fbpx

เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสยอมถอย แต่ผู้ชุมนุม “เสื้อกั๊กเหลือง” ไม่ยอมถอย

อัพเดทสถานการณ์ความวุ่นวายในประเทศฝรั่งเศส จากการประท้วงของกลุ่ม “เสื้อกั๊กเหลือง” ใคร ทำอะไร เพราะอะไร และจะนำไปสู่อะไร ติดตามได้เลยที่นี่

Reasons To Read

  • อัพเดทสถานการณ์ความวุ่นวายในประเทศฝรั่งเศส จากการประท้วงของกลุ่ม “เสื้อกั๊กเหลือง”
  • ใคร ทำอะไร เพราะอะไร และจะนำไปสู่อะไร ติดตามได้เลยที่นี่

กิดอะไรขึ้นที่ฝรั่งเศส

ชาวฝรั่งเศสพากันออกมาประท้วงต่อต้านการขึ้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีการเรียกร้องให้ผู้คนที่จะร่วมชุมนุมใส่เสื้อกั๊กนิรภัยสีเหลือง ที่ต้องมีติดรถยนต์ทุกคันภายใต้กฎหมายฝรั่งเศส

แรกเริ่มผู้ชุมนุมเป็นประชาชนตามเมืองเล็กๆ และชนบทที่ต้องใช้รถยนต์ในการสัญจรและได้รับผลกระทบจากภาษีน้ำมันที่ขึ้นไปแล้วถึง 23% ในปีนี้  แต่การประท้วงได้ขยายไปทั่วประเทศ ลุกลามเป็นการต่อต้านประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง ที่ถูกกล่าวหาว่ามีนโยบายเอื้อภาคธุรกิจและคนรวยมากเกินไป หนำซ้ำยังเมินคนจน ดูเป็นผู้นำที่ทำตัวให้ประชาชนเอื้อมเข้าหาไม่ถึงอีกต่างหาก

ผู้ประท้วงมีข้อเรียกร้องที่หลากหลายตั้งแต่ให้นายมาครงไปคิดภาษีกับคนรวยแทน เรียกร้องให้มีมาตรการช่วยคนจน ไปจนถึงเรียกร้องให้นายมาครงลาออกจากตำแหน่ง โดยกลุ่มคนเสื้อกั๊กเหลืองออกมาชุมนุมทุกวันเสาร์ทั้งในปารีส และตามเมืองต่างๆทั่วประเทศ โดยการปิดถนนหรือปิดล้อมสถานที่ต่างๆเช่น คลังน้ำมัน ปั๊มน้ำมัน และห้างสรรพสินค้า

การประท้วงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีผู้ได้รับบาดเจ็บราวสามร้อยคนทั่วประเทศ และมีผู้ถูกจับกุมไปกว่าสี่ร้อยคน จากเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่และการทำลายข้าวของโดยผู้ชุมนุม นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 4 ราย

รัฐบาลฝรั่งเศสทำอย่างไร

ล่าสุดรัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกเลิกแผนการขึ้นภาษีน้ำมันตลอดทั้งปีหน้าแล้ว และเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ แต่เดิม การขึ้นภาษีน้ำมันจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมนี้ แต่นายฟรองซัวส์ เดอ รูจี รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมประกาศว่า แผนการนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วตลอดทั้งปี 2019

การประกาศดังกล่าวถือเป็นการยอมถอยของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ก่อนหน้านี้ ยืนยันมาตลอดว่าจะต้องขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล แต่เมื่อมีการชุมนุมของประชาชนทั่วประเทศ รัฐบาลได้ประกาศชะลอการขึ้นภาษีน้ำมันออก 6 เดือน แต่ผู้ชุมนุมยังยืนยันที่จะเดินหน้ากดดันรัฐบาลและเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครงลาออกต่อ ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศยกเลิกการขึ้นภาษีไปทั้งปีเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนยุติการชุมนุม

ด้านรัฐบาลฝรั่งเศสเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ และรัฐบาลพร้อมถอยมากกว่านี้เพื่อป้องกันเหตุรุนแรง ขณะที่แกนนำพรรคขวาจัด นางมารีน เลอ เปน และแกนนำพรรคซ้ายจัด นาย ฌอง ลุค เมอลองชง ประกาศสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม

ทำไมผู้ชุมนุมไม่ชอบ “มาครง”

ประธานาธิบดีมาครง ซึ่งตอนนี้คะแนนความนิยมลดลงเหลือเพียง 23% ชนะการเลือกตั้งพร้อมนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่เขาอ้างว่าจะทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น แต่สองปีผ่านไป ผู้คนไม่รู้สึกว่าเขาทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนพัฒนาขึ้น หนำซ้ำ ยังมีปัญหาค่าครองชีพสูง ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องหาเช้ากินค่ำ หาเงินได้เดือนชนเดือน ขณะที่นายมาครงกลับยืนยันกับรัฐบาลของเขาว่า จะยังคงเดินหน้านโยบายลดภาษีแก่ผู้มีรายได้สูง ซึ่งยิ่งทำให้บรรดาผู้ชุมนุมไม่พอใจมากไปอีก

