Reasons to Read
- ฝุ่นละอองมีทั้งขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า และขนาดใหญ่แบบฝุ่นทรายที่มองเห็นได้สบายๆ
- แหล่งที่มาของฝุ่นละอองมีทั้งเกิดขึ้นตามธรรมชาตและมนุษย์สร้าง
- หน้ากากกันฝุ่นละอองแบบไหน ใช้กับฝุ่นละอองระดับไหนให้เหมาะสม
“ฝุ่นละออง” เป็นมลพิษทางอากาศที่กำลังเป็นปัญหาในช่วงนี้ กระจายตัวอยู่ในบรรยากาศรอบๆ ตัวเรา ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่ามีขนาดตั้งแต่ 0.002 ไมครอน ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มของโมเลกุลที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าไปจนถึงขนาดใหญ่กว่า 500 ไมครอน ซึ่งเป็นฝุ่นทรายขนาดใหญ่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
แหล่งที่มาของฝุ่นละอองในบรรยากาศ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (Natural Particle) ได้แก่ ดิน ทราย หิน ละอองไอน้ำ เขม่าควันจากไฟป่า และฝุ่นเกลือจากทะเล เป็นต้น
- ฝุ่นละอองที่เกิดจากกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Particle) ได้แก่ ฝุ่นจากการคมนาคมขนส่งและการจราจร, ฝุ่นจากการก่อสร้าง, ฝุ่นจากการประกอบการอุตสาหกรรม และฝุ่นจากการประกอบกิจกรรมอื่นๆ
แต่ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นจากแหล่งที่มาใดๆ ก็ตาม ณ วันนี้ เมื่อค่าฝุ่นละอองพุ่งปรี๊ด ทางป้องกันที่สามารถทำได้พร้อมๆ กับการใช้ชีวิตประจำวันคือ สวมหน้ากากกันฝุ่นละออง แต่แบบไหนที่เหมาะสมกับการใช้งาน GM Live มีข้อมูลมาบอกให้รู้
1. หน้ากากอนามัยแบบทั่วไป

หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น ช่วยป้องกันแบคทีเรีย ฝุ่น หรือควันในระดับทั่วไปได้ดี นิยมใช้เพื่อป้องกันการติดโรคจากการไอและจามด้วย หน้ากากชนิดนี้หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง แต่ไม่ควรใช้ซ้ำ และที่สำคัญหน้ากากชนิดนี้จับฝุ่นละอองได้เล็กสุดที่ 3 ไมครอน ทำให้ ‘ช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้’
2. หน้ากากอนามัยแบบผ้า

หน้ากากแบบผ้าเป็นที่นิยมเนื่องจากมีหลายรูปแบบ หลายสีสัน จึงนิยมใส่เป็นแฟชั่นเสียมาก ข้อดีหนึ่งของหน้ากากชนิดนี้คือสามารถซักและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ส่วนเรื่องคุณสมบัติแทบไม่ต่างจากหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป แต่ประสิทธิภาพการทำงานอาจไม่ดีเท่าเพราะหน้ากากแบบผ้าไม่มีชั้นตัวกรอง ทำให้ดักจับฝุ่นละอองและควันได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น มั่นใจได้เลยว่าหากไม่ใช่ละอองฝุ่นทั่วไป หน้ากากนี้เอาไม่อยู่แน่นอน
3. หน้ากากอนามัยพร้อมชั้นกรองคาร์บอน

เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป แต่มีจุดประสงค์เพื่อกรองคาร์บอนจากมลพิษในอากาศที่มาจากท่อไอเสียของยานพาหนะโดยเฉพาะ หน้ากากชนิดนี้มีชั้นกรองสีดำที่มีคุณสมบัติช่วยกรองคาร์บอนจากควันรถ เชื้อแบคทีเรีย กลิ่นไม่พึงประสงค์ และมลพิษในอากาศต่างๆ โดยป้องกันอนุภาคเล็กสุดได้เพียง 3 ไมครอนเท่านั้น (PM 2.5 ลอยผ่านได้อยู่ดี)
4. หน้ากากอนามัยชนิด N95

หน้ากากอนามัยที่ยอมรับกันว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคและฝุ่นละอองได้ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะสามารถดักจับอนุภาคเล็กสุดได้ถึง 0.3 ไมครอน เท่ากับว่าฝุ่นละออง PM 2.5 จะไม่สามารถลอยผ่านหน้ากากอนามัยชนิดนี้ได้ โดยทั่วไปมีอายุการใช้งานประมาณ 3 สัปดาห์ แต่แนะนำว่าหากอยู่ในเมืองที่มีฝุ่นหนาแน่นก็ควรเปลี่ยนให้บ่อยขึ้น เพราะฝุ่นที่ดักจับได้นั้นก็ติดอยู่ในหน้ากากนั่นเอง
5. หน้ากากป้องกันมลพิษ

เป็นหน้ากากที่สร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันมลพิษโดยเฉพาะ สามารถดักจับฝุ่นควันในอากาศได้ดี แถมมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้หลากหลายตามความเหมาะสม มีทั้งเป็นแบบเยื่อกระดาษ หรือเป็นเนื้อผ้าที่สามารถเปลี่ยนชั้นกรองได้ เป็นที่นิยมในผู้ขี่จักรยานและจักรยานยนต์ หากเป็นชนิดที่ระบุว่าสามารถดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 3 ไมครอนก็จะใช้ป้องกัน PM 2.5 ได้ ส่วนข้อเสียคือ ไม่มีคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อโรค
6. หน้ากากป้องกันสารเคมี

หน้ากากชนิดนี้มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบครอบธรรมดาและแบบที่มีตลับกรองช่วยฟอกอากาศ หน้ากากชนิดนี้สามารถกรองได้ตั้งแต่ฝุ่นไปจนถึงกรด ก๊าซอันตรายต่างๆ นิยมใช้ในงานอุตสาหกรรม ตลับกรองสามารถเปลี่ยนให้เข้ากับลักษณะการใช้งานได้เนื่องจากมลพิษหรือสารเคมีต่างๆ มีคุณสมบัติต่างกัน ยิ่งอนุภาคเล็กมากเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องใช้ตลับกรองที่หนาแน่นมากเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้หายใจได้ลำบากขึ้นด้วย และหวังว่าอากาศบ้านเราคงไม่แย่จนถึงขั้นต้องซื้อหน้ากากชนิดนี้มาใส่เดินกัน
อ้างอิง :
- กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (http://www.pcd.go.th/)
In this article:Business, Business trend, Cover men, Culture, Gentleman, GMlive, Grooming, Interview, Life Vision, Lifestyle’s men, Man, Mask, Men, ค่าฝุ่นละออง, บทสัมภาษณ์, สัมภาษณ์, หน้ากากกันฝุ่น, อัพเดทเทรนด์, อัพเดทเทรนด์โลก, ไลฟ์สไตล์ผู้ชาย
Written By
GM Live Editor

Click to comment