fbpx

อนุสรณ์ ติปยานนท์

ในโลกสองใบของนักเขียนเอ่ยชื่อ อนุสรณ์ ติปยานนท์ หนอนหนังสือหลายคนคงรู้จักดีในฐานะนักเขียนฝีมือดีที่มีลีลาและสำนวนการเขียนอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ด้วยชุดอักษรที่เต็มไปด้วยความลึกลับวูบไหว แฝงอารมณ์เปลี่ยวเหงาท่ามกลางบริบทรอบตัวอันแปลกแยก ที่ปรากฏในงานเขียนชิ้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย ‘ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ’ และ ‘8 1/2 ริกเตอร์ การตามหาหัวใจที่สาบสูญ’ หรือ รวมเรื่องสั้น ‘H2O ปรากฏการณ์แตกตัวของน้ำบนแผ่นกระดาษ’ ที่นอกจากจะทำให้อนุสรณ์มีแฟนนักอ่านเหนียวแน่นจำนวนหนึ่งแล้ว งานเขียนของเขายังได้รับการยกย่องและชื่นชมว่ามีความใกล้เคียงกับงานเขียนของ ฮารูกิ มุราคามิ (Haruki Murakami) นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่มีแฟนนักอ่านให้การติดตามทั่วโลกถึงขนาดที่เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘มุราคามิเมืองไทย’ เลยทีเดียว

ล่าสุด ‘เคหวัตถุ’ (Household Objects) รวมเรื่องสั้นเล่มที่สองที่หยิบจับข้าวของเครื่องใช้ในบ้านมาเล่าเรื่องของเขา ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลซีไรต์ประจำปี 2551 แม้จะพลาดรางวัลไป แต่ดูเหมือนในบรรดารายชื่อรวมเรื่องสั้นที่เข้าชิงด้วยกัน ‘เคหวัตถุ’ ของอนุสรณ์นั้นมีความแปลกใหม่และท้าทายผู้อ่านมากที่สุด GM จึงสนใจใคร่พูดคุยกับนักเขียนหนุ่มคนนี้ คนที่เราเห็นว่ายืนนำอยู่หน้ากระแส ลุ่มลึก ครุ่นคิด มีวิถีชีวิตแบบคนเมือง และถือเป็นผู้ชายแบบ GM คนหนึ่งโดยแท้ที่สำคัญ งานเขียนของอนุสรณ์ยังชนะใจนักอ่านหลายๆ คน บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อสะท้อนความคิดของนักเขียนที่น่าจับตามองที่สุดอีกคนหนึ่งของประเทศนี้ออกมาให้ผู้อ่านได้รับรู้กันในฐานะที่นักเขียนเป็นคนเพียงไม่กี่กลุ่มที่เดินทางสลับไปมาระหว่างโลกภายในและโลกภายนอก โลกที่คิดเห็นกับโลกที่เป็นอยู่จริง-ซึ่งบางที,นักเขียนเองก็อาจแยกมันไม่ออกแล้วอะไรเล่า คือสิ่งที่นักเขียนอย่างอนุสรณ์พบเจอตลอดการเดินทางนี้ !

อนุสรณ์ ติปยานนท์ จบการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมจาก University College London และด้านออกแบบอุตสาหกรรมจาก Domus Academy Italy เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก่อนจะลาออกมาเขียนหนังสือ

GM : คุณบอกว่าบางทีคุณก็แยกโลกในหัวกับโลกจริงๆ ไม่ออก เป็นเพราะอะไร

อนุสรณ์ : ผมเป็นอย่างนี้มาสองสามเดือนแล้ว หลงๆ ลืมๆ ตลอด อาจเป็นเพราะผมจดจ่อกับสิ่งที่เขียนจนหลุดเข้าไปในอีกโลกหนึ่ง คล้ายๆ กับว่าโลกความจริงกับโลกสิ่งที่เราสร้างขึ้นมามันคละกันอยู่ในหัวผม มันเลยมีอาการสับสนพอสมควร ผมเพิ่งมาเป็นอย่างนี้นะ เมื่อก่อนตอนเขียนหนังสือแรกๆ ไม่ค่อยเป็น

มันก็คงเหมือนกับที่คุณหัดขับรถใหม่ๆ ยังไม่คล่อง คุณก็ต้องประคองตัว ขับแต่ในซอยบ้านเรา พอเราขับคล่องขึ้นเราก็อยากออกไปถนนใหญ่ขึ้นหรือว่าขับรถไปต่างจังหวัด ความรู้สึกผจญภัยส่วนหนึ่งมันก็ทำให้เรารู้สึกดี อีกส่วนหนึ่งมันก็ทำให้เรารู้สึกว่าทุกอย่างรอบๆ ตัวมันกว้างใหญ่ เขียนหนังสือมันก็เป็นอย่างนั้น แรกๆ เราก็เขียนแบบประคองตัวไป พอเขียนไปเรื่อยๆ พบเห็นอะไรหรือไปอ่านหนังสืออะไร เราก็คิดว่ามันมีเทคนิคที่น่าสนใจนำมาใช้ได้หมดเลย หรือไม่ก็มีข้อมูลที่น่าเอามาใช้เต็มไปหมดเลยทีนี้พอเขียนมากๆ เข้า ผมก็งง บางทีแยกไม่ออกว่าที่เห็นเป็นภาพจริงๆ หรือเป็นภาพที่อยู่ในหัวผมกันแน่

GM : คุณกำลังบอกว่าโลกการเขียนหนังสือของคุณกว้างขึ้นหรือ

อนุสรณ์ : มันกว้างในแง่ของโลกภายนอก ก็อย่างที่บอก สิ่งต่างๆ มันเริ่มกลายเป็นวัตถุดิบที่เอามาใช้ได้ เช่นสมัยก่อนผมอ่านวารสารวิทยาศาสตร์อย่าง Discover แล้วรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับผม แต่วันนี้พอเจอข่าวการค้นพบไวรัสตัวใหม่ๆ ผมก็รู้สึกว่ามันน่าเอามาเขียนหนังสือจัง ทุกอย่างมันแทบจะถูกดึงเข้ามาหาตัว นี่คือการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกส่วนโลกภายในมันก็จะรู้สึกโดดเดี่ยว เหมือนกับว่าเรามั่นใจกับสิ่งที่เราทำมากขึ้น ยิ่งมั่นใจมากขึ้นมันก็ยิ่งโดดเดี่ยวมากขึ้นด้วย คุณเริ่มมองเห็นแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวคุณ นานเข้ามันก็ทำให้เราตัดขาดจากโลกภายนอก พูดภาษาชาวบ้านคือเหมือนจะพูดกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ผมอาจ

นิ่งเงียบ อยู่ในอีกโลกหนึ่ง แต่ผมไม่ได้ตัดขาดไปเสียทีเดียว มันเป็นภาวะที่ค่อยเป็น ค่อยไป

GM : หรือว่าคุณไม่พยายามที่จะเชื่อมต่อกับโลกแห่งความจริง

อนุสรณ์ : ผมว่าไม่ใช่หรอก สมมุติคุณชอบทำอาหาร มันจะมี Movement หนึ่งที่คุณจะไม่สนเลยว่าคนอื่นมองคุณยังไง หรือคุณจะทำมันยังไง เช่นคุณอาจจะหยิบผักนู่นผักนี่มาทำเป็นอาหาร คุณไม่แคร์ตำราทั้งหมด นี่ก็คือการตัดขาดจากโลกความเป็นจริง หรือถ้าคุณเล่นฟุตบอลมันจะมี Movement หนึ่งที่เหมือนว่าคุณกำลังเลี้ยงลูกโดยที่คุณมองไม่เห็นคนดูเลย มันหายไปหมด เหลือแต่สนามกับคู่แข่ง ผมว่ามันเป็นภาวะที่ผมก็อธิบายมันลำบาก แต่ว่าผมรู้สึกได้

GM : แล้วรู้สึกดีไหม

อนุสรณ์ : คือเราต้องยอมรับมัน ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดี แต่ผมรู้สึกตื่นเต้นกับมัน และคิดว่าจะจัดการกับมันยังไง การหลุดเข้าไปในอีกโลกหนึ่งที่ผมเขียนมันขึ้นมาหรือผมกำลังจะเขียนมันขึ้นมา มันเป็นภาวะแปลกประหลาด ประเด็นก็คือสิ่งที่คุณสร้าง มันก็สร้างคุณด้วย สมมุติเราบอกว่าเราตรัสรู้อย่างที่เซนบอก การตรัสรู้นั่นแหละที่ทำให้เราเป็นเรา มันกลายเป็นวัฏจักรซึ่งกันและกัน คุณเขวี้ยงลูกบอลไป ลูกบอลก็กระเด็นกลับมา มันเป็นแรงโต้ตอบ ผมทำงานวรรณกรรม มันก็ต้องมีการโต้ตอบภายในแม้โลกข้างนอกมีแนวโน้มว่าจะหายไปเรื่อยๆ แต่โลกข้างในมันใหญ่ขึ้น มันมีผลต่อการสนองตอบ ผมว่าสิ่งที่เป็นหลักของมนุษย์ก็คือการเชื่อมโลกข้างนอกกับข้างในตัวคุณ ข้อมูลต่างๆ ที่คุณรู้สึกหรือประทับใจ จริงๆ แล้วมันก็คือการเชื่อมสิ่งที่อยู่ในตัวคุณกับข้างนอกยกตัวอย่างเช่นภาพวาดของโมเนต์ ถ้าคุณไม่เคยไปฝรั่งเศส ถ้าคุณไม่เคยเห็นฝีแปรงของโมเนต์ คุณก็ดูรูปในฐานะที่มันเป็นรูปวาด มีฝีแปรงปาดๆ ไป แต่ถ้าคุณได้ไปเห็นของจริง แล้วคุณจะรู้สึกเชื่อมโยงกับมันได้ มันเป็นการมองเห็นภาวะหนึ่งของแสงขณะนั้นในสถานที่นั้นและรู้สึกสิ่งนั้น

GM : การติดอยู่ในโลกภายในของคุณมีผลต่อชีวิตประจำวันบ้างไหม

อนุสรณ์ : ชีวิตประจำวันมันดำเนินไปได้ ไม่มีปัญหา มันไม่ใช่เรื่องแปลกนะ นักคิดจำนวนมากก็เป็นอย่างนี้ เมื่อคุณสร้างโลกภายนอกของคุณจนแข็งแรง คุณเชื่อมันมากๆ จนหยุดไม่ได้ มันก็จะ Absorb ตัวคุณ พอคุณถูกดูดกลืนมากๆ ตัวตนก็จะหายไป

ถ้าคุณยังจำนวนิยาย South of the Border, West of the Sun ของ ฮารูกิ มุราคามิ ได้ มันเป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่พยายามหาผู้หญิงขาเสียคนหนึ่ง แล้วเขาก็ได้รับเงินจากใครสักคนแล้วบอกว่าอย่าตามผู้หญิงคนนี้อีก แล้วผู้หญิงก็หายตัวไป ทุกอย่างที่เกี่ยวกับผู้หญิงคนนี้ก็หายไปหมด คำถามก็คือว่า สิ่งที่เขาเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับผู้หญิงคนนี้มีอยู่จริงหรือเป็นโลกที่เขาสร้างขึ้นมาเอง ทำไมเราถึงรู้สึกว่ามันแรงนัก ผมว่าภาวะอย่างนั้นอาจจะไม่มีจริงก็ได้นะ แต่เนื่องจากพลังของการเล่าและสิ่งที่เขาประสบมันแรงจนกระทบเรา และโน้มน้าวให้เราเชื่อผมว่ามนุษย์ทุกคนมันก็มีภาวะอย่างนี้ มันเหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้คุณมีชีวิตอยู่ การสร้างโลกขึ้นมาเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่น่าสนใจคือเราจะควบคุมมันยังไงต่างหาก อย่างในตอนจบของนวนิยายเรื่องนี้ ตัวเอกก็ยอมรับว่าเขากลับมาสู่ชีวิตจริง เขาบอกว่าในที่สุดแล้วสิ่งที่เขาได้ยินมันไม่จริง ผมยังจำประโยคสุดท้ายได้ว่าภรรยาเขาตื่นขึ้นมาแล้วเขาได้ยินเสียงธรรมชาติ เหมือนกับว่าในที่สุดมันได้กลับมาสู่ธรรมชาติแล้วนะ

ผมพยายามคิดประโยคสุดท้ายนี้อยู่นานว่าทำไมถึงเขียนอย่างนั้น คือโตเกียวมันมีทะเล เขาอาจจะได้ยินเสียงทะเลที่มากระทบโตเกียว ซึ่งจริงๆ มันไกลมาก แต่ผมว่านี่แหละโลกของความเป็นจริงแต่ถ้ามันก็เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาอีก มันก็เป็นเรื่องของความรู้สึกที่คุณ Absorb เข้ามา มันตีความได้หลากหลายมาก และก็อาจจะไม่ได้มีความหมายอะไรเลยก็ได้ มันแล้วแต่คุณจะตีความน่ะ นี่แหละสิ่งที่โดดเด่นของมูราคามิหรือแม้แต่งานของ หว่อง คาร์-ไว

GM : สิ่งเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานแบบกระแสสำนึกหรือเปล่า

อนุสรณ์ : ผมไม่แน่ใจนะ และไม่อยากใช้คำว่าเป็นอารมณ์ร่วมสมัย ผมอยากใช้คำว่ามันเป็นโรคติดต่อของคนในยุคนี้ ที่งานวรรณกรรมหรืองานศิลปะมันต้องมีปลายเปิดมากๆ เขาอาจจะสร้างโลกเฉพาะขึ้นมาก็จริง แต่ว่าทุกอย่างมันเปิดหมด คุณสามารถตีความอะไรก็ได้แล้วแต่คุณ ภาพยนตร์ของ หว่อง คาร์-ไว อย่าง 2046 คุณแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตกลงพระเอกได้เจอนางเอกไหม

