fbpx

นุวีร์ เลิศบรรณพงษ์ CREATIVITY IS MY WEAPON

สำหรับคนอื่นๆ สรรพเสียงรอบตัวในเมืองใหญ่นั้น คือสิ่งรบกวนจิตใจ สร้างความรำคาญ และทำลายความสงบ แต่สำหรับ นุวีร์ เลิศบรรณพงษ์ เขาฟังมันอย่างรื่นรมย์ สงบสุข และนำมาเป็นแรงบันดาลใจมากมายในการทำงานครีเอทีฟโฆษณา เขียนหนังสือไลฟ์สไตล์ รวมถึงการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย งานหลักของเขา ในฐานะของ Head of Invention แห่ง Mindshare Worldwide (WPP Group) เขาคือคนที่ต้องทำงานอยู่กับสื่อใหม่ สื่อดิจิทัล โซเชียลมีเดีย เอาต์ดอร์ รวมถึงสื่อทุกอย่างที่จะถูกนำมาใช้เป็นแอมเบียนต์รอบๆ ตัวเรา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ แอมเบียนต์มีเดียพวกนี้แหละ!! ที่มีความสำคัญขึ้นมา และเขาพบว่าความรักในสรรพเสียงอันวุ่นวายรอบตัวนั้น ทำให้เขาเกิดไอเดียเจ๋งๆ มากมาย

•  ทุกๆ ปี เขาต้องปลีกวิเวกไปหาแรงบันดาลใจ ไม่ใช่การเดินธุดงค์เข้าป่าเพื่อแสวงหาจิตวิญญาณภายใน แต่เขาไปนิวยอร์ก เพื่อรับฟังสรรพเสียงแปลกใหม่จากโลกภายนอก

•  เสียงแตร เสียงรถตำรวจ เสียงวณิพกข้างถนน รวมถึงความแออัดจอแจของผู้คน สำหรับนุวีร์ เขาบอกว่าน่าสนใจไม่แพ้เสียงหยดน้ำเล็กๆ กลางป่าใหญ่

• เขามีความเป็นนักเขียน พอๆ กับเป็นครีเอทีฟ เขาเชี่ยวชาญด้านสื่อ ทั้งในฐานะของมีเดียเอเจนซี่ และในฐานะที่เคยทำงานด้านคอนเทนต์ร่วมกับ GM เมื่อหลายปีก่อน

•  นี่คือความน่าสนใจในตัวเขา ที่ทำให้เขามองสถานการณ์สื่อและวงการโฆษณาได้ทั้งกว้างและลึก

•  วันนี้ GM นัดพบเขาอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้พบเจอกันนานหลายปี เมื่อเขาได้ก้าวไปเติบใหญ่อยู่ทางฟากฝั่งโน้น

•  เราชวนกันคุย เพื่อให้เขามองย้อนกลับมา และมองไปข้างหน้าไกลๆ บทสนทนานี้จะเป็นกระจกสะท้อนวงการสื่อและโฆษณาให้เราได้มองเห็นกันและกัน

Ambient Is All Around

GM : สถานการณ์วงการโฆษณาเป็นอย่างไร คุณมีงานเข้ามาเยอะแค่ไหน แล้วต้องแข่งขันกันหนักแค่ใหนในวงการ

นุวีร์ :  คือตอนนี้เค้กมันก็ก้อนเท่าเดิม แต่คนมาแข่งกันเยอะขึ้น เพราะว่ามีบริษัทเล็กบริษัทน้อยเต็มไปหมด ตอนนี้เวลาที่ลูกค้าเรียกไปพิทชิ่ง เขาก็ไม่ได้ดูที่ชื่อบริษัทเป็นหลักแล้ว มันมีพวกคนที่ลาออกจากบริษัทใหญ่ๆ ไป แล้วก็ไปเปิดบริษัทเอง พวกนี้เขาก็เจ๋งเหมือนกัน แถมเดี๋ยวนี้โลกเราเป็นดิจิทัล มันก็เลยขึ้นอยู่กับไอเดียของคอนเทนต์มากกว่าว่าใครทำออกมาได้ดีแค่ไหน อันนี้ผมหมายถึงในสื่อดิจิทัลนะสำหรับในแง่เทรดิชั่นนอลมีเดีย อย่างในทีวี ผมว่าเรายังโชคดีที่ได้เครือข่ายจากเมืองนอก วิธีการคือเราเป็นบริษัทใหญ่ เราก็สามารถเหมาซื้อเวลามาได้ เหมือนกับเราเป็นนายทุนไปกว้านซื้อที่ในซอยทองหล่อ เราทุนหนากว่าก็ซื้อหมดทั้งซอย เราก็จะได้ช่วงไพรม์ไทม์ดีๆ ทั้งนั้น เวลาเอาช่วงเวลานี้มาแบ่งขาย เราก็ได้เวลาที่ดีกว่า และต้นทุนถูกกว่า บริษัทเล็กๆ ก็ซื้อที่ดินได้แค่ 100-200 ตารางวา แต่เราซื้อทีละสิบไร่ เหมามาทั้งซอย ลูกค้าของเราก็สามารถซื้อมีเดียได้ถูกกว่า ตรงนี้เป็นข้อที่ยังได้เปรียบของบริษัทที่มีเครือข่ายทั่วโลก แต่ก็นับว่าต้องเหนื่อยอยู่อีก เพราะเดี๋ยวนี้หลายบริษัทก็สามารถเหมาซื้อทั้งซอยได้เหมือนกันกับเราดังนั้น ในเมื่อมีเดียมันเหมือนๆ กัน สิ่งที่จะแตกต่างก็คือไอเดีย เราเอาไอเดียใส่เข้าไปในมีเดียด้วย คือเพิ่มมูลค่าเข้าไป นอกจากเทรดิชั่นนอลมีเดียแล้ว เราก็ต้องแพลนมีเดียอื่นๆ เพิ่มเข้าไป เช่นว่าจะลงในบิลบอร์ดด้วยมั้ย หาทางสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘แอมเบียนต์มีเดีย’ (Ambient Media) ไอเดียทั้งหมดของงานนี้คืออะไรล่ะ เราต้องโชว์ให้ลูกค้าเห็น แล้วเราผลิตเสริมเข้าไป ไม่ใช่แค่แพลนมีเดียอย่างเดียว ไม่ใช่แค่ในเทรดิชั่นนอลมีเดียอย่างเดียว โลกปัจจุบัน เราจะต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลมีเดียหรือแอมเบียนต์มีเดีย เราต้องใส่ไอเดียเข้าไป เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมางานของผมก็คือการทำให้มีเดียมีพลังมากขึ้น เป็นการทำงานครีเอทีฟเกี่ยวกับสื่อต่างๆ สื่อใหม่ๆ สื่อแปลกๆ ใส่ไอเดียเข้าไปให้มีเดียมันดูมีพลัง ยกตัวอย่างเช่น ไม่ใช่แค่บอกว่าเราจะแพลนบิลบอร์ดรอบกรุงเทพฯ ให้เลยนะ แบบนี้ไม่ได้แล้ว เราต้องบอกว่าไอเดียนี้หน้าตาเป็นอย่างนี้ พวกเทรดิชั่นนอลมีเดียก็ต้องทำกันไป หนัง โฆษณา เรดิโอสปอต แล้วก็พวกพรินต์แอด แต่เรื่องนอกเหนือจากนี้ ผมมีไอเดียแบบนี้ให้ ก็คงเหมือนๆ กับวงการนิตยสารของคุณนั่นแหละ ถ้าเป็นเมื่อสิบปีที่แล้ว ก็คือขายเป็นหน้าโฆษณาใช่ไหม แต่เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่แล้ว คุณขายธีม ขายเป็นไอเดียของงาน ทำเซตแฟชั่นแอด คือแนวโน้มของพวกเรากำลังไปในทางเดียวกัน เพียงแต่ของคุณอยู่ในนิตยสาร ของพวกผมก็อยู่ในสื่ออื่นๆ ทั้งหมด

GM : ทำไมจู่ๆ คนเราจึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับสื่อไปหมดเลย เราไม่ยอมดูโฆษณา เราไม่เชื่อโฆษณา คนทำสื่อในยุคนี้เลยต้องทำงานกันยากขึ้นมาก

นุวีร์ : ใช่ๆ ยากขึ้นมากๆ ก็เพราะสื่อมันเยอะไงล่ะ สื่อมีรอบตัวเลยนะตอนนี้ เดิมทีสมัยก่อนรุ่นพ่อแม่เรา เขามีแค่ทีวี ทุกคนเวลาดูทีวีก็มีสมาธิอยู่กับ

หน้าจอทีวี แต่เดี๋ยวนี้คุณก็รู้ เราเปิดไอแพด ไอโฟน เล่นคอมพ์ แล้วก็ดูทีวีไปด้วย เปิดพร้อมกันหมดทุกหน้าจอ ดังนั้น โอกาสที่คุณจะดูโฆษณาในทีวีจึงน้อยมาก แล้วยกตัวอย่างละคร ถ้าเกิดกลับบ้านดึก มาไม่ทันดูตอนสามทุ่ม เราก็ไปดูย้อนหลังในยูทูบได้ แล้วยิ่งเด็กรุ่นใหม่เขาไม่ได้ดูยูทูบในคอมพิวเตอร์นะ เขาดูในไอแพด ดูในไอโฟน นั่งดูกลางสยาม นั่งดูบนรถตู้ จอเล็กแค่นี้ก็ดูได้แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องรีบกลับบ้านไปดูละครอีกแล้ว ซึ่งทำให้หน้าที่ของพวกเราเปลี่ยนไป ชัดเจนว่าเราต้องใช้แอมเบียนต์มีเดียมากขึ้น ไม่ว่าคุณจะไปที่ไหน ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรือออกไปข้างนอก เราก็สามารถนำไอเดียไปถึงคุณได้ในช่องทางใหม่ๆ ซึ่งในทีวีมันยากแล้วนะ

GM : แอมเบียนต์มีเดียนำไปใช้อย่างไรได้บ้าง

นุวีร์ : อย่างบิลบอร์ดธรรมดาๆ เขาเรียกบิลบอร์ดใช่มั้ย แต่ถ้าเราจะใส่ไอเดียเข้าไป ใส่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไป ทำให้มันมีแอมเบียนต์มากๆ ก็หาวิธีทำให้มันตอบโต้กับคนที่เห็น ยกตัวอย่างเวลาเราจะซื้อของชำ เราไม่ต้องเดินทางไปถึงร้านแล้ว เขามีบิลบอร์ดใหญ่อยู่ริมทางเดินในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ไอเดียนี้มีนานแล้วนะ คือ Digital Ambient Media พอคนเดินผ่านป้ายบิลบอร์ด เขาก็ซื้อของได้เลยตรงนั้น โดยยกสมาร์ทโฟนขึ้นมาสแกน QR Code

แล้วของก็จะไปส่งที่บ้านเราเลย ผมว่าไอเดียนี้ดีมาก เพราะมันเป็นการตอบโต้ระหว่างกลุ่มเป้าหมายกับตัวสื่อ ไม่ใช่แค่เห็นแล้วเดินผ่านไปเฉยๆ บ้านเราเทคโนโลยียังช้าอยู่ 3G 4G ที่เราบอกกันเนี่ย มันยังไม่ใช่ 3G 4G ที่จริงนะ ความเร็วยังไม่ได้ มันไม่สามารถที่จะเล่นเทคโนโลยีระดับนี้ได้ ถ้าจะพัฒนาสื่อพวกนี้ เราต้องการอินเทอร์เน็ตที่เร็วกว่านี้

