fbpx

From Book to Bean ‘พีระ พนาสุภน’ เมื่อ MAC เปลี่ยนผ่านจากกระดาษสู่กาแฟสด

สำนักพิมพ์แม็ค ชื่อเด่นอยู่มุมหนังสือที่ไม่ว่าเด็กเตรียม Admission หรือคนยุค 90 ที่สอบเอนทรานซ์ต้องผ่านตากันมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังหน้ากระดาษนี้คือ ‘อ.พีระ พนาสุภน’ นักการศึกษาที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการเรียนของเยาวชนไทยหลายหมื่นคน

ผ่านมา 40 ปี วันนี้เขาได้นำ บริษัท แม็คเอ็ดดูเคชั่น จำกัด เปลี่ยนผ่านขยายธูรกิจครั้งสำคัญ จากวงการการศึกษาสู่วงการกาแฟ สาเหตุไม่ได้มาจากกระแสสิ่งพิมพ์ที่กำลังถดถอยอย่างช้าๆ แต่เป็นเพราะความหอมหวานของกลิ่นกาแฟสดใหม่ ที่เย้ายวนใจมากกว่า  

“เริ่มจากลูกชายของผม อยากเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ผมเลยได้มีโอกาสลองศึกษาเรื่องกาแฟดูแล้วพบว่ามันน่าสนใจ เลยตัดสินใจว่าไม่เอาแล้วร้านกาแฟ เรามาเริ่มจากศูนย์ด้วยการปลูกกาแฟคุณภาพตั้งแต่ต้นกล้ากันเลยดีกว่า” อ.พีระ พนาสุภณ เล่าจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่ทำให้เข้าสู่วงการเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมของคนทั้งโลกให้เราฟัง

แน่นอนว่าจากประสบการณ์ในวงการศึกษามานานหลายสิบปี ทำให้ไม่ว่าจะสนใจเรื่องอะไร อ.พีระ ก็ต้องลงมือศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง จากการศึกษาด้วยตัวเองมาถึงการปรีกษาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ปรึกษาด้านการปลูกกาแฟ

ในปี พ.ศ. 2554 อ.พีระ พนาสุภน และลูกชาย คมพิชญ์ พนาสุภน ได้เริ่มต้นทำไร่กาแฟออร์แกนิกที่ เชียงใหม่ บนพื้นที่สูง 1,000-1,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟอราบิก้า โดยไร่กาแฟทั้งสองแห่งมีพื้นที่รวมประมาณ 500 ไร่ ได้แก่ ไร่ดอยเมฆ อ.เชียงดาว มีพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ และ ไร่สะเก็ดดาว อ.ดอยสะเก็ด มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่

และในปีต่อมาได้ก่อตั้ง ‘สถานีต้นกล้าดอยหลวง’ ขึ้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อเพาะเลี้ยงต้นกล้าของตัวเองจำนวน 3 ล้านต้น โดยส่วนใหญ่ผลผลิตกล้ากาแฟที่ได้ก็ได้นำไปปลูกในไร่กาแฟ และส่วนหนึ่งจัดจำหน่ายแก่เกษตรกรที่สนใจปลูกกาแฟ โดย ‘ต้นกล้าดีดี’ ที่เพาะในสถานี เป็นต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดพันธุ์กาแฟอราบิก้า สายพันธุ์คาร์ติมอร์ เชียงใหม่ 80

“เราตั้งใจจะปลูกกาแฟอราบิก้าแบบออร์แกนิก ที่อาศัยร่มเงาของป่าในการเจริญเติบโต หรือที่เรียกว่า Shade-grown Coffee ซึ่งข้อดีคือไม่ต้องถางป่าเพื่อปลูกพืช ให้ผลผลิตที่มีความหวาน มีคุณภาพมากกว่าปลูกแบบทั่วไป แต่ข้อเสียคือโตช้ากว่าเขาหน่อย” นักการศึกษาผู้ผันตัวมาวงการกาแฟหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

“นอกจากนี้การปลูกกาแฟออร์แกนิก ไม่มีการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงใด เป็นการช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ และรักษาแหล่งต้นน้ำให้ปลอดภัยด้วย เรายังส่งเสริมให้เกษตรกรดูแลป่าด้วยการสร้างฝายเล็กๆ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ มีปลูกพืชพันธุ์ไม้ป่าอื่นๆ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้กับป่าไม้” ผู้ก่อตั้งบริษัท แม็คเอ็ดดูเคชั่น จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่ม

