Reasons to Read
- วัฒนธรรมการกินอาหารของชาวจีนแทรกด้วยปรัชญาของลัทธิเต๋า อาหารจีนจึงมีรูปแบบหยิน-หยาง (Yin Yang) ซึ่งมีความสมดุลในตัวเอง เป็นปรัชญาที่แอบแฝงอยู่ในอาหารแทบทุกจาน คนจีนกินอาหารเพื่อให้เกิดความสมดุลของร่างกายและจิตใจ เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ
- ฉะนั้น การแพริ่งวิสกี้คู่กับอาหารจีน จึงต้องอาศัยความเข้าใจในการปรุงอาหารจีนอย่างถ่องแท้ ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมการดื่มวิสกี้ของชาวสกอต เพื่อสร้างให้เกิดสมดุลในรสชาติ กลิ่น และรสสัมผัส
ศาสตร์แห่งวิสกี้แพริ่งระหว่างอาหารจีนกว้างตุ้ง และสกอตช์วิสกี้ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่คนไทยเราน่าจะคุ้นลิ้นกันเป็นอย่างดีและทำความเข้าใจในศาสตร์และศิลป์นี้ได้ไม่ยากนัก เนื่องจากเรามีวัฒนธรรมการดื่มวิสกี้ตามร้านอาหารจีนทั้งในระดับภัตตาคารและร้านข้าวต้มกันมาช้านาน แม้จะผ่านการผสมโซดา น้ำ หรือโค้ก เพื่อให้ความเข้มข้นเจือจาง รับประทานกับอาหารทุกอย่างบนโต๊ะ แต่วันนี้ GM Live จะนำคุณมาเรียนรู้และยกระดับประสบการณ์จับคู่อาหารจีนกวางตุ้ง 5 คอร์ส กับสกอตช์วิสกี้จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ 4 ขนาน (แบบเพียวๆ) ณ ภัตตาคารอาหารจีนอันเลื่องชื่ออย่าง Lin-Fa (หลินฟ้า) โรงแรมเดอะ สุโกศล

ประสบการณ์วิสกี้แพริ่งระหว่างอาหารจีนกวางตุ้งและสกอตช์วิสกี้ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ ‘จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ บลู เลเบิ้ล’ ได้ออกเครื่องดื่มลิมิเต็ดรุ่นพิเศษต้อนรับปีหมูทอง ด้วยแพ็กเกจที่เป็นผลงานวิจิตรศิลป์ลวดลายหมู โดยนักออกแบบชื่อดังจากสหราชอาณาจักร Chrissy Lau (คริสซี เลา) เพื่อเอาใจให้เหล่านักสะสมและผู้ชื่นชอบการดื่มวิสกี้ทั่วโลก โดยแรงบันดาลใจสร้างสรรค์มาจากความเชื่อและรากฐานความเป็นเชื้อสายจีนของคริสซีเอง จึงผสมผสานลายเส้นอันอ่อนช้อย วิจิตร และสลับซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นรูปหมูสัญลักษณ์สำคัญแห่งปีนักษัตรกุน ภาพมงคลอย่างดอกไม้ไฟ เหรียญกษาปณ์ ตำลึงทอง ซองแดง ส้ม และโคมจีนประทับตราสไตร์ดิ้งแมนและตัวอักษรมงคลทั้งสี่ ได้ผลลัพธ์เป็น “จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ บลู เลเบิ้ล เยียร์ ออฟ เดอะ พิก” (Johnnie Walker Blue Label Year of The Pig) มาพร้อมส่วนผสมอันหลากหลายซึ่งมอบรสสัมผัสของผลไม้ น้ำผึ้ง หอมกลิ่นวานิลลา และกรุ่นด้วยเครื่องเทศและควัน รังสรรค์โดยเบลนเดอร์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งบรรจงคัดสรรวิสกี้จากทั่วสกอตแลนด์ ซึ่งมีเพียง 1 ใน 10,000 ถัง เท่านั้น

