Reasons to Read
- ‘ปาบึก’ พายุโซนร้อนลูกใหญ่ที่กำลังจะขึ้นฝั่งที่แหลมตะลุมพุก มาพร้อมความเร็วเกินกฎหมายจราจรกำหนด แต่ไม่มีใบสั่งไหนจะหยุดยั้งพายุลูกนี้ได้
- แหลมตะลุมพุกเคยเสียหาย คนตายมากกว่า 900 คน เพราะพายุแฮเรียต ลูกที่แรงกว่าปาบึก แค่ 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- เตรียมพร้อมรับมือ และรู้ว่าหากพายุมาเยือนถึงหน้าบ้าน เราควรทำอย่างไร ให้อยู่รอดปลอดภัย เพราะวาตภัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนก็ควรต้องรู้เรื่องนี้
วันที่ 4 มกราคม ตอนช่วงเย็น เป็นเวลาที่หน่วยงานด้านอากาศทั่วโลกระบุตรงกันว่า พายุโซนร้อนปาบึก จะขึ้นฝั่งประเทศไทยที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เดียวกับที่ครั้งหนึ่งเคยถูกพายุโซนร้อนแฮเรียตเข้าคร่าชีวิตผู้คนร่วม 900 คน สูญหายอีกนับร้อยคนเมื่อ 56 ปีที่แล้ว และในครั้งนี้นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ถึงกับออกมาเตือนว่าหากขึ้นฝั่งแล้ว อาจสร้างความเสียหายรุนแรงมากกว่าพายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่เคยสร้างความเสียหายที่จังหวัดชุมพรเสียอีก
ภาพท้องฟ้าสีแดงจัดจ้าน ณ จังหวังชุมพรที่ถูกแชร์ว่อนไปทั่วโลกอินเตอร์เน็ตสร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่ได้เห็นไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนของประเทศ เราเองก็มีเพื่อนอยู่ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เมื่อโทรถามก็ได้ความว่า ฝนตกหนักท้องฟ้ามืดมัวมาตั้งแต่คืนวันที่ 2 แล้ว เหล่าผู้คนก็เตรียมรับมือกับปาบึกตัวนี้กันอย่างดี เราจึงควรทำความรู้จักผู้มาเยือนที่หอบหิ้วความเกรียวกราด รวมถึงวิธีรับมือกันเสียหน่อยว่าควรทำเช่นไร พร้อมๆ กับที่ย้อนรอยดูความเสียหายของพายุในระดับเดียวกันกับปาบึกได้เคยสร้างเอาไว้
ระดับความรุนแรงและความเสียหายของพายุ
0- 62 กิโลเมตร/ชั่วโมง พายุดีเปรสชั่น ระดับความเสียหาย : พายุฝนฟ้าคะนองไปทั่ว พร้อมๆ กับที่ต้นไม้ไหวเอนตามแรงลม
63 – 118 กิโลเมตร/ชั่วโมง พายุโซนร้อน ระดับความเสียหาย : ทำให้เกิดลมกรรมโชก ต้นไม้ที่รากไม่แข็งแรงอาจหักโค่นลงได้ “พายุโซนร้อนปาบึก” ที่กำลังจะมาเยือนไทยในวันนี้มาพร้อมความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง และพายุแฮเรียตที่เคยสร้างความเสียหายเมื่อปี 2505 มีความเร็วที่วัดได้ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง
119 – 153 กิโลเมตร/ชั่วโมง พายุไต้ฝุ่น ระดับ 1 ระดับความเสียหาย : ลมพัดแรงจนหลังคาบ้านหลุดปลิวไป ต้นไม้หักโค่น
154 – 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง พายุไต้ฝุ่น ระดับ 2 ระดับความเสียหาย : โครงสร้างบ้านเรือนพังเสียหาย สายไฟฟ้าขาด
178 – 209 กิโลเมตร/ชั่วโมง พายุไต้ฝุ่น ระดับ 3 ระดับความเสียหาย : ลมพัดแรงจนตัวบ้านได้รับความเสียหาย คนทรงตัวลำบาก และมีคลื่นสูง
210 – 249 กิโลเมตร/ชั่วโมง พายุไต้ฝุ่น ระดับ 4 ระดับความเสียหาย : บ้านเรือนถูกพัดปลิวเสียหาย วัตถุปลิวตามแรงลม
250 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป พายุไต้ฝุ่น ระดับ 5 ระดับความเสียหาย : สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ถูกพัดเสียหาย มีคลื่นสูงกว่า 3 เมตร ประเทศไทยเคยถูกพายุในระดับนี้เข้าสร้างความเสียหายแล้ว คือพายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่จังหวัดชุมพร เมื่อปี 2532 ทำให้มีคนบาดเจ็บมากถึง 537 คน
ย้อนรอยความเสียหาย แฮเรียต ณ ที่เดิม แหลมตะลุมพุก
แหลมตะลุมพุกเคยถูกพายุโซนร้อนแฮเรียตสร้างความเสียหายมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2505 ในครั้งนั้นมีผู้คนเสียชีวิตมากถึง 900 กว่าคน และสูญหายจำนวนมาก นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงครั้งหนึ่งของประเทศไทยเลยทีเดียว
