fbpx

เมื่อไวรัสเปลี่ยนแปลงโลก

เรื่อง : โตมร ศุขปรีชา

– แล้วไวรัสก็กำลังจะล้างโลก!
– รำพึงนี้เป็นสิ่งที่ได้ยินและพบเห็นอยู่ทั่วไปในยุคสมัยแห่งโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ต้นเหตุแห่งโรค COVID-19 ที่ทุกคนรู้จักกันดี
– อาจไม่ใช่ไวรัสชนิดนี้หรอกที่จะล้างโลก (ซึ่งอันที่จริงก็หมายถึงการล้างเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เท่านั้นแหละ) แต่ก็เป็นไปได้อย่างยิ่ง ว่าอาจมีไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งในอนาคตที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่นี้ให้กับโลก
– แต่คำถามที่น่าถามกว่านั้นก็คือ – แล้วไวรัสคืออะไรกันเล่า
– เอาเข้าจริง เราพูดได้เลยว่า ไวรัสนั้น ‘เกือบ’ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในรูปแบบเรียบง่ายที่สุด แถมยังเปราะบางมากๆ เผชิญสภาวะไม่พึงปรารถนาไม่นานนักมันก็ ‘ตาย’ แล้ว
– แล้วสิ่งที่ ‘เกือบไม่มีชีวิต’ แบบนี้ ลุกขึ้นมาทำลายล้างสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนอย่างมนุษย์ได้อย่างไรเล่า?
– เราอาจคุ้นเคยกับคำว่า ‘แบคทีเรีย’ และ ‘ไวรัส’ จนนึกว่ามันเป็นเชื้อโรคเหมือนๆ กัน ร้ายกาจใหญ่เล็กก็คงต่างกันไม่เท่าไร แต่ที่จริงแล้ว แบคทีเรียกับไวรัสนั้นแตกต่างกันมาก ถ้าเทียบขนาดกัน แบคทีเรียโดยทั่วไปจะมีขนาดประมาณ 200-1,000 นาโนเมตร (1 นาโนเมตรคือราวๆ หนึ่งในพันล้านเมตร) ส่วนไวรัสจะเล็กกว่านั้น คือมีขนาดราวๆ 20-400 นาโนเมตร แต่ก็มีไวรัสขนาดยักษ์ ตัวมหึมาใหญ่เท่าแบคทีเรียอยู่เหมือนกัน เรียกว่า ‘แพนดอร่าไวรัส’ (Pandoravirus) ที่อาจมีขนาดใหญ่ถึง 1,000 นาโนเมตร คือใหญ่เท่าแบคทีเรียที่ใหญ่ที่สุด

แต่ที่ไม่ต่างจากแบคทีเรียเอามากๆ – ก็คือ, แบคทีเรียนั้นเรียกได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตแน่ๆ แต่ไวรัสแทบจะเรียกว่าเป็น ‘สิ่งมีชีวิต’ ไม่ได้เลย

ทำไม?

คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คือ ไวรัสไม่ได้เป็นแม้กระทั่ง ‘เซลล์’ คือเราไม่สามารถพูดได้ว่า ไวรัสเป็นแม้แต่ ‘สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว’ ด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่มันเป็นอยู่ ยังขาดคุณสมบัติแห่งการเป็น ‘เซลล์’ มากมายหลายหลากทีเดียว

พอไม่ได้เป็นแม้กระทั่งเซลล์ นักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงตั้งคำถามว่า – แล้วไวรัสเป็น ‘สิ่งมีชีวิต’ หรือเปล่า!

เราลองมาดูกันว่า – ไวรัสนั้น ‘มีชีวิต’ ไหม ด้วยการพิจารณาหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. จะเป็นสิ่งมีชีวิตได้ ต้องมีการรักษาภาวะในเซลล์หรือร่างกายให้คงที่ เรียกว่า Homeostasis แต่ไวรัสไม่มีสิ่งนี้ การรักษาภาวะในร่างกายหรือในเซลล์ให้คงที่ แปลว่าต้องมีการควบคุมโน่นนี่หลายอย่าง แต่ไวรัสไม่มีแม้แต่เซลล์ หนึ่งอนุภาคของไวรัส (เรียกว่า virion) เป็นแค่สารพันธุกรรมขยุกขยุย (ที่อาจเป็น DNA หรือ RNA ก็ได้) มากองๆ กันอยู่ใน ‘เปลือกโปรตีน’ เท่านั้นเอง ก็เลยไม่ต้องมีระบบอะไรมาคุ้มกันร้อนหนาวให้มัน

