปแบบเดิมๆ แบบโควตาอยู่ สมมุติถ้าคุณเป็นนายกฯ ขึ้นมา แล้วไม่มีแรงบีบพวกนี้ คุณคิดว่าใครควรจะมาเป็นรัฐมนตรีฯคลังในช่วงนี้ที่จะมาแก้ปัญหาส่งออก 7 หมื่นล้าน ใครเหมาะที่สุด

บัญชา : เท่าที่ดูเลยนะ คนที่จะสามารถเข้ามาบริหารสายงานพวกนี้ได้มีอยู่หลายคน วิชิต สุรพงษ์ชัย ก็ถือว่าใช้ได้ ดร. ทนง พิทยะ ถึงจะบอกว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน ใกล้ชิดกับทักษิณ ผมก็ถือว่าอยู่ในเลเวลที่น่าจะพอใช้ได้ คือรัฐมนตรีฯคลังที่จะนั่งในยุคนี้ สเปคของคนคนนี้จะต้องเน้นเรื่องแก้เรื่องของการลงทุนหรือการกระตุ้นในประเทศเป็นหลัก มากกว่าจะบอกว่าวันนี้มีเงินสำรองเยอะพอแล้ว จะไปลงทุนข้ามชาติ ไปตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่ง คือสเปคของรัฐมนตรีฯคลังต้องเน้นไปแนวนี้ เน้นเรื่องแก้งบประมาณกับกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐมากกว่าแต่คุณทนงก็ต้องยอมรับว่าแกมีบิสเนสที่เข้าไปถืออะไรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งภรรยาและตัวแก ก็คง

ไม่อยากมายุ่งเรื่องพวกนี้ ถามว่า วิชิต สุรพงษ์ชัย มีฝีมือมั้ย มีนะ อย่าลืมว่าตอนอยู่ธนาคารกรุงเทพ ครั้งที่เจอปี 2540 ครั้งหนึ่งต้องให้แกขึ้นมาเป็นผู้นำช่วงส่งผ่าน ครั้งนั้นก็ถือว่าแก Perform ได้ดีนะ แต่ด้วยบุคลิกที่ Sharp และ American ทำให้โดย Principle ของธนาคารกรุงเทพระยะยาวแล้วอาจจะไม่ใช่แกที่จะนั่งบริหารยาว แต่ผมว่าแกเป็นสไตล์อเมริกันดี คือปัญหาต้องจบเร็ว Sharp Cut ทุกอย่าง

คือผมพยายามมองชื่อรัฐมนตรีฯคลัง ที่เวลาเราบอกว่า เอ้า! หารัฐมนตรีฯคลังมา เราก็จะกลับไปนึกย้อนแต่ชื่อเดิมๆ ถามว่าแล้วคนรุ่นใหม่ๆ มีมั้ย วิธีคิดใหม่ๆ ช่วงรอยต่อสักห้าสิบสี่สิบปลาย ไม่เกิน 55 ผมก็มองว่าจะได้คนพวกนี้ออกมา คือถ้า ดร. โกร่ง ก็จะขึ้นไประดับ 60 อัพแล้ว ถามว่าชั่วโมงบิน โอเค ผมไม่เถียง แต่ว่าโลกใหม่มันไม่ใช่โลกแบบนั้นในอดีต

GM : ถ้าสมมุติการปกครองประเทศไปอยู่ในมือพรรคประชาธิปัตย์ คุณคิดอย่างไรกับคุณกรณ์ จาติกวณิช ซึ่งเป็นรัฐมนตรีเงาอยู่ในขณะนี้ เขาจะรับตำแหน่งนี้ได้ไหม

บัญชา : คุณกรณ์ก็น่าสนใจ เพราะอย่าลืมว่าคุณกรณ์เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของ เจ.พี. มอร์แกนในประเทศไทย แล้วสายความคิดเรื่องเศรษฐกิจของแก ผมก็ซื้ออยู่ในระดับหนึ่ง คือเข้าใจวิธีว่าจะดันประเทศโดยใช้ตลาดทุนอย่างไร แล้วในแง่วิธีบริหารงบประมาณก็ดูแกเป็นเหมือนกัน แต่อย่างที่บอก การเมืองบ้านเรานี่ เก่งจริง มาคนเดียวจริง แต่สุดท้ายมันไม่ต่อเนื่อง เพราะว่า Back มันไม่ Back คำว่า Back ในที่นี้ก็คือการเมืองในระบบเก่าๆ คุณแบ่งโควตาครบมั้ย ถ้าครบไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ครบล่ะ ถึงจะเอาคนนอกเข้ามา มันก็รับได้แค่ระดับหนึ่ง 3 เดือน 6 เดือนจบ หลังจากนั้นแล้วมันกลายไปเป็นอย่างอื่น แต่นโยบายมันต้องการความต่อเนื่อง

GM : ถ้ามองในฐานะคนทำธุรกิจ แทบทุกคนไม่เคยมีความหวังกับนโยบายของรัฐเลย ทุกคนช่วยตัวเองหมด ในขณะที่ก็เสียภาษีกันเต็มที่ นักธุรกิจไทยจะเจ็บปวดไหมกับรัฐบาลแบบนี้

บัญชา : (หัวเราะ) ผมถึงมองว่ายุคนี้เป็นยุคที่พิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า เครือข่ายธุรกิจบริษัทใหญ่ๆ มองว่าการเมืองมันจะทะเลาะเบาะแว้งอะไรก็แล้วแต่ ผมก็เล่นของผม การค้าของผมก็ไปของผม พยายามจะสร้างอย่างนี้ออกมา ถามว่าดูจากตรงไหน ดูจากตอนที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามานั่งบริหาร ช่วงนั้นเกือบ 2 ปีที่เป็นรัฐบาลจากการปฏิวัติ เฮ้ย! ทำไมตัวเลขส่งออกมันถึงยังไปของมันได้ล่ะ เพราะตอนนั้นคือทุกคนช่วยตัวเอง มีตลาดอยู่แล้ว ก็ทำงานต่อไป ไม่สนใจรัฐบาลว่าจะมีการทะเลาะอะไรกัน ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่าโครงสร้างเอกชนมีภูมิคุ้มกันตัวนี้แล้ว แต่ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้ดีมาก ถ้ากลับไปดูตัวเลขนะ จะเห็นชัดเลย

GM : ในแง่นักธุรกิจ อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้อาจท้อใจ เพราะหวังอะไรจากรัฐบาลไม่ได้เลย ต้องช่วยตัวเองให้มากๆ ต้องบอกตัวเองด้วยประโยคนี้ใช่ไหม

บัญชา : ในประเทศที่เจริญถึงระดับหนึ่งแล้ว อย่างอเมริกา จะแยกกันชัดเจนเลยระหว่างการเมืองกับการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ ถามว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง

ผู้นำของอเมริกา มีสักครั้งไหมที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯจะบอกว่า ผมขึ้นมาแล้วตลาดหุ้นจะต้องไปเท่าไหร่ เขาจะไม่พูดอย่างนั้น เขาจะไม่บอกว่า ส่งออกจะต้องไป

