fbpx

จักรพรรดิญี่ปุ่นเตรียมสละบัลลังก์ สิ้นสุดยุคเฮเซ เริ่มศักราชใหม่ ‘ยุคเรวะ’ 1 พฤษภาคมนี้

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศชื่อยุคใหม่อย่างเป็นทางการ และเตรียมสิ้นสุดยุคเฮเซ ที่เริ่มต้นใช้ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2532

Reasons to Read

  • รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศชื่อยุคใหม่อย่างเป็นทางการ และเตรียมสิ้นสุดยุคเฮเซ ที่เริ่มต้นใช้ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2532
  • สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ จะทรงสละราชสมบัติ ในวันที่ 30 เมษายนนี้ จากนั้น เจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร จะทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อ ในวันที่ 1 พฤษภาคม

ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังคงใช้ปฏิทินแบบจีน และมีธรรมเนียมการนับศักราชตามการขึ้นครองราชย์ของจักพรรดิ ทำให้จนถึงทุกวันนี้ญี่ปุ่นมียุคสมัยมาแล้วเกือบ 250 ศักราช และวันนี้ (1 เมษายน พ.ศ. 2562) ก็เป็นวันประวัติศาสตร์สำคัญของญี่ปุ่นอีกหนึ่งวัน เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศชื่อยุคใหม่อย่างเป็นทางการ คือ ‘เรวะ’ (Reiwa) และเตรียมสิ้นสุดยุคเฮเซ ที่เริ่มต้นใช้ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2532 หลังสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะทรงสละราชสมบัติในวันที่ 30 เมษายนนี้ จากนั้นเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร จะทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อในวันที่ 1 พฤษภาคม

สำหรับตัวอักษรคำว่า ‘เรวะ’ ถูกประดิษฐ์ขึ้นจากบทกวี ‘Manyoshu’ ซึ่งเป็นบทกวีเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยคำว่า ‘เร’ หมายถึง โชคดี ระเบียบ หรือมงคล ส่วนคำว่า ‘วะ’ สามารถแปลความหมายได้ทั้งสันติภาพ และความสามัคคี ซึ่งชื่อนี้รัฐบาลญี่ปุ่นใช้เวลาหลายเดือนในการคัดเลือกพร้อมกับมีผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ จำนวน 9 คน

ย้อนกลับไปในยุคก่อน จักรพรรดิญี่ปุ่นจะมีการเปลี่ยนชื่อศักราชในระหว่างการครองราชย์ของจักรพรรดิด้วยความเชื่อที่ว่าจะนำสิ่งใหม่ๆ สิ่งดีๆ มาสู่ประเทศ หรือเปลี่ยนเพื่อแก้เคล็ดหลังเกิดวิกฤตการณ์หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่หลังๆ จักรพรรดิมักจะนิยมใช้ศักราชเดียวตลอดช่วงรัชสมัย ซึ่งยุคสมัยต่างๆ ของญี่ปุ่น มีดังต่อไปนี้

‘ยุคโจมง’ ย้อนไปช่วงประมาณ 10,000 ปีก่อนคริสตกาล เป็นยุคเริ่มอารยธรรม เริ่มมีการสร้างที่อยู่อาศัยโดยการขุดรูและทำหลังคาทรงสามเหลี่ยมครอบ มีการทำไร่ทำนา เริ่มใช้เครื่องปั้นดินเผาเป็นครั้งแรก (เรียกว่าเครื่องปั้นดินเผาโจมง) มีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินด้วยความประณีต รู้จักใช้ธนูล่าสัตว์ และเกิดหมู่เกาะญี่ปุ่น

‘ยุคยะโยอิ’ ราว 300 ปีก่อนคริสตกาล ช่วงต้นของยุคนี้ปรากฏให้เห็นถึงการที่ได้เรียนรู้ถึงการเกษตร เช่น การปลูกข้าว โดยรับเอาวิธีการปลูกข้าวจากคาบสมุทรเกาหลีเมื่อ 57 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีการทำเครื่องใช้โลหะและการเคารพบูชาภูติผีปีศาจซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เข้ามาทางเกาหลีและแผ่นดินใหญ่ โดยมีการขุดพบวัตถุที่ทำจากโลหะสัมฤทธิ์รวมทั้งสิ่งที่นำเข้ามาจากจีน บนเกาะคิวชู ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ของยุคยะโยอิ

ทั้งสองยุคที่กล่าวมาเป็น ‘ยุคโบราณ’ ซึ่งตรงกับยุควัฒนธรรมบ้านเชียงของไทย ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ ‘ยุคกลาง’ โดยในยุคกลางยุคแรกเรียกว่า