2. จะเป็นสิ่งมีชีวิตได้ ก็ต้องสืบพันธุ์ได้ ข้อนี้น่าสนใจมาก เพราะไวรัสสามารถ ‘จำลอง’ ตัวเองได้ แต่ไม่ได้แปลว่าตัวใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็น ‘รุ่นลูก’ เพราะมันไม่ได้ ‘ผสมพันธุ์’ กับใคร ดังนั้น มัน ‘สืบพันธุ์’ หรือเปล่าจึงยังเป็นคำถามใหญ่อยู่ และเป็นวิธีจำลองตัวเองด้วยการส่งผ่านสารพันธุกรรมนี่แหละ ที่ทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ขึ้นมาได้

3. สิ่งมีชีวิตต้องเติบโต ดังนั้น สิ่งมีชีวิตจะใช้สารอาหารและพลังงานทำให้มันมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือซับซ้อนขึ้น แต่ ไวรัสไม่เติบโตเลย มันจะสร้างเปลือกหุ้มตัวเองขนาดเท่าไรก็เท่านั้น ไม่โตไปกว่านั้น ไม่ซับซ้อนไปกว่านั้น ไม่ได้มีตัวอ่อนตัวแก่ จึงพูดได้ว่าไวรัสไม่มีการเติบโต

4. สิ่งมีชีวิตต้องมีการจัดการภายในตัวเป็นลำดับชั้น เช่น มีองค์ประกอบเล็กๆ มารวมเข้าจนกลายเป็นสิ่งใหญ่ เช่น กรดอะมิโนเรียงต่อกันจนเป็นโปรตีน ข้อนี้ไวรัสมีมันมีสารพันธุกรรมที่สร้างจากกรดนิวคลีอิก แล้วก็มีเปลือกหุ้ม ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างจากโปรตีน ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยย่อยๆ มากมาย

5. สิ่งมีชีวิตจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าและสิ่งแวดล้อม แต่ไวรัสนั้นยังเป็นที่กังขากัน เพราะมันไม่ค่อยตอบสนองต่อ ‘สิ่งเร้า’ แต่ตอบสนองต่อ ‘สิ่งแวดล้อม’ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเป็นสัตว์ สิ่งเร้าจะทำให้มันเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ไวรัสไม่สนใจใดๆ ทั้งนั้น มันทำอะไรอย่างไร มันก็ทำของมันต่อไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ ‘สิ่งแวดล้อม’ เปลี่ยน ไวรัสอาจจะเปลี่ยนตัวเองได้ เช่น กลายพันธุ์ให้อยู่ในที่ร้อนหนาวกว่าเดิมได้ เป็นต้น

จะเห็นว่า การบอกว่าไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตหรือเปล่า เป็นเรื่องไม่ง่ายเอาเลย ไวรัสเหมือนอยู่ในแดนสนธยาระหว่างการมีชีวิตกับไม่มีชีวิต มันจึง ‘เกือบ’ ไม่มีชีวิต และการที่มัน ‘เกือบ’ ไม่มีชีวิตนี่เอง ทำให้การใช้ยาปฏิชีวนะกับไวรัสไม่ได้ผล

ชื่อของยาปฏิชีวนะหรือ antibiotics บอกอยู่แล้วว่ามีไว้ ‘ต้าน’ สิ่งที่มีชีวิต โดยมากคือใช้กับแบคทีเรีย ยานี้จะเข้าไปทำลายแบคทีเรียด้วยวิธีการต่างๆ แต่ยาที่ใช้กับไวรัสคือยา ‘ต้าน’ ไวรัส (จะเห็นว่าไม่มีใครใช้คำว่า ‘ยาฆ่าไวรัส’) เพราะไม่ได้เข้าไป ‘ฆ่า’ มัน แต่เข้าไปขัดขวางวงจรการจำลองตัวเอง เหมือนการไปหยุดสายพานการผลิตหุ่นยนต์นั่นเอง

แต่ถึง ‘เกือบ’ ไม่มีชีวิต ก็เป็นไวรัสนี่แหละ ที่ทำให้ชีวิตอื่นๆ สูญสิ้นไปได้

 หลายคนอาจเคยเล่นเกม Plague Inc. ซึ่งเป็นเกมจำลองโรคระบาด

วิธีเล่นก็คือ เราต้องสร้างเชื้อโรคต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งก็มีตั้งแต่แบคทีเรีย เชื้อรา อาวุธชีวภาพ เชื้อประหลาดต่างๆ รวมไปถึง ‘ไวรัส’ ด้วย

