fbpx

การดำรงอยู่ของสถาบันสื่อสารมวลชนของฝรั่งเศส

ในงานภาคสื่อสารมวลชนระดับสากลนั้น เป็นที่ยอมรับอย่างแน่นอนแล้วว่า ‘สื่อสารมวลชนฝรั่งเศส’ มีรูปแบบและเอกลักษณ์อันเป็นเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร ทั้งความแม่นยำในการนำเสนอ ความเสียดเย้ยต่อสถานการณ์ การกล้าได้กล้าเสียในภาคสนาม จนถึงการยึดหลักอุดมการณ์ข่าวสารเสรีอย่างรับผิดชอบ กระนั้นแล้ว ภายใต้กระบวนทัศน์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และสนามเล่นของภาคสื่อสารมวลชนเคลื่อนตัวออกจากสื่อชนิดเก่า ไปสู่สื่อชนิดใหม่อย่าง Social Media การดำรงอยู่ของอัตลักษณ์แห่งสื่อสารมวลชนฝรั่งเศสจึงถูกท้าทาย และน่าจับตามองอย่างยิ่ง ว่ามันจะคงอยู่ในฐานะ ‘สถาบัน’ ได้อย่างไม่สั่นคลอนมากน้อยเพียงใด

เราขอเชิญคุณร่วมศึกษาถึงหลักยึด แก่นการดำรงอยู่ และการดำรงไว้ซึ่งอุดมการณ์ของภาคสื่อสารมวลชนฝรั่งเศส ในบทความชิ้นนี้

บทคัดย่อ

บทความชิ้นนี้เป็นการเรียงเรียงประเด็นจากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานในองค์กรสื่อสารมวลชน และ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับสื่อในมิติต่างๆ ในสาธารรัฐฝรั่งเศสระหว่างวันที่ 12 – 20 พฤษภาคม 2566 โดยการร่วมคณะของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้มีโอกาสได้รับรู้ถึงเหตุผลการดำรงอยู่อยู่ขององค์กรสื่อในภาพรวมของฝรั่งเศสมาจากหลากหลายมิติซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย กล่าวคือ สื่อออนไลน์ และ รูปแบบรายได้แบบใหม่ที่ไปอยู่ที่สื่อออนไลน์มากกว่า แม้ว่าจะกระทบต่อสถานะทางการเงินของสื่ออยู่บ้าง แต่ไม่ได้ส่งผลมากจนทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงกรอบการทำงาน หรือ งดเว้นการใช้จรรยาบรรณบางข้อเพื่อทำให้ได้เงินสนับสนุนมากขึ้น เพราะ ส่วนหนึ่งนั้นความเป็นสื่อบางประเภท มีรัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ ขณะที่สื่อเองก็ยังได้รับความนิยมโดยเฉพาะ สื่อแบบดั้งเดิมที่คนฝรั่งเศสยังเสพ โดยยังสนับสนุนเพราะเชื่อกรอบการทำงานที่ยังคงปราศจากการครอบงำจากรัฐ หรือ อำนาจทุน นอกจากนี้สื่อบางสำนักแม้ว่าอาจจะสุดโต่งในมุมมองการนำเสนอ แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนเพราะ อุดมการณ์เสรีของสังคมที่ต้องเปิดพื้นที่ให้สื่อทำงานอย่างมีเสรีภาพ เช่น กรณี หนังสือพิมพ์ ชาร์ลี เอบโด ซึ่งแม้จะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการกราดยิงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ทว่าความเป็นสื่อก็ยังคงอยู่  แต่ถ้ามองในอีกมิติหนึ่งสื่อก็ไม่ได้มีเสรีภาพจนล้นเกินกว่าที่จะควบคุม เพราะ องค์กรสื่อทุกแห่ง ก็ได้สร้างกลไกในการควบคุมตัวเอง คือ จรรยาบรรณ หรือ กรอบในการทำงานที่ได้แถลงต่อสาธารณะ  พร้อมกันนี้รัฐแม้ว่าจะไม่ได้เข้ามาควบคุม แต่ก็มีการสร้างองค์กรที่ยึดโยงจากประชาชนเพื่อตรวจตราผลกระทบจากสื่อที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชน ซึ่งถ้าหากพบก็จะเข้าไปดำเนินการอย่างทันท่วงทีซึ่งแม้ว่าผลที่เกิดขึ้นจะไปถึงตัวสื่อโดยตรง แต่ทว่ามุมมองนั้นไปที่การปกป้องประชาชนมากกว่าการเน้นเข้าควบคุมที่ตัวสื่อ ที่สำคัญในขณะที่สื่อกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี การทำให้ประชาชนมีเครื่องมือป้องการตัวเองด้วยการสร้างกลไกรู้เท่าทันสื่ออย่างกว้างขวางก็เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบด้วย ทั้งผ่านสื่อทั่วไป และ สื่อการเรียนการสอน ซึ่งกำลังถูกท้าทายอย่างหนักถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกลไก เพราะ ต้องแข่งกับปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างปัญหาให้เข้าสู่โลกของสื่อ ที่กระบวนการป้องกันต้องเร่งสร้างอย่างรวดเร็วและทันท่วงที  ทั้งนี้ตัวบทความนี้ลงรายละเอียดถึงกลไกการทำงานขององค์กรต่างๆที่ผู้เขียนเชื่อว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจะนับมาปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย

