fbpx

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล Uncensored

สัตว์วิกาลที่ไม่ยอมสูญพันธุ์

แบบเรียนเล่มหนึ่งที่นักเรียนภาพยนตร์แทบทุกคนในอเมริกาและอีกหลายคนทั่วโลกใช้ศึกษาและค้นคว้าคือหนังสือชื่อ Film Art ว่ากันว่า-หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนคัมภีร์ไบเบิลของภาพยนตร์ ในฉบับตีพิมพ์ครั้งล่าสุด Film Art จัดผลงานของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ให้เป็นภาพยนตร์แขนงใหม่ที่เกิดขึ้น เคียงข้างผลงานของผู้กำกับระดับตำนานของโลกคนอื่นๆ

อภิชาติพงศ์เติบโตในครอบครัวหมอในจังหวัดขอนแก่น ที่บ้านของเขาจะฉายภาพยนตร์ 8 มิลลิเมตรสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งกิจกรรมนี้ของครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจแรกๆ ที่ทำให้เขาหลงใหลในพลังลึกลับของภาพเคลื่อนไหว อภิชาติพงศ์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโทวิจิตรศิลป์ สาขาภาพยนตร์ สถาบันศิลปะชิคาโก จากนั้นจึงเปิดบริษัท Kick the Machine และเริ่มต้นผลิตภาพยนตร์และวิดีโอตั้งแต่ปี 2533 โดยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตภาพยนตร์ไม่กี่คนในประเทศไทยที่ทำงานนอกระบบสตูดิโอ ภาพยนตร์เรื่อง ‘สุดเสน่หา’ (Blissfully Yours) ได้รับรางวัล Un Certain Regard จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 2545 และภาพยนตร์เรื่อง ‘สัตว์ประหลาด!’ (Tropical Malady) ได้รับรางวัล Jury Prize จากเทศกาลเดียวกัน ในปี 2547

ล่าสุด อภิชาติพงศ์เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ขณะที่ ‘แสงศตวรรษ’ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องใหม่ของเขาซึ่งติดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของหลายเทศกาลทั่วโลกกลับเข้าฉายในประเทศไทยเพียงโรงเดียวพร้อมถูกเซ็นเซอร์ 6 ฉาก โดยกองเซ็นเซอร์ให้เหตุผลว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เสนอภาพที่ไม่ดีของสังคมไทยต่อชาวต่างชาติอย่างน่าละอาย

10 เมษายน 2551, GM เดินทางไปพบผู้กำกับวัย 37 ปีที่สำนักงาน Kick the Machine ซอยลาดพร้าว 15 บ้านขนาดย่อมหลังนี้เป็นทั้งที่ทำงานและบ้านของเขา แสงแดดจัดจ้าส่องลอดผ่านใบไม้ลงสู่ลานที่ปูด้วยอิฐในสวนข้างบ้าน ใบไม้พัดตามแรงลมอย่างเชื่องช้า น้ำใสกระจ่างในบ่อน้ำเล็กๆ หน้าบ้านกระเพื่อมแผ่วเบาอย่างประหลาด บรรยากาศรอบตัวยากจะชี้ชัดได้ว่าร้อนหรือหนาว ข้าวของมากมายวางระเกะระกะในห้อง ดูเหมือนทุกพื้นที่ในบ้านหลังนี้จะแฝงเร้นด้วยร่องรอยของสัตว์วิกาล

GM : ทำไมถึงตัดสินใจฉาย ‘แสงศตวรรษ’ ฉบับประเทศไทย

อภิชาติพงศ์ : สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว จากกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2473 ต่อมามีการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวเนื่องกับการเซ็นเซอร์ ‘แสงศตวรรษ’ ตั้งกลุ่ม Free Thai Cinema Movement เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่หนังไทย แต่หนังต่างประเทศก็โดนกฎหมายแย่ๆ นี้ด้วย กระทั่งตอนนี้มี พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฉบับใหม่ออกมาในยุครัฐบาลทหาร ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังมีข้อบกพร่องและค่อนข้างยัดเยียดผมเลยอยากพูดเรื่องนี้ออกมาอีก จึงใส่ฟิล์มดำที่มีรอยขูดขีดลงไปในหนังแทนฉากที่ถูกเซ็นเซอร์เพื่อให้คนดูรู้สึกถึงความมืดที่มีเส้นสายของการทำลาย พร้อมกับความเงียบ หนังเวอร์ชั่นนี้จะมีปริ๊นต์เดียวในโลก เพื่อบอกว่า ถ้าระบบเซ็นเซอร์ยังอยู่ เราก็ต้องดูหนังกันแบบนี้ ผมหวังให้เกิดการพูดคุยในสังคมวงกว้างเกี่ยวกับสิทธิของผู้สร้างและผู้เสพงานเพราะที่ผ่านมา รัฐบาลทำกับเกย์ เลสเบี้ยน คนเร่ร่อน และคนทำหนังอิสระ เหมือนเป็นคนชายขอบ แล้วตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เราก็ทำกับกองเซ็นเซอร์เหมือนเขาไม่มีตัวตนเหมือนกัน แต่ต่อมาเราคิดได้ว่า มันไม่ใช่ความคิดที่ดีที่จะมองว่าคนคนหนึ่งไม่มีอยู่ เพราะฉะนั้น เราควรจะเดินให้สุดทาง จะได้วิจารณ์เขาได้เต็มที่ ซึ่งพอเข้าไปก็โดนอีก 2 ฉาก แต่สิ่งที่ดีมากคือมีโอกาสชี้แจง ได้เจอคณะกรรมการ 10 คน ซึ่งมาจากรัฐบ้าง เอกชนบ้าง และได้ความรู้ใหม่ว่า ยังมีคนแบบนี้อยู่ในโลก

GM : คนแบบไหน

อภิชาติพงศ์ : อยากบอกชื่อ แต่พูดไม่ได้ เพราะบางคนเป็นถึงอาจารย์ สงสารนักเรียนของมึงจัง ต้องเรียนกับครูที่มีความคิดเผด็จการล้าหลังที่สุด ผมเข้าใจว่าปัจเจกด้านศิลปะของคนต่างกัน แต่การที่เขามาพูดต่อหน้าคนทำหนังว่า งานของคุณไม่มีศิลปะ ไร้ศิลปะ น่าอาย เอาพ่อแม่มาประจาน คือเขาไม่มีสิทธิ์พูดแบบนี้ต่อหน้าสาธารณชนด้วยซ้ำ แม้จะมีสิทธิ์พูดในห้องนั้น นี่คือสิ่งที่น่ากลัว เราคุยกับหลายคน ซึ่งบอกว่าถ้าเกิดกรณีนี้ที่เมืองนอกคงมีการฟ้องร้องแล้ว เพราะมันเป็นการดูหมิ่นมากๆ แต่ผมมองว่าเป็นการเรียนรู้ เพราะความผิดของกฎหมายที่บังคับใช้กันมาส่งผลให้คนเป็นแบบนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้แทนจากแพทยสภา ซึ่งผิดหวังกับหนังเรื่องนี้มาก ส่ายหน้า ไม่เชื่อว่าผมโตมาในโรงพยาบาล ถามว่าทำไมไม่ไปศึกษาจริยธรรมของแพทย์ แล้วให้ทำตามนั้น นี่คือเขาพยายามให้ทำหนังส่งเสริมเชิดชูสถาบัน

ถ้ายังมีกลุ่มคนพวกนี้ มีระบบแบบนี้ ประเทศนี้ก็ทำหนังโฆษณาชวนเชื่อได้อย่างเดียว ขณะที่ ‘แสงศตวรรษ’ ไม่ได้ให้ร้ายหมอเลย แต่ถึงผมจะทำหนังที่หมอข่มขืนคนอื่น หรือหมอทำอะไรชั่วๆ ผมก็ควรมีสิทธิ์ได้ทำ เพราะมันเป็นเรื่องของมุมมองของคนทำหนัง แล้วผมทำหนังของคน ไม่ใช่เทวดา แล้วทุกคนในสังคมมีชั่วมีดีหนังเป็นตัวสะท้อนความคิดของคนทำหนัง สะท้อนความหลากหลายในสังคม ถ้าทำให้สถาบันใดเสื่อมเสีย เขามีสิทธิ์ฟ้อง มีกฎหมายอื่นรองรับ แล้วไปสู้ความกันในศาล แต่คนคนเดียวตัดขั้นตอนตรงนี้ ไม่เปิดโอกาสให้หมอคนอื่นหรือสังคมได้ดู ถือว่าตัวเองมีสิทธิ์ เพราะกฎหมายให้สิทธิ์เขา แล้วพอคนมีทัศนคติแบบนี้อ้างว่านี่คือประชาธิปไตย เลยเกิดความฉิบหายขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสังคมเขาหาว่าผมดื้อ เขาบอกว่าการอยู่ร่วมกันคือการยอมกัน เมื่อตัวแทนของสังคมบอกว่าหนังเรื่องนี้ไม่เหมาะสม แล้วทำไมผมไม่เชื่อ แสดงว่าผมไม่เป็นประชาธิปไตย ถามว่าประชาธิปไตยคืออะไร ประชาธิปไตยต้องให้โอกาสแก่คนหลายกลุ่มไม่ใช่หรือซึ่งสุดท้ายเขาตัดหนังของผม 6 ฉากตามที่ต้องการ นี่หรือคือประชา-ธิปไตย การทำหนังแบบนี้เป็นการสะท้อนด้วยซ้ำว่าผู้คนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ผมเข้าใจว่าเสรีภาพก็มีเส้นของมันอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับหนังเรื่องนี้คือการกักกั้นเสรีภาพ เพราะกฎหมายนี้เป็นกฎหมายเผด็จการ ออกเมื่อ 80 ปีที่แล้ว ก่อนประเทศจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียอีก

GM : แต่ตอนนี้มี พ.ร.บ. ภาพยนตร์ ฉบับใหม่ออกมา

อภิชาติพงศ์ : ใช่, มันมีระบบเรตติ้งที่บ้านเราต้องการ แต่ยังไม่สมบูรณ์เพราะเปิดโอกาสให้รัฐห้ามฉายภาพยนตร์ ซึ่งตรงกับความกลัวของสังคมปัจจุบันที่เกิดจากการรัฐประหาร เชื่อมโยงกับ พ.ร.บ. ความมั่นคง เชื่อมโยงกับมาตรการที่บังคับใช้กับคนกลุ่มน้อย เป็นความคิดแบบทหาร อย่าง 5 จังหวัดภาคใต้ ห้ามแรงงานพม่า ลาว เขมร มีโทรศัพท์มือถือ ออกจากบ้านตอนกลางคืน และรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของชาติแต่ตามหลักสากลทั่วโลก นี่คือการ Discriminate ที่น่าเกลียดที่สุด นี่คือประเด็นเดียวกับหนัง เป็นความกลัว มองหนังเป็นสิ่งอันตราย ซึ่งไม่จริง ถ้าอย่างนั้นทุกอย่างก็อันตรายหมด รัฐไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นเหมือนเด็ก แล้วดูแลเหมือนไข่ในหินได้ นี่คืออันตรายของ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ แม้หลายประเทศจะให้อำนาจรัฐห้ามฉายภาพยนตร์ แต่ประเทศไทย ผมรับรอง 100% ว่ามันจะล้มเหลว

GM : อะไรทำให้คุณมั่นใจขนาดนั้น

อภิชาติพงศ์ : เชื่อสิ, ผมโตมาในประเทศนี้ ผมรู้ว่าความคิดของคนชั้นปกครองเป็นยังไง ไม่ต้องอ้างว่าอังกฤษก็มี ประเทศไหนก็มี เพราะมันอยู่ที่คนใช้กฎหมาย พอกฎหมายออกมาแล้วแก้ยาก พูดเรื่องภาคใต้ไม่ได้ พูดเรื่องตำรวจเป็นโจรไม่ได้ พูดหลายเรื่องที่อุบาทว์ขึ้นมาไม่ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องจริง คนทำหนังก็เลวได้ อาจทำหนังวิปริตก็ได้ มันมีหลากหลายในสังคม เหนื่อย ความคิดพื้นฐานแค่นี้ยังไม่เข้าใจทุกคนบอกว่าเป็นห่วงเยาวชน ผมก็ห่วงเหมือนกัน แล้วผมก็เข้าใจด้วยว่า ทุกอย่างต้องมีที่ทางของมัน เขาไม่เข้าใจหรือว่าการมีเรตติ้งคือการป้องกันแล้ว อ้างว่าเดี๋ยวโรงหนังจะแอบขายตั๋วให้เด็ก นี่แสดงว่ามองประชาชนลบหมด ไม่เชื่อใจระบบเรตติ้ง และไม่เชื่อใจประชาชน ไม่ยอมให้สังคมได้เรียนรู้ แต่ยิ่งทำแบบนี้จะยิ่งเกิดความขี้โกงมากขึ้น ยิ่งห้ามก็ยิ่งต้องซิกแซ็ก ไม่ได้โดยตรงก็ต้องหาทางอ้อมถ้าเด็กแอบไปดูหนังที่มีฉากอย่างว่าในโรงหนัง ตำรวจก็ต้องไปจับ จะมาโทษคนทำหนังได้ยังไง ถ้าตำรวจไม่ทำหน้าที่ก็ต้องให้ตำรวจได้เรียนรู้ ให้พ่อแม่ได้เรียนรู้ ต้องจับ ต้องปรับ แต่หนทางที่จะได้ทดลองสิ่งนี้ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในโลกศิวิไลซ์ทั่วไปก็ถูกปิดกั้น เพราะความกลัวผมเสนอหลายครั้งแล้วว่า ทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือต้องให้ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมออกยกชุด โดยเฉพาะศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เป็นศูนย์ที่น่ากลัวมากๆ ตีกรอบความคิด โดยอ้างว่าเพื่อเด็กและเยาวชน มองว่าคนทั้งประเทศอยู่ ป.6 หมด เหมือนทุกอย่างในประเทศนี้ที่แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

