หุบเหวอันมืดมิดของบอลไทย
ตั้งแต่วันแรกที่ มิโลวาน ราเยวัช ได้รับตำแหน่งมาคุมทีมชาติไทยต่อจาก “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง โค้ชทีมชาติคนใหม่ก็กลายเป็นตัวร้ายในสายตาของแฟนบอลไทยหัวใจฮาร์ดคอร์ทั้งหลายที่ชอบเกมบุกแบบเดินหน้าฆ่ามันจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่งโดยทันที
Reasons to Read
- ทำไมบอลไทยในยุคนี้ถึงพ่ายแพ้ทีมละแวกบ้าน
- การทำทีมของราเยวัชมาถูกทางหรือเปล่า
- ชำแหละสไตล์บอลไทยที่หลงทางไปไกลจนน่าผิดหวัง
ตั้งแต่วันแรกที่ มิโลวาน ราเยวัช ได้รับตำแหน่งมาคุมทีมชาติไทยต่อจาก “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง โค้ชทีมชาติคนใหม่ก็กลายเป็นตัวร้ายในสายตาของแฟนบอลไทยหัวใจฮาร์ดคอร์ทั้งหลายที่ชอบเกมบุกแบบเดินหน้าฆ่ามันจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่งโดยทันที ด้วยสไตล์ฟุตบอลเกมรับเน้นความแน่นอนเป็นพื้นฐานที่โค้ชเซอร์เบียผู้นี้พยายามวางรากฐานใหม่ ตามแนวคิดที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เราไม่ใช่ทีมชาติบราซิล ไม่ใช่ทีมชาติเยอรมัน เราคือทีมชาติไทย เราไม่ใช่ทีมใหญ่ เราคือทีมเล็ก และการที่ทีมเล็กจะสู้กับทีมใหญ่ได้ดี การสร้างเกมรับและการช่วยกันเล่นคือทิศทางที่เราจะไป”
จากนั้นมา ไม่ว่าจะเจอกับใคร ทีมชาติไทยคือทีมที่เน้นเกมรับเอาไว้ก่อน แล้วค่อยหาโอกาสโจมตีในลูกโต้กลับ หรือเรียกกันว่าสไตล์ “คาเตนัคโช่ (Catenaccio)” ที่นำพาทีมชาติอิตาลีคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแล้วครั้งเล่า หรือถ้ายกตัวอย่างล่าสุดก็คือการเล่นแบบ เลสเตอร์ ซิตี้ ในปีที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้อย่างสุดอลังการ ซึ่งการเล่นแบบเน้นผลแบบนี้มันน่าเบื่อหน่าย ชวนหลับ ขาดความบันเทิงอย่างรุนแรง เราจึงจะได้ยินเสียงยี้ดังระงมจากกลุ่มแฟนบอลที่ยังอาลัยทีมชาติไทยสไตล์ “ติกี–ตากา (Tiki-Taka)” ที่มีการต่อบอลสั้นๆ บนพื้นที่สวยงาม เกมรุกดุดันของอดีตโค้ชอย่างซิโก้
แต่ถึงอย่างไร เสียงยี้เและเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็ค่อยๆ เบาลงไปเมื่อทีมชาติไทยภายใต้การคุมทีมของ มิโลวาน ราเยวัช นั้นสามารถเก็บ “ผลงาน” ได้ค่อนข้างน่าพอใจ ก่อนทัวร์นาเม้นท์“เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018” จะเริ่มขึ้น ทีมชาติไทยยุคใหม่มีสถิติชนะ 5 นัด แพ้ 5 นัด เสมอ 3 นัด ทึ่ถึงแม้เรามักจะได้เห็นสกอร์จุ๋มจิ๋มๆ แบบ 1-0, 0-0, 2-1 หลายต่อหลายนัดก็ตาม แต่รูปแบบการเล่นถือว่ารัดกุมและแน่นอนมากขึ้นโดยเฉพาะในแนวรับ
กูรูหลายท่านบอกนี่แหละคือการวางระบบเพื่ออนาคตบอลไทย เรามาถูกทางกันแล้ว
ทุกอย่างดูเหมือนสวยงามไม่มีอะไรเสียหาย มาจนกระทั่งจังหวะที่ อดิศักดิ์ ไกรสร สวมวิญญาณ “เทพบุตรเปียทองคำ โรเบอร์โต้ บาจโจ้” ในฟุตบอลโลก 1994 กดจุดโทษในนาทีสุดท้ายข้ามคาน ส่งทีมชาติไทยเต็งหนึ่งในรายการตกรอบคาบ้านเมื่อเย็นที่ผ่านมา ตกรอบรองชนะเลิศในรายการที่ วิทยา เลาหกุล ประธานเทคนิคของทีมชาติเราเคยบอกนักข่าวไว้ว่า “บอลระดับอาเซียน ใครคุมก็แชมป์” อย่างน่าอับยศที่สุด
ตกลงเรามาถูกทางแล้วใช่มั้ย?