100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเขารู้หน้าที่ของเขาว่า เขาจะทำเรื่องอะไร แล้วที่เหลือก็ปล่อยมืออาชีพที่เขาตั้งขึ้นไปทำ ชื่อรัฐมนตรีฯพาณิชย์ เกษตร การศึกษา ของอเมริกา คนไม่รู้จักทั้งนั้น อย่างรัฐมนตรีฯพาณิชย์ของสหรัฐฯปัจจุบัน คาร์ลอส กูเตียร์เรซ (Carlos Gutierrez) มีใครรู้จักบ้าง ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนบริหารบริษัทไฮนซ์ ที่ผลิตซอสอันดับหนึ่งของโลก ไม่มีใครรู้จัก การเมืองทำได้แค่ระดับจัดโต๊ะอย่างเป็นทางการ เยือนประเทศ เปิดประตูเท่านั้นจบ ที่เหลือคุณรับกันเอาเอง

ถ้าดูโมเดลของแต่ละประเทศมันจะต่างกันเลย ประเทศที่พัฒนาแล้ว การเมืองเข้มแข็ง เอกชนมีภูมิคุ้มกัน รู้ Mechanics ของตัวเอง การเมืองจะเตะปัดขาอะไรกันก็แล้วแต่ มันก็จะไปของมัน ซึ่งตอนสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ ตรงนี้พิสูจน์ได้ ทำไมส่งออกถึงได้ Break Record ตลอด ทั้งที่เป็นรัฐบาลมาจากรัฐประหาร พล.อ.สุรยุทธ์ไปคุยกับใคร ไอ้กัน ยุโรป ไม่คุย เพราะทีมงานคุณมาอย่างไม่ถูกต้อง ผมชี้ให้เห็นว่ามันมีการแยกกันออกระหว่างเอกชนกับรัฐบาล ในแง่ของการทำมาหากินเข้าประเทศ การเมืองก็การเมืองถามว่าบริษัทนี้มันจะสั่งซื้อหรือเปล่า ขึ้นอะไรกับนโยบายรัฐบาล ถ้าตราบใดคุณไม่พลิกเปลี่ยนระบบปกครองนะ ถ้าเป็นคอมมิวนิสต์ บุช

ไม่คุยหรอก แต่ถ้าตราบใดมันยังเป็นอย่างนี้ กึ่งๆ ประชาธิปไตย ก็ไม่มีปัญหา ไม่ต้องมานั่งตรวจก็ค้าขายได้ อย่างนี้ก็จบ ถ้าตราบใดที่ Principle of Politics คือ Democracy ไม่ได้เปลี่ยน ก็แค่นั้นแหละ

GM : 3 เดือนถัดจากนี้ คุณแนะนำให้คนไทยทำอะไรอย่างไรบ้าง สุภาษิตจีนบอกว่า วันดีที่สุดที่เราจะปลูกต้นไม้คือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว วันดีรองลงมาคือวันนี้ แล้ววันดีของนักลงทุนไทยคือวันไหน 20 ปีที่แล้วหรือเปล่า

บัญชา : (หัวเราะ) ผมว่าอย่างที่คุณพูดน่ะถูก อะไรที่เป็นอดีต ราคาก็ไม่แพง ต้นทุนก็ไม่สูง ในแง่ของตัวเลขน่ะใช่ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ถามวันนี้เหรอ ก็ต้องเป็นคนที่เก่งจริงๆ นะ ต้องอ่านทิศ อ่านทาง อ่านอะไรออกแบบเร็วจริงๆ ถึงจะรู้ว่ามันมีโอกาสอยู่

ผมว่าปีนี้ทำให้คนไทยรู้จักทองคำมากขึ้น รู้จักว่าจะเล่นยังไง ลงทุนยังไง ทำให้รู้จักน้ำมันมากขึ้น ว่านอกเหนือจากการควักกระเป๋าเติมน้ำมันแล้ว ก็รู้ว่า อ๋อ! ที่มันแพงขึ้นนี่มันเพราะอะไร แล้วตัวต่อไปที่เรารู้จักก็คือข้าว เกษตรกรกลายเป็นเถ้าแก่ในชั่วข้ามคืน ผมว่า 3 เดือนต่อไปนี้ คนไทยจะต้องรู้จักคำว่าเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าเดิม ผมว่าปีสองปีนี้เขารู้แล้วละ แต่จะต้องรู้ด้วยว่าเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องแค่ตัวเลข หรือคุยอะไรลอยอยู่บนฟ้าแล้วจับไม่ได้ ถ้ารัฐบาลชุดใหม่มา คุณต้องฟังเขาเลยว่า เขาจะทำยังไงกับปากท้องของเรา แล้วพอฟังเสร็จปั๊บ ก็ถามคนที่เขารู้ นักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญ แล้วก็ชั่งน้ำหนักเอาไว้ว่าสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เราได้ยิน เราจะตัดสินใจอย่างไร เพราะเราคือคนที่หารายได้เข้ามาเลี้ยงตัว จริงๆมันมีโอกาสอย่างที่เขาบอกหรือเปล่า

GM : ตอนนี้ระบบการตรวจสอบของบ้านเราค่อนข้าง กว้าง เร็ว และมีคนกล้าออกความเห็นเยอะ หลายคนบอกว่าถ้ารัฐบาลหน้าตาเป็นอย่างนี้ จะมีอายุไม่เกิน 3-4 เดือน คุณเชื่อไหม

บัญชา : ผมก็เชื่อว่าอยู่ไม่ได้ คือผมไม่อยากใช้คำว่าการเมืองภาคประชาชนนะ ผมใช้คำว่าพลังทางสังคม คือถ้าบอกการเมืองภาคประชาชน มันก็จะเหมือนกับคนที่ออกมาเพื่อประโยชน์ของตัวเขาเอง ซึ่งไม่ใช่ แต่เรากลับมาดูพลังทางสังคมเพื่ออยากจะได้ข้อมูลที่ชัดเจน ว่าข้อมูลที่คุณบอก ข้อมูลที่เราได้มา ชีวิตข้างหน้าของพวกเราจะฝากกับวิธีบริหาร วิธีใช้ข้อมูลของคุณได้มั้ย ถ้าวันหนึ่งตัดสินใจว่าฝากไม่ได้แล้ว พลังทางสังคมก็จะเกิดขึ้นว่า ผมมีข้อมูลมานะ เช็กแอนด์บาลานซ์คุณแล้ว มันไม่ใช่อย่างที่คุณคิด ต้องผลักดันอย่างนี้ ต้องตีแผ่ ส่วนกลไกที่จะรับจุดนี้ไปทำอะไรต่อเพื่อหวังผลทางการเมืองก็จะเกิดขึ้น แต่วันนี้ผมเชื่อว่าประชาชนรู้ กล้าพูด กล้าจะดีเบท กล้าไปดูข้อมูล กล้าชี้ช่องข้อมูลให้เห็น ผมถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีนะ

GM : ต่อจากนี้ไป คุณคิดว่าอเมริกาจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะโครงสร้างเศรษฐกิจ อย่างโกลด์แมน แซคส์ เปลี่ยนจากวาณิชธนกิจมาเป็นธนาคารธรรมดา ซึ่งเป็นแนวโน้มใหญ่ที่เกิดขึ้นในอเมริกา คล้ายกับวิกฤติปี 2540 จะทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจแข็งแรงขึ้นไหม

บัญชา : ผมว่าโดยโครงสร้างเศรษฐกิจนี่มันเปลี่ยนแล้วแข็งแกร่งขึ้น เท่ากับว่าหมดยุคแห่งธนาคารเพื่อการลงทุน หรือวาณิชธนกิจแล้ว นี่คือโซลูชั่นสุดท้ายที่บอกคุณแล้วนะ ว่าถ้าคุณโลภ Greedy แล้วหวังผลในแต่ละวงจรของเศรษฐกิจ สุดท้ายคุณก็จะเป็นอย่างนี้ โซลูชั่นก็คือคุณปิดบริษัท สลายตัว ต้องเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนสถานะใหม่ สุดท้ายก็จะกลับมา Back to Basic เริ่มต้นจากโลกใบนี้ด้วยธนาคาร กินส่วนต่างดอกเบี้ย พัฒนาต่อยอดไปเป็นบริษัทหลักทรัพย์ เกิด Investment Banking เกิดตราสารเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ซับซ้อนมากขึ้นจนฟังไม่รู้เรื่อง สุดท้ายมันผ่านบททดสอบตัวเองจนถึงจุดหนึ่ง มีแต่กลวง ไส้กลวง แล้วกำไรฟองสบู่ มันก็ Collapse กลับมาหาจุดเดิม ก็คือสถาบันการเงินแบบธนาคาร เพียงแต่ว่าไซเคิลต่อไปนี้มันอาจจะฟื้นเร็วขึ้น อาจจะมีนวัตกรรมตัวใหม่มากขึ้น เพราะทุกครั้งที่เศรษฐกิจ Collapse ก็จะมีเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ที่ฟังแล้วเข้าใจยากๆ เล่นยากๆ ความเสี่ยงสูงๆ เกิดขึ้นทุกรอบเลย

GM : การ Collapse ของอเมริการอบนี้เทียบกับญี่ปุ่นเมื่อ 13 ปีมาแล้วเป็นอย่างไร ทั้งความรุนแรงและวิธีการแก้ปัญหา

บัญชา : ความรุนแรงของอเมริกาคราวนี้หนักกว่าทุกครั้ง วิธีการก็ต่างกัน ญี่ปุ่นใช้วิธีคิดแบบตะวันออก คือเข้าไปคอยดูแลไม่แก้ด้วยกลไกตลาด เพราะคราวนั้นที่ญี่ปุ่นแตก ฟองสบู่แตก อสังหาริมทรัพย์นี่ 13 ปีกว่าเขาจะฟื้น คือเขาไม่ใช้วิธีตัดทีเดียวเลย แต่ใช้วิธีค่อยๆ แก้ ค่อยๆ ปั้นตัวนี้เข้ามา ตัดขายเท่าไหร่ ค่อยๆ ทยอยตัด ทยอยขาย แต่ถ้าอเมริกา วิธีของเขาคือ Sharp Cut จบแล้วจบ แล้วเชื่อในกลไกตลาด อย่างเคสของอเมริกันคราวนี้ ผมว่าไม่เกินเดือนสองเดือนจบ ไม่มีการลากยาวเป็นปีๆ

GM : กองทุนประกันความเสี่ยงหรือเฮดจ์ฟันด์จะมีผลต่อไปมากไหม

บัญชา : ผมมองว่าเฮดจ์ฟันด์หรือกองทุนประกันความเสี่ยงจะเป็นเป้าต่อไปที่ความเสียหายจะไปถึงตรงนั้น เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้น 1 ปีจนถึงตอนนี้ มาจากหนึ่ง, ธนาคาร มันไปบริษัทหลักทรัพย์ ข้ามไปวาณิชธนกิจ มันข้ามไปถึงธุรกิจประกันภัย มันจะเหลือพวกเฮดจ์ฟันด์ กองทุนประกันความเสี่ยง

สิ่งที่ผมห่วงก็คือว่า ไอ้กองทุนประกันความเสี่ยงเฮดจ์ฟันด์นี่ ปกติแล้วเราก็ไม่รู้หน้าค่าตามัน การเปิดเผยข้อมูลของเฮดจ์ฟันด์ก็เป็นที่สงสัยมานานมาก แล้วมูลค่าของมันมหึมา ใหญ่โต แล้วไม่มีใครรู้ขนาดของมันจริงๆ แต่ผมบอกได้เลยว่าใหญ่กว่าธนาคาร เพราะฉะนั้น 4 กลุ่ม ที่ผมพูดถึงมันเสียหายไปหมดแล้ว มันก็จะเหลือเฮดจ์ฟันด์ ว่าถ้าเมื่อไหร่มันกระทบเฮดจ์ฟันด์ล่ะ ถ้าพวกนี้มันโดนล่ะ แล้วถ้ามันล้มละลายล่ะ มันมหึมามากๆ เลยนะ ถึงวันนี้เรายังไม่ได้ยินว่าเฮดจ์ฟันด์ตัวไหนล้มละลาย แต่ถ้ามันล้มล่ะ เฮดจ์ฟันด์นี่น่ากลัวมากกว่าธนาคาร ธุรกิจประกันภัยซีเคียวริตี้ล้มอีกนะ

GM : ขนาดมีบทเรียนมากอย่างนี้แล้ว คุณคิดว่าเฮดจ์ฟันด์มีโอกาสจะล้มไหม

บัญชา : มีโอกาส

GM : เยอะไหม

บัญชา : ผมว่าห้าสิบห้าสิบนะ

GM : ภายในระยะเวลาแค่ไหน

บัญชา : ผมตีเอานะ ขั้นเร็วที่สุดก็ 6 เดือน ช้าที่สุดก็ 12 เดือน อ้าว! จริงๆ

GM : เร็วขนาดนั้นเลยหรือ แปลว่าภายใน 1 ปีจะต้องมีเฮดจ์ฟันด์ล้ม ?

