Reasons to Read
- เช็กอาการตัวเองก่อนที่ Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟจากการทำงาน จะกลายเป็นเรื่องใหญ่
- ข่าวดีคือ ถึงเป็น Burnout Syndrome ไปแล้ว ก็หายได้ ถ้าเยียวยาจิตใจตัวเองทัน
เคยไหมที่ทำงานหนักจนกระทั่งรู้สึกไม่มีความสุขในการทำงาน อยากจะเททุกงานที่ต้องทำ หนีทุกความรับผิดชอบ แล้วไปให้ไกลจากชีวิตการทำงาน ถ้าเป็น นี่คือบทความที่คุณต้องอ่านและสำรวจตัวเอง ก่อนที่ความรู้สึกเหล่านี้จะนำไปสู่โรคซึมเศร้า
การทำงานหนักๆ งานที่ไม่รัก ไม่ใช่ และงานที่มีความกดดันสูง ใช่ว่าจะนำมาแค่ความเครียดเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดอาการ Burnout Syndrome หรือในชื่อไทยว่า‘ภาวะหมดไฟที่เกิดจากการทำงาน’ จนส่งผลร้ายต่อร่างกายและจิตใจ มักเกิดขึ้นในคนที่ต้องทำงานที่ไม่ได้รัก หรืองานที่มีความกดดันอย่างสูง
เช็กสัญญาณ
ก่อนที่เราจะไปรู้จักกับภาวะทางจิตใจนี้ เรามาเช็กสัญญาณเตือนภัยว่ากำลังจะเป็น Burnout Syndrome กันก่อน โดยสัญญาณเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังการทำงานอย่างหนัก และเกิดเป็นช่วงๆ
☑️ ไม่อยากตื่นขึ้นมาทำงาน
☑️ เบื่องาน
☑️ ไม่อยากพูดคุยกับคนที่ทำงาน รู้สึกไม่อยากมีเพื่อนร่วมงาน
☑️ ไม่มีความสุขในการทำงาน
☑️ ไม่มีสมาธิ หรือไอเดียในการทำงาน
ทำความรู้จัก Burnout Syndrome
ภาวะหมดไฟมักแสดงอาการผ่านทางร่างกายก่อนส่งผลสู่จิตใจ โดยอาการเบื้องต้นคือ ร่างกายรู้สึกอ่อนล้า อ่อนเพลีย เครียดจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ทำให้หมดความกระตือรือร้นในการทำงาน รู้สึกเหมือนเป็นหนูถีบจักรที่ทำไปวันๆ ทำโดยไม่เกิดประโยชน์ ไม่รู้สึกสดใส ในบางรายอาจรู้สึกแย่จนแค่รู้คิดถึงงานก็อยากจะร้องไห้ แล้วกวาดทุกอย่างลงจากโต๊ะ
และหากไม่ได้รับการรักษา ยังคงทำงานแบบเดิม ด้วยความรู้สึกเดิมๆ จากภาวะเล็กๆ ที่เกิดขึ้นนี้อาจนำไปสู่สิ่งที่ร้ายแรงขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคร้ายต่อร่างกาย อย่างโรคความดัน หรือโรคหัวใจได้
ใครกันที่จะเป็น Burnout Syndrome?
Burnout Syndrome เป็นภาวะที่นอกจากจะเกิดกับคนที่ไม่ได้ทำงานในสิ่งที่รักแล้ว ยังเกิดขึ้นได้กับคนที่ต้องทำงานหนักตลอดเวลา และคนที่ต้องแบกรับความกดดันในที่ทำงาน ปัจจุบันคนเป็นภาวะนี้กันได้มากและง่ายขึ้น เพราะการติดต่อสื่อสารที่ดีทำให้คนต้องทำงานตลอดเวลา แม้ว่าจะเป็นวันหยุดแต่ยังคงต้องทำงาน หรือโดนตามตัว ติดต่อเรื่องงานแม้ขณะลาพักร้อน คนที่โดนแบบนี้ก็จะเหมือนโดนกระชากวิญญาณอยู่หน่อยๆ นอกจากนั้นแล้วภาวะนี้ยังเกิดขึ้นได้กับเหล่าเพอร์เฟ็กชันนิสต์ที่ทุกอย่างต้องเป๊ะ ต้องเพอร์เฟ็กต์ หากไม่ถูกต้อง 100% ตามที่คิดไว้ก็จะเกิดความเครียดขึ้นได้
ปรับชีวิต พิชิต Burnout Syndrome
ภาวะ Burnout Syndrome รักษาให้หายได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต หากเป็นเพียงเล็กน้อย การออกไปสังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัวในช่วงเย็นหรือวันหยุดก็หายได้ แต่หากเป็นมากและเป็นมานาน ก็อาจจะต้องทำมากกว่าการออกไปสังสรรค์ คือ
- จัดระเบียบชีวิต แยกระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวออกจากกัน ไม่ขนงานมาทำที่บ้าน
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เข้านอนดึกจนเกินไป
- เลือกรับประทานทานอาหารที่มีประโยชน์
- ผ่อนคลายความเครียด
- ทำบรรยากาศที่ทำงานให้น่าทำงาน ไม่ให้บรรยากาศตึงเครียดเกิดไป
รหัสแดง… เป็นแล้วต้องรีบหาหมอ
เมื่อมีอาการเหล่านี้ นั่นแปลว่ากำลังอยู่ในภาวะโคม่าของ Burnout Syndrome ควรเร่งรีบไปหาหมออย่างด่วนที่สุด ก่อนที่อาการจะลุกลามกลายเป็นโรคอย่างอื่นไป
- นอนไม่หลับ รู้สึกง่วง แต่นอนไม่ได้เพราะมัวพะวงแต่เรื่องงานจนบางครั้งต้องพึ่งยานอนหลับ
- กินไม่ได้ หิวนะแต่กินไม่ลง กินแล้วรู้สึกพะอืดพะอม
- รู้สึกแย่กับตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่ดีอย่างนั้น อย่างนี้
- ขาดความมั่นใจในการทำงาน สงสัยความสามารถการทำงานของตัวเอง รู้สึกความสามารถลดน้อยลง
- โทษตัวเอง ไม่ว่าจะเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นในการทำงาน ก็รู้สึกโทษตัวเองเอาไว้ก่อน ไม่มองที่ต้นสายปลายเหตุ
- อยากลาออก มองข้ามการลาพักร้อน เป็นการลาออกเพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะที่เป็นอยู่
ถ้าใครที่รู้สึกไม่สุขกับการทำงาน ก็อย่าลืมพาตัวเองออกไปผ่อนคลาย ก่อนที่จะกลายเป็น Burnout Syndrome
อ้างอิง :
- https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=26571

