fbpx

จาก Chris Rock ถึง ‘โบโบ้’: วัฒนธรรม ‘Dark Joke’ กับประเด็นอันอ่อนไหวในสังคม

เมื่อพูดกันถึงสิ่งที่เป็น ‘เรื่องตลก’ แล้วนั้น จะมากหรือน้อย จะอยู่บนเวทีใหญ่ หรืออยู่ในวงสุราระหว่างเพื่อนฝูง มันมักจะมีขอบเขตของการ ‘ล้ำเส้น’ อยู่บ้าง ในบางระดับ เพราะโดยธรรมชาติ สิ่งที่ตลก มันคือการล้อเลียนหรือหยิบยกเอาความไม่ปกติของสิ่งที่อยู่รอบตัว ขึ้นมาบอกเล่าในมุมมอง ท่าที หรือน้ำเสียงที่ต่างออกไป กระทำเพื่อให้เกิดความบันเทิงใจ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เพื่อให้เป็นการปลอบใจ และรู้สึกว่าเรื่องเหล่านั้น มันไม่ได้เลวร้าย จนเกินไปนัก

แต่เมื่อมันมีขอบข่ายของการ ‘ล้ำเส้น’ มันจะมีเรื่องของ ‘กาลเทศะ’ มาเป็นตัวกำหนด ไม่ว่าจะสถานที่ เวลา หรือกลุ่มผู้ชม ซึ่งก็เป็นอีกหลายครั้ง ที่สองปัจจัย ไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน และก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ให้เกิดความเจ็บปวด และเกิดการกระทบกระทั่ง จนกลายเป็นประเด็นที่ต้องมานั่งทบทวนท่าทีกัน ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับเรื่องล่าสุดที่หยิบยกมาในครั้งนี้

มันเป็นชิ้นงานโฆษณาในหน้า Social Media มันเป็นวิดีโอความยาวไม่มาก มันเป็นเนื้อหาที่แอบล้อหยิกแกมหยอดกับเซเลบฯ สาวสายออกกำลังกาย ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และนำมาใช้ชื่อใหม่ว่า ‘โบโบ้’ …. ที่เธอมาสาธิตท่าออกกำลังกายในแต่ละอิริยาบถ ก่อนจะจบด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

ฟังดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไรใหญ่โตนัก ถ้าไม่ใช่ที่ว่า ในการอธิบายแต่ละท่วงท่า มันพ่วงมากับ ‘คำพูด’ ที่กระทบในความรู้สึก เช่น เดินอยู่กับที่ เหมือนชีวิตที่ไม่ก้าวไปไหนของตัวเอง, ก้มหน้าให้ชิด เหมือนเวลานั่งร้องไห้, นึกถึงความล้มเหลวที่ผ่านๆ มาของตัวเองเข้าไว้ เป็นต้น

ผู้เขียนเองก็ได้ดูโฆษณาชิ้นนี้ และยอมรับว่า แม้ไม่ได้รู้สึกว่ามันจะไป ‘Triggered’ หรือ ‘กระทบ’ ความรู้สึกของตัวเองอะไรมากนัก แต่ก็ยอมรับว่า มันเป็นโฆษณาที่มีน้ำเสียงที่ค่อนข้างแปลก และออกจะผิดที่ผิดทางอยู่ไม่น้อย เมื่อเทียบกับชิ้นงานที่ผ่านๆ มาของทีมงานที่ทำโฆษณาชิ้นนี้ และไม่เข้าใจว่า มันต้องการจะสื่อสารอะไร หรือส่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายไหน

แต่เสียงตอบรับจากกลุ่มผู้ชม ดูจะค่อนข้างรุนแรงอยู่ไม่น้อย

แม้ไม่รู้ในแง่ของจำนวน แต่ความแรงของการตอบกลับจากผู้ชมที่รู้สึกว่า ข้อความจากโฆษณานั้น กระทบ และไม่ถูกจริต จนถึงขั้นเลยเถิด น่าจะมากพอจนทำให้ทีมสร้างต้องออกแถลงการณ์ขออภัย และถอดโฆษณาชิ้นนี้ออกจาก Social Media ในทันที

(ซึ่งในแง่นี้ จะโทษทีมสร้างอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะมันน่าถามถึงเจ้าของผลิตภัณฑ์ด้วยว่า คิดอะไร ถึงยอม ‘ซื้อ’ ไอเดียพิสดารแบบนี้มาตั้งแต่แรก…)

อันที่จริง ถ้าจะมองโฆษณาของผลิตภัณฑ์ตัวนี้ และมุกตลกที่หลายคนไม่ค่อยจะตลกเท่าไรนี้ในแง่หนึ่ง มันก็คือสิ่งที่เรียกว่าตลกร้ายหรือ ‘Dark Joke’ ที่พบเห็นได้บ่อยบนเวทีเดี่ยวไมโครโฟนต่างประเทศหรือ Stand Up Comedy ที่หยิบยกเอาเรื่องพิกลพิการ เรื่องบ้าบอคอแตก จนถึงเรื่องที่เกือบจะเลยเถิดไปถึงการก้าวก่ายในสิทธิและสภาพของตัวบุคคลมาล้อเลียนเป็นเรื่องขำขันชวนหัว

ประเด็นคือ บนเวที Stand Up Comedy นั้น มันถูกถือเอาไว้อย่างมีนัย อย่างเป็นกาลเทศะ และอย่าง ‘สมยอม’ กันทั้งฝ่ายที่ซื้อตั๋วเข้าไปรับชม และผู้แสดง ว่าเวที คือพื้นที่ ‘เฉพาะกาล’ เป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ที่ผู้แสดง จะสามารถเล่นมุกตลกที่อาจจะมีแนวโน้มหมิ่นเหม่ได้

แต่ทั้งนี้ ผู้แสดงที่ดี ก็จะมีลูกล่อลูกชน มีลีลา และมีฝีมือมากพอที่จะทำให้ประเด็นอันเปราะบางและอ่อนไหว กลายเป็นเรื่องที่ชวนให้ยิ้มออก แม้แต่คนที่กำลังเป็นประเด็นถูกพูดถึงอยู่ก็ตาม

อย่างไรก็ดี การมาถึงของ Social Media มันเกือบจะละลายกาลเทศะเหล่านี้ทิ้งไปจนเกือบหมด จนเราเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า จังหวะไหน เราควรจะใจกว้างยอมรับมุกตลกเสียดสีและหัวเราะไปกับมัน หรือจังหวะไหน ที่เราควรจะส่งเสียงบอกว่า สิ่งเหล่านั้น มันล้ำเส้นจนเกินไปแล้ว….

สิ่งเหล่านี้ เป็นคำถามที่ยังคงดำเนินต่อไป และชวนให้เราขบคิดไม่น้อย เพราะไม่ว่าจะในกรณีที่เก่ามาปีกว่าๆ อย่าง Chris Rock บนเวทีออสการ์ จนถึง ‘โบโบ้’ บนหน้า Social Media แม้จะต่างกรรม ต่างวาระ แต่โดยเนื้อหา โดยประเด็น มันก็คือเรื่องที่ใกล้เคียงกัน …

‘และการหาจุดที่ลงตัวที่เหมาะสมที่สุดให้ได้นั้น ก็เพื่อเป็นประกันอย่างมั่นใจ ว่าครั้งต่อไป จะได้ไม่มีกรณีที่จะเผลอปล่อยให้ ‘โบโบ้สนุกอยู่คนเดียว’ เกิดขึ้นอีกก็เป็นได้…’

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