เรื่องแรงงานต่างด้าวก็เหมือนกัน ไปห้ามเขา ทำกับเขาเหมือนสัตว์ ต้องอยู่ตรงนี้ๆ อ้างว่าพวกนี้เป็นแก๊งอาชญากรรม แต่ตำรวจก็เป็น คนไทยทั่วไปก็เป็น แต่ถึงแรงงานต่างด้าวจะเป็นอย่างนั้นจริง มันก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง คุณออกกฎนี้โดยใช้ประชามติแบบหลอกๆ แสร้งว่าไปทัวร์หลายๆ จังหวัด มีพระ นักเรียน ถูกเกณฑ์มาฟัง เด็กก็เอามือถือมาถ่ายรูปเล่นกัน บนเวทีก็มีพวกศูนย์เฝ้าระวัง มีตำรวจเป็นประธาน ผมเห็นแล้วก็คิดในใจว่า ประเทศนี้เหลวแน่ๆ ถ้ายังมีคนพวกนี้อยู่

GM : ‘คนพวกนี้’ จะส่งผลให้บ้านเมืองเหลวแหลกอย่างไร

อภิชาติพงศ์ : ตรรกะการวิเคราะห์ของคนรุ่นใหม่จะน้อยลงเหมือนสิงคโปร์ แม้สิงคโปร์จะสนับสนุนศิลปะและการสร้างสรรค์เยอะด้านพื้นที่ ด้านสิ่งก่อสร้าง แต่เขาไม่มี Creative Mind ที่จะใส่ในแกลเลอรีถ้าเทียบในเอเชีย สิงคโปร์เป็นประเทศที่น่าสะพรึงกลัวมาก อาจมีต้นไม้เยอะ สวย ห้องสมุดดีมาก แต่ถ้าไปอยู่จริงๆ จะมีกฎระเบียบเยอะ แล้วประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นเด็กดี ยอมตามพ่อแม่ ส่งผลให้ประเทศไร้สีสัน กลายเป็นหน้ากากหมด ศิลปะร่วมสมัยเกิดจากทฤษฎีที่ร่ำเรียนมาจากต่างประเทศหมด เด็กไม่มีความคิดที่พิเศษ นี่คือสิ่งที่ผมกลัวมากๆศูนย์เฝ้าระวังของประเทศไทยเหมาะกับการไปทำงานที่สิงคโปร์มากกว่า เพราะการทำแบบนี้ไม่ใช่ธรรมชาติของคน พยายามสร้างบางอย่างที่ตัวเองคิดว่าถูก ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเขาผิดหรือถูก เพราะเป็นเรื่องปัจเจก

แต่การเอาภาษีของคนไปใช้รณรงค์ แม้จะไม่บังคับ แต่การรณรงค์ให้มันเป็นอย่างที่เขาต้องการมันผิด เช่น ให้เกิร์ลลี่ เบอร์รี่เป็นพรีเซ็นเตอร์ช่วงสงกรานต์

ไม่ใส่สายเดี่ยวนะคะ น่าเกลียดมาก คือกระทรวงวัฒนธรรมเริ่มสร้าง Dress Code อย่างที่อยากให้เป็น ซึ่งการที่เขาทำแบบนี้ มันสะท้อนว่าเขามองผู้ชายไทยเป็นหมา ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ทางเพศได้ เลยต้องไปแก้ที่ผู้หญิงแทน อย่าแต่งตัวยั่วยวน เดี๋ยวสัตว์ป่าพวกนี้จะมารุมพวกเธอ มีการขอร้องด้วยว่าผู้ชายกรุณาปฏิบัติต่อผู้หญิงให้ดีหน่อยนะคะ มึงเป็นเหยื่อหรือไง ทำตัวเป็นเหยื่ออยู่ได้ มันน่าผิดหวัง ที่วัยรุ่นถูกใช้โดยกระทรวงวัฒนธรรม โดยไม่รู้เบื้องหน้า เบื้องหลัง ถ้าคาดกระโจมอกเหมือนสมัยก่อน เหมาะกับอากาศของประเทศเรา ไทยดั้งเดิมเลย คุณจะยอมไหม โป๊กว่าอีก ถ้าวัดจากมาตรฐานของคุณ

นี่เป็นประเด็นเดียวกับกฎหมายเซ็นเซอร์และแรงงานต่างด้าว คือการไม่แก้ปัญหาที่เหตุของมันจริงๆ มองว่าผู้ชายหื่นอย่างเดียว ไม่คิดเลยว่าอีก 50-60 ปี ประเทศไทยจะพัฒนามากกว่านี้ไหม สมมุติ 10 ปีต่อจากนี้ไม่มีสายเดี่ยวในประเทศ แล้วจู่ๆ นักท่อง-เที่ยวต่างชาติใส่สายเดี่ยวเข้ามา จะถือ ว่าฝรั่งเพศหญิงเป็นมนุษย์ที่กักขฬะ สร้างความหื่นกระหายให้ชายไทยทั้งหลาย เพราะไม่เคยเห็นมาก่อนในผู้หญิงไทยจะดีกว่าไหมถ้าแต่ละคนมีพื้นที่ เด็กก็มีพื้นที่ ผู้ใหญ่ก็มีพื้นที่ ดีกว่าไม่เชื่อใจผู้ใหญ่เพื่อปกป้องเด็กแน่ๆ เขาบอกว่าเดี๋ยวเด็กก็ต้องโตเป็นผู้ใหญ่ ควรดูแลให้ดีๆ แล้วผู้ใหญ่ล่ะไปไหน เดี๋ยวผู้ใหญ่ก็ตายแล้วเหรอ ไม่ใช่ ทุกชีวิตมีส่วนร่วมในสังคมนี้ เขาชอบโจมตีผมมากว่าไม่คิดถึงเด็ก ซึ่งน่าเกลียด ที่สุด เพราะบ้านเรา พอพูดถึงเด็กและสตรี จะต้องอุ้มชูไว้เหมือนนักโทษหญิง ความจริงไม่ใช่ ก็คนเหมือนกันหมด ต้องล้ม ต้องได้เรียนรู้

GM : ผู้หลักผู้ใหญ่บางคนอาจแย้งว่า สังคมไทยไม่เหมือนสังคมต่างชาติ

อภิชาติพงศ์ : ผมก็เข้าใจและยอมรับ เด็กไทยอาจต้องใช้ฟิลเตอร์มากกว่าหน่อย แต่พอโตระดับหนึ่งต้องไม่ห้ามแล้ว แต่บางอย่าง เช่น ฉากนู้ด ต้องอายุ 20 ถึงจะได้ดู ถ้าเด็กไม่ได้รับเชื้อเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไว้ก่อน แล้วเราจะไปสู้ใครได้ อายุ 20 ถึงจะได้ดูหนังแบบนี้เหรอ กลุ่มหนึ่งก็น่าสงสาร อีกกลุ่มก็ซอกแซกลงใต้ดิน กลายเป็นคนขี้โกง ประเทศนี้โคตรหน้าไหว้หลังหลอก (เน้นเสียง)ความต้องการของคนมันมี ไม่ว่าเรื่องเพศ ความอยากรู้อยากเห็น หรืออะไรก็ตาม แทนที่จะถูกกฎหมาย มันก็ไม่ถูก ต้องอ้อมตลอด อยากได้อะไรต้องพูดอ้อมสิบตลบ ยังไงผู้คนก็ต้องหาทางออก เช่น การซื้อดีวีดีเถื่อน เกมเถื่อน การเมืองก็เหมือนกัน นักการเมืองจะทำอะไร ต้องมียุทธศาสตร์เยอะเหลือเกิน ไม่ตรงไปตรงมาเหมือนบางประเทศ บ้านเราต้องอ้อม ต้องรู้จักคนนั้นก่อน พี่ดันให้หน่อยแล้วกันมันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเอเชีย อย่างการนับถือผู้ใหญ่ก็เป็นความเชื่อของจีน ซึ่งเราต้องวิเคราะห์ว่าเราจะบาลานซ์อย่างไร สังคมถึงจะอยู่รอด ไม่ใช่ว่านับถือผู้ใหญ่แล้วผู้ใหญ่รังแกเด็กแล้วยังมาหาว่าผมซ้ายจัดอีก ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าเทียบกับสากล ผมอาจขวาในบางประเทศด้วยซ้ำ

GM : คุยกันไม่รู้เรื่องเลยหรือ

อภิชาติพงศ์ : เหมือนอยู่คนละโลก แต่ถึงจะคุยไม่รู้เรื่อง มันต้องยอมรับกัน ผมเสนอให้มีโรงเฉพาะ แบ่งที่ทาง ซึ่งไม่เสียหายสำหรับเขา แต่เขาไม่ยอม แล้วสิ่งที่เขาอยากได้มันเสียสำหรับเรา ถือว่าไม่ยุติธรรม เพราะเราพยายามเสนอว่ามันควรจะ Win-Win Situation แต่เขาบอกว่าฉันชนะ เธอแพ้ เพราะเขากลัว ความกลัวโคตรฝังรากลึกในประเทศนี้ พอกลัวก็พยายามปิดกั้น ส่งผลให้คนในสังคมไม่ได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูกและเติบโตด้วยตัวเอง เป็นสังคมที่ประชาชนขาดภูมิคุ้มกัน ขาดการพูดคุยกันในสังคมอย่างเรื่องแก้ปัญหาภาคใต้ มีคนเสนอว่า ให้ไปทำเวิร์กช็อปทำหนังที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมก็แย้งว่า ถ้าเขาทำหนังด่าพวกเราล่ะ มันอาจมีบางส่วนที่ทำหนังด่าพวกคุณ แต่นี่คือขุมทรัพย์ที่คุณจะได้รู้ว่าเขาคิดยังไง พอคุณกลัวโดนด่า มันก็ไม่มีการสื่อสารเกิดขึ้น กลัวโดนด่า กลัวเจ้านายด่า กลัวผิด ซึ่งกลัวผิดนี่น่ากลัวที่สุดมีเด็กปริญญาโท ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับหนังของผม แล้วถามผมว่า วิเคราะห์หนังผมด้วยทฤษฎีแบบนี้ถูกไหม ผมคิดว่า เอ๊ะ…มันไม่มีผิดถูก เพราะมันเป็นมุมมองของเธอ ถึงจะเป็นหนังผมก็ตาม เธอวิเคราะห์แบบนี้มันก็เป็นแบบนี้ ผมจะบอกว่าผิดได้ยังไงเมื่อเธอมีตรรกะแบบนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของการศึกษาไทยคือต้องให้เด็กได้เรียนรู้ว่ามันไม่มีผิดถูก นอกจากหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสองผมอยากให้คนไทยออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเองมากขึ้น ที่นายกฯสมัครพูดไม่คิด เพราะสังคมปล่อยให้เขาพูดได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ พอพูดปุ๊บ คนไม่ประท้วง เขายังอยู่ในตำแหน่ง เขาก็พูดต่อไปสิ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปว่าเขา เพราะพวกเราเองที่สร้างความชอบธรรมให้เขาเป็นคนแบบนั้น

