fbpx

Facebook ส่อถูกปรับวันละ 1 ล้านเหรียญฯหากเปิดตัว Libra

ดูเหมือนว่าเส้นทางของ Libra จะเจออุปสรรคอีกด่านแล้ว นั่นคือกฎหมายที่เรียกกันว่าเป็น ‘Keep Big Tech Out of Finance Act’ ซึ่งเป็นกฎหมายที่พยายามจะกำหนดนิยามบริษัทที่ถือว่าเป็นบิ๊กเทคและป้องกันไม่ให้บริษัทเหล่านั้นดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับถึงวันละ 1 ล้านเหรียญ

Reason to Read

  • บริษัทเทคโนโลยีที่มีรายได้ทั่วโลกประจำปีมากกว่า 2.5 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ละเมิดกฎดังกล่าวจะถูกปรับ 1 ล้านเหรียญฯ ต่อวัน

ทันทีที่เฟซบุ๊ก (Facebook) ประกาศข่าวคราวการโปรเจ็กต์ยักษ์ใหญ่อย่าง ‘ลิบรา’ (Libra) หรือสกุลเงินดิจิทัลใหม่ที่มีเฟซบุ๊กเป็นผู้พัฒนาโดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือบิ๊กเทค (Big Tech Companies) และเงินตราสกุลแข็งต่างๆ ก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมไปทั้งวงการฟินเทค (Fintech) ทั่วโลก รวมไปถึงสร้างความกังวลขึ้นในหมู่ผู้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการใช้งานลิบรา

คณะกรรมการบริการด้านการเงินของพรรคเดโมแครต ส่วนใหญ่ได้ร่างข้อเสนอเพื่อป้องกันไม่ให้บิ๊กเทคสามารถดำเนินการใดๆ ในฐานะสถาบันการเงินหรือการออกสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองได้ ซึ่งนับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่เพิ่มแรงกดดันต่อลิบราของเฟซบุ๊ก เพราะจากการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว ระบุว่า บริษัทเทคโนโลยีที่มีรายได้ทั่วโลกประจำปีมากกว่า 2.5 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ละเมิดกฎดังกล่าวจะถูกปรับ 1 ล้านเหรียญฯ ต่อวัน

กฎหมายดังกล่าวถูกเรียกว่า ‘Keep Big Tech Out of Finance Act’ หรือ กฎหมายกีดกันบิ๊กเทคจากการเงิน เป็นกฎหมายที่พยายามจะกำหนดนิยามบริษัทที่ถือว่าเป็นบิ๊กเทค และป้องกันไม่ให้บริษัทเหล่านั้นดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้อย่างกว้างขวางในฐานะสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หน่วยวัดมูลค่า การเก็บมูลค่า หรือฟังก์ชันอื่นที่คล้ายคลึงกันได้

หนังสือพิมพ์ เดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล (The Wall Street Journal) รายงานว่า แผนการการเปิดตัวลิบราของเฟซบุ๊กยังอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นผู้ควบคุมหลักของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ โดยมีรายงานว่าคณะกรรมการกำลังพิจารณาว่าลิบราถูกออกแบบมาให้สามารถมองให้เป็นกองทุนเปิดที่จดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Exchange Traded Fund – ETF) ได้หรือไม่ (กองทุนรวมชนิดหนึ่ง ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ซื้อขายได้สะดวกเสมือนหุ้น) และหากพบว่าลิบราสามารถดำเนินการในฐานะกองทุน ETF ได้ เฟซบุ๊กจะต้องได้รับการอนุมัติเพื่อเปิดใช้บริการการชำระเงิน

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กได้ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะเปิดตัวลิบรา สกุลเงินดิจิทัลใหม่ทั่วโลกในปี 2020 โดยลิบราจะถูกควบคุมโดยกลุ่มบริษัทของเฟซบุ๊กและพันธมิตร 28 ราย รวมถึง วีซ่า (Visa) มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) เพย์พัล (PayPal) อูเบอร์ (Uber) ลิฟต์ (Lyft) และสปอติฟาย (Spotify)

การประกาศเปิดตัวลิบราได้กระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จาก โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รวมทั้งผู้ร่างกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี โดยทรัมป์แย้งว่า ลิบราจะมีความน่าเชื่อถือน้อย และแนะนำว่าเฟซบุ๊กควรจดทะเบียนเป็นธนาคารและยอมทำตามกฎระเบียบของธนาคารด้วย

เมื่อพูดถึงสกุลเงินดิจิทัล เรื่องที่คนส่วนใหญ่กังวลก็คือเรื่องของความผันผวนของราคา แต่ประเด็นนี้เฟซบุ๊กได้ออกมาบอกว่า เฟซบุ๊กจะป้องกันลิบราจากความผันผวนของราคา โดยลิบราจะได้รับการสนับสนุนโดยสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ เช่น เงินฝากธนาคารและหลักทรัพย์รัฐบาลระยะสั้นในเงินตราสกุลแข็ง แต่หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของสหรัฐก็ยังมีข้อกังวลว่า ลิบราจะถูกนำไปใช้ในการฉ้อโกงโดยไม่มีการควบคุมที่เหมาะสมหรือไม่

เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานสภาธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ลิบราก่อให้เกิดความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว การฟอกเงิน การคุ้มครองผู้บริโภค ความมั่นคงทางการเงิน ลิบราควรจะถูกระงับไปก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขข้อกังวลเหล่านี้อย่างถี่ถ้วน 

ความคิดเห็นนี้เป็นเหมือนเสียงสะท้อนความเห็นของ แม็กซีน วอเทอร์ส (Maxine Waters) ประธานคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินของสหรัฐอเมริกา (House Financial Services Committee) ที่ก่อนหน้านี้เธอได้แสดงความกังวลว่า “หากผลิตภัณฑ์และบริการเหล่านี้ถูกควบคุมอย่างไม่เหมาะสมและไม่มีการควบคุมที่เพียงพอก็มีความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของสหรัฐอเมริกาและการเงินทั่วโลก”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กเพิ่งถูกคณะกรรมาธิการการค้ากลางสหรัฐฯ (Federal Trade Commission – FTC) มีให้ปรับเงินจำนวนเกือบ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท จากกรณีที่เฟซบุ๊กได้ปล่อยให้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานกว่า 87 ล้านบัญชีหลุดไปอยู่กับบริษัทวิจัยข้อมูลด้านการเลือกตั้ง แคมบริดจ์ อนาไลติกา เมื่อปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นการปรับเงินบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