fbpx

ดีในร้ายบทเรียนจากโควิท-19 ของวงการหนังสือไทย

ช่วงระยะเวลา3-4 ปีหลังที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงยากลำบากของธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ ไหนต้องสู้กับสภาพเศรษฐกิจไทยที่มีแต่ทรงๆ ทรุดๆ ไหนต้องเผชิญกับการดิสรัปต์ธุรกิจ เท่านั้นไม่พอเปิดต้นปี 2020 ยังต้องเจอกับสถานการณ์คาดไม่ถึง กับการระบาดของโควิท-19 ที่ทำให้ร้านรวงและมหกรรมต่างๆ ต้องปิดให้บริการชั่วคราวแบบไม่ทันตั้งตัว 

แต่สถานการณ์ที่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดให้กับวงการสิ่งพิมพ์ ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีเล็กๆ ซ่อนอยู่ สัญญาณที่ว่านี้ปรากฏขึ้นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 48 ที่จัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งโดนพิษโควิท-19 จนต้องปรับตัวและยกทั้งงานไปจำหน่ายหนังสือออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.ThaiBookFair.com ระหว่าง 25  มีนาคม – 5 เมษายน ที่ผ่านมา ถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานสู่ออนไลน์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

จากการสรุปตัวเลขในงานนี้ แม้ยอดจำหน่ายอาจไม่เปรี้ยงปร้างไปตามเป้าที่ผู้จัดงานคาดไว้ และคงไม่สามารถเทียบได้กับยอดจำหน่ายที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (494 ล้านบาท) แต่โดยรวมถือว่าน่าพอใจสำหรับครั้งแรกของเทศกาลหนังสือออนไลน์ ด้วยยอดผู้ให้ความสนใจร่วมงานแฟร์หนังสือออนไลน์ มากกว่า 6.6 แสนราย

“มือถือ” เป็นช่องทางการเข้าร่วมงานและช้อปปิ้งมากที่สุดถึง 66% รองลงมาคือ คอมพิวเตอร์ 29% และแท็บเล็ต 5% ตามลำดับ โดยช่วงเวลา 13.00 – 19.00 น. เป็นช่วงที่มีผู้เข้าร่วมงานมากที่สุด

ยอดจำหน่ายที่เกิดขึ้นผ่าน www.ThaiBookFair.com รวมกว่า 200 สำนักพิมพ์ คือ ประมาณ 36 ล้านบาท (ยังไม่รวมกับยอดจำหน่ายของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ได้ร่วมจัดกิจกรรมจำหน่ายหนังสือไปพร้อมกันในช่องทางหลักของตัวเอง) 

หนังสือที่เตรียมไว้ได้รับการตอบรับและจำหน่ายหมด โดยบางสำนักพิมพ์เพิ่งเคยจำหน่ายออนไลน์เป็นครั้งแรก นี่ถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการทำความคุ้นเคยในการนำธุรกิจหนังสือเข้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น

จากผลตอบรับที่มีแนวโน้มที่ดี ทำให้ผู้จัดงานตัดสินใจเดินหน้าจัดงาน เชียงใหม่ บุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 5 ซึ่งจะจัดในวันที่ 26 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2020 ที่เชียงใหม่ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 (Book Expo Thailand 2020) เดือนตุลาคม 2020 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ต่อไป โดยหากสถานการณ์โควิท-19 ยังไม่ดีขึ้น ก็น่าจะจัดในรูปแบบออนไลน์เช่นเดียวกัน โดยนำประสบการณ์ของอีเวนท์ในครั้งนี้มาพัฒนากิจกรรมต่างๆ ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

จากเหตุการณ์นี้ ถือเป็นการผลักให้ทั้งผู้ประกอบธุรกิจสำนักพิมพ์และนักอ่าน กระโดดข้ามก้าวแรกของการดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งหากใครพอคุ้นเคยกับแนวคิด Start up จะทราบดีว่าสิ่งที่ยากที่สุดของการนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับธุรกิจ คือ ‘การเปลี่ยนพฤติกรรม’ ให้เข้ามาใช้แพตฟอร์ม เพื่อให้เกิดยูสเซอร์เอ็กพีเรียนส์

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่านักอ่านของเราไม่ได้หายไปไหนพวกเขายังคงอ่านและเสพข้อมูลข่าวสารอยู่เพียงแต่พวกเขาไม่ได้ยืนคอยเราอยู่ที่เดิม!  

หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า ทุกวันนี้ผู้คนอ่านข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต รวมถึงเสพเนื้อหา ผ่าน Channel Online ใหม่ๆ ในสัดส่วนพอๆ กับการอ่านจากหนังสือเล่ม จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกออนไลน์เพื่อมาสนองความต้องการผู้อ่านอยู่ตลอดเวลา

อย่างเช่นการเติบโตของ E-book ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะสะดวกในการพกพา และในมุมของผู้ผลิตยังช่วยลดต้นทุนการพิมพ์และการสต็อกสินค้าโดยปัจจุบันตลาดอีบุ๊กทั่วโลกเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.1% ในปี พ.ศ. 2560 มีมูลค่ารวมราว 7.6 แสนล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าจะสูงไปถึง 1 ล้านล้านบาท ในปีพ.ศ. 2565 โดยมี Amazon เป็นเจ้าตลาด ส่วนบ้านเราตอนนี้ก็จะมี Meb และ Ookbee เป็นหัวหอกหลัก

อีกเทรนด์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ หนังสือเสียง หรือ Audiobooks ที่เมื่อก่อนในแวดวงนักอ่านจะคุ้นเคยแค่การเป็นหนังสือให้ผู้พิการทางสายตา แต่ทุกวันนี้หนังสือเสียงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าจะลด จากแรกเริ่มเดิมที่เป็นที่นิยมในยุโรป ตอนนี้ข้ามมาครองใจนักอ่านในฝั่งอเมริกา โดยหลายปีที่ผ่านมา Audiobook Publishers Association (APA) เผยสถิติ การเติบโตของรายได้และยอดขายหนังสือเสียงในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 24.5% จากปี 2019

พฤติกรรมของผู้ใช้หนังสือเสียงจะคล้ายกับพฤติกรรมของผู้ฟัง Podcast ที่เข้ามาเติมเต็มประสบการณ์ระหว่างเดินทางไปกลับที่ทํางาน, ระหว่างการออกกําลังกาย หรือฟังระหว่างรอกิจกรรมในแต่ละวัน แต่เป็นที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น คือ ผู้ใช้หนังสือเสียงก็ไม่ได้ละทิ้งการอ่านหนังสือแต่อย่างใด เพียงแต่เลือกรูปแบบและดีไวซ์ให้เหมาะกับช่วงเวลา

ความหลากหลายของแพตฟอร์มและสมาร์ทดีไวซ์ในยุดดิจิทัลนี้ จึงเป็นความท้าทายใหม่ของแวดวงธุรกิจหนังสือ-สิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้เขียนหรือเจ้าของสำนักพิมพ์ ต้องปรับตัวให้เข้าถึงถึงนักอ่าน และกล้าที่ก้าวข้ามต่อไป

ประเภทหนังสือที่ได้รับความสนใจจากนักอ่าน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 48 ออนไลน์ครั้งแรก

อันดับหนึ่ง : หนังสือวรรณกรรม ได้รับความสนใจจากผู้อ่านหลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่วัยเรียนไปจนถึงวัยทำงาน อาจเพราะสถานการณ์ช่วงนี้ส่งผลให้ผู้อ่านหันมาอ่านวรรณกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้จิตใจผ่อนคลายจากความกังวล

อันดับที่สอง : หนังสือการ์ตูนและไลท์โนเวล (นิยายที่เจาะกลุ่มคนที่ชอบอ่านการ์ตูน ใช้ภาษาอ่านง่าย ไม่เน้นคำยากๆ อ่านแล้วสามารถจินตนาการได้ทันที) ผู้อ่านส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยเรียน ซึ่งรูปแบบการจัดงานออนไลน์ ทำให้สามารถเจาะกลุ่มนักอ่านรุ่นใหม่ได้มากกว่า

อันดับที่สาม : หนังสือจิตวิทยาพัฒนาตนเอง หรือพัฒนาธุรกิจ เพื่อนำมาใช้ต่อยอดสู่ความสำเร็จในอนาคต

อันดับที่สี่ : หนังสือการศึกษา ตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครองที่ต้องการนำไปพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาของบุตรหลาน 

อันดับที่ห้า : หนังสือประวัติศาสตร์ โดยกลุ่มผู้อ่านที่ชื่นชอบความเป็นมาในอดีต วิวัฒนาการ 

#GMLive #Vision #Entertainment #Boo #โควิด19 #ThaiBookFair #สัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่48 #เชียงใหม่บุ๊คแฟร์ครั้งที่5 #มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่25 #BookExpoThailand2020 #Amazon #Meb #Ookbee #Audiobooks #AudiobookPublishersAssociation #APA

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