หลากหลายความเคลื่อนไหว ท้าทายลมหนาว แห่งแวดวงแฟชั่น
ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของเราไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการใช้พลังงานและการบริโภค ไม่แค่นั้น ยังเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ในโลกใบนี้อีกด้วย เรามองหาสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต การออกแบบ หรือแม้กระทั่งเมื่อถึงเวลาหมดอายุการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นด้วยสภาพหรือความพึงพอใจ สิ่งเหล่านั้นจะส่งผลอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยในการตัดสินใจที่จะซื้อ หรือไม่ซื้อนั้นทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัว เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมแฟชั่น
และคำใหม่ที่ได้ยินบ่อยขึ้นในช่วงนี้คือ Circular Fashion หรือแนวคิดเรื่องแฟชั่นหมุนเวียน กับความพยายามออกแบบการผลิตเพื่อลดของเสียที่จะกลายเป็นขยะให้ได้น้อยที่สุด หรือนำเอาของเสียที่จะกลายเป็นขยะกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงสิ่งที่ผลิตมานั้นสามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ในอุตสาหกรรมได้ เช่น การนำเสื้อมือสองมาสร้างให้เป็นไอเท็มชิ้นใหม่

ที่จริงแนวคิดเรื่องแฟชั่นหมุนเวียนไม่ได้เพิ่งจะมี แต่มีมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า Freitag ที่นำเอาผ้าใบเก่ามาทำเป็นกระเป๋า หรือแบรนด์ใหญ่ๆ ก็เริ่มขยับเข้าใกล้แนวคิดนี้มากยิ่งขึ้น เช่น Ermenegildo Zegna กับการนำเอาวัสดุที่เหลือใช้จากการผลิตมาสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้า Heron Preston ที่นำวัสดุ Dead Stock ทั้งหลายมาทำเป็นคอลเล็กชั่นพิเศษ Prada กับคอลเล็กชั่น Re-Nylon ที่ขายดิบขายดี
เพียงแต่ว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่ครบวงจรด้วยตัวของมันเอง
ไม่นานมานี้แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง IKEA เพิ่งจะทดลองทำโครงการ Circular Shop บริการ ‘รับซื้อและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์มือสองของอิเกีย’ ใน 26 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ด้วยการรับซื้อสินค้ามือสองของอิเกียเอง ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง ของใช้ภายในบ้านต่าง ๆ ฯลฯ โดยประเมินราคาตามสภาพของสินค้า และเมื่อรับซื้อมาแล้ว ทางอิเกียก็จะนำสินค้าดังกล่าวไปวางขายเป็น ‘สินค้ามือสอง’ ในราคาลด 30-50% ในร้านที่ชื่อว่า Circular Shop ในอิเกียเอง และผู้ที่นำสินค้ามาขายคืนก็จะได้รับ Gift Card เพื่อนำซื้อสินค้าที่อิเกียต่อไปอีกด้วย
ในส่วนของอุตสาหกรรมแฟชั่นก็มีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน ล่าสุด Uniqlo ประเทศญี่ปุ่น ก็มีแคมเปญชื่อ Re: Uniqlo เพื่อรับซื้อเสื้อ Heat-Tech ตัวเก่า และแจ็กแก็ตขนเป็ดใช้แล้ว โดยจะนำเสื้อผ้าที่ยังใช้งานได้ไปให้กับ UNHCR หรือองค์กรช่วยเหลือผู้อพยพ และองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการเสื้อผ้าไปช่วยเหลือผู้ยากไร้
ส่วนเสื้อผ้าที่ใช้งานไม่ได้แล้ว ยูนิโคลจะนำมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าชุดใหม่ โดยจะมอบคูปองให้กับผู้ที่นำมาบริจาค มูลค่า 200 เยน (ราว 60 บาท) กับเสื้อผ้า Heat Tech 1 ชิ้น (ผู้ใช้ 1 รายจะมีสิทธิ์ได้คูปองมูลค่าสูงสุดแค่ 1,000 เยน หรือราว 300 บาท เท่านั้น) โดยคูปองจะใช้ซื้อสินค้าที่มีมูลค่าเกิน 201 เยน ขึ้นไป และในส่วนของแจ็กเก็ตขนเป็ด ยูนิโคลก็จะให้คูปองมูลค่า 1,000 เยน กับแจ็คกก็ตขนเป็ด 1 ชิ้น ใช้ซื้อสินค้ามูลค่ามากกว่า 5,000 เยน ขึ้นไป และโดยทั้งหมดจะให้เป็นคูปองแบบดิจิทัล ที่สามารถใช้ซื้อสินค้าในยูนิโคลได้
หรือแบรนด์ไฮแฟชั่นอย่าง Valentino ก็ได้เปิดตัวโครงการ Valentino Vintage เพื่อชุบชีวิตเสื้อผ้ามือสองภายใต้แนวคิดแฟชั่นหมุนเวียนด้วยเช่นเดียวกัน เป็นการร่วมมือกับร้านขายเสื้อผ้าวินเทจไฮแบรนด์ชื่อดังทั่วโลก โดยให้ลูกค้าสามารถนำเอาเสื้อผ้าวาเลนติโนที่ไม่ใช้แล้ว เข้าสู่ระบบประเมินราคาโดยร้านวินเทจ หากตกลงราคากันได้ ก็ให้นำเสื้อผ้าชิ้นนั้นไปมอบยังร้าน และจะได้เป็นโวเชอร์ตอบแทน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในช็อปวาเลนติโนได้ จากนั้นจะนำเสื้อผ้ามือสองที่รับซื้อมาไปสร้างสรรค์ใหม่ ด้วยการสกรีนลายใหม่ และนำออกมาขายในช็อปต่อไป
นับเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์แฟชั่นที่พยายามจะทำให้แนวคิดแฟชั่นหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง และเป็นวงจรที่จบภายในตัวแบรนด์ของตนเอง สิ่งที่น่าสนใจต่อจากนี้ก็คือแนวคิดเช่นนี้จะได้รับการตอบรับมากน้อยแค่ไหน ทั้งจากลูกค้าของแบรนด์ และจากแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ เพื่อที่จะทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่น ที่ได้ชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับสองของโลกนั้นมีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
End of Runway ?
รันเวย์แฟชั่นยังมีมนตร์ขลังอยู่ไหม

