fbpx

Factorium: แอปพลิเคชัน ‘กระดูกสันหลัง’ แห่งโรงงาน

ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าในระดับเล็ก หรือระดับสากลนั้น แน่นอนว่าภาค ‘การผลิต’ คือหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เป็นสินค้า ที่สามารถนำไปสู่การใช้งาน ส่งออก หรือพัฒนาด้านต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง บรรดาเครื่องจักร ต่างทำงานเพื่อให้กระบวนเหล่านี้ สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะในสภาวะปกติ หรือในสภาวะที่ ‘ไม่สู้จะปกติ’ เท่าใดนักอย่างในปัจจุบัน ที่แม้ COVID-19 จะแพร่ระบาด แต่งานด้านการผลิตก็เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ 

แล้วลองจินตนาการว่า ถ้ากระบวนการเหล่านี้ หยุดชะงัก ขัดข้อง หรือมีปัญหา จะเกิดอะไรขึ้น? 

นั่นทำให้งาน ‘ซ่อมบำรุง’ และ ‘ดูแลรักษา’ เป็นสิ่งที่เคียงคู่กันมาอย่างไม่ห่าง แต่กระนั้น ด้วยจำนวนเครื่องจักรที่มากมาย และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่จำกัด มันจะมีสิ่งใดที่สามารถช่วยให้กระบวนการเหล่านี้ ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น? 

GM Live ได้มีโอกาสนั่งร่วมสนทนากับ บาส – สิทธิกร นวลรอด CEO และ Co-Founder ของบริษัท System Stone ผู้ผลิตแอปพลิเคชัน ‘Factorium’ ที่ช่วยดูแลกระบวนการตรวจสอบโรงงานอย่างครบวงจร ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ มีโรงงานทั่วประเทศที่ใช้แอปพลิเคชันนี้ไปแล้วกว่า 3,500 โรงงาน  สิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของเขานั้น มาจากสิ่งใด เขามองภาพรวมในแวดวง Startup และอุตสาหกรรมเป็นแบบไหน และความคาดหวังสูงสุดที่ Factorium ต้องการ ‘จะไปให้ถึง’ อยู่ที่จุดใด 

เชื่อเถอะว่า นี่จะเป็นการสนทนาที่ ‘มีกระบวนการ’ แต่ ‘น่าอภิรมย์’ อย่างยิ่ง เราอยากจะชวนคุณให้มาร่วมอ่านกันในวรรคถัดจากนี้ 

จากวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ สู่การผลิตและพัฒนา ‘Factorium’

หลายคนอาจจะคิดว่า ผู้ก่อตั้งบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับโรงงาน ก็ย่อมต้องจบสายตรงด้านโรงงาน แต่ก็อีกหลายครั้งเช่นกัน ที่ชีวิตมักจะมีเส้นทางที่ไม่ได้เป็นเส้นตรงเสมอไป สำหรับ บาส สิทธิกร นวลรอด ก็เป็นเช่นนั้น 

“ผมจบคณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อปริญญาโทด้านมาตรวิทยาทางด้านอุตสาหกรรม พอสำเร็จการศึกษา ผมได้มีโอกาสทำงานทางด้านให้คำปรึกษาโรงงานเกี่ยวกับเรื่องระบบมาตรฐาน”

จากการได้เข้าไปคลุกคลีกับสายโรงงาน พูดคุยกับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง บาสพบความท้าทายที่มากกว่าการตรวจสอบ ว่าเครื่องจักรทำงานได้หรือไม่ได้ เพราะมันมีขั้นตอนที่หลากหลายกว่านั้น และเป็นช่วงเดียวกับที่เขา และเพื่อนอีกสามคน ร่วมกันก่อตั้งบริษัท System Stone เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับโรงงานพอดี 

“การได้รับ Feedback อย่างตรงไปตรงมาจากคนในสายโรงงาน ก็ทำให้เราพบว่าซอฟต์แวร์ ของเรายังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเขาเท่าใดนัก และแนะนำให้เราไปโฟกัสในจุดที่คิดว่าเหมาะสม ดังนั้น ในแง่การใช้งานยังคงเดิม แต่ที่เปลี่ยนไปคือ ในแง่ฟังก์ชันที่เราเน้น จนกลายมาเป็น Factorium” บาสกล่าวถึงที่มาของแอปพลิเคชันหลักของบริษัท ที่ยังคงได้รับการพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ 