ก่อนจะเริ่มต้น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนจีนมีวัฒนธรรมการกินอาหารคล้ายคลึงกับไทยเราเป็นอย่างมาก ทว่าจะเป็นแทรกปรัชญาลัทธิเต๋าเข้าไปแทบในทุกๆ วัฒนธรรมของจีน ดังนั้นอาหารจีนจึงมีรูปแบบหยิน-หยาง (Yin Yang) มีความสมดุลในตัวเอง เป็นปรัชญาที่แอบแฝงอยู่ในอาหารแทบทุกจานก็ว่าได้ ดังนั้น คนจีนจึงกินอาหารเพื่อให้เกิดความสมดุลของร่างกายและจิตใจ เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ อาหารจีนที่ปรุงตามขนบเดิมจึงเป็นเสมือนยาอายุวัฒนะสำหรับชีวิตประจำวันเลยก็ว่าได้ หน้าที่ของเชฟและซอมเมอลิเยอร์คือจะต้องผนึกกำลังหาหยินและหยางระหว่างอาหารจีนกวางตุ้งที่เน้นความสดใหม่และอาหารทะเล และสกอตช์วิสกี้ที่หวานกรุ่นกลิ่นอโรมาให้ได้
Appetizer Platter
Chilled Baby Lobsters with Mayonnaise Dressing and Tropical Fruits Steamed French Oyster with Cantonese Black Bean Sauce
+
Johnnie Walker Gold Label Reserve

จานเรียกน้ำย่อยรสชาติเบาๆ ที่มีส่วนผสมหลักอย่างภูเก็ต ลอบสเตอร์และหอยนางรม ควรจับคู่กับวิสกี้ที่มีความ Light และหอมละมุนอย่าง Johnnie Walker Gold Label Reserve จานนี้มีทั้งความร้อนและความเย็นในจานเดียวกัน จึงควรรับประทานหอยนางรมที่ปรุงมาในอุณหภูมิที่เหมาะสมก่อน จึงค่อยตามด้วยภูเก็ต ลอบสเตอร์ จิบโกลด์ เลเบิ้ล 1 คำ วิสกี้ตัวนี้ถือกำเนิดมาจากการเฉลิมฉลองครบ 100 ปีของจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ตั้งแต่ปี 1920 มีคาแรกเตอร์โดดเด่นที่ความหวานหอมคล้ายน้ำผึ้ง และความแว็กซีซึ่งจะเกิดกับวิสกี้ที่หากยากเท่านั้น จึงช่วยเพิ่มรสชาติให้กับเมนูจานแรก ความเปรี้ยวหวานของเนื้อกุ้งจะตบท้ายด้วยความสไปซี ทำให้รสชาติอาหารมีมิติมากยิ่งขึ้น นับเป็นการเปิด palate เตรียมรับการแพริ่งในจานต่อๆ ไป
Soup
Tiger Prawn Wrapped in Fish Maw with Signature Lin Fa Sauce
+
Johnnie Walker Aged 18 Years

จานซุปที่มีส่วนผสมหลักเป็นกุ้งลายเสือตัวใหญ่ยักษ์ กระเพาะปลาและน้ำซุปสูตรพิเศษของหลินฟ้า ซึ่งมีความอร่อยและสมดุลในตัวเองสูง เคล็ดลับในการรับประทานจานนี้คือรีบชิมซุปอย่างรวดเร็วที่สุดหลังพนักงานรินน้ำซุปร้อนๆ จากกาลงในจาน พร้อมชิมเนื้อกุ้งที่มีความหอมหวาน หลังจากนั้นก็จะถึงเวลาของ Johnnie Walker Aged 18 Years ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก Johnnie Walker Platinum Label เนื่องจากการหมักบ่มวิสกี้ในถังไม้โอ๊ก 18 ปี เป็นเวลาที่เหมาะสม ทำให้วิสกี้ที่หมักบ่มพัฒนาจนมีกลิ่นและรสชาติหลากหลายมากที่สุด เคล็ดลับในการรับประทานอาหารจานนี้ให้อร่อยคือการค่อยๆ เหยาะวิสกี้ลงไปในช้อนที่มีน้ำซุปอยู่ รสชาติของจานนี้จะเปลี่ยนไปในทันที เพราะความร้อนของซุปจะช่วยชูกลิ่นวิสกี้ให้หอมมากยิ่งขึ้น ส่วนความเผ็ดร้อนของวิสกี้ในตอนท้ายจะให้ผลลัพธ์ประหนึ่งการปรุงซุปจานนี้ด้วยวิสกี้ คล้ายคลึงกับการใช้เหล้าจีนในการประกอบอาหารนั่นเอง
Main Course
Work Fried Dry Aged Black Pepper Beef/Fish with Capsicum and Spring Onion
+
Johnnie Walker Blue Label

