fbpx

ชีวิตที่จะมีสิทธิ ไม่แม้แต่จะถูกลิขิตด้วย ‘ความพิการ’

เมื่อเร็วๆ ที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสกดช่อง Netflix และรับชมซีรีส์เกาหลีเรื่องล่าสุดอย่าง ‘Extraodinary Attorney Woo’ หรือ ‘อูยองอู ทนายอัจฉริยะ’ อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทนายสาวมากความสามารถ แต่เป็นบุคคลที่มีลักษณะพิเศษอย่างผู้ที่มีกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัม กับภารกิจในชีวิตประจำวัน ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน และการว่าความในชั้นศาลต่างๆ

ก็ยอมรับว่าไม่บ่อยนักที่จะสนใจกับซีรีส์เกาหลี แต่กับเรื่องนี้ มันมีความพิเศษในหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะทั้งการแสดงของพัคอึนบินก็ดี หรือการดำเนินเนื้อหาที่ไม่ถึงกับเครียดอย่างซีรีส์ทนายและการว่าความอื่นๆ ก็ดี แต่นอกเหนือจากนี้ มันยังจุดประเด็นคิดที่น่าสนใจไม่น้อย

เกี่ยวกับ ‘โอกาส’ ของกลุ่มบุคคลผู้ที่อาจจะขาด หรือมีความพิเศษแตกต่างจากคนอื่น ในการที่จะใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติเช่นคนทั่วไป…

ในแง่หนึ่ง ก็ต้องยอมรับกันว่า กลุ่มผู้ที่มีความทุพลภาพ ไม่ว่าจะด้านทางกายภาพ หรือทางด้านจิตใจ ต่างได้รับการใส่ใจและโอกาสในชีวิต และถูกพินิจพิจารณาด้วยสายตาที่เข้าใจมากขึ้นในปัจจุบัน หลายครั้ง สิ่งที่พวกเขาเป็น อาจจะเกิดจากอุบัติเหตุไม่คาดฝัน หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ติดตัวมากตั้งแต่แรกเริ่ม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่าง จะต้องจบสิ้นลง และโอกาส จะต้องถูกตัดขาด เพียงเพราะพวกเขาอาจจะ ‘ไม่ได้เหมือน’ คนอื่นๆ

เรามีตัวอย่างที่เห็นกันได้มากมายในช่วงที่ผ่านมา ที่ผู้มีความทุพลภาพ สามารถก้าวข้ามข้อจำกัด และมีชีวิตกับประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะทั้งศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ที่แม้สายตาจะเป็นข้อจำกัด แต่ก็สามารถก้าวไปสู่จุดที่สามารถแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ ในฐานะทนายกับอาจารย์ รวมถึงร้านกาแฟ ‘ยิ้มสู้ คาเฟ่’ ที่ดำเนินงานโดยกลุ่มคนที่มีความพิเศษ และก่อตั้ง ‘มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ’ ที่ยังส่งต่อพลังบวกให้อย่างไม่สิ้นสุด

หรือกรณีที่ใกล้ตัวล่าสุด อย่าง แสนดี – แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ลูกชายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนล่าสุด อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่แม้จะเกิดมาด้วยปัญหาด้านการฟัง แต่ด้วยการสู้อย่างไม่ยอมแพ้ของทั้งพ่อกับลูก ก็สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน คณะประวัติศาสตร์ และมีชีวิตที่ไม่แตกต่างจากคนปกติทั่วไป

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จและการใช้ชีวิตของกลุ่มคนที่มีความพิเศษเหล่านี้ อาจจะนับได้เป็นเพียงส่วนน้อยสำหรับประเทศไทย เมื่อมามองดูภาพใหญ่ที่เกิดขึ้นจริง ที่ต้องยอมรับว่า ปลายทางของการที่พวกเขาจะสามารถไปถึงเป้าหมาย อย่างเช่นการใช้ชีวิตอย่างคนปกติธรรมดาทั่วไป ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก และไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้

จากผลสำรวจของกระทรวงแรงงาน ช่วงปี 2564 จำนวนผู้พิการในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 2,102,384 คน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 66.18 ล้านคน จำแนกสัดส่วนความพิการและทุพลภาพได้ดังต่อไปนี้

1 ทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 1,054,786  (50.17%)

2 ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 393,027  (18.69%)

3 ทางการเห็น 187,546  (8.92%)

4 ทางจิตใจหรือพฤติกรรม 164,710  (7.83%)

5 ทางสติปัญญา 143,819  (6.84%)

6 พิการมากกว่า 1 ประเภท 123,835  (5.89%)

7 ออทิสติก 17,101  (0.81%)

8 ทางการเรียนรู้ 13,711  (0.65%)

9 ข้อมูลรอการยืนยัน 3,849  (0.18%)

และเมื่อเจาะลึกลงไปถึงข้อมูลทางด้านการศึกษาแล้ว กลับพบตัวเลขที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ

-อายุไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเรียน จำนวน 2,341 คน (ร้อยละ 6.12 ของคนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษา)

-คนพิการที่อายุถึงเกณฑ์แต่ไม่ได้รับการศึกษา จำนวน 22,746 คน (ร้อยละ 59.48 ของคนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษา)

-และเป็นคนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษาจำนวน 13,155 คน (ร้อยละ 34.40 ของคนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษา) 


คนพิการที่ได้รับการศึกษา จำนวน 1,625,191 คน คิดเป็นร้อยละ 77.30 (ของคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ) ได้แก่ 

-อันดับ 1 ประถมศึกษา 1,323,640 (81.45%)
-อันดับ 2 มัธยมศึกษา 188,598 (11.60%)
-อันดับ 3 ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา 39,259 (2.42%)
-อันดับ 4 อุดมศึกษา 26,187 (1.61%)
-อันดับ 5 ไม่ระบุการศึกษา 15,098 (0.93%)

และจากจำนวนที่สามารถผ่านพ้นการศึกษา มาสู่โลกของการทำงาน ตัวเลขก็ลดลงไปอีกครึ่งหนึ่ง คือ

-คนพิการที่ประกอบอาชีพ จำนวน 315,164 คน ร้อยละ 36.83 (ของจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมด)

-คนพิการที่สามารถประกอบอาชีพได้ แต่แจ้งว่าไม่ได้ประกอบอาชีพ จำนวน 102,889 คน ร้อยละ 12.02 (ของจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมด)

-คนพิการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ (เนื่องจากพิการมากช่วยเหลือตนเองไม่ได้) จำนวน 52,806 คน ร้อยละ 6.17(ของจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมด)

-คนพิการที่ไม่ประสงค์ให้ข้อมูลและไม่ระบุข้อมูลด้านอาชีพ จำนวน 384,957 คน ร้อยละ 44.98 (ของจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมด)

และสุดท้าย เมื่อดูอาชีพของผู้พิการ แบ่งแยกย่อยตามผลสำรวจ สิ่งที่ได้รับกลับมานั้น ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น…


-เกษตรกรรม ร้อยละ 53.16
-รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 22.50
-ไม่ระบุ ร้อยละ 7.58
-ประกอบกิจการส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 6.01
-ลูกจ้างภาคเอกชน/พนักงานบริษัท ร้อยละ 5.59
-อื่น ๆ ร้อยละ 3.72
-รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 1.13
-กิจการส่วนตัว/อาชีพอิสระ/ค้าขาย ร้อยละ 0.31

(ข้อมูลจาก healthserv.net)

ที่ยกตัวเลขผลสำรวจออกมาให้เห็นนั้น ไม่ได้ต้องการจะทำให้มองโลกในแง่ร้าย แต่มันคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในชีวิตของผู้ที่ทุพลภาพ ที่อาจจะไม่ได้สวยงามเหมือนในซีรีส์ หรือในนิยาย และไม่ใช่แค่กับประเทศไทย ในต่างประเทศ ที่แม้จะมีระบบรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง ปัญหาบุคลากรที่จะรองรับกลุ่มคนทุพลภาพและผู้มีความพิเศษ ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่มากมายมหาศาล หลายครั้ง ก็ตกหล่น ไม่ทั่วถึง ขาดการสำรวจ กว่าจะไปถึงต้นตอปัญหา ก็สายเกินไป

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะต้องทิ้งขว้างผู้ที่มีความทุพลภาพหรือกลุ่มบุคคลที่มีความพิเศษ ตรงกันข้าม มันคือสิ่งที่เราต้องยึดมันไว้เป็นเหตุผลกำกับในใจ และควรสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียม ทั้งในด้านการใช้ชีวิต และการเข้าถึงโอกาสของกลุ่มบุคคลเหล่านี้

เพราะพวกเขาต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ มีความรู้สึก มีจิตใจ มีศักยภาพ และมี ‘ความฝัน’ ที่ไม่แตกต่างจากใครๆ แม้จุดเริ่มต้นของพวกเขาอาจจะน้อยจนถึงติดลบ และอาจต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนปกติทั่วไป ในการที่จะไปถึงปลายทาง มันก็เป็นหลักฐานว่าพวกเขามีหัวใจที่ไม่ยอมแพ้

เช่นนั้นแล้ว สิ่งที่เราควรมองในการสนับสนุน และโลกทัศน์ของกลุ่มผู้มีความพิเศษหรือทุพลภาพ จะไม่ใช่ความสงสาร แต่เป็นความเข้าอกเข้าใจ และพร้อมที่จะทำให้หลายๆ สิ่ง เอื้อำนวยให้กับพวกเขาเท่าที่จะสามารถทำได้

แนวคิดเช่นนี้ ในภาษาวิชาการคือ ‘Inclusiveness’ หรือ ‘ความเท่าเทียมทั่วถึง’ ซึ่งมันรวมกับทุกกลุ่ม ทั้งเรา ทั้งพวกเขา … และทุกคน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