บทนำ

นอกเหนือจากองค์กรหลักของชาติที่ประกอบไปด้วยฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ ที่ถือว่าเป็นสถาบันที่เข้มแข็งและ เป็นแกนหลักของการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนแล้ว สำหรับสาธารณรัฐฝรั่งเศสแล้วองค์กรสื่อถือว่ายังเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับในบทบาท คุณค่าและ ความหมายในฐานะ ฐานันดรที่สี่ที่จำเป็น โดยยอมรับให้มีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบฝ่ายมีอำนาจให้กับประชาชน และ เฝ้าระวังความไม่ชอบมาพากลที่เกิด หรือ อาจจะเกิดขึ้นจากรัฐ และ เอกชน โดยมีกลไกการทำงานที่เป็นอิสระเพียงพอจนเชื่อ หรือ พอเชื่อได้ว่าความมีเสรีภาพของสื่อเป็นการรับประกันเสรีภาพของประชาชน

ทั้งนี้สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเกิดขึ้นกับสื่อมวลชนนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยกลไกการควบคุมของรัฐ แต่ทว่าเกิดขึ้นจากกลไกของตัวสื่อเองที่ทุกแห่งมีกรอบจรรยาบรรณ  (  Code of Conduct ) ในการคุ้มครองการทำงาน โดยที่รัฐไม่สามารถแทรกแซงได้ด้วยกฎ กติกา หรือ อำนาจรัฐที่จะเข้ามาครอบงำ หรือ บางการใดๆ แต่ด้วยความที่สื่ออย่างไรเสียก็หนีไม่พ้นการมีเจ้าของ แต่ถ้าหากได้ประพฤติให้เข้าข้าง หรือ ทำให้ฝ่ายทุนได้ประโยชน์ หรือ ฉ้อฉลต่อวิชาชีพ จนทำให้กระทบต่อความน่าเชื่อถือ ความไม่เชื่อใจจากประชาชนที่เกิดขึ้นก็จะส่งผลให้การดำเนินกิจการก็อาจจะล่มสลายเพราะ ไร้การสนับสนุน

