fbpx

ฟุ่มเฟือยและมัวเมา ‘อากาซาเดห์’ ทายาทชนชั้นสูงยุคใหม่ในอิหร่าน

‘อากาซาเดห์’ หรือ Good Gene เป็นคำเรียกบรรดาลูกสาวและลูกชายของชาวอิหร่านชนชั้นสูง ที่มีชีวิตผิดแผกไปจากผู้คนทั่วไปในสาธารณรัฐอิสลาม

Reasons to Read 

  • ‘อากาซาเดห์’ หรือ Good Gene เป็นคำเรียกบรรดาลูกสาวและลูกชายของชาวอิหร่านชนชั้นสูง ที่มีชีวิตผิดแผกไปจากผู้คนทั่วไปในสาธารณรัฐอิสลาม
  • ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจในอิหร่านไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่โซเซียลมีเดียก็ช่วยทำให้มันเด่นชัดขึ้น เมื่อบรรดาเด็กๆ จากครอบครัวฐานะร่ำรวยเหล่านี้อวดความฟุ้งเฟ้อให้เห็นในสังคมออนไลน์

อิหร่านกำลังเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 40 ปีแห่งการปฏิวัติอิสลาม ขณะเดียวกันบรรดาลูกชายและลูกสาวของครอบครัวชนชั้นสูงในประเทศพากันเฉลิมฉลองในอีกความหมาย โดยเผยชีวิตหรูสุดกู่ของตนเองผ่านทางอินสตาแกรม เรียกเสียงก่นด่าได้เป็นอย่างดี

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โมฮัมเหม็ด ‘ซาชา’ โซบาห์นี เข้าเช็กอินที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี และถ่ายวิดีโอคลิปไว้ระหว่างนั่งอยู่บนเตียง มีแลปท็อป Apple วางอยู่บนตัก มีหญิงสาวนุ่งชุดชั้นในนอนคลอเคลียอยู่ใกล้ตัว และมีเสียงเพลงรีมิกซ์ของลานา เดล เรย์ ขับกล่อม เป็นคลิปที่มีคนเปิดดูแล้วกว่าหนึ่งล้านครั้ง

ซาชาเป็นลูกชายวัย 31 ปีของ อัคหมัด โซบาห์นี อดีตเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศเวเนซูเอลา เขามักโพสต์ภาพตนเองกับผู้หญิง แอลกอฮอล์ กระเป๋าหลุยส์ วิตตอง และรถปอร์เชไม่ซ้ำสีลงในอินสตาแกรมอย่างสม่ำเสมอ มีคนติดตามเขาอยู่กว่า 550,000 คน เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในดูไบ

‘อากาซาเดห์’ หรือ Good Gene เป็นคำเรียกบรรดาลูกสาวและลูกชายของชาวอิหร่านชนชั้นสูง ที่มีชีวิตผิดแผกไปจากผู้คนทั่วไปในสาธารณรัฐอิสลาม รวมถึงแตกต่างกันในเรื่องของกฎเกณฑ์ต่างๆ ดูจากภาพถ่ายน้องสาวของซาชา เธอไม่ได้สวมฮิญาบปิดคลุมใบหน้า อีกทั้งชุดสีดำของเธอยังปาดลึกโชว์ผิวเนื้อ และนั่นเป็นภาพซึ่งถ่ายในอิหร่าน

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจในอิหร่านไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่โซเซียลมีเดียก็ช่วยทำให้มันเด่นชัดขึ้น เมื่อบรรดาเด็กๆ จากครอบครัวฐานะร่ำรวยเหล่านี้อวดความฟุ้งเฟ้อให้เห็นในสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อิหร่านกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจจากการคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐอเมริกา

เมื่อฤดูร้อนปีกลาย ภาพถ่ายหลานสาวของอะลี คอเมเนอี ผู้นำของอิหร่านคนปัจจุบัน ถูกเผยแพร่ในโลกโซเซียล ให้เห็นว่าเธอเดินทางไปปารีส ในมือมีกระเป๋าโดลเช & แกบบานา มูลค่ากว่าหนึ่งแสนบาท ภาพดังกล่าวจุดประกายความแค้นเคืองให้กับผู้พบเห็น โดยไม่มีใครสนใจข้อเท็จจริงว่า กระเป๋าใบนั้นเป็นของจริงหรือของเลียนแบบราคาถูก