GM : มันสะท้อนสังคมยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปไหม เพราะว่าวรรณกรรมสมัยก่อนไม่มีลักษณะนี้

อนุสรณ์ : วรรณกรรมสมัยก่อนมันเป็นสัจนิยมที่แข็งแกร่ง เป็นการเซตหรือการจัดตั้งองค์ความคิดแบบหนึ่งให้คุณนำไปปฏิบัติ เช่นปลุกเร้าการปฏิวัติในเรื่อง แม่

ของ แม็กซิม กอร์กี้ หรืองานของ อันตอน เชคอฟ ที่เน้นให้เห็นความทุกข์ยากของคนที่ถูกกระทำ แต่ผมว่าวรรณกรรมยุคใหม่มันไม่ได้พูดถึงสิ่งเหล่านี้แล้ว มันมีแนวโน้มที่จะพูดถึงแรงปะทะของโลกภายในและโลกภายนอกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เราจะไม่พูดว่าปัจเจกกับมวลรวม หรือปัจเจกกับสังคมโดยรวม แต่ผมว่าแรงปะทะระหว่างภายในกับภายนอกแทบจะเป็นแก่นสำคัญของหลายๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนี้

GM : เป็นเพราะโลกปัจจุบันหมุนเร็วขึ้นหรือเปล่า

อนุสรณ์ : ผมเห็นด้วยว่าโลกข้างนอกมันวิ่งเร็ว และทำให้โลกภายในกับโลกภายนอกของมนุษย์เหมือนจะถูกฉีกขาดออกจากกัน คุณคิดดูว่าโลกปัจจุบันในปีหนึ่งๆ มีเหตุการณ์ที่เราต้องจดจำมากเหลือเกิน ยุบยิบไปหมด อย่างปีนี้เราก็ต้องจดจำว่าใครเป็นแชมป์ฟุตบอลยูโร ใครได้เหรียญทองมากที่สุดในโอลิมปิก เราต้องจำเหตุการณ์เกี่ยวกับความขัดแย้งต่างๆ มันมีเรื่องที่ต้องคิดเยอะ แต่โลกในยุคของ แม็กซิม กอร์กี้ ผมเชื่อว่าสิ่งต่างๆ มันไม่เยอะ ไม่ท่วมท้นขนาดนี้ เขาก็เลยสร้างวรรณกรรมสัจนิยมเหล่านั้น

GM : คุณคิดว่าในโลกแบบปัจจุบันนี้ หน้าที่ของวรรณกรรมคืออะไร

อนุสรณ์ : ผมว่าหน้าที่ของวรรณกรรมก็คือการดึงปกเสื้อหรือกระชากคอของมนุษย์ให้จำเฉพาะสิ่งที่มันมีคุณค่า สิ่งที่มีคุณค่าคืออะไร ผมว่าสิ่งที่มันเป็นคุณค่าจริงๆ มันก็น่าจะเหลืออยู่สักสองประเด็นประเด็นที่หนึ่งคือคำถามที่ว่าคุณคือใคร ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์เป็นประเด็นที่ผมว่าวรรณกรรมทำหน้าที่นี้อย่างแข็งแรงมากกว่า 100 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าคุณจะเป็นชาย เป็นหญิง เป็นคนชายขอบ หรือคนประเภทใดก็แล้วแต่ ล้วนแล้วแต่มีวรรณกรรมที่รองรับความเป็นคุณประเด็นที่สองคือวรรณกรรมสมัยใหม่มันไม่ได้บอกว่าคุณจะใช้ชีวิตยังไง ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่บอกว่าคุณต้องมีชีวิตที่ดีงาม คุณต้องอุทิศตัวเพื่อมวลชน แต่วรรณกรรมยุคนี้มันบอกผมว่า ชีวิตที่คุณมีหรือว่าชีวิตที่คุณเลือกนั้นน่ะ มันมีจุดอ่อนจุดแข็งยังไง มันเปราะบาง มันหนักแน่นขนาดไหน เหมือนอย่างเรื่อง Norwegian Wood ที่พระเอกกำลังจะขึ้นเครื่องบินเดินทางไปคุยธุรกิจที่เยอรมัน แล้วก็ Flashback ไปในอดีต มันเริ่มมีการตั้งคำถามกับชีวิตที่ผ่านมา มันเวิร์กไหม เมื่อเทียบกับชีวิตสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมว่าวรรณกรรมเริ่มตั้งคำถามว่าพื้นที่ชีวิตคุณผิวบาง เรียบ ขรุขระ ขนาดไหน ตั้งคำถามถึงเนื้อแท้ของชีวิตที่เราเรียกว่า Information of Life

GM : ถือเป็นภาระและบทบาทของนักเขียนยุคใหม่ได้ไหม

อนุสรณ์ : นักเขียนรุ่นนี้กับรุ่นก่อนมันมีเรื่องยากไปคนละแบบ นักเขียนสมัยนี้ไม่ต้องทำให้มวลชนศรัทธาหรือซาบซึ้งเหมือนนักเขียนรุ่นก่อน เรื่องที่ยากของนักเขียนรุ่นใหม่ก็คือคุณต้องทำงานหนักมากเพื่อที่จะย่อยรูปแบบของชีวิต ย่อยความเป็นอัตลักษณ์ลงในกระดาษไม่กี่หน้า เพื่อที่จะบอกว่าคุณได้สังเคราะห์ชีวิตกับ

อัตลักษณ์แบบนี้นักเขียนกลายเป็นเครื่องบดเนื้อขนาดจิ๋วที่เอาอะไรมาใส่ลงไปแล้วก็บด บดแล้วก็เอาออกมาวางให้คนดู ในขณะที่สมัยก่อนนักเขียนคือคนทำแซนด์วิช คนทำฮอตดอก แต่ตอนนี้คุณทำของสำเร็จรูปแบบนั้นไม่ได้แล้ว คุณมีหน้าที่อย่างเดียวคือบดชีวิตออกมา แต่ว่าการบดของคุณต้องมีศิลปะ ผมรู้สึกว่านักเขียนยุคใหม่มันมีการเรียกร้องสูง นักเขียนต้องเข้าใจทุกอย่างที่เป็นไปในโลก ผมไม่เคยเห็นนักเขียนยุคไหนทำงานหนักเท่านักเขียนยุคนี้เลยนะคุณดูงานของ ออร์ฮัน พามุค (Orhan Pamuk) เรื่อง My Name Is Red ที่เขาถูกยกย่องสิ คุณจะพบว่ามันบดประวัติศาสตร์ของอาณาจักรออตโตมัน บดความขัดแย้งของมุสลิมกับความเชื่ออื่นๆ เช่นอธิบายว่าทำไมพระเจ้าหรือพระนบีมูฮัมหมัดถึงรังเกียจสุนัข ซึ่งนี่เป็นคำถามที่เล็กแต่ลึกซึ้งมากของคนมุสลิมเลยนะ แล้วยังบดวิธีเล่าเรื่องแบบใช้สารพัดสรรพนามอีก

GM : งานวรรณกรรมสมัยก่อนอาจจะพูดถึงเรื่องคลาสหรือชนชั้น แต่ว่าเดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาเป็นเรื่องของข้างใน-ข้างนอก คุณคิดว่านักเขียนยังทำหน้าที่เดิม คือสะท้อนในสิ่งที่โลกเป็นอยู่ออกมาไหม

อนุสรณ์ : ผมใช้คำว่ามันไปท้าทาย จริงๆ แล้วมันมีปรัชญาจำนวนมากที่อธิบายสิ่งเหล่านี้ เช่นลัทธิ Decon-struction หรือการรื้อถอนโครงสร้างนิยม แต่ผมมีความรู้สึกว่าถ้ามองโดยสายตาธรรมดาไม่ยึดหลักปรัชญา จะพบว่าการที่กระแสมันเคลื่อนตลอดเวลานั้นทำให้การเขียนเพื่ออธิบายโลกข้างนอกมันยากมาก ตอนนี้โลกข้างนอกมันใหญ่ แต่โลกข้างในผมว่ามันกลับเป็นจุดที่ยากกว่า

ผมอ่านวรรณกรรมในประเทศไทยแล้วรู้เลยว่าวรรณกรรมของเราละเลยการให้ความสำคัญโลกข้างในมานานมาก โดยเฉพาะช่วงที่เรามุ่งหน้าไปสู่วรรณกรรมเพื่อชีวิต เราไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าที่แท้แล้วชาวบ้านหรือชาวไร่ ชาวนาเขามีโลกข้างในหรือเปล่า เพราะเรามัวแต่พูดถึงปัญหาอื่นๆ ที่กลายมาเป็นสูตรสำเร็จทางวรรณกรรม ผมว่านี่คือจุดที่เราจะต้องมองให้ชัดแจ้งมากขึ้น

GM : แปลว่าวรรณกรรมไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ภายใน แล้วมันจะทำให้คนไม่รู้จักโลกข้างในของตัวเองด้วยหรือเปล่า

อนุสรณ์ : ผมว่าปัจจุบัน ชนชั้นกลางในสังคมไทยรู้จักข้างในตัวเองพอสมควรนะ แต่ขณะเดียวกันเขาไม่สามารถหาอะไรมายืนยันหรือมาพูดแทนเขาได้เลย หยิบวรรณกรรมเรื่องไหนขึ้นมา มันก็ไปพูดเรื่องอื่น มันไม่ใช่สิ่งที่ดังอยู่ในหูของเขา อยู่ในความรู้สึกข้างในเขา นี่คือจุดที่ผมว่าเป็นปัญหา เพราะว่าเรายังเชื่ออยู่เสมอว่าวรรณกรรมมันต้องสะท้อนสังคม แต่ที่บอกว่าสังคมน่ะสังคมอะไรล่ะ สังคมสำเร็จรูป สังคมที่เราอยากให้มันเป็นตามอุดมคติ ตามความเชื่อแบบสำเร็จรูปหรืออะไร ทีนี้โลกข้างในของคนจำนวนมากที่ไม่เชื่อเรื่องของข้างในแบบนั้นอยู่แล้ว มันก็ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวขึ้นเรื่อยๆ มันไม่มีคนมาพูดแทน

GM : พูดง่ายๆ ว่าวรรณกรรมไทยอาจจะแคบไปสำหรับโลกยุคใหม่

อนุสรณ์ : ผมไม่ใช้คำว่าแคบนะ ถ้ามองวรรณกรรมไทยเป็นรถไฟขบวนหนึ่ง เราต้องใช้คำว่า เรามุ่งหน้าไปสู่ตำบลเล็กๆ ซึ่งมันก็ดี มีคุณค่า แต่มันไม่ใช่รถไฟขบวนหลักที่จะเป็นตัวแทนของสังคม วรรณกรรมที่เคลื่อนไหวอยู่จำนวนมากมันเป็นการรักษาไว้ซึ่งความเชื่อด้านวรรณกรรม แต่มันไม่ได้เขียนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ที่เป็นแง่มุมของวรรณกรรมมันเหมือนกับว่าผมมีปัญหาบางเรื่อง มีความในใจบางเรื่องแล้วไม่มีวรรณกรรมเรื่องไหนมาสัมผัสเราได้เลย คุณจะเห็นว่าเราเกิดสึนามิปี ’47 เราเกิดปฏิวัติปี ’49 แล้วปีนี้จะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ แต่เรากลับไม่มีวรรณกรรมที่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เลย ไม่ต้องพูดถึงเป็นเล่มด้วยซ้ำ เอาแค่เรื่องสั้นบางเรื่องก็ยังไม่มี เทียบกับเรื่องแผ่นดินไหวที่โกเบซึ่งทำให้เกิดวรรณกรรมจำนวนมากมาย เช่นงานของมุราคามิ นั่นเป็นตัวอย่าง ผมว่าปัญหานักเขียนเราคือขาดความไวในการสื่อสารกับคน ความไวในการรับสิ่งกระทบจากปรากฏการณ์รอบๆ ตัว มันไม่ได้ถูกแปรรูปออกมาเป็นวรรณกรรม

GM : นักเขียนไทยก็ยังให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่าอย่างอื่นหรือเปล่า

อนุสรณ์ : ผมว่าให้ความสำคัญกับสูตรสำเร็จของวรรณกรรมมากกว่า เวลาเราพูดถึงวรรณกรรม พื้นฐานของมันก็คือเรื่องเล่า อย่างแรกเลยคือคุณต้องศรัทธาพลังของเรื่องเล่า แล้วคุณก็มีชุดคำอธิบายเรื่องที่คุณจะเล่า คุณจะเล่ามันด้วยสรรพนามอะไร เล่ามันด้วยน้ำเสียงยังไงก็แล้วแต่ แต่คุณต้องศรัทธาวรรณกรรม ศรัทธาเรื่องเล่าของคุณ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือนักเขียนจำนวนมากเอาเรื่องเล่าหรือชุดคำพูดแบบเก่าๆ มาเล่าเรื่องใหม่ ถึงแม้ว่าตัวเรื่องที่จะเล่ามันใหม่ แต่เสียงที่เล่ามันเป็นเสียงซึ่งอธิบายอะไรในยุคนี้ไม่ได้เลย มันตกร่องไปแล้ว

GM : พูดง่ายๆ ว่าล้าสมัยแล้ว

อนุสรณ์ : มันคงไม่ใช่ความล้าสมัย แต่หมายถึงว่าชุดของการเล่าเรื่องมันไม่ข้องเกี่ยวกับคนอ่านอีกต่อไป