แต่ก็ใช้ว่าจะมีเพียงการกำกับกันเองของสื่อ และ ความรู้เท่าทันสื่อของประชาชนเท่านั้นที่ทำให้สื่อเดินหน้าทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ และ อำนาจทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ ฝรั่งเศสก็ได้มีองค์กรซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบ หรือ ช่วยถ่วงดุล อีกทางหนึ่ง คือ  ARCOM ซึ่งย่อมาจาก Regulatory Authority for Audiovisual and Digital Communication โดยเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจ กำกับดูแลด้านภาพและเสียงและการสื่อสารดิจิทัล เพื่อไม่ให้มลพิษทุกทางได้ปรากฏขึ้นในสื่อที่มากจากองค์กรสื่อ รวมถึงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ตามที่ได้นำสิ่งนั้นเข้าสู่การเผยแพร่ในสื่อสารมวลชน ซึ่งนอนว่าหมายถึงภาครัฐ และ องค์กรเอกชนด้วยซึ่งถ้าจะเทียบเคียงกับในประเทศไทยแล้วน่าจะหมายถึง ก.บ.ว. ในอดีต ที่อาจจะต้องทำหน้าที่พร้อมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศไทยในปัจจุบัน

เสรีภาพสื่อ คือตัวฐานโดยมีจรรยาบรรณเป็นแกน ประกอบกับมีองค์กรกำกับดูแลซ้อนแทนประชาชนอีกชั้นหนึ่ง ฝรั่งเศสยังมี CLEMI  ซึ่งทำหน้าที่สร้างการรู้เท่าทันสื่อในวงกว้างให้กับประชาชนชาวฝรั่งเศสทุกคน ผ่านเครื่องมือและกลไกต่างๆมากมาย ทั้งกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งสื่อการสอนที่ทำผ่านกระบวนการฝึกครูเพื่อให้ไปขยายผลต่อในชั้นเรียน และ การสื่อสารโดยตรงไปยังประชาชน

จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าการกำเนิดขึ้นขององค์ประกอบต่างๆ ล้วนสนับสนุนส่งเสริมการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนให้ธำรงอยู่เพื่อทำหน้าที่ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน ขณะที่สื่อเองก็มีเสรีภาพ ภายใต้กรอบที่ตัวเองร่างขึ้น โดยปราศจากการควบคุมจากรัฐ ซึ่งยังผลให้องค์กรสื่อยังสามารถรักษาความเป็นฐานันดรที่สี่ในสังคมฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี

AFP กับการยืนหยัดความเป็นสำนักข่าวหลักท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ

AFP ถือว่าเป็นหนึ่งในสามสํานักข่าวหลักของโลก คู่กับ สำนักข่าวเอพี และ สำนักข่าวรอยเตอร์   ซึ่งมีภารกิจของบริษัทคือการผลิตข่าวในรูปแบบของ ข้อความ ภาพถ่าย วิดีโอ กราฟิก และเสียง  ซึ่งตามติดประเด็นต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อบริการแก่สมาชิก และ เป็นการทั่วไป โดยครอบคลุม เป็นกลาง และ ตรวจสอบได้  โดยวันนี้มีพนักงานกว่า  2,400 คนจาก 100 สัญชาติ ทั้งนี้  AFP ให้ข้อมูลใน 6 ภาษา ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน สเปน โปรตุเกส และ อาหรับ  ทั้งนี้เรื่องการทำข่าวเพื่อป้อนองค์กรข่าวทั่วโลกอย่างที่เป็นอยู่มาอย่างยางนาน จนถึงปัจจุบันอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกมากนัก แต่ก็ไม่ง่ายในการดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสการคัดลอกข่าว ทั้งเนื้อหาข่าว ภาพข่าว โดยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องลิขสิทธิ์อย่างดาษดื่น  ซึ่งก็ทำให้องค์กรข่าวที่เป็นสมาชิกในหลายประเทศเริ่มได้รับผลกระทบ เนื่องจากองค์กรสื่อใหม่ๆที่เกิดขึ้นจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะมนออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น บนพื้นฐานของค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า เพราะ ไม่ต้องซื้อลิขสิทธ์ข่าว  โดยใช้วิธีการทำซ้ำโดยไม่สนใจที่มา หรือ ต้นตอของข่าว  แต่สำหรับในประเทศในประเทศโลกตะวันตก ประเด็นเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นจนเป็นปัญหามากนัก เพราะ ตัวประเทศที่องค์กรเป็นสมาชิก ให้บริการข่าวสารส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับงานสื่อสารมวลชนที่มีความน่าเชื่อถือ มีแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ และ พร้อมสนับสนุนองค์กรข่าวเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ เนื่องจากทราบดีว่า ถ้าองค์กรสื่ออยู่ไม่ได้ หรือ ไม่มีองค์กรสื่อสื่ออยู่เพื่อทำหน้าที่ ประชาชนจะถูกโดดเดี่ยว เพื่อต่อสู่กับพลังอำนาจรัฐ  และ อำนาจของทุนนิยม