บัญชา : เฮดจ์ฟันด์ที่เคยล้มละลายสมัยเกิดวิกฤติในอดีตมีมั้ย มี ผมนึกถึงกรณีของ Long Term Capital Management (LTCM) ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน แต่เอาพวกที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รางวัลโนเบลมาตั้ง พวกนี้ก็กึ่งๆ เฮดจ์ฟันด์เหมือนกัน ก็คือซื้อมาขายไป ไปถือพันธบัตรของรัฐบาลต่างประเทศ แต่บังเอิญตอนนั้นโชคร้าย แล้วเป็นคลาสสิกเคสเลย เพราะไปถือพันธบัตรรัสเซีย ตอนนั้นรัสเซียเป็นหนี้จนประกาศชักดาบ ลดค่าเงินรูเบิล LTCM ที่บริหารโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลตั้ง 4-5 คน ประกาศตัวเองว่านี่คือสุดยอดของโลก คนเก่งๆ ของโลกมาตั้งสถาบันการเงิน บริหารตราสาร ไม่มีวันล้ม พอเจอเคสรัสเซีย ตัวเองต้องปิดตัวลง LTCM นี่ประมาณปี 1995 ก่อนเกิดวิกฤติ ’40 ตอนนั้นกระทบอเมริกามาก แต่ว่าคนไทยจะไม่คุ้น เพราะตลาดยังไม่กว้างขนาดนี้ LTCM เป็นเคสที่คนอเมริกันจำไว้เลยว่า ถึงยูได้โนเบล ยูก็ทำให้เสียได้

GM : ถ้าเฮดจ์ฟันด์ล้มคราวนี้จะเกิดอะไรขึ้น

บัญชา : ผมมองไว้ว่า ตัวที่จะเป็นบัลลูนเอฟเฟ็กต์ใหญ่ขึ้นก็คือ กองทุนประกันความเสี่ยง เพราะไม่มีใครตรวจสอบเขาได้ว่า เฮดจ์ฟันด์กองนี้ใครเป็นเจ้าของ มูลค่าการลงทุนเท่าไหร่ แล้วเวลามันทำทรานแซ็คชัน สร้างราคา กระเถิบราคา ตีราคา หรือทุบราคา ปีหนึ่งมันได้เงินเท่าไหร่ ไม่มีใครรู้ ถึงรู้ก็รู้น้อยมาก เพราะไม่เปิดเผยข้อมูล อีกอย่าง ภาพของเฮดจ์ฟันด์คือภาพลบ เวลาบอกว่าน้ำมันแพง ทองแพง ก็เพราะไอ้พวกเฮดจ์ฟันด์ ภาพก็เลยลบ การเปิดเผยข้อมูลก็ยาก หน่วยงานที่กำกับดูแลก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นเจ้าภาพ ผมถึงไล่มาเลยว่า ธนาคารไปแล้ว ธุรกิจหลักทรัพย์ล้ม วาณิชธุรกิจมีล้มให้เห็น ธุรกิจประกันภัยก็โดน ก็เหลือเฮดจ์ฟันด์ อาจจะเป็นโดมิโนตัวต่อไปหรือเปล่าผมว่าตัวกองทุนเฮดจ์ฟันด์มีการปิดความเสี่ยงหรือป้องกันความเสี่ยงของมันอยู่ แต่ต้องไม่ลืมว่าเฮดจ์ฟันด์มันมูฟไปได้ทั่วโลกนะครับ กองทุนเอ จะไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น จีน อเมริกา แล้วก็ซื้อมาขายไป ไขว้กันทำรีเทิร์นอะไรอย่างนี้ มันทำได้หมด ผมถึงบอกว่า ข้อด้อยหรือว่าข้อเสียที่จะนำไปสู่วิกฤติหรือปัญหาของเฮดจ์ฟันด์ก็คือ มันไม่มีเจ้าภาพที่จะมากำกับดูแล ซึ่งผมรู้สึกว่าเซ็นซิทีฟ แล้วก็น่าจะมีเคสเกิดขึ้นกับวิกฤติครั้งนี้ เฮดจ์ฟันด์นี่ลงทุนไว้เยอะกับสินค้าโภคภัณฑ์ มาอันดับ 1 ตัวระดับกลางๆ จนถึงปลายก็คือตราสารหนี้ของบริษัทหุ้นกู้เอกชน ตัวต่อไปก็คือพันธบัตรรัฐบาล โดยธรรมชาติของกองทุนเฮดจ์ฟันด์เลย อะไรที่มัน Liquid เสี่ยงสูง เร็ว Daily Profit ไอ้พวกนี้จะไปเป็นสัดส่วนแรก

GM : แสดงว่าอย่างที่ อลัน กรีนสแปน บอกว่ายังไม่จบ อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ก็ได้

บัญชา : ใช่, คืออลันก็มอง ทุกคนที่เป็นนักวิชาการก็มองว่าไม่จบนะ 7 แสนล้านเหรียญ เพราะอะไร ธนาคารจะมีล้มอีกกี่แห่ง ก็ทำนายไว้ล่วงหน้าว่า 80-100 แห่ง แต่อลันบอกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเมื่อไหร่ราคาบ้านในอเมริกาไม่ตกไปกว่านี้แล้ว พูดง่ายๆ ว่าถึงจุดต่ำสุด นั่นเริ่มเป็นสัญญาณที่ดีก็กลับมาที่กลไกตรงนี้ว่า ทำยังไงจะให้ราคาบ้านนิ่ง ก็ต้องมีเงินก้อนนี้เข้าไปซื้อหนี้ที่เกี่ยวกับพวกสินเชื่อบ้านทั้งหมด พอซื้อกลับมาปั๊บ ตัดหนี้เสียออก ราคาบ้านจะเริ่มหยุด เพราะคนจะเริ่มมั่นใจแล้ว ถือว่าต่ำสุดแล้ว แบงก์มีคนมาช่วยอุ้ม ตราสารหนี้มีการ Settle ชำระหมด แต่มันขาดคนที่เข้ามาเชื่อมให้ราคามันนิ่ง อลันก็มองต่อไปว่า แม้ถึงสิ้นปีก็จะลงไปอีกประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่ายังมีวิกฤติอีกประมาณสัก 3 เดือน ที่คนยังไม่มั่นใจว่าบ้านจะเป็นยังไง

GM : เฮดจ์ฟันด์ชอบการซื้อ-ขายล่วงหน้าต่างๆ มาก จะมีผลชี้นำหรือเปลี่ยนโครงสร้างของกลไกตลาดที่เป็นอิสระมากน้อยแค่ไหน

บัญชา : ต้องยอมรับว่าชี้นำได้ เหมือนอย่างพวกสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างน้ำมัน ไนเม็กซ์ หรือทองคำกับโกลด์ฟิวเจอร์ก็ชี้นำได้ เฮดจ์ฟันด์ใช้ตัวนี้ชี้นำตลาดได้ อย่างราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นปรับลงในตลาดบ้านเรา มันก็มาจากไนเม็กซ์ที่ส่งมอบล่วงหน้า ซึ่งพวกนี้คนซื้อคนขายมันไม่เคยมีน้ำมันอยู่ในคลังของมันเลย แต่มันใช้ Paper Trade เล่น ถ้าเมื่อไหร่ถึงวันหมดอายุสัญญา ถ้าคุณไม่ส่งสัญญานั้น ไอ้นี่แหละจะต้องไปหาน้ำมันมาส่งจริงๆ ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นมันไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นมาหรอก