GM : อยากให้เล่าถึงผลงานล่าสุดของคุณที่น่าสนใจ

นุวีร์ : ที่ผมชอบๆ และเพิ่งได้รางวัลมาก็เป็นสินค้า Tefal มันคือเครื่องครัวนั่นแหละ ข้อมูลคอนซูเมอร์อินไซต์ก็คือคนทำกับข้าวมักจะเป็นผู้หญิง แต่แค่นั้นไม่พอ ผู้หญิงทำกับข้าวแล้วไง มันไม่มีแพสชั่นในการทำ เราก็คิดว่าอะไรที่เป็นแพสชั่นในการทำกับข้าวของคุณ ทาร์เก็ตกรุ๊ปก็คือสาวๆ รุ่นใหม่ เราก็เอาข้อมูลคอนซูเมอร์อินไซต์ของเขามาเล่น และ Tefal นี่มาจากฝรั่งเศส เราก็เลือกหนุ่มฝรั่งเศสหล่อๆ มีซิกแพคมาทำกับข้าวให้ดู เป็นแรงบันดาลใจให้สาวๆ

ไปทำบ้าง ทำเป็นหนังโฆษณาออกออนไลน์อย่างเดียวเลย มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆ ในการทำอาหาร ให้หนุ่มฝรั่งเศสคนนี้มาแก้ท่อนบนด้วย ให้เห็นซิกแพคเลย แล้วก็สามารถโต้ตอบกับคนดูได้ โดยเปิดให้คนดูสามารถ Crowdsourcing ก็คือส่งเมนูที่คุณอยากทำมา แล้วเดี๋ยวเราจะจัดให้ หลังจากนั้นก็นำแคมเปญนี้ออกมาสู่ออฟไลน์ คือหลังจากเลือกคนที่มาร่วมส่งเมนู หรือว่าคนที่มาร่วมคุยเยอะ ก็ได้ไปเดทกับหนุ่มฝรั่งเศส ไปกินข้าวกันมื้อหนึ่ง โดยที่หนุ่มฝรั่งเศสคนนี้ทำอาหารให้ คือมันเป็นการเล่นกลับไปกลับมา ระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์ เดี๋ยวนี้ออนไลน์อย่างเดียวก็ไม่รอดนะ สื่อออนไลน์ที่ว่ามาแรงๆ ผมว่ามันเป็นแค่นิ้วก้อยของตัวสื่อสาร เราก็ต้องหาวิธีเล่นออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กัน ไอเดียก็เลยได้รางวัล

GM : การออกมาสู่โลกออฟไลน์นั้นสำคัญมากใช่มั้ย

นุวีร์ : ใช่, สำคัญ มันคือเจอหน้าไง ถ้ามีแต่ออนไลน์ก็มีแต่ผี ผีคอมเมนต์ การสื่อสารนั้นก็เหมือนการตีปิงปอง ตีคนเดียวไม่ได้ เราต้องตีโต้กันไปมา ต้องจัดสัมมนา ต้องจัดมีตติ้ง ออฟไลน์-ออนไลน์ ชวนกลุ่มเป้าหมายออกมาอีเวนต์ แล้วค่อยกลับไปออนไลน์กันต่อ ถ้าจะจีบผู้หญิง เราแค่คุยในไลน์มันก็ไม่ได้นะ ถ้าอยากจะสานต่อให้คืบหน้า ก็ต้องชวนเขามาดูหนังด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน มันผูกพันกว่า เขาจะอยู่กับเราได้ยาวนานกว่า

GM : ขนาดออนไลน์อย่างเดียวยังอยู่ยาก แบบนี้พวกเทรดิชั่นนอลมีเดียที่ทำงานแบบเดิมต่อไปจะรอดได้อย่างไร

นุวีร์ : ก็อยู่ที่สินค้าของคุณเอง ถ้าแมสมากๆ คือคุณต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้ากว้างมากๆ ระดับที่ออนไลน์ยังเข้าไม่ถึง อย่างเช่นพวกทีวีช่อง 7 เรตติ้งอันดับหนึ่ง เขาก็ยังสามารถอยู่ต่อไป ก็จะมีสินค้าที่ไม่เป็นไลฟ์สไตล์แบบเมืองๆ มากนัก ที่เขาจะไปจับกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด ถ้าเป็นแบบนี้ หนังโฆษณาในทีวีก็ยังทำหน้าที่ได้นะและถึงแม้สินค้าเป็นไลฟ์สไตล์แบบเมืองๆ มากๆ ก็อาจจะไม่ถึงขั้นเลิกโฆษณาในเทรดิชั่นนอลมีเดีย อย่างสิ่งพิมพ์ เราก็ยังไม่เลิก แต่เราเลือกมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นคอนโดฯ คือสินค้าไลฟ์สไตล์แบบเมือง สมมุติว่าจับตลาดระดับบนด้วย ตารางเมตรละสองแสนอัพ เมื่อก่อนเวลาลงโฆษณาสิ่งพิมพ์ เขาก็จะหว่านไป แต่ตอนนี้เขาก็โฟกัสเลยว่าเอาเล่มเดียว หรืออย่างทีวี เขาก็เลือกช่องเดียว จะไม่หว่านแล้ว และโฟกัสไปเลยว่าเป็นช่วงเวลาไหน เจาะไปเลย มันจะแคบมาก เทรดิชั่นนอลมีเดียต่อไปก็เหลือแต่ครีมๆ ข้างบนแค่นั้นเองงบที่เหลือก็จะไปต่อที่สื่อออนไลน์ ออนไลน์ทำหน้าที่อะไร ทุกวันนี้สื่อออนไลน์ทำหน้าที่ Story Telling เช่น ให้รายละเอียดลงไปว่าตึกนี้ออกแบบโดยใคร วัสดุที่ใช้เลือกสรรดียังไง แล้วโลเกชั่นตรงนี้สำคัญแค่ไหน แล้วก็ทำหน้าที่ไปถึงขั้นที่สามารถบอกชัดๆ เลยว่าเมื่อคอนโดฯ นี้สร้างเสร็จแล้ว ราคาที่ดินจะเพิ่มเท่าไหร่ คือข้อมูลในโลกออนไลน์จะสามารถบิวท์คุณได้ บิวท์จนคุณจะต้องร้อง โอ้โฮ! กูจะซื้อ กูจะซื้อข้อดีของสื่อออนไลน์คือมันแทร็คข้อมูลได้ เราเลือกได้เลยว่าจะให้ใครเห็น สมมุติจะระบุให้คุณเห็น แล้วพาดหัวไปเลยว่าที่ดินตรงนี้ราคาจะขึ้นอีก 5 เท่า แล้วออนไลน์ข้อดีอีกอย่างคือมันกระชับ มันย่อยมาแล้ว พอเราแทร็คได้หมด จะเอาคนไหน เอาช่วงเวลาไหน คุณกลับบ้านกี่โมง เดาว่าสามทุ่ม เดาว่าคุณจะเปิดเฟซบุ๊คสี่ทุ่ม พอสี่ทุ่มปุ๊บ เราไปหาคุณแล้ว เลือกอายุได้ด้วย เลือกอาชีพ เลือกโลเกชั่น เลือกตำแหน่งงานได้อีก โอ้โฮ! มันชัดเจนมาก แต่พวกเทรดิชั่นนอลมีเดียเราทำแบบนี้ไม่ได้หรืออย่างสินค้ารถยนต์นี่จะยิ่งชัด ทุกวันนี้ถ้าเราจะหา Story Telling ของรถยนต์ เราก็ต้องเข้าไปออนไลน์ ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็ต้องไปอ่านในนิตยสารใช่มั้ย เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว นี่เป็นวิธีของบริษัทรถยนต์ในระดับโลกเลยนะ คือเขาแทร็คผู้ใช้รถ สมมุติคุณใช้โตโยต้าอยู่ ผมจะไปฟอร์ด ผมก็หาทางแทร็คคุณ รู้ได้อย่างไรว่าคุณใช้โตโยโต้า ก็เพราะมันจะมีประวัติอยู่ไง ที่คุณเคยไปลงทะเบียนในโตโยต้าคลับอะไรไว้ ผมไปแทร็คจากโตโยต้าคลับมาได้ หรือถ้าคุณไปกดไลค์แฟนเพจโตโยต้า เฟซบุ๊คเขาขายข้อมูลพวกนี้อยู่นะ ไม่งั้นอยู่ดีๆ จะมีข้อมูลขึ้นมาได้ไง ทุกวันนี้เขาเล่นกันแบบนี้ เพราะคนอ่านข้อมูลจากออนไลน์กันหมดแล้ว สื่อสิ่งพิมพ์ไม่ค่อยมีคนซื้ออ่าน เขาก็จะไปจ้างบล็อกเกอร์มาเขียน เล่นกันอย่างนี้เลย เอาบล็อกเกอร์ที่น่าเชื่อถือมาเขียนแนะนำ Reforming of Media Landscape

GM : ทุกวันนี้ บล็อกเกอร์มีความน่าเชื่อถือมากกว่าคนทำงานเทรดิชั่นนอลมีเดียแล้วใช่ไหม

นุวีร์ : การรับรู้ของคนยุคนี้ เขารู้แล้วว่ามีการจ้างเขียน แต่เขาก็จะเชื่อพวกบล็อกเกอร์มากกว่า ซึ่งจริงๆ ก็จ้างเขียนพอกันนั่นแหละ

GM : สมมุติคุณจะทำสินค้าชิ้นหนึ่ง เลือกแอดมินแฟนเพจไหน มีวิธีการเลือกยังไง

นุวีร์ : มันอยู่ที่สินค้าที่เราจะทำ ถ้าเป็นแมสอย่างพวกขนมขบเคี้ยว ก็เลือกเพจตลกๆ ถ้าเป็นสินค้ามีราคาสูงขึ้นมา ก็เลือกบล็อกเกอร์ที่มีความน่าเชื่อถือ คนที่อยู่ในวงการระดับหัวๆ มาช่วยเขียนรีวิวให้ เช่น ถ้าเป็นคอนโดฯ ก็เลือกนักอสังหาฯ นักลงทุน มาเขียนวิเคราะห์ทำเล วิเคราะห์ผลตอบแทน แต่คนพวกนี้ถ้าเราสั่งให้เขาฮาร์ดเซลส์ เขาก็จะไม่ยอมนะ พวกนี้มีอารมณ์ศิลปิน เราก็ต้องมีวิธีในการพูดคุย พาไปดูสถานที่จริง บอกเขาว่าของเราดีจริงๆ ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อนะ เขาเขียนรีวิวให้ก็เพื่อแชร์ของดีๆ ให้กับแฟนเพจ คือเหมือนกับดึงเขามาเป็นพวกเดียวกับเรา ถ้าสินค้าไม่ดีจริง คนพวกนี้เขาอาจจะบอกว่าขอบาย เขาไม่เขียนให้เพราะเสียชื่อเขา แต่ก็อาจจะมีพวกระดับรองๆ ลงมายอมเขียนให้

GM : สมมุติว่าเราทำแฟนเพจเป็นงานอดิเรก พอคนมากดไลค์เราสักห้าหมื่นคนก็มีคนโฆษณามาติดต่อแล้วใช่ไหม

นุวีร์ : ใช่, แล้วหลังจากนี้ก็อยู่ที่คุณว่าคุณจะทำหรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่ทำ ราคาก็แล้วแต่ตกลงกันเลย ยังไม่มีสแตนดาร์ดใดๆ ยังไม่มีราคากลางเหมือนกับราคาหน้าโฆษณาในนิตยสารประมาณนี้มีราคาเท่านี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องประมาณเอาจากสินค้าว่าราคาเท่าไหร่ ถ้าสินค้าหรูหราราคาโคตรแพงเลย ก็ต้องจ่ายค่าเขียนเยอะกว่า และอีกส่วนหนึ่ง เราก็ต้องคิดตามแบรนดิ้งของสินค้าด้วย ถ้าสินค้าแบรนด์ดังๆ ติดต่อมาหาเรา แสดงว่าเราเนี่ยแบรนดิ้งเท่ากับเขาแล้วนะ ระดับแบรนด์เท่ากัน เขาจึงอยากมาลงโฆษณาในเพจของเรา แบรนด์กับแบรนด์ต้องเท่ากัน ถ้าคุณเปิดแฟนเพจ แล้วมีสินค้าอะไรติดต่อมา แสดงว่าแบรนด์คุณเท่ากับเขาแล้ว คุณอัพค่าตัวได้แล้ว ถ้าคุณมัวแต่คิดราคาถูกๆ เขาอาจจะคิดว่า เฮ้ย! ไม่คูลเลย ราคาถูก แสดงว่าเพจมันไม่เจ๋งจริง แต่สมมุติคุณคิดไปแพงๆ เขาอาจจะคิดว่า เฮ้ย! กล้าเว้ย แสดงว่าเพจมันต้องเจ๋ง เรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องจิตวิทยา เป็นอะไรที่แปลกมากๆ