เกมนี้มีการดาวน์โหลดไปเล่นมากกว่า 120 ล้านครั้งแล้ว ยิ่งเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 เกมก็ยิ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศจีน มันคือแอปฯ เกมหมายเลขหนึ่งเลย แต่เมื่อคนหันมานิยมเล่นมากขนาดนั้น ทางการจีนก็สั่งแบน นัยว่าอาจมีผลต่อการจัดการและความมั่นคงของประเทศได้

ถ้าเราจะเล่น Plague Inc. ให้ชนะ เราก็ต้องทำให้คนทุกคนในโลกติดเชื้อให้ได้ และเมื่อติดเชื้อแล้ว อาการก็จะค่อยๆ กำเริบหนัก จากนั้นสุดท้ายเราจะชนะขั้นเด็ดขาดได้ก็ต่อเมื่อประเทศแต่ละประเทศค่อยๆ ล้มเหลวกลายเป็น Fail State และสุดท้ายคนทั้งโลกก็ตายหมด

แต่การจะทำเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้ามนุษย์เริ่มรู้ตัวเสียแล้วว่าโรคระบาดหนึ่งๆ กำลังแพร่ไปเป็นวงกว้าง มนุษย์ก็จะพยายามหาวิธีรักษา มีการคิดค้นยาใหม่ๆ ออกมา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมมือกัน ส่งตัวอย่าง สูตร และวิธีรักษาไปให้กัน เราในฐานะผู้เล่นก็ต้องคอยพัฒนาความสามารถของเชื้อโรคให้มากขึ้น

ความสามารถของเชื้อโรคมีอยู่สองรูปแบบใหญ่ๆ แบบแรกคือเรื่องของ ‘การแพร่ระบาด’ เช่น เราอาจเลือกให้เชื้อโรคมีวิวัฒนาการทนต่อความร้อนความหนาวได้ หรือถ้าเก่งมากก็ทนได้ทุกสภาวะอุณหภูมิ หรือมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้รวดเร็ว ทำให้การตรวจหาพันธุกรรมของเชื้อโรคเป็นไปได้ยาก ต้องใช้เวลามากขึ้น หรือสามารถแพร่ผ่านนก หนูแพร่ผ่านอากาศ แพร่ผ่านน้ำ ฯลฯ ได้

อีกรูปแบบหนึ่งคือตัว ‘อาการ’ เช่น เชื้อโรคจะทำให้เรามีอาการเล็กๆ น้อยๆ ก่อนไหม เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก แล้วอาการก็อาจค่อยๆ รุนแรงขึ้น เช่น เป็นอัมพาต เลือดออกในสมอง หัวใจล้มเหลว หรือล้มเหลวทุกระบบ ฯลฯ

โรคที่มี ‘อาการ’ รุนแรงมากๆ ตั้งแต่ต้น เช่นพอป่วยปุ๊บก็แทบจะตายเลย มักกระตุ้นให้มนุษย์รู้ตัวเร็ว จึงหาวิธีรักษาได้เร็ว โรคแบบนี้จะไม่สามารถเอาชนะมนุษย์ได้ แต่ถ้าโรคไหนอาการแรกเริ่มไม่ค่อยหนักหนามาก ทว่าสามารถ ‘แพร่ระบาด’ ไปได้ไกล ติดต่อถึงคนไปได้ทั่วถึง แม้กระทั่งคนที่อยู่บนเกาะห่างไกล เช่น ในกรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ หรือมาดากัสการ์ แล้วจึงค่อยพัฒนา ‘อาการ’ ให้หนักขึ้นภายหลัง โรคแบบนี้มักเป็นโรคที่ ‘เอาชนะ’ มนุษย์ได้ คือสุดท้ายทำให้มนุษย์ตายได้ทั้งโลก ซึ่งภาพสุดท้ายจะน่ากลัวมาก เพราะประเทศที่ล่มสลายไปแล้วจะกลายเป็นสีแดงเถือก และถ้าแดงไปหมดทั้งโลก ก็แปลว่ามนุษย์พ่ายแพ้ ต้องสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไป

แม้ COVID-19 จะไม่ใช่โรคระบาดที่ใหญ่โตรุนแรงระดับทำให้มนุษย์สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ แต่กระนั้น มันก็มีคุณสมบัติหลายอย่างเหมือนกันกับเชื้อโรคที่จะได้ชัยชนะใน Plague Inc.