อาหารจานหลักที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบหลักอย่างเนื้อวัวดรายเอจ (เนื้อที่ผ่านการบ่มเพื่อเปลี่ยนสภาพเนื้อให้มีรสชาติและรัสสัมผัสลึกซึ้งมากขึ้น) หรือจะเลือกเป็นปลาหิมะ รับประทานคู่กับวิสกี้ไฮไลต์ของงาน นั่นคือ Johnnie Walker Blue Label ซึ่งมีรสชาติที่หลากหลายและบอดี้ที่นุ่มแน่น เคล็บลับคือให้มองหาพริกไทยสดในจานรับประทานคู่กับเนื้อหรือปลาหิมะ จากนั้นจึงจิบบลู เลเบิ้ลตาม คุณจะพบว่ารสชาติของพริกไทยสดบาลานซ์เข้ากับ Johnnie Walker Blue Label ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน
Truffle infused Egg Noodles with Alaskan King Crab and Organic Green Vegetable
+
John Walker & Sons XR 21

มาถึงการจับคู่ระหว่างสกอตช์วิสกี้และอาหารจีนกวางตุ้งคู่สุดท้าย บะหมี่ปูยักษ์อะแลสกาหวานหอมคลุกน้ำมันทรัฟเฟิล ทานคู่กับ John Walker & Sons XR 21 ซึ่งหลายคนยังอาจจะไม่คุ้นกับวิสกี้สุดพิเศษเลเบิ้ลนี้นัก เนื่องจากเป็นตัวที่นิยมดื่มเนื่องในโอกาสพิเศษ หากใครที่ชื่นชอบรสชาติของโกลด์ เลเบิ้ลตัวนี้จะเป็นโดดเด่นยิ่งกว่า XR = Extra Rare เนื่องจากใช้ซิงเกิลมอลต์ตัวเดียวที่ใช้ทำจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ โกลด์ เลเบิ้ล รีเซิร์ฟคือจาก Clynelish ซิงเกิล มอลต์ ที่หายากหมักบ่มเป็นเวลาอย่างน้อย 21 ปี มีกลิ่นของไม้ ควัน และความเผ็ดร้อนในตอนท้าย เคล็ดลับคือการคลุกบะหมี่กับน้ำมันทรัฟเฟิลและซอสก่อนรับประทาน ความหวานและสไปซีของวิสกี้จะทำให้กลิ่นของน้ำมันทรัฟเฟิลหอมฟุ้งในปาก
Dessert
Mango and Banana Spring Rolls Accompanied with Lychee Sorbet

เมนูของหวานปิดท้ายความอร่อยในค่ำคืนนี้คือมะม่วงและกล้วยห่อด้วยแป้งปอเปี๊ยะรับประทานคู่กับซอร์เบต์ลิ้นจี่หอมหวาน
จากประสบการณ์วิสกี้แพริ่งอาหารจีนกวางตุ้งและสกอตช์วิสกี้ในค่ำคืนนี้ ต้องขอยกความดีให้กับฝีมือการปรุงอาหารอันเยี่ยมยอดของเชฟ ที่แม้จะเป็นชาวตะวันตกทว่าสามารถทำอาหารจีนกวางตุ้งออกมาได้อย่างสวยงามน่ารับประทาน มีรสชาติดีไม่ต่างจากเชฟชาวจีน และการทำการบ้านมาอย่างหนักของทีมจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีกว่าดีกรีของแอลกอฮอล์ในวิสกี้นั้นสูงกว่าไวน์ เบียร์ และค็อกเทลบางตัวมาก จึงอาจทำให้ดีกรีแอลกอฮอล์กลบรสชาติอาหารได้ ดังนั้น การไต่ระดับความหนักของวิสกี้ไร่เรียงไปโกลด์, 18 ปี, บลู, จอห์น วอล์กเกอร์ แอนด์ ซัน จึงเป็นเคล็ด (ไม่) ลับ เหมือนกับไวน์แพริ่งโดยทั่วไป สิ่งที่ทำให้การแพริ่งในครั้งนี้จบลงอย่างประทับใจ คือการให้ความสำคัญของรสชาติอาหารจีนกวางตุ้งดั้งเดิม การชูวัตถุดิบเอกอย่างอาหารทะเลให้โดดเด่น ทว่าใส่ความกล้าในการศึกษาทดลองในเรื่องกลิ่นเข้าไป อย่างเช่นการเหยาะวิสกี้ลงไปในซุป การดื่มวิสกี้พร้อมเมล็ดพริกไทยสด และการนำความหอมของทรัฟเฟิลออยล์มาผสมผสานกับรสชาติเครื่องเทศในวิสกี้

ทว่าวิสกี้ก็เหมือนครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่เว้นแม้กระทั่งไวน์แดงที่เชื่อกันว่าดีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ นั่นคือหากดื่มมากไปย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว ฉะนั้น การดื่มเพื่อรักษาไว้ซึ่งสมดุลของร่างกายและสุขภาพอันดี คือดื่มพร้อมกับการรับประทานอาหารไม่เกินมื้อละหนึ่งแก้ว