‘ยุคโคะฟุง’ ราวปี ค.ศ. 250 ชื่อยุคโคะฟุงนี้ตั้งชื่อตามสุสานที่นิยมสร้างขึ้นกันในยุคดังกล่าว โดยเป็นยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มมีความเป็นปึกแผ่น รัฐเล็กๆ ค่อยๆ รวมตัวกัน ก่อนที่ชาวจีนจำนวนหนึ่งจะย้ายมาตั้งถิ่นฐานในญี่ปุ่นและนำอารยธรรมแบบจีนมาเผยแผ่ ทำให้อารยธรรมญี่ปุ่นส่วนมากมีอิทธิพลมาจากจีนจนถึงทุกวันนี้

‘ยุคอะซึกะ’ ค.ศ. 538-710 ยุคนี้ศาสนาพุทธได้เข้ามาในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกจากประเทศอินเดียโดยผ่านทางจีนและเกาหลี ผู้ปกครองญี่ปุ่นได้ถือระบบการปกครองของจีนเป็นแนวทางในการสร้างระบบการปกครองของตน

‘ยุคนาระ’ ค.ศ. 710-794 เกิดบันทึกประวัติศาสตร์เล่มแรกชื่อ ‘โคะจิคิ’ ในปี ค.ศ. 712 และเมือง ‘เฮโจเคียว’ เมืองหลวงถาวรแห่งแรกของญี่ปุ่นได้รับการสถาปนาขึ้น และขยายอำนาจจากเมืองนะระจนรวมประเทศเป็นปึกแผ่นได้ (ยกเว้นโอะกินะวะ และฮอกไกโด) ก่อนที่เมืองหลวงจะถูกย้ายไปยังนะงะโอะกะเกียวในปี ค.ศ. 784 และต่อมาที่เฮอันเคียวในปี ค.ศ. 794 ด้านวัฒนธรรม การแต่งตัว สถาปัตยกรรม ฯลฯ ในยุคนี้ยังคงมีวัฒนธรรมแบบจีนปรากฏให้เห็นอยู่

‘ยุคเฮอัน’ ค.ศ. 794-1185 การย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองเฮอังเกียว (เมืองเกียวโตในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 794 นับเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยเฮอันซึ่งดำรงอยู่ยาวนาน รุ่งเรือง และยิ่งใหญ่ที่สุดสมัยหนึ่งของการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่น ในยุคนี้การติดต่อกับประเทศจีนหยุดชะงักลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 9 ทำให้สิ่งต่างๆ ซึ่งญี่ปุ่นรับมาจากภายนอกค่อยๆ กลายเป็นรูปแบบของญี่ปุ่นไปโดยปริยาย เหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การสิ้นสุดยุคนี้ก็คือ ‘สงครามเก็มเป’ ซึ่งเป็นศึกระหว่างสองตระกูลใหญ่คือตระกูลไทระและตระกูลมินะโมโตะ

‘ยุคคะมะกุระ’ เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1185 เมื่อตระกูลมินะโมะโตะชนะในสงครามเก็มเป ก็แสดงถึงความเสื่อมอำนาจทางการเมืองของจักรพรรดิ และเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองของโชกุน หรือผู้ปกครองทางการทหาร โดย ‘โยะริโตะโมะ’ หัวหน้าตระกูลมินะโมะโตะได้สถาปนาระบบโชกุน หรือรัฐบาลทหารขึ้น ที่เมืองคะมะกุระ ในปี ค.ศ. 1192

ยุคนี้เป็นยุคที่มีแนวคิดในเรื่องของความกล้าหาญและรักเกียรติยศ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของซามูไร ในปี ค.ศ. 1213 อำนาจได้เปลี่ยนมือจากตระกูลมินะโมะโตะไปยังตระกูลโฮโจ ระหว่างนั้นกองทัพมองโกลได้บุกตอนเหนือของเกาะคิวชูถึง 2 ครั้ง ในปี ค.ศ. 1274 และ ค.ศ. 1281 แต่นักรบญี่ปุ่นก็สามารถรักษาพื้นที่ไว้ได้

‘ยุคมุโระมะจิ’ ค.ศ. 1333-1568 อำนาจของค่ายทหารคะมะกุระหมดลงในปี ค.ศ. 1333 เข้าสู่ยุคมุโระมะจิ มีการพัฒนาระบบชลประทาน การเพาะปลูก และเกิดการเติบโตของกิจการค้าขายและบริการ ในยุคนี้ระเบียบวินัยที่เคร่งครัดของลัทธิบุชิโดปรากฏทั้งในด้านความงามทางศิลปะและศาสนา และมีอิทธิพลลึกล้ำต่อศิลปะของประเทศ และเป็นยุคแรกที่ชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นชาวตะวันตกกลุ่มแรก ได้เข้ามาสู่ญี่ปุ่น พร้อมนำปืนยาวแบบยุโรปเข้ามาเป็นครั้งแรก และบาทหลวงชาวยุโรปเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ แต่ในปี ค.ศ. 1441 เกิดการลอบสังหารโชกุนและนำไปสู่สงครามกลางเมือง ในปี ค.ศ. 1476 จนญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคย่อยๆ เรียกว่า ‘ยุคเซงโงะกุ’ และ ‘ยุคนัมโบะกุโจ’

