fbpx

Dancing with a Baker นวัตกรรมขนมปังแห่งแรกของไทย แบรนด์อารมณ์ดี คู่ใจสายรักสุขภาพ

เมื่อพูดถึงอาหารสุขภาพ ก็มักจะเจออาหารที่ไม่ค่อยคุ้นลิ้นสักเท่าไร ยิ่งถ้าเป็นสายคาร์บเลิฟเวอร์แต่เซย์โนความอ้วน จะมองหาขนมปังที่ต้องอร่อยและเป็นมิตรกับสุขภาพ หรือถ้าเป็นสายคีโต หรือแพ้กลูเตน การจะได้กินขนมปังสักชิ้นคงลืมไปได้เลย

สารพัดความต้องการของคนโหยขนมปังมีหลากหลาย แต่เชื่อไหมว่ากลับมีขนมปังแบรนด์ไทยที่สามารถตอบโจทย์นี้ได้หมด จบทั้งเทสตี้ (Tasty : รสชาติ) และ เฮลธ์ตี้ (Healthy : สุขภาพ) กับ ‘Dancing with a Baker’ แบรนด์ขนมปังไร้แป้ง ไร้น้ำตาล จากการริเริ่มของ ตรัย สัสตวัฒนา และ พีรดา ศุภรพันธ์ คู่รักอดีตที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่จับพลัดจับผลูหยิบจับงานอดิเรกและประสบการณ์การลดน้ำหนักของตัวเอง มาครีเอทขนมปังสูตรเฉพาะนี้ และกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์

ชีวิต 130 กิโลกรัม ที่มาของการคิดค้นสูตรขนมปังไร้แป้ง ไร้น้ำตาล

ที่มาของชื่อแบรนด์แสนน่ารักนี้ เกิดจากไอเดียของ ‘ตรัย’ หนุ่มอารมณ์ดี อดีตเจ้าของน้ำหนัก 130 กิโลกรัม ในยามที่วานภรรยาช่วยหยิบวัตถุดิบขณะที่เขาทำอาหาร ความที่ภรรยาไม่ค่อยได้เข้าครัว ไม่รู้ว่าของเก็บไว้ตรงไหน กิริยาก็จะเหมือนหมุนตัวเต้นรำอยู่กลางครัว ทำให้ตรัยผุดคำว่าDancing with a Baker ที่กลายมาเป็นชื่อแบรนด์ในเวลาต่อมา

Dancing with a Baker เกิดจากประสบการณ์ตรงของตรัย ในความพยายามที่จะลดน้ำหนักเมื่อ 3 ปีก่อน ช่วงที่เขายังเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ด้วยความที่เป็นคนระบายความเครียดด้วยการกิน ทำให้ในตอนนั้นถึงจุดที่กินไม่รู้ตัวและนอนอยู่บนเตียงโดยไม่ทำอะไรเลย จนวันหนึ่งภรรยาบอกออกมาว่า ‘เธอไม่ใช่คนที่ฉันเลือก เพื่อมาแต่งงานด้วย’ (หมายถึงคนหมดอาลัยตายอยาก) ด้วยประโยคนั้นทำให้ตรัยฉุกคิดและลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ประกอบกับความเป็นนักอ่าน นักค้นคว้า เมื่อตั้งใจทำเรื่องใดก็จะศึกษาอย่างจริงจัง ปฏิบัติการลดน้ำหนักของเขาจึงลองทุกสารพัดวิธี

“ผมอ่านเจองานวิจัยว่ามีวิธีการลดน้ำหนักแบบคีโต ที่ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมาก ผมก็ลองทำอาหารและขนมปังกินเองจากวัตถุดิบไม่กี่อย่าง เรียกว่าใช้ตัวเองเป็นหนูทดลอง และส่วนหนึ่งการทำอาหารสำหรับผมเหมือนเป็นการบำบัดช่วยคลายเครียดไปด้วย”

จากการทดลองหลากหลายวิธี ส่งผลให้น้ำหนักหายไป 30 กิโลกรัม ภายใน 3 เดือน สุขภาพค่อยๆ ดีขึ้น ระหว่างนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาสูตรขนมปังและนำมาใช้กับตัวเอง โดยปรึกษาสูตรและเทคนิคต่างๆ จากคุณแม่บ้างเป็นครั้งคราว

