fbpx

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กบฏหนังไทย

49. ใต้น้ำ-กลางวัน

“ชายหนุ่มกำลังลอยอยู่อย่างโดดเดี่ยวในพื้นที่ว่างเปล่าสีฟ้า เขาพยายามแหวกว่ายไปที่เบื้องบน แต่ยิ่งสูงเท่าไหร่ ก็มีความมืดมากขึ้นเท่านั้น”*

อภิชาติพงศ์ กลายเป็นชื่อที่คนทั่วโลกรู้จักจากการคว้ารางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) รางวัลสูงสุดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ หลังจากที่เขาเข้าไปมีส่วนกับเทศกาลภาพยนตร์นี้ในหลายบทบาท ทั้งผู้กำกับที่มีภาพยนตร์ฉายในเทศกาล ทั้งเป็นคณะกรรมการตัดสิน และล่าสุดเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลสูงสุด แต่ดูเหมือนว่า ที่ผ่านมา ทั้งอภิชาติพงศ์และหนังของเขาจะเป็น ‘สัตว์ประหลาด’ ในสังคมไทย หนังของเขาถูกห้ามฉายในบ้านเกิด หนังของอภิชาติพงศ์น่าจะเป็นหนังที่คนในชาติมีโอกาสได้ดูน้อยที่สุดก็เป็นได้ ตัวเขาเองก็ถูกมองว่าเป็นพวกศิลปินขวางโลก เป็นผู้กำกับเจ้าปัญหาของภาครัฐ ล่าสุดกับกรณีเงินช่วยเหลือจากงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งอภิชาติพงศ์ออกมาโต้แย้งถึงความไม่เหมาะสม ในบทบาทของภาครัฐอย่างดุเดือด

“อเลี่ยนนอร์” (เสียงกระซิบมาจากอากาศ)

“นี่คือศตวรรษที่เท่าไหร่แล้ว ตอนนี้ฉันคงไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว แต่ฉันฝากตัวตนไว้กับเธอ ตัวเธอมีทุกอย่างสะสมอยู่ ความทรงจำของฉัน ผู้คน สถานที่…ชายหนุ่มเพิ่งรู้ตัวว่า เขาเข้าใจผิดและสับสนเรื่องทิศทาง เขากำลังว่ายดำลงไปในนี้ต่างหาก เขารีบกลับตัวและว่ายสู่เบื้องบน”*

แล้วตัวตนของอภิชาติพงศ์เป็นแบบไหนกันเช้าวันสัมภาษณ์เราไปถึง Kick The Machine ซึ่งจริงๆ ก็คือบ้านของอภิชาติพงศ์ในซอยลาดพร้าว 15 ฝนตกต้อนรับวันเร่งรีบ เราไม่อยากไปช้าเพราะรู้มาว่าอภิชาติพงศ์คิวแน่นทั้งวัน เราทราบมาว่าเช้านี้เขามีคิวสัมภาษณ์สำหรับรายการโทรทัศน์หนึ่งรายการ สำหรับหนังสือพิมพ์อีกหนึ่งเล่ม และอีกหนึ่งนิตยสารคือ GM เสร็จจากที่บ้านก็มีงานข้างนอกที่ต้องไปอีก ก่อนที่จะขึ้นไปเชียงใหม่ เพื่อเริ่มงานหนังสั้นที่จ่อคิวรออยู่ จากนั้นก็มีคิวต้องไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถานศึกษาและที่ที่เขาเรียกว่า ‘บ้าน’ อีกหลังของเขาอภิชาติพงศ์นั่งอยู่ในสวนหน้าบ้าน กำลังให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งด้วยทีท่าสบายๆ ดูเปิดเผย อากาศหลังฝนตกทำให้เช้านี้ สวนหน้าบ้านของเขาดูร่มรื่นเป็นพิเศษ เราไม่ได้ยินเสียง แต่เดาเอาว่าคงออกรส เพราะเห็นเขาหัวเราะสลับกับการตั้งใจฟังคำถามอย่างจดจ่อ เรามารู้ภายหลังว่าที่เขาพยายามฟังอย่างตั้งใจ เพราะคำถามมักเป็นคำถามซ้ำ แต่เขาอยากตอบในสิ่งที่คนสัมภาษณ์จะได้ข้อมูลพิเศษไม่ซ้ำกัน ท่าทางของความเป็นคนเจ้าปัญหา เรื่องมาก อย่างที่ใครตั้งแง่กับเขา ดูห่างไกลจากสิ่งที่เราเห็นอยู่ บุคลิกที่เรียบง่ายของอภิชาติพงศ์ ดูสวนทางกับงานของเขาเป็นอย่างมาก เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนลถึงกับบอกว่า “หนังของอภิชาติพงศ์จะมีจุดยืนแบบกบฏไพร่ รวมทั้งการปฏิเสธชาตินิยมราชการที่กำลังหนวกหูขึ้นเรื่อยๆ”

จุดยืนที่ชัดเจนนี้สะท้อนผ่านงานของเขา ว่ากันตั้งแต่ความสัมพันธ์ไทยพม่าที่มองผ่านชนชั้นแรงงานใน ‘สุดเสน่หา’ มาจนกระทั่งถึงหนังเรื่องล่าสุดที่สะท้อนภาพของสังคมที่ ‘เหลื่อม’ กันอยู่ในหลากหลายมิติที่เกิดจากการปะทะกันทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ความซับซ้อนทั้งหมด ถูกนำเสนอผ่านตัวละครและการเล่าเรื่องที่แสนจะเรียบง่าย เป็นเรื่องเหนือจริงที่ถูกนำเสนอผ่านภาพที่ดู ‘จริง’ เสียจนใครบางคนอาจรับไม่ได้

50. ในถ้ำ-กลางวัน

“ชายหนุ่มลืมตาขึ้น เขาพบว่าตัวเองยังอยู่ในซอกหลืบเดิมที่เขาจำศีลอยู่ แต่น้ำจากเบื้องล่างเพิ่มระดับสูงขึ้น เขาลุกขึ้นยืนและเดินไปหาช่องที่มีแสงส่องลงมาลิบๆ ด้านบน เขาหรี่ตา พยายามปรับสายตาให้เข้ากับแสง”*

กว่าที่บทสนทนาจะเริ่มต้น ก็ล่วงเลยการรอมานับชั่วโมง ช่างภาพของเรากำลังง่วนกับการจัดไฟ และช่างวิดีโอเตรียมบันทึกภาพ ความเกรงใจก่อตัวขึ้นทั้งสองฝ่ายทั้งจากอภิชาติพงศ์ที่ปล่อยให้เรารอเสียนาน และทั้งจากเราเองที่เป็นกังวลว่าจะต้องถามคำถามซ้ำๆ หลังจากที่อภิชาติพงศ์ตอบมาแล้วร้อยพันรอบ (แน่นอน, เราไม่ใช่เล่มแรกในโลกที่สัมภาษณ์ เขา)

แต่เมื่อเริ่มคุย เราก็รู้แล้วว่าอภิชาติพงศ์ก็เหมือนหนังของเขา มันเป็นความธรรมดาที่พิเศษจริงๆ

(* จากบทร่าง ฉากที่ 49 และ 50 จากโครงการหนังเรื่องใหม่ของอภิชาติพงศ์ที่ชื่อว่า Utopia ตีพิมพ์ในหนังสือ ‘สัตว์วิกาล’ (openbooks) เรื่องราวเกี่ยวกับการสูญสิ้นของอารยธรรมของความคิด ภาษา และความจำเป็นของโลกตะวันตกที่จะต้องสร้างโลกใหม่ขึ้นมาเพื่อความอยู่รอด)

GM : เล่าประสบการณ์การดูหนังของคุณให้ฟังหน่อย ดูเหมือนคุณโตมาในช่วงหนังยุคฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีนิยม หนังไทยในช่วงนั้นมีอิทธิพลกับคุณมากน้อยแค่ไหน

อภิชาติพงศ์ : ผมเพิ่งกลับไปดูเรื่อง ‘คนภูเขา’ (พ.ศ. 2522) เมื่อไม่นานมานี้เอง แล้วก็รู้สึกว่าเชยมาก เราชอบไปได้ยังไง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือความทรงจำที่ดีของเรา มันเป็นการเปิดโลก มันก็เลยต้องถืออยู่ว่ามันเป็นหนังที่ดีไม่ว่าจะเวลาไหน เพราะว่ามันคือความทรงจำที่ดี ช่วยทำให้เรามาถึงวันนี้ เพราะฉะนั้นถึงชื่นชมงานของคุณวิจิตร คุณาวุฒิ

GM : หนังของคุณมักมีภาพการปะทะสังสรรค์กันของวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่อย่างชัดเจน ตัดกันสลับไปมา ฉากหนึ่งอาจพูดถึงเรื่อง Myth เก่าๆ แต่อีกสักพักก็ตัดกลับมาที่เรื่องของวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น มีเพลงป๊อปสมัยใหม่เข้ามาใส่ อะไรทำให้หนังของคุณเต็มไปด้วยฉากแห่งความขัดแย้งเหล่านี้

อภิชาติพงศ์ : ยุคสมัยของผมเป็นยุคสมัยของการก้าวกระโดด ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด โตที่ขอนแก่น ไม่เคยรู้จักอะไรที่ทันสมัย ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต จนถึงมหาวิทยาลัยก็ยังไม่มีใช้ อยู่ดีๆ มาวันหนึ่งผมก็ไปชิคาโก ก็ไม่รู้ว่าเป็นการกระโดดขึ้นหรือกระโดดลงนะ (หัวเราะ) แต่ว่าเป็นการก้าวไปอีกทิศทางหนึ่ง เป็นคนละโลกกันเลย พอมองกลับมาดูประเทศของเรา มันก็เลยทำให้เรารู้สึกถึงความลักลั่นและเสน่ห์ของสังคมไทย ซึ่งเราก็ยังมีรากของเราอยู่ เช่น ความเงียบของธรรมชาติ ยิ่งตอนกลับมาจากชิคาโกก็เห็นบ้านเมืองเปลี่ยนไปเร็วมาก มันทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย! การที่เราจะเสนอความทรงจำของเรามันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปย้อนความทรงจำแบบเด็กๆ แต่มันควรเป็นความทรงจำจากความทรงจำของผู้ใหญ่ที่ทำหนังแล้ว มันเลยเกิดเป็นหนังลูกผสม หนังของผมก็เหมือนสังคมไทย มันเป็นสังคมไฮบริด