GM : หรือมันเกี่ยวกับบริบทที่เปลี่ยนไปด้วย

อนุสรณ์ : คือเรื่องบริบทมันอาจจะมีอยู่ เช่นผมเป็นคนที่เชื่อวิธีการเล่าเรื่องความขัดแย้งระหว่างชนชั้น มันก็สามารถเล่าเรื่องได้โดยเอาเหตุการณ์ของสึนามิมาจับ เช่นความขัดแย้งระหว่างชนเผ่ามอแกนกับคนที่เข้ามาช่วย แต่คุณต้องเชื่อก่อนว่ามันเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้น คุณต้องลงไปสู่โลกข้างในของคนมอแกน ไม่ใช่เล่าด้วยน้ำเสียงหรือการเซตตัวละครขึ้นมาตามสูตรสำเร็จที่เราอยากให้มี

GM : ถ้าเป็นอย่างนั้นแปลว่าเราอาจจะไม่มีนักเขียนที่ทำความเข้าใจกับสังคมจริงๆ แต่มีนักเขียนสูตรสำเร็จมากขึ้น มีงานวรรณกรรมที่เป็นสูตรสำเร็จมากขึ้น

อนุสรณ์ : วรรณกรรมมันเป็นเรื่องของจินตนาการ และจินตนาการมันคือการสร้างโลก การสร้างโลกนี่แหละที่ผมบอกว่ามันเป็นการสร้างโลกข้างใน-ข้างนอก ว่าคุณจะจัดการกับมันยังไง เพราะฉะนั้นถ้าตัวนักเขียนไม่รู้สึกว่ามันมีความขัดแย้งระหว่างโลกข้างในกับโลกข้างนอก มันก็จะเป็นแค่การหยิบจับของสิ่งที่มีอยู่แล้ว มาจัดองค์ประกอบใหม่เท่านั้นเอง แล้วก็บอกว่านี่คือวรรณกรรม มันไม่ได้เกิดการสร้างชุดของเรื่องเล่าขึ้นมา เช่นมันมีตัวละครที่เป็นนายทุน ผมถามว่านายทุนของคุณคืออะไร แบบไหน ทุนนิยมของคุณคืออะไร ทุนนิยมข้ามชาติคืออะไร ทุนนิยมปัจเจกเป็นยังไง ทุนนิยมบรรษัทเป็นยังไง ผมว่าเขาไม่ได้ตีความลึกไปถึงสิ่งเหล่านั้นเลย เขาเพียงแต่มองว่านายทุนก็ต้องเป็นอย่างนี้ คนชั้นล่าง คนรากหญ้าก็ต้องเป็นอย่างนี้ เป็นการมองที่เป็นมายาคติ เป็นสูตรสำเร็จคนในสังคมเราชอบมองสิ่งต่างๆ เป็นสูตรสำเร็จ เป็นมายาคติ แม้แต่เรื่องพุทธประวัติก็ยังมองแบบมายาคติ เราจะชอบฉากที่พระพุทธเจ้าประสูติออกมาจากพระนางยโสธราแล้วก็เดินไปบนดอกบัว เราชอบเรื่องนั้น แต่เราไม่สนใจเลยว่าช่วงเวลา 6 ปีที่พระพุทธเจ้าออกค้นคว้าในป่ามันเป็นยังไง ซึ่งผมว่าเรื่องนี้มันคือเรื่องจริงนะ ลองคิดดูสิว่าถ้าสมมุติมีคำทำนายว่าคุณต้องตรัสรู้แน่ๆ แล้วทำไมคุณจะต้องไปเสียเวลาในป่าตั้ง 6 ปี คุณก็รออยู่ในวังก็ได้ เพราะว่ามันถูกทำนายเรียบร้อยแล้วว่าคุณตรัสรู้แน่ๆความจริงคือพระพุทธเจ้าได้แสวงหาอย่างลึกซึ้งถึง 6 ปี การทำงานของพระพุทธศาสนามันคือการแสวงหา แต่ในบ้านเราพุทธศาสนาที่ประสบความสำเร็จมากๆ คือพุทธศาสนาสำเร็จรูป คุณไปในวัดซึ่งมีการจัดตั้งเรียบร้อยแล้ว แค่การจัดรูปแบบก็ทำให้คุณได้รู้สึกว่าคุณหยั่งลึกไปถึงพุทธศาสนา ทั้งที่คุณอาจจะไม่แสวงหาอะไรเลย ผมว่ามายาคติ ของเราในเรื่องของความสำเร็จรูปเป็นมายาคติที่ใหญ่มาก

GM : แต่ก็ยังมีคนที่พยายามไม่ทำตามสูตรสำเร็จอยู่บ้าง โดยเฉพาะคนในวงการวรรณกรรม

อนุสรณ์ : ก็มีนะอย่าง ปราบดา หยุ่น ทินกร หุตางกูร ก็โอเค หรืออย่าง ศิริวร แก้วกาญจน์, นราวุธ ไชยชมภู ผมเห็นคนรุ่นหลังจำนวนหนึ่งนะที่ไม่เชื่อคำอธิบายที่เป็นสูตรสำเร็จ แต่มันยังน้อยไป หรือใช้คำว่าขาดแคลนดีกว่า เพราะว่าวรรณกรรมแบบเดิมมันอธิบายอะไรหลายๆ อย่างไม่ได้แล้ว คุณอาจจะเก็บมันไว้ได้ แต่คุณต้องเหลือพื้นที่ให้วรรณกรรมหลายๆ แบบมาอธิบายสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย

GM : การเอาของใช้ในบ้านมาเขียนเป็นเรื่อง ใน ‘เคหวัตถุ’เป็นความพยายามรื้อถอนหรือปฏิเสธสูตรสำเร็จอย่างหนึ่งหรือเปล่า

อนุสรณ์ : ผมกลัวคำว่ารื้อถอนมากเลย จริงๆ ‘เคหวัตถุ’ มันเป็นการตั้งโจทย์เล็กๆ นะ ผมตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วอัตลักษณ์ของมนุษย์มันเกิดจากของที่เขาบริโภคหรือว่าเกิดจากตัวเขาเอง เรายืนยันความเป็นมนุษย์ได้ด้วยสิ่งของข้างนอก ให้คุณค่ากับโลกข้างนอกหรืออะไรกันแน่ มันเป็นการตั้งคำถามว่าโลกข้างนอกใหญ่กว่าโลกข้างในของคุณหรือเปล่า

ถ้าถามว่าปณิธานในการเขียนของผมคืออะไร ผมรู้สึกว่ามันคือการพิจารณา มายาคติจำนวนมากในสังคมไทยเข้าไปท้าทายมัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ‘8 1/2 ริกเตอร์’ ที่ท้าทายมายาคติอย่างน้อยสองข้อ มายาคติแรกคือ สิ่งที่เราเชื่อกันเสมอว่าชีวิตมันถูกกำหนดแล้ว เราต้องมีคู่แท้แน่นอน มีพรหมลิขิตที่อุบัติขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะผู้หญิงจำนวนมากที่เชื่อมากเลยว่าเรามีคู่แท้ มายาคติแบบนั้นซึ่งถูกสร้างขึ้นมาได้ยังไง มายาคติที่สองก็คือเรื่องที่เล็กลงมาคือเรื่องที่ฐานทัพญี่ปุ่นฝังมีดทองคำไว้เป็นมายาคติทางประวัติศาสตร์

ผมคิดว่ามายาคติทางประวัติศาสตร์กับมายาคติเกี่ยวกับความเชื่อทางเพศ เป็นหัวใจหลักในเรื่องนี้ ส่วน ‘เคหวัตถุ’ มันเป็นการพูดในเรื่องที่เล็กลงมาอีก คือการยืนยันอัตลักษณ์แค่นั้น แต่ผมว่า Mission จริงๆ ของผม คือการเผชิญหน้ากับความเชื่อในสังคมไทย

GM : ยังมีมายาคติแบบไหนอีกที่คุณอยากลองตั้งคำถามดู

อนุสรณ์ : ตอนนี้ผมสนใจคำว่า ‘คนชายขอบ’ หรือ ‘คนตัวเล็กๆ’ เนื่องจากตอนนี้ผมกลับไปอ่านวรรณกรรมยุคก่อนที่วรรณกรรมเพื่อชีวิตจะได้รับความนิยม แล้วพบว่ามันมีความหลากหลายมากเลย เรามี ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เรามี โรม รติวรรณ แต่เรามี ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ยังถูกพูดถึงอยู่ แต่นักเขียนจำนวนมากถูกลืม ทำให้เรื่องราวจำนวนมากทางประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของคนไทยมันไม่ถูกอธิบายผ่านคนตัวเล็กๆ หรือคนชายขอบเหล่านี้อย่างเช่นเราพูดถึงในกรณี 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ เราก็จะมองมันเป็นแมสว่าขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหว ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อว่าต้องเข้าป่า บางคนอาจจะเข้าป่าเพราะว่าเรานั่งเล่นกันอยู่ที่ร้านกาแฟ แล้วคุณชวนผมไปเที่ยวป่ากันสักสองสามเดือน แล้วเราก็เก็บของไปกัน ผมอาจจะไม่ศรัทธาในมาร์กซ์, เหมา หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เพื่อนรักเราเข้าป่า เราก็ถือว่าไปพักผ่อนด้วยข้อเท็จจริงมันจึงเกิดขึ้นไงว่า ทำไมคนที่เข้าป่าแล้วจึงเกิดการปะทะกันระหว่างความคิด ผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็ไปด้วยความรู้สึกบริสุทธิ์ นี่คือสิ่งที่เราไม่ได้อธิบายผ่านตัวละครเหล่านั้น แล้วมันเป็นหน้าที่ของวรรณกรรมโดยตรงไหมล่ะ ว่าโลกภายในของเขาที่เขาเข้าไปเจอมันเป็นยังไง

GM : พูดได้ไหมว่าวงการวรรณกรรมเพื่อชีวิต เพื่อสังคมที่เป็นสูตรสำเร็จไทยได้ตัดตอนคนเขียนหนังสือแบบอื่นๆ ไปหมด

อนุสรณ์ : วรรณกรรมเพื่อชีวิตในยุคนั้นปฏิเสธคำอธิบายเชิงปัจเจก ถ้าผมจำไม่ผิด คุณอนุช อาภาภิรม เคยประกาศว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์จะต้องไม่เล่าความรู้สึกส่วนตัว จะไม่พูดถึงภาวะปัจเจก ถ้าพูดถึงภาวะปัจเจก คุณจะกลายเป็นวรรณกรรมประโลมโลกทันที คุณจะกลายเป็นทมยันตี คุณจะกลายเป็นนันทนา วีรชน คุณจะกลายเป็นใครต่อใคร ซึ่งตรงนี้มันทำให้คำอธิบายของมนุษย์ตัวเล็กๆ จำนวนมากในสังคมเมื่อ 30 ปีที่แล้วมันหายไปเลย

คุณลองนึกถึงคดีเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นจำนวนมากไม่ถูกเขียนในเชิงวรรณกรรม เหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นจำนวนมาก เช่นกรณีเรือของ มายาเกซของอเมริกา เคลื่อนเรือมาประชิดอ่าวเพื่อบุกเขมรแดง ก็ไม่ถูกเขียนไปทางวรรณกรรม เพราะมันไม่ได้อยู่ในบริบท หรือย้อนกลับไปให้นานกว่านั้นก็ยังได้ ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทหารคนหนึ่งซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ระเบิดญี่ปุ่นในฮิโรชิมากับนางาซากิ ผมว่าชีวิตเขาน่าสนใจมากแต่ไม่เคยถูกเขียนในเชิงวรรณกรรม ผมว่ามันมีคนตัวเล็กๆ ที่เราเรียกว่าคนชายขอบหรือคุณจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ถูกลบออกไปจาประวัติ-ศาสตร์

GM : แต่งานเขียนฝั่งเพื่อชีวิตอย่างงานของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐ-กุล ก็มีความพยายามจะเล่าเรื่องข้างใน แม้จะมีทัศนคติแบบลูกผู้ชายเข้มข้นอยู่บ้างก็ตาม

อนุสรณ์ : มันแสดงให้เห็นเลยว่าแม้แต่นักปฏิวัติก็ยังไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แบบ ผมไม่ได้อ่านงานของอาจารย์เสกสรรค์ทั้งหมด แต่ผมจำได้อย่าง ‘ดอกไผ่บนเวทีกระดาษ’ หรือ ‘ฤดูกาล’ ผมรู้สึกว่านี่เป็นงานที่ดีมาก มันทำให้เราเห็นว่ามนุษย์มันมีมิติ สรุปง่ายๆ คือวรรณกรรมเพื่อชีวิตมันไม่มีมิติ จุดอ่อนของวรรณกรรมเพื่อชีวิตก็คือมนุษย์ในวรรณกรรมแบบเพื่อชีวิตมันมีมิติเดียว คือมิติแห่งการต่อสู้ มิติแห่งอุดมคติ แต่มันไม่มีมิติอื่นเลย แล้วมันก็กลายเป็น มายาคติ ในที่สุด

GM : มายาคติที่ว่านี้เลยทำให้คนทั่วไปมองภาพนักเขียนว่าต้องสมถะ ไม่เดินห้าง ไม่นั่งร้านกาแฟอะไรแบบนั้น ด้วยหรือเปล่า

อนุสรณ์ : วันหนึ่งผมได้คุยกับเพื่อนนักเขียนซึ่งเป็นรุ่นน้องที่คบกันมานานพอสมควร ว่าเขาเขียนบทกวีจนเลือดกำเดาออก ผมก็ถามว่าแล้วมันยังไงล่ะ เขาบอกว่ามันคือความเชื่อที่ว่าคนที่ทำงานอย่างเคร่งเครียดคือการทำงานที่ดี ผมเลยถามว่าคุณเอาวาทกรรมเหล่านี้มาใช้อธิบายสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง คุณเคี่ยวกรำตัวเอง ตื่นเช้าไปทำไร่ไถนา ตกค่ำมาเขียนหนังสือ แล้วบอกว่าจะได้งานที่ดี มันเป็นวาทกรรมที่อ้างไม่ได้ คุณจะเขียนจนเลือดออกหมดตัวก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นงานที่ดี มันไม่ใช่สมการสักหน่อย