“ผมเป็นคนชอบเข้าครัว แต่ไม่ได้จบด้านอาหารมาโดยตรง เพียงแต่ผมโชคดีที่คุณแม่เคยเปิดร้านเบเกอรี่มาก่อน ตอนที่น้ำหนักลดได้เยอะระดับหนึ่ง ผมรู้สึกว่าอยากแบ่งปันขนมปังที่ตัวเองคิดค้นขึ้นมา เพราะเชื่อว่ายังมีคนที่ทรมานเหมือนเราอยู่ หลังๆ ภรรยาบอกผม อารมณ์เหมือนในหนังเลยว่า ‘เธอ…ขายบ้างเถอะ อย่าเอาแต่แจกเลย’..”

จากงานหลังครัวสู่ธุรกิจ ที่มาได้ถูกจังหวะ ถูกเวลา

จากงานอดิเรกกลายมาเป็นธุรกิจสร้างรายได้บอกเลยว่าไม่ง่าย แต่ต้องยอมรับว่า Dancing with a Baker มาได้ถูกจังหวะเวลา ในช่วงที่กระแสคีโตเจนิค (Ketogenic Diet) คลีนฟู้ด และโลว์คาร์บ กำลังมาแรง ในขณะนั้นขนมปังประเภทนี้ถือว่ายังไม่มีมากนักในท้องตลาด เกิดการบอกต่อในโลกโซเชียลอย่างรวดเร็ว ทำให้มียอดสั่งซื้อเต็มล่วงหน้าเป็นเดือน เนื่องจากช่วงแรกผลิตได้แค่วันละ 4 ชิ้นเท่านั้น

“การเปลี่ยนจากงานอดิเรกมาเป็นธุรกิจ มีความเข้มข้นต่างกัน เกิดคำถามในใจตลอดว่าผมไม่ใช่เชฟ จะว่าเริ่มจากติดลบก็ได้ และที่ผ่านมาจากการทำงานเป็นที่ปรึกษา พอเปลี่ยนมาเป็นผู้ผลิต เรียกว่าคนละโลก ทุกอย่างไม่ได้ง่าย..แต่ก็ไม่ได้ยากซะทีเดียว” ตรัยย้อนถึงความท้าทายเมื่อครั้งตัดสินใจนำขนมปังของเขามาทำเป็นธุรกิจ

กว่า 2 ปี ของการริเริ่มแบรนด์ Dancing with a Baker แต่ถ้านับเวลาศึกษาและวิจัยด้วยรวมเวลา 3 ปีกว่า เมื่อมาถึงเวลาอัพสเกล ความท้าทายของธุรกิจอาหารคงไม่พ้นการรักษาคุณภาพและมาตรฐาน นับรวมถึงงานบริหารหน้าบ้านในการสื่อสารกับลูกค้า เพราะถึงแม้ Dancing with a Baker จะมีผลิตภัณฑ์ไม่ถึง 20 ตัว แต่สำหรับตลาดสายสุขภาพที่ราคาสินค้าสูงกว่าขนมปังปกติ บวกกับพฤติกรรมลูกค้าสายสุขภาพที่ชอบค้นคว้าหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ ตรัยจึงมองว่าแบรนด์ต้องให้เวลากับลูกค้ามากที่สุด โดยมีทีมขายให้บริการข้อมูลลูกค้า 3 คน ตลอด 24 ชั่วโมง

“เราเต็มใจและพร้อมตอบทั้งร้อยคำถาม ให้ลูกค้ารู้สึกมีความสุขที่สุดและได้รับคำตอบที่ชัดเจนที่สุดก่อนที่เขาจะซื้อ เราให้ข้อมูลในเชิงแนะนำไลฟ์สไตล์การกิน บางคนคุยกันเป็นวัน ถึงลูกค้าจะยังไม่พร้อมเริ่ม Life Cycle แบบนี้ เราก็ยินดีให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพราะคิดว่าไลฟ์สไตล์การกินที่เหมาะกับชีวิตแต่ละคน เป็นสิ่งที่พวกเขามีสิทธิ์ที่จะเลือก”

