fbpx

‘จับสังเกตให้ดี นี่คือ “สัญญาณอันตราย คนทำ ‘สื่อหลัก”

เรื่อง: อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์

ชั่วโมงนี้ ดูเหมือนว่าข่าวที่สะเทือนผู้คนในแวดวงสื่อที่สุด คงหนีไม่พ้น สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก เพื่อเลือกจะใช้ ‘A.I.’ มาทำเป็นเสียงอ่านข่าวสั้นต้นชั่วโมงแทน และมีการประเมินกันว่า จะช่วยประหยัดงบประมาณไปได้กว่า 11 ล้านบาท แน่นอนว่า ในมุมผู้ถือหุ้น อาจจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ในมุมของคนทำงาน และประชาชนทั่วไป นี่คือเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

เพราะมันคือ ‘สัญญาณอันตราย’ ของคนทำสื่อ ที่เริ่มจะเสียงดังฟังชัดขึ้นทุกขณะ และใกล้ตัวเข้ามาทุกทีๆ ….

ในฐานะที่อยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนมานาน ก็อยากจะแสดงทัศนะเกี่ยวกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น น่าจะเกิดขึ้น และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้น ที่ต้องจับตาดูให้ดีว่าจะเป็นอย่างไร

1.ค่าชดเชยพนักงาน: การเลิกจ้างพนักงานเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องธรรมดาของโลกแห่งการทำงาน และสิ่งที่ต้องเป็นวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดที่สุดสำหรับผู้ประกอบการคือ ‘ค่าชดเชยพนักงาน’ ในกรณีเลิกจ้าง (ที่พนักงานไม่ได้ลาออกเอง…) ที่ต้องเป็นธรรมตามกฎหมาย นี่คือสิ่งที่มีเขียนไว้ในเชิงทฤษฏี

แต่ในภาคปฏิบัติ หลายครั้งทีเดียวกับแวดวงสื่อ ที่มีการ ‘เท’ พนักงาน ค้างจ่ายค่าชดเชยด้วยเหตุผลทางด้านธุรกิจ ความจำเป็นทางด้านการเงิน และลากยาวเรื่อยมา ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว จำนวนพนักงานที่มีอยู่ในองค์กร สามารถตรวจสอบและคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเลิกจ้างได้ล่วงหน้า และสามารถกันเงินสำรองเอาไว้ในส่วนนี้ได้ โดยไม่กระทบกับภาคการดำเนินธุรกิจ การอ้างเหตุผลด้านความจำเป็นหรือผลประกอบการกำไรขาดทุน จึงเป็นเรื่องที่ฟังขึ้นได้ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว

2.ความน่าเชื่อถือ: ในสมัยกาลก่อนนั้น การที่สถานีข่าวจะทำข่าวชิ้นหนึ่ง จะต้องมีนักข่าวประจำสำนัก มีการซื้อข่าวจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น สำนักข่าวไทย มีการติดต่อขอใช้ภาพจากเอเจนซีหรือมีช่างภาพประจำสำนักที่ทำงานอยู่เป็นประจำพร้อมออกไปยังสนามข่าวเพื่อเก็บภาพส่งมาทำข่าวได้ทันท่วงที

แต่สิ่งเหล่านี้ เปลี่ยนไปตามเวลาที่ผ่านมา หลายครั้งทีเดียวที่สำนักข่าว หยิบเอาข่าวจากแหล่งอื่น เช่น สำนักข่าวพลเมือง มาใช้โดยไม่ขออนุญาต เปลี่ยนแก้คำอย่างละแห่งสองแห่ง แล้วขึ้นไปทั้งอย่างนั้น สร้างผลกระทบด้านความน่าเชื่อถือไปก็มาก และเมื่อจะมีการใช้ Generative A.I. มาใช้ในการทำข่าว ด้วยรูปแบบการทำข่าวที่เน้นความไวแต่ขาดซึ่งธรรมาภิบาลและกระบวนการที่ถูกต้องสุจริต เราจะยังสามารถเชื่อถือข่าวที่ออกมาได้แค่ไหน? เส้นแบ่งความถูกผิดทางวารสารศาสตร์จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างไร นี่คืออีกหนึ่งสัญญาณที่น่าสนใจไม่น้อย