พายุโซนร้อนแฮเรียตมีความเร็วสูงสุดวัดที่สถานีตรวจวัดอากาศนครศรีธรรมราชได้ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังสร้างสตอร์มเซิร์จ หรือคลื่นน้ำที่เกิดจากพายุซัดชายฝั่ง มีลักษณะเป็นคลื่นสูงคล้ายสึนามิแต่เกิดเฉพาะเมื่อมีพายุเท่านั้น สูง 3 เมตร
เกิดขึ้นในช่วงกลางดึกของคลื่นวันที่ 25 ตุลาคม ก่อนอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นในวันที่ 26 ผ่านจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และพังงาน แต่เพียงแค่คืนเดียวที่พัดผ่านก็ได้เปลี่ยนหมู่บ้านที่คึกคักให้ราบเป็นหน้ากลอง เหลือบ้านที่รอดพ้นมาได้เพียง 5 หลังเท่านั้น
จากความทรงจำของผู้ประสบเหตุเล่าว่า ช่วงบ่ายของวันที่ 25 ก่อนที่พายุจะขึ้นฝั่ง ได้เกิดลมงวงช้างขึ้นพัดบ้านเรือนเสียหาย ตามด้วยสตอร์มเซิร์จจนบ้านเรือนพังเกือบทั้งหมู่บ้าน จากนั้นฝนก็ตกหนักจนถึงหนึ่งทุ่ม ก่อนจะตามมาด้วยลมพัดแรง ในขณะที่สตอร์มเสิร์จ ก็ยังคงมาอย่างต่อเนื่องพร้อมความสูงที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนพัดบ้านเรือนลงทะเล ในขณะที่แม่น้ำปากพนังก็เอ่อล้นท่วมตัวเมือง
ความเสียหายในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 911 คน สูญหาย 142 คน ทำลายบ้านเรือนจนพังทั้งหลังไปกว่า 22,296 หลัง ประเมินความเสียหายได้สูงถึง 1,000 ล้าน (มูลค่าในปี 2505) และสร้างสตอร์มเซิร์จที่สูง 4 เมตรพัดเข้าหมู่บ้านชายทะเลอีกหลายแห่ง ซึ่งเกือบเท่าคลื่นสึนามิที่พัดเข้าภูเก็ต เมื่อปี 2547 ที่มีความสูง 5 เมตร
รับมือวาตภัย
แน่นอนว่าการรับมือภัยธรรมชาติที่รุนแรงขนาดหนี การอพยพออกจากพื้นที่คือสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด แต่หากกรณีฉุกเฉิน การมีสติแ ละรับมืออย่างถูกต้องก็ช่วยให้ปลอดภัยได้ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยได้ออกคำแนะนำสำหรับการปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยหาเกิดพายุโซนร้อน
1. รับมือก่อนเกิดพายุ
- ติดตามประกาศเตือนภัย และปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- ตัดกิ่งไม้และต้นไม้ที่ไม่แข็งแรงออก เพื่อป้องกันการโค่นล้ม
- ตรวจสอบอาคารบ้านเรือให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง ไม่เสียหายและชำรุด
- ค้ำยัน หรือคลุมพืชผลทางทางการเกษตร
- จัดเก็บสิ่งของที่ลมอาจพัดปลิว เพื่อป้องกันความเสียหายและการบาดเจ็บ
- จัดเตรียมสิ่งของจำเป็น หากต้องอพยพฉุกเฉิน
2. ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดพายุโซนร้อน
- ห้ามนำเรือออกจากฝั่ง เพราะคลื่นลมอาจทำให้เรืออัปปางลงได้
- หลบในอาคารที่มีความแข็งแรง ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด และไม่อยู่ให้ห่างจากประตูหน้าต่าง
- ไม่อยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงเช่น ป้ายโฆษณา และเสาไฟฟ้า
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางทะเล
จากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแหลมตะลุมพุก เมื่อปี 2505 เราจะเห็นได้ว่า ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากสตอร์มเซิร์จ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาแนะนำว่าควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และพร้อมอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง ซึ่งในขณะนี้ประชาชนหลายพื้นที่ก็ได้อพยพออกมาแล้ว
อ้างอิง
- https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_2037090
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