รสชาติต้องดี สุขภาพต้องได้ เป็นคู่คิดการใช้ชีวิตที่พวกเขาเลือก

“ถ้าโฟกัสอยู่แค่เฮลตี้อย่างเดียว ในตลาดอาหารสุขภาพเยอะมาก แต่ถ้าดีไซน์คำว่า ‘เทสตี้’ รวมไปด้วย จะเหลือตัวเลือกน้อยลงไปเลย คือผมเคยเป็นเด็กอ้วน ถ้าอะไรไม่อร่อยผมจะไม่กลับไปกินซ้ำ จึงเอารสชาติมาเป็นตัวนำด้วย ที่ตามมาคือราคา ส่วนประกอบ ความรู้สึกและประสบการณ์” ผู้ก่อตั้งหนุ่มเผยถึงแนวคิดในการดีไซน์ขนมปังของเขา ที่นอกจากจะรสชาติดีแล้วยังคุณประโยชน์มากกว่า เมื่อเทียบกับขนมปังปกติ คือ คาร์โบไฮเดรตต่ำกว่า 5 เท่า โปรตีนสูงกว่า 4 เท่า และไฟเบอร์สูงกว่า 10 เท่า

ยกระดับนวัตกรรมขนมปังไร้แป้ง ไร้น้ำตาล ไร้กลูเตน แห่งแรกในไทย

ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี Dancing with a Baker ผลิตขนมปังไม่ต่ำกว่าวันละ 300-400 ออร์เดอร์ สร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ และแตกไปอีก 2 แบรนด์ (คาเฟ่และพิซซ่า) การเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งเพราะความโดดเด่นด้านนวัตกรรมอาหารในการคิดค้นวัตถุดิบมาผลิตขนมปังตั้งแต่ชุดแรกและไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาสูตรอยู่ตลอดเวลา

จนถึงปัจจุบัน Dancing with a Baker สามารถคิดค้นนวัตกรรมขนมปังที่ไม่เคยมีมาก่อนในไทยและเอเชีย จากทุนสนับสนุนของโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น ในโครงการผลิตภัณฑ์วาฟเฟิลไร้แป้งสาลี น้ำตาลทราย และกลูเตน โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนำวัตถุดิบชนิดนี้มาตั้งชื่อแสนน่าเอ็นดูว่า ‘ปังปังกลูเตนฟรี’

“เวลานึกถึงขนมปังจะนึกถึงวัตถุดิบที่เป็นแป้งสาลี แต่แบรนด์ของเราใช้คำว่า ‘ขนมปังไร้แป้ง’ เพราะไม่ใช้แป้งสาลี แต่นำวัตถุดิบอื่นๆ มาผสมผสาน จนถึงปัจจุบันเป็นอีกขั้นหนึ่งของการโมดิฟายพาวเดอร์ โดยนำแป้งมาแปรสภาพทางกายภาพให้กลายเป็นแป้งที่ใช้งานได้ง่ายขึ้น ดีขึ้นและทรงคุณค่าทางอาหารมากขึ้น”

“จากตอนแรกเป็นแค่งานอดิเรก แต่ตอนนี้กล้าพูดได้เต็มปากว่า นี่คือแบรนด์ที่สร้างนวัตกรรมอาหารอย่างสมบูรณ์ พวกเรามีแล็บพัฒนาวัตถุดิบอยู่ในสวทช. ถือว่าจริงจังกับตรงนี้ค่อนข้างมาก” พีรดา อีกหนึ่งคู่หูแบรนด์ กล่าวเสริม

เด่นที่ ‘นวัตกรรม’ ชนะใจที่ ‘บริการ’ จนต้องกลับมาซื้อซ้ำ

ถึง Dancing with a Baker มีจุดแข็งผลิตภัณฑ์เรื่องนวัตกรรมไม่เหมือนใคร แต่ตรัยกลับบอกว่าอีกปัจจัยครองใจลูกค้าจนเกิดการซื้อซ้ำ คือ เรื่อง ‘บริการ’ และ ‘รสชาติ’ โดยมีเบื้องหลังทีมบริการลูกค้าเป็น อดีตแอร์โฮสเตสที่ล้วนแล้วแต่เป็นพรรคพวกคนรู้จัก เพราะโดนพิษโควิด-19 เล่นงานทั้งนั้น