สำหรับ AFP นอกเหนือจากฐานะการเป็นองค์กรสื่อที่อยู่มาอย่างยาวนานแล้ว  บทบาทใหม่ที่เกิดขึ้นที่มีความสำคัญอย่างมาก คือ AFP Fact Check  ซึ่งทำหน้าที่เพื่อการต่อสู้กับข้อมูลที่ถูกบิดเบือน   ( Leadership role in the fight against disinformation )  โดยมีเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงชั้นนําของโลก เป็นพนักงาน 140 คน ทํางาน ใน 5 ทวีปใน 26 ภาษา ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบข้อเท็จจริง  และการ ตรวจสอบความถูกต้องทางช่องทางดิจิทัล  แล้วเปิดเผยข้อมูลที่บิดเบือนและสร้างความจริงเคียงคู่กันออกมาก  ซึ่งนอกจาก AFP จะดำเนินการด้านนี้โดย เผยแพร่โดยตรง ต่อสาธารณชนผ่านไซต์แล้ว   AFP ยังขยายบทบาทนี้โดยให้ให้นักข่าวจากองค์กรต่างๆ ทั่วโลกเข้าถึงการฝึกอบรมด้านสื่อสารมวลชน ดิจิทัลได้ทั้งทางออนไลน์ และ ทำความร่วมมือกันโดยไปอบรมให้ถึงหน่วยงาน หรือ ประเทศนั้นๆ อย่างในประเทศไทย เคยมีการดำเนินงานโดยองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน  ทั้งนี้ในการดำเนินการของ  AFP Fact Check  ประเด็นที่น่าสนใจองค์กรนำรายรับจากการดำเนินกิจกรรมมาจากไหน เพราะ ไม่น่าจะมีโฆษณา หรือ มีรายได้จากการเป็นสมาชิก  แต่ทว่ากลายเป็นที่นี่มีรายได้จากเงินรับบริจาค เพราะ มีผู้มองเห็นว่านี่เป็นงานที่มีความสำคัญต่อสังคมในขณะนี้ ขณะที่อีกแหล่งที่มาจากรายรับ คือ เงินจากให้ให้บริการจากการเป็นสมาชิกของ แพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ขนาดใหญ่ เช่น เฟสบุ๊ค  เนื่องจากองค์กรเหล่านี้มีโอกาสเป็นพื้นที่ ที่ทำให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องสามารถที่จะเติบโต หรือ ถูกกระจายได้อย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งการทีแต่ละ แพลตฟอร์ม จะเป็นผู้ดำเนินการด้วยตัวเอง ก็ใช้งบประมาณที่มาก ขณะเดียวกันก็สุ่มเสี่ยงที่จะตัดสินใจชี้ชัดลงไปว่า สิ่งไหนถูกหรือผิด ซึ่งถ้าหากผิดพลาดก็อาจจะกระทบต่อชื่อเสี่ยง และ ความนิยม หรือ มีผลทางกฎหมายได้  ที่สำคัญนั้น การที่แพลตฟอร์มสื่อออนไลน์แสดงตัวว่าเป็นสมาชิกของ AFP Fact Check ก็ประหนึ่งว่าเป็นองค์กรที่มีภาพลักษณ์ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความสนใจในการยกระดับให้กับแพลตฟอร์ม ของตัวเองเชื่อถือได้  ซึ่งทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเป็นต้นทางสำคัญที่ทำให้การกรองความจริงในสื่อสารมวลชนเป็นสิ่งที่ยากขึ้น แต่ทว่าประชาชนก็ให้ความเชื่อถือสื่อในการทำหน้าที่ ซึ่งการที่ประชาชนยังไม่ไว้วางใจในแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ จึงเป็นเรื่องกดดันทางอ้อมให้กลายมาเป็นผู้ที่ต้องรับภาระจ่ายเงินให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ Fact Check ให้กับประชาชน