GM : ถามย้อนกลับไปถึงตัวคุณบ้าง ว่าความสนใจด้านเศรษฐกิจของคุณเริ่มมาจากไหน

บัญชา : ตั้งแต่ตอนเรียน ผมเรียนจบสายบริหารธุรกิจมา มีโอกาสทำงานต่างประเทศ ก็อยู่กับบริษัททางด้านนี้ตลอด ที่ผมสนใจเรื่องเศรษฐกิจก็เพราะผมคิดว่าไซเคิลของเศรษฐกิจมันเริ่มต้นจากการมีโรงงานผลิตสินค้า แต่สุดท้ายก็กลายมาเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ผมมองว่าวันหนึ่งที่คนจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหรือการทำมาค้าขาย ถ้าสุดท้ายคุณกุมหัวใจของความคิดกับทรัพย์สินทางปัญญาได้ ในอนาคตคุณจะว่าจ้างที่ไหนผลิตสินค้าให้คุณมันไม่ได้เป็นปัญหาเลย ผมคิดว่าแล้วพอโลกมันเปิด ทุกอย่าง Borderless เราบินไปอเมริกาใช้เวลา 18 ชั่วโมง แต่ Impact แค่ดู CNN ตูมเดียว พรุ่งนี้เงินในธนาคารบางแห่งถูกถอนหมดแล้วเรื่องเศรษฐกิจมันน่าสนใจตรงนี้แหละ หนึ่ง, คือแข่งกับข้อมูล สอง, ใครรู้ข้อมูลเยอะที่สุดและชัดเจนที่สุด มีโอกาสได้เปรียบในแง่การทำธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม สาม, ผมมองว่าเรื่องเศรษฐกิจน่าสนใจตรงที่มันเป็นกรอบให้เราเข้าใจว่าองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ธุรกิจประเภทนี้ในอุตสาหกรรมนี้ มันจะเคลื่อนที่แบบไหน จริงๆ ผมก็ไม่ใช่คนที่ชอบเศรษฐกิจมาตั้งแต่แรก แต่ด้วยความสนใจ ถ้าเราเรียนแล้วเราเข้าใจ รู้เรื่องข้อมูล มันได้ประโยชน์เยอะแยะไปหมด คนที่เรียนเศรษฐศาสตร์แล้วใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดมันก็มี เช่น เขาบอกว่าเป้าหมายของตลาดสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยง แต่บางคนก็เข้าใจว่าเพื่อทำกำไร บางองค์กรก็ยังประชาสัมพันธ์ตัวเองว่าเพื่อทำกำไร ทั้งที่โดยหลักการแล้ว พวกตราสารอนุพันธ์อะไร สัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้า ทั้งหมดคือป้องกันความเสี่ยง คือไม่ขาดทุนมาก หรือถ้าจะกำไร ก็อยู่ในที่เหมาะสมซึ่งชดเชยกับที่ขาดทุน แต่ไม่ใช่ใช้เพื่อหากำไรเกินควร ทุกอย่างในโลกนี้ที่เป็นเครื่องมือทางการเงิน หลักการมันดีแน่ แต่พอเข้าใจแล้วคุณใช้ไปในทางไหน โทษ ประโยชน์ เอากำไรเข้าตัวเอง หรือว่า Greedyสูตรนี้คือความโลภทั้งนั้น ถ้าบอกว่าไปโทษ อลัน กรีนสแปน บอกว่ายูตรึงดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นความผิดของเขามั้ย อาจจะใช่ แต่ไม่ทั้งหมด กลับมาหาที่ธนาคาร เป็นความผิดของผมหรือเปล่า ตั้งธนาคาร เก็บค่าต๋งจากส่วนต่างดอกเบี้ย ก็ไม่ผิดอีก

นั่นแหละ กลับไปถามผู้ถือหุ้นว่า แล้วยูล่ะ ยูบอกว่าราคาหุ้นบริษัท A วันนี้ต้อง 50 เปอร์เซ็นต์ ทำไม่ได้ใช่มั้ย ซีอีโอก็ Get Out ออกไป หาคนใหม่เข้ามา ใครที่มันตอบโจทย์ผมได้ เอาไปเลยโบนัส โลกแบบนี้ท้ายที่สุดก็สร้างปัญหาทั้งนั้น

GM : ในแต่ละวัน คุณหาข้อมูลอย่างไรบ้าง

บัญชา : โดยส่วนตัวผมชอบข้อมูลอยู่แล้ว ตื่นเช้าขึ้นมาก็จะดูข้อมูลอย่างพวกเว็บไซต์ อินเตอร์เน็ตต่างๆ เมื่อก่อนเคยทำงานอยู่ต่างประเทศ ก็จะมีเพื่อนๆ ที่ทำงานอยู่โกลด์-แมน แซคส์ Federal Reserve อยู่ เราก็คุยกันตลอดเวลา เมื่อก่อนผมทำงานให้กับธนาคารกลางของสหรัฐฯ ทำงานให้กับโกลด์แมน แซคส์ ทำงานให้กับแม็คเคนซีส์แอนด์โค. ซึ่งเป็นบริษัทคอนซัลต์ ก็จะได้แหล่งข่าวหรือแหล่งข้อมูลจากที่เคยทำงานอยู่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับตลาดทุนหมดเลย Strategy ต่างๆ Business Competition ต่างๆ แต่ถ้าเรื่องข่าวก็จะดูจากเว็บไซต์ เคเบิลทีวีที่เรารับ CNBC, Bloomberg พวกนี้จะดูเยอะ สำหรับข่าวสารในบ้านเราก็จะติดตามความจริงก่อนหน้านี้ผมไม่เคยอยู่สื่อสารมวลชน ทีวีนี่มารู้จักก็ตอนโมเดิร์นไนน์ ต้องยกเครดิตให้พี่มิ่ง (มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ) นั่นคือตอนแรกที่ผมได้เข้าไปสัมผัสกับคำว่าทีวี เพราะเส้นทางชีวิตผมนี่ไม่เคยอยู่กับทีวีหรือวิทยุ จริงๆ เลย บอกตรงๆ