ทุกวันนี้มีให้เลือกเยอะ เราก็เลือกบล็อกเกอร์หรือแฟนเพจที่มีแบรนดิ้ง คอนเทนต์สดใหม่ ทำคอนเทนต์เอง พวกเว็บไซต์ที่เอาคอนเทนต์เก่ามา หรือเอาคอนเทนต์ในกูเกิลมาแปล หรือแค่เอาคอนเทนต์คนอื่นมาใส่ ประมาณว่ากด Copy/Paste เลยน่ะ พวกนี้จะราคาถูก เพราะลูกค้ารู้ แค่อ่านดูก็รู้ เพราะเขาก็เสิร์ชกูเกิลเหมือนเรานั่นแหละ

GM : ทำไมคนพวกนี้ถึงดูน่าเชื่อถือกว่า ทั้งที่รับจ้างเขียนเหมือนกัน

นุวีร์ : เพราะว่าคนพวกนี้คลุกเคล้าอยู่กับเรื่องราวพวกนี้จริงๆ อย่างพวกเว็บ Jeban.com เกี่ยวกับสอนแต่งหน้าและแนะนำเครื่องสำอาง เขาก็ทำเรื่องนี้แบบเป็นแพสชั่นเลยนะ เหมือนกับเป็นลัทธิเลย มีสาวๆ มาตามคอยอ่าน ผมว่านะ ก็เหมือนกับเราสนใจเรื่องอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วเราก็เริ่มทำคอนเทนต์

แบบนั้นไปเรื่อยๆ ต่อไปคนอื่นก็จะเห็นเอง ไอ้คนนี้โคตรเก่งเลยว่ะ เราศรัทธามันมากเลย เพราะมันเขียนมาจากประสบการณ์จริงๆ มันไม่ได้แปลมา ไม่ได้ก๊อบที่ไหนมา แต่ถ้าคุณเป็นพวกเทรดิชั่นนอลมีเดีย ส่วนใหญ่ก็ทำเป็นงานประจำกันใช่ไหม คนอ่านก็รู้ว่าคุณแปลจากต้นฉบับเมืองนอกมาหรือเปล่า ลูกค้ามักจะมาถามผม สกู๊ปชิ้นนี้เขาทำเองหรือเปล่า เขาแปลมาหรือเปล่า เพราะลูกค้ารู้ว่าทั้งวงการไม่ยอมลงทุนทำสกู๊ปเอง ตัวอย่างเราจะทำสกู๊ปเรื่องเศรษฐกิจสิงคโปร์ หลังจากที่ ลี กวนยู เพิ่งตาย ปกติเราก็จะไปค้นในกูเกิลมาเขียนใช่ไหม ลูกค้าเขารู้ ส่วนมากแปลจากเมืองนอกมา ลูกค้าก็เอามาให้ผมดู ทำไมมันเหมือนกันเลยวะ แต่ถ้าเกิดคุณลงทุนทำสกู๊ปนี้จริงๆ เดินทางไปสิงคโปร์เพื่อหาข้อมูล คอนเทนต์นี้จะมีค่ามากนะ แล้วไม่ใช่นำมาลงสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเดียวนะ คุณก็ถ่ายเป็นยูทูบด้วยสิ เอาไปออนไลน์ในยูทูบแชนแนลอีก ลูกค้าก็สนใจ พอซื้อโฆษณาในสิ่งพิมพ์ เขาก็ไปซื้อยูทูบคุณต่อเลย คือระหว่างสิ่งพิมพ์กับออนไลน์มันเชื่อมเข้าหากันได้

GM : ถ้าจะคุยกันให้ครบๆ งานโฆษณาตอนนี้ต้องครอบคลุมทั้งหมด ดิจิทัล โซเชียลมีเดีย แอมเบียนต์มีเดีย เทรดิชั่นนอลมีเดีย

นุวีร์ :  ใช่ครับ และตอนนี้ผมทำทุกสื่อเลย และผสมผสานมันอย่างไม่มีรูปแบบ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือคอนเทนต์ อาชีพผมก็เหมือนเป็นบรรณาธิการ คิดหาไอเดียใหม่ๆ แล้วนำไปทำคอนเทนต์ ถ้าไม่มีคอนเทนต์ที่ดี เราก็ไม่สามารถเอาไปแพลนมีเดียต่อได้ เหมือนกับเวลาทำนิตยสาร คุณก็ต้องพิจารณาดูว่าคอนเทนต์ไหนควรจะไปอยู่หน้าไหน คอนเทนต์ต้องมาก่อน แล้วถึงจะไปแพลนมีเดีย คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิด คิดว่าการทำงานของเราจะต้องมีมีเดียก่อน แล้วค่อยหาคอนเทนต์ใส่เข้าไป แต่ ณ ปัจจุบัน ต้องคิดไอเดียก่อน ว่าคอนเทนต์จะเป็นอย่างไร แล้วค่อยไปหามีเดียที่เหมาะสม ซึ่งมีเดียนี่ก็เลือกเอาเลย อะไรก็ได้ ซึ่งมันจะต้องสอดคล้องกับคอนเทนต์ไม่เหมือนเวลาทำนิตยสาร คุณมักจะมีคอลัมน์ประจำเอาไว้ก่อนใช่ไหม แสดงว่าคุณแพลนมีเดียไปก่อนที่คุณจะมีคอนเทนต์ ผมคิดว่านิตยสารแนวใหม่มันต้องไร้รูปแบบ เพื่อที่จะได้สดใหม่ แล้วทำให้คนอ่านตื่นเต้น เฮ้ย! เล่มนี้กูอ่านจบแล้ว เล่มหน้ามึงมีอะไรใหม่ๆ มาให้กูอ่านอีกวะ การรับรู้ของคนยุคนี้เปลี่ยนไป สื่อทุกอย่างต้องเปลี่ยนไปหมด สมัยคนรุ่นพ่อแม่เรา เวลาเขาอ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้า เขาจะรู้ว่าเปิดไปหน้านี้แล้วจะได้อ่านการ์ตูนผู้ใหญ่ลี พอเปิดไปหน้าหลังๆ จะได้อ่านข่าวบันเทิง แต่ปัจจุบันไม่ได้แล้ว คนไม่ชอบอะไรที่จำเจ เหมือนเวลาเราเปิดเข้าไปในเฟซบุ๊ค มันก็มีอะไรใหม่ๆ เลื่อนขึ้นมาตลอดเวลา ไม่มีรูปแบบ ถ้าเราบล็อกคอนเทนต์ปุ๊บ มันจะไม่ใหม่แล้ว ความใหม่จะถูกครอบด้วยรูปแบบ สมมุติผมจะทำนิตยสารฉบับแมว ถ้าเนื้อหาถูกบังคับไว้ด้วยลักษณะคอลัมน์ประจำ แมวของผมอาจจะไม่ใช่แมวที่ตะโกนดังๆ สภาพแวดล้อมตอนนี้ ผู้คนต้องการอะไรที่คาดเดาไม่ได้ คล้ายๆ กับนิวส์ฟีดในเฟซบุ๊ค

GM : แต่เทียบกับโฆษณาชิ้นสำคัญๆ ประจำปี คนก็ยังยอมมารอดูพร้อมกันทั้งโลก ในการถ่ายทอดสด Super Bowl ทุกคนก็รอดูโฆษณาในรูปแบบเดิมๆ อยู่ไม่ใช่เหรอ

นุวีร์ :  เพราะมันสดไง มันต้องเป็นรายการสดเท่านั้นถึงจะยังทำได้ นอกนั้นคนก็รอดูย้อนหลังในยูทูบกันหมด รายการพวกกีฬา ข่าว เรียลิตี้ หรือพวกเพลง คอนเสิร์ต พวกนี้สด และคนยังรอดูอยู่ อย่างโน้ส อุดม จัดแสดงเดี่ยวไมโครโฟน บัตรขายหมดภายในเวลาไม่กี่นาที ถ้าเป็นพวกสิ่งพิมพ์ พวกลูกค้าของผมที่เป็นรุ่นใหญ่ๆ เขาก็จะเห็นคุณค่าของหนังสือกันอยู่ ต้องเป็นพวกรุ่น 40 ปลายๆ ถึง 50 กว่าๆ นี่ยังโอเค แต่ถ้าเป็นพวกลูกค้าเด็กๆ หน่อย อายุ 20 กว่า เขาจะพูดตรงกันว่า เนี่ยะ คนเขาไม่อ่านหนังสือกันแล้ว ผมก็จะคอยบอกเขา เฮ้ย! อย่าเพิ่งๆ น้องไม่อ่าน ก็เลยคิดว่าคนอื่นไม่อ่าน ซึ่งมันไม่ใช่ทั้งหมด เพราะว่าเขาเกิดมาพร้อมกับสมาร์ทโฟนแล้วไง เขาอ่านในไอแพดแล้ว ผมก็คอยบอกเขาว่ามันไม่ใช่นะ กลุ่มลูกค้าของคุณยังเป็นกลุ่มคนที่อ่านหนังสือนะ คุณจะขายของให้คนอายุ 30-40 กว่า เขายังไม่ได้ไปออนไลน์กันทั้งหมด แต่ถ้าคุณขายสินค้าจับกลุ่มวัยรุ่น อันนี้ผมไม่เถียงแล้ว

GM : ถ้าหมดเจเนอเรชั่นพวกเราแล้ว สิ่งพิมพ์จะเป็นอย่างไร

นุวีร์ :  ก็เหนื่อยหน่อย ถ้าจะทำสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้ คุณก็ต้องทำสื่ออื่นครอบเข้าไป เหมือนกับนิตยสารโมโนเคิล เขามีเรดิโอ มีอีเวนต์ มีสัมมนา เขาทำหลายๆ อย่างครอบลงไป โดยมีสิ่งพิมพ์เป็นแค่ขาหนึ่ง เวลาขายโฆษณา เขาก็ขายทั้งยวง แบบนี้ถึงจะอยู่รอด แต่ถ้ายังรอขายโฆษณาทีละหน้าๆ แบบนี้คงรอดยาก มันอาจจะไม่ตายไปเลยนะ แต่มันจะไม่โตไปกว่านี้แล้ว คุณต้องต่อยอดอีเวนต์ สัมมนา ปาร์ตี้ คอนเสิร์ต มันจะทำให้สิ่งพิมพ์อยู่ได้ อย่างพวกพ็อกเก็ตบุ๊คที่ประสบความสำเร็จในตอนนี้ คือพวก Stock2morrow เพราะเขาขยันจัดสัมมนา พ็อกเก็ตบุ๊คสมัยนี้เก็บค่าจัดจำหน่ายกัน 45 เปอร์เซ็นต์ นี่ยังไม่รวมต้นทุนค่าพิมพ์ ค่าเขียน ถามว่าสำนักพิมพ์จะเหลืออะไร มันแทบไม่เหลือเลยนะ ดังนั้น งานของสำนักพิมพ์ก็คือการสร้างแบรนด์ พวก Stock2morrow เขาก็ต่อยอดไปเปิดสัมมนา สอนวิธีหาเงินล้าน เก็บค่าสัมมนาคนละสามพัน ห้าพัน แล้วก็เอานักเขียนของเขาเองมาเป็นวิทยากร อันนี้แค่ระดับเบสิกๆ นะ ถ้าอยากจะแอดวานซ์ไปกว่านี้ ก็ไปสัมมนาพิเศษที่หัวหิน สามวันสองคืน ต้องจ่ายกันสองหมื่นสามหมื่น คนก็ไปกันเยอะนะ อยากเป็นนักเล่นหุ้น อยากเป็นนักลงทุน เนี่ยะ มันก็เป็นบิสเนสโมเดลที่ต่อยอดได้จากพ็อกเก็ตบุ๊ค พ็อกเก็ตบุ๊คเป็นแค่กุญแจเคาะประตูไปสู่สิ่งใหม่