GM : ความคิดในการเล่าเรื่องแบบไร้แบบแผนเริ่มจากไหน ทำไมถึงคิดว่าการเล่าเรื่องแบบนี้จะสามารถสื่อสารกับคนดูได้

อภิชาติพงศ์ : มันน่าจะเป็นเรื่องของสังคมไทยที่ผมว่าไป เป็นเรื่องของการผสมปนเปของสังคมแล้วมันโตไปในทางที่มั่วมาก รู้สึกว่าชีวิตของเรามันก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน อีกอย่างหนึ่งคือ

มันน่าจะมาจากอิทธิพลของหนังทดลองที่ผมได้ลองทำตอนเรียน แต่ bottom line เลยก็คืออิสรภาพในการสร้างสรรค์งาน ซึ่งบ้านเรามีน้อย ทำให้คนไม่ค่อยกล้าจะทำอะไรใหม่ๆ ในเรื่องของการเปลี่ยน โครงสร้างการเล่าเรื่องในภาพยนตร์

GM : ดูเหมือนสิ่งนี้กลายเป็นบุคลิกของหนังของอภิชาติพงศ์ไปเลย

อภิชาติพงศ์ : ก็ทำนองนั้นครับ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่า ผมจะเรียกมันว่าเป็นสไตล์ของผมได้หรือเปล่า เพราะผมอยู่ในระหว่างค้นหามันเหมือนกัน รู้แต่ว่ามันคือเสน่ห์แบบไทยๆ ซึ่งมีพลัง เป็นเรื่องของความเชื่อของคนแบบเก่ากับพลังที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง อยากเป็นเหมือนเขา คนไทยเริ่มเห่อแบรนด์เนม เข้าสู่สังคมทุนนิยมสุดโต่ง แต่ขณะเดียวกัน เราก็ยังเป็นประเทศโลกที่สาม ยังต้องพึ่งไสยศาสตร์ ยังต้องไปหาหมอดู ผมค้นหาว่าโครงสร้างของภาพยนตร์ที่ออกมาจากสังคมนี้จะเป็นไปได้อย่างไรบ้าง

GM : มากด้วยความแปลกแยก

อภิชาติพงศ์ : แต่มันก็เต็มไปด้วยเสน่ห์นะ และเต็มไปด้วยอันตราย ในฐานะของคนทำหนังเราว่ามันจี๊ดจ๊าดมาก เผ็ดร้อนมาก เช่น เสื้อแดงที่ออกมาชุมนุม ยังมีแบบไปทำพิธีทางพราหมณ์ ไปสาปแช่ง เอาเลือดไปสาดอะไรแบบนั้น เฮ้ย!

พวกมึงยุคหินมาก แต่ว่าก็ยังทำกันอยู่! ไอ้แบบนี้มันไม่มีที่ไหนในโลกอีกแล้ว

GM : แต่ในความแปลกแยก เรื่องเล่าในหนังกลับเป็นเรื่องที่พูดถึงความเชื่อของไทยค่อนข้างชัดเจน แต่คนไทยเองกลับละเลยหนังของคุณ

อภิชาติพงศ์ : ผมว่าคนสนใจนะ แต่เหมือนกับว่ายังไม่มีสติมากพอที่จะหันมาดูตัวเอง คือเหมือนกับคิดแต่จะมุ่งไปข้างหน้าให้ทันคนอื่นอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วเรายังมีความอนุรักษนิยมอยู่มาก และในความอนุรักษนิยมนี้ ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องชินชาไปแล้ว พอมันมีหนังสักเรื่องที่มาสะท้อนเรื่องพวกนี้ เราก็เริ่มไม่ชิน อาจเพราะไม่ค่อยมีโอกาสได้ส่องกระจกสะท้อนตัวเอง แต่เชื่อว่าอนาคตต่อๆ ไปคนจะเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมเราถึงทำหนังแบบนี้

GM : ถ้าให้จัดประเภทหนังของคุณล่ะ ดูเหมือนมันไม่น่าจะอยู่ในหมวดไหนได้เลย

อภิชาติพงศ์ : อืมม์…มันแล้วแต่เรื่อง แล้วแต่ประเทศด้วย แต่ผมโอเพ่นเรื่องนี้นะ ชอบด้วยซ้ำที่มีคนพยายามตีความจัดหมวดหมู่ อย่างเรื่องลุงบุญมีฯ บางแห่งก็จะจัดหมวดหมู่เป็นหนัง ‘คอเมดี้’ หรือบางแห่งก็จะบอกว่าเป็นหนัง ‘ดราม่า’ หรือบางแห่งก็จะเป็น ‘ดราม่า/คอเมดี้’

GM : แต่กลายเป็นว่าคุณเป็นที่รู้จักในนามของ ‘ผู้กำกับเจ้าปัญหา’ มากกว่าบทบาทของศิลปิน ตั้งแต่เรื่องของกองเซ็นเซอร์ในหนังเรื่องก่อนๆ ของคุณ มาจนกระทั่งถึงข้อโต้แย้งเรื่องงบประมาณจากโครงการไทย เข้มแข็ง ตอนนี้เรื่องราวไปถึงไหนแล้ว

อภิชาติพงศ์ : ก็เซ็นไปแล้วเพื่อขอรับเงิน แต่ว่ายังไม่ได้รับ ที่รับเพราะเราเห็นความจริงใจของเขา เพราะเราต่อต้านเยอะมาก ต่อต้านจนเขาเหม็นขี้หน้า (หัวเราะ) เราก็พยายามอธิบายว่า ทำไมข้อนี้ ข้อนี้เราไม่ยอมน่ะเพราะอะไร ผมอยากเซ็นสัญญาแบบระบบมาตรฐานโลกที่เขาทำกัน ซึ่งทางเขาก็พยายามกลับไปแก้ เห็นความพยายามที่จะแก้ ไปพูดกับทางคนที่มีอำนาจให้ กระทั่งแก้มาเรื่อยๆ ถึงขั้นที่เห็นว่ามันแฟร์กับทุกฝ่าย ก็เลยเซ็น

GM : เอาเข้าจริงๆ มันเป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าความจริงใจในการสนับสนุนหรือเปล่า

อภิชาติพงศ์ : คงไปวิจารณ์ขนาดนั้นไม่ได้ เพราะโครงการไทยเข้มแข็งไม่ใช่ทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้กับวงการภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว ผมไม่รู้ตื้นลึกหนาบางจริงๆ ว่าเป็นยังไง แต่พอมันมีมาให้ภาพยนตร์ เราก็ไม่คิดแล้วละก็รับไว้ก่อน มองในแง่ดีก็คืออย่างน้อยมันก็มีการสนับสนุนจากรัฐซึ่งมันไม่เคยมีมาก่อน แต่เผอิญมันมีประเด็นที่ชวนให้คิดเรื่องของความไม่ยุติธรรม เพราะการที่กระทรวงวัฒนธรรมล้มเหลวในการจัดการ คือเอาโจทย์สองโจทย์มารวมกัน โจทย์ที่คุณอภิสิทธิ์ไปสัญญาไว้กับหนังพระนเรศวรแล้วยื่นโจทย์มาให้กับคุณธีระ สลักเพชร ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในช่วงนั้นว่าให้ดำเนินการในการให้เงินสนับสนุนหนังสมเด็จพระนเรศวรฯ แล้วอยู่ดีๆ ก็มีเงินโผล่มาจากโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงแค่ตอบโจทย์นั้น และการที่หนังสั้นหนังยาวทั้งหลายที่ได้เงินก็อาจแค่ทำให้เกิดความชอบธรรมขึ้นมาเท่านั้นเอง หรือหากไม่ใช่อย่างที่เราคิด ก็ยังมีเรื่องให้คิดได้อีกว่าแล้วทุนที่กระทรวงวัฒนธรรมจะให้อีก 330 ล้านบาทนั่นคืออะไร มันมากไปไหม มันไม่มีบ้านไหนในโลกนี้เขาทำกัน การที่ทุนสนับสนุนไม่มีการตั้งเพดานเงิน การไม่บอกว่าจะสนับสนุนขั้นตอนไหนของการสร้าง การให้ผู้สร้างเป็นฝ่ายต่อรองกับภาครัฐเกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์ ความไม่ชัดเจนของข้อกำหนดเหล่านี้ทำให้เราหันไปพูดกับภาครัฐว่าอยากให้พิจารณาด้วย หากคนที่ขอไป 10 ล้านแล้วเขาได้มา 1 ล้าน จะให้เขาบริหารเงินอย่างไร เป็นการเอาเงินกู้หรือภาษีประชาชนมาละลายแม่น้ำ การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว

มีหลายอย่างที่ถ้าต้องการตีค่านั้นมันมหาศาล มันอาจจะไม่ออกมาเป็นตัวเลขให้เห็น แต่หากคิดถึงมูลค่าจริงๆ แล้วมันเยอะมาก และหากเราเริ่มการสนับสนุนที่ไม่มีรากฐานที่ดี หากว่าต่อไปมีหนังแห่งสยามประเทศอีกปีละ 5 เรื่อง แล้วคนทำหนังเล็กๆ ค่ายหนังต่างๆ หรือคนต่างจังหวัดจะทำอย่างไร หากรัฐอยากสนับสนุนหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ ก็แยกกองทุนออกมา เลย กี่ร้อยล้าน เป็นเงินกู้หรือให้เปล่าอะไรไป ให้ชัดเจน ต้องบอกไว้ก่อนว่าผมไม่ได้มีอะไรกับท่านมุ้ยนะ และถึงแม้ ว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ใช่หนังท่านมุ้ย ผมก็จะต้องขอร้องให้มีการพิจารณา เพราะการที่กระทรวงแถลงข่าวว่าที่หนังได้ทุนเยอะเพราะนายกฯอภิสิทธิ์สนับสนุน แสดงว่าคณะกรรมการชุดนี้มีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงในการตัดสิน ถ้าจะอ้างอภิสิทธิ์ก็ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการแล้ว คุณก็บอกไปเลยตั้งแต่ต้นว่าทุนจากไทยเข้มแข็งจะเอาครึ่งหนึ่งให้สมเด็จพระนเรศวรฯ เพราะแบบนี้แบบนี้ แล้วอีกครึ่งหนึ่งจะแบ่งโดยอาศัยความเห็นชอบจากคณะกรรมการ แบบนี้ถึงแม้จะไม่ค่อยพอใจแต่ยังรับได้ ยังไม่ screw up เพราะไม่มี hidden agenda อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่บางคนพูดว่า พอมีทุนมาทีก็แย่งกัน เหมือนหมากัดกัน ผมรู้สึกว่าไอ้คนที่พูดแบบนี้ไม่สมควรอยู่ในตำแหน่งอย่างยิ่ง ยิ่งเป็นคนจากกระทรวงวัฒนธรรมยิ่งไม่สมควร ผมเป็นคนจ่ายภาษี ผมจ้าง คุณให้มาทำงาน มาพูดแบบนี้ได้ยังไง วงการหนังไทยเราอยู่กันมาได้โดยที่ไม่มีทุนสำหรับภาพยนตร์