ซึ่ง อ.พีระ ยังสนับสนุนให้เกษตรกรมีระบบประกันคุณภาพภายใน CGS (Community Guarantee System) ให้ความสำคัญกับการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพภายในสำหรับกาแฟออร์แกนิกที่ปลูกขึ้นเอง อันเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อการรับรองจากหน่วยงานภายนอก ทั้งไทยและนานาชาติ การสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainabile Agriculture) ซึ่งไม่ใช่แค่รักษาสภาพแวดล้อม อนุรักษ์ทรัพยากร หรือสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ แต่สิ่งสำคัญ คือ เกษตรกรต้องมีตลาดรับซื้อผลิตผลที่ผลิตได้ โดยตรง (Direct Trade) ด้วยราคาที่เป็นธรรม (Fair Trade) จึงจะตอบโจทย์ของความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง โดย อ.พีระ ได้ตั้ง บริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด ที่มีนโยบายจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกในโครงการทั้งหมด โดยไม่ผูกมัดว่าเกษตรกรจะต้องขายให้กับบริษัทเท่านั้น

“ชื่อ พานา นอกจะหมายถึงป่าเขาความอุดมสมูบรณ์แล้ว ยังมาจากนามสกุล พนาสุภน และแซ่ลิ้มของผมด้วย” อ.พีระ เล่าให้ฟังขณะพักดื่มกาแฟที่เป็นผลผลิตของเขาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

โดยกาแฟอราบิก้าแบบออร์แกนิกจะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 4 และให้ผลผลิตเต็มที่ตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป อ.พีระ เลยเตรียมประกอบกิจการแปรรูปกาแฟเต็มรูปแบบ และได้ซื้อที่ดินกว่า 24 ไร่ บนพื้นที่ราบในเขต อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เพื่อก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตผลและผลิตภัณฑ์กาแฟแบบครบวงจร โดยมีพื้นที่ก่อสร้างรวม 8,700 ตารางเมตร 

ครอบคลุมตั้งแต่โรงแปรรูปผลิตผล จากผลเชอร์รีกาแฟ จนได้เป็น กาแฟกะลา ไปจนถึง โรงคั่ว (Roaster) และโรงแปรรูปผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟคั่ว เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเช่น บรรจุลงถุงกาแฟดริป หนึ่งในไลน์สินค้าที่ อ.พีระ ตั้งใจทำออกมาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ‘SOD Coffee’

ไฮไลท์ของที่นี้คือ ศูนย์เรียนรู้กาแฟ The Coffeenery ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นโรงงานผลิตกาแฟ ที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ ไปถึงปลายน้ำได้ทุกขั้นตอน โดยผนังของอาคารหลักได้รับการออกแบบเป็นกระจกทั้งหมด เพื่อให้สามารถมองเห็นขั้นตอนการผลิตได้อย่างชัดเจน

“เราได้ออกแบบและก่อสร้างโรงงาน และเลือกเครื่องจักรผลิต ที่ดีและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อย่างเครื่องคั่วที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกรองอากาศและควันจากการคั่วกาแฟถึง 2 ชั้น ใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีล่าสุดจากบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟอันดับ 1 ของโลกและเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรผลิตกาแฟ ในการกรองฝุ่นควันจากการสีกาแฟกะลา เวลามาเยี่ยมชมสบายใจได้ว่าปลอดฝุ่นและไม่เป็นอันตรายต่อผู้เข้าชมแน่นอน” อ.พีระ พูดด้วยรอยยิ้ม ไม่แปลกเพราะการให้ความรู้เป็นเรื่องที่เขาถนัดตั้งแต่เริ่มเปิดติวข้อสอบให้กับรุ่นน้องที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จนนำไปสู่การจัดตั้ง ‘Modern Academic Center’ หรือ MAC โรงเรียนกวดวิชาที่มีสถิติเคยสอนนักเรียนมากถึง 20,000 คนต่อปี

นอกจากนี้ อ.พีระ ยังได้ก่อตั้ง บริษัท เมาน์เท่น อราบิก้า คอฟฟี่ (แม็ค) จำกัด เพื่อศึกษาตลาดของธุรกิจกาแฟอราบิก้าในประเทศ พร้อมกับเปิด ‘ร้านกาแฟดอยเมฆ’ ที่ อำเภอเชียงดาว ให้บริการขายกาแฟ และ ‘ร้าน SOD Coffee” ซึ่งเป็นร้านขายกาแฟแบบ Kiosk อีก 2 ร้าน เพื่อเป็นการทดลองตลาด

“ผมอยากช่วยยกระดับมาตรฐานกาแฟไทยให้มีคุณภาพสูงจนได้รับการยอมรับในวงการกาแฟระดับโลกได้” อ.พีระ ย้ำถึงจุดประสงค์ที่ทำให้มาคลุกคลีกับวงการกาแฟอย่างจริงจัง 

ซึ่งนี่อาจไม่ใช้การเปลี่ยนผ่านจากกลิ่นแห้งๆ ของกระดาษหนังสือเรียน มาเป็นกลิ่นหอมของกาแฟคั่วบดสดใหม่ แต่เป็นการขยายพื้นที่ความรู้จากการติวเพื่อเข้าเรียนต่อ เป็นการลงมือศึกษาอย่างใส่ใจ เพื่อให้ได้เครื่องดื่มที่ดีที่สุดสำหรับเช้าวันใหม่

นักเขียน : กิตยางกูร ผดุงกาญจน์
Update : 31 Oct 2018

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