หลังจากการหายไปของรันเวย์แฟชั่นวีคในช่วงการระบาดหนักของเชื่อโควิด-19 ทำให้การจัดงานแฟชั่นวีคในแต่ละประเทศเปลี่ยนมานำเสนอในรูปแบบออนไลน์แฟชั่นวีคแทน ซึ่งทำให้เกิดเสียงค่อนขอดว่าแฟชั่นโชว์ได้เปลี่ยนไปเป็นมิวสิควิดีโอเรียบร้อยแล้ว เนื่องด้วยการนำเสนอส่วนใหญ่นั้นเป็นไปในรูปแบบภาพวิดีโอประกอบเสียงเพลง
แต่ก็มีหลากหลายแบรนด์ที่พยายามจะนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็น Burberry ที่ถึงแม้จะยังเป็นในรูปแบบวิดีโออยู่ แต่ได้นำเทคโนโลยีแว่นสามมิติมาช่วยทำให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่มากขึ้น หรือ Balenciaga ที่นำเทคโนโลยี Deep Fake ในการจดจำใบหน้า มาใช้ในการสร้างสรรค์การนำ เสนอคอลเลกชั่น โดยมีการโคลนนางแบบเอลิซา ดักลาส และใช้โปรแกรมดีปเฟก รวมไปถึงการใช้นางแบบคนอื่นๆ แต่ใช้ใบหน้าของเอลซาในรูปแบบงาน CG สวมทับลงไปอีกที
นวัตกรรมสมัยใหม่กลายมาเป็นทางออกในช่วงเวลาที่วิกฤตเมื่อคนไม่สามารถมารวมตัวกันได้ แล้วกลายมาเป็น ‘ความหวังใหม่’ ของโลกแฟชั่นในการนำเสนอผลงานต่อโลก เพียงแต่ว่าสิ่งนี้เป็นเพียงชั่วคราวหรือจะกลายเป็นวิถีใหม่ แล้วรันเวย์แบบเดิมนั้นเสื่อมมนตร์ขลังไปแล้วหรือ?
ในช่วงทศวรรษที่ 2010s เราได้เห็นเทรนด์ของรันเวย์แฟชั่นที่ใช้ความแกรนด์ ความยิ่งใหญ่อลังการในการนำเสนอ โดยเฉพาะแบรนด์ Chanel ที่เนรมิต กรอง ปาเลส์ ที่ปารีส ให้กลายเป็นสถานที่ต่างๆ ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต แอร์พอร์ต ที่ปล่อยยานอวกาศ แม้กระทั่งชายหาดและเรือสำราญ หรือการที่แบรนด์ต่างๆ ฟื้นคืนการเปิดตัวแฟชั่นโชว์ที่เวียนไปจัดตามประเทศต่างๆ แต่การมาถึงของโควิด-19 ก็ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป
แม้กระทั่งรันเวย์ทางเดินเรียบๆ ก็ยังกลายมาเป็นคำถามว่าจะยังมีเหมือนเดิมอีกไหม?

สำหรับการนำเสนอคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน 2022 ที่เพิ่งจะปิดฉากลงไปไม่นาน ซึ่งมาในช่วงสถานการณ์ที่คลี่คลายของการระบาดจากเชื้อโควิด-19 ในซีกโลกตะวันตก ซึ่งทำให้แฟชั่นวีคกลับมาจัดงานได้เกือบปกติอีกครั้ง เริ่มต้นที่นิวยอร์กแฟชั่นวีค ที่กลับมาจัดแฟชั่นวีคตามปกติแต่ยังคงวางมาตรการอย่างเข้มงวด ด้วยการกำหนดมาตรการว่าผู้ที่จะเข้าร่วมงานแฟชั่นวีคได้ต้องฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น
นิวยอร์กแฟชั่นวีคฤดูกาลนี้เงียบเหงากว่าครั้งก่อน เนื่องด้วยมีแบรนด์ที่เข้าร่วมลดลงเหลือเพียง 91 แบรนด์ดีไซเนอร์ และมีไม่กี่ดีไซเนอร์ที่จัดโชว์ตามปกติ ส่วนมากเป็นดิจิทัลโชว์แทบทั้งนั้น แบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Marc Jacobs, Ralph Lauren, Pyer Moss หรือ Tommy Hilfiger ยังประกาศขอไม่เข้าร่วมในนิวยอร์กแฟชั่นวีคครั้งนี้อีกด้วย
เช่นเดียวกันกับที่ลอนดอนแฟชั่นวีค แฟชั่นวีคแห่งแรกที่ประกาศตัวเป็นดิจิทัลชั่นวีคในช่วงการระบาดหนักเมื่อสองสามซีซั่นที่ผ่านมา ในซีซั่นนี้แม้จะกลับมาจัดตามเดิม แต่ก็ยังมีหลายแบรนด์ที่นำเสนอแบบดิจิทัล มีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่จัดอีเวนต์จริง อย่าง Erdem, Alexander McQueen หรือ Simone Rocha แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเวทีแฟชั่นวีคทั้งสองเมืองนี้ก็คือ การจัดรันเวย์ที่พยายามหาจุดหรือสถานที่ที่สนใจมาใช้
อย่าง Alexander McQueen เองก็สร้างรันเวย์เป็นโดมโปร่งใสมองเห็นวิวเมืองลอนดอน 360 องศาบนชั้นดาดฟ้าของตึก Tobacco Dock ในอีสต์ลอนดอน หรือ Who Decides War ไปจัดโชว์ที่พิพิธภัณฑ์ Intrepid Sea, Air & Space Museum หรือ Ulla Johnson ที่ไปจัดในสวน Brooklyn Botanic Garden ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ เอาท์ดอร์ซึ่งช่วยลดความแอดอัด ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ได้

ในขณะที่มิลานและปารีสแฟชั่นวีคนั้นดูจะกลับมาเป็นปกติได้มากที่สุด ทั้งการจัดงานและบรรยากาศโดยรอบอย่างโชว์ Dior ก็มีเหล่าแฟนคลับของ Jisoo สมาชิกวง Blackpink มารออย่างอุ่นหนาฝาคั่ง มีช่างภาพสตรีทสไตล์และเหล่าแฟชั่นนิสต้ามาเดินถ่ายภาพหน้าสถานที่จัดโชว์ในแต่ละโชว์ในแบบบรรยากาศเดิมๆ ที่คุ้นเคยกัน หรือ Balenciaga ที่มาในธีมงานกาลาเปิดตัวภาพยนตร์ The Simpson
ไม่ใช่แค่เพียงรันเวย์แฟชั่นเท่านั้น ที่ถูกตั้งคำถามว่ายังมีมนต์ขลังอยู่หรือเปล่า แต่ตัวแฟชั่นวีคเองก็เช่นเดียวกัน เนื่องด้วยแบรนด์ใหญ่ระดับโลกมากมายต่างโบกมือลาแฟชั่นวีคและหันมาจัดโชว์นอกตารางเป็นของตัวเอง ทั้ง Gucci, Bottega Veneta, Celine, Burberry ฯลฯ ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา รวมไปถึงแนวทางการตลาดใหม่ๆ ที่แบรนด์เหล่านั้นได้สร้างขึ้น การร่นระยะเวลาของโชว์และการวางขายให้สั้นลง เพราะอย่างที่ทุกคนรู้ดีว่าโชว์วันนี้อีกเกือบหนึ่งปีสินค้าถึงจะวางขาย ซึ่งทำให้ความสนใจ ความอยากมี อยากได้ของผู้บริโภคลดลง (อันทำให้เกิดระบบ See Now Buy Now ก่อนหน้านี้แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ)
แน่นอนว่าเป็นการยากที่จะคาดเดาว่าในอนาคตแฟชั่นวีคจะเปลี่ยนไปเช่นไร เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดยังไม่แน่นอน แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้คอลเล็กชั่นฤดูใบ้ไม้ร่วงและฤดูหนาว 2021 ออกมาให้ซื้อกันแล้ว
Baby, It’s Cold Out Side
แพ็กกระเป๋าไปสู้ลมหนาวในฤดูแห่งการท่องเที่ยว
Big Bag