อย่างแรกสุดก็คือ มันสามารถแพร่ไปได้ง่ายโดยไม่แสดงอาการ ผู้ที่เป็นพาหะไม่มีอาการใดๆ เลย จึงไม่รู้ตัว และพาเชื้อนี้แพร่ติดไปยังคนอื่นๆ ได้อีกมาก นั่นทำให้ COVID-19 สามารถแพร่ลามไปได้ในหลายกลุ่มประชากร และเราก็ยังไม่รู้แน่ว่ามันจะสามารถพัฒนา ‘อาการ’ ที่ร้ายแรงหนักหนาขึ้นมาได้อีกหรือเปล่า หรือว่าในอนาคตมันจะกลายพันธุ์แล้วค่อยๆ อ่อนฤทธิ์ลงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับโรคระบาดครั้งก่อนๆ

 ปัจจุบันนี้เรามักคิดว่า ตัวเองปลอดภัยจากโรคต่างๆ เพราะการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นมาก แต่ในวงการแพทย์รู้ดีว่าคำถามเรื่องโรคระบาดไม่ใช่การถามว่ามันจะเกิดขึ้น ‘อีก’ ได้หรือเปล่า
– แต่คำถามสำคัญกว่าคือ มันจะเกิดขึ้น ‘เมื่อไหร่’ เพราะโรคระบาดขนาดใหญ่คือหนึ่งในอุบัติภัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์เกิดความสูญเสียมหาศาลก็เป็นได้

โรคระบาดขนาดใหญ่จากไวรัสเกิดขึ้นกับมนุษย์บ่อยครั้ง แต่ละครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านถึงหลายสิบล้านคน

ถ้าดูเฉพาะศตวรรษที่แลว พบว่าโรคระบาดจากไวรัสเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่าสามหรือสี่ครั้ง เช่น ไข้หวัดสเปน (Spanish Influenza) ในปี 1918 สังหารผู้คนไปมากถึงราว 40-50 ล้านคน ที่มีผู้เสียชีวิตมากขนาดนั้น เป็นเพราะอัตราการติดเชื้อมากถึง 50% ของประชากร ทั้งยังมีการวินิจฉัยผิดพลาดในช่วงแรก เนื่องจากเป็นไข้หวัดที่ผิดปกติมากจนวินิจฉัยได้ยาก และยังระบาดออกไปทั่วโลก ไปไกลถึงเขตอาร์กติกและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เพียง 25 สัปดาห์ ก็มีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 25 ล้านคน จึงเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงมาก

อีกการแพร่ระบาดหนึ่งที่หลายคนอาจไม่คุ้นก็คือ ไข้หวัดเอเชีย (Asian Influenza) ที่เกิดขึ้นในปี 1957 เป็นไข้หวัดที่เกิดจากไวรัส H2N2 เกิดขึ้นจากจีนตั้งแต่ปี 1956 แล้วค่อยๆ แพร่ระบาดออกไปผ่านเป็ดป่า จนระบาดไปถึงสิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตราว 2 ล้านคน

อีกครั้งหนึ่งที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึงราว 1 ล้านคน คือ Hong Kong Influenza เกิดขึ้นในราวปี 1968-1969 เกิดจากไวรัส H3N2 ที่กลายพันธุ์มาจาก H2N2 นั่นเอง โดยผู้สูงวัยมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ไข้หวัดที่เกี่ยวพันกับสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู หรือไข้หวัดที่เกี่ยวข้องกับค้างคาวและสัตว์อื่นๆ นั้น มีอัตราการระบาดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหากเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นมาจริงๆ คาดการณ์อย่างเลวร้ายที่สุดเอาไว้ว่า อาจทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตได้ถึง 33 ล้านคน โดยใช้เวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น

แต่การระบาดก็ใช่ว่าจะต้องร้ายแรงเสมอไป ในภาษาไทยเราอาจเรียกรวมๆ ว่า ‘โรคระบาด’ แต่ที่จริงในภาษาอังกฤษมีการแบ่งการระบาดออกหลายแบบตามระดับความรุนแรง จึงต้องแยกแยะให้ถูกว่าโรคระบาดที่เกิดขึ้นมีระดับความรุนแรงแบบไหน เช่น