ทั้งนี้ นายมาครงได้หาเสียงเลือกตั้งว่าจะลดภาษีคนรวยเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น แต่นโยบายไม่เป็นที่ชื่นชอบของชนชั้นแรงงาน และผู้คนต่างมองเขาว่าเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย” โดยกลุ่มคนเสื้อกั๊กเหลืองนั้น ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มีรายได้ปานกลางในชนบทและเมืองเล็กๆของฝรั่งเศส ซึ่งพวกเขาเรียกร้องให้นายมาครงยกเลิกมาตรการลดภาษีให้คนรวย

แต่ล่าสุด นายกรัฐมนตรีเอดูอารด์ ฟิลิป ได้ประกาศมาตรการเพิ่มมาชดเชยให้คนจนเช่นกัน นั่นก็คือการระงับการขึ้นค่าไฟฟ้าและก๊าซสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย รวมถึงการระงับแผนให้เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ แทนที่รถยนต์ดีเซลเก่าที่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ

ทั้งนี้ ในตอนแรกผู้นำฝรั่งเศสกล่าวโทษศัตรูทางการเมืองของเขาว่าเข้าแทรกแซงการประท้วงเพราะต้องการขัดขวางโครงการปฏิรูปนโยบายต่างๆของเขา และเมื่อการประท้วงบานปลายเป็นความรุนแรง นายมาครง ซึ่งผู้ประท้วงกล่าวหาว่าเป็นผู้นำที่ “หยิ่งยโส” ยังระบุว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของกลุ่มขวาจัดและซ้ายจัดที่จุดชนวนความรุนแรง และเขาไม่อยากเสวนากับพวกป่วนเมืองที่เรียกว่า “les casseurs” ด้วย

มันสายไปแล้ว…กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองไม่ยอมถอย

ผลสำรวจพบว่า ชาวฝรั่งเศส 72% สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อกั๊กเหลือง และเป็นอัตราที่ไม่ลดลงเลยแม้การประท้วงยืดเยื้อมาจนจะเข้าสู่สัปดาห์ที่สี่แล้ว ทั้งๆที่รัฐบาลประกาศยอมถอยบางส่วน

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมยังเดินหน้าแผนการประท้วงต่อในวันเสาร์นี้ แม้รัฐบาลยอมถอยแล้ว แต่ผู้ชุมนุมบางส่วนบอกว่า มันสายไปแล้ว พวกเขาต้องการให้รัฐบาลลาออกสถานเดียว

ทางการฝรั่งเศสเรียกร้องให้แกนนำผู้ชุมนุมอย่าจู่โจมกรุงปารีสในวันเสาร์นี้ และได้มีการเรียกกำลังตำรวจเสริมเพื่อป้องกันเหตุรุนแรง ขณะที่สหภาพชาวนาหลักของฝรั่งเศสได้ประกาศว่า จะจัดการประท้วงทุกวันในสัปดาห์หน้าด้วย

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจฝรั่งเศส

นายบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังฝรั่งเศสระบุว่าในช่วงสามสัปดาห์แรกของการชุมนุมร้านค้าปลีกย่อยมีรายได้ลดลงราว 20-40% ในขณะที่ธุรกิจโรงแรม มียอดจองลดลง 15-25% ส่วนร้านอาหารมีรายได้ลดลงระหว่าง 20-50% ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งว่าใกล้สถานที่ชุมนุมหรือไม่

นายเลอแมร์ย้ำว่า ผลกระทบนั้นร้ายแรงมากและจะยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ด้วย ทั้งในปารีสและทั่วประเทศที่มีการชุมนุม และรัฐบาลต้องการให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุดเพราะกำลังเข้าสู่ช่วงเทศกาลสังสรรค์ปลายปีแล้ว

แต่ภาพความวุ่นวายกลางกรุงปารีส ก็ทำให้นักท่องเที่ยวหวาดกลัวและตัดสินใจยกเลิกการเยือนปารีส เพราะผู้ชุมนุมปิดถนนฌอง เซลิเซ และทำลายร้านค้าที่อยู่ตามสองข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นร้าน Chanel / Apple / Dior รวมไปถึงร้านของHermes และ Louis Vuitton ซึ่งทั้งหมดหวังพึ่งพายอดขายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาเยือนกรุงปารีสในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

ขณะที่ UMIH กลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ระบุว่า มีการยกเลิกการจองโรงแรมในปารีสไปแล้วระหว่าง 20-50%ในขณะที่ยอดจองใหม่ก็ลดลงไปอีกราว 10-15%

นอกจากนี้ การปิดถนนของผู้ประท้วงก็ส่งผลกระทบเช่นกัน Total ผู้ผลิตน้ำมันของฝรั่งเศสระบุว่า ปั๊มน้ำมันของTotal ทั้งหมด 75 จาก 2200 สถานี ไม่มีน้ำมันขาย เพราะผู้ประท้วงปิดล้อมคลังน้ำมันของบริษัทนั่นเอง

นักเขียน : ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