GM : หมายความว่า ที่ผ่านมาคนไทยยอมมากเกินไป

อภิชาติพงศ์ : ใช่, ต้องเรียกร้องมากกว่านี้ คุณต้อง Take Action ด้วย บางทีผมก็ลังเลว่าจะไปดีไหม เพราะไปครั้งที่ร้อยแล้วก็ยังเหมือนเดิม แล้วเขาเอาชื่อเราไปอ้าง แต่ไม่มีความคิดเห็น ของเราในบัญญัติสุดท้าย ไปสร้างศัตรูเปล่าๆ เพราะเขามองว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ความจริงไม่ใช่ เลยต้องเลือกว่าจะไปหรือไม่ไป สุดท้ายก็ไป แล้วทำจดหมายชี้แจงความคิดเห็นของกลุ่มออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรศูนย์เฝ้าระวังค่อนข้างทำความลำบากให้ประชาชนมาก เพราะเขาได้เงินเดือน เอาเงินภาษีของพวกเราไปสร้างประชามติจอมปลอม ในมุมมองของผมนะ ขณะที่ผมต้องทำงาน กูมีงานหนังตั้ง 10 โปรเจ็กต์ แค่นี้ก็ทำไม่ทันแล้ว ยังต้องมารณรงค์ สัมมนา เพื่อไปต้านพวกนี้อีกโปรดิวเซอร์หนังของผมที่เมืองนอก บอกว่าลำบากจัง เกิดมาเป็นคนทำหนังที่ประเทศไทย นอกจากจะต้องพยายามคิดงานสร้างสรรค์แล้ว ยังต้องต่อสู้กับคนพวกนี้อีก ซึ่งได้เงินเดือนจากคุณด้วย บั่นทอนเวลา บั่นทอนความคิด 50% คิดโปรเจ็กต์ อีก 50% ประท้วง ซึ่งมันกวนให้น้ำไม่นิ่ง จิตใจไม่สงบ เพราะทุกคนต่างอยากได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ตัวกูของกู ความคิดกู ซึ่งทำลายความคิดสร้างสรรค์ในอีก 50% บางครั้งผมก็ถามตัวเองว่า เอาเวลาไปทำงาน 100% ไม่ดี กว่าหรือเพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คนที่สู้เพื่ออะไรต่ออะไรก็ไม่เห็นจะสร้างความเปลี่ยน แปลงในทางที่ดีได้เลย แต่นั่นคือการเพิกเฉย ขณะเดียวกัน ผมค่อนข้างสับสนว่า งานของตัวเองจะล่มไหม ปกติผมจะออกหนัง 2 ปีต่อเรื่อง แต่นี่จะ 3 ปีแล้ว ไม่ได้ออกหนังใหม่เลย เป็นเรื่องของชีวิตส่วนตัว การงานส่วนตัว กับการรณรงค์ สู้เพื่อพื้นที่ของเราด้วย ของคนในอนาคตที่ทำหนังและคนดูด้วยบางครั้งผมก็ไม่ไป ขณะที่ชลิดา (เอื้อบำรุงจิต) จากมูลนิธิหนังไทย สู้มากกว่าผม 100 เท่า เข้าประชุม เสียเวลาหลายปี กระทั่ง พ.ร.บ. ออกมา แล้วไม่มีความคิดของเธออยู่ในนั้น น่าเศร้าสำหรับคนที่สู้โดยไม่ได้เงินเดือน ไม่ได้ค่าใช้จ่าย และไม่ได้อะไรเลย แต่ไม่ว่ายังไง เราก็ไม่สามารถอยู่เฉยๆ

GM : ถ้าต้องการความเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีส่วนในการสร้างมันขึ้นมาด้วย

อภิชาติพงศ์ : ใช่, อยากให้มากกว่านี้ บางทีกระแสเว็บพันทิปก็น่ากลัวเหมือนกัน มันน่าเศร้าที่มีคนโพสต์ในกระทู้ของพันทิปว่า ถ้าไม่ยอมให้เซ็นเซอร์ก็ไปตายซะ

แต่เขามีสิทธิ์พูด ซึ่งมันก็แสดงถึงวิสัยทัศน์ในการมองโลกของเขา ถ้ามีคนแบบนี้เยอะๆ ยอมถูกปิดหูปิดตา จะเบลอก็ยอม จะอะไรก็ยอม มันจะทำให้สังคมไปอยู่

ในจุดที่เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม เพราะฉะนั้น คนที่ไม่เห็นด้วยควรออกมาใช้เสียงด้วย สัมมนา ลงชื่อ หรือทำอะไรก็ตามที่ทำได้อย่างฝรั่งเศส แต่ละคนประท้วงจนเบื่อ ตอนแรกผมไม่ชอบประเทศนี้ เดี๋ยวก็สไตรค์ ไม่มีรถไฟ ต้องเดินกลับ แต่ทุกวันนี้ชื่นชมว่ะ ผู้คนมีสปิริต 120% ขนาดช่างทำผมยังประท้วง มีสมาคมช่างทำผม เขารู้ว่ารัฐบาลไม่ใช่เจ้านาย แต่มีหน้าที่รับใช้ ขณะที่บ้านเรา บางคนหาเช้ากินค่ำ จะเอาเวลาที่ไหนมาประท้วง แค่ทำมาหากินก็แย่อยู่แล้ว ต้องจ่ายเงินให้คนโน้นคนนี้ จ่ายใต้โต๊ะอีกต่างหากแต่การออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของบ้านเรายังไม่พอ ต้องมากกว่านี้ ผมชอบแกนของศาสนาพุทธ ต้องสันติ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ทำโดยคิดว่ามันเป็นของส่วนรวม โดยมีสติ ไม่ใช้อารมณ์ เพราะผมหลุดบ่อยมาก ต้องเตือนตัวเองว่า นี่เป็นคนละเรื่องกับการเพิกเฉย ปล่อยวาง แต่คือเรื่องของสิทธิพื้นฐาน เพื่อสร้างให้คนรุ่นหลังต้องคิดว่า การประท้วงคือการทำบุญให้คนรุ่นหลัง และให้ตัวเองด้วย เพราะเราชอบพูดเหลือเกินว่า คนไทยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บริจาคให้เด็กยากจน ให้วัด แต่ตัวเองล่ะ เคยให้ไหม การไปประท้วงคือการทำบุญให้ตัวเอง สร้างพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการทำบุญให้ประเทศอย่างมาก รัฐบาลจะได้รู้ว่าต้องปรับตัว สำนึกว่ากูไม่ใช่เจ้านาย กูคือคนรับใช้

GM : ถ้าเป็นไปได้ คุณอยากให้กฎหมายเซ็นเซอร์ของบ้านเราออกมาแบบไหน

อภิชาติพงศ์ : ขอให้รัฐออกไปห่างๆ เพราะสิ่งที่ผมอยากเห็นจริงๆ คือการสร้างเรตติ้งขึ้นมาเองจากภายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เหมือนอเมริกา แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่า ต้องทำ Petition ต่อไป เพราะตอนนี้ พ.ร.บ. ใหม่ผ่านแล้ว ซึ่งรัฐบอกว่าไม่ได้ๆ ประชาชนเป็นเด็กนักเรียน ฉันต้องยุ่งในทุกเรื่อง รัฐไม่ไว้ใจประชาชน ทำให้ประชาชนไม่ได้เรียนรู้ ผู้ประกอบการภาพยนตร์ก็ไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ลองจัดเรตติ้ง ลองผิดลองถูกกับประชาชน ซึ่งถ้าได้ทำจะดีในระยะยาว เป็นการพูดคุยกันโดยตรงระหว่างผู้สร้างกับผู้เสพตอนไปประชุมที่กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อหาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมของการจัดเรตติ้ง แต่ประเด็นหลักที่เขาเอาแต่บ่น คือหนังไทยปัจจุบันมีแต่ความหยาบ รุนแรง ตลกกับคนกลุ่มน้อย เช่น กะเทย คนชนชาติอื่น แม้จะเป็นจริง แต่คุณไม่มีสิทธิ์มาบอกคนทำหนังว่าต้องทำหนังแบบไหน มันเป็นเรื่องของเขา ‘It’s their business.’ ที่เขาจะทำแบบนี้ คนอยากดูก็ต้องให้เขาทำใช่ไหม หนังตลก คำหยาบ โจ๊กใต้สะดือ หรืออะไรก็ตามผมเสนอว่า ถ้าอย่างนั้นคุณต้องสร้างหน่วยภาพยนตร์ แล้วตั้งงบขึ้นมา โดยให้ประชาชน Approve ก่อน จากนั้นค่อยสร้างหนังเหมือนยุคฮิตเลอร์ เป็นหน่วยงานสร้างหนังโฆษณาชวนเชื่อ ว่าความดีงามเป็นยังไง แต่ขออย่าให้งบประมาณทับซ้อนกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพราะหน้าที่หมิ่นเหม่กันอยู่ เพราะเป็นหน้าที่กระทรวงท่องเที่ยวฯหรือเปล่าที่จะสร้างภาพว่าประเทศไทยสวยหรู ดีงาม ไม่มีโจร หรือกระทรวงวัฒนธรรมอยากทำเอง แต่หน้าที่โฆษณานี้ไม่ใช่หน้าที่ของคนทำหนังศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของบ้านเราเคลื่อนไปข้างหน้าค่อนข้างดี แต่จะดีกว่านี้ได้อีก ถ้ารัฐไม่มายุ่ง พอมายุ่งแล้วน่ากลัว มาสร้างความกดดันให้เกิดขึ้นในสังคม มาสร้างกฎ ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ทั้งๆ ที่ความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมเคลื่อนไปข้างหน้าความคิดสร้างสรรค์เปรียบเสมือนแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานที่เปล่งประกายได้ในทุกช่วงชีวิตของคนเรา ไม่ว่าศิลปะหรือธุรกิจก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ มันเป็นส่วนหนึ่งของปัญญา เหมือนตอนนั่งสมาธิ พอนิ่งจะเกิดปัญญา ทั้งที่ไม่ได้คิดแต่คิดออก พอคุณไม่กล้าคิดถึงจุดนั้น สมองถูกตั้งโปรแกรมไว้ก่อนแล้วว่า จุดนี้จุดนั้นคิดไม่ได้ มันจะไม่เกิดวัฒนธรรมใหม่ ไม่เกิดดีไซน์ใหม่ๆ ไม่เกิดสิ่งใหม่ๆ ให้สังคม

อย่างฝรั่งเศส นอกจากจะมีพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ที่เก็บประวัติศาสตร์ของชาวบ้านไว้หมด ยังมีผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ให้คนรุ่นใหม่ได้เสพ และขายนักท่องเที่ยวด้วย บ้านเราคงขายวัดได้อีกไม่นาน ขายความป่าเถื่อนได้อีกไม่นาน ต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่เพื่ออนาคตด้วย แล้วในอนาคตมันน่ากลัว กลัวว่าบ้านเราจะเป็นเหมือนสิงคโปร์ สิงคโปร์เก่งด้านการจัดการวัฒนธรรมคนอื่น แต่ตัวเองไม่มีวัฒนธรรม กลายเป็นสังคม Management อย่างเดียว ทำให้กลายเป็นประเทศที่โคตรน่าเบื่อการใช้ชีวิตของคนทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ไม่รู้จะไปไหน นอกจากห้าง แม้แต่สวนสาธารณะยังเปิดเพลงเสียงดัง การใช้ชีวิตอยู่ในห้าง นี่คือสิ่งที่คุณต่อต้านกันใช่ไหม Capitalism สังคมบริโภคอย่างรุนแรง วัตถุนิยม แต่มันขัดแย้งกัน เพราะสิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ทำคือการผลักดันให้สังคมไปทางนั้น โดยไม่มองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลก แต่มองว่าประเทศไทย Special ยังกินข้าวอยู่ เหมือนสร้างกำแพงล้อมรั้วไว้ แล้วคนก็เป็นแค่สัตว์ในรั้วโลกนี้ก็เปรียบเสมือนหมู่บ้าน เราควรจะเดินไปด้วยกัน ไม่ใช่สร้างกำแพงว่า ฉันยังกินข้าว กินก็กินสิ แล้วทำไมต้องปิดหูปิดตากันด้วย ไม่เกี่ยว เป็นข้ออ้างชั่วๆ วิสัยทัศน์สอนกันไม่ได้ อยู่ที่การวิเคราะห์ ดังนั้น การที่ไอ้คนรุ่นนี้คิดไม่ได้ ก็เพราะถูกกดมาจากคนรุ่นก่อนๆ หรือเปล่า ซึ่งช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่จะทำให้คนพวกนี้คิดได้หรือเปล่า โลกกำลังเปิดกว้างมากๆ ด้วยอินเตอร์เน็ต การเดินทาง การสื่อสาร แล้วสมควรไหมที่จะปิดผมรู้สึกว่าตอนนี้ประเทศไทยเหมือนเรือที่ค่อยๆ ล่ม ค่อยๆ จม มีหนังสือเล่มหนึ่งพูดถึงวิถีชาวบ้านสมัยก่อน บอกว่าถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้ กึ่งจม กึ่งล่มไปเรื่อยๆ แต่ไม่ขึ้นมาแล่นเหมือนเรือทั่วไป ตราบใดที่คนพวกนี้มีอำนาจ

GM : ทราบมาว่าคุณเพิ่งกลับจากเวียดนาม คุณไปทำอะไรที่เวียดนาม

อภิชาติพงศ์ : ผมไปสอนหนังสือมาประมาณ 1 เดือน สอนเขียนบทภาพยนตร์ (ยิ้ม) ซึ่งไม่ใช่จุดแข็งในหนังของผม ยังไงก็ตาม ผมได้อิสระที่จะสอนยังไงก็ได้ เพราะฉะนั้น ผมเลยไปพูดเรื่องที่มาของบทภาพยนตร์ การเรียบเรียงความคิด หรือจะทำหนังเรื่องอะไร เพราะหลายคนมีปัญหา

เกี่ยวกับไอเดียแรกว่าจะทำหนังเรื่องอะไร แล้วยึดติดกับภาษาหนังต่างชาติเยอะ หนังต้องมีรถชนกัน หรือต้องเหมือนหนังผีเกาหลีที่กำลังครองตลาด