แต่ว่าบ้านเราอธิบายด้วยวาทกรรมแบบนี้ และหลายคนก็อธิบายไอ้นักเขียนประเภทผมที่ถูกมองเป็นพวก Armchair Writer นั่งกินกาแฟเขียนหนังสืออยู่ในเมืองด้วยวาทกรรมที่ว่า นักเขียนแบบนี้ไม่เคี่ยวกรำตัวเอง ไม่มีทางที่จะได้งานที่ดี ผมว่าคุณต้องแยกวาทกรรมสองอันนี้ออกจากกัน

ตัวงานของผมมันไม่ได้สะท้อนความเป็นชนชั้นกลางอย่างที่คุณมอง แต่มันเป็นการสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในใจของคนชั้นกลางมากกว่า คือผมมักจะถูกมองว่าเป็นนักเขียนแบบปัจเจก คนอื่นพูดว่าสิ่งที่ผมเขียนเป็นอะไรที่ไม่พ้นจากเงื้อมเท้าตัวเอง นั่งกระดิกเท้ากินกาแฟแล้วก็เขียนๆ วาทกรรมพวกนี้มันใช้ไม่ได้สิ่งที่จะบอกว่าคุณเป็นนักเขียนได้หรือไม่ คือความรักในการเขียน ต่อให้คุณมีแค่กระดาษ 3-4 แผ่นกับปากกาด้ามนึง หรือมีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ถ้าคุณมีความรักที่จะเขียนคุณก็เขียนได้ทั้งนั้น การเป็นนักเขียนไม่ใช่การไปสร้างโลกภายนอกเพื่อมายืนยันวาทกรรม เช่นคุณไม่มีข้าวจะกินแต่คุณยังจะเขียนหนังสืออยู่ แล้วบอกว่านี่คือนักเขียนที่แท้ ผมว่าไม่ใช่นะ คุณพักไปทำอย่างอื่นก่อนก็ได้ พอมีข้าวกินแล้วคุณค่อยมาเขียนหนังสือ

แต่ประเด็นสำคัญก็คือว่า คุณนิยามว่าผมนั่งในร้านกาแฟแล้วเขียนหนังสือนั่นต่างหาก ผมเขียนเรื่อง ‘น้ำตาล’ ใน ‘เคหวัตถุ’ เพื่อบอกว่าคนจำนวนมากที่มาร้านกาแฟ ส่วนใหญ่ไม่ได้มากินกาแฟหรอก นี่เป็นจุดหนึ่งที่พูดแทนถึงความเป็นชนชั้นกลาง คือคุณต้องยอมรับว่าปัญหาของคนชั้นกลางคือต้องการมีตัวตน จะเป็น Self-Assurization ในมุมไหนก็แล้วแต่ แต่ขอให้คนยอมรับว่าคุณเป็นอย่างนี้ เพื่อที่ผมจะได้ปฏิสัมพันธ์กับคุณถูก เขานิยามคุณเพื่อปฏิสัมพันธ์กับคุณ เช่นผมไม่เคยเจอคุณมาก่อนเลย แต่ผมนัดคุณที่ร้านกาแฟ พอคุณวางสายผมปั๊บ เขาก็จะเริ่มมีนิยามเกี่ยวกับตัวผม ว่าการที่ผมนัดเจอที่ร้านนี้ ผมควรจะเป็นนักเขียนแบบไหน ถ้าผมบอกว่านัดเจอคุณที่ร้านลาบก้อยหรือร้านลำซิ่ง คุณก็จะนิยามผมอีกแบบหนึ่ง คือการนิยามมันไม่ได้สร้างจากการเจอกันต่อหน้าร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วนะ มันเป็นนิยามจากปฏิสัมพันธ์ที่เขาคิดว่ารอบๆ ตัวคุณหรือสิ่งที่คุณบริโภค สิ่งที่คุณเสพ สถานที่ที่คุณไปมันเป็นยังไงด้วย

GM : เพราะอย่างนี้หรือเปล่าที่ทำให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตไม่จำเป็นต้องลงไปถึงความรู้สึกภายใน เพราะว่าคนที่เขียนหรือคนที่อ่านก็ไม่ใช่ชนชั้นกลาง เป็นชนชั้นล่างที่หาเช้ากินค่ำ วรรณกรรมที่เกิดขึ้นก็เลยเป็นแบบเดิมๆ

อนุสรณ์ : แต่ผมว่าคนที่อ่านวรรณกรรมจริงๆ มันก็คือคนที่เป็นชนชั้นกลางนั่นแหละ เพียงแต่ว่าเขาอาจจะอ่านเพราะว่าอยากรู้ว่าความคิดของคนอีกแบบหนึ่งว่ามองเรื่องนี้ยังไง มันคงต้องแยกระหว่างการอ่านกับการเขียน เพียงแต่ผมคิดว่าคำอธิบายจำนวนมากของนักเขียนวรรณกรรมสัจนิยม มันเป็นคำอธิบายที่มองจากสูตรสำเร็จทางความคิด

GM : ถ้าครั้งหนึ่งงานวรรณกรรมเพื่อชีวิต หรือสัจนิยมมันเคยขับเคลื่อนสังคมไปได้ แล้วนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่ยังยึดติดกับสูตรสำเร็จแบบนั้น จะสร้างงานเขียนที่ขับเคลื่อน สังคมแบบตอนนี้ได้เหมือนในอดีตหรือเปล่า

อนุสรณ์ : ผมว่าทุกวรรณกรรมมันมีที่ทางของมันแหละ คุณเคยดูกีฬาโปโลช้างไหมล่ะ มันไม่ได้มีคนดูเยอะหรอกนะ แต่มันก็ยังมีการเล่นกันอยู่ ผมกำลังจะบอกว่าทุกอย่างในโลกนี้มันมีพื้นที่ของมันแล้ว แม้แต่วรรณกรรมเพื่อชีวิตก็มีพื้นที่ของเขา แล้วผมก็เห็นว่าหลายๆ พื้นที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตก็ทำหน้าที่ได้ดีกว่าวรรณกรรมแบบอื่นๆ

แต่ผมคิดว่าจุดที่ท้าทายพวกเขาก็คือว่า เขาจะต้องสามารถเอาเครื่องมือของเขาที่มี ไม่ว่าจะเป็นอุดมคติ หรือมุมมองบางอย่างมาอธิบายสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมของเขา สังคมของคุณ หรือสังคมของผมก็แล้วแต่ แต่ว่าต้องอธิบายได้บางส่วน ปัญหาตอนนี้ก็คือมันแทบจะอธิบายหลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็เลยพยายามจะแช่แข็งสังคมข้างนอกเพื่อที่เขาจะสามารถอธิบายได้ เช่นผมก็จะ Freeze ว่าพวกคนที่มากินกาแฟตามร้านหรูๆ ว่าเป็นพวกที่อยากเท่ อยากเก๋ เพื่อที่ผมจะอธิบายคุณได้ วรรณกรรมเพื่อสังคมเขาก็จะ Freeze อย่างนี้ เขาไม่ได้มองในมิติอื่นที่มันลึกกว่านั้น

จุดอ่อนของวรรณกรรมเพื่อชีวิต คือเขามองทุกอย่างเป็นกล่องแล้วก็หยิบเฉพาะส่วนที่เขาพอรู้สึกว่าเขาจับต้องมันได้มาเขียน มันก็เลยทำให้เวลาเราอ่านแล้วรู้สึกว่าทุกอย่างมันเป็นการปาดลงไปบนพื้นผิวมากเลย ผมชอบ แม็กซิมกอร์กี้ มากนะ แล้วถ้าคุณอ่านแม็กซิม กอร์กี้ ดีๆ จะพบจุดที่น่าสนใจมากเรื่อง ‘มหาวิทยาลัยของฉัน’ ของ แม็กซิม กอร์กี้ คือรากเหง้าของ Norwegian Woodของมุราคามิ ในขณะที่ แม็กซิม กอร์กี้ พยายามเล่าว่าชายคนนี้มันต้องไปอยู่ในมหา’ลัย แล้วเจอคนจำนวนมาก ไปปฏิวัติ แล้วก็ไปเจอโสเภณี แต่มุราคามิถอดโครงสร้างนี้มาเขียนใหม่ ซึ่งก็อยู่ในมหา’ลัยเจอคนจำนวนมากแต่เป็นอีกแบบ เป็นชนชั้นกลาง มีรุ่นพี่ที่ชอบไปนอนกับผู้หญิง แล้วก็มีสตอร์ม ทรูปเปอร์ ที่อยู่ในห้องพัก ที่คุณอาจจะมองว่าเพี้ยน แต่ผมว่าก็เหมือนในหลายๆ ฉากในงานของ แม็กซิม กอร์กี้นี่แหละหน้าที่นักเขียน คุณต้องถอดรหัสงานเก่าๆ กลับมาเขียนใหม่ ผมชอบวรรณกรรมเพื่อชีวิตของ เชคอฟ, อีวาน คูเจเนฟ, แม็กซิม กอร์กี้ แต่ผมไม่ชอบวิธีการที่คุณพยายามจะเอาสูตรสำเร็จนี้มาอธิบายทุกอย่างอย่างผมมองคุณทำงานนิตยสาร ผมก็เลยเอาไปเขียนว่าคุณต้องมีบัตรเครดิต ต้องมีวิถีชีวิตอยู่ในสังคมเมือง คุณไม่เข้าใจชาวไร่ชาวนาที่ต้องทำงานแทบตายเพื่อจะหาอะไรมาเป็นอาหารประจำวันหรอก นี่เห็นไหมว่าผมมองปัญหาของชาวนารวมทั้งชนชั้นกลางแบบสูตรสำเร็จ เพราะ Conflict ของชาวนาสมัยนี้มันไม่ใช่ปัญหาว่าจะเอาอะไรใส่ท้องแล้วนะ มันเป็นปัญหาที่ว่าราคาข้าวมันจะสูงขึ้นได้เท่าไหร่ต่างหาก

ผมไม่ได้มีปัญหากับวรรณกรรมเพื่อชีวิตหรอก ผมมีปัญหากับการเชื่อมั่นในสูตรสำเร็จกับวรรณกรรมแบบใดแบบหนึ่งมากเกินไป แม้แต่วรรณกรรมปัจเจกเองก็ตาม คือถ้าคุณเขียนกันแบบว่า เหงา เปล่าเปลี่ยว เคว้งคว้างไม่มีอะไรทำ ไปนั่งในผับแล้วก็พาผู้หญิงไปนอน ผมว่าเขียนอย่างนี้ไม่เกิน 3-4 ปีมันก็พัง

GM : แปลว่าปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าวรรณกรรมมีรูปแบบอยู่สองแนว คือสัจนิยมกับปัจเจกนิยม

อนุสรณ์ : วรรณกรรมไม่ได้มีสองแนวหรอก จริงๆ แล้ววรรณกรรมก็ทำหน้าที่ได้ดีในหลายๆ เรื่อง หรือวรรณกรรมแบบของคุณอุดม แต้พานิช ก็มีดีของเขา ในประเทศที่มีพื้นฐานการอ่านแข็งแรงพอ จะมีวรรณกรรมมากกว่าสองถึงสามรูปแบบ

ปัญหาอีกอย่างของวรรณกรรมก็คือ เราชอบแนะนำว่าถ้าคุณรักจะเขียน คุณต้องเขียนเยอะๆ ผมจะไม่แนะนำว่าถ้าคุณรักจะเขียนก็เขียนเลยอย่างนั้น เพราะผมคิดว่าคุณต้องรีเสิร์ช ค้นคว้าข้อมูลคู่กันไปด้วย

ข้อมูลแทบจะเป็นสิ่งสำคัญในการเขียนในปัจจุบัน อย่างเรื่องสั้นที่ผมกำลังเขียนอยู่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ นีล อาร์ม-สตรอง ตอนที่มาประเทศไทยหลังจากที่เขาไปเหยียบดวงจันทร์ ผมว่าฉากที่ประเทศไทยได้รับหินดวงจันทร์ เป็นฉากที่ถูกลืมในวงการวิทยาศาสตร์เมืองไทย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่ามันต้องใช้การค้นคว้าหาข้อมูลเราจะเห็นว่าเราไม่สามารถเขียนทุกอย่างได้จากโจทย์ที่สร้างไว้แล้ว ไม่เฉพาะวรรณกรรม แม้แต่คอลัมน์ต่างๆ ที่คุณรู้สึกยังไงคุณก็เขียนออกมา เช่นวันนี้คุณตื่นขึ้นมาแล้วพาหมาไปเดินเล่นแล้วเจอรถชนกันแล้วคุณก็เอามาเขียน ผมว่านั่นมันไม่ใช่การเขียนคอลัมน์นะ มันคือการเขียนบันทึกประจำวัน แต่ว่าคุณก็เอามาลงในคอลัมน์ ผมรู้สึกว่าในแง่หนึ่งมันยังขาดองค์ความคิดผมมักจะคุยกับเพื่อนเสมอว่า วรรณกรรมที่ดีมันควรจะมีอยู่สามระดับ ระดับแรกก็คือแสดง Thought องค์ความคิดว่าคุณมีความคิดยังไงกับโลกภายนอก อันดับสองก็คือ Intellectual หมายถึงว่ามันทำให้คนอ่านของคุณได้ภูมิปัญญามากขึ้นไหม และอันดับสามก็คือ Wisdom อ่านแล้วคุณรู้สึกเลยว่าคุณต้องทำอะไรกับโลก ซึ่งวรรณกรรมเพื่อชีวิตก็เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว หรือถ้าไม่ใช่งานเพื่อชีวิตก็เป็นงานแบบ เปาโล คูเอลโล เรื่อง Alchemist หรือ เจ้าชายน้อย พวกนี้มันมี Wisdom มันเปลี่ยนมุมมองที่คุณมีต่อโลกเลย แต่บ้านเราไม่ต้องพูดถึงเรื่อง Intellectual หรอก แค่ Thought องค์ความคิดมันยังไม่ค่อยจะผ่าน แล้วไม่เกิดการปลุกเร้าอะไรเลยคุณไปอ่านคอลัมน์จำนวนมากสิ จะพบว่าพวกเขาบ่นอะไร แล้วคุณลองอ่านคอลัมน์ที่ อัลแบร์ กามูส์ เขียนใน Parisian สิ คุณจะเห็นเลยว่าเขาได้คิดอะไรอย่างลึกซึ้งเพื่อที่จะบอกอะไรบนพื้นที่ไม่กี่ตารางนิ้ว แต่คอลัมน์จำนวนมากในแมกกาซีนบ้านเรา มีวันนี้ฉันไปเจอนั่น วันนี้ผมไปเจอนี่