GM : ทำไมเรายังต้องเก็บสิ่งพิมพ์เอาไว้เป็นขาหนึ่งของธุรกิจ ในเมื่อเราเห็นว่าสื่อชนิดอื่นๆ รุ่งเรืองกว่า

นุวีร์ : ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ ถ้าคุณทำนิตยสาร นิตยสารก็คือสื่อของคุณเอง เหมือนคุณเป็นเจ้าของช่องทีวี มีเทรดิชั่นนอลมีเดียชนิดนี้ในมือ ถ้าทำออกมาวางขายทุกเดือน ยังไงๆ ก็จะต้องมีคนเห็นคุณบนแผงทุกเดือน ไม่ใช่แค่เอาหน้าไปขายโฆษณาอย่างเดียว แต่มันคือสิ่งที่เอาไว้ขายตัวเอง เวลามีอีเวนต์

ก็เอาไว้โปรโมตตัวเอง ก็เหมือนกับการตีปิงปอง และในอนาคต สิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดก็คือคอนเทนต์ เราต้องการธนาคารคอนเทนต์ ซึ่งต้องเป็นคอนเทนต์ที่สร้างเองนะ ไม่ใช่คอนเทนต์ที่แปลกูเกิลมา

GM : ธนาคารคอนเทนต์ที่คุณว่า มันจะมีลักษณะเป็นอย่างไร

นุวีร์ :  สิ่งที่ผมเห็นคือคนที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์เขียนหนังสือได้ดีกว่า ทุกวันนี้สื่อออนไลน์มีมากขึ้น แต่คนในโลกออนไลน์ยังเขียนได้ไม่ดี นี่พูดกันแบบเปิดอกเลยนะ ส่วนใหญ่เขียนเยิ่นเย้อ อ่านแล้วไม่มีฮุค ผมว่าเด็กรุ่นใหม่เขียนหนังสือไม่เป็น เขาทำเป็นแต่พวกคลิกเบท อยากรู้ก็ลองคลิกสิ อะไรแบบนี้ เพราะเขาเติบโตมากับหน้าจอ ถ้าเป็นลูกค้าที่อายุมากหน่อย สี่สิบปลายๆ ก็จะคิดแบบผม เราต้องการคอนเทนต์ที่มีความเป็นมืออาชีพกว่านี้ แต่ถ้าสำหรับลูกค้าที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ เขาก็จะแบบประมาณว่า ขอให้มีคนมากดไลค์เยอะๆ ก็พอแล้ว เขาอาจจะไม่ได้ดูเนื้อหาที่เขียนส่งไป เพราะเขาเองก็ไม่ชอบอ่านเหมือนกัน รู้แค่ว่ามีคนมาฟีดแบคเยอะแค่ไหน ซึ่งแค่ออนไลน์ก็ไม่ใช่คำตอบ มันต้องประกอบกันหลายๆ สื่อ ออนไลน์จริงๆ แล้วมันเป็นแค่ขาหนึ่งของการสื่อสารเช่นกันผมว่าคนทำคอนเทนต์ในสื่อทั้งใหม่และเก่า ยังไม่ค่อยมีมาร์เก็ตติ้งมายด์ อย่างพวกนักเขียนในนิตยสารทั่วไป พอมาพูดเรื่องมาร์เก็ตติ้งนะ เขาก็เขียนไม่ออก พวกคุณน่าจะมีความเป็นมาร์เก็ตติ้งอยู่ด้วย มันถึงจะเขียนออกมาให้ตรงเป้าหมาย จริงๆ แล้วมาร์เก็ตติ้งมายด์มันควรจะมีอยู่ในคนทำงานทุกอาชีพ มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นอาชีพนักโฆษณาหรือนักการตลาดเท่านั้น แม้แต่นักเขียนก็ต้องรู้ว่าเขียนให้ใครอ่าน เขียนเพื่อบอกอะไร สมมุติคุณคิดว่าตอนนี้พม่ากำลังมาแรง คุณเดินทางไปทำสกู๊ปเลย พอเสร็จปุ๊บ คุณเอามาเสนอผม ผมเอาไปเสนอลูกค้า ถ้าลูกค้าโอเคซื้อ โมเดลต่อไปมันจะเป็นแบบนี้ คอนเทนต์ไม่ได้มาจากผม แต่มาจากคุณที่คิดว่าอะไรน่าสนใจจริงๆ แล้วมาร์เก็ตติ้งเป็นเรื่องของเซ้นส์นะ ไม่จำเป็นต้องเรียนก็ได้ มาร์เก็ตติ้งคือการขายของ ขายยังไงให้คนที่จะมาซื้อเขาแฮปปี้ อย่างคุณทำนิตยสาร คุณก็ต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร ชอบอะไร ใช้ชีวิตแบบไหน นี่คือมาร์เก็ตติ้งแล้ว มันมาจากอินเนอร์ข้างใน ใช้เซ้นส์ ใช้ประสบการณ์ เหมือนเราไปจีบผู้หญิงคนนี้ เราต้องใช้มาร์เก็ตติ้งแล้วนะ ผู้หญิงคนนี้ชอบอะไร มีไลฟ์สไตล์แบบไหน ถ้าเขาชอบเข้าวัด เราบอกว่าจะพาไปเธค แบบนี้ก็จบ ถ้าเรานัดเจอเขาครั้งแรก นี่คือจะให้เฟิร์สอิมเพรสชั่นเลยนะ เราก็นุ่งขาวห่มขาวไปเลย (หัวเราะ) ให้เขารู้เลยว่าเราก็ธรรมะธัมโมเหมือนกัน

Insight Gen Y

GM : ด้วยความที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไปมาก สงสัยว่าพวกเด็กจบใหม่ๆ จะมี Career Path ในการทำงานอย่างไร

นุวีร์ : (หัวเราะ) Career Path น่ะเหรอ คือจริงๆ แล้วเดี๋ยวนี้มันไม่มีแล้วมั้ง ชีวิตเราเดี๋ยวนี้ต้องทำหลายอย่างควบคู่กันไปแล้ว สมมุติว่าคุณเป็นนักเขียน อีกอาชีพหนึ่งของคุณจะทำอะไร คือไม่ใช่โฟกัสแค่อาชีพเดียวแล้ว นี่เรื่องจริงนะ เพราะว่าอะไรรู้ไหม ถ้าเกิดเราทำงานอย่างเดียว เท่ากับเรามีอ่างเก็บน้ำแค่อ่างเดียว สมัยนี้มันจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรมาถึงเราเร็วมากๆ พอน้ำอ่างนี้หมด ชีวิตเราก็จบเลยนะ เราต้องมีหลายๆ อ่างรอไว้ในตอนนี้ อย่างนักเขียนบางคนก็เริ่มสร้างบล็อกเอง แล้วก็เขียนไป บล็อกเกอร์เนี่ยถ้าทำดีๆ พอดังปุ๊บ ก็อย่างที่ผมเล่าไปแล้ว ว่าเอเจนซี่ก็จะไปจ้างคุณ มันก็ต่อยอดไปได้ หรือสมมุติคุณเป็นพนักงานออฟฟิศ แต่คุณชอบท่องเที่ยวมากๆ คุณก็ไปเป็นบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวได้ เขียนไปสักพัก ถ้ามีแบรนด์ไหนมาเห็น เขาก็จะจ้างคุณไปรีวิว เหมือนกับมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ท่องเที่ยวเป็นชีวิตเลย I Roam Alone เขาก็เริ่มได้ค่าเหนื่อยจากการถ่ายโฆษณาแล้วนะ ซึ่งเงินนี่ก็เอาไปต่อยอดไปเที่ยวได้อีก แล้วเป็นคอนเทนต์จริงๆ ที่คุณเขียนจากประสบการณ์จริง ไม่ได้แปลมาจากกูเกิลด้วย

GM : เพราะเขาสวยด้วยแหละ

นุวีร์ : ก็น่ารัก ความน่ารักก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง มันเป็นเรื่องคาแร็กเตอร์ เป็นการสร้าง Personal Branding คุณต้องมีคาแร็กเตอร์ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องสวยอย่าง I Roam Alone คุณอาจจะเป็นแนวตลกๆ อย่างแจ๊ส ชวนชื่น ถามว่าหล่อมั้ย แต่เขามีคาแร็กเตอร์ชัดเจน คือทรงผมกับแว่น แล้วก็ใส่ยีนส์ 18 ออนซ์

พับขา นี่คือคาแร็กเตอร์ที่ชัด แล้วทุกครั้งที่เขาโพสต์ ก็จะมีคำคมๆ คำตลกๆทีนี้ก็ย้อนกลับมาถามตัวเองบ้างว่า คุณชอบอะไร แพสชั่นของคุณ สิ่งที่มาจากอินเนอร์ของคุณคืออะไร อย่างผมนี่ชอบท่องเที่ยว ผมทำงานได้เงินเดือนจากบริษัท พอเก็บเงินได้ก็จะไปเที่ยวนิวยอร์กทุกปี และผมก็จะโฟกัสที่นิวยอร์กที่เดียวเลยนะ เป็น Second Life ของผมเลย คือเขียนหนังสือเกี่ยวกับนิวยอร์ก ผมก็เขียนคอลัมน์ประจำ Letter from New York มันก็คือมูลค่าสำหรับตัวผมเอง การตลาดที่เขียนไม่ได้เครียด เป็นการตลาดที่พ่อแม่เราเองอ่านแล้วยังเข้าใจ ไม่ใช้ศัพท์สูง ศัพท์ยาก เหมือนกับไปเห็นอะไรก็มาเล่าให้ฟังสมัยนี้คุณเริ่มต้นทำสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายมากแล้วนะ มีบล็อก มีโซเชียลมีเดีย สมัยผมเริ่มต้นทำนั้นยังไม่มีอะไรเลย ผมยังเป็นรุ่นที่ยังเขียนจดหมายไปที่ Brandage เมื่อสมัยสิบปีที่แล้วที่ผมไปนิวยอร์ก ผมเขียนจดหมายส่งไปหาพี่เล็ก (พิชัย ศิริจันทนันท์) และพี่นุ (ธนเดช กุลปิติวัน) แล้วรูปทำไงรู้มั้ย ก็ยังถ่ายกล้องฟิล์มอยู่เลย ผมก็เอาไปล้างอัด แล้วสแกนเป็นไฟล์ส่งไป พอมาเดี๋ยวนี้โคตรง่ายเลย

GM : แต่อายุของสื่อออนไลน์ ดูเหมือนว่าจะสั้นมากๆ เลย อย่างน้องมุกกี้ GM เราเคยไปสัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้ดูเหมือนว่าเธอหายไปแล้ว

นุวีร์ : ก็ต้องทำคอนเทนต์ให้แข็งแรง จะถ่ายรูปอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าทำคอนเทนต์เองไม่ได้ ก็ต้องจ้างคนมาทำคอนเทนต์ให้นะ แล้วต่อยอดไปสัมมนาด้วย ฝึกอบรมด้วย วิธีสร้างความมั่นใจ ความภูมิใจในตัวเอง คืออย่าโชว์ที่หน้าอกอย่างเดียว คุณสามารถขายยกทรงกระชับอกได้ด้วย มันอยู่ที่มุมมองของคุณ ถ้ามองแค่เรื่องนมใหญ่ มันก็จะจบอยู่แค่นั้น แต่ถ้าบอกว่ามีความมั่นใจ ทุกคนมีแสงสว่างในตัวเอง สนับสนุนโดยยกทรงแบรนด์นั้นแบรนด์นี้ อันนี้จึงจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม

GM : เด็กนักศึกษาที่คุณสอนอยู่ คุณเห็นว่าพวกเขาเป็นอย่างไร

นุวีร์ : คือล่าสุดเลยนะ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เราเคยทำแบบสำรวจว่าเด็กๆ จบไปอยากทำอะไร คำตอบ 80% บอกอยากเปิดบริษัทเอง มีคำตอบอยู่ลักษณะหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่ามันโดนมาก คือพวกเขาอยากทำในสิ่งที่รัก ถึงจะล้มเหลว ก็ล้มเหลวในสิ่งที่รัก คำนี้เป็นประโยคเด็ดที่ทำให้เด็กทุกคนในตอนนี้เป็นคนแบบนี้ ทางมหาวิทยาลัยก็เลยต้องจัดงานโอเพ่นเฮาส์ แนะนำหลักสูตรของเราว่าเป็นการเรียนการสอนแบบให้เป็นเจ้าของกิจการ เราพาเด็กมัธยมปลายไปเวิร์กช็อปกันที่หัวหิน ให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของกิจการแล้วมาแชร์ไอเดียกัน โอ้โฮ! เด็กปลื้มมาก คือความฝันเขาเลย แล้วผมก็เคยไปถามพวกเขานะว่าถ้าไม่เคยเป็นลูกจ้างก่อน แล้วคุณจะมาเปิดเองได้เลยเหรอ เขาบอกว่าเปิดธุรกิจออนไลน์ไงครับ ไม่ต้องลงทุนอะไร ขายออนไลน์อย่างเดียว คือเด็กเดี๋ยวนี้จะไม่เป็นลูกจ้างแล้วถ้าคุณเป็นเจ้าขององค์กรใหญ่ๆ เด็กรุ่นใหม่ที่คุณรีครูทเข้าไป ก็คืออีก 20% ที่เหลือนั้น แล้วพอรับเข้ามาทำอยู่ได้ 1-2 ปี เขาก็จะลาออกอีก (หัวเราะ) คือได้ประสบการณ์เสร็จแล้วก็ออกไปทำเอง คือเดือนหนึ่งๆ ได้กำไรนิดหน่อยก็พออยู่พอกินแล้ว ชีวิตแบบนี้เขาสามารถบริหารเวลาได้ แล้วก็ใช้ชีวิตแบบมีความสุข เพราะพื้นฐานความคิดเด็กรุ่นใหม่ พ่อแม่เขาคงมีอะไรให้แล้ว แต่ถ้าเกิดมาแบบพ่อแม่ไม่มีอะไรให้ ปากกัดตีนถีบ เด็กกลุ่มนี้ก็จะต้องอดทน แต่เชื่อสิ ทำได้สักพัก พอเก็บตังค์ได้ เขาก็จะต้องไม่อยู่ มีเด็กบางคนบอกว่าวิกฤติเศรษฐกิจตอนปี ’40 เขาเห็นพ่อแม่ถูกเลย์ออฟออกจากงาน ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ฝังใจเด็กรุ่นนี้ และทำให้เขาไม่มีความจงรักภักดีกับองค์กรแล้ว

GM : แล้วในวงการโฆษณาล่ะ

นุวีร์ : ก็เหมือนกัน เด็กๆ ลาออกบ่อย ถึงแม้เงินเดือนจะดี ออฟฟิศหรูหรา พวกนี้ไม่ใช่คำตอบของเขา เขาไม่สน เวลาไปคุยกับเพื่อน ความภูมิใจมันต่างกันนะ ระหว่างฉันทำงานที่มายแชร์นะ แต่อีกคนบอกว่าฉันเริ่มตั้งบริษัทนะ เด็กๆ ชอบอย่างหลังมากกว่าแล้ว เด็กรุ่นใหม่ทำให้รูปแบบการทำงานและการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปหมด เราต้องง้อเด็ก ไม่ใช่เด็กง้อเรา เมื่อก่อนรุ่นผมเนี่ย เราต้องง้อบริษัท อยากอยู่บริษัทเท่ๆ เราแทบจะลงไปกราบอ้อนวอนเลย พี่ครับ ผมอยากเข้าที่นี่ แต่สมัยนี้ต้องง้อเด็กนะ เวลามาสัมภาษณ์งาน เด็กถามผมว่าเข้างานกี่โมง ถ้าบอกว่าแปดโมงครึ่ง โอ้โฮ! หนูไม่ไหวค่ะพี่ ตอนนี้บริษัทเราเลยเลื่อนไปเป็นเก้าโมงครึ่ง (หัวเราะ) เด็กก็บอกว่าไม่ไหวอีก แล้วห้องทำงานนี่ก็ด้วย ต้องออกแบบให้น่าทำงานด้วยนะ

GM : คือเป็นคอกๆ พาร์ทิชั่นไม่ได้แล้วใช่ไหม

นุวีร์ : (หัวเราะ) ไม่ได้แล้ว ไม่ได้แล้ว โต๊ะทำงานส่วนตัวที่เป็นคอกๆ น่ะมีไว้แค่เพื่อวางของ แต่เวลาพวกผมจะทำงาน ผมขอมานั่งทำที่โซฟาได้มั้ย ผมขอไปนั่งทำที่มุมจิบกาแฟได้ไหม เราก็ต้องออกแบบออฟฟิศกันใหม่ มีโซฟาเยอะๆ ให้เด็กนั่งคิดงาน

GM : แบบนี้ทำไมไม่จ้างฟรีแลนซ์ไปซะเลย

นุวีร์ : ฟรีแลนซ์ก็มีปัญหาอีก คือเวลาให้งานไปแล้ว พอเจอลูกค้าขอแก้ไขบ่อยๆ เด็กบางคนมันจะชิ่งเลยนะ (หัวเราะ) พี่ครับ ผมไม่ทำแล้วนะ แล้วมันก็ปิดมือถือใส่ผมเลย ความเปลี่ยนแปลงแบบนี้กำลังเกิดขึ้นกับทั้งระบบเลยนะ แล้วก็เป็นอย่างที่เล่าไว้ตั้งแต่ตอนแรก ว่าคนเก่งๆ ส่วนใหญ่ก็เลยลาออกไปเปิดบริษัทตัวเอง เดี๋ยวนี้ออนไลน์หมดแล้ว มีแค่คอมพ์ตัวเดียว กับคอนโดฯ ห้องหนึ่งสามสิบตารางเมตร ก็เปิดบริษัทได้แล้ว มันเป็นเรื่องการตลาดออนไลน์ ไม่ต้องการบริษัทใหญ่อะไร ไม่ต้องมีหน้าร้าน

GM : เราพูดถึงเรื่องเวิร์กสไตล์ไปแล้ว แล้วเรื่องไลฟ์สไตล์ของพวกเขาล่ะ เด็กรุ่นใหม่ทำให้รูปแบบการตลาดเปลี่ยนไปอย่างไร

นุวีร์ : การตลาดแบบ 4Ps ใช้ไม่ได้แล้ว บางคนบอกว่าพื้นฐานยังไงต้องมี 4Ps แต่ผมว่ามันไม่ใช่แล้ว มันไปไกลกว่า 4Ps เยอะแล้ว เพราะว่าถ้าถามเรื่องการตั้งราคาเนี่ย ราคาก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไปแล้ว เพราะเราขาย Emotional Benefit มันมีกรณีศึกษาอยู่เรื่องหนึ่งแปลกมาก ผมอยากแชร์ให้ฟัง คือพวกนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ต้องการที่จะมีภาพพจน์ดีๆ เขาจำเป็นจะต้องมีคอนโดฯ สักห้องหนึ่งอยู่แถวสุขุมวิท เพื่อเวลาคุยกับลูกค้าหรือใครๆ เนี่ยๆ ผมมีคอนโดฯ แถวสุขุมวิท มันเป็น Brand Personality เป็นเรื่องแปลกมาก คือมีคอนโดฯ ไม่ใช่เพราะจะไปอยู่นะ มีเพราะว่าผมมีอยู่ในพอร์ต มีห้องคอนโดฯ นี้

อยู่ด้วย นอกจากหุ้นตัวนั้นตัวนี้

GM : คุณมองเด็กรุ่นนี้ในแง่ร้ายหรือในแง่ดี

นุวีร์ : ผมว่าเด็กรุ่นนี้เก่งกว่ารุ่นผมเยอะ เพราะว่ามันอยากทำอะไรทำเลย รุ่นผมนี่คือแบบ ทำมั้ยวะ ดีมั้ยวะ ความคิดที่เปลี่ยนไปนี่ก็เกิดจากระบบการศึกษาของเรานะ หนึ่ง, รุ่นเราอยู่ในกฎ สอง, รุ่นเรายึดติดที่เกรดเฉลี่ย มันทำให้รุ่นเราอยู่ในกรอบจริงๆ ทำอะไรก็ไม่ได้ ต้องยึดติดกับตำรา คือตำรามันล้าสมัยแล้ว แต่รุ่นเราต้องยึดติด แล้วก็เอาตำราไปอ้างอิง ในขณะที่เด็กรุ่นนี้เขาเอาประสบการณ์ไปอ้างอิง อยากทำกูทำเลย กูไม่สนอะไรทั้งนั้น เขาชัดเจนกว่ารุ่นเราเยอะ คือรุ่นเราสู้เขาไม่ได้ก็ตรงจุดนี้พวกลูกน้องในทีมของผมนี่ก็แสบๆ หลายคน คือก่อนที่มันจะมาสมัครงาน มันเช็กประวัติผมในกูเกิลด้วยนะ ว่าไอ้นี่มันเจ๋งเปล่า เป็นลูกพี่กูได้มั้ย (หัวเราะ) บางคนถามผมว่าแต่ละปีๆ พี่ไปเที่ยวที่ไหนบ้าง ถามแบบนี้ผมก็รู้แล้ว ไอ้นี่มึงต้องเช็กประวัติกูมาแน่เลย มันบอกว่าไม่อยากทำงานกับหัวหน้าที่เครียดๆ ชอบอยู่กับหัวหน้าที่ตลกๆ เออ…เห็นมั้ย มันเลือกหัวหน้าได้ด้วยนะ

Happier Than a Billionaire

GM : ความสุขในการทำงานในวงการโฆษณาคืออะไร

นุวีร์ : ล่าสุด ผมเห็นแคมเปญของธนาคารแห่งหนึ่ง ใช้คำว่า Billionaire ฟังดูเท่มากเลย เขาจับกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน และอยากเริ่มต้นวางแผนการลงทุน ผมว่าเขากำลังจับจุดบางอย่างในยุคสมัยนี้ ที่สอดคล้องกับคำถามของคุณ คือความต้องการที่จะรวยเร็วๆ แต่ผมว่าถ้าในล้านคน อาจจะมีบิลเลียนแนร์แบบที่ว่านั่นสักสองคน ความรวยมันจะมีเปลือกกับมีแก่น เปลือกก็คือสิ่งที่เราแชร์ๆ ในโซเชียลมีเดียของเรา รถสปอร์ต นาฬิกาแพงๆ ใช้ชีวิตแบบหรูหรา กระเป๋าแบรนด์เนมรุ่นลิมิเต็ด เอดิชั่น เหล่านี้คือเปลือก และโอกาสที่จะไปถึงนั้นมีจำกัด ไม่ใช่ทุกคนจะไปได้ แล้วมันต้องใช้พละกำลังเหนื่อยมาก แต่ถ้าเป็นเรื่องของแก่น เราทำได้เลย เราเลือกใช้ชีวิตที่มีความสุข อยากทำอะไรก็ทำ คือถ้าคุณอยากรวยแบบเปลือกๆ คุณก็ต้องยอมตื่นเช้าแปดโมง แหกขี้ตาไปทำงานทุกวัน

GM : ตีห้าครับ เดี๋ยวนี้้ต้องตื่นตีห้า

นุวีร์ : เออ…นั่นแหละ ตื่นตีห้าเพื่อจะไปทำงานให้ทันแปดโมงเช้า เลิกงานก็ดึกๆ กลับบ้านก็สลบ นี่ไม่ใช่วิถีชีวิตของคนรวยนะ ถึงแม้คุณจะแชร์รูปภาพข้าวของแพงๆ ก็ตาม คนรวยจริงๆ คืออยากตื่นเมื่อไรก็ได้ อยากทำอะไรก็ได้ทำ อันนี้คือแก่น

GM : แต่เรื่องเปลือกๆ พวกนั้น ก็เพราะนักการตลาดอย่างคุณ ที่นำมาขายให้พวกเราไม่ใช่เหรอ

นุวีร์ : เฮ้ย! พวกเรามีจรรยาบรรณนะ อย่างถ้าเป็นส่วนตัวผมเอง เวลาเลือกใช้แฟนเพจหรือพวก