ผมพยายามปัดความคิดพวกนั้นออก บอกว่ามันเป็นความคิดหนึ่งเท่านั้น และยังมีความคิดอื่นด้วย

GM : ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการไปเวียดนาม

อภิชาติพงศ์ : ตอนไปแรกๆ มันก็ Exotic ดี ตื่นเต้น มีความแปลกใหม่ในสังคม พออยู่สักพักก็ได้เรียนรู้โครงสร้างสังคมของเขา เห็นรากความกลัวตั้งแต่เริ่มแรก จนตอนนี้ค่อนข้างชินชาในแง่ของการที่ต้องทำตามรัฐ มีลำโพงติดทั่วเมือง ผมถามเพื่อนว่า เขาพูดอะไร? เพื่อนบอกว่า ประกาศข่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโฆษณาชวนเชื่อว่ารัฐทำดีอะไรบ้าง รู้สึกว่านี่เป็นประสบการณ์เหนือจริงแล้วพอคุยกับนักเรียนเรื่องการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ชายขอบของเวียดนามเอง นักเรียนก็บอกว่าไม่จริง ทั้งๆ ที่มันมีหลักฐาน มีรูป มีข้อมูล จะจริงหรือไม่จริงก็ตาม มันน่ากลัวที่เห็นเขาปกป้องประเทศจนไม่พิจารณาความคิดอื่นเลย มองเห็นด้านเดียว

พอเห็นด้านเดียว เขาก็คิดว่าทำได้แบบนี้ เท่านั้น ไม่สามารถจะ เฮ้ย! ทำแบบอื่นได้ด้วยเหรอ จะผิดไหม ไม่กล้าวิจารณ์รัฐบาล หรือวิจารณ์อะไรซึ่งถ้าเป็นมุมมองของคนนอก ผมมองว่าไม่ดีอยู่แล้ว แต่เขามองว่าปกติ ยังไงก็ตามในฐานะที่เป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นสัตว์โลกด้วยกัน เขาน่าจะรู้ตัวด้วยว่า ข้างนอกเป็นยังไง ถึงจะเชื่อจุดนี้ แต่การที่ก่อกำแพงสูงเหลือเกิน จนทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในสวนสัตว์ มันเศร้า

GM : ประเทศไทยเป็นสวนสัตว์อีกแห่งหรือเปล่า

อภิชาติพงศ์ : เป็นอยู่แล้ว (หัวเราะ) อย่างน้อยเวียดนามชัดกว่าว่าเขาเป็นสวนสัตว์ ขณะที่เมืองไทยป่าวประกาศว่าเป็นประชาธิปไตย แต่หลายๆ อย่างคลุมเครือ โดยเฉพาะการสร้างภาพต่อสังคมโลกว่ามันน่าอยู่แค่ไหน แต่ความจริงแล้ว กรณีตากใบ กรณีฆ่าตัดตอน ไม่มีการพูดถึงเท่าที่ควร มีแต่นักวิชาการพูด คนทั่วไปไม่ค่อยมีส่วนร่วม ตรงนี้คล้ายเวียดนาม แต่เราเรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย มันลักลั่น

GM : เท่าที่ได้ไปสอนหนังสือ เด็กเวียดนามเหมือนหรือต่างจากเด็กไทยยังไงบ้าง

อภิชาติพงศ์ : พอๆ กันในแง่ความคิดสร้างสรรค์ แล้วไม่แตะต้องการเมืองเหมือนกัน เด็กเวียดนามจะยึดติดกับครอบครัวเยอะ หนังที่เสนอมาเกี่ยวกับครอบครัวทั้งนั้น แต่เด็กไทยจะเป็นเรื่องปัจเจก เรื่องส่วนตัว ความรัก ซึ่งสะท้อนว่าสังคมมาทางนี้ ไม่มีดีมีเลว แต่ขาดการมีส่วนร่วมด้านสังคมและการมองสังคมโดยกว้าง เพราะสื่อในสังคมไม่เปิดโอกาสให้เขาได้รับรู้สิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะทีวี สิ่งพิมพ์ และภาพยนตร์ด้วย ทั้งที่มีเรื่องแย่ๆ เกิดขึ้นเยอะ (เน้นเสียง) แต่เขาไม่รู้ เลยไม่สามารถวิเคราะห์หรือวิจารณ์ได้ บางครั้งบทวิเคราะห์ดีๆ มันจะอยู่ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ The Nation หรือ Bangkok Post แต่เด็กไทยไม่ค่อยได้อ่าน ซึ่งมันก็โทษเด็กไม่ได้ แล้วยิ่งมีระบบเรตติ้ง ตัดหนังอีก ยิ่งทำให้ขาดข้อมูลถ้าเทียบกับอเมริกาและสวิสที่ผมเคยไปสอน ความคิดสร้างสรรค์หลากหลายกว่าเยอะ มีอะไรแปลกๆ มาเซอร์ไพรส์อาจารย์คนนี้เยอะ (หัวเราะ) เซอร์ไพรส์จริงๆ ว่าคิดแบบนี้ได้ด้วยเหรอ ไม่ได้มองเขาว่าเป็นฝรั่งหรือตะวันตก แต่เด็กอายุน้อยๆ

คนหนึ่งมาให้ไอเดียที่น่าทึ่งกับเรา พูดเรื่องที่เชื่อมโยงกับสังคมค่อนข้างเยอะ เรื่องส่วนตัวก็ค่อนข้างเยอะ แล้วแต่คน หลากหลายจนผมรู้สึกว่ามันช่างงดงามจริงๆ แม้บางประเด็นจะปัญญาอ่อน (หัวเราะ) แต่บางประเด็นก็ค่อนข้างลึกมาก เหมือนเขาพยายามค้นหาหลายๆ อย่าง ผมเป็นห่วงเด็กไทยในจุดนี้ เพราะเด็กรุ่นเดียวกัน พอโตขึ้นก็ต้องมีการติดต่อสื่อสารกันในหลายๆ สังคม เป็นห่วงว่าจะทำงานร่วมกันได้ไหม

GM : แล้วสถาบันการศึกษาในบ้านเราล่ะ เคยไปสอนไหม

อภิชาติพงศ์ : ถ้าผมไปสอน สร้างศัตรูแน่นอน แล้วมันคุ้มไหมที่จะไปสร้างศัตรู ที่ผ่านมาได้ไปพรีเซ้นต์ที่ธรรมศาสตร์ ที่เอแบคนานแล้ว และที่ศิลปากรด้วย แต่ถ้าให้ไปสอน หรือจัดสัมมนา มันไม่พ้นเลยที่จะเสนอให้โละคนรุ่นเก่าหลายอย่างที่ได้ยินจากรุ่นน้องที่เป็นนักศึกษาจากหลายๆ สถาบัน เกิดปัญหาเดียวกันคือ อาจารย์และบุคลากรที่สอนวิจารณ์ภาพยนตร์ ยังเอาสุริโยไทมาให้ดูอยู่เลย ไม่อัพเดทตัวเอง เอาบทเรียนที่ตัวเองเรียนเมื่อหลายสิบปีที่แล้วมาสอน สอนเด็กให้ท่องจำ ผมรู้สึกว่ามันเห็นแก่ตัวไปหน่อยในการสอนแบบนี้ ไม่รู้ว่าโลกภายนอกไปถึงไหนแล้ว มีแต่สิ่งที่ตัวเองได้เสพในแง่ของบทเรียนเก่า ซึ่งหนังก็เป็นหนังที่ฉายในโรงทั่วไป หารู้ไม่ว่าหนังเหล่านี้ บางทีก็เป็นแค่ซากหรือกากเดนของหนังที่มีอยู่ทั่วโลก ไม่ได้พูดเหมารวม แต่หลายคนไม่พัฒนาตัวเอง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเด็กกับอาจารย์ เพราะเด็กที่ชอบจริงๆ ก็จะแสวงหา ดูดีวีดีเถื่อนเยอะ เขาก็สงสัยว่าทำไมเป็นแบบนี้หรือเด็กพยายามทำหนังทดลอง อาจารย์ก็บอกว่าถ้าจะทดลองต้องมีราก อาจารย์ไม่ได้แอนตี้หนังทดลองนะ แต่พยายามให้เด็กพูดออกมาว่าเพราะอะไรถึงทำ บางครั้งเด็กก็อธิบายไม่ได้ หรือไม่ก็ยังไม่ได้เรียนรู้กระบวนการจนสามารถอธิบายได้ประเด็นคือเขาไม่พยายามดึงศักยภาพของเด็กออกมา แต่กลับปฏิเสธเลย ไม่ได้ ไอ้นี่ดื้อ ไอ้นี่พยายามทำหนังทดลอง แต่ทำไม่ถึง แบบนี้ไม่ใช่ระบบการศึกษา การศึกษาคือการเรียนรู้ถ้าคุณคิดว่าไม่ถึง แล้วอะไรที่ถึง ทำไมคุณไม่ถามให้มากกว่านี้ว่าเด็กคิดอะไร แม้จะเป็นแค่การแอนตี้โครงสร้างของหนัง มันก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้ว แต่นี่ยังบังคับว่าต้องทำหนังกี่นาที ต้องให้ข้อคิดคนดู แค่ไปซื้อหมาที่ อตก. แล้วเดินมาที่ป้ายรถแถวเซ็นทรัล แล้วกลับบ้าน จบ ถามว่าสอนอะไรคนดู ก็ไม่ได้สอนอะไรมาก แต่มันก็เป็นหนังเรื่องหนึ่ง เขาอยากพูดชีวิตประจำวันของเขา มันก็ควรให้เขาทำ

แต่อาจารย์พยายามจะยัดเยียดให้หนังเป็นสื่อที่สอนศีลธรรม ซึ่งเป็นมุมมองเดียวกับกระทรวงวัฒนธรรม นี่อันตรายที่สุด ทำไมคุณไม่ไปถามคนสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ถ่ายทำกรุงเทพฯน้ำท่วม ถ่ายทำพระราชพิธี หรือถ่ายทำ อะไรก็ตาม ว่าหนังพวกนี้สื่ออะไร มันคือ Document ชีวิตคนในช่วงต่างๆ พอเด็กทำแบบนี้ อาจารย์ควรจะยกย่องนี่คือปัญหาของระบบการศึกษาไทยผมถึงช็อกตอนไปเรียนที่ชิคาโก ซึ่งเป็นการศึกษาแบบตะวันตก แต่เปิดโอกาสให้คิดโดยไม่มีผิดหรือถูก คุณอยากมาทางนี้ใช่ไหม เดี๋ยวจะหาหนังแบบนี้มาให้ดู แนะนำว่ามีทฤษฎีอะไรบ้างในโลกนี้ แล้วเวลาที่ผมพยายามอธิบายงานของตัวเองก็สามารถเชื่อม-โยงกับศิลปินหลายคนซึ่งไม่ได้ทำหนัง แต่อาจทำงานปั้น ถ่ายภาพ หรือวาดรูป เพราะมันเชื่อมโยงกันหมด นี่คือการส่งเสริมคน ซึ่งผมค่อนข้างตกใจว่า เฮ้ย! ไม่มีผิดถูกแล้ว เกรดยังไม่มี แต่ถ้าคุณไม่เข้าเรียน คุณก็ตก มีแค่ตกกับผ่าน เพราะถือว่าโตแล้ว ถ้าคุณไม่มารับสิ่งที่ฉันอยากให้ ผลเสียก็ตกอยู่ที่คุณเองในอนาคต ถ้าคุณ

ไม่ต้องการสิ่งนี้ คุณจะค้นคว้าเอง มันก็เป็นชีวิตของคุณ นี่คือเป็นพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันระหว่างอาจารย์กับศิษย์

GM : ระบบการศึกษาของบ้านเราขาดอะไร

อภิชาติพงศ์ : อาจารย์ต้องใส่ศักดิ์ศรีและความมั่นใจให้เด็กเยอะๆ เพราะตอนผมไปเรียนแรกๆ ผมไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ขาดความกล้า แต่พออาจารย์บอกว่าทำได้หมดนะ ความมั่นใจก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่บ้านเราตอนนี้ตรงกันข้าม นักเรียนไม่มีศักดิ์ศรี แล้วอาจารย์ถูกทุกอย่าง อาจารย์ไม่ใช่เรือจ้างแล้ว กลายเป็นนักเรียนเป็นเรือจ้างของอาจารย์แทน จ่ายเงินให้มหา’ลัยไปจ้างคนแบบนี้มาสอน ยังไงก็ตาม อาจารย์ป้องกันตัวเองด้วยการออกข้อสอบที่มีแต่ถูกกับผิด ให้เด็กท่องทฤษฎีมาสอบ ซึ่งทฤษฎีเหล่านั้น อาจารย์ก็ลอกมาจากหนังสือฝรั่งมันไร้สาระ เสียเวลา เสียเงิน แล้วสิ่งหนึ่งที่ผมเศร้าใจ และสงสัยว่าทำไมเด็กไม่ประท้วงหรือจัดสัมมนาร่วมกันระหว่างสถาบันที่สอนภาพยนตร์ ว่าข้อดีข้อเสียของแต่ละสถาบันคืออะไร แล้วในฐานะที่อาจารย์ได้เงินเดือน อาจารย์ก็ต้องรับผิดชอบ เด็กควรจะพูดได้ว่าไม่เห็นด้วยกับการสอนของอาจารย์คนนี้เพราะอะไร แล้วอาจารย์ก็ต้องออกมาชี้แจงว่าเพราะอะไรถึงสอนแบบนี้  ควรมีเวทีแบบนี้ เหมือนรัฐบาลไม่อยากฟังเสียงของคนภาคใต้ เพราะกลัวโดนด่า ทั้งที่ความจริงคือการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้ดีขึ้น แล้วก็ยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้วย