GM : แต่มันก็สะท้อนว่าคนไทยชอบอย่างนั้นไม่ใช่หรือ ชอบอ่านบันทึก อ่านอะไรง่ายๆ

อนุสรณ์ : ใช่, แต่ว่าผมจะยกตัวอย่างนะ เคยมีคนถามผมว่าทำไมคุณไม่เขียนอะไรง่ายๆ ที่คนอ่านเข้าใจง่าย ผมก็จะบอกว่าผมเคยอ่านบทสนทนาของผู้กำกับภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ดซึ่งไปหาองค์ดาไลลามะ เขาถามองค์ดาไลลามะว่าคนพูดกันเสมอว่าเขาชอบทำหนังที่เข้าใจยาก ทำไมไม่ทำหนังให้ง่ายขึ้นไหมจะได้มีคนดู ดาไลลามะบอกว่าไม่ควรทำอย่างนั้น เพราะว่าถ้าคุณทำอย่างนั้น หนึ่ง, คุณลดมาตรฐานของตัวเอง ทำให้ตัวคุณเคลื่อนลงสู่บางอย่างซึ่งลดศักยภาพของคุณ สอง, แทนที่คนชมภาพยนตร์ของคุณจะได้พยายามเพิ่มศักยภาพของเขาในการดูภาพยนตร์ของคุณ เขาก็จะชมภาพยนตร์แบบนี้ไปจนชั่วชีวิต เขาก็ไม่ได้พัฒนาศักยภาพเช่นกัน ผลที่สุดแล้วมันไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย ถ้าคุณทำในสิ่งที่คุณเชื่อ วันหนึ่งก็จะมีคนที่เขาจะเดินทางมาหาคุณ เขาก็รู้สึกว่าเขาได้ออกแรงนะ มันมีเส้นทาง มันมีวิวัฒนาการ มันมีความรู้สึกของเขาที่จะเข้าใจความคิด เข้าใจชีวิตคุณ

GM : คุณคิดอย่างไรที่นักเขียนในบ้านเราเป็นคนทำงานศิลปะที่มีรายได้ต่ำกว่าคนทำงานศิลปะแขนงอื่น อย่างเป็นนางแบบหรือเป็นช่างภาพ เลยต้องรีบผลิตงานเพื่อให้พอกิน เขียนลึกซึ้งเกินไปคนอ่านก็ไม่เข้าใจ แถมยังได้รายได้น้อย

อนุสรณ์ : ผมว่าเราต้องแยกระหว่าง Product กับ Process นะ Product ที่คุณคิดมามันอีกเรื่องหนึ่ง Process คือกระบวนการที่คุณผลิตนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าคุณบอกอย่างนี้แสดงว่าความสุขของคุณคือการที่คุณเอาของไปขายที่ตลาดเขาซื้อคุณในราคาแพง คุณก็มีความสุข ถ้าเขาซื้อคุณถูก คุณก็ไม่ค่อยมีความสุข แต่วินาทีที่คุณสร้าง Product คุณมีสุขหรือทุกข์คุณไม่สน ผมว่าคุณค่าของวรรณกรรมหรือศิลปะราคามันอยู่ที่ตัว Product กับ Process ด้วย คุณต้องมีความสุขในกระบวนการสร้างด้วย แล้วความสุขในกระบวนการสร้างมันจะตีค่าเป็นเงินไม่ได้ จะตีค่าเป็นอะไรมันก็แล้วแต่คุณแล้ว

สมมุติว่าผมส่งเรื่องให้แมกกาซีน เขาให้ผมแค่นี้แล้วผมไม่แฮปปี้ ผมก็มีสิทธิ์ที่จะไม่เขียนต่อ แต่ถ้าผมรู้สึกมีความสุขมากในการเขียนเล่มนี้ ผมก็รู้สึกว่าผมมีคำอธิบายให้กับตัวของผม แต่ถ้าคุณถามว่าโดยรวมทั้งหมดเราจะทำให้วงการหรือคนเขียนหนังสือมันมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น มันต้องสร้างกระบวนการแล้วเราคงมองเฉพาะตัวไม่ได้

GM : คือเรามีความสุขในการสร้าง แต่คนดูอาจจะไม่ได้มีความสุขในการเสพงานของเรา คุณจะจัดการความรู้สึกนี้อย่างไร

อนุสรณ์ : มีศิลปินอังกฤษคนหนึ่งชื่อ เดเมียน เฮิร์สต์ (Damien Hirst) ซึ่งชอบทำงานที่ไม่น่าดูเสียเลย เช่นเอาปลาหั่นเป็นท่อนๆ แล้วก็ใส่ไว้ในแท็งก์น้ำ หรือเอาวัวตัวหนึ่งมาหั่นเป็นท่อนๆ แล้วก็ใส่ไว้ในฟอร์มาลินแล้วก็จัดวาง ถามว่าคุณเห็นความงามอะไรในศิลปะนั้น การเสพมันให้ความสุขอะไรกับงานแบบนี้ แต่คุณอย่าลืมว่าการเสพมันไม่ได้หมายถึง ความสุขเพียงอย่างเดียว มันมีการเสพเชิงปัญญา มันมีการเสพที่ผมเรียกว่าเป็นการเข้าใจตัวเองมากขึ้น วารสารอย่างวิภาษานี่คุณไม่ได้อ่านเพื่อได้ความสุขนะ จริงอยู่หลายๆ เล่มเป็นแมกกาซีนที่ให้ความสุข แต่มันก็มีแมกกาซีนจำนวนมากที่มันเป็นเรื่องของการค้นพบตัวคุณ เป็นเรื่องของการท้าทายความคิดคุณ ผมว่าการชมงานศิลปะของ เดเมียน เฮิร์สต์ หรือชมภาพยนตร์ของผู้กำกับอย่าง กัส แวน ซองต์ (Gus Van Sant) มันคือการเล่นกับกระบวนการความคิด มันไม่ใช่การเสพเพื่อสร้างความสุข

GM : แล้วคุณบอกตัวเองอย่างไรที่คนอ่านบอกว่างานของคุณอ่านยาก ไม่มีความสุข

อนุสรณ์ : ผมมองว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเราทุกคน มันเป็นกระบวนการหนึ่งซึ่งพัฒนาไปข้างหน้า เหมือนกับที่นิวตันอาจจะบอกว่า ‘ผมยืนอยู่บนบ่าของยักษ์’ สิ่งที่ผมเขียนผมก็ได้มาจากการอ่านงานของนักเขียนรุ่นก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมสร้างขึ้นมามันก็คงมีเวลาของมันในอนาคต ในวันหนึ่งข้างหน้าก็อาจจะมีคนค้นพบงานผม อาจจะมีคนกลับมาอ่านงานผม

ผมเป็นหนึ่งในกระบวนการที่กว้างใหญ่ของการมีชีวิตอยู่ ผมไม่ได้หวังความสำเร็จประเภทแค่ว่าวันนี้มีคนมาชื่นชม แล้วพรุ่งนี้ไปแล้วก็หายไป ผมมีความรู้สึกว่าเหมือนผมยืนอยู่ในแม่น้ำสายหนึ่ง ซึ่งมีคนจำนวนมากก็ว่ายน้ำมา บางคนก็ขึ้นฝั่งบางคนก็จมหายไป เราก็ทำหน้าที่ต่อ เพื่อให้แม่น้ำสายนี้มันไหลต่อไปได้

GM : สรุปว่าคุณไม่สนว่างานของเราจะเป็นยังไง เขียนเสร็จแล้วก็คือเสร็จ

อนุสรณ์ : ไม่, ผมสนนะ คือการที่พูดว่างานที่เราเขียนเป็นยังไงก็ไม่เกี่ยวกับเรา ผมว่ามันเป็นคำพูดที่ไม่รับผิดชอบ หรือการที่คุณบอกว่าเราทำเสร็จแล้วนะ คนอื่นจะอ่านยังไงก็แล้วแต่ ความรู้สึกว่าทำให้เสร็จเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ผมว่ามันก็ไม่ต่างกับการที่คุณถ่มน้ำลายลงกลางถนน มันพูดอย่างนั้นไม่ได้

คุณต้องยอมรับว่าการที่คุณทำมันคือการสื่อสาร วรรณกรรมคือการสื่อสาร คุณจะทำวรรณกรรมที่ไม่สื่อสารไม่ได้ ที่คุณบอกว่าคุณทำเสร็จแล้วคนจะอ่านไม่อ่านก็เรื่องของเขามันก็ไม่ได้ วรรณกรรมเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร นี่เป็นหัวใจและเป็นปัญหาของกระบวนการวรรณกรรมบ้านเราด้วยนะ เรามักจะมองในฐานะศิลปินมากไป

ผมพอใจเขียนแบบนี้ ใครจะอ่านหรือไม่อ่านก็เป็นเรื่องของคนอ่าน พอเราตัดคำว่าการสื่อสารออกไปในเมื่อเราไม่เอาคนอ่าน คนอ่านเขาก็ไม่เอาคุณ เราต้องทำเหมือนกับว่าในที่สุดเราแคร์ แต่เราไม่ได้แคร์ว่าเขาจะชื่นชมเรา หรือว่าเขาจะให้เงินทองเราหรือว่าเขาจะยกย่องเรา แต่เราแคร์ในแง่ที่ว่าผมกำลังเล่นกับกระบวนการสื่อสารระหว่างผมกับคุณนะอย่างผมอ่านบทความของคุณโตมร (บรรณาธิการ GM) ผมก็รู้ว่าโตมรอยากบอกให้คนอ่านรู้สึกมากเลย ซึ่งบางเรื่องมันก็เป็นเรื่องไกลออกไปจากโลกของคนอ่านมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ การค้นพบเพลงแปลกๆ ถามว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น เพราะว่าเราอยากรู้ว่าจะมีใครสักคนไหมที่มาเจอสิ่งที่เราเขียนแล้วบอกว่านี่สิคือสิ่งที่ฉันอยากจะได้ยิน นี่สิคือสิ่งที่ฉันอยากจะได้อ่าน นักเขียนทุกคนมันมียานอวกาศส่วนตัวเดินทาง

ไปในกาแล็กซีที่เวิ้งว้าง แต่เราหวังว่าจะมีดาวบางตัวที่มีอุณหภูมิเหมาะกับเรา ถ้าคุณไม่เชื่อสิ่งเหล่านี้คุณทำไม่ได้ เราต้องเชื่อว่ายังมีนักอ่านที่มีคุณค่าอยู่ ภาวะการถูกค้นพบจากนักอ่านผมว่าเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นนะแต่ก็มีนักเขียนจำนวนมากอย่าง แฟร์นานดู เพโซ (Fernando Pessoa) นักเขียนโปรตุเกสก็ตายไปทั้งที่เขามี

ผลงานอยู่เล่มเดียว วันที่เขาตาย ก็ค้นพบต้นฉบับที่ไม่ได้ตีพิมพ์ในห้องของเขาเยอะมาก เขาเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ เขาเป็นนักเดินทางที่โดดเดี่ยว หลังจากเขาตายมันก็เป็นดาวฤกษ์เราคงต้องมองวรรณกรรมจากแง่มุมของศิลปะที่ถูกสร้างโดยเผ่าพันธุ์ที่เรียกว่ามนุษย์ ลองอ่าน ดอน กิโฆเต้ (Don Quixote) สิ วันนี้มันยังให้ความรู้สึกบางอย่างกับคุณได้อยู่เลย แสดงว่ามันมีเนื้อของสารที่ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปกี่ปี สะเก็ดของมันถูกกะเทาะออกไปนิดเดียวเอง แต่แก่นยังจับต้องได้อยู่ เวลาแทบ

ไม่กร่อนอะไรไปเลย

GM : โลกสมัยใหม่ยุคนี้เอื้อต่อการสร้างงานวรรณกรรมดีๆ แบบยุคที่แล้วอีกบ้างไหม

อนุสรณ์ : วรรณกรรมที่ดีมันจะดีดตัวเองออกจากบริบทอย่างช้าๆ คุณลองไปดู ‘ฟ้าบ่กั้น’ สิ วันนี้ฟ้าบ่กั้นก็ยังอธิบายคนไทยจำนวนมากได้ดีอยู่เลยนะ ทั้งที่เขียนมา 30 กว่าปีแล้ว เพราะฟ้าบ่กั้นจับหัวใจบางอย่างของความเป็นวรรณกรรมได้ และจับความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น จะในสังคมเกษตรกรรมหรือสังคมชั้นต้นได้ลึกซึ้งมากเพราะฉะนั้นคุณจะเห็นว่าแม้กาลเวลาผ่านไป แต่คุณได้อ่าน ‘ฟ้าบ่กั้น’ คุณยังได้แมสเสจที่คุณรู้สึกกับมัน เพราะฉะนั้นวรรณกรรมที่ดีได้ดีดตัวเองออกจากข้อผูกมัด มันกลายเป็นของสากลเช่นผมไม่เคยได้ใช้ชีวิตทะลุปรุโปร่ง แต่ผมก็รู้ว่าวิถีชีวิตที่ ดอน กิโฆเต้ เจอมันคืออะไรจากตัววรรณกรรม ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องญี่ปุ่นมาก แต่ทุกครั้งที่ผมอ่านวรรณกรรมของมูราคามิ ผมรู้สึกได้ว่าเขาพยายามบอกว่าประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญอะไรอยู่ มันแยกออกจากตัวสังคมที่สร้างมันขึ้นมานะ เคลื่อนที่ไปรอบๆ กระตุ้นให้คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มันถูกสร้างขึ้นมาเข้าใจได้