เพราะฉะนั้นอย่ามาพูดแบบนี้ ถึงมึงไม่ให้ทุนกู กูก็จะอยู่ต่อไป และไม่ใช่ว่าการให้ทุนจะมาถือเป็นบุญเป็นคุณต่อกัน อย่าได้คิดว่าผมจะยอมทำอะไรที่เป็นสิ่งโฆษณาชวนเชื่อ อย่ามาคิดว่าฉันจะต้องมาเป็นกระบอกเสียงในเรื่องแบบว่า…ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีในแบบที่รัฐต้องการให้เป็น อย่ามาคิดว่าเงินจะมาซื้อศิลปินหรือว่าคนทำหนังได้ นี่คือสิ่งที่อยากบอก รัฐควรทำความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมให้มากกว่านี้

GM : โดยมากรัฐไทยมีบรรทัดฐานเรื่องมุมมองทางวัฒนธรรมแบบนี้

อภิชาติพงศ์ : ก็เพราะคนทำงานไม่มีคุณภาพเพียงพอ สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือช่วยกันส่งข้อความว่า พวกคุณคือเรือจ้าง ประชาชนเป็นคนจ้างคุณมา ทุกวันนี้มันดูเหมือนภาพจะตรงข้ามกัน มันกลายเป็นว่าเวลาไปไหนมาไหน ต้องให้ประชาชนมายืนตัวแข็ง จับเป้า คอยโค้ง ต้องทำตัวเป็นขี้ข้ามึงไปตลอด มันไม่ใช่ ประชาชนต้องเป็นใหญ่

GM : หลายคนมักพูดว่าหนังของคุณเป็นหนังสะท้อนการเมืองและเรื่องเพศอย่างเปิดเผย ในมุมมองของเจ้าของผลงาน คุณจงใจให้คนเข้าใจอย่างนั้นหรือเปล่า

อภิชาติพงศ์ : มันเป็นเรื่อง Personal Politic เป็นมุมมองส่วนตัวของเรา ซึ่งออกมาจากประสบการณ์และการตีความชีวิต ซึ่งบางทีมันก็เป็นการตอบโต้สื่อหรือสิ่งรอบข้าง เช่น ในช่วงที่มีหนัง ‘บางระจัน’ หรือ ‘สุริโยไท’ ออกฉาย ผมจะรู้สึกต่อต้านมาก ก็ทำ ‘สุดเสน่หา’ ทันที หนังพูดเรื่องความสัมพันธ์ไทยพม่าเหมือนกัน แต่มองผ่านเรื่องเล็กๆ หรืออย่าง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ก็เช่นกัน ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่ามันมีสัญลักษณ์เต็มไปหมด ซึ่งเป็นรากของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในปัจจุบัน แต่ถ้าถามว่าเราได้พูดออกมาอย่างตรงๆ ไหม…ไม่ เพราะยังทำไม่เป็น เราคิดว่าหนังมันต้องทำในสิ่งที่วรรณกรรม ทำไม่ได้ ต้องให้อะไรที่มากกว่า ไม่งั้นก็เขียนหนังสือดีกว่า ซึ่งถ้าเขียนไปก็สู้นักวิชาการหลายๆ คนไม่ได้ เพราะเราไม่ได้รู้ลึกขนาดนั้น

GM : คุณต่อต้านความเป็นชาติ

อภิชาติพงศ์ : ใช่, ส่วนหนึ่งผมได้อิทธิพลมาจากอาจารย์เบน (เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน) นี่ล่ะ (หัวเราะ) เราเห็นว่าการที่รัฐพยายามรวมชาติ พยายามทำในสิ่งที่เป็นชาติขึ้นมา มันเป็นเรื่องของ Imagine Community เป็นนาม-ธรรมที่ซับซ้อน รัฐเอาเครื่องมือนี้มาปลุกปั่นประชาชน มันไม่เกิดผลดีในระยะยาว มันอาจเวิร์กแค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในแง่ที่สนับสนุนให้คนรักชาติสามัคคีกัน แต่จริงๆ แล้วมันกินไม่ได้ ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน มันดูจอมปลอมมากกว่า ประชานิยมที่คุณอภิสิทธิ์เพิ่งนำเสนอออกมาก็เป็น Imagine Community แบบหนึ่ง เป็นการหาเสียง ไม่ใช่การแก้ปัญหา

GM : นอกเหนือจากเรื่องของชนชั้นและการเมือง เรื่องรักร่วมเพศก็เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในหนังอย่างชัดเจน อะไรทำให้คุณสนใจในการเสนอมุมมองของคนกลุ่มนี้

อภิชาติพงศ์ : เราว่าสังคมไทยมีความลักลั่น จริงๆ สังคมไทยเป็นสังคมเปิดกว้างในเรื่องนี้นะ แต่ไม่ได้นำเสนอทางสื่ออย่างที่เราอยากจะเห็น คนไทยยอมรับเกย์หรือเลสเบี้ยนในแง่ของภาพพจน์ด้านสังคม เดินตามถนนหรือทำอะไรก็ตาม คนไทยค่อนข้างใจกว้าง แต่ในขณะเดียวกัน พอมีภาพของเกย์หรือเลสเบี้ยนออกมาในสื่อ กลายเป็นว่าเกย์หรือเลสเบี้ยนเป็นตัวตลก เป็นตัวผงชูรส ซึ่งผมรู้สึกว่ามันน่าจะมีอะไรที่

นำเสนอคนเหล่านี้ในมุมอื่น เกย์ก็คนเหมือนกัน ทำไมต้องเอาเรื่อง gender มาขีดเส้นใต้เพื่อทำให้เขาเป็นตัวตลก เลยอยากเสนอภาพของคนกลุ่มนี้ในมุมคนธรรมดาๆ แต่ไม่ได้จงใจเน้น เพราะผมมองว่าเราทุกคนต่างก็เป็นคนธรรมดาๆ เหมือนกัน

GM : มุมมองเรื่องศาสนาของคุณเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่เราเห็นในงานของคุณหลายเรื่อง ค่อนข้างเป็นภาพที่กระทบจิตใจคนดูอยู่ไม่น้อย เช่น ภาพของพระที่อยู่ในอิริยาบถที่ขัดกับวินัยสงฆ์

อภิชาติพงศ์ : คำตอบก็เป็นเหมือนเคยก็คือ ตื่นกันได้แล้ว (หัวเราะ) ถ้าคุณไปมองดูในสังคมจริงๆ ที่บ้านเมืองเรามันเป็นอย่างนี้ เพราะเราไม่พูดความจริง บางอย่างมันน่าจะสร้างโอกาสให้ประชาชนได้พูดความจริงบ้าง เช่น ปัญหาภาคใต้ หรือเรื่องการชุมนุม หรือในอีกหลายๆ ส่วน แน่นอนว่าบางอย่างมันเป็นภาพที่ไม่ถูกไม่ควร แต่ถามว่าเรื่องพวกนี้มันไม่เกิดขึ้นหรือ มันเกิดขึ้นทุกวัน ผมมีเพื่อนฝรั่งที่โดนเณรวัยรุ่นลากเข้าห้องไปมีอะไรกันด้วยซ้ำ ผมคิดว่าหนังศิลปะไม่จำเป็นต้องนำเสนอหรือสื่ออะไรออกมาเพียงด้านเดียวเท่านั้น หรือเสนอแต่คำโฆษณาชวนเชื่อให้หน่วยงานของสังคม ถ้าคุณทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สังคมมันจะฉิบหายเพราะมันไม่ใช่ความจริง ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะได้พูดหรือแสดงความคิดเห็นออกมาก่อน เมื่อผมทำแล้วคุณไม่ชอบ คุณออกมาประท้วง ผมโอเคนะ ผมชอบ ผมคิดว่ามันจะทำให้สังคมแข็งแรง แล้วถ้าคุณเห็นว่าผมไปทำให้ใครเสื่อมเสียก็ไปสู้กันในศาล แล้วการตัดสินของศาลก็จะบอกเราเองว่าสังคมเราอยู่ในขั้นไหน ว่าสังคมเรามีประชาธิปไตยขนาดไหน และเปิดโอกาสให้ประชาชนพูดความจริงได้มากน้อยแค่ไหน

GM : ที่ผ่านมา กรณีของคุณเคยไปถึงศาลหรือยัง

อภิชาติพงศ์ : มันควรจะเป็น แต่มันยังไม่ไปถึงขั้นนั้น เพราะกองเซ็นเซอร์คิดแทนเราไง แล้วกองเซ็นเซอร์ก็อยู่ด้วยความกลัวว่า เฮ้ย! เดี๋ยวสมาคมโน้นนี้

จะมาประท้วงว่า ทางเราไม่ทำงานอย่างเต็มที่ ปล่อยให้หนังเรื่องนี้ออกมา คือมันไม่ใช่หน้าที่คุณที่จะไปคิดแทนคนทำหนัง เขาประท้วงมาคุณก็เขียนจดหมายตอบไปเลยว่า มันไม่ใช่หน้าที่ฉัน หน้าที่ฉันคือจัดเรตติ้งให้เหมาะกับคนดูเท่านั้น ถ้าอยากจะประท้วงก็ไปร้องต่อศาลเอาเอง คุณไม่ต้องทำตัวเป็นอาจารย์ใหญ่ คุมไปเสียหมด