ในทัวร์นาเมนต์อย่าง “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018″ ที่แข่งขันกันในอาเซียน และทีมไทยเป็นแชมป์เก่า พูดตรงๆ ว่าแฟนบอลตัวเล็กๆ อย่างผมอดเศร้าไม่ได้ที่ต้องเห็นทีมชาติไทยแสนรักนั้นไปเล่นอุดประตูเพื่อสกอร์ 0-0 กับทีมอย่างฟิลิปปินส์ หรือ มาเลเซีย ทั้งๆ ที่ตัวผู้เล่นเราเหนือชั้นกว่ามากด้วยบอลลีกที่พัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ แต่ที่เกมออกมารูปนั้นก็เพราะการวางแผนของมิโลวาน ราเยวัช ที่ตัวใหญ่แต่ใจปลาซิว ไม่กล้าสั่งบุกสั่งลุย ทำให้ mindset ในการทำเกมรุกของนักฟุตบอลไทยค่อยๆ เลือนหายไป
ภาพของกองหน้าอย่างอดิศักดิ์ ไกรศร ยืนโดดเดี่ยวในแดนหน้า ปีกจี๊ดๆ อย่าง นูรูล ศรียานเก็ม มงคล ทศไกร เลี้ยงไปพื้นที่ว่างแล้วไม่มีเพื่อนเติม กองกลางที่เชื่อมเกมดีๆ สอดมายิงไกลบ่อยๆ อย่าง ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ หรือ ธนบูรณ์ เกษารัตน์ ต้องลงมายืนต่ำมากๆ เป็นภาพที่เราเห็นจนชินตา
พอตัดบอลได้แทนที่จะค่อยๆ ลำเลียงบอลกันขึ้นไป ถ่ายออกปีกอะไรให้วูบวาบหน่อย ก็ตะบี้ตะบันโยนยาวขึ้นไปวัดดวงลูกเดียว ทำอย่างกับข้างหน้าเรามี ปีเตอร์ เคราช์ ยืนค้ำอยู่อย่างนั้นแหละ
ซึ่งจริงๆ กลิ่นตุๆ ก็เริ่มโชยออกมาตั้งแต่เกมกับฟิลิปปินส์ในรอบแรก และกับมาเลเซียในรอบรองฯ นัดแรกแล้ว เราครองบอลน้อยมาก โอกาสยิงก็น้อย บอลถูกเล่นบริเวณหน้าประตูเราเยอะเกินไป เรียกง่ายๆ ว่าเล่นรอโดน แต่โชคดีเกมรับทำงานดีแถมมีดวงได้ผลเสมอกลับมา แผลมันเลยยังไม่ถูกเปิดสู่สาธารณชน
มาถึงนัดนี้กองกลางเราเล่นต่ำกว่ามาตรฐาน เห็นได้จากการไม่เข้าบีบพื้นที่จนเสียลูกแรก และเดินเล่นปล่อยที่ว่างให้เค้ายัดบอลไปให้กองหน้าง่ายๆ ในลูกที่สอง หายนะเลยบังเกิด
ย้อนกลับไป ณ ช่วงเวลาที่สมาคมฟุตบอลไทยที่นำโดยนายกใหม่เอี่ยมอ่องที่ชื่อ สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กำลังเฟ้นหานายใหญ่ทีมชาติไทยคนใหม่นั้น รายชื่อโค้ชที่เสนอตัววางเรียงรายให้เลือกสรรนั้น ต้องบอกว่าใครได้ยินชื่อก็ต้องซี๊ดปาก ไล่เรียงมาตั้งแต่ อเลฮานโดร ฮาเบญ่า อดีตโค้ชทีมชาติอาร์เจนติน่า แฟรงค์ ไรจ์การ์ด อดีตโค้ชบาร์เซโลน่า วินฟรีด เชเฟอร์ อดีตโค้ชทีมชาติไทยคนคุ้นเคย มาจนถึง คาร์ลอส ดุงก้า อดีตโค้ชทีมชาติบราซิล