GM : แปลว่าคำตอบของคุณคือในโลกสมัยใหม่เป็นไปได้ว่าจะมีงานวรรณกรรมที่ดีกว่านั้นอีก

อนุสรณ์ : เป็นไปได้ครับ เช่นหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว หรือใหม่ๆ หน่อยงานของเกาซิงเจี้ยน (Gao Xingjian) หรือ ออร์ฮัน พามุค เขาเป็นตุรกี งานเขามันก็พ้นออกมาไกลแล้ว

GM : วรรณกรรมในสังคมไทยถือว่าเดินหน้าไปในระดับไหน

อนุสรณ์ : วรรณกรรมมันก็เหมือน landscape นะ เช่นเมื่อก่อนคนเขาก็นิยมปลูกต้นโกสนหรือบอนไซ แต่ตอนนี้คนก็นิยมเล่นลีลาวดี ผมหมายความว่าคุณค่าทางวรรณกรรมมันต้องมีอยู่ แต่ความหลากหลายทางวรรณกรรมนี่เป็นสิ่งที่เราต้องเดินหน้าไปหาสิ่งนั้น วรรณกรรมเพื่อชีวิตจะอยู่หรือไม่อยู่ ต้องเป็นสิ่งที่วรรณกรรมเพื่อชีวิตจะพิสูจน์ด้วยตัวมันเอง ไม่ใช่ว่าเราพยายามไปฟูมฟักให้มันอยู่จนเกินเหตุหรือละเลยมัน ต้องปล่อยให้มันแสดงตัวมันเอง

แม้แต่ประเทศที่เป็นกึ่งสังคมนิยมอย่างจีน วรรณกรรมเพื่อชีวิตก็ไม่มีพื้นที่เหลือเท่าไหร่แล้ว เพราะว่าเขาปล่อยให้มันมีความหลากหลาย มันถึงมีงานของเกาซิงเจี้ยน เรื่อง ‘ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ‘ เรื่อง ‘ฝุ่นสีแดง’ ของ หม่าเจี้ยน ซึ่งเป็นการเล่าการเดินทางเพื่อแสวงหาตัวตนในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยที่งานของหลู่ซิ่นก็ยังมีคุณค่าอยู่

บ้านเราบางทีก็ฟูมฟักวรรณกรรมอีกแบบหนึ่งจนเกินเหตุ บางครั้งเราก็ละเลยวรรณกรรมแบบหนึ่งจนน่าใจหาย ยกตัวอย่างวรรณกรรมเยาวชนบ้านเรา มันไม่งอกงามเลยนะ ทั้งที่มันก็เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่ง เขาก็ยังเขียนวรรณกรรมในแบบสูตรสำเร็จ พวกความใฝ่ฝันอันแสนดีงาม เราไม่ได้เขียนวรรณกรรมเยาวชนแบบ มาร์ค แฮดดอน (Mark Haddon) เรื่อง The Curious Incident of the Dog in the Night-Time เขียน ที่เอาเรื่องเด็กออทิสติกมาเขียน

นี่คือจุดที่สำคัญมาก เรามักจะใช้วิธีเดียวกับที่เราทำในวงการอุตสาหกรรมก็คือว่า Protect เพื่อให้อุตสาหกรรมนั้นเติบโต เช่น การยกเลิกภาษี หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่จริงๆ แล้วการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ต่างหากที่ผมว่าเป็นการทำให้วรรณกรรมเติบโต

GM : ต้องวางรากฐานมาจากของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราหรือเปล่า

อนุสรณ์ : ผมว่ามันไม่ใช่คำว่าผู้หลักผู้ใหญ่ สิ่งที่สำคัญของวรรณกรรมมีอยู่ 3 ด้านคือ ตัวนักเขียน นักอ่าน และนักวิจารณ์ 3 ส่วนนี้ต้องทำงานร่วมกัน นักวิจารณ์อาจจะรวมถึงครูสอนภาษา นักอักษรศาสตร์ได้ทั้งหมด นักอ่านเป็นใครก็ได้ จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่อ่าน ดร. ป๊อบอย่างมีความสุข จะเป็นการอ่านวรรณกรรมเกาหลีอย่างมีความสุข เขาพวกนี้ก็คือกลุ่มของนักอ่าน นักเขียนก็ต้องทำงานร่วมกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเขียนแนวไหนก็ตาม แนวล่องไพร อย่าง น้อย อินทนนท์ หรือเป็นแนวรัก จรรโลงจิตใจอย่างกิ่งฉัตร หรือ กฤษณา อโศกสิน หรือว่าใครก็แล้วแต่ถ้าทั้งหมดมาอยู่ในภูมิทัศน์วรรณกรรม นักเขียนก็จะพุ่งไปไกลมาก นักอ่านก็จะวิ่งตาม นักวิจารณ์ที่ไม่รู้จักวรรณกรรมก็ต้องทำงานร่วมกัน ยกตัวอย่างงานของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก่อนหน้านี้วรรณกรรมเยาวชนในอังกฤษมันนิ่งสนิทเป็นเวลานานมากเลย จน เจ.เค. โรว์ลิ่ง เอาตำนานกรีกหรือตำนานเรื่องแบบอาหรับราตรีมาใช้ เอาตัวละครแปลกๆ แบบโทลคีนมาใช้ ประยุกต์มันขึ้นมาจนเป็นวรรณกรรมเยาวชนรุ่นใหม่ในขณะเดียวกัน คุณจะเห็นว่าเมื่อมีการทดลองเกิดขึ้น นักอ่านในอังกฤษก็ดิ้นรน ตื่นเต้นกับการทดลองนั้น นักวิจารณ์ก็เปิดพื้นที่ให้กับวรรณกรรมแบบนั้น ในขณะที่บ้านเราเมื่อมีวรรณกรรมใหม่ๆ มา สิ่งที่นักวิจารณ์บ้านเรามักจะเป็นคือตั้งคำถามในเชิงเสียดสี เย้ยหยัน ไม่มั่นใจ เราไม่ได้ตั้งคำถามในฐานะของการอธิบายด้วยชุดคำใหม่นะผมไม่ได้อยู่เมืองไทยในช่วงที่เกิดกระแส ปราบดา หยุ่น แต่ผมกลับมาอ่านคำวิจารณ์เกี่ยวกับงานของปราบดาในยุคนั้น มันเป็นการเสียดสี ถากถาง คุณเป็นลูก สุทธิชัย หยุ่นหรือเปล่า คุณมีเครื่องมืออื่นที่ไม่ใช่ตัวคุณเองหรือเปล่า ซึ่งผมฟังดูแล้วมันเป็นคำถากถางที่ไร้สาระมากๆ เลยสิ่งที่สำคัญคือชุดอธิบายในการเล่าเรื่องของปราบดา สามารถตอบบางอย่างที่สังคมไทยไม่เคยถูกหยิบยกมาได้มากน้อยแค่ไหน นี่คือสิ่งที่สังคมต้องมอง ต้องวิจารณ์ ไม่ใช่เราไปยุ่งกับเสื้อผ้าภายนอก ปราบดาใส่เสื้อสีสดหรือสีไม่สด ปราบดาใส่เสื้อยืด หรือปราบดาโกนผมหรือไม่โกนผม ผมว่าเป็นการตั้งคำถามที่ทำให้เห็นถึงวุฒิภาวะของสังคมวรรณกรรมไทย

GM : สังคมไทยก็ตัดสินอะไรด้วยวิธีนี้โดยตลอด คุณว่าจะมีงานวรรณกรรมที่ช่วยยกระดับเรื่องนี้ได้ไหม

อนุสรณ์ : ตอนนี้ผมยังไม่กล้าคิดถึงงานวรรณกรรมนะ แต่ถ้าเรามองศิลปะแขนงอื่นอย่างเช่นภาพยนตร์ของ เป็นเอก (รัตนเรือง) หรือภาพยนตร์ของ อภิชาติพงศ์ (วีระเศรษฐกุล) เห็นได้ชัดเลยว่าสังคมไทยส่วนใหญ่จะไม่รับงานภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ ไม่รับถึงขั้นรากฐานคือตัวกฎหมายเซ็นเซอร์เลยนะ อภิชาติพงศ์เขาก็เลยตัดสินใจออกไปจากภูมิทัศน์นี้ แล้วเขาก็ได้ไปเป็นกรรมการที่คานส์ ทำในสิ่งที่สังคมไทยไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นเลยนะแต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าแฟนภาพยนตร์ และคนทำหนังอินดี้ไทยได้รับอิทธิพลจากอภิชาติพงศ์มาก เช่นเดียวกับหนังของเป็นเอกก็ได้รับการตอบรับในประเทศไทยไม่มาก แต่ว่าที่รัสเซียคนชื่นชอบมากสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามันต้องใช้เวลา คือเราถูกทำให้เชื่อว่าภาพยนตร์ไทยต้องเป็นแบบนี้ๆ เช่นเดียวกับงานศิลปะของ ฤกษ์ฤทธิ์ (ตีระวนิช) คนไทยจำนวนมากก็ไม่เก็ตกับการผัดข้าวผัดหรือผัดไทยในแกลเลอรีของฤกษ์ฤทธิ์ แต่ว่าในมุมหนึ่งของคนสร้างสรรค์ศิลปะมันมีผลมากเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินที่จบจากมหาวิทยาลัยไหนก็แล้วแต่ งานประเภท Interactive คืองานที่มีส่วนรวมอย่างฤกษ์ฤทธิ์ มีความสำคัญมากในศิลปะไทย แต่มันจะส่งผลต่อการเสพศิลปะไทยได้หรือเปล่า วันนี้เราก็คงตอบว่าทุกอย่างที่มันเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ มีผล แต่ว่าจะมีผลมากน้อยมันก็แล้วแต่ความไวของแต่ละวงการนั้นๆ

เมื่อตอนเด็กๆ มีบริษัทเทปบริษัทหนึ่งชื่อไนต์สปอต โปรดัคชั่น ทำเทปออกมาไม่ว่าจะเป็น นุภาพ สวันตรัจน์ หรือ ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล แล้วก็มี เต๋อ (เรวัต พุทธินันทน์) ออกมาของแกรมมี่ มี อัสนี-วสันต์ (โชติกุล) ออกมา พวกเราที่ยังเป็นนักศึกษาตื่นเต้นมาก วงการเพลงคึกคัก ยอดขายดีหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ได้พิสูจน์ว่ามันกระตุ้นให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในวงการเพลงไทยตอนนี้เพลงของ อัสนี-วสันต์ อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว หรือปานศักดิ์อาจจะเลิกทำเพลงไปแล้ว แต่สิ่งที่เขาเคยทำมันมีผลต่อกระบวนการรับรู้ของดนตรีในหมู่คนฟังมาก วินาทีที่มันเกิดขึ้นอาจจะไม่เห็นผล มันต้องใช้เวลาทำงานเพื่อไชไปในรากฐานบางอย่าง เป็นรากที่มันซึมไปใต้พื้นดิน

GM : เมื่อเทียบกับแวดวงวรรณกรรมในประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน คุณคิดว่าเราแข็งแรงกว่าหรืออ่อนด้อยกว่า

อนุสรณ์ : เราต้องยอมรับว่าวรรณกรรมในบ้านเราแข็งแรงที่สุด ผมไปดูงานของกวีมาเลเซีย กวีอินโดนีเซียที่ได้รางวัล เขาเขียนได้ไม่ก้าวหน้าเท่าเราหรอกนะ งานวรรณกรรมเพื่อชีวิตของลาวเขาก็ไม่ดีเท่าเราหรอกนะ แต่สิ่งที่แตกต่างคืองานเขียนของเขาจริงกว่าเรา คำว่าจริงกว่าหมายความว่ามันสัมผัสกับชีวิตของคนลาว คนมาเลเซียได้จริงๆพูดง่ายๆ ว่าคนเขียนเขาบ่ม กลั่นมาจากความเป็นจริงในสังคมที่เขาเผชิญอยู่ ในขณะที่บ้านเราเป็นตุ๊กตาหรือเป็นโมเดล วรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ได้รางวัลในบ้านเรามันไม่ใช่การเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เป็นการเขียนจากความคิดว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตต้องเป็นอย่างนี้นะ การเขียนแบบนี้มันทำให้ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมโดยรวม

ในขณะที่วรรณกรรมลาวมีปฏิ-สัมพันธ์กับสังคมโดยรวม เหมือนกับว่าคนลาวเอาเพลงเซิ้ง เพลงไหลมาทำเป็นเพลงป๊อป ไม่ว่าเขาจะทำดีหรือไม่ดี แต่ผมเห็นความจริงใจที่จะทำมัน แต่พอเรามาฟังเพลงของ ลานนา คัมมินส์ ที่พยายามเชื่อมเอาเพลงพื้นบ้านของเรามาทำเพลงป๊อป เอาวัฒนธรรมของเพลงคลาสสิกมาทำเป็นป๊อป มันกลับมีอาการลวง เวิลด์มิวสิกของเรามันไม่จริง ในขณะที่เวิลด์มิวสิกของลาวมีความจริง