Sporadic : หมายถึงโรคระบาดที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เกิดขึ้นประปราย ไม่มากมายอะไร
Endemic : หมายถึงโรคที่แพร่ไปในพื้นที่หนึ่งๆ คำว่า Endemic หมายถึง พื้นถิ่น พื้นเมือง จึงหมายถึงโรคที่พบได้ในพื้นที่จำกัด
Hyperendemic : หมายถึงการแพร่ระบาดแบบ Endemic ที่เกิดขึ้นนานกว่า หรือถี่กว่าปกติ
Epidemic : หมายถึงโรคระบาดที่อุบัติขึ้นมาและแพร่ไปในพื้นที่ที่กว้างกว่า Endemic
Pandemic : หมายถึงโรคระบาดขนาดใหญ่ที่กระจายไปในหลายประเทศหรือหลายทวีป และส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก

แน่นอน – COVID-19 คือ Pandemic

– ไวรัสนั้นไม่มีกระบวนการเมตาโบลิซึมในตัวเอง ดังนั้น มันจึงต้องไปใช้กระบวนการเมตาโบลิซึมของเซลล์อื่นๆ ที่มันไปอาศัยให้เป็นประโยชน์

แต่ไม่ได้แปลว่ามันจะไปเกาะแล้วดูดกินแบบปรสิต เพราะไวรัสไม่ต้องกินอะไร แต่มันใช้เซลล์ ใช้พลังงาน และ ‘อุปกรณ์’ ในเซลล์เหล่านั้น (เรียกว่า ออร์กาเนล) เพื่อการจำลองสารพันธุกรรมของมัน

เวลาเราบอกว่าใครสักคน ‘ติดเชื้อ’ (infect) ไวรัส แปลว่าไวรัสเข้าไปใช้กลไกและอุปกรณ์ต่างๆ ของเซลล์ของเรา เพื่อจำลองสารพันธุกรรมของมันเอง กระบวนการนี้เรียกว่า Replication

พูดแบบย่นย่อ กระบวนการ Replication มีขั้นตอนใหญ่ๆ แค่สองขั้นตอน ขั้นแรกก็คือเมื่อไวรัสเข้าไปสู่ร่างกายแล้ว มันจะพยายามหา ‘ที่เกาะ’ กับผิวของเซลล์ ซึ่งที่ยึดเกาะนี้ ส่วนใหญ่ต้องมีลักษณะจำเพาะเจาะจง มันถึงจะเกาะได้ เราเรียกที่เกาะนี้ว่า ‘ตัวรับ’ หรือ Receptors

ปกติแล้ว ตัวรับที่ว่าจะยื่นออกมาจากเซลล์ แล้วเข้า ‘ล็อก’ กันพอดีกับโมเลกุลที่เป็นสารอาหาร พอจับได้ปุ๊บ เซลล์ก็จะมีกระบวนการดึงสารอาหารพวกนี้เข้ามาข้างในเพื่อใช้เป็นพลังงานต่อไป

แต่ไวรัสฉลาดเฉลียว แม้มันไม่มีสมอง และเกือบไม่มีชีวิต แต่ก็ยัง ‘หลอกลวง’ เซลล์ได้ ด้วยการที่เปลือกแคปสิดของไวรัสแต่ละสายพันธุ์จะมีรูปร่างพอเหมาะพอดีกับล็อกหรือตัวรับที่ว่านี้ในเซลล์บางประเภท เมื่อไวรัสไปเกาะกับตัวรับ เซลล์ก็จะคิดว่าไวรัสเป็นอาหาร มันก็เลยดึงเข้าไป (ที่จริงกระบวนการที่ว่านี้มีความซับซ้อนหลากรูปแบบ เช่น ไวรัส ‘ฉีด’ สารพันธุกรรมเข้าไปในเซลล์ หรือบางทีก็เอาโปรตีนของตัวเองมา fuse หรือหลอมรวมกับโปรตีนที่เยื่อหุ้มเซลล์ แล้วค่อยส่งสารพันธุกรรมเข้ามาก็มี พูดอีกอย่างคือ – มันมีความเป็น ‘เอเลี่ยน’ สูงมาก) ไวรัสส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกดึงเข้าไปทั้งเนื้อทั้งตัว แต่จะทิ้งเปลือกแคปสิดเอาไว้ข้างนอก ปล่อยเข้าไปเฉพาะสารพันธุกรรมเท่านั้น