Arcom  กับการทำความสะอาดให้กับโลกแห่งข้อมูลและความเกลียดชังทางออนไลน์

Arcom  หรือ   French public authority for the regulation of audiovisual and digital communication เป็นหน่วยงานสำคัญที่ถือกำเนิดขึ้น เพื่อกำกับดูแลด้านงานสื่อทั้งภาพและเสียงแบบ โดยครอบคลุมทั้งสื่อวิทยุโททัศน์แบบดั้งเดิม และ ดิจิทัลสมัยใหม่บนสื่อออนไลน์ และ แพลตฟอร์มต่างๆ  ที่มีการกลายพันธุ์อย่างเต็มรูปแบบ ที่ใช้งานและเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  โดยมีการเกิดขึ้นของผู้เล่นรายใหญ่ระดับนานาชาติไม่เว้นในแต่ละวัน ซึ่งทำไม่ง่ายเลยที่จะชลอการเติบโต พร้อมๆกับการสลายปีกการปกป้องประชาชนจากข้อมูลที่อาจจะไม่ถูกต้องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ง่ายมากกว่าเดิมในหลักวินาที   แต่ฝรั่งเศสต้องรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ โดย ควบรวมกิจการของสภาโสตทัศนูปกรณ์แห่งฝรั่งเศส ( CSA ) และ หน่วยงานระดับสูงของฝรั่งเศสเพื่อการเผยแพร่ผลงานและการคุ้มครองสิทธิบนอินเทอร์เน็ต ( Hadopt ) เข้าด้วยกัน โดยมองปัญหาสำคัญ คือ ข้อมูลข่าวสารที่ผิด และ หวังผลอย่างไม่ถูกต้อง ทั้งการหวังผลทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือ กลายเป็นประเด็นทางสังคมต่างๆ ต้องถูกจัดการอย่างทันเวลา และ ทันท่วงที โดยไม่ให้เกิดผลกระทบที่บานปลาย ซึ่งโจทย์สำคัญ คือ ความถูกต้องแม่นยำ หยุดยั้งการกระจาย และ จัดการผู้ที่กระทำความผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่การที่จะต่อสู้กับการจัดการข้อมูลและความเกลียดชังทางออนไลน์ และการปกป้องผู้ชมและคนหนุ่มสาว  แต่ยังจะให้ได้รับความน่าเชื่อถือจากประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ถ้าเป็นหน่วยงานรัฐก็จะกระทบกับความรู้สึกต่อการรับประกันเสรีภาพในการสื่อสารของสังคม  จึงจำเป็นต้องมีโครงสร้างที่มา โดยต้องมีอำนาจแต่ทว่าต้องอิสระจากการแทรกแซงของรัฐ โดย ประธาน Arcom แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ กรรมการ 3 คนแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี กรรมการ 3 คน แต่งตั้งโดยประธานวุฒิสภา ของรัฐสภา กรรมการ 1 คนหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรองประธานคนแรกของศาล กรรมการอีก 1 ซึ่งแต่งตั้งรองประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่งตั้ง  โดยจะเห็นได้ว่า ประธานและสมาชิกคณะกรรมการ ทั้ง 8 คนได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายบริหาร อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการ แต่งตั้งโดยหน่วยงาน 5 แห่งที่แยกจากกัน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส สมัชชาแห่งชาติ วุฒิสภา สภาแห่งรัฐ ศาล เพื่อตอกย้ำความเป็นอิสระของสถาบัน และได้รับการต่ออายุทุกๆ 2 ปี