GM : มีคนชวนคุณไปเล่นการเมืองบ้างไหม

บัญชา : ก็มีครับ แต่พูดตรงๆ นะ ถ้าบ้านเรายังเป็นอย่างนี้อยู่นะ มันไม่ไหวจริงๆ คือพูดแบบแฟร์ๆ เลยนะ แต่ละพรรคมี Agenda ของตัวเอง แต่เคยนึกบ้างไหมว่า Agenda ที่เกิดขึ้นจากประชาชนที่บริสุทธิ์จริงๆ มันคืออะไร พูดอย่างเปิดอกเลย ถามว่ากลุ่มที่ยังประท้วงๆ กันอยู่นี่ ถามว่า Agenda ของคุณก่อนหน้านี้คืออะไร ถึงแม้ว่าขณะนี้คุณจะได้อำนาจอะไรก็แล้วแต่ที่มัน Blend เสียจนดูเหมือนจะเป็นของประชาชนมาแล้ว แต่อำนาจทั้งหมดมันมาจาก His Agenda ไม่ใช่ Mutual Agenda หรือเปล่า ส่วนนักการเมืองโดยอาชีพปัจจุบันล่ะ เพียงแค่เกิดมาเป็นลูกหลานเหลนโหลนของคุณ เพียงแค่นามสกุลเดียวกัน คุณได้เปลี่ยนวิธีคิดของเขาหรือเปล่า ไม่ใช่ แล้วทุกครั้งของการคว่ำรัฐธรรมนูญ มันสาเหตุอะไร ก็ตั้งรัฐธรรมนูญเพื่อตามไปเก็บก่อนหน้านี้ ไม่ได้ทำเพื่อข้างหน้า อีกสิบปียี่สิบปี เกิดวิกฤติซ้ายขวาหน้าหลัง ประเทศจะเดินไปยังไง อยู่ตรงไหน ไอ้นี่ต่างหากที่เราอยากจะเห็น ผมก็ไม่ใช่คนที่ดูการเมืองลึก แต่ว่าชอบดูย้อนประวัติศาสตร์ ดูวงจรแล้วก็วิเคราะห์ ก็เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะเข้าไปเล่นหรือเปล่า บอกตรงๆ ผมไม่อยากเข้า เข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้ เราไม่ใช่พวกประเภทเงินซื้อได้ทุกอย่าง เรายังมีความรู้สึกว่าอยากมาทางสายสื่อสารมวลชนมากกว่า

GM : บางทีอยู่ตรงนี้อาจทำอะไรได้มากกว่า​ ?

บัญชา : ผมเชื่ออย่างนั้นนะ หนึ่ง, ทำในสิ่งที่รัก สอง, ถ้ารู้สึกว่าอะไรมันจะวิกฤติ เรายังออกความเห็นได้ แต่ถ้าเข้าไปแล้ว ใครบอกให้ทำอะไรก็ต้องทำ หัวหน้าบอกให้เสียบก็ต้องเสียบ พ่ออยากส่งลูกเข้าไปนั่ง บอกเฮ้ย ! อายุครบ 35 แล้วต้องนั่งก็ต้องไป ทั้งที่ลูกโปรไฟล์เป็นยังไงก็ยังไม่รู้เลย เพื่ออะไรก็เพื่อ His and Her Agenda ทั้งนั้นโมเดลผมอาจจะเป็นอุดมคติมาก เลยเกิดยาก แต่ถ้าเราไม่คิดอย่างนี้ก็ตาย คือรุ่นผมขึ้นมาก็ยังเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ต้องรุ่นลูกกับหลาน เพราะระดับเราขึ้นไปเป็นพ่อแล้ว ก็จะป้อนความคิดให้กับรุ่นลูกได้ แต่ในขณะที่พวกหกสิบเจ็ดสิบยังอยู่ ผมว่าเปลี่ยนยาก

GM : ต้องรอให้พวกปู่ตายไปหมดก่อน

บัญชา : ถูกต้อง (หัวเราะ) หกสิบเจ็ดสิบยัง Dominate เราอย่างนี้ แล้วเราบอกว่าจะเป็นหนึ่งที่ไปงัดกัน มันไม่ใช่ แล้วดูแต่ละคนอายุยืน ตายกันยากๆ ทั้งนั้น

ก่อนจากกัน บัญชา ชุมชัยเวทย์ เน้นว่า วิกฤติเศรษฐกิจแต่ละครั้งเกิดขึ้นก็เพราะความโลภของมนุษย์ ยังจะมีวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ ไม่มีครั้งไหนที่จะเป็นครั้งสุดท้าย ตราบใดที่มนุษย์ยังหิวเงิน โดยเฉพาะพวกที่เล่นกับเงิน GM ก็เชื่ออย่างนั้น เพราะนักปราชญ์บอกว่า ความโลภทำให้โง่ ความโลภบดบังสายตา ทำให้มนุษย์หน้ามืดตามัว อยากไขว่คว้าและไม่รู้จักพอ แล้วความโง่ก็ทำให้เกิดวิกฤติขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าคำถามก็คือ มนุษย์จะทั้งโลภและโง่กันต่อไปอีกนานเท่าไหร่ขอโทษที, บางทีคำถามนี้พระเจ้าก็ตอบไม่ได้ ! เจาะเวลาหาอดีตวิกฤติการณ์การเงินสหรัฐฯรอบ 100 ปี

1907

คำว่า วิกฤติการเงินเป็นคำใหม่ในปี 1907 หรือ ปี 2450 นั่นหมายถึง ร่วม 101 ปีที่ผ่านมา เกิดการล่มสลายของสถาบันการเงินหลากหลายประเภทในแดนลุงแซมที่สำคัญๆ ซึ่งเชื่อได้ว่า คนไทยหลายคนไม่เคยได้ยินและรับรู้มาก่อน เหตุการณ์สถาบันการเงินล้มละลาย และรัฐบาลสหรัฐฯต้องเข้าไปอุ้ม ที่สำคัญๆ ในยุคแรกๆ คือ เดือนตุลาคม ปี 1907 สถาบันการเงินที่มีชื่อว่า The Knickerbocker Trust Company ล้มละลาย หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าไปพยุงกิจการบริษัท United Copper Company ทำให้เกิดภาวะแตกตื่นตกใจเทขายหุ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์ก กระทบธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในยุคนั้นเรียกคืนเงินกู้จากเอกชนและคนอเมริกัน ราคาหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นยุคนั้นดำดิ่งอย่างหนักต่อเนื่องหลายวัน กระทบฐานะกิจการธนาคารพาณิชย์แทบทุกแห่ง ทางแก้ในยุคนั้น เกิดจากการลงขันตั้งกองทุนจากบรรดาธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ เพื่อเข้าซื้อหุ้น และพยุงกิจการธนาคารต่างๆ พร้อมกับเงินช่วยเหลือจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่มีอดีตรัฐมนตรีฯคลังสหรัฐฯ ชื่อว่า George Cortelyou นั่งบริหาร จากวิกฤติในครั้งนี้ นำไปสู่การจัดตั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve หรือเรียกกันทั่วไปว่า เฟด

1930

มาถึงช่วงปี 1930 หรือในยุคที่คนอเมริกันรู้จัก และเจ็บปวดมากที่สุดในช่วงอายุคนรุ่นหนึ่ง ที่จดจำกันในชื่อว่า ยุค The Great Depression ซึ่งอยู่ในช่วงของอดีตประธานาธิบดี Franklin Delano Roosevelt ต้องประกาศให้มีวันหยุดติดต่อกันถึง 3 วัน เพื่อให้สถานการณ์ของวิกฤติสถาบันการเงินในสมัยนั้นผ่อนคลายจากความวุ่นวายครั้งประวัติการณ์ ในเมื่อธนาคารพาณิชย์กว่า 9,000 แห่งทั่วประเทศล้มละลาย เหตุจากเศรษฐกิจสหรัฐฯเกิดภาวะถดถอยหนักเป็นประวัติการณ์ ตลาดบ้านที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯพังทลาย ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่มสลาย ธนาคารจำกัดการปล่อยเงินกู้ทุกรูปแบบ หนี้เสียพุ่งเป็นประวัติการณ์ คนอเมริกันแห่ถอนเงินออกจากทุกธนาคารมากที่สุด ทั้งหมดนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทประกันเงินฝากแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ FDIC เป็นครั้งแรก เพื่อฟื้นความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินชาวอเมริกัน ที่จะได้รับเงินฝากคืนตามเงื่อนไข นอกจากนี้ยังจัดตั้งบริษัทค้ำประกันเงินกู้อสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของรัฐบาล มีชื่อว่า แฟนนี่เมย์ เป็นครั้งแรก เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น สร้างความมั่นคง และดูแลสภาพคล่องเงินกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่า แฟนนี่เมย์ ในปัจจุบัน หนีไม่พ้นวิกฤติการเงินแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้นจากสินเชื่อบ้านด้อยคุณภาพ หรือซับไพรม์