Influencer ผมจะไม่เลือกพวกที่โชว์รวยนะ ผมเลือกคนที่โชว์ความคิด พวกที่พอได้กระเป๋าแบรนด์เนมมาแล้วถ่ายรูปอวดในอินสตาแกรมเนี่ย ผมไม่เอาเลยนะ และลูกค้าของผมก็เข้าใจด้วย เราเลือกเฉพาะคนที่เขามีความคิด รู้จักใช้ชีวิต คนที่ไปปีนเขา ใช้ชีวิตตามใจ เรื่องแบบนี้คุณทำได้เลย คุณไม่ต้องรอให้มีเงินพันล้านหรือว่าร้อยล้าน คุณอยากไปปีนเขาใช่มั้ย คุณไปได้เลย ไม่ต้องรอ สิ่งที่พวกเราโน้มน้าว

หรือว่าพยายามสื่อสารออกไป โดยเฉพาะพวกนักการตลาดที่ดีๆ เราจะโน้มน้าวให้คุณใช้ชีวิตให้เป็นไม่ใช่แค่ใช้จ่ายเงินเป็น

GM : ถ้าเราใช้ชีวิตแบบแก่นกันจริงๆ เราอาจจะไม่ซื้อของที่คุณทำโฆษณาเลยก็ได้นะ

นุวีร์ : ก็ไม่เป็นไร ซึ่งคุณก็จะไปใช้จ่ายเงินกับเรื่องอื่นแทนอยู่ดี สมมุติว่าคุณไม่ซื้อของแพงๆ ใช่ไหม แต่คุณก็จะเก็บเงินไปเที่ยว ก็ช่วยทำให้เศรษฐกิจโตได้ การท่องเที่ยวก็เติบโต เราไปหมดกับข้าวของที่ใช้ชีวิตมากกว่า

GM : เวลาคุณได้รับโจทย์จากลูกค้าที่ขัดกับความคิด ความเชื่อของคุณ คุณทำอย่างไร

นุวีร์ : มันทรมานมากนะ แต่ผมจะชัดเจนเลยนะ สมมุติสินค้านมผง บางแบรนด์ที่ต้องการจะสื่อสารว่าคุณภาพดี ใช้แทนนมแม่ได้เลย งานแบบนี้ผมจะไม่รับทำ เพราะใครก็รู้ว่ามันดีกว่าไม่ได้หรอก ก็คือชัดเจนว่าสิ่งที่เราจะสื่อสารออกไปนั้น มันผิดจรรยาบรรณอย่างมาก ที่จะบอกว่านมแบรนด์นี้ดีกว่านมแม่ ถ้ามีลูกค้ามาคุย ก็ต้องอธิบายไปตรงๆ ว่าเราน่าจะหาประเด็นอื่นๆ สื่อสารออกไปแทนดีกว่า ซึ่งโชคดีที่หัวหน้าของผมก็มีอุดมการณ์เหมือนกันแต่ถ้าเป็นการขายโทรศัพท์ ยกตัวอย่างซัมซุงกับไอโฟน แบบนี้เราก็ทำงานกันได้เต็มที่ ที่เราเห็นๆ กันในกรณีศึกษา ซัมซุงขาย Functional ในขณะที่ไอโฟนขาย Emotional ซัมซุงขาย Functional ก็คุณสมบัติเพียบเลยนะ ถ่ายรูปคมชัดกว่าไอโฟน แต่ไอโฟนบอกว่าเขาข้ามเส้นนั้นไปแล้ว ซัมซุงบอกว่าทุกคนถ่ายภาพได้ชัด แต่ไอโฟนบอกว่าทุกคนสามารถเป็นช่างภาพได้ คือมันเป็นการขายที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ไอโฟนทำไมขายดี ทั้งที่คุณสมบัติสู้ซัมซุงไม่ได้ อย่างหนังโฆษณานิคอน I am Nikon พอดูเสร็จแล้วมันบิวท์เรามาก จนคนที่ใช้แคนนอนก็แบบ เฮ้ย! น่าลองสักตั้ง คือมันไม่ได้ขายฟังก์ชันกันแล้ว แต่มันขายอารมณ์ความรู้สึก

GM : ในโลกที่เราใช้อารมณ์ความรู้สึกในการซื้อของ มากกว่าการใช้เหตุผล มันจะทำให้เราฟุ่มเฟือยและเปล่าประโยชน์มั้ย

นุวีร์ : มันเป็นอย่างนี้นะ ผมจะพูดให้ฟัง ระหว่างรถเบนซ์กับโตโยต้า ถามว่าโตโยต้าดีมั้ย ดีสิ ประหยัดน้ำมัน แอร์เย็น ขับไปไหนมาไหนได้เหมือนกัน แต่ยิ่งนานวัน พอเก่าๆ โตโยต้าก็ไปสุสานรถ แต่รถเบนซ์ไปมิวเซียม คุณค่ามันอยู่ตรงนี้ ถ้าคุณทำให้รถเก่าๆ กลายเป็นรถคลาสสิก มันก็เป็นเรื่องของอารมณ์ไปแล้ว ก็เหมือนไอโฟนรุ่นแรก ตอนนี้ผมเห็นมันประมูลกันในอีเบย์ โคตรแพงเลยนะ มันกลายเป็นของสะสมไปเลย

GM : ผมสงสัยว่า นักการตลาดกำลังหลอกเราอยู่หรือเปล่าครับ

นุวีร์ : อ่ะ ยังไม่เชื่อใช่ไหม ขออธิบายต่อ อย่างเวลาคุณไปเดินในแผนกเครื่องกีฬา โอ้โฮ! นิวบาลานซ์ ไนกี้ อาดิดาส ทำไมมันแพงกว่ายี่ห้ออื่นๆ หมดเลย อันนี้ขอพูดแบบแฟรงค์ๆ เลยนะ ในฐานะของคนที่ชอบรองเท้าผ้าใบ มาจากอินเนอร์ที่ชอบวิ่ง แต่ช่วงนี้ไม่ได้วิ่งแล้ว งานเยอะ ไนกี้นี่เขามีนวัตกรรมคือ

Air Max ลดแรงกระแทก เพิ่มสปีด คู่ที่เป็นซิกเนเจอร์ของเขา ขายคู่หนึ่งหกเจ็ดพัน ขายดีจนขาดตลาด แล้วเรามาดูอาดิดาส เขามีเทคโนโลยี Boost พอเหยียบปุ๊บ มันพุ่งไปเลยนะ นักวิทยาศาสตร์ร่วมมือกับนักวิ่งพัฒนา พอได้รองเท้ารุ่นนี้ออกมา มันทำให้ทะยานขึ้นไป นี่ก็ขายแพงหลายพัน แล้วอย่าง

นิวบาลานซ์ เขามีนวัตกรรม Encap ที่เป็นฟองน้ำยืดหยุ่นได้ ทุกครั้งที่เหยียบลงไปจะไม่พลิก ข้อเท้าจะไม่พลิก นี่ก็แพงอีก คำถามคือแล้วยี่ห้ออื่นๆ ได้สื่อสารข้อมูลแบบนี้มาถึงคุณบ้างหรือเปล่า ถ้าไม่มีการสื่อสารที่ต่อเนื่อง นวัตกรรมไม่มี คนจะสนใจซื้อได้อย่างไร คนปัจจุบันที่มีไลฟ์สไตล์เดินเยอะ มันจะทำให้หัวเข่าไม่สึกเร็ว พอเขาไปเดินตามห้าง เขาก็ยอมจ่ายตรงนี้แล้วสิ่งที่เหนือกว่าข้อมูลนวัตกรรมอะไรที่ว่ามา ก็คือสิ่งที่เรียกว่า Big Idea มันก็คือ Emotional นั่นแหละ ที่จะคลุมหมดเลย อย่างเช่น คำว่า Just Do It อย่างนี้ มันเป็นอะไรที่บิ๊กไอเดียมากเลยนะ คือมึงทำเลย คือเรื่องทัศนคติเลย ขณะที่อาดิดาสบอกว่า Impossible is Nothing ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ มันก็เป็นทัศนคติอีก มันมากกว่านวัตกรรม คือนวัตกรรมเราก็ต้องพัฒนากันต่อไปเรื่อยๆ อยู่แล้วแหละ เพราะว่าจะออกสินค้าใหม่แต่ละรุ่นๆ ก็ต้องมีนวัตกรรมใหม่ แต่ถ้าเกิดสมมุติเรามีบิ๊กไอเดียคลุมเข้าไปอีกชั้นนึง โอ้โฮ! มันจะแรงมากเลยนะ

GM : คุณเคยทำงานในระดับบิ๊กไอเดียแบบนี้บ้างไหม

นุวีร์ : บิ๊กไอเดียที่เปลี่ยนโลกจริงๆ ของแบรนด์ไทยน่ะยาก เพราะว่าลูกค้าไทยเราปัญหาคือการไม่ทำต่อเนื่อง พอประสบความสำเร็จปุ๊บ ก็หยุด หรือเปลี่ยนไปอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Just Do It หรือ Impossible is Nothing มันต้องทำต่อเนื่องมาเป็นสิบๆ ปี มันตอกย้ำมาตลอด ของเราหนึ่งปีมีมาร์เก็ตติ้งทีมใหม่มาเปลี่ยนอีกแล้ว อีกทีมหนึ่งเปลี่ยนอีกแล้วๆ จนคนจำไม่ได้ แบรนด์ไทยเลยไม่ค่อยมีอะไรที่แรงพอ มันมีแบรนด์ไทยอันหนึ่งคือ การบินไทย รักคุณเท่าฟ้า อันนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นบิ๊กไอเดีย ด้วยความเป็นสมบัติชาติด้วยมั้ง มันถึงจะอยู่ยาวนาน ไม่มีใครกล้าไปเปลี่ยนแปลง เหมือนอย่างแอปเปิล ไม่ว่า สตีฟ จอบส์ จะตายไปแล้ว และมีทีมการตลาดใหม่เข้ามา เขาก็ต้องรักษา Think Different เอาไว้ แถมคำว่า Think Different นี่มันไม่ถูกหลักไวยากรณ์ด้วยนะ เขาบอกไม่สนใจ จะเอาอย่างนี้ ก็คือแหกกฎกันตั้งแต่ตรงหลักไวยากรณ์เลย

GM : การค้นหาข้อมูลสินค้าในอินเทอร์เน็ตได้ง่ายๆ จะทำให้ผู้บริโภคหันกลับมาซื้อของด้วยเหตุผลมากขึ้นไหม

นุวีร์ : ผมว่าเรื่อง Functional จำเป็นสำหรับตลาดระดับกลางถึงล่าง ส่วนเรื่อง Emotional มันจะขายระดับบน ยกตัวอย่างเช่น ทำไมนาฬิกา Patek Philippe เรือนละล้านกว่าบาท คุณอาจจะสงสัยว่า เฮ้ย! ใครจะซื้อวะ แต่มันก็มีคนซื้อ Patek Philippe อยู่ใช่ไหม เขามองว่าเป็นงานศิลปะ เป็นมรดกให้คนรุ่นต่อไป ซื้อแล้วมันไม่ใช่ของคุณหรอก มันเป็นมรดกของลูก มันเป็นของพ่อที่ถ่ายทอด ทุกครั้งที่ลูกใส่ ลูกจะนึกถึงพ่อ โห! คำพูดพวกนี้ฟังแล้วขนลุกนะ คือมันเลยจุดที่บอกว่านาฬิกาเที่ยงตรงไปไกลแล้ว คนซื้อ Patek Philippe คงไม่มานั่งกูเกิล เทียบกับโอเมก้าหรือว่าแบรนด์อะไรแต่เวลาที่ผมซื้อรองเท้ากีฬานี่ผมก็ยังกูเกิลนะ เปรียบเทียบว่าคู่ไหนวิ่งแล้วส้นเท้ามันไม่บาดเจ็บ อะไรแบบนี้ คือมันก็ไม่ได้ Emotional ทั้งหมด อย่างรองเท้านิวบาลานซ์ บางคู่ผมก็ซื้อใส่เพราะแฟชั่น เลือกรุ่นที่เท่ๆ หน่อย แล้ว Made in USA นะ เพราะความเนี้ยบกว่า ใส่แล้วมันเท่กว่า รองเท้ารุ่นดีๆ พวกนี้เอามาขายต่อได้ด้วย แถมยังราคาสูงขึ้นไปอีก