“ที่ผ่านมามีเสียงจากลูกค้าตลอดว่า แบรนด์ของคุณขายขนมปังแต่ได้รับบริการระดับ 5 ดาว ซึ่งสำหรับผม ลูกค้าทุกคนก็เหมือนกับลูกค้าเฟิร์สคลาส-บิสิเนสคลาส ลูกค้าบางคนบอกว่าอยากซื้อขนมปังให้คุณพ่อ แอดมินของเราจะคุยกับลูกค้าท่านนั้นเหมือนคุยกับญาติผู้ใหญ่ ถามถึงคุณพ่อว่าชอบแบบไหน แพ้อะไรหรือเปล่า เพื่อจะได้แนะนำอาหารได้ถูกต้องเหมาะสม” ผู้บริหารหนุ่มอธิบายให้เห็นภาพการทำงานของทีมให้ข้อมูลลูกค้า

อีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ ‘ราคาที่เหมาะสม’ ก็เป็นสิ่งที่สร้างความต่อเนื่องและการซื้อซ้ำด้วย ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคจะคิดเยอะกว่าปกติ Dancing with a Baker จึงเน้นดีไซน์ขนาดขนมปังและราคาให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับกับผลิตภัณฑ์เซกเมนต์เดียวกัน

“ในตลาดขนมปังประเภทนี้จะมีตั้งแต่ 80-300 บาท ซึ่งผมพยายามทำราคาให้ใกล้เคียงกับตลาดมากที่สุด โดยเน้นการจัดการหลังบ้านแทน เพราะรู้อยู่แล้วว่าถ้าขายราคาสูงมาก ภาระจะไปตกอยู่กับลูกค้าซึ่งเราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น”

“ผมใช้วิธีที่เรียนสมัย MBA ที่จุฬาฯ คือการบริหาร ‘ความคุ้มค่า’ และ ‘เวลาในการตัดสินใจซื้อ’ สินค้าของเราจะมีขนาดใหญ่กว่าเมื่อวางเทียบบนชั้นวางสินค้าในไลน์เดียวกัน ที่ตั้งใจทำแบบนั้นเพื่อลดเวลาในการตัดสินใจซื้อของลูกค้า และในหนึ่งชิ้นสามารถแบ่งทานได้หลายมื้อ ก็คุ้มค่าที่จะจ่าย”

ภูมิใจที่ได้ช่วยให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงชีวิตดีขึ้น

ปัจจุบัน Dancing with a Baker ส่งขนมปังให้กับร้านค้าสุขภาพกว่า 150 ร้านค้าทั่วประเทศ และจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของแบรนด์ โดยมีขนมปังทั้งแบบคาร์โบไฮเดรตต่ำ-น้ำตาลต่ำ และแบบไร้แป้ง ไร้น้ำตาล ไร้กลูเตน  รวมถึงเพิ่งพัฒนาแป้งตัวใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างครัวซองต์ และเปิดแบรนด์ใหม่ ‘Bambina Pizza’ พิซซ่าไร้แป้ง ไร้น้ำตาล

ทั้งหมดเกิดขึ้นแบบตั้งตัวไม่ติดในเวลาเพียง 2 ปีกว่าเท่านั้น แต่มากกว่าความสำเร็จในแบรนด์ที่ปลุกปั้นมากับมือ  คือ ความภูมิใจที่ได้ช่วยให้ผู้คนได้เลือกวิถีการกินที่พวกเขาต้องการ ได้กินอาหารสุขภาพโดยไม่ต้องทรมานตัวเอง

“ผมเชื่อว่าการทำอะไรใหม่ๆ สักอย่าง ทุกคนจะมีจุดที่รู้สึกว่าท้อ ไปต่อไม่ไหวแล้ว แต่ไม่น่าเชื่อว่า ในวันที่ผมจะหยุด มีลูกค้าขอบคุณเรา ขอบคุณที่ทำอาหารแบบนี้ให้พ่อของเขาที่เป็นเบาหวานและไม่ได้ทานขนมปังเป็น 10 ปีแล้ว โทรมาก็ร้องไห้ไปด้วย”