3.การดำรงอยู่ของอาชีพสื่อ: เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อำนาจในการนำเสนอข่าวก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงสำนักข่าวใหญ่ๆ เพียงไม่กี่แห่งอย่างเช่นที่เคยเป็นมา เพราะ ‘ทุกคน’ สามารถเป็นผู้นำเสนอข่าวได้ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับความถูกต้อง การกลั่นกรอง และการนำเสนออย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่นับรวมรูปแบบการนำเสนอที่พร้อมจะเปลี่ยนไปตามเทรนด์แทบจะรายวัน วันหนึ่งเป็นบทความขนาดสั้น อีกวันเป็นวิดีโอ ต่อมากลายเป็นคลิปความยาวไม่มาก การปรับตัวของทั้งคนทำสื่อดั้งเดิม และคนทำสื่ออิสระสมัยใหม่ มีลักษณาการของการแข่งขันระหว่างกันที่สูงขึ้น นี่เป็นอีกสัญญาณที่ต้องพิจารณา ว่าแวดวงสื่อ จะดำเนินไปในทิศทางใด

ในส่วนต่อมาที่ผมอยากจะกล่าวถึงนั้นคือพนักงานองค์กรสื่อ ควรอ่านสัญญาณขององค์กรตัวเองอย่างไร

จริงๆ แล้ว การทำสื่อวิทยุโทรทัศน์ในรูปแบบเดิม ก่อนที่จะมีทีวีดิจิตอลและก่อนออนไลน์บูม ก็เริ่มสังเกตุเห็นความเสี่ยงมาบ้างแล้ว  ซึ่งทุกๆ สถานีโทรทัศน์ก็มีการปรับตัวกันบ้างแล้ว และปรับตัวกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ชัดเจนที่สุด แต่ดูเหมือนจะอ่านเกมส์พลาดไป คือ ช่องน้อยสีที่มองว่าการโกยทรัพยากรมาให้มากที่สุด แล้วทำสามช่อง คือ โอกาส ซึ่งที่ผ่านมาการที่มีจุดขายเดิม คือ การมีช่องทางของตัวเอง และรายการข่าวแบบคุยข่าวที่ขายได้ อาจจะไม่ใช่จุดแข็งในโลกยุคใหม่ เพราะข่าวทำนองนี้มีหลายแห่งที่ลอกวิธีการ ขณะที่ออนไลน์ก็ทำได้ในรสชาติใกล้เคียงกัน เช่น ข่าวสด หรือ อีจัน ฯลฯ ส่วนค่ายหมอชิตนั้น ในช่วงต้นของทีวิีดิจิตอลที่หลายคนกังขาเรื่องการประมูลแค่เพียง 1 ช่อง ของค่ายนี้แต่ช่วงที่หลายสถานีโทรทัศน์ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ช่องมากสีค่ายหมอชิตนี่แหละครับ คือ ตัวอย่างของการเลือกที่แม่น เพราะยังสามารถใช้ละครหลังข่าว มวย และกลยุทธ์เดิมในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ยังติดเครื่องรับโทรทัศน์แบบเดิมอย่างเหนียวแน่น ที่ยังรักษาอัตรากำไรได้งาม แต่ทว่ารายการกีฬา และรายการวาไรตี้นั้น เรียกได้ว่าหายไปเกือบหมด โดยรายการที่เข้ามาแทนที่ใหม่นั้น ทำได้ไม่แรงพอ

ทั้งนี้การลงสนามของทีวีสายคอนเทนท์ จากสถานีโทรทัศน์ค่ายอโศก ลาดพร้าว และปทุมธานี นั้น ต่างเริ่มต้นจากการมีจุดแข็ง คือ การทำคอนเท้นท์เอง ซึ่งเมื่อไม่ต้องง้อหรือติดขัดเรื่องเวลาค่าเช่า ก็ทำให้ผงาดในตลาดได้ไม่ยากนัก ซึ่งทางค่ายอโศกนั้นในทางกลยุทธ์ถือว่าโดดเด่น เพราะการทำละครที่เจาะกลุ่มเป้าหมายคนเมือง และขยายตลาดไปในต่างประเทศ โดยไม่ได้ยึดติดที่ช่องทาง คือการปรับตัวที่เร็ว แลไปได้ดี  ส่วนสถานีโทรทัศน์ค่ายลาดพร้าวก็ไม่ธรรมดา เพราะทันทีที่ปรับตัว ไม่มองตัวเองว่าเป็น Entertainment & Media โดยเปลี่ยนกลุ่มธุรกิจในตลาดเป็น Merchandise ความอุ้ยอ้ายของการมีค่าใช้จ่ายของสื่อในมือ ก็กลายเป็นการซื้อเวลาแบบเหมามาขายของ แน่นอนว่า ทั้งค่ายจากทางอโศก และทางลาดพร้าว อาจจะไม่ได้ MASS เหมือนสถานีโทรทัศน์ช่องน้อยสี และ สถานีโทรทัศน์ช่องมากสีเหมือนช่วงรุ่งๆ แต่ในทางธุรกิจ นั่นคือการปรับตัวในระดับองค์กร หรือ Corporate Strategy ที่สุดยอดมากๆ ส่วนค่ายสถานีโทรทัศน์ฝากฝั่งปทุมธานีนั้น การปรับตัวผู้เขียนมองว่ายังอยู่ ในระดับธุรกิจ  หรือ Business Level Strategy ซึ่งถือว่าในช่วงครึ่งแรกของสัมปทานทำได้ดีมากๆ เพราะต่อยอดรายการเกมส์โชว์ และ ซิทคอม ได้อยากหลากหลาย ที่สำคัญเกือบทุกรายการใช้ทรัพยากรภายในอย่างคุ้มค่า กับสตูดิอ 19 ยูนิต ซึ่งทำให้คุมค่าใช้จ่ายได้อยู่มัด ไม่ต้องรั่วไหล หรือ หลุดไปข้างนอกเลย จะจ่ายมากที่สุด คือ ค่าพิธีกร และ นักแสดง

