fbpx

Facebook ออกกฎเข้มคุมการไลฟ์หลังเหตุโจมตีไครสต์เชิร์ช

เฟซบุ๊ก (Facebook) ออกกฎใหม่คุมเข้มฟีเจอร์การถ่ายทอดสด หรือ ‘ไลฟ์สตรีมมิง’ (Livestreaming) ในการประชุมผู้นำระดับโลกเมื่อวันพุธที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความรุนแรงบนโลกออนไลน์หลังเกิดเหตุกราดยิงในนิวซีแลนด์

Reasons to Read

  • สืบเนื่องจากเหตุกราดยิงในนิวซีแลนด์ เฟซบุ๊กได้ออกนโยบาย ‘One-Strike’ เพื่อควบคุมการใช้งานไลฟ์สตรีมมิงบนเฟซบุ๊ก ซึ่งจะเป็นการจำกัดการเข้าถึงชั่วคราวสำหรับผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยเนื่องจากละเมิดกฎของเฟซบุ๊ก
  • ทั้งยังมีแผนที่จะขยายข้อจำกัดไปยังพื้นที่อื่นๆ บนเฟซบุ๊กในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยเริ่มจากการป้องกันไม่ให้บุคคลเดียวกันที่ถูกระงับการใช้งานฟีเจอร์ถ่ายทอดสดสามารถสร้างโฆษณาบนเฟซบุ๊กได้

เฟซบุ๊ก (Facebook) ออกกฎใหม่คุมเข้มฟีเจอร์การถ่ายทอดสด หรือ ‘ไลฟ์สตรีมมิง’ (Livestreaming) ในการประชุมผู้นำระดับโลกเมื่อวันพุธที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความรุนแรงบนโลกออนไลน์หลังเกิดเหตุกราดยิงในนิวซีแลนด์

เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุสะเทือนใจคนทั้งโลก เมื่อมือปืนบุกเดี่ยวกราดยิงผู้คนในมัสยิดสองแห่งในเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 51 คน โดยขณะก่อเหตุคนร้ายได้ทำการถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการกราดยิงที่ร้ายแรงที่สุดในช่วงเวลาอันสงบสุขของนิวซีแลนด์ และนำไปสู่การเรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ลุกขึ้นมาทำอะไรให้มากกว่านี้เพื่อต่อสู้กับความบ้าคลั่งในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือประกอบการก่อการร้าย

เฟซบุ๊กกล่าวในแถลงการณ์ว่า ได้ออกนโยบาย ‘One-Strike’ เพื่อควบคุมการใช้งานไลฟ์สตรีมมิงบนเฟซบุ๊ก ซึ่งจะเป็นการจำกัดการเข้าถึงชั่วคราวสำหรับผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยเนื่องจากละเมิดกฎที่ร้ายแรงที่สุดของเฟซบุ๊กไม่ว่าทางใดก็ตาม

ผู้กระทำผิดครั้งแรกจะถูกระงับไม่ให้ใช้งานฟีเจอร์ถ่ายทอดสดตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังจะทำการขยายขอบเขตของการกระทำความผิดให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว

‘จาซินดา อาร์เดิร์น’ (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ผู้เป็นหัวหอกในการยับยั้งการเผยแพร่ความรุนแรงบนโลกออนไลน์ กล่าวว่า “การตัดสินใจของเฟซบุ๊กในการจำกัดการถ่ายทอดสดเป็นขั้นตอนแรกที่ดีในการจำกัดแอพพลิเคชันที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ก่อการร้ายและแสดงให้เห็นว่าข้อเรียกร้องอันเกิดจากกรณีไครสต์เชิร์ชกำลังได้รับการดำเนินการอยู่”

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กไม่ได้ระบุว่าความผิดใดบ้างที่มีสิทธิ์ได้รับโทษตามนโยบาย One-Strike หรือจะได้รับโทษเป็นเวลานานแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กมีแผนที่จะขยายข้อจำกัดไปยังพื้นที่อื่นๆ บนเฟซบุ๊กในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยเริ่มจากการป้องกันไม่ให้บุคคลเดียวกันที่ถูกระงับการใช้งานฟีเจอร์ถ่ายทอดสดสามารถสร้างโฆษณาบนเฟซบุ๊กได้ รวมถึงจะมอบทุนให้แก่มหาวิทยาลัยสามแห่งสำหรับการวิจัยเกี่ยวกับเทคนิคในการตรวจจับสื่อที่มีการควบคุม ซึ่งระบบของเฟซบุ๊กพยายามที่จะตรวจจับหลังจากการโจมตีที่เมืองไครสต์เชิร์ช

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์กล่าวว่า การวิจัยเป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากวิดีโอเหตุกราดการยิงมัสยิดในวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ถูกลบออกจากเฟซบุ๊กอย่างช้าๆ ส่งผลให้หลายคนรวมถึงตัวเธอเองได้เห็นวิดีโอดังกล่าวบนฟีดข่าวของเฟซบุ๊ก

ขณะที่เฟซบุ๊กระบุว่า ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังเกิดเหตุ เฟซบุ๊กได้ทำการลบวิดีโอกว่า 1.5 ล้านวิดีโอทั่วโลกที่มีภาพเหตุการณ์การโจมตีมัสยิดปรากฏอยู่ โดยเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการระบุบนบล็อกโพสต์ของเฟซบุ๊กว่า มีวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวมากกว่า 900 เวอร์ชัน

จาซินดา อาร์เดิร์น ในฐานะผู้นำการประชุมร่วมกับ ‘แอมานุแอล มาครง’ (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่กรุงปารีส ต้องการให้ผู้นำระดับโลกและหัวหน้าของบริษัทเทคโนโลยีมาร่วมลงนามปฏิญาณเพื่อกำจัดเนื้อหาที่มีความรุนแรงบนโลกออนไลน์ โดยหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมการลงนามครั้งนี้ก็คือ ‘ลีโอ วาราดคาร์’ (Leo Varadkar) นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์

“มีงานอีกมากมายที่ต้องทำ แต่ดิฉันรู้สึกยินดีที่วันนี้เฟซบุ๊กได้ก้าวไปอีกขั้น ควบคู่กับข้อเรียกร้องของไครสต์เชิร์ช และหวังว่าจะมีการทำงานร่วมกันในระยะยาวเพื่อทำให้โซเชียลมีเดียปลอดภัยยิ่งขึ้นโดยการลบเนื้อหาของผู้ก่อการร้ายออกไป” นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าว

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