ที่เรียกเสียงด่าได้มากกว่านั้น เป็นภาพชีวิตหรูหราของ ราซูล โตลูเอ ลูกชายของซาอีด โตลูเอ อดีตนายพลและนายกเทศมนตรี 2 เขตเมืองของกรุงเตหะราน เป็นภาพเสือโคร่งที่เขามีเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน ภาพเขากับรถคาดิลแล็ก และภาพงานปาร์ตี้สีชมพู-ขาวฉลองวันเกิดครบรอบ 2 ขวบของลูกสาว ภาพถ่ายเหล่านั้นถูกนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนในอินสตาแกรมของ มาห์ดิ ซาดรอสซาดาติ นักบวชอิหร่านแนวอนุรักษ์นิยม ที่มีผู้ติดตามอยู่กว่า 280,000 คน

อินสตาแกรมของบุคคลนิรนามที่ใช้ชื่อบัญชีว่า ‘RKOT’ (Rich Kids of Teheran) ชี้นำอยู่เป็นเนืองว่า ลูกหลานของครอบครัวชั้นสูงมักอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์สังคม พวกเขานอกจากไม่สวมฮิญาบแล้ว ยังนุ่งกระโปรงสั้น เล่นสโนว์บอร์ดในวันหยุดสุดสัปดาห์ ขับเฟอร์รารี จัดปาร์ตี้ริมสระน้ำ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับพวกเขาแล้วทุกอย่างเป็นไปได้ แม้กระทั่งในประเทศอิหร่าน

เรื่องนี้สร้างความโกรธเคืองในหมู่ประชาชนไม่น้อย ผู้นำทางการเมืองเองก็รู้ว่า ความโกรธของประชาชนอันตรายเพียงใด วันที่ 11 กุมภาพันธ์ วันครบรอบ 40 ปีการปฏิวัติอิสลามนั้น ก็ชวนให้รำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีตที่ราชวงศ์ปาห์ลาวี ภายใต้พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ถูกผู้นำการปฏิวัติ รูฮฺลลอฮ์ โคไมนี โค่นล้มอำนาจและระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ สาเหตุหนึ่งก็มาจากวิถีชีวิตที่ฟุ่มเฟือยและมัวเมาของบุคคลระดับสูงนั่นเอง ทุกวันนี้ อะลี คอเมเนอี ที่ได้รับเลือกเป็นผู้นำสูงสุดตั้งแต่ปี 1989 หลังจากที่ รูฮฺลลอฮ์ โคไมนี เสียชีวิตลง ก็พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัด แม้ว่าเขาจะเป็นผู้บริหารบริษัทมูลค่าหลายพันล้านก็ตาม

สมาชิกคนอื่นๆ ของรัฐบาลก็เช่นกัน พยายามปรับตัวในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยากลำบากอย่างนี้ อย่างเช่น โมฮัมหมัด จาวาด ซาริฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ก็มักเน้นย้ำว่า ลูกๆ ของเขายังใช้ชีวิตอยู่ในอิหร่าน

เหตุเพราะมีชาวอิหร่านผู้โกรธแค้นพากันแฮชแท็กผ่านทวิตเตอร์ #FarzandetKudschast (ลูกของคุณอยู่ที่ไหน) คอยจี้ผู้มีอำนาจในประเทศที่ส่งลูกหลานของตนไปเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ ในต่างประเทศ หรือมีงานดีๆ ในตะวันตกทำ ขณะที่ประชาชนในประเทศต้องเผชิญกับความทุกข์ยาก

ความจริงคือเครือข่ายโซเซียลส่วนใหญ่ในอิหร่านถูกสั่งปิดไปแล้ว แต่ยังไม่ถึงคิวของอินสตาแกรม ซึ่งก็คงอีกไม่นาน ฝ่ายตุลาการของอิหร่านเพิ่งออกคำเตือนไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่ารัฐบาลต้องการสกัดกั้นความโกรธแค้นของประชาชน

แต่ชาวอิหร่านส่วนใหญ่ก็คุ้นชินแล้วเหมือนกันกับการหาช่องทางใหม่เพื่อเลี่ยงการถูกเซ็นเซอร์

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