GM : คุณสมบัติอะไรในตัวคุณที่ได้รับการบ่มเพาะจากการไปเรียนที่สถาบันศิลปะชิคาโก

อภิชาติพงศ์ : เรื่องถูกผิด ทำหนังเพื่ออะไร อยู่ไปเพื่ออะไร เพราะบางครั้งค่อนข้างสับสนว่าทำหนังแบบนี้เพื่ออะไร ใครจะดูหนังเรา เพราะมันส่วนตัวเหลือเกิน คนดูอาจคิดว่าหนังส่วนตัวก็ไปดูเองที่บ้าน เรื่องอะไรจะเสียเงินดูมึง แต่ที่นั่นสอนให้ผมรู้จักความกว้างของประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์ศิลปะ ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แล้วเราไม่จำเป็นต้องแคร์ เพราะไม่ว่าคุณจะทำยังไง คุณก็ต้องโดนวิจารณ์ในทางลบ เหมือนที่พุทธศาสนาบอกโดยเฉพาะคนทำงานศิลปะให้ตัดความกังวลนี้ออก ขอให้ทำออกมาจากใจจริงๆ ว่าคุณอยากเสนออะไร ผมรู้สึกว่ามันช่วยให้ผมมั่นใจมากขึ้น มีกระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ในแง่ของการไหลของประวัติศาสตร์ศิลปะว่าเราอยู่จุดไหน เราจะไปที่ไหน กำลังเกิดอะไรขึ้นในสังคมโลก เพราะฉะนั้น ผมถึงไม่เห็นด้วยกับคนที่พูดว่า สังคมไทยเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของไทยหรือฝรั่ง แต่มันเป็นความพยายามของผมที่จะถ่ายทอดบางสิ่งบางอย่างของคนที่เติบโตขึ้นที่ขอนแก่น แล้วไปเรียนต่อที่ชิคาโก ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นหนึ่งเดียวในโลก เพราะไม่มีใครจะมาเหมือนผม เหมือนคุณ หรือเหมือนคนอีกหลายล้านคนในประเทศนี้ แต่ละคนควรจะได้แสดงสิ่งนี้ออกมา  ไม่มีใครสามารถบอกว่า คุณต้องแต่งตัวแบบนี้ เหมือนสมัย จอมพล ป. ได้อีกต่อไป หรือประสบการณ์ของฉันเป็นแบบนี้ คุณต้องทำแบบนี้ เพราะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ พูดไปก็เขิน เพราะนี่คือพื้นฐานของสิทธิธรรมดา ก็ยังต้องมานั่งพูดอีก สรุปคือ ก็แค่คนต่างกัน

GM : คุณคิดอย่างไรกับหนังเรื่อง ‘รักแห่งสยาม’

อภิชาติพงศ์ : พูดอย่างไม่อาย คือยังไม่ได้ดู ซื้อดีวีดีไว้ แต่น่าเกลียด ต้องดูในโรง แต่คงได้ดูในเทศกาลหนัง คงตอบยากเพราะยังไม่ได้ดู แต่จากการไปประชุม มีคณะกรรมการคนหนึ่งพูดว่า ‘รักแห่งสยาม’ เป็นตัวอย่างที่ดี ที่น่าสนับสนุน เหมือน ‘โหมโรง’ เพราะแม้จะพูดถึงประเด็นชายรักชาย แต่สุดท้าย เด็กก็เลือกทางเดินที่ถูกต้อง ซึ่งผมคิดว่า เขาหมายถึงเด็กเลือกจะไม่เป็นเกย์ถึงผมจะยังไม่ได้ดู แต่ผมคิดว่าผู้กำกับไม่ต้องการสื่อแบบนี้ แต่การที่รัฐเห็นว่าชายรักชายมันผิด มันน่ากลัวมากๆ เพราะถ้ามองว่าหญิงรักชายผิด จะมีคนมาเต้นแร้งเต้นกาไหม มัน Nonsenseไม่ต้องพูดกันอีกแล้ว

อย่าง ‘รักแห่งสยาม’, ‘โหมโรง’ หรือ ‘สุริโยไท’ มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมาก เพราะมันเหมือนเป็นหนังที่พูดถึงสิ่งดีที่รัฐต้องการ แล้วจะมีเรต P ซึ่งย่อมาจาก Promotion ขึ้นมา ซึ่งผมมองว่ามันเป็นดาบสองคมที่รัฐบาลเอามาตั้งว่าอะไรควรสนับสนุน เป็นความคิดของคนกลุ่มเดียวว่าหนังเรื่องนี้เป็นสิ่งดี ควรให้เงิน หรือช่วยออกค่าโรงให้ ไม่รู้ว่านโยบายจะเป็นยังไงในอนาคต แต่นี่คือการปิดกั้นถามว่าหนังประเภทอื่นยิ่งประเภทที่ท้าทาย ยิ่งต้องสนับสนุน เพราะเด็กกล้าพูด มึงรับใช้ประชาชน ไม่ต้องมาสร้างภาพว่าสถาบันไหนดี มันจะสร้างนิสัยแย่ๆ ให้คนทำหนัง ต่อไปต้องทำหนังหน่อมแน้มกันเพื่อเอาใจรัฐบาล เพื่อให้ได้เรต P เหมือนเรียนหนังสือ อาจารย์สอนให้ทำหนังที่มี Message ที่ดีต่อสังคม รัฐบาลจะทำตัวเป็นอาจารย์ ชั่วๆ อีกคนแล้ว

GM : ถามถึงเทศกาลภาพยนตร์บ้าง ในฐานะที่คุณเป็นผู้กำกับที่ไปมาแล้วหลายเทศกาลทั่วโลก อยากรู้ว่าเทศกาลภาพยนตร์ในเมืองไทยต่างจากเมืองนอกอย่างไร

อภิชาติพงศ์ : เมืองนอกมีโอกาสดูหนังที่หลากหลายอยู่แล้ว เพราะมีโรงหนังพิเศษ ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าซีนีมาเทค หรือสิ่งที่รัฐบาลหรือเมืองสนับสนุนให้มีโรงฉายหนังที่ไม่คอมเมอร์เชียลขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องโป๊ ต้องรุนแรง แต่เป็นหนังที่ไม่มีจุดประสงค์เพื่อการค้า 100% เพราะทุนของหนังเหล่านี้มาจากหลายประเทศ หรือเป็นทุนให้เปล่าเมืองนอกมีโรงแบบนี้เยอะมาก หนังของผมก็ได้ฉายตามโรงเหล่านี้ เพราะฉะนั้น ชาวต่างประเทศ แม้แต่ฮ่องกง ญี่ปุ่น เพื่อนบ้านก็จะได้ดูหนังเหล่านี้ แล้วพอมีเทศกาลยิ่งหลากหลายเข้าไปอีก สปอนเซอร์ก็ให้เกียรติภาพยนตร์ ให้เกียรติคนจัด มีโลโก้ขึ้นตอนก่อนหนังฉายนิดหน่อย แล้วก็มีโลโก้ในโปสเตอร์ขณะที่บ้านเราลำบาก เพราะไม่มีโรงหนังเฉพาะเลยยิ่งไม่ได้ดูอะไร แล้วพอมีเทศกาลหนังที่จัดเพื่อขายการท่องเที่ยว แต่จัดงานได้เละเทะมาก ทั้งที่ใช้เงินเยอะ มากกว่าเทศกาลหนังใหญ่ๆ ของโลก แต่เทียบกันไม่ได้เลย เขาได้เอบวกบวกบวก บ้านเราติดลบลบลบ ตกชั้นน่ะ ซ้ำชั้น 10 ปี ทั้งที่ทุนเท่ากัน มันล้มเหลว อยู่ดีๆ ก็มีเทศกาล โดยคนไม่ได้เตรียมตัวกับหนังบางประเภท เพราะโอกาสไม่เอื้อ มีหนังบ้าจากตุรกี ฮังการี มาฉาย แล้วคนดูไม่รู้เรื่องเลย เพราะคนดูไม่มีรากมาจากโรงหนังเฉพาะ เทศกาลหนังในเมืองไทยจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จแล้วยิ่งมีกระทรวงวัฒนธรรมที่พยายามร่าง พ.ร.บ. ภาพยนตร์ แถมยังแอนตี้โรงหนังเฉพาะอีกต่างหาก แล้วเมื่อไหร่ที่คนในสังคมจะเติบโต ไม่มีใครส่งหนังเอ็กซ์ให้คุณตรวจอยู่แล้ว ต้องไปอยู่ใต้ดินสำหรับผม ตอนเสนอ ผมตั้งใจไว้สูงสุดเลยว่า หนังเอ็กซ์ควรได้ฉายในโรงเฉพาะ เมืองจีนยังมีเซ็กซ์ช็อป มันควรมีที่ทาง ผมไม่มองว่าหนังเอ็กซ์มีแต่ข้อเสีย เขาไม่เข้าใจว่าการที่ผู้ชมเห็นอวัยวะสอดใส่กันทั้งเรื่อง มันมีประโยชน์อะไรกับสังคม บอกฉันหน่อยสิ

GM : แล้วคุณคิดว่ามันมีประโยชน์อะไรกับสังคม

อภิชาติพงศ์ : นั่นคือมุมมองของเขาที่ผมเคารพ แต่ผมมองว่ามันช่วยบำบัดความใคร่ได้ในระดับหนึ่ง โตๆ กันแล้ว นี่คือสิ่งธรรมชาติ สิ่งที่ควรมีในโรงหนังพิเศษ เด็กไม่อยู่ในพื้นที่แบบนี้อยู่แล้ว แต่ผมก็เข้าใจว่าในอนาคต ถ้าจะไม่มีโรงหนังเอ็กซ์เอ็กซ์เอ็กซ์ ก็ยอม (หัวเราะ) แต่มันควรมีโรงหนังพิเศษที่ฉายหนังยุโรป หรือหนังแปลกๆ ที่อาจมีฉากอย่างว่า บ้าง แต่ไม่ได้เพื่อการปลุกเร้าทางเพศ ซึ่งการปลุกเร้าทางเพศ แต่ละคนก็มองต่างกัน ฉันว่าอันนี้ปลุกเร้า ผมว่าอันนี้ไม่ปลุกเร้า ดีเสียอีกที่มันทำให้เกิดการสื่อสารในสังคมผมไปอังกฤษ มันมีในนิทรรศการศิลปะ แล้วมีพ่อแม่มากับลูก พนักงานก็บอกว่ามีฉากแบบนี้ๆ ถามพ่อแม่ว่าจะให้เข้าหรือเปล่า เขาไม่บังคับด้วย พ่อแม่ก็คุยกัน เอายังไงดีวะ สุดท้ายก็เดินกันเข้าไป นี่คือเรื่องของประชาชน เรื่องของเขา เรื่องของมึง เรื่องของกู ที่ต้องตัดสินเอาเอง ดูแลลูกเอาเอง นี่คือกรณีโรงหนังพิเศษตอนนี้ประเทศเราปิดตัวเองจากโลกภายนอกมากๆ ได้ข่าวว่านอกจากเรตหนังแล้ว จะมีการทำเรตหนังสือ เรตดนตรีด้วย เพราะฉะนั้น เปลี่ยนการปกครองไปเลยดีไหม (เน้นเสียง) จะได้ชัด ไม่ต้องหน้าไหว้หลังหลอกอีกต่อไป ซึ่งต่างชาติจะสับสนว่าปกครองแบบไหนกันแน่ อย่างอเมริกาที่มายุ่งเรื่องยา หรือลิขสิทธิ์ทางปัญญา ขณะที่ประเทศอื่นวางขายเกร่อ บ้านเราถือว่าหายากแล้ว ต้องไปซื้อตามแหล่งจริงๆ ก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างโจมตีประเทศเราได้ ดังนั้น ก็เปลี่ยนระบอบเลย กูเผด็จการ มึงอย่ายุ่ง

GM : พูดจริงๆ หรือประชด

อภิชาติพงศ์ : จริง, เปลี่ยนระบบการปกครองไปเลย (เน้นเสียง)

GM : คิดอย่างไรกับการโกอินเตอร์ ของหนังไทย ในความหมายของกระทรวงพาณิชย์

อภิชาติพงศ์ : ผมไปสิงคโปร์กับไต้หวันมา พอถามว่ารู้จักหนังไทยไหม เขาบอกรู้จักหนังผี มีด้านเดียวคือหนังผี นี่คือภาพลักษณ์ของหนังไทย หนังอินเดียก็เต้นรำ หนังเกาหลีต้องรักหวานแหววหรือไม่ก็ผีน่ากลัวมาก เริ่มสร้างแบรนด์แบบนี้ขึ้นมา