GM : สื่อฉบับหนึ่งลงบทสัมภาษณ์ของคุณในการให้สัมภาษณ์เรื่องเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองว่า “อภิชาติพงศ์ยังยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเขาเต็มไปด้วยความรุนแรง และถูกปกครองโดยกลุ่มมาเฟีย” น่าสนใจว่า ‘มาเฟีย’ ในความหมายของคุณคือใคร

อภิชาติพงศ์ : คงไม่ต้องบอกว่ามาเฟียหมายถึงใคร มีทุกหย่อมหญ้า หลากสีครับ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มันทำให้เราคิดมากขึ้นว่าสังคมแบบไหนที่ใส่สีเสื้อให้กัน การที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องสิทธิไม่ว่าจะมาเองหรือถูกจ้างมาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างที่ใครเขาว่ากัน เขาจำเป็นต้องทำแบบนั้น หรือว่าเขาเป็นเหยื่อของอะไรบางอย่าง บางคนตั้งคำถามว่านี่เป็นสงครามทางชนชั้นจริงหรือเปล่า เราว่ามันชัดเจนมากว่ามันเป็นอย่างนั้น ถึงใครจะบอกว่าเสื้อแดงมีเศรษฐีหนุนหลัง แต่ว่าการที่มีคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด ต้องยอมขายสิทธิขายวิญญาณของตัวเพื่อมานั่งตากแดดอยู่เป็นเดือนๆ แบบนี้จะไม่ใช่สงครามทางชนชั้นอีกหรือ พอมันเกิดขึ้นเราควรจะถามตัวเองว่าทำไมเราทะเลาะกันกับเพื่อน กับคนในครอบครัว และทำไมบางคนถึงยอมรับการฆ่าคน ฆ่าชีวิตหนึ่งเป็นความชอบธรรม แล้วเสาร์-อาทิตย์ไปนั่งวิปัสสนาอิ่มบุญ ย้อนกลับไปในอดีต มีพระรูปหนึ่งเคยพูดว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่บาป แต่ปัจจุบันเราก็จะพบว่าก็จะมี senti-ment นี้ออกมาด้วยเหมือนกันจากพระบางรูป คือมองชีวิตว่าเป็นแค่หนึ่งชีวิตเพื่อสังเวยสิ่งที่คุณเรียกว่าประชาธิปไตย หรือว่าความสงบเรียบร้อยของชาติ แต่พอเราพูดแบบนี้ปุ๊บ คนก็จะใส่เสื้อให้เราทันทีว่าเราเป็นสีแดง ซึ่งจริงๆ แม่งมันไม่ใช่ มันเป็นเหตุการณ์ที่ต้องเกิดขึ้นก็เท่านั้น ประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำมาก ไม่ใช่ที่เจริญ ไม่อย่างนั้นเวลา

เดินทางคุณไม่ต้องขอวีซ่าไปยุโรป อังกฤษ อเมริกา แคนาดา อินเดีย และที่อื่นๆ หรอก เพราะเขาถือว่าคนของเรา ประเทศของเรายังเชื่อถือไม่ได้ รัฐบาลอ่อนแอหรือไม่ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ว่าจะมาร้องเพลงปรอง-ดองกันทีหลัง ขณะเดียวกันก็แบนและเซ็นเซอร์เว็บไซต์เป็นแสนเว็บ

GM : แล้วเราควรจะหาทางออกแบบไหน

อภิชาติพงศ์ : มันต้องมีการสืบสวนหาความจริง มีการรวมฟุตเทจ มีการถอดเสื้อมาคุยกัน ต้องแฟร์กับทุกฝ่าย แน่นอน, ผมว่ามันมีภาพแบบที่ว่า ทหารเอาปืนจ่อหัวขู่ให้ทำลายเทป มันมีพยานอะไรเยอะแยะ ในความคิดของผม หากเราอยากเป็นประเทศที่เจริญเราต้องแฟร์ ต้องแชร์หลักฐานกัน แต่มันก็เป็นไปได้ยากมากในสังคมตอแหลอย่างนี้

GM : ดูเหมือนคุณมองเหตุการณ์นี้ว่าเป็นเรื่องวิวัฒนาการของสังคมอย่างหนึ่ง

อภิชาติพงศ์ : ผมอยากให้มีองค์กรอิสระจากนานาชาติมาสืบหาข้อเท็จจริงร่วมกับทุกฝ่าย มากกว่าที่จะตั้งกันเอง เพราะผมคิดว่าเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นการแสดงอำนาจอย่างเอนเอียง เพราะบ้านเราญาติเยอะ ควรมีการรวมฟุตเทจ ต้องแฟร์กับทุกฝ่าย จริงหรือไม่ที่ทหารเอาปืนจ่อหัวนักข่าวและขู่ให้ทำลายเทป ในความคิดของผม หากเราอยากเป็นประเทศที่เจริญเราต้องแฟร์ ต้องแชร์หลักฐานกัน มีพยาน มีถ่ายทอดสด

แต่มันจะเป็นไปได้ไหม…ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมาไม่นาน มันถึงจุดเปลี่ยนที่คนเริ่มรู้สึกแล้วว่าประชาธิปไตยที่เขาต้องการมันคืออะไร ผมได้คุยกับนักข่าวคนหนึ่ง เขาไปอยู่ที่ชุมนุม เขาก็ถามกับชาวบ้านที่มาชุมนุมว่าประชาธิปไตยคืออะไร ชาวบ้านก็บอกไม่รู้หรอกว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่ฉันรู้แค่ว่าฉันก็อยากได้น้ำ ได้ไฟ ได้ถนนเข้าบ้านฉัน นั่นแสดงว่าประชาชนเริ่มส่งเสียงออกมามากขึ้น ไม่ใช่การมากราบไหว้นอบน้อมกับภาครัฐอีกต่อไป มันเป็นการขีดเส้นประวัติศาสตร์ของเราเลยนะ

GM : กระบวนการการพัฒนาทางความคิดแบบนี้จะส่งผลถึงวงการศิลปะด้วยไหม เช่นความเข้าใจมากขึ้น ของรัฐต่อการจัดการสื่อศิลปะเช่นเรื่องการเซ็นเซอร์หนัง

อภิชาติพงศ์ : ก็หวังว่าในระยะยาวจะเป็นอย่างนั้น เพราะทุกวันนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ในบ้านเรามีไม่มาก มีบางส่วนบางสำนักงานที่เข้าใจและสนับสนุนวัฒนธรรมในแง่ของการวิวัฒน์ เพราะวัฒนธรรมต้องมีการเติบโตต้องเปลี่ยนแปลง มันไม่เหมือนกับ ‘ประเพณี’ ซึ่งเราต้องแยกกันให้ออก แต่ว่าบางทีคนของภาครัฐเองก็ดูออกอาการสับสน มันเหมือนกับว่าพูดคนละภาษา ก็เลยขัดกันในหน่วยงาน ในหน่วยงานหนึ่งก็อยากก้าวหน้าเหลือเกิน แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะไปขัดกับนโยบายของอีกส่วนหนึ่ง

GM : หลายคนจดจำภาพของคุณได้ในฐานะของผู้กำกับเจ้าปัญหา และถึงกับมีคนออกมาพูดในทำนองที่ว่าหนังของคุณไม่เหมาะสมที่จะฉายในประเทศไทย เพราะคนไทยยังไร้การศึกษาที่ดี คุณคิดเห็นว่าอย่างไร

อภิชาติพงศ์ : ผมขนลุก (หัวเราะ) น่ากลัวว่านี่เป็นมุมมองจากภาครัฐและเป็นมุมมองที่มาจากคนที่มีอำนาจที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม คนคนนี้เป็นคนหนึ่งที่ผมคิดว่าเขาไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในตำแหน่ง ผมว่าเรายังต้องการเวลาในการยอมรับซึ่งกันและกัน การจัดเรตติ้งก็เป็นเหมือนอีกขั้นของการยอมรับ แต่ก็ยังต้องพยายามกันต่อ เพราะว่าการนำไปใช้ยังมีปัญหา เท่าที่ผมรู้คือมันยังไม่เป็นกฎหมายที่ชัดเจน คือเช่นว่า ถ้าหากหนังเรื่องนั้นสำหรับผู้ชมอายุ 15 ปี ขึ้นไป ก็ต้องตรวจบัตรจริงๆ เพราะตอนนี้ มันเกิดความไม่เชื่อใจกันระหว่างรัฐกับภาคเอกชน รัฐออกกฎแต่โรงหนังไม่บังคับใช้จริงจัง แบบนี้ก็ไม่มีความหมาย อย่างเรื่องนาคปรกซึ่งได้เรต 20+ เพื่อนผมไปดูมาในโรงมาเล่าให้ฟังว่า ก็เจอนักเรียนนั่งเต็มโรงไปหมด พอเป็นแบบนี้หนังบางเรื่องที่น่าได้เรต 20+ ก็กลายเป็นว่าโดนสั่งแบนไปเลย เพราะไม่เชื่อใจกัน ทั้งที่คนอายุ 20 ปีมีสิทธิเลือกตั้งแล้ว แต่พวกเขากลับไม่สามารถเลือกหนังที่เขาอยากดูได้ แล้วอย่างนี้เรามีเรตติ้งไว้ทำหมาอะไร ถ้าไม่เชื่อใจกัน ที่เป็นอย่างนี้เพราะสังคมไทยเราซิกแซก กันมาเยอะ แต่มันก็ต้องเริ่ม มันอาจจะไม่ทันสำหรับคนรุ่นนี้ แต่มันก็ต้องเริ่ม

ที่สำคัญบุคลากรของรัฐต้องมีคุณภาพกว่านี้ ต้องมีวิจารณญาณมากกว่านี้ และทั้งหมดต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งรัฐทั้งเอกชน

GM : คุณไม่เชื่อว่ารัฐของเรามีประสิทธิภาพพอ ?

