fbpx

Cyanide: ต้นกำเนิด และเส้นทางสายอันตรายของพิษร้ายกลิ่นอัลมอนด์

หลังจากข่าวชวนช็อคของการฆาตกรรมโดยหญิงสาวต่อวงแชร์ที่ลุกลามกลายเป็นการฆาตกรรมต่อเนื่องเลือดเย็นนั้น ชื่อของยาพิษอย่าง ‘ไซยาไนด์’ ก็เริ่มกลับเข้ามาสู่ความสนใจของสังคมอีกครั้ง แน่นอนว่า สารพิษชนิดนี้ ถูกกล่าวถึง และมีตัวตนอยู่ในโลกอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีทั้งคุณประโยชน์ และโทษที่ร้ายแรงอย่างมหาศาล และอาจจะเป็นหนึ่งในสารเคมีที่มีความสลับซับซ้อนสูงลำดับต้นๆ ในผลิตภัณฑ์ทางเคมีอันตรายเลยก็เป็นได้

//สภาพของไซยาไนด์//

โดยพื้นฐานแล้ว ไซยาไนด์ จะอยู่ในรูปแบบทางกายภาพเป็นของเหลวหรือ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ มีลักษณะใส ไม่มีสี มีกลิ่นที่มีลักษณะเฉพาะตัวคล้ายอัลมอนด์ขม (Bitter Almond) และสามารถระเหยกลายเป็นไอได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีลักษณะทางกายภาพที่เป็นของแข็งอย่าง โซเดียมไซยาไนด์ และ โพแทสเซียมไซยาไนด์ หรือที่เรียกกันว่า ‘เกลือไซยาไนด์’ มีรูปแบบเป็นเกล็ดสีขาว และสามารถระเหยกลายเป็นไอได้ง่ายที่อุณหภูมิห้องเช่นเดียวกัน

//อันตรายของไซยาไนด์//

ไซยาไนด์จัดเป็นสารเคมีระดับอันตรายร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิต และสามารถใช้สังหารบุคคลได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะด้วยการสูดดม การดื่ม หรือการกิน แม้แต่การสัมผัสกับเกลือไซยาไนด์ก็ส่งผลที่เป็นพิษได้อย่างมหันต์ การสังหารคนด้วยไซยาไนด์จากการกิน ถ้าหากเป็นสภาวะที่ท้องว่าง เวลาในการออกฤทธิ์จะนับเป็น ‘วินาที’ ก่อนการเสียชีวิต แต่ถ้ามีอาหารอยู่เต็มกระเพาะ จะสามารถหน่วงเวลาการออกฤทธิ์ได้นับชั่วโมง แต่ถ้าหากเป็นการสูดดม จะสามารถสังหารคนได้ภายในไม่กี่วินาที

กลไกการทำงานของไซยาไนด์ จะเข้าไปทำปฏิกิริยาภายในเซลล์ ไม่ให้เซลล์สามรถใช้ออกซิเจน ส่งผลต่อระบบประสาท สมอง ทำให้อาการก่อนการเสียชีวิตของผู้ถูกสารไซยาไนด์นั้น จะหายใจติดขัด ชัก หมดสติ แขนขาไร้เรี่ยวแรง และเสียชีวิตในที่สุด

ทั้งนี้ ความเข้มข้นของการสูดดมไซยาไนด์มีผลกับความเร็วในการสังหาร เช่น ไซยาไนด์ขนาด 300 มิลลิกรัม สามารถสังหารคนในห้องขนาด 1 ตารางเมตรได้ใน ‘ทันที’ แต่ถ้าลดขนาดลงมาครึ่งหนึ่ง จะหน่วงเวลาได้ประมาณครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างมาก หรือแม้แต่การสูดนมในปริมาณเพียงเล็กน้อย แม้ไม่ทำให้ถึงตาย แต่ก็ส่งผลร้ายต่อร่างกายในระยะยาว

//ไซยาไนด์ที่พบเจอในแหล่งต่างๆ//

แม้จะเป็นสารพิษที่เป็นอันตราย แต่ไซยาไนด์ ก็เป็นหนึ่งในสารเคมีที่สามารถพบเจอได้ ทั้งจากทางธรรมชาติ และในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ถูกใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น

  • -ในหัวและใบของมันสำปะหลังดิบ เป็นสาเหตุที่ต้องมีการแปรรูปให้ปลอดภัยก่อนการรับปะทาน
  • -ในอุตสาหกรรมโลหะ พลาสติก และยางในรูปของสารประกอบขึ้นรูปต่างๆ
  • -ในอุตสาหกรรมยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช
  • -ในอุตสาหกรรมเมลามีน
  • -ในอุตสาหกรรมขัดเงาโลหะ ย้อมสี ถ่ายภาพในสมัยก่อน
  • -และในอุตสาหกรรมผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

//การปฐมพยาบาล//

ส่วนมากแล้ว ผู้ที่ถูกพิษของไซยาไนด์ มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุแทบจะทันที แต่ถ้าหากอยู่ในระยะที่ยังออกฤทธิ์ไม่มาก สามารถช่วยปฐมพยาบาลได้ แต่ผู้ปฐมพยาบาล ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและต้องทำด้วย ‘ความเร็ว’ เป็นอย่างสูง เพราะทุกวินาที หมายถึงชีวิตที่ค่อยๆ ดับลง ดังนี้

-ถ้าเป็นสถานการณ์ที่สารพิษรั่วไหล ควรรีบช่วยเหลือผู้ป่วยให้ออกจากสถานที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด ไปอยู่ในที่อากาศถ่ายเท ถอดเสื้อผ้า ล้างน้ำเปล่า ใส่ท่อช่วยหายใจหรือออกซิเจนเสริม

-ถ้าผู้ป่วยกินสารพิษไซยาไนด์เข้าไป ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้องโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ

-ผู้ช่วยเหลือหรือผู้ปฐมพยาบาล ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกพิษของสารไซยาไนด์ ทั้งจากการสัมผัส หรือจากลมหายใจของผู้ป่วยเป็นอันขาด

จะเห็นว่า แม้จะเป็นสารพิษที่อันตรายร้ายแรงอย่างถึงที่สุด แต่กลับเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ง่ายและใกล้ตัวเรามากที่สุดอีกชนิดหนึ่ง การใช้งานอย่างระมัดระวัง และการรู้เท่าทันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะพิษร้ายชนิดนี้ มันสามารถมาได้ในหลายรูปแบบ และสามารถดับลมหายใจได้ภายในไม่กี่วินาทีหากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเพียงพอ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