ก็เช่นเดียวกับวรรณกรรมลาว เวลาที่เขาเขียนถึงความอดอยากผมรู้สึกเลยว่าตัวคนเขียนได้ไปนั่งอยู่ริมแม่น้ำโขงได้เห็นสิ่งนั้น เขาเขียนจากสถานที่จริงเลยนะ เขียนเลยว่ามีแมลงปอบิน แต่ของเรามันเป็นอุดมคติ เป็นเซตติ้ง เราเขียนด้วยความรู้สึกว่าสังคมชนบทควรจะเป็น

อย่างนี้ เหมือนภาพถ่ายที่เอาไปขายฝรั่ง มีคลอง มีภาพเรือนไทย แล้วเราก็บอกว่านี่คือสังคมไทย

GM : แล้วกระแสนิยมงานวรรณ- กรรมแบบ Airport Fictionอย่าง The Da Vinci Code ล่ะ มันช่วยสร้างหรือเอาอะไรไปจากคนอ่านวรรณกรรมไทยบ้างไหม

อนุสรณ์ : แต่ปรากฏการณ์ ดาวินชี โค้ดมันอาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้น แต่ถ้าคุณมองเห็น คุณจะเห็นรากเหง้าของมันเลยว่า มันได้หยิบยืมวิธีการบางอย่างของนวนิยายหลายเรื่องมาดัดแปลง โดยยึดรูปแบบของแอร์พอร์ต ฟิกชั่น คือตัดต่อเร็ว เดินเรื่องเร็ว ตัวละครไม่ต้องมีความลึกมาก แต่สิ่งที่มันพูดเป็นเรื่องที่ลึกกว่า คือมันพูดเรื่องความขัดแย้งระหว่างศาสนากับคนชายขอบ มันก็เป็นประเด็นที่เป็นฟิกชั่นนะ เดอะ ดาวินชี โค้ด มีความเป็นวรรณกรรม มันพูดถึงแมกดาลีน มันตั้งคำถามว่าเธอมีตัวตนจริงเหรอ แล้วเป็นคนที่ถูกลืมจริงไหม ผมว่าแอร์พอร์ตฟิกชั่นแบบนี้ไม่ค่อยมีโทษหรอก

GM : ถ้าแอร์พอร์ต ฟิกชั่นไม่มีโทษแล้วอะไรมีโทษในงานวรรณกรรม

อนุสรณ์ : หนังสือประเภทเสมือนว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่าในเชิงจิตวิญญาณ แต่จริงๆ แล้วเป็นหนังสือ Propaganda งานพวกนี้มันเป็นวรรณกรรมแบบที่เราเรียกว่า Detergent คืออ่านแล้วรู้สึกว่าคุณได้ซักฟอกตัวเอง คุณรู้สึกว่าคุณบริสุทธิ์ขึ้น ฉลาดขึ้น หมดทุกข์ หมดโศก จุดที่ต้องระวังก็คือว่า คุณต้องไม่เชื่อว่าชีวิตเป็นสิ่งสำเร็จรูปที่ถูกจัดการได้โดยองค์ความรู้ประเภท 1-2-3-4

GM : แล้วหนังสือธรรมะที่พูดกันว่าเอาธรรมะมาย่อยให้ง่าย อย่างนั้นเข้าข่ายนี้ไหม

อนุสรณ์ : พุทธศาสนาเป็นเรื่องลำบาก เพราะพุทธศาสนามันไม่ใช่ความคิดล้วนๆ มันไม่ใช่ปรัชญาล้วนๆ มันเป็นวิถีชีวิตด้วยนะ การที่เอาพุทธศาสนามาย่อยมันเป็นคนละเรื่องนะ เช่นท่านพุทธทาสพยายามเอามาเขียนเป็นเล่มเล็กๆ มันมีประโยชน์มากนะ หนังสือของดาไลลามะเป็นหนังสือดี เป็นการเสริมให้การแสวงหาต้องออกแรงมากขึ้น คือหนังสือของตะวันออกมันจะเป็นส่วนเสริมให้การแสวงหาแข็งแรงขึ้น

แต่งานอย่าง ‘เราจะข้ามเวลามาพบกัน’ หรือ The Secret หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ มันเป็นความคิดของตะวันตก มันเป็นการลดทอนการแสวงหาหรือเป็นการยุติการแสวงหา มันทำให้การแสวงหาต้องยุติโดยเชื่อว่ามีคำตอบสำเร็จรูป มันสะท้อนความเป็น Spiritual Capitalism เป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ทำให้การเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณของคุณไปเร็วขึ้น

GM : ไม่ได้สะท้อนว่าจิตวิญญาณของคนในสังคมอ่อนแอลงหรอกหรือ เลยต้องพึ่งหนังสือแบบนี้

อนุสรณ์ : อ่านหนังสือแบบนี้ยิ่งอ่อนแอลงด้วยซ้ำ ผมมีตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องที่ผมเจอด้วยตัวเอง คุณแม่ผมเข้าโรงพยาบาล ผมต้องไปเฝ้าคุณแม่ ก็มีคนไข้มาพักเตียงข้างๆ เขาก็มาเฝ้าคุณแม่เขา เขาก็อ่าน The Secret ปรากฏว่าวันสุดท้ายที่ผมจะพาคุณแม่ออกจากโรงพยาบาล เขาก็มาคุยกับผมยาวเลยนะ ผมก็ตกใจว่าเราก็เคยเห็นหน้าเขามานานแล้วนะ ทำไมเขาไม่คุยกับเรา ใช้ห้องน้ำก็ต้องใช้ร่วมกัน

เขาก็บอกว่าในหนังสือบอกว่า ใน 1 วันเราต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างน้อยวันละ 1 คน คือมันเหมือนเสียงลี้ลับภายนอกที่บอกเขาว่าเขาควรคุยกับผม ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกข้างในที่มองเห็นคุณค่าในตัวของผม ว่าน่าคุยหรือไม่น่าคุยด้วย มันเป็น Manual of Spiritual Capitalism

คือเหมือนผมไม่ได้รู้สึกว่าคุณเป็นคนน่าคุยนะ แต่ผมรู้สึกว่าผมควรจะคุยกับคนอย่างน้อยวันละ 1 คน คือผมไม่ได้กระทบจิตใจเขาเลยนะ เพียงแต่มีเสียงก้องข้างนอกบอกเขาว่าเขาควรจะคุยกับผม เราอยู่ในคู่มือที่เขาต้องทำ นี่เป็นจุดที่ผมฉุกคิดเกี่ยวกับมันนะ

GM : มันเป็นเหมือนหนังสือ How To ที่แปลงร่าง

อนุสรณ์ : ใช่, มันเป็นการ Transform ของ How To ไปสู่คำว่า To Be สมัยก่อนเป็น How To Want-How To Get แต่ตอนนี้มันเป็นเรื่องของ To Be คือคุณต้องเป็นคนอย่างนี้ สังเกตง่ายๆ ว่าหนังสือพวกนี้ขายได้เฉพาะคนที่ยังเชื่ออยู่เสมอว่าความสำเร็จ หรือการพิสูจน์ความสำเร็จมันมีคู่มือ เป็นความคิดที่ค่อนข้างพิการ

ในขณะที่คนชนบทเขาคุยกับคนแปลกหน้าอยู่ทุกวันอยู่แล้ว ผมลงรถที่สถานีรถไฟสุรินทร์ มีคนคุยกับผมเลย ‘บ่าว ไปไสมา’ เขาไม่เห็นจำเป็นต้องมี Manual เลยว่า วันนี้จำเป็นต้องคุยกับคนแปลกหน้าให้ได้อย่างน้อย 1 คน แต่มันเกิดจากความรู้สึกภายในของเขาเองว่ามนุษย์มันก็ต้องคุยกัน แล้วคนแปลกหน้ามันเป็นคนน่าสนใจ ผิดถูกก็ต้องคุยกับเขาดูก่อน ไปค้นหามันดูก่อน แต่หนังสือพวกนี้มันได้ทำให้การแสวงหากลายเป็นสูตรสำเร็จไปเลย

GM : หนังสืออย่าง The Secret ก็เลยขายได้เฉพาะคนเมือง ชนชั้นกลาง

อนุสรณ์ : แต่คนชั้นกลางดันเป็นตลาดใหญ่ของวงการหนังสือ

GM : แล้วอย่างนี้ นักเขียนปัจเจกอย่างคุณรู้สึกอ้างว้างไหม

อนุสรณ์ : ไม่หรอก ผมมีคนอ่านของผม เท่าที่ผมรู้คนอ่านหนังสือของผมก็คือคนที่ดูหนังของ หว่อง คาร์-ไว อ่านงานของมุราคามิ มันเหมือนกับผมเป็นกระบอกเสียงที่พูดในหลายๆ สิ่งที่เขาอยากจะพูด แต่อาจจะไม่มีคนพูดออกมาให้เขาได้ยิน และเป็นการพูดที่มีรสนิยม มีวรรณศิลป์ มีการท้าทายเขาในระดับที่ค่อนข้างลงตัว

GM : เลยพูดกันว่าคุณเป็นมุราคามิเมืองไทย คุณรู้สึกอย่างไร เมื่อมีการเปรียบเทียบ อย่างนี้

อนุสรณ์ : ผมก็ดีใจนะที่ถูกเปรียบเทียบกับคนที่มีอิทธิพลในงานวรรณกรรมของโลกนี้คนหนึ่ง แม้ว่าผมอาจจะยังอุทิศตัวเองให้กับวรรณกรรมน้อยกว่าเขา ผมยังเขียนหนังสือได้ไม่มีพลัง ไม่มีสมาธิเท่าเขา แต่ก็รู้สึกดีใจ ผมมีความรู้สึกว่าผมเองก็ต่างจากเขาเยอะ ประเด็นที่ผมสนใจต่างจากมุราคามิเยอะ ผมสนใจคนชายขอบหรือคนตัวเล็กๆ ในขณะที่มุราคามิพยายามสนใจเรื่องการท้าทายสิ่งที่เรียกว่ากลุ่มย่อยกับกลุ่มใหญ่เชิงโครงสร้างมากกว่า

GM : มุราคามิก็เคยโดนข้อหาเดียวกับคุณว่าสนใจแต่ปัจเจก นักเขียนรางวัลโนเบลอย่าง เคนซาบุโร โอเอะ ก็วิจารณ์มุราคามิเสียยับ

อนุสรณ์ : เขาโดนด่าถล่มทลายเลย จนถึงวันที่มุราคามิได้รับรางวัลใหญ่จาก The Wind-Up Bird Chronicle ซึ่งโอเอะก็มามอบรางวัล จับมือกับเขา ผมมีความรู้สึกว่าเป็นธรรมดาอยู่แล้วละที่นักเขียนเชิงปัจเจกจะโดนตั้งคำถาม

แล้วจริงๆ โอเอะเขาไม่ได้เป็นสัจนิยมร้อยเปอร์เซ็นต์นะ จริงๆ เขาเป็นสัจนิยมแบบ Existentialism ซึ่งเขาก็เป็นปัจเจกนะ เพียงแต่เขาเป็นปัจเจกแบบที่ลงไปชก ลงไปชกกับชาวบ้าน เขาคงรู้สึกว่ามุราคามิ ได้แต่เต้นแท็ปแดนซ์อยู่บนฟลอร์ โอเอะเป็นคนที่ค่อนข้างมีปัญหา ชีวิตเขาต้องเผชิญกับ Conflict อยู่ตลอด

แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผมว่านักเขียนทุกคนรู้ว่าคำอธิบายของตัวเองมันก็มีข้อจำกัด แม้แต่คำอธิบายหนังสือของมุราคามิ มันก็อธิบายหลายอย่างไม่ได้นะ เพราะฉะนั้นคนที่เขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตหรือเขียนวรรณกรรม Expression ที่น่าตื่นตะลึง เราก็ต้องยอมรับเขา เพราะว่างานของผมหรืองานของมุราคามิ มันก็อธิบายความขัดแย้งเชิงโครงสร้างจำนวนมากไม่ได้นะ คุณจะเห็นเลยว่าอย่างงานเรื่อง Norwegian Wood ที่มุราคามิพยายามพูดถึงการประท้วงของนักศึกษามันก็แตะได้แค่ผิวๆ ไม่ได้ลึกถึงขั้นที่ว่าประเด็นทางการเมืองมันมีผลกระทบต่อคนยังไง มันแค่ทำให้ตัวเอกคือโทรุใช้วิธีหนีเข้าไปในเซ็กซ์ เขาก็รู้ว่าจุดอ่อนนั้นคืออะไร

เพราะฉะนั้นจริงๆ เราต้องยอมรับว่าถ้าเราใจกว้างพอ ทุกเครื่องมือมันมีจุดอ่อน คือไม่สามารถจะสื่อได้ชัดเจนหรือจะเอาเบ็ดไปตกจระเข้ได้ ทุกเครื่องมือมันมีจุดแข็งจุดอ่อน แต่สิ่งที่โอเอะชื่นชมมุราคามิก็คือ เขาก็รู้ว่าวรรณกรรมของเขามีจุดอ่อน แล้วเขารู้ว่าวรรณกรรมแบบนี้ของมุราคามิ มันสามารถทำหน้าที่ได้อย่างฉลาดในหลายๆ พื้นที่ ผมว่าจุดนั้นแหละที่โอเอะใจกว้างมากเลย ผมว่ามันไม่ใช่ความผิดของคนที่มาก่อนนะ