GM : ใส่หรือยัง

นุวีร์ : ใส่แล้ว เคยซื้อนิวบาลานซ์รุ่น 997 มาMade in USA นะ ซื้อที่นิวยอร์กมาหกพันกว่า พอใส่แล้วก็เอามาขายที่นี่ ขายได้เก้าพันห้า เพราะร้านอื่นๆ เขาขายหมื่นสอง เหมือนกับยีนส์ลีวายส์ 501 ทริปเปิลเอ็กซ์ รุ่นสงครามโลก ผมไปซื้อที่นู่นหมื่นกว่าบาท ผมประกาศขายในเว็บ ขายได้สองหมื่นกว่า เฮ้ย! ขายได้ด้วยว่ะ คนซื้อยีนส์ตัวละสองหมื่นกว่า คนที่ซื้อบอกผมว่าตัวนี้ในช็อปที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เป็นตัวใหม่นะ เขามาขายตัวละสี่หมื่น

GM : ดูเหมือนคุณเป็นพวกแฟชั่นนิสต้ามากเลยนะครับ ไม่เห็นเหมือนแบบ ต่อ ธนญชัย ที่เขาใส่เสื้อยืดตัว กางเกงตัว

นุวีร์ : (หัวเราะ) แหม! ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นได้เหมือนพี่ต่อ พี่ต่อเขาดังมากแล้ว คนระดับพี่ต่อนี่ไปขายงานที่ไหน ก็ต้องขายผ่านแน่นอนอยู่แล้ว แต่ลองสมมุติเป็นเด็กคนหนึ่ง ใส่เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้น ไปในวันขายงานลูกค้า ความเชื่อถือติดลบ ผมว่าถ้าคนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ มาใส่เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ คุณก็ต้องรู้ว่าเขารวย หรือคนอย่าง แจ็ค หม่า ถ้าใส่เสื้อขาดๆ เขาก็เป็น แจ็ค หม่า เขามีแบรนด์ เขาสร้างชื่อเสียงมาแล้ว อย่างผมก็เลยต้องแต่งตัวแบบนี้ ผมชอบนิวบาลานซ์ ผมชอบยีนส์ ผมชอบใส่อะไรเก๋ๆ ผมยังแต่งตัวอย่างนั้นไม่ได้ เพราะผมไม่ชอบด้วยล่ะ มันคนละสไตล์กัน ผมชอบแฟชั่น สไตล์เรากับสไตล์เขามันไม่เหมือนกัน

GM : ขอย้อนไปที่คำว่า Emotional ที่เราพูดๆ กัน รากฐานจริงๆ แล้วคืออารมณ์อะไรกันแน่ มันคือความกลัวใช่ไหม วอลโว่ ก็คือความกลัวอุบัติเหตุ เรื่องคาดการณ์ไม่ถึง ประกันชีวิตเนี่ยก็คือความกลัว

นุวีร์ : ไม่รู้สิ อย่างรองเท้านิวบาลานซ์ เขาไม่ได้ขายความกลัวนะ เขาขายความเท่มากกว่า

GM : ก็คือกลัวว่าจะไม่เท่ไง เราเลยต้องซื้อมาใส่ให้เพื่อนเห็น

นุวีร์ : (หัวเราะ) เออ…ใช่ๆ เขาเรียกว่าการแก้ปัญหา ทุกอย่างมันก็คือปัญหานั่นแหละ ยกตัวอย่าง ทำไมรถต้องมีแอร์แบ็ก ก็คือเพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัย ภาษาของพวกนักการตลาดเรียกว่า ‘โซลูชั่น’ งานของครีเอทีฟก็คือการเอาโซลูชั่นมาแปลงเป็นไอเดียในการสื่อสาร ในเมื่อกลัว เราต้องใส่ไอเดียเข้าไปเยอะๆ ไอเดียจะมาพร้อมกับความกลัว มันมาพร้อมกับปัญหา สังเกตเลยนะว่า คนที่เปลี่ยนโลกเนี่ย มันก็ต้องเผชิญกับปัญหามาก่อน มันถึงจะคิดไอเดียออก

GM : โดยส่วนตัวของคุณ ลึกๆ ในใจ คุณกำลังกลัวอะไร

นุวีร์ : อืมม์…(คิดนาน) มันจะขึ้นกับช่วงอายุด้วยนะ ช่วงเด็กๆ ก็กลัวว่าเราจะได้งานดีเปล่าวะ พอเราทำงานสักพักหนึ่ง เฮ้ย! เราจะประสบความสำเร็จเปล่าวะ มันจะเป็นสเต็ป ความกลัวมันตั้งแต่ตอนเกิดมา เด็กร้องเพราะว่ามันกลัว จู่ๆ ก็โผล่ออกมาในโลกนี้ ความกลัวนี่เป็นธรรมชาติมากเลยนะ เพียงแต่เราจะป้องกันยังไง มาถึงตอนนี้ก็กลัวเรื่องชีวิตในวันข้างหน้า ก็เลยต้องมีอ่างเก็บน้ำให้เยอะๆ เช่น ออกมาเป็นในรูปของพ็อกเก็ตบุ๊คส่วนตัว จากนั้นเราไปทำอาชีพอะไรต่อดีล่ะ ไปจัดสัมมนามั้ย เพื่อจะโพรเทคอาชีพที่เรารัก ผมเชื่อว่าไม่มีใครที่ไม่กลัวอะไรเลย เพียงแต่เราป้องกันยังไงมากกว่าอาชีพในวงการโฆษณาของผม บอกตรงๆ เลยนะ เหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้ายตั้งแต่เรียนจบมา เพราะแวดวงนี้มัน Tough กว่าอาชีพอื่น คือมันวัดผลกันด้วยรางวัล วัดผลด้วยผลงาน วัดผลด้วยเป้า มี KPI ทุกปี แต่ด้วยความที่เราชอบ มันก็เลยทำให้ความกลัวมันน้อยลง เวลาไปเสนองานลูกค้า ตอนเด็กๆ จะกลัวมากเลยนะ กลัวว่าจะพิทชิ่งไม่ได้ เพราะว่าคู่แข่งมันแบบ โอ้โฮ! เจ๋งๆ ทั้งนั้นเลยว่ะ แต่พอทำไปทำมาจนอายุปูนนี้ ผมว่าผมผ่านช่วงนั้นมาแล้ว มันมีประสบการณ์แล้ว ก็คอยสอนลูกน้องอยู่เสมอ เฮ้ย! จะขึ้นชกแล้วนะ เราต้องน็อกอย่างเดียว เราชกมวยแบบ UFC เลยนะ ไม่ต้องมีรูปแบบยูโด ทุ่มมันก่อนเลย แล้วต่อด้วยมวยไทยใส่ไปเลย เอาให้น็อกให้ได้

GM : เวลากำลังพิทชิ่งอยู่แล้วเห็นสายตาลูกค้ามองมานี่รู้เลยใช่มั้ย

นุวีร์ : (หัวเราะ) รู้เลยครับ ถ้าเกิดชอบนะ แววตาจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าไม่ชอบ เราก็ต้องเตรียมแก้เกมแล้ว เราต้องเช็กก่อนว่า เขาไม่ชอบตรงไหน

GM : มีงานโฆษณาที่ทำแล้วมีความสุขในตัวเอง ทำแล้วไม่ต้องขึ้นกับสายตาของลูกค้าและผู้ชมบ้างไหม

นุวีร์ : ก็ต้องทำงานแบบ Scam ไงล่ะ ฟินมากๆ แต่ต้องมีเงิน มีงบประมาณของบริษัทออกให้ด้วย เพราะแต่ละองค์กร นโยบายมันไม่เหมือนกัน มายด์แชร์เรายังไม่มีงบ แต่อย่างบริษัทอื่นมีงบให้ไปทำ Scam ตรงนี้คือความฟินของครีเอทีฟเลยนะ ทำให้ครีเอทีฟมีชีวิตอยู่ได้ เพราะถ้าเกิดเรามีไอเดียจะทำโฆษณาอะไร คิดว่าส่งประกวดได้แน่ๆ แต่งานต้องผ่านลูกค้าเนี่ย โอกาสได้คานส์แทบไม่มี เคยเห็นแอดในแมกกาซีนที่ได้รางวัลคานส์ในเมืองไทยมั้ยล่ะ ไม่มี เขา Scam กันทั้งนั้น เพราะลูกค้าจะต้องมีนู่นมีนี่ แล้วเวลาส่งคานส์มันคนละแบบกับที่เราทำงานโฆษณา มันดูไอเดียอย่างเดียว ไอเดียที่ดีแล้วอาร์ต-

ไดเร็กชั่นที่สวยด้วย Scam ก็เลยเกิดขึ้นเพื่อซัพพอร์ตตรงนี้ จะบอกให้ว่าพวกคุณที่ทำงานนิตยสารน่ะ ชีวิตดีกว่าพวกผมอีก เพราะนิตยสารไม่ต้องผ่านคนเยอะ ของพวกผมต้องผ่านเออี ผ่านภายใน แล้วไปเจอลูกค้าอีก หนักกว่าอีก เรียกว่าฝ่าด่านอรหันต์เลย

GM : ถ้าเราตัดพวกคุณออกไป นิตยสารอย่างพวกเราดีลตรงกับลูกค้าเลย ชีวิตพวกคุณจะดีกว่านี้ไหม

นุวีร์ : ไม่ๆ เราเชี่ยวชาญคนละอย่างกันไง ในโรงพยาบาลถึงต้องมีหมอเฉพาะทาง นิตยสารอาจจะเชี่ยวชาญด้านกล้ามเนื้อ แต่พวกเราเป็นเอเจนซี่ครีเอทีฟ เรามีผู้เชี่ยวชาญครบทุกด้าน ด้านกระดูก ด้านสมอง ด้านหูตาคอจมูก กับด้านอายุรกรรม และมันก็มีเรื่องของวิธีคิดอีก นิตยสารจะคิดแบบหนึ่ง ครีเอทีฟจะคิดอีกแบบหนึ่ง มาร์เก็ตติ้งก็จะคิดอีกแบบหนึ่ง เราต้องมาประสานเข้าด้วยกัน

GM : ในขณะที่คนทำสื่อมักจะหงุดหงิดกับข้อเรียกร้องของพวกเอเจนซี่และพวกเออี

นุวีร์ : (หัวเราะ) ก็เหมือนกัน พวกเอเจนซี่ก็จะหงุดหงิด บอกว่าคนทำสื่อมันไม่เข้าใจ ผมเคยทำงานในนิตยสารเหมือนคุณมาก่อน ผมจึงพอเข้าใจว่าระบบมันเป็นยังไง คุณจะบรีฟเขา คุณต้องบรีฟให้เคลียร์ ไม่งั้นเขาจะเอาไปเขียนต่อไม่ได้ ในขณะเดียวกัน นักเขียนอย่างคุณก็ต้องมีมาร์เก็ตติ้งมายด์ด้วย ผมว่ามาร์เก็ตติ้งมายด์จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเราคอนเทนต์จะต้องเป็นคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง ยกตัวอย่างเช่น คุณเคยดู เรย์ แมคโดนัลด์ นั่งรถไฟไปลอนดอนหรือเปล่า ที่นั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปลอนดอน อันนี้นานมากแล้ว คอนเทนต์นี้โคตรแรงเลยนะ แต่สมัยก่อนนั้นยังไม่มีโลกออนไลน์ ถ้าเอามาทำใหม่ในตอนนี้ ผมว่าแชร์กระหน่ำ ขนาดเขาทำเป็นดีวีดีขาย ยังขายหมดตลอด ถ้ามาทำใหม่ตอนนี้จะดีมาก เรย์ไปเช็กอินที่ไหน เจออะไร แล้ว Crowdsourcing เพิ่มเข้าไปด้วย คุณดูๆ อยู่แล้วก็สามารถเขียนคอมเมนต์กลับไป พี่เรย์อย่าลืมถ่ายภาพแกะให้ผมด้วยนะ อินเตอร์แอคทีฟระหว่างคนดูกับเรย์สดๆ

