fbpx

Delusional Disorder: เพราะความจริง มันเจ็บกว่าคำลวง

จากข่าวชาวบ้านร้านตลาดล่าสุดอย่างเรื่อง ‘ไฮโซเก๊’ ที่ครอบครองความสนใจของชาว Social Media ในรอบสองถึงสามวันที่ผ่านมา แน่นอนว่า แม้สาระหลักของเนื้อข่าวจะไม่ได้เป็นอะไรนอกจากเรื่องราวที่ชวนสู่รู้ ชวนให้วิพากษ์วิจารณ์ และชวนให้พูดคุยกันอย่างสนุกปาก แต่กระนั้น ตัวผู้ต้องหาอย่าง ‘ไฮโซเก๊’ ก็มีจุดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะการ ‘โกหกแต่งเรื่องเป็นตุเป็นตะ’ จนเรื่องราวทั้งหลายมันเลยเถิดนั้น อาจจะมีลักษณะที่เข้าข่าย ‘โรคหลงผิด (Delusional Disorder)’ ก็เป็นได้

โรคหลงผิดหรือ Delusional Disorder นั้น เป็นภาวะทางจิตระดับร้ายแรง ที่ผู้ป่วยมีอาการหลงผิดไปจากความเป็นจริง อาจจะกินเวลายาวนานมากกว่าหนึ่งเดือน สภาพภายนอกอาจจะดูเป็นปกติ ไม่มีความแปลกประหลาดทางพฤติกรรม แต่มีความเข้าใจอย่างฝังหัวฝังใจ ที่ผิดไปจากสภาพที่เป็นจริง

โรคหลงผิดมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ไม่ว่าจะหลงผิดคิดว่าถูกปองร้าย หลงผิดคิดว่ามีความสามารถมากกว่าที่เป็นจริง หลงผิดเกี่ยวกับร่างกายตนเอง ไปจนถึงหลงผิดคิดว่าคู่รักของตนนอกใจ ทั้งนี้ อาการระแวงสงสัยหรือโรคหลงผิด แตกต่างกันตามหลักฐานเชิงประจักษ์ และสภาพที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งถ้าความคิดไม่ได้สัมพันธ์กับความจริง ก็จะถือว่าเป็นโรคหลงผิดได้

สาเหตุของโรคหลงผิดมีอยู่ด้วยกันหลายประการ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยในทางชีวภาพ ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมและจิตใจ ไปจนถึงปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่นการใช้ยาเสพติด สารกระตุ้น มึนเมาสุราและแอลกอฮอล์ เป็นต้น

การรักษาโรคหลงผิดนั้น จะเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้ยา และการพูดคุยกับนักจิตบำบัด ต่อเนื่องจนกว่าจะกลับมามีสภาพปกติ ดังนั้น การรักษา จึงต้องใช้ระยะเวลา ความเข้าใจ และความร่วมมือของผู้ป่วยเป็นหลักสำคัญ

เอาเข้าจริงๆ แล้ว กรณีของ ‘ไฮโซเก๊’ นั้น ก็อาจจะมองได้ถึงความเป็นโรคหลงผิดขั้นรุนแรง อันอาจจะเกิดจากการไม่สามารถยอมรับสภาพความเป็นจริงของตนเอง การปั้นแต่งเรื่องราวของตนเองให้ใหญ่โตเกินจริง การสมอ้างว่ารู้จักกับคนใหญ่คนโต ล้วนแล้วแต่เป็นภาพสะท้อนของความรู้สึกของการมีปมด้อยที่ตกค้างอยุ่ในใจแทบทั้งสิ้น

แต่ถ้ามองในเชิงสังคม เราอาจจะพบว่า ภาพจำที่เกิดจากข้อมูลใน Social Media ที่สะท้อนความหรูหรา ร่ำรวย และสมบูรณ์แบบอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจในตนเอง การพยายามที่จะ ‘เป็นในสิ่งที่ไม่ได้เป็น’ เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป หรือเพื่อให้ได้เข้าถึงทรัพยากรและการยอมรับทางสังคม

มันจึงใม่แปลกถ้าจะกล่าวว่า สังคมในปัจจุบัน มีปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการหลงผิดได้ง่าย และยิ่งกับสังคมที่ความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจถ่างกว้างออกไป ความพยายามที่จะไขว่คว้าถึงหนทางที่ง่าย ภาพลักษณ์ที่ดูดี จึงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

เพราะหลายครั้งทีเดียว สำหรับผู้ที่เป็นโรคหลงผิด อย่างเช่นไฮโซเก๊นั้น ‘ความจริง’ เกี่ยวกับตนเอง มันอาจจะเจ็บปวดเกินกว่าจะรับไหว มากเกินกว่าที่จะทำให้รุ้สึกอยากมีชีวิตอยู่ต่อ จนต้องปลอบประโลมด้วย ‘คำลวง’ เพื่อให้ชีวิตได้เดินหน้าต่อไป

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