‘ยุคอะซุชิ-โมโมยามะ’ ค.ศ. 1568-1600 ผลพวงจากยุคเซงโงะกุที่แม่ทัพทั้งหลายรบกัน เป็นยุคสั้นๆ ที่มีผู้สถาปนาคือ ‘โอะดะ โนะบุนะงะ’ ที่มีเจตนารมณ์ที่จะรวมประเทศญี่ปุ่นที่ยังไม่เป็นปึกแผ่น เมื่อโนะบุนะงะ เสียชีวิตลง ‘โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ’ นายพลนายหนึ่งของเขาจึงได้เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ต่อมา และสามารถรวบรวบประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1590

ยุคนี้เป็นยุคที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เซรามิก ภาพวาด เครื่องเงิน อุปกรณ์เกี่ยวกับชา ฯลฯ ซึ่งทำให้นับได้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่หรูหราที่สุดยุคหนึ่งของญี่ปุ่น วัฒนธรรมใหม่ๆ จากตะวันตก เช่น การใช้ปืนคาบศิลา และการสอนคริสต์ศาสนาก็ได้เจริญรุ่งเรืองในยุคนี้ด้วย

‘ยุคเอะโดะ’ หลังสิ้นสุดยุคอะซุจิ-โมโมยะมะในปี ค.ศ. 1603 ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเอะโดะ โดย ‘อิเอะยะสึ’ ตั้งตนเป็นผู้ปกครองญี่ปุ่น และสร้างอารยธรรมใหม่ขึ้นในปี ค.ศ. 1639 ญี่ปุ่นได้ปิดประเทศจากโลกภายนอกนานกว่า 200 ปี เพื่อรักษาเสถียรภาพของโครงสร้างทางสังคมและการเมือง พร้อมสั่งห้ามเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่น และห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศญี่ปุ่น ยกเว้นบางกลุ่ม ได้แก่ พ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ ชาวจีน และทูตจากราชวงศ์ลีของประเทศเกาหลี

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้ความกดดันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เปิดประเทศสู่โลกภายนอก จนสุดท้ายยอมลงนามในสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีกับประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1854 และอีกหลายประเทศในปีต่อๆ มา เช่น รัสเซีย อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส จากนั้นระบบศักดินาของโชกุนโทกุงาวะได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1867 และได้ถวายอำนาจอธิปไตยคืนพระจักรพรรดิในการปฏิรูปเมจิ ในปีต่อมา ถือเป็นการสิ้นสุดยุคกลางและเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่

‘ยุคเมจิ’ ค.ศ. 1868-1912 การปฏิรูปเมจิทำให้ยุคเอะโดะสิ้นสุดใน ค.ศ. 1868 ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ญี่ปุ่นสามารถสร้างประเทศให้เข้าสู่ยุคใหม่ด้วยอุตสาหกรรม พัฒนาสถาบันทางการเมืองและรูปแบบของสังคมแบบใหม่โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ โดยในช่วงแรกของการครองราชย์ สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงเกียวโต ไปอยู่ที่เมืองเอโดะ หรือ ‘กรุงโตเกียว’ ในปัจจุบัน จากนั้นมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1889 ตลอดจนตั้งคณะรัฐมนตรีและสถาบันนิติบัญญัติระบบสองสภา ยกเลิกการแบ่งชนชั้นแบบเก่าของสมัยศักดินา ญี่ปุ่นทั้งประเทศทุ่มเทพลังงานและความกระตือรือร้นในการศึกษาและรับอารยธรรมตะวันตกมาใช้

‘ยุคไทโช’ ค.ศ. 1912-1926 ยุคนี้ตรงกับสงครามโลกครั้งที่ 1 และรัชกาลที่ 6 ของสยามประเทศ ครั้งนี้ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรและได้รับชัยชนะ ต่อมาใน ‘ยุคโชวะ’ ค.ศ. 1926-1989 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะครองบัลลังก์ ยุคก่อนสงครามจะปะทุญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้ามาก และแม้ว่าจะพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แบบราบคาบ แต่ก็สามารถฟื้นฟูชาติจนเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจได้

‘ยุคเฮเซ’ ค.ศ. 1989-30 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นรัชศกในปัจจุบันของประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า ‘ศักราชเฮเซปีที่ 31’ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายนนี้ ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะมีกำหนดการจะสละราชบัลลังก์หลังครงราชย์มา 31 ปี

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