ถ้าไม่ใช่ซิโก้ สี่คนนี้ถือว่าดีกรีผ่าน ประสบการณ์สูงทั้งสมัยเป็นนักเตะและโค้ช นับเป็นแนวโน้มที่จะมีการพัฒนาในสายตาแฟนบอล
แต่หวยมันมาออกที่โค้ชเซอร์เบียวัย 64 ปี ที่ชื่อ มิโลวาน ราเยวัช แบบโดดๆ ชนิดที่ขยำแฟ้มโค้ชโปรไฟล์เทพๆ เหล่านั้นทิ้งไปอย่างไม่ใยดี
ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทางสมาคมในการแต่งตั้งเค้าคือการพาทีมชาติเล็กๆ อย่าง “กาน่า” เข้ารอบฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2010 แถมยังสร้างความตื่นตะลึงด้วยการทะลุเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่ได้เข้ามาเล่นเป็นครั้งแรก และเค้าก็ทำสำเร็จด้วยสไตล์การเล่นแบบตีหัวเข้าบ้านแบบนี้แหละ
แต่นั่นมัน 8 ปี มาแล้วนะครับท่าน
ในยุคปัจจุบันในปี 2018 หลายสิ่งหลายอย่างในโลกฟุตบอลนั้นเปลี่ยนไป ฟุตบอลสไตล์ อุด รอโต้ เน้นผลการแข่งขันนั้นตกยุคไปแล้ว เห็นได้ชัดจากทีมชาติอิตาลีที่ตกต่ำขนาดไม่ผ่านไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งที่ผ่านมา และขนาดต้นตำรับโค้ชสไตล์นี้อย่าง โชเซ่ มูรินโญ่ ที่เคยคว้าแชมป์มาแล้วมากมาย ฤดูกาลนี้ก็ยังต้องกระเสือกกระสน พบช่วงเวลาที่ยากลำบากที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อยู่เลย
การตกรอบทั้งๆ ที่ต้องแชมป์ ตกรอบทั้งๆ ที่ทางสมาคมฯพยายามบอกตลอดว่า ซูซูกิ คัพ คือทางผ่านก่อนที่เราจะไปลุย เอเชี่ยน คัพ สนามที่ใหญ่กว่า ก็น่าเป็นมืออุ่นๆ ที่ตบหน้าทางสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยแรงๆ ให้ตื่นจากภาพลวงตา แล้วคิดวางแผนและแก้เกมกันใหม่
โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ในสมาคมฯ ที่เคยพูดหลังเกมแพ้ญี่ปุ่น 4-0 ว่า “ผลงานแบบนี้ ใครไม่อาย ผมอาย” ออกมาอย่างเต็มปากในยุคโค้ชคนก่อน
ตอนนี้บอกหน่อยได้ไหมว่า “ถูกมาเลเซียซัดตกรอบคาบ้าน ผลงานแบบนี้ ใครควรอายครับ”
นักเขียน : เจิดจรัส