“สุดท้ายกลับมามองตัวเองว่า อยากทำสิ่งนี้เพื่ออะไร? วันที่สร้างแบรนด์ คือ อยากสร้างอาหารที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้ ให้คนอื่นกลับมาใช้ชีวิต หรือได้กินอาหารในแบบที่ต้องการได้ และทุกคนเห็นคุณค่าด้วยการกลับมาสนับสนุนสินค้าของเรา นี่จึงเป็นจุดที่รู้สึกว่า ‘เราหยุดไม่ได้’ ตรัยเผยถึงความภูมิใจที่เป็นจุดพลิกในวันที่เขาท้อ

เปิดคาเฟ่ สร้างประสบการณ์ออฟไลน์ สวนกระแสโควิด

เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ Dancing with a Baker ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภครัดเข็มขัดมากขึ้น ถึงลูกค้าจะไม่ได้หายไป แต่ยอดสั่งซื้อต่อบิลย่อมลดลง การปรับตัวในวิกฤตนี้นอกจากการดิ้นรนในช่องทางการจัดจำหน่ายแล้ว ทางแบรนด์ยังดีไซน์ขนาดของสินค้าเพื่อให้จับต้องได้ง่ายขึ้น

“เรารู้ดีว่าตอนนี้ทุกคนกำลังใช้จ่ายอย่างมีสติ การซื้อขนมปังหนึ่งชิ้นในราคา 200 บาท อาจเป็นภาระสำหรับเขา เราเลยพยายามดีไซน์ที่จะกิน 1 มื้อต่อ 1 ชิ้นพอดี ซึ่งการทำราคาให้ได้ต่อชิ้น 32 บาท ถือว่าใกล้เคียงกับขนมปังปกติในระดับหนึ่ง” พีรดาเสริม

นอกจากขยายช่องทางจำหน่ายและออกโปรโมชั่นแล้ว แต่ที่กล้าสวนกระแสยิ่งกว่าในช่วงเวลาที่ธุรกิจส่วนใหญ่มองว่า ‘ออนไลน์คือทางรอด’ คือการบุกตลาดออฟไลน์กับการเปิดคาเฟ่ของตัวเอง ที่ชื่อว่า ‘Morning with a Baker’

“เชื่อว่าวันหนึ่งโควิด-19 ต้องหายไป ผู้คนยังคงต้องบริโภคอยู่ การเปิดคาเฟ่ Morning with a Baker นอกจากเป็นการสร้างประสบการณ์การกินแล้ว ยังเป็นทางเลือกหนึ่งให้ลูกค้าได้เพลิดเพลินกับเมนูจากแบรนด์ต่างๆ ของเราด้วย” พีรดาชี้ให้เห็นเหตุผลในการตัดสินใจเปิดคาเฟ่เวลานี้

แม้แต่โลเคชั่นที่เลือกก็คิดมาแล้วว่าง่ายต่อการเดินทางของกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยวิเคราะห์จากฐานข้อมูลลูกค้าที่มีทั้งหมดของแบรนด์ ซึ่งพบว่าพื้นที่ที่มีการสั่งซื้อมากที่สุดอยู่ที่อารีย์และสามเสน จึงมองว่าย่านประดิพัทธ์เหมาะที่สุด เพราะอยู่กึ่งกลางระหว่างสองทำเลนี้

ผู้บริหารสาวคนเดิมกล่าว “2 ปีที่ผ่านมานั้น มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ทุกคนก็แปลกใจว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร งงกับการขายขนมปังออนไลน์ในช่วงแรก แม้จะมียอดถูกใจออร์แกนิคอยู่ 4 หมื่นกว่าคนในโซเชียลของแบรนด์ แต่คนกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่ Follow เฉยๆ แต่คือกลุ่มเป้าหมายที่ซื้อสินค้าของเราจริงๆ”

ถือเป็นแบรนด์นวัตกรรมขนมปังไทยที่มาไกลกว่าที่คิด ลองคิดดูว่าถ้าโควิด-19 จากไป แบรนด์เล็กๆ ขวัญใจคนลดน้ำหนักและคนรักสุขภาพนี้จะไปถึงจุดไหน และจะคิดค้นเมนูอะไรออกมาประเทืองกระเพาะอีก…

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