ถ้าถามว่า Factorium คืออะไร และมีหน้าที่หลักอย่างไร บาสกล่าวว่า นี่คือแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับงานซ่อมบำรุงด้านวิศวกรรม ระบบการจัดการ ที่เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก ซึ่งลงไปถึงกระบวนการจัดการโรงงาน ที่จะมีหลายกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมบำรุงแบบ Preventive Maintenance ให้สามารถจัดการแผนงาน และบันทึกผลผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทันที หรืองานซ่อมที่ต้องมีการเปิดใบงาน ก็จะมีส่วนที่ให้ฝ่ายผลิตสามารถเปิดใบงานส่งไปถึงช่างได้โดยตรงทั้งหมด สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่มีแอปพลิเคชันนี้อยู่ในโทรศัพท์เพียงเท่านั้น 

เส้นทางการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันของบริษัท Startup นั้น ไม่เคยง่าย และสำหรับ System Stone กับ Factorium เองก็เผชิญหน้ากับความท้าทายไม่ต่างกัน 

“แทบจะ 80% ของบริษัท Startup นั้น จะต้องมีการอัพสเกลหรือในภาษาวงการเรียกกันว่า ‘Pivot’ ผลิตภัณฑ์ เพราะโดยมาก จะไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ มาทำ” บาสกล่าวถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ Startup และการ ‘อัพสเกล’ ผลิตภัณฑ์ 

“และด้วยเหตุผลนั้น มันทำให้ผลิตภัณฑ์ช่วงแรกยังไม่ตอบโจทย์ของผู้ใช้งานได้เต็มร้อย ถ้ามองว่านี่เป็นอุปสรรคก็ได้ แต่ถ้ามองว่าเป็นโอกาส ก็มองได้ ว่าเราได้เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานจริงๆ เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของผู้ใช้งาน”

แน่นอนว่าในวันนี้ Factorium ก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และบาสเองก็มองว่า ยังมีอีกหลายจุดในโรงงานที่เขาสามารถเข้าไปจัดการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโลกในอนาคตเดินทางมาถึง ระบบโรงงานที่ทันสมัยจะต้องเข้ามาอย่างช่วยไม่ได้

“ผมมองว่าในโรงงาน ยังมีอีกหลายด้านให้ทำอยู่เยอะ ยิ่งการที่เราจะก้าวไปสู่ความเป็น ‘Industry 4.0’ ด้วยแล้ว มันยังต้องการเทคโนโลยีอีกหลายอย่างมากๆ เพื่อไปให้ถึงจุดนั้น ซึ่งการที่เราเริ่มต้นจากงานซ่อมบำรุง มันทำให้เราเห็นว่ามีอีกหลายอย่างที่สามารถทำได้ และได้เริ่มต้นไปแล้ว” บาสกล่าวเสริม 

ขยาย 3,500 โรงงาน ด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบ ‘ใช้ฟรี และถ้าใช้ดี จ่ายทีหลัง’

อย่างไรก็ตาม ในแวดวงซอฟต์แวร์สำหรับโรงงานนั้น จะเป็นที่รับรู้ในกลุ่มผู้พัฒนาว่าเป็นสาย ‘พรีเมียม (Premium)’ กล่าวคือ พัฒนาแบบ Custom-Made เป็นการเฉพาะ และซื้อขายต่อโรงงานในราคาหลักแสน จนถึงหลักล้าน ตามขนาดความใหญ่ นั่นทำให้มีโรงงานจำนวนที่น้อยมากๆ จะมีโอกาสเอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ 

แต่การที่ Factorium สามารถขยายครอบคลุมโรงงานทั่วประเทศกว่า 3,500 โรงงานนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์จนน่าสงสัยไม่น้อย แต่สำหรับบาส เขามองว่ามันเป็นเพียง ‘กลยุทธ์’ ทางการตลาดมากกว่า 

“เราเปลี่ยนกลยุทธ์ คือมาในรูปแบบ ‘ฟรีเมียม (Freemium)’ คือคุณใช้ฟรีไปเลย ไม่ว่าจะโรงงานเล็กหรือใหญ่ ถ้าอยากได้จำนวนผู้ใช้งานหรือฟังก์ชันเพิ่ม ค่อยจ่ายเงินซื้อส่วนที่ต้องการ ซึ่งต้องถือว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่แฟร์มากสำหรับทุกฝ่าย และยังไม่ค่อยพบเห็นในภาคอุตสาหกรรม” บาสกล่าวถึงกลยุทธ์ ‘ทางการตลาด’ ของ Factorium ที่บริษัทได้ใช้ 