สำหรับความสาหัสของการลงสนามใหญ่นั้น ค่ายสิ่งพิมพ์เดิม เช่น บางนา วิภาวดี หรือแม้แต่ฝั่งธนฯ ขอไม่เอ่ยย้อนหลังไปมากนัก เพราะต่างก็คงจะพอเห็นภาพว่าการกระโดดลงมาเล่นในสนามใหญ่นั้นไม่ง่าย และการที่ต้องปรับตัวมาทำโทรทัศน์เต็มตัว ในวันที่สิ่งพิมพ์เริ่มอัสดงนั้นสาหัสจริงๆ เพราะ แทนทีจะเป็นที่มั่นใหม่ แต่กลับกลายเป็นจุดเจ็บ หรือ สภาพกลับไม่ได้ไปไม่ถึงของบางสถานี ซึ่งบางค่ายกว่าจะนิ่งจนมาหวังเก็บเงินในรอบสุดท้ายของสัมปทานนั้นเรียกว่าหืดขึ้นคอ

เอาละครับ ช่วงครึ่งหลังของบทความนี้ ผมขอเขียนถึงการปรับตัวตามหลักการ 3 ระดับ ในทางเลือกกลยุทธ์ว่าแต่ละที่นั้นผมเห็นอะไรบ้างทั้ง ระดับองค์กร ( ที่มองเรื่องเป้าหมายและพันธกิจ แบบที่ลาดพร้าวหมุนตัวเองไปอีกโฟกัสเลย  ) ระดับธุรกิจ  ( แบบที่อโศกทำเรื่องนี้ในส่วนของ Differentiation และ Customer Centric )  และ ระดับปฏิบัติการ  ( แบบที่หลายๆ แห่งกำลัง โฟกัสเรื่อง Financial และ Human Resource )  ซึ่งที่จะเขียนต่อจากนี้ ก็หวังว่าคนในอาชีพ วิทยุโทรทัศน์ จะได้มองมาที่ตัวเองว่าจะปรับตัวอย่างไร กับอายุสัมปทานที่เหลือประมาณ 5 ปี  ซึ่งทีวีที่จะเหลือไม่กี่ช่อง คนจะต้องหายไปเยอะนั้น เราจะเป็นผู้ที่ถูกเลือกให้ไปต่อ หรือ ต้องเลือกที่จะออกไปก่อน ?

ช่องมากสี .. คือ องค์กรที่ผมสนใจเรื่องการปรับตัวมากที่สุด และ เห็นมาตลอดหลังจากที่นำบริษัทลูกมาทำข่าวหลังค่ำ และ ข่าวเช้า บนโครงสร้างที่เล็กกว่า ประหยัดกว่า จนสุดท้ายได้กลืนเข้ามาเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งประหยัดเงิน ไปได้มาก ขณะที่ช่วงหลังกลับมีรูปแบบการให้พื้นที่กับพันธมิตรใหม่ที่เข้ามาทำข่าวร่วมกัน พร้อมๆกับไม่มีการลงทุนในส่วนผู้ประกาศ หรือ คนข่าวหน้าจอที่มีชื่อเสียง ซึ่งถูกดึงไปจำนวนมากทั้งแบบข้ามรั้ว หรือ กระโดดไปอโศก  .. โดยส่วนตัวผมมองว่าช่องมากสี พร้อมหดตัวเอง มาตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อเกมส์ไม่ได้อยู่ในภาวะที่ได้เปรียบเหมือนสัมปทาน 6 ช่อง การนำทัพองค์กรที่ให้คนซีกแบงก์มาคุมบังเหียน จึงไม่ใช่แนวรุกรบแต่อย่างใด  ซึ่งไม่ผิด แต่ผมเชื่อว่าถ้ามองแบบมนุษย์การเงิน สัดส่วนกำไรที่น้อยลงมาก และโกยมามากพอแล้ว ลดขนาดตอนหมดสัมปทาน แล้วใช้บริษัทลูก  ออนไลน์  และคอนเทนท์ที่เหลือเก็บเกี่ยวเท่าที่ได้น่าจะพอแล้ว