แล้วก็มาถึงขั้นตอนที่สอง ขั้นตอนนี้ก็คือเมื่อสารพันธุกรรมหลุดเข้ามาในเซลล์แล้ว ก็จะเกิดขั้นตอนที่ซับซ้อน คือมีการจำลองตัวเองขึ้นมา โดย ‘อุปกรณ์’ ในเซลล์ที่สำคัญมากต่อการจำลองตัวเองขึ้นมาก็คือ ออร์กาเนล (organelle) บางอย่างในเซลล์ ทำให้เซลล์นั้นๆ เป็นเสมือน ‘โรงงานผลิตไวรัส’ คือจะเกิดการสร้างสารพันธุกรรมของไวรัสขึ้นมามากมาย จากนั้นแต่ละสารก็จะสร้างเปลือกหรือแคปสิดขึ้นมาห่อหุ้มตัวเองโดยใช้ทรัพยากรต่างๆ ของเซลล์ (พูดง่ายๆ ก็คือขโมยนั่นเอง)

ทีนี้เซลล์ก็จะมีสภาพเหมือนคนที่ถูกเสกอะไรเข้าท้อง เมื่อท้องมีขนาดใหญ่มากเข้าก็ย่อมแตกออก ไวรัสจึงแพร่ออกมาข้างนอกได้ ที่จริงแล้ว ไวรัสสามารถแพร่ออกจากเซลล์ได้หลายวิธี วิธีหนึ่งก็คือทำให้เซลล์แตกดับทำลายไปเลย แต่อีกวิธีหนึ่งเรียกว่า budding คือค่อยๆ ออกมาอย่างละมุนละม่อม ไม่ได้ทำให้เซลล์แตก

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไวรัสจะทวีจำนวนขึ้นมา แล้วหมุนวนเป็นวงจรเพื่อจำลองตัวเองให้มากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็ก่อให้เกิดอาการของโรคขึ้นมา

 หลายสำนักทำนายว่า ปีนี้ GDP ของแต่ละประเทศ น่าจะลงไปอยู่ในระดับติดลบ แล้วไม่ใช่ลบแบบเลขตัวเดียวด้วย กระทั่งประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา GDP ก็อาจติดลบได้ถึงระดับเลขสองหลัก

นี่คือสภาวะที่น่ากลัวอย่างยิ่ง

กลัวว่าจะตายเพราะไวรัส – ยังน้อยกว่ากลัวว่าจะตายเพราะอดตาย

ดังนั้น จึงอยากชวนคุณมาดูกันว่า ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ เขามองปรากฏการณ์ COVID-19 นี้อย่างไรกันบ้าง

ในยามปกติ นักเศรษฐศาสตร์จะสนใจเรื่องการใช้ทรัพยากร เราน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่า
ทรัพยากรทั้งหลายนั้นมีจำกัด ดังนั้น หน้าที่ของนักเศรษฐศาสตร์ก็คือการกระจายทรัพยากร
ที่มีจำกัดออกไปให้ทั่วถึงด้วยวิธีการต่างๆ

ในเวลาทั่วๆ ไป ทรัพยากรก็คือทรัพยากร ส่วนเรื่องของสาธารณสุขก็คือเรื่องของสาธารณสุข เราไม่ได้ต้องเลือกอะไรมากมายนัก แต่ในเวลาที่เกิดโรคระบาด นักเศรษฐศาสตร์อย่าง โจชัว แกนส์ (Joshua Gans) บอกว่าเราต้องเผชิญหน้ากับตัวเลือกที่น่าหวาดหวั่นอย่างยิ่ง

มันคือการเลือกระหว่าง ‘เงิน’ (หรือเศรษฐกิจ) กับ ‘ชีวิต’ (หรือสาธารณสุข)

วิธีที่ทั่วโลกใช้ในการรับมือกับ COVID-19 ก็คือการ ‘ล็อกดาวน์’ หรือปิดเมือง ซึ่งแน่นอน – นี่เป็นวิธีที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การหมุนเวียนของเงิน และการกระจายทรัพยากรต่างๆ อย่างถึงรากของอารยธรรม

นักเศรษฐศาสตร์บางคนบอกว่า ถ้าเราเลือกจะรักษาชีวิตคนเอาไว้ ก็แปลว่าเราต้องยอมให้ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย (อย่างน้อยก็ชั่วคราว) แต่ในภาวะที่โรคระบาดนั้นๆ ไม่ได้รุนแรงมาก บ่อยครั้งเราก็เลือก ‘เงิน’ หรือระบบเศรษฐกิจมากกว่าเลือกรักษาชีวิตคน เช่น ไข้หวัดใหญ่ระบาดทุกๆ ปี แต่ก็ไม่เคยมีใครคิดว่าควรจะต้องล็อกดาวน์หรือหยุดทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อป้องกันการระบาดนั้น (แม้จะมีวัคซีน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนบนโลกได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่) เหตุผลหลักก็คือ มนุษย์ได้ ‘เลือก’ แล้วที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเอาไว้มากกว่า และเพราะโรคระบาดอย่างไข้หวัดใหญ่ไม่ได้รุนแรงอะไรนัก

