IDLE : เราควรเรียกขานมะเร็งความเสี่ยงต่ำด้วยนามใหม่?
การแพทย์ยุคใหม่ค้นพบว่า มะเร็งนั้นมีทั้งที่ร้ายกาจและที่ไม่ร้ายแรงอะไรเลย คำถามก็คือ แล้วเราควรจะเรียกมะเร็งสองประเภทที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วนี้ด้วยชื่อเดียวกันอยู่อีกหรือเปล่า
Reasons to Read
- การแพทย์ยุคใหม่ค้นพบว่า มะเร็งนั้นมีทั้งที่ร้ายกาจและที่ไม่ร้ายแรงอะไรเลย คำถามก็คือ แล้วเราควรจะเรียกมะเร็งสองประเภทที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วนี้ด้วยชื่อเดียวกันอยู่อีกหรือเปล่า
- การเปลี่ยนชื่อเรียกมะเร็งความเสี่ยงต่ำมากๆ เหล่านี้ ไม่ได้มีแค่ผลทางจิตใจเท่านั้น แต่ยังมีผลในเรื่องของการรักษาด้วย
เวลาบอกว่า – คุณเป็นมะเร็ง, หลายคนตกอกตกใจ แล้วหลายคนก็อาการแย่ลงเพราะรู้สึกเหมือนถูก ‘ประทับตรา’ ว่าเป็นโรคร้ายประเภทที่รักษาให้หายขาดได้ยาก หรืออาจจะรักษาให้หายไม่ได้เลย
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คำว่า ‘มะเร็ง’ ได้สร้างความกลัวอันเป็นสากลขึ้นมา ใครเป็นมะเร็งมักถูกมองว่าป่วยหนักเพียงอย่างเดียว
แต่ที่จริงแล้วมะเร็งมีหลากหลายชนิดมาก คำว่ามะเร็งหรือ Cancer หรือที่เรียกกันโดยใช้ศัพท์ทางการแพทย์ว่า Carcinoma (และแยกย่อยออกไปอีกหลายต่อหลายชนิด) ที่จริงมีมากมาย สามารถแบ่งออกโดยความสามารถที่จะลุกลามแพร่กระจาย (หรือ Metastatic Potential) ตั้งแต่ประเภทที่มีโอกาสลุกลามต่ำมากๆ เช่น น้อยกว่า 5% ในช่วงเวลายี่สิบปี จนถึงประเภทที่มีโอกาสลุกลามสูงมาก เช่น มากกว่า 75% ในช่วงเวลาสองปี ซึ่งมะเร็งชนิดแรกนั้นต้องบอกว่าเป็นมะเร็งที่มีความเสี่ยงแบบ Ultralow Risk คือเสี่ยงต่ำมากๆ ยิ่งการแพทย์มีวิวัฒนาการสูงขึ้น ความเสี่ยงที่มะเร็งจะแพร่กระจายลุกลามหรือผู้ป่วยต้องเสียชีวิตก็ยิ่งต่ำลงไปอีก
ตัวอย่างของมะเร็งที่อาจมีความเสี่ยงต่ำมากๆ มีอาทิ มะเร็งต่อมไธรอยด์ มะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงมะเร็งเต้านมด้วย แน่นอน นี่คือการพูดแบบหยาบๆ นะครับ เพราะก็ยังมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเหล่านี้ได้อยู่เหมือนกัน สมมติว่าเราเป็นมะเร็งเต้านม เราจะพบว่ามะเร็งเต้านมมีทั้งประเภทที่อาจเกิดซ้ำได้ ซึ่งก็มีวิธีรักษาหลากหลาย เช่น ตัดออก ใช้เคมีบำบัด ฯลฯ แต่ก็มีบางประเภทเหมือนกัน ที่มีงานวิจัยพบว่า ต่อให้ไม่รักษาอย่างเป็นระบบเลย ผู้ป่วยก็สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก 10 ปี 100% เต็ม (ดูงานวิจัยเรื่องนี้ได้ที่นี่https://jamanetwork.com/journals/jamaoncology/fullarticle/2634502?utm_campaign=articlePDF&utm_medium=articlePDFlink&utm_source=articlePDF&utm_content=jamaoncol.2017.1261)
การวินิจฉัยมะเร็งว่าประเภทไหนอันตราย ประเภทไหนมีความเสี่ยงต่ำมากนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องอาศัยการตีความผลที่ซับซ้อนลงลึก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่า เนื้องอกหนึ่งๆ เป็นเนื้องอกที่มีความเสี่ยงต่ำจนไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ปัจจุบันมีการทดสอบทางพันธุกรรม ที่ทำให้เราเข้าใจความเสี่ยงและระยะเวลาของการที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำได้ละเอียดขึ้นมาก (มีรายละเอียดจากงานวิจัยนี้ ถ้าสนใจสามารถตามไปอ่านได้นะครับ https://www.bmj.com/content/362/bmj.k3322.short)