GM : แล้วคุณรู้สึกยังไงกับแบรนด์แบบนี้ของหนังไทย

อภิชาติพงศ์ : โดยส่วนตัวไม่อยากให้หนังไทยเป็นแบบนี้ เพราะไม่อยากให้แบรนด์หนังไทยเป็นแค่หนังผี ประเทศนี้ทำได้แค่หนังผีหลอกคน ไม่ได้เป็นเรื่องของการแสดงปัญญาด้านอื่น

GM : แสดงว่าหนังผีไม่ประเทืองปัญญา

อภิชาติพงศ์ : หนังผีก็ประเทืองปัญญา แต่แค่ด้านเดียว ผมไม่อยากให้เป็นแบรนด์หนังเต้นรำ หรือหนังรักอย่างเดียว คำว่า ไทย แปลว่า อิสระใช่ไหม ดังนั้น มันควรจะหลากหลาย แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นผมอยากให้กระทรวงพาณิชย์ศึกษามากกว่านี้ และควรสนับสนุนหนังไทยทุกเรื่อง โดยเฉพาะการเข้า-ออกของฟิล์มภาพยนตร์ ซึ่งเป็นปัญหามากสำหรับคนทำหนังหลายคนส่งหนังไปปุ๊บ พอกลับมาเจอภาษีหนักเลย ทั้งที่ส่งไปเป็นทูต กลับมาต้องจ่ายเงินอีกไม่รู้กี่หมื่น ไหนจะเรื่องความสะดวกในการขนฟิล์ม แล้วการลดหย่อนภาษีล่ะ กระทรวงพาณิชย์ทำได้ และห้ามเลือกปฏิบัติ

GM : ความหลากหลายจะส่งผลดีต่อวงการหนังไทยยังไงบ้าง

อภิชาติพงศ์ : อย่างหนังอเมริกัน เรารู้ว่ามันหลากหลายใช่ไหม แล้วหนังยุโรปที่เป็นสถาบันได้ ก็เพราะความหลากหลาย แล้วบ้านเราไม่ใช่ประเทศใหญ่อย่างอินเดียที่จะมีคนดูหนังเยอะขนาดนั้น ตอนนี้รายได้หนังไทยน่ากลัวมากๆ สตูดิโอก็เจ็บปวด ถ้าสร้างแบรนด์หนังผีต่อไป สักวันต้องถึงจุดอิ่มตัว เหมือนตอนนี้ที่อุตสาหกรรมหนังเกาหลีตกต่ำมากๆ ซึ่งน้อยคนจะรู้ว่าอุตสาหกรรมหนังเกาหลีกำลังจะเข้าโลง โลงศพนะ พอมีแบรนด์แล้วมันน่ากลัว เพราะประเทศไทยไม่ใช่บริษัทที่จะต้องคอยทำโฆษณา หรืออัพเดทแบรนด์ แต่มันคือหลายคนที่ทำหนัง เพราะฉะนั้น ยิ่งหลากหลายเท่าไหร่ จะอาร์ตไม่อาร์ตช่างมึง มันยิ่งมีอนาคต หนังญี่ปุ่นเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าดีมากมาย แต่หลากหลาย เลยอยู่ได้ คงตัว ไม่ดีไม่เลว แต่ไปเรื่อยๆ

GM : แล้วตอนนี้สถานการณ์ของวงการหนังบ้านเราเป็นอย่างไร

อภิชาติพงศ์ : ค่อนข้างซบเซา รายได้หนังไทยตอนนี้ทำนายยากมาก ถึงคุณจะทำหนังผี หนังตลก หนังกะเทย หนังอะไร มันก็ไม่ได้การันตี เศรษฐกิจแย่ด้วย มันก็เป็นไปตามนั้น เพราะฉะนั้น ยิ่งรัฐบาลเอาเบ็ดมาล่อนายทุน ซึ่งกำลังตกที่นั่งลำบาก ยอมรับ พ.ร.บ. ของฉันเถอะ แล้วฉันจะตั้งกองทุนสนับสนุน ไม่ชอบอะไรค่อยแก้ทีหลัง โอเค ผมอยู่ข้างคุณ จับมือกัน โอบกอดกัน ยิ้มแย้ม แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ผมไม่เชื่อใจรัฐบาลแล้ว สมาพันธ์ภาพยนตร์สังเวยศักดิ์ศรีของตัวเองให้กับเบ็ดอันนี้ แทนที่จะบอกว่า ไม่ ผมไม่ยอม กำหนดเส้นตายเลยว่าถ้าเขาไม่ให้สิ่งที่เราต้องการ 100% เอาออกไปเลย ไม่ต้องอะลุ่มอล่วย

เรารอกันมาได้เกือบ 80 ปี ทำไมเราจะรอต่อไปไม่ได้อีกสัก 100 ปี ก็รอไปสิ เราต้องแข็งแรงกว่านี้ แต่มันละเอียดอ่อน เพราะมีผลประโยชน์อยู่ด้วย ของแล็บภาพยนตร์ ของบริษัทสร้างหนัง ซึ่งหวังจากรัฐบาลทั้งนั้น นี่คือสิ่งที่เขาโจมตีผมมาก เพราะผมไปชักใบให้เรือเขาเสีย ทำไมวะ คุณอายุเท่านี้ เดี๋ยวคุณก็ตายแล้ว ส่วนผมก็กลางคนแล้ว เดี๋ยวผมก็ตายเหมือนกัน แล้วเด็กรุ่นหลังล่ะ คุณไม่ต้องวางกับดักให้คนอื่น

GM : ในสภาพแวดล้อมที่เป็นแบบนี้ คุณจะบอกอะไรกับคนทำหนังรุ่นใหม่

อภิชาติพงศ์ : ลบคำสอนของสถาบันการศึกษาออกให้หมด เพราะนั่นไม่ใช่หนทางที่ดี (หัวเราะ) หมายความว่า อะไรที่เราไม่ชอบก็คือไม่ชอบ ไม่ต้องปรับตัวตามอาจารย์ หาให้ได้ว่าแนวทางของตัวเองคืออะไร ไม่ต้องกลัวว่ามันจะกระทบอะไร แต่ต้องรู้ด้วยว่ามันไม่ได้ไปเหยียบเท้าคนอื่น แล้วเขาจะมาฟ้องร้องเราได้ มีจุดยืนและสร้างงานออกมาด้วยความมั่นใจและปราศจากความกลัว แล้วอย่าหวังว่าหนังเรื่องแรก เรื่องที่ 2 จะเป็นมาสเตอร์พีซ เป็นไปไม่ได้ ทำไปเถอะ เจียดเงิน 10% ที่ไปกินเหล้า RCA ก็ทำหนังได้แล้วผมไม่เชื่อที่หลายคนบอกว่า ไม่มีเงินทำหนัง อย่างน้อย ญาติคุณ ลูกคุณ พ่อแม่ เพื่อน หรือใครที่มีกล้องวิดีโอก็ยืมมาได้ ตัดต่อได้ ทำออกมาสักนาที 2 นาที ถ้าไม่มีจริงๆ ก็ถ่ายรูปเอา ยืมกล้องดิจิตอลใครก็ได้ ถ่ายแล้วใส่ดนตรีเข้าไป ทำเป็นหนังสือสตอรี่บอร์ดของตัวเองก็ได้ มีหลายวิธีที่จะเริ่ม แต่บางคนคิดมาก ยังไม่พร้อม ต้องทำไปเลยในแบบของตัวเอง แล้วก้าว 2 ก้าว 3 จะตามมาเอง ส่วนเรื่องสถาบันการศึกษา ผมเป็นคนนอก ผมอยากให้นักเรียนหนังจัดสัมมนาขึ้นมา บางคนอาจกลัวว่าถ้าจัดงานนี้ขึ้นมาแล้วอาจารย์จะให้ตก แต่ผมอยากบอกว่า ให้ทำไปเถอะ สมัยพี่เรียนที่เมืองไทยก็กลัวตกเหมือนกันพอมองย้อนกลับไป ถ้าจะทำเราทำได้ จะบอกน้องว่า จริงๆ แล้วอาจารย์ก็กลัวเรามาก ให้มองมุมกลับ เพราะอาจารย์เป็นลูกจ้างของมหา’ลัย ถ้าจัดสัมมนานี้ขึ้น เชิญอาจารย์มาคุย ผมมั่นใจว่ามีอาจารย์ดีๆ หลายคนที่อยากพูด

คือผมอยากให้นักศึกษาเป็นคนริเริ่มขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะร่วมกันกี่สถาบัน แลกเปลี่ยนความเห็นกัน รังสิตเป็นยังไง ธรรมศาสตร์เป็นยังไง ข้อดี ข้อเสีย ปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์ ปัญหาเกี่ยวกับอาจารย์ ขอร้องเถอะ ถ้านักศึกษาคนไหนอ่าน GM (หัวเราะ) ช่วยจัดเวทีนี้ขึ้นมา โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าอาจารย์จะให้ตก ถ้าตก เขียนจดหมายถึงคณบดี ถึงอธิบดีการศึกษาเลยว่าไม่เป็นธรรม คุณเป็นนักศึกษา คุณถือแต้มต่อเยอะมากหลังอ่านประเด็นนี้แล้ว เวลาเข้าเรียนครั้งต่อไป ให้มองกลับกันว่า อาจารย์คือคนใช้ มีอะไรก็ยกมือแย้ง มีอะไรก็ถามได้ มันจะได้พัฒนาไปด้วยกัน ทั้งนักเรียน อาจารย์ มหา’ลัย แล้วถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ทำเรื่อง ร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร ออกสื่อได้ ออกไบโอสโคปได้ แน่นอนว่าอาจมีอาจารย์ที่ให้เราตก ได้เอฟ ได้ซี แต่เราก็มีเหตุผลของตัวเอง ถึงจะได้ซี แต่ถ้าเราทำแบบนี้ เพราะมีเหตุผลแบบนี้ มันไม่ได้จบที่ตัวอาจารย์ มันจบที่เราว่าเราจะยอมรับเกรดซีไหม ถ้าไม่ยอมรับ เราสู้ได้ นี่คือประเด็นแล้วนักศึกษาหลายคนมีพ่อแม่สนับสนุนค่าอาหาร ค่าที่พักอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าคุณมีเวลาที่จะทำจุดนี้ แทนที่จะจับกลุ่มกันบ่น แล้วไม่เกิดอะไรขึ้น หลายคนบอกว่าจะจบอยู่แล้ว ขอให้เรียนจบก่อน จบมาก็เข้าไปในระบบเหมือนเดิม กดเราคล้ายโรงเรียนเหมือนกัน ไม่ได้ริเริ่มอะไรเหมือนกัน แต่ตอนเรียนมหา’ลัยทำได้ มันน่ารัก

GM : ถามถึงหนังสือของคุณบ้าง ‘สัตว์วิกาล’ ในมุมมองของคุณคืออะไร

อภิชาติพงศ์ : ‘สัตว์วิกาล’ ตั้งชื่อโดย สนธยา (ทรัพย์เย็น) เพราะเขามองว่าหนังของผมเหมือนสิ่งมีชีวิตที่ออกมาในความมืด ไม่สามารถมองเห็นได้ง่ายๆ (หัวเราะ) ซึ่งพ้องกับความคิดหนึ่งของผม ผมมองว่าภาพยนตร์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ได้ในความมืดของโรงภาพยนตร์ เลยตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า ‘สัตว์วิกาล’

GM : หนังของคุณมีความเป็นสัตว์วิกาลแค่ไหน

อภิชาติพงศ์ : (หัวเราะ) ไม่เคยวิเคราะห์ แต่มันมีมนต์ของมัน มีชีวิต มีวิญญาณของมัน เหมือนที่ลี (ชาตะเมธีกุล) พูดในหนังสือเล่มนี้ว่าบางทีหนังจะบอกเราว่าตัวมันอยากเป็นอะไร อยากให้ตัดแบบไหน อยากให้มีเสียงแบบไหน ผมถึงเคารพภาพยนตร์ บ้าภาพยนตร์ เพราะมันเป็นสื่อพิเศษ ผมรู้สึกว่าทุกคนควรบ้าในสิ่งที่ตัวเองทำ (หัวเราะ)

GM : แล้วในตัวตนของคุณมีความเป็นสัตว์วิกาลไหม

อภิชาติพงศ์ : ค่อนข้างนะ เพราะผมไม่ชอบยุ่งกับใครมาก โคตรลำบากใจ เวลาต้องไปพูดโจมตีบางองค์กร ซึ่งมันจำเป็นต้องโจมตี ความจริงอยากอยู่เงียบๆ ทำงานของตัวเองไปมากกว่า