ช่องน้อยสี .. ผมมองว่ายังอยากไปต่อ แต่ยังหาจุดได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ไม่ได้ เพราะ ข่าวที่แข็งในวันนี้ Eye ball อาจจะไม่ได้แค่ถูกแย่งจาก Me too Product เท่านั้น แต่ออนไลน์ยังมาแย่งไปอีก ซึ่งการที่เคยมีมือดีจากออนไลน์มานำทัพ ก็ไปได้ไม่ถึงฝั่งที่เจ้าของต้องการ  เช่นเดียวกับการดึงกระบี่มือทองของวงการโทรทัศน์กลับมาบริหารบ้านเก่า แต่กลายเป็นว่าก็ยังไม่เข้าตาอีก .. นี่คือคำถามว่าจะไปยังไงต่อ แต่ผมก็เชื่อว่าไปต่อนะ เพียงแต่ว่ายังมองทรงไม่ออกว่าจะไปแบบไหน

ช่องลาดพร้าว .. ประเมินจากการปรับตัวจากเฮียแล้ว ผมมองว่าน่าสนุกและสวิงสวายน่าติดตาม เพราะ ตอนเฮียปรับจากทำเพลง มาหนัง มาสร้างโมเดลศิลปินใหม่นั้น เรียกได้ว่าสุดยอด และยิ่งปรับองค์กรสื่อแบบทีวี มาเป็นร้านขายของบนทีวีเต็มตัวนั้น ถือว่าสุดมากๆ .. ซึ่งไม่ต้องถามถึงความทรนง หรือ ความระหงส์ในแบบสื่อ เพราะเฮียเคยให้สัมภาษณ์มาแล้วว่า สมัยที่แข่งกับอโศกหนักๆ  ทำสินค้าชน แบบเต๋าเจอมอส มีเจต้องมีทัช ก็ทำมาแล้ว ฉะนั้นลาดพร้าวยังไงก็ไปต่อ แต่ทว่าจะไปแบบไหนนั่นเอง

ช่องอโศก .. ไม่ต้องห่วงกับทีวีและซีรีส์ตระกูลวาย ยูริ หรือ เจาะคนเมืองแบบผนึกทุกสรรพกำลัง แบบ ครอสกันทั้งออนแอร์ ออนไลน์ และออนกราวน์บนเวที  ซึ่งผมเชื่อว่าคนทำงานที่นี่นั้น มีบุคลิกลักษณะแบบ Dynamic อยู่แล้ว คือ จะข่าวก็ไม่จ๋า จะเกมส์โชว์ก็ไม่ชัด แต่รวมๆ รัวๆ ออกมาแบบ Urban ซึ่งถ้าธุรกิจของที่นี่ยัง Diversify แบบนี้ คงไม่น่าจะมีใครหลุดมากนัก เพราะเข้าใจว่าลดไปจนแทบลดไม่ได้อีกแล้ว

สำหรับช่องอื่นๆ นั้น อาจจะติดตามไม่มากเลยไม่น่าจะเขียนได้ชัดมากนัก แต่ส่วนตัวยังมองไม่ออกว่า จะไปทางไหนกัน

ค่ายคุณหมอ ผมว่าท่านใจใหญ่มากๆ กับการยอมขาดทุน แต่มีคอนเทนท์ดีๆ ที่ได้รับการพูดถึงเยอะ ส่วนตัวผมมองว่าเสียดายที่ใช้ประโยชน์กับเครือข่ายโรงพยาบาล กับ สายการบินน้อยไปหน่อย ผมเคยเสนอแนะไปตั้งแต่เริ่มทำสถานีโทรทัศน์ว่า ถ้าเชื่อมกันดีๆ ..สามารถทำข่าวเป็น Center ในภูมิภาคได้เลย เพราะมี Base Station ครบทุกประเทศในอาเซียน .. ถ้าทำดีๆ มีรายการท่องเที่ยวที่แม้จะไม่กำไรมาก แต่ก็ได้ Benefit ไปที่ Airline โดยเน้นไปที่ Destination เมืองรองที่คุมอยู่ .. และถ้าเชื่อมกับการแพทย์ น่าจะแข็งไปกว่า Rama Channel ได้เลย สรุปเสียดายของที่มี แต่ไม่รู้จริงๆว่าจะไปต่อไหม ?