พูดง่ายๆ ก็คือ การแพทย์ยุคใหม่ค้นพบว่า – มะเร็งนั้นมีทั้งที่ร้ายกาจและที่ไม่ร้ายแรงอะไรเลย คำถามก็คือ แล้วเราควรจะเรียกมะเร็งสองประเภทที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วนี้ด้วยชื่อเดียวกันอยู่อีกหรือเปล่า
ลอรา เอสเซอร์แมน (Laura Esserman) เสนอว่า เราควรจะ ‘เปลี่ยน’ การเรียกชื่อมะเร็งความเสี่ยงต่ำได้แล้ว โดยไม่ควรเรียกมะเร็งเหล่านี้ว่ามะเร็ง เพราะคำว่ามะเร็งทำให้เราเกิดความกลัวโดยใช่เหตุ และความกลัวก็อาจส่งผลกระทบต่อท้ังจิตใจและร่างกายของผู้ป่วยได้มาก มีการศึกษาพบว่า พอผู้ป่วยรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง อาการก็ทรุดหนักลงเนื่องจากสาเหตุทางจิตใจ ไม่ใช่การดำเนินของโรคตามที่ควรจะเป็น พูดภาษาบ้านๆ เหมือนที่เราๆ พูดกันทั่วไปก็คือ กำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ แต่คำว่า ‘มะเร็ง’ ซึ่งเป็นคำร้ายแรงนั้น บั่นทอนกำลังใจของผู้ป่วยอย่างมาก
ทุกวันนี้ มีการตรวจพบมะเร็งความเสี่ยงต่ำมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น มะเร็งต่อมลูกหมากที่มีอัตราการแพร่ลุกลามน้อยมาก คือแค่ 2% ในระยะเวลา 10 ปีนั้น พบได้แพร่หลายทั่วไป ส่วนมะเร็งทรวงอกที่อยู่ในข่ายความเสี่ยงต่ำมาก ก็พบได้มากถึง 35% แล้วถ้าดูมะเร็งทั้งหมด พบว่ามะเร็งความเสี่ยงต่ำมากเพิ่มจาก 3% ในปี 1985 มาเป็น 25% ในปัจจุบัน
ลอราจึงเสนอว่า (ดูบทความนี้ https://www.bmj.com/content/364/bmj.k4699) เราน่าจะเรียกมะเร็งความเสี่ยงต่ำนี้เสียใหม่ว่า IDLE หรือ Indolent Lesions of Epithelial Origin ซึ่งไม่มีคำว่า Carcinoma อยู่ในนั้นเลย แถมคำว่า IDLE ก็ยังฟังดูไม่น่ากลัวด้วย เพราะคำว่า Idle แปลว่าอยู่นิ่งๆ มีนัยแฝงว่าเป็นมะเร็งชนิดที่ไม่ได้ลุกลาม
การเปลี่ยนชื่อเรียกมะเร็งความเสี่ยงต่ำมากๆ เหล่านี้ ไม่ได้มีแค่ผลทางจิตใจเท่านั้นนะครับ แต่ยังมีผลในเรื่องของการรักษาด้วย เพราะเวลาผู้ป่วยรู้ตัวว่าเป็น ‘มะเร็ง’ ขึ้นมา หลายคนมักจะขอให้หมอรักษาให้มันจบๆ ไป ไม่ว่าจะใช้วิธีอะไรก็ตาม ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจไม่ต้องการการรักษาขนาดนั้นก็ได้ เพียงแต่ต้องยอมรับและเฝ้าระวัง คือมาตรวจเป็นช่วงๆ เท่านั้น บ่อยครั้งจึงเกิดการสูญเสียทรัพยากรทางการแพทย์มากเกินไป
สิ่งที่ ลอรา เอสเซอร์แมน เสนอ – ก็คือเมื่อเปลี่ยนชื่อเรียกแล้ว เราก็จะสามารถ ‘อยู่’ กับมะเร็งความเสี่ยงต่ำนั้นได้ โดยต้องมีการเฝ้าระวังอย่างแข็งขัน (Active Surveillance) กับมัน แบบเดียวกับที่ผู้ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน ต้องควบคุมความดันและการบริโภคน้ำตาลนั่นแหละครับ ซึ่งถ้าเราเข้าใจว่าเราเป็นมะเร็งแบบไหน เราก็จะรับมือกับมัน เปลี่ยนวิถีชีวิต และคอยจับตาดูอาการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องรู้สึกเครียดหรืออยากจะกำจัดมันทิ้งไปในทันที เพราะมีงานวิจัยที่บอกว่า การ ‘รักษามากเกินไป’ (Overtreating) นั้น