สิ้นปี…การเดินทางเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็เริ่มคลี่คลายในหลายพื้นที่ทำให้สามารถเปิดประเทศได้ หรือการเดินทางกลับไปพบคนที่รัก เดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดปลายปี และนั่นทำให้กระเป๋าเดินทางใบใหญ่กลับมาเบียดเทรนด์กระเป๋าใบเล็กจิ๋วที่เคยครองพื้นที่รันเวย์ได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเดินทางแบบล้อลาก กับความพิเศษของดีไซน์และเฉดสีเงินในคอลเลกชั่นฤดูหนาวของ Louis Vuitton กระเป๋าทรงทรังก์สุดคลาสสิกที่ถูกนำมารีดีไซน์ใหม่ในแบบ Balmain หรือจะเป็นแคร์รี่ออนทำจากหนังใบสวยในแบบ Bally
Outerwear

เก็บเสื้อสูทไว้ที่บ้านแล้วหยิบแจ็กเก็ตหรือเสื้อตัวนอกที่เต็มไปด้วยงานดีไซน์ออกมาใช้บ้างในช่วงวันหยุดของเทศกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้ สิ่งที่น่าสนใจสำหรับแจ็กเก็ตหรือเสื้อตัวนอกในซีซั่นนี้ก็คือ การผสานไว้ซึ่งงานออกแบบและฟังก์ชั่น ซึ่งทำให้เสื้อใส่เพื่อคลายหนาวกลายมาเป็นแฟชั่นไอเท็มได้ไม่แพ้เครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นการดัดแปลงอย่างการเอาพัฟเฟอร์มาตัดเป็นบอมเบอร์แจ็กเก็ตในแบบ Casablanca หรือโชว์ไอเดียการออกแบบเช่น Rick Owens เสื้อแทร็กสูทมาในโครงไหล่ตั้งในแบบ Louis Vuitton หรือขนาดโอเวอร์ไซส์เช่น Prada หรือ Balenciaga
Wrap Around

หนึ่งในแอ็กเซสซอรี่กันหนาวที่ไม่ควรหลุดไปจากลิสต์การจัดกระเป๋าเดินทางในครั้งนี้ก็คือ ผ้าพันคอ ที่แม้ไม่ต้องไปไกลถึงยุโรป เพียงแค่ยอดอยสูงในประเทศไทยยังไงคุณก็ได้ใช้แน่นอน ในซีซั่นนี้เหมือนว่าผ้าพันคอขนาดเล็ก สั้น จะหายไป มาพร้อมด้วยผ้าพันขอแบบยาว ใหญ่ หรือกลายร่างเป็นผ้าห่ม เช่น Marcelo Burlon County หรือ Balenciaga แต่ถ้ามันใหญ่ไปก็สามารถลดขนาดลงมาได้แบบ Acne Studios หรือถ้าคิดว่ายังใหญ่ไปอีก ก็กลับมาเป็นไซส์ปกติที่ให้ความอบอุ่นได้เหมือนกัน เช่น Paul Smith หรือ Giorgio Armani
Let’s Jump

อังกฤษอาจจะเรียกว่า Jumper ในขณะที่ฝั่งอเมริกาจะเรียกว่า Sweater หรือ Pullover แต่ไม่ว่าอย่างไรก็คือเสื้อตัวอุ่นที่ควรมีติดกระเป๋าไว้สักตัวในหน้าหนาวนี้ แม้จะไปในพื้นที่หนาวน้อยหน่อย แต่ก็ยังใส่ได้ไม่เคอะเขิน ถ้าหนาวหน่อยก็อาจจะเลือกแบบคอเต่า ตัวหลวมหน่อยในแบบ Ambush หรือ Jil Sander หรือเข้ารูปในแบบ Juun.J สำหรับหนุ่มที่ชอบลวดลายและโครงชุดที่ดูแปลกตา ก็มี Casablanca หรือ Alexander McQueen ส่วนใครที่ชอบงานดีไซน์ Burberry นั้นนำเอารูปทรงคาร์ดิแกนมาผสมผสานจนกลายเป็นจัมเปอร์คอวีตัวเก๋
Leather