อันที่จริง แนวคิดแบบ Freemium หรือ ‘ใช้ฟรี ถ้าใช้ดี จ่ายทีหลัง’ นั้น ไม่ใช่ของใหม่ เพราะบริการซอฟต์แวร์แบบคลาวด์ (Cloud-Based Software) หลายๆ เจ้า เช่น บริการรับฝากไฟล์ หรือบริการ Streaming ต่างๆ ก็ใช้รูปแบบนี้มาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่สำหรับซอฟต์แวร์สายโรงงาน มันค่อนข้างจะเป็นอะไรที่น่าพิศวงและชวนให้ทึ่งไม่น้อย และถ้ามองในแง่ของการจัดสรรปันส่วน และความ ‘แฟร์’ ทั้งในแง่ผู้พัฒนา และผู้ใช้งาน ก็จะพบว่ามันสมประโยชน์กันทุกฝ่าย ผู้พัฒนาก็ได้ฐานลูกค้า รับรู้ความต้องการ และเสนอบริการได้ถูกจุด ผู้ใช้งานก็สามารถเลือก ‘ซื้อเพิ่ม’ ในส่วนที่จำเป็นก็ ไม่ต้อง ‘เหมาโหล’ แบบครั้งเดียว และอาจจะเป็น System Stone และ Factorium เพียงเจ้าเดียวที่ดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์แบบนี้ก็เป็นได้ 

COVID-19 กับ ‘วิกฤติ’ และ ‘โอกาส’ สำหรับตลาด Startup 

ในปัจจุบัน เราคงไม่ปฏิเสธได้เลยว่า วิกฤติ COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วง และทำท่าว่าจะยังอยู่กับเราอีก ‘ระยะใหญ่ๆ’ นั้น สร้างความสั่นสะเทือนให้กับทุกแวดวงและทุกภาคส่วนไม่น้อย เราเองก็อดสงสัยไม่ได้ ว่าในภาค ‘การผลิต’ ที่น่าจะประสบปัญหา แอปพลิเคชันที่อิงกับการผลิตอย่าง Factorium จะได้รับผลกระทบหรือไม่ แต่สำหรับบาส เขามองขาดออกเป็นสองแง่อย่างชัดเจน 

“ต้องมองผลกระทบออกเป็นสองส่วนนะครับ คือหนึ่ง ผลกระทบด้านยอดขาย ซึ่งจุดนี้ไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรมจะได้รับ บางอุตสาหกรรมกลับมีการขยายตัวขึ้นด้วยซ้ำ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้น ในจุดนี้ สำหรับ Factorium มันยังมีช่องทางให้ไปต่อได้ เพราะมันสามารถเข้าไปถึงได้ในทุกอุตสาหกรรม” 

แต่ในโอกาส วิกฤติและปัญหาก็ยังคงมีตามมา และ Factorium เองก็เผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ และเป็นความท้าทายสำคัญ 

“ในแง่ที่สองที่จะกระทบเราแน่ๆ คือในส่วนของหน้างาน ที่ทุกโรงงานจะจริงจังมากที่จะอนุญาตให้ฝ่ายขายเข้าไปเสนอผลิตภัณฑ์ และทำให้การเสนอขาย รวมถึงการฝึกสอนการใช้งานซอฟท์แวร์ทำได้ค่อนข้างยาก เป็นผลกระทบที่เราเลี่ยงไม่ได้”

เช่นนั้นแล้ว เมื่อ ‘วิกฤติ’ และ ‘โอกาส’ มันมาในขบวนเดียวกันของ COVID-19 เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ธุรกิจ Startup ในเมืองไทย จะสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งบาสก็ได้ให้คำตอบเราในจุดนี้อีกเช่นกัน และมันคือ ‘ความจริง’ ที่ต้องยอมรับ 

“ผมมองว่าการตั้ง Startup เป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย คือถ้าคนที่ไม่สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ เหตุการณ์ COVID-19 เรียกว่าเป็นวิกฤติที่ทำให้ซบเซาได้จริงๆ แต่ในอีกมุม ยังมีคนอีกกลุ่มที่จะอาศัยวิกฤตินี้ให้เกิดประโยชน์ จะเห็นความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากสภาวะนี้ และ Startup จะเหมาะกับคนกลุ่มหลังนี้มากๆ เป็นโอกาสที่นานๆ ทีจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ แต่ต้องพิจารณาให้รอบด้าน มองหาความต้องการให้ถูกจุด” 