GM : ปัญหาเซ็นเซอร์ส่งผลต่อตัวคุณยังไงบ้าง

อภิชาติพงศ์ : พูดตรงๆ ผมไม่อยากมาอยู่จุดนี้เลย โคตรไม่อยากอยู่ในสปอตไลท์ อย่างตอนได้รางวัลจากคานส์ ขนาดสัมภาษณ์หนังสือยังไม่อยากเลย เพราะผมชอบความเป็นส่วนตัวมาก เวลาไปไหนมาไหนก็ไม่อยากให้คนรู้จัก เขิน อยากทำอะไรส่วนตัว อยากใช้ชีวิตกับแฟน โดยไม่ต้องมีใครสนใจ เดี๋ยวนี้ไปธนาคาร ไปสนามบิน คนก็ถามเรื่องหนัง สูญเสียความเป็นส่วนตัว ซึ่งผมไม่ชอบเลยจริงๆ แต่ต้องทำ เหมือนขึ้นขี่หลังเสือแล้วที่สำคัญมันมีผลต่อสิ่งที่ผมรักที่สุด นั่นคือการทำหนัง การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ทำ Petition ให้คนทั่วโลกรับรู้ ไม่ส่งผลดีกับผมในการขอทุนทำหนังเรื่องต่อไป คนรู้จักก็จริง แต่ผมรู้สึกว่าตัวเองเสียเครดิตระดับหนึ่ง อธิบายให้ฟังลำบากว่ะ ระหว่างเครดิตของการเป็นนักทำหนัง กับเครดิตของการเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ หากมองในแง่ของคนให้ทุน ถ้าไม่มีบทบาทหลังจะดีกว่า ก่อนที่แต่ละประเทศจะให้ทุน เขาคิดหลายตลบ เขาต้องมั่นใจว่าทุนที่ให้ต้องได้เพราะเนื้องานล้วนๆ ไม่ใช่ให้เพราะชื่อของคนคนนี้จากการเรียกร้องเสรีภาพ ไม่ใช่คะแนนสงสาร เพราะฉะนั้น จึงมีสิทธิ์สูงที่เขาจะไม่ให้ทุน แล้วยังมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวด้วย ซึ่งทุนส่วนใหญ่ที่พยายามขอเป็นทุนของรัฐบาลประเทศต่างๆ ถ้าเลือกได้ไม่มาทำอะไรอย่างนี้หรอก เอาเวลาไปเที่ยวดีกว่า (หัวเราะ)

GM : ถึงวันนี้แล้วยังเศร้าและท้ออยู่ไหม ?

อภิชาติพงศ์ : ไม่เฉพาะคนทำหนัง แต่คนไทยหลายๆ คนก็คงท้อ เชื่อได้เลย เพราะสังคมไทยมีชั้นเยอะเหลือเกิน ถ้ามึงไม่มีเงิน มึงต้องอยู่ในประเทศนี้ด้วยความทุกข์เหลือเกิน เพราะสวนสาธารณะที่ดีก็ไม่มี ต้องไปเดินห้าง ซึ่งเราก็ไปเหมือนกัน แล้วมันไม่จรรโลงสมองเอาเสียเลย (เน้นเสียง) บางคนอาจไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าขาดสิ่งนี้ เพราะเขาไม่เคยได้รับ ไม่ว่าพิพิธภัณฑ์ที่ดี สวนสาธารณะที่ดี พื้นฐานแค่นี้ ประเทศไทยให้ไม่ได้เหรอจริงๆ แล้วบ้านเมืองเราถูกคุมโดยคนไม่กี่กลุ่ม แค่ไม่กี่ครอบครัว (หัวเราะ)

GM : แล้วจะทำงานต่อไปยังไงภายใต้บรรยากาศแบบนี้

อภิชาติพงศ์ : ต้องทำในสิ่งที่ตัวละครพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) บอก (หัวเราะ) ทำในสิ่งที่เชื่อ นี่คือสิ่งที่มนุษย์ควรทำ ไม่ว่าในอนาคตจะเป็นความเชื่อที่ผิดหรือถูก แต่การอยู่กับปัจจุบัน เราถือว่าเราทำในสิ่งที่เชื่อ โดยไม่กลัว แต่ผมพูดได้ เพราะหนังของผมค่อนข้างจะเป็นหนังลูกผสม ทุนต่างชาติ จะฉายหรือไม่ฉายที่เมืองไทยก็ไม่มีผลนักอย่าง ‘แสงศตวรรษ’ ถึงฉายก็อาจไม่ได้เงิน ถึงได้ก็น้อยมาก หรืออาจขาดทุน ไม่คุ้มกับเวลา ไม่คุ้มกับอะไรทั้งสิ้น ผมอยู่คนละสถานภาพกับคน

ทำหนังหลายๆ คน โดยเฉพาะรุ่นเยาว์ เรียกว่าได้เปรียบก็ว่าได้ ในแง่ของการไม่สนใจเรื่องเซ็นเซอร์ แต่อนาคต ถ้าเขาจับหรือห้ามฉายทั่วโลก ผมก็ต้องสู้ต่อ แล้วต้องไม่กลัว แน่นอนว่าความกลัวมันมี เป็นสัญชาตญาณสัตว์โลก แต่พยายามกลัวให้น้อย ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในระบบสตูดิโอ มีอิสระอยู่แล้วคุณควรทำในสิ่งที่อยากทำ หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้ทำหนัง ลองถามตัวเองว่า วันนี้พูดเรื่องอะไรไม่ได้บ้าง แล้วคุณจะค่อยๆ รู้ว่า เฮ้ย! ประเด็นนี้พูดไม่ได้ในสังคมนี้ แล้วจริงๆ พูดได้ไหม ความจริงพูดได้นี่หว่า มีหลายอย่างที่เราอาจเซ็นเซอร์ตัวเองไว้

GM : คุณรับมือกับอาการเซ็นเซอร์ตัวเองโดยอัตโนมัติอย่างไร

อภิชาติพงศ์ : อาการนี้มี 2 แบบ แบบหนึ่งคือแก้ได้ อีกแบบแก้ไม่ได้ เช่น ถ้าเอาเท้าขึ้นมาชี้หน้าคนอื่น ผมจะรู้สึกไม่ดี เพราะได้รับการปลูกฝังมาในดีเอ็นเอว่าเท้าเป็นของต่ำ ถูกโปรแกรมมาแล้ว นี่เป็นแค่ตัวอย่างด้านบุคลิกภาพ แต่ด้านจิตใจก็มีหลายอย่าง เช่น เห็นผู้ใหญ่แล้วต้องเคารพ อันนี้แก้ยากมาก เดินผ่านผู้ใหญ่แล้วต้องก้ม แต่ในเรื่องความคิด เราไม่จำเป็นต้องคิดว่าเขาถูก อันนี้แก้ได้ หรือความคิดที่เป็นกันเยอะ คือฝรั่งต้องฉลาด แล้วชาวบ้านต้องโง่ นี่แก้ได้มากๆ เพราะตอนนี้ผมมองว่าฝรั่งแม่งโคตรโง่ ไม่ใช่ว่าผมทองมาแล้วจะมีอารยะกว่า ไม่ใช่แล้วก็อีกเรื่องคือเรื่องสิทธิ เฮ้ย! ฉันทำได้ ทำได้ในแง่ที่รู้ว่าผลที่ตามมาจะเป็นยังไง พร้อมจะอยู่กับมัน พร้อมถูกเซ็นเซอร์ พร้อมจะชี้แจง พร้อมจะสู้ให้ถึงที่สุด

GM : เป็นเอก รัตนเรือง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ ‘อย่างน้อยที่สุด’ ว่า ความทะเยอทะยานอย่างเดียวในชีวิตของเขาคือ ‘ภาษาหนังแบบนี้เป็นของกู’ พร้อมบอกว่าคนที่ก้าวไปจุดนี้แล้วคือคุณ คุณคิดว่าตัวเอง มีภาษาหนังของตัวเองหรือยัง

อภิชาติพงศ์ : ยังว่ะ ยิ่งได้ยินแบบนี้ยิ่งเกร็ง เพราะผมจะถามตัวเองตลอดเวลาว่า ที่ทำเรื่องนี้ ถ่ายช็อตนี้ คอน-เซ็ปต์นี้ เพราะอะไร ทั้งนี้ทั้งนั้นมันยังพัฒนาได้อีกเรื่อยๆถ้ามีภาษาของตัวเอง เหมือนภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น ต้องพูดแบบไม่ต้องคิดเลย แต่ภาษาหนังของผมในตอนนี้ยังไม่ลื่นไหลขนาดนั้น อาจเป็นไปไม่ได้ก็ได้

ที่จะมีภาษาหนังส่วนตัว เพราะมันยังไม่สบายใจที่จะทำหนังเหมือน ยาสุจิโร่ โอสุ ซึ่งถือว่ามีภาษาหนังของตัวเองแล้ว เป็นธรรมชาติแล้วที่ช็อตนี้ต้องแบบนี้เท่านั้น เข้มงวดมากๆ

พอพูดเรื่องภาษาหนังขึ้นมา มันกลายเป็นเรื่องของโครงสร้าง คำศัพท์ ซึ่งอาจเป็นข้อเสียก็ได้ที่มีภาษาหนัง เพราะมันเป็นการจำกัดตัวเอง งานศิลปะก็เหมือนกัน

อย่าง Andy Warhol หรือศิลปินรุ่นใหม่หลายคนที่จับประเด็นนี้จนกลายเป็นแบรนด์ แล้วมันอาจไม่ใช่ข้อดีก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็ถ่ายในป่าอีกเรื่องแล้วกัน กลายเป็นว่าทำเพื่อความอยู่รอดด้วย เพราะอย่างน้อยก็หาเงินจากนายทุนได้ ทำหนังป่าอีกแล้ว เอาเงินไป แต่ข้อร้ายคือ มันไม่ทำให้เราพัฒนาในมุมอื่นผมชอบความหลากหลาย ชอบหาแนวทางไปเรื่อยๆ ถึงจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป หรืออาจคล้ายกันในแต่ละเรื่อง แต่ผมอยากวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ เหมือนการดำรงอยู่ของสัตว์ อย่าง ‘แสงศตวรรษ’ ก็ไม่เหมือนเรื่องที่ผ่านๆ มา รีแล็กซ์ลงเยอะ อย่าง ‘สุดเสน่หา’ จะเข้มงวด ทฤษฎีจ๋า ต้องการสร้างทฤษฎีของตัวเอง แต่เรื่องใหม่มาไม่สนแล้ว พยายามค้นหาว่าภาพยนตร์สามารถทำอะไรได้อีก กำลังเดินอยู่ ไม่รู้ว่าต่อไปเป็นยังไง อาจเปลี่ยนไปเลยก็ได้ เพราะผมทำหนังสั้นหลายเรื่อง หลายคนดูแล้วก็ไม่เหมือนหนังยาว

GM : แต่ตอนนี้ Film Art จัดผลงานของคุณให้เป็นหนังแขนงใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลก คุณค้นพบวิธีการทำหนังในแบบของตัวเองได้ยังไง

อภิชาติพงศ์ : ไม่แน่ใจ เป็นไปตามธรรมชาติ แน่นอนว่าผมได้อิทธิพลจากหนังอิหร่าน หนังไต้หวัน แต่พอถึงจุดหนึ่ง พอมาอยู่ในบรรยากาศของที่นี่ มันก็พัฒนาไปเอง อยากลองแบบที่ไม่มีโครงสร้างที่แน่นอนบ้าง พยายามสะท้อนว่าเราอยู่ในสภาพนี้ แล้วอยากเก็บความทรงจำไว้ในรูปไหน พูดยาก เป็นเรื่องของการลองว่าเอามาสิๆ ไม่เสียหายอะไร แล้วอีกอย่าง ผมมีโอกาส เพราะทุนส่วนใหญ่ที่ได้เป็นทุนให้เปล่า เป็นทุนที่เปิดโอกาสให้ทำได้ ขณะที่หลายคนไม่มีโอกาส

ถ้าคุณเชื่อในสิ่งที่ทำ 100 คนต้องมี 1 คนที่เห็นคุณค่า หรือชอบ หรืออะไรก็ตามแต่ แล้วพอมันเกิดความแตกต่างขึ้นมา มันก็เด่นใช่ไหม คนที่เขาจะให้ทุนกับคนในประเทศโลกที่ 3 อย่างไทยแลนด์ก็เห็นว่าคนนี้ทำหนังแบบนี้ก็ให้ทุนมา เพราะเข้าใจว่าคนอื่นไม่ต้องการทุน ซึ่งไม่จริง คนทำหนังทุกคนในประเทศล้วนต้องการความช่วยเหลือด้านเงินทุน แม้แต่ต้อม-ยุทธเลิศ ก็ยังกระเสือกกระสนหาเงินมาทำหนัง แม้จะทำหนังแมสก็ตาม ยังไงก็ตาม สิ่งที่ผมทำได้แสดงให้เขาเห็นว่า ผมต้องการความช่วยเหลือ แล้วหนังที่ผมทำ ไม่ใช่หนังสตูดิโอที่มีเงินให้ มันเลยชัดผมมองหนังเป็นศิลปะ แล้วศิลปะควรจะอิสระ เพราะคุณค่าของศิลปะ คืออิสรภาพ เวลาเข้าแกลเลอรี เข้ามิวเซียมแล้วผู้คนมีความสุข เพราะเขาได้ดูความแตกต่าง ได้ดูอิสรภาพ ไม่ได้ไปเห็นอะไรที่ต้องทำตามกฎ