แต่การ ‘เลือก’ รักษาระบบเศรษฐกิจไว้ ก็ไม่ได้เลือกแบบเทไปข้างเดียวเท่านั้น สิ่งสำคัญก็คือ ตลอดมา มนุษย์พอจะรักษาสมดุลระหว่างการรักษาระบบเศรษฐกิจและการรักษาชีวิตเอาไว้ได้ ทว่าการมาถึงของ COVID-19 ได้ทำให้สมดุลนี้เสียไปอย่างรุนแรง

ถ้าเราดู ‘เฟส’ ต่างๆ ของการระบาด เราจะพบว่า ในช่วงแรกสุด มนุษย์รับมือกับโรคระบาดนี้ด้วยการพยายามจำกัดวงไม่ให้มันขยายตัวกว้างออกไป เรียกว่า Containment คือถ้ารู้ว่าใครติดเชื้อ ก็ต้องกักตัวเอาไว้จนกว่าจะรักษาหาย (หรือในอีกทางหนึ่ง – จนกว่าจะเสียชีวิต) ซึ่งก็คือการกำจัดเชื้อโรคนี้ออกไป ไม่ให้มันเข้ามาติดต่อกับมนุษย์คนอื่นๆ ได้

แต่อย่างที่เรารู้กันอยู่ว่า COVID-19 มีความสามารถพิเศษติดต่อได้แม้ยังไม่แสดงอาการ คนจำนวนมากจึงไม่รู้ว่าตัวเองเป็นพาหะ กระทั่งประเทศใหญ่ที่เข้มงวดเรื่องนี้อย่างสหรัฐอเมริกา ในช่วงแรกก็มีผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวแพร่ลามไปเป็นวงกว้าง ถึงขั้นมีการประกาศออกมาเลยว่า COVID-19 เป็นโรคที่ Uncontainable คือไม่สามารถจำกัดวงมันเอาไว้ได้

เมื่อเป็นแบบนี้ สิ่งที่ทำได้ต่อมาก็คือการต้องพยายาม ‘แตะเบรก’ ด้วยการกันไวรัสไม่ให้แพร่กระจายต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายดายเลย และในที่สุดก็นำมาสู่ขั้นตอนการ ‘แลก’ ทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อไม่ให้ไวรัสมันแพร่กระจายไปได้ นั่นก็คือการล็อกดาวน์ หรือ ‘หยุด’ เมืองทั้งเมือง (หรือกระทั่งประเทศทั้งประเทศ) เพราะไวรัสแพร่กระจายผ่านการติดต่อกันของมนุษย์ การหยุดกิจกรรมต่างๆ ลงอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นหนทางเดียวที่จะกีดขวางการแพร่กระจายของไวรัสได้

แต่แน่นอน ต้นทุนของการตัดสินใจเช่นนี้เป็นเรื่องใหญ่และหนักหนาสาหัสมาก การล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาจก่อให้เกิดการหดตัวครั้งใหญ่ที่สุดของโลก นับตั้งแต่เคยเกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่เรียกว่า The Great Depression ในทศวรรษ 1930s ผลลัพธ์ของเรื่องนี้กระจายตัวไปถึงผู้คน ทว่าในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ผลของมันจะกระจายไปไม่เท่าเทียมกัน คนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว จะได้รับผลกระทบเรื่องนี้มากกว่าคนรวยหรือคนที่มีฐานะ ซึ่งก็ทำให้การใช้นโยบายการเงินการคลังทั้งหลายเป็นไปได้ยาก การ ‘หยุด’ ระบบเศรษฐกิจ แปลว่าคนที่กำลังจะตกชั้นในทางเศรษฐกิจ อาจต้องร่วงหล่นลงไปจริงๆ ก็ได้ นี่จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่แต่ละประเทศต้อง ‘คิดใหม่’ ในแบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน

COVID-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงความเป็นไปได้ในเชิงการผลิต เพราะเมื่อเราต้อง ‘หยุด’ อยู่กับบ้าน การผลิตหรือผลิตภาพ (Productivity) ก็ชะงักงัน ดังนั้นเรื่องสำคัญมากจึงคือการหาวิธีที่จะอยู่ต่อไปให้ได้ โดยไม่ทอดทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง

มีผู้เสนอว่า เราต้องพิจารณาเรื่องนี้ในแบบที่เรียกว่าเป็น Long Emergency หรือเรื่องฉุกเฉินอันยาวนาน

ปกติแล้ว เวลาเราพูดคำว่า ‘เรื่องฉุกเฉิน’ นัยที่แฝงอยู่ในคำนี้คือช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่นานเหตุฉุกเฉินก็จะผ่านไป แต่ COVID-19 ไม่เป็นแบบนั้น เพราะมันคือเรื่องที่ ‘ฉุกเฉิน’ จริงๆ แต่เป็นภาวะฉุกเฉินที่จะอยู่กับเราต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถผลิตวัคซีนขึ้นมาได้ และผู้คนทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนจนมีภูมิคุ้มกัน ภาวะฉุกเฉินนี้จึงจะหมดไป

คำถามก็คือ แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะสร้างภาวะดึงรั้งระหว่างระบบเศรษฐกิจและการรักษาชีวิตคน (ผ่านการล็อกดาวน์) ได้อย่างไร

โทมัส พูเอโย (Tomas Pueyo) เสนอเอาไว้ว่า เราควรต้องใช้มาตรการที่เรียกว่า Hammer and Dance หรือเข้มงวดสลับกับผ่อนคลายในจังหวะที่เหมาะสม

มาตรการที่เข้มงวดนั้นจะทำให้เราจำกัดวงการระบาดของไวรัสได้ แต่ก็จะทำให้คนจำนวนมากขาดรายได้ ไม่มีจะกิน และอาจอดตายได้ ดังนั้น มาตรการเด็ดขาดเข้มงวดจึงไม่ควรดำเนินอยู่นานเกินไป อาจประกาศได้ 2-3 สัปดาห์ แล้วจากนั้นก็ต้องผ่อนคลาย เป็นการรักษาสมดุลเพื่อเหวี่ยงกลับไปเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจอีกหน

แต่ก็แน่นอน เมื่อการผ่อนคลายเกิดขึ้น ก็เป็นไปได้ที่ไวรัสจะแพร่ระบาดพุ่งสูงขึ้นอีก ดังนั้น หลังผ่อนคลายได้ระยะหนึ่ง เมื่อดูท่าทีของตัวเลขแล้วเห็นว่ากำลังเข้าสู่โซนอันตราย ก็อาจต้องกลับมาสู่ภาวะเข้มงวดเด็ดขาดอีกครั้ง

มันจึงเป็นสภาวะที่เรียกว่า Hammer and Dance คือมีการใช้ค้อนเหล็กบังคับควบคุม สลับกับการปล่อยให้คนออกมาเริงระบำ โดยถ้าเราคิดว่านี่คือ Long Emergency หรือภาวะฉุกเฉินอันยาวนาน ก็จะเป็นที่เข้าใจตรงกันว่า สองสภาวะนี้จะเกิดสลับกันต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างน้อยๆ ก็จนกว่าจะมีวัคซีนออกมา โดยสองสภาวะนี้อาจเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลายาว-สั้นแตกต่างกันไปได้ตามสถานการณ์

 จะเห็นว่า สิ่งมีชีวิตที่เล็กจิ๋วที่สุด และถึงขั้นเกือบไม่มีชีวิต กลับมีอิทธิพลมหาศาลใหญ่หลวง ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงโลกและวิธีคิดของเราได้มากมาย
 มีผู้ทำนาย ‘ฉากทัศน์’ หรือ Scenario หลัง COVID-19 เอาไว้มากมาย ทั้งในแง่ดีและร้าย ทั้งต่อตัวมนุษย์เอง และต่อสิ่งแวดล้อมกับธรรมชาติ แต่ก็ไม่มีใครรู้แน่หรือกล้าฟันธงได้ว่า – แท้จริงแล้วมันจะเป็นอย่างไร
เพราะชีวิตแต่ละชีวิตขึ้นอยู่กับชีวิตทุกชีวิต
ชีวิตทุกชีวิตจึงขึ้นอยู่กับชีวิตแต่ละชีวิตด้วย
ชีวิตอันซับซ้อนของมนุษย์ และชีวิตเล็กจิ๋วที่เกือบไม่มีชีวิตของไวรัสก็สัมพันธ์กันแบบนั้นด้วย…

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