ไม่ได้ลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต หรือไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยขึ้นนะครับ ดังนั้น สิ่งสำคัญกว่าก็คือการพัฒนาการแยกแยะมะเร็งชนิดต่างๆ ให้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น เพื่อจะได้นำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งความเสี่ยงต่ำ โดยการเปลี่ยนชื่อก็เป็นวิธีการส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ทุกแนวคิดย่อมมีผู้เห็นค้าน ในเรื่องนี้มีเสียงค้านว่า – เป็นไปได้อีกเช่นกันที่การเปลี่ยนชื่อไม่เรียกว่ามะเร็ง จะทำให้เกิดการ ‘รักษาที่น้อยเกินไป’ (Undertreatment) เช่น เวลาเราตัดชิ้นเนื้อไปทดสอบ เราตัดแค่ส่วนเล็กๆ ของชิ้นเนื้อนั้นไปเท่านั้น จึงอาจบอกไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอนว่าส่วนอื่นๆ ของก้อนเนื้อเป็นมะเร็งประเภทที่มีความเสี่ยงสูงหรือต่ำ เพราะมะเร็งก็คือการกลายพันธุ์ของเซลล์ เซลล์แต่ละส่วนของก้อนเนื้ออาจมีการกลายพันธุ์ที่แตกต่างกันไปก็ได้ เพราะฉะนั้น เสียงคัดค้านจึงบอกว่า การเปลี่ยนชื่อเรียกอาจไม่จำเป็น
เรื่องที่จำเป็นมากกว่า ก็คือการให้การศึกษาเพื่อให้คนรู้ว่ามะเร็งมีได้หลากหลายชนิด การให้การศึกษาที่ว่า ไม่ได้ทำเฉพาะในคนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้บุคลากรทางการแพทย์ตามทันความรู้ใหม่ๆ เหล่านี้ด้วย แต่การสร้างศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมา จะทำให้เกิดความสับสนมากกว่าจะช่วยแก้ปัญหา มะเร็งก็คือมะเร็ง มะเร็งชนิดที่แทบไม่เป็นอันตรายอะไรเลย เช่น มะเร็งในบางส่วนของต่อมไธรอยด์ที่มีขนาดเล็ก ถ้าตัดออกจะแทบไม่ส่งผลอะไรกับผู้ป่วยเลย แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน ก็อาจกลายเป็นเนื้องอกขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ เป็นต้น ดังนั้น เรื่องสำคัญกว่าการเปลี่ยนชื่อ จึงคือการให้การศึกษา เพื่อให้รู้ว่าความเสี่ยงนั้นมี ‘ลำดับต่อเนื่อง’ (Continuum of Risk) ของมันอยู่ คือมีเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย
เอาเป็นว่า เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เวลาตัวคุณเอง เพื่อน หรือญาติใกล้ชิดได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ก็อย่าเพิ่งตื่นตกใจไปนะครับ แต่ให้ลองศึกษาดูก่อนว่ามะเร็งชนิดนั้นๆ อยู่ในระยะไหน ภาวะที่จะแพร่ลุกลามเป็นอย่างไร เป็นมะเร็งที่มีความเสี่ยงสูงหรือต่ำมากน้อยอย่างไร ที่ดีที่สุดก็คือให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อรับรู้ถึงการดำเนินโรคและแผนการรักษาของแพทย์ท่านนั้นๆ จะหาความเห็นที่สองจากผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ด้วยก็น่าจะดี เพื่อให้ความรู้ได้ตรวจสอบกันและกัน แต่ที่สำคัญที่สุดก็คืออย่าเพิ่งใจเสีย
เพราะอย่างที่บอกนั่นแหละครับ – กำลังใจคือเรื่องสำคัญที่สุด ถ้ากำลังใจเสียไปแล้วละก็ อาจทำให้เราไม่มีกำลังวังชาที่จะต่อสู้กับโรคร้ายใดๆ ได้
IDLE จึงเป็นศัพท์ใหม่ที่แม้ยังเป็นเพียงข้อเสนอ ทว่าก็ทำให้เราได้รู้ว่ามีความก้าวหน้าในวงการแพทย์เรื่องมะเร็งอย่างไรบ้าง
และนั่นแหละครับ – คือประโยชน์สำคัญของคำคำนี้!