จากภารกิจที่กว้างขวาง เช่นการ เพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ และ ตัวชี้วัดที่ถูกกำหนดว่าต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว   ทำให้ Arcom จำเป็นต้องสร้างแหล่งเงินทุนในการดำเนินการ  ซึ่งได้กำหนดภาระผูกพันสำหรับการจัดหาเงินทุน   โดยขยายไปยังเครือผู้เผยแพร่ในมิติต่างๆ เช่น ข่ายบริการวิดีโอที่รับสมัครสมาชิกต่างประเทศ ภายใต้คำสั่ง Audiovisual Media Services Directive  ซึ่งตัว Arcom นั้นจะตอบแทนด้วยการเข้าคุ้มครองสิทธิ์ที่เกี่ยวข้อง ให้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้การทำงานต่างๆนั้น มีความท้าทายอย่างมากเพราะ บุคลากรได้จากการรวมตัวกัน 2องค์กร โดยผนวกกับ คณะกรรมการสำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์และคณะกรรมการเพื่อการสร้างสรรค์ที่สร้างขึ้นใหม่อีกด้วย

สำหรับประเทศไทยที่ยังไม่มีหน่วยงานลักษณะนี้โดยตรง แต่อาจจะมี ก.ส.ท.ช. และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ร่วมกันรับผิดชอบกันในแต่ละพื้นที่ ที่เป็นผู้กำกับ แต่ทว่าความเป็นองค์กรรัฐกับการทำหน้าที่คนกลางอาจจะไม่ได้รับความเชื่อถือ และ ขาดความคล่องตัว ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นไปลักษณะนี้คงไม่สามารถปกป้องประชาชาติ และ ผู้เล่นที่ดีในอุตสาหกรรม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

CLEMI กับการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในกลไกการศึกษาของฝรั่งเศส

CLEMI นั้นเป็นซึ่งส่วนหนึ่งของ Canopé Network (Réseau Canopé)  ซึ่งมีภารกิจหลักในการรับผิดชอบด้านการรู้ทันสื่อ และ รู้ทันสารสนเทศ  ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2526 โดยมีภารกิจแรกเริ่ม คือ ในการฝึกอบรมครูให้มีความรู้ความเข้าใจในระบบการทำงานของสื่อสารมวลชนทั้งกระบวนการ และ ขยายประเด็นทางข้างโดยเน้นการรู้เท่าทันสื่อ  เพื่อที่จะนำไปออกแบบวิธีการถ่ายทอด แล้วสร้างทักษะการเป็นพลเมืองของเด็ก และ เยาวชน ด้วยการจัดหาเครื่องมือ  ซึ่งประกอบไปด้วยเอกสารถ่ายทอดความรู้ คลิปวีดีโอ และ อื่นออนไลน์ต่างๆ  รวมไปถึงบอร์ดเกม โดยเป็นกิจกรรมที่ผู้เล่นด้วยกันเองพร้อมทั้งครู สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ ทำความเข้าใจไปพร้อมกันได้  เพื่อส่งเสริมกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์  และ กระบวนการในกาหาข้อมูลโดยไม่มีการบังคับไป บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาชน จะเป็นกลไกสำคัญ ที่จะทำให้เข้าใจบริบทต่างๆในโลกดีขึ้นได้

