fbpx

Hua Lamphong in Your Eyes: หนึ่งร้อยสิบปี สถานี ‘หัวลำโพง’

เราทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทชีวิตแบบใด ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะแบบไหน ต่างต้อง ‘เดินทาง’ สักครั้งหนึ่งในชีวิต…

เดินทางในเชิงกายภาพ ไปยังสถานที่อื่นๆ ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย แตกต่างกันออกไป ทั้งเดินทางเพื่อธุรการงาน เดินทางเพื่อกลับสู่อ้อมกอดแห่งบ้าน หรือเดินทางไปยังที่ที่ไม่เคยไป เพื่อตามหาคำตอบของชีวิตและตัวตนในเชิงอุปมาอุปมัย

เราต่างเป็น ‘นักเดินทาง’ ตราบเท่าที่ชีวิตจะอนุญาตให้เรามีลมหายใจ ไม่ครั้งใดก็ครั้งหนี่ง

นั่นทำให้การคมนาคมขนส่ง คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และจะมีระบบการเดินทางใด ที่จะสำคัญเปรียบได้กับ ‘เส้นเลือดของประเทศ’ ได้เท่ากับ ‘ระบบขนส่งทางราง’ ที่เชื่อมโยงทุกภูมิภาค และนำพาทุกชีวิตที่หลากหลายเหตุและผลของการเดินทาง ไปสู่จุดหมาย

และ ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ หรือ ‘หัวลำโพง’ สถานีกลางใหญ่ ก็ได้ทำหน้าที่นำพาชีวิตไปสู่การเดินทาง อย่างอดทน อย่างซื่อสัตย์ และอย่างยาวนานมากว่าหนึ่งร้อยสิบปี

จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบรถไฟรางและการขนส่ง ที่จะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาค และพระราชทานพระราชานุญาต ให้เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2453 และใช้เวลาถึงหกปี จึงแล้วเสร็จ และเปิดใช้งานในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

เป็นหนึ่งใน ‘การพัฒนา’ ให้ประเทศสยามมีความทันสมัย ทัดเทียมกับชาติตะวันตก เช่นเดียวกับการมาถึงของระบบธนาคาร ไปรษณีย์ การแพทย์ และการพิมพ์ ที่เป็นรากฐานของความเจริญที่จะถูกต่อยอดในยุคสมัยถัดมา

และนั่นทำให้สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ ‘หัวลำโพง’ มีความพิเศษที่ไม่เหมือนใคร ทั้งในแง่ฟังก์ชันการใช้งาน และสไตล์การออกแบบ มันคือโปรเจ็กต์ใหญ่ที่จะกำหนดชีวิต ‘การเดินทาง’ ครั้งสำคัญของประเทศเลยก็ว่าได้

ตัวอาคารสร้างจากหินอ่อน ทรงสถาปัตยกรรมคลาสสิค แบบเดียวกับที่พบเห็นได้ตามสถานีรถไฟชื่อดังที่ต่างๆ ของประเทศฝั่งตะวันตก ผนวกด้วยกระจกสีให้แสงเข้ามาเล่นไล้ความงามกับพื้นที่ภายในแบบเรอเนสซองส์ ที่ล้อไปกับมุขหน้า และหลังคาทรงโค้งขนาดใหญ่ พร้อมเข้าคู่ด้วยนาฬิกาสั่งทำพิเศษของสถานีโดยเฉพาะ

ทุกรายละเอียด ทุกเส้นสาย ทุกการจัดวางของการใช้งาน ผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยสถาปนิกชื่อดังชาวอิตาลี มาริโอ ตามาญโญ ที่กำกับตั้งแต่แบบร่าง จนถึงวันที่สถานีเปิดใช้งาน

และนับจากวันที่รถไฟขบวนแรกเดินเครื่องออกจากสถานี เป็นเวลาหนึ่งร้อยสิบปี ที่ ‘หัวลำโพง’ ไม่เคยหยุดพัก ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ และนำพาชีวิตสู่ ‘การเดินทาง’ อย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวนที่รองรับผู้ใช้งานได้ถึง 60000 คนต่อวัน ผ่านการปรับปรุง ตกแต่ง เพิ่มเติม ตามยุคและสมัย ผ่านเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เคียงข้างความเปลี่ยนผ่านรอบด้านมามากมาย

และในวันนี้ … ‘หัวลำโพง’ ก็ใกล้ถึงเวลาที่จะ ‘ปลดระวาง’

สถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟขนาดใหญ่แห่งใหม่ ที่ถูกมุ่งหมายให้เป็นสถานีกลางเชื่อมโยงกับระบบขนส่งทางรางที่ต่อเติมเข้ามา แล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งาน และหัวลำโพงที่ผ่านวันเวลาอย่างอดทน ก็กำลังอยู่บนทางแยกที่สำคัญ ว่าจุดประสงค์ของสถานที่แห่งนี้ต่อจากนั้น จะกลายเป็นอะไร

‘หัวลำโพง’ ในสายตาและความทรงจำของผู้คน คืออะไร? ความอยู่รอดและชีวิตของผู้คนที่เกาะเกี่ยวกับพื้นที่หัวลำโพง จะไปในทิศทางใด? แม้ในเวลาปัจจุบัน มันก็ยังเป็นคำถามที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ยังรอคอยคำตอบ และข้อสรุปสุดท้ายปลายทาง

แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เวลาหนึ่งร้อยกับสิบปี มันได้ทำให้ ‘หัวลำโพง’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ หากแต่เป็น ‘จุดร่วมความทรงจำ’ ของการเดินทาง

พบเจอ พลัดพราก ลาจาก และมุ่งหน้าสู่หนทางใหม่ … ชีวิตอาจจะเป็นเช่นนั้น และหัวลำโพงเองก็คงไม่ต่างกัน

เราไม่อาจรู้ได้ ว่าผู้เกี่ยวข้องกับหัวลำโพง จะดำเนินการให้สถานที่แห่งนี้ กลายเป็นอะไร แต่จะมากหรือน้อย หัวลำโพง ก็เป็นร่องรอยในความจดจำของคนไทย ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

และสิ่งนั้น…. ก็มีคุณค่า และไม่อาจถูกลบเลือนให้หายไปตามกาลเวลาง่ายๆ อย่างแน่นอน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