ถึงเวลาแล้วที่เราจะเอาเสื้อผ้าที่ทำจากหนังทั้งหลายที่อยู่ในตู้เสื้อผ้ามานานร่วมปีกลับออกมาใช้อีกครั้ง โดยเฉพาะในปีนี้ที่กรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่าจะหนาวกว่าทุกปี หรือถ้าใครมีโอกาสได้เดินทางเมืองหนาวในต่างประเทศ นี่คือโอกาสอันดีที่จะได้สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากหนังเสียที ไม่ว่าจะเป็นกางเกงหนัง ทั้งของ Amiri หรือ Dolce&Gabbana อัพเลเวลขึ้นมาอีกหน่อยก็จะเป็นแจ็กเก็ตหนังทั้งในสไตล์ไบเกอร์ เช่น Celine หรือแจ็กเก็ตตัวสั้นในแบบ Wooyoungmi และถ้าคิดว่าพื้นที่นั้นอากาศหนาวสุดๆ ไปเลย โค้ตหนังก็ควรถูกนำออกจากกระเป๋าเดินทางได้แล้ว ทั้งแบบสีดำเรียบเท่ของ GmbH หรือสีสันสดใสแบบ Jil Sander
Mr.Beanie

อีกหนึ่งแอ็กเซสซอรี่ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือหมวกกันหนาว และในทุกๆ ฤดูหนาว หมวกไหมพรมที่เรียกว่าบีนนี่จะกลับมาอีกครั้ง ในแบบที่คุ้นเคยก็อย่างใน Amiri หรือ Celine หรือในเวอร์ชั่นแบบสั้นที่ดูคล้ายหมวกดอคเกอร์อย่างใน Bally ส่วนหนุ่มคิวท์ที่ต้องการความน่ารักมากขึ้นก็อาจจะเป็นแบบมีพู่อย่างใน Bode หรือทรงหูกระต่ายอย่าง Burberry และสำหรับใครที่คิดว่าหมวกทรงบีนนี่นั้นไม่เข้ากับสไตล์ส่วนตัว แต่ก็ยังอยากจะมีหมวกมอุ่นๆ สวมใส่อยู่ ก็อาจจะเลือกทรงบักเก็ตที่ทำจากวูลแทน อย่าง Berluti
Winter Coat

เก็บสูทสไตล์เชอร์ล็อกโฮล์ม หรือหนุ่มบิสซิเนสไว้ที่บ้านก่อน แพ็กกระเป๋าไปเที่ยวทั้งทีควรเลือกตัวที่เด็ด เท่และถ่ายรูปขึ้น สำหรับหนุ่มที่ยังอยากได้ความคลาสสิกอยู่ อาจจะเริ่มต้นด้วยโค้ตที่มีโครงชุดที่น่าสนใจ อย่าง Alexander McQueen หรือแบบยกไหล่ของ Ami ส่วนหนุ่มสตรีทสไตล์นั้นมีให้เลือกทั้งเดนิมโค้ตของ Alyx หรือลายม้าลายของ Celine สำหรับหนุ่มแฟชั่นสามารถเลือกได้ตามเลเวลของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นโค้ตสีสดของ Casablanca ลายดอกไม้ของ Fendi หรือสีเงินเมทัลลิกปัณมลายโมโนแกรมของ Louis Vuitton
These Boots Are Made for Walking

ไม่ว่าใครจะมีโอกาสได้ไปเดินย่ำหิมะหรือไม่ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ แต่รองเท้าที่มาพร้อมกับลมหนาวก็คือบู๊ต และส่วนใหญ่ในซีซั่นนี้เป็นบู๊ตยาวเสียด้วย ทั้งในแบบรองเท้าปีนเขาอย่าง Dsquared2 หรือที่ได้แรงบันดาลใจจากรองเท้าปีนเขาแต่มาในเวอร์ชั่นบู๊ตยาวอย่าง Balmain บู๊ตในแบบรองเท้าเล่นสกีก็มีอย่าง Dolce&Gabbana หรือจะเป็นสไตล์คาวบอยในแบบ Louis Vuitton แต่ถ้าใครต้องการสิ่งที่เบสิกแต่ยังมีความเท่อยู่ก็ Dries Van Noten