ในเชิงลึกการดำเนินการของ CLEMI ได้กลายเป็นองค์กรที่มีความชำนาญระดับชาติ โดยมี เครือข่ายผู้ประสานงานด้านวิชาการจากล่างขึ้นบนจนมีตัวแบบที่หลากหลายในท้องถิ่นที่เข้มแข็ง  พร้อมกันนี้ยังมีพันธมิตรด้านสื่อจำนวนมากในการสร้างโครงการ และ การดำเนินการในสถานศึกษา โดยได้ ด้านความรู้สื่อและสารสนเทศในฝรั่งเศส ยุโรป ซึ่งในแต่ละปี CLEMI ได้ขยายผลจากการผลิต ทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้ความรู้ด้านด้านสื่อและสารสนเทศสำหรับครู และ การเป็นการขยายผลไปสู่เครือข่ายผู้ปกครองในที่สุด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสิ่งที่เน้นย้ำเป็นภารกิจปัจจุบันทันด่วน คือ แก้ไขปัญหาที่เด็กติดโทรศัพท์มือถือ จนช่องว่างระหว่างผู้ปกครอง และ เด็กมีมากขึ้นพร้อมๆกับทักษะในการแยกแยะความถูกต้องของข้อมูลมีน้อยลง 

สำหรับประเด็นสำคัญที่สุดที่ผู้เขียนมองว่าเป็นการรับมือเชิงรับ แบบรุกอย่างมีประสิทธิภาพ คือ กลไกการป้องกันสังคมที่ CLEMI ช่วยประสาน และ จัดการผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นเหยื่อจากข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองที่ไปปรากฏในที่ต่างๆได้อย่างทันท่วงที  เช่น ถ้าหากมีรูปถ่าย ข้อมูลส่วนตัว  หรือ แม้กระทั่งการถูกกกล่าวหา หรือ ประทุษวาจาที่เป็นผลเสียต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เราสามารถเรียกร้อง ซึ่งถ้าหากตรวจสอบได้ว่าสิ่งที่เราร้องขอเพราะเราเสียหาย จะมีคำสั่งให้นำออกจากระบบไว้ก่อนอย่างทันท่วงที ทั้งจากสื่อทั้งวิทยุโทรทัศน์ และ สื่อออนไลน์นั่นหมายความว่าองค์กรนี้นอกจากจะทำหน้าที่ในการส่งเสริมแล้ว ยังมีอำนาจบังคับเพื่อปกป้องสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่อาจถูกละเมิดอีกด้วย

บทส่งท้าย

จากการศึกษาดูงานองค์กรด้านสื่อสารมวลชน และ องค์กรด้านสื่อในฝรั่งเศส  เมื่อพิจารณากับงานวิชาการสื่อสารเพื่อการพัฒนา (Development Communication : devcom)  พบว่าประเทศฝรั่งเศสกับสื่อกระแสหลัก ทั้ง วิทยุ และ โทรทัศน์  ยังคงทำหน้าที่ได้ดี ในบริบทสังคมฝรั่งเศสที่ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรแห่งอำนาจทั้งรัฐและทุน มีสื่อมวลชนช่วยประชาชนในการจับตา ทั้งๆที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่ออนไลน์  สื่อหลักยังคงทำงานอย่างแข็งแรง โดยได้รับการสนับสนุนทั้งเงินทุน และ เสียงจากประชาชน ซึ่งถือว่าเป็น กระบวนทัศน์สื่อสารเพื่อการพัฒนา กระแสหลักที่ยังคงดำรงอยู่