GM : ดูเหมือนว่าทุกวันนี้เรายินยอมที่จะดูโฆษณาแบบนี้นะ มันคือคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งที่ทำให้ดีมากพอ

นุวีร์ : ซึ่งจริงๆ แล้ว คำว่า ‘โฆษณา’ ก็จะไม่มีแล้วนะ ทั้งหมดที่เราคุยกันอยู่นี้ คือคำว่า ‘การสื่อสาร’ คนเข้าใจว่าการโฆษณาคือ Advertising ใช่มั้ย ซึ่งตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว Advertising มันเปลี่ยนไปแล้ว ต่อไปนี้จะมีแต่คำว่า Communication โลกจะเปลี่ยนเลยนะ เทรนด์จากนี้ไปคุณต้องหาทางสื่อสารแบบออนกับออฟ ออฟแล้วออนต่อ พอมาทำสัมภาษณ์ผมวันนี้เสร็จ คุณก็เอาเนื้อหาไปออนไลน์ได้ แล้วบางที การทำสัมภาษณ์ครั้งต่อไป คุณอาจจะทำแบบ Crowdsourcing ก็คือให้คนอ่านของคุณสามารถถามเข้ามาสดๆ หรือหลังจากนี้ไป คุณอาจจะจัดเวิร์กช็อปทุกเดือน ในโลกของการสื่อสาร มันต้องทำทุกอย่างพร้อมกันหมดเลย สื่อที่จะอยู่ได้คือต้องออกไปอยู่รอบๆ ตัวผู้คน คือสร้างแอมเบียนต์มีเดีย สื่อสารกับคนให้มากขึ้น เวลามานั่งแช่หน้าจอทีวีจะน้อยลง คนหยิบหนังสือน้อยลง โมเดลมันจะเปลี่ยน แพลตฟอร์มมันจะเปลี่ยนหมดเลยแต่ในท้ายที่สุด ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแค่ไหน ไม่ว่าสื่อจะเปลี่ยนแค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือกระดุมเม็ดแรก ความคิดสร้างสรรค์ของคุณ ความครีเอทีฟ ไอเดียที่จะนำไปสู่คอนเทนต์ที่ดี ต่อให้เทคโนโลยีเปลี่ยนแค่ไหน คุณทำสกู๊ปให้มีไอเดีย บางคนคิดว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนไปนะ เราจะต้องไล่ล่าตาม จริงๆ ไม่ใช่แค่นั้นนะ ต่อให้โลกเปลี่ยนไป แต่คุณยังทำคอนเทนต์ที่ดี เดี๋ยวมีเดียจะวิ่งมาหาคุณเอง คนอ่านจะสร้าง Earned Media ให้เรา เหมือนกับแอปเปิล เขาไม่ซื้อโฆษณา เพราะลูกค้าทุกคนจะโฆษณาให้เขาเองNew York Ambient

GM : ไอเดียมากมายของคุณมาจากนิวยอร์ก แสดงว่าที่นั่นต้องมีสปิริตอะไรบางอย่างซ่อนอยู่

นุวีร์ : นิวยอร์กมีข้อดีคือว่าเป็นเมืองเดียวที่คุณอยากทำอะไร คุณทำได้เลย ไปขออนุญาตทางการก่อน ที่ไม่ผิดศีลธรรมหรืออะไร คุณลงมือทำได้เลย แสดงออกได้เลย สมมุติคุณอยากเล่นดนตรี คุณก็แค่ไปลงชื่อ บอกว่าทุกวันพฤหัสฯ ผมขอเล่นดนตรีนะ ดูคิวว่าง เขาก็ให้เล่นเลย ไม่เหมือนบ้านเรา บ้านเราเสียพื้นที่สาธารณะไปเยอะมากเลยนะ มันให้ความรู้สึกถึงสตรีทคัลเจอร์ ใครก็ได้ออกมาโชว์ของ ในขณะที่เมืองอื่นมันไม่มี เป็นเมืองเดียวที่เกลียดความจำเจ สร้างสิ่งใหม่ตลอดเวลา

GM : มันเหมือนกับในหนังเรื่อง Begin Again ใช่ไหม

นุวีร์ : ใช่ๆ แบบนั้นเลย เขาก็จะเล่นดนตรีของตัวเองไป แล้วก็มีเสียงแวดล้อมแทรกเข้ามาในเพลงของเขา ย่านโซโหก็มีเสียงแบบหนึ่ง ไชน่าทาวน์ก็แบบหนึ่ง ใต้สะพานบรูคลินก็มีเสียงอีกแบบหนึ่ง ที่ฟิฟธ์อเวนิวก็จะอีกแบบหนึ่ง แอมเบียนต์ของเมืองมันช่วยได้เยอะเลย เสียงแตรรถ เสียงหวอรถตำรวจดังตลอดเวลา มันทำให้ผู้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์ สภาพแวดล้อมแบบนี้แหละที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ผมคิดว่าแอมเบียนต์ที่ดี ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ เกิดจากผู้คนในชุมชน คนนั้นคนนี้ออกมาครีเอท ออกมาแสดงนู่นนี่ แต่ถ้าเรามีแค่แอมเบียนต์ที่ถูกจัดกระทำโดยนักการตลาด แบบนี้เมืองก็จบเหมือนกันนะ แอมเบียนต์ที่ดี ศิลปินต้องทำเอง นิวยอร์กมันเป็นแหล่งรวมศิลปิน มันไม่ได้มีแค่แอมเบียนต์จากมาร์เก็ตติ้ง ไม่เป็นแอมเบียนต์ที่แบบฉาบฉวยเพื่อขายของเท่านั้น แต่มันมาจากแพสชั่น คนมันจะเห็นมากกว่า

GM : งานของพวกคุณในตอนนี้ คือการทำแอมเบียนต์มาแจมใส่หัวผม เวลาผมเดินไปไหนมาไหน มันก็เป็นอาชีพที่ไม่ค่อยดี ใช่มั้ย

นุวีร์ : (หัวเราะ) ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีไปเสียทั้งหมด มันอยู่ที่วิธีคิดด้วย พวกเราไม่ได้ขายของกันแบบตรงๆ นะ เราจะขายไอเดีย ตอนนี้ครีเอทีฟที่เจ๋งๆ ไม่ใช่ครีเอทีฟที่ไม่ขายของร้อยเปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมจะทำแอมเบียนต์สักตัวหนึ่งออกไปสู่กลางกรุงเทพฯ ผมคาดหวังว่าคนที่เห็นมันต้องได้แรงบันดาลใจอะไรบางอย่างไปด้วย ถ้าเกิดให้ผมทำบิลบอร์ดรองเท้าวิ่งสักคู่หนึ่ง ผมอยากส่งแรงบันดาลใจ ว่าคุณต้องออกกำลังกายบ้าง มันดีต่อสุขภาพคุณเองนะ มันช่วยสังคมด้วยในทางหนึ่ง

GM : เดี๋ยวนี้เวลาเดินไปตามท้องถนน มีแคมเปญโฆษณาไหนที่คุณรู้สึกว่าขัดหูขัดตาและน่ารำคาญมั้ย

นุวีร์ : พวกที่จะขายของร้อยเปอร์เซ็นต์น่ะ ที่น่ารำคาญ คือจะให้กูซื้ออย่างเดียวเลย มึงไม่ให้อะไรกูกลับมาเลย อย่างเช่นโฆษณาขายคอนโดฯ ถ้าขึ้นป้ายว่าคอนโดฯ 50 ตารางเมตร คุ้มแน่นอน ซื้อเลย อย่างนี้มันคือตะโกน ผมไม่อยากทำ ผมอยากขายแรงบันดาลใจในชีวิตให้คุณด้วย

GM : ถ้าชีวิตเราทุกวันนี้เต็มไปด้วยแอมเบียนต์แล้ว ความสงบในใจมันจะเหลืออยู่บ้างไหม โอกาสที่เราจะมองเห็นขอบฟ้าไกลๆ โดยไม่ต้องมีป้ายโฆษณาของคุณมาบัง

นุวีร์ : โอ้โฮ! ความสงบเหรอ ความสงบมันจบมาตั้งแต่ดิจิทัลมาถึงแล้วล่ะ เดี๋ยวนี้พอคุณเลิกงานเสร็จ กลับถึงบ้านมา ถึงแม้จะไม่เปิดทีวี คุณก็ต้องเล่นไอแพด ไอโฟน แช็ตกับสาว คุณหาความสงบไม่เจอ แม้กระทั่งไปเที่ยวเขาใหญ่ เขายังต้องมีไว-ไฟให้คุณเล่นเลย มันไม่มีความสงบในโลกนี้แล้ว พระสมัยนี้

มีเฟซบุ๊คด้วย แล้วเขาจะสงบยังไง ความสงบมันอยู่ที่ตัวเราจริงๆ เลยผมเองทุกปีๆ ที่ต้องหาเวลาไปเที่ยวนิวยอร์ก มันโกลาหลมากเลยนะ เสียงแตรรถ เสียงโหวกเหวก เมืองสับสนวุ่นวาย แต่ผมกลับชอบนะ ผมชอบดูคนเดินไปเดินมา ระหว่างที่นั่งจิบกาแฟที่ริมหน้าต่างร้าน ดูคนเดินไปเดินมา ผมรู้สึกสงบข้างในใจ ถ้าเกิดเราเป็นนักสังเกตการณ์สังคม เราจะเห็นคนนิวยอร์กมีหลายประเภท คนเดินเร็วๆ ชนคนอื่นไม่ขอโทษ บางคนก็นั่งเล่นกีตาร์อยู่ข้างถนนเล่นแล้วอินมากเลยนะ ผมว่านั่นเขาก็พบความสงบภายในตัวเขา เล่นโดยไม่ได้เปิดหมวกขอเศษตังค์นะ เขาเล่นเพราะอยากเล่น เล่นให้คนอื่นดู ความสงบมันมีหลากหลายมากเลย ผมชอบตรงนี้

GM : เวลาไปนิวยอร์ก คุณพักที่ไหน และชอบไปเที่ยวที่ไหน

นุวีร์ : ผมชอบไปในจุดที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยไป แล้วอยู่แบบไม่ต้องหรูมาก ผมก็จองที่พักแบบ Airbnb ผมจะเลือกบ้านสไตล์ที่ชอบแล้วก็จะอยู่ตรงนั้น คืนหนึ่งราคาพอๆ กับไปพักที่หัวหินเลย สามพันกว่า สี่พันก็มีนะ ไปไหนมาไหนก็นั่งซับเวย์ กินราเม็งที่นั่นหกเหรียญ สองร้อยต้นๆ เอง ถูกกว่าเมืองไทยเราอีก แล้วถ้าจะกินถูกกว่านี้ก็ไปกินในไชน่าทาวน์ จานละสามสี่เหรียญ คิดเป็นเงินร้อยหกสิบ ก็เท่ากับกินฟู้ดคอร์ตแถวสยาม มันอยู่ที่การใช้ชีวิตมากกว่า แล้วเอาตังค์ไปจ่ายค่ามิวเซียม หรือที่นิวยอร์กไลบราลี่ มีแค่พาสปอร์ตก็เข้าฟรีเลยนะ ไปเที่ยวนิวยอร์กอย่างผมนี้ เผลอๆ จะถูกกว่าไปญี่ปุ่นด้วยซ้ำชีวิตแบบที่ไม่ต้องดูเวลาว่าจะตื่นกี่โมง ก็ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ เลย อย่างที่ผมบอกนั่นแหละ ว่ามันขึ้นอยู่กับเราเองว่าอะไรคือแก่น อะไรคือความสุข อย่างที่พวกเด็กๆ สมัยนี้ชอบพูดกัน ว่าทำในสิ่งที่รัก ถึงแม้จะล้มเหลว ก็ล้มเหลวในสิ่งที่รักใช่ไหมล่ะ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