1972

ต่อมาในปี 1972 หรือเมื่อ 36 ปีที่ผ่านมา ธนาคาร Commonwealth Bank of Detroit ซึ่งเป็นธนาคารที่สำคัญในการปล่อยกู้ให้กับภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า ดีทรอยต์ ต้องล้มละลาย ถัดมาในปี 1980 หรือเมื่อ 28 ปีที่แล้ว ธนาคาร First Pennsylvania เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นธนาคารเอกชนแห่งแรกๆ ของแผ่นดินสหรัฐฯ ที่ก่อตั้งในปี 1782 ต้องปิดกิจการลงจากการลงทุนในเครื่องมือ การเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยการเสนอจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากสูงมาก แต่รายได้จากสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่ธนาคารมีอยู่กลับลดต่ำลง นับเป็นวิกฤติครั้งที่ใหญ่ที่สุดที่บริษัทประกันเงินฝากแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ FDIC ต้องใส่เงินเข้าไปช่วยเหลือมากถึง 325 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมา

1984

เมื่อถึงปี 1984 ธนาคาร Continental Illinois National Bank and Trust Company เป็น 1 ใน 7 ธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯในสมัยนั้นล้มละลาย สาเหตุจากการปล่อยเงินกู้โครงการสำรวจแหล่งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ ที่กลายเป็นหนี้เสียพุ่งเป็นประวัติการณ์ จากการสืบสวน สอบสวน พบว่ามีการฉ้อโกงของผู้บริหารธนาคารดังกล่าวเกิดขึ้น

1986

หลังจากนั้น ในยุคปี 1986-1989 บริษัท Federal Savings and Loan Insurance Corporation ล้มละลาย ตามด้วยการปิดสถาบันการเงินอีกราว 740 แห่งทั่วสหรัฐฯ ไม่เพียงเท่านั้น ยังถูกควบรวมกันเพื่อตั้งสถาบันการเงินที่มีชื่อเรียกว่า The Resolution Trust Corporation ทำหน้าที่คล้ายกับองค์กรที่เข้าวิกฤติการเงิน

ต้มยำกุ้งในปี 2540 ของบ้านเราที่มีชื่อว่า ปรส. มาถึงปี 1998 การล่มสลายของบริษัท Long Term Capital Management หรือ LTCM ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกองทุนประกันความเสี่ยง หรือกองทุน Hedge Fund และว่าจ้างบรรดานักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อก้องโลกเข้าไปนั่งบริหาร ที่สุดต้องล้มละลายเนื่องจากเข้าไปลงทุนถือพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียเป็นจำนวนมหาศาล แต่เศรษฐกิจรัสเซียเกิดวิกฤติ ทำให้รัฐบาลรัสเซียในยุคนั้นประกาศชักดาบหรือไม่รับผิดชอบต่อพันธบัตรรัฐบาล พร้อมกับประกาศลดค่าเงินรูเบิลของประเทศลง กลายเป็นกรณีศึกษาที่คลาสสิกที่สุดสำหรับบรรดานักศึกษาระดับ MBA ในสหรัฐฯและทั่วโลก

“ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าถามว่าเป็นความละโมบโลภมากของสถาบันการเงินหรือเปล่า ผมคิดว่านั่นยังไม่ใช่ต้นตอของปัญหา ปัญหาต้องกลับไปที่ผู้ถือหุ้น”

“สุชาติ ธาดาธำรงเวช มาตามโผ พูดตรงๆ นะ ผมไม่เคยเชื่อหรือศรัทธากับนักเศรษฐศาสตร์คนนี้เลย ผมว่าเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมือง”

1 ปีเต็ม วิกฤติการณ์การเงิน

ยุคศตวรรษที่ 21 2007-2008 (2550-2551)

17 สิงหาคม 2550

ตลาดสินเชื่อบ้านด้อยคุณภาพ หรือที่คุ้นหูกันทั่วโลกว่า สินเชื่อซับไพรม์ (Subprime) ซึ่งลูกหนี้ชาวอเมริกันที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ ดูได้จากคะแนนความน่าเชื่อถือต่ำกว่ามาตรฐาน และไม่สามารถวางเงินดาวน์บ้านไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป เกิดล่มสลายในเดือนสิงหาคม 2550 สาเหตุจากตลาดบ้านในสหรัฐฯเกิดฟองสบู่แตก ราคาบ้านสร้างสถิติตกต่ำเดือนชนเดือนเป็นประวัติการณ์ ลูกหนี้เกิดอาการไม่จ่าย หรือผิดนัดชำระค่างวด หนี้เสียสินเชื่อบ้านพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้โดยตรงถึงลูกหนี้ย่ำแย่ สถาบันการเงินที่ลงทุนซื้อตราสารหนี้ค้ำประกันสินเชื่อบ้านและอื่นๆ ที่ผสมกัน ที่เรียกว่า Collateral Debt Obligation หรือ CDO จากทั้งในสหรัฐฯและทั่วโลก มีราคาและผลตอบแทนทรุดหนัก ฉุดผลประกอบการขาดทุนมหาศาล ตลาดสินเชื่อในระบบเกิดตึงตัวฉับพลัน ในขณะเดียวกันเกิดการขาดสินเชื่อ เงินทุนในระบบ ผลจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินรัดเข็มขัดการปล่อยกู้ทุกรูปแบบ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯต้องลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงทันที 0.5 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 5.75 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2550 พร้อมมาตรการ เพิ่มสินเชื่อเข้าไปในตลาดการเงิน ด้วยความร่วมมือกับธนาคารกลางสำคัญทั่วโลกอีก 4 แห่ง

11 มกราคม 2551

ธนาคารกลางสหรัฐฯต้องลดดอกเบี้ยอีก 8 ครั้งจนถึงต้นปีนี้ มาเหลือเพียง 2.00 เปอร์เซ็นต์ ท้ายสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2551 สถาบันการเงินที่มีชื่อว่า Country Wide Financial ซึ่งเป็นธนาคารเอกชนรายแรกที่เพิ่มทุนไม่ทันกับหนี้เสียที่พุ่งสูง ถูกซื้อกิจการโดยธนาคารพาณิชย์ที่มีชื่อว่า Bank of America มูลค่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