อภิชาติพงศ์ : ไม่เคยเชื่อ น้อยมากที่จะหาความเข้าใจและตั้งใจจากรัฐบาลได้จริงๆ แค่บางคนนะครับที่ผมเชื่อ แต่ว่าอีกหลายคนมากที่ผมไม่เชื่อ คิดง่ายๆ อย่างเรื่องการเซ็นเซอร์หนัง มีการเบลอขวดเหล้าในหนัง ผมว่ารัฐเอาหัวสมองส่วนไหนมาคิด ใครหลายคนก็รู้สึกแบบเดียวกับผม ตอนนี้เอกชนกำลังนำหน้ารัฐหลายขุม ถึงเวลาที่รัฐต้องตามให้ทัน เราอยู่ในยุคสำริดแล้วคุณ อย่ามัวแต่อยู่ยุคหิน

GM : ประเทศอื่นๆ ที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และศิลปะภาพยนตร์เจริญแล้วอย่างอเมริกาหรือเกาหลีใต้ เขาประสบปัญหาความไม่เข้าใจอย่างเราไหม

อภิชาติพงศ์ : ประเทศเหล่านั้นภาคประชาชนนำหน้ารัฐ เป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ถึงบอกว่าสมาคมผู้กำกับ สมาพันธ์ภาพยนตร์ ต้องแสดงเสียงออกมาให้มากกว่านี้ด้วยอีกทางหนึ่ง ต้องบอกเลยว่า เฮ้ย! กูไม่ยอม ต้องมียูเนี่ยน ต้องแสดงให้ภาครัฐรู้ว่าฉันคือเจ้านายเธอนะ แต่เหมือนรัฐบาลของเราจะไม่เข้าใจ ก็เลยไม่ได้ยินเสียงคนกลุ่มนี้ หลายครั้งผมว่ารัฐไทยเองก็ขี้ขลาด อย่างการออกพระราชกำหนดฉุกเฉินที่เนิ่นนานเกินไปแบบนี้ ทำให้คนที่อยากแสดงความคิดเห็นไม่สามารถทำได้ ผมน่ะอยากจะออกไปถือป้ายประท้วงมากเรื่องการสร้างความปรอง-ดองสามัคคีของรัฐซึ่งผมว่ามันไม่มีจริง อย่าพยายามสร้างความเชื่อด้วยการเปิดรับโทรศัพท์เพื่อฟังความคิดเห็นอะไรแบบนั้น

GM : ตอนที่คุณเข้าพบคุณอภิสิทธิ์ มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องเหล่านี้ไหม

อภิชาติพงศ์ : คุยครับ ซึ่งผมก็เข้าใจว่าคุณอภิสิทธิ์รู้ปัญหาบ้านเมืองดีเพราะท่านเป็นคนฉลาด เข้าใจว่าบางอย่างคุณก็ไม่มีอำนาจทำได้ แต่ก็อยากให้คุณกล้ากว่านี้อีกหน่อยได้ไหม หยุด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แล้วอยากให้เลิกรับโทรศัพท์ ครับ ครับ ครับ

GM : คุณคิดว่าคุณเป็นคนหัวรุนแรงไหม

อภิชาติพงศ์ : ไม่นะ…(นิ่งคิดสักครู่) ผมขอตอบใหม่ดีกว่า ผมว่าผมไม่รู้ ที่ตอบว่าไม่รู้ เพราะมันขึ้นกับบริบทของสังคม ถ้าความคิดของผมมันไปอยู่ในสังคมที่พัฒนาแล้ว มันจะเป็นความคิดแบบอนุรักษนิยมเลยนะ แต่พอมันมาอยู่ในสังคมอนุรักษนิยมอย่างเมืองไทย มันเลยกลายเป็นว่า เราเป็นคนดื้อ ดูก้าวร้าว แต่เราก็ต้องไม่โกหกตัวเอง ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเราก็จะสับสนเองว่า เวลาคุยกับสื่อต่างชาติพูดอีกอย่างพอคุยกับสื่อไทยพูดอีกอย่าง

GM : ถามถึงเรื่องหนังของคุณบ้าง การมีพื้นที่ในสังคมมากขึ้น เช่นได้รับรางวัลระดับโลกแบบนี้ มันเอื้อกับการทำงานของคุณมากน้อยแค่ไหน

อภิชาติพงศ์ : แน่นอนมันเอื้อ อย่างลุงบุญมีฯ ตอนนี้ก็ขายได้ไม่ต่ำกว่า 40 ประเทศแล้วก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็ช่วยกระจายฐานกลุ่มคนดูออกไปให้กว้างมากขึ้น เพราะฐานคนดูของเราในแต่ละประเทศไม่ได้มีมาก ไม่ว่าจะเมืองไทยหรือเมืองนอก ยิ่งมีกลุ่มคนดูในหลายๆ ประเทศ ก็เหมือนกับว่าเราสร้างแฟนคลับเยอะขึ้น คนดูเองก็เริ่มเข้าใจภาษาหนังของเรามากขึ้น มันคือการเรียนรู้ไปด้วยกัน

คนที่คอยต่อต้านหนังของผมตอนนี้ก็เริ่มเปิดใจว่าหนังเรามันมีสไตล์ของมันอย่างนี้ เวลาดูหนังของเราก็ต้องปรับตัวในระดับหนึ่ง มันคือการทำความคุ้นเคย

GM : การทำหนังศิลปะที่ไร้สังกัด ไร้ระบบสตูดิโอ เช่นที่คุณทำอยู่ มีข้อจำกัดในการทำงานมากไหม

อภิชาติพงศ์ : เยอะมากครับ ทำให้รู้เลยว่าความรู้ด้านภาพยนตร์ไม่พอกับการสร้างงาน ต้องมีทักษะเรื่องบริหารคนด้วย เพราะทุนที่ได้มามันไม่มากฉะนั้นคนคนหนึ่งที่เราเลือกมาทำงานด้วย ต้องทำหน้าที่ได้หลายอย่าง ต้องอธิบายให้ทีมงานทั้งหมดเข้าใจ ซึ่งบางทีอธิบายแล้วก็ยังไม่เข้าใจ (หัวเราะ) ฉะนั้นเราต้องการคนที่เสียสละให้ ต้องการคนทุ่มเท อาจต้องไปอยู่ต่างจังหวัดสองสามเดือน จะมีหลายคนที่มาแบบ “หนูชอบหนังพี่เจ้ยจัง ผมชอบหนังพี่เจ้ยอยากทำงานกับพี่ด้วย ฝึกงานไม่เอาเงินก็ได้” เราก็โอเคนะ มาแบบไม่เอาตังค์นี่ดีมาก (หัวเราะ) แต่บางตำแหน่งก็มีเงินให้ แต่พออยู่ไปสักพัก ก็เริ่มทะเลาะกัน เริ่มนินทากัน มีอะไรแบบนี้เยอะ ซึ่งบางทีเราคุมไม่อยู่ เป็นประสบการณ์ทำให้เรารู้ว่าการบริหารคนจำเป็นมาก ทุกวันนี้ก็ยังต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เพราะปัญหาก็ยังอยู่ เพราะหนังแต่ละเรื่องมันก็มีรายละเอียดของผู้ร่วมงานที่แตกต่างกัน

อีกเรื่องที่ยากมากก็คือเรื่องของการหาทุน การหาเงินของผมเป็นลักษณะการพึ่งทุนจากต่างชาติ ต้องมีโปรดิวเซอร์ ที่เข้าใจในงานที่เราทำ พูดง่ายๆ คือไม่ได้ทำเพื่อเงินอย่างเดียว ฉะนั้นแหล่งทุนที่ได้มามันจะมาจากหลายๆ แหล่ง บางทีมาจากเงินของรัฐบาลของประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ เยอรมนี สเปน ที่เขามีทุนให้กับการทำงานศิลปะ ทุนเหล่านี้จริงๆ โปรดิวเซอร์ได้ไม่คุ้ม เพราะระยะเวลาในการทำงานมันยาวเป็นสองปีสามปี จริงๆ ต้องบอกว่างานลักษณะอย่างที่เราทำอยู่ มันค่อนข้างยากทุกจุด เพราะทำเองหมด

GM : หนังศิลปะมีการทำธุรกิจกันแบบไหน เหมือนระบบค้าหนังในกระแสไหม

อภิชาติพงศ์ : มันจะแล้วแต่เรื่อง แต่ละเรื่องก็จะแตกต่างกันไป อย่างหนังเรื่องลุงบุญมีฯ เราได้ทุนจากหนังที่เป็นภาครัฐค่อนข้างมาก จากพิพิธภัณฑ์ก็มี เพราะฉะนั้น World Sale ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายของหนังซึ่งอยู่ที่เยอรมนี จะให้เงินมาก่อน เรียกว่า MG หรือ Minimum Guarantee เพื่อเอาเงินให้เราไปทำหนัง แล้วพอได้เงินคืน ถึงจะเริ่มแบ่งกำไร แต่ตั้งแต่ทำงานมา เงินไม่เคยมาถึงผมสักเรื่อง (หัวเราะ) เพราะมันจะไปทางโปรดิวเซอร์ก่อน ไปทางพิพิธภัณฑ์ที่ให้ทุนเรา เพราะมันเป็น Public Fund

GM : แล้วคุณอยู่ได้ด้วยอะไร ทีมงาน คุณอยู่ได้ด้วยอะไร

อภิชาติพงศ์ : คนที่อยู่รอดได้จริงๆ คือคนที่ทำงานกับเรามาตลอด ทีมงานจะรู้ว่าพอเรื่องต่อไปผมต้องการหรือไม่ต้องการใคร ซึ่งก็จะรู้กันว่าตอนนี้เขาไม่เหมาะกับทีมเรา ทีมที่ทำงานกับผมตลอดเป็นทีมศิลปกรรมของหนัง เพราะเขาลุยและสนใจในสิ่งที่เราทำ พอผมมีโปรเจ็กต์งานศิลปะชิ้นเล็กๆ เข้ามาเราก็จะใช้ทีมนี้ของเรา โปรเจ็กต์งานศิลปะเล็กๆ แบบนี้มีทุนให้มากกว่าทำหนัง บางทีทำงานกันประมาณครึ่งเดือนได้เงินเท่ากับทำงานสองเดือนก็มี รายได้จะถัวเฉลี่ยกันไปแบบนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละคนก็ต้องดิ้นรนของตัวเองอยู่ แต่ละคนก็ต้องรับงานข้างนอก เพราะเราเองไม่ใช่บริษัทใหญ่ ส่วนผมเอง หนังของผมแต่ละเรื่องผมก็จะมีค่าตัวของผม ซึ่งพอเสร็จงานก็จบไป ทำงานศิลปะต่อ