เดี๋ยวจะยาวไปกว่านี้ ขอสรุปสำหรับคนทำงานประมาณนี้ว่า

  • 1. ทุกองค์กรจะปรับเรื่องต้นทุน โดยไม่ลงทุนกับอุปกรณ์เดิมที่ไปต่อไม่ได้ ซึ่งถ้าบุคลากรที่มีใช้อย่างอื่นไม่เป็น ก็ไม่น่าจะได้ไปต่อด้วย ช่างภาพเดิมที่เคยถ่ายภาพ ดูตัวเองว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะได้อยู่ต่อ หรือ จะปรับไปเรียนรู้การใช้งานของกล้องเทคนิกใหม่ๆ หรือจะไปคุม Robot ให้เป็น ถามตัวเองว่าจะปรับหรือจะยอมไม่ไปต่อ
  • 2. อุปกรณ์เก่าๆ ทั้งหลายจะไม่ซื้อใหม่ และไม่ซ่อมให้ใช้ได้ยาวๆ พนักงานจะต้องทนปวดหัวกับของ ง่อยๆ รวมไปถึงรถราอย่าคิดว่าจะมีให้ใช้เหมือนเดิม เพราะคันที่ซื้อมา หรือสัญญาเช่า ก็อาจจะดึงไปให้ครบอีก 5 ปี  ย้ำว่า อย่าแก้ปัญหาด้วยการเขาของตัวเองมาใช้เด็ดขาด
  • 3. ทุกองค์กรจะคิดเรื่องคนหลายระดับ การลดจำนวนเป็นชุดๆ ยังมาอีกเรื่อยๆ และการลดคนแบบเฉพาะเจาะจงจะมีให้เห็น เพราะอายุงานบางคนอาจจะถึงขั้นต้องจ่ายหนัก ถ้าปล่อยให้ไปถึงวันเลิกกิจการ ฉะนั้นถ้าบริษัทตัดได้จะตัดเลย ซึ่งไม่ผิดนะครับ ถ้าบริษัทจ่าย
  • 4. พนักงานบางส่วนจะถูกแทนที่ด้วย ฟรีแลนซ์ เพราะถ้ารับมาเพิ่มแล้วเลิก ต้องจ่ายค่าชดเชย ที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงนั้นเร็วมาก จนองค์กรไม่รู้ว่าใครจะทำในสิ่งที่เปลี่ยนไปได้ไหม ฉะนั้นองค์กรจะเซฟ ด้วยฟรีแลนซ์
  • 5. ขณะที่พวกดารา ศิลปิน พิธีกรที่ค่าตัวสูง จะถูกแซม หรือแทนที่ด้วยพนักงานประจำ หรือ กลุ่มจ้างเหมา ที่ค่าตัวถูกกว่ามากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ช่อง เรื่องนี้บางคนเป็นโอกาส แต่ทว่าต้องดูด้วยว่าการถูกมอบหมายให้ทำงานเพิ่มนั้นควรต้องมีรายได้เพิ่มที่สมน้ำสมเนื้อด้วย
  • 6. งานข่าว งานเขียนบท งานกราฟฟิก และอีกหลายงานทั้งหลายทั้งปวงจะถูกแทนที่ด้วย Automate/ A.I. และอะไรอีกมากมาย … ซึ่งหลายที่มีสตูดิโอที่คุมด้วยคนเพียงคนเดียวแล้ว ผู้ประกาศหรืออินฟลู A.I. ก็มีแล้ว .. อื่นๆ คงมาอีกเพียบ  ที่เขียนมาทั้งหมด เริ่มแรกอยากจะใช้ชื่อองค์กรจริงๆ ชัดๆ แล้วใส่เชิงอรรถที่มา แต่ต้องขออภัยผู้อ่าน ที่ผมเวลาไม่พอที่จะทำให้งานเขียนแน่นหนาแบบนั้น แต่คิดว่าน่าจะพอเป็นประโยชน์สำหรับคนใน และนอกวงการครับ
Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