17 กุมภาพันธ์ 2551

ธนาคารปล่อยกู้อันดับใหญ่ต้นๆ ในอังกฤษ ที่มีชื่อว่า Northern Rock ประกาศล้มละลาย ถูกทางการอังกฤษเข้ายึดกิจการตกเป็นของรัฐบาล หลังขาดทุนเป็นประวัติการณ์ จากการเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ซีดีโอ ประเภทสินเชื่อซับไพรม์ในสหรัฐฯ

16 มีนาคม 2551

ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำระดับโลกที่มีชื่อว่า Bear Stearns ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จากผลขาดทุนมโหฬาร เข้าสู่ภาวะล้มละลาย ทำให้ทางการสหรัฐฯ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ตัดสินใจเข้าช่วยเหลือกิจการด้วยการส่งเงินผ่านธนาคาร J.P. Morgan Chase & Co. เข้าไปซื้อหุ้นธนาคาร Bear Stearns ในราคาที่ตกต่ำเหลือเพียงหุ้นละ 10 เหรียญสหรัฐฯ นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าไปช่วยเหลือธนาคารเอกชน มาถึง 11 กรกฎาคม ธนาคารพาณิชย์ที่มีชื่อว่า IndyMac ถูกบริษัทประกันเงินฝากแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ FDIC เข้ายึดกิจการตกเป็นของรัฐบาล หลังมีลูกค้าธนาคารดังกล่าวถอนเงินออกรวมกัน 11 วันติดกัน มูลค่ามากกว่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 44,200 ล้านบาท นับเป็นการยึดกิจการของ FDIC ที่มีมูลค่ามากที่สุดในธนาคารระดับรัฐอีก 12 แห่ง ที่ล้มละลายตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน

13 กรกฎาคม 2551

ถึงจุดอวสานของ 2 ยักษ์สถาบันปล่อย และค้ำประกันสินเชื่อบ้านรายใหญ่ที่สุดของสถาบันการเงินกึ่งรัฐบาล กึ่งเอกชน ที่มีชื่อว่า แฟนนี่เมย์ และ เฟร็ดดี้ แม็ค หลังพบว่า เงินทุนของทั้ง 2 แห่ง ไม่พอต่อการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ นับเป็นกรณีที่ 2 ที่กระทรวงการคลังและธนาคารกลางสหรัฐฯต้องเข้าไปอุ้มกิจการตกเป็นของรัฐบาลอย่างสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการส่งเงินเข้าไปแห่งละ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

15 กันยายน 2551

วิกฤติการณ์การเงินและสถาบันการเงินล้มละลายเดินทางต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงกรณีของธนาคารเพื่อการลงทุนหรือวาณิชธนกิจที่ใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ ชื่อว่า เลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) ประกาศล้มละลาย ขอศาลพิทักษ์ทรัพย์สิน และประกาศขายสินทรัพย์ทั้งหมด หลังจากไม่มีธนาคารพาณิชย์ใดเจรจาขอซื้อกิจการได้สำเร็จ ท่ามกลางความช่วยเหลือ ในการจัดการเจรจาให้จากธนาคารกลาง และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ

16 กันยายน 2551

บริษัทประกันภัยใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯและของโลก อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป หรือ เอไอจี (AIG-American International Group) ขาดสภาพคล่องเงินสดมากกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เตรียมประกาศล้มละลายหากไม่มีการเข้าซื้อกิจการ นับเป็นครั้งที่ 2 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ต้องเข้าไปอุ้มเอกชนด้วยเม็ดเงินมากถึง 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมกับถือหุ้นเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ เปลี่ยนสถานะกลายเป็นรัฐวิสาหกิจประกันภัยใหญ่ที่สุดในโลก

20 กันยายน 2551

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการเข้าแก้วิกฤติการเงินและสถาบันการเงินทั้งระบบ ด้วยมูลค่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่กลายไปเป็นประเด็นการเมืองในรัฐสภาสหรัฐฯ กินเวลายาวนานกว่า 1 สัปดาห์ ถัดจากนั้นเพียง 1 วัน บริษัทหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯและของโลก Goldman Sachs และบริษัท Morgan Stanley ขออนุมัติธนาคารกลางสหรัฐฯ เปลี่ยนสถานะไปเป็นธนาคารพาณิชย์สมบูรณ์แบบเพื่อให้มีความคล่องตัวในการกู้ยืมสภาพคล่องมากขึ้น และขึ้นตรงจากธนาคารกลางสหรัฐฯ นับเป็นการสิ้นสุดยุคธนาคารเพื่อการลงทุน หรือวาณิชธนกิจในสหรัฐฯ

25 กันยายน 2551

ประวัติศาสตร์ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯต้องจารึกไว้ว่า ธนาคาร Washington Mutual Fund ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการออมทรัพย์และปล่อยกู้ ต้องล้มละลาย กลายเป็นการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และถูกยึดกิจการโดยบริษัทประกันเงินฝากแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ FDIC

ขอขอบคุณ :บริษัท เซิร์ช (ไลฟ์) จำกัด และ ส.ทร. FM 106 MHz วิทยุครอบครัวข่าว

“ถึงวันนี้เรายังไม่ได้ยินว่าเฮดจ์ฟันด์ตัวไหนล้มละลาย แต่ถ้ามันล้มล่ะ เฮดจ์ฟันด์นี่น่ากลัวมากกว่าธนาคาร ธุรกิจประกันภัยหรือซีเคียวริตี้ล้มอีกนะ”

“ผมก็ไม่ใช่คนที่ดูการเมืองลึก แต่ว่าเราจะเข้าไปเล่นหรือเปล่า บอกตรงๆ ผมไม่อยากเราไม่ใช่พวกประเภทเงินซื้อได้ทุกอย่าง”

Knowing Him

ถ้าอยากฟังการวิเคราะห์ของ บัญชา ชุมชัยเวทย์ คุณติดตามเขาได้ตั้งแต่เช้า ทาง Money Chanel เวลา 08.00-09.00 น. ทางทรูวิชั่นส์ จากนั้นเวลา 12.30-12.45 น. พบกับเขาใน ‘เที่ยงวันทันเหตุการณ์’ ทางช่อง 3 ก่อนจะปิดโทรทัศน์ เปิดวิทยุคลื่น FM 106 ฟัง ‘คุยกับบัญชา’ เวลา 13.00-14.00 น. ส่วนตอนเย็น มี ‘เรื่องเด่นเย็นนี้’ (ช่อง 3) ที่เขาจะมารายงานข่าวเศรษฐกิจในเวลา 16.40-16.45 น. ตบท้ายด้วยรายงานทาง FM 96.5 ราวๆ 18.00 น. ทั้งหมดนี้เป็นวันจันทร์ถึงศุกร์ ขณะที่เสาร์-อาทิตย์ก็มี ‘เรื่องเด่นเย็นนี้’ (ช่อง 3) เวลา 17.00-18.00 น.

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