ขณะเดียวกันก็ขยายภาพ การสื่อสารเพื่อการพัฒนาในแบบยุคหลัง  ที่เรียกว่า กระบวนทัศน์สื่อสารเพื่อการพัฒนากระแสทางเลือก  ซึ่งจะเห็นได้จากการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต โดยมีเว็บไซต์ขึ้นมาเป็นอีกช่องทางเสริมอีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่  โดยสิ่งสำคัญที่น่าสนใจมากๆ คือ แม้การเกิดขึ้นจะอยู่บนรากฐานของเสรีภาพสื่อ แต่ทว่าสื่อก็ยังยึดถือกรอบจรรยาบรรณโดยที่ทุกสื่อจะมีแนวทางในการทำงาน หรือ Code of Conduct ของตัวเอง ในเบื้องต้นที่อำนาจรัฐจะไม่ล้ำเส้นเข้ามา หากไม่ละเมิด หรือ มีความผิดในมิติของกฎหมาย ขณะที่สื่อก็ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าโดยไม่มีการกำกับ เพราะ มีองค์กรกำกับที่ไม่ได้ถูกออกแบบไปที่จับจ้องการทำงาน หรือ เน้นภารกิจไปที่การควบคุม เช่นการ ออกใบอนุญาต แต่ทว่าเป็นการปกป้องไม่ให้เนื้อหาไปกระทบต่อประชาชนทั้งในแง่ปัจเจก และ ในวงกว้าง

นอกจากนี้การที่องค์กรเกิดใหม่อย่างทันท่วงทีเพื่อมาแก้ไขปัญหาเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ โดยเน้นไปที่กระบวนการมีส่วนร่วมนั้น ถือว่าเป็นการมองไปที่การติดอาวุธทางปัญญาระยะยาว โดยที่ไม่ได้ลงไประบุ หรือ ชี้เป็นแต่ละกรณีว่าอะไรผิด หรือ อะไรที่ไม่ดี โดยสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปลูกฝังตามทฤษฎีการปลูกฝัง  ( Cultivation theory )   ที่เน้นการรู้เท่าทันสื่อแห่งอนาคต ที่กลุ่มเป้าหมายจะสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆได้อย่างหลากหลายมากขึ้น มากกว่าชี้ผิดถูก ณ ช่วงเวลานั้นๆ 

ท้ายที่สุดสิ่งที่สำนักข่าวเอเอฟพีเน้นย้ำ คือ การที่สื่อจะต้องมีกฎกติกาที่เป็นแนวทางปฏิบัติขององค์กรอย่างเคร่งครัด เพื่อนำการทำงาน และ ปกป้องความเป็นสื่อมวลชนจากอำนาจรัฐที่ธรรมชาติต้องการแทรกแซงเสมอ  หรือ อาจจะต้องเขียนกติกาสากลร่วมกันเพื่อยกระดับคุณค่าขององค์กรสื่อในประเทศต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องมีกลไกการกำกับดูแลเนื้อหา และ ตรวจสอบร่วมกัน เพราะ วันนี้สื่อมวลชนมีโจทย์ที่ท้าทาย คือ การไม่ตกเป็นเครื่องมือของข้อมูลข่าวสารเท็จ รวมถึงประทุษวาจาทั้งแบบที่ละเลย หรือ ไม่ได้ตั้งใจ  ซึ่งไม่ง่ายถ้าจะต้องรับมือกับข้อมูลลวง หรือ ข้อมูลปลอมที่ในอนาคตอาจจะมาจากสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์ได้สร้างขึ้นมา

ซึ่งถ้าหากสื่อมวลชน และ องค์กรสื่อสามารถทำภารกิจ ได้โดยรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อได้อย่างแข็งแรงและ แข็งขัน คุณูปการของสื่อจะได้รับการพูดถึงในทิศทางเชิงบวกมากกว่าเตือนให้สังคมมีความระมัดระวังในการเสพสื่อ  เหมือนกับช่วงเวลาหนึ่งที่สื่อทำหน้าที่สำคัญ คือ สื่อเพื่อสันติภาพ สื่อเพื่อการพัฒนา

หมายเหตุ : งานเขียนนี้เป็นบทความที่คัดย่อจากบทความวิชาการ ของ นาย อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์  PhD Candidate  ศิลปศาสตร์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานิเทศศาสตร์และนวัตกรรม คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