GM : ไม่คิดจะทำงานในระบบหรือรับทำงานตามกระแสบ้างหรือ

อภิชาติพงศ์ : ไม่เคยนะ แต่ในอนาคตเราก็ไม่รู้ว่ากระแสมันคืออะไร อย่างสมัยก่อนเราดูหนังของ เดวิด ฟินเชอร์ ตอนที่เขาทำ ‘SEVEN’ (พ.ศ. 2538) ตอนนั้นถือเป็นหนังนอกกระแส ซึ่งฟินเชอร์ได้อิทธิพลมาจากมิวสิกวิดีโอ รากมันก็มาจากหนังทดลองยุคหกศูนย์เจ็ดศูนย์อีกทีหนึ่ง แต่ตอนนี้หนังของฟินเชอร์กลายเป็นหนึ่งในหนังกระแสหลักไปแล้ว ซึ่งผมก็เลยไม่รู้ว่า ‘กระแส’ จริงๆ คืออะไร ในอนาคตหนังที่ผมทำอยู่อาจกลายเป็นกระแสหลักก็ได้

แต่ปีนี้ผมเริ่มโปรดิวซ์หนัง 2 เรื่อง ก็จะมีเรื่องของคุณลี (ลี ชาตะเมธีกุล) ซึ่งเป็นมือตัดต่อของผม และยืนยันว่าเก่งที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หัวเราะ) เขาจะทำเรื่อง Past Love และจะมีหนังของโบ๊ท (สมพจน์ ชิตเกษร- พงศ์) ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ 2 ของผมมาก่อน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟ ชื่อเรื่อง Are We There Yet? หรือว่า ‘ถึงหรือยัง?’ เรื่องนี้ยังงงๆ อยู่ มีความทดลองมาก และอาจเวียนหัวได้ถ้าดูนานๆ

GM : สังเกตว่าหนังของคุณทั้งหมดที่สร้างมา ไม่มีตัวละครที่เป็นดาราจริงๆ เลย บางครั้งบางเรื่องก็ใช้ชาวบ้านจริงๆ มาเป็นนักแสดง เช่นเรื่อง Haunted House ที่เอาชาวบ้าน มาแสดงจริงๆ คุณเคยนำหนังเหล่านี้กลับไปให้ชาวบ้านดูไหม ผลตอบรับที่ได้จากชาวบ้านเป็นอย่างไร

อภิชาติพงศ์ : ก็มีบ้างครับ แต่ว่าไม่ได้ดูรีแอ็คชั่น แต่เรื่องใหม่ที่ผมทำที่อำเภอนาบัว เป็นหนังสั้นในชุด Primitive ที่แสดงอยู่ที่อังกฤษตอนนี้ ก็คิดไว้แล้วว่าจะเอากลับไปให้ชาวบ้านดู หรืออย่างลุงบุญมีฯเองก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในแง่ที่ว่ามีความเป็นเรื่องเล่าอยู่มาก เพราะมันมีภาษาอีสานอยู่ในเรื่อง ผมจะเอาหนังไปฉายที่ขอนแก่น ซึ่งก็น่าจะได้เห็นปฏิกิริยาจากคนดู

GM : เคยคิดจะเปลี่ยนไปใช้นักแสดงอาชีพจริงๆ ไหม

อภิชาติพงศ์ : คือคิดน่ะคิดอยู่แล้ว แต่ข้อจำกัดมีมาก เพราะการทำงานของผมต้องการคนที่เสียสละมากๆ บางทีไปถ่ายหนังต่างจังหวัด 3 เดือนอย่างนี้ ใครจะยอมไป เงินก็ไม่ได้มาก ผมจึงพูดเสมอว่าบ้านเรายังไม่มีนักแสดงมืออาชีพจริงๆ หรอก เพราะประเทศเรามันเล็ก เราก็เข้าใจนักแสดงด้วยว่าเขาไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการเล่นหนังให้เราเรื่องเดียวเป็นเวลาครึ่งปี เขาก็ต้องไปทำอย่างอื่น ไปออกเกมโชว์ ไปถ่ายแบบหรืออะไรก็ตามแต่ที่เป็นเรื่องของการหาเลี้ยงชีพของเขา แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นโลกเหนือจริงอยากทำงานด้วยหลายคนมาก ผมชอบคุณพิศมัย วิไลศักดิ์ ชอบคุณสินจัย หงษ์ไทย แต่ก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้

GM : นั่นเป็นเหตุผลว่าตัวละครในหนังของคุณส่วนมากก็วนเวียนอยู่กับนักแสดงคนเดิม ตัวละครเดิม ชื่อคนเดิมๆ โผล่ในหนังคุณซ้ำๆ ตั้งแต่หนังยาวเรื่องแรกของคุณกระทั่งมาถึงหนังเรื่องล่าสุด มันเป็นความจงใจหรือว่าคุณต้องการจะสื่อให้เห็นความเชื่อมโยงอะไรบางอย่างหรือเปล่า

อภิชาติพงศ์ : งานกับชีวิตของผมมันเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน บางทีมันก็ไหลมาบรรจบกัน แวบเข้ามาหากัน นักแสดงกับผมก็เหมือนกัน เราก็จะติดต่อกันตลอด พอนักแสดงมีประสบ-การณ์อะไรเข้ามา เราก็จะจดบันทึก

เอาไว้ เพื่อเอาไปใช้ในหนังเหมือนกับเราจงใจจะเลียนแบบชีวิตจริงของพวกเขาอีกทีหนึ่ง อะไรแบบนั้น อย่าง ‘ป้าเจน’ (หรือ ‘ป้าอร’ ในหนังเรื่อง ‘สุดเสน่หา’ นำแสดงโดยนักแสดงคนเดียวกันคือ

เจนจิรา พงพาศ) ป้าเจนมีหลายอาชีพ ผมชวนเขามาแสดงจนกลายเป็นนักแสดง ประจำ ผมก็ไปมาหาสู่กันตลอด เริ่มทำงานด้วยกันตั้งแต่แกยังปกติจนกระทั่งตอนนี้ขาพิการเพราะอุบัติเหตุ ตอนนี้ก็อยู่บ้าน ทำงานฝีมือส่งขาย แต่ก็มีลูกๆ คอยดูแล เวลามีหนังที่คิดว่าเหมาะกับแก ผมก็จะเรียกชวนแกมาทำงานด้วย เรื่องเหล่านี้บางทีมันก็เป็นความตั้งใจบ้าง ไม่ตั้งใจบ้าง มันเหมือนกับว่าคนเหล่านี้อยู่ในจิตใต้สำนึกของเราไปแล้ว

GM : คุณเขียนบทเองทุกเรื่อง ความสวยงามของภาษาในหนังคุณถือเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่ง คุณได้รับอิทธิพลในงานเขียนมาจากใคร

อภิชาติพงศ์ : ก็คงมาจากชีวิตของตัวเอง นึกอะไรออกก็จะจดไว้ แต่ถ้าพูดถึงงานเขียนที่ชอบ เราชอบงานที่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมพื้นถิ่น เช่นงานของคุณมาลา คำจันทร์ งดงามที่สุด ถ้าเป็นอีสานหน่อยต้องเป็น คำพูน บุญทวี ใครที่อ่านงานเขียนของคุณมาลา คำจันทร์ จะรู้เลยว่าความคิดนั้นไม่เคยล้าสมัย เป็นพื้นบ้านที่หัวก้าวหน้า

GM : มีหนังประเภทไหนอีกไหมที่คุณสนใจอยากลองทำ

อภิชาติพงศ์ : ผมอยากทำหนังที่เป็นไฮบริดจริงๆ เคยคุยไว้กับพี่ต้อม-ยุทธเลิศ (ยุทธเลิศ สิปปภาค) ว่าอยากทำหนังคนละครึ่งเรื่อง เอามาใส่กัน อันนี้อยากทำมาก อยากรู้ว่าถ้าคนทำหนังแบบเมนสตรีมกับซูเปอร์ไม่เมนสตรีมอย่างเรา มาเจอกันจะเป็นยังไง มันคือการทดลองอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งผมคิดว่าพี่ต้อมเขาแกล้งเมนสตรีม ประมาณว่าเขายังไม่เผยโฉมหน้าที่แท้จริงของเขา เป็นบุรุษเงา

GM : มันคงเป็นหนังเรื่องเดียวกันแต่คนละเรื่อง

อภิชาติพงศ์ : จริงๆ แล้วพี่ต้อมมีอะไรหลายอย่างที่เหมือนเรานะ มุมมองเรื่องทำงาน การมองโลก เรารู้สึกว่าคล้ายกัน

GM : นั่นเป็นเรื่องความอยาก แล้วหากเป็นเรื่องที่จะทำจริงๆ เราจะได้ดูหนังเรื่องใหม่ของคุณเมื่อไหร่ เห็นว่าคุณมีโปรเจ็กต์ ‘Utopia’ ที่ทำค้างอยู่

อภิชาติพงศ์ : ยูโทเปียเป็นโปรเจ็กต์์ยักษ์เลย มากกว่านเรศวร คงอีกนาน ส่วนหนังยาวน่าจะอีกสักประมาณ 2 ปีเพราะอยากจะปรับปรุงด้านทุนให้ดีขึ้นกว่านี้ คิดไว้ว่าคราวนี้ยังไงก็ต้องมีนักแสดงมืออาชีพมาเล่นด้วยให้ได้ (หัวเราะ) โอเคเขาอาจจะจู้จี้ในเรื่องสัญญาการทำงาน ผมเคยเห็นขนาดที่ว่าบางคนในสัญญาระบุว่า ห้ามถ่ายขาโดยที่ไม่มีสิ่งปกปิด สัญญาระบุละเอียดมาก แต่ถ้าสัญญามันผ่านไปได้ เขาจะ