GM : อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน เขียนในคำนำหนังสือ ‘สัตว์วิกาล’ ว่าคุณเป็นผู้มีพรสวรรค์ที่ไม่ธรรมดา

อภิชาติพงศ์ : ผมคิดว่าทุกคนทำได้ ถ้าขจัดความกลัวออกไป ตอนนี้เราพูดไม่ได้หลายเรื่อง ไม่ว่าสถาบันกษัตริย์ การเมือง และอีกหลายต่อหลายเรื่อง ที่มันจะไปเชื่อมโยงกับตัวบุคคล แต่เราต้องทำให้สุดทุกคนทำได้แน่นอน ถ้าขยับเพดานตัวเองขึ้นไป แต่อย่าให้เลยเส้นที่ตัวเองจะถูกตัดหัว โดนลอบฆ่า หรือไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น แต่ทำในฐานะการวิจารณ์ให้สังคมดีขึ้น แล้วอย่าแช่กล้องนิ่งๆ (หัวเราะ) แต่ละคนมีสไตล์ของตัวเอง ถ้าแช่กล้องนิ่ง แล้วคิดว่าคัตนี้ไม่ยาวมันก็คือไม่ยาว แต่ถ้าคุณคิดว่ามันยาวจังก็ตัด จังหวะของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

GM : แล้วจะหาเอกลักษณ์ของตัวเองเจอได้อย่างไร

อภิชาติพงศ์ : ยาก (ตอบทันที) ผมโชคดี เพราะประสบการณ์และผู้คนที่เจอที่ชิคาโกเป็นเหมือนขุมทรัพย์ของผม ผมรู้สึกว่าคนที่จะเขียนหนังสือได้ดี ต้องบ้าหนังสือระดับหนึ่ง ต้องชอบนักเขียนคนนี้ๆ ต้องมีฮีโร่ของตัวเอง ผมก็พยายามหาฮีโร่ หาแนวหนังที่ชอบ ซึ่งมีหลากหลายผมไม่คิดว่าเวลาจะสร้างงานศิลปะแล้วต้องไปอยู่เกาะคนเดียว เพราะผมเชื่อว่ายิ่งคุณมีรากลึกเท่าไหร่ ยิ่งเรียนรู้จากอดีตมากเท่าไหร่ คุณก็จะมีพลังในการพุ่งไปในอนาคตได้ไกลมากเท่านั้น แต่อย่าไปยึดติด

GM : แต่ละยุคสมัย หนังก็ทำหน้าที่แตกต่างกันไป พอถึงยุคนี้ คนทำหนังควรทำหนังเพื่ออะไร

อภิชาติพงศ์ : ไปที่ไหนก็ได้ยินแต่คนบ่น ยุค ’60s, ’70s มันเข้มข้นมาก ทั้งวงการหนัง วงการศิลปะ แต่ยุคนี้เบาลงมากๆ ยังไงก็ตาม มันต้องมี แต่มันค่อนข้างซับซ้อนเพราะยุค ’60s, ’70s การเมืองทั่วโลกเข้มข้นมาก ศิลปะและภาพยนตร์เลยสะท้อนออกมาเยอะ แม้แต่ด้านโครงสร้างของหนังยังกบฏมาก สร้างภาษาใหม่ๆ ให้ภาพยนตร์จนถึงปัจจุบัน ภาษาหนังพัฒนาอย่างรุนแรงในยุคนั้นขณะที่บ้านเราก็มีการทดลองพอสมควร หนังของ รัตน์ เปสตันยี หนังของท่านมุ้ย ก็พยายามหาแนวทาง แต่ทุกวันนี้แปลก การเมืองบ้านเราไม่เหมือนกับต่างประเทศ ในแง่ที่มันเข้มข้นตลอดเวลา แล้วตอนนี้ยิ่งเข้มข้น แต่เราดันไปเอาการทำหนังของโลกตะวันตกมา ที่มัน Peaceful แล้ว แสวงหาอะไรที่เป็นเรื่องส่วนตัว หรือทดลองด้านความงาม ไปตามทางโน้นแทน ทั้งที่บ้านเราควรจะเข้มข้นอยู่ตลอด เราควรจะทำหนังหรืองานศิลปะออกมาให้เข้มข้นมากกว่านี้ ผมเองก็เหมือนกัน ยิ่งบรรยากาศที่รัฐสร้างกรอบแบบนี้ ผมยิ่งต้องบอกตัวเองว่า มึงต้องเข้มข้นกว่านี้

“ผมเสนอหลายครั้งแล้วว่า ทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือต้องให้ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมออกยกชุดโดยเฉพาะศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม”

GM : ทุกวันนี้ดูหนังบ่อยไหม

อภิชาติพงศ์ : ไม่บ่อย นอกจากถูกบังคับ เช่น เป็นกรรมการพิจารณาหนัง คงเพราะผมมีงานเยอะ พอดูหนังแล้วมันจะไปตรงกับงาน ทำให้ไขว้เขวง่าย เลยรู้สึกว่าการเป็นกรรมการ การเดินทางก็เปิดโอกาสให้ดูหนังอยู่แล้ว เท่านี้ก็พอแล้ว

GM : ชอบดูหนังในโรง หรือดูดีวีดีที่บ้าน

อภิชาติพงศ์ : ชอบดูในโรงแน่นอน แต่โอกาสไม่เอื้อมากๆ ตอนนี้ต้องดูดีวีดี แต่ฉายจอใหญ่

GM : โรงหนังมีความหมายยังไงกับชีวิต

อภิชาติพงศ์ : แม้จะเป็นสถานที่สาธารณะ แต่ความมืดทำให้ผมรู้สึกว่าโรงหนังเป็นพื้นที่ส่วนตัว หลายคนก็คงรู้สึกคล้ายๆ กัน โรงหนังเป็นสถานที่ที่เข้าไปแชร์วัฒนธรรม เข้าไปแชร์ความมืด เข้าไปแล้วเหมือนถูกสะกดจิต สำหรับผม โรงหนังเป็นหนึ่งในสถานที่สาธารณะที่สำคัญมาก

GM : โรงหนังในเมืองไทยต่างจากโรงหนังที่เมืองนอกอย่างไร

อภิชาติพงศ์ : เมืองนอกมีโรงหนังหลากหลายกว่า มีโรงหนัง เฉพาะทาง บรรยากาศคล้ายสภากาแฟ ซึ่งผมชอบ คือไม่ใช่แค่ไปดูหนังอย่างเดียว แต่ไปแล้วเจอคนหน้าเดิมๆ เจอบางบรรยากาศที่ไม่ได้กระตุ้นเราด้วยสีสัน แสงไฟ หรือต้องไปซื้อป๊อปคอร์น เป๊ปซี่ เป็นการเอนเตอร์เทนอีกแบบ ขณะที่บ้านเรามีแค่การเอนเตอร์เทนแบบเดียว เข้าไปในซีนีเพล็กซ์ หรูหรา ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่ถูกที่ถูกทาง สำหรับหนังบางประเภท

GM : ตอนดูหนัง กินป๊อปคอร์นไหม

อภิชาติพงศ์ : ไม่ค่อย แต่บางเรื่องกิน (หัวเราะ) ซับซ้อน เพราะผมไม่ชอบคนคุยโทรศัพท์มือถือในโรงหนัง ซึ่งพอกินป๊อปคอร์น แล้วเสียงดังกรอบแกรบๆ ทรมานเหลือเกินกับความเกรงใจ ต้องเคี้ยวเบาๆ

GM : ดื่มน้ำอัดลมด้วยหรือเปล่า

อภิชาติพงศ์ : ไม่, ไม่ดื่มน้ำอัดลม

GM : คิดอย่างไรกับคนที่คุยกันในโรงหนัง

อภิชาติพงศ์ : คนพวกนี้หยาบคายมากๆ ขนาดภาพในหลวงบนจอ คุณยืนทำความเคารพ ไม่พูดอะไรเลย แต่คนที่มีชีวิตจิตใจที่นั่งอยู่กับคุณด้วย คุณกลับไม่เกรงใจ คนพวกนี้

พูดอย่างทำอย่าง โอเค ในหลวงมีตัวตน แต่ตอนนั้นเป็นแค่ภาพลวงบนจอ แต่คนที่มีตัวตน มีเลือดเนื้อ คุณเสือกไม่เคารพ

ฮีโร่ของอภิชาติพงศ์

ฮีโร่ของผมมีหลายคนมาก โชคดีที่มีเยอะ อย่าง Andy Warhol, Bela Tarr เยอะมาก ผู้กำกับหลายๆ คน ทรนง ศรีเชื้อ ก็ฮีโร่ ส่วนใหญ่เป็นศิลปินกับคนทำหนังที่มีความกล้าที่ผมทำไม่ได้ กล้าทำหนังแบบที่ตัวเองเชื่อ กล้าต่อสู้กับระบบ ซึ่งตอนนั้นเป็นการกบฏ แต่ปัจจุบันกลายเป็นธรรมดาแล้ว เพราะคนเหล่านี้ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้สังคม ซึ่งถือว่าสำคัญกว่านักการเมืองหลายๆ คนบ้านเราขาดแคลนคนที่รักและเชื่อในสิ่งที่ทำอย่างอุทิศชีวิต ซึ่งฮีโร่ที่ผมชื่นชมล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัตินี้ อย่าง Rainer Werner Fassbinder ทำหนังจนตายคาโต๊ะตัดต่อ เกิดมาคุ้ม โอเค เงินสำคัญ แต่มันมีสิ่งที่สำคัญกว่านั้น ผมจึงเคารพคนที่กระเสือกกระสนและทุ่มเทให้กับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

“บ้านเราขาดแคลนคนที่รักและเชื่อในสิ่งที่ทำอย่างอุทิศชีวิต ซึ่งฮีโร่ที่ผมชื่นชมล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัตินี้ อย่าง Rainer Werner Fassbinder ทำหนังจนตายคาโต๊ะตัดต่อ”

“ตอนนี้ประเทศเราปิดตัวเองจากโลกภายนอกมากๆได้ข่าวว่านอกจากเรตหนังแล้ว จะทำเรตหนังสือ-ดนตรีด้วย ฉะนั้น เปลี่ยนการปกครองไปเลยดีไหม”

“ผมมองว่าภาพยนตร์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ได้ในความมืดของโรงภาพยนตร์เลยตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า‘สัตว์วิกาล’”

“ผมไม่คิดว่าเวลาสร้างงานศิลปะต้องไปอยู่เกาะคนเดียว ยิ่งคุณมีรากลึกเท่าไหร่ ยิ่งเรียนรู้จากอดีตมากเท่าไหร่ คุณก็จะมีพลังในการพุ่งไปในอนาคตได้ไกลมากเท่านั้น”

หนังเรื่องล่าสุดที่อภิชาติพงศ์ชอบ

เป็นเรื่องล่าสุดที่ดู ชื่อ ‘Imagining October’ ยาวประมาณ 20-30 นาที ของ Derek Jarman ซึ่งเป็นผู้กำกับอังกฤษที่ตายแล้ว เขาเป็นคนที่ทำงานอย่างหัวชนฝาหนังเรื่องนี้เป็นฟุตเตจที่เขาไปรัสเซีย ถ่ายคู่กับภาพของศิลปินที่กำลังวาดรูปทหารรัสเซีย ตัดสลับกับสารคดีเก่าของรัสเซียด้วย เปรียบเทียบกันระหว่างประวัติศาสตร์ การเมือง เรื่องส่วนตัว ซึ่งก็คือการเป็นเกย์ของเขา และประวัติศาสตร์รัสเซีย โดยมองว่าเป็นการเมืองทางเพศ ในแง่ที่ผู้ชายกลุ่มหนึ่ง

มารวมตัวกันเพื่ออะไรบางอย่างนอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเมืองอังกฤษด้วย ซึ่งตอนนั้นตรงกับยุคของ Margaret Thatcher ค่อนข้างเข้มข้น แล้วผมรู้สึกว่ามันสะท้อนภาพประเทศไทยในปัจจุบันพอสมควร ในเรื่องของเสรีภาพ และการสร้างกรอบของภาครัฐหนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังประวัติศาสตร์ไปแล้ว ซึ่งถ้าดูสังคมอังกฤษตอนนี้ มันก็ยังมีความเป็น Nanny State หรือรัฐเป็นพ่อแม่ ซึ่งหลายๆ คนไม่พอใจ โปรดิวเซอร์หนังผมบอกว่า คนอังกฤษกำลังประท้วงเรื่องมีข้อมูลในบัตรประชาชน ผมบอกว่า เมืองไทยมีตั้งนานแล้ว หลายประเทศก็มีแล้ว แต่เขาถือว่ามันล่วงล้ำชีวิตส่วนตัวมากเกินไป ยังไงก็ตาม ถ้ามันไม่มีคนอย่าง Derek Jarman และศิลปินอีกหลายคนที่ทำให้ สังคมตระหนักรู้ถึงสิทธิของตัวเอง อังกฤษในปัจจุบันคงไม่เป็นแบบนี้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