พูดง่ายๆ ก็คือว่า บ้านเรามันขาดวัฒนธรรมของการถกเถียง แทบจะไม่มีพื้นที่ที่แข็งแรงเลย เราไม่มีวัฒนธรรมถกเถียงแบบโต๊ะกลม Round Table ที่หมายถึงว่าการสนทนาครั้งนี้ไม่มีใครนำประเด็นนะ ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันที่จะพูด ไม่มีใครนั่งหัวโต๊ะไม่ว่าคุณจะเป็น คิง อาเธอร์ หรือคุณจะเป็น เซอร์ ลานสล็อต ทุกคนมีสิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน

GM : เพราะฉะนั้น นักเขียนใหม่ๆ จึงโดนรับน้องอยู่เสมอ

อนุสรณ์ : แล้วมันเป็นการรับน้องแบบที่คุณยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารุ่นพี่คนนี้สมควรจะได้เรียนมหาวิทยาลัยหรือเปล่า ผมยังเคยได้ยินนักเขียนอาวุโสบางคนบอกว่า ปราบดา หยุ่น ไม่ใช่นักเขียน ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นคำพูดที่ตลกมาก ผมว่ามันเป็นอคติ

GM : แล้วนักเขียนอย่าง บานาน่า โยชิโมโตะล่ะ คุณคิดว่าสร้างปรากฏการณ์อะไรบ้าง

อนุสรณ์ : บานาน่าเป็นนักเขียนที่ผมว่าหายากมากในสังคมญี่ปุ่น คือการผสานความจริงกับความฝัน หรือจินตนาการในสังคมญี่ปุ่นมันไม่ค่อยมีพื้นที่ให้นักเขียน ผู้หญิง คือคุณจะเขียนเรื่องรักก็เขียนเรื่องรัก แต่บานาน่ามันไม่ใช่เรื่องรักแบบที่เป็น ถ้าเราจะพูดว่าที่งานแบบ Magicalism มันมีพื้นที่ในวรรณกรรมญี่ปุ่นได้ ผมว่าส่วนหนึ่งบานาน่าเป็นคนวางรากฐาน

GM : บ้านเราพอจะมีนักเขียนที่ได้รับการประเมินคุณค่าน้อยไปบ้างไหม

อนุสรณ์ : ผมว่า มุกหอม วงษ์เทศ เป็นนักเขียนที่ได้รับการให้คุณค่าน้อยไป ผมไม่เคยเจอตัวจริง แต่ก็อยากจะบอกว่าคนอย่างมุกหอม ไม่ใช่ว่าสังคมไทยจะมีกันได้ง่ายๆ ผมว่าเขาเป็นคนมีคุณค่ามาก งานของมุกหอมเริ่มต้นจาก Thought ไปสู่ Intellectual และ Wisdom คุณมุกหอมใกล้เคียงระดับ Wisdom มากที่สุด อีกคนที่ผมชื่นชมก็คงเป็นปราบดา โดยเฉพาะเรื่อง ฝนตกตลอดเวลาถ้าจะพูดถึงงานแบบมายานิยมหรือ Magicalism ศิริวร แก้วกาญจน์ ก็ทำได้ดี แต่ยังไม่มีใครพูดถึงงานเรื่องนี้เท่าที่ควรคือประตูสู่การรับรู้ของคนอ่านว่าส่วนหนึ่งมันถูกชี้นำด้วยนักวิจารณ์ คุณจะเห็นว่าบ้านเรามีวัฒนธรรมหนึ่งที่ไม่เชื่อในคอมมอนเซ้นส์ของตัวเราเอง เพราะฉะนั้นนักชิมถึงมีงานมากมาย เพราะเราไม่เชื่อลิ้นตัวเอง ก็เลยต้องให้คนอื่นชิม เราไม่เชื่อหูเรามันถึงมีนักวิจารณ์เยอะแยะไปหมด เราไม่เชื่อในสายตาเรา ถึงมีนักวิจารณ์ทางทัศนศิลป์เยอะแยะไปหมด ก็เช่นเดียวกันงานที่ไม่ถูกหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์ ถึงที่สุดก็ถูกละเลยไป

GM : ที่มุกหอมเคยเปรยว่าไม่อยากเขียนหนังสืออีกแล้ว มันก็คงเป็นเรื่องน่าเศร้า

อนุสรณ์ : ผมยินดีให้ศักยภาพที่ผมมีเพื่อให้มุกหอมเขียนต่อเพื่อเก็บนักเขียนดีๆ ไว้สักคน ถ้าเขาพูดอย่างนั้นผมก็อยากให้กำลังใจ ผมเคยอ่านงานของมุกหอมที่วิพากษ์ศิลาจารึก ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ผมอ่านแล้วผมรู้สึกว่าเขาเหมือนกำลังอยู่บนสปริงบอร์ด เตรียมจะกระโดดลงมาในน้ำ

กีฬาที่เขาเรียกว่าการกระโดดน้ำน่ะ ถ้าคุณดูไม่เป็น คุณก็จะดูแค่ว่า อะไรวะคนกระโดดลงน้ำมันเป็นกีฬาตรงไหน แต่มีคนยอมฝึกเป็นปีๆ เพื่อที่จะแข่งกีฬานี้ในโอลิมปิก คุณต้องเข้าใจนะว่าการต่อสู้ของกีฬาชนิดนี้ หลักใหญ่มันอยู่ที่กาย-วิภาคของตัวเองที่จะต้องสร้างความงามในอากาศชั่วพริบตามนุษย์ทุกคนมันมีอนาโตมีเหมือนกันหมด แต่การกระโดดน้ำมันคือการฝึกอนาโตมีของคุณให้สู้กับแรงโน้มถ่วง ให้รู้ว่าถ้าลงไปในน้ำแล้วคืออะไร งานเขียนของมุกหอมมันท้าทายทั้งโครงสร้างภาษา โครงสร้างการเล่าเรื่อง โครงสร้างความคิดของคนอ่าน ผมเข้าใจมุกหอมเลยว่าคนจำนวนมากอาจจะจับอะไรไม่ได้ด้วยซ้ำ คือคนทั่วไปคงมองเห็นตอนที่มุกหอมลงไปในน้ำแล้วว่ายขึ้นมาแล้ว ‘อะไรวะ’

GM : งานของคุณเป็นแบบนั้นไหม

อนุสรณ์ : งานมุกหอมมีลักษณะการเรียกร้องความตั้งใจสูง ในขณะที่งานผมก็มีความเป็นป๊อปมากกว่า เพราะฉะนั้น ผมรู้สึกว่ามันมีกลุ่มคนอ่านของผม ผมรู้สึกว่าการสื่อสารกับกลุ่มคนอ่านตรงนี้เป็นการขยายตัวที่ผมก็พอใจนะ มันไม่ถึงขนาดป๊อปปูลาร์มาก มันก็คงเหมือนคนชมภาพยนตร์ของเป็นเอก บางเรื่องของเป็นเอกก็ดี บางเรื่องก็เกิดความรู้สึกอยากตั้งคำถาม คุณจะเห็นว่าภาพยนตร์ของเป็นเอกมันมี Issue ใหม่ๆ ให้เราขบคิด

ผมว่างานสร้างสรรค์คือการไม่ย่ำอยู่กับที่ มีหลายคนบอกผมว่าชอบ ‘ลอนดอนกับความรักในรอยจูบ’ พอมาอ่าน ‘8 1/2ริกเตอร์’ มันไม่โรแมนติก เขารู้สึกว่ามันไม่ได้อย่างใจ เช่นเดียวกับคนที่บอกว่าชอบ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ มากแสดงความเป็นไทย แล้วพอเขาทำ Last Life in The Universe ก็รู้สึกว่าทำไมเขาไม่ทำอย่างนั้น ซึ่งผมคิดว่าคุณกำลังเรียกร้องให้คนคนหนึ่งย่ำอยู่กับที่นะ

ถ้าคุณชอบ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ คุณก็ดูซ้ำสิ ทำไมคุณต้องการให้เขา Transform ตัวเองบนแกนเก่าๆ ผมรู้สึกว่าคุณเป็นเอกกำลังหนีตัวเอง แต่จริงๆ การหนีของเขาก็ได้แฟนกลุ่มใหม่ๆ มาตลอดนะ ตรงนี้ผมรู้สึกว่ามันเป็นแรงบันดาลใจให้เขายังทำงานอยู่ได้ การทำงานของเขาเป็นการค้นพบตัวเอง ผมก็รู้สึกอยากทำงานแบบนั้น หมายถึงว่าผมก็อยากท้าทายความรู้สึกคนอ่านหนังสือของผม ว่าเรื่องใหม่ของผมอาจจะไม่เจอแบบเก่าอย่างที่คุณคุ้นเคยนะ แต่รับรองว่าผมไม่ทำให้คุณรู้สึกเสียดายตังค์ คุณดูงานของคุณเป็นเอกไม่ว่าจะเป็น ‘พลอย’ ซึ่งเป็นงานที่ถ่ายง่ายมากทำง่ายๆ แต่เราก็ไม่รู้สึกว่ามันน่าเสียดายตังค์ เขาไม่ได้หลอกลวงคนที่ติดตามงานเขา

แม้แต่การ์ตูนของ วิศุทธิ์ พรนิมิตร ผมรู้สึกว่าเขาไม่ได้หลอกลวงคนติดตามงานเขา เขาทำเต็มที่นะ เพียงแต่คุณจะชอบหรือไม่ชอบเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราไม่พูดถึงความเป็นตัวจริง มันอาจจะเป็นคำที่ฟังซ้ำไป แต่ผมรู้ว่าคนเหล่านี้เขารักงานเขา แล้วเพราะเขารักงานเขา เขาก็เลยไม่หยุดอยู่กับที่ เมื่อเขาไม่หยุดอยู่กับที่บางครั้งเขาก็รู้สึกว่าเขาเสียคนที่จะเข้าใจงานเขาไปบ้าง แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้เมื่อถ่วงดุลกันแล้วมันคุ้มกับการทดลอง มันคุ้มกับการเดินไปข้างหน้า

GM : คุณมีโครงการอะไรในอนาคต

อนุสรณ์ : ใกล้ที่สุดคงเป็นนวนิยาย ‘เพลงรักนิวตริโน’ คิดว่าน่าจะเสร็จนะปลายปีนี้ ก็พยายามจะอยู่กับมันให้ได้วันละสองสามชั่วโมงผลงานหนังสือ

บทกวี : เมืองเย็น

นวนิยาย : ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ

รวมเรื่องสั้น : H2O-ปรากฏการณ์แตกตัวของน้ำบนแผ่นกระดาษ

นวนิยาย : 8 1/2 ริกเตอร์ การตามหาหัวใจที่สาบสูญ

รวมเรื่องสั้น : เคหวัตถุ (เข้าชิงรางวัลซีไรต์)

นวนิยาย : เพลงรักนิวตริโน

หนังสือแปล 5 เล่ม

• ผู้สัญจรแห่งชีวิต-รพินทรนารถ ฐากูร

• คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต

• ตำนานแห่งเสรีภาพ

• ควอนตัมอิเลคโตรไดนามิค-ทฤษฎี ประหลาดแห่งสสาร

• โลกบริสุทธิ์

South of the Border, West of the Sun

(การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก)

นวนิยายที่ว่ากันว่าคล้ายเป็นประวัติส่วนตัวของ ฮารูกิ มุราคามิ บอกเล่าเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่มีปมทางจิตแบบ ‘ลูกคนเดียว’ ซึ่งตกหลุมรักเพื่อนในวัยเรียนที่ขาเสียและมีอาการทางจิตคล้ายกัน ก่อนที่เขาจะแต่งงานกับ ยูกิโกะ เมื่ออายุ 30 ได้พ่อตารวย, ออกเงินให้ทำธุรกิจส่วนตัว ฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก แต่ทันทีที่หญิงสาวขาเสียคนเดิมปรากฏตัว ชีวิตของเขาก็เริ่มตั้งคำถามเปลี่ยนไป

“สมัยก่อนนักเขียนคือคนทำแซนด์วิช คนทำฮอตดอก แต่ตอนนี้คุณทำของสำเร็จ รูปแบบนั้นไม่ได้แล้ว คุณมีหน้าที่อย่างเดียวคือบดชีวิตออกมา”

Mother (แม่)

วรรณกรรมชิ้นเอกของโลกของ แม็กซิม กอร์กี้(แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์) นักเขียนที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนความคิดของรัสเซีย สิ่งที่งานเขียนชิ้นนี้นำเสนอคือการกล้าที่จะสะท้อนชีวิตการต่อสู้ และเปิดโปงความไม่ถูกต้อง ภายใต้การดำเนินเรื่องที่จริงจัง ทำให้เราเข้าใจต่อแนวคิด รวมถึงสัจธรรมของการเคลื่อนไหว

“ตัวงานของผมมันไม่ได้สะท้อนความเป็นชนชั้นกลางอย่างที่คุณมอง แต่มันเป็นการสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในใจของคนชั้นกลางมากกว่า”

“จุดอ่อนของวรรณกรรมเพื่อชีวิต คือเขามองทุกอย่างเป็นกล่องแล้วก็หยิบเฉพาะส่วนที่เขาพอรู้สึกว่าเขาจับต้องมันได้มาเขียน”

“จะมีใครสักคนไหมที่มาเจอสิ่งที่เราเขียนแล้วบอกว่านี่สิคือสิ่งที่ฉันอยากจะได้ยินได้อ่าน นักเขียนทุกคนมียานอวกาศส่วนตัวเดินทางไปในกาแล็กซีที่เวิ้งว้าง

“ผมว่า มุกหอม วงษ์เทศ เป็นนักเขียนที่ได้รับการให้คุณค่าน้อยไป ผมไม่เคยเจอตัวจริง แต่ก็อยากจะบอกว่า คนอย่างมุกหอม ไม่ใช่ว่าสังคมไทยจะมีกันได้ง่ายๆ”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