มีเวลาให้เราร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงนี้เป็นเงื่อนไขที่เราอยากทำให้ได้ เพราะเป็นการเติบโตของเราเองที่อยากทำหนังกับนักแสดงมืออาชีพ แล้วการที่เราได้เรียนรู้ระบบของต่างประเทศมันช่วยพัฒนาเราไปในตัว แล้วเราก็จะเอานักแสดงของเราอย่างป้าเจนเข้าไปยำด้วย ก็คงน่าจะสนุก

GM : บอกเราได้ไหมครับว่าจะเป็นหนังเกี่ยวกับเรื่องอะไร

อภิชาติพงศ์ : จะเป็นหนังไซไฟเรื่องราว เกี่ยวกับคนในแถบลุ่มแม่น้ำโขงครับ

GM : คนในครอบครัวของคุณอย่างคุณแม่ เข้าใจในสิ่งที่คุณทำอยู่ไหม

อภิชาติพงศ์ : ผมว่าท่านภูมิใจและชื่นชมกับสิ่งที่ผมทำนะ แต่ว่าไม่ใช่จริตของท่านที่ท่านจะมานั่งดูหนังแบบที่ผมทำ ท่านไม่รู้เรื่อง แต่ท่านยอมรับในสิ่งที่เราทำ เพราะครอบครัวเลี้ยงผมมาอย่างค่อนข้างให้อิสระ คงออกแนวเป็นห่วงมากกว่าตามประสาแม่ว่าเราจะอยู่ได้ไหม

GM : การสูญเสียคุณพ่อมีผลกับชีวิตและการทำงานของคุณมากหรือเปล่า

อภิชาติพงศ์ : มีผลมาก ช่วงที่คุณพ่อเสียเป็นช่วงที่ผมกำลังจะเริ่มถ่ายทำ ‘สัตว์ประหลาด’ พอมองย้อนกลับไป มันเป็นช่วงชีวิตที่ผมรู้สึกว่าผมกราด-เกรี้ยวที่สุดในชีวิต การทำหนังตอนนั้นก็เหมือนการปลดปล่อยตัวเราเอง ผมเหมือนพายุ มันเป็นพายุลูกสุดท้ายที่ปล่อยออกมาแบบหมดจด แล้วคนหลายคนก็โดนลูกหลงจากพายุลูกนี้เต็มไปหมด ทั้งทีมงาน คนรอบข้าง แต่พอจบหนังเรื่องนี้ปุ๊บ ผมรู้สึกเลยว่าตัวเองนิ่งขึ้น สงบขึ้น แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดนิ่งเป็นเซนแบบนั้น เพียงแต่รู้ตัวเองว่าเราเปลี่ยนไปและจะไม่กลับไปเป็นเหมือนตอนนั้นอีก ส่วนหนึ่งก็คือการตายของคุณพ่อทำให้เราสนใจพุทธศาสนามากขึ้น มันเหมือนกับเป็นการเยียวยาตัวเราเอง เราเริ่มอ่านหนังสือปรัชญาพุทธ ไปวัดบ้างแต่ไม่ได้สนใจพุทธในแง่ของพิธีกรรมเลยนะ เราสนใจในแง่ที่มันเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า แล้วเราก็พบว่ามันช่วยเราได้จริงๆ

GM : ทำงานในฐานะของผู้กำกับหนังศิลปะ แล้วหนังในกระแสคุณสนใจบ้างไหม

อภิชาติพงศ์ : สนใจครับ แต่หลังๆ ไม่ค่อยมีเวลา เพราะทำหนัง ผมชอบหลายคนนะ ชอบหนังของ เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน หนังของสปีลเบิร์กก็ชอบอย่าง ‘War of the World’ ผมชอบดูหนังภัยพิบัติ หนังหายนะ ผมว่ามันคืออนาคตของโลก และฮอลลีวู้ดก็ทำได้ถึงเรื่องสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ มันไม่มีใครสู้ได้อีกแล้ว เราก็ไปชื่นชมเขาตรงนั้น

GM : หนังมีเสน่ห์กว่างานศิลปะแขนงอื่นๆ อย่างไร

อภิชาติพงศ์ : ผมว่างานหนังเป็นศิลปะแขนงใหม่เมื่อเทียบกับศิลปะประเภทอื่นๆ มันกำลังอยู่ในภาวะที่จะหลุดพ้นตัวเองจากศิลปะแขนงอื่นที่เกิดมาก่อนมัน และเป็นการรวมศิลปะหลายๆ อย่างเข้ามาไว้ด้วยกัน ทั้งศิลปะการแสดงแบบละครเวที องค์ความรู้เรื่ององค์ประกอบศิลป์ วิจิตรศิลป์ การใช้สี การจัดฉาก การเล่าเรื่อง ทั้งหมดอยู่ในภาพยนตร์ ความน่าสนใจอยู่ที่ศิลปะภาพยนตร์กำลังอยู่ในช่วงปรับตัว ตอนนี้มันยังติดอยู่

กับการนำเสนอภาพแบบละครเวที มีโครงสร้างของละครแบบเก่า ก็เลยน่าสนใจว่ามันจะไปทางไหนต่อ หนังมันเหมือนสัตว์ที่เปลี่ยนสีได้เร็วมาก โดยเฉพาะหนังอินดี้ หนังกลุ่มนี้เคลื่อนไหวเร็วเพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น สมัยก่อนกว่าจะทำหนังได้เรื่องหนึ่ง ต้องมีอุปกรณ์มากมาย แต่เดี๋ยวนี้แค่มีกล้องมีคอมพิวเตอร์คุณก็ทำจากที่ไหนก็ได้ และหนังก็มีความเป็นกบฏมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งหากรัฐไหนพยายามกดไว้โดยอ้างศีลธรรมของชาติ มันจะยิ่งทำให้หนังอินดี้โตได้เร็วมากขึ้น ดูอย่างประเทศจีนสิ ผมได้คุยกับสื่อต่างประเทศหลายๆ คน เขาตั้งคำถามว่าทั้งๆ ที่ประเทศจีนเป็นประเทศที่รัฐควบคุมห้ามเผยแพร่หนังที่ต่อต้านกับระบอบ แต่ก็ยังมีหนังดีๆ ออกมาให้เราดูมากมายโดยเฉพาะหนังที่สะท้อนปัญหาเรื่องการเมือง แต่ทำไมเมืองไทยที่ดูมีเสรีภาพมากกว่าถึงไม่เห็นมี ผมก็บอกว่า รอหน่อย อีกไม่นานนี้ครับ เชื่อว่ามันจะมีหนังอินดี้แบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน

GM : ในแง่ของการทำหนังศิลปะ มีประเทศไหนในเอเชียที่น่าจับตามองบ้าง

อภิชาติพงศ์ : ถ้าไม่นับญี่ปุ่น ผมว่าไทยนี่ล่ะน่าสนใจ นอกจากไทยก็จะเป็นอินเดีย ต้องบอกว่าอินเดียเขามีโลกของตัวเองเลย แล้วงานศิลปะก้าวหน้ามาก ผมไปเทศกาลหนังที่อินเดียเห็นความ

ตื่นตัวของคนที่นั่น คนเขาอินกับหนังจริงๆ คนอายุห้าสิบหกสิบ ในร้านกาแฟท่าทางเหมือนคนขายถั่วที่เราเห็นในซอยนานา มานั่งถกกันเรื่องปรัชญาหนังฝรั่งเศส คุยกันเรื่องหนังของโกดาร์ด หนังของอันโตนิโอนี่ ซึ่งผมทึ่งมาก

GM : คุณคิดว่าคนดูหนังศิลปะในบ้านเรา มีความเข้าใจในการดูหนังมากขึ้นไหม

อภิชาติพงศ์ : ผมว่าอย่าพูดว่าเรา ‘เข้าใจ’ หรือ ‘ไม่เข้าใจ’ ดีกว่า มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม อย่างคนที่ดูหนังของผม หากเขาไม่เคยดูหนังที่ผมคารวะ หรือว่าไม่มีโอกาสที่จะได้ดูหนังเรื่องก่อนๆ ที่ผมทำก่อนที่จะมาดูเรื่องลุงบุญมีฯ ก็อาจจะไม่เข้าใจ เพราะเราไม่ได้โตมาด้วยกัน ไม่มีพื้นที่สำหรับการหาความรู้หรือทำความคุ้นชินกับหนังแบบนี้ หนังก็เหมือนศิลปะแขนงหนึ่ง มันต้องอาศัยการปรับตัว ทำความเข้าใจและโตไปด้วยกัน

GM : คุณดูละครโทรทัศน์บ้างไหม

อภิชาติพงศ์ : ผมไม่ดูทีวีมานานหลายปีแล้ว บ้านผมที่เชียงใหม่ก็ไม่มีทีวี ผมรู้สึกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่อยู่ในนั้นคือการโฆษณาชวนเชื่อ อาศัยอ่านเอามากกว่า แต่ถ้าจะดูก็จะไปซื้อดีวีดีมาดูเลย แต่ก็ไม่ค่อยได้ดู เพราะดูแล้วติด (หัวเราะ) เอาเวลาไปทำงานดีกว่า เพราะเราก็มีความสุขกับการทำงานของเรา เรารู้ว่าเราต้องการอะไรและทำอะไรอยู่ แต่ผมก็ไม่ได้ต่อต้านนะ แต่รู้สึกว่าตัวเองไม่ถูกจริตกับการดูทีวี

GM : ทุกวันนี้ชีวิตคุณเป็นอย่างไรบ้าง

อภิชาติพงศ์ : สนุก (หัวเราะ) ยังอยากทำหนังไปเรื่อยๆ ได้เจอคนมาก หลากหลาย ได้เปิดมุมมองของตัวเราไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าประเทศไทยมันน่าอยู่ขึ้นทุกวัน แม้เราจะบอกว่าทุกวันนี้ประเทศนี้มันอุบาทว์คูณสาม แต่ว่ามันก็น่าอยู่ เพราะเรามีส่วนร่วมในการสร้างบทบาททางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา แม้ว่ามันจะเจ็บปวดที่เห็นคนในสังคมขัดแย้งกัน แต่ผมว่ามัน healthy นะ เพราะเราก็หนีความขัดแย้งพวกนี้ไม่พ้น และดีใจที่ได้อยู่เห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศ

อย่ามาคิดว่าฉันจะต้องมาเป็นกระบอกเสียงในเรื่องแบบว่า…ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีในแบบที่รัฐต้องการให้เป็น อย่ามาคิดว่าเงินจะมาซื้อศิลปินหรือว่าคนทำหนังได้ นี่คือสิ่งที่อยากบอก รัฐควรทำความเข้าใจเรื่องวัฒน-ธรรมให้มากกว่านี้เราได้อะไรจากการดูหนังอภิชาติพงศ์ ยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับ

“ผมกับเจ้ยได้คุยกันเรื่องของหนังที่อยากทำด้วยกันมานานมากแล้ว เป็นเรื่องของคนข้างลุ่มน้ำโขง จะเป็นหนังเกี่ยวกับไซไฟ เราจะใช้นักแสดงคนเดียวกัน แล้วก็แบ่งเรื่องกันด้วยลำน้ำโขง คือเรื่องเล่าจะคนละฝั่งน้ำ แต่คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับไซไฟแน่ๆ ของเจ้ยนี่ผมไม่รู้ แต่ของผมจะมียานอวกาศแน่ๆ (หัวเราะ) เมื่อไหร่ที่ตัวละครว่ายน้ำข้ามฝั่งมา เรื่องก็จะถูกเปลี่ยนตามผู้กำกับ เรียกว่าฝั่งหนึ่งเป็นของผม ฝั่งหนึ่งเป็นของเจ้ย เป็นเรื่องที่อยากทำ แต่ว่าทั้งผมทั้งเจ้ยก็ยุ่งมาก เราต่างมีโปรเจ็กต์ต้องดู ก็คือว่าจะคุยกันอีกที เพราะมันมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ต้องคิด หนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ทั้งเงินทุน ทั้งโปรดักชั่น ทั้งเรื่องคิวของผมของเจ้ย คิวนักแสดง มันไม่ง่ายแต่ว่าน่าสนุก น่าทำมาก

“การดูหนังไม่ว่าหนังเรื่องนั้นจะห่วยแค่ไหน ผมก็ได้อะไรจากหนังเรื่องนั้นเสมอ แต่การดูหนังเจ้ยมันเหมือนกับผมได้เข้าไปเดินในพิพิธภัณฑ์อีกครั้ง เพราะส่วนตัวผมไม่ได้เดินดูงานศิลปะที่แสดงในประเทศไทยนี่นานมากแล้ว แต่การได้ดูหนังเจ้ยมันให้ความรู้สึกแบบนั้นทุกครั้ง เรียกว่าเป็นงานแบบ Visual Installation เป็นงานภาพยนตร์แบบ Installation น่าเสียดายที่คุณค่าแบบนี้เป็นเรื่องที่ฝรั่งเขามองออก เหมือนกับว่าเราต้องรอฝรั่งมาบอกก่อนว่าไอ้นี่ของดีนะ เราควรดู แสดงว่าคนไทยไม่สามารถรับรู้งาน ‘ดี’ ได้ด้วยตัวเอง ทำไมเราไม่หัดที่จะชื่นชมงานของเราเองก่อนที่จะให้คนอื่นมาบอกเรา และคนที่คิดจะไปดูหนังของเจ้ยเพราะเป็นหนังรางวัลคุณอาจไม่ค่อยได้อะไร เพราะการดูหนังของเจ้ยผมว่าคุณค่าของหนังอยู่ที่การเริ่มต้นทำ คุณต้องรู้เรื่องศิลปะและเปิดใจที่จะไปดูงานศิลปะมากกว่าจะไปดูหนังเพื่อเอาความบันเทิง”

เราเห็นว่าการที่รัฐพยายามรวมชาติ พยายามทำในสิ่งที่เป็นชาติขึ้นมา มันเป็นเรื่องของ Imagine Community เป็นนามธรรมที่ซับซ้อน รัฐเอาเครื่องมือนี้มาปลุกปั่นประชาชน มันไม่เกิดผลดีในระยะยาว

เราได้อะไรจากการดูหนัง อภิชาติพงศ์ สนธยา ทรัพย์เย็น ฟิล์มไวรัส

“กิญแญร์โม่ เดล โตโร่ ผู้กำกับ Pan’s Labyrinth เคยพูดไว้ว่า “มีบางอย่างที่จับต้องไม่ได้ในโลกจริง แต่สัญชาตญาณเรารู้สึกได้ ทางเดียวที่เราจะสัมผัสมันได้ก็มีแต่ศิลปะกับศาสนาเท่านั้น” หนังเจ้ยมีพลังมหัศจรรย์ของความสุขในการมอง ทำให้เรารู้สึกได้ถึงบางสิ่งที่อยู่เหนือพ้นจากเฟรมภาพไป มันมองเห็นความบริสุทธิ์เรียบง่ายและความเหนือจริงที่ผสมรวมอยู่ในธรรมชาติพื้นๆ เพราะเอกลักษณ์ของศิลปะหนังไม่ได้

อยู่ที่บทพูดคมคาย การเล่าเรื่องหักมุม หรือโชว์สไตล์เล่นภาพแปลกๆ เท่านั้น”

โดม สุขวงศ์

ผู้อำนวยการหอศิลปภาพยนตร์

แห่งชาติ (องค์กรมหาชน)

“โดยส่วนตัวผม ผมได้ความปีติ ชื่นชมกับสิ่งที่คุณเจ้ยทำ หนังของคุณเจ้ยมีความเป็นส่วนตัวสูง เรียกง่ายๆ ว่าเขาเห็นนายของหนังเป็นตัวตนของเขาออกมาเหมือนกับนักเขียนที่เป็นนายของ

ตัวหนังสือ หนังของคุณเจ้ยเป็นหนังลักษณะเหมือนหนัง New Wave ของผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ ในฝรั่งเศส คือเล่าเรื่องที่ดูเหมือนผิวเผิน ที่ดูเหมือนขยิบตาก็รู้กันแต่ลึกซึ้ง ในเรื่องของเทคนิค คุณเจ้ยพิถีพิถันมาก แม้รู้ว่ามีการพลิกแพลงบทหรือด้นสดอยู่แต่ก็ละเอียดลออและมองผ่านสายตาของเขาตลอด ดูจบแล้วไม่ต้องไปคุยกับใครก็มีความสุข แต่คนที่ไม่มีแบ็คกราวนด์ในการดูหนังของคุณเจ้ย หรือหนังที่มีการเล่าเรื่องแบบนี้มาก่อน ที่ไม่ใช่การเล่าเรื่องแบบหนังตลาด ไม่ใช่การเล่าที่มีเส้นเรื่องอาจจะอึดอัด เพราะไม่คุ้นเคย จริงๆ การดูหนังของคุณเจ้ยเหมือนการนั่งดูชีวิตคนจริงๆ ที่เราไม่รู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นตอนไหน ถ้าหากเราทำความเข้าใจตรงนี้ เราก็จะเพลิดเพลินไปกับหนังได้ไม่ยาก”

หนังศิลปะไม่จำเป็นต้องนำเสนอหรือสื่ออะไรออกมาเพียงด้านเดียวเท่านั้น ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะได้พูดหรือแสดงความคิดเห็นออกมาก่อน เมื่อผมทำแล้วคุณไม่ชอบ คุณออกมาประท้วง ผมโอเคนะ ผมชอบ ผมคิดว่ามันจะทำให้สังคมแข็งแรง

เราได้อะไรจากการดูหนัง

อภิชาติพงศ์

อุทิศ เหมะมูล นักเขียนซีไรต์

“หนังของคุณอภิชาติพงศ์ทำให้เห็นว่าหนังสามารถมีได้มากกว่าความบันเทิง หนังคือศิลปะ และผมว่าเขาก็โดดเด่นที่สุดในบรรดาคนทำหนังศิลปะในประเทศไทยตอนนี้ ถ้าถามผมว่าได้อะไร…มันได้อยู่แล้ว แต่ที่ ‘รู้สึก’ เลยก็คือความรัก ความจริงใจ ความเปิดเผยที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะฉากที่เราเห็นทั้งผี วิญญาณ คน หรือตัวประหลาดมาอยู่ร่วมในพื้นที่เดียวกัน มันทำให้เราเห็นว่าพื้นที่ที่หนึ่งในโลก

ใบนี้ไม่ได้เป็นของมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว มันมีหลายมิติ หลายชั้น และหลายสิ่งที่ใช้พื้นที่นี้อยู่ในเวลาเดียวกัน และอาศัยอยู่ร่วมกันได้ หนังทำออกมาได้เป็นธรรมชาติและ ‘ธรรมดา’ จนทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด และคุณอภิชาติพงศ์ได้มองและถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี”

ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล คนทำหนัง

“ทุกครั้งที่ดูหนังของเจ้ย สิ่งที่ได้รับคือสิ่งเดียวกับที่ดิฉันได้รับเมื่อตอนได้ดูงานของเขาเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 12 ปีก่อน

“ตอนนั้นดิฉันกำลังอำนวยการผลิตภาพยนตร์อยู่เรื่องหนึ่ง มีคนทำเสียงภาพยนตร์ที่ทำงานกับเจ้ยนำส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ ที่เจ้ยกำลังทำอยู่มาให้ชม ความรู้สึกที่แวบขึ้นมาครั้งแรก คือความประทับใจและภูมิใจว่าเรากำลังจะได้เข้าไปสัมผัสกับโลกที่พิเศษ จริงใจ ที่สำคัญคือสนุกและน่าติดตาม ความสนุกในการดูหนังเจ้ยนั้นเกิดจากการที่เราได้รับการกระตุ้นให้จินตนาการเราเปิดกว้างอยู่ตลอดเวลาในภาษาหนังที่เรียบง่าย และไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อนค่ะ”

บ้านเรายังไม่มีนักแสดงมืออาชีพจริงๆ นักแสดงไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการเล่นหนังให้เราเรื่องเดียวเป็นเวลาครึ่งปี เขาก็ต้องไปทำอย่างอื่น ไปออกเกมโชว์ ไปถ่ายแบบ เป็นเรื่องของการหาเลี้ยงชีพของเขา

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