อีกทั้งเขายังย้ำสำหรับคนรุ่นใหม่ด้วยว่า ถ้าอยากจะลงสนาม Startup แล้วนั้น นอกเหนือจากไอเดียที่ต้องมีแล้ว การ ‘ตั้งมั่น’ และ ‘โฟกัสเป้าหมาย’ ในระยะยาว คือสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก 

“ผมคิดว่า ถ้าเรามองเห็นโอกาส ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนที่มีอายุ Startup คือพื้นที่ที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาได้เสมอ โดยไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องมีเงิน เส้นสาย หรืออะไรมากมาย แต่คุณอาจต้องเชี่ยวชาญในเรื่องที่จะทำจริงๆ และสำหรับคนรุ่นใหม่ ผมเองก็อยากจะย้ำว่า เรื่องที่สำคัญมากๆ คือการโฟกัสในสิ่งที่ทำ คือถ้าฟุ้ง แต่ไม่มุ่งมั่นจริงๆ โอกาสสำเร็จจะค่อนข้างยาก เพราะ Startup คืองานระยะยาว ไม่ใช่อะไรที่สั้นและง่าย เป็นไปไม่ได้เลย”

และเขาตบท้ายด้วยว่า สิ่งที่จะทำให้ Startup ในเมืองไทยเติบโต นอกเหนือจากเงินทุนแล้ว การสร้างบรรยากาศที่เหมาะสม ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ 

“ต้องยอมรับว่าถ้าจะโตในระดับสากล การสนับสนุนจากภาครัฐสำคัญมาก โดยเฉพาะในส่วนของ Deeptech ซึ่งในวันแรกๆ มันยากมากที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์สักตัวขึ้นมา ทีนี้ ในมุมมองของผม ถ้าจะมีอะไรที่ขอภาครัฐได้ คือขอให้ตลาดเป็นมิตรกับ Startup ไทยมากขึ้น ก็คิดว่าน่าจะเพียงพอ” 

5 ปี กับก้าวต่อไปแห่ง ‘กระดูกสันหลังโรงงาน’

มาถึงวันนี้ System Stone กับแอปพลิเคชัน Factorium ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5  มีกลุ่มผู้ใช้งานหลักพัน มีฐานข้อมูลและกลุ่มลูกค้าที่เชื่อใจ เลือกใช้งานอย่างต่อเนื่อง มันอาจจะเป็นความสำเร็จสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับ บาส สิทธิกร นวลรอด CEO หนุ่มแห่ง System Stone ยังเป็นเพียงแค่ ‘ครึ่งทาง’ เท่านั้น 

“ถ้าพิจารณากันอย่างตรงไปตรงมา ต้องยอมรับว่า เรามาได้เพียงแค่ครึ่งทาง เพราะเราตั้งเป้าเอาไว้ที่ค่อนข้างน่าสนุกอยู่ คือการที่เราจะสามารถทำซอฟต์แวร์หรือแพลตฟอร์มที่ต่างประเทศยอมรับหรือไม่”   

มีโรงงานต่างชาติในไทย ใช้ Factorium ของเขา แต่สิ่งที่เขาตั้งมั่น คือการ ‘ไปสู่ระดับสากล’ ที่แอปพลิเคชันสัญชาติไทย จะได้ไปปรากฏ อยู่ในโรงงาน ณ แผ่นดินต่างประเทศ เป็นของคนไทยอย่างเต็มภาคภูมิ และ เมื่อถึงวันนั้น คงเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกดีอยู่ไม่น้อย แต่ในตอนนี้ ครึ่งทาง… ครึ่งทางที่เกิดขึ้น ก็ทำให้เขารู้สึกภูมิใจอยู่บ้าง เมื่อพิจารณาจากจุดเริ่มต้นที่แทบจะเรียกว่า ‘เป็นศูนย์’ 

“ถ้ามองจากมุมของวันแรก มันน่าภูมิใจนะ จากเพียงแค่สี่คน เงินแค่แสนเดียว ไม่รู้เรื่องธุรกิจ มาเรียนรู้ ลองผิดลองถูกกันมา จนตอนนี้ เรามีพนักงาน 30 กว่าคน มีผลกำไร มีฐานลูกค้า รู้สึกดีครับ” บาสกล่าวทิ้งท้าย 

และถ้าวันที่ Factorium ได้กลายเป็น ‘กระดูกสันหลัง’ ของโรงงานในระดับโลก เราก็เชื่อว่าเขาจะต้องภูมิใจมากกว่านี้ และเราก็อยากจะมานั่งพูดคุยกับเขาอีกครั้ง ว่าซอฟท์แวร์ที่มีจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่กลายเป็นมาตรฐานโรงงาน … มันรู้สึกอย่างไร

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